Author Topic: [กระทู้เก่ามาเล่าใหม่] เรื่องของ โพธิจิต โดย คุณสันตินันท์  (Read 6230 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เขียนไว้เมื่อ วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 11:00:57

เซ็น กับเถรวาท มีรากฐานต้นกำเนิดอันเดียวกัน
เป้าหมายก็มุ่งสู่ความหลุดพ้นอันเดียวกัน
แต่กระบวนการอธิบายธรรม กลับเป็นตรงข้ามกันหลายส่วน
ปัญหาที่น่าพิจารณาก็คือ สิ่งที่อธิบายเป็นตรงข้ามกันนั้น
เป็นสิ่งที่ตรงข้ามหรือขัดแย้งกันจริงๆ
หรือเป็นเพียงภาษา หรืออุบาย ที่แตกต่างกันเท่านั้น ?
และคำสอนของทั้งสองฝ่าย มีประโยชน์อย่างใดบ้าง ?

เราลองมาคุยกันสัก 2 ประเด็น คือเรื่องโพธิจิต กับการปลุกโพธิจิตให้ตื่นขึ้น
(หมายเหตุ ... ทัศนะของเซ็นที่ผมยกมากล่าวนี้
มาจากการศึกษางานของท่านเว่ยหล่างและท่านฮวงโป
อาจจะไม่ครอบคลุมไปถึงคำสอนของเซ็นสาขาอื่นๆ)

**************************************

โพธิจิต

แนวความคิดเรื่อง โพธิจิต เป็นแนวความคิดฝ่ายเซ็น
สาระสำคัญก็คือ ทัศนะที่ว่า สัตว์ทั้งปวงมีธรรมชาติแห่งการตรัสรู้(รู้ธรรม)อยู่ในตนเอง
แต่ธรรมชาติอันนี้ ถูกปิดบังเอาไว้ด้วยความหลงผิดของจิต
(เหมือนกับมีเพชรอยู่แล้ว แต่หมกอยู่ในโคลนตม)
คือจิตเที่ยวยึดมั่นสิ่งภายนอก แม้แต่ผู้ปฏิบัติธรรมก็ยึดมั่นในวัตรปฏิบัติต่างๆ
เช่นการถือศีล ทำสมาธิ และขบคิดพิจารณาธรรม เป็นต้น

คำสอนเรื่อง โพธิจิต ไม่ปรากฏในธรรมฝ่ายเถรวาท
กล่าวคือในฝ่ายเถรวาท ไม่เชื่อเรื่องที่ว่าสัตว์มีโพธิจิตอยู่แล้ว
แต่กลับเห็นว่า จิตประกอบด้วยเจตสิกทั้งอกุศล กุศล และเป็นกลางๆ
จิตเป็นสิ่งที่อบรมได้  จิตที่อบรมดีแล้วหลุดพ้นได้
และที่สำคัญคือ จิตเป็นสิ่งที่เกิดดับต่อเนื่องกันตลอดเวลา
(แม้แต่จิตพระอรหันต์ ก็ยังเกิดดับอยู่นั่นเอง
เพียงแต่ท่านฉลาดจนกิเลสตัณหาย้อมไม่ติดเท่านั้นเอง)

คำสอนของฝ่ายเถรวาทคล้ายๆ กับว่า
เมื่อมีดิน มีพันธุ์พืช มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จึงเกิดเป็นต้นไม้
เมื่อต้นไม้ตาย เกิดทับถมในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
จึงกลายเป็นคาร์บอนบริสุทธิ์ หรือเพชร
เพชร หรือจิตที่หลุดพ้น หรือโพธิจิต จึงไม่ได้มีมาแต่แรก

คำสอนจุดนี้ดูจะขัดแย้งเป็นตรงข้ามกัน
ซึ่งผมคงไม่ชวนเถียงว่า คำสอนของใครถูกหรือผิด
เพราะจิตใจของผมไม่ได้เป็นกลางจริง
แต่โน้มเอียงที่จะเชื่อเฉพาะคำสอนตรงของพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว
สิ่งที่อยากจะชวนพิจารณาก็คือ คำสอนของแต่ละฝ่ายมีประโยชน์อย่างใดบ้าง

ถ้าทำใจให้กว้าง ก็จะเห็นว่า แต่ละฝ่ายมีข้อดีอยู่เช่นกัน
กล่าวคือคำสอนเรื่องโพธิจิตของเซ็น
ฟังแล้วเกิดกำลังใจว่าเรามีพระรัตนตรัยอยู่กับตัวแล้ว
ไม่ต้องค้นหาในที่อื่น แต่ให้น้อมเข้ามาศึกษาอยู่ภายในนี้แหละ
ทั้งพระพุทธเจ้าเอง เมื่อก่อนท่านก็มีกิเลสเหมือนเรานี่เอง
แต่ท่านค้นพบโพธิจิตแล้ว
เราเองก็น่าจะเจริญรอยตามท่านได้เช่นกัน

นอกจากนี้ เมื่อเข้าถึงโพธิจิตแล้ว
ก็ไม่เห็นว่าอาจารย์เซ็นจะสอนให้ยึดโพธิจิต หรือยึดความว่างใดๆ
เพราะจุดสุดท้าย ก็ตรงกัน คือความไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง
คำสอนเรื่องโพธิจิต จึงอาจเป็นเพียงอุบาย
เพื่อปลุกเร้าให้เกิดการแสวงหาสัจจธรรมภายในจิตตนเองก็ได้
ซึ่งถ้าเป็นเพียงอุบาย ไม่ยืนยันว่าโพธิจิตเป็นอัตตา
ก็น่าจะไม่มีข้อขัดแย้งกับเถรวาทในสาระสำคัญแต่อย่างใด

ส่วนคำสอนของเถรวาท ก็มีความสุขุมรอบคอบ
โดยสอนให้รู้จักความเกิดดับของจิต คือจิตเป็นอนัตตา
เพื่อไม่ให้ผู้ศึกษาเกิดความหลงผิด
จนบ่มเพาะสักกายทิฏฐิคือความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นเราให้เติบกล้า

*************************************

การปลุกโพธิจิต

มรรควิถีของเถรวาทกับเซ็นก็ดูจะตรงข้ามกันอีก
คือเถรวาทสอนให้เรียนรู้อุปาทานขันธ์ หรือสิ่งที่จิตไปหลงยึดมั่นเข้า
จนรู้จริงแล้วจึงเลิกยึดมั่น จิตจึงหลุดพ้นจากอาสวกิเลส

และก่อนที่จะถึงขั้นเรียนรู้อุปาทานขันธ์ได้
ท่านก็สอนให้รู้จักรักษาศีล และทำสมาธิเพื่อเตรียมความพร้อมของจิตเสียก่อน

ในขณะที่เซ็นดูเหมือนจะไม่สนใจกับสิ่งที่จิตไปยึดมั่นเข้า
หากแต่สอนให้ตัดตรงเข้าสู่โพธิจิตเลยทีเดียว

เซ็นปฏิเสธการปฏิบัติธรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป
แต่สอนให้ลืมตาตื่นต่อสัจจธรรมขึ้นเลย โดยเน้นให้ รู้ ไม่ใช่คิด
เพราะความคิดนั้นแหละ คือสิ่งปิดบังความจริง ด้วยประสบการณ์เก่าๆ ของผู้คิดเอง
ทั้งยังปฏิเสธเงื่อนไขของการปฏิบัติทั้งหลาย
จนคล้ายกับว่า เซ็นไม่มีไตรสิกขาในส่วนของศีล และสมาธิ

ความจริงถ้าผู้ใดมีทัศนะว่า สัตว์ทั้งปวงมีโพธิจิตอย่างหนึ่ง
กับฝึก รู้ อย่างต่อเนื่องจริงจังไม่ให้จิตตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสตัณหาอีกอย่างหนึ่ง
ถึงจะไม่สมาทานศีล จิตก็ย่อมมีศีลเอง
เพราะจะเกิดความเมตตาต่อสรรพสัตว์อย่างหนึ่ง
และเพราะจิตไม่ถูกความชั่วย้อมเอาอีกประการหนึ่ง
เซ็น จึงอาจจะไม่พูดถึงศีล แต่จะกล่าวว่าเซ็นไม่มีศีล ก็คงไม่ถนัดนัก
ส่วนเรื่องสมาธิ เท่าที่ทราบก็มีการทำสมาธิกัน
เพราะชื่อของเซ็น ก็คือฌาน อันเป็นชื่อของสมาธินั่นเอง

สำหรับคำสอนเรื่อง ให้รู้ ไม่ให้หลงความคิด
อันนี้ก็คือหลักการสำคัญของวิปัสสนา

และแม้เซ็นจะไม่สอนให้เรียนรู้เรื่องอุปาทานขันธ์
แต่ในขณะที่ รู้ นั้นเอง สิ่งแรกที่จิตไปรู้เข้าจะไม่ใช่โพธิจิต
หากแต่เป็นรูปและนามขันธ์ต่างๆ อันเหมือนคูหาที่(โพธิ)จิต อาศัยอยู่นั่นเอง
(เพราะเซ็นเองก็ย้ำนักหนา ว่าไม่ให้ใช้จิตแสวงหาจิต
คือไม่ได้สอนให้มองตรงเข้าหาโพธิจิต)
ต่อเมื่อรู้สิ่งปรุงแต่งต่างๆ จนวางเพราะเห็นไตรลักษณ์แล้วนั่นแหละ
จึงจะพบโพธิจิต หรือจิตที่หลุดพ้น
ดังนั้นจะกล่าวว่าเซ็น ไม่เรียนรู้อุปาทานขันธ์ ก็ไม่เชิงนัก
ที่จริงเขาเรียนรู้ได้เหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้เรียกชื่อว่า อันนี้คือขันธ์อันนี้

*********************************************

ที่ผมนำเรื่องนี้มาพูดขึ้น ก็เพราะเห็นว่า
เราควรจำแนกให้ออกว่า คำสอนส่วนไหนเป็นของเถรวาท ส่วนไหนเป็นของเซ็น
อย่าให้สับสนปะปนกัน จนตัวเราเองก็งง พอพูดไปแล้วก็พาให้ผู้อื่นงงด้วย
แต่ไม่ใช่จำแนกเพื่อจะข่มซึ่งกันและกัน หากแต่เพื่อพยายามทำความเข้าใจกัน
เพราะถึงอย่างไร เซ็น ก็อยู่ในร่มของพระพุทธศาสนาร่วมกับเถรวาท
และในอนาคต ยังไม่แน่เหมือนกันว่า เมื่อกล่าวถึงพระพุทธศาสนา
ชาวโลกเขาอาจจะนึกถึงมหายานและเซ็นมากกว่าเถรวาท
เพราะเขาแทบจะไม่รู้จักเถรวาทแล้ว ก็เป็นได้

*************************************


(มีต่อ)
« Last Edit: Fri 24 Dec 10, 00:26:51 by หงส์น้อยบ้านโค้งดารา »
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
(ต่อ)
ประเด็นเรื่องความนิยมเซ็นนั้น ผมเองนิยมมากเหมือนกันครับ
แม้แต่หลวงปู่ดูลย์ ท่านก็ยืมคำสอนของฮวงโป มากล่าวสอนศิษย์บ่อยๆ

หากเป็นผู้เข้าใจแจ่มแจ้งถึงเรื่องการเจริญสติสัมปชัญญะแล้ว
การนิยมเซ็น ก็ไม่มีปัญหาอะไร
แต่จุดที่น่าห่วงใยก็คือ ปัญญาชนจำนวนมากตื่นเต้นกับคำสอนของเซ็น
เพลิดเพลิน หรือหลงเสพย์ถ้อยวลีอันลึกล้ำทางสมอง
และยึดมั่นในวาทะเรื่องความไม่มีตัวกูของกู ความว่าง มหาสุญญตา ฯลฯ
ทั้งที่ไม่รู้จักสติสัมปชัญญะจริงๆ เลย
ในที่สุดก็ได้มาแต่เปลือกของเซ็น
รวมทั้งมองข้ามการพัฒนาจิตใจตามหลักไตรสิกขาของเถรวาท
แล้วเอาเรื่องความไม่ยึดมั่น มาเป็นข้ออ้างในการสนองกิเลส
ถ้าเป็นแบบนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้เถรวาทเสียหายเท่านั้น
แต่ยังจะทำให้เซ็นเสียชื่อไปด้วย

ถ้าเป็นผู้มีปัญญา รู้จักการเจริญสติสัมปชัญญะอันเป็นทางสายเอก
สามารถจับแก่นธรรมของเถรวาทและเซ็นได้
ก็จะพบความจริงข้อหนึ่งว่า ธรรมแท้ไม่มีนิกาย


(จบ)
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
ขอบคุณครับ _/|\_
ทางสายเอก ทางสายเดียว ที่นำไปสู่ความบริสุทธิ หลุดพ้น คือ สติปัฎฐาน
ส่วนใครจะเรียกว่าอย่างไร หรือปฏิบัติวนไปวนมา หรือตัดตรง หรือใช้คำพูดล้อมความคิด
สุดท้ายต้องเข้าไปสู่ สติปัฎฐาน เท่านั้นครับ จึงจะถึงความบริสุทธิที่แท้จริง
เซนเขาก็มีวิธีการปฎิบัติสติปัฎฐานเมือนกันครับ แต่ไม่ได้มีชื่อเรียก หรือรูปแบบเหมือนเถรวาทเท่านั้นเอง
ผมเคยได้ยินเรื่อง มีอาจารย์เซนท่านหนึ่ง ปฏิบัติโดยการกวาดลานวัดทุกวัน วันละหลาย ๆ ชั่วโมง
เหล่าพระเณรในวัดก็พยายามขอให้ท่านไม่ต้องทำ ท่านก็ปฏิเสธ และปฏิบัติภารกิจนี้เป็นประจำ
วันหนึ่งพระลูกวัด ก็นำไม้กวาดของท่านไปซ่อน เพื่อไม่ให้ท่านได้ทำงาน
ท่านจึงสอนพระลูกวัดทั้งหลายด้วยการ ไม่ฉันอาหาร
เมื่อมีผู้ไปขอให้ท่านฉันอาหาร ท่านจึงสอนว่า ไม่ได้ทำงาน ก็ไม่ต้องกินข้าว
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า พวกเซนก็ชอบใช้การทำงานบ้าน(วัด) เป็นเครื่องอยู่แบบที่หลวงพ่อชอบสอนเหมือนกัน
หรือในนิทานเซนอีกหลาย ๆ เรื่องก็มักแสดงให้เห็นพระเซนที่ชอบใช้เวลาในการนั่งสมาธิ หรือทำงานวัดในระหว่างวันครับ

ผมเคยอ่านเรื่องประวัติของท่านอิกคิว พระเซนอีกคน
ท่านบวชตั้งแต่เด็ก(ที่เราดูการ์ตูนกันนั่นแหละครับ)
ที่ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดและทุมเทมาก ๆ
กระทั่งอาจารย์ท่านคนนึ่งมรณะภาพ ท่านยังหักห้ามความเสียใจ และปฏิบัติธรรมต่อหน้าศพของอาจารย์ท่าน
จนกระทั่งพระเณรลูกวัดคนอื่นกล่าวหาว่าท่านไม่รักอาจารย์ที่มรณะภาพเลยจึงไม่ร้องไห้ แต่กลับไปนั่งสมาธิ
ทำอย่างนี้เกือบ 20 ปี ท่องเทียวไปตามวัดต่าง ๆ เพื่อขอเรียนธรรมะอีกหลายวัด กว่าจะรู้แจ้งธรรม(ตามตำนานของพวกเซน)
ดังนั้นพระเซนเขาก็ปฏิบัติธรรมกันอย่างทรหด อดทนเหมือนกันครับ
ไม่ใช่กิน ๆ นอน ๆ แล้วเดินไปเจออาจารย์เก่ง ๆ ตามคันนา
ถูกถามประโยค 2 ประโยค ก็บรรลุกันตรงนั้น
อย่างนั้น สิ่งที่พระพุทธเจ้าบอกก็ไม่ถูกต้องสิครับ
 _/|\_
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช