Author Topic: [กระทู้เก่ามาเล่าใหม่] การเดินจงกรม โดย คุณสันตินันท์  (Read 5771 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เขียนเมื่อ วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 11:26:20

ในหลักการแล้ว การเดินจงกรมที่ถูกต้องคือการเดินอย่างมีสติสัมปชัญญะ
เช่นเดียวกับการนั่งที่ถูกต้อง คือการนั่งอย่างมีสติสัมปชัญญะ


ถ้ามีสติสัมปชัญญะ จะปฏิบัติธรรมในอิริยาบถใดก็ถูกต้องทั้งสิ้น
ถ้าขาดสติสัมปชัญญะ ต่อให้เดินจงกรมจนเท้าแตก
ก็ยังไม่ใช่การปฏิบัติธรรมแท้จริงในทางพระพุทธศาสนา

******************************

การเดินจงกรมนั้น จะเดินให้เป็นสมถกรรมฐานก็ได้
จะให้เป็นวิปัสสนากรรมฐานก็ได้
ทั้งที่เดินอยู่ในที่เดียวกัน และในท่าเดียวกันนั่นเอง

ท่าทางและสิ่งแวดล้อมภายนอก ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าเป็นสมถะหรือวิปัสสนา
หากแต่ลักษณาการของจิตต่างหาก เป็นตัวตัดสิน
คือถ้ามีสติจดจ่อลงในสิ่งหนึ่งสิ่งใด
เช่นจดจ่อลงที่เท้าซึ่งเคลื่อนไหว
จดจ่อลงในคำบริกรรมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเท้า เช่นยก ย่าง เหยียบ
หรือบริกรรมขวาพุท ซ้ายโธ อะไรก็แล้วแต่
ถ้าสติจดจ่อลงในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ล้วนเป็นสมถะทั้งหมด
แต่ถ้าในขณะนั้น จิตผู้รู้ทรงตัวอยู่ต่างหากเป็นธรรมเอก
มีสัมปชัญญะความไม่หลง และมีสติระลึกรู้การเดิน
อันนั้นคือการเจริญวิปัสสนา

ถ้ากล่าวเช่นนี้ หมู่เพื่อนที่เคยฝึก "รู้"
จะสามารถแยกสภาวะ 2 อย่างนี้ออกจากกันได้อย่างชัดเจน
เพราะอย่างหนึ่งนั้น จิตเคลื่อนเข้าไปจดจ่อรวมกับสิ่งที่ถูกรู้
ในขณะที่อีกอย่างหนึ่ง จิตเป็นธรรมเอก ทรงตัวอย่างเบิกบานแยกออกจากสิ่งที่ถูกรู้
จิตก็อยู่ส่วนจิต อารมณ์ก็อยู่ส่วนอารมณ์
แล้วก็มีปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตและอารมณ์ไปตามสภาพ

***********************************
 
 เมื่อกล่าวถึงการเดินจงกรมอย่างเป็นวิปัสสนา
จะเดินเพื่อเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้
จะเจริญเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา
หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้เช่นกัน
ไม่ต่างกับการนั่งสมาธิ ที่จะเจริญสติปัฏฐานหมวดใดก็ได้

เช่นถ้าเดินจงกรมโดยเห็นกายอยู่ในอิริยาบถเดิน
โดยจิตเป็นผู้รู้การเดินของกาย
ก็เป็นการเจริญกายานุปัสสนา ในหมวดอิริยาบถบรรพ
ถ้าจิตเป็นผู้รู้การเคลื่อนไหวของกาย
ก็เป็นการเจริญกายานุปัสสนา ในหมวดสัมปชัญญบรรพ
ถ้าเดินแล้วเหงื่อไหลไคลย้อย และรู้ด้วยจิตผู้รู้
ก็เป็นการเจริญกายานุปัสสนา ในหมวดปฏิกูลมนสิการบรรพ เป็นต้น

ถ้าเดินแล้วจิตผู้รู้ รู้ถึงความสุขสบายในการเดิน
รู้เรื่อยไป จนเกิดปวดเมื่อย ก็รู้ความปวดเมื่อยเป็นทุกขเวทนา
เดินต่อไปอีกจนหายเมื่อย หรือไปนั่งพักจนหายเมื่อย
หรือเดินจงกรมไป ระลึกรู้ความทุกข์ในจิตใจไป
ในที่สุดความทุกข์ใจก็ดับ เกิดความสุขสงบในใจ
ก็รู้เรื่อยไป จนความสุขสงบก็ดับ
เหลือแต่จิตที่เป็นกลางเบิกบาน สงบ ผ่องใส ก็รู้ไปอีก
อันนี้ก็คือการเจริญเวทนานุปัสสนาในอิริยาบถเดิน(จงกรม)

ถ้าเดินแล้วจิตผู้รู้ รู้ถึงความรู้สึกเมื่อเท้ากระทบพื้น
ก็เฝ้ารู้ความรู้สึกนั้นเรื่อยไป จะเห็นความเกิดดับของมันชัดเจน
ทำมากเข้าก็จะเห็นความกระเทือน ความไหว ขึ้นมาถึงอก
แล้วก็เดินรู้ความรู้สึกในอกเรื่อยไป
ก็จะเห็นชัดถึงจิตสังขารนานาชนิดที่หมุนเวียนกันเกิดดับ
เช่นเห็นความเกียจคร้านเบื่อหน่ายที่จะเดินบ้าง
เห็นความซึมเซา และความฟุ้งซ่านของจิตบ้าง
เห็นความสงบสุขผ่องใสของจิตบ้าง
อันนี้ก็คือการดูจิตในอิริยาบถเดิน
เป็นการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เมื่อเดินมากเข้า ดูจิตละเอียดเข้า ก็จะเห็นความอยากเกิดขึ้นบ้าง
จิตหลงตามความอยากไปยึดอารมณ์บ้าง
แล้วความทุกข์ก็เกิดขึ้น
ในที่สุดจะรู้ถึงกลไกการเกิดทุกข์ และกลไกของความดับทุกข์
การเฝ้ารู้อยู่นี้ คือการเจริญธัมมานุปัสสนาในระหว่างเดินจงกรม

***************************

สรุปแล้ว จงกรม ก็คือ "การก้าวไป" อันเป็นอิริยาบถหนึ่งของมนุษย์
ไม่ใช่เรื่องที่ประหลาดพิสดารอะไรเลย
ความอัศจรรย์ของการเดินจงกรม
อยู่ที่การนำวิธีการปฏิบัติธรรมทั้งสมถะ และวิปัสสนามาสวมลงในอริยาบถเดิน
แล้วทำให้มนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง
สามารถเดินไปถึงสวรรค์ และพรหมโลก
หรือดับขันธ์เข้าถึงนิพพานที่ไม่มีการไปและไม่มีการมา


ที่เล่ามานี้เป็นเพียงหลักการนะครับ
ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยและกลวิธีเฉพาะตัว
ของการปฏิบัติธรรมในอิริยาบถเดิน
เป็นเรื่องที่แต่ละท่านมีประสบการณ์แตกต่างกันไป

เพิ่มเติมอีก โดยคุณสันตินันท์

เทคนิคการเดินมีหลากหลายครับ
ถ้าจิตฟุ้งซ่านมากนักก็เดินแบบสมถะเสียก่อน
เช่นเอาสติจดจ่อรู้การเคลื่อนไหวของเท้า
อาจจะบริกรรมกำกับเข้าไปด้วยก็ได้ตามถนัด
เมื่อจิตมีกำลังแล้ว จิตจะเขยิบขึ้นมารู้ตัวทั่วพร้อม
แล้วขยับมาดูจิตทำงาน ต่อไป

หรืออย่างการเดินรู้ความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้นนั้น
ถ้าสติจ่อเข้าไปที่ความรู้สึก ก็เป็นสมถะได้เหมือนกัน
แต่เมื่อทำมากเข้า ความรู้ตัวค่อยแจ่มชัดขึ้น
ก็จะรู้การกระทบนั้นไปอย่างสบายๆ โดยจิตไม่ไหลเข้าไปในความรู้สึกนั้น
ต่อมาเมื่อเกิดกิเลสตัณหาใดๆ ขึ้น ก็จะรู้ชัดเจนต่อไป
สำหรับประเด็นที่รู้ขึ้นมาที่อกนั้น ไม่อยากให้พวกเรากังวลถึงมากนัก
เอาเป็นว่า กิเลสตัณหาเกิดดับที่ไหน ก็รู้อยู่ตรงนั้นดีกว่าครับ
แล้วมันจะเข้ามารู้ที่หทยวัตถุที่อกหรือไม่ ก็ช่างมันเถอะครับ
ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาดีกว่า
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline เด็กน้อย

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 62
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
_/l\_ _/l\_ _/l\_ ขออนุโมทนา สาธุนะคะพี่หงษ์น้อย  ^^

หนูมักจะสงสัยเป็นประจำเรื่องการเดินจงกรม ว่าที่ทำอยู่นี่
ถูกรึเปล่า หนูจะไม่ค่อยคล่องเรื่องเดินจงกรมค่ะ อิอิ


ขอขอบคุณพี่หงษ์น้อยมากๆๆๆๆๆเลยนะคะ^^
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มาก แล้วจะสิ้นสงสัย" ^^

Offline บูรพาไร้พ่าย

  • Newbie
  • *
  • Posts: 2
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • เมตตา สันติ เจริญสติ
คุณจองชัยแห่งห้องพันทิพ ฝากคำถามมาครับ  :)

>>> ขออนุญาตทบทวนสอบถามความเข้าใจนะครับ

การเดิงจงกรม สามารถ สลับสับเปลี่ยนจากสมถะ ไปสู่ วิสัปสนา และกลับกันได้ตลอดระยะเวลาที่เดิน ใช่หรือไม่ครับ

เมื่อเริ่มเดิน สติจะจับไปที่ร่างกาย(เท้า) รู้สึกถึงสัมผัส จิตจดจ่ออยู่ที่สัมผัส ขณะนั้นคือสมถะ ถูกต้องหรือไม่ครับ

เมื่อเดินไปสักครู่หนึ่ง เริ่มรู้สึกนิ่งดีแล้ว ก็เริ่มพิจารณาร่างกาย มองเห็นสภาพร่างกายที่กำลังเดินอยู่ เห็นร่างกายที่เดินอยู่นั้นกับจิตที่กำลังดูนั้นมิใช่อันหนึ่งอันเดียวกัน (ยังไม่แก่กล้าขนาดรู้ว่าไม่ใช่ตัวเรา ยังรู้สึกว่านั่นตัวเรา นี่จิตเรา) แบบนี้เรียกว่ากำลังทำวิปัสนา ใช่หรือไม่ครับ

ขณะที่พิจารณากายนั้น จิตไหลแว่บเข้าออก เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกาย รู้สึกถึงสัมผัสที่เท้า สักครู่แยกตัวออกมาดู เห็นกาย แบบนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ หรือนับว่า ฟุ้งซ่าน ครับ

Offline ลุงถนอม

  • Administrator
  • Super Member
  • *
  • Posts: 2,296
  • คะแนนความนิยม: +8/-0
  • Gender: Male
  • สติปัฏฐาน ๔ คือทางสายเดียวที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์
ครูสันตินันท์เคยกล่าวไว้ว่า สมถะ กับ วิปัสสนา พลิกกันนิดเดียว

อ่านแล้วดูงงๆนะครับ เพราะสมถะ กับ วิปัสสนา ไม่น่าจะต่างกันนิดเดียวจริงๆ แต่พอลงมือปฏิบัติจริงๆ ได้ถูกต้องแล้ว ก็จะพบว่า พลิกกันนิดเดียวจริงๆครับ

ที่พลิกกันนิดเดียว ก็พลิกกันที่ มีความรู้สึกตัวหรือเปล่า นั่นล่ะครับ

คือ คนที่หัดภาวนาอยู่ และเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมมีสติอยู่แล้วโดยพื้นฐานนะครับ แต่สตินั้น อาจเป็นสติที่ประกอบไปด้วยสัมปชัญญะ (หรือความรู้สึกตัว ความรู้ตัว) หรือไม่ ก็ได้ (แต่ในทางกลับกัน เมื่อมีสัมปชัญญะ ย่อมต้องมีสตินะครับ สัมปชัญญะไม่อาจเกิดขึ้นโดดๆโดยไม่มีสติได้ และต้องเป็นสติชนิดที่รู้กาย รู้ใจ ด้วยครับ ไม่ใช่ไปรู้อย่างอื่น หรือไปรู้กายรู้ใจของคนอื่นนะครับ)

เมื่อมีสติ แล้วมีสัมปชัญญะ จิตเดินปัญญาได้ ตรงนี้เป็นวิปัสสนา (แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีสติ และ สัมปชัญญะ แล้ว จะเดินปัญญาเสมอไป บางท่าน จิตท่านเดินปัญญาได้เองเลย เพราะเคยเดินปัญญามาก่อนแล้ว จิตคุ้นเคยที่จะเดินปัญญา แต่บางท่าน จิตไม่เดินปัญญา ไปสว่าง สบาย สงบ อยู่เฉยๆก็มีครับ ต้องอาศัยการฟังธรรมเรื่องอริยสัจจ์ เรื่องไตรลักษณ์ของกายของใจเนืองๆ จิตจะน้อมไปเดินปัญญาได้เอง โดยไม่ต้องจงใจไปดู จงใจไปคิด จงใจไปพิจารณา หรือจงใจใดๆ เพราะหากมีความจงใจ แม้แต่นิดเดียว จิตมีกิเลส เจริญปัญญาไม่ได้ครับ แต่ในการฝึกฝนให้จิตเคยชินที่จะเจริญสติ เจริญปัญญา ก็จะมีความจงใจอยู่ด้วยนะครับ แต่ไม่ต้องกังวลครับ หากเราจงใจเพียงนิดเดียว ไม่มาก ไม่บังคับเอาไว้ เอาแค่เตือนตน พอจิตคุ้นเคยการเจริญสติแล้ว ตรงนี้จะคลายไปเองครับ)

เมื่อมีสติ แต่ไม่มีสัมปชัญญะ จิตย่อมเดินปัญญาไม่ได้ ตรงนี้เป็นสมถะครับ

เรื่องจิตแยกกับกายนั้น ใช้เป็นเครื่องวัดว่าขึ้นวิปัสสนาได้หรือไม่ ยังไม่อาจใช้เป็นมาตรฐานได้จริงนะครับ เพราะจากที่หลวงพ่อปราโมทย์ท่านเคยกล่าวเอาไว้ว่า "ผู้ที่ไม่ได้สดับ(ธรรมะของพระพุทธองค์) สามารถเห็นได้ว่ากายไม่ใช่เรา แต่ไม่สามารถเห็นได้ว่าจิตไม่ใช่เรา" แสดงว่า ในสำนักอื่น อาจเห็นได้ว่า กายไม่ใช่จิต กายกับจิตแยกออกจากกันได้ จะด้วยวิธีการอื่น ที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน จะเป็นวิธีการใดก็ตาม ก็เป็นข้อความที่ยืนยันได้ว่ามีอยู่

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อจิตเริ่มเดินปัญญา เป็นวิปัสสนา ก็เริ่มด้วยการที่ จิต กับ กาย แยกออกจากกันครับ แต่หลักสำคัญจริงๆ ที่แยกแยะว่าเป็นสมถะ หรือเป็นวิปัสสนา กลับอยู่ตรงที่ มีความรู้สึกตัว หรือ สัมปชัญญะหรือเปล่าครับ

เชื่อหรือไม่ครับว่า เห็นจิตไปรวมกับอารมณ์ เป็นอันเดียวกัน ก็เป็นวิปัสสนาได้ ถ้าเห็นด้วยความเป็นกลางนะครับ ถ้าพูดอย่างนี้ แล้วใ้ช้หลักตามที่เข้าใจ จะไม่มีวันเข้าใจเลยว่า จิตที่รวมกับอารมณ์ เป็นวิปัสสนาได้อย่างไร

แต่ถ้าเข้าใจ ว่าใช้หลักว่า จิตที่มีสติ และสัมปชัญญะ จะเป็นจิตที่พร้อมจะเจริญวิปัสสนา (และอาจเดินปัญญา เป็นวิปัสสนา ได้ด้วย) แล้ว จะเข้าใจครับ แล้วจะไม่พยายามไปแยกจิตออกจากกายด้วยครับ

อ่านตรงนี้แล้วอาจรู้สึกขัดแย้งสักหน่อยนะครับ แต่หากเราจำหลักของวิปัสสนาได้ว่า "รู้ลงที่กาย รู้ลงที่ใจ เป็นปัจจุบัน ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง" จะไม่สงสัยเลยครับ เพราะจิตที่รู้ลงปัจจุบัน นั่นคือ สติ, ด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง นั่นคือจิตที่มีความรู้สึกตัว นั่นเองครับ

ขอให้เจริญในธรรมครับ  _/|\_

« Last Edit: Fri 29 Oct 10, 22:56:05 by ลุงถนอม »
คือความเรียบง่าย คือธรรมะ คือธรรมดา

Offline จองชัย

  • Jr. Member
  • **
  • Posts: 27
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • นักภาวนาระดับอนุบาล
สาธุ ขอขอบพระคุณครับ ท่านลุงถนอม

ผมคือนายจองชัยจากห้องพันทิพ ตามท่านบูรพาไร้พ่ายมาหาคำตอบที่นี่ครับ

ก่อนอื่นขอเรียนให้ทราบว่า กำลังฝึกหัดภาวนา ไม่นานมานี้ โดยมีจุดเริ่มจาก CD ของ หลวงพ่อปราโมช ครับ ไม่เคยไปที่สวน ฯ ไม่เคยเห็นตัวจริงของหลวงพ่อ แต่ได้นำคำสอนของหลวงพ่อมาทดลองปฎิบัติด้วยตัวเอง ก็รู้สึกว่า สามารถควบคุมสติไม่ให้ฟุ้งซ่านได้ดี รู้ตัวได้บ่อย จึงได้เข้ามาติดตามสอบถามข้อสงสัยต่าง ๆ ในการปฎิบัติ เนื่องจากโอกาสที่จะไปเรียนสอบถามกับหลวงพ่อ คงเป็นไปได้ยาก ทั้งภาระหน้าที่การงานและระยะทางครับ

จากโพสของท่านลุงถนอม และเป็นประโยคที่ท่านหลวงพ่อได้กล่าวถึงบ่อย ๆ คือ "รู้ลงที่กาย รู้ลงที่ใจ เป็นปัจจุบัน ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง" ผมขอเรียนสอบถามดังนี้ครับ

อ้างถึงจากที่หลวงพ่อบอก จิตทำงานได้ครั้งละหนึ่งอย่าง การรู้ลงที่กาย รู้ลงที่ใจ นั้น จิตรู้ พร้อมกันหรือ ทีละอย่าง ทีละโอกาสครับ ในขณะเวลาหนึ่ง ครับ สมมุติ ผมกำลังเดินไปหน้าบ้าน  จิตรู้ว่าเดิน ขณะ้้เดินมีเสียงนกร้อง รู้ว่ามีเสียงนกร้อง ขณะรู้ว่ามีเสียงนกร้อง จิตแว่บไปที่เสียงนั้น (อาจจะมีการกระเพื่อมของจิตบ้าง) ก็จะลืมเรื่องการเดินไปชั่วขณะ แล้วกลับมารู้การเดิน อย่างนี้ถือว่า รู้ลงปัจจุบันหรือเปล่าครับ 

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
ควรหรือที่เราจะยึดถือสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ว่านั่นเป็นของเรา เราเป็นนั่น

Offline จองชัย

  • Jr. Member
  • **
  • Posts: 27
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • นักภาวนาระดับอนุบาล
ดูเหมือนผมจะได้คำตอบแล้วจากกระทู้นี้

http://www.dhammada.net/coffee/index.php/topic,65.0.html

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
ควรหรือที่เราจะยึดถือสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ว่านั่นเป็นของเรา เราเป็นนั่น

Offline ลุงถนอม

  • Administrator
  • Super Member
  • *
  • Posts: 2,296
  • คะแนนความนิยม: +8/-0
  • Gender: Male
  • สติปัฏฐาน ๔ คือทางสายเดียวที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์
คือความเรียบง่าย คือธรรมะ คือธรรมดา

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
เรื่องเดินผมก็เคยมีปัญหาตอนแรกที่ไม่รู้จะวางจิตไปดูตรงไหนดี
เคยโพสข้อความไปถามอาจารย์สุรวัฒน์ครั้งหนึ่ง
คือไม่รู้ว่าจะไปรู้ร่างกายกำลังเดิน หรือรู้ที่เท้ากระทบพื้น
หรือจะรู้ท้อง+การหายใจ แบบที่รู้ปกติเหมือนเวลาที่นั่งสมาธิ
อาจารย์ก็แนะนำว่าให้รู้ไปเลย อะไรเด่นก็รู้ไป อย่าไปกำหนดว่าจะต้องรู้อะไร
เพราะจะกลายเป็นสมถะ
ตอนนั้นก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่พอลองทำไป(ทำไปแบบโง่ ๆ ;D)
ก็พอจะเข้าใจว่าก็เหมือนใช้ชีวิตตามปกตินั่นแหละ คือรู้อะไรก็รู้ไป แต่รู้โดยมีสติ และสัมปชัญญะ รู้อะไรไม่สำคัญ
บางทีมันก็รู้นิ่ง ๆ (เป็นสมถะ) ก็ให้รู้ว่ามันนิ่ง ๆ
บางครั้งมันรู้ว่ากายใจเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ (รู้ไตรลักษณ์) ก็จะพลิกเป็นวิปัสนา
ซึ่งจริง ๆ ก็เหมือนกับการใช้ชีวิตประจำวันนั้นละครับ เพราะมันก็พลิกไปพลิกมาเหมือนกัน(หรือหลงยาวไปเลย :P)
เพียงแต่เราอยู่ในสภาวะที่จำกัดไว้เท่านั้นเองครับ ดังนั้นช่วงนี้โอกาสที่จะมีสติเกิดก็จะมากกว่าการคลุกอยู่กับโลกตามปกติครับ
เอามาเล่าให้ฟังเผื่อใครจะมีปัญหาเหมือนที่ผมเคยสงสัยจะได้ลองสังเกตดูครับ

เขียนซะยาว หวังว่าจะไม่มีอะไรผิดหลักการนะครับ ;D
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
 _/|\_ อนุโมทนากับคุณ nitivit ครับ สุดยอด!!!  ;)
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง