Show Posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Messages - ลุงถนอม

Pages: 1 ... 135 136 [137] 138 139
2041
อนุโมทนากับทุกท่านครับ _/|\_

2042
อย่ากลัวเรื่องการทำสิ่งใดนะครับ จะเป็นกิเลสหรือไม่ใ่ช่กิเลส ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ที่ เมื่อพิจารณาแล้วว่าสมควรทำ ก็ทำ และถ้าให้ดีที่สุด ก็ดูจิตเสียก่อน แล้วค่อยพิจารณาว่าควรทำหรือไม่ควรทำนะครับ

การดูจิตเสียก่อน ก็เพื่อให้ได้รู้จักกิเลสเสียก่อน เมื่อรู้จักกิเลสแล้ว จะทำตามกิเลสหรือไม่ทำตามกิเลส ให้พิจารณาจากความสมควร ทำแบบนี้ได้กำไร 2 ต่อครับ ต่อแรกก็คือ ได้เจริญสติ ได้ดูจิต ได้เห็นกิเลส ต่อที่สองก็คือ เมื่อพิจารณาแล้วว่าควรทำ แล้วได้ลงมือทำ ก็ได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์อีกครับ

กำไร 2 ต่อ ตามประสานักภาวนาครับ ^____^

ขอให้เจริญในธรรมครับ _/|\_

2043
อนุโมทนาสาธุกับทุกท่านครับ

เป็นอีกกระทู้หนึ่งที่อ่านแล้วเบิกบานแจ่มใส่ครับ ^____________________^

2044
ครับ ทำอย่างนั้นนะครับ แต่ต้องรู้ด้วยจิตที่สบายๆนะครับ ปกติบริกรรมพุทโธ กำกับลมหายใจ มันจะสบายอยู่แล้ว เพราะเป็นการบริกรรมช้าๆ แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ จะเผลอ จะหลง จะเกิดนิวรณ์ประเภทจิตไม่มีแรง คือ ถีนมิทธะได้ง่าย

ดังนั้น คอยสังเกตนิวรณ์ไว้ให้ดีนะครับ จะมี 2 ตัว ที่มักเกิดขึ้น ก็คือ ความฟุ้งซ่าน มาในรูปเผลอไปคิด กับความง่วง เวลามา ต้องเร้าความรู้สึกให้แรงขึ้น เช่น อาจเป็นตัวลมหายใจที่ให้หายใจแรงขึ้น หรือต้องให้เห็นความง่วงๆที่เข้ามารุมเร้าจิตใจ เห็นแล้วจิตจะตื่นเป็นพักๆ แต่หากทนไหวจริงๆนะครับ ผ่านไประยะเวลาหนึ่ง จิตจะตื่นสว่างโพลงขึ้นมา หากไม่ได้หัดเจริญวิปัสสนาเป็นมาก่อน จิตจะสว่างโพลงเฉยๆ ไม่เดินปัญญา และนิ่งอยู่ อย่าไปพลาดให้กับความคิดว่าได้โสดาบันหรือได้อะไรเข้าเชียวครับ เป็นอาการของสมถะล้วนๆ แม้ว่าตอนนั้นจิตจะตั้งมั่น เป็นผู้รู้ผู้ดูก็ตาม แต่ก็จะไม่เดินปัญญาต่อ แต่หากฟังซีดีหลวงพ่อบ่อยๆ จิตเขามักจะเดินปัญญาต่อได้ เพราะหลวงพ่อท่านแสดงธรรมทิ้งร่องรอยและโน้มน้าวให้จิตเดินปัญญาไว้อยู่แล้วครับ

ขอให้เจริญในธรรมครับ _/|\_

2045
การช่วยคิดว่ามันเกิดและดับเอง ไม่ได้ช่วยให้จิตมีปัญญา แต่ไปเสริมให้จิตกลายเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์นะครับ ต่อๆไปจิตจะเคยตัว และมีนิสัยที่จะวิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่าง แรกๆอาจเกิดในใจ ต่อๆไปก็จะหลุดทางวาจาได้อีก

แต่หากจิตเขาเคยตัวที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ก็ให้รู้ทันว่าจิตเขาพูดเขาวิจารณ์เขาเอง หากมองเห็นลักษณะอาการของจิตอื่นๆ เช่นตอนนั้นจิตรู้สึกมีกำลังหรืออ่อนกำลัง หรืออะไรทำนองนี้ได้อีก ก็จะได้เครื่องหมายสังเกตว่าจิตฟุ้งซ่านไปนะครับ

การเห็นอะไรที่ไหวๆกลางอก ไม่ว่าจะแรง ไม่ว่าจะเบา ก็ให้เห็นเหมือนที่เราเห็นร่างกายขยับนั่่นแหละครับ คือ รู้ว่ามีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับลงไป ตัวมันจะคืออะไร จะมีเหตุคืออะไร ก็ไม่ควรที่จะสนใจ เพราะสนใจแล้วจะทำให้เราสงสัย เราติดใจ แล้วพลาดจากการภาวนาไปได้ครับ พอสนใจไปแล้ว ก็ให้รู้ทัน ว่าสนใจไปแล้ว พอรู้ทัน (รู้ทันโดยไม่มีความจงใจนะครับ) จิตที่รู้ทันก็จะเป็นจิตตั้งมั่นขึ้นมากครับ

ความจริงแล้ว อาการอะไรเกิดกลางอกก็ตาม อย่าคิดว่านั่นคือจิตเสมอไปนะครับ ดังนั้น เวลาไปสนใจมอง ก็ให้รู้ว่าสนใจ (ถ้ามองนานๆแล้วรู้ว่ามองนานๆ อันนั้นไม่ใช่การดูจิตแล้วครับ แต่ต้องรู้กิเลสที่กำลังครอบงำจิต คือความสนใจ) เวลาที่จงใจไปแช่ดู ก็ให้รู้ว่าจงใจ (ไม่ใช่รู้ว่าแช่นะครับ เพราะการแช่นั้นเราบังคับจิต การแช่เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น หากเราไปรู้ว่าแช่อยู่ เราจะเห็นว่าจิตบังคับได้ จะส่งเสริมมานะอัตตาครับ)

ขอให้เจริญในธรรมครับ _/|\_

2046
ต้องขอบอกอย่างนี้ไว้ก่อนเลยครับว่า การ "หัดแยกธาตุขันธ์" ที่ว่านั้น เป็นการจงใจ หรือทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เิกิดผลดังที่ว่าหรือเปล่า หากว่าใช่ ก็ขอเรียนตามตรงครับว่า "การแยกธาตุขันธ์" นั้น จะเกิดขึ้นโดยไม่มีความจงใจ แต่เกิดขึ้นด้วยจิตมีปัญญา(เบื้องต้น) ซึ่งแรกๆที่เกิดนั้น มักจะต้องมีความเฉลียวใจเกิดขึ้นร่วมด้วย อันเกิดจากการที่จิตเห็นสภาวะนั้นๆซ้ำๆจนจิตเขาจดจำสภาวะนั้นๆได้เองอย่างขึ้นใจ (หรือที่เรียกตามภาษาของพระอภิธรรม ว่าเกิด "ถิรสัญญา")

ตรงนี้เป็นจุดสำคัญมากครับ เพราะหากธาตุขันธ์แยกออกด้วยความจงใจแล้ว สิ่งที่ตามมาทั้งหมดจะผิด เพราะการทำตามความจงใจ เป็นการทำตามกิเลส ทำตามตัญหา ซึ่งตรงกันข้ามกับปัญญา ไม่อาจไปด้วยกันได้ และอีกสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การทะนงตนว่าเก่ง ว่าตนสามารถแยกธาตุขันธ์ได้(ตามใจปราถนา) จะทำให้ทิำฎฐิที่ชื่อ "สักกายทิฎฐิ" งอกงามโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถก้าวเข้าสู่อริยภูมิได้โดยง่าย

การพยายามแยกธาตุขันธ์ เป็นการจงใจ ก็คือ การบังคับจิตให้ได้ผลตามที่ตนต้องการ จัดว่าเป็นการบีบบังคับทรมานจิตใจ สิ่งที่ตามมาก็คือ จิตจะมีโทสะง่าย เพราะจิตมีความตึงเครียดอยู่ภายในอันเกิดจากการบังคับอยู่ เรียกว่าจัดพื้นฐานเตรียมพร้อมให้เกิดโทสะไว้อยู่แล้ว พอมีอะไรมาสะกิดเพียงเล็กน้อย โทสะก็พร้อมจะโพล่งขึ้นมาได้ แต่หากบังคับเอาไว้นานๆจะไม่เห็นเลย จิตภายนอกจะราบเรียบมากๆ แต่จิตภายในกลับกักเก็บแรงดันเอาไว้มากๆ เหมือนมีเขื่อนที่กั้นน้ำ เมื่อใดที่เขื่อนปริร้าว หรือแตก ปริมาณน้ำมหาศาลที่เืขื่อนกักเก็บเอาไว้ก็จะแตกทะลักออกมาทำลายบ้านเรือนตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำ ไม่เหลือเลย

การที่จิตถูกบังคับ จิตจะเป็นทุกข์ เหมือนมีของหนักทับไว้ จิตจะพยายามดิ้นให้หลุด เป็นธรรมชาติปกติธรรมดาของจิตครับ การที่เราได้เห็นจิตที่ดิ้นรน กระวนกระวาย ก็ให้รู้ไว้ครับว่า นี่คือผลของการบังคับจิต การแก้ไขผลของการบังคับจิต (หรือแก้ไขอาการดิ้นรนของจิต)นั้นไม่มี เพราะตรงนี้เป็นวิบากจิต แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะเมื่อใดที่เหตุหมด ผลก็ดับไปด้วย เพราะจิตตัวนี้เป็นวิบากจิต หรือจิตที่เป็นผลจากการบังคับ พอเราไม่บังคับแล้ว จิตจะมีอาการอย่างนี้อยู่ช่วงหนึ่ง ไม่นาน แล้วก็จะหายไป อาจจะอยู่แค่ นาที สองนาที ก็ได้

แต่ส่วนใหญ่แล้ว ไม่หายนะครับ ที่ไม่หายเพราะไปทำเหตุซ้ำเข้าไปอีก เหตุที่ไปทำซ้ำเข้าอีกก็คือ การเข้าไปพยายามแก้ไขอาการ แก้ไขตัวจิตที่เป็นวิบาก ไม่มีทางหายครับ นอกจจากไม่หายแล้วยังจะทำให้เกิดอาการแบบนั้นต่อไปอีก เพราะเหตุของอาการอย่างนั้นก็คือ การบังคับจิต การเข้าไปควบคุมจิตนั่นเอง จะแก้ผลจากการควบคุมจิต จะแก้ผลจากการบังคับจิต ด้วยการบังคับจิต ก็คงจะแก้ไขไม่ได้ เหมือนกับการแก้ไขนิสัยของเด็กดื้อ ที่ดื้อต่อไม้เรียว ด้วยไม้เรียว ก็คงจะยากที่จะแก้นิสัยความดื้อของเขาได้ เพราะเหตุของความดื้อ ก็คือไม้เรียวที่ตีเขานั่นแหละครับ

วิธีการที่ดีก็คือ เมื่อเห็นจิตที่ดิ้นรน ก็ดู ด้วยความเป็นกลาง แต่แรกๆจะเป็นอย่างนี้ยาก ดังนั้น เมื่อเห็นจิตที่ดิ้นรน ก็ให้รู้ ว่าจิตกำลังเป็นทุกข์ จิตกำลังหนีทุกข์ "มีความไม่ชอบใจอยู่" สำคัญตรงนี้นะครับ ให้รู้ว่ามีความไม่ชอบใจอยู่ แรกๆเป็นการรู้ด้วยการจำมาจากที่บอก แต่ต่อๆไปจะเห็นความไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นที่จิตได้เอง

ขั้นตอนนี้ต้องอดทน อย่าท้อใจ แต่อย่าหาญหักเอาด้วยกำลัง อย่าพยายามทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อให้ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือเพื่อให้ได้ผลอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีใครเจริญวิปัสสนาได้ด้วยวิธีนี้ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านค้นหาทุกวิธีที่จะทำให้เกิดความสุขถาวร แล้วท่านก็พบว่า เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ท่านจึงยอมตัดใจ มาเจริญสติปัฏฐาน ตามอานาปานสติสูตร จะพบว่า ท่านอาศัยแค่รู้ตามความเป็นจริงเท่านั้น เมื่อเริ่มต้นด้วยการอาศัยแค่รู้ตามความเป็นจริง ท่านตามรู้ตามดูด้วยความมีสติ มีสัมปชัญญะ ตลอด (ท่านทำได้เพราะสร้างบารมีมานาน แล้วเป็นแค่สาวกภูมิ ก็เอาแค่ มีสติบ้าง เผลอบ้าง แต่ไม่ยอมเลิกภาวนา ก็พอ) ปัญญาจึงเกิดขึ้นได้ การแยกนามรูปอันเป็นวิปัสสนาญาณเบื้องต้นจึงเกิดขึ้นได้ และได้บรรลุอรหันตสัมมาสัมโพธิญาณได้ในที่สุด

ดังนั้น ในตอนนี้ สิ่งที่ต้องฝึกฝน คือ ฝึกนิสัยใหม่นะครับ ก็คือ รู้ ตามความเป็นจริง จิตมีความจงใจเข้าไปแยกรูปนาม ก็รู้ จิตเกิดความไม่สบายใจ ก็รู้ จิตดิ้นรนกระวนกระวาย ก็รู้ จิตเกิดความไม่ชอบใจ ก็รู้

ฝึกเท่านี้ก่อนนะครับ แล้วเช้าเย็นให้สวดมนต์ออกเสียงนะครับ ออกเสียงให้ได้ยินด้วยหู แล้วคอยดูจิตที่วิ่งไปวิ่งมา จิตที่คิดโน่นคิดนี่ หรือจิตทำอะไรก็ได้ สังเกตเทียบกับจิตที่ได้ยินเสียงสวดมนต์นะครับ เทียบกันเฉยๆ ไม่ต้องไปทำให้จิตเขาต้องมาจดจ่อหรือสนใจเฉพาะเสียงสวดมนต์ เทียบกันเฉยๆครับ ส่วนการนั่งสมาธิ หากจะยังนั่งอยู่ ให้บริกรรมไว้นะครับ อย่าลงไปดูจิตตรงๆในระยะนี้ ส่วนในชีวิตประจำวัน ก็คอยดูจิตที่วิ่งไปรู้สัมผัสทางกาย ทางหู ทางลิ้น หรือที่เผลอไปคิดทางใจ

เอาเท่านี้นะครับ ลองทำไปสักพักได้แล้ว ก็จะได้คำตอบในคำถามทั้งหมดนั้นเลยครับ

ขอให้เจริญในธรรมครับ _/|\_

2047
ยิ่งรู้ว่าหลงบ่อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีนะครับ

ทีนี้เวลาจะพัก แล้วจิตไม่ยอมพัก แต่เหนื่อยมากแล้ว ก็ต้องอาศัยวิธีการทำสมถะแบบฝรั่งบ้างก็ได้ครับ บอกกับตัวเองเบาๆเรื่อยๆว่า "ไม่มีอะไรแล้ว ขอพักผ่อน" ทำใจไว้ว่า มีแรงแล้วจะมาภาวนาต่อ แล้วก็บอกตัวเองเบาๆอย่างนี้ ในอิริยาบถที่สบายๆ เช่น นั่งเอกเขนก นั่งในเก้าอี้ที่นุ่ม วางศีรษะในทีๆมีที่หนุน แล้วก็บอกตัวเองว่า "ขอพักก่อน มีแรงแล้วเดี๋ยวจะภาวนาต่อ" บอกกับตัวเองเบาๆเรื่อยๆอย่างนี้ก็ได้นะครับ ลองดู

หากทำได้ คราวนี้ก็สบายหน่อยแล้วครับ จะพัก ก็พักได้ จะภาวนา ก็ภาวนาได้

แต่ถ้าเป็นช่วงใกล้สอบนะครับ อันนี้ต้องยอมที่ไม่ได้ภาวนาตามรูปแบบ แต่อาศัยกิจกรรมในระหว่างเว้นจากการเรียน การอ่านหนังสือ เช่น เดินไปหาน้ำดื่ม ไปเข้าห้องน้ำ ตอนอาบน้ำ ภาวนาไปก็ได้ครับ อย่างน้อยก็จะช่วยทำให้จิตยังคงคุ้นเคยกับการภาวนาอยู่บ้างครับ

ขอให้เจริญในธรรมครับ _/|\_

2048
คำว่า "เงา" ของจิตนั้น อย่าไปคิดด้วยจินตนาการอันเกิดจากประสบการณ์ของเราว่า คือ shadow ที่ดำๆ อันเกิดจากการมีวัตถุบังแสง นะครับ คนละเรื่องกันเลย หากแต่คำว่า "เงา" ในที่นี้ ชวนให้คิดถึงคำๆหนึ่งที่เคยได้ยินครูบาอาจารย์พระป่าบางองค์ท่านกล่าวเอาไว้ว่า

"ขันธ์ ๕ คือ อาการของจิต" หรือบางท่านถึงกับกล่าวไว้น่าฉงนยิ่งว่า "ขันธ์ ๕ คือ แสงของจิต" นะครับ

อ่าวแล้วงง ก็ให้รู้ว่าเกิดความงง ก็ให้รู้ว่าปัญญาของเรายังไม่กว้างขวางพอ แล้วภาวนากันต่อไปนะครับ

2049
ถ้าเดินจงกรมแล้วหลงนาน ก็เป็นผลจากการนั่งสมาธิด้วยการเพ่งนั่นแหละครับ ร่างกายนิ่งๆก็พอจะกำหนดตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในร่างกายให้จิตคอยรู้อยู่ตำแหน่งเดียว ด้วยเข้าใจผิดว่า การมีสมาธิคือการบังคับจิตให้อยู่กับที่ แต่ความจริงแล้ว การทำสมาธิก็เหมือนกับการที่คนๆหนึ่งทำงานมาอย่างเหนื่อยอ่อน ต้องการพัก เขาก็จะอยู่ในอิริยาบถที่สบายๆ แล้วปล่อยใจให้อยู่กับความสุข เมื่อจิตใจมีความสุขแล้วก็ไม่กระสับกระส่าย จิตใจจะคอยคลอเคลียอยู่กับอารมณ์อันใดอันหนึ่งด้วยความพึงพอใจในความสุขนั้น เมื่อใดที่ใจเป็นหนึ่ง (เอกัคตา) จิตก็จะเป็นสมาธิระดับฌานโดยอัตโนมัติ

แต่ถ้าเคยนั่งสมาธิด้วยการเพ่งมานานๆ หากนั่งสมาธิโดยไม่เพ่ง ก็จะมีอาการเผลอไปคิดยาวไปเลยครับ จะรู้สึกตัวครั้งหนึ่งยากกว่าการเดินจงกรมนะครับ ลองลดเวลานั่งสมาธิลง แล้วเพิ่มการสวดมนต์ (สวดไป รู้สึกตัวไป) น่าจะทำให้การเผลอนานนั้นลดลงได้นะครับ

อีกอย่าง ในชีวิตประจำวัน ก็ต้องคอยรู้สึกตัวไว้ด้วยนะครับ อย่าปล่อยให้ตัวเองหลงกับโลกไปเป็นวันๆครับ เวลาฝึกตามรูปแบบเพียงวันละไม่กี่นาที ถึงวันละชั่วโมง ยังไม่พอแก่การเตรียมตัวเพื่อเจริญวิปัสสนาหรอกนะครับ เพราะวันหนึ่งๆ หักจากเวลาหลับวันละ 8 ชม.แล้ว เรายังมีเวลาเหลือให้กิเลสเล่นงานเราอีกถึง 15 ชม.ครับ เรื่องนี้หลวงพ่อปราโมทย์ท่านคอยเตือนพวกเราอยู่เสมอๆครับ

ขอให้เจริญในธรรมครับ _/|\_

2050
หากเป็นคนที่มีความตั้งใจทำอะไรจริงจัง หรือที่เรียกว่า มุ่งมั่นมากๆ มักจะมีนิสัยอย่างหนึ่งติดตัวมาด้วย นั่นก็คือ การเพ่ง

การเพ่ง กับความตั้งใจแรงๆ อาจเรียกได้ว่า เป็นเพื่อนกันมานาน ก็เป็นได้ เพราะเมื่อคนที่มีความตั้งใจแรงๆ ต้องการจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วล่ะก็ เขาย่อมต้องจดจ้องหรือพุ่งความสนใจไปในเรื่องนั้นๆอย่างไม่ว่อกแว่ก ไม่สนใจสิ่งอื่นหรือที่อาจเรียกได้ว่า "สิ่งรบกวน"

การปัดหรือปฏิเสธไม่ให้จิตไปสนใจสิ่งรบกวน นั่นก็คือการข่มใจเอาไว้ หรือการเพ่งลงไปที่จุดสนใจที่ตนต้องการ และเมื่อจะทำสมาธิ เอาจิตให้จดจ่อเอาไว้ที่อารมณ์อันเดียว โดยขาดกัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการ การเพ่งย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย และเมื่อเพ่งจนชำนาญ จนเคยชิน การเพ่งจะเกิดขึ้นเองทันทีที่นึกถึงการปฏิบัติธรรม ดังนั้น เมื่อไหร่ๆก็เพ่ง หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า "ติดเพ่ง"

วิธีการที่หลวงพ่อปราโมทย์ ท่านมักแนะนำให้สำหรับนักเพ่ง หรือผู้ที่ติดเพ่ง ก็คือ ให้เลิกการทำสมาธิอย่างที่เคยทำไปก่อน ท่านไม่ได้มีเจตนาห้ามทำสมาธิ หรือมีทิฎฐิว่าสมาธิเป็นสิ่งที่ไม่ต้องทำ แต่ท่านไม่ได้อธิบายกว้างๆใ้ห้คนอื่นๆที่ได้ยินเสียงของท่านได้เข้าใจตามไปด้วย เพราะในขณะนั้น ท่านมุ่งปรับพื้นฐานของคนที่ท่านคุยด้วย หรือกำลังส่งการบ้านเป็นสำคัญ

หรือพูดอีกที เราไปแอบฟังเรื่องที่ท่านคุยกับคนอื่นที่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของเขา เพียงแต่เจ้าตัวเขาไม่ได้ต้องการปกปิดอะไร แต่... เราผู้ฟังเองต่างหาก ที่ลืมไปว่า ท่านกำลังพูดกับใคร

วิธีการที่ท่านแนะนำ ให้เลิกทำสมาธิไปก่อน แล้วให้หาอารมณ์อันเป็นกุศล (หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่อกุศล) มาเป็นเครื่องอยู่สักพัก คำว่าเครื่องอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่คำว่า "วิหารธรรม" อันเป็นเรื่องของการเจริญสติ หากแต่หมายถึง ให้จิตได้เสพอารมณ์อันเป็นสุขนั้น ให้จิตไม่มีความเคร่งเครียด ให้จิตได้ผ่อนคลาย คลายตัวออกมาก่อน

จากนั้น เมื่อจิตคลายตัว ใจสบายดีแล้ว ท่านจึงเริ่มสอน ให้หัดสังเกตสภาวะ เพื่ออาศัยการเห็นสภาวะนั้น เป็นเหตุให้เกิดจิตที่มีสติที่ประกอบด้วยความรู้สึกตัวขึ้นมา ดังนั้น ตรงนี้ต้องเข้าใจกันก่อนว่า ท่านไม่ได้ห้ามทำสมาธิ ท่านไม่ได้ต่อต้านสมาธิ แต่ท่านกำลังปรับพื้นฐานการภาวนา ให้เกิดความสมดุลระหว่างการเจริญสติ กับการเจริญสมาธิ เพื่อให้จิตใจพร้อมสำหรับการทำวิปัสสนา

หากอ่านถึงตรงนี้ บางท่านอาจคิดไปถึงคำว่า จิตตสิกขา การศึกษาเรื่องจิต ให้รู้ว่าจิตชนิดใดใช้ทำสมถะ จิตชนิดใดใ้ช้ทำวิปัสสนา และตรงนี้ยังไม่ใช่ปัญญาสิกขา ยังไม่เป็นวิปัสสนา ดังนั้น หากใครเข้าใจผิดไปอีกว่า ตรงนี้เป็นวิปัสสนาแล้ว (คือ การฝึกจิตให้รู้สภาวะที่ปรากฎ สภาวะอันเป็นปรมัตถ์ ไม่ใ่ช่สภาวะอันเป็นบัญญัติ) ก็ขอให้เข้าใจกันตรงนี้เลยครับว่า ตรงนี้เป็น จิตตสิกขา เป็นการเตรียมพร้อมที่จะเจริญวิปัสสนา แต่ยังไม่ใช่ครับ

หากท่านใด ทำเท่านี้ แล้วสามารถเริ่มต้นการสังเกตสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นที่กายที่ใจของเราได้แล้ว ก็ขอให้เจริญสติต่อไปได้เลย แต่หากกับบางคนยังไม่สามารถ เพราะเหตุว่า พอเว้นไม่ภาวนาไปหลายๆเดือนแล้ว พอกลับมาภาวนา ก็กลับเพ่งขึ้นมาใหม่ จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ก็แสดงว่าความตั้งใจอันเป็นพื้นฐานของตนนั้น มีรุนแรงมาก หรือสะสมมานาน จนเวลาไม่กี่เดือน หรือปีหนึ่งๆ อาจไม่เพียงพอที่จะละหรือเลิกความเคยชินอันเดิมๆที่ตนมีได้ และเราก็คงจะทอดเวลาให้ยาวนานไปมากกว่านั้นไม่ได้ ก็ต้องเดินหน้าลุยกันไปด้วยความไม่พร้อมนี่ล่ะครับ แต่ก็ต้องยอมรับความทุกข์ หรือความทรมานที่จะตามมาด้วย หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า ต้องเลืิอกเส้นทางทุกขาปฎิปทาแล้ว

ที่บอกว่าเป็นทุกขาปฏิปทาก็เพราะว่า เส้นทางสายนี้ กว่าจะเข้ารูปเข้ารอย ต้องทุกข์หนัก ทุกข์หนักเพราะการเพ่ง การเพ่งนั้นสร้างทุกข์ให้อยู่แล้วโดยปกติธรรมดา แต่จะผ่านให้ได้ก็ต้องเดินหน้าลุย

เส้นทางทุกขาปฏิปทาของการเพ่งนั้น เราต้องอาศัยการสังเกตจิตที่เพ่งนั่นเองเป็นเครื่องมือในการหัดเจริญสติ เวลาที่นึกถึงการภาวนา จิตจะหวลเข้ามาล็อกเข้าสู่การเพ่งโดยอัตโนมัติ การเพ่งนั้นย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ แต่ก็ได้ให้ประโยชน์ เพราะทุกๆครั้งที่เกิดขึ้น เราจะเห็นได้เองถึงการเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนแปลงของจิต เราจะเห็นได้เองถึงการบังคับไม่ได้ ห้ามไม่ได้ของจิต เพียงแต่ระยะเวลาที่เห็นนั้นแว่บเดียว แต่ระยะเวลาที่ทุกข์เพราะต้องเสวยวิบากนั้นยาวนานกว่า

แต่หากเป็นคนที่มีความตั้งใจจริง และตั้งใจแรง เรื่องแค่นี้คงไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ไม่เกินความสามารถที่จะทนทานไปได้

เมื่อเราได้สังเกตเห็นจิตที่วิ่งไปวิ่งมา จิตที่เข้าไปเพ่งที่ห้ามไม่ได้ เห็นได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องบอกกันก็คือ อย่าปล่อยให้จิตจมแช่อยู่กับการเพ่งอย่างนั้น เพราะการจมแช่อย่างนั้นจะเสริมแรงการเพ่งให้แรงขึ้น ความทุกข์ก็มากขึ้น ตามไปด้วย แต่ให้เกิดการเคลื่อนไหวทางกายแทน เคลื่อนไหวกายก็เพื่อให้จิตใจเคลื่อนไหว คือ ตามปกติเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ หรือที่เรียกว่าผัสสะ บางครั้งจิตจะทำหน้าที่เป็นวิญญาณรับรู้ รับรู้การสัมผัสกันของอายตนะภายนอก อายตนะภายใน ตรงนี้แหละที่ทำให้จิตนั้นละออกจากการเพ่ง ไปรับรู้ทางอายตนะแทน

วิธีการนี้จะทำให้จิตที่เพ่งอยู่ เคลื่อนออกจากการเพ่งไปได้ ดังนั้น ท่านที่ชอบติดเพ่ง จำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวกายเอาไว้ให้มาก แม้แต่การฝึกตามรูปแบบ ก็ต้องใช้การเคลื่อนไหวเป็นหลัก จะเป็นการเดินจงกรมก็ดี จะเป็นการขยับเคลื่อนมือแขนก็ดี หรือแม้แต่การสวดมนต์ ก็ยังต้องคอยระลึกถึงปากหรือขากรรไกรที่เคลื่อนไหว จะช่วยให้จิตเคลื่อนไหว ไม่จมอยู่กับการเพ่งได้

สำหรับนักเพ่งที่มีลักษณะเฉพาะอีกประการหนึ่งก็คือ ชอบที่จะเพ่งเข้าไปลึกๆในจิตใจ ก็ต้องอาศัยการคอยระลึกรู้ถึงสิ่งอื่นที่อยู่ไกลจากจุดเพ่งออกไป เช่น การมองไกลไปบนท้องฟ้า ซึ่งปกตินักเพ่งจะเผลอยาก เผลอแป๊บเดียวก็จะเพ่งโดยนิสัยเคยชิน ดังนั้น หากชอบเพ่งเข้าข้างใน ก็ต้องใช้ตามองท้องฟ้า เพราะจิตจะทำหน้าที่เป็นจักขุวิญญาณ ไปรู้ท้องฟ้า รู้ก้อนเมฆ จิตจะเกิดและดับที่ท้องฟ้า ไกลตัวออกไป การทำเช่นนี้ จะทำให้เกิดชนิดที่รู้ทางตา (จักขุวิญญาณ)ที่ท้องฟ้าหรือก้อนเมฆ ปนๆหรือสลับๆกับเกิดจิตที่เพ่งเข้าข้างใน ก็จะได้เห็นจิตที่เคลื่อนไหว และได้เห็นอีกว่า บังคับจิต หรือห้ามจิต หรือกำหนดจิต ให้อยู่ที่ใดที่หนึ่งตลอดเวลาไม่ได้

วิธีการนี้ จะทำให้จิตใจผ่อนคลายออกมาได้ แต่ก็ต้องอดทนอยู่กับความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการเพ่งด้วย ซึ่งหากเลือกได้คงไม่มีใครอยากจะเลือก แต่เมื่อจริตมาเป็นนักเพ่งชนิดทุกขาปฏิปทา เราคงปฎิเสธไม่ได้ และต้องลงมือเดินข้ามไปให้ได้ ไม่ลงมือในวันนี้ก็ต้องลงมือในวันหน้าอยู่ดี...

ขอให้เจริญในธรรมครับ _/|\_

2051
สาธุ สาธุ สาธุ

กระทู้นี้ผมลืมไปแล้วว่ามีอยู่ แต่พอจะจำวิธีคิดและจริตนิสัยของท่านได้อยู่ ^____^

2052
เห็นคุณหลี่จิ้งปิดกระทู้ไปแล้ว ด้วยความเคารพที่ได้เชิญคุณหลี่จิ้งเข้ามาช่วยเป็น Moderator ก็คิดว่าจะไม่ตอบ แต่เห็นว่า หากตอบแล้วอาจทำให้ได้เห็นอะไรที่ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่นะครับ

แม้ว่าผมจะไม่ได้สนิทชิดใกล้หลวงพ่อมากนัก เรียกว่ามีระยะห่างค่อนข้างมากก็ตาม แต่ด้วยความที่รู้จักหลวงพ่อท่านมานานตั้งแต่ก่อนบวช ได้รู้ได้เห็นวิธีคิดบางประการของหลวงพ่อนะครับ ผมจึงขอลองอธิบายเรื่องนี้จากมุมมองของผมนะครับ

เหตุที่หลวงพ่อท่านคิดจะสร้างเจดีย์ แต่กลับไม่ยอมบอกพวกเราเลย หากแต่ใช้วิธีค่อยๆเก็บสะสมเงินบริจาคที่มีคนถายตรงกับท่านแทน และรวมทั้งเงินส่วนตนทั้งที่เป็นเงินสะสมของท่านเอง เงินมรดก เงินสะสมของท่านแม่ชี และเงินมรดกของท่านแม่ชี

เหตุผลง่ายๆข้อแรกก็คือ การที่ท่านตั้งตู้บริจาคเอาไว้ แล้วค่อยสะสมเงินบริจาคเพื่อการสร้างเจดีย์ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีกำลังทรัพย์ต่ำ สามารถได้ร่วมบริจาค (ที่จะมียอดสะสมรวมเป็นจำนวนมาก) คือ คนที่ไปวัดบ่อยๆ บริจาคทีละร้อย สองร้อย หลายสิบครั้งเข้า ยอดสะสมของตนเองก็จะนับพันนับหมื่น ทำให้คนที่มีเงินน้อยๆได้มีโอกาสมาก และทำบุญได้มาก

อีกทั้งก็มีคนบริจาคให้ท่านอยู่แล้ว แต่ท่านไม่ได้ใช้อะไร (จากข่าว ท่านไม่ได้เบิกออกไปใช้เลย) แล้วเงินที่สะสมมาเป็นจำนวนมากจะไปไหน ก็นำไปสร้างถาวรวัตถุให้ทุกคนได้อนุโมทนาและชื่นใจ ว่าได้ร่วมกันสร้างจากศรัทธาของตนที่ค่อยๆทำกันไปเรื่อยๆ

แต่หากท่านใช้อีกวิธีหนึ่ง คือ ท่านใช้วิธีประกาศออกไป เชื่อว่าท่านสามารถระดมทุนได้ แต่ประเด็นก็คือ คนที่มีเงินมากๆ ทุนหนาๆก็จะได้เปรียบ ส่วนคนที่มีเงินน้อยๆ หรือเบี้ยน้อยหอยน้อยก็จะเสียเปรียบ อาจกัดฟันทำได้สักพัน สองพัน เท่านั้นเอง ยิ่งคนที่มีฐานะการเงินน้อยๆ อาจทำได้แค่ร้อย สองร้อย เท่านั้้น

และอีกเหตุผลหนึ่ง ซึ่งเป็นนิสัยของท่านแท้ๆอีกประการหนึ่งก็คือ ท่านไม่ชอบให้มีการเรี่ยไร ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของท่าน ที่ต้องการให้เน้นการภาวนามากกว่า (ซึ่งแม้แต่การสร้างสวนสันติธรรมนั้น ท่านยอมรับให้มีการสร้างก็เพราะมีการรับปากกันแล้วว่า จะไม่มีการเรี่ยไร) แล้วหากว่าเกิดมีการบอกบุญออกไป ทำให้คนที่เบี้ยน้อยหอยน้อยมีเงินสมทบน้อยอาจมีความกังวลที่มีความสามารถร่วมการทำบุญได้น้อย จนส่งผลให้การภาวนาหรือกำลังใจตกไปได้

ก็ขอประเมินจากศิษย์ที่อยู่ห่างไกลท่าน แต่รู้จักมานาน ก็พอจะรับรู้ในวิธีการคิดและการตัดสินใจของท่านมาบ้างครับ

2053
สำหรับวิธีการฝึกให้เกิดสติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ หรือสติตัวจริงนั้น อาจต้องดูไปเป็นแต่ละบุคคลนะครับ ว่าบุคคลใดมีกิเลสใดเกิดบ่อย และชัด ก็ดูอันนั้น

อย่างบางคนเป็นคนเจ้าโทสะ ก็อาศัยการสังเกตเห็นโทสะ ทั้งในการทำตามรูปแบบ และในชีวิตประจำวัน ฝึกฝนตนเอง ให้จิตคุ้นเคยที่จะทำเหตุ (จิตทำของเขาเอง ไม่ใช่เราไปทำให้เกิดสติที่ประกอบด้วยความรู้สึกตัว) ที่จะำทำให้เกิดสติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ ครับ

บางคนชอบคิดลงลึกๆ ชอบค้นคว้า ก็อาศัยการสังเกตเห็นว่าตนเองหลงไปในโลกของความคิดแล้ว เป็นเครื่องมือในการฝึกให้มีสติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ แต่วิธีสังเกตความหลงนั้น หัดแรกๆจะยากสักหน่อย เพราะการที่ความหลงจะเปิดเผยตัวเองถึงลักษณะของความหลง เป็นการกระทำที่เ็ป็นศัตรูกันโดยตรง เพราะความหลงแท้จริงแล้วก็คือ การปิดบังความเป็นจริง (อย่างเช่น เวลาหลงรักใคร เราจะไม่เห็นความเป็นจริงของคนๆนั้น เป็นต้น)

แต่วิธีการที่อาจารย์สุรวัฒน์มักจะเล่าให้ฟังบ่อยๆก็คือ ให้สังเกตตอนที่กำลังคุยโทรศัพท์ เราจะลืมตัวเราไปหมดเลย เราจะรู้แต่เรื่องที่เราคุย เราไม่รู้แม้แต่ว่า ในขณะนั้น เราถือโทรศัพท์ด้วยมือข้างซ้ายหรือข้างขวา เราไม่รู้ว่าเรากำลังเอียงหน้าไปข้างไห เราไม่รู้ว่าเรากำลังนั่งหรือยืนหรือเดิน ถ้าอยู่บนรถไฟฟ้าบางทีเราก็ไม่รู้เลยว่าเราคุยจนเลยสถานีที่เราจะลงแล้ว หรือขับรถอยู่บนทางด่วน บางทีเราไม่รู้เลยว่าเราขับเลยทางออกที่จะลงทางด่วนแล้ว เป็นต้น

หากฝึกดูหลงได้ ก็จะดี เพราะความหลงจะอยู่กับเราจนกว่าจะได้เป็นพระอรหันต์ แต่การฝึกอย่างอื่นก็ดี ไม่ต้องกลัวว่าพอสิ้นกิเลสตัวนั้นๆแล้วเราจะไปต่อไม่ได้ เพราะเมื่อเราฝึกฝนที่จะมีสติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะแท้จริงแล้ว ต่อๆไป จิตก็จะเริ่มจดจำกิเลส จดจำสภาวะอื่นๆได้มากขึ้น สติตัวจริงก็จะเกิดบ่อยขึ้น ถี่ขึ้น ไปตามลำดับ แต่การเกิดขึ้นไปตามลำดับ ก็จะมีวงรอบของการเจริญและเสื่อมอยู่ด้วย ดังนั้น หากพบว่าบางช่วงเจริญสติแล้วจิตไม่เกิดสติัตัวจริงแล้ว ก็อย่าตกใจ ให้สังเกต ว่าไปทำอะไรที่หนีจากหลักการนี้หรือเปล่า เช่น ไปเปลี่ยนวิธี หรือไปเกิดความอยาก เพราะความเจริญและเสื่อม ก็เป็นไปตามเหตุและปัจจัยที่บังคับให้เป็นไปตามใจปราถนาไม่ได้เหมือนกัน (ส่วนมากมักจะไปพลาดตรงความเร่งร้อนจะเอามรรคผลนิพพานเป็นหลักใหญ่)

ก็ลองฝึกดูนะครับ หาวิหารธรรมของตนเองให้ได้ แล้วลองฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งตามรูปแบบและในชีวิตประจำวันครับ

ขอให้เจริญในธรรมครับ
_/|\_

2054
สติตัวจริง เป็นคำที่หลวงพ่อปราโมทย์ใช้ ท่านเรียกให้แตกต่างจากมิจฉาสติ โดยท่านหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "สัมมาสติ" ซึ่งจะเป็นสติที่เกิดเมื่อเกิดอริยมรรค

ท่านใช้คำว่า "สติตัวจริง" ก็เพราะ หากสติชนิดนี้เกิดบ่อยๆ โอกาสที่จะเกิดสัมมาสติในอริยมรรคก็มีมากขึ้นๆ จนถึงที่สุดเมื่อโอกาสเต็ม 100% อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น (ไม่ใช่เฉพาะสัมมาสติ) เท่านั้น

สติตัวจริง หมายถึง สติที่มีความรู้สึกตัว คือ สติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ

โดยปกติแล้ว ผู้คนที่เรียนหนังสือมาจนจบสูงๆได้ มักจะมี สติ และ สมาธิ เป็นพื้นที่พอตัวอยู่บ้างแล้ว ดังนั้น เวลาที่หลวงพ่อปราโมทย์ท่านสอนผู้มาใหม่ๆ หรือแม้แต่อาจารย์สุรวัฒน์สอนใครที่มาหัดใหม่ๆ (หรือแม้แต่ที่หัดมานานบางท่านก็ตาม) ก็จะสอนลงไปที่ให้หัดรู้สึกตัว

ในขณะที่หัดรู้สึกตัว จะไม่เกิดสติตัวจริงขึ้น เพราะการฝึกหัดนั้น จะยังมีความจงใจเจืออยู่ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเราต้องฝึกให้จิตมีนิสัยที่จะรู้อย่างรู้สึกตัวขึ้นมาครับ

หากฝึกฝนรู้สึกตัว ทั้งการภาวนาตามรูปแบบที่เข้าใจหลักการ และการเจริญสติในชีวิตประจำวันได้จริง เราจะรู้สึกตัวขึ้นมาได้เอง ซึ่ีงเรามักจะพบว่า ความรู้สึกตัวนั้นเกิดขึ้นโดยไม่ได้ทำอะไร แต่แท้จริงแล้วมีเหตุ

เหตุของการเกิดความรู้สึกตัวได้ ก็คือ จิตเกิดสติในขณะที่ไปรู้สภาวะหรืออารมณ์ที่ตนเองจดจำได้อย่างแม่นยำ

การจดจำได้อย่างแม่นยำนั้นเกิดจาก การที่เราฝึกตามรูปแบบ และฝึกการเจริญสติในชีวิตประจำวันนั่นแหละครับ โดยใช้อารมณ์ หรือสภาวะ ที่เกิดบ่อย แล้วสังเกตได้ง่าย เป็นเครื่องมือ

การที่เราเลือกอารมณ์ หรือสภาวะ (ของกาย ของใจ ของเรา) เป็นเครื่องมือสังเกตในการเจริญสติ ทั้งการฝึกในรูปแบบ และการฝึกในชีวิตประจำวัน ก็คือ วิหารธรรม นั่นเอง

ถ้าว่าตามตำราพระอภิธรรม ถิรสัญญา คือ ความที่จิตจดจำลักษณะของสภาวะได้แม่นยำ (ไม่ใช่คิด แต่เป็นการเห็นสภาวะแท้ๆ หรือที่เรียกว่า เห็นปรมัตถ์) เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ ความจริงหากเขียนในที่นี้ก็คือ เกิดสติตัวจริง

แต่ทีนี้ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า คนทั่วไปนั้น สติเกิดเรื่อยๆอยู่แล้ว แต่เป็นสติที่ไม่ีสามารถนำมาใช้เจริญวิปัสสนาได้ ต้องเป็นสติที่ประกอบด้วยความรู้สึกตัว หรือสติที่ประกอบไปด้วยสัมปชัญญะ ซึ่งสติชนิดนี้เกิดขึ้นได้จากการที่เรามีวิหารธรรม หรือมีการฝึกฝนตามรูปแบบ ฝึกฝนในชีวิตประวันตามที่อธิบายข้างบนน่ะครับ

ลักษณะที่สติตัวจริงเกิดขึ้น สังเกตได้ 2 ประการ นะครับ ก็คือ

1. (ดูเหมือนว่า)เกิดขึ้นเอง (ความจริงก็คือ ไม่ได้จงใจให้เกิด)
2. จิตมีความปลอดโปร่ง โล่งเบา นุ่มนวล ว่องไว ควรค่าแก่การงาน

ข้อที่ 1 อาจสังเกตได้ง่ายกว่าข้อที่ 2 (และความจริงแล้ว ข้อ 2 เป็นลักษณะของจิตที่ปราศจากโมหะ ทำให้คล่องแคล่ว ว่องไว แต่นุ่มนวล และโปร่ง โล่ง เบา สัมปชัญญะเป็นศัตรูโดยตรงของโมหะ หากจำไม่ผิด สัมปชัญญะมีอีกชื่อว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ-ความไม่หลง) แต่ขอเรียนไว้นะครับว่า ข้อที่ 1 เป็นเครื่องมือที่สังเกตง่ายกว่า้ข้อ 2 และข้อ 2 เองนั้นจะดูยาก สำหรับบางท่านด้วยครับ เพราะบางท่านไม่เคยรู้จักจิตชนิดนี้มาก่อน และบางท่านก็รู้จักจิตชนิดอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันแต่เกิดจากการทำสมาธิล้วนๆ นะครับ

แต่การฝึกตามประสาคนเมืองที่ไม่สามารถฝึกสมาธิจนถึงฌานได้ วิธีนี้จะทำให้เกิดสติตัวจริงได้ครั้งละแวบเดียวนะครับ แต่แวบเดียวที่ว่ามีความสำคัญไม่น้อย เหมือนกับคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ยามที่มีเงินเหลือแม้เพียงสลึงเดียว หยอดกระปุกไว้ วันหนึ่งก็มีเงินมาก แล้วนำไปลงทุนต่อไปได้ การฝึกสติตามประสาคนอัตคัต คือคนที่ทำสมาธิระดับฌานไม่ได้ สติแวบเดียวนี้สำคัญนะครับ

และความเป็นจริงแล้ว ท่านที่ทำสมาธิในระดับฌาน จนถึงฌาน 2 ได้ เกิดจิตผู้รู้ตั้งมั่นขึ้น จริงๆแล้วก็คือ เกิดจิตที่มีสติตัวจริงถี่ยิบ และต่อเนื่องกันไป แต่เมื่อเราอัตคัตขัดสนกับสมาธิ เราก็ต้องทำแบบคนเบี้ยน้อยหอยน้อย ก็ค่อยๆหยอดกระปุกด้วยเหรียญสลึงของเราต่อไป ไปพร้อมๆกับการที่ต้องทำหน้าที่ของตนเองทางโลก ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือพนักงาน เจ้าของกิจการ เราก็ทำไปอย่างนี้ได้ครับ

น่าจะตอบคำถามให้ครบนะครับ (แต่ไม่ได้เรียงตามลำดับนะครับ) หากไม่แน่ใจ ถามต่อได้นะครับ ไม่ต้องเกรงใจครับ ยินดีสนทนาด้วยเสมอๆครับ

ขอให้เจริญในธรรมครับ _/|\_

^__^

2055
ไม่เข้าใจ หรือทำไปแล้วติดตรงไหน ก็พูดคุยกันได้เสมอครับ

ด้วยความยินดี และอนุโมทนากับความตั้งใจด้วยครับ _/|\_

Pages: 1 ... 135 136 [137] 138 139