Author Topic: [กระทูููู้้้้เก่่ามาเล่าใหม่] คุยกันแบบสบายๆ เรื่องอินทรีย์ 5 โดยคุณ สันตินันท์  (Read 4058 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เขียนไว้เมื่อ วัน พฤหัสบดี ที่ 23 มีนาคม 2543 14:40:36

ผมไม่เคยคิดที่จะเป็นครูบาอาจารย์ของใคร
เพราะยังมีกิเลสต้องสะสางอีกมาก
แต่ก็มีหมู่เพื่อนแวะเวียนไปถามธรรมบ่อยครั้ง ในทุกสถานที่ที่พบกัน
(กระทั่งในห้องน้ำก็ไม่ละเว้น)
การที่ต้องอธิบายแจกแจงธรรมให้หมู่เพื่อนฟังอยู่เสมอๆ
ทำให้ผมได้พบว่า เพื่อนบางคนฟังแล้วเข้าใจง่าย ปฏิบัติได้ทันที
เพื่อนบางคนเข้าใจยาก ต้องฟังแล้วฟังอีกอยู่ช่วงหนึ่งจึงปฏิบัติได้
แต่เพื่อนบางคนฟังหลายคราวแล้ว ก็ยังไม่ลงมือปฏิบัติเสียที

ถ้าจะพูดด้วยโวหารของชาววัด ก็ต้องกล่าวว่า
แต่ละคนมีอินทรีย์แก่อ่อนไม่เท่ากัน
ซึ่งก็ถูกต้องครับ แต่ยังไม่ถูกใจคนรุ่นใหม่ที่จะได้รับคำตอบเพียงแค่นี้
เพราะฟังแล้วยังไม่รู้เรื่องว่า อินทรีย์คืออะไร มันแก่อ่อนได้อย่างไร

วันนี้คิดว่าจะคุยกันอย่างสบายๆ ดังนั้นผมจะยังไม่พูดเรื่องอินทรีย์ตามตำรา
แต่จะนำประสบการณ์จริงๆ มาเล่าสู่กันฟัง
ว่าเพื่อนแต่ละประเภทที่เรียนรู้ได้ช้าเร็วผิดกันนั้น เกิดเพราะปัจจัยใดบ้าง

จากที่สังเกตมานั้น เพื่อนบางคนที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจง่าย ปฏิบัติได้ทันที
เพราะจิตใจในขณะนั้นมีความพร้อมหลายอย่าง
คือเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิอยู่ก่อนแล้ว
เพียงสะกิดนิดเดียวก็เข้าใจปลอดโปร่งไปหมด

นอกจากนี้ คนที่มีกำลังของสมถะสนับสนุนอยู่แล้ว
จะเข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่าย
ส่วนคนที่ไม่มีกำลังความสงบของจิตใจเป็นทุนเดิมอยู่เลย
แม้จะฟังเข้าใจด้วยเหตุผล
แต่ในขั้นลงมือปฏิบัติจริง มักจะไม่เป็นธรรมชาติ
มีการกดข่มบังคับใจอย่างรุนแรง เกิดอาการแน่น อึดอัด เป็นก้อนขึ้นมาเต็มอก

เพื่อนๆ ประเภทที่ฟังปุ๊บเข้าใจปั๊บ ปฏิบัติตามได้ทันที ก็พอมีอยู่หลายคน
แต่ส่วนมากจะเป็นประเภทที่ 2 คือต้องฟังหลายๆ ครั้ง
ลองผิดลองถูกไปสักพัก จึงจะเข้าใจได้
เพื่อนกลุ่มนี้ในช่วงแรกๆ เวลาอยู่ต่อหน้าผมจะปฏิบัติได้
หลังจากนั้นจะเริ่มหลงตามความคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งสับสน
แล้วก็ต้องมาฟังซ้ำๆ เมื่อลองปฏิบัติไปนานๆ เข้า
จึงจะทราบว่า "พอดี" อยู่ตรงไหน

มีบ้างครับที่ฟังอย่างตั้งใจ แต่ไม่ยอมลงมือปฏิบัติเสียที
เพื่อนกลุ่มนี้ส่วนมากจะเป็นนักคิด เป็นปัญญาชนเจ้าความคิด
มีความพยายามมากเหลือเกินที่จะฟัง เพื่อจะคิดตามให้เข้าใจเสียก่อนว่า
การปฏิบัติธรรมจะต้องทำอย่างไร ทำแล้วจะมีผลอย่างไร

ปมปัญหาอยู่ที่ตรงนี้แหละครับ
คือถ้าลงมือปฏิบัติทันที ตามที่แนะนำให้ ก็จะเข้าใจทันที
เหมือนกับที่เซ็นกล่าวว่า "พอลืมตาก็เห็นแล้ว"
แต่เพื่อนเหล่านี้ทนไม่ได้ที่จะปฏิบัติ
จึงไม่มีวันจะหมดสงสัยได้
และเมื่อไม่หมดสงสัยก็ไม่ยอมปฏิบัติ
กลายเป็นปัญหาแบบวงกลม หาจุดต้นจุดปลายไม่พบ

เมื่อคุยกันแบบไม่มีตำราแล้ว คราวนี้วกเข้าหาตำราสักหน่อยก็แล้วกันครับ
อินทรีย์/พละ 5 นั้นประกอบด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา

ผู้ที่จะปฏิบัติจำเป็นต้องอาศัยศรัทธา
คือมีความมั่นใจ และเชื่อฟังที่จะลองปฏิบัติตาม
เมื่ออยากจะลองปฏิบัติตามแล้ว ก็จะเกิดความเพียร(วิริยะ)ที่จะปฏิบัติ
การปฏิบัติก็ไม่มีอะไรมาก
ขั้นต้นก็คือการเจริญสติระลึกรู้อารมณ์อันใดอันหนึ่งอย่างต่อเนื่องไป
อาศัยการมีสติระลึกรู้อารมณ์อันเดียว ก็เกิดสมาธิ คือมีจิตตั้งมั่นเป็นธรรมเอก
แล้วเจริญสติด้วยจิตที่เป็นธรรมเอก
ความไม่หลง ความไม่ถูกโมหะครอบงำ ความรู้ตัวก็แจ่มชัด
และรู้เท่าทันความผันแปรของกายและจิตเรื่อยไป เป็นปัญญา

เมื่อมีปัญญาขั้นต้น คือเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของอารมณ์และจิต
เห็นชัดว่า ถ้าจิตอยากจิตยึด จิตก็ทุกข์
ก็ยิ่งเกิดความศรัทธามั่นคงในพระศาสนาหนักแน่นเข้าไปอีก
ความเพียรก็สม่ำเสมอหนักแน่น สติ สมาธิ ปัญญา
ก็หมุนเป็นเกลียวกระชับสนับสนุนกันมั่นคงหนักเข้าตามลำดับ

แต่ถ้าปฏิบัติไม่ถูก อินทรีย์/พละ 5 ก็ไม่สม่ำเสมอหนุนเสริมกัน
เช่นศรัทธามากไป ก็กลายเป็นงมงาย
วิริยะมากไปก็กลายเป็นเคร่งเครียด
สติมากไปจิตก็แข็งกระด้าง
สมาธิมากไปจิตก็เคลิบเคลิ้มลืมตัว
ปัญญามากไปก็ฟุ้งซ่าน
ถ้ามีอะไรมากไปน้อยไป  ล้วนไม่ดีทั้งนั้น
อันนี้เป็นหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกับครูบาอาจารย์เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

เรื่องมากไปๆ นี้ ถ้าไปคุยกับผู้เรียนตำรา
เขาจะแย้งทันทีว่า สติมากไปไม่มี
เพราะสติยิ่งมาก ย่ิงดี
อันนี้ก็เป็นเรื่องของโวหารครับ
ในความเป็นจริงไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกันเลย
เพราะสติที่เป็นสัมมาสติจริงๆ นั้น ถ้ามาก(ต่อเนื่อง) จะดีที่สุด
แต่ถ้ามากแบบแข็งกระด้าง เป็นมิจฉาสติ ก็ไม่ดีแน่
อีกอย่างหนึ่ง ผู้เรียนตำราบางคนเขาว่ามิจฉาสติไม่มี
ซึ่งก็ไม่จริงครับ ในพระไตรปิฎกท่านกล่าวถึงมิจฉาสติไว้เยอะแยะ
สติที่แข็งกระด้างที่นักปฏิบัติเราพบเห็นนั่นเอง คือตัวมิจฉาสติ

วันนี้คุยกันเท่านี้ก็แล้วกันนะครับ
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
(ต่อ)

เรื่องที่จะทำให้อินทรีย์/พละ 5 สม่ำเสมอกันนั้น
ไม่ใช่ว่ามีความเพียรมากแล้วลดความเพียรลง
เคยเดินจงกรมวันละ 2 ชั่วโมง ปรับให้เหลือ 1 ชั่วโมง
เพื่อจะให้สมดุลกับที่ยังมีสติน้อยๆ มีสมาธิน้อยๆ
ไม่ใช่แบบนี้นะครับ เพราะมีแต่จะพากันน้อยลงทุกอย่าง
เป็นการเสียท่ากิเลสอย่างร้ายแรงทีเดียว

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผมใช้มาแล้วก็คือ การพิจารณาอย่างแยบคาย
คือในเรื่องศรัทธานั้น ผมไม่เคยมีศรัทธาในครูบาอาจารย์จนถึงขั้นงมงาย
อันนี้เป็นนิสัยมาแต่ดั้งเดิม
คือครูบาอาจารย์สอนอะไร จะลองนำมาปฏิบัติดูอย่างจริงจัง
แล้วไปทดสอบรายงานผลกับท่าน
แต่ไม่เคยรู้สึกว่า ครูบาอาจารย์เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้
ไม่เคยคิดว่า จะต้องพึ่งพาอยู่ใกล้ท่าน จึงจะปฏิบัติได้

เรื่องความเพียรมากเกินไปนั้น ก็ต้องสังเกตจิตใจตนเอง
ว่าที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้น ทำไปเพราะความอยากหรือเปล่า
คาดหวังอะไรแฝงเร้นอยู่หรือเปล่า
เจริญสติสัมปชัญญะถูกต้องหรือเปล่า
เมื่อสามารถเจริญสติได้ถูกต้องแล้ว
การปฏิบัติอยู่ตลอดวัน ในทุกอิริยาบถเมื่อมีโอกาสทำได้
ก็จัดว่าเป็นการทำความเพียรที่พอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป
ไม่เกี่ยวอะไรกับว่าต้องเดินเท่านั้น ต้องนั่งเท่านี้

เรื่องสติก็ต้องสังเกตจิตใจตนเองเหมือนกัน
ว่าสตินั้นกล้าแข็งเกินไปหรือไม่

สติที่พอดี คือสติที่ตามระลึกรู้อารมณ์ไปอย่างสบายๆ ไม่เคร่งเครียด
คล้ายๆ กับงูเห่า คือเวลาอยู่ปกติมันก็สงบๆ อยู่เฉยๆ
แต่พอมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาใกล้ งูจึงจะชูคอขึ้นมาคอยดูสิ่งแปลกปลอม
เวลาอยู่ปกติ งูไม่จำเป็นต้องชูคอให้เมื่อย
สติก็เหมือนกัน ในเวลาปกติก็รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏไปเรื่อยๆ
ต่อเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมที่อาจเป็นภัย คือกิเลสตัณหาต่างๆ ผ่านมา
สติจะตื่นตัวปั๊บขึ้นมาเป็นอัตโนมัติ เพื่อรู้สิ่งแปลกปลอมนั้น
ก็จะเห็นสิ่งนั้นผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

ถ้าไปตั้งสติเคร่งเครียดเกินไป คอยระวังตัวแจอยู่ทุกขณะจิต
อันนั้นเหนื่อยเกินไปครับ แล้วกิเลสตัณหามันจะพาลซ่อนเงียบหมด
เพราะไม่อยากเดินผ่านหน้าสติที่เป็นนักเลงโตถือมีดไม้คอยจ้องอยู่ตลอดเวลา
สติมันหลบไปนอนสบาย คนที่ลำบากก็คือเจ้าตัวที่ตั้งสติแรงเกินไปนั่นเอง

ถ้าพิจารณาอย่างแยบคายรู้ว่าตั้งสติแข็งไป
ก็เพลาๆ การระวังบังคับจิตใจลงบ้าง

เรื่องสมาธิก็เหมือนกัน ถ้าทำสมาธิแบบเคลิ้มๆ อยู่เสมอ
ก็หัดมาทำความตื่นตัวของจิตให้มากขึ้น
แต่ถ้ามันตื่นตัวเกินไป แบบไม่เคยสงบสบายพักผ่อนเลย
ก็หันมาทำความสบายให้แก่จิตบ้าง
จะใช้จิตทำงานแบบใช้แรงงานทาสไม่ได้
ต้องให้เขาได้พักผ่อนบ้าง

ตัวปัญญาก็เหมือนกัน
ปัญญาจริงๆ ไม่มีอะไรมาก
เพียงเห็นจิตและอารมณ์เป็นไตรลักษณ์แบบประจักษ์ต่อหน้าต่อตาก็พอแล้ว
ส่วนความรู้ความเห็น ความแตกฉานต่างๆ นั้น
ไม่มีประโยชน์อะไรนักหรอกครับ
ดังนั้นแทนที่จะคิดๆ เอา ก็หันมารู้ๆ เอา
ปัญญาจะได้พอดีๆ ครับ

== จบ ==
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline ภูหนาว

  • Jr. Member
  • **
  • Posts: 36
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • นักรู้
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายจงเพียรเผากิเลส อย่าได้ประมาท เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ที่ต้องร้อนใจในภายหลังเลย

Offline อรุณเบิกฟ้า

  • Clips
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 106
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • เมตตา สันติ เจริญสติ
^/\^ ^/\^ ^/\^

ชอบมากครับ อนุโมทนาผู้จัดทำที่นำมาลงด้วยครับ
ยิ่งอยากยิ่งไม่ได้ ยิ่งแสวงหายิ่งไม่เจอ

Offline เด็กน้อย

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 62
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
^/\^ ^/\^ ^/\^

ชอบมากครับ อนุโมทนาผู้จัดทำที่นำมาลงด้วยครับ

_/l\_ _/l\_ _/l\_  หนูก็ชอบมากๆเหมือนกันค่ะ อิอิ
แล้วหนูก็ต้องขอนำ "การพิจารณาอย่างแยบคาย" มาใช้ด่วนเลยค่ะ อิอิ ^^

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มาก แล้วจะสิ้นสงสัย" ^^

Offline ม๊า

  • Newbie
  • *
  • Posts: 6
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • เมตตา สันติ เจริญสติ

Offline หลี่จิ้ง

  • Global Moderator
  • Full Member
  • *
  • Posts: 56
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • Dhammada.net คือความเรียบง่าย คือธรรมะ คือธรรมดา
นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
ขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว