Author Topic: [กระทู้เก่ามาเล่าใหม่] เรียนตำรา ว่าด้วยจิต โดย คุณสันตินันท์  (Read 6583 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เขียนไว้เมื่อ วัน เสาร์ ที่ 23 กันยายน 2543 20:47:13

เมื่อแรกผมคิดว่า จะไม่เขียนเรื่องเปรียบเทียบปริยัติกับปฏิบัติอีกแล้ว
แต่คุณดังตฤณ ขอให้ผมเขียนเรื่องอีกสักหน่อยเถิด
ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีนักปฏิบัติที่ไหนจะยอมเสียเวลากับเรื่องนี้
ดังนั้นเพื่ออนุโลมตามคำเรียกร้องของคุณดังตฤณ
จึงขอเขียนอีกสักเรื่องหนึ่งก็แล้วกันครับ
ต่อไปนี้ไม่เขียนแล้วนะครับ ไม่อยากมีปัญหา
และในฐานะที่พวกเราสนใจการดูจิต จึงขอเขียนเรื่องจิตก็แล้วกัน

แต่ก่อนจะเข้าเรื่องของจิต ขอออกนอกเรื่องไปสู่เรื่องที่กำลังเถียงกันในลานธรรม
คือเรื่องที่ว่าพระอรหันต์หัวเราะได้หรือไม่ ซึ่งคุณดังตฤณก็ได้แสดงแล้วว่า
ไม่มีหลักฐานในชั้นพระไตรปิฎกว่า พระอรหันต์หัวเราะไม่ได้

ความจริงแล้วเรื่องพระอรหันต์หัวเราะไม่ได้
เป็นทัศนะของสำนักอภิธรรมบางฝ่ายเท่านั้น
แต่สำนักที่มาตรฐานเช่น อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาจุฬาฯ วัดมหาธาตุ
มีสอนอย่างชัดเจนว่า พระอรหันต์หัวเราะได้
อยู่ในเรื่องวิญญัติรูป คืออาการพิเศษที่ทำให้รู้ความประสงค์ด้วยการเคลื่อนไหวกาย
ซึ่งการยิ้มและการหัวเราะ ก็คืออาการอย่างหนึ่งนั่นเองเพื่อจะแสดงถึงความโสมนัสยินดี
ส่วนจิตที่ทำให้เกิดรูป (ในที่นี้คือเกิดวิญญัติรูปของการหัวเราะ) เรียกว่าจิตตชรูป

จิตตชรูปที่ทำให้เกิดการยิ้มและหัวเราะในปุถุชนมี 8 ดวง
ได้แก่โลภมูลโสมนัส 4 และมหากุศลโสมนัส 4

จิตตชรูปที่ทำให้เกิดการยิ้มและหัวเราะในพระอริยะที่ยังไม่ถึงขั้นพระอรหันต์มี 6 ดวง
คือจิตโสมนัสที่ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ 2 และมหากุศลโสมนัส 4

สำหรับพระอรหันต์ หัวเราะได้ด้วยจิต 5 ดวงคือ หสิตุปาทจิต 1
และมหากิริยาโสมนัส 4


(ชื่อจิตชนิดต่างๆ อีกสักครู่ก็จะเข้าใจครับ อภิธรรมไม่ยากอย่างที่คิดหรอกครับ)

ผมเข้าใจว่าผู้ที่สับสนถึงขั้นรอนสิทธิ์ไม่ให้พระอรหันต์หัวเราะนั้น
เกิดขึ้นเพราะไปอ่านพบว่า การยิ้มและหัวเราะต่างๆ มี 6 อย่างคือ
สิตะ เป็นการแสดงความยินดีในใบหน้า
หสิตะ คือยิ้มเห็นไรฟัน
วิหสิตะ คือหัวเราะเบาๆ
อุปหสิตะ คือหัวเราะโยกไหล่โคลงศีรษะ
อปหสิตะ คือหัวเราะจนน้ำตาไหล
อติหสิตะ คือหัวเราะจนไหวไปทั้งตัว

คราวนี้พออ่านพบว่า หสิตุปบาทจิต เป็นจิตที่ทำให้พระอรหันต์ยิ้มแย้ม
ก็เลยสรุปว่า พระอรหันต์ต้องยิ้มแบบหสิตะ คือยิ้มเห็นไรฟันเท่านั้น
ลืมไปสนิทว่า พระอรหันต์ยังหัวเราะได้ด้วย มหากิริยาโสมนัส 4
เลยกลายเป็นทำบาปทำกรรมแบบไม่รู้ตัวไปเรื่อยๆ ด้วยการเที่ยวพยากรณ์พระอรหันต์

**********************************

มาคุยกันเรื่องจิตดีกว่าครับ ตำราอภิธรรมชั้นหลังรวบรวมจิตขึ้นได้ 89/121 ดวง
ในขั้นแรกนี้ เราพูดเรื่องจิต 89 ดวงก็แล้วกันครับ
ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้วก็เข้าใจจิต 121 ดวงได้ไม่ยากเลย

ในเบื้องต้นตำราแบ่งกลุ่มของจิตเป็น 4 กลุ่ม ตามภพภูมิต่างๆ นั่นเอง
คือกามาวจรจิต (หรือจิตที่เที่ยวไปในกาม) รูปาวจรจิต (รูป)
อรูปปาวจรจิต (อรูป) และโลกุตรจิต (จิตเหนือโลก)

จิตที่เที่ยวไปในกามภพ เป็นจิตที่ยังกระพร่องกระแพร่ง เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย
ก็เลยมีมากชนิดหน่อย ทั้งที่เป็นอกุศล คือประกอบด้วยกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ
ทั้งที่เป็นกุศล ทั้งที่เป็นวิบาก และเป็นกิริยาเฉยๆ

เรามาเริ่มรู้จักที่อกุศลจิตชนิดที่มีราคะหรือโลภะแทรกเสียก่อนก็แล้วกันครับ
โลภมูลจิต มีอยู่ทั้งหมด 8 ดวง 8 นี้เป็นผลคูณของ 2 x 2 x 2

2 ตัวแรก มองถึง ที่มาของจิต ว่าเป็นจิตที่ถูกชักชวนหรือมีสิ่งเร้าหรือไม่
เช่นที่อยากดูหนังนั้น เพื่อนชวนหรือเปล่า หรือว่าผ่านหน้าโรงหนังแล้วเลยเข้าไปดูเอง

2 ตัวที่ 2 มองถึง เวทนาที่เกิดกับจิต ซึ่งจิตโลภจะมีเวทนา 2 อย่างเท่านั้น
คือสุขเวทนาทางใจ ซึ่งอภิธรรมเรียกว่าโสมนัสเวทนา
กับความเฉยๆ หรืออทุกขมสุขเวทนา ซึ่งอภิธรรมเรียกว่าอุเบกขาเวทนา
ส่วนทุกขเวทนาไม่มี ถ้ามีทุกขเวทนามันจะกลายเป็นโทสมูลจิตไป

2 ตัวที่ 3 มองถึงความโง่และความฉลาดของจิต
คือมองว่าจิตดวงนั้นประกอบด้วยความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิหรือเปล่า

เอาตัวแปรทั้ง 3 ชุด ชุดละ 2 ตัวนี้มาจับกลุ่มกันเข้า มันก็จะกลายเป็นจิตโลภ 8 ดวง
เช่นจิตดวงหนึ่งเป็นจิตที่เกิดโดยมีสิ่งเร้าหรือชักชวน เกิดพร้อมกับความโสมนัส
และประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ
เห็นไหมครับว่า จริงๆ แล้วไม่ได้ยากอะไรเลย

สำหรับโทสมูลจิตมันมีน้อยแค่ 2 ดวงเท่านั้น
คือมันประกอบด้วยโทมนัสเวทนาเหมือนๆ กัน ประกอบด้วยความขัดใจเหมือนกัน
แต่แยกกันด้วยเรื่องที่ว่า มันเกิดขึ้นโดยมีสิ่งเร้าหรือชักชวน หรือไม่เท่านั้น

ส่วนโมหมูลจิตก็มี 2 ดวง คือมันประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาทั้งคู่
แต่ดวงหนึ่งประกอบด้วยวิจิกิจฉาความสงสัย อีกดวงหนึ่งประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน

เป็นไงครับ เรารู้จักจิตรวดเดียว 12 ดวงแล้ว

ถัดไปผมขอข้ามลำดับไม่เรียงตามตำรา แต่จะไปพูดถึงกุศลจิตเสียก่อน
ตำราเรียกให้โก้ๆ ว่า มหากุศลจิต มีอยู่ 8 ดวง ตามสูตร 2 x 2 x 2 เช่นกัน
จิตกลุ่มนี้เหมือนกับโลภมูลจิตทุกอย่างครับ ผิดกันตรงที่ว่า
โลภมูลจิตเอาตัวแปรว่ามีมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ เข้ามาเป็นตัวคูณตัวหนึ่ง
แต่มหากุศลจิตไม่มีมิจฉาทิฏฐิ แต่เอาญาณหรือปัญญามาเป็นตัวคูณแทน
เช่นดวงแรก ได้แก่จิตที่เกิดโดยไม่มีการชักชวน มีความโสมนัส ประกอบด้วยปัญญา
ดวงที่ 2 ได้แก่จิตที่มีการชักชวน (เช่นเพื่อนชวนไปทำบุญ) มีโสมนัส มีปัญญา
เป็นต้น

ผ่านไปอีก 8 ดวง รวม 20 ดวงแล้วนะครับ
คราวนี้มาถึงมหากิริยาจิต อีก 8 ดวง ซึ่งที่จริงก็คือ มหากุศลจิตนั่นเอง
แต่เกิดในพระอรหันต์ ที่เรียกว่ากิริยาก็เพราะท่านอยู่เหนือดีเสียแล้ว
แล้วก็ยังมีมหาวิบากจิต อีก 8 ดวง รายละเอียดองค์ประกอบเหมือนกับมหากุศลจิตหากแต่เป็นวิบากจิต ไม่ใช่จิตที่จะกระทำกุศลหรืออกุศลได้

ทั้งมหากุศลจิต มหาวิปากจิต และมหากิริยาจิต รวมเรียกว่ากลุ่มกามาวจรโสภณจิต
รวมแล้วได้ 24 ดวง บวกกับที่กล่าวมาแล้วคืออกุศลจิตอีก 12 ดวง
เท่ากับว่าเราทำความรู้จักจิตกันมาแล้ว 36 ดวง

ถัดไปเป็นจิตที่เที่ยวไปในรูป(ภพ) เรียกเสียเพราะเลยว่า รูปาวจรโสภณจิต 15 ดวง
ทำไมจึงต้องเป็น 15 ก็เพราะมาจากสูตร 5 x 3 เท่านั้นเองครับ

5 มาจากรูปฌาน 5 (ฌานในพระสูตรท่านแยกรูปฌานไว้เพียง 4 ชั้น
แต่พระอภิธรรมแยกให้เป็น 5 ชั้น
คือปฐมฌานในพระสูตรและพระอภิธรรม
ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคตา เหมือนๆ กัน
พอขึ้นทุติยฌาน พระสูตรก็ตัดวิตกวิจารออก 2 ตัวเลย เหลือแค่ปีติ สุข เอกัคตา
ส่วนพระอภิธรรม ตัดวิตกตัวเดียว ยังมีวิจาร ปีติ สุข เอกัคตา
พอถึงฌานที่ 3 ของพระอภิธรรมจึงเหลือเพียงปีติ สุข เอกัคตา
เหมือนฌานที่ 2 ในพระสูตร
ถัดจากนั้นก็เหมือนๆ กันครับ)

3 มาจากชนิดของจิต ว่า (1) จิตดวงนั้นเป็นกุศลจิต
หรือ (2) เป็นวิบากจิตอันเป็นผลของกุศล
หรือ (3) เป็นการเข้าฌานของพระอรหันต์ซึ่งท่านเหนือดีเหนือชั่วไปแล้ว
จิตของท่านจึงไม่เรียกว่ากุศลจิต แต่เรียกว่ากิริยาจิต
3 นี้ พูดให้ง่ายจึงได้แก่ กุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต

ผ่านไป 51 ดวงแล้วครับ
ถัดไปเป็นอรูปปาวจรจิตมี 12 ดวง มาจากสูตร 4 x 3
4 คืออรูปฌาน 4
ส่วน 3 ก็คือกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต
รวม 63 ดวงแล้ว เห็นไหมครับว่าไม่ยากหรอกครับ

คราวนี้มาถึงจิตชนิดที่พวกเราไม่คุ้นเคยกัน ผมจึงนำมาพูดทีหลังเพื่อไม่ให้กลุ้มใจ
ได้แก่ อเหตุกวิปากจิต 15 ดวง
จิตกลุ่มนี้คิดเป็นสูตรยากนิดหน่อยครับ
คือมันเป็นวิบากจิตเหมือนๆ กัน เป็นผลของกุศลและอกุศล
และทำงานค่อนข้างไปทางอัตโนมัติ

ขั้นแรกสุด เราลองนึกถึงอายตนะทั้ง 5 คือตา หู จมูก ลิ้น และกายนะครับ
ความสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น 4 อย่างนี้เป็นการสัมผัสแล้วเกิดความรู้สึกเฉยๆ เท่านั้น
เช่นตาที่เห็นรูปนั้น มันเห็นเฉยๆ ไม่รู้สึกว่าสุขว่าทุกข์อะไร
ส่วนการสัมผัสทางกายนั้น มีสุขมีทุกข์ได้ เช่นถูกทุบเบาๆ เรียกว่านวด รู้สึกสุข
แต่ถ้านวดแรงๆ ด้วยไม้หน้าสาม ก็รู้สึกว่าทุกข์

อเหตุกวิปากจิตกลุ่มแรกเกี่ยวเนื่องกับอายตนะทั้ง 5 นี้เอง
ได้แก่วิญญาณทางตา หู จมูก และลิ้น (4 อย่าง) ซึ่งเกิดพร้อมอุเบกขาทั้งสิ้น
แต่ถึงกระนั้น ตำราก็อุตส่าห์แยกออกไปอีก
ว่ามันเป็นวิญญาณที่รู้อารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี
(ถ้าสิ่งที่มากระทบเป็นสิ่งดี ก็แสดงว่าจิตดวงนั้นเป็นวิบากที่ดี
เช่นมีเสียงเพราะๆ มาให้รับรู้
ถ้าสิ่งที่มากระทบไม่ดี ก็เป็นวิบากไม่ดี)
จิตกลุ่มนี้ก็เลยเข้าสูตรได้อีกแล้ว คือ 4 x 2 เป็น 8 ดวง

คราวนี้ก็มีถึงวิญญาณทางกายเป็นวิบากจิตมี 2 ดวง
คือถ้าเป็นวิบากดี สิ่งที่มากระทบจึงดี จิตดวงนี้ก็เกิดพร้อมความสุข
(ตามตำราอภิธรรม ถ้าเป็นสุขกายจะเรียกว่าสุข ส่วนสุขใจเรียกว่าโสมนัส)
ถ้าเป็นวิบากไม่ดี สิ่งที่มากระทบจึงไม่ดี จิตดวงนี้ก็เกิดพร้อมความทุกข์

รวมอเหตุกวิปากจิตทางกายคือ ตา หู จมูก ลิ้น และกายได้ 10 ดวงแล้วนะครับ
อีก 5 ดวงที่เหลือเป็นจิตที่จะเข้าใจได้ ต้องรู้เรื่องวิถีจิต ที่ผมเขียนไปแล้ว
คือเป็นสัมปฏิจฉันนจิต หรือจิตที่รับอารมณ์ทั้ง 5 เกิดพร้อมกับอุเบกขา
มี 2 ดวงคือจิตที่รับอารมณ์ที่ดี กับที่ไม่ดี
และเป็นสันตีรณจิต คือจิตที่มีหน้าที่ไต่สวนอารมณ์ทางทวารทั้ง 5 ว่ามันคืออะไร
เป็นจิตที่ประกอบด้วยอุเบกขา 2 ดวง ทำหน้าที่ไต่สวนอารมณ์ที่ดีกับไม่ดี
ส่วนดวงสุดท้ายของสันตีรณจิต ทำหน้าที่ไต่สวนอารมณ์ที่ดี แต่ประกอบด้วยโสมนัส

เราพูดกันถึงจิต 63 + 15 หรือ 78 ดวงไปแล้วนะครับ
จิตกลุ่มต่อไปเรียกว่า อเหตุกกิริยาจิต มี 3 ดวงเท่านั้น
ได้แก่จิตที่ทำหน้าที่จำแนกอารมณ์ที่มากระทบทวารทั้ง 5
ว่ามันมาทางใด จะได้ส่งสัญญาณให้เกิดวิญญาณทางนั้น
เรียกว่าปัญจทวารวัชชนจิต
กับจิตที่พิจารณาอารมณ์เพื่อจะตัดสินให้เป็นกุศล อกุศล หรือกริยาเพื่อจะเสพย์ต่อไป
เรียกว่า มโนทวารวัชชนจิต
ตัวสุดท้ายคือตัวเจ้าปัญหา ที่เรียกว่า หสิตุบาทจิต
ตำราว่าเป็นจิตที่ทำให้เกิดอาการยิ้มในพระอรหันต์ ประกอบด้วยโสมนัส
(เรื่องจิตพระอรหันต์ จะแยกไปกล่าวรวมกันในตอนท้ายนะครับ)

รวมจิตที่กล่าวไปแล้วได้ 81 ดวง ยังมีโลกุตรจิตอีก 8 ดวง
ได้แก่มรรคจิต 4 และผลจิต 4 เช่นอรหัตตมรรคจิต อรหัตตผลจิต
ครบ 89 ดวงแล้วครับ แล้วถ้าจะทำให้พิสดารออกไปอีกเป็น 121 ดวงก็ง่ายๆ
เอาฌาน 5 เป็นตัวคูณเข้าไป ก็กลายเป็นโลกุตรจิต 40 ดวง
เช่นอรหัตตมรรคจิตที่ประกอบด้วยปฐมฌาน ก็เป็นดวงหนึ่ง
ประกอบด้วยทุติยฌาน ก็เป็นอีกดวงหนึ่ง เป็นต้น

สรุปแล้ว จิต 89 หรือ 121 ดวงประกอบด้วย
อกุศลจิต 12 ดวง (เป็นโลภจิตเสีย 8 ดวง เป็นโทสะและโมหะอย่างละ 2 ดวง)
อเหตุกจิต 18 ดวง กามาวจรโสภณจิต 24 ดวง รูปาวจรจิต 15 ดวง
อรูปาวจรจิต 12 ดวง และโลกุตรจิตอีก 8 หรือ 40 ดวง

ความจริงยังมีวิธีแบ่งกลุ่มจิตแบบอื่นๆ อีกหลายวิธีครับ
เช่นแบ่งตามชาติกำเนิดของจิต คืออกุศลจิต กุศลจิต วิบากจิต และกริยาจิต
แบ่งตามโลกียจิต และโลกุตรจิต เป็นต้น
แต่รวมแล้วยังเป็น 89/121 ดวงดังเดิม

***********************************
(มีต่อ)
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male

(มีต่อ)

เรื่องต่อไปนี้ ผมขอกล่าวในฐานะผู้ปฏิบัติด้วยกันนะครับ
คือความจริงแล้ว จิตจะมีกี่สิบกี่ร้อยดวงก็ตาม แต่จิตก็คือจิต
มันเป็นธรรมชาติรู้ ซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนๆ กัน
ส่วนที่ทำให้มันต่างกันเป็นจิตอย่างนั้นอย่างนี้
ก็ด้วยมีเหตุอย่างอื่นเข้ามาประกอบเท่านั้นเอง

จุดสำคัญของการปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ที่ความสามารถในการจำแนกจำนวนจิต
แต่อยู่ที่ความรู้เท่าทัน ว่าขณะนี้มีอะไรเกิดขึ้นกับจิต
เช่นเมื่อมีราคะก็รู้ว่ามีราคะ เมื่อมีโทสะก็รู้ว่ามีโทสะ
และรู้เท่าทันการทำงานของจิต เช่นมันรู้อารมณ์โดยไม่หลงตาม
หรือมันรู้อารมณ์แล้วหลงตามไปอยาก ไปยึด ไปก่อทุกข์ เป็นต้น
เรียนรู้ของจริงในจิตตนเองเพียงเท่านี้ ก็พอสมควรแล้วครับ


อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ถ้าเราสามารถจำแนกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ได้แล้ว
เราจะเข้าใจเรื่องจิตและกลไกของจิตได้อีกมากนัยทีเดียว
หลายสิ่งหลายอย่าง ก็หาอ่านไม่ได้จากตำรา
เพราะตำรานั้นเหมือนแผนที่ จะให้ละเอียดเท่าภูมิประเทศจริงย่อมเป็นไปได้ยาก

เช่นธรรมชาติของผู้รู้นั้น แม้ในขณะที่กิเลสตัณหากำลังคุกคาม
จิตผู้รู้ก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้ เหมือนที่ท่านเปรียบว่า
ลิ้นงูอยู่ในปากงู โดยไม่เป็นอันตราย
หรือจะเปรียบเหมือนโอเอซีสกลางทะเลทรายก็ได้
ทั้งนี้เพราะกำลังของสติ สัมปชัญญะ และสัมมาสมาธิรักษาไว้
จิตตรงนี้จึงเป็นกุศลจิตอย่างแท้จริง ประณีตยิ่งกว่ากุศลจิตตามตำราเสียอีก

หรืออย่างเรื่องจิตพระอรหันต์ที่เรียกว่ากิริยาจิตนั้น
เป็นสภาพจิตที่สามารถทรงตัวอยู่ได้ โดยไม่มีการกระเพื่อมไหวแม้แต่นิดเดียว
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น โดยไม่ต้องคอยประคองรักษาเลย
การทำงานของจิตในการรู้อารมณ์ วินิจฉัยอารมณ์ จึงทำได้อย่างอิสระสมบูรณ์เต็มที่
และก็ทำไปตามหน้าที่ที่เห็นว่าสมควรจะทำเท่านั้น
หรือทำไปเป็นกิริยา ไม่มีความยินดียินร้ายที่จะทำ

แม้กายท่านกำลังประสบกับอกุศลวิบาก เช่นความเจ็บไข้
แต่จิตของท่านก็จะไม่เกิดความทุกข์โทมนัสแม้แต่น้อย
เพราะจิตท่านจะเกิดมีได้เฉพาะอุเบกขากับโสมนัสเท่านั้น
และทั้งอุเบกขาและโสมนัส ก็ย้อมจิตท่านไม่ติด
คือแม้จะมีอารมณ์โสมนัส แต่จิตของท่านเป็นกลางอยู่อย่างนั้น
เพราะความโสมนัส ถ้าพูดอย่างภาษาที่พวกเราพูดกันก็คือ มันยังไม่ใช่จิต
มันต่างคนต่างอยู่กับจิตอย่างเห็นได้ชัด จึงจัดเป็นกิริยาจิตเท่านั้น
ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ถ้าไม่ใช่นักปฏิบัติจะนึกไปไม่ถึงเลย

สำหรับหสิตุบาทหรือจิตยิ้มอันเป็นอเหตุกจิตนั้น แม้จะเป็นกิริยาจิตอย่างหนึ่ง
แต่ก็เป็นสภาพธรรมที่ต่างออกไปจากจิตปกติของพระอรหันต์ที่เป็นมหากิริยาจิต
คือความยิ้มนั้น มันผุดขึ้นในจิต
(แต่ความยิ้มนั้น ถ้ากำหนดลงไปจริงๆ
ก็จะพบความเป็นอุเบกขาของจิตอยู่ในนั้นด้วย)
ไม่เหมือนโสมนัสเวทนา ที่มันแยกต่างหากจากจิตอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนเมื่อมีหสิตุบาทแล้ว หน้าจะยิ้มพอเห็นไรฟัน
หรือจะอิ่มเอิบอยู่ในหน้า ไม่ใช่สิ่งสำคัญครับ
เพราะพระอรหันต์ ท่านจะยิ้มก็ได้ ไม่ยิ้มก็ได้
หากเกิดหสิตุบาทจิตแล้วจะต้องยิ้มออกมาทางกายทุกคราวไป
ก็เหมือนกับว่า ท่านยังถูกหสิตุบาทจิตบังคับท่านได้สิครับ
แล้วจะพูดถึงความหลุดพ้นได้อย่างไรกัน

เรื่องของจิตที่ผมแจกแจงตามตำรา
โดยเฉพาะความเห็นเพิ่มเติมในตอนท้ายนั้น
ผมเขียนเพื่อเพื่อนนักปฏิบัติโดยเฉพาะ
ไม่ใช่เขียนเพื่อให้นำไปถกเถียงกับใครๆ นะครับ
เพราะตำราก็ดี ความเชื่อของผู้เรียนตำราก็ดี เป็นเรื่องของเขา
ที่น่าฟังก็มาก ที่แปร่งๆ ก็มี
(เช่นเขาเชื่อว่าพระพุทธเจ้าไปแสดงพระอภิธรรม 7 คัมภีร์โปรดพระมารดา
คัมภีร์แรกใช้เวลา 12 วันเทวดาบรรลุธรรม 7 โกฏิ
คัมภีร์ที่ 7 คือมหาปัฏฐาน แสดง 23 วัน เทวดาบรรลุ 40 โกฏิ
ข้อที่ผมว่าแปร่งๆ ก็คือที่ว่าทรงแสดงกถาวัตถุ 13 วัน เทวดาบรรลุ 7 โกฏิ
ทั้งที่คัมภีร์กถาวัตถุนั้น ท่านพระโมคคลีปุตต ติสสเถระ
ท่านเพิ่งแต่งใหม่ แล้วนำบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระอภิธรรมปิฎก
ในการสังคายนาครั้งที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อราว พ.ศ. 234 - 235)
ผมจึงกล่าวบ่อยๆ ว่า การจะเรียนพระอภิธรรมต้องมีวิจารณญาณ
เพราะเป็นธรรมที่ปะปนกัน ระหว่างธรรมแท้ กับธรรมคิดนึกของนักปราชญ์ชั้นหลัง
ยิ่งเรื่องใดที่วิทยาการตามทัน ก็ยิ่งน่าห่วงมากทีเดียว

ประเด็นสุดท้ายขอย้ำกับพวกเราว่า โปรดรักษากติกานะครับ
คือกรุณาอย่านำข้อความในวิมุตตินี้ ไปโพสต์ต่อที่เวบบอร์ดอื่นๆ
อันเป็นลักษณะที่ว่า ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า
แล้วถ้าจะเถียงกับใคร ก็ไม่ต้องอ้างนะครับว่าพี่/อาสันตินันท์กล่าวอย่างนั้นอย่างนี้
เพราะที่พี่/อาสันตินันท์กล่าวนั้น กล่าวกับพวกเราเป็นการเฉพาะเท่านั้น
ไม่ต้องการไปกล่าวในวงกว้างให้เกิดความวุ่นวายจนเสียเวลาปฏิบัติธรรมหรอกครับ


จิตมี 89/121 ดวงได้ก็เพราะนับจิตในอดีต ในอนาคตเข้าไปด้วยครับ
จิตปัจจุบันมีดวงเดียวเท่านั้น ให้รู้ทันดวงนี้แหละครับพอแล้ว


ส่วนตำราที่เขาสอนให้จำแนกจิตต่างๆ อันที่จริงก็เอามาใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน
คือบางท่านจะดูจิต ไม่ทราบว่าจะตามรู้อะไรดี
ก็อาจจะเฝ้ารู้เวทนาที่เกิดกับจิตก็ได้ ว่าเวลานี้มันเป็นสุข(โสมนัส) ทุกข์(โทมนัส)
หรืออทุกขมสุข(อุเบกขา)
หรือจะเฝ้ารู้ว่า จิตกำลังมีญาณคือปัญญาหยั่งรู้ตามความเป็นจริง
หรือจิตหลงตามความคิดความเห็นไปแล้ว อย่างนี้ก็ได้
เป็นการนำตำรามาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ ซึ่งก็ทำได้ครับ
แต่ถึงจะไม่เรียนตำรา ก็ให้เรียนจิตดวงเดียวในปัจจุบันนี้
นานไปก็รู้จักจิตได้ทุกดวงครับ

ในตำรานั้น เขาจัดเอาทิฏฐิคือความเห็น ว่าหมายถึงมิจฉาทิฏฐิเท่านั้น
ส่วนญาณหมายถึงปัญญา จะเป็นปัญญาความรู้ทางปริยัติก็หมายถึงปัญญาด้วย
แต่ในแง่นักปฏิบัติแล้ว ความเห็นก็คือความเห็น ความคิดก็คือความคิด
หลงก็คือหลง และรู้ก็คือรู้
ถ้าจิตคิดใคร่ครวญไปตามสัญญา(ตำรา) โดยไม่รู้ทัน ก็คือหลง และฟุ้งซ่าน
ถ้าจิตเข้าไปยึดถือในความคิดความเห็นที่ดีๆ ก็คือหลง และเกิดทุกข์ได้เช่นกัน

(จบ)
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline yamazazi

  • Newbie
  • *
  • Posts: 2
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • เมตตา สันติ เจริญสติ
หมอลักษณ์ ฟันธงหวย คณะรัฐมนตรีอนุมัติออกสลากกาชาดพิเศษหวยหนูเล่นหมดตัวเลยพี่

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
อ่าน ๆ ไป ยิ่งอ่านก็ยิ่งงง
เอาเป็นว่าผมขอแค่ดูจิตก็แล้วกันนะครับ ;D

ขอบคุณครับที่นำมาแบ่งปัน (หวังว่าวันหนึ่งคงเข้าใจ :-[) _/|\_
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช