Author Topic: จดหมายจากหลวงพ่อ  (Read 3042 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
จดหมายจากหลวงพ่อ
« on: Fri 5 Nov 10, 19:55:25 »
เผอิญผมไปได้ จดหมายที่หลวงพ่อได้เขียนถึงบางท่าน ในเวปบางแห่ง แม้จดหมายฉบับ
นี้จะถูกนำมาเป็นหลักฐานกล่าวอ้างมอบให้แก่ DSI กับ สำนักพุทธฯ แต่เมื่ออ่านให้ดีจะพบว่า
เนื้อความในจดหมายนี้ ทรงคุณค่าและเป็นประโยชน์แก่ผู้ได้รับ รวมไปถึงผู้ที่ได้มีโอกาสอ่าน
ผมจึงขออนุญาตนำมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน ส่วนท่านใดจะได้อะไรจากจดหมายนี้ ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย
ที่แต่ละท่านได้ทำมาด้วยเทอญ


เอกสาร : : ไฟล์แด่ลูกสาว

เขียนและพิมพ์โดย : : พระปราโมทย์ ปาโมชโช

มอบให้ : XXXXXXXXXXX

ทาง : พิมพ์บนคอมพิวเตอร์คุณ XXXX

วันที่ : วันปิดสวนโพธิ์มาตรวจงานก่อสร้างสวนสันติธรรม

พิมพ์ครั้งสุดท้ายวันที่ 6มีค 49

ซึ่งแจ้งว่าเป็นวันที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ครบ 1 ปี

สถานที่พิมพ์ : พักที่บ้าน XXXXXXXX

หลักฐานแก่ :ดีเอสไอ สำนักพุทธ

ผู้รับทราบ :XXXXXXXXXXXXXXXXXX


หมายเหตุ การให้การเท็จต่อเจ้าพนักงานรัฐมีโทษจำคุก 7ปี
รวมถึง การปฏิเสธหลักฐานบิดเบือนความจริงให้เป็นความเท็จ



แด่ลูกสาว


การปฏิบัติธรรมมี ๒ ขั้นตอนคือขั้นการทำลายความเห็นผิดว่ากายและจิตนี้เป็นตัวเรา
กับขั้นการทำลายความยึดถือกายและจิต

เมื่อไม่เห็นผิดว่ากายและจิตเป็นตัวเรา ก็ได้ต้นทางที่จะปล่อยวางความยึดถือกายและจิตในอนาคต
เมื่อปล่อยวางความยึดถือกายและจิตได้แล้ว ก็ไม่มีตัวตนที่จะรองรับความทุกข์อีกต่อไป

แม้การปฏิบัติจะมี ๒ ขั้นตอน แต่วิธีปฏิบัติมีเพียงอย่างเดียว
คือการมีความรู้สึกตัวแล้วรู้กายและจิตตามความเป็นจริง
เมื่อเห็นความจริงแล้วย่อมเบื่อหน่าย
เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายความกำหนัดยินดีในกายและจิต
เมื่อหมดความกำหนัดยินดีย่อมหลุดพ้นจากความยึดถือกายและจิต
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ต้องทำ ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความพ้นทุกข์อย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว
นี้เองเป็นที่สุดแห่งทุกข์


หลวงพ่อ
๑๗ มกราคม ๒๕๔๙

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายย่อมรวมลงในรอยเท้าช้างได้ฉันใด
ธรรมทั้งปวงย่อมรวมลงได้ในอริยสัจจ์ฉันนั้น

อริยสัจจ์จึงเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ลึกซึ้งอย่างถึงที่สุด
มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจ์ได้
เพราะความรู้แจ้งอริยสัจจ์คือวิชชา
ส่วนความไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์คืออวิชชา

อริยสัจจ์ข้อแรกคือทุกข์
ทุกข์คืออะไร - ทุกข์คือรูปนามขันธ์ ๕ หรือกายใจนี้เอง
กิจต่อทุกข์มีอย่างไร - กิจต่อทุกข์คือให้รู้ทุกข์
การรู้ทุกข์นั้นทำอย่างไร - เมื่อเราตื่นออกจากโลกของความคิดและเกิดความรู้สึกตัว
เราจะรู้กายตามความเป็นจริง และรู้ใจตามความเป็นจริงได้
เมื่อรู้มากเข้าเราจะเข้าใจความเป็นจริงของกายและใจ
ว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงคือมีแล้วไม่มี
เป็นทุกข์คือทนอยู่ไม่ได้
และเป็นอนัตตาคือเป็นของโลกไม่ใช่ของเรา
การรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงอย่างนี้แหละคือวิธีรู้ทุกข์

อริยสัจจ์ข้อที่ ๒ คือสมุทัย
สมุทัยคืออะไร – สมุทัยคือตัณหาหรือความทะยานอยากดิ้นรนของจิต
ที่จะแสวงหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ ด้วยวิธีการต่างๆ นานา
ได้แก่ (๑) ความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว ด้วยการเที่ยวแสวงหาอารมณ์มาตอบสนองกิเลส
(๒) ความปรุงแต่งฝ่ายดี ด้วยการควบคุมกายควบคุมใจให้ดี
และ (๓) ความปรุงแต่งสภาพธรรมที่พ้นจากการกระทบอารมณ์ชั่วคราว
กิจต่อสมุทัยมีอย่างไร – กิจต่อสมุทัยคือให้ละสมุทัย
การละสมุทัยนั้นทำอย่างไร – เมื่อเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้งจนละความเห็นผิดและความยึดถือว่ารูปนามกายใจเป็นตัวเราแล้ว
ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดิ้นรนแสวงหาความสุขมาให้ตัวเรา
หรือดิ้นรนพาตัวเราให้พ้นจากความทุกข์อีกต่อไป
การรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้งนั่นแหละเป็นทางละสมุทัยโดยอัตโนมัติ

อริยสัจจ์ข้อที่ ๓ คือนิโรธ
นิโรธคืออะไร – นิโรธคือนิพพานได้แก่ความสงบสันติอันเนื่องมาจากความสิ้นตัณหาหรือความดิ้นรนของจิต
กิจต่อนิโรธมีอย่างไร – กิจต่อนิโรธคือการทำให้แจ้ง ทำให้เข้าไปสัมผัสถึง
การทำนิโรธให้แจ้งนั้นทำอย่างไร – เมื่อรู้ทุกข์จนสิ้นสมุทัยแล้ว
นิโรธก็เป็นอันถูกทำให้แจ้งโดยอัตโนมัติ

อริยสัจจ์ข้อที่ ๔ คือมรรค
มรรคคืออะไร – มรรคคือวิธีการรู้ทุกข์จนละสมุทัยและทำนิโรธให้แจ้งได้
กิจต่อมรรคคืออะไร – กิจต่อมรรคคือการทำให้เจริญ ทำให้มาก
การเจริญมรรคนั้นทำอย่างไร – ทำ(สัมมา)สติให้เกิดเนืองๆ แล้วองค์มรรคที่เหลือจะเกิดตามมาเอง

สติเป็นอนัตตา ไม่มีใครสั่งสติให้เกิดได้ แต่ถ้ามีเหตุ ถึงไม่สั่ง สติก็เกิดขึ้นได้เอง
เหตุของสติคือการที่จิตจดจำสภาวธรรมคือรูปนามได้แม่นยำ
จิตจะจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำ ถ้าจิตเคยเห็นสภาวธรรมบ่อยๆ
ดังนั้นพึงหัดทำความรู้จักสภาวธรรมให้มากเข้าไว้


เบื้องต้นทำกรรมฐานอันใดอันหนึ่งที่ถนัด
เช่นบริกรรมพุทโธ หรือระลึกรู้ลมหายใจ หรือระลึกรู้ท้องพองยุบ
หรือระลึกรู้เท้า หรือระลึกรู้มือ หรือระลึกรู้กายทั้งกาย
แล้วตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตไปเลย
เช่นเผลอไปจากอารมณ์กรรมฐานนั้นก็รู้
เพ่งอารมณ์กรรมฐานนั้นก็รู้
เป็นสุขก็รู้ เป็นทุกข์ก็รู้
เกิดกุศลก็รู้ เกิดอกุศลก็รู้
ไม่นานสติจะเกิดถี่ยิบขึ้นได้เพราะจิตรู้จักและจดจำสภาวธรรมได้อย่างแม่นยำ

นี้เป็นทางดำเนินของพระอริยเจ้า
เรียกว่าอริยสัจจ์ ๔ อันมีวนรอบ ๓ คือสัจจญาณได้แก่ความรู้จักตัวอริยสัจจ์
กิจญาณคือความรู้หน้าที่หรือกิจต่ออริยสัจจ์แต่ละข้อ
และกตญาณคือการได้ทำกิจต่ออริยสัจจ์แต่ละข้อนั้นเรียบร้อยแล้ว
รวมมีปริวัติ ๑๒ เพราะมีอริยสัจจ์ ๔ ข้อ แต่ละข้อมีญาณ ๓ อย่าง

พระพุทธเจ้าทรงประกาศว่า
ตราบใดที่พระองค์ท่านยังทรงไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔
อันมีวนรอบ ๓ และมีปริวัติ ๑๒ นี้
พระองค์จะไม่ปฏิญาณพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าเลย
ต่อเมื่อทรงรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจจ์ ๔ อันมีวนรอบ ๓ และมีปริวัติ ๑๒ นี้แล้ว
จึงทรงปฏิญาณพระองค์ว่าเป็นพระพุทธเจ้า

อริยสัจจ์ ๔ สำคัญถึงขนาดนี้
แม้พระอรหันตสาวกก็ต้องรู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔
เพราะตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔
ตราบนั้นยังไม่ใช่พระอรหันต์
จึงขอให้ลูกทั้งสองสนใจศึกษาธรรมนี้ให้ดีเถิด

หลวงพ่อ
๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

การทำความเข้าใจความทุกข์ให้แจ่มแจ้งเป็นทางพ้นทุกข์
แต่ยากนักที่คนเราจะเข้าใจความทุกข์ให้แจ่มแจ้งได้
เพราะคนเรารู้จักความทุกข์เพียงบางอย่าง
ได้แก่ทุกขเวทนาทางร่างกายเมื่อยามหิวกระหาย หนาวร้อน ต้องการขับถ่ายและเจ็บป่วย เป็นต้น
กับโทมนัสเวทนาทางใจเมื่อประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักที่พอใจ
ทุกข์ชนิดนี้เรียกว่าทุกขทุกข์
ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติ หรือจิตใจได้รับอารมณ์ที่ดี
ก็รู้สึกว่ามีความสุขทางกายหรือโสมนัสเวทนาทางใจ

ตราบใดที่ยังรู้สึกว่ากายนี้เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง
และใจนี้มีโสมนัสบ้างมีโทมนัสบ้าง
ตราบนั้นความดิ้นรนที่จะแสวงหาความสุขโสมนัส
และความดิ้นรนที่จะหลีกหนีทุกข์โทมนัสจะไม่หมดไป
ตราบใดที่ยังไม่หมดความดิ้นรน ตราบนั้นความทุกข์ก็จะยังมีอยู่ร่ำไป
เพราะความดิ้นรนของจิตใจหรือตัณหา
เป็นเหตุให้เกิดทุกข์อีกชนิดหนึ่งนอกเหนือจากความทุกข์ที่มีอยู่แล้ว
ทุกข์ชนิดนี้เรียกว่าทุกขสัจจ์

ยังมีความทุกข์อีกชนิดหนึ่งได้แก่สภาพที่ทนได้ยาก เรียกว่าทุกขลักษณะ
เป็นสภาวะที่เกิดกับสังขารทั้งปวงที่จะทนอยู่ในสภาพเดิมตลอดไปไม่ได้

ในเวลาที่เราเจริญสตินั้นหากทุกขทุกข์ปรากฏขึ้นก็ให้รับรู้ไป
หากทุกขทุกข์ดับไปและรู้สึกเป็นสุขก็ให้รับรู้ไว้
แต่เมื่อเจริญสติปัญญาแก่รอบมากเข้าจะพบว่ากายกับใจเป็นทุกข์ล้วนๆ
ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้างอีกต่อไป
มีแต่ทุกขทุกข์คือทุกข์มากกับทุกข์น้อยเท่านั้น

ผู้ปฏิบัติจะเห็นอีกว่าถ้าจิตเกิดความอยากและความยึดถือ
จิตจะเกิดทุกข์ที่เรียกว่าทุกขสัจจ์
เมื่อจิตปราศจากความอยากและความยึดถือ
จิตจะปราศจากความทุกข์มีแต่ความสุขโสมนัสหรืออุเบกขาเท่านั้น
แต่เมื่อเจริญสติปัญญาแก่รอบมากเข้าจะพบว่า
ไม่ว่าจิตจะอยากและยึดอารมณ์หรือไม่ จิตนั้นแหละเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ

การเห็นทุกขทุกข์ทำให้จิตเอือมระอาต่อขันธ์
ถึงจุดหนึ่งจิตจะแจ่มแจ้งในทุกขสัจจ์และปล่อยวางความยึดถือรูปนามกายใจและสิ่งทั้งปวงได้
ถึงจุดนั้นความทุกข์ของขันธ์หรือทุกขทุกข์ก็ยังมีอยู่
ทุกขลักษณะคือความทนอยู่ไม่ได้ของสังขารทั้งรูปนามก็ยังมีอยู่
แต่ความทุกข์ของจิตใจอันเกิดแต่ตัณหาจะไม่มีอยู่อีก
เพราะปราศจากตัวตนในความรู้สึก ที่จะรองรับความทุกข์ทางใจอันเกิดจากตัณหาเสียแล้ว
กล่าวได้ว่าทุกข์ก็มีอยู่ แต่ไม่มีผู้ทุกข์อีกต่อไป เพราะปล่อยวางขันธ์โดยเฉพาะจิตลงได้แล้ว


ความสุขโสมนัสของผู้ที่ปล่อยวางจิตได้แล้วนั้นเป็นสิ่งอัศจรรย์ยิ่งกว่าสิ่งอัศจรรย์ในโลก
พระนิพพานเป็นความสุขอันเต็มเปี่ยมครอบโลกอยู่ต่อหน้าต่อตา
สงบสันติ รุ่งเรืองและเปิดเผย แจ่มจ้าไร้ตำหนิปราศจากแม้แต่ธุลีของความปรุงแต่ง
ไม่มีสิ่งใดเข้าไปตั้งอยู่ได้ในพระนิพพานนี้
ปราศจากจุดตั้งต้นและจุดสิ้นสุด

ความว่างจากกิเลส จากตัวตน และจากทุกข์ที่ยิ่งกว่าพระนิพพานไม่มี
สุขอื่นเสมอด้วยความสงบของพระนิพพานไม่มี

ขอให้ลูกทั้งสองจงรู้ทั่วถึงธรรมที่พ่อรู้แล้วในปัจจุบันชาติเถิด

หลวงพ่อ
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

สำนักใหม่ที่พวกเราช่วยกันสร้างขึ้นมีชื่อว่า “สวนสันติธรรม”
คำว่า “สันติธรรม” หมายถึง “นิพพาน” นั่นเองเพราะนิพพานเป็นยอดแห่งสันติสุข
เมื่อเราภาวนาคือเจริญสติจนจิตปล่อยวางความถือมั่นในจิตได้แล้ว
จิตจะเข้าไปสัมผัสกับนิพพานอันสงบและเป็นสุขอย่างยิ่ง
ที่สงบเพราะปราศจากการกระทบกระทั่งทั้งปวง
ที่สุขเพราะปราศจากความเสียดแทงทั้งปวง

เมื่อแรกเข้าถึงนิพพานนั้น
จิตได้ประสบกับความสุขอันแปลกใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
เป็นความสุขที่ท่วมท้นจิตใจและธาตุขันธ์จนสะอื้นในอกและน้ำตาตก
ระลึกถึงคราวใดก็มีความสุขจนสะอื้นในอกอยู่หลายวัน
จิตจึงค่อยๆ คุ้นชินกับความสุขสงบนั้น
และเข้าสู่ภาวะแห่งความเป็นปกติธรรมดาที่มีความสุขอย่างยิ่ง

ความสงบของนิพพานก็เป็นสิ่งที่เกินพรรณนา
เพราะนิพพานนั้นเต็มบริบูรณ์อยู่ต่อหน้าต่อตา
ครอบคลุมโลกธาตุทั้งปวงที่กำลังเคลื่อนไหวไว้ทั้งหมด
แต่สงบสงัดและไม่มีสิ่งใดปนเปื้อนเข้าถึงนิพพานอันบริสุทธิ์นั้นได้เลย

การจะเข้าใจถึงนิพพานเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
แต่ถ้าเข้าใจสภาวะจิตของพระอรหันต์ได้แล้ว
ก็พอจะอนุมานถึงสภาวะของนิพพานได้บ้าง
จิตของพระอรหันต์ไม่เหมือนจิตของท่านผู้อื่น
เพราะแหวกสิ่งห่อหุ้มออกได้หมดแล้วจึงเป็นอิสระและกว้างขวางไร้ขอบเขต
มีสภาพคล้ายกับไฟที่ดับลงแล้ว ไม่มีการประทุขึ้นอีก
ความร้อนของไฟย่อมกระจายออกไปเต็มโลกธาตุ
กล่าวไม่ได้ว่าไฟมีอยู่ หรือไฟดับสูญไปแล้ว
เพราะความมีอยู่และความดับสูญยังเป็นธรรมคู่ เป็นเรื่องของโลก
ส่วนจิตของพระอรหันต์เข้าถึงธรรมล้วนๆ ไม่มีความเป็นโลกเจือปนอยู่เลย
จึงไม่มีปัญหาในเรื่องความมีอยู่ หรือความขาดสูญอีกต่อไป

พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายเมื่อรูปขันธ์และนามขันธ์แตกทำลายลงแล้ว
ไม่ได้คงอยู่และไม่ได้ดับสูญไปไหน
หากจิตของผู้ใดเข้าถึงสันติธรรมบริบูรณ์แล้ว
เพียงกราบลงตรงหน้าก็คือได้กราบพระบาททั้งคู่ของพระพุทธเจ้าแล้ว

วันนี้เป็นวันครบรอบปีที่พ่อมีความสุขมากที่สุด
ขอให้ลูกทั้งหลายจงมีความสุขเหมือนพ่อโดยพลันเถิด

หลวงพ่อ
๖ มีนาคม ๒๕๔๙
« Last Edit: Fri 5 Nov 10, 20:16:19 by หงส์น้อยบ้านโค้งดารา »
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline มวยวัด

  • Newbie
  • *
  • Posts: 1
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • เมตตา สันติ เจริญสติ
Re: จดหมายจากหลวงพ่อ
« Reply #1 on: Sat 6 Nov 10, 17:03:00 »
 _/|\_ _/|\_ _/|\_
ไม่ได้อ่านสำนวนการเขียนธรรมะแบบนี้มานานแล้ว
อ่านแล้วรู้สึกเย็นใจดีจริงๆ(รู้สึกสลดบ้างเมื่อรู้ว่าผู้ที่รับจดหมายนี้...พูดไม่ออก)

อันที่จริงถ้าตัดข้อความถึงคนที่อยู่ในจดหมายออก
เมื่ออ่านจบแล้วรู้สึก อิ่มใจจริงๆ
แต่ก็ไม่ได้เสียเปล่า เพราะได้รู้สึกตัวว่ามีอารมณ์ไม่พึงใจเข้ามากวนได้ 2-3 ครั้ง ในจดหมายนี้

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
Re: จดหมายจากหลวงพ่อ
« Reply #2 on: Wed 10 Nov 10, 23:41:54 »
อ่านแล้วรู้สึกได้ถึงภูมิจิตภูมิธรรมของผู้เขียน ที่เราคงไม่ต้องสงสัยกันอีกแล้ว
โดยเฉพาะจดหมายฉบับแรก เป็นเหมือนหัวกะทิที่ราดบนข้าวเหนียวมะม่วง(^^)
เพราะรวมยอดสุดแห่งการปฏิบัติอยู่ในจดหมายฉบับแรกแล้ว
ตั้งแต่ต้นทางจะถึงปลายทาง ด้วยการเขียนเพียงไม่กี่ประโยค!!
ไหนจะความเมตาปราณีทีแม้แต่ผู้อ่านไม่ได้เป็นผู้รับยังรู้สึกได้
สาธุครับ ท้ายนี้ของน้อมคำตรัสของพระพุทธเจ้าโดยย่อครับ
คนดี ทำดีง่าย ทำชั่วยาก คนชั่ว ทำชั่วง่าย ทำดียาก
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช

Offline เด็กน้อย

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 62
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา
Re: จดหมายจากหลวงพ่อ
« Reply #3 on: Thu 11 Nov 10, 18:31:08 »
_/l\_ _/l\_ _/l\_ ขออนุโมทนา สาธุนะคะ ^^

ธรรมะที่หลวงพ่อสอนทำให้เกิดปิติอย่างบอกไม่ถูกเลยค่ะ
จดหมายฉบับแรกนี่สุดยอดค่ะ ถึงอกถึงใจจริงๆค่ะ
นอกจากนี้ยังรับรู้ได้ถึงความเมตตาที่ประมาณมิได้ของหลวงพ่อค่ะ
แอบเสียดายแทนรู้รับนิดๆ ค่ะ อิอิ ^^

ขอขอบคุณพี่หงษ์น้อยมากๆเลยนะคะ _/l\_ ^^
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มาก แล้วจะสิ้นสงสัย" ^^