Author Topic: [กระทู้เก่่ามาเล่าใหม่] มหาสุญญตา ในมหาสุญญตสูตร โดยคุณ สันตินันท์  (Read 6177 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เขียนเมื่อ วัน จันทร์ ที่ 20 ธันวาคม 2542 11:21:37


เมื่อเอ่ยถึงคำว่า มหาสุญญตา พวกเรามักจะนึกถึงหลายสิ่งหลายอย่าง
เช่นนึกถึง เซ็น ในฐานะที่สอนเรื่องมหาสุญญตา
นึกถึง ท่านพุทธทาส ในฐานะที่นำคำว่ามหาสุญญตามาสู่ความรับรู้ของคนไทย
นึกถึง ความว่างบ้าง นิพพานบ้าง อันน่าจะเป็นสภาวะของมหาสุญญตา
บางทีก็เลยไปคิดถึงทัศนะของชาวพุทธเถรวาทบางท่า
ที่ว่า มหาสุญญตาไม่ใช่คำสอนในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
และสำหรับผมนั้น มักจะนึกเพิ่มเติมไปอีกจุดหนึ่ง
คือนึกไปถึง หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ในฐานะครูพระป่าที่กล่าวถึงมหาสุญญตาบ่อยครั้ง

ผมเคยคิดที่จะเขียนถึงมหาสุญญตาสักครั้งหนึ่ง แต่ยังไม่ได้ลงมือสักที
พอดีหลานทองคำขาวไปพบ มหาสุญญตสูตร
แล้วขอให้ผมนำมาเขียนชวนพวกเราอ่านพระสูตรนี้กันบ้าง
จึงเห็นว่า น่าจะลงมือเขียนเรื่องนี้เสียที

มหาสุญญตสูตร ปรากฏใน สุญญตวรรค มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก
พระสุตตันตปิฎก เล่ม 6 พระไตรปิฎกเล่ม 14
แรงบันดาลพระทัยให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้
ก็สืบเนื่องจากพระองค์เสด็จไปพบว่า ที่วัดซึ่งเจ้ากาลเขมกะ ศากยะ สร้างนั้น
จัดที่อยู่อาศัยให้กับพระภิกษุจำนวนมาก
พระองค์จึงมาทรงปรารภธรรมกับท่านพระอานนท์
ว่าพระภิกษุไม่น่าจะไปคลุกคลีอยู่เป็นหมู่คณะใหญ่ขนาดนั้น เพราะ

ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน
ประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่
ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่ ย่อมไม่งามเลย
ดูกรอานนท์ ข้อที่ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน
ประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่
ยินดีในหมู่บันเทิงร่วมหมู่นั้นหนอ
จักเป็นผู้ได้สุขเกิดแต่เนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด
สุขเกิดแต่ความเข้าไปสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้
ตามความปรารถนาโดยไม่ยากไม่ลำบาก นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

ดูกรอานนท์ ข้อที่ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน
ประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่
ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่นั้นหนอ
จักบรรลุเจโตวิมุติอันปรารถนาเพียงชั่วสมัย
หรือเจโตวิมุติอันไม่กำเริบมิใช่เป็นไปชั่วสมัยอยู่ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้


อ่านถึงตรงนี้ พวกเราก็น่าจะคิดเหมือนกันว่า
เราควรรวมหมู่คลุกคลีกันขนาดไหนจึงจะเหมาะ
บางคนที่ช่างสังเกตหน่อยก็จะแย้งว่า
พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าผู้คลุกคลีกับหมู่คณะไม่อยู่ในฐานะที่จะได้เจโตวิมุตติ
ดังนั้น พวกเราที่คลุกคลีกัน ก็พึงได้ปัญญาวิมุตติก็แล้วกัน
อันนี้ขอเรียนว่า การบรรลุมรรคผลนั้น
ต้องอาศัยทั้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติประกอบกัน
ดังนั้นจึงไม่ปรากฏเลยว่าพระศาสดาทรงสรรเสริญความคลุกคลี

จากนั้นพระองค์ก็ทรงเล่าให้ท่านพระอานนท์ฟังต่อไปว่า

ดูกรอานนท์ ก็วิหารธรรมอันตถาคตตรัสรู้ในที่นั้นๆ นี้แล
คือ  ตถาคตบรรลุสุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวงอยู่
ดูกรอานนท ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา  เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์
เข้าไปหาตถาคตผู้มีโชค อยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ในที่นั้นๆ
ตถาคตย่อมมีจิตน้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก
หลีกออกแล้ว ยินดียิ่งแล้วในเนกขัมมะ
มีภายในปราศจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง
จะเป็นผู้ทำการเจรจาแต่ที่ชักชวนให้ออกเท่านั้น ในบริษัทนั้นๆ โดยแท้


ใจความที่ทรงเล่าให้ท่านพระอานนท์สดับก็คือ
พระองค์เองมีวิหารธรรม คือ สุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวง
อาศัยเครื่องอยู่คือวิหารธรรมอันนี้
พระองค์ทรงพบปะผู้คนจำนวนมาก ด้วยจิตที่สงบวิเวก
และชักชวนผู้อื่นให้วิเวกและหลีกออกจากเครื่องร้อยรัดด้วย

ขอเรียนว่า มหาสุญญตสูตร ไม่ได้กล่าวถึงมหาสุญญตาตามแบบเซ็น
แต่กล่าวถึงสุญญตสมาบัติ ซึ่งมีทั้งแบบภายใน ภายนอก ภายในและภายนอก
ซึ่งสุญญตสมาบัตินั้น พระไตรปิฎกเล่มที่ 31  ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามัคค์
อันเป็นยอดอภิธรรมที่ปรากฏในพระสูตร ได้อธิบายว่า

พิจารณาเห็นความถือมั่นว่าตนโดยความเป็นภัย
มีจิตน้อมไปในนิพพานอันว่างจากตน เพิกเฉยความเป็นไปแล้ว
คำนึงถึงนิพพานอันเป็นที่ดับ ว่างจากตนแล้วย่อมเข้าสมาบัติ
นี้ชื่อว่า สุญญตสมาบัติ ฯ

พิจารณาเห็นความถือมั่นว่ารูปโดยความเป็นภัย
มีจิตน้อมไปในนิพพานอันว่างเปล่า เพิกเฉยความเป็นไปแล้ว
คำนึงถึงนิพพานอันเป็นที่ดับ ว่างเปล่าแล้วย่อมเข้าสมาบัติ
นี้ชื่อว่า สุญญตสมาบัติ ฯ

พิจารณาความถือมั่นและมรณะโดยความเป็นภัย
มีจิตน้อมไปในนิพพานอันว่างเปล่า เพิกเฉยความเป็นไปแล้ว
คำนึงถึงนิพพานอันเป็นที่ดับ ว่างเปล่าแล้วย่อมเข้าสมาบัติ
นี้ชื่อว่า สุญญตสมาบัติ ฯ

สิ่งที่ผมยกมากล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า
สิ่งที่เรียกว่าสุญญตสมาบัตินั้น ไม่ใช่สมาบัติอื่นที่นอกเหนือจากสมาบัติ 8
อันประกอบด้วยรูปสมาบัติ(รูปฌาน) 4 และอรูปสมาบัติ(อรูปฌาน) 4
รวมกับนิโรธสมาบัติหรือสัญญาเวทยิตนิโรธอีก 1
แต่ที่เรียกว่าสุญญตสมาบัติ
ก็เพราะท่านพิจารณาละความถือมั่น
แล้วจิตน้อมไปถึงนิพพานอันว่างเปล่า
เพิกเฉยความเป็นไปทั้งหลาย ก็คือหยุดการพิจารณาทั้งสิ้น
คำนึงถึงแต่นิพพานอันเป็นที่ดับ
หรือนัยหนึ่งก็คือ คำนึงถึงมหาสุญญตา
แล้วน้อมจิตเข้าสู่สมาบัติ
สมาบัติที่ผ่านกระบวนการอย่างนี้ เรียกว่า สุญญตสมาบัติ

ทำนองเดียวกับผู้ที่เพ่งกสิณ แล้วเข้าสมาบัติด้วยการเพ่งกสิณ
ท่านก็เรียกสมาบัตินั้นว่า กสิณสมาบัติ

กระบวนการทางจิตตรงที่คำนึงถึงมหาสุญญตาหรือนิพพานนี้
ผมจะเล่าให้พวกเราฟังในภายหลัง
ตอนนี้ขอชวนอ่านพระสูตรต่อไปก่อน
คือพระองค์ได้ทรงสอนท่านพระอานนท์ถึงวิธีการเข้าสุญญตสมาบัติว่า
ก่อนอื่นทั้งหมดจะต้องมี ธรรมเอก เสียก่อน ดังนี้

ภิกษุถ้าแม้หวังว่า จะบรรลุสุญญตสมาบัติภายในอยู่
เธอพึงดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ
ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในให้มั่นเถิด ฯ
      [๓๔๗] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุจะดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ
ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในมั่นได้อย่างไร
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
      (๑) สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌานมีวิตก มีวิจาร
มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ฯ
      (๒) เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ฯ
      (๓) เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย
เข้าตติยฌาน ที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุข อยู่ ฯ
      (๔) เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ฯ
     ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมดำรงจิตภายใน
ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในมั่น ฯ


เรื่องธรรมเอกนี้ พวกเราคงเริ่มคุ้นเคยกันมากแล้ว
เพราะผมเคยนำมากล่าวทั้งธรรมเอกในสัมมาสมาธิ
และธรรมเอกในการเจริญสติปัฏฐาน
คราวนี้ก็มากล่าวถึงเรื่องธรรมเอก อันเป็นขั้นตอนแรกของการทำสุญญตสมาบัติ

มีข้อน่าสังเกตว่า ธรรมเอกนี้เป็นธรรมที่อาภัพ ไม่มีใครพูดถึงหรือนำมาศึกษา
เพราะกลุ่มนักการศึกษานั้น ตกอยู่ใต้อิทธิพลของคัมภีร์ชั้นหลัง
ซึ่งพากันเน้นขณิกสมาธิ แล้วตัดธรรมเอกทิ้งกันทั้งนั้น
เนื่องจากธรรมเอกนี้ หากไม่ใช่ผู้ปฏิบัติแล้ว ไม่มีทางเข้าใจได้เลย

เมื่อมีธรรมเอกแล้วก็มีถึงขั้นตอนที่ 2 คือการรู้ความว่าง(สุญญตา)
ดังที่พระองค์ทรงสอนว่า

ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายใน
เมื่อเธอกำลังใส่ใจความว่างภายใน
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในความว่างภายใน
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เมื่อเรากำลังใส่ใจความว่างภายใน
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในความว่างภายใน
ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องความว่างภายในนั้นได้ ฯ
      ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายนอก ...
      ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก ...


หมายความว่าท่านทรงสอนให้ระลึกรู้ความว่างภายในจิตของตน
แม้ในขณะนั้น จิตกับความว่างยังไม่เข้าสู่ภาวะความเป็นอันเดียวกัน
ท่านก็ถือว่าใช้ได้แล้ว
เพราะอำนาจของธรรมเอกนั้น ทำให้ผู้ปฏิบัติรู้ความว่างด้วยความรู้ตัว

เมื่อรู้ความว่างด้วยความรู้ตัวแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนที่ 3 คือ
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
เมื่อเธอกำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เมื่อเรากำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอาเนญชสมาบัตินั้นได้ ฯ


คำว่า "อาเนญชาสมาบัติ" นี้ ผมค้นหาความหมายที่ชัดเจนไม่พบ
พบแต่ท่านกล่าวถึงอเนญชสมาบัติเอาไว้
ก่อนอากิญจัญญายตนสมาบัติและเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
(คือก่อนอรูปสมาบัติที่ 3 และ 4 หรืออีกนัยหนึ่งคือฌานที่ 7 และ 8)
และเมื่อค้นคำๆ นี้จากพจนานุกรมของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก
พบแต่คำว่า อาเนญชาภิสังขาร ซึ่งหมายถึง
"สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคงไม่หวั่นไหว
ได้แก่กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร 4
หมายเอาภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน"
อ่านแล้วก็ได้เพียงอนุมานเอาไว้ชั่วคราวว่า
เมื่อมีธรรมเอกแล้ว ท่านให้ระลึกรู้ความว่าง
แล้วน้อมจิตไปสู่ฌานขั้นละเอียดไม่ต่ำกว่ารูปฌานที่ 4
แต่ก็น่าจะหมายถึงอรูปฌานขั้นต้นๆ
ไม่ถึงอากิญจัญญายตนะและเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
เพราะถ้ารวมสมาบัติ 2 ประการหลังเข้าไปด้วยแล้ว
ท่านจะเรียกว่า อรูปสมาบัติ 4 ไม่น่าจะเรียกว่าอเนญชสมาบัติ

ที่กล่าวถึงอาเนญชสมาบัติมานี้ เป็นการวิเคราะห์ในเชิงปริยัติ
เท่าที่หาตำราได้ในขณะนี้
จึงไม่สามารถรับรองความถูกต้องได้นะครับ
 
คราวนี้ย้อนกลับไปเริ่มขั้นตอนที่ 2 และ 3 อีก version หนึ่ง
คือเมื่อมีธรรมเอกแล้ว ท่านสอนดังนี้
     ดูกรอานนท์ ภิกษุนั้นพึงดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ
ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในให้มั่น ในสมาธินิมิตข้างต้นนั้นแล
เธอย่อมใส่ใจความว่างภายใน
เมื่อเธอกำลังใส่ใจความว่างภายใน จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น
นึกน้อมไปในความว่างภายใน
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เมื่อเรากำลังใส่ใจความว่างภายใน จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น
นึกน้อมไปในความว่างภายใน
ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องความว่างภายในนั้นได้ ฯ
      ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายนอก ...
      ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก ...
 
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจอาเนญชสมาบัติ เมื่อเธอกำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เมื่อเรากำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น
นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอาเนญชสมาบัตินั้นได้ ฯ


version นี้ต่างจากแบบแรกก็ตรงที่
ครั้งนี้จิตรวมเข้ากับความว่าง และรวมเข้าในอเนญชสมาบัติ
แต่ทั้งนี้ ขอย้ำให้เห็นว่า สมาธิของพระพุทธศาสนานั้น
ไม่ใช่สมาธิเคลิบเคลิ้มลืมตัว
แต่เป็นสมาธิที่มีธรรมเอก จิตมีความตั้งมั่นรู้ตัวอยู่

เมื่อจิตมีสุญญตสมาบัติเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้แล้ว
ย่อมเป็นกำลังในการปฏิบัติธรรมเพื่อถอดถอนกิเลสต่อไป
ซึ่งพระศาสดาทรงสอนท่านพระอานนท์ต่อไปดังนี้

      [๓๔๘] ดูกรอานนท์ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้
จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะจงกรม เธอย่อมจงกรมด้วยใส่ใจว่า
อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌา  และโทมนัส
จักไม่ครอบงำเราผู้จงกรมอยู่อย่างนี้ได้
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการจงกรม ฯ
      หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้
จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะยืน เธอย่อมยืนด้วยใส่ใจว่า
อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌาและโทมนัส
จักไม่ครอบงำเราผู้ยืนอยู่แล้วอย่างนี้ได้
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการยืน ฯ
      หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะนั่ง ...
      หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะนอน ...
      หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะพูด
เธอใส่ใจว่า เราจักพูดเรื่องราวเห็นปานฉะนี้
ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ
เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
คือ เรื่องมักน้อย เรื่องยินดีของของตน เรื่องความสงัด เรื่องไม่คลุกคลี
เรื่องปรารภความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการพูด ฯ
      หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะตรึก
เธอย่อมใส่ใจว่า เราจักไม่ตรึกในวิตกเห็นปานฉะนี้
ซึ่งเป็นวิตกที่เลวทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส
เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการตรึก 
และเธอใส่ใจว่า เราจักตรึกในวิตกเห็นปานฉะนี้
ซึ่งเป็นวิตกของพระอริยะ เป็นเครื่องนำออก
ที่นำออกเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่บุคคลผู้ทำตาม
คือ เนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในการตรึก ฯ
      [๓๔๙] ดูกรอานนท์ กามคุณนี้มี ๕ อย่างแล ...
ซึ่งเป็นที่ที่ภิกษุพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า มีอยู่หรือหนอแล
ที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เราเพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง
ดูกรอานนท์ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้ชัดอย่างนี้ว่า
มีอยู่แลที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เราเพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้แล เรายังละไม่ได้แล้ว
แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า
ไม่มีเลยที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เราเพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้แล เราละได้แล้ว
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องกามคุณ ๕ ฯ
      [๓๕๐] ดูกรอานนท์ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้แล
ซึ่งเป็นที่ที่ภิกษุพึงเป็นผู้พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอยู่ว่า
อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป
อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา
อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา
อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร
อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ
เธอผู้พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้อยู่
ย่อมละอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราละอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ของเราได้แล้ว
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอุปาทานขันธ์ ๕ ฯ

      ดูกรอานนท์ ธรรมนั้นๆ เหล่านี้แล เนื่องมาแต่กุศลส่วนเดียว ไกลจาก
ข้าศึก เป็นโลกุตระ อันมารผู้มีบาปหยั่งลงไม่ได้ ดูกรอานนท์ เธอจะสำคัญความ
ข้อนั้นเป็นไฉน สาวกมองเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงควรใกล้ชิดติดตาม
ศาสดา ฯ


จะเห็นได้ว่าท่านผู้มีสุญญตสมาบัติเป็นวิหารธรรมนั้น
ท่านยังมีกิจที่ต้องทำต่อคือการเจริญสติปัฏฐาน
ด้วยการระลึกรู้การเดิน ยืน นั่ง นอน พูด คิด
รู้กามคุณในจิตของตน จนถึงการรู้อุปาทานขันธ์
และสามารถถอดถอนอุปาทานขันธ์เสียได้

ยังมีคำสอนเรื่องสุญญตสมาบัติในอีกพระสูตรหนึ่ง
ซึ่งผมอ่านแล้ว เกิดความเร้าใจ ตื่นตัว  และเบิกบานเป็นอย่างมาก
ชื่อว่า จูฬสุญญตสูตร ที่ ๑ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

ถ้าย้อนไปอ่านตอนต้นของบทความนี้ จะพบว่า
วิหารธรรมของพระศาสดาคือ สุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวง
พระสูตรหลังนี้แหละที่อธิบายถึงสมาบัติชนิดนี้อย่างชัดเจน

ดังที่กล่าวแล้วว่า ที่เรียกว่า สุญญตสมาบัติ
เป็นเพราะการพิจารณาความว่างก่อนเข้าสมาบัติ
ทีนี้สมาบัติก็ยังมี 2 ชนิด คือสมาบัติที่มีนิมิตหรือเครื่องหมายรู้
กับสมาบัติที่ไม่มีนิมิตหรือเครื่องหมายรู้
บรรดาสมาบัติ 8 นับตั้งแต่ปฐมฌาน จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
ล้วนเป็นสมาบัติที่ยังมีนิมิต คือมีเครื่องหมายรู้ทั้งสิ้น
เช่นรูปสมาบัติ มีลมหายใจเป็นเครื่องหมายรู้ เป็นต้น
ส่วนอรูปสมาบัติ ก็มีอรูปธรรมเป็นเครื่องหมายรู้
เช่นช่องว่างภายในจิต วิญญาณ ความไม่มีอะไรเลย ฯลฯ

สำหรับสมาบัติที่ไม่มีเครื่องหมายรู้ มีอยู่
สมาบัติชนิดนี้แหละที่พระศาสดาตรัสว่าเป็นวิหารธรรมของพระองค์
เป็นสมาบัติที่อ่านเอาตามตำราแล้ว เข้าใจยากเสียเหลือเกิน
แต่เป็นบุญของผม ที่ครูของผมคือหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ท่านมีสมาบัติชนิดนี้เป็นวิหารธรรม
และนักดูจิตที่ช่ำชอง พอจะเข้าใจตามที่ท่านสอนได้ ไม่ยากเกินไปนัก

ก่อนอื่น ขอเชิญอ่านพระสูตรอันน่าอัศจรรย์นี้ก่อนครับ

      [๓๔๑] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก
ภิกษุไม่ใส่ใจอากิญจัญญาตนสัญญา
ไม่ใส่ใจเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา
ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิต
จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น
และนึกน้อมอยู่ในเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต
เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิตนี้แล
ยังมีปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้
ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้นั้น
ไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา
เมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น
แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว
รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่าในญาณนี้ไม่มีความกระวนกระวาย
ชนิดที่อาศัยกามาสวะ ชนิดที่อาศัยภวาสวะและชนิดที่อาศัยอวิชชาสวะ
มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวาย
คือ ความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเพราะชีวิตเป็นปัจจัย
เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากกามาสวะ
สัญญานี้ว่างจากภวาสวะ สัญญานี้ว่างจากอวิชชาสวะ
และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเพราะชีวิตเป็นปัจจัย
ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้น
ด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในเจโตสมาธินั้นเลย
และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในเจโตสมาธินั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี
ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง
ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ
      [๓๔๒] ดูกรอานนท์ สมณะหรือพราหมณ์ในอดีตกาล
ไม่ว่าพวกใดๆ ที่บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น
ก็ได้บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดนี้เองอยู่
สมณะหรือพราหมณ์ในอนาคตกาลไม่ว่าพวกใดๆ
ที่จะบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น
ก็จักบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดนี้เองอยู่
สมณะหรือพราหมณ์ในบัดนี้ ไม่ว่าพวกใดๆ
ที่บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น
ย่อมบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดนี้เองอยู่

ดูกรอานนท์ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอพึงศึกษาไว้อย่างนี้เถิดว่า
เราจักบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ฯ


(มีต่อ)

หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
(ต่อ)

ในทางปริยัตินั้น ยากจะทำความเข้าใจสุญญตสมาบัติชนิดบริสุทธิ์นี้ ให้ถึงใจ
ส่วนในทางปฏิบัติ หากกล่าวกับผู้ที่ชำนาญในเรื่องจิต
เพียงกล่าวถึงสมาบัติที่ไม่มีสิ่งที่ถูกรู้
พ้นจากอากิญจัญญาตนสัญญา และเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา
ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจยากเกินไปนัก
แต่สำหรับผู้ไม่ชำนาญในเรื่องจิต ก็นับว่ายากเช่นกัน

การทำสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ไม่ใส่ใจหรือมนสิการถึงนิมิตนั้น
มีขั้นตอนดังนี้

เมื่อจิตไปรู้หรือพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าแล้ว
จะเป็นการพิจารณารูป พิจารณาความตาย พิจารณาอุปาทานขันธ์
กระทั่งการจำได้หมายรู้ถึงอรูปฌานชั้นสูง ก็ตาม
ผู้ปฏิบัติซึ่งทรงภูมิปัญญามาก เป็นปัญญาธิกบุคคล
จะพิจารณาเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านั้นว่างจากแก่นสารตัวตน
(ถ้าปัญญาไม่มากพอ ก็มักจะเจริญอนิมิตตสมาบัติ อัปปณิหิตสมาบัติ
คือพิจารณาความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์ทนอยู่ได้ยาก
แทนการพิจารณาความว่าง)
จิตก็จะปล่อยวางสิ่งเหล่านั้นลง เหมือนปลดภาระหนักลงจากไหล่
แล้วจิตก็น้อมมาหยุดรู้อยู่ที่จิต

อาศัยผลการปฏิบัติเก่าที่เคยเห็นนิพพานมาแล้วเมื่อครั้งบรรลุธรรมขั้นต้นๆ
เมื่อน้อมมาดูจิตแล้ว ย่อมหยั่งทะลุขันธ์ละเอียดที่ปิดบังจิตแท้ธรรมแท้ไว้ลงไปอีก
แล้วจึงใส่ใจ น้อมระลึกถึง สุญญตธรรม ซึ่งซ่อนอยู่ภายใต้สิ่งปกปิดนั้น
(ขอเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่า ที่พวกเราดูจิตกันนั้น
ยังเข้าไม่ถึง สุญญตธรรม หรือธรรมชาติแท้จริง
มันยังมีเยื่อหุ้มที่ใสกริบ จนมองไม่ออกว่า นั่นไม่ใช่จิต
สิ่งปกคลุมเคลือบแฝงตัวนี้ ผมอยากจะเรียกว่ามโนวิญญาณ
แต่ถ้าไปใส่บัญญัติชื่อเข้า ก็อาจมีปัญหาต้องโต้แย้งกับฝ่ายปริยัติ
เพื่อไม่ให้เสียเวลา จึงขอไม่ใส่ชื่อก็แล้วกัน)
สิ่งนี้ กระทั่งพระอริยบุคคลชั้นต้นบางองค์
ที่บรรลุมรรคผลแบบช่วงสั้น ไม่เห็นขณะหรือสภาวะที่เกิดมรรคผลเป็นลำดับ
ก็ยากที่จะหยั่งทราบถึงสิ่งห่อหุ้มนี้ได้

ความว่างภายในจิตที่แหวกขันธ์ 5 ที่ปกคลุมลงไปนี้
เซ็นเขาเรียกว่าจิตเดิมแท้บ้าง จิตหนึ่งบ้าง มหาสุญญตาบ้าง
แท้ที่จริง ไม่ได้มีอยู่เฉพาะภายในจิต
ถ้าปฏิบัติจนชำนิชำนาญพอแล้ว จะพบว่า
ความว่างชนิดนี้ อยู่ครอบคลุมโลกธาตุทั้งหมด
บางคราว ผมจึงใส่ใจหรือมนสิการถึงความว่างในจักรวาลอันนี้
แล้วสัมผัสได้ถึงธรรมชาติแห่งความว่าง สว่าง บริสุทธิ์นั้น
สิ่งนี้ตรงกับพระสูตรที่ท่านกล่าวถึง
ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องความว่างภายในนั้นได้ ฯ
      ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายนอก ...
      ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก ...

เมื่อรู้ถึงสุญญตธรรมนั้นแล้ว
หากจิตรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาตินั้น
จะเกิดภาวะแห่งเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต
เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ที่เบิกบานผ่องใส และไร้ขอบเขต
ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดบรรจุลงในภาวะนั้นได้เลยแม้แต่น้อยหนึ่ง

แต่พระศาสดาผู้ทรงพระคุณสูงสุด ทรงสอนต่อไปว่า
จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น
และนึกน้อมอยู่ในเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต
เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิตนี้แล
ยังมีปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้
ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้นั้น
ไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา
เมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น
แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ


สุญญตสมาบัติหรือเจโตสมาธิอันบริสุทธิ์นี้
ละเอียดเสียจนผู้เข้าถึงหลงผิดว่าตนจบพรหมจรรย์และถึงนิพพานแล้วได้
พระศาสดาจึงทรงสอนให้รู้ทันต่อไปอีกว่า
สภาวะอันนี้ยังเอาเป็นที่พึ่งอะไรไม่ได้ ยังมีการเข้าการออก
มีปัจจัยปรุงแต่ง มีความแปรปรวน
พูดง่ายๆ ก็คือยังเป็นภพอันหนึ่ง
ผู้ปฏิบัติที่ปัญญาถึงพร้อมแล้ว
ก็จะปล่อยวางเจโตสมาธิอันบริสุทธิ์นี้อีกชั้นหนึ่ง
จิตจึงถึงความหลุดพ้นจากอาสวะอย่างแท้จริง


ที่หลุดพ้นนั้นก็เพราะไม่ยึดทั้งจิต ไม่ยึดทั้งนิพพาน

พระศาสดาทรงสอนต่อไปว่า เมื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว
ในญาณนี้ หรือในสัญญาคือธรรมชาติที่หมายรู้อารมณ์นี้
(ท่านไม่มีความเห็นว่าเป็นสัตว์บุคคลใดๆ แล้ว
ชีวิตนี้ก็เพียงแต่เป็นธรรมชาติที่หยั่งรู้อารมณ์ได้ จำอารมณ์ได้เท่านั้น)
ไม่มีความกระวนกระวาย เพราะกิเลส และว่างจากกิเลส
แต่ยังมีความกระวนกระวายและไม่ว่างจากความเกิดแห่งอายตนะ 6
เพราะว่ายังมีร่างกายและชีวิตอยู่
ก็ต้องผจญกับการกระทบและการกระเทือนทางอายตนะ 6 อยู่
จนถึงวันที่ดับขันธ์ปรินิพพานอย่างแท้จริง

แล้วท่านก็สรุปลงว่า
ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้น
ด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในเจโตสมาธินั้นเลย
และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในเจโตสมาธินั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี
ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง
ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ

จะเห็นได้ว่า ความว่างที่พระองค์กล่าวถึง คือความว่างจากอาสวกิเลส
และการยอมรับความมีอยู่ ของสิ่งที่ยังต้องมีอยู่

ตั้งแต่เขียนธรรมะมา รู้สึกว่าเรื่องนี้จะอ่านยากที่สุด
เพราะผู้ที่จะเข้าใจและเจริญสุญญสมาบัติได้
จะต้องเป็นทั้งปัญญาธิกบุคคล และเชี่ยวชาญในเรื่องสมาธิด้วย
หากพวกเราท่านใดรู้สึกว่ายากเกินไป ก็อย่าท้อแท้ใจ
เราไม่จำเป็นต้องเลือกทางเดินที่ละเอียดซับซ้อนและลึกล้ำปานนี้หรอกครับ
แค่รู้เท่าทันกิเลสตัณหาที่กำลังปรากฏก็พอแล้ว

**********************************


 วัน จันทร์ ที่ 20 ธันวาคม 2542 11:21:37
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
คุณสันตินันท์ ในสมัยนั้นได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมไว้ว่า

 โดยคุณ สันตินันท์ วัน จันทร์ ที่ 20 ธันวาคม 2542 15:09:03

สมาบัตินั้น มีอยู่หลายสิบชนิดครับ
ทว่าก็ไม่เกินไปจากสมาบัติ 9 คือรูป 4 + อรูป 4 + นิโรธสมาบัติ 1
แต่ที่ท่านจำแนกแจกแจงออกไปมากมายเป็นสิบๆ อย่างนั้น
ท่านหมายเอาการพิจารณา หรืออารมณ์ก่อนหน้าที่จะเข้าสมาบัติจริงๆ
และหมายเอาสภาวะหรืออารมณ์ของสมาบัตินั้นๆ เข้าไปด้วย
รวมกันแล้วก็เลยกลายเป็นสมาบัติเป็นสิบๆ ชนิด

สำหรับปัจจัยแห่งสมาบัติที่เป็นเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต นั้น
ท่านพระสารีบุตรแสดงไว้ในมหาเวทัลลสูตร
พระสุตตันตปิฎกเล่ม 4 มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
ว่ามี 2 อย่างคือ การไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง
และการมนสิการถึงนิพพานธาตุอันไม่มีนิมิต

ก่อนจะมนสิการหรือน้อมใจไปถึงนิพพานหรือสุญญตธรรมนั้น
จิตต้องเป็นธรรมเอกเสียก่อน
และเมื่อรู้สุญญตธรรมแล้ว จึงน้อมใจหรือมนสิการที่จะเข้าสมาบัติอีกขั้นตอนหนึ่ง

ดังนั้น ก่อนจะเข้าสมาบัตินั้น ยังสามารถน้อมจิตไปได้ครับ
เหมือนเราจะไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง ก็ยังเลือกพาหนะได้
อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามีวสีแล้ว สามารถเลือกเข้าสมาบัติที่ต้องการได้
แล้วก็มนสิการ หรือนึกน้อมใจ ใส่ใจให้สมาบัตินั้น

แต่ในขณะจิตสุดท้ายที่จะเข้าสมาบัติก็ดี ระหว่างอยู่ในสมาบัติก็ดี
ระหว่างจิตถอนออกจากสมาบัติก็ดี
ตรงนี้จิตต้องน้อมไปเอง โดยปราศจากความจงใจ
ตรงกับที่ คุณมะขามป้อม กล่าวไว้ครับ

อนึ่ง ผู้ที่เห็นสุญญตา แต่เข้าสมาบัติไม่ได้ ก็เข้าสุญญตสมาบัติไม่ได้
ผู้ไม่เห็นสุญญตา แม้จะเข้าสมาบัติได้ ก็เข้าสุญญตสมาบัติไม่ได้อีกเช่นกันครับ
ต่อเมื่อมีองค์ประกอบทั้งสองประการ
ประกอบกับ รู้วิธีการ และปรารถนาจะเข้าสุญญตสมาบัติ
จึงสามารถเข้าสุญญตสมาบัติได้

อีกประการหนึ่งที่เราน่าจะจำแนกให้ชัดก็คือ
การพิจารณาจนเข้าไปรู้สุญญตาด้วยปัญญาได้นั้น
ยังไม่ใช่การเข้าสุญญตสมาบัตินะครับ
จนกว่าจะมีการเข้าสมาบัติจริงๆ เสียก่อน

======== จบ ========
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline หลี่จิ้ง

  • Global Moderator
  • Full Member
  • *
  • Posts: 56
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • Dhammada.net คือความเรียบง่าย คือธรรมะ คือธรรมดา
นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
ขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

Offline เด็กน้อย

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 62
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
ขออนุโมทนานะคะ _/l\_
สงสัยหนูต้องภาวนาไปอีกนานเลยค่ะ
ถึงจะเข้าใจเรื่องนี้ หรืออาจจะไม่มี
วันเข้าใจเลย แหะๆ แต่หนูชอบอ่านค่ะ
ไว้ต้องมาอ่านอีกหลายๆรอบค่ะ
เผื่อจะเข้าใจด้วยการคิดเอาวันละเล็กละน้อยค่ะ อิอิ ^^
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มาก แล้วจะสิ้นสงสัย" ^^

Offline ลุงถนอม

  • Administrator
  • Super Member
  • *
  • Posts: 2,296
  • คะแนนความนิยม: +8/-0
  • Gender: Male
  • สติปัฏฐาน ๔ คือทางสายเดียวที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์
คุณเด็กน้อย เรื่อง "ความรู้" นั้น ไม่จำเป็นเลยนะครับ ว่าจะมีความรู้มากๆ ต้องใช้เวลานานๆ เพราะแต่คนแต่ละท่าน พื้นเพทำมาไม่เหมือนกัน บางคนนั้นสะสมมาเยอะ เพียงแต่ชาตินี้ยังขาดเพียงกุญแจที่จะไขตู้ที่เก็บความรู้เอาไว้เท่านั้นเอง

เพียรเจริญสติปัฏฐานไปนี่ล่ะครับ จะทำให้มีฤทธิ์ในทางต่างๆได้ (ทั้งนี้แล้วแต่สิ่งที่ทำมาในอดีตด้วย) แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น เมื่อเจริญสติปัฏฐานจนแก่รอบ ควรแก่ภูมิแล้ว สิ่งที่ทรงค่าที่สุด คือ อริยภูมิ ก็จะปรากฎแก่เรา แล้วจะเห็นว่า ความรู้ใดๆก็ไม่รู้การได้เข้าถึงธรรม ตามชั้นตามภูมิหรอกครับ

สิ่งที่ไม่น่าเชื่อประการหนึ่งก็คือ เมื่อจิตเจริญสติปัฏฐาน และเกิดปัญญาในพระพุทธศาสนาแล้ว ความรู้หลายๆอย่างก็จะผุดขึ้นมามากมายอย่างไม่น่าเชื่อ (สำหรับบางคน) ทั้งๆที่ดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกันเลยก็ตาม แต่มีมา เหมือนกับเราไปเดินดูพลุในงานฉลองน่ะครับ เราแค่เดินไปดู แต่เมื่อมีพลุลูกแรกถูกยิงขึ้นมาแล้ว พลุหลากสีต่างๆก็จะถูกยิงตามขึ้นมาเป็นพรวนด้วยครับ ^_^
คือความเรียบง่าย คือธรรมะ คือธรรมดา

Offline ภูหนาว

  • Jr. Member
  • **
  • Posts: 36
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • นักรู้
_/|\_

ผมขอ "รู้ว่าหลง" เป็นหลัก คงพอนะครับ  ;D
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายจงเพียรเผากิเลส อย่าได้ประมาท เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ที่ต้องร้อนใจในภายหลังเลย

Offline เด็กน้อย

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 62
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
ค่ะคุณลุง _/l\_ หนูขอขอบคุณคุณลุงมากๆๆเลยนะคะที่คอยให้คำแนะนำหนูเสมอๆ เผื่อหนูจะได้ไม่หลงไปไกล อิอิ

เหมือนเป็นอะไรที่แก้ไม่ค่อยได้เลยค่ะคุณลุง หนูช่างสงสัย ค้นคว้าๆๆๆ ชอบมากๆๆๆโดยเฉพาะเรื่อง
ที่พระพุทธองค์บอกว่าเป็นอจินไตยอ่ะคะ หนูไม่เชื่ออะไรง่ายๆ (แต่บางครั้งดูเหมือนตัวเอง
เชื่อคนง่ายมากๆเลยคะ เพราะหนูคิดว่าคงไม่มีใครไม่คิดร้ายต่อกันหรอก แหะๆ)
ต้องทดลอง ต้องลองทำก่อนได้ผลยังไงค่อยมาดูกันอีกที
หนูขอสารภาพว่าหนูเป็นเด็กไม่ดีมากๆๆๆๆเลยคะ สงสัยกระทั่งพระพุทธองค์
(ขอพระพูทธองค์เมตตาอโหสิกรรมให้เด็กน้อยผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ผู้นี้ด้วยเถิดเจ้าค่ะ สาธุ _/l\_)
แต่พอได้ลองทำและเห็นจริงแล้ว ตอนนี้ก็ศรัทธาสุดจิตสุดใจเลยคะ ^^

แต่ความช่างสงสัยก็ยังไม่หายนะคะ ตอนนี้ก็ดีขึ้นมานิดนึงที่พอสงสัยก็รู้ว่าสงสัย เก็บแต้มได้พอควรเลยค่ะ เพราะสงสัยบ่อยมากกกกกกกกกค่ะ อิอิ
แต่ก่อนก็จะคิดๆๆๆๆๆๆๆ ไม่ดูตัวเองเลยว่าปัญญามีอยู่แค่นี้จะไปเข้าใจอะไรได้ แต่ก็คิดไม่เลิกนะคะ แหะๆ
เรื่องอ่านหนังสืออะไรแบบนี้ นี่เคยมีครูบาอาจารย์ท่านนึงท่านบอกไว้นะคะ ว่าไม่ต้องอ่านหรอก อ่านแล้วก็จำเป็นสัญญา
แล้วเอามาสร้างสภาวะจิตให้เหมือนที่อ่าน แล้วก็คิดว่าได้เจอสภาวะนั้นจริงๆ แค่รู้ ณ ปัจจุบันนี้พอแล้ว รู้โง่ๆ แบบนี้ละ พอแล้ว
ก็ห่างหายไปพักนึงค่ะ แต่พออยู่ที่นี่ เหมือนชีวิตไร้รสชาดมากเลยคะ วันๆก็เรียนๆๆๆ ทำการบ้าน พรีเซ็นต์รายงาน
ทำรายงาน วนไปวนมา มีแต่ธรรมะที่หนูรู้สึกว่าคุ้มค่ากับการให้เวลามากที่สุดค่ะ เหมือนใจไม่สนใจโลกภายนอก
เลยจริงๆคะ ว่างๆก็จะเข้าเว็บหาธรรมะอ่าน อาการแบบนี้จะเรียกว่าสุดโต่งเกินไปมั้ยค่ะ แหะๆ
วันก่อนตอนว่างๆที่มหาลัย ยืมโน๊ตบุ๊คเพื่อนเข้าเน็ตเพราะเห็นว่าเค้าไม่ได้ใช้อะไร
หนูก็เข้าเว็บธรรมดานี่ละคะ อิอิ สักพักเพื่อนก็ถามว่าทำอะไร หนูบอกอ่านเกี่ยวกับพุทธศาสนา
เพื่อนบอกว่า หนูงมงายค่ะ แหะๆ แต่หนูก็ไม่ได้ว่าอะไรนะคะ เพราะอธิบายให้เค้าฟังก็ยาก
เพราะนอกจากภาษาแล้วคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องแบบนี้ อธิบายยังไงก็คงไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดี
ก็เลยบอกแค่ว่า ไม่นะ แค่กำลังทำตามที่พระพุทธองค์ทรงสอน  อิอิ

ถ้าแบบนี้เรียกว่างมงาย หนูของมงายแบบนี้แล้วอยู่กับโลกอย่างทุกข์น้อยลง
และใช้ชีวิตอย่างมีค่ามากขึ้นในทุกๆนาทีแบบนี้ต่อไปค่ะ อิอิ  ^^

ปล. วันก่อนเพื่อนๆพูดเรื่องความตายอะไรสักอย่างนี่ละคะ แล้วก็มาถามๆความคิดเห็นหนู
หนูก็พูดเรื่องความตายแบบธรรมดามาก (ผลจากการฟัง มรณัง เม ภวิสสติ ของหลวงปู่สิมค่ะ อิอิ )
แบบว่าเราจะตายเมื่อไหร่ก็ได้ วันนี้พรุ่งนี้มะรืนนี้ ไม่มีอะไรแน่นอน แล้วก็บอกว่าถ้าเราคิดถึงความตาย
เราก็จะใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท เพื่อนๆบอกว่า ทำไมหนูถึงได้มีความคิดแก่แบบนี้
ตัวก็แค่นี้ ทำไมความคิดแก่จัง แหะๆ หนูจะคิดว่านี่เป็นคำชมดีมั้ยคะ อิอิ ^^
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มาก แล้วจะสิ้นสงสัย" ^^

Offline ลุงถนอม

  • Administrator
  • Super Member
  • *
  • Posts: 2,296
  • คะแนนความนิยม: +8/-0
  • Gender: Male
  • สติปัฏฐาน ๔ คือทางสายเดียวที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์
ต้องบอกว่า "เป็นคำชม" ครับ เพราะหากใครเห็นเราว่าแก่ แปลว่าเรามี Maturity ที่ดี จริงมั้ยครับ ยิ่งแก่ยิ่งใกล้สุกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดี เพราะวันใดที่ผลไม้แก่ๆนี้สุก และปลิดขั้วตัวเองหลุดจากต้นได้ ก็แปลว่าเราจบกิจในพระพุทธศานาแล้ว ^____^
คือความเรียบง่าย คือธรรมะ คือธรรมดา

Offline เด็กน้อย

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 62
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มาก แล้วจะสิ้นสงสัย" ^^