Author Topic: [กระทู้เก่ามาเล่าใหม่] ปลุกใจให้ตื่นตัว โดยคุณ สันตินันท์  (Read 4550 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เขียนเมื่อ วัน จันทร์ ที่ 27 มีนาคม 2543 18:49:08


ผู้ปฏิบัติที่ยังเข้าไม่ถึงพระรัตนตรัยด้วยจิตใจอย่างแท้จริง
บางครั้งจะเกิดความเฉื่อย เนือย ในการปฏิบัติธรรม
ทั้งนี้เพราะงานของกรรมฐานนั้น เป็นงานหนัก
และต่อเนื่องไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์หรือวันหยุดราชการ
ไม่เหมือนการทำงานทางโลก
ที่มีเวลาทำงานและเวลาหยุดที่ค่อนข้างแน่นอน

งานทางโลกมีรางวัลที่เป็นรูปธรรม เช่นเงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส กำไร
ตำแหน่ง อำนาจ และชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นต้น
ส่วนงานทางธรรมเช่นการทำทาน รักษาศีล
มีแต่จะต้องเสียสละทรัพย์สินเงินทอง และความสะดวกสบายหลายอย่าง
ยิ่งการภาวนานั้น ไม่เห็นเลยว่า จะได้รับรางวัลในการปฏิบัติเมื่อใด
มีแต่ต้องลำบากเหนื่อยยากอย่างต่อเนื่องทุกวันเวลา
ยากกว่าการทำทานและการรักษาศีลมากนัก
คนส่วนหนึ่งจึงยินดีจะทำทานให้มาก
เพื่อแลกกับมรรคผลนิพพานโดยไม่ต้องปฏิบัติธรรมให้เหนื่อยยาก
จนตกเป็นเหยื่อของนักขาย "นิพพาน" มานักต่อนักแล้ว

ด้วยเหตุเหล่านี้ คนที่เอาดีได้ในทางโลก
จึงมีมากกว่าคนที่เอาดีได้ในทางธรรม
ตราบใดที่คนเรายังนิยมเหยื่อล่อที่เป็นรูปธรรม
และไม่เข้าใจคุณค่าที่แท้จริงของพระศาสนา

***************************************

ผมเองในครั้งที่การปฏิบัติยังล้มลุกคลุกคลาน
ก็เคยเหน็ดเหนื่อยท้อแท้เหมือนกัน
ไม่ใช่ว่าจะเป็นซุปเปอร์แมนมาจากไหน
แต่ก็พยายามปลุกใจตนเองให้ต่อสู้อยู่เสมอ
จนพอจะลืมตาอ้าปากได้บ้างในวันนี้
ประสบการณ์ในการต่อสู้ปลุกใจตนเองก็มีหลายอย่าง
วันนี้เป็นโอกาสดี ที่นึกเรื่องนี้ได้
จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังในหมู่เพื่อนทั้งหลาย

***************************************

บางครั้งที่จิตใจเฉื่อยชาในการปฏิบัติ
ผมจะหยิบหนังสือธรรมะมาสักเล่มหนึ่ง
เช่นพระไตรปิฎกในส่วนของพระวินัยและพระสูตร
ซึ่งอ่านแล้วจะได้รับความเบิกบานชื่นฉ่ำใจอย่างมาก
เพราะจิตใจจะระลึกถึงพระศาสดาและพระมหาสาวกในยุคนั้น
หรืออ่านหนังสือธรรมคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ที่ถูกจริต
เช่นหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อชา หลวงพ่อเทียน รวมทั้งอาจารย์เซ็นบางท่าน
ซึ่งอ่านแล้วจะกระตุ้นความตื่นตัวในการ "รู้"
ถ้าไม่มีจริงๆ กระทั่งประวัติและปฏิปทาของพ่อแม่ครูอาจารย์ ก็น่าอ่าน
เพราะได้เห็นร่องรอยการต่อสู้ของท่าน
สมัยที่ท่านยังลำบากเหมือนเราเองในวันนี้
เมื่ออ่านแล้วก็เกิดกำลังใจที่จะเจริญรอยตามท่านไป

***************************************

ทุก 3 - 4 เดือน ผมจะไปกราบพ่อแม่ครูอาจารย์สักครั้งหนึ่ง
และไปสิงสถิตอยู่ตามวัดป่า ไปอยู่โคนไม้ อยู่ถ้ำ
ไปพบปะกับพระหนุ่มเณรน้อยลูกศิษย์ครูเดียวกัน
เหมือนการไปสอบประจำภาค

หากเป็นการไปกราบพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เคยไปศึกษากับท่านแล้ว
ก็จะไปกราบเรียนท่านว่า เคยมาพบท่านครั้งสุดท้ายเมื่อใด
ท่านสอนอะไร และนำไปปฏิบัติแล้วมีผลอย่างไร
หากปฏิบัติผิดก็ขอให้ท่านช่วยชี้แนะแก้ไข
หากถูกแล้ว ก็ขอแนวทางปฏิบัติที่ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

ผมไม่เคยไปกราบพ่อแม่ครูอาจารย์ แล้วไปหัวเราะแหะๆ เรียนท่านว่า
"ช่วงนี้ผมขี้เกียจครับ ผมไม่ค่อยได้ปฏิบัติเพราะมัวเล่นเกมส์กด หรือเอาแต่เที่ยว
จึงมาขอฟังธรรมเพิ่มเติมอีกสักหน่อย
เผื่อท่านจะมีคำสอนเด็ดๆ ที่สามารถเคาะกิเลสของผมให้กระจุยกระจายไป"

ที่ไม่ทำอย่างนี้ก็เพราะอายพ่อแม่ครูอาจารย์
ท่านเป็นผู้ใหญ่แล้ว เป็นนักรบชราผู้คร่ำศึก
ท่านคงไม่ชื่นใจเลยที่พบว่า ลูกหลานวิ่งหนีข้าศึกตั้งแต่ยังไม่เห็นเงา
เสียแรงที่ท่านลำบากขันธ์ ทรมานกายอยู่สั่งสอนเรา
อีกอย่างหนึ่ง ผมคิดว่ากิเลสของใคร คนนั้นก็ต้องต่อสู้เอง
ไม่ใช่ฝันลมๆ แล้งๆ ว่าจะได้ฟังธรรมเด็ดๆ แล้วชนะกิเลสโดยไม่ต้องต่อสู้
หรือเพียงแค่พึ่งธรรมของพ่อแม่ครูอาจารย์ ไม่ต้องพึ่งตนเอง
เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น
ไม่มีธรรมะฟลุ้กๆ มีแต่ธรรมที่ต้อง "ทำ" เอาทั้งสิ้น

ฟังธรรมแล้วก็ออกไปอยู่ตามโคนไม้ ผ่านกลางคืนโดยอยู่กลางแจ้ง
ปฏิบัติธรรมใต้แสงเดือนแสงดาว ฟังเพลงใบไม้ไหวเมื่อลมพัด
สัมผัสกับธรรมชาติด้วยจิตที่ตื่นตัว
ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นชินสำหรับคนเมือง

ในเวลากลางวัน บางคราวก็เที่ยวพบปะสนทนากับศิษย์ร่วมสำนัก
แลกเปลี่ยนประสบการณ์ปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นเรื่องสนุกสนานน่าฟังมาก
เช่นท่านองค์นั้น ไปเกิดราคะ และต่อสู้ผ่านมาได้อย่างไร
ท่านองค์นี้ ดำเนินจิตอย่างนี้ เกิดผลอย่างนี้
ท่านองค์โน้นกลัวผี ถูกผีที่นั้นๆ หลอก แต่ท่านเอาตัวรอดมาได้อย่างนี้ๆ ฯลฯ
หรือบางทีก็หาของเล่นสนุกในทางจิตใจบ้าง
ซึ่งเรื่องอย่างนี้ต้องเล่นลับหลังพ่อแม่ครูอาจารย์
เพราะมันเป็นเพียงกีฬา ไม่เกี่ยวกับมรรคผลนิพพานแต่อย่างใด

การพบปะครูบาอาจารย์และหมู่เพื่อนเป็นครั้งคราว
จะทำให้เราตื่นตัว ต้องรีบทำการบ้าน
เพื่อว่าเวลาพบท่านเหล่านั้น และถูกถาม
จะได้ไม่เก้อเขินหัวเราะแหะๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว
ส่วนการไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย
ก็ทำให้จิตใจตื่นตัว แก้ความเฉื่อยชาได้ดีมาก

นักปฏิบัติบางคนนิยมกล่าวว่า อยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้
ซึ่งก็จริงเหมือนกัน ถ้าปฏิบัติไปถึงระดับหนึ่งแล้ว
แต่บรรดามือใหม่หัดภาวนา หรือมือเก่าล้าหลังอย่างผม
การไปหาบรรยากาศแปลกใหม่ เป็นประโยชน์แน่นอน

***************************************

บางคราวจิตใจเหี่ยวแห้งท้อแท้ อ่านหนังสือแล้วก็ไม่ชุ่มชื่นใจ
จะไปกราบพ่อแม่ครูบาอาจารย์ก็ยังไม่มีโอกาส เช่นไม่มีเวลา หรือไม่มีค่ารถ
ภาวะอย่างนี้ทรมานใจมาก
ยิ่งปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่งแล้ว
สติสัมปชัญญะจะทำงานต่อเนื่องทั้งวันไม่มีเวลาเว้นวรรค
จะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยทุกข์ทรมานจริงๆ
ไม่เหมือนตอนที่หัดใหม่ๆ
ที่เหนื่อยนักยังเที่ยวดูหนังฟังเพลงให้ลืมๆ การปฏิบัติได้บ้าง

ในภาวะเช่นนี้ ไม่มีอะไรจะทำให้จิตใจชุ่มชื่นได้เท่ากับการทำความสงบ
ผู้ที่เตินวิปัสสนาล้วนๆ จึงเป็นนักปฏิบัติแบบแห้งผาก
ส่วนผู้ที่รู้จักทำความสงบในจิตใจ จะเข้าพักสงบชั่วครั้งชั่วคราว
การปฏิบัติธรรมก็จะเต็มไปด้วยความกระปรี้กระเปร่าเบิกบาน

หลวงปู่เทสก์เคยสอนผมว่า การปฏิบัตินั้นจิตต้องมีสถานีลง
เหมือนเครื่องบินที่ต้องมีสถานี(ท่านคงนึกคำว่าสนามบินไม่ออก)ลงเป็นครั้งคราว

ผมเองคราวหนึ่งจิตใจแห้งผากมาก
เพราะเอาแต่เจริญสติจนลืมความสงบ
ถึงขนาดวิ่งแจ้นไปกราบหลวงพ่อพุธที่วัดป่าสาลวัน
ฟังธรรมแล้ว ก็ไม่ชุ่มชื่นเบิกบานเหมือนที่เคย
ทำอย่างไรก็แก้ไม่หาย
จนต่อมาเหนื่อยหนักเข้าจึงตั้งใจทำสมถะ
กำหนดลมหายใจเข้าออกไป 28 ครั้ง จิตก็รวมพรึ่บ
พอจิตถอนออกจิตก็มารู้ความเกิดดับของอารมณ์ เจริญปัญญาต่อไป
เพียงกระทบอารมณ์วับเดียว ปัญญาก็ตัดอารมณ์ขาดสะบั้นลงในพริบตา

ปัญญาที่มีกำลังของสมาธิหนุน เหมือนอาวุธที่คมกล้า
พออารมณ์ใดเข้ามากระทบจิต อารมณ์นั้นก็ขาดสะบั้นหมด
จิตมีความชุ่มชื่นเบิกบานอีกชั้นหนึ่ง
อันเป็นความเบิกบานด้วยปัญญา ไม่ใช่เบิกบานด้วยสมาธิเหมือนชั้นแรก

***************************************
 
ผู้ปฏิบัติต้องรู้จักให้กำลังใจตนเอง
โดยอาศัยศรัทธาเป็นแรงใจบ้าง
อาศัยสมาธิเป็นแรงใจบ้าง
และอาศัยปัญญาเป็นแรงใจบ้าง
การปฏิบัติจึงจะให้ประโยชน์ครบบริบูรณ์
คือ (1) ให้ความมีสติสัมปชัญญะ
(2) ให้ความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
(3) ให้ของเล่นทางจิตและญาณทัศนะต่างๆ
และท้ายที่สุด คือ (4) ให้มรรคผลนิพพาน

การปฏิบัติ ไม่ได้ให้แต่ความทุกข์ยากเดือดร้อนในปัจจุบัน
โดยมองไม่เห็นจุดหมายปลายทางในอนาคต
แต่ให้ความสุขและความแช่มชื่นอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ไป
ด้วยวิธีเหล่านี้แหละ
นักปฏิบัติจึงจะมีกำลังใจ ไม่เฉื่อยชา และสามารถว่ายน้ำให้ถึงฝั่งได้

***************************************

วันนี้นึกได้เท่านี้เองครับ
และถ้าใครมีอุบายปลุกใจตนเองอย่างไร
ก็เชิญนำมาเล่าให้หมู่เพื่อนฟังกันบ้างนะครับ
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
คุณสันตินันท์ เขียนเมื่อ วัน พุธ ที่ 29 มีนาคม 2543 11:43:40

ผมว่าเราอย่าเชียร์กันเองมากนักเลยครับ
ที่เราพูดๆ กันนี้ คนที่สำนักคลองสาม หรือสำนักอื่นๆ
เขาก็พูดอย่างเดียวกันเหมือนกัน
คือพูดว่า "พบแล้ว ทางนี้ถูกที่สุด ดีที่สุด เป็นทางสายเดียว
ฉันแน่ใจได้ด้วยตัวเองแล้ว อาจารย์ของฉันก็เก่งน่านับถือ ฯลฯ"

พระศาสดาของเราท่านจึงให้เอาธรรมเป็นศาสดา
เพราะท่านไม่นิยมให้เอาตัวบุคคลมาเป็นศาสดาต่อจากท่าน
พวกเราลูกหลานพระพุทธเจ้า ก็อย่าหลงกับลัทธิบูชาตัวบุคคลเลยครับ
เอาเป็นว่า ถ้าคิดว่าการเจริญสติสัมปชัญญะแบบนี้ถูกจริต
ก็พยายามทำให้มากเข้าเถอะครับ
ทำแล้วกิเลสตัณหาลดลง หรือว่ามีความสุขมากขึ้น
ก็ขอให้รำลึกนอบน้อมในธรรมของพระศาสดาที่ทรงกรุณาสั่งสอนสืบทอดกันมา
แล้วถ้าจะนึกถึงผม ก็ขอให้นึกถึง "รู้" เอาไว้เถอะครับ
เพราะผมไม่ได้ต้องการลาภสักการะ หรือคำนิยมยกย่องใดๆ จากพวกเรา
มากไปกว่าการที่แต่ละคน ทุกข์ให้น้อยลง
และได้เห็นถึงความอัศจรรย์ของการเจริญสติสัมปชัญญะในพระพุทธศาสนา

มีเรื่องหนึ่งอยากจะขอร้องพวกเราบ้างครับ
คือพวกเราบางคนชอบเอาวัตถุสิ่งของมาให้ผม
เช่นข้าวสาร ปากกา น้ำผลไม้ ผลไม้
ผมก็พยายามปฏิเสธมาตลอด
แต่บางทีก็ต้องรับไว้เพราะเห็นใจผู้ให้ ที่อุตส่าห์ไปหามาแล้ว
ผมไม่ต้องการให้เกิดธรรมเนียมเอาของมาให้ผม
เพราะจะทำให้น้องๆ หลานๆ ที่ไม่ค่อยมีสตางค์รู้สึกลำบากใจที่ไม่มีสิ่งของให้ผม
ถ้าจะทำทาน ก็ขอให้ทำกับพ่อแม่ครูอาจารย์เถอะครับ
ดังนั้น นับแต่นี้ไป ผมจะขอปฏิเสธการรับสิ่งของจากทุกท่านนะครับ
เพราะถือว่าได้บอกกล่าวทั่วกันแล้ว


แต่ถ้าภาวนาและรู้ตัวมาให้เห็น
ผมจะดีใจกว่าทุกอย่างเลยครับ

หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยสอนผมไว้ว่า
การปฏิบัตินั้นไม่ยาก แต่มันยากสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติ

ถ้าว่างๆ ลองอ่านเรื่องราวของท่านพระพาหิยะกันดูบ้างก็ได้ครับ
ท่านเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่นในด้านการรู้ธรรมได้เร็ว
แต่ก่อนที่ท่านจะรู้ธรรมเร็วในชาติสุดท้ายเมื่อพบพระศาสดา
ชาตก่อนหน้านี้ ท่านก็ช้ากว่าเพื่อน
ปฏิบัติอย่างไรก็ไม่สำเร็จจนเสียชีวิตลงบนภูเขา

ธรรมะจึงเป็นเรื่องที่ยุติธรรมที่สุด และไม่มีลูกฟลุ้ค
ถ้ายอมลำบากตั้งหน้าปฏิบัติเสียตอนนี้ ก็จะสบายในภายหลัง
หากจะเอาสบายในตอนนี้ ก็ต้องไปเริ่มต้นลำบากในภายหลังอยู่ดี
ไม่มีหรอกครับ ที่จะได้กำไรทางธรรม โดยไม่ต้องลงทุนเลย
« Last Edit: Sat 16 Oct 10, 01:57:16 by หงส์น้อยบ้านโค้งดารา »
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
สาธุ
จริง ๆ แล้ว โดยเฉพาะย่อหน้าสุดท้ายนี้เหมาะกับคนขี้เกียจอย่างผมมากเลยครับ
ขอน้อมนำมาไว้ในใจครับ
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช

Offline ภูหนาว

  • Jr. Member
  • **
  • Posts: 36
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • นักรู้
สาธุครับ _/|\_

ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เก้อเขินยามไปพบครูบาอาจารย์และเพื่อนสหธรรมิกซะแล้ว  :P
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายจงเพียรเผากิเลส อย่าได้ประมาท เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ที่ต้องร้อนใจในภายหลังเลย

Offline อรุณเบิกฟ้า

  • Clips
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 106
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • เมตตา สันติ เจริญสติ
-/\- -/\- -/\-

เป็นประโยชน์สำหรับคนขี้เกียจ ขาดความเพียรอย่างผมมาก เป็นกำลังใจในการปฎิบัติที่ดีจริงๆ ครับ
ยิ่งอยากยิ่งไม่ได้ ยิ่งแสวงหายิ่งไม่เจอ

Offline เด็กน้อย

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 62
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
_/l\__/l\__/l\_ สาธุค่ะ เป็นกำลังใจในการปฏิบัติมากๆๆเลยค่ะ
พักนี้จิตใจหนูดูจะเหี่ยวแห้ง เฉื่อยชาในการปฏิบัติมากเลยค่ะ
ต้องลองนำวิธีที่หลวงพ่อท่านแนะนำ สั่งสอนมาใช้อย่างเร่งด่วนแล้วค่ะ อิอิ ^^
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มาก แล้วจะสิ้นสงสัย" ^^

Offline หลี่จิ้ง

  • Global Moderator
  • Full Member
  • *
  • Posts: 56
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • Dhammada.net คือความเรียบง่าย คือธรรมะ คือธรรมดา
นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
ขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว