Author Topic: [กระทู้เก่ามาเล่าใหม่] เรื่องของ อุปาทาน 4 โดย คุณสันตินันท์  (Read 5896 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เขียนไว้เมื่อ วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 14:59:22

กระทู้ "คุยกันเบาๆ เรื่องทิฏฐิ" ซึ่งในตอนท้ายพาดพิงไปถึงอุปาทาน 4 นั้น
เป็นที่สนใจของหมู่เพื่อนบางท่าน และมีคำถามเพิ่มเติมเข้ามาหลายเรื่อง
เช่นสงสัยว่า ทิฏฐุปาทาน เป็นเรื่องของความเห็น
อัตวาทุปาทานก็เป็นเรื่องความเห็นเช่นกัน แล้วทำไมจึงต้องแยกกัน
บางท่านก็สงสัยว่า แล้วความยึดถือในลูกเมีย ทรัพย์สิน ชื่อเสียงเกียรติยศ
ความยึดถือกาย ความยึดถือจิต ฯลฯ ควรจะจัดเป็นอุปาทานประเภทใด

ถ้าตามตอบเป็นรายคำถามคงเสียเวลามาก
วันนี้เรามาคุยกันถึงเรื่อง อุปาทาน 4 เสียเลยดีกว่า

************************************

ก่อนจะกล่าวถึงเนื้อหาของ อุปาทาน 4
เราน่าจะเข้าใจสถานะของคำสอนเรื่องนี้เสียก่อน

คำสอนเรื่องอุปาทาน 4 ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของปฏิจจสมุปบาท
จัดเป็นคำสอนเชิงอภิธรรม หรือเชิงปรมัตถ์ คือพูดถึงสภาพธรรมล้วนๆ
ไม่ใช่ธรรมะที่สอนเกี่ยวกับปุคคลบัญญัติ หรือเรื่องบุคคล ตัวตน สัตว์ เรา เขา
ท่านจึงไม่กล่าวถึงความยึดถือในครอบครัว ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงเกียรติยศ ฯลฯ

คำสอนเรื่องอุปาทาน 4 เป็นคำสอนสำหรับนักบวช หรือผู้แสวงหาความหลุดพ้น
ไม่ใช่คำสอนสำหรับชาวบ้านทั่วไป
พระศาสดาจึงทรงเพ่งเล็งอธิบาย หรือจำแนกชนิดของอุปาทาน
ตามกลุ่มของสภาวธรรมที่ผู้แสวงหาความหลุดพ้นพากันติดอยู่
เพื่อจะได้พากันถอดถอนอุปาทานนั้น
ไม่ใช่เพื่อให้ฟังกันเล่นเพลินๆ หรือประเทืองปัญญา

สำหรับวิธีการศึกษาเนื้อหาของเรื่องอุปาทาน 4 นั้น
ถ้าจะให้เข้าใจง่าย สมควรปรับมุมมองเสียหน่อย
ในเมื่อธรรมอันนี้ ออกมาจากพระทัยของพระศาสดา และทรงประทานให้แก่ผู้ปฏิบัติ
เราก็ควรลงมือปฏิบัติ เพื่อรองรับพระธรรมนั้นด้วยจิตใจของเราเอง
จึงจะเข้าใจได้ลึกซึ้งและผสานเข้ากับการปฏิบัติในชีวิตจริงได้
เพราะเราเอาตัวผู้ศึกษาเป็นศูนย์กลางของการศึกษา
วิธีนี้จะต่างจากการเรียนธรรมะแบบเดิม ที่เอาตำราเป็นตัวตั้ง
โดยศึกษาว่าตำราแยกแยะธรรมนี้อย่างไรบ้าง
ซึ่งเมื่อทราบแล้ว ก็มักไม่ถึงใจ และนำไปปฏิบัติได้ยาก

เราจึงควรพากันเจริญสติสัมปชัญญะ
โดยการนั่งสมาธิและเดินจงกรมแบบที่เป็นวิปัสสนา
แล้วคอยเฝ้ารู้ว่า จริงๆ แล้ว จิตไปยึดมั่นอะไรได้บ้าง
ด้วยวิธีนี้ เราอาจจะพบมุมมองที่แปลกใหม่สำหรับอุปาทาน 4 ก็ได้

******************************************

สิ่งที่จิตพร้อมจะทะยานไปยึดได้เสมอก็คือ
รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย
เช่นเดินจงกรมอยู่ดีๆ เกิดเห็นเงาอะไรวอบแว่บผ่านมา
จิตก็มักจะทะยานออกไปยึดสิ่งที่ตาเห็นนั้น
ถ้าสิ่งนั้นสวยงาม จิตก็ยินดี ถ้าสิ่งนั้นน่าเกลียดน่ากลัว จิตก็ยินร้าย
หรือนั่งสมาธิอยู่ในป่า ได้กลิ่นหอมรวยรินของดอกไม้ป่า
จิตก็หลงเข้าไปยึดกลิ่นนั้น ด้วยความยินดี

สรุปแล้ว สิ่งที่จิตเข้าไปยึดก็คือ "สิ่งแวดล้อมภายนอก" ที่ไปรู้เข้า
หรือจะกล่าวว่า จิตไปยึดมั่นใน "สิ่งที่รับรู้ได้ทางอายตนะทางกายทั้ง 5" ก็ได้
สิ่งนี้น่าจะสอดคล้องใกล้เคียงกับ กามุปาทาน นั่นเอง

สิ่งต่อมาที่จิตยึดมั่นก็คือ"ความคิดเห็นต่างๆ"
ทั้งความคิดเห็นที่ดีและที่ชั่ว ทั้งความเห็นถูกและความเห็นผิด
จิตยึดได้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าจิตจะยึดได้เฉพาะมิจฉาทิฏฐิอย่างเดียว
เหมือนที่ตำราชั้นหลังเพ่งเล็งไปที่มิจฉาทิฏฐิเป็นหลัก
และเมื่อยึดความเห็นแล้ว จะเห็นถูกหรือเห็นผิด ก็เกิดทุกข์ทั้งนั้น
สิ่งนี้ก็น่าจะสอดคล้องใกล้เคียงกับ ทิฏฐุปาทาน

สิ่งต่อมาที่จิตมักยึดถือ นอกเหนือจากสิ่งแวดล้อมภายนอก และความคิดเห็นของตนเอง
ก็คือ "ความเชื่อที่สืบทอดกันมา"
สำหรับนักปฏิบัติแล้ว ความเชื่อที่สำคัญก็คือ
การถือศีลอย่างนี้ การบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติอย่างนี้ จะเป็นทางพาให้พ้นทุกข์ได้
เช่นก่อนจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ ควรจะจุดธูปเทียนเท่านี้ๆ ดอก
ต้องไหว้พระสวดมนต์ หรืออัญเชิญปีติทั้ง 5 เสียก่อน
และต้องแผ่ส่วนบุญให้เจ้ากรรมนายเวร ภูติผีปีศาจ
ต้องนั่งหันหน้าทิศนั้นทิศนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคล
บรรดา "ความเชื่อ" ทั้งหลายนี้แหละ
เราไม่ได้คิดเอง แต่เชื่องมงายตามกันมา
ก็เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องคอยสำรวจใจตนเองเหมือนกัน ว่าหลงไปยึดถือหรือเปล่า
สิ่งนี้ก็น่าจะสอดคล้องใกล้เคียงกับ สีลัพพตุปาทาน

นอกจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ความคิดนึกปรุงแต่งของจิต และความเชื่อทั้งหลายแล้ว
นักปฏิบัติที่เชี่ยวชาญ จะสังเกตเห็นความยึดถือที่ลึกลับที่สุด
ในจิตใจเรานั้น มีอะไรอยู่ตัวหนึ่ง ที่มันเรียกตัวเองว่า เรา เรา เรา
มันมีวาทะ หรือมันพูดอยู่ตลอดเวลา ว่าเรา เรา เรา
แล้วจิตก็หลงยึดเอาจริงๆ ว่า เรา เรา เรา
มันเป็นเสมือนแกนกลางของการรับรู้ทั้งปวง
ไม่ว่าสิ่งที่ถูกรู้จะเป็นสิ่งแวดล้อมภายนอก ความคิดเห็น หรือความเชื่อต่างๆ
สิ่งนี้ก็น่าจะสอดคล้องใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า อัตวาทุปาทาน
และเพราะความยึดมั่นนี้แหละ
เมื่อจิตไปประสบกับอารมณ์อันละเอียด คือรูปฌานและอรูปฌานเข้า
จิตก็จะกระหยิ่มยินดีมีความสุข เพราะความยึดมั่นจิตนั่นเอง

ถ้าพิจารณาจากสิ่งที่จิตไปติดยึดจริงๆ ที่รู้ได้ในระหว่างการปฏิบัติ
นอกเหนือจากความยึดมั่น 4 อย่างนี้แล้ว ผมก็ไม่เห็นความยึดมั่นอย่างอื่นอีก
เพราะครอบคลุมตั้งแต่สิ่งแวดล้อมภายนอก ความคิดเห็นภายในของตนเอง
รูปแบบและความเชื่อถือที่สืบทอดกันมา
จนถึงความยึดถือในศูนย์กลางของทุกสิ่ง คือ เรา เรา เรา

ขอเรียนว่า เรื่องที่เล่ามานี้ จะไม่ตรงกับตำราชั้นหลังบ้าง
(เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ ซึ่งผู้ศึกษาควรจะมีความคิดเห็นได้)
แต่ที่นำมาเล่าก็เพราะเห็นว่า
พอจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้เพื่อนนักปฏิบัติใช้สำรวจตนเองได้ว่า
จิตใจยังหลงไปยึดมั่นถือมั่นอะไรอยู่บ้าง

**********************************************

ความจริงนั้นมีอยู่ 2 ระดับคือสมมุติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ
ความคิดที่ว่า "สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา พระพุทธเจ้าก็ไม่มี
พ่อแม่ครูอาจารย์ก็ไม่มี ตัวเราก็ไม่มี"
ยังจัดเป็นความคิดสุดโต่งครับ เพราะปฏิเสธสมมุติสัจจะ
ขอย้ำว่า แม้จะเป็นสมมุติ มันก็เป็นสัจจะคือความจริงอันหนึ่ง
ไม่ใช่ไม่มี หรือไม่จริงนะครับ แต่มันจริงโดยสมมุติ

คราวนี้เราต้องรู้จักจำแนกว่า
อะไรเป็นความจริงโดยสมมุติ อะไรเป็นความจริงโดยเนื้อแท้
อย่างพระพุทธเจ้านั้น โดยสมมุติของโลก
พระองค์ก็ทราบว่า "พระองค์" เป็นพระพุทธเจ้า
แต่โดยความจริงอันแท้
พระองค์ท่านก็ไม่ได้สำคัญมั่นหมายว่ามีหรือไม่มีพระพุทธเจ้า
ท่านเห็นแต่ว่า ขันธ์ 5 เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

**************************************

หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
ขอบคุณครับ  _/|\_
กล่าวถึงที่สุดแล้ว การยึดทั้งมวลต้นเหตุมาจากการยึด "เรา" เป็นศูนย์กลางทั้งนั้น
พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าเพียงได้เป็นพระโสดาบัน(ละสักกายทิฏฐิ)ความทุกข์ก็หายไปส่วนมากแล้ว
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช

Offline จองชัย

  • Jr. Member
  • **
  • Posts: 27
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • นักภาวนาระดับอนุบาล
ขอบคุณครับ  _/|\_
กล่าวถึงที่สุดแล้ว การยึดทั้งมวลต้นเหตุมาจากการยึด "เรา" เป็นศูนย์กลางทั้งนั้น
พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าเพียงได้เป็นพระโสดาบัน(ละสักกายทิฏฐิ)ความทุกข์ก็หายไปส่วนมากแล้ว
ยังไม่ทันโสดาบัน แค่เริ่มมาไม่นานนี้เอง ก็รู้ได้ว่า ทุกข์มันหายไปเยอะมากกกกกกก ไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบ แค่รู้่ ไม่ยึด ไม่เอา มันก้ไม่ทุกข์จริง ๆ
สาธุ  _/|\_
ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
ควรหรือที่เราจะยึดถือสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ว่านั่นเป็นของเรา เราเป็นนั่น