Author Topic: [กระทู้เก่ามาเล่าใหม่] ปัญญาเพื่อความพ้นทุกข์ โดย คุณสันตินันท์  (Read 6022 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เขียนไว้เมื่อ วัน พุธ ที่ 11 ตุลาคม 2543 08:40:33

เราเคยได้ยินกันจนชินหูเกี่ยวกับปัญญา 3 ชนิดคือ
สุตตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา
วันนี้เราลองมาสนทนากันว่า นักปฏิบัติผู้อบรมภาวนามยปัญญานั้น
จะเกิดปัญญารอบรู้ในเรื่องใดได้บ้าง
เพื่อนๆ แต่ละท่าน อาจจะกำหนดคำตอบด้วยตนเองก็ได้
ว่าท่านเองมีปัญญาเรื่องใดบ้าง อันเป็นผลจากการปฏิบัติธรรม

*************************************

หากให้ผมลองประมวลว่า ที่ปฏิบัติธรรมมานานนั้น ได้ความรู้อะไรบ้าง
ก็เห็นจะสรุปได้ว่า พอจะรู้อยู่ 3 เรื่องด้วยกัน

ความรู้ชนิดแรก เป็นผลของสมถกรรมฐาน
แล้วจิตน้อม (บางท่านถึงขั้น น้อมจิต ไปได้ตามใจปรารถนา แต่ผมทำไม่ได้ถึงเพียงนั้น)
ไปรู้ถึงอดีตบ้าง
จิตน้อมไปรู้ถึงความตายและความเกิดของสัตว์ต่างๆ บ้าง
ได้เห็นว่า ในการเดินทางท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏนั้น เป็นเรื่องเสี่ยงภัยอย่างยิ่ง
เดี๋ยวก็ขึ้นสูง เดี๋ยวก็ลงต่ำ หาความแน่นอนอะไรไม่ได้เลย
หากแต่ต้องเวียนว่ายตายเกิดไปตามกระแสกรรมของตนเอง
ช่วงใดวิบากกรรมที่ดีให้ผล ก็เกิดหรือประสบพบเห็นสิ่งที่เจริญกายเจริญใจ
ช่วงใดวิบากกรรมที่เลวให้ผล ก็เกิดหรือประสบพบเห็นสิ่งที่ไม่เจริญกายเจริญใจ
บางคราวรู้ถึงปัญหาชีวิตที่รออยู่ข้างหน้า เนื่องจากกรรมบางอย่างกำลังจะให้ผล
จึงพยายามดิ้นรนที่จะป้องกันแก้ไข แต่ก็ไม่อาจต้านทานกระแสกรรมได้

ด้วยความรู้พิเศษอันเป็นผลของสมถกรรมฐานนี้เอง
เป็นเหตุให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า กัมมสกตาปัญญา คือความรู้ว่ากรรมเป็นสมบัติของเราเอง

ความรู้ชนิดนี้ยังเป็นความรู้ที่ไม่จำกัดเฉพาะชาวพุทธ
เพราะคนศาสนาอื่นที่เป็นกัมมวาที ก็มีอยู่
เนื่องจากสมถกรรมฐาน เป็นของสาธารณะ ในลัทธิศาสนาอื่นก็มี

แต่การที่เป็นกัมมวาทีนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะพ้นจากความหลงผิดได้
เพราะจิตที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนา จะเกิดความหลงผิดได้ว่า
จิตนี้แหละเที่ยง จิตนี้แหละเป็นอมตะ
เมื่อมันออกจากร่างหนึ่งแล้ว ก็ไปเกิดในร่างใหม่ได้
และร่างใหม่จะดีหรือเลว จะพบความสุขหรือทุกข์ ก็เพราะกรรมที่เคยทำมา
ซึ่งอันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ นั่นเอง

ปัญญาที่ยิ่งกว่านี้ อันเป็นภาวนามยปัญญา ยังมีอยู่อีก
แต่เป็นปัญญาอันเกิดจากการเจริญวิปัสสนา เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา
ได้แก่ปัญญาที่เห็นว่าขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์ นั่นเอง
ดังเช่นที่พวกเราเดินจงกรม รับรู้ความรู้สึกทางกายที่มากระทบกัน ระหว่างเท้ากับพื้น
หรือรับรู้ความรู้สึกสุข ทุกข์ และเป็นกลางๆ ในจิต
หรือรับรู้ถึงกุศล และอกุศลที่เกิดขึ้นในจิต เป็นต้น
เราก็จะรู้ชัดอยู่เสมอๆ ถึงความเกิดดับของรูปธรรมและนามธรรม อย่างเป็นปัจจุบัน
ด้วยจิตที่เป็นกลาง ปราศจากความยินดีและความยินร้าย
หรือถ้าจิตเกิดความยินดียินราย ก็รู้ทันอีก
จนจิตกลับเข้าสู่ความตั้งมั่นและเป็นกลาง แล้วรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏต่อไป

วิปัสสนาปัญญานี้ จะทำให้สิ่งเร้าต่างๆ ทั้งทางวัตถุและนามธรรม
ลดอำนาจยั่วยวนจิตให้หลงใหล จนถึงขั้นที่จิตจะรู้จักปล่อยวางต่อไป

ในระหว่างการเจริญวิปัสสนานั้น ผู้ที่มีจิตใจละเอียดอ่อน
จะสังเกตเห็นกลไกการทำงานของจิตได้ด้วย
คือเห็นชัดว่า ความทุกข์นั้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ
แต่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ เมื่อจิตทะยานเข้าไปยึดอารมณ์อันหนึ่งอันใด
หากจิตไม่ทะยานเข้าไปยึดอารมณ์ ความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้น
นี้คือการชิมลางที่จะเห็นอริยสัจจ์อย่างถึงใจ อันเป็น โลกุตรปัญญา
แต่ในขั้นที่เราเห็นความเกิด - ดับของทุกข์ พร้อมด้วยเหตุปัจจัยของทุกข์ กันอยู่อย่างนี้
ยังเป็นขั้นการเจริญวิปัสสนาด้วยธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานอยู่

จิตที่เจริญวิปัสสนาปัญญามากเข้าๆ ก็จะเริ่มถอดถอนตนเองออกจากสิ่งห่อหุ้ม
จนหลุดออกจากสิ่งห่อหุ้ม เสมือนไม่มีอะไรห่อหุ้มอยู่อีก
แต่ถ้าสังเกตให้ดีก็จะพบว่า จิตยังไม่หลุดพ้นจากอุปาทานขันธ์
มันมีสภาพคล้ายๆ กับต้นไม้ ที่แหวกพ้นจากดินขึ้นมา ยืนต้นแตกกิ่งใบได้แล้ว
สัมผัสกับความโปร่งว่างของอากาศ
สัมผัสความเย็นของหยาดฝน สัมผัสความอบอุ่นของแสงแดด
ดูเหมือนจะเป็นอิสระเต็มที่ ถ้าไม่ย้อนสังเกตเห็นว่า รากยังติดดินอยู่

ปัญญาที่จะถอนรากของจิตจากอุปาทานขันธ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เรียกว่าโลกุตรปัญญา
เป็นสภาพที่จิตมีปัญญาจนยอมรับด้วยใจถึงทุกข์อริยสัจจ์ที่ปรากฏอยู่
ปราศจากตัณหาหรือความอยากที่จะพ้นจากทุกข์ แล้วเที่ยวแสวงหาสิ่งอื่นเป็นที่อิงอาศัย
ปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์ ออกความคิดความเห็น หรือให้ค่ากับสิ่งทั้งปวง
เป็นสภาพคล้ายๆ การยอมจำนน แต่ไม่ใช่การยอมจำนน
แต่เป็นการหยุด เงียบ ระงับ สลัดคืนทุกสิ่งกระทั่งจิตให้กับธรรมชาติไป
แล้วก้าวเข้าสู่ความดับ ทั้งรูป นาม ขันธ์ อายตนะ ธาตุ กระทั่งตัวจิตเองในวับเดียว

เมื่อจิตผ่านสภาวะนั้นออกไปแล้ว จิตก็หมดรากที่จะยึดขันธ์
หมดธุระการงานที่จะต้องพากเพียรต่อไป
มีแต่ความเบิกบานสบายบนความไม่ยึดติดอะไรเลย

ผมพอจะเข้าใจ ปัญญาชนิดนี้และการทำงานของมัน บ้างแล้ว
เพราะเห็นบุคคลตัวอย่าง และเห็นร่องรอยมาแล้ว
แต่ที่ต้องนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังก่อนที่จะทำได้จริง
ก็เพราะต่อไปจะไม่มีโอกาสเล่าอีกแล้ว
จึงหวังเพียงการทิ้งร่องรอยไว้ให้หมู่เพื่อนทั้งหลาย
จะได้เห็นแนวทางพอที่จะตามๆ กันไปได้ต่อไป

*****************************************

จิตนี้ที่จริงแล้วตกอยู่ใต้อำนาจของไตรลักษณ์ครับ
คืิอไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาด้วย

จิตเองก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิดได้แก่ อวิชชา ตัณหา กรรม และนามรูป
และเมื่อจิตเกิดมาแล้ว ก็อยู่ใต้อำนาจไตรลักษณ์ตลอดเวลา
เช่นเราจะสั่งให้มันตั้งอยู่อย่างนั้น ไม่แปรปรวน หรือไม่ให้มันตกภวังค์ ก็สั่งไม่ได้
จะสั่งให้มันเลือกรู้เฉพาะอารมณ์ทางตา ไม่รู้อารมณ์ทางหู ก็ไม่ได้
จะสั่งให้มันเลือกรู้แต่อารมณ์ที่ดี ไม่รู้อารมณ์ที่ไม่ดี ก็ไม่ได้
จะสั่งให้มันดีตลอด ไม่ให้เกิดอกุศลเลย ก็สั่งไม่ได้
จะสั่งให้มันโกรธอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้หายโกรธเลย ก็สั่งไม่ได้เช่นกัน

แต่ที่อี๊ดรู้สึกว่า จิตมีหนึ่งเดียว แล้วเวียนรู้อารมณ์นั้นอารมณ์นี้ ดีบ้างชั่วบ้าง
พอตายแล้วก็ออกจากร่างไปเกิดใหม่
ทัศนะอย่างนี้เป็นทัศนะธรรมดาทั่วไปครับ
ส่วนมากใครๆ ก็รู้สึกอย่างนี้ (เว้นแต่พวกที่คิดว่าตายแล้วสูญ)
เนื่องจากจิตที่เกิดมาใหม่นั้น มันมีความจำได้หมายรู้เกิดมาด้วยพร้อมกับจิต
และจิตดวงใหม่ มันรับมรดกกรรมสืบเนื่องมาจากจิตดวงเก่าๆ
เราก็เลยคิดว่ามันเป็นอันเดียวกัน
คล้ายๆ กับเราจุดไม้ขีดไฟ แล้วเอาไฟไปจุดเทียน
ไฟของไม้ขีด กับไฟของเทียนมันร้อนเหมือนกัน แสงสีเหมือนกัน
เราก็เลยนึกว่า มันเป็นไฟอันเดียวกัน
ทั้งที่มันเป็นเพียงไฟที่ต่อเนื่องกันไปเท่านั้น

**************************************

การที่นั่งทำสมาธิแล้วรู้ว่า
"กายนี้ไม่ใช่ของเรา ตัวเราก็เป็นเพียงอาการรู้เท่านั้นเอง หน้าตา รูปร่างอะไรก็ไม่มี"
ก็นับว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้องอันหนึ่ง
แต่ความรู้ตรงนี้ยังไม่พอถึงขั้นปลอดภัยจากความหลงผิดนะครับ
เพราะนักปฏิบัตินอกพระพุทธศาสนาเขาก็เห็นเหมือนกันว่ากายไม่ใช่เรา
ส่วนตัวเราเป็นเพียงธรรมชาติรู้ หรือจิตนั่นเอง
ความเห็นว่าจิตเป็นเรานี้แหละ แสดงว่า สักกายทิฏฐิ ยังมีอยู่

ความรู้ความเข้าใจทุกชนิด เมื่อพบคราวแรกก็ย่อมนำความตื่นเต้นยินดีมาให้
แต่เมื่อพบบ่อยๆ ก็ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไป
แม้แต่เรื่องโลกๆ ก็เป็นอย่างเดียวกัน
เหมือนคนที่เป็นแฟนกัน เวลาเจอหน้ากัน
ย่อมตื่นเต้นกว่าคนที่แต่งงานอยู่กินกันแล้ว
ถ้าไม่เชื่อถาม หนึ่ง ดูก็ได้ :)

ที่ต่ายเล่าว่า เดินอยู่แล้วโดนคนกระแทกเข้าจังๆ
เห็นความโกรธพุ่งออกมาจากกลางอก แล้วก็ดับทันที รู้ชัดๆจังๆว่า โทสะมันไม่ใช่เรา
อันนี้เป็นความรู้ที่ถูกต้องแล้ว แต่เมื่อรู้แล้วก็ให้ทิ้งความรู้นั้นเสีย
อย่าเอามาอนุมานสำหรับการรู้คราวต่อไป

เช่นต่อไปโดนคนกระแทกอีก เกิดความโกรธขึ้นอีก
ก็ให้รู้ความเกิดดับของความโกรธไป
ไม่ใช่เอาความรู้เดิมมาอนุมานว่า ความโกรธไม่ใช่เรา
แต่ต้องให้รู้ความเกิดดับของความโกรธจริงๆ


ธรรมดาของจิตนั้น ถ้ามันสรุปอะไรไว้แล้ว
มันมักจะชินกับการเอาความรู้ของเก่ามาตัดสินปรากฏการณ์ใหม่
ทำให้หมดโอกาสที่จะหาความรู้เพิ่มขึ้น

เช่นพอความโกรธเกิดขึ้น ก็จะไม่สนใจรู้สภาวะของความโกรธ
แต่ไปคิดรวบยอดเอาว่า ความโกรธไม่ใช่เรา ช่างมันเถอะ
กลายเป็นการเอาความจำ เข้ามาปิดกั้นการเรียนรู้สภาวธรรมอันเป็นปัจจุบันของจิต
แล้วก็เกิดความภูมิใจว่า เดี๋ยวนี้ฉันรู้ทันความโกรธ พอรู้ปุ๊บมันก็ดับปั๊บ

ที่ผ่านมาจิตของต่ายมันชอบสรุปเอาเองล่วงหน้าอย่างนี้
เช่นเดินจงกรมอยู่แล้วเกิดความรู้เห็นหรืออาการอย่างนั้นอย่างนี้
ก็ไปหลงยินดีกับมัน แล้วสรุปเอาเลยว่า
อันนี้คืออย่างนี้ เกิดจากอย่างนี้ แก้ได้อย่างนี้
แทนที่จะเฝ้ารู้ความเกิดดับของสภาวธรรมทั้งหลายต่อไปด้วยจิตที่เป็นกลาง

เวลาพบหน้าครูบาอาจารย์จึงต้องถูกเข่นเป็นธรรมดา
เพราะถ้าได้รับคำชมก็จะยิ่งเหลิงว่าตัวเก่งหนักเข้าไปอีก
แล้วก็จะพยายามไปปฏิบัติเพื่อหาความรู้ความเห็นต่างๆ มาคุยอีก
แทนที่จะเฝ้ารู้ เฝ้าสังเกตจิตใจของตนไปอย่างเงียบๆ เพื่อความพ้นทุกข์ของตนเอง

**************************************************

เวลาที่เราเจริญสติมากๆ จิตมันเป็นอย่างนั้นแหละครับคุณอี๊ด
ประเภทกายหลับ จิตยังไม่ยอมหลับ แต่กลับตื่นขึ้นทำสมาธิ
ต่อเมื่อภาวนาไปนานๆ มันจะเปลี่ยนสภาพไปอีก
คือหลับก็หลับลงภวังค์ไปเลย เป็นการพักจริงๆ
ตอนตื่นจะรู้กายเช่นลมหายใจ หรือรู้จิตทันทีเป็นอัตโนมัติ

ช่วงที่ผมยังหนุ่มกว่านี้
จิตใจมันยังขยันแบบไม่รู้จักแยกเวลาปฏิบัติกับเวลาพักผ่อน
คราวหนึ่งผมไปราชการต่างจังหวัด ตอนนั้นยังเด็กก็ต้องนอนห้องละ 2 คน
พอหลับ จิตก็ตื่นขึ้นนั่งสมาธิตลอดคืน สดชื่นดีเหลือเกิน
พอเช้ามืดตื่นขึ้นมา เห็นเพื่อนร่วมห้องนอนคลุมโปงตัวสั่นอยู่
เรียกขึ้นมาถามก็ได้ความว่า เมื่อคืนเขาหลับไปตื่นหนึ่ง
พอลืมตาขึ้นก็เห็นผมนั่งสมาธิอยู่บนเตียง
แล้วก็เห็นผมอีกคนหนึ่งนอนหลับอยู่
เขาคิดว่าผมเลี้ยงผีเอาไว้นั่งเฝ้าเวลาเจ้าของหลับ
ก็เลยรีบคลุมโปงอยู่จนสว่าง

เรื่องนี้เล่ากันสนุกๆ นะครับอย่าคิดมาก
ถ้าคุณอี๊ดมีอาการกายหลับแต่จิตตื่นบ่อยๆ
สักวันอาจจะมีคนเห็นอย่างนี้บ้างก็ได้เหมือนกันเวลาที่เราเจริญสติมากๆ จิตมันเป็นอย่างนั้นแหละครับคุณอี๊ด
ประเภทกายหลับ จิตยังไม่ยอมหลับ แต่กลับตื่นขึ้นทำสมาธิ
ต่อเมื่อภาวนาไปนานๆ มันจะเปลี่ยนสภาพไปอีก
คือหลับก็หลับลงภวังค์ไปเลย เป็นการพักจริงๆ
ตอนตื่นจะรู้กายเช่นลมหายใจ หรือรู้จิตทันทีเป็นอัตโนมัติ

ช่วงที่ผมยังหนุ่มกว่านี้
จิตใจมันยังขยันแบบไม่รู้จักแยกเวลาปฏิบัติกับเวลาพักผ่อน
คราวหนึ่งผมไปราชการต่างจังหวัด ตอนนั้นยังเด็กก็ต้องนอนห้องละ 2 คน
พอหลับ จิตก็ตื่นขึ้นนั่งสมาธิตลอดคืน สดชื่นดีเหลือเกิน
พอเช้ามืดตื่นขึ้นมา เห็นเพื่อนร่วมห้องนอนคลุมโปงตัวสั่นอยู่
เรียกขึ้นมาถามก็ได้ความว่า เมื่อคืนเขาหลับไปตื่นหนึ่ง
พอลืมตาขึ้นก็เห็นผมนั่งสมาธิอยู่บนเตียง
แล้วก็เห็นผมอีกคนหนึ่งนอนหลับอยู่
เขาคิดว่าผมเลี้ยงผีเอาไว้นั่งเฝ้าเวลาเจ้าของหลับ
ก็เลยรีบคลุมโปงอยู่จนสว่าง

เรื่องนี้เล่ากันสนุกๆ นะครับอย่าคิดมาก
ถ้าคุณอี๊ดมีอาการกายหลับแต่จิตตื่นบ่อยๆ
สักวันอาจจะมีคนเห็นอย่างนี้บ้างก็ได้เหมือนกัน

หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
ขอบคุณครับ อ่านแล้วจิตสงบมากเลยครับ  :D
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช