Author Topic: [กระทู้เก่ามาเล่าใหม่] ปัญหาใหญ่ของนักปฏิบัติ โดย คุณสันตินันท์  (Read 2523 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เขียนเมื่อ วัน อังคาร ที่ 4 กรกฎาคม 2543 10:50:28

นักปฏิบัติผู้หวังมรรคผลนิพพานนั้น มีโรคประจำตัวอยู่อย่างหนึ่ง
คือเมื่อปฏิบัติอย่างเต็มที่ สามารถทำความรู้ตัว รู้กายรู้ใจชัดเจนดีแล้ว
ก็อยากจะให้ภาวะจิตที่ทรงธรรมอันดีนี้คงอยู่นานๆ
ครั้นต่อมาไม่นาน จิตที่เคยรู้ชัดก็เริ่มเสื่อมโทรมลง
สติไม่ไว ความสงสัย หรือความเบื่อหน่ายเข้ามาแทรก
เช่นรู้สึกว่า เอ มันยังไงกันนะ เคยปฏิบัติดีคิดว่าเข้าใจแล้ว
แต่อยู่มาเดี๋ยวนี้ ทำไมเหมือนคนปฏิบัติไม่เป็นเสียแล้ว
ไม่ทราบว่าจะดูอะไร จะกำหนดอะไร จะวางจิตใจอย่างไร
ดูมันมืดตื้อสบสนไปหมด (เพราะลืมดูความลังเลสงสัย)

บางคนสับสนแล้วก็ยังทนทำต่อไปแบบมวยวัด
คือหลับหูหลับตาชกกับกิเลสต่อไป
แต่บางคนท้อใจ เลิกปฏิบัติไปชั่วคราวก็มี
น้อยคนที่จะเฉลียวใจว่า อ้อ.. จิตแสดงไตรลักษณ์
ซึ่งพอรู้ทันเท่านี้ จิตที่เสื่อมอยู่ก็จะกลับเจริญในทันที

ความจริงพระธรรมท่านแสดงตัวให้เราเห็น แต่เราไม่เห็นเอง
คือท่านเทศน์เรื่องพระไตรลักษณ์ของจิตให้เราดู
แสดงอย่างโจ่งแจ้งอยู่ว่า จิตนี้ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้
เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ
เพราะเห็นความจริงอยู่อย่างนี้แหละ
ถึงจุดหนึ่งจิตจึงได้ข้อยุติที่แน่นอนใจว่า
จิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาหรือจิตไม่ใช่เรา


หากผู้ใดปฏิบัติแล้วดีตลอด ไม่เห็นความเสื่อมเลย
ผู้นั้นอาการสาหัสทีเดียว เพราะมองไม่เห็นความจริง
หากใครปฏิบัติแล้วเห็นแต่ความเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญของจิต
แต่ก็ปฏิบัติต่อไปอย่างไม่ท้อถอยด้วยความมีสติปัญญา
ผู้นั้น นับว่าเป็นผู้ใกล้ต่อมรรคผลนิพพาน


แต่ความเสื่อมนั้น ต้องเสื่อมทั้งที่พยายามปฏิบัติอย่างเต็มที่แล้ว
ไม่ใช่เสื่อมเพราะเกียจคร้าน
แล้วหลอกตนเองว่า จิตกำลังแสดงไตรลักษณ์
เพราะอย่างหลังนี้
กิเลสได้หลอกล่อผู้ปฏิบัติให้ล่มจมเรียบร้อยไปแล้ว

*************************************************

ความจริงถ้ารู้สึกว่าจิตเสื่อมลง ทั้งที่พยายามปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอแล้ว
ก็ให้ทราบ(ว่ามันเสื่อมลง) ด้วยจิตที่เป็นกลาง
ถ้ากลุ้มใจเพราะจิตเสื่อม ก็ให้รู้ว่ากลุ้มใจ
ถ้าสับสน ก็ให้รู้ว่าสับสน
ถ้าอยากให้จิตเจริญ ก็ให้รู้ว่าอยาก

หลักของการ รู้ (รู้สิ่งที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง) นั้น เป็นอาวุธสำคัญ
กิเลสตัณหาจะกลัวมาก จึงพยายามชักนำให้ เลิก "รู้" แล้วหันไป "คิด" แทน
ผมเองสมัยที่ปฏิบัติใหม่ๆ ทั้งที่เข้าถึงจิตถึงใจตนเองแล้ว
แต่บางครั้งก็เกิดความอึดอัดกลัดกลุ้ม อยากให้จิตพ้นทุกข์เร็วๆ
เพราะกิเลสตัณหาหลอกเอาเหมือนกัน
ผมถึงกับเขียนป้ายเอาไว้โตๆ ด้วยคาถาสำคัญว่า
อย่ายึดจิต

เวลาปฏิบัติแล้วชุลมุนวุ่นวาย หันมาเห็นเข้า
จิตก็รู้เท่าทันกิเลสตัณหาที่กำลังหลอกอยู่
คือเรายึดจิตเป็นเรานั่นเอง จึงอยากให้จิตดีๆ ให้จิตหลุดพ้น
พอรู้ทัน ความฟุ้งซ่านรำคาญใจเพราะจิตเสื่อมก็หมดไป
หันมารู้ทันว่า จิตกำลังฟุ้งซ่านสับสน
เพียงเท่านี้ ความฟุ้งซ่านก็อยู่ส่วนความฟุ้งซ่าน จิตก็ส่วนจิต
พ้นความสับสนวุ่นวายไปได้เกือบทุกที

*************************************************

ตั้งใจปฏิบัติให้ต่อเนื่อง เป็นเรื่องดีและจำเป็นครับ
แต่ระหว่างปฏิบัติ อย่าจงใจ รู้ให้มากเกินไป
เพราะปฏิบัติด้วยความอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากละ อยากพ้น
เมื่อรู้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่จงใจ ไม่อยาก
สติสัมปชัญญะก็ดี รู้ตัวชัดเจน
แต่ถ้าอยากมาก จงใจมาก ก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร
นอกจากจะเกิดทุกข์มากขึ้น

แต่ทั้งที่ปฏิบัติถูกต้องดี คือมีความเพียร เฝ้ารู้ โดยไม่จงใจ ไม่อยาก นั่นแหละ
บางครั้งบางคราว จิตมันก็ยังหมองลงนิดหน่อย

ถ้าไม่เพียรแล้วจิตหมอง อันนี้เรายอมรับได้
แต่ทั้งที่เพียร ก็ยังหมอง อันนี้แหละครับที่ยอมรับกันไม่ค่อยได้
แล้วเกิดความสับสน หรือท้อแท้กันมามากต่อมากแล้ว
นี่คือที่มาของกระทู้นี้ครับ

*************************************************

อันที่จริงการดูจิตก็คล้ายๆ การเลี้ยงเด็กเหมือนกัน
พ่อแม่ที่ฉลาดจะไม่เข้าไปควบคุมเด็กอย่างเข้มงวดจนกระดิกตัวไม่ได้
เพราะเด็กจะเตรียด และขาดพัฒนาการ
(เหมือนการเพ่งจ้อง กดข่ม ควบคุมจิตจนกระดิกไม่ได้
จิตจะเครียดและเจริญปัญญาไม่ได้)

พ่อแม่ต้องไม่ปล่อยปละละเลยให้เด็กห่างหูห่างตา
เพราะเด็กอาจจะได้รับอันตรายต่างๆ เพราะความไร้เดียงสา
(เหมือนการหลง ปล่อยจิตร่อนเร่ไปตามยถากรรม
ซึ่งจิตมักจะวิ่งไปทำบาปอกุศล แล้วเดือดร้อนในภายหลัง)

พ่อแม่ควรทำกิจปกติในชีวิตประจำวันของตนไป
แล้วคอยชำเลืองดูลูกอยู่ไม่ใกล้ ไม่ไกลเกินไปนัก
เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งที่เขาไปพบเห็นด้วยตัวของเขาเอง
(ให้จิตรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ)
และคอยตักเตือนหากจะทำอะไรที่ผิดพลาด
(เช่นไม่ให้ทำผิดศีล)
คอยแนะนำปลุกปลอบใจให้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์
(เช่นให้รู้จักทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา)

คำว่าพ่อแม่นี้ ก็คือสติปัญญา หรือสติสัมปชัญญะ(สัมปชัญญะคือตัวปัญญา) นั่นเอง
เราเพียงมีสติสัมปชัญญะ รู้จิตรู้ใจไปตามธรรมชาติธรรมดา
รู้ไปในชีวิตประจำวัน โดยประสานการปฏิบัติเข้ากับการดำรงชีวิตปกติ
จะอาบน้ำ ทานข้าว นั่งรถ ลงเรือ เคลื่อนไหว ฯลฯ ก็คอยรู้จิตใจไปอย่างสบายๆ
ไม่นานจิตใจก็พัฒนาไปเองแหละครับ
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
เรื่องเสื่อมนี่ก็เป็นเรื่องกังวลใจของผมเหมือนกันครับ
คือผมปกติจะเป็นคนที่ยังไงก็ได้
คือไม่ค่อยยึดติดเท่าไหร
เลยไม่ค่อยรู้ว่าอย่างไรมันดี หรือมันเสื่อม
ยิ่งปกติผมมักเอาอิริยาบท4 เป็นเครื่องอยู่ ร่วมกับ ท้องพองยุบ(กรณีไม่ได้เคลื่อนไหวกาย)
สลับกับดูจิต ดังนั้น เมื่อดูจิตไม่ได้ก็จะย้ายการรับรู้มาที่ กาย โดยอัตโนมัติ
กลายเป็นว่าจะมีที่ให้รู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ค่อยเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "ดูไม่รู้เรื่อง" เลยครับ
นาน ๆ เข้าผมก็เลยสงสัยว่าทำอะไรผิดหรือเปล่า เพราะไม่เห็นเสื่อมแบบให้รู้สึกจิตตกเลย
มันเฉย ๆ ตลอด เหมือนว่าปกติทุกวัน มีสติมากบ้านน้อยบ้างสลับกันไป จิตมันก็ไม่เคยดิ้นรนให้ดีเลยครับ
ท่านใดอ่านแล้วมีคำแนะนำ ก็สามารถแนะนำได้เลยนะครับ
ขอบพระคุณครับ ;D
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช

Offline เด็กน้อย

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 62
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
_/l\_ _/l\_ _/l\_ ขออนุโมทนา สาธุนะคะ ^^

สำหรับหนูเจริญไม่ค่อยเท่าไหร่คะ แต่เสื่อมนี่ประจำเลยค่ะ
และท่าจะเสื่อมเพราะสาเหตุที่หลวงพ่อท่าน
ขีดเส้นตัวดำๆหนาๆนั่นละคะ หลังจากที่พัฒนาตัวเอง
จนมีวินัยได้ในระดับนึง แต่แล้วจู่ๆก็เสื่อมไปหมดเลยค่ะ
ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนค่ะ อิอิ

หลวงพ่อเคยสอนประมาณว่า จิตเจริญได้ก็เสื่อมได้
จิตเค้าแสดงไตรลักษณ์ หนูก็จำที่หลวงพ่อบอกนี่ละคะ
แล้วคิดว่าเนี่ยจิตกำลังแสดงไตรลักษณ์ ที่ไหนได้หนูโดนกิเลสหลอกเอาเต็มๆเลยค่ะ
ถ้าไม่ได้อ่านกระทู้นี้ คงจะโดนจะกิเลสเล่นงานไปอีกนานเลยค่ะ แหะๆ

ขอขอบคุณพี่หงษ์น้อยมากๆเลยนะคะ ^^
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มาก แล้วจะสิ้นสงสัย" ^^