Show Posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Messages - หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

Pages: [1] 2 3 ... 8
1

(มีต่อ)

เรื่องต่อไปนี้ ผมขอกล่าวในฐานะผู้ปฏิบัติด้วยกันนะครับ
คือความจริงแล้ว จิตจะมีกี่สิบกี่ร้อยดวงก็ตาม แต่จิตก็คือจิต
มันเป็นธรรมชาติรู้ ซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนๆ กัน
ส่วนที่ทำให้มันต่างกันเป็นจิตอย่างนั้นอย่างนี้
ก็ด้วยมีเหตุอย่างอื่นเข้ามาประกอบเท่านั้นเอง

จุดสำคัญของการปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ที่ความสามารถในการจำแนกจำนวนจิต
แต่อยู่ที่ความรู้เท่าทัน ว่าขณะนี้มีอะไรเกิดขึ้นกับจิต
เช่นเมื่อมีราคะก็รู้ว่ามีราคะ เมื่อมีโทสะก็รู้ว่ามีโทสะ
และรู้เท่าทันการทำงานของจิต เช่นมันรู้อารมณ์โดยไม่หลงตาม
หรือมันรู้อารมณ์แล้วหลงตามไปอยาก ไปยึด ไปก่อทุกข์ เป็นต้น
เรียนรู้ของจริงในจิตตนเองเพียงเท่านี้ ก็พอสมควรแล้วครับ


อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ถ้าเราสามารถจำแนกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ได้แล้ว
เราจะเข้าใจเรื่องจิตและกลไกของจิตได้อีกมากนัยทีเดียว
หลายสิ่งหลายอย่าง ก็หาอ่านไม่ได้จากตำรา
เพราะตำรานั้นเหมือนแผนที่ จะให้ละเอียดเท่าภูมิประเทศจริงย่อมเป็นไปได้ยาก

เช่นธรรมชาติของผู้รู้นั้น แม้ในขณะที่กิเลสตัณหากำลังคุกคาม
จิตผู้รู้ก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้ เหมือนที่ท่านเปรียบว่า
ลิ้นงูอยู่ในปากงู โดยไม่เป็นอันตราย
หรือจะเปรียบเหมือนโอเอซีสกลางทะเลทรายก็ได้
ทั้งนี้เพราะกำลังของสติ สัมปชัญญะ และสัมมาสมาธิรักษาไว้
จิตตรงนี้จึงเป็นกุศลจิตอย่างแท้จริง ประณีตยิ่งกว่ากุศลจิตตามตำราเสียอีก

หรืออย่างเรื่องจิตพระอรหันต์ที่เรียกว่ากิริยาจิตนั้น
เป็นสภาพจิตที่สามารถทรงตัวอยู่ได้ โดยไม่มีการกระเพื่อมไหวแม้แต่นิดเดียว
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น โดยไม่ต้องคอยประคองรักษาเลย
การทำงานของจิตในการรู้อารมณ์ วินิจฉัยอารมณ์ จึงทำได้อย่างอิสระสมบูรณ์เต็มที่
และก็ทำไปตามหน้าที่ที่เห็นว่าสมควรจะทำเท่านั้น
หรือทำไปเป็นกิริยา ไม่มีความยินดียินร้ายที่จะทำ

แม้กายท่านกำลังประสบกับอกุศลวิบาก เช่นความเจ็บไข้
แต่จิตของท่านก็จะไม่เกิดความทุกข์โทมนัสแม้แต่น้อย
เพราะจิตท่านจะเกิดมีได้เฉพาะอุเบกขากับโสมนัสเท่านั้น
และทั้งอุเบกขาและโสมนัส ก็ย้อมจิตท่านไม่ติด
คือแม้จะมีอารมณ์โสมนัส แต่จิตของท่านเป็นกลางอยู่อย่างนั้น
เพราะความโสมนัส ถ้าพูดอย่างภาษาที่พวกเราพูดกันก็คือ มันยังไม่ใช่จิต
มันต่างคนต่างอยู่กับจิตอย่างเห็นได้ชัด จึงจัดเป็นกิริยาจิตเท่านั้น
ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ถ้าไม่ใช่นักปฏิบัติจะนึกไปไม่ถึงเลย

สำหรับหสิตุบาทหรือจิตยิ้มอันเป็นอเหตุกจิตนั้น แม้จะเป็นกิริยาจิตอย่างหนึ่ง
แต่ก็เป็นสภาพธรรมที่ต่างออกไปจากจิตปกติของพระอรหันต์ที่เป็นมหากิริยาจิต
คือความยิ้มนั้น มันผุดขึ้นในจิต
(แต่ความยิ้มนั้น ถ้ากำหนดลงไปจริงๆ
ก็จะพบความเป็นอุเบกขาของจิตอยู่ในนั้นด้วย)
ไม่เหมือนโสมนัสเวทนา ที่มันแยกต่างหากจากจิตอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนเมื่อมีหสิตุบาทแล้ว หน้าจะยิ้มพอเห็นไรฟัน
หรือจะอิ่มเอิบอยู่ในหน้า ไม่ใช่สิ่งสำคัญครับ
เพราะพระอรหันต์ ท่านจะยิ้มก็ได้ ไม่ยิ้มก็ได้
หากเกิดหสิตุบาทจิตแล้วจะต้องยิ้มออกมาทางกายทุกคราวไป
ก็เหมือนกับว่า ท่านยังถูกหสิตุบาทจิตบังคับท่านได้สิครับ
แล้วจะพูดถึงความหลุดพ้นได้อย่างไรกัน

เรื่องของจิตที่ผมแจกแจงตามตำรา
โดยเฉพาะความเห็นเพิ่มเติมในตอนท้ายนั้น
ผมเขียนเพื่อเพื่อนนักปฏิบัติโดยเฉพาะ
ไม่ใช่เขียนเพื่อให้นำไปถกเถียงกับใครๆ นะครับ
เพราะตำราก็ดี ความเชื่อของผู้เรียนตำราก็ดี เป็นเรื่องของเขา
ที่น่าฟังก็มาก ที่แปร่งๆ ก็มี
(เช่นเขาเชื่อว่าพระพุทธเจ้าไปแสดงพระอภิธรรม 7 คัมภีร์โปรดพระมารดา
คัมภีร์แรกใช้เวลา 12 วันเทวดาบรรลุธรรม 7 โกฏิ
คัมภีร์ที่ 7 คือมหาปัฏฐาน แสดง 23 วัน เทวดาบรรลุ 40 โกฏิ
ข้อที่ผมว่าแปร่งๆ ก็คือที่ว่าทรงแสดงกถาวัตถุ 13 วัน เทวดาบรรลุ 7 โกฏิ
ทั้งที่คัมภีร์กถาวัตถุนั้น ท่านพระโมคคลีปุตต ติสสเถระ
ท่านเพิ่งแต่งใหม่ แล้วนำบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระอภิธรรมปิฎก
ในการสังคายนาครั้งที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อราว พ.ศ. 234 - 235)
ผมจึงกล่าวบ่อยๆ ว่า การจะเรียนพระอภิธรรมต้องมีวิจารณญาณ
เพราะเป็นธรรมที่ปะปนกัน ระหว่างธรรมแท้ กับธรรมคิดนึกของนักปราชญ์ชั้นหลัง
ยิ่งเรื่องใดที่วิทยาการตามทัน ก็ยิ่งน่าห่วงมากทีเดียว

ประเด็นสุดท้ายขอย้ำกับพวกเราว่า โปรดรักษากติกานะครับ
คือกรุณาอย่านำข้อความในวิมุตตินี้ ไปโพสต์ต่อที่เวบบอร์ดอื่นๆ
อันเป็นลักษณะที่ว่า ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า
แล้วถ้าจะเถียงกับใคร ก็ไม่ต้องอ้างนะครับว่าพี่/อาสันตินันท์กล่าวอย่างนั้นอย่างนี้
เพราะที่พี่/อาสันตินันท์กล่าวนั้น กล่าวกับพวกเราเป็นการเฉพาะเท่านั้น
ไม่ต้องการไปกล่าวในวงกว้างให้เกิดความวุ่นวายจนเสียเวลาปฏิบัติธรรมหรอกครับ


จิตมี 89/121 ดวงได้ก็เพราะนับจิตในอดีต ในอนาคตเข้าไปด้วยครับ
จิตปัจจุบันมีดวงเดียวเท่านั้น ให้รู้ทันดวงนี้แหละครับพอแล้ว


ส่วนตำราที่เขาสอนให้จำแนกจิตต่างๆ อันที่จริงก็เอามาใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน
คือบางท่านจะดูจิต ไม่ทราบว่าจะตามรู้อะไรดี
ก็อาจจะเฝ้ารู้เวทนาที่เกิดกับจิตก็ได้ ว่าเวลานี้มันเป็นสุข(โสมนัส) ทุกข์(โทมนัส)
หรืออทุกขมสุข(อุเบกขา)
หรือจะเฝ้ารู้ว่า จิตกำลังมีญาณคือปัญญาหยั่งรู้ตามความเป็นจริง
หรือจิตหลงตามความคิดความเห็นไปแล้ว อย่างนี้ก็ได้
เป็นการนำตำรามาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ ซึ่งก็ทำได้ครับ
แต่ถึงจะไม่เรียนตำรา ก็ให้เรียนจิตดวงเดียวในปัจจุบันนี้
นานไปก็รู้จักจิตได้ทุกดวงครับ

ในตำรานั้น เขาจัดเอาทิฏฐิคือความเห็น ว่าหมายถึงมิจฉาทิฏฐิเท่านั้น
ส่วนญาณหมายถึงปัญญา จะเป็นปัญญาความรู้ทางปริยัติก็หมายถึงปัญญาด้วย
แต่ในแง่นักปฏิบัติแล้ว ความเห็นก็คือความเห็น ความคิดก็คือความคิด
หลงก็คือหลง และรู้ก็คือรู้
ถ้าจิตคิดใคร่ครวญไปตามสัญญา(ตำรา) โดยไม่รู้ทัน ก็คือหลง และฟุ้งซ่าน
ถ้าจิตเข้าไปยึดถือในความคิดความเห็นที่ดีๆ ก็คือหลง และเกิดทุกข์ได้เช่นกัน

(จบ)

2
เขียนไว้เมื่อ วัน เสาร์ ที่ 23 กันยายน 2543 20:47:13

เมื่อแรกผมคิดว่า จะไม่เขียนเรื่องเปรียบเทียบปริยัติกับปฏิบัติอีกแล้ว
แต่คุณดังตฤณ ขอให้ผมเขียนเรื่องอีกสักหน่อยเถิด
ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีนักปฏิบัติที่ไหนจะยอมเสียเวลากับเรื่องนี้
ดังนั้นเพื่ออนุโลมตามคำเรียกร้องของคุณดังตฤณ
จึงขอเขียนอีกสักเรื่องหนึ่งก็แล้วกันครับ
ต่อไปนี้ไม่เขียนแล้วนะครับ ไม่อยากมีปัญหา
และในฐานะที่พวกเราสนใจการดูจิต จึงขอเขียนเรื่องจิตก็แล้วกัน

แต่ก่อนจะเข้าเรื่องของจิต ขอออกนอกเรื่องไปสู่เรื่องที่กำลังเถียงกันในลานธรรม
คือเรื่องที่ว่าพระอรหันต์หัวเราะได้หรือไม่ ซึ่งคุณดังตฤณก็ได้แสดงแล้วว่า
ไม่มีหลักฐานในชั้นพระไตรปิฎกว่า พระอรหันต์หัวเราะไม่ได้

ความจริงแล้วเรื่องพระอรหันต์หัวเราะไม่ได้
เป็นทัศนะของสำนักอภิธรรมบางฝ่ายเท่านั้น
แต่สำนักที่มาตรฐานเช่น อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาจุฬาฯ วัดมหาธาตุ
มีสอนอย่างชัดเจนว่า พระอรหันต์หัวเราะได้
อยู่ในเรื่องวิญญัติรูป คืออาการพิเศษที่ทำให้รู้ความประสงค์ด้วยการเคลื่อนไหวกาย
ซึ่งการยิ้มและการหัวเราะ ก็คืออาการอย่างหนึ่งนั่นเองเพื่อจะแสดงถึงความโสมนัสยินดี
ส่วนจิตที่ทำให้เกิดรูป (ในที่นี้คือเกิดวิญญัติรูปของการหัวเราะ) เรียกว่าจิตตชรูป

จิตตชรูปที่ทำให้เกิดการยิ้มและหัวเราะในปุถุชนมี 8 ดวง
ได้แก่โลภมูลโสมนัส 4 และมหากุศลโสมนัส 4

จิตตชรูปที่ทำให้เกิดการยิ้มและหัวเราะในพระอริยะที่ยังไม่ถึงขั้นพระอรหันต์มี 6 ดวง
คือจิตโสมนัสที่ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ 2 และมหากุศลโสมนัส 4

สำหรับพระอรหันต์ หัวเราะได้ด้วยจิต 5 ดวงคือ หสิตุปาทจิต 1
และมหากิริยาโสมนัส 4


(ชื่อจิตชนิดต่างๆ อีกสักครู่ก็จะเข้าใจครับ อภิธรรมไม่ยากอย่างที่คิดหรอกครับ)

ผมเข้าใจว่าผู้ที่สับสนถึงขั้นรอนสิทธิ์ไม่ให้พระอรหันต์หัวเราะนั้น
เกิดขึ้นเพราะไปอ่านพบว่า การยิ้มและหัวเราะต่างๆ มี 6 อย่างคือ
สิตะ เป็นการแสดงความยินดีในใบหน้า
หสิตะ คือยิ้มเห็นไรฟัน
วิหสิตะ คือหัวเราะเบาๆ
อุปหสิตะ คือหัวเราะโยกไหล่โคลงศีรษะ
อปหสิตะ คือหัวเราะจนน้ำตาไหล
อติหสิตะ คือหัวเราะจนไหวไปทั้งตัว

คราวนี้พออ่านพบว่า หสิตุปบาทจิต เป็นจิตที่ทำให้พระอรหันต์ยิ้มแย้ม
ก็เลยสรุปว่า พระอรหันต์ต้องยิ้มแบบหสิตะ คือยิ้มเห็นไรฟันเท่านั้น
ลืมไปสนิทว่า พระอรหันต์ยังหัวเราะได้ด้วย มหากิริยาโสมนัส 4
เลยกลายเป็นทำบาปทำกรรมแบบไม่รู้ตัวไปเรื่อยๆ ด้วยการเที่ยวพยากรณ์พระอรหันต์

**********************************

มาคุยกันเรื่องจิตดีกว่าครับ ตำราอภิธรรมชั้นหลังรวบรวมจิตขึ้นได้ 89/121 ดวง
ในขั้นแรกนี้ เราพูดเรื่องจิต 89 ดวงก็แล้วกันครับ
ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้วก็เข้าใจจิต 121 ดวงได้ไม่ยากเลย

ในเบื้องต้นตำราแบ่งกลุ่มของจิตเป็น 4 กลุ่ม ตามภพภูมิต่างๆ นั่นเอง
คือกามาวจรจิต (หรือจิตที่เที่ยวไปในกาม) รูปาวจรจิต (รูป)
อรูปปาวจรจิต (อรูป) และโลกุตรจิต (จิตเหนือโลก)

จิตที่เที่ยวไปในกามภพ เป็นจิตที่ยังกระพร่องกระแพร่ง เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย
ก็เลยมีมากชนิดหน่อย ทั้งที่เป็นอกุศล คือประกอบด้วยกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ
ทั้งที่เป็นกุศล ทั้งที่เป็นวิบาก และเป็นกิริยาเฉยๆ

เรามาเริ่มรู้จักที่อกุศลจิตชนิดที่มีราคะหรือโลภะแทรกเสียก่อนก็แล้วกันครับ
โลภมูลจิต มีอยู่ทั้งหมด 8 ดวง 8 นี้เป็นผลคูณของ 2 x 2 x 2

2 ตัวแรก มองถึง ที่มาของจิต ว่าเป็นจิตที่ถูกชักชวนหรือมีสิ่งเร้าหรือไม่
เช่นที่อยากดูหนังนั้น เพื่อนชวนหรือเปล่า หรือว่าผ่านหน้าโรงหนังแล้วเลยเข้าไปดูเอง

2 ตัวที่ 2 มองถึง เวทนาที่เกิดกับจิต ซึ่งจิตโลภจะมีเวทนา 2 อย่างเท่านั้น
คือสุขเวทนาทางใจ ซึ่งอภิธรรมเรียกว่าโสมนัสเวทนา
กับความเฉยๆ หรืออทุกขมสุขเวทนา ซึ่งอภิธรรมเรียกว่าอุเบกขาเวทนา
ส่วนทุกขเวทนาไม่มี ถ้ามีทุกขเวทนามันจะกลายเป็นโทสมูลจิตไป

2 ตัวที่ 3 มองถึงความโง่และความฉลาดของจิต
คือมองว่าจิตดวงนั้นประกอบด้วยความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิหรือเปล่า

เอาตัวแปรทั้ง 3 ชุด ชุดละ 2 ตัวนี้มาจับกลุ่มกันเข้า มันก็จะกลายเป็นจิตโลภ 8 ดวง
เช่นจิตดวงหนึ่งเป็นจิตที่เกิดโดยมีสิ่งเร้าหรือชักชวน เกิดพร้อมกับความโสมนัส
และประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ
เห็นไหมครับว่า จริงๆ แล้วไม่ได้ยากอะไรเลย

สำหรับโทสมูลจิตมันมีน้อยแค่ 2 ดวงเท่านั้น
คือมันประกอบด้วยโทมนัสเวทนาเหมือนๆ กัน ประกอบด้วยความขัดใจเหมือนกัน
แต่แยกกันด้วยเรื่องที่ว่า มันเกิดขึ้นโดยมีสิ่งเร้าหรือชักชวน หรือไม่เท่านั้น

ส่วนโมหมูลจิตก็มี 2 ดวง คือมันประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาทั้งคู่
แต่ดวงหนึ่งประกอบด้วยวิจิกิจฉาความสงสัย อีกดวงหนึ่งประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน

เป็นไงครับ เรารู้จักจิตรวดเดียว 12 ดวงแล้ว

ถัดไปผมขอข้ามลำดับไม่เรียงตามตำรา แต่จะไปพูดถึงกุศลจิตเสียก่อน
ตำราเรียกให้โก้ๆ ว่า มหากุศลจิต มีอยู่ 8 ดวง ตามสูตร 2 x 2 x 2 เช่นกัน
จิตกลุ่มนี้เหมือนกับโลภมูลจิตทุกอย่างครับ ผิดกันตรงที่ว่า
โลภมูลจิตเอาตัวแปรว่ามีมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ เข้ามาเป็นตัวคูณตัวหนึ่ง
แต่มหากุศลจิตไม่มีมิจฉาทิฏฐิ แต่เอาญาณหรือปัญญามาเป็นตัวคูณแทน
เช่นดวงแรก ได้แก่จิตที่เกิดโดยไม่มีการชักชวน มีความโสมนัส ประกอบด้วยปัญญา
ดวงที่ 2 ได้แก่จิตที่มีการชักชวน (เช่นเพื่อนชวนไปทำบุญ) มีโสมนัส มีปัญญา
เป็นต้น

ผ่านไปอีก 8 ดวง รวม 20 ดวงแล้วนะครับ
คราวนี้มาถึงมหากิริยาจิต อีก 8 ดวง ซึ่งที่จริงก็คือ มหากุศลจิตนั่นเอง
แต่เกิดในพระอรหันต์ ที่เรียกว่ากิริยาก็เพราะท่านอยู่เหนือดีเสียแล้ว
แล้วก็ยังมีมหาวิบากจิต อีก 8 ดวง รายละเอียดองค์ประกอบเหมือนกับมหากุศลจิตหากแต่เป็นวิบากจิต ไม่ใช่จิตที่จะกระทำกุศลหรืออกุศลได้

ทั้งมหากุศลจิต มหาวิปากจิต และมหากิริยาจิต รวมเรียกว่ากลุ่มกามาวจรโสภณจิต
รวมแล้วได้ 24 ดวง บวกกับที่กล่าวมาแล้วคืออกุศลจิตอีก 12 ดวง
เท่ากับว่าเราทำความรู้จักจิตกันมาแล้ว 36 ดวง

ถัดไปเป็นจิตที่เที่ยวไปในรูป(ภพ) เรียกเสียเพราะเลยว่า รูปาวจรโสภณจิต 15 ดวง
ทำไมจึงต้องเป็น 15 ก็เพราะมาจากสูตร 5 x 3 เท่านั้นเองครับ

5 มาจากรูปฌาน 5 (ฌานในพระสูตรท่านแยกรูปฌานไว้เพียง 4 ชั้น
แต่พระอภิธรรมแยกให้เป็น 5 ชั้น
คือปฐมฌานในพระสูตรและพระอภิธรรม
ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคตา เหมือนๆ กัน
พอขึ้นทุติยฌาน พระสูตรก็ตัดวิตกวิจารออก 2 ตัวเลย เหลือแค่ปีติ สุข เอกัคตา
ส่วนพระอภิธรรม ตัดวิตกตัวเดียว ยังมีวิจาร ปีติ สุข เอกัคตา
พอถึงฌานที่ 3 ของพระอภิธรรมจึงเหลือเพียงปีติ สุข เอกัคตา
เหมือนฌานที่ 2 ในพระสูตร
ถัดจากนั้นก็เหมือนๆ กันครับ)

3 มาจากชนิดของจิต ว่า (1) จิตดวงนั้นเป็นกุศลจิต
หรือ (2) เป็นวิบากจิตอันเป็นผลของกุศล
หรือ (3) เป็นการเข้าฌานของพระอรหันต์ซึ่งท่านเหนือดีเหนือชั่วไปแล้ว
จิตของท่านจึงไม่เรียกว่ากุศลจิต แต่เรียกว่ากิริยาจิต
3 นี้ พูดให้ง่ายจึงได้แก่ กุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต

ผ่านไป 51 ดวงแล้วครับ
ถัดไปเป็นอรูปปาวจรจิตมี 12 ดวง มาจากสูตร 4 x 3
4 คืออรูปฌาน 4
ส่วน 3 ก็คือกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต
รวม 63 ดวงแล้ว เห็นไหมครับว่าไม่ยากหรอกครับ

คราวนี้มาถึงจิตชนิดที่พวกเราไม่คุ้นเคยกัน ผมจึงนำมาพูดทีหลังเพื่อไม่ให้กลุ้มใจ
ได้แก่ อเหตุกวิปากจิต 15 ดวง
จิตกลุ่มนี้คิดเป็นสูตรยากนิดหน่อยครับ
คือมันเป็นวิบากจิตเหมือนๆ กัน เป็นผลของกุศลและอกุศล
และทำงานค่อนข้างไปทางอัตโนมัติ

ขั้นแรกสุด เราลองนึกถึงอายตนะทั้ง 5 คือตา หู จมูก ลิ้น และกายนะครับ
ความสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น 4 อย่างนี้เป็นการสัมผัสแล้วเกิดความรู้สึกเฉยๆ เท่านั้น
เช่นตาที่เห็นรูปนั้น มันเห็นเฉยๆ ไม่รู้สึกว่าสุขว่าทุกข์อะไร
ส่วนการสัมผัสทางกายนั้น มีสุขมีทุกข์ได้ เช่นถูกทุบเบาๆ เรียกว่านวด รู้สึกสุข
แต่ถ้านวดแรงๆ ด้วยไม้หน้าสาม ก็รู้สึกว่าทุกข์

อเหตุกวิปากจิตกลุ่มแรกเกี่ยวเนื่องกับอายตนะทั้ง 5 นี้เอง
ได้แก่วิญญาณทางตา หู จมูก และลิ้น (4 อย่าง) ซึ่งเกิดพร้อมอุเบกขาทั้งสิ้น
แต่ถึงกระนั้น ตำราก็อุตส่าห์แยกออกไปอีก
ว่ามันเป็นวิญญาณที่รู้อารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี
(ถ้าสิ่งที่มากระทบเป็นสิ่งดี ก็แสดงว่าจิตดวงนั้นเป็นวิบากที่ดี
เช่นมีเสียงเพราะๆ มาให้รับรู้
ถ้าสิ่งที่มากระทบไม่ดี ก็เป็นวิบากไม่ดี)
จิตกลุ่มนี้ก็เลยเข้าสูตรได้อีกแล้ว คือ 4 x 2 เป็น 8 ดวง

คราวนี้ก็มีถึงวิญญาณทางกายเป็นวิบากจิตมี 2 ดวง
คือถ้าเป็นวิบากดี สิ่งที่มากระทบจึงดี จิตดวงนี้ก็เกิดพร้อมความสุข
(ตามตำราอภิธรรม ถ้าเป็นสุขกายจะเรียกว่าสุข ส่วนสุขใจเรียกว่าโสมนัส)
ถ้าเป็นวิบากไม่ดี สิ่งที่มากระทบจึงไม่ดี จิตดวงนี้ก็เกิดพร้อมความทุกข์

รวมอเหตุกวิปากจิตทางกายคือ ตา หู จมูก ลิ้น และกายได้ 10 ดวงแล้วนะครับ
อีก 5 ดวงที่เหลือเป็นจิตที่จะเข้าใจได้ ต้องรู้เรื่องวิถีจิต ที่ผมเขียนไปแล้ว
คือเป็นสัมปฏิจฉันนจิต หรือจิตที่รับอารมณ์ทั้ง 5 เกิดพร้อมกับอุเบกขา
มี 2 ดวงคือจิตที่รับอารมณ์ที่ดี กับที่ไม่ดี
และเป็นสันตีรณจิต คือจิตที่มีหน้าที่ไต่สวนอารมณ์ทางทวารทั้ง 5 ว่ามันคืออะไร
เป็นจิตที่ประกอบด้วยอุเบกขา 2 ดวง ทำหน้าที่ไต่สวนอารมณ์ที่ดีกับไม่ดี
ส่วนดวงสุดท้ายของสันตีรณจิต ทำหน้าที่ไต่สวนอารมณ์ที่ดี แต่ประกอบด้วยโสมนัส

เราพูดกันถึงจิต 63 + 15 หรือ 78 ดวงไปแล้วนะครับ
จิตกลุ่มต่อไปเรียกว่า อเหตุกกิริยาจิต มี 3 ดวงเท่านั้น
ได้แก่จิตที่ทำหน้าที่จำแนกอารมณ์ที่มากระทบทวารทั้ง 5
ว่ามันมาทางใด จะได้ส่งสัญญาณให้เกิดวิญญาณทางนั้น
เรียกว่าปัญจทวารวัชชนจิต
กับจิตที่พิจารณาอารมณ์เพื่อจะตัดสินให้เป็นกุศล อกุศล หรือกริยาเพื่อจะเสพย์ต่อไป
เรียกว่า มโนทวารวัชชนจิต
ตัวสุดท้ายคือตัวเจ้าปัญหา ที่เรียกว่า หสิตุบาทจิต
ตำราว่าเป็นจิตที่ทำให้เกิดอาการยิ้มในพระอรหันต์ ประกอบด้วยโสมนัส
(เรื่องจิตพระอรหันต์ จะแยกไปกล่าวรวมกันในตอนท้ายนะครับ)

รวมจิตที่กล่าวไปแล้วได้ 81 ดวง ยังมีโลกุตรจิตอีก 8 ดวง
ได้แก่มรรคจิต 4 และผลจิต 4 เช่นอรหัตตมรรคจิต อรหัตตผลจิต
ครบ 89 ดวงแล้วครับ แล้วถ้าจะทำให้พิสดารออกไปอีกเป็น 121 ดวงก็ง่ายๆ
เอาฌาน 5 เป็นตัวคูณเข้าไป ก็กลายเป็นโลกุตรจิต 40 ดวง
เช่นอรหัตตมรรคจิตที่ประกอบด้วยปฐมฌาน ก็เป็นดวงหนึ่ง
ประกอบด้วยทุติยฌาน ก็เป็นอีกดวงหนึ่ง เป็นต้น

สรุปแล้ว จิต 89 หรือ 121 ดวงประกอบด้วย
อกุศลจิต 12 ดวง (เป็นโลภจิตเสีย 8 ดวง เป็นโทสะและโมหะอย่างละ 2 ดวง)
อเหตุกจิต 18 ดวง กามาวจรโสภณจิต 24 ดวง รูปาวจรจิต 15 ดวง
อรูปาวจรจิต 12 ดวง และโลกุตรจิตอีก 8 หรือ 40 ดวง

ความจริงยังมีวิธีแบ่งกลุ่มจิตแบบอื่นๆ อีกหลายวิธีครับ
เช่นแบ่งตามชาติกำเนิดของจิต คืออกุศลจิต กุศลจิต วิบากจิต และกริยาจิต
แบ่งตามโลกียจิต และโลกุตรจิต เป็นต้น
แต่รวมแล้วยังเป็น 89/121 ดวงดังเดิม

***********************************
(มีต่อ)

3
เขียนไว้เมื่อ วัน ศุกร์ ที่ 25 สิงหาคม 2543 13:46:28

เรื่องนี้เกิดขึ้นจากนักคณิตศาสตร์ท่านหนึ่งชื่อ คณกะ โมคคัลลานะ
ได้เข้าไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า ที่วัดบุพพาราม เมืองสาวัตถี
ว่าในทางพระพุทธศาสนา มีหลักสูตร หรือลำดับการศึกษาอย่างใดหรือไม่
นับว่าถามได้สมกับที่เป็นนักคณิตศาสตร์จริงๆ ครับ

พระศาสดา ได้ทรงชี้แจงถึงหลักสูตรฝึกอบรมของพระพุทธศาสนา ดังนี้

ขั้นแรกสุด พระองค์จะทรงแนะนำนิสิตของพระองค์ให้มีศีล และสำรวมในปาฏิโมกข์
ซึ่งการถือศีลและสำรวมในปาฏิโมกข์นั้น
ท่านเน้นที่การถือด้วยการมีปัญญาเห็นโทษภัยแม้ในความผิดเพียงเล็กน้อย

ขั้นที่ 2 เมื่อถือศีลได้แล้ว พระองค์จึงจะแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า
ให้เป็นผู้สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
การสำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 นี้ ท่านไม่ได้สอนว่า อย่าดู อย่ารู้ อย่าเห็น อย่าคิดนึก
หากแต่เมื่อเห็น ก็จงเห็นให้เป็น
ให้เห็นอย่างผู้รู้ ผู้มีสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ผู้หลง
คือเห็นรูปเป็นรูป อย่าหลงเอาการเห็นด้วยนิมิตคือเห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เช่นผู้หญิงผู้ชาย
เพราะถ้าไม่สำรวมในขณะเห็นแล้ว
ก็จะถูกความยินดียินร้ายเพราะรูปนั้น ครอบงำจิตใจ
แม้การรู้อารมณ์ทางอื่นๆ ก็ให้สำรวมแบบเดียวกันนี้

ขั้นที่ 3 เมื่อผู้ใดสำรวมอินทรีย์เป็นแล้ว
ท่านจะแนะนำให้เป็นผู้รู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร

ขั้นที่ 4 จะทรงแนะนำให้เป็นผู้ทำความตื่นตัว ไม่ให้ประมาทซีมเซาเอาแต่นอน
จะเป็นนักบวชประเภท เช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน กลางคืนจำวัด ไม่ได้
การนอนนั้นท่านก็แนะนำไว้ชัดว่า
"พึงเอาเท้าซ้อนเท้า มีสติรู้สึกตัว ทำความสำคัญว่า จะลุกขึ้นไว้ในใจ
แล้วสำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวาตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี"

ขั้นที่ 5 เมื่อสามารถรักษาศีล สำรวมอินทรีย์  ขจัดปัญหาเรื่องการกินการนอนได้แล้ว
ท่านจะแนะนำให้เจริญสติสัมปชัญญะ ในทุกอิริยาบถและทุกกิจกรรมของชีวิต

พวกเราที่หัดเจริญสติสัมปชัญญะแล้ว ทำได้ไม่ต่อเนื่อง
หรือรู้ตัวได้แว้บเดียว ก็หลงไปทีละนานๆ
ขอให้ลองสำรวจตนเองว่า สอบผ่านชั้นประถม 4 ชั้นนั้นหรือยัง
ถ้ายังก็ไม่น่าแปลกใจ ที่จะสอบตกในชั้นมัธยมศึกษานี้

ขั้นที่ 6 เป็นขั้นเอาจริงเอาจัง เหมาะสำหรับผู้เจริญสติสัมปชัญญะได้แล้ว
ถ้ายังเจริญสติสัมปชัญญะไม่ได้ โดดเข้ามาเรียนในชั้นอุดมศึกษานี้ ก็เห็นจะย่ำแย่แน่
คือท่านสอนว่า "ดูกรภิกษุ มาเถิด เธอจงพอใจเสนาสนะอันสงัด
คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และ ลอมฟางเถิด
เมื่อออกไปอยู่ป่าแล้ว ก็มีงานที่ต้องทำหลังจากบิณฑบาต
คือนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า
เพื่อละนิวรณ์ทั้ง 5 ให้ขาดจากจิตใจ

เทคนิคการละนิวรณ์ 5 นั้น ไม่ยากนัก
คือท่านให้ละอภิชฌา(ความยินดี บางแห่งท่านกล่าวถึงกามฉันทะ)ในโลก
ให้เป็นผู้มีใจปราศจากอภิชฌา
(นักดูจิตจะทราบว่า วิธีง่ายๆ ก็คือ พอรู้กามฉันทะ กามฉันทะก็ดับไป)
ให้ละพยาบาท โดยคิดอนุเคราะห์เกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูต
ให้ละถีนมิทธะแล้ว โดยมีอาโลกสัญญา(ความหมายรู้แสงสว่าง) มีสติสัมปชัญญะอยู่
ให้อุทธัจจกุกกุจจะ โดยเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายในอยู่
ให้ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามความสงสัย ไม่มีปัญหาอะไรในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
(วิธีง่ายๆ ก็คือให้รู้ความสงสัย แล้วก็อย่าไปหลงตามความสงสัย)


การจะเข้ารับการฝึกอบรมในขั้นออกวิเวกนี้
เหมาะกับผู้ที่เจริญสติสัมปชัญญะเป็นแล้ว
มิฉะนั้น จะไม่สามารถต่อสู้กับนิวรณ์ได้
อาจจะตื่นกลัว หรือหลงเพลินไปกับความสงบสงัดเลยก็ได้
พวกเราที่อยากจะไปหาที่วิเวก ก็พิจารณาตนเองก่อนนะครับ
ว่าสอบผ่านขั้นเจริญสติสัมปชัญญะได้หรือยัง


ขั้นที่ 7 เมื่อละนิวรณ์ ๕ ประการได้แล้วก็คือ การเจริญสมาธิ
โดยสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน
มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร
มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ  มีสติสัมปชัญญะอยู่
และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน
ที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุขอยู่
เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์
และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

*******************************************

ขั้นตอนการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า แปลกกว่าที่เราเคยได้ยินกัน
ที่เราเคยได้ยินกันนั้น มักจะให้หัดเข้าฌานเพื่อข่มนิวรณ์
พอข่มนิวรณ์แล้ว จึงเจริญปัญญาด้วยความมีสติสัมปชัญญะ
แต่นี่ท่านกลับสอนให้ปรับเงื่อนไขพื้นฐาน
เกี่ยวกับความประพฤติและความเป็นอยู่เสียก่อน
จากนั้นจึงหัดเจริญปัญญาด้วยความมีสติสัมปชัญญะ
แล้วละนิวรณ์ เจริญสมาธิไปตามลำดับ
เพื่อให้สติสัมปชัญญะหนักแน่นมั่นคงขึ้นอีก
อันเป็นการยกระดับจิตใจให้เจริญในธรรมยิ่งขึ้นไปตามลำดับ
เข้าลักษณะ
ใช้ปัญญาอบรมศีล ใช้ศีลอบรมปัญญา
ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ และใช้สมาธิอบรมปัญญานั่นเอง


พระพุทธเจ้าท่านสรุปในตอนสุดท้ายว่า
"ดูกรพราหมณ์ ในพวกภิกษุที่ยังเป็นเสขะ
ยังไม่บรรลุพระอรหัตมรรค
ยังปรารถนาธรรมที่เกษมจากโยคะอย่างหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้อยู่นั้น
เรามีคำพร่ำสอนเห็นปานฉะนี้
ส่วนสำหรับภิกษุพวกที่เป็นอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ
สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะผู้ชอบนั้น
ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่สบายในปัจจุบัน
และเพื่อสติสัมปชัญญะ ฯ"


นักคณิตศาสตร์ฟังหลักสูตรการฝึกอบรมของพระพุทธเจ้าแล้ว
ก็สวมวิญญาณของนักคณิตศาสตร์ ทูลถามสถิติของผู้ผ่านการฝึกอบรมว่า
สาวกทุกรูป หรือบางส่วน ที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรนี้
พระศาสดาตรัสตอบว่า สำเร็จบางส่วน

ผู้ถามก็เกิดความฉงนใจขึ้นว่า เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น
ทั้งที่หลักสูตรที่ดีก็มีอยู่ พระศาสดาผู้สอนก็มีอยู่
ทำไมจึงมีผู้สำเร็จเพียงบางส่วน

ตรงนี้แหละที่พระศาสดาตรัสตอบว่า
ในเมื่อนิพพานก็ดำรงอยู่ ทางไปนิพพานก็ดำรงอยู่
เราผู้ชักชวนก็ดำรงอยู่ แต่ก็สาวกของเราอันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้
บางพวกเพียงส่วนน้อย ยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน บางพวกก็ไม่ยินดี
ดูกรพราหมณ์ ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้
ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกหนทางให้ ฯ


พระสูตรนี้จบลงด้วยคำอุทานของพรหมณ์คณกะ โมคคัลลานะ ที่ว่า
แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า
พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย
เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ หรือเปิดของที่ปิด หรือบอกทางแก่คนหลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีตาดีจักเห็นรูปทั้งหลายได้ ฉะนั้น
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอพระโคดมผู้เจริญ จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

**********************************************

พวกเราอ่านธรรมของพระพุทธเจ้ากันแล้ว อย่าอ่านเปล่าๆ นะครับ
ลองสำรวจตนเองดูว่า เราเป็นนักเรียนในชั้นไหน
เพราะบางท่านใจร้อนเกินไป
พอเริ่มปฏิบัติก็คิดจะละกามบ้าง คิดจะละมานะและอวิชชาบ้าง
ทั้งที่ยังต้องปรับฐานของศีล และอินทรียสังวรให้ดีก่อน
ยังต้องหัดให้มีสติและสัมปชัญญะที่ถูกต้องเสียก่อน
เรียกว่าพยายามเรียนลัด ซึ่งสำเร็จได้ยากครับ

มาลองสำรวจตนเองดูบ้างสิครับ
หากเห็นว่าอะไรยังบกพร่องอยู่ ก็ตั้งใจแก้ไขไปตามลำดับ
อย่างผมเองพอเขียนกระทู้นี้แล้ว ก็ได้มาสำรวจตนเอง
พบข้อบกพร่องว่า ยังคลุกคลีกับหมู่พวกมากเกินไป
ตอนนี้ก็ใกล้จะบวชแล้ว เห็นจะต้องปรับตัวเองเสียก่อน
(เพราะในกระทู้นี้ ก็มาชวนพวกเราปรับตัวกันแล้ว
หากตนเองไม่ปรับตัวเสียบ้างเลย ก็ให้อายที่จะแนะนำให้หมู่เพื่อนปรับตัว)
ดังนั้น ผมจึงตั้งใจที่จะคลุกคลีกับพวกเราให้น้อยลง
โดยเฉพาะกับหมู่เพื่อนหญิงทั้งหลาย
ที่ผมจะสมาทานธรรมเกี่ยวกับมาตุคาม
ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนท่านพระอานนท์
มาหัดปฏิบัติให้เคยชินไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะบวช
มิฉะนั้นบวชแล้ว อาจจะเผลอร้องทักทายญาติธรรมฝ่ายหญิงเพราะเคยชิน
ดูจะไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าที่ควรจะเป็น

ญาติมิตรทั้งหลาย ถ้าเห็นผมหัดสำรวม ก็อย่าแปลกใจนะครับ
มันเป็นความพยายามเล็กๆ อันหนึ่ง ของคนที่พยายามจะดีน่ะครับ

********************************************

ขอกล่าวเพิ่มเติมสักนิดครับว่า พระสูตรนี้เป็นพระสูตรสอนพระ
ไม่ใช่พระสูตรสอนฆราวาสนักปฏิบัติโดยตรง
ถ้าฆราวาสจะนำมาใช้ ก็ต้องปรับให้เข้ากับความเป็นไปได้เสียก่อน

เช่นในส่วนของการถือศีล การสำรวมอินทรีย์ การเจริญสติสัมปชัญญะนี่
เป็นเรื่องที่พอจะทำได้ แม้จะไม่ง่ายเท่าพระ
การปลีกวิเวก ก็พอจะทำได้เป็นครั้งคราว นานๆ ครั้ง
ขืนคุณผู้หญิงหนีสามีไปวิเวก คุณผู้ชายหนีการช่วยภรรยาเลี้ยงลูกอ่อนไปวิเวก
แบบนั้นเข้าข่ายละทิ้งหน้าที่ มากกว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรม
พวกเราที่เป็นฆราวาส ศึกษาพระสูตรนี้แล้ว
ก็พิจารณาด้วยปัญญา นำมาปฏิบัติให้พอเหมาะพอดีกับเพศของเรา

อย่างการสำรวมอินทรีย์ที่ผมพูดถึงนั้น เป็นเรื่องไม่ยากสำหรับผม
เพราะผมมีปกติไม่ดูหนังฟังเพลงอยู่แล้ว มีปกติชอบเจริญสติสัมปชัญญะอยู่แล้ว
เพียงแต่เข้มงวดกับตนเอง ให้เฝ้าสังเกตจิตใจตนเองมากขึ้น พูดตามความจำเป็น
อย่างเรื่องกินอยู่หลับนอนก็ง่ายๆ อยู่แล้ว ไม่เลือกอาหาร
ที่หลับที่นอนก็นอนเสื่อ นอนไม้กระดานมาตลอดร่วม 20 ปีแล้ว
ทุกวันนี้ภรรยาของผมก็เอาอย่าง คือรื้อที่นอนออกหมด
แล้วปูเสื่อนอนบนไม้กระดานอีกทีหนึ่ง เพราะรู้สึกสุขสบายที่นอนอย่างนี้
สุขภาพก็ดี จิตใจก็ดื ไม่ใช่การบำเพ็ญตบะ ทรมานกายแต่อย่างใด
เสื้อผ้าเครื่องใช้ ก็ใช้ตามความจำเป็น ไม่หรูหราฟุ่มเฟือยอะไร

******************************************

พวกเราคงจำกันได้ถึงตัวอย่างของท่านผู้ครองเรือนผู้มีนามว่า ท่านปิปผลิ
ท่านแต่งงาน นอนบนเตียงเดียวกับภรรยา โดยมีพวงมาลัยดอกไม้กั้นกลาง
ภรรยาของท่าน ก็เป็นผู้มีศรัทธา ศีล และปัญญาเช่นเดียวกับท่าน
พึงพอใจที่จะกระทำเช่นนั้นร่วมกัน
ท่านครองชีวิตคู่ด้วยความผาสุก
มีธรรม ไม่ใช่กาม เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจร่วมกัน
เลี้ยงดูบิดามารดาจนสิ้นชีวิต หมดหน้าที่ทางโลก
แล้วสามีภรรยาก็พากันออกบวชบรรลุพระอรหันต์ด้วยกันทั้งคู่
ท่านปิปผลิ ได้ฉายานามว่า ท่านพระมหากัสสปเถระ
ผู้เป็นแบบอย่างบรมครูของพระป่าในบ้านเรา และพระเซ็นในหลายประเทศ

ท่านเป็นตัวอย่างบุคคลในอุดมคติครับ
เราไม่พร้อมถึงขั้นจะทำอย่างท่านก็ไม่เป็นไร
(เพราะแค่นึกถึงท่านก็ชื่นใจแล้ว)
เอาเพียงแค่ ดูตนเองว่า เราทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น
ขอเพียงมีพื้นฐานที่สำคัญคือ รักษาศีล 5 ไว้
แล้วเจริญสติสัมปชัญญะให้มากๆ ไว้ ก็พอครับ
อย่างอื่นก็ค่อยลดค่อยละไปเมื่อสติ สมาธิ ปัญญาแก่กล้าขึ้น
จนพอทำได้อย่างไม่เหลือวิสัยที่จะกระทำ

4
(ต่อ)

คราวนี้ก็มาถึงปัญหาที่ว่า เหตุใดผู้ศึกษาพระปริยัติธรรมมากจึงพลาดได้
เรื่องนี้ผมยังไม่มีเวลาค้นคว้าข้อมูลในครั้งพุทธกาล
แต่จากการได้พบปะผู้ปฏิบัติในยุคนี้หลายท่าน
ที่เชี่ยวชาญด้านพระปริยัติธรรม
ถึงขั้นอธิบายจิต เจตสิก รูป นิพพานได้ละเอียดถี่ยิบ
จึงพอจะเข้าใจว่า เหตุใดผู้ที่ฝังใจกับพระปริยัติธรรมมากๆ
บางท่านจึงไม่สามารถเจริญสติได้ถูกต้อง และจิตไม่ยอมเจริญปัญญาจริงๆ

จุดแรกก็คือ ผู้เจริญสติ ที่รู้พระปริยัติธรรมมาก
มักจะขาดการปรับพื้นฐานให้จิตพร้อมจะเจริญสติเสียก่อน
เพราะคิดว่าสมาธิไม่มีความจำเป็นมากนัก
จึงมักเจริญสติด้วยจิตที่ยังไม่มีความตั้งมั่น รู้ตัว และเป็นกลางจริง
จิตยังไม่ปลอดจากนิวรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความฟุ้งซ่าน
ตรงนี้ก็ทำให้หลงผิดได้ง่ายๆ เหมือนกัน


จุดต่อมาก็คือ เมื่อเฝ้ารู้ความเกิดดับของอารมณ์อยู่นั้น
มักจะพยายามจำแนกอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์กับอารมณ์ที่เป็นบัญญัติ
เมื่อคิดมาก ระวังมาก แทนที่จะรู้ ก็กลายเป็นคิดไป

คือจิตกลายสภาพจากการทำหน้าที่ รู้อารมณ์ปรมัตถ์
ไปเป็น คิดและหลงบัญญัติปรมัตถ์

เช่นเมื่อเห็นความโกรธเกิดขึ้น
ก็ไม่สนใจจะรู้สภาวะของความโกรธอันเป็นเจตสิกปรมัตถ์จริงๆ
แต่กลับไปคิดใส่ชื่อสภาวะที่กำลังเกิดนั้นว่า ความโกรธ
หรือเมื่อตาเห็นรูป ถ้าไม่ตั้งสติเน้นและบัญญัติตรง "รูป"
ก็ต้องตั้งสติเน้นและบัญญัติตรง "เห็น"

ธรรมชาติของจิตนั้น ถ้าใช้สติกำหนดลงตรงจุดใด สิ่งนั้นก็มักจะดับไป
เช่นกำลังมีราคะ พอรู้ว่ามีราคะ ราคะก็มักจะดับไป
กำลังฟุ้งซ่าน พอรู้ว่ากำลังฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านก็จะดับไป
คราวนี้เมื่อเอาสติมาจ่ออยู่กับ "เห็น" ผ่านไปช่วงหนึ่ง เห็นก็จะดับไป
คือจิตดับความรับรู้ลง
มันดับด้วยอำนาจของการเอาสติจดจ่อ
ซึ่งก็คือการดับด้วยกำลังของสมาธินั่นเอง
ตรงจุดนี้จิตจะพลิกเข้าสู่ภพของอสัญญีพรหม
แต่ผู้ปฏิบัติอาจจะสำคัญมั่นหมายว่า เป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานก็ได้

ตรงนี้ก็เป็นจุดที่อาจพลาดได้อีกจุดหนึ่ง

จุดที่อาจจะพลาดได้อีกจุดหนึ่งก็คือ เมื่อเจริญสติอยู่นั้น
พอเห็นความเกิดดับไปเพียงเล็กน้อย จิตยังไม่ทันจะยอมรับความจริง
ความรู้หรือความจำที่สั่งสมมานาน ก็จะเข้ามาทำงานแทนปัญญา
คือจิตมันเกิดอาการหยุดการเจริญปัญญา มัน lock ตัวเองอยู่เพียงนั้น
เพราะรู้สึกว่ารู้แล้ว เข้าใจแล้ว พอแล้ว เห็นจริงแล้ว
จิตตรงนี้ จะไม่ยอมเจริญปัญญาต่อไป
แม้จะเจริญสติ ก็เป็นสติกระด้างๆ ทื่อๆ ขาดการวิจัยวิจารณ์ธรรม
แต่ไม่ว่าจะนึกถึงธรรมบทใด ธรรมนั้นก็ปรากฏแจ่มแจ้งไปหมด
เพราะเคยอบรมเล่าเรียนคิดค้นมาแล้วมากนั่นเอง

ขอย้ำกับหมู่เพื่อนว่า ตรงนี้เป็นข้อสังเกตส่วนตัว
ไม่ใช่ผลการศึกษาจากพระไตรปิฎก
ว่าเหตุใดผู้ที่ศึกษาพระปริยัติธรรมมากจึงพลาดได้
และผมเองก็ไม่ได้ดูหมิ่นผู้ศึกษาพระปริยัติธรรมมากๆ
เพราะผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระปริยัติธรรม แล้วลงมือปฏิบัติเลย
ก็พลาดหรือหลงผิดว่าตนเป็นพระอรหันต์ได้เช่นเดียวกัน
เพียงแต่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไปเท่านั้น


ในพระสูตรนี้ อันเป็นคำสอนของท่านพระมหากัสสปเถระ
ยังได้แสดงธรรมอีก 10 ประการ ที่เป็นสาเหตุให้ผู้ปฏิบัติ
เข้าถึงความเสื่อมในพระธรรมวินัยนี้ คือไม่เจริญในการปฏิบัติธรรม ได้แก่

1 - 5  เป็นผู้ปฏิบัติที่จิตใจถูกกลุ้มรุมด้วยนิวรณ์ 5
ได้แก่กามฉันทะหรืออภิชฌา พยาบาท ถีนมิทธะ ฟุ้งซ่าน และความสงสัย

6 เป็นผู้ชอบการงาน ยินดีในการงาน
ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเป็นผู้ชอบการงาน
เช่นการสร้างวัด การศึกษาพระปริยัติธรรมไม่รู้จบ ฯลฯ
(คำสอนนี้เป็นคำสอนพระนะครับ เป็นฆราวาสท่านไม่ให้เกียจคร้านในการงาน)

7 เป็นผู้ชอบในการคุย
ใครที่ช่างคุย แล้วถูกครูอาจารย์ห้ามไม่ให้คุยมาก จนคับแค้นใจ
ขอให้พิจารณาธรรมตรงนี้ให้มากนะครับ

8 เป็นผู้ชอบการนอนหลับ

9 เป็นผู้ชอบความเป็นผู้คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ประเด็นนี้ ชาวลานธรรม/วิมุตติก็พิจารณามากๆ หน่อยนะครับ

10 เป็นผู้มีสติหลงลืม ถึงความทอดธุระในระหว่างในคุณวิเศษเบื้องบน
ด้วยการบรรลุคุณวิเศษเบื้องต่ำ
เช่นบรรลุพระโสดาบันแล้ว ไม่ขวนขวายปฏิบัติต่อไป
เพราะนอนใจว่าถึงจุดปลอดภัยแล้ว เป็นต้น

ท่านพระมหากัสสปเถระกล่าวสรุปว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ภิกษุนั้นหนอไม่ละธรรม 10 ประการนี้แล้ว
จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ภิกษุนั้นหนอละธรรม 10 ประการนี้แล้ว
จักถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้
ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่มีได้ ฯ


การที่ท่านแสดงธรรม 10 ประการนี้ต่อท้ายจากเรื่อง "อรหันต์สำคัญผิด"
ก็น่าจะเป็นข้อสังเกตได้แล้วว่า ท่านแสดงธรรมเรื่องนี้ให้พระหนุ่มเณรน้อยฟัง
เมื่ออธิบายเหตุผลที่ทำให้ท่านผู้รู้พระปริยัติธรรมมากๆ สำคัญผิดแล้ว
ท่านจึงสอนต่อว่า ควรละธรรมอันใด และควรเจริญธรรมอันใด
เพื่อจะเจริญยั่งยืนในพระธรรมวินัยเป็นพระอรหันต์ตัวจริงได้ต่อไป
มิใช่จะเอาแต่ศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างไม่รู้จบ
(แต่จะไม่ศึกษาเลยก็ไม่ได้
เพราะไม่ใช่วิสัยของพระสาวกที่จะรู้หลักการปฏิบัติได้ด้วยตนเอง)
โดยสำคัญผิดว่า รู้มาก ฟังมาก คิดมากแล้ว จะทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

5
เขียนไว้เมื่อ วัน อาทิตย์ ที่ 3 กันยายน 2543 18:40:55

ผมได้อ่านพระสูตรเรื่องหนึ่ง เป็นคำสอนของท่านพระมหากัสสปเถระ
เกี่ยวกับธรรมที่ทำให้ผู้ปฏิบัติสำคัญผิดว่าตนเป็นพระอรหันต์
และธรรม 10 ประการที่เป็นความเสื่อมในธรรมวินัย
เห็นว่าเป็นเครื่องเตือนใจ ให้เราสำรวจและเตือนตนเองได้เป็นอย่างดี
จึงขออัญเชิญมาให้พวกเราอ่านร่วมกัน

จาก พระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 16
อังคุตรนิกาย ปัณณาสก์ที่ 2 เถรวรรคที่ 4 อัญญสูตร

ธรรมบทนี้ เป็นธรรมที่ท่านพระมหากัสสปเถระแสดงให้พระภิกษุฟัง
ณ วัดป่าไผ่ (เวฬุวันวิหาร) ใกล้เมืองราชคฤห์
เราจะเห็นว่า ท่านพระมหากัสสปเถระไม่ได้อยู่ถ้ำปิบผลิคูหาตลอดเวลา
แต่ท่านเข้ามาพักในวัดเป็นครั้งคราวเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม วัดในยุคนั้น ก็มักจะเป็นวัดนอกเมือง ไม่ใช่วัดกลางเมือง
เช่นวัดเวฬุวันอยู่ใกล้เมือง วัดอัมพวัน ก็อยู่นอกกำแพงเมือง เป็นต้น
การอยู่วัดของท่านในครั้งกระนั้น จึงไม่ต่างจากการอยู่วัดป่าในยุคนี้)

พระสูตรนี้เริ่มโดย ท่านพระมหากัสสปะได้เล่าให้พระภิกษุฟังว่า
มีพระบางองค์สำคัญผิดโดยสุจริต แล้วได้ประกาศตนว่าสำเร็จพระอรหันต์
แต่เมื่อ "พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต ผู้ได้ฌาน ผู้ฉลาดในสมาบัติ
ผู้ฉลาดในจิตของผู้อื่น ผู้ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น
ย่อมไล่เลียง สอบถาม ซักถามภิกษุนั้น
ภิกษุนั้นย่อมถึงความเป็นผู้เปล่า ถึงความเป็นผู้ไม่มีคุณ
ถึงความไม่เจริญ ถึงความพินาศ"
  (หมายถึงพบว่าไม่ได้เป็นพระอรหันต์จริง)

ตรงนี้มีจุดน่าสังเกตนิดหนึ่งว่า  พระพุทธเจ้าและพระสาวกบางท่าน
สามารถกำหนดรู้ได้เอง ว่าใครบรรลุธรรมหรือไม่ เป็นพระอรหันต์หรือไม่
แต่ที่ท่านสอบซักไล่เลียง ก็เพื่อให้เจ้าตัวรู้ว่า ตนยังไม่เป็นพระอรหันต์
ไม่ใช่ท่านจะต้องนั่งสอบอารมณ์เสียก่อน จึงจะทราบได้ว่า บรรลุหรือไม่
ถึงยุคนี้ พระป่าท่านก็ยังไม่นิยมสอบอารมณ์กัน เพราะเสียเวลาเกินจำเป็น
แค่เพียงมองหน้าก็รู้ถึงใจกันแล้ว

ท่านพระมหากัสสปเถระ เล่าให้พระภิกษุฟังต่อไปว่า
พระตถาคตหรือสาวกท่านย่อมพิจารณาว่า
เพราะเหตุใด จึงเกิดความเข้าใจผิดเช่นนี้โดยบริสุทธิ์ใจ
พระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ... กำหนดใจด้วยใจแล้ว
ย่อมรู้ภิกษุนั้น อย่างนี้ว่า
ท่านผู้นี้มีสุตะมาก ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก
ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ
ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง

เพราะฉะนั้น ท่านผู้นี้จึงมีความสำคัญผิด ...
จึงพยากรณ์อรหัตผลด้วยความสำคัญผิดว่า
เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้

ตรงนี้ผมมีข้อสังเกตบางประการคือ
กรณี "อรหันต์สำคัญผิด" นั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ
ที่ท่านพระมหากัสสปเถระยกมา น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งเท่านั้น
และแรงจูงใจให้ท่านยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าว
ก็น่าจะเกิดจากเหตุการณ์จริงในช่วงนั้น
ที่พระเถระฝ่ายปริยัติธรรมสำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์
แล้วพระพุทธเจ้า หรือพระสาวกชี้ให้เห็นว่าไม่ได้เป็นจริง

น่าแปลกใจนะครับ ว่าทำไมท่านพระมหากัสสปเถระผู้เป็นพระป่า
จึงวิจารณ์ข้อผิดพลาดของพระฝ่ายปริยัติ
มิหนำซ้ำยังมาแสดงธรรมเรื่องนี้ในวัด
ซึ่งมีพระปริยัติและพระหนุ่มเณรน้อยมากมายเสียอีก
จะว่าท่านอคติต่อพระปริยัติก็เป็นไปไม่ได้ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว
ผมเข้าใจว่า ท่านอาจจะเจตนาอธิบาย
ให้พระหนุ่มเณรน้อยเข้าใจว่า โอกาสพลาดมันมีได้จริง
ไม่ควรตระหนกตกใจจนระส่ำระสายว่าขนาดอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปริยัติยังพลาดได้
และควรถือเป็นบทเรียน ที่จะไม่ให้พลาดอย่างนั้นบ้าง

ท่านพระมหากัสสปเถระคงไม่มีเจตนาซ้ำเติมพระฝ่ายปริยัติ
แม้จะมีเรื่องราวในอรรถกถาธรรมบทอยู่มากมาย
ถึงความขัดแย้งระหว่างพระฝ่ายปริยัติต่อพระปฏิบัติ
(พระปฏิบัติท่านจะไม่ขัดแย้งด้วย
แต่มักจะถูกรุกรานจนมีเรื่องถึงพระพุทธเจ้าเสมอ
ดังนั้น หากนักปฏิบัติในยุคนี้ จะถูกนักปริยัติรุกรานบ้าง
ก็ขอให้เข้าใจว่า เป็นเรื่องธรรมดามาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล)

ข้อสังเกตประการต่อมาก็คือ ในครั้งพุทธกาลนั้น การศึกษาพระปริยัติธรรมมีขึ้นแล้ว
โดยพระภิกษุจะทรงจำพระวินัยบ้าง พระสูตรต่างๆ มากบ้างน้อยบ้าง
แล้วถ่ายทอดอบรมสั่งสอนต่อสานุศิษย์
กระทั่งบางคราว พระพุทธเจ้าทรงสั่งให้พระภิกษุสาธยายพระสูตรให้ทรงฟังก็มี

พระปริยัติธรรมในยุคนั้น ยังไม่น่ากลัวเท่าพระปริยัติธรรมในยุคถัดๆ มา
ซึ่งยิ่งนานวัน ยิ่งละเอียดซับซ้อน
เพราะมีการเขียนตีความและขยายความธรรมในชั้นเดิมมากขึ้นทุกที
โอกาสที่ผู้ศึกษาพระปริยัติธรรมในชั้นหลังจะพลาดเพราะรู้มากไป จึงยิ่งมีมาก
และเมื่อพลาดแล้ว ก็ไม่มีพระพุทธเจ้า หรือพระสาวกที่ชำนาญทางจิตจะแก้ไขให้
เพราะท่านผู้ศึกษามากคงไม่ยอมฟังท่านที่เรียนตำรามาน้อยกว่าตน

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ
ท่านผู้ศึกษาและสั่งสอนพระปริยัติธรรมนั้น
ไม่ใช่อยู่ๆ ท่านจะสำคัญตนเป็นพระอรหันต์ได้
ผมเข้าใจว่า ท่านจะต้องลงมือเจริญสติไปแล้ว แล้วจึงเกิดวิปลาสขึ้น
(มีต่อ)

6
เขียนไว้เมื่อ วัน จันทร์ ที่ 25 กันยายน 2543 11:22:00

ขึ้นชื่อว่าจิตแล้ว จะหาสิ่งใดวิจิตรพิสดารเท่า  นั้นยากจริงๆครับ
ทั้งที่จิตเองก็เป็นเพียงธรรมชาติรู้อารมณ์เท่านั้นเอง
แต่กลับมีปรากฏการณ์แปลกประหลาดได้ตั้งมากมาย

*****************************************

ถ้าพวกเรายังจำกันได้ถึงเรื่องราวของคุณแม่น้อยแห่งวัดหินหมากเป้ง
หรือประวัติและธรรมเทศนาของครูบาอาจารย์อีกหลายองค์
จะพบว่าจิตของท่าน(บางองค์) จะมีปรากฏการณ์ประหลาด
เช่นจะเกิดการถามตอบถกเถียงปัญหากันภายในจิต
ในลักษณะผู้หนึ่งถาม อีกผู้หนึ่งตอบ ราวกับว่ามีจิตสองดวง ทั้งที่จิตย่อมมีดวงเดียว
เรื่องนี้เกิดกับผู้ปฏิบัติบางท่านเท่านั้น บางท่านไม่เกิดเลย
ซึ่งก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะไม่เกิดก็ไม่เสียหาย
ถ้าเกิดแล้วรู้ไม่ทัน กลับจะพาเสียหายได้มากกว่า

คือเมื่อเราปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง เกิดติดขัดหรือสงสัยในธรรมขึ้นมา
จิตก็อาจจะตั้งคำถามขึ้น แล้วจู่ๆ โดยที่ไม่ได้จงใจคิดนึก
ก็มีผู้พูด หรือตอบคำถามนั้นขึ้นมาในจิต
บางคราวก็สั่งสอนกันดีๆ
แต่บางคราวถ้าตัวที่สงสัยมีความเห็นแย้ง ก็จะเกิดโต้แย้งกันภายใน
มีการสอบสวนถกเถียงกันจนแน่ใจ แล้วสรุปลงในวงของไตรลักษณ์
จิตก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมเรื่องนั้น เกิดความสุขความเบิกบานขึ้นมา

แต่ถ้าเถียงกันแล้ว ไม่ลงในวงไตรลักษณ์
ก็ขอให้ระมัดระวังไว้ว่า นั่นจะเป็นกลมายาของกิเลสหลอกลวงเอา
ด้วยกำลังความฟุ้งซ่านของจิต
ถ้าไปหลงยึดถือเข้าก็อาจจะติดวิปัสสนูปกิเลสโดยง่าย

บางท่านไม่เพียงแต่จิตแสดงธรรม หรือถกเถียงธรรมะกัน
แต่จะเกิดเป็นนิมิตรูปพระพุทธเจ้าบ้าง รูปครูบาอาจารย์บ้าง
ปรากฏขึ้นมาแสดงธรรมให้ฟังบ้าง มาตอบข้อข้องใจที่กำลังติดขัดอยู่บ้าง
ความจริงแล้วก็เป็นกระบวนการแสดงธรรมของจิตนั่นเอง เพียงแต่มีภาพนิมิตประกอบ
ถ้าเล่าให้ผู้อื่นฟัง ก็อาจจะเกิดงงขึ้นมา
เพราะคิดว่าพระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์ในพระนิพพานจะมาแสดงธรรมให้ฟัง
ทั้งที่นิพพานปราศจากรูปและนาม ปราศจากอายตนะที่จะเชื่อมต่อกับโลก
ท่านที่นิพพานเหมือนไฟที่ดับสลายไปแล้ว
จะกลับเป็นเปลวไฟขึ้นอีกย่อมเป็นไปไม่ได้เลย

การที่จิตเกิดถามปัญหาแล้วมีผู้ตอบ
หรือเกิดนิมิตครูบาอาจารย์หรือเทพมาแสดงธรรมให้ฟังนั้น
ยังมีได้อีกสาเหตุหนึ่ง คือมีเทพที่เคยอุปการะกันมา เมตตามาชี้แนะให้
เช่นเดียวกับพระพรหมสุทธาวาสองค์หนึ่ง มาเตือนท่านพาหิยะให้ตระหนักว่า
ตนเองไม่ใช่พระอรหันต์ และเวลานี้ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก
ท่านพาหิยะจึงรีบไปเฝ้าฟังธรรม แล้วได้เป็นพระสาวกที่รู้ธรรมเร็วที่สุด

ผมเองก็เคยพบเห็นเรื่องเช่นนี้เหมือนกัน
และเมื่อเช้านี้ คุณธีรชัยก็มาเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง แล้วขอให้ช่วยเขียนเรื่องนี้
คุณธีรชัยกลัวว่าจะปฏิบัติผิดพลาด ก็เลยทิ้งความรู้ทั้งหมดนั้น โดยไม่สนใจกับมัน
ซึ่งนับเป็นวิธีที่ถูกต้อง เพราะจิตนั้นสอนธรรมก็ได้ กิเลสมาหลอกเอาก็ได้
โอปปาติกะหลอกหลอนเอาก็ได้
ถึงอย่างไรก็ต้องรอบคอบเอาไว้ก่อน

ดังนั้น ถ้าปฏิบัติแล้วเกิดความรู้ความเห็นใดๆ ก็ควรทิ้งเสีย
เพราะเราปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ เพื่อปล่อยวางภาระ ไม่ใช่เพื่อความรอบรู้ใดๆ

ส่วนความรู้นั้น จะจริงหรือไม่จริงก็ไม่สำคัญ
เหมือนที่เซ็นกล่าวว่า จริงคือเท็จ เท็จคือจริง
คือเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ และเมื่อรู้แล้วก็ควรปล่อยวางเสีย
ถ้าสิ่งที่แสดงขึ้นนั้นเป็นธรรมจริงๆ จะพิจารณาลงในวงของไตรลักษณ์
แล้วจิตจะสงบเบิกบานอยู่ช่วงหนึ่ง
ถึงเราไม่จดจำไว้ หรือไม่ยินดียินร้ายด้วย
จิตเองนั่นแหละ ได้ซึมซับธรรมที่ถูกต้องเข้าไว้ในดวงจิตแล้ว

สำหรับประเด็นสุดท้ายก็คือปัญหาที่ว่า
จิตสอนธรรมให้ตัวเองได้อย่างไร
เรื่องนี้ไม่เคยได้ยินในตำรา
แต่ผมเคยถามครูบาอาจารย์หลายองค์ เช่นหลวงพ่อพุธ ฐานิโย
คำตอบที่ได้รับก็คือ จิตเป็นธรรมชาติรู้
เขาจะรู้ขึ้นเฉยๆ ก็ได้ หรือเขาจะแสดงสัญลักษณ์ออกมาเป็นสมมุติบัญญัติ
เช่นภาษาพูด หรือนิมิตภาพพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์ ด้วยก็ได้

********************************************

จิตสอนจิต กับการคิดเอาเองมีความต่างกันครับ
คือจิตสอนจิตนั้น ไม่มีความจงใจ เช่นกำลังเดินจงกรมทำสติสัมปชัญญะอยู่
เกิดเห็นเงาอะไรวูบวาบมา จิตเกิดความกลัวขึ้น
จิตก็จะเตือนตนเองว่าให้มีสติไว้ แล้วอาจจะแสดงธรรมให้ฟัง
บางคราวนั่งสมาธิอยู่ โดยก่อนนั่งติดขัดในข้อธรรมบางอย่าง
ระห่างนั่งก็ไม่ได้คิดเรื่องนั้นแล้ว เฝ้าทำสติสัมปชัญญะไป รู้ตัว ไม่เผลอ ไม่เพ่ง
จู่ๆ จิตรวมลงนิดหนึ่งแล้วเกิดนิมิตเป็นครูบาอาจารย์มาแสดงธรรมเรื่องนั้นให้ฟัง
หรือเกิดนิมิตเป็นสัญลักษณ์ให้แปลความหมายแก้ข้อสงสัยได้
จิตมีความชุ่มชื่นเบิกบานรื่นเริงในธรรม
แต่ทั้งหมดนี้ อย่าไปยึดถือนะครับ
จริงหรือเท็จไม่สำคัญ สำคัญที่รู้ทันจิตตนเองเท่านั้น
ส่วนความคิดจะจงใจตั้งแต่หาหัวข้อมาคิดแล้ว
แล้วก็หาเหตุผล คิดเทียบตำราและคำของครูบาอาจารย์
แต่การคิดก็มีประโยชน์ในระดับหนึ่งนะครับ
เวลาจิตเตลิดเอาไม่อยู่ ก็ใช้ความคิดนี้แหละ สอนมันตรงๆ เข้าไปเลย
หรือจะพิจารณาธรรมด้วยความคิด เช่นพิจารณาความตาย พิจารณากายก็ได้
เหมือนคนจะจมน้ำ เจอสิ่งใดลอยมาพอจะช่วยตัวได้ ก็เอาไว้ก่อนเถอะครับ

**********************************************

การทำญาณให้เห็นจิตเหมือนดังตาเห็นรูปนั้น
หมายถึงให้รู้เท่าทันกิริยาอาการทั้งหมดที่กำลังปรากฏ

เช่นเมื่อเกิดราคะ ก็เห็นสภาวะหรือปรมัตถธรรมของราคะ
อันเป็นความรู้สึกที่แทรกเข้ามาในจิต
เมื่อจิตเกิดตัณหา คือมีแรงผลักดันให้ทะยานส่งออกไปยึดอารมณ์ด้วยอำนาจของราคะ
ก็รู้ถึงแรงผลักดันและอาการทะยานไปยึดอารมณ์ของจิต
ที่ไปทางตา หู .. ใจ(โลกของความคิด)

สรุปแล้ว ก็คือให้รู้ปรมัตถธรรมหรือสภาวะของจิตใจตนเองให้ทันครับ
ไม่ใช่นั่งคิดๆ เอาว่า ตอนนี้จิตเราคงจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้
คงจะมีเจตสิกฝ่ายอกุศลตัวนั้นตัวนี้ ฯลฯ
แบบนั้นรู้แต่ชื่อกิเลสตัณหา รู้แต่ชื่อกุศลต่างๆ เอาไปทำอะไรจริงไม่ได้
เหมือนเข้าไปชกกับนักมวยฝ่ายตรงข้ามที่หายตัวได้ คงจะโดนชกข้างเดียวเท่านั้นเอง

7
(ต่อ)

ตรงจุดที่ จิตอันมีความยึดจิตว่าเป็นเรา สลายลงนี้
จิตจะเข้าถึงความเบิกบาน ผ่องใส สงบสงัดอยู่ภายใน
จะเห็นชัดว่า สิ่งใดที่นอกเหนือจากจิตออกไปนั้น ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้น
นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรอีกเลย
จิตตรงนี้แหละ คือจิตอวิชชา

ผู้ปฏิบัติจะหวงแหนจิตชนิดนี้มาก
เพราะมันช่างผ่องใสหมดจดเบิกบาน ดังหนึ่งจิตที่เข้าถึงนิพพานแล้ว
แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังเสื่อมลงได้อีก
คือเสื่อมกลับไปเป็นจิตที่มีอัสสมิมานะ หรือจิตที่ยึดว่าเป็นเรา
แม้จะพยายามรักษาอย่างไร มันก็ยังเสื่อมได้อีก
หรือในขณะที่มันยังไม่เสื่อม
มันก็เหมือนกับยังมีขอบเขต มีจุดมีตำแหน่งที่กำหนดได้
และหากมีเจตนาสักน้อยหนึ่งที่จะไปกำหนดรู้หรือพิจารณามัน
มันก็จะเสื่อมลงทันที กลายเป็นจิตที่มีอุทธัจจะ
ครั้นจะไม่กำหนด ก็กลัวว่ามันจะผิดจะเสื่อมอีก
พอกลัวผิด มันก็เสื่อมลงอีกเช่นกัน

เมื่อมันเสื่อมแล้ว ทำอย่างไรมันก็ไม่คืนดีง่ายๆ
เว้นแต่จะอาศัยการรู้สังโยชน์เบื้องสูง
แล้วเฉลียวใจรู้จิตที่ถูกยึดมั่นว่าเป็นเรา ดังที่เคยปฏิบัติมา
แต่ที่ง่ายกว่านั้น ก็คือการเฉลียวใจสักนิดว่า
จิตกำลังแสดงไตรลักษณ์ให้ดู
เพียงเฉลียวใจนิดเดียว มันก็กลับเจริญไปเป็นจิตอวิชชาอีก

จิตอวิชชา เป็นจิตที่ประกอบด้วยอวิชชา คือความไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์
มันไม่รู้จักตัวจิตเอง ว่าเป็นตัวทุกข์ เป็นตัวแปรปรวนที่หวังพึ่งไม่ได้
ผู้ปฏิบัติจึงเกิดสมุทัยคือความอยากรักษาจิตดวงนี้เอาไว้อย่างเป็นชีวิตจิตใจ
ต่อเมื่อปฏิบัติมรรค จนจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง
แล้วเกิดความรู้รวบยอดเป็นครั้งที่สี่ โดยรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจจ์
คือเข้าใจสภาพความเป็นจริงของก้อนทุกข์ตัวสุดท้ายนี้แล้ว
จึงเข้าถึงนิโรธ คือความดับทุกข์ ความสลัดคืน ความไม่อาลัยใยดีในจิตดวงนี้
จิตก็จะปล่อยวางความยึดมั่นทั้งปวง
และตัณหากับทิฏฐิ ก็ไม่อาจกลับตั้งขึ้นในจิตได้อีก

สรุปแล้ว ตรงที่จิตยึดว่าจิตเป็นเรา กับจิตอวิชชานั้น
มันยังเหลื่อมกันอยู่อีกนิดหนึ่ง
คือพอเห็นความยึดว่าจิตเป็นเรา แล้วความยึดสลายตัวลง
ก็จะเข้าถึงจิตอวิชชา ซึ่งผ่องใสเบิกบานอย่างยิ่ง
เป็นจิตรู้ที่ไม่คิดนึกปรุงแต่ง อันเป็นการสร้างภาระใดๆ ให้เกิดขึ้นกับจิต
เมื่อรู้อยู่กับรู้จนเพียงพอแล้ว
จิตก็จะสลัดคืนสรรพสิ่ง กระทั่งตัวจิตเอง สู่ธรรมชาติ
หมดกิจในทางพระพุทธศาสนาแต่เพียงเท่านี้เอง


***********************************

เพื่อประกอบการทำความเข้าใจเพิ่มเติม
ผมขอคัดลอกบันทึกส่วนตัว อันเป็นข้อสนทนาธรรม
กับพระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐสูงสุดรูปหนึ่ง
นำมาให้ผองเพื่อนชาววิมุตติได้อ่าน ด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อกัน
(ส่วนท่านที่ไม่ได้เป็นสมาชิกและหลงผ่านเข้ามา
ถ้าคิดว่าการอ่านธรรมะแบบป่าๆ จะก่อความไม่สบายใจ
เพราะไม่สอดคล้องกับความเห็นที่มีอยู่
ก็ขออย่าได้อ่านให้จิตใจเศร้าหมองเลย)

***********************************

หลวงปู่... กลับจากสหรัฐ มาพักที่........
และเรากับนุช มีโอกาสไปนมัสการท่านเมื่อ 18 มิถุนายน 2543
การเข้ากราบนมัสการครั้งนี้ เราได้เรียนรู้ธรรมด้วยการสังเกตจิตใจของหลวงปู่
พบว่าจิตของท่านไม่ต้องมีสติสัมปชัญญะเป็นเครื่องประคองรักษา
ในเวลาปกติ ท่านจะอยู่กับความสุข ความเบิกบานเพราะความหมดภาระของจิต
จิตลอยตัวอยู่เหนือขันธ์ ปราศจากโดยสิ้นเชิงจากอุปาทานขันธ์
ในยามที่ท่านติดต่อสนทนากับใคร หรือเพ่งเล็งความสนใจไปที่ใคร
สติของท่านจดจ่อลงไปที่ผู้นั้นหรือจุดนั้น
ส่วนจิตก็อยู่ส่วนจิต ไม่เคลื่อนไหว ไม่กระเพื่อม
การคิดนึกปรุงแต่งทั้งปวงเป็นเรื่องของธาตุขันธ์
ส่วนจิตไม่ทำกรรมใดๆ ทั้งสิ้น นับเป็นกิริยาจิตล้วนๆ

เราเฝ้ามองด้วยความปลาบปลื้มใจ ด้วยความเคารพยกย่อง
แล้วก็สังเกตเห็น มานะ ปรากฏขึ้นใจจิต
คือรู้ชัดว่า จิตเคารพเทิดทูนหลวงปู่ไว้เบื้องสูง
และปรารภว่า แม้เราเองก็จะพยายามปฏิบัติ
ให้ได้อย่างหลวงปู่ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ

ขณะที่สังเกตเห็นมานะนั้นเอง จิตก็ย้อนหมุนกลับนิดหนึ่ง
เห็นความยึดมั่นว่าจิตเป็นเราชัดเจนเป็นครั้งแรก
แล้วความยึดมั่นว่าจิตเป็นเราก็สลายตัววับไป
เหมือนอารมณ์ชนิดอื่นที่ถูกรู้นั่นเอง
จิตเข้าถึงความแช่มชื่นเบิกบานอยู่ช่วงหนึ่ง
หลังจากนั้นความฟุ้งในธรรมก็เกิดขึ้น
คือจิตน้อมลงพิจารณาธรรมที่ผ่านพบมานั้น
แล้วจิตก็ย้อนเห็นความยึดมั่นว่าจิตเป็นเราอีก
จากนั้นก็สลาย เหลือแต่ธรรมชาติที่เบิกบานอีกช่วงหนึ่ง

เข้าใจแล้วว่า สังโยชน์เบื้องสูงเหมือนเงาของจิต
เมื่อมีสติปัญญารู้เท่าทันเงานั้น ก็สามารถย้อนมาเห็นจิตที่เป็นตัวเราได้
และเมื่อเห็นความเป็นตัวเราของจิต
ความเป็นตัวเราก็ดับไปเช่นเดียวกับอารมณ์อื่นๆ
การปฏิบัติธรรมในช่วงนี้ มีความละเอียดประณีตยิ่งกว่าที่เคยทำมาได้ในอดีต

ปฏิบัติธรรมอยู่อย่างนี้ ก็ยิ่งระลึกถึงหลวงปู่ด้วยความเคารพบูชา
เมื่อ 1 กรกฏาคม 2543 จึงขึ้นไปกราบท่านพร้อมกับนุชและประไพ
ในวันเดินทางนั้น จิตมีอาการเสื่อมจากธรรมเล็กน้อย
ก็มีปัญญาเห็นว่า จิตเขาแสดงไตรลักษณ์ให้ดู
จิตก็กลับผ่องใสสว่างแช่มชื่นอีก รู้สึกว่าทำง่ายขึ้นมาก

คุณน้อย คุณหมอทรงศักดิ์ และแตน นำไปกราบท่านที่กุฏิ
เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. หลวงปู่ได้บังคับรถเข็นของท่านออกมาหน้ากุฏิ
แล้วหยุดรถเข็นลงตรงหน้าเราพอดี
เมื่อนมัสการแล้ว เราเงยหน้าขึ้นมองท่าน
ท่านก็ทอดสายตามองมาเช่นกัน ก่อนจะกวาดสายตาไปยังญาติโยมทั้งปวง
ขณะนั้นเราทราบด้วยใจชัดเจนเหมือนตาเห็นรูปว่า
จิตของท่านเบิกบานผ่องใสปราศจากธุลีอยู่เหนือขันธ์
ก็เกิดความโสมนัสใจ ปรารภซ้ำๆ อยู่ในใจว่า
จิตพระอริยะเจ้าอยู่เหนืออุปาทานขันธ์
รู้แจ้งพระนิพพาน มีความสุขอย่างน่าอัศจรรย์จริงๆ

หลวงปู่หันกลับมามองเรา สบตากัน จิตก็เข้าสัมผัสกันอย่างแจ่มแจ้ง
เหมือนต่างก็ฉายไฟส่องมองถึงกันอย่างทะลุปรุโปร่ง
จิตของท่านก็ยิ่งร่าเริงเบิกบาน กล่าวธรรมขึ้นกับเราว่า

"พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี
พระนิพพานเป็นความสงบอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรเลย ไม่ยึดถืออะไรสักอย่าง

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบพระนิพพาน
แล้วครูบาอาจารย์มีหลวงปู่มั่นเป็นต้น
ก็ศึกษาสืบต่อกันมากจนถึงรุ่นของเรา
มีแต่อย่างเราที่เข้าใจแล้วนี้แหละ
ที่จะรักษาสืบทอดธรรมของพระพุทธเจ้ากันต่อไปอีก

ธรรมะเป็นของรู้กันได้ด้วยใจ
จิตใจของผู้ถึงธรรมก็ย่อมสื่อถึงกัน และเข้าใจกันได้
เหมือนอย่าง ... อะไรน้อ..." (หลวงปู่นึกไม่ออก)

ท่านเจ้าคุณอุบาลีครับ (เรากราบเรียนท่าน)

"อือม์ ใช่ ... ท่านเจ้าคุณอุบาลีกับหลวงปู่มั่นนั้น ท่านสื่อกันด้วยใจ
มีความเข้าใจกันแจ่มแจ้งโดยไม่ต้องใช้คำพูด
ท่านใดปฏิบัติอย่างใดก็รู้ถึงกันอย่างชัดเจน"

หลวงปู่หันไปมองญาติโยมแล้วกล่าวอีกว่า
"ครูบาอาจารย์แต่ละองค์มีปฏิปทาต่างๆ กัน
อย่างท่านพระอาจารย์ฝั้น เวลาญาติโยมไปหาท่าน ท่านจะเทศน์ให้ฟังเสมอ
แต่ท่านพ่อลี วัดอโศการาม ท่านจะเรียกให้ญาติโยมนั่งสมาธิ ไม่ต้องพูดคุยอะไร
พอถึงเวลาก็ให้ญาติโยมกลับ
ส่วนเรา ก็แสดงธรรมบ้างตามโอกาส

หลวงปู่มองมาทางเรา
ซึ่งขณะที่เฝ้าดูจิตอยู่นั้น จิตเคลื่อนไปหน่อยหนึ่ง
พอเราเห็นไตรลักษณ์แล้วก็กลับคืนดังเดิม
โดยหลวงปู่กล่าวว่า
"เมื่อจิตมันเคลื่อนจากตรงนี้ ก็รู้ทันมัน มันแสดงไตรลักษณ์
ถ้ารู้ทัน มันก็กลับมาง่าย ไม่มีอะไรหรอก

การปฏิบัติเมื่อเข้าถึงจุดนี้ ก็มีแต่รู้อยู่ตรงนี้เรื่อยไปจนจิตมันแจ้งออกมาเอง
เมื่อจิตของเรามันแจ้งออกมาแล้วนั้น
เรามีความสุขความเบิกบานอยู่ปีกว่าๆ
จากนั้นจิตจึงเข้าสู่สภาพที่เหนือสุขเหนือทุกข์ ไม่มีอะไรแล้ว
เราก็สุขสบายอยู่อย่างนี้แหละ
เมื่อบวชทีแรกก็ไม่นึกว่าเราจะทำมาได้จนถึงเพียงนี้
ไม่นึกว่าจะมีความสุขได้ถึงเพียงนี้
พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง
ความสุขอื่นเสมอด้วยความสงบของพระนิพพานไม่มี
เอาล่ะ เราพูดแค่นี้ ใครมีอะไรก็พูดไป"

เมื่อได้รับโอกาส เราน้อมศีรษะลงยกมือไหว้ท่านแล้วถามว่า
"หลวงปู่ครับ ผมปฏิบัติด้วยการดูจิต
แล้วมาติดอยู่ที่ตรงนี้นานแล้ว จะทำอย่างไรต่อไป"
(ที่ถามสั้นเพียงนี้ เพราะทราบชัดกับใจแล้ว
ว่าท่านเห็นจิตใจเราจนหมดเปลือกและเข้าใจแล้วว่าเราต้องการถามอะไร)

ท่านยิ้มน้อยๆ ด้วยอาการที่สงบเย็น แล้วตอบว่า
"ให้ปฏิบัติอยู่ที่ตรงนี้แหละ
เมื่อจิตมันอิ่ม มันพอแล้ว มันแจ้งออกไปเองแหละ
ก็จะเป็นผู้รักษาสืบทอดพระศาสนาของพระพุทธเจ้าต่อไป"

เราถามท่านอีกว่า
"ผมควรจะรู้อยู่อย่างนี้ หรือจะต้องพิจารณาอย่างใดอีกหรือไม่"

ท่านตอบว่า "ไม่ต้องพิจารณาอะไรหรอก ในจุดนี้ให้รู้อยู่อย่างนี้แหละ
เมื่อมันพอแล้ว มันจะแจ่มแจ้งในพระนิพพานเอง
แล้วจะร้องว่าอ๋อ มันง่ายแค่นี้เอง ทำไมแต่ก่อนเราถึงไม่เห็น
เหมือนอย่างเรานี้ พอมันแจ้งออกมาแล้วถึงกับด่าตนเองว่า
ทำไมมันโง่แท้น้อ ของเท่านี้ ทำไมไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจ
แล้วก็จะมีความสุขอยู่ในใจตนเองอย่างเต็มเปี่ยม"

ท่านเหลียวกลับไปมองญาติโยมบางคน แล้วกล่าวว่า
"เราไม่ได้คุยอวดนะ เรารู้อย่างไรเราก็พูดอย่างนั้น
แล้วธรรมดา เราก็ไม่พูดเรื่องอย่างนี้หรอก"

ขณะนั้นมีโยมในวัดอีก 2 คนขึ้นมากราบท่าน
ท่านก็กล่าวว่า "อ้าวเพิ่งมา เทศน์จบแล้ว
ก็ไม่มีอะไรหรอก เราเทศน์ของเก่า
ก็มีแค่พุทโธ ธัมโม สังโฆเท่านั้นแหละ
เอาล่ะ ไปได้"
(3 กรกฎาคม 2543)

(จบ)


8
เขียนไว้เมื่อ วัน พุธ ที่ 19 กรกฎาคม 2543 09:10:35

เราเคยพูดกันถึงเรื่อง ความเห็นว่าจิตเป็นเราหรือสักกายทิฏฐิ
และเรื่อง ความยึดว่าจิตเป็นเรา หรือจิตเป็นตัวกู ไปคราวหนึ่งแล้ว
วันนี้จะขอคุยกันต่อให้หมดเปลือกของพระพุทธศาสนากันเสียที
เพราะถ้าไม่ผิดแผน .. ปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า
ผมก็คงไม่มีโอกาสมาคุยกับพวกเราอีกแล้ว

จิตที่เป็นตัวเรา หรือตัวกู ยังไม่ใช่จิตอวิชชา
แต่เป็นจิตที่ประกอบด้วยสังโยชน์ที่เรียกว่า มานะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัสมิมานะ
(การถือตัวว่านี่ฉัน นี่กู กูเป็นนั่นเป็นนี่, การถือเราถือเขา
- พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระธรรมปิฎก)
หากสามารถผ่านด่านของ จิตที่เป็นตัวเรา หรือตัวกู แล้ว
จึงจะถึงจุดสุดท้ายของการปฏิบัติ คือจิตอวิชชา

ก่อนที่จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิตที่เป็นตัวเรา หรือตัวกู กับจิตอวิชชา
ผมขอทบทวนแนวทางการปฏิบัติ
ก่อนจะพบความยึดมั่นว่าจิตเป็นตัวเรา สักเล็กน้อย

ในบื้องต้น ให้ผู้ปฏิบัติจำแนกให้ออก ระหว่างจิตผู้รู้ กับอารมณ์หรือสิ่งที่ถูกรู้
แล้วรู้อารมณ์ทั้งปวงที่กำลังปรากฏ
โดยจิตที่ไม่หลงเข้าไปแทรกแซง ยินดี ยินร้ายต่อสิ่งที่ถูกรู้นั้น

การจะจำแนกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้
ไม่ได้ทำด้วยการเอากำลังเข้าหักหาญฉุดดึงจิตออกจากอารมณ์
แต่อาจจะเริ่มจากการทำสมถะ จนจิตเป็นหนึ่ง อารมณ์เป็นหนึ่ง(สงบ)
แล้วรู้ขึ้นว่า ความสงบเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ และจิตก็เป็นเพียงผู้รู้ความสงบ

ถ้าเริ่มต้นจากการทำสมถะไม่ได้ ก็ให้ใช้ปัญญา
คือเฝ้าสังเกตกิเลสสักตัวหนึ่ง ที่เกิดขึ้นกับจิตใจ
เช่นความสงสัย ความโกรธ ฯลฯ
แล้วเฝ้ารู้อย่างใจเย็นๆ จนมันดับไป
ก็จะพบว่า กิเลสเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ เกิดแล้วก็ดับไป
ส่วนจิตเป็นผู้รู้ ผู้ดูกิเลสที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
ถ้าทำคราวเดียวยังจำแนกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ไม่ออก
ก็อย่าตกอกตกใจ ให้เฝ้ารู้กิเลสที่กำลังเกิดไปเรื่อยๆ ด้วยความใจเย็น
ไม่นานนักก็จะจำแนกได้ว่า อันนี้อารมณ์ที่ถูกรู้ อันนี้จิตผู้รู้อารมณ์

จากนั้น ก็เพียรมีสติ รู้อารมณ์ทั้งปวงที่กำลังปรากฏเรื่อยไป
ด้วยจิตที่รู้ตัว ไม่เผลอ
จะเห็นว่าบางคราว จิตก็อยู่คนละส่วนกับอารมณ์
บางคราว จิตก็จมอยู่กับอารมณ์ แยกกันไม่ออก
หลักปฏิบัติในขั้นนี้มีอันเดียว
คือให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่เป็นกลาง
ก็จะเห็นความเกิดดับของอารมณ์ทั้งปวงเรื่อยไป

ด้วยวิธีนี้ สติ สมาธิ ปัญญา ก็จะแก่กล้าไปตามลำดับ
ถึงจุดหนึ่ง ความคิดนึกปรุงแต่งก็จะดับไป
ผู้ปฏิบัติจะเกิดความรู้รวบยอด
ถึงความเป็นไตรลักษณ์ของสิ่งปรุงแต่งทั้งปวง
และรู้จักกับธรรมชาติที่ไม่เกิดไม่ตายเป็นครั้งแรก
ถึงตรงนี้ ผู้ปฏิบัติจะไม่มีความเห็นผิดอีกแล้ว ว่าจิตเป็นเรา
เพราะความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา เกิดจากความคิดนึกปรุงแต่งทั้งสิ้น

หลังจากนั้น สติปัญญาก็จะละเอียดยิ่งขึ้น
ทำให้รู้เท่าทันกิเลสตัณหาที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปด้วย
จะเห็นว่า ก่อนที่กิเลสจะเกิดขึ้น มันจะต้องมีผัสสะ
คือการกระทบอารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
หากกระทบแล้ว สติปัญญาตามทัน มันก็จบอยู่เพียงเท่านั้น
ถ้าตามไม่ทัน จะพบว่า เมื่อมีผัสสะ
ก็จะมีการปรุงสัญญาคือความจำได้หมายรู้ และเวทนา ขึ้นมาในจิต
หากรู้ทันตรงนี้ กระบวนการปรุงแต่งของจิตก็จบอีก
แต่ถ้ายังรู้ไม่ทัน สัญญาและเวทนาจะปรุงเป็นความคิดขึ้นมา
ถ้ารู้ทันตรงนี้ กระบวนการปรุงแต่งของจิตก็จบอีก
แต่ถ้ารู้ไม่ทัน ตะกอนกิเลสที่อยู่ในภวังคจิตก็จะเริ่มฟุ้งขึ้นมา
กิเลสจะผุดขึ้นมากลางอก
ถ้ารู้ทันตรงนี้ กระบวนการปรุงแต่งของจิตก็จบได้เหมือนกัน
แต่ถ้าไม่รู้ทัน กิเลสจะหลอกล่อให้จิตเกิดตัณหา เป็นแรงทะยานออกไปยึดอารมณ์
ตรงนี้ถ้ารู้ทัน กระบวนการปรุงแต่งของจิตก็จบลงอีก
แต่หลังจากนั้น ถ้าจิตหลงส่งทะยานออกไปยึดอารมณ์แล้ว
จิตจะเกิดความเป็นตัวกู ของกู  ขึ้นมากระโดดโลดเต้นทันที
ตรงนี้สายเสียแล้ว ที่จะพ้นจากความทุกข์เพราะความเป็นตัวตนของจิต

ผู้ปฏิบัติในขั้นนี้ ยังคงเห็นความเกิดดับของอารมณ์ ดังที่เคยเห็นมาแล้ว
แต่สติปัญญาจะว่องไว และเข้าใจกลไกของจิตมากขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งเกิดความรู้รวบยอดครั้งที่สอง
คราวนี้กิเลสราคะ โทสะ และโมหะ จะเบาบางลงมาก
เพราะสติปัญญาว่องไว พอที่จะไม่ปรุงแต่งเติมเชื้อไฟให้กิเลส
พอประกายกิเลสเกิดวาบขึ้น สติปัญญาจะทำงานเป็นอัตโนมัติ
แล้วกิเลสก็จะดับไป ก่อนที่จะลุกลามเป็นไฟกองใหญ่

******************************************

แม้จะผ่านการเกิดความรู้รวบยอดถึงสองครั้งแล้ว
ผู้ปฏิบัติก็ยังไม่เห็นจิตอวิชชาอย่างแท้จริง
จะเห็นได้ก็เพียงเงาๆ ของจิตที่เป็นตัวเราหรือตัวกูเท่านั้น

ด้วยสติปัญญาที่ละเอียดมากขึ้น
ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นกิเลสตัณหาละเอียดมากยิ่งขึ้น
และจะเห็นว่า จิตยังมีความพอใจในกามคือความสุขทางกายทั้งปวง
เมื่อได้ความสุขนั้นมา ก็ยังมีความพอใจ อิ่มใจ
เมื่อไม่ได้ความสุขนั้น ก็มีความขัดใจ หรือขุ่นใจเล็กๆ
จิตจะรู้ชัดว่า จิตยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งเร้าภายนอก
ซึ่งหาสาระแก่นสารใดๆ ไม่ได้
เพราะสิ่งเร้าภายนอกล้วนเป็นของที่เกิดๆ ดับๆ ไปตามสภาพ

ในขั้นนี้ ผู้ปฏิบัติที่ชำนาญในการดูจิตใจตนเอง
อาจจะรู้เห็น จิตที่เป็นตัวเราหรือตัวกู ได้เป็นครั้งคราว
แต่ถึงยังไม่ชำนาญทางจิต
ก็จะเห็นชัดถึงความไม่มีสาระของสิ่งเร้าภายนอก
รวมทั้งความไร้สาระของกาย
จนเกิดความรู้รวบยอดครั้งที่สาม

จิตในขั้นนี้ ก็จะไม่ไหลไปตามสิ่งเร้าภายนอก
แต่จะจำกัดวงความรู้เข้ามาที่ตัวจิตเอง


อาศัยความสังเกตจิตตนเองอย่างละเอียดที่สุด
ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นสังโยชน์เบื้องสูง 4 ประการ แทรกอยู่ในจิต
คือรูปราคะ ความพอใจในการเพ่งรูป
อรูปราคะ ความพอใจในการเพ่งนาม
อุทธัจจะ ความกระเพื่อมไหวนิดๆ ของจิต
เพื่อจะสรุปทบทวนสิ่งที่จิตกำลังดำเนินอยู่
ว่ากำลังทำอะไรอยู่ มีความถูกผิดอย่างไร
และการปฏิบัตินั้น จะนำไปสู่ความรู้แจ้งได้หรือไม่
เป็นความไหวกระเพื่อมในเรื่องของทิฏฐิ คือความเห็นผิดเห็นถูก
ไม่ใช่ความฟุ้งซ่านไปในกาม
และ มานะ คือความรู้สึกเทียบเราเทียบเขา

ถึงจุดนี้ ผู้ปฏิบัติส่วนมากจะมองกิเลสไม่ออก
เพราะกิเลสในขั้นนี้ ล้วนเป็นกิเลสของคนรักดี

เช่นความพอใจในสมาธิ อันได้แก่รูปราคะและอรูปราคะ
ความพอใจในปัญญา อันได้แก่อุทธัจจะ
แม้กระทั่งความนอบน้อมถ่อมตน
รู้สึกว่าครูบาอาจารย์เป็นของสูง
ส่วนเรายังต่ำต้อยจะต้องพยายามเอาอย่างครูบาอาจารย์ให้ได้
อันนี้ก็คือมานะ
กิเลสเหล่านี้ หน้าตาไม่เหมือนกิเลส
แต่หน้าตาเหมือนกุศล
ผู้ปฏิบัติส่วนมากจึงนอนแช่มันอยู่ด้วยความเต็มใจจนตลอดชีวิต

แต่ผู้มีปัญญารอบคอบ หรือได้รับคำชี้แนะจากครูอาจารย์
จะเกิดความเฉลียวใจย้อนสังเกต โดยไม่จงใจเพ่งจ้อง
และรู้ชัดด้วยใจว่า
เมื่อมีรูปราคะ ก็มีจิตที่เป็นเรา ผู้ยินดีในรูปราคะ
เมื่อมีอรูปราคะ ก็มีจิตที่เป็นเรา ผู้ยินดีในอรูปราคะ
เมื่อมีอุทธัจจะ ก็มีจิตที่เป็นเรา ผู้ปรารถนาความหลุดพ้น
เมื่อมีมานะ ก็มีจิตที่เป็นเรา ผู้เทียบตนเองกับท่าน

ทันทีที่รู้ถึงจิตที่เป็นเรา หรือจิตที่มีอัสสมิมานะ
ความเป็นเราของจิตก็จะสลายตัวลงทันที
จิตจะเข้าถึงสภาวะอันหนึ่ง
ที่เข้ามารู้อยู่ที่จุดเดียว คือตัวจิตเอง
จะกล่าวว่า เป็นสภาวะที่เป็นหนึ่ง
คือจิตผู้รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้ เป็นสิ่งเดียวกันก็ได้
เมื่อมันเป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง
ก็ย่อมไม่มีความซึมซ่านของจิตออกไปภายนอก


(มีต่อ)

9
เขียนไว้เมื่อ วัน พุธ ที่ 11 ตุลาคม 2543 08:40:33

เราเคยได้ยินกันจนชินหูเกี่ยวกับปัญญา 3 ชนิดคือ
สุตตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา
วันนี้เราลองมาสนทนากันว่า นักปฏิบัติผู้อบรมภาวนามยปัญญานั้น
จะเกิดปัญญารอบรู้ในเรื่องใดได้บ้าง
เพื่อนๆ แต่ละท่าน อาจจะกำหนดคำตอบด้วยตนเองก็ได้
ว่าท่านเองมีปัญญาเรื่องใดบ้าง อันเป็นผลจากการปฏิบัติธรรม

*************************************

หากให้ผมลองประมวลว่า ที่ปฏิบัติธรรมมานานนั้น ได้ความรู้อะไรบ้าง
ก็เห็นจะสรุปได้ว่า พอจะรู้อยู่ 3 เรื่องด้วยกัน

ความรู้ชนิดแรก เป็นผลของสมถกรรมฐาน
แล้วจิตน้อม (บางท่านถึงขั้น น้อมจิต ไปได้ตามใจปรารถนา แต่ผมทำไม่ได้ถึงเพียงนั้น)
ไปรู้ถึงอดีตบ้าง
จิตน้อมไปรู้ถึงความตายและความเกิดของสัตว์ต่างๆ บ้าง
ได้เห็นว่า ในการเดินทางท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏนั้น เป็นเรื่องเสี่ยงภัยอย่างยิ่ง
เดี๋ยวก็ขึ้นสูง เดี๋ยวก็ลงต่ำ หาความแน่นอนอะไรไม่ได้เลย
หากแต่ต้องเวียนว่ายตายเกิดไปตามกระแสกรรมของตนเอง
ช่วงใดวิบากกรรมที่ดีให้ผล ก็เกิดหรือประสบพบเห็นสิ่งที่เจริญกายเจริญใจ
ช่วงใดวิบากกรรมที่เลวให้ผล ก็เกิดหรือประสบพบเห็นสิ่งที่ไม่เจริญกายเจริญใจ
บางคราวรู้ถึงปัญหาชีวิตที่รออยู่ข้างหน้า เนื่องจากกรรมบางอย่างกำลังจะให้ผล
จึงพยายามดิ้นรนที่จะป้องกันแก้ไข แต่ก็ไม่อาจต้านทานกระแสกรรมได้

ด้วยความรู้พิเศษอันเป็นผลของสมถกรรมฐานนี้เอง
เป็นเหตุให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า กัมมสกตาปัญญา คือความรู้ว่ากรรมเป็นสมบัติของเราเอง

ความรู้ชนิดนี้ยังเป็นความรู้ที่ไม่จำกัดเฉพาะชาวพุทธ
เพราะคนศาสนาอื่นที่เป็นกัมมวาที ก็มีอยู่
เนื่องจากสมถกรรมฐาน เป็นของสาธารณะ ในลัทธิศาสนาอื่นก็มี

แต่การที่เป็นกัมมวาทีนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะพ้นจากความหลงผิดได้
เพราะจิตที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนา จะเกิดความหลงผิดได้ว่า
จิตนี้แหละเที่ยง จิตนี้แหละเป็นอมตะ
เมื่อมันออกจากร่างหนึ่งแล้ว ก็ไปเกิดในร่างใหม่ได้
และร่างใหม่จะดีหรือเลว จะพบความสุขหรือทุกข์ ก็เพราะกรรมที่เคยทำมา
ซึ่งอันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ นั่นเอง

ปัญญาที่ยิ่งกว่านี้ อันเป็นภาวนามยปัญญา ยังมีอยู่อีก
แต่เป็นปัญญาอันเกิดจากการเจริญวิปัสสนา เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา
ได้แก่ปัญญาที่เห็นว่าขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์ นั่นเอง
ดังเช่นที่พวกเราเดินจงกรม รับรู้ความรู้สึกทางกายที่มากระทบกัน ระหว่างเท้ากับพื้น
หรือรับรู้ความรู้สึกสุข ทุกข์ และเป็นกลางๆ ในจิต
หรือรับรู้ถึงกุศล และอกุศลที่เกิดขึ้นในจิต เป็นต้น
เราก็จะรู้ชัดอยู่เสมอๆ ถึงความเกิดดับของรูปธรรมและนามธรรม อย่างเป็นปัจจุบัน
ด้วยจิตที่เป็นกลาง ปราศจากความยินดีและความยินร้าย
หรือถ้าจิตเกิดความยินดียินราย ก็รู้ทันอีก
จนจิตกลับเข้าสู่ความตั้งมั่นและเป็นกลาง แล้วรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏต่อไป

วิปัสสนาปัญญานี้ จะทำให้สิ่งเร้าต่างๆ ทั้งทางวัตถุและนามธรรม
ลดอำนาจยั่วยวนจิตให้หลงใหล จนถึงขั้นที่จิตจะรู้จักปล่อยวางต่อไป

ในระหว่างการเจริญวิปัสสนานั้น ผู้ที่มีจิตใจละเอียดอ่อน
จะสังเกตเห็นกลไกการทำงานของจิตได้ด้วย
คือเห็นชัดว่า ความทุกข์นั้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ
แต่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ เมื่อจิตทะยานเข้าไปยึดอารมณ์อันหนึ่งอันใด
หากจิตไม่ทะยานเข้าไปยึดอารมณ์ ความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้น
นี้คือการชิมลางที่จะเห็นอริยสัจจ์อย่างถึงใจ อันเป็น โลกุตรปัญญา
แต่ในขั้นที่เราเห็นความเกิด - ดับของทุกข์ พร้อมด้วยเหตุปัจจัยของทุกข์ กันอยู่อย่างนี้
ยังเป็นขั้นการเจริญวิปัสสนาด้วยธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานอยู่

จิตที่เจริญวิปัสสนาปัญญามากเข้าๆ ก็จะเริ่มถอดถอนตนเองออกจากสิ่งห่อหุ้ม
จนหลุดออกจากสิ่งห่อหุ้ม เสมือนไม่มีอะไรห่อหุ้มอยู่อีก
แต่ถ้าสังเกตให้ดีก็จะพบว่า จิตยังไม่หลุดพ้นจากอุปาทานขันธ์
มันมีสภาพคล้ายๆ กับต้นไม้ ที่แหวกพ้นจากดินขึ้นมา ยืนต้นแตกกิ่งใบได้แล้ว
สัมผัสกับความโปร่งว่างของอากาศ
สัมผัสความเย็นของหยาดฝน สัมผัสความอบอุ่นของแสงแดด
ดูเหมือนจะเป็นอิสระเต็มที่ ถ้าไม่ย้อนสังเกตเห็นว่า รากยังติดดินอยู่

ปัญญาที่จะถอนรากของจิตจากอุปาทานขันธ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เรียกว่าโลกุตรปัญญา
เป็นสภาพที่จิตมีปัญญาจนยอมรับด้วยใจถึงทุกข์อริยสัจจ์ที่ปรากฏอยู่
ปราศจากตัณหาหรือความอยากที่จะพ้นจากทุกข์ แล้วเที่ยวแสวงหาสิ่งอื่นเป็นที่อิงอาศัย
ปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์ ออกความคิดความเห็น หรือให้ค่ากับสิ่งทั้งปวง
เป็นสภาพคล้ายๆ การยอมจำนน แต่ไม่ใช่การยอมจำนน
แต่เป็นการหยุด เงียบ ระงับ สลัดคืนทุกสิ่งกระทั่งจิตให้กับธรรมชาติไป
แล้วก้าวเข้าสู่ความดับ ทั้งรูป นาม ขันธ์ อายตนะ ธาตุ กระทั่งตัวจิตเองในวับเดียว

เมื่อจิตผ่านสภาวะนั้นออกไปแล้ว จิตก็หมดรากที่จะยึดขันธ์
หมดธุระการงานที่จะต้องพากเพียรต่อไป
มีแต่ความเบิกบานสบายบนความไม่ยึดติดอะไรเลย

ผมพอจะเข้าใจ ปัญญาชนิดนี้และการทำงานของมัน บ้างแล้ว
เพราะเห็นบุคคลตัวอย่าง และเห็นร่องรอยมาแล้ว
แต่ที่ต้องนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังก่อนที่จะทำได้จริง
ก็เพราะต่อไปจะไม่มีโอกาสเล่าอีกแล้ว
จึงหวังเพียงการทิ้งร่องรอยไว้ให้หมู่เพื่อนทั้งหลาย
จะได้เห็นแนวทางพอที่จะตามๆ กันไปได้ต่อไป

*****************************************

จิตนี้ที่จริงแล้วตกอยู่ใต้อำนาจของไตรลักษณ์ครับ
คืิอไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาด้วย

จิตเองก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิดได้แก่ อวิชชา ตัณหา กรรม และนามรูป
และเมื่อจิตเกิดมาแล้ว ก็อยู่ใต้อำนาจไตรลักษณ์ตลอดเวลา
เช่นเราจะสั่งให้มันตั้งอยู่อย่างนั้น ไม่แปรปรวน หรือไม่ให้มันตกภวังค์ ก็สั่งไม่ได้
จะสั่งให้มันเลือกรู้เฉพาะอารมณ์ทางตา ไม่รู้อารมณ์ทางหู ก็ไม่ได้
จะสั่งให้มันเลือกรู้แต่อารมณ์ที่ดี ไม่รู้อารมณ์ที่ไม่ดี ก็ไม่ได้
จะสั่งให้มันดีตลอด ไม่ให้เกิดอกุศลเลย ก็สั่งไม่ได้
จะสั่งให้มันโกรธอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้หายโกรธเลย ก็สั่งไม่ได้เช่นกัน

แต่ที่อี๊ดรู้สึกว่า จิตมีหนึ่งเดียว แล้วเวียนรู้อารมณ์นั้นอารมณ์นี้ ดีบ้างชั่วบ้าง
พอตายแล้วก็ออกจากร่างไปเกิดใหม่
ทัศนะอย่างนี้เป็นทัศนะธรรมดาทั่วไปครับ
ส่วนมากใครๆ ก็รู้สึกอย่างนี้ (เว้นแต่พวกที่คิดว่าตายแล้วสูญ)
เนื่องจากจิตที่เกิดมาใหม่นั้น มันมีความจำได้หมายรู้เกิดมาด้วยพร้อมกับจิต
และจิตดวงใหม่ มันรับมรดกกรรมสืบเนื่องมาจากจิตดวงเก่าๆ
เราก็เลยคิดว่ามันเป็นอันเดียวกัน
คล้ายๆ กับเราจุดไม้ขีดไฟ แล้วเอาไฟไปจุดเทียน
ไฟของไม้ขีด กับไฟของเทียนมันร้อนเหมือนกัน แสงสีเหมือนกัน
เราก็เลยนึกว่า มันเป็นไฟอันเดียวกัน
ทั้งที่มันเป็นเพียงไฟที่ต่อเนื่องกันไปเท่านั้น

**************************************

การที่นั่งทำสมาธิแล้วรู้ว่า
"กายนี้ไม่ใช่ของเรา ตัวเราก็เป็นเพียงอาการรู้เท่านั้นเอง หน้าตา รูปร่างอะไรก็ไม่มี"
ก็นับว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้องอันหนึ่ง
แต่ความรู้ตรงนี้ยังไม่พอถึงขั้นปลอดภัยจากความหลงผิดนะครับ
เพราะนักปฏิบัตินอกพระพุทธศาสนาเขาก็เห็นเหมือนกันว่ากายไม่ใช่เรา
ส่วนตัวเราเป็นเพียงธรรมชาติรู้ หรือจิตนั่นเอง
ความเห็นว่าจิตเป็นเรานี้แหละ แสดงว่า สักกายทิฏฐิ ยังมีอยู่

ความรู้ความเข้าใจทุกชนิด เมื่อพบคราวแรกก็ย่อมนำความตื่นเต้นยินดีมาให้
แต่เมื่อพบบ่อยๆ ก็ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไป
แม้แต่เรื่องโลกๆ ก็เป็นอย่างเดียวกัน
เหมือนคนที่เป็นแฟนกัน เวลาเจอหน้ากัน
ย่อมตื่นเต้นกว่าคนที่แต่งงานอยู่กินกันแล้ว
ถ้าไม่เชื่อถาม หนึ่ง ดูก็ได้ :)

ที่ต่ายเล่าว่า เดินอยู่แล้วโดนคนกระแทกเข้าจังๆ
เห็นความโกรธพุ่งออกมาจากกลางอก แล้วก็ดับทันที รู้ชัดๆจังๆว่า โทสะมันไม่ใช่เรา
อันนี้เป็นความรู้ที่ถูกต้องแล้ว แต่เมื่อรู้แล้วก็ให้ทิ้งความรู้นั้นเสีย
อย่าเอามาอนุมานสำหรับการรู้คราวต่อไป

เช่นต่อไปโดนคนกระแทกอีก เกิดความโกรธขึ้นอีก
ก็ให้รู้ความเกิดดับของความโกรธไป
ไม่ใช่เอาความรู้เดิมมาอนุมานว่า ความโกรธไม่ใช่เรา
แต่ต้องให้รู้ความเกิดดับของความโกรธจริงๆ


ธรรมดาของจิตนั้น ถ้ามันสรุปอะไรไว้แล้ว
มันมักจะชินกับการเอาความรู้ของเก่ามาตัดสินปรากฏการณ์ใหม่
ทำให้หมดโอกาสที่จะหาความรู้เพิ่มขึ้น

เช่นพอความโกรธเกิดขึ้น ก็จะไม่สนใจรู้สภาวะของความโกรธ
แต่ไปคิดรวบยอดเอาว่า ความโกรธไม่ใช่เรา ช่างมันเถอะ
กลายเป็นการเอาความจำ เข้ามาปิดกั้นการเรียนรู้สภาวธรรมอันเป็นปัจจุบันของจิต
แล้วก็เกิดความภูมิใจว่า เดี๋ยวนี้ฉันรู้ทันความโกรธ พอรู้ปุ๊บมันก็ดับปั๊บ

ที่ผ่านมาจิตของต่ายมันชอบสรุปเอาเองล่วงหน้าอย่างนี้
เช่นเดินจงกรมอยู่แล้วเกิดความรู้เห็นหรืออาการอย่างนั้นอย่างนี้
ก็ไปหลงยินดีกับมัน แล้วสรุปเอาเลยว่า
อันนี้คืออย่างนี้ เกิดจากอย่างนี้ แก้ได้อย่างนี้
แทนที่จะเฝ้ารู้ความเกิดดับของสภาวธรรมทั้งหลายต่อไปด้วยจิตที่เป็นกลาง

เวลาพบหน้าครูบาอาจารย์จึงต้องถูกเข่นเป็นธรรมดา
เพราะถ้าได้รับคำชมก็จะยิ่งเหลิงว่าตัวเก่งหนักเข้าไปอีก
แล้วก็จะพยายามไปปฏิบัติเพื่อหาความรู้ความเห็นต่างๆ มาคุยอีก
แทนที่จะเฝ้ารู้ เฝ้าสังเกตจิตใจของตนไปอย่างเงียบๆ เพื่อความพ้นทุกข์ของตนเอง

**************************************************

เวลาที่เราเจริญสติมากๆ จิตมันเป็นอย่างนั้นแหละครับคุณอี๊ด
ประเภทกายหลับ จิตยังไม่ยอมหลับ แต่กลับตื่นขึ้นทำสมาธิ
ต่อเมื่อภาวนาไปนานๆ มันจะเปลี่ยนสภาพไปอีก
คือหลับก็หลับลงภวังค์ไปเลย เป็นการพักจริงๆ
ตอนตื่นจะรู้กายเช่นลมหายใจ หรือรู้จิตทันทีเป็นอัตโนมัติ

ช่วงที่ผมยังหนุ่มกว่านี้
จิตใจมันยังขยันแบบไม่รู้จักแยกเวลาปฏิบัติกับเวลาพักผ่อน
คราวหนึ่งผมไปราชการต่างจังหวัด ตอนนั้นยังเด็กก็ต้องนอนห้องละ 2 คน
พอหลับ จิตก็ตื่นขึ้นนั่งสมาธิตลอดคืน สดชื่นดีเหลือเกิน
พอเช้ามืดตื่นขึ้นมา เห็นเพื่อนร่วมห้องนอนคลุมโปงตัวสั่นอยู่
เรียกขึ้นมาถามก็ได้ความว่า เมื่อคืนเขาหลับไปตื่นหนึ่ง
พอลืมตาขึ้นก็เห็นผมนั่งสมาธิอยู่บนเตียง
แล้วก็เห็นผมอีกคนหนึ่งนอนหลับอยู่
เขาคิดว่าผมเลี้ยงผีเอาไว้นั่งเฝ้าเวลาเจ้าของหลับ
ก็เลยรีบคลุมโปงอยู่จนสว่าง

เรื่องนี้เล่ากันสนุกๆ นะครับอย่าคิดมาก
ถ้าคุณอี๊ดมีอาการกายหลับแต่จิตตื่นบ่อยๆ
สักวันอาจจะมีคนเห็นอย่างนี้บ้างก็ได้เหมือนกันเวลาที่เราเจริญสติมากๆ จิตมันเป็นอย่างนั้นแหละครับคุณอี๊ด
ประเภทกายหลับ จิตยังไม่ยอมหลับ แต่กลับตื่นขึ้นทำสมาธิ
ต่อเมื่อภาวนาไปนานๆ มันจะเปลี่ยนสภาพไปอีก
คือหลับก็หลับลงภวังค์ไปเลย เป็นการพักจริงๆ
ตอนตื่นจะรู้กายเช่นลมหายใจ หรือรู้จิตทันทีเป็นอัตโนมัติ

ช่วงที่ผมยังหนุ่มกว่านี้
จิตใจมันยังขยันแบบไม่รู้จักแยกเวลาปฏิบัติกับเวลาพักผ่อน
คราวหนึ่งผมไปราชการต่างจังหวัด ตอนนั้นยังเด็กก็ต้องนอนห้องละ 2 คน
พอหลับ จิตก็ตื่นขึ้นนั่งสมาธิตลอดคืน สดชื่นดีเหลือเกิน
พอเช้ามืดตื่นขึ้นมา เห็นเพื่อนร่วมห้องนอนคลุมโปงตัวสั่นอยู่
เรียกขึ้นมาถามก็ได้ความว่า เมื่อคืนเขาหลับไปตื่นหนึ่ง
พอลืมตาขึ้นก็เห็นผมนั่งสมาธิอยู่บนเตียง
แล้วก็เห็นผมอีกคนหนึ่งนอนหลับอยู่
เขาคิดว่าผมเลี้ยงผีเอาไว้นั่งเฝ้าเวลาเจ้าของหลับ
ก็เลยรีบคลุมโปงอยู่จนสว่าง

เรื่องนี้เล่ากันสนุกๆ นะครับอย่าคิดมาก
ถ้าคุณอี๊ดมีอาการกายหลับแต่จิตตื่นบ่อยๆ
สักวันอาจจะมีคนเห็นอย่างนี้บ้างก็ได้เหมือนกัน


10
บทความนี้ ลุงถนอมได้ลงตอบกระทู้ของคุณ Student ไว้ ผมเห็นว่ามีประโยชน์สำหรับผู้ที่ถนัด อานาปานสติ (ดูลมหายใจ)นะครับ

ลุงถนอม : คำอธิบายเรื่อง วิตก วิจาร ในองค์ฌานนั้น เข้าใจว่าน่าจะสงสัยในเรื่องการทำสมถะให้ถึงฌานมากกว่า ดังนั้นขอคัดลอก
พระธรรมเทศนาของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช มาให้อ่านกัน ซึ่งตรงนี้เป็นคลิปส์ที่ยังไม่ได้เผยแพร่นะครับ เลยเอาลิงก์มาให้อ่านไม่ได้
และคัดมาเพียงส่วนหนึ่งของคลิปส์นี้เท่านั้นครับ เพราะยังทำไม่เสร็จ ยังรอกระบวนการสุดท้าย และรอคิวเผยแพร่อยู่ครับ >>>

สมถะอีกชนิดหนึ่งเป็นสมถะเต็มรูปแบบ อันนั้นทำยากแล้ว ในยุคนี้ที่มาเรียนกับหลวงพ่อ หลวงพ่อเห็นอยู่ไม่กี่คน มีไม่มาก ที่ทำสมถะเต็มรูปแบบได้ เห็นมีคุณดำเกิง มีอาจารย์วิชา อาจารย์วิชาเป็นลูกศิษย์อาจารย์วิริยังค์ทำอานาปานสติ คุณดำเกิงเป็นลูกศิษย์ท่านเจ้าคุณนรฯ ท่านก็ทำอานาปานสติเหมือนกัน พวกนี้เขาฝึกสมาธิ เขาฝึกกันทุกวัน หายใจไปนะ หายใจไป หัดใหม่ๆก็จะไปรู้ลมหายใจเข้า-ลมหายใจออก ลมหายใจเนี่ยเขาเรียกว่า "บริกรรมนิมิต" ไปรู้ลมหายใจ ไม่เอาสติไปที่อื่นแล้ว มีแต่สติอยู่กับลม แต่ว่าไม่เผลอตัวนะ ไม่เคลิ้ม ไม่ลืมตัว รู้สึกตัวอยู่ แล้วก็เห็นร่างกายนี้หายใจ ใจเป็นคนดูอยู่ เห็นลมอยู่ เอาลมหายใจนี้เป็นอารมณ์

หายใจไปนะ ทีแรกลมหายใจจะยาว หายใจเป็นธรรมชาติเนี่ย เราจะหายใจยาว หายใจลึกนะ หายใจไปถึงท้องเลย ทีนี้พอเราหายใจไปเรื่อย จนเริ่มสงบ ลมหายใจจะสั้น สั้นๆนะ จนขึ้นมาอยู่ที่ปลายจมูกนี้หน่อยเดียว เพราะฉะนั้นพอลมมันละเอียด ลมมั้นสั้นนะ ค่อยๆละเอียดๆนะ ใจนี้มันจะโล่งว่าง จะสว่าง มันจะรู้สึกสว่าง

ทำไมรู้สึกสว่าง เวลาคนนั่งสมาธินะ เลือดจะมาเลี้ยงสมองส่วนหน้านี้เยอะ ถ้าคนฟุ้งซ่านนะ เลือดจะไปเลี้ยงที่อื่น ไปเลี้ยงมือเลี้ยงเท้ามั้ง เลี้ยงปาก แต่พอจิตเริ่มสงบนะ เลือดมาอยู่ที่ตรงนี้เยอะ จะให้ความรู้สึกว่าสว่าง สบาย แต่ไม่ใช่ว่าสว่างขึ้นมาเพราะเลือดมาอยู่ที่หัวหรอกนะ อันนี้สำหรับมนุษย์นะ เทวดาเขาไม่มีเลือดนี่ เขานั่งสมาธิเขาก็สว่างได้เหมือนกัน พอจิตมันสงบมันก็จะสว่างขึ้นมา

ทีนี้สว่างทีแรกมันก็จะสว่างอยู่ตรงนี้ เป็นดวงขึ้นมา ให้เราดูดวงสว่างตรงนี้แทนลมหายใจ เพราะลมหายใจสั้น..จนลมหายใจหยุดไปแล้วนะ จะเป็นดวงสว่างขึ้นมา ใช้แสงสว่างตรงนี้แทนลมหายใจ ตัวนี้เรียกว่า "อุคคหนิมิต" ไม่ใช่บริกรรมนิมิตแล้ว ตัวลมเป็นแค่บริกรรมนิมิตนะ พอมันเป็นความสว่างเกิดขึ้น เป็นอุคคหนิมิต ใช้ความสว่างนี้เป็นอารมณ์กรรมฐาน หายใจไปเรื่อย..แต่มันไม่รู้สึกว่าหายใจเท่าไหร่ มันเหมือนหายใจทางผิวหนัง แต่ใจมันจะสว่าง รู้ในความสว่าง มันก็ใหญ่ๆขึ้นมาได้นะถ้าฝึกชำนาญ ถ้าไม่ชำนาญก็จะถลำลงไปในแสงแล้วก็เบลอร์ไปเลย เคลิ้มๆไป ถ้าชำนาญก็จะขยับได้ ให้ใหญ่แค่ไหนก็ได้ ให้เต็มโลกก็ได้ จิตใจก็เริ่มมีปีติมีควาสุขขึ้นมา นี่ได้สมาธิ

พอมีสมาธิขึ้นมาแล้วนะ ก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น จิตมันยังตรึกมันยังตรองถึงดวงสว่างนี้อยู่ เรียกว่ามีวิตกมีวิจารอยู่ จิตยังไม่ละเอียดจริง เราเฝ้ารู้ไปนะ จิตมันสงบขึ้นมาเนี่ย มันทิ้งการตรึกการตรองในตัวนิมิต ไม่เอานิมิตนะ มันกลับมารู้ที่จิตได้ จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาเป็นตัวผู้รู้ขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นเป็นตัวผู้รู้แล้วเนี่ยมันจะเห็นว่ามีความสุขเกิดขึ้น มันมีความสุขอยู่แล้วแหละแต่ทีแรกมันหวือหวามันไม่ดูความสุขนะ มันมัวแต่ไปดูนิมิต จิตมันเปลี่ยนจากการรู้นิมิตมาดูความสุขแทน ความสุขก็จะดับให้ดู เป็นอุเบกขาขึ้นมา มีปีติ มีสุข สุดท้ายจิตเป็นอุเบกขา แล้วทรงตัวเป็นผู้รู้อยู่นะ บางทีร่างกายหายไปเลย ไม่มีร่างกายแล้ว



11
(ต่อ)

ผมไม่ได้เล่าถึงที่มาของกระทู้นี้
ยิ่งพอไปเขียนข้อสังเกตเข้า
วัตถุประสงค์ของกระทู้ก็เลยเบี่ยงเบนไปนิดหน่อย

เรื่องนี้สืบเนื่องจากเมื่อ 3 - 4 คืนก่อน ผมเดินจงกรมอยู่ตอนตีหนึ่งกว่าๆ
เดินทีแรกก็เริ่มตามสูตร คือรู้ที่เท้ากระทบพื้นไป
รู้ความแข็งของพื้น กับความยืดหยุ่นของเท้าไปเรื่อยๆ
พอจิตมีกำลัง จิตก็ขึ้นมารู้ชัดอยู่ที่จิต ซึ่งสงบและเบิกบานอยู่

สักพักจิตก็สอนจิตว่า จิตในจุดนี้ยังยึดขันธ์ 5 อยู่ ยังไม่หลุดพ้น
แล้วจิตก็รู้ลงไปในกาย เห็นกายเป็นรูปอันหนึ่งที่กำลังปรากฏ
เป็นของทิ้ง คือเอาไว้ไม่ได้ ไม่นานการประชุมกันอยู่ของธาตุ ก็จะสลายตัวไป
แม้ในส่วนของนามธรรม ก็เป็นของทิ้งเหมือนกัน
เพราะมันเกิดดับไปตามเหตุปัจจัยของมัน
ไม่มีอะไรเลยสักอย่าง ที่จะยึดเอาไว้ได้
เมื่อจิตพิจารณามาถึงจุดนี้ โดยมีปรมัตถธรรมของกายและใจ
เป็นเครื่องรองรับยืนยันให้เห็น
จิตก็เห็นจริงแล้ววางกายวางจิตลงชั่วขณะ ราวๆ 2 - 3 วัน

การที่จิตเจริญปัญญานั้น จิตจะต้อง
(1) เจริญของเขาเอง แล้วแต่เขาจะหยิบยกธรรมใดขึ้นมาพิจารณา
โดยก่อนหน้านั้น ผู้ปฏิบัติก็เพียงแต่เจริญสติสัมปชัญญะเท่านั้น

(แต่ต้องไม่เพ่งกดจิตตนเองจนเจริญปัญญาไม่ได้
และไม่หลงฟุ้งซ่านขาดสติสัมปชัญญะ
เมื่อจิตจะพิจารณาธรรม เขาก็จะหาแง่มุมขึ้นมาพิจารณาเอง)
และ(2) มีสภาวธรรมรองรับ คือรู้เห็นสภาวธรรมที่กำลังปรากฏไปด้วย
เช่นถ้าจิตพิจารณาโทสะ ก็จะดำเนินตอนที่สภาวะของโทสะกำลังปรากฏอยู่
ไม่ใช่เจริญปัญญาอยู่บนนิมิต หรือความคิดลอยๆ ด้วยเหตุผลหรือตรรกะ
ไม่มีประจักษ์พยานอันเป็นสภาวธรรม หรือปรมัตถธรรมรองรับ
เช่นนั่งคิดว่า โทสะเป็นยังไง มันไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าไปยึดถือมัน เป็นต้น
เพราะอันนั้นจะเป็นความฟุ้งซ่าน ยังไม่ใช่การเจริญปัญญาที่แท้จริง
หรืออย่างที่เคยเล่าเมื่อไม่นานนี้ว่า
แม่บ้านผมเห็นการที่จิตเคลื่อนเข้าไปยึดความเห็น แล้วเกิดทุกข์
อันนั้นแหละจิตเจริญปัญญา เพราะไม่ได้จงใจจะเห็น
แต่จิตไปรู้เห็นเท่าทันสภาวธรรมที่กำลังเกิดขึ้น
พร้อมทั้งเข้าใจเหตุผลต้นปลาย แล้วปล่อยวางได้
ถ้ารู้แล้วแบกไว้ก็ยังไม่ใช่ปัญญา
ต้องรู้แล้ววางได้ จึงจะเป็นปัญญา


ตอนนั้นจิตประจักษ์ชัดว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย
ที่เกิดขึ้นทั้งรูปนามล้วนแต่เป็นก้อนทุกข์ทั้งนั้น
กายนี้ จิตนี้ เขาเกิดแก่เจ็บตาย เขาทุกข์ไปตามเรื่องของเขา
ถ้าจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว เพราะมีปัญญาเห็นธรรม
คือความเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง ของกายของจิต
ความทุกข์ก็ไม่กระทบถูกต้องเข้าถึงจิต

เมื่อผ่านภาวะนั้นมาแล้ว กลับมาบัญญัติให้พวกเราฟัง
คำบัญญัติกลายเป็นถ้อยคำที่พื้นๆ ธรรมดาๆ อย่างยิ่ง
คือ"เกิด แก่ เจ็บ ตาย ... เป็นทุกข์ แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับจิต
แต่ตัณหา เป็นเหตุให้จิตเป็นทุกข์
ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง จิตก็หลุดพ้น"
ความอัศจรรย์ของธรรมที่จิตรู้ กับความธรรมดาของธรรมที่บัญญัติออกมา
มันมีรสชาด และความจืดชืดต่างกันราวฟ้ากับดินทีเดียว

ก่อนหน้านี้ จิตผมก็เคยดำเนินถึงจุดนี้หลายคราวแล้ว
ที่จำได้คือครั้งแรกนั้น จิตเห็นจิตอยู่ แล้วเกิดรู้จริงว่า
ไม่มีใครทำจิตให้หลุดพ้นได้ นอกจากจิตเขาจะหลุดพ้นเอง
ต่อมาพิจารณาสัญญา
ต่อมาไปเห็นหลวงปู่สุวัจน์เข้า
ต่อมาเห็นอริยสัจจ์
คราวสุดท้ายนี้เห็นทุกข์เข้า เป็นต้น
แต่ละครั้งแต่ละคราว จิตจะปล่อยวางด้วยการรู้สภาวธรรมที่ต่างๆ กัน
โดยไม่มีความจงใจ และไม่มีความคาดหวัง
เพราะถ้าจงใจ ตัณหาจะเข้าแทรกทันที

พบเรื่องพวกนี้หลายคราวเข้า ก็เลยเข้าใจชัดว่า
เหตุใดธรรมที่ครูบาอาจารย์นับแต่พระศาสดาลงมา
เมื่อแสดงออกมาเป็นคำพูด บางครั้งดูธรรมดาๆ ไม่น่าจะมีผลมาก แต่ก็มีผลมาก
ทั้งนี้ก็เพราะธรรมในจิตใจของท่าน
และธรรมในจิตใจของท่านผู้มีวาสนาได้ฟังธรรมจากท่าน
ย่อมมีรสชาดและความลึกซึ้งไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยกับคำพูด

คิดจะเล่าเรื่องนี้ให้พวกเราฟังครับ
แต่พอตัดเอาเรื่องของตนเองออก
เขียนกระทู้ออกมาแล้ว มันกลายเป็นคนละเรื่องไปได้
จึงจำเป็นต้องเอาเรื่องการปฏิบัติของตนเองออกมาเล่า
ทั้งที่คิดจะเลี่ยงแต่แรกแล้วครับ
เพราะเกรงใจคนที่หลงเข้ามาอ่าน เขาอาจจะเข้าใจผิดว่าโอ้อวดก็ได้
แต่ครั้นไม่พูดออกมา ก็สื่อความเข้าใจได้ยากเสียอีก

*******************************************************

มาร คือสิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ
หรือตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี
ตามตำราชั้นหลังประมวลจากพระไตรปิฎกไว้เป็น มาร 5 ได้แก่
1 กิเลสมาร มารคือกิเลส (พบคำนี้ในพระไตรปิฎก 6 แห่ง)
2 ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ (พบ 4 แห่ง)
3 อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขารที่ปรุงแต่งกรรม
(ไม่พบมารชนิดนี้ในพระไตรปิฎก แต่มีร่องรอยที่ทำให้ตำราชั้นหลัง
ท่านสถาปนามารชนิดนี้ขึ้นไว้เหมือนกัน ซึ่งจะกล่าวในตอนท้าย) 
อภิสังขารเป็นมารเพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม ทำให้เกิดชาติชรา เป็นต้น
ขัดขวางไม่ให้หลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์
4 เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร (พบ 1แห่ง)
5 มัจจุมาร มารคือความตาย (พบ 1 แห่ง)

มารทั้ง 5 นี้ ขัดขวางผู้ปฏิบัติ เช่นเมื่อกิเลสมารคุกคาม จิตก็ไม่ตั้งมั่น
เมื่อมัจจุมารคือความตายคุกคาม ก็หมดโอกาสปฏิบัติธรรม เป็นต้น

ความจริงเรื่องมาร 5 นี้ ที่ผมเคยอ่านแล้วจับใจที่สุด
เป็นมาร 5 ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงต่อพระราธะ
จึงอัญเชิญมาให้อ่านกันเอาเองครับ
(จากพระสุตตันตปิฎก  เล่ม 9 สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
2. ราธสังยุต ปฐมวรรคที่ 1  มารสูตร  ว่าด้วยขันธมาร

      [366] พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะ
ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า มาร มาร ดังนี้
ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล จึงเรียกว่า มาร?

      พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรราธะ
เมื่อรูปมีอยู่ มาร (ความตาย) จึงมี ผู้ทำให้ตายจึงมี ผู้ตายจึงมี
เพราะฉะนั้นแหละ ราธะ เธอจงพิจารณาเห็นรูปว่า เป็นมาร
เป็นผู้ทำให้ตาย เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร
เป็นความทุกข์ เป็นตัวทุกข์
บุคคลเหล่าใดพิจารณาเห็นรูปนั้นอย่างนี้
บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมเห็นชอบ.

เมื่อเวทนามีอยู่ ฯลฯ  เมื่อสัญญามีอยู่ ฯลฯ เมื่อสังขารมีอยู่ ฯลฯ
เมื่อวิญญาณมีอยู่ มารจึงมี ผู้ทำให้ตายจึงมี  ผู้ตายจึงมี
เพราะฉะนั้นแหละ ราธะ เธอจงพิจารณาเห็นวิญญาณว่า เป็นมาร
เป็นผู้ทำให้ตาย  เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร
เป็นความทุกข์ เป็นตัวทุกข์
บุคคลเหล่าใดพิจารณาเห็นวิญญาณนั้นอย่างนี้
บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมเห็นชอบ.

อายาจนวรรคที่ 3  มารสูตร ว่าด้วยการละความพอใจในขันธมาร
      [389] พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะ
ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาส
ทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์
ที่ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท
มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราธะ สิ่งใดแลเป็นมาร
เธอพึงละความพอใจ ความกำหนัด
ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในสิ่งนั้นเสีย.

ดูกรราธะ ก็อะไรเล่าเป็นมาร?
ดูกรราธะ รูปเป็นมาร เธอพึงละความพอใจ ความกำหนัด
ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในรูปนั้นเสีย.
เวทนาเป็นมาร ... สัญญาเป็นมาร ... สังขารเป็นมาร ...
วิญญาณเป็นมาร เธอพึงละความพอใจ ความกำหนัด
ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในวิญญาณนั้นเสีย.

ดูกรราธะ สิ่งใดแลเป็นมาร เธอพึงละความพอใจ ความกำหนัด
ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในสิ่งนั้นเสีย.

                         
นี่แหละครับ มาร 5 ในเชิงปฏิบัติ ที่น่าสนใจมากทีเดียว

ความจริงในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงมารชนิดต่างๆ
เช่นกิเลสมาร และเทวปุตตมารไว้เช่นกัน
ทั้งยังกล่าวถึงมารอีกหลายชนิด ที่ตำราชั้นหลังไม่ได้กล่าวถึง
ลองอ่านดูเองนะครับ จากพระสุตตันตปิฎก  เล่ม 22  ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

[427] คำว่า มารย่อมไปตามสัตว์ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้นนั่นแล
ความว่า ขันธมาร ธาตุมาร อายตนมาร คติมาร อุปบัติมาร ปฏิสนธิมาร
ภวมาร สังสารมาร วัฏฏมาร อันมีในปฏิสนธิ
ย่อมไปตาม คือ ตามไป เป็นผู้ติดตามไป ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้น นั่นแล.

รวมแล้วเป็นมารอีกหลายชนิดทีเดียว
และตำราชั้นหลังท่านคงรวบเข้าเป็นอภิสังขารมาร
จะขาดก็แต่มารดำ มารขาว
ที่สำนักกรรมฐานบางแห่งเขาสอนกันเท่านั้นแหละครับ :)

จบ

12
เขียนไว้เมื่อ วัน พฤหัสบดี ที่ 21 กันยายน 2543 09:54:42

ผมเคยเรียนเรื่องอริยสัจจ์ 4 มาตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา
เรียนแล้วเกิดความสงสัยอย่างมากว่า ทุกข์ เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็รู้จัก
แต่เหตุใดพระพุทธเจ้าท่านต้องมาสอนให้สาวกรู้จักทุกข์ด้วย
(คนรุ่นผมตอนเด็กเขามีวิชาศีลธรรมให้เรียนกัน
ตำราของกระทรวงศึกษาธิการสอนไว้ จำได้เลยว่า นิพพาน แปลว่า ตาย
ตอนเด็กๆ จึงรู้สึกว่า นิพพานนี่น่ากลัว ไม่น่าปรารถนาเลย)

ความทุกข์ที่พระองค์นำมาแสดง เป็นของตื้นๆ พื้นๆ อย่างยิ่ง
เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็รู้ๆ กันอยู่แล้ว
เพราะใครๆ ก็เคยเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย
หรือใครๆ ก็รู้ว่า การประสบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์
การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์  และเมื่อไม่ได้อย่างที่ใจอยากก็เป็นทุกข์
ใครๆ ก็เคยเศร้าโศก ร่ำไรรำพัน ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ คับแค้นใจ เหี่ยวแห้งใจ

ตอนโตขึ้นมาหน่อย อ่านพระพุทธประวัติบ้าง ชาดกบ้าง
แล้วรู้สึกรักพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง
เพราะท่านต้องทนลำบากบำเพ็ญบารมีมาตั้งสี่อสงไขยแสนมหากัปป์
ในพระชาติสุดท้ายก็ทรมานพระกายจนสลบ
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของมหาบุรุษที่กินใจเด็กๆ มาก
แล้วก็มาสงสัยอยู่อีกหน่อยหนึ่งว่า
ท่านทนลำบากตั้งมากมาย เพียงเพื่อจะทราบและสั่งสอนว่า
ใครๆ ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายกระนั้นหรือ
ความลำบากของพระองค์ กับธรรมที่ทรงรู้ เหตุใดจึงมีน้ำหนักต่างกันนัก

แรกที่เริ่มลงมือศึกษาปฏิบัติธรรมจริงๆ จังๆ ได้ฟังครูบาอาจารย์สอนว่า
รู้ทุกข์อย่างเดียวก็คือปฏิบัติกิจของอริยสัจจ์ 4 ครบแล้ว
แต่ก็ยังเห็นว่าทุกข์ไม่ใช่เรื่องลึกซึ้ง
มรรคต่างหาก เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งกว้างขวางมาก

ปฏิบัติมาช่วงหนึ่งจึงเห็นความสำคัญของเรื่องทุกข์จับใจ
ว่าประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ว่า ให้รู้ว่าคนเราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย
เพราะอันนั้น ใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว
แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า
ให้รู้และยอมรับด้วยใจว่า
ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ตลอดจนบรรดาความทุกข์ต่างๆ และสิ่งทั้งปวง
มันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติธรรมดาต่างหาก
ถ้าไปหลงยึด หรือปฏิเสธมันเข้า นั่นแหละจะเกิดทุกข์ซ้ำสอง


การปฏิบัติธรรม ก็คือการเจริญสติสัมปชัญญะเพื่อเรียนรู้ความจริงตรงหน้า
จนกระทั่งจิตยอมรับความเป็นธรรมดาของความทุกข์ทั้งหลาย (ซึ่งก็คือสิ่งทั้งปวงที่เกิดขึ้น)
รู้ว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน
จิตจึงพ้นจากความดิ้นรนแส่ส่ายเพราะสิ่งธรรมดาที่ต้องเผชิญนั้น

ธรรมที่ตื้นๆ ตรงไปตรงมาอย่างนี้แหละครับ
ที่ท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบพากันอุทานว่า
"เป็นธรรมตื้น
แต่ทำไมหนอ จึงไม่รู้จัก จนต้องฟังธรรมของพระพุทธเจ้า
แล้วต้องลงมือปฏิบัติธรรมแทบล้มแทบตาย
กว่าใจจะยอมลงให้กับ ธรรม ธรรมดาๆ อันนี้"

************************************

ข้อสังเกต ..

1. ทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงแจกแจงนั้น
มีทั้งทุกข์ตาม บัญญัติ อันได้แก่ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
ความพลัดพราก การประสบสิ่งที่ไม่พอใจ ความไม่สมอยาก ฯลฯ
และทุกข์ในมุมมองของ ปรมัตถ คืออุปาทานขันธ์

2. บุคคลจำนวนมากในครั้งพุทธกาลบรรลุพระโสดาบัน
ด้วยการฟังธรรมในขั้นบัญญัติ และไม่รู้จักธรรมในขั้นปรมัตถ์จนตลอดชีวิต
เช่นท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี เป็นพระโสดาบัน
ทั้งที่ท่านไม่เคยฟังธรรมเรื่องขันธ์ 5 เลย
เคยฟังแต่เรื่องเกิดแก่เจ็บตายธรรมดาๆ นี่เอง

จนตอนที่เจ็บหนัก ใกล้จะอนิจจกรรม
ท่านพระสารีบุตรจึงแสดงเรื่องขันธ์ 5 ให้ฟัง
ซึ่งท่านเศรษฐีก็ร้องไห้ด้วยความเสียดายโอกาส แล้วบ่นว่าได้ฟังช้าไป

3. ธรรมที่ทรงแสดงต่อหลายท่าน ในขั้นสุดยอดเพื่อการบรรลุพระอรหันต์นั้น
(เท่าที่จำได้ตอนนี้) มักจะเป็นธรรมในขั้นปรมัตถ์
เช่นทรงสอนอนัตตลักขณสูตร ว่าด้วยขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์แก่ท่านพระปัญจวัคคีย์
ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร ว่าด้วยอายตนะเป็นของร้อน แก่ชฎิล 1,000 รูป
ทรงแสดงเรื่องสักแต่รู้ สักแต่เห็น สักแต่ทราบ แก่ท่านพระพาหิยะ
และท่านพระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์
เพราะได้ฟังพระศาสดาทรงแสดงธรรมเรื่องเวทนา 3 ไม่เที่ยง  เป็นต้น

4. จากข้อ 2 - 3 จะเห็นได้ว่า พระศาสดาทรงแสดงธรรมอย่างมีการจำแนก
ผู้ฟังจึงได้ประโยชน์จากธรรมอย่างถึงใจ
ส่วนพวกเราชาวพุทธในยุคนี้ ฟังธรรมเฟ้อเกินไปหรือเปล่า
เพราะต่างก็พูดถึงปรมัตถธรรมได้คล่องปาก เพราะจำได้ขึ้นใจ
แต่กลับไม่รู้ธรรมเหมือนท่านที่ฟังเพียงธรรมในขั้นบัญญัติเมื่อครั้งพุทธกาล
เป็นไปได้ไหมครับ ว่าความรู้ที่เต็มสมองนั้น
ได้ปิดกั้นจิตใจไม่ให้เปิดขึ้นรับธรรมเสียแล้ว

(มีต่อ)

13
(ต่อ)
ประเด็นเรื่องความนิยมเซ็นนั้น ผมเองนิยมมากเหมือนกันครับ
แม้แต่หลวงปู่ดูลย์ ท่านก็ยืมคำสอนของฮวงโป มากล่าวสอนศิษย์บ่อยๆ

หากเป็นผู้เข้าใจแจ่มแจ้งถึงเรื่องการเจริญสติสัมปชัญญะแล้ว
การนิยมเซ็น ก็ไม่มีปัญหาอะไร
แต่จุดที่น่าห่วงใยก็คือ ปัญญาชนจำนวนมากตื่นเต้นกับคำสอนของเซ็น
เพลิดเพลิน หรือหลงเสพย์ถ้อยวลีอันลึกล้ำทางสมอง
และยึดมั่นในวาทะเรื่องความไม่มีตัวกูของกู ความว่าง มหาสุญญตา ฯลฯ
ทั้งที่ไม่รู้จักสติสัมปชัญญะจริงๆ เลย
ในที่สุดก็ได้มาแต่เปลือกของเซ็น
รวมทั้งมองข้ามการพัฒนาจิตใจตามหลักไตรสิกขาของเถรวาท
แล้วเอาเรื่องความไม่ยึดมั่น มาเป็นข้ออ้างในการสนองกิเลส
ถ้าเป็นแบบนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้เถรวาทเสียหายเท่านั้น
แต่ยังจะทำให้เซ็นเสียชื่อไปด้วย

ถ้าเป็นผู้มีปัญญา รู้จักการเจริญสติสัมปชัญญะอันเป็นทางสายเอก
สามารถจับแก่นธรรมของเถรวาทและเซ็นได้
ก็จะพบความจริงข้อหนึ่งว่า ธรรมแท้ไม่มีนิกาย


(จบ)

14
เขียนไว้เมื่อ วัน อังคาร ที่ 19 กันยายน 2543 11:00:57

เซ็น กับเถรวาท มีรากฐานต้นกำเนิดอันเดียวกัน
เป้าหมายก็มุ่งสู่ความหลุดพ้นอันเดียวกัน
แต่กระบวนการอธิบายธรรม กลับเป็นตรงข้ามกันหลายส่วน
ปัญหาที่น่าพิจารณาก็คือ สิ่งที่อธิบายเป็นตรงข้ามกันนั้น
เป็นสิ่งที่ตรงข้ามหรือขัดแย้งกันจริงๆ
หรือเป็นเพียงภาษา หรืออุบาย ที่แตกต่างกันเท่านั้น ?
และคำสอนของทั้งสองฝ่าย มีประโยชน์อย่างใดบ้าง ?

เราลองมาคุยกันสัก 2 ประเด็น คือเรื่องโพธิจิต กับการปลุกโพธิจิตให้ตื่นขึ้น
(หมายเหตุ ... ทัศนะของเซ็นที่ผมยกมากล่าวนี้
มาจากการศึกษางานของท่านเว่ยหล่างและท่านฮวงโป
อาจจะไม่ครอบคลุมไปถึงคำสอนของเซ็นสาขาอื่นๆ)

**************************************

โพธิจิต

แนวความคิดเรื่อง โพธิจิต เป็นแนวความคิดฝ่ายเซ็น
สาระสำคัญก็คือ ทัศนะที่ว่า สัตว์ทั้งปวงมีธรรมชาติแห่งการตรัสรู้(รู้ธรรม)อยู่ในตนเอง
แต่ธรรมชาติอันนี้ ถูกปิดบังเอาไว้ด้วยความหลงผิดของจิต
(เหมือนกับมีเพชรอยู่แล้ว แต่หมกอยู่ในโคลนตม)
คือจิตเที่ยวยึดมั่นสิ่งภายนอก แม้แต่ผู้ปฏิบัติธรรมก็ยึดมั่นในวัตรปฏิบัติต่างๆ
เช่นการถือศีล ทำสมาธิ และขบคิดพิจารณาธรรม เป็นต้น

คำสอนเรื่อง โพธิจิต ไม่ปรากฏในธรรมฝ่ายเถรวาท
กล่าวคือในฝ่ายเถรวาท ไม่เชื่อเรื่องที่ว่าสัตว์มีโพธิจิตอยู่แล้ว
แต่กลับเห็นว่า จิตประกอบด้วยเจตสิกทั้งอกุศล กุศล และเป็นกลางๆ
จิตเป็นสิ่งที่อบรมได้  จิตที่อบรมดีแล้วหลุดพ้นได้
และที่สำคัญคือ จิตเป็นสิ่งที่เกิดดับต่อเนื่องกันตลอดเวลา
(แม้แต่จิตพระอรหันต์ ก็ยังเกิดดับอยู่นั่นเอง
เพียงแต่ท่านฉลาดจนกิเลสตัณหาย้อมไม่ติดเท่านั้นเอง)

คำสอนของฝ่ายเถรวาทคล้ายๆ กับว่า
เมื่อมีดิน มีพันธุ์พืช มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จึงเกิดเป็นต้นไม้
เมื่อต้นไม้ตาย เกิดทับถมในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
จึงกลายเป็นคาร์บอนบริสุทธิ์ หรือเพชร
เพชร หรือจิตที่หลุดพ้น หรือโพธิจิต จึงไม่ได้มีมาแต่แรก

คำสอนจุดนี้ดูจะขัดแย้งเป็นตรงข้ามกัน
ซึ่งผมคงไม่ชวนเถียงว่า คำสอนของใครถูกหรือผิด
เพราะจิตใจของผมไม่ได้เป็นกลางจริง
แต่โน้มเอียงที่จะเชื่อเฉพาะคำสอนตรงของพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว
สิ่งที่อยากจะชวนพิจารณาก็คือ คำสอนของแต่ละฝ่ายมีประโยชน์อย่างใดบ้าง

ถ้าทำใจให้กว้าง ก็จะเห็นว่า แต่ละฝ่ายมีข้อดีอยู่เช่นกัน
กล่าวคือคำสอนเรื่องโพธิจิตของเซ็น
ฟังแล้วเกิดกำลังใจว่าเรามีพระรัตนตรัยอยู่กับตัวแล้ว
ไม่ต้องค้นหาในที่อื่น แต่ให้น้อมเข้ามาศึกษาอยู่ภายในนี้แหละ
ทั้งพระพุทธเจ้าเอง เมื่อก่อนท่านก็มีกิเลสเหมือนเรานี่เอง
แต่ท่านค้นพบโพธิจิตแล้ว
เราเองก็น่าจะเจริญรอยตามท่านได้เช่นกัน

นอกจากนี้ เมื่อเข้าถึงโพธิจิตแล้ว
ก็ไม่เห็นว่าอาจารย์เซ็นจะสอนให้ยึดโพธิจิต หรือยึดความว่างใดๆ
เพราะจุดสุดท้าย ก็ตรงกัน คือความไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง
คำสอนเรื่องโพธิจิต จึงอาจเป็นเพียงอุบาย
เพื่อปลุกเร้าให้เกิดการแสวงหาสัจจธรรมภายในจิตตนเองก็ได้
ซึ่งถ้าเป็นเพียงอุบาย ไม่ยืนยันว่าโพธิจิตเป็นอัตตา
ก็น่าจะไม่มีข้อขัดแย้งกับเถรวาทในสาระสำคัญแต่อย่างใด

ส่วนคำสอนของเถรวาท ก็มีความสุขุมรอบคอบ
โดยสอนให้รู้จักความเกิดดับของจิต คือจิตเป็นอนัตตา
เพื่อไม่ให้ผู้ศึกษาเกิดความหลงผิด
จนบ่มเพาะสักกายทิฏฐิคือความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นเราให้เติบกล้า

*************************************

การปลุกโพธิจิต

มรรควิถีของเถรวาทกับเซ็นก็ดูจะตรงข้ามกันอีก
คือเถรวาทสอนให้เรียนรู้อุปาทานขันธ์ หรือสิ่งที่จิตไปหลงยึดมั่นเข้า
จนรู้จริงแล้วจึงเลิกยึดมั่น จิตจึงหลุดพ้นจากอาสวกิเลส

และก่อนที่จะถึงขั้นเรียนรู้อุปาทานขันธ์ได้
ท่านก็สอนให้รู้จักรักษาศีล และทำสมาธิเพื่อเตรียมความพร้อมของจิตเสียก่อน

ในขณะที่เซ็นดูเหมือนจะไม่สนใจกับสิ่งที่จิตไปยึดมั่นเข้า
หากแต่สอนให้ตัดตรงเข้าสู่โพธิจิตเลยทีเดียว

เซ็นปฏิเสธการปฏิบัติธรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป
แต่สอนให้ลืมตาตื่นต่อสัจจธรรมขึ้นเลย โดยเน้นให้ รู้ ไม่ใช่คิด
เพราะความคิดนั้นแหละ คือสิ่งปิดบังความจริง ด้วยประสบการณ์เก่าๆ ของผู้คิดเอง
ทั้งยังปฏิเสธเงื่อนไขของการปฏิบัติทั้งหลาย
จนคล้ายกับว่า เซ็นไม่มีไตรสิกขาในส่วนของศีล และสมาธิ

ความจริงถ้าผู้ใดมีทัศนะว่า สัตว์ทั้งปวงมีโพธิจิตอย่างหนึ่ง
กับฝึก รู้ อย่างต่อเนื่องจริงจังไม่ให้จิตตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสตัณหาอีกอย่างหนึ่ง
ถึงจะไม่สมาทานศีล จิตก็ย่อมมีศีลเอง
เพราะจะเกิดความเมตตาต่อสรรพสัตว์อย่างหนึ่ง
และเพราะจิตไม่ถูกความชั่วย้อมเอาอีกประการหนึ่ง
เซ็น จึงอาจจะไม่พูดถึงศีล แต่จะกล่าวว่าเซ็นไม่มีศีล ก็คงไม่ถนัดนัก
ส่วนเรื่องสมาธิ เท่าที่ทราบก็มีการทำสมาธิกัน
เพราะชื่อของเซ็น ก็คือฌาน อันเป็นชื่อของสมาธินั่นเอง

สำหรับคำสอนเรื่อง ให้รู้ ไม่ให้หลงความคิด
อันนี้ก็คือหลักการสำคัญของวิปัสสนา

และแม้เซ็นจะไม่สอนให้เรียนรู้เรื่องอุปาทานขันธ์
แต่ในขณะที่ รู้ นั้นเอง สิ่งแรกที่จิตไปรู้เข้าจะไม่ใช่โพธิจิต
หากแต่เป็นรูปและนามขันธ์ต่างๆ อันเหมือนคูหาที่(โพธิ)จิต อาศัยอยู่นั่นเอง
(เพราะเซ็นเองก็ย้ำนักหนา ว่าไม่ให้ใช้จิตแสวงหาจิต
คือไม่ได้สอนให้มองตรงเข้าหาโพธิจิต)
ต่อเมื่อรู้สิ่งปรุงแต่งต่างๆ จนวางเพราะเห็นไตรลักษณ์แล้วนั่นแหละ
จึงจะพบโพธิจิต หรือจิตที่หลุดพ้น
ดังนั้นจะกล่าวว่าเซ็น ไม่เรียนรู้อุปาทานขันธ์ ก็ไม่เชิงนัก
ที่จริงเขาเรียนรู้ได้เหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้เรียกชื่อว่า อันนี้คือขันธ์อันนี้

*********************************************

ที่ผมนำเรื่องนี้มาพูดขึ้น ก็เพราะเห็นว่า
เราควรจำแนกให้ออกว่า คำสอนส่วนไหนเป็นของเถรวาท ส่วนไหนเป็นของเซ็น
อย่าให้สับสนปะปนกัน จนตัวเราเองก็งง พอพูดไปแล้วก็พาให้ผู้อื่นงงด้วย
แต่ไม่ใช่จำแนกเพื่อจะข่มซึ่งกันและกัน หากแต่เพื่อพยายามทำความเข้าใจกัน
เพราะถึงอย่างไร เซ็น ก็อยู่ในร่มของพระพุทธศาสนาร่วมกับเถรวาท
และในอนาคต ยังไม่แน่เหมือนกันว่า เมื่อกล่าวถึงพระพุทธศาสนา
ชาวโลกเขาอาจจะนึกถึงมหายานและเซ็นมากกว่าเถรวาท
เพราะเขาแทบจะไม่รู้จักเถรวาทแล้ว ก็เป็นได้

*************************************


(มีต่อ)

15
(ต่อ)

มีผู้ถามปัญหาและคุณสันตินันท์ได้ตอบไว้ดังนี้

1.

ถาม : ที่พี่บอกว่า นักปฏิบัติร้อยละร้อย ไม่มีสัมปชัญญะบริบูรณ์จริงๆ
แต่อันนี้หมายถึงว่า เฉพาะพระอรหันต์จึงจะมีสัมปชัญญะบริบูรณ์จริงๆ
ด้วยรึเปล่าคะ คือ พระอริยะขั้นต้นๆ ก็ยังมีหลง มีเผลออยู่ ใช่รึเปล่า

ตอบ : พระอรหันต์จึงจะมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ครับ
แต่ตามความหมายที่ผมว่านักปฏิบัติส่วนมากขาดสัมปชัญญะนั้น
หมายถึงนักปฏิบัติส่วนมาก ยังปฏิบัติไปด้วยจิตที่มีโมหะครอบงำโดยไม่รู้ทันครับ
มักจะปฏิบัติไปอย่างไม่รู้เหตุผลต้นปลาย ไม่รู้กิจของอริยสัจจ์ ไม่รู้วิธีเจริญสติ
เอาแต่เผลอบ้าง เพ่งบ้างไปตามเรื่อง
กระทั่งการนั่งคิดถึงเรื่องปรมัตถ์ ซึ่งไม่ใช่การรู้ปรมัตถ์ด้วย

2.
ถาม : ตรงเรื่องของหมาบ้า...
    ตอนที่ตากระทบรูป ยังไม่ก่อน้ำหนักใดๆขึ้นในจิต
    ตอนนี้ยังไม่ใช่ สัญญา ใช่มั้ยคะ
    คือเหมือนมีแค่คลื่นบางอย่างกระทบจิต
    พอรู้ว่าเป็น สุนัข  ตรงนั้นถึงเริ่มจะเป็นสัญญา
    แล้วพอเกิดอาการ ไหววูบขึ้นมาในใจ
    ตรงนี้คือ เกิดสังขาร แล้ว
    ไม่ทราบว่า ไพเข้าใจถูกมั้ยคะพี่
     เหมือนอย่าง ความคิด ก็ทำนองเดียวกัน
    คือตอนแรกมีแค่คลื่นบางอย่างกระทบจิต
    แล้วค่อยรู้ว่า มีความคิดเกิดขึ้น
    ถ้ามีอาการไหววูบขึ้นในจิต ก็แปลว่า
    กระโดดเข้าไปอยู่ในความคิดแล้ว
    อย่างงี้ ใช่มั้ยคะพี่

    ตอบ : ทำนองนั้นครับ ตัวธัมมารมณ์จริงๆ กระทั่งตัวความคิดจริงๆ
    มันเป็นสภาวธรรมเท่านั้น
    ไม่มีคำพูดเป็นคำๆ ครับ ที่พูดเป็นคำๆ เป็นบัญญัติซึ่งอาศัยสัญญาขึ้นมาภายหลัง

3.

ถาม : ตรงที่พี่บอกว่า รู้ชัดสมมติโดยความเป็นสมมติ
     รู้ชัดถึงปรมัตถ์โดยความเป็นธรรมชาติธรรมดาอันหนึ่ง
     เหมือนอย่างกับว่า เรารู้สึกถึงความเป็น เรา
     ก็เป็นจริงในสมมติ แต่รู้ชัดในปรมัตถ์ไปพร้อมๆกัน
     ว่า  เรา ไม่มีอยู่จริง เป็นขันธ์ 5 กองหนึ่ง
     เป็นเพียงธรรมชาติธรรมดาอันหนึ่ง
     เหมือนโต๊ะ เหมือนเก้าอี้
     อย่างงี้ ใช่มั้ยคะพี่

ตอบ : เกือบถูกครับ ผิดนิดเดียวตอนท้ายครับ
ตัวโต๊ะเก้าอี้นั้น ถ้ารู้มันโดยความเป็นรูป เป็นธาตุอันนั้นเป็นปรมัตถ์
ถ้าสำคัญว่ามันเป็นโต๊ะเก้าอี้ ก็ยังเป็นสมมุติบัญญัติครับ

ที่ผมกล่าวว่า "รู้ชัดสมมติโดยความเป็นสมมติ
รู้ชัดถึงปรมัตถ์โดยความเป็นธรรมชาติธรรมดาอันหนึ่ง"

อันนี้เป็นจุดสำคัญอันหนึ่ง คือการรู้ปรมัตถ์นั้น
จิตจะรู้แล้วจำแนกเอาสมมุติบัญญัติออก
ก็จะเห็นเพียงธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่เรียกกระทั่งชื่อว่าปรมัตถ์ด้วยซ้ำไป
ถ้าจิตยังสำคัญว่า นี่ปรมัตถ์ ก็ยังไม่เข้าถึงรู้จริงๆ ครับ
เพราะเอาบัญญัติไปใส่ปรมัตถ์เสียอีกแล้ว

4.

ถาม : ถ้าสรุปลงทั้งหมด เหมือนกับว่า
     ให้เราดูจิต ดูความเคลื่อนไหวของจิต
     เหมือนกับกำลังดูทีวี ฟังวิทยุ
     แค่ดูเฉยๆ ฟังเฉยๆ รู้ตัวว่ากำลังดู กำลังฟัง
     เห็นทั้งทีวี และเห็นคนที่กำลังดูทีวี
     จนเห็นความเป็นธรรมชาติธรรมดา
     ของทั้งทีวี และคนดูทีวี
     เหมือนอย่างที่กำลังพิมพ์ถามคำถามอยู่นี้
     ก็เห็นทั้งคำถาม เห็นคนที่ถาม
     เห็นอาการเคลื่อนไหวของมือที่พิมพ์
     เห็นอารมณ์ของจิตว่ายินดีหรือยินร้ายหรือเฉยๆ
     แล้วก็เห็นว่าทั้งคำถาม ทั้งคนที่ถาม
     ก็ยังเป็นอาการของจิตที่ฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ
     อยากรู้ไปเรื่อยๆ  เป็นธรรมชาติธรรมดา
     ที่ในที่สุด เมื่อได้คำตอบ ก็ต้อง รู้แล้วทิ้ง
     อีกจนได้
    พี่..ทำไมชีวิตมันวนเวียนอยู่อย่างงี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
     เบื่อจังเลย  โง่ไม่หายซักที


ตอบ : ไม่ต้องคิดมากครับ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง
ทำต้นทางให้ดี ปลายทางก็เข้าถึงเองครับ
อย่าไปคำนึงคำนวณถึงปลายทางเอาล่วงหน้า
เจริญสติสัมปชัญญะให้มากๆ ไว้ครับ
จะไม่รู้เรื่องปรมัตถ์หรือบัญญัติเลยก็ไม่เป็นไร
มันอาจจะไปรู้เอาวับเดียวในภายหลัง ก็เป็นได้ครับ

ส่วนที่เห็นว่าชีวิตมันวนเวียนซ้ำซากน่าเบื่อนั้น
เป็นความเห็นผิด ตั้งแต่เห็นว่า "ไพมีชีวิต" แล้วครับ
ที่ว่ามันวนเวียนซ้ำซากน่าเบื่อ ก็เพราะมีความขัดใจ
แค่ความรู้สึกเท่านี้ ถ้ามีโยนิโสมนสิการ
ก็จะเข้าใจกิเลสตนเองได้อีกหลายตัวทีเดียว

(จบ)

Pages: [1] 2 3 ... 8