Show Posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Topics - ลุงถนอม

Pages: 1 [2] 3
16
เราอาจหาเหตุผลมารองรับเรื่องผิด ให้กลายเป็นเหมือนสิ่งถูกได้ แต่เราไม่อาจเปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่าใจเรามืดหรือสว่างในขณะที่เราทำเรื่องนั้นๆได้ RT @bo_jeeranun

17
ในอดีตสถานการณ์สร้างวีรบุรุษ ปัจจุบันมีแต่สสร้างสถานการณ์เพื่อเป็นวีรบุรุษ สร้างผู้ร้ายเพื่อจะเป็นพระเอก

18


มีคนบอกว่า พุทธกับฮินดูใกล้กันมาก คนๆนั้นไม่รู้จักพุทธ เขารู้จักเพียงการบูชาเทพเจ้าเพื่อดลบันดาลโชคลาภให้กับเขาเองเท่านั้น เทวดาทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการดลจิตดลใจ ไม่อาจดลบันดาลให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้นมาให้กับใครได้ หากแต่เจ้าตัวต่างหากที่คิด ตัดสินใจ พูด และทำ

ดังนั้น ไม่มีเทวดาตนใดจะสามารถเปลี่ยนขะตากรรมของมนุษย์ได้จริง มีแต่การเปลี่ยนนิสัย ทัศนคติ การคิด การตัดสินใจ การพูด การกระทำของคนๆนั้นต่างหากที่จะเปลี่ยนชะตากรรมของเขาในภายภาคหน้าได้

ชาวพุทธเราบูชาเทวดาเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านทำมาจนได้เป็นเทวดา คือ หิริโอตตัปปะ เพื่อจิตเป็นกุศล มีความสุข มีสมาธิ จิตตั้งมั่น และใช้จิตที่ตั้งมั่นนั้นแหละ รู้กาย รู้ใจ เพื่อเจริญปัญญาต่อไป มิใช่เพื่อการอื่นใด ที่เรากราบไหว้พระพุทธรูปก็มีเป้าประสงค์ดุจเดียวกัน

ศาสนาพุทธจึงต่างจากฮินดูอย่างสุดขั้ว มิใช่คล้ายกัน

19
เส้นทางการภาวนา



ความทุกข์ ไม่ว่าครั้งไหนๆก็ทุกข์เหมือนกัน ต่างกันตรงที่จะยาวนานแค่ไหน แต่ความจริงแล้วเราทุกข์กันแค่ขณะจิตเดียว คือขณะจิตปัจจุบันนี้เท่านั้น เมื่อใดที่เรารู้ทันความรู้สึกเป็นทุกข์ที่กำลังปรากฎด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง ความรู้สึกเป็นทุกข์จะดับสลายไปต่อหน้าต่อตา

การฝึกฝนให้จิตตั้งมั่นเป็นกลาง ก็คือการหัดรู้สภาวะที่ปรากฎโดยไม่แทรกแซง ไม่ไปดักรอที่จะรู้ รู้แล้วไม่แก้ไขสภาวะใดๆ แต่รักษาศีลไว้

การฝึกฝนที่จะรู้โดยไม่แทรกแซงก็คือ เมื่อเข้าไปแทรกแซงก็รู้ รู้แล้วไม่ต้องไปพยายามแก้ไขอะไร แต่ถ้ายังแทรกแซงอีก ก็รู้อีก เกิดสภาวะไม่ชอบใจ ก็รู้อีก "รู้" ตามหลังการแทรกแซงของจิตเรื่อยไป โดยมีความรู้จากการฟังมาก่อน ว่านี่คือการรู้อย่างไม่เป็นกลาง ก็จะรู้อย่างเป็นกลางได้ในที่สุด

เมื่อเห็นความรู้สึกเป็น ทุกข์ดับหายไปต่อหน้าต่อตา ด้วยจิตที่รู้ ตั้งมั่น เป็นกลาง บ้างก็จะเห็นสภาวะต่างๆเกิดแล้วก็ดับ บ้างก็เห็นว่าสภาวะนั้นอยู่ห่างๆ ก็มีบ้างเหมือนกันที่จะเห็นว่า สภาวะที่ปรากฎอยู่ตรงหน้า มีความเบียดเสียด เค้นเครียด อยู่ภายใน แต่อย่างหลังนี้น้อยคนนักจะเห็น และไม่จำเป็นต้องเห็น

อาศัยการฟังธรรมเรื่องไตรลักษณ ฟังธรรมเรื่องอริยสัจจ์ อ่านพระสูตรที่แสดงถึงการฟังธรรมแล้วรู้แจ้งในธรรมของพระอริยะในครั้ง พุทธกาล จิตจะเดินวิปัสสนาได้คล่องแคล่ว ว่องไว ยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องนึกคิดหรือน้อมแต่อย่างใด

เมื่อจิตเห็นทุกสิ่งที่ เกิดขึ้นล้วนดับหมด จิตจะลดความแส่ส่ายฟุ้งซ่านลงไปเอง ปัญญาจะอบรมจิตให้มีสมาธิ มีความตั้งมั่น รู้อารมณ์ และพร้อมเจริญปัญญายิ่งขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อจิตไม่แส่สายออกไป ภายนอก รู้อารมณ์ด้วยความตั้งมั่นเป็นกลาง เห็นสภาวะทั้งหลายล้วนเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์สิ้น จิตยิ่งสงบตั้งมั่น ในที่สุดจิตจะรู้อยู่ที่จิตเอง ไม่ส่งออกนอก ไม่ส่งเข้าใน รู้เสมออยู่กับจิตด้วยตัวของจิตเอง ด้วยมีสมาธิที่ปัญญาอบรมจนเต็มกำลัง จิตจะเห็นจิต

เมื่อจิตเห็นจิต ด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง จิตจะเห็นตามความเป็นจริงว่า จิตเองก็เกิดดับ ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เหมือนๆกับสภาวธรรมอื่นๆที่เคยเห็นมาก่อน

เฝ้าอบรมให้จิตเห็น ความจริงของจิตอยู่อย่างนี้ ท่านผู้มีอินทรีย์แก่กล้ามาก่อน เห็นเพียงครั้งเดียว ความเชื่อมั่นว่าตัวตนมีอยู่ มีตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร มีตัวตนที่ต่อเนื่องมาจากอดีต และทอดยาวไปในอนาคต ความเชื่อมั่นทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ จะถูกทำลายลงไป ด้วยสักกายทิฎฐิถูกปัญญาถอดถอนทำลายไป อริยมรรคเกืดขึ้น เกิดอริยผลตามมา เข้าถึงพระนิพพานเป็นครั้งแรก เป็นพระโสดาบัน

แต่หากเป็นผู้ ที่มีอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ก็ต้องอาศัยวิธีนี้ อบรมจิตให้เกิดปัญญาแก่กล้าขึ้นมา ด้วยการเพียรภาวนาไม่ท้อถอย จนวันหนึ่ง เมื่อมีปัญญาแกรอบ อริยมรรค อริยผล จะเกิดขึ้น และเข้าถึงพระนิพพานได้เป็นครั้งแรกเช่นกัน

จะมียกเว้นก็แต่ ผู้ที่ปราถนาทำเพื่อผู้อื่นแท้จริง จะไม่เข้ากระแสพระนิพพาน แต่จิตจะจดจำเส้นทางนี้ไว้ จะกลับมาทวนเดินซ้ำๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เท่าที่ทำได้ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย ความมั่นใจ เพื่อวันหนึ่งจะต้องกลับมาค้นหาและเดินบนเส้นทางนี้ โดยไม่มีคำแนะนำหรือร่องรอยใดๆ เหลือไว้ให้เลย

แต่กับคนอีกพวกหนึ่ง คนที่ทำอนันตริยกรรม คนที่ทำอาจริยูปวาโทโดยไม่ขอขมาลาโทษด้วยใจจริง จะไม่สามารถเดินบนเส้นทางนี้แต่เริ่มแรก จิตจะไม่สงบตั้งมั่น (แต่อาจสงบด้วยการเพ่งเอาไว้ได้ แต่จิตจะไม่ตั้งมั่น แต่จะแน่บแน่น หรือรวมกับอารมณ์ หรือรวมอยู่กับความนิ่งๆ ความว่างๆ) จะไม่สามารถเดินบนเส้นทางนี้ได้เลย แม้แต่การเริ่มต้นเดินทาง

20
ฝึกฝนตนเองให้รู้ทันความหลง อาศัยความหลง อาศัยความลืมตัว เพื่อที่จะรู้สึกตัว จะได้ลืมตัวอย่างมีคุณค่า ไม่ใช่ลืมตัวไปโดยสูญประโยชน์เปล่า

21
ไม่เคยมีอารยธรรมใด ถูกทำลายจากภายนอก
ไม่เคยมีอารยธรรมใด ถูกทำลายจากกองทัพของศัตรู

หากมีแต่อารยธรรม ที่ถูกทำลายด้วยกิเลสที่พอกพูนจิตใจของผู้นำและประชาชน

22
เอาความไม่ป่วยไม่ทุกข์มาแต่ไหน เพราะเราเป็นสัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม มีร่างกายย่อมต้องป่วยต้องไข้ เป็นธรรมดา

23
นักภาวนามีตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่มีใครอื่นเป็นที่พึ่งได้แท้จริงแม้แต่ครูบาอาจารย์ ใครภาวนาถูกและเพียรก็ได้ไป เป็นไปตามกฎแห่งกรรม

24
หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ นี่คือรู้ทันความหลง ภาวนาต่อไปเรื่อยๆ เนืองๆ จะเห็นเองว่า ความเป็นตัวเราถูกสร้างขึ้นจากความหลง หาได้มีตัวเราที่เที่ยงแท้ยั่งยืนไม่

25
ถาม : มีน้องที่รู้จัก เจอกันเมื่อวาน เค้าเล่าว่า...สวดมนต์เช้าและเย็น ตักบาตรบ้างบางวัน ช่วงนี้จิตฟุ้งมาก ข้ามวันข้ามคืน รู้อารมณ์แต่วางไม่ได้ ตัวเองทำอยู่ก็อย่างที่เคยเล่าให้ฟัง รู้ทัน และวางได้ ไม่มีข้ามวัน นี่แหละค่ะที่จะขอคำอธิบาย เพื่อจะได้ไปตอบคำถามเค้าได้ คงรรบกวนแล้ว

ตอบ : ครับ เขาอยากให้จิตสงบครับ เลยพยายามดิ้นรน เขาพยายามดิ้นรนให้จิตสงบ จิตก็เลยไม่สงบ เพราะความดิ้นรนทำให้จิตสงบไม่ได้ครับ วิธีการจริงก็คือ ให้รู้ทัน รู้ทันว่าจิตไม่สงบ ด้วยจิตที่ไม่เข้าไปแทรกแซง ด้วยจิตที่ไม่อยากให้จิตเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ด้วยจิตที่แค่รับรู้รับทราบ เท่านั้นครับ

เกิดปัญหาอย่างนี้ เราดูสภาวะฟุ้งซ่านไม่หายครับ เพราะเราไม่ได้เห็นกิเลสตัวที่บงการหรือควบคุมจิตใจอยู่ ต้องย้อนกลับไปเห็นความไม่ชอบใจ เห็นความอยากให้สงบครับ อย่าดูแต่สภาวะภายนอกอย่างเดียวครับ เพราะสภาวะเหล่านั้น ดับไปแล้ว และเกิดความไม่ชอบใจเกิดขึ้นตามมา

วิธีการก็คือ สังเกตการดิ้นรนของจิต สังเกตความพยายามของจิต แล้วเดี๋ยวก็จะสังเกตเห็นความไม่ชอบใจ ความอยากสงบ ของจิต นะครับ

ถาม : แล้ววิธีการของเค้า มีอะไรที่ต้องปรับหรือเปล่าค่ะ

ตอบ : เขารู้ว่าฟุ้งซ่าน แล้วเขารู้หรือเปล่าล่ะครับ ว่าอยากสงบ เห็นความอยากสงบ เห็นความไม่ชอบความฟุ้งซ่านหรือเปล่าครับ ถ้าเห็น ก็ไม่ต้องปรับปรุงอะไร แต่ถ้าไม่เห็น ก็ต้องสังเกตจิตใจไปเรื่อยๆครับ แต่ถ้าไม่สงบจริงๆ ก็ต้องบริกรรมครับ จะช่วยให้สงบได้ เพราะ หากจิตมีกำลัง ก็จะสงบ แต่วิธีนี้ไม่แนะนำให้ทำพร่ำเพรื่อ เพราะเราทำเพื่อพักผ่อน หรือทำเพื่อเสริมกำลังให้กับจิตใจ

แต่หากทำตามรูปแบบสม่ำเสมอจนหนักแน่นดีจริงๆแล้ว แล้วจิตยังฟุ้งซ่าน อย่างนี้ต้องยอมรับไปตามตรงครับ ไม่แก้อะไรแล้ว เพราะสร้างเหตุได้ดีแล้ว แต่ผลก็แสดงอนัตตาให้เห็น ว่าไม่เป็นไปตามปราถนาครับ

ถาม : ก็อยากสงบ เค้าไม่ได้ทำเจริญสมาธิ แค่สวดมนต์เช้าและเย็น

ตอบ : เวลาสวดมนต์ เขาสังเกตเห็นจิตที่เผลอไปคิดเรื่องอื่นๆ หรือเห็นจิตที่เผลอไปจากเสียงสวดมนต์ หรือเปล่าครับ

ถาม : ไม่ได้สังเกต เพราะเป็นมือใหม่ และไม่มีใครตอบข้อสงสัยได้

ตอบ : ที่แล้วไปแล้วครับ เริ่มใหม่ครับ เวลาสวดมนต์ สังเกตใจเรื่อยๆ ว่าใจจดจ่ออยู่กับเสียงสวดมนต์ หรือใจหนีไปคิด แค่สังเกตนะครับ ไม่ต้องทำอะไรต่อจากนั้น นึกได้ก็สังเกต ไม่ต้องไปจงใจไว้ก่อนครับ

ถาม : ค่ะ มีคำตอบไปตอบเค้า แต่ไม่มั่นใจว่าเค้าจะเข้าใจหรือเปล่า เพราะคำที่ใช้ต้องทำความเข้าใจให้ลึก

ตอบ : ครับ บอกให้เขาลองทำดู ได้ยังไงมาก็มาคุยกันต่อครับ


26
มีคำถามเรื่องนิวรณ์ ๕ มาทางเมล์ครับ ลุงถนอมเห็นว่าน่าจะแบ่งปันคำตอบให้กับท่านอื่นๆได้อ่านด้วย ก็เลยขอคัดลอกมาไว้ที่นี้ด้วยครับ

นิวรณ์ คือความฟุ้งซ่านของจิต เป็นศัตรูกับสมาธิ มี 5 อย่าง หรือ 5 อาการครับคือ

1.ถีนมิทธะ คือลักษณะของจิตที่ไม่มีกำลัง จิตไหลไปรวมกับอาการที่เหมือนกับ คนอ่อนเพลีย ง่วง ซึม จิตจะหวั่นไหวไหลไปตามความง่วง ความซึม ความหมดกำลัง (แต่ต้องแยกแยะดีๆนะครับ ว่าเป็นอาการของจิตที่อ่อนเพลีย หรือเป็นอาการของร่างกายที่อ่อนเพลีย)
2.อุทธัจจะ กุกกุจจะ คือลักษณะของจิตที่ไม่มีกำลัง ที่อ่อนไหวกับความคิดฟุ้งซ่านที่คิดไปในเรื่องต่างๆ หรือความหงุดหงิดรำคาญใจ จิตจะมีอาการกระเพื่อมหวั่นไหวไปกับความหงุดหงิดรำคาญใจ ความคิดฟุ้งซ่าน
3.วิจิกิจฉา คือ ลักษณะของจิตที่ไม่มีกำลัง ไม่ตั้งมั่น ไหลไปรวมกับความลังเล ความสงสัย ความไม่แน่ใจ ความลงใจให้กับสิ่งใดไม่ได้ จิตจะมีอาการกระเพื่อมหวั่นไหวกับความลังเลสงสัยนานาชนิด
4.กามฉันทะ คือลักษณะของจิตที่ไม่มีกำลัง และย้อมติดด้วยความยินดีพอใจในกาม ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของกามอย่างหยาบๆ แต่รวมถึงความสุขในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส บางคนพอทำสมาธิปุ๊บ ก็นึกถึงอาหารอร่อยๆที่อยากทาน เป็นต้น
5.พยาบาท คือลักษณะของจิตที่ไม่มีกำลัง และถูกความขุ่นข้องหมองใจ เข้าครอบงำ คิดทำลายคนอื่น คิดร้ายคนอื่น บางคนพอนั่งสมาธิ ภาพของศัตรูหรือคนที่ตนเกลียดก็ปรากฎขึ้น และจิตก็วนเวียนอยู่แต่ในความรู้สึกนึกคิดที่จะว่าร้าย ทำร้าย ทำลาย เขา

ทั้ง 5 ประการนี้ เป็นศัตรูกับสมาธิโดยตรง เพราะทำให้จิตไม่ตั้งมั่น วิธีการที่จะใช้รับมือ ก็คือ การกระตุ้นตนเองให้ alert หรือให้รู้สึกตัวขึ้นมาบ่อยๆ โดยอาศัยการสังเกตเห็นนิวรณ์ 5 ซึ่งในแต่ละคนมักจะมีนิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่งที่จะปรากฎชัด มาบ่อยๆ ก็ให้ใช้อันนั้น หรือแค่สังเกตว่า "เผลอไป" อย่างที่อาจารย์สุรวัฒน์ชอบสอน ก็ได้ทั้งนั้นครับ

ซึ่งนอกจากจะทำให้จิตมีกำลังขึ้นมาได้เพราะความมีสมาธิ หรือเพราะควาไม่ไหลไปตามนิวรณ์ 5 หรือจิตตั้งมั่นแล้ว ยังเป็นการฝึกเจริญสติส่วนต้น คือ การทำให้สติและสัมปชัญญะ ซึ่งจะทำให้การเจริญปัญญา หรือการเจริญวิปัสสนา อันเป็นขั้นตอนต่อไป สามารถทำไปได้โดยง่ายในภายหลังด้วย

ขอให้เจริญในธรรมครับ  _/|\_

27
เมื่อเราภาวนาไปถึงช่วงหนึ่ง บางคนจะรู้สึกถึงทางตัน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องรู้สึกอย่างนั้นนะครับ แต่เป็นกับบางคน จะรู้สึกว่าไปต่อไม่ได้ จะรู้สึกว่าหมดหนทางไปต่อแล้ว ลุงถนอมจะบอกว่า หากภาวนาได้ถูกต้อง จะไม่รู้สึกเ่ช่นนี้เลย เพราะความรู้สึกว่าถึงทางตัน ความรู้สึกว่าไปต่อไม่ได้แล้ว ความจริงแล้วเิกิดขึ้นจากความรู้สึกไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ เรียกว่าไม่มีความมักน้อยหรือขาดสมถะนั่นเอง

อะไร ทำให้ขาดความมักน้อย หรือไม่สันโดษ ไม่พึงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ หรือไม่สมถะ ความจริงแล้ว ความไม่พึงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ก็บอกตัวเองชัดแจ้งแล้วว่า ไม่มี "ความพึงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่" พูดง่ายๆก็คือโลภ หรือมีโลภะนั่นเอง

นักภาวนากลุ่มหนึ่ง เมื่อเริ่มภาวนา ก็เริ่มแสวงหา แสวงหาสิ่งที่ไม่ใช่ "ธรรมดา" หรือแสวงหาสิ่งที่ "เหนือธรรมดา" การแสวงหาก็สะท้อนให้เห็นอยู่โดยตัวของมันเองแล้วว่า คือ ไม่พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ เพราะหากพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่แล้วไซร้ จะแสวงหาอะไรขึ้นมาอีกล่ะ

ลักษณะของนักภาวนากลุ่มนี้ มักจะเพ่ง มักจะบังคับจิต มักจะพยายามทำลายสภาวะหรือกิเลสที่กำลังปรากฎ หรือมักจะปัดทิ้งสภาวะที่ปรากฎขึ้นทิ้งไป บ้างก็ทำไปเพื่อจะเอาความว่าง เมื่อความว่างไม่ปรากฎ ปรากฎแต่ความไม่ว่าง ก็ต้องทำลายความไม่ว่าง เพื่อจะให้ความว่างปรากฎ

ก็ถ้าทำลายได้ "กูเก่ง" ก็จะงอกงามขึ้นในใจไปเรื่อยๆโดยไม่รู้ตัว เหมือนหญ้าหรือวัชพืชที่ได้ปุ๋ย ได้น้ำ ได้แสงแดด ต่างเจริญงอกงามกันไม่หยุด แต่ถ้าทำลายไม่ได้ เห็น(ตัวกู)คงที่อยู่อย่างนั้น ก็จะเริ่มรู้สึกว่า ถึงทางตันแล้ว

แต่ถ้าเราภาวนาด้วยการเรียนรู้ความเป็นจริงของกายของใจด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง เราในฐานะปุถุชนก็จะเห็นว่า สรรพสิ่งทั้งหลาย ที่ปรากฎอยู่ ก็ล้วนแต่ดับไป ไม่เห็นอะไรคงทนถาวร ล้วนแต่บังคับไม่ได้ ไม่เป็นไปตามปราถนา ไม่ว่าจะปราถนาให้คงอยู่ หรือปราถนาให้แตกทำลายไป ก็หาได้เป็นไปตามประสงค์ไม่ ไม่ทำลายก็แตกดับไปเอง จะไม่หวงแหน ไม่รักษา ไม่ทอดทิ้ง แต่ตามรู้ตามดู เมื่อเราเห็นอย่างนี้เรื่อยไป จนวันหนึ่งเราเกิดความเบื่อ เรารู้สึกว่าถึงทางตัน เพียงเฉลียวใจขึ้น ว่ามีอีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นในใจเราแล้ว คือ ความไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ มีอยู่ เราตามรู้ตามดูไป เราก็จะไม่รู้สึกหรอกครับว่าถึงทางตัน เพราะเรามีงานใหม่ให้ทำอีกแล้ว คือ การตามรู้ตามดูกิเลสตัวใหม่ กิเลสตัวที่เราเพิ่งจะรู้จัก ที่กำลังครอบงำจิตใจของเราครับ

และหากอดทนตามรู้ตามดูไปจนถึงที่สุด ก็ไม่แน่หรอกครับว่า อาจเข้าใกล้มรรผลนิพพานมากแล้วก็ได้ เพราะนี่คือกิเลสที่เกาะกุมจิตใจแนบแน่น และยากจะเฉลียวใจมองเห็นด้วยตนเอง หากไม่มีครูบาอาจารย์ผู้เป็นกัลยาณมิตรชี้นำ หรือปลอบให้กำลังใจ โอกาสไม่ผ่านก็สูง

ก็หากใครภาวนามาถึงตรงนี้ แล้วไม่เกิดความถือดีต่อคำสอนของครูบาอาจารย์ของตนเสียก่อน อดทนและเพียรต่อไป โอกาสเข้าถึงมรรคผลนิพพานก็มีสูงขึ้นแล้วครับ  ;D

28
เมื่อวานนี้กลับมาถึงบ้านพร้อมกับความมึนสุดๆ ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่พักผ่อนทั้งกายทั้งใจ อยู่กับอานาปานสตินี่แหละครับ ของเคยทำมาแต่ไหนแต่ไร ปล่อยให้ใจสบายๆ รู้ลมหายใจแบบสบายๆ

พอพักได้หน่อยหนึ่ง จิตเริ่มมีแรงมีกำลัง ขยับตัวจะลุกไปอาบน้ำสักหน่อย จิตก็แวบขึ้นมา เรื่อง สติ กับ การขับรถ

ตอนนั้นจิตขำๆขึ้นมาว่า ถ้าสติคือการเพ่งเอาไว้ ถ้าสติคือการกำหนด การขับรถอย่างมีสติตามที่บอกกล่าวเตือนกันมากในช่วงก่อนหน้านี้ว่า "ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท" จะเป็นอย่างไร

แล้วจิตก็นึกหวนไปอีกว่า ความจริงแล้ว ในขณะที่มีการแปลกันว่า สติ ในสติปัฏฐาน คือการเพ่ง คือการกำหนดเอาไว้ แต่ในชีวิตประจำวันของเราเอง กลับยังมีร่องรอยของความหมายแท้ๆของคำว่าสติหลงเหลืออยู่

เมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อไปบวชเรียน ลุงถนอมจำเรื่องนี้ได้เลย "ธรรมะผู้มีอุปการะมาก" คือ "สติ สัมปชัญญะ"

ก่อนหน้านั้น ลุงถนอมก็นึกเอาเองว่า สติสัมปชัญญะ คือคำเดียวกัน พอได้บวชเรียนถึงได้รู้ ว่าสติ กับสัมปชัญญะ เป็นคนละคำกัน ในตำรานักธรรมตรีก็แปลกันเอาไว้ชัดเลยครับว่า สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้สึกตัว (หรือความรู้ตัว)

ตอนนั้นเก็บความสงสัยไว้ครับว่า สติ กับ สัมปชัญญะ เมื่อเข้าคู่กันแล้ว เป็นธรรมที่ให้ความอุปการะมาก แต่ไม่รู้เลยว่า เหตุผลคืออะไร และยอมรับตามตรงว่า ยังไม่เข้าใจคำแปลด้วยซ้ำไปครับ ว่าที่ว่า สติ คือ ความระลึกได้ ต่างยังไงกับสัญญา และสัมปชัญญะคือความรู้สึกตัว จะใช่ความรู้สึกตัวที่เราเคยเห็นมาบ้างหรือเปล่า?

ย้อนกลับไปเรื่องการมีสติกับการขับรถกันก่อนครับ

ท่านที่ขับรถเป็น ไม่ว่าจะรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ก็ตาม เคยได้ลองสังเกตตัวเองในขณะที่ขับรถบ้างมั้ยครับ สิ่งแรกที่เราจะเห็นก็คือ เราไม่สามารถที่จะรู้จุดเดียวได้ สายตาของเราต้องระแวดระวังด้วยการรู้ไปรอบๆ รู้ไปทั่วๆ เดี๋ยวมองข้างหน้า เดี๋ยวมองกระจกมองหลัง เดี๋ยวมองกระจกซ้ายมือ เดี๋ยวมองกระจกขวามือ เดี๋ยวรู้เท้าที่เหยียบคันเร่ง เดี๋ยวรู้เท้าที่เหยียบเบรค เดี๋ยวรู้มือที่ไปเปิดไฟกระพริบ ฯลฯ.

นั่นล่ะครับ เวลาที่สติทำงานจริงๆ เป็นแบบนี้

ลุงถนอมเองก็ใช้เวลาในการขับรถในแต่ละวันไม่ใช่น้อยๆ การเพ่งที่ตัวเองติดมาในตอนแรกๆนั้น ส่วนหนึ่งก็คลายได้ด้วยอาศัยการหัดเจริญสติในการขับรถนี่แหละครับ เพราะสังเกตเห็นว่า ในขณะที่ขับรถนั้น เราจะมีความตื่นตัว เรียกว่า Alert นั่นล่ะครับ จิตจะไหลไปจมแช่อะไรนานๆไม่ได้เลย ด้วยความระแวดระวังภัยนี่แหละ ทำให้ตัวจิตเองไม่ยอมจมแช่อยู่กับอะไรเลย สติทำงานด้วยการระลึกรู้โน่น รู้นี่ ตลอดเวลาไปรอบๆตัวเองเลย

การขับรถใช้กับคนที่ติดเพ่งได้จริงๆนะครับ แต่คนที่มีทิฎฐิว่าต้องเพ่งเอาไว้ จะรู้สึกว่า การขับรถนี่เจริญสติไม่ได้เลย เหมือนเป็นคนละโลกกับการหัดเจริญสติเลยทีเดียวครับ

อีกส่วนที่ต้องเข้าใจก่อนก็คือ การขับรถนั้น แม้ใช้แ้ก้ไขอาการเพ่งได้ก็จริง แต่สติที่เกิดจากการขับรถเองแท้ๆตามประสาคนในโลกทั่วไป ยังไม่ใช่สติที่พร้อมจะเจริญวิปัสสนา หรือที่เรียกว่า สติตัวจริง ตามความหมายของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ครับ แต่เราสามารถพลิกให้เป็นการฝึกหัดเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันได้ไม่ยากนักเลย เพียงแค่...

มองไปข้างหน้า รู้ ว่า "กำลังมอง" ไปข้างหน้า
มองกระจกหลัง รู้ ว่า "กำลังมอง" กระจกหลัง
มองกระจกมองข้าง รู้ ว่า "กำลังมอง" กระจกข้าง

มองตรงไหน ก็ "รู้" ว่า "กำลังมอง" เท่านั้นเอง

หรือแม้แต่จิตไปรู้ความรู้สึกทางกาย เช่น รู้ถึงแรงกดของเ้ท้าที่เหยียบลงบนบนเบรค ก็แค่ "รู้" เท่านั้น แค่นี้เราก็พลิกเวลาการขับรถที่แสนยาวนานของบางคนในแต่ละวันมาใช้เจริญสติได้แล้วครับ

วิธีนี้ ต้องระมัดระวังสำหรับบางท่านที่อาจพบว่า ฝึกแล้วจิตมีความง่วงซึมนะครับ หากเป็นอย่างนั้นก็ต้องเลี่ยงไปครับ และกับบางท่าน การขับรถด้วยวิธีนี้ อาจต้องเสริมด้วยการเปิดซีดีของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ฟังไปด้วย เพราะในธรรมเทศนาของท่าน จะมีคีย์เวิร์ดที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตัวได้ดีครับ

ลุงถนอมเชื่อว่า วิธีหลังนี้ มีคนใ้ช้กันเกลื่อนแล้ว เหมือนนำเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนยังไงก็ไม่ทราบ แต่ก็บันทึกเอาไว้ก่อน เพราะในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็จะได้ขยายความกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไป

บางที อาจเป็นเหมือนอำเภอบ่อพลอย จันทบุรี ก็ได้ ที่เดี๋ยวนี้มีแต่คนขนพลอยจากที่อื่นๆ (บางทีไกลมากจากลาตินอเมริกา) เข้าไปขายในอำเภอบ่อพลอย จันทบุรี เลยนะครับ

โลก... ก็ไม่แน่นอนอย่างนี้ล่ะครับ  ;D ;D ;D

29
หากเป็นคนที่มีความตั้งใจทำอะไรจริงจัง หรือที่เรียกว่า มุ่งมั่นมากๆ มักจะมีนิสัยอย่างหนึ่งติดตัวมาด้วย นั่นก็คือ การเพ่ง

การเพ่ง กับความตั้งใจแรงๆ อาจเรียกได้ว่า เป็นเพื่อนกันมานาน ก็เป็นได้ เพราะเมื่อคนที่มีความตั้งใจแรงๆ ต้องการจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วล่ะก็ เขาย่อมต้องจดจ้องหรือพุ่งความสนใจไปในเรื่องนั้นๆอย่างไม่ว่อกแว่ก ไม่สนใจสิ่งอื่นหรือที่อาจเรียกได้ว่า "สิ่งรบกวน"

การปัดหรือปฏิเสธไม่ให้จิตไปสนใจสิ่งรบกวน นั่นก็คือการข่มใจเอาไว้ หรือการเพ่งลงไปที่จุดสนใจที่ตนต้องการ และเมื่อจะทำสมาธิ เอาจิตให้จดจ่อเอาไว้ที่อารมณ์อันเดียว โดยขาดกัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการ การเพ่งย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย และเมื่อเพ่งจนชำนาญ จนเคยชิน การเพ่งจะเกิดขึ้นเองทันทีที่นึกถึงการปฏิบัติธรรม ดังนั้น เมื่อไหร่ๆก็เพ่ง หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า "ติดเพ่ง"

วิธีการที่หลวงพ่อปราโมทย์ ท่านมักแนะนำให้สำหรับนักเพ่ง หรือผู้ที่ติดเพ่ง ก็คือ ให้เลิกการทำสมาธิอย่างที่เคยทำไปก่อน ท่านไม่ได้มีเจตนาห้ามทำสมาธิ หรือมีทิฎฐิว่าสมาธิเป็นสิ่งที่ไม่ต้องทำ แต่ท่านไม่ได้อธิบายกว้างๆใ้ห้คนอื่นๆที่ได้ยินเสียงของท่านได้เข้าใจตามไปด้วย เพราะในขณะนั้น ท่านมุ่งปรับพื้นฐานของคนที่ท่านคุยด้วย หรือกำลังส่งการบ้านเป็นสำคัญ

หรือพูดอีกที เราไปแอบฟังเรื่องที่ท่านคุยกับคนอื่นที่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของเขา เพียงแต่เจ้าตัวเขาไม่ได้ต้องการปกปิดอะไร แต่... เราผู้ฟังเองต่างหาก ที่ลืมไปว่า ท่านกำลังพูดกับใคร

วิธีการที่ท่านแนะนำ ให้เลิกทำสมาธิไปก่อน แล้วให้หาอารมณ์อันเป็นกุศล (หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่อกุศล) มาเป็นเครื่องอยู่สักพัก คำว่าเครื่องอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่คำว่า "วิหารธรรม" อันเป็นเรื่องของการเจริญสติ หากแต่หมายถึง ให้จิตได้เสพอารมณ์อันเป็นสุขนั้น ให้จิตไม่มีความเคร่งเครียด ให้จิตได้ผ่อนคลาย คลายตัวออกมาก่อน

จากนั้น เมื่อจิตคลายตัว ใจสบายดีแล้ว ท่านจึงเริ่มสอน ให้หัดสังเกตสภาวะ เพื่ออาศัยการเห็นสภาวะนั้น เป็นเหตุให้เกิดจิตที่มีสติที่ประกอบด้วยความรู้สึกตัวขึ้นมา ดังนั้น ตรงนี้ต้องเข้าใจกันก่อนว่า ท่านไม่ได้ห้ามทำสมาธิ ท่านไม่ได้ต่อต้านสมาธิ แต่ท่านกำลังปรับพื้นฐานการภาวนา ให้เกิดความสมดุลระหว่างการเจริญสติ กับการเจริญสมาธิ เพื่อให้จิตใจพร้อมสำหรับการทำวิปัสสนา

หากอ่านถึงตรงนี้ บางท่านอาจคิดไปถึงคำว่า จิตตสิกขา การศึกษาเรื่องจิต ให้รู้ว่าจิตชนิดใดใช้ทำสมถะ จิตชนิดใดใ้ช้ทำวิปัสสนา และตรงนี้ยังไม่ใช่ปัญญาสิกขา ยังไม่เป็นวิปัสสนา ดังนั้น หากใครเข้าใจผิดไปอีกว่า ตรงนี้เป็นวิปัสสนาแล้ว (คือ การฝึกจิตให้รู้สภาวะที่ปรากฎ สภาวะอันเป็นปรมัตถ์ ไม่ใ่ช่สภาวะอันเป็นบัญญัติ) ก็ขอให้เข้าใจกันตรงนี้เลยครับว่า ตรงนี้เป็น จิตตสิกขา เป็นการเตรียมพร้อมที่จะเจริญวิปัสสนา แต่ยังไม่ใช่ครับ

หากท่านใด ทำเท่านี้ แล้วสามารถเริ่มต้นการสังเกตสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นที่กายที่ใจของเราได้แล้ว ก็ขอให้เจริญสติต่อไปได้เลย แต่หากกับบางคนยังไม่สามารถ เพราะเหตุว่า พอเว้นไม่ภาวนาไปหลายๆเดือนแล้ว พอกลับมาภาวนา ก็กลับเพ่งขึ้นมาใหม่ จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ก็แสดงว่าความตั้งใจอันเป็นพื้นฐานของตนนั้น มีรุนแรงมาก หรือสะสมมานาน จนเวลาไม่กี่เดือน หรือปีหนึ่งๆ อาจไม่เพียงพอที่จะละหรือเลิกความเคยชินอันเดิมๆที่ตนมีได้ และเราก็คงจะทอดเวลาให้ยาวนานไปมากกว่านั้นไม่ได้ ก็ต้องเดินหน้าลุยกันไปด้วยความไม่พร้อมนี่ล่ะครับ แต่ก็ต้องยอมรับความทุกข์ หรือความทรมานที่จะตามมาด้วย หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า ต้องเลืิอกเส้นทางทุกขาปฎิปทาแล้ว

ที่บอกว่าเป็นทุกขาปฏิปทาก็เพราะว่า เส้นทางสายนี้ กว่าจะเข้ารูปเข้ารอย ต้องทุกข์หนัก ทุกข์หนักเพราะการเพ่ง การเพ่งนั้นสร้างทุกข์ให้อยู่แล้วโดยปกติธรรมดา แต่จะผ่านให้ได้ก็ต้องเดินหน้าลุย

เส้นทางทุกขาปฏิปทาของการเพ่งนั้น เราต้องอาศัยการสังเกตจิตที่เพ่งนั่นเองเป็นเครื่องมือในการหัดเจริญสติ เวลาที่นึกถึงการภาวนา จิตจะหวลเข้ามาล็อกเข้าสู่การเพ่งโดยอัตโนมัติ การเพ่งนั้นย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ แต่ก็ได้ให้ประโยชน์ เพราะทุกๆครั้งที่เกิดขึ้น เราจะเห็นได้เองถึงการเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนแปลงของจิต เราจะเห็นได้เองถึงการบังคับไม่ได้ ห้ามไม่ได้ของจิต เพียงแต่ระยะเวลาที่เห็นนั้นแว่บเดียว แต่ระยะเวลาที่ทุกข์เพราะต้องเสวยวิบากนั้นยาวนานกว่า

แต่หากเป็นคนที่มีความตั้งใจจริง และตั้งใจแรง เรื่องแค่นี้คงไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ไม่เกินความสามารถที่จะทนทานไปได้

เมื่อเราได้สังเกตเห็นจิตที่วิ่งไปวิ่งมา จิตที่เข้าไปเพ่งที่ห้ามไม่ได้ เห็นได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องบอกกันก็คือ อย่าปล่อยให้จิตจมแช่อยู่กับการเพ่งอย่างนั้น เพราะการจมแช่อย่างนั้นจะเสริมแรงการเพ่งให้แรงขึ้น ความทุกข์ก็มากขึ้น ตามไปด้วย แต่ให้เกิดการเคลื่อนไหวทางกายแทน เคลื่อนไหวกายก็เพื่อให้จิตใจเคลื่อนไหว คือ ตามปกติเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ หรือที่เรียกว่าผัสสะ บางครั้งจิตจะทำหน้าที่เป็นวิญญาณรับรู้ รับรู้การสัมผัสกันของอายตนะภายนอก อายตนะภายใน ตรงนี้แหละที่ทำให้จิตนั้นละออกจากการเพ่ง ไปรับรู้ทางอายตนะแทน

วิธีการนี้จะทำให้จิตที่เพ่งอยู่ เคลื่อนออกจากการเพ่งไปได้ ดังนั้น ท่านที่ชอบติดเพ่ง จำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวกายเอาไว้ให้มาก แม้แต่การฝึกตามรูปแบบ ก็ต้องใช้การเคลื่อนไหวเป็นหลัก จะเป็นการเดินจงกรมก็ดี จะเป็นการขยับเคลื่อนมือแขนก็ดี หรือแม้แต่การสวดมนต์ ก็ยังต้องคอยระลึกถึงปากหรือขากรรไกรที่เคลื่อนไหว จะช่วยให้จิตเคลื่อนไหว ไม่จมอยู่กับการเพ่งได้

สำหรับนักเพ่งที่มีลักษณะเฉพาะอีกประการหนึ่งก็คือ ชอบที่จะเพ่งเข้าไปลึกๆในจิตใจ ก็ต้องอาศัยการคอยระลึกรู้ถึงสิ่งอื่นที่อยู่ไกลจากจุดเพ่งออกไป เช่น การมองไกลไปบนท้องฟ้า ซึ่งปกตินักเพ่งจะเผลอยาก เผลอแป๊บเดียวก็จะเพ่งโดยนิสัยเคยชิน ดังนั้น หากชอบเพ่งเข้าข้างใน ก็ต้องใช้ตามองท้องฟ้า เพราะจิตจะทำหน้าที่เป็นจักขุวิญญาณ ไปรู้ท้องฟ้า รู้ก้อนเมฆ จิตจะเกิดและดับที่ท้องฟ้า ไกลตัวออกไป การทำเช่นนี้ จะทำให้เกิดชนิดที่รู้ทางตา (จักขุวิญญาณ)ที่ท้องฟ้าหรือก้อนเมฆ ปนๆหรือสลับๆกับเกิดจิตที่เพ่งเข้าข้างใน ก็จะได้เห็นจิตที่เคลื่อนไหว และได้เห็นอีกว่า บังคับจิต หรือห้ามจิต หรือกำหนดจิต ให้อยู่ที่ใดที่หนึ่งตลอดเวลาไม่ได้

วิธีการนี้ จะทำให้จิตใจผ่อนคลายออกมาได้ แต่ก็ต้องอดทนอยู่กับความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการเพ่งด้วย ซึ่งหากเลือกได้คงไม่มีใครอยากจะเลือก แต่เมื่อจริตมาเป็นนักเพ่งชนิดทุกขาปฏิปทา เราคงปฎิเสธไม่ได้ และต้องลงมือเดินข้ามไปให้ได้ ไม่ลงมือในวันนี้ก็ต้องลงมือในวันหน้าอยู่ดี...

ขอให้เจริญในธรรมครับ _/|\_

30
ได้เห็นคำถามนี้จากที่ไหนสักแห่ง ก็นึกๆอยากจะตอบเขาอยู่เหมือนกัน แต่ในสถานที่แห่งนั้นมีสุดยอดฝีมือมากอยู่แล้ว หากไปตอบ แทนที่จะได้ตอบ กลับอาจต้องมานั่ง defense ความเห็นของตัวเองเข้าอีก ก็เลยเว้นไว้ไม่ตอบ รอจนกระทั่งเปิด CoffeeBreak ที่นี่แล้ว แล้วค่อยตอบก็แล้วกัน แต่ก็ยังไม่มีเวลาจะตอบสักทีเหมือนกันครับ

ลุงถนอมเคยอ่านพบในประวัติของพระบางรูป ซึ่งครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง (เรื่องนี้ ไม่ได้ฟังจากหลวงพ่อปราโมทย์นะครับ และท่านก็ไม่ได้บอกว่าเป็นใคร หมายถึงพระภิกษุรูปไหน) ท่านบอกว่า พระภิกษุรูปนั้นฝึกกสิณไฟ ต่อมาเกิดนิมิตขึ้น ไฟนั้นลุึกท่วมร่างกายจนมอดไหม้เป็นจุณ ไม่เหลืออะไรเลย แล้วก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อไป

กับที่ลุงถนอมเคยได้ยินหลวงพ่อปราโมทย์ท่านตรวจการบ้าน มีบางคนที่ถนัดจะทำสมาธิขึ้นมาก่อน แล้วไปเกิดนิมิตเห็นร่างกายที่เน่าเปื่อยผุพัง ท่านก็สอนให้ดูจนนิมิตร่างกายนั้นสลายไปหมด ก็ให้ดูจิตผู้รู้ต่อไป

ตามความเข้าใจของลุงถนอม กับวิธีการอย่างนี้ ก็คือ ในขณะที่มีนิมิตเป็นไฟ อย่างกสิณไฟ หรือมีนิมิตเป็นร่างกาย อย่างท่านที่ทำสมาธิขึ้นมาแล้วเห็นร่างกายเน่าเปื่อยผุพัง ตรงนั้น ไม่ได้เห็นตามความเป็นจริง แต่เห็นในสิ่งที่จิตสร้างขึ้น คล้ายๆกับคนที่คิดฟุ้งซ่าน คิดแล้วอินในเรื่องที่คิด จะมีตัวเองอยู่ในโลกแห่งความคิด หรือจินตนาการนั้น ภาวะอย่างนี้ยังไม่ใช่วิปัสสนา และใช้เจริญวิปัสสนาไม่ได้

แต่ตรงที่ร่างกายถูกไหม้เป็นจุณไปแล้ว หรือที่ร่างกายเน่าเปื่อยผุพังไปแล้ว ไม่เหลืออะไรเลย และจิตนั้นรู้ อยู่ตรงที่รู้ ตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นจุดเริ่มของการเจริญวิปัสสนา แต่เป็นการเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยสมาธินำ และวิปัสสนาจะเกิดขึ้นเมื่อได้เห็นจิตใจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้เอง เช่น จิตเข้าในสมาธิที่ลึกขึ้น หรือ จิตถอยออกมาจากสมาธิที่เคยตั้งอยู่ การสังเกตเห็นตรงนี้ เรียกว่าเจริญวิปัสสนาไปพร้อมกับสมถะ หรือบางท่านอาจต้องอาศัยการสังเกตจิตใจเมื่อถอยออกมาจากสมาธิแล้ว มาอยู่ในจิตธรรมดาๆในชีวิตประจำวันนี่แหละ ตอนที่จิตเริ่มถอยออกจากสมาธิ จิตจะแสดงความเปลี่ยนแปลงที่บังคับไม่ได้ให้ดู หากในตอนนั้นเฉลียวใจขึ้นมา ว่าจิตเขามีการเปลี่ยนแปลงไม่คงที่แท้จริง หรือเห็นว่าจิตเขาเปลี่ยนแปลงเขาเอง ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้ ตรงนี้เป็นจุดหรือช่วงเวลาที่สำคัญ ที่จะได้เจริญวิปัสสนา

วิธีการนี้ กับคนธรรมดาๆ ที่ไม่สามารถเข้าสมาธิได้ลึกๆ ก็ยังสามารถทำกันได้เหมือนกันครับ หลวงพ่อปราโมทย์ท่านสอนเอาไว้ ให้สังเกตจิตในขณะที่ตื่นนอน ก็จะได้เห็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง การบังคับไม่ได้ ของจิตเช่นเดียวกันครับ

ทีนี้ หากท่านที่เคยฝึกกสิณจนเคยชิน แต่จิตไม่สามารถรวมและเกิดนิมิตดังเช่นที่ว่า จะทำอย่างไร อันนี้ลุงถนอมมีเคล็ดลับครับ ความจริงเป็นปัญหาของลุงถนอมเองแหละครับ เพราะก่อนหน้าที่ลุงถนอมจะได้พบกับครูสันตินันท์ นอกจากการฝึกอานาปานสติ กับบริกรรมพุทโธแล้ว กสิณก็เคยฝึกครับ

สมัยเด็กๆชอบมองเปลวเทียน มองแล้วมีความสุข ที่เขาสอนว่า ลืมตาก็เห็น หลับตาก็เห็น ก็ฝึกแป๊บเดียวก็ได้อย่างนั้น แต่ไม่ชอบ รู้สึกเหมือนทำอะไรผิดไปบางอย่าง สมัยที่บวชพระ ก็ไปเล่นอาโลกกสิณ (เพราะกุฏิเป็นไม้ เลยมีช่องว่างที่มีแสงลอดเข้า) เ่ล่นเอาความสุขนั่นแหละครับ ไม่ใช่อะไร ไม่ได้เจตนา แต่พอมองลงไปแล้วมีความสุข หลับตาก็เห็น ลืมตาแล้วนึกก็เห็น แต่ก็ไม่ถึงกับบังคับนิมิตได้คล่องนัก ต่อมาตอนหลังหันมาเปลี่ยนไปฝึกกสินสีดำ (นิลกสิณ) เพราะมันพกได้ง่าย

ก็เพ่งกสินดำจนกระทั่งเห็นแสงสว่างเป็นประกายพรึกแผ่ออกจากจุดตรงกลางกลมวงกลมสีดำ กลบมือที่ถือหายไปเลย แล้วบางทีเวลาไปไหนต่อไหน นึกอยากรู้อะไร ก็ระลึกนิมิตวงกลมสีขาวใสเหมือนพระจันทร์เต็มดวงที่สว่างกว่าพระอาทิตย์นั้นขึ้นมา หน่วงขึ้นมาแล้วเ่พ่งลงไปตรงกลาง ก็สามารถไปเห็นอะไรได้ เหมือนกับเราส่องกล้องทางไกล อย่างไรก็อย่างนั้น

แต่ตอนนี้เลิกหมดแล้วนะครับ เพราะความรู้สึกว่ายังไม่ใช่ มันทำให้ไม่มีความรู้สึกว่าอยากฝึกต่อ พอเลิกฝึก ก็ทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว คือรู้สึกว่าไม่ใช่ทาง

สิ่งที่ตามมาก็คือ เมื่อมาพบกับครูสันตินันท์ ลุงถนอมมีปัญหาเรื่องการเพ่งติดมาด้วย ตอนที่ฝึกครั้งแรกกับครูสันตินันท์ เพ่งจนเหนื่อย จนหมดแรง (เลยแค่รู้เฉยๆ) ครูสันตินันท์บอกว่า ให้กลับได้ แต่ลุงถนอมรู้ว่า ไปไม่รอดแน่ เพราะนี่คือเพ่งมาเป็นชั่วโมงๆจนหมดแรงแล้ว การรู้เฉยๆแบบนี้ ทำไม่ได้ (แต่จำสภาวะนั้นไว้ เอาไว้วัดตัวเอง ดีตรงที่ใช้วัดตัวเอง เสียตรงที่ไปติดการสร้างสภาวะอย่างนั้นขึ้นมา ซึ่งมันทำไม่ได้ แต่นิสัยการสร้างสภาวะขึ้นมานั้น ติดมาจากการใช้กสิณ - ไม่ใช่การฝึกกสิณนะครับ)

และด้วยความเป็นคนที่มีจิตดื้อมาก ช่วงนั้นครูสันตินันท์สอนอะไรไม่ได้ สอนอะไรจิตจะบื้อ ดื้อเงียบอยู่ภายใน (สั่งให้เลิกดื้อก็ไม่ได้อีก อะไรก็ไม่รู้) ได้แต่ทนทุกข์ทรมานกับการเพ่ง กับการพยายามสร้างสภาวะ (แม้แต่การพยายามสร้างสติ ก็ยังมีเลยครับ) จนมีวันหนึ่ง ไปสังเกตเห็นว่า เราสามารถสังเกตการไปรู้รูปได้ (ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลยครับ แค่สังเกตเห็น)

คือ สังเกตเห็นได้ว่า เวลากำลังมองดูอะไรอยู่ ก็สังเกตเห็นทัน ว่ากำลังมองสิ่งนั้นอยู่ เห็นได้ง่าย ไม่เหมือนกับการย้อนมาดูจิต (ตามที่เข้าใจเองแบบโง่ๆ) ที่ทำให้อึดอัด เคร่งเครียด เพราะเหมือนเอาค้อนมาทุบหน้าอก (พุ่งเขามาดูด้วยการเพ่งน่ะครับ) ตอนนั้นขับรถอยู่นะครับ บนทางด่วน

สิ่งที่สังเกตเห็นอีกก็คือ เมื่อคอยสังเกตเห็นตารู้รูปไปได้สักพัก เวลาที่จิตไปรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ก็สามารถรู้ได้ทันเหมือนกัน คือ ทันสังเกตเห็นว่าจิตไปรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยเฉพาะเวลาขับรถ ซึ่งจิตต้อง Alert อยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถเพ่งที่ไหนได้ จิตทำงานเคลื่อนไหวคล่องแคล่วว่องไว วิ่งไปรู้โน่นรู้นี่รอบตัวไปหมด ไม่เฉพาะรอบๆร่างกาย แต่รอบๆรถด้วย ทำให้จิตที่เคยถูกบังคับให้นิ่ง มีอิสระเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงให้สังเกตเห็นได้ง่าย

พอมาทำความเข้าใจกับตัวเอง ว่าทำไมกรรมฐานของเรา ไหงเป็น "ตารู้รูป" หรือ "สังเกตเห็นว่าไปมองอะไรอยู่" สังเกตไปนานๆเ้ข้า ก็ทำให้พอรู้ว่า เป็นเพราะในอดีตเราฝึกกสิณมานั่นเอง และคงไม่ใช่แค่ในชาตินี้หรอก เพราะตอนเด็กชอบมองเปลวเทียน มีความสุข สบาย ลืมโลก คงไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิด แต่น่าจะติดตัวมาแต่อดีตที่ไกลกว่านั้น

ก็สรุปได้ว่า ท่านที่เคยฝึกกสิณมา หากต้องการเจริญสติในชีวิตประจำวันโดยอาศัยการดูจิตแล้วล่ะก็ ลองสังเกตตัวเองในแง่ที่ว่า "กำลังมอง" นะครับ

ลุงถนอมไปถวายอาหารพระก่อนล่ะครับ...

Pages: 1 [2] 3