สนทนากับลุงถนอม > คุยกัน ประสานักภาวนา

เมื่อถึงทางตันที่คุณลุงถนอมเคยกล่าวไว้

(1/17) > >>

Lily:
เมื่อถึงทางตันที่คุณลุงถนอมเคยกล่าวไว้

แต่ถ้าเราภาวนาด้วยการเรียนรู้ความเป็นจริงของกายของใจด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง เราในฐานะปุถุชนก็จะเห็นว่า สรรพสิ่งทั้งหลาย ที่ปรากฎอยู่ ก็ล้วนแต่ดับไป ไม่เห็นอะไรคงทนถาวร ล้วนแต่บังคับไม่ได้ ไม่เป็นไปตามปราถนา ไม่ว่าจะปราถนาให้คงอยู่ หรือปราถนาให้แตกทำลายไป ก็หาได้เป็นไปตามประสงค์ไม่ ไม่ทำลายก็แตกดับไปเอง จะไม่หวงแหน ไม่รักษา ไม่ทอดทิ้ง แต่ตามรู้ตามดู เมื่อเราเห็นอย่างนี้เรื่อยไป จนวันหนึ่งเราเกิดความเบื่อ เรารู้สึกว่าถึงทางตัน เพียงเฉลียวใจขึ้น ว่ามีอีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นในใจเราแล้ว คือ ความไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ มีอยู่ เราตามรู้ตามดูไป เราก็จะไม่รู้สึกหรอกครับว่าถึงทางตัน เพราะเรามีงานใหม่ให้ทำอีกแล้ว คือ การตามรู้ตามดูกิเลสตัวใหม่ กิเลสตัวที่เราเพิ่งจะรู้จัก ที่กำลังครอบงำจิตใจของเราครับ..

ขอโอกาสถามค่ะ

1. หัวข้อที่ตั้งกระทู้ไว้ บุคคลอื่นเข้าไปตอบหรือแสดงความคิดเห็นไม่ได้ใช่มั้ยคะ ที่ถามเพราะลิลลี่ จะขอถามต่อกระทู้เมื่อถึงทางตันแต่เข้าไปตอบไมได้ จึงต้อง ตั้ง New topic

2. จากกระทู้ที่ลุงถนอมเคยตอบไว้ เรื่อง เมื่อถึงทางตัน ..ลิลลี่ขอถามต่ออีกนิดค่ะ ..คือ ลิลลี่เริ่มภวนามาไม่ได้ศึกษาปริญัติเลย เริ่มฝึกไปซื่อๆนี่แหระค่ะ ..ไม่มีความเข้าใจภาพรวมของการภวนาเท่าไร ดังที่เคยส่งการบ้านให้ลุงถนอมฟัง ลิลลี่ติดอยู่ที่ใจไม่เป็นกลางแล้วรู้สึกถึงทางตันมาสักพักใหญ่ แต่ หล.และ ลุงถนอมแนะนำก็มีหนทางในการฝึกไปเรื่อยๆ
ลิลลี่อยากทราบว่าความเป็นกลางของจิต คือ ปัญญาตัวนึงใช่หรือไม่คะ แล้ว ความเป็นกลางของจิตนี้มีหลายระดับถูกต้องมั้ยคะ เคยฟังเทศว่าเมื่อจิตเข้าสู่ความเป็นกลาง ความทุกข์ก็เข้าถึงใจไม่ค่อยได้ ซึ่งลุงถนอมก็เคยบอกลิลลี่ว่าที่สังเกตุเห็นว่า ความทุกข์ยังเข้าถึงใจได้เสมอ เพราะ ใจยังตีค่า ยินดี ยินร้าย ถ้าใจเป็นกลางต่อสภาวะ จะอยู่แค่รู้สภาวะเหมือนคนวงนอก ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไปกับมันใช่หรือไม่คะ

3. ลิลลี่เองภวนาไปด้วยความซื่อ อาศัยรู้ไปด้วยความซื่อๆ ขอถามเพิ่มเติมว่า ลิลลี่เดินมาถูกทาง แต่สติปัญญายังไม่พอ ( ความเป็นกลางของจิต )คือ ต้องสติ ปัญญา สมาธิ
ไปจนเค้าพอ เห็นความจริงจนยอมรับใช่มั้ยคะ จึงจะอยู่เหนือ ทั้งสุข และ ทุกข์

4. ลิลลี่บอกตรงๆ ว่าลิลลี่ไม่เข้าใจว่าทำไม เวลาที่ส่งการบ้าน หล.ท่านเทศสอนแต่ละคนไม่เหมือนกัน  ลิลลี่ไม่เข้าใจ คนที่ฝึกภวนาก็น่าจะเห็นสภาวะธรรมได้เหมือนๆกันอยู่แล้วนี่คะ ...ในเส้นทางของสติปัฏฐาน ลิลลี่ อยากรู้ว่า ลิลลี่อยู่ตรงไหน มีความเข้าใจในสภาวะธรรม และกำลังเจริญปัญญาอยู่ใช่มั้ยคะ ที่หล.เทศบ่อยๆว่าจิตเค้าจะเดินปัญญา..ลิลลี่ก็เป็นกลุ่มคนที่ฝึกเดินปัญญาใช่มั้ยคะ ....

ขอบคุณค่ะ

ลิลลี่ _/|\_

ลุงถนอม:
ตอบคุณ ลิลลี่

ข้อ 1. หัวข้อที่ตั้งกระทู้ไว้ บุคคลอื่นเข้าไปตอบหรือแสดงความคิดเห็นไม่ได้ใช่มั้ยคะ ที่ถามเพราะลิลลี่ จะขอถามต่อกระทู้เมื่อถึงทางตันแต่เข้าไปตอบไมได้ จึงต้อง ตั้ง New topic

ใช่ครับ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ

1. เวลาที่มีคนอื่นเข้าไปตอบในกระทู้ที่มีการถามในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะขอถามเพิ่มเติม หรือไปแสดงความเห็นเชิงเสนอแนะกับเจ้าของกระทู้ เท่าที่สังเกตเห็นก็คือ ทำให้เจ้าของกระทู้มีจิตที่กวัดแกว่งไปสนใจเรื่องใหม่ หรือไปสนใจประเด็นอื่นเพิ่มเติม ทำให้บางครั้ง ในขณะที่พยายามตะล่อมให้กลับมา Focus ในจุดที่เป็นประเด็นจริงๆ ทำไม่ได้ครับ เจอหลายครั้งในเว็บบอร์ดอื่นครับ ทำให้คนที่ถามไขว้เขว หรือหาข้อสรุป หรือทำความเข้าใจไม่ได้ครับ จึงตัดสินใจให้มีแต่เจ้าของกระทู้เท่านั้นที่จะโพสต์ลงไปได้ครับ

2. บางครั้ง พบว่า ต้องตอบให้กับหลายคนในกระทู้เดียวกัน ทำให้ตัวเองก็ Focus ลงไปได้ยากว่า จะ point เข้าสู่จุดไหนดี เพราะเหตุว่า มีมากกว่า 1 คนที่ถามเอาไว้ในที่เดียวกัน ด้วยจิตที่มีทิฎฐิและความเข้าใจต่างกัน จนเคยพบว่า ไม่ว่าจะตอบอย่างไร ก็จะทำให้คนใดคนหนึ่งเกิดความไขว้เขว เป็นการตอบที่ยากมากครับ ก็เลยเลือกให้เป็นการถามตอบกันในที่สาธารณะ แต่เป็นการถามตอบแบบตัวต่อตัวดีกว่าครับ ใครสงสัย ก็ตั้งกระทู้ของตัวเองถามเอาก็แล้วกัน

2. จากกระทู้ที่ลุงถนอมเคยตอบไว้ เรื่อง เมื่อถึงทางตัน ..ลิลลี่ขอถามต่ออีกนิดค่ะ ..คือ ลิลลี่เริ่มภวนามาไม่ได้ศึกษาปริญัติเลย เริ่มฝึกไปซื่อๆนี่แหระค่ะ ..ไม่มีความเข้าใจภาพรวมของการภวนาเท่าไร ดังที่เคยส่งการบ้านให้ลุงถนอมฟัง ลิลลี่ติดอยู่ที่ใจไม่เป็นกลางแล้วรู้สึกถึงทางตันมาสักพักใหญ่ แต่ หล.และ ลุงถนอมแนะนำก็มีหนทางในการฝึกไปเรื่อยๆ
ลิลลี่อยากทราบว่าความเป็นกลาง ของจิต คือ ปัญญาตัวนึงใช่หรือไม่คะ แล้ว ความเป็นกลางของจิตนี้มีหลายระดับถูกต้องมั้ยคะ เคยฟังเทศว่าเมื่อจิตเข้าสู่ความเป็นกลาง ความทุกข์ก็เข้าถึงใจไม่ค่อยได้ ซึ่งลุงถนอมก็เคยบอกลิลลี่ว่าที่สังเกตุเห็นว่า ความทุกข์ยังเข้าถึงใจได้เสมอ เพราะ ใจยังตีค่า ยินดี ยินร้าย ถ้าใจเป็นกลางต่อสภาวะ จะอยู่แค่รู้สภาวะเหมือนคนวงนอก ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไปกับมันใช่หรือไม่คะ

ความเป็นกลาง จะบอกว่าเป็นตัวปัญญาหรือเปล่า ก็ตอบว่าไม่เชิง แต่จะว่าไม่ใช่ก็ไม่ใช่พูดไม่ได้อย่างนั้นครับ เพราะความเป็นกลางดังที่ว่า เป็นอาการของจิตที่ตั้งมั่น ซึ่งการตั้งมั่นของจิตมาได้ 2 วิธีนะครับ

วิธีแรกคือวิธีของสมถยานิกเขา ฝึกสมาธิจนเข้าถึงฌานที่ ๒ ให้ วิตก วิจาร (คือองค์ภาวนา) ดับไป เหลือแต่ ปีติ สุข เอกัคตา จิตจะตั้งมั่นเด่นดวง เป็นจิตผู้รู้ ก็อาศัยจิตชนิดนี้ไปรู้กายในชีวิตประจำวันบ้าง ไปรู้องค์ของฌานบ้าง วิธีนี้ไม่ได้อาศัยปัญญาเป็นเครื่องนำมานะครับ ดังนั้นบอกได้เลยว่า จิตตั้งมั่นตรงนี้ ไม่ใช่ปัญญา

วิธีที่สองคือวิธีของวิปัสสนายานิก อาศัยการฝึกเจริญสติ ฝึกรู้สึกตัว จนเป็นสติอัตโนมัติ เป็นสติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ คือ ระลึกรู้อารมณ์(สติ)ด้วยความรู้สึกตัว(สัมปชัญญะ) วิธีนี้ เมื่อฝึกมากเข้าๆจนเป็นสติอัตโนมัติ จิตจะเกิดสติพร้อมกับสัมปชัญญะ เมื่อมีสติเกิดขึ้นพร้อมสัมปชัญญะ (สัมปชัญญะเป็นตัวปัญญาเบื้องต้นครับ ตรงนี้เป็นปัญญา) จิตจะมีความตั้งมั่นขึ้นชั่วขณะ เป็นกลาง เพราะในขณะนั้น (คือในขณะที่จิตมีความรู้สึกตัวจริงๆนั้น) จิตจะไม่มีโมหะ เมื่อจิตไม่มีโมหะ จิตไม่มีกิเลส จิตก็ไม่ไหลไปเกลือกลั้วกับอารมณ์ (คือ สิ่งที่จิตไปรู้เข้า) จิตที่ไม่ไหลไป ก็เป็นจิตที่ตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่นตัวนี้แหละครับ ที่หลวงพ่อปราโมทย์ท่านกล่าวถึงว่า "รู้ ด้วยความเป็นกลาง" หรือ "รู้ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง" แต่ที่หลวงพ่อปราโมทย์ท่านพูดให้ "รู้ ด้วยความเป็นกลาง" สำคัญตรงที่ "หลังรู้ก็ไม่เข้าไปแทรกแซง" (ไม่เข้าไปจัดการใดๆกับจิต เช่น ไปพยายามให้ไม่มีกิเลสเกิด ไปพยายามให้จิตห่างจากอารมณ์ ฯลฯ.) ส่วนที่ท่านสอนกว้างกว่านั้นว่า ก่อนรู้ไม่ให้ดักรู้นั้น เป็นการสอนขยายความกับคนทั่วไป เพราะเวลาที่จิตเป็นกลางจริงๆ จะไม่เกิดจากจิตที่ไปจงใจรู้ หรือไม่ไปรอดูที่จะรู้ เพราะนั่นทำไปตามอำนาจของกิเลสอยากดีครับ เจริญสติไม่ได้จริง หรือ ในขณะที่รู้ จิตไม่ไหลไป(รวมกับอารมณ์ หรือคลุกกับอารมณ์) เพราะสติที่เป็นมิจฉาสติ สติที่รู้อารมณ์ จะไปจดจ่อคลุกคลี แนบแน่น อยู่กับอารมณ์นั้นๆครับ (แต่สามารถอาศัยมิจฉาสตินี้ ช่วยทำให้เกิด จิตที่ตั้งมั่น รู้อารมณ์ ด้วยความเป็นกลางได้ เพียงแค่เฉลียวใจเห็นจิตที่จดจ่อกับอารมณ์ หรือจิตที่แนบแน่นกับอารมณ์ หรือเห็นจิตที่ลืมเนื้อลืมตัว จิตก็จะกลับมาตั้งมั่นในฉับพลัน แต่จะตั้งมั่นเพียงแค่แว่บเดียว)ครับ

ขยายความเพิ่มเติมต่ออีกนิดนะครับ เวลาที่เราฝึกการเจริญสตินั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยนะครับที่จะทำไปด้วยความจงใจ เราจงใจเพื่อจะฝึกฝนเจริญสติไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้าเราจงใจเพื่อจะฝึกฝนให้เหนือมนุษย์ มีอำนาจเหนือผู้อื่น หรือเก่งกว่าผู้อื่น อันนี้ไม่ตรงกับเจตนาในการฝึกเจริญสติ จะมีผลเสียหายใหญ่หลวงในภายหลัง และแม้ว่าเราจงใจฝึกฝนการเจริญสติเพื่อให้จิตเจริญสติปัฏฐานได้ เพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้น นำไปสู่้ความปราศจากความยึดมั่นถือมั่นว่ากายใจเป็นตนเป็นของตนแล้ว ก็ยังไม่ถูกนัก แต่ต้องเพิ่มด้วยความรู้ในขณะที่ฝึกฝนว่า จิตมีความจงใจ ก็รู้ตามความเป็นจริงว่ามีความจงใจ หากรู้จักและรู้ทันกิเลสความจงใจตัวนี้แล้ว ความจงใจที่ใช้เพื่อการฝึกฝนการเจริญสติปัฏฐานจึงจะไม่เป็นโทษ (แต่กลับเป็นคุณเสียอีก เพราะต่อๆไปจิตจะเห็นเอง ว่าความจงใจก็ไม่ใช่ที่พึ่ง พอถึงวันหนึ่ง จิตก็จะไม่พึ่งความจงใจต่อไป เพราะสติสามารเกิดขึ้นได้อัตโนมัติ แต่เราเองต่างหากที่ยังต้องพึ่งความจงใจ เพื่อฝึกฝนการเจริญสติปัฏฐานให้มั่นคงต่อไปครับ)

ดังนั้น หากตอบตามปริยัติ ก็ต้องบอกว่า จิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง ความตั้งมั่นเป็นกลางไม่ใช่ตัวปัญญา แต่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา คือ จิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางจะเป็นจิตที่เอื้อให้เกิดปัญญาครับ ส่วนปัญญานั้น จะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่า เป็นจิตที่เคยฝึก เคยเจริญสติปัฏฐานมาจนเกิดปัญญามาก่อนแล้วหรือไม่ ถ้าฝึกมาแล้ว ก็จะเกิดปัญญา เห็นไตรลักษณ์ได้ในขณะถัดมา หรือเกือบจะพร้อมๆกับที่เกิดจิตที่ตั้งมั่นเลยก็ได้ครับ แต่ถ้าหากไม่เคยฝึก ก็จำเป็นอยู่เองครับ ที่จะต้องฟังพระธรรมเทศนาเรื่องอริยสัจจ์ เรื่องไตรลักษณ์ บ่อยๆ ให้จิตซึมซาบ และพลิกมาพิจารณาสภาวธรรมที่ปรากฎในขณะที่จิตมีความตั้งมั่นครับ

แต่ถ้าตอบตามการภาวนาแบบปุถุชนอย่างเราๆ ก็แยกไม่ออกหรอกครับ เพราะเมื่อเกิดจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง แล้ว ก็ย่อมเห็นว่าสภาวธรรมที่ถูกรู้ อยู่ห่างๆบ้าง ไม่ใช่เราบ้าง แปรปรวนบ้าง ดับไปได้เองบ้าง บังคับไม่ได้บ้าง เป็นอย่างนั้นอยู่แล้วครับ

ความเป็นกลางของจิตนี้มีหลายระดับถูกต้องมั้ยคะ

ไม่ทราบเหมือนกันครับว่า ตามตำรานั้น ได้แบ่งความเป็นกลางมีกี่ระดับ แต่หากแบ่งเอาตามความเข้าใจนะครับ ความเป็นกลางดังว่า น่าจะมี 3 แบบ คือ

1. เป็นกลางด้วยการเจริญสติในชีวิตประจำวัน อย่างพวกวิปัสสนายานิก พวกนี้เป็นกลางกันได้แว้บๆ เท่านั้น ไม่ได้เป็นกลางอยู่นาน บางทีนะครับ เจ้าตัวเองก็สังเกตไม่เห็นเท่านั้น เพราะพอเกิดจิตที่เป็นกลางแล้วดับไป เจ้าตัวเห็นแค่สภาวะที่ถูกรู้ แล้วก็ถัดจากนั้น ก็เผลอครั้งใหม่แล้วเท่านั้น

2. เป็นกลางด้วยสมาธิ อย่างพวกสมถยานิก ท่านที่ทรงฌานแล้ว จิตจะเป็นกลางเพราะสมาธิ กิเลสอย่างกลาง คือ นิวรณ์ ๕ ได้ดับไปหมดแล้ว

3. เป็นกลางด้วยปัญญา เวลาเกิดปัญญาขึ้น จิตจะเป็นกลางอยู่ช่วงหนึ่งนะครับ นานสักหน่อย ก็แบ่งเป็นปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติในชีวิตประจำวัน กับที่เกิดอริยมรรค อริยผล น่ะครับ ถ้าอย่างแรกก็ไม่ีนานนักครับ บางทีก็แค่แว่บเดียว บางทีก็ 2-3 ชั่วลมหายใจ บางทีก็เป็นชั่วโมง แต่อย่างหลัง เป็นกลางได้เป็นวันๆ แต่หากไม่ใช่อรหันตผล ก็จะยาวนานไม่เกิน 7 วัน แต่หากเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นกลางไปตลอดแล้วล่ะครับ เพราะกิเลสไม่เข้าถึงใจได้อีกแล้วครับ สิ้นราคะ ก็ไม่มีอะไรย้อมติดที่ใจ สิ้นตัณหาก็ไม่มีการเกิดการดับ แม้ว่าจิตพระอรหันต์ยังมีการเปลี่ยนแปลงได้นะครับ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวอุเบกขา แต่ไม่มีการเกิดที่เรียกว่า ภพ อีกต่อไปแล้วนะครับ

3. ลิลลี่เองภวนาไปด้วยความซื่อ อาศัยรู้ไปด้วยความซื่อๆ

ภาวนาไปด้วยความซื่อๆอย่างนี้ล่ะครับ ถูกแล้ว ภาวนาด้วยความรู้มาก (แต่ไม่ได้เก่งจริง) อย่างลุงถนอม ไปไม่ถึงไหนหรอกครับ

ลิลลี่เดินมาถูกทาง แต่สติปัญญายังไม่พอ

ครับ แต่ที่ว่าไม่พอ คือ การสะสมปัญญาที่ยังไม่มากพอ ก็อาศัยการฝึกไปเรื่อยๆอย่างนี้ ด้วยความซื่อๆอย่างนี้ล่ะครับ จำได้ว่าหลวงพ่อบอกว่า ให้ไปภาวนาต่อไม่ใช่หรือครับ เพราะฉะนั้นคำแนะนำของหลวงพ่อ ก็คือ คำแนะนำที่เป็นที่สุดในเวลานี้แล้วครับ

เห็นความจริงจนยอมรับใช่มั้ยคะ จึงจะอยู่เหนือ ทั้งสุข และ ทุกข์

ภาวนาไปจนเห็นความจริงอย่างหมดจด หมดข้อโต้แย้ง ยอมรับอย่างยอมแพ้ทุกประตูครับ แล้วจะอยู่เหนือสุข เหนือทุกข์ แต่เอาเข้าจริงแล้ว การพูดว่าอยู่เหนือสุข เหนือทุกข์ ก็เป็นการพูดสำนวนอย่างโลกๆเพื่อให้คนที่ยังข้องอยู่ในโลกเข้าใจเท่านั้นครับ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ไม่มีการอยู่เหนือสุข เหนือทุกข์ ใดๆทั้งนั้น ก็จะมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิด มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่ดับ มีแต่สภาวะเป็ททุกข์ แต่ไม่มีผู้ทุกข์ ไม่มีใครทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็ดับ หาใช่ ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา สักว่าเป็นสภาวะเท่านั้น หากอยากจะสังเกตตัวอย่างที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือ เวลาเราเห็นสภาวะที่ปรากฎตรงหน้า แล้วเราเห็นทุกขลักษณะของสภาวะในขณะนั้น คือ เห็นสภาวะมีความบีบคั้น มีความเคร่งเครียด มีความเบียดเบียนภายใน มีน้ำหนัก หรือเป็นส่วนเกินจากความปกติธรรมดา หรือเป็นส่วนเกินจากความไม่มีอะไร แล้วสภาวะนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ห่างจากตัวเราออกไป การเห็นอย่างนี้ ก็พอจะเทียบเคียงได้ใกล้ที่สุดเท่าที่ปุถุชนอย่างเราๆจะพอหาตัวอย่างกันได้ครับ แต่ที่ปุถุชนมี แต่พระอรหันต์ท่านไม่มี ก็คือ ความเป็นตัวเราที่แนบแน่นกับจิตนะครับ ดังนั้น ตัวอย่างนี้ จะใกล้เคียงเพียงบางส่วนท่านั้นครับ (และต้องเป็นนักภาวนาที่ภาวนามาได้จนถึงขั้นแยกธาตุแยกขันธ์ แล้วยังต้องสังเกตเห็นทุกขลักษณะในสภาวะที่ปรากฎต่อหน้าต่อตาด้วย)

4. ลิลลี่บอกตรงๆ ว่าลิลลี่ไม่เข้าใจว่าทำไม เวลาที่ส่งการบ้าน หล.ท่านเทศสอนแต่ละคนไม่เหมือนกัน  ลิลลี่ไม่เข้าใจ คนที่ฝึกภวนาก็น่าจะเห็นสภาวะธรรมได้เหมือนๆกันอยู่แล้วนี่คะ

ไม่เหมือนกันหรอกครับ แม้แต่สามัญลักษณะ หรือ ลักษณะทั่วไป ของพวกสังขารธรรมทั้งหลาย ยังต้องแบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะแต่ละท่านเห็นสามัญลักษณะไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่ อนัตตา ก็ยังแยกย่อยออกไปอีกมากมาย เช่น เห็นว่าบังคับไม่ได้ เห็นว่าไม่เป็นไปตามปราถนา เห็นว่าอยู่ห่างๆจากเราออกไป เห็นว่าไม่ใช่ตัวเรา เวลาเห็น เห็นแว่บเดียว และจะเห็นแค่มุมเดียวด้วยซ้ำไป (แต่คนละขณะ เวลาเห็น อาจจะเห็นด้วยมุมที่ต่างกัน ในคนๆเดียวได้นะครับ) หรือแม้แต่ตัวสภาวธรรมที่เห็น ที่เป็นเหตุให้เกิดสติ ก็ไม่เหมือนกันเลยครับ บางคนดูอิริยาบถ บางคนดูกายเคลื่อนไหว บางคนดูอวัยวะน้อยใหญ่ บางคนต้องดูโทสะ บางคนก็ต้องดูราคะ บางคนก็ต้องดูฟุ้งซ่าน บางคนก็ต้องดูทิฎฐิ บางคนก็ต้องดูมานะ (มีน้องคนหนึ่ง ดูอะไรไม่ได้ ต้องดูตัวมานะ วันแรกที่หัดดู เห็นเล่าให้ฟังว่า ต้องลุกนั่งๆทั้งวัน เพราะมานะเยอะมาก คือสอนให้สังเกตตัวมานะ แล้วอย่าไปตอบโต้ใคร เพราะจะหลุดไปทางวจีกรรม เลยให้ระงับ-ไม่ใช่วิปัสสนา เพื่อไม่ให้มานะครอบงำจิต ด้วยการให้ลุกออกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ซะก่อน ก่อนจะไปลุยกับคนอื่นในอินเตอร์เน็ต เพราะถ้าหากเห็นมานะแล้วไม่ทำอย่างนั้น ก็จะไปลุยกับเขา ก่อกรรมใหม่ที่จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญสติ เพราะจิตที่มีกิเลสได้ช่องทางใหม่ที่จะครอบงำครับ แต่ที่เขาเป็นอย่างนี้ก็ด้วยเพราะวาสนาเก่าเคยเป็นทหารหน่วยสอดแนม หน่วยทะลวงฟันน่ะครับ)

ในเส้นทางของสติปัฏฐาน ลิลลี่ อยากรู้ว่า ลิลลี่อยู่ตรงไหน มีความเข้าใจในสภาวะธรรม และกำลังเจริญปัญญาอยู่ใช่มั้ยคะ

ก็หลวงพ่อบอกไว้แล้วไม่ใช่หรือครับ วันที่แอบฟังส่งการบ้านอยู่ข้างหลัง สุดศาลาฯสวนสันติธรรม เข้าใจว่าหลวงพ่อบอกแล้วนี่ครับ ว่าจิตเดินปัญญาอยู่ ให้ภาวนาต่อไป

ลิลลี่ก็เป็นกลุ่มคนที่ฝึกเดินปัญญาใช่มั้ยคะ ....

ช่างสงสัยอย่างนี้ เป็นพวก ทิฎฐิจริต (ช่างคิด) ก็ต้องฝึกดูจิตอย่างนี้อยู่แล้วล่ะครับ

ขอให้เจริญในธรรมครับ  _/|\_

Lily:
ขอบพระคุณค่ะ.. _/|\_ _/|\_

พอเข้าใจบ้างค่ะ แต่ไม่เหมือนตอนรู้สภวาะมันเข้าใจลึกซึ้งกว่าค่ะ ..เหมือนคิดแล้วฟุ้งไปเรื่อยๆ จับนั่นมาชนนี่ มันเข้าใจแบบคิดแล้วก็ปรุงแต่งต่อ
หล.ไม่เคยบอกว่า ลิลลี่เดินปัญญาเลยค่ะ ท่านบอกให้ไปทำต่อ จน สติ สมาธิ ปัญญา อัตโนมัติ.. ไม่เคยบอกว่าลิลลี่ ภวนาถึตรงไหน หรือมีปัญญาแล้วหรือยัง หรือ บอกแต่ลิลลี่ ไม่เข้าใจเอง อิอิ ..
คือ ท่านจะแนะนำว่าธีการปฏิบัติ ให้ไปทำต่อเท่านั้นค่ะ  คงเหมือนลุงถนอมว่าค่ะ ...
ช่างสงสัยอย่างนี้ เป็นพวก ทิฎฐิจริต (ช่างคิด) ดัง ลุงถนอมว่าแหระ อิอิ ...

ขอบพระคุณมากค่ะ  _/|\_ _/|\_ _/|\_

ลุงถนอม:
ถ้าภาวนามาถึงขนาดนี้แล้ว แล้วจิตไม่เดินปัญญาล่ะก็ หลวงพ่อท่านแนะวิธีให้แล้วล่ะครับ

ท่านไม่ได้แนะอะไรเพิ่มเติม แต่ให้ไปทำต่อ ก็เท่ากับว่า จิตเจริญสมถะและวิปัสสนาพอสมควรแก่เจ้าตัวแล้วนะครับ แต่ก็อย่าลืมว่า ต้องมาส่งการบ้านเป็นระยะๆนะครับ อาจจะทุกๆไตรมาสก็ได้ครับ หรืออย่างน้อยก็ควรจะให้ได้ปีละครั้งนะครับ เพราะเส้นทางนี้เราไม่รู้จัก เราจึงอาจหลงวนอยู่ตรงไหนก็ได้ครับ ต้องถามทางจากผู้ที่ผ่านไปแล้วน่ะครับ

ขอให้เจริญในธรรมครับ  _/|\_

พอเข้าใจบ้างค่ะ แต่ไม่เหมือนตอนรู้สภวาะมันเข้าใจลึกซึ้งกว่าค่ะ

ถูกต้องแล้วล่ะครับ หลวงพ่อเคยบอกด้วยซ้ำไปครับว่า บางครั้งพูดถึงสภาวธรรมที่ลึกซึ้ง พอพูดออกมาแ้ล้วก็งั้นๆ ไม่ลึกซึ้งเหมือนกับที่ได้ประสบกับสภาวะนั้นเอง หรือถ้าพูดถึงปัญญาแล้วยิ่งไม่ซึ้งเท่ากับที่ปัญญาเกิดขึ้น มันซาบซึ้งกว่ากันเยอะครับ

อนุโมทนาสาธุครับ  _/|\_

Lily:
สวัสดีค่ะ คุณลุงถนอม  _/|\_ _/|\_
วันนี้มาส่งการบ้านคะ ..มีเรื่องรบกวนอีกแล้วค่ะ ..

1. เหมือนมีเหตุการณ์ มีสภาวะใหม่ ๆ เกิดขึ้นแต่ลึกลงไปมันก็เรื่องเดิมแหระคะ ใจไม่เป็นกลาง มาให้ลุงถนอมเคาะๆนิดหน่อยค่ะ อิอิ จะได้หายมึน
ภวนาแล้วเห็นแต่ทุกข์ ใจก็ไม่กลางมันก็ยิ่งทุกข์ ความสุขเดิมๆมันแทนไม่ได้แล้ว ไปเที่ยวไปซื้อของจากเคยสุข ไม่เห็นมันสุขเลย อะไรๆก็งั้นๆ ไปหมดเลย ไปวัดจากเคยสุขสบายใจ มันก็งั้นๆของมัน เคยตื่นเต้นกับสติ สมาธิ เวลาละลึกสภาพธรรมต่างได้ชัดๆ มันก็เฉยๆไม่เห็นสุขเหมือนก่อนเลย..  ก็พยายามอดทนดูนะ บางทีไม่ไหวก็หนีเข้าไปพักที่สมถะเอา พอสงบๆ พอมีแรงก็ออกมาดูต่อ ...ทำไมภวนาแล้วเห็นแต่ทุกข์ ความสุขที่เคยมีมันหายไป..

2. สติ สมาธิ มันก็ยังมีอยู่ปรกตินะคะ ไม่ใช่ สติ สมาธิไม่เกิดแล้วทุกข์นะคะ ..คือ ใจมันไม่สุขกับสิ่งที่เคยสุขอีกแล้ว แล้วมันก็ไม่ชอบดิ้นหนีทุกข์ จะเอาสุขที่เคยมี ( เห็นแบบนี้)
แรกๆที่เคยเห็น มันยัง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ก็รู้ทันไปเรื่อยๆ มาตอนนี้ มันเห็นแต่ทุกข์ ก็พยามยามรู้ไปอ่ะค่ะ ..

3. รู้สึกว่าภวนาน่าจะไม่ตรงทางแล้ว เพระถ้าทำถูกมันไม่น่า เบื่อด้วยโทสะ เหมือนชีวิตมันเฉามากๆ แต่ไม่เป็นไรค่ะ สู้เอา เค้าคงสอนอะไรบางอย่าง

ทุกวันนี้ไม่รู้หรอกว่าทำไมมันเป็นแบบนี้ หรือ ทำผิดอะไรแต่ ครูบาอาจารย์บอกให้ดู ก็อดทนดูทำตามอย่างที่ท่านสอน ...รู้ทันใจที่ไม่เป้นกลางบ่อยๆ
ขอบพระคุณเจ้าค่ะ ที่เมตตา ... _/|\_ _/|\_

Navigation

[0] Message Index

[#] Next page

Go to full version