Author Topic: [กระทูู้้เก่ามาเล่าใหม่] เพ่ง, เผลอ, ว่าง และนานาสาระการดูจิต โดยคุณ สันตินันท์  (Read 3447 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
จากการตอบกระทู้ เลียบๆเคียงๆเมียงมอง เขียนเมื่อ
วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 09:35:46

1.เลียบเคียงเมียงมองและการเพ่ง

เรื่องเลียบเคียงเมียงมองนี้ เป็นศิลปะที่สำคัญทีเดียว
เพราะความเคยชินของเราทุกคน คือการ เพ่งอารมณ์
เวลาอารมณ์ใดปรากฏขึ้น ก็เพ่งใส่อารมณ์นั้น เพื่อจะให้รู้ชัดว่า
มันคืออะไร มันมาจากไหน มันทำอะไร มันดับไปอย่างไร
หรือหนักกว่านั้นก็คือ เพ่งเพื่อรักษามันไว้ หรือเพ่งเพื่อดับมันลง

นอกจากการเพ่งอารมณ์แล้ว นักดูจิตยังมักจะ เพ่งจิต อีกด้วย
คือ (1) พอสังเกตเห็นว่า อารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกรู้
ก็จะหันกลับมาจับเอาตัวจิตผู้รู้อย่างจงใจ
ซึ่งทันทีนั้น ผู้รู้ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ซ้อนเข้าไปอีก
หรือ (2) ถ้ามีความชำนาญมากๆ
จะสามารถตรึงความรับรู้อยู่กับผู้รู้ได้ เป็นการเจริญสติให้หยุดอยู่กับจิต
จิตมีอาการเหมือนล็อคตัว มีรู้อยู่ในรู้ ไม่มีปัญญา
แล้วหยุดอยู่แค่นั้นเองเป็นวัน เป็นเดือน หรือติดไปนานๆ


แต่ถ้าปฏิบัติอย่างใจเย็นๆ ปฏิบัติไปตามลำดับ
ขยัน พากเพียร แต่ไม่รีบร้อนทุรนทุราย
ก็ (1) รู้ตัว (2) รู้สิ่งที่มากระทบ
(3)(ชำเลือง)รู้ปฏิกิริยาของจิตต่อสิ่งที่มากระทบ เช่นความยินดียินร้ายต่างๆ
เมื่อจิตมีกำลังขึ้น ก็จะ
(4)ชำเลืองแต่ไม่จงใจ(เหมือนจิตเขาชำเลืองของเขาเอง)
เห็นจิตได้ละเอียดประณีต พ้นความปรุงแต่งไปตามลำดับ
แต่ตอนที่ชำเลืองเห็นนั้น อย่างหลงดีใจ
แล้วตะครุบเอาจิตไว้นะครับ จะผิดพลาดทันที
แต่จะมีสภาพเหมือนแตะๆ เหมือนประคองแต่ก็ไม่ใช่ประคอง
เป็นสภาพรู้ ที่ไม่ได้จงใจจะรู้ เท่านั้นเอง


ที่เล่ามานี้ สักวันหนึ่งพวกเราก็จะเห็นเองครับ
และจะเห็นกลไกการทำงานของจิต
ตามหลักปฏิจสมุปบาทไม่คลาดเคลื่อนเลย
แล้วพวกเราค่อยดูเอาตอนนั้น ว่าจะเหมือนที่ผมเล่าให้ฟังนี้หรือเปล่า

**********************************************

2. เรื่องของความว่างแบบต่างๆ

เรื่องคำนิยาม คำศัพท์ต่างๆ มันเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับนักปฏิบัติ
เพราะต่างคนต่างบัญญัติเอาตามที่ตนรู้เห็นและเข้าใจ
ดังนั้น ถ้าตอบไม่เหมือนใจก็อย่าว่ากันนะครับ
ของอย่างนี้ สู้รู้เองเห็นเองไม่ได้
แม้เห็นแล้วอธิบายไม่ถูก ก็ไม่เป็นไร

ความว่างในจิต คำนี้มีอยู่หลายนัยที่อาจเรียกว่าความว่างในจิต
อันหนึ่ง จิตมันเป็นของว่างโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
ไม่มีรูปร่างแสงสีใดๆ ให้กำหนดหมายได้ เพราะเป็นแต่ธรรมชาติรู้
ที่บางคนปฏิบัติแล้วเห็นจิตเป็นสีนั้นสีนี้
เป็นเรื่องอาการของจิตที่แสดงออกมา หรือเป็นนิมิตของผู้เห็นเท่านั้น
เพราะจิตเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูป
เรารู้ได้ แต่เห็นไม่ได้จริงหรอกครับ
เมื่อปฏิบัติแล้ว เราจึงอาจพบความไม่มีอะไร หรือความว่างๆ ของจิต

อีกอันหนึ่งก็คือ เมื่อดูจิตเข้าไป อาจจะพบ ช่องว่าง(อากาส)ปรากฏอยู่
แล้วเราสำคัญว่า ช่องว่าง หรือความว่างๆ นั้น คือจิตว่าง

อีกอันหนึ่ง คือความเป็นอุเบกขาของจิต
คือเมื่อจิตรู้อารมณ์แล้ว จิตเป็นกลาง
ปราศจากความยินดียินร้ายที่จะกระเพื่อมไหวขึ้นมา
ความว่างในจิตชนิดนี้ เข้าทีกว่าความว่างแบบแรกๆ ครับ
ที่คุณอี๊ดประสงค์จะกล่าวถึง น่าจะเป็นตัวนี้แหละครับ

ว่างจากอารมณ์ ธรรมดาจิตไม่ว่างจากอารมณ์ครับ
เพียงแต่อารมณ์อาจจะเป็นความว่างๆ
ถ้าเราไม่เห็นว่า ว่างๆ เป็นอารมณ์อันหนึ่ง
ก็สำคัญว่าจิตว่างจากอารมณ์

ว่างจากตัวตน อันนี้สำคัญกว่า 2 อย่างแรก
มันมีอยู่ 2 ระดับครับ คือ (1) ว่างจากความเห็นว่าเป็นตัวตนของตน
เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ เราเห็นสิ่งอื่นไม่ใช่เราในทันที
แต่ลองย้อนสังเกตจิตตนเอง มันยังเป็น เรา เรา เรา อยู่หรือเปล่า
ธรรมดาของปุถุชน จะเห็นว่ามี เรา อยู่ในตัวเรา
จะรูู้ จะทำ จะคิด ก็ล้วนแต่เรารู้ เราทำ เราคิด
อีกระดับหนึ่งคือ (2) ว่างจากความยึดว่าจิตเป็นตัวตน
อันนี้ผมก็ทำไม่ได้เหมือนกันครับ
ขืนอธิบายไป ก็จะเท่ากับเอาความคิดมาอธิบาย ซึ่งใช้อะไรไม่ได้เลย

*********************************************

3. เรื่องของเผลอ, เพ่ง, และรู้สึกตัว

เรื่องเผลอหรือไม่เผลอนั้น เป็นเรื่องเข้าใจยากพอสมควรครับ
หลายคนทีเดียว ที่เมื่อผมบอกว่าเผลอ จะรู้สึกสับสนว่า
เอ เราก็กำลังรู้อยู่แท้ๆ ทำไมคุณอาบอกว่าเผลอ
ทีนี้บางคนเถียงเลยก็มี บางคนแอบเถียงในใจ
ซึ่งผมไม่เคยว่ากล่าวถือสาเลยครับ
เพราะผู้ฝึกหัดเห็นและเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ

ความรู้ตัว หรือความไม่เผลอนั้น จำเป็นจะต้องรู้ตัวขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
คือขั้นแรก ให้รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏเสียก่อน
แล้วจึงค่อยๆ สังเกตอาการของจิตใจตนเอง ที่มีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่จิตไปรู้เข้า
แต่ผู้ปฏิบัติมักจะ สร้างความรู้ตัว โดยไม่รู้ตัวว่าจงใจสร้างขึ้นมา
ความรู้ตัวที่จงใจปั้นขึ้นมานั้น จะเหมือนรู้ แต่ความจริงจะมีโมหะแทรกอยู่
โดยผู้ปฏิบัติไม่เห็นว่า จิตกำลังมีโมหะ
บางคนปั้นมากไปหน่อย จนจุกหน้าอกก็มี แน่นขึ้นมาถึงคอหอยก็มี

ตรงที่จิตมีโมหะ แล้วไม่เห็นว่ามีโมหะ นี่แหละครับคือความหลง
หรือความเผลอ หรือความไม่รู้ทันสภาวธรรมที่กำลังปรากฏกับจิต
แม้ในขณะนั้น จิตจะรู้อารมณ์อื่นชัดเจนเพียงใด
แต่ในขณะนั้น จิตมองตัวเองไม่ออก
คือรู้ชัดเฉพาะอารมณ์ ไม่รู้เท่าทันกิเลสตัณหาที่แทรกเข้ามาในจิต

จิตที่เผลอนั้น อย่างหยาบคือหลงตามอารมณ์ไปทางตา ทางหู...
อย่างกลางๆ คือหลงไปในโลกของความคิด
แต่อย่างละเอียดนั้น หลงไปกับการสร้างความรู้ตัว
คือไม่รู้เท่าทันจิต ที่กำลังสร้างความรู้ตัวขึ้นมานั่นเอง
บางคนใช้เวลาเกือบปีครับ กว่าจะเข้าใจตรงนี้ได้
แต่บางคนใช้เวลาไม่มาก เช่นคุณสุรวัฒน์ เป็นต้น

คราวนี้มาเรื่องการเพ่ง
ที่ผมมักจะกล่าวถึงคำว่า เผลอกับเพ่ง คู่กันบ่อยๆ นั้น
ก็เพราะผู้ปฏิบัติมักจะหลงดำเนินจิตผิดพลาดอยู่ในสองตัวนี้
คือถ้าไม่เผลอไปในโลกของความคิด ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ก็ต้องเพ่งอารมณ์อันใดอันหนึ่งไว้ให้หยุดกับที่ เพื่อจะดูให้ชัดๆ
ทั้งสองด้านนี้อันที่จริงก็คือเผลอทั้งคู่
คือเผลอไปเลย กับเผลอไปเพ่ง โดยไม่รู้ว่ากำลังเพ่งอยู่

แต่ถ้าเพ่ง แล้วรู้ว่ากำลังเพ่งอยู่ อันนี้ใช้ได้นะครับ ไม่จัดว่าเผลอ
เช่นจะทำสมถะ ก็เพ่งอารมณ์อันหนึ่งไปเรื่อยๆ สบายๆ ด้วยความรู้ตัว
อย่างนี้ถือว่าใช้ได้
เพ่งที่ใช้ไม่ได้ ได้แก่การเพ่ง ที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังเพ่งอยู่

สำหรับคำว่า รู้ตัวทั่วพร้อม นั้น เป็นสิ่งที่ดีครับ
มันเป็นสภาพความรู้ตัวที่เป็นธรรมชาติที่สุด ไม่ใช่รู้ตัวแบบเพ่งๆ เอา
พวกเราที่บรรยายเก่งๆ ช่วยมาบรรยายให้หน่อยเถอะครับ
ผมเองก็นึกไม่ออกว่า จะใช้คำบรรยายอย่างไรให้เห็นภาพด้วยคำพูด
ส่วน การประคองรู้ นั้น เป็นความจงใจประคองสติสัมปชัญญะให้ต่อเนื่อง
ยังไม่ใช่ รู้ ที่เป็นธรรมชาติ ธรรมดา
แต่มันมีการปฏิบัติอยู่ขั้นหนึ่ง ที่เหมือนประคอง แต่ไม่ใช่ประคอง
เป็นสภาพรู้ที่ต่อเนื่อง โดยไม่ได้จงใจจะให้รู้

เรื่องการนิยามศัพท์เกี่ยวกับการดำเนินของจิตนั้น
เป็นเรื่องยุ่งยากมากครับ ไม่เหมือนการคุยกันแบบเจอตัว
ที่สามารถชี้ให้เจ้าของเข้าใจสภาวะที่กำลังปรากฏในจิตของตน
ซึ่งเจ้าของเองยังไม่เห็น หรือไม่เข้าใจ
ส่วนการอธิบายกันด้วยตัวหนังสือนั้น
บางทีอ่านแล้วก็มีการตีความไม่ตรงกันอีก
ด้วยเหตุนี้แหละครับ ตำราทั้งหลายจึงสอนแต่หลักการ
ส่วนวิธีการในรายละเอียดนั้น ท่านถ่ายทอดกันเฉพาะตัว
ไม่ได้เขียนเป็นตำราเอาไว้หรอกครับ

*****************************************

4.เสริมเรื่อง "รู้"

หัด รู้ ใหม่ๆ จะเหนื่อยมาก เพราะฝืนกับความเคยชิน หรือธรรมชาติเดิม
ซึ่งทุกคนจะชินกับการ หลง
สภาพรู้ที่มีขึ้นจะแข็งๆ ไม่เป็นธรรมชาติธรรมดา
เพราะถ้าไม่จงใจตั้งให้มั่น ก็จะเผลอในพริบตาเดียว
พอจงใจตั้งมั่น ก็กลายเป็นรู้แบบปลอมๆ พออาศัยไปก่อน
จนเมื่อจิต เข้าใจ จึงจะเข้าถึง รู้ ที่เป็นธรรมชาติ
แล้วการปฏิบัติจะเรียบง่าย ราบรื่น อย่างที่สุด
ธรรมดาสามัญอย่างที่สุด

เมื่อเช้า พวกเราคนหนึ่ง ที่ผมกล่าวเป็นตัวอย่างอันดีว่า
รู้ตัวเป็นแล้ว หลังจากฝึกมาเกือบปี
มาเล่าให้ผมฟังว่า ยังเห็นความจงใจที่จะรู้ตัวเป็นครั้งคราว
แสดงว่ายังรู้ตัวไม่เป็นกระมัง
ผมก็เลยชี้แจงให้ทราบว่า
เพราะว่า จงใจก็รู้ว่าจงใจ นั่นแหละ ผมจึงเห็นว่าดูเป็นแล้ว
การดูจิต หรือรู้จิตนั้น ไม่ใช่ว่าจิตจะต้องดีเสมอไป
แม้จิตมีกิเลส หากรู้ว่ากำลังมีกิเลส อย่างนี้เรียกว่า รู้ แล้ว
แต่ถ้าจิตกำลังดี อิ่มบุญอิ่มกุศล แต่ไม่รู้ว่าจิตกำลังเพลินบุญ
แบบนี้ก็เรียกว่ายังหลงอยู่

การรู้ จึงสำคัญที่รู้ให้ทันจิตใจตนเอง
ไม่สำคัญหรอกว่า จิตจะต้องดีเลิศปราศจากอกุศลใดๆ


หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline เด็กน้อย

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 62
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
_/l\_ _/l\_ _/l\_ อนุโมทนา สาธุนะคะ ^^

ตัวแดงๆเข้มๆหัวข้อที่สามนี่โดนเต็มๆเลยค่ะ
โมหะนี่ดูยากจริงๆนะคะ แหะๆ ^^

ขอขอบคุณพี่หงษ์น้อยมากๆนะคะ ^^
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มาก แล้วจะสิ้นสงสัย" ^^

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
ขอบคุณครับ
คงต้องรีบกลับไปดูความรู้สึกตัวว่ามีจงใจตอนไหนบ้าง
(ปกติจะรู้ตัวตอนคอเริ่มเกร็ง ;D)
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช