Show Posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Messages - ลุงถนอม

Pages: 1 ... 136 137 [138] 139
2056
ก่อนที่จะมาพบกับกสรเจริญสติด้วยการดูจิต ตามที่หลวงพ่อปราโมทย์สอน ส่วนใหญ่ก็ฝึกแต่การทำสมาธิด้วยการเพ่งเป็นหลัก

พอฝึกไปถึงช่วงหนึ่งก็รู้สึกว่า เจอทางตันแล้ว เพราะมีแต่สงบแล้วก็ฟุ้งซ่าน จิตใจไม่มั่นคงจริง หวั่นไหวต่ออนาคต ต่อความไม่เที่ยงทั้งหลาย จึงมีความเห็นว่าผิดทางแล้ว

ตอนนั้นคิดแต่เพียงว่า เราฝึกฝนมาก็มากมาย แต่ยังขาดอะไรหนอ...

มีวันหนึ่งก็มีคำหนึ่งผุดขึ้นมาในใจ "สติ" เมื่อทบทวนดูแล้วก็เห็นว่า จริงตามนั้น เราขาดการฝึกเจริญสติ แต่หากจะให้ฝึกเดินจงกรมอย่างที่เคยเห็น ก็คงฝึกไม่ได้เป็นแน่ ตอนนั้นยังไม่ได้พบกับครูสันตินันท์ครับ

2057
ได้เห็นคำถามนี้จากที่ไหนสักแห่ง ก็นึกๆอยากจะตอบเขาอยู่เหมือนกัน แต่ในสถานที่แห่งนั้นมีสุดยอดฝีมือมากอยู่แล้ว หากไปตอบ แทนที่จะได้ตอบ กลับอาจต้องมานั่ง defense ความเห็นของตัวเองเข้าอีก ก็เลยเว้นไว้ไม่ตอบ รอจนกระทั่งเปิด CoffeeBreak ที่นี่แล้ว แล้วค่อยตอบก็แล้วกัน แต่ก็ยังไม่มีเวลาจะตอบสักทีเหมือนกันครับ

ลุงถนอมเคยอ่านพบในประวัติของพระบางรูป ซึ่งครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง (เรื่องนี้ ไม่ได้ฟังจากหลวงพ่อปราโมทย์นะครับ และท่านก็ไม่ได้บอกว่าเป็นใคร หมายถึงพระภิกษุรูปไหน) ท่านบอกว่า พระภิกษุรูปนั้นฝึกกสิณไฟ ต่อมาเกิดนิมิตขึ้น ไฟนั้นลุึกท่วมร่างกายจนมอดไหม้เป็นจุณ ไม่เหลืออะไรเลย แล้วก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อไป

กับที่ลุงถนอมเคยได้ยินหลวงพ่อปราโมทย์ท่านตรวจการบ้าน มีบางคนที่ถนัดจะทำสมาธิขึ้นมาก่อน แล้วไปเกิดนิมิตเห็นร่างกายที่เน่าเปื่อยผุพัง ท่านก็สอนให้ดูจนนิมิตร่างกายนั้นสลายไปหมด ก็ให้ดูจิตผู้รู้ต่อไป

ตามความเข้าใจของลุงถนอม กับวิธีการอย่างนี้ ก็คือ ในขณะที่มีนิมิตเป็นไฟ อย่างกสิณไฟ หรือมีนิมิตเป็นร่างกาย อย่างท่านที่ทำสมาธิขึ้นมาแล้วเห็นร่างกายเน่าเปื่อยผุพัง ตรงนั้น ไม่ได้เห็นตามความเป็นจริง แต่เห็นในสิ่งที่จิตสร้างขึ้น คล้ายๆกับคนที่คิดฟุ้งซ่าน คิดแล้วอินในเรื่องที่คิด จะมีตัวเองอยู่ในโลกแห่งความคิด หรือจินตนาการนั้น ภาวะอย่างนี้ยังไม่ใช่วิปัสสนา และใช้เจริญวิปัสสนาไม่ได้

แต่ตรงที่ร่างกายถูกไหม้เป็นจุณไปแล้ว หรือที่ร่างกายเน่าเปื่อยผุพังไปแล้ว ไม่เหลืออะไรเลย และจิตนั้นรู้ อยู่ตรงที่รู้ ตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นจุดเริ่มของการเจริญวิปัสสนา แต่เป็นการเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยสมาธินำ และวิปัสสนาจะเกิดขึ้นเมื่อได้เห็นจิตใจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้เอง เช่น จิตเข้าในสมาธิที่ลึกขึ้น หรือ จิตถอยออกมาจากสมาธิที่เคยตั้งอยู่ การสังเกตเห็นตรงนี้ เรียกว่าเจริญวิปัสสนาไปพร้อมกับสมถะ หรือบางท่านอาจต้องอาศัยการสังเกตจิตใจเมื่อถอยออกมาจากสมาธิแล้ว มาอยู่ในจิตธรรมดาๆในชีวิตประจำวันนี่แหละ ตอนที่จิตเริ่มถอยออกจากสมาธิ จิตจะแสดงความเปลี่ยนแปลงที่บังคับไม่ได้ให้ดู หากในตอนนั้นเฉลียวใจขึ้นมา ว่าจิตเขามีการเปลี่ยนแปลงไม่คงที่แท้จริง หรือเห็นว่าจิตเขาเปลี่ยนแปลงเขาเอง ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้ ตรงนี้เป็นจุดหรือช่วงเวลาที่สำคัญ ที่จะได้เจริญวิปัสสนา

วิธีการนี้ กับคนธรรมดาๆ ที่ไม่สามารถเข้าสมาธิได้ลึกๆ ก็ยังสามารถทำกันได้เหมือนกันครับ หลวงพ่อปราโมทย์ท่านสอนเอาไว้ ให้สังเกตจิตในขณะที่ตื่นนอน ก็จะได้เห็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง การบังคับไม่ได้ ของจิตเช่นเดียวกันครับ

ทีนี้ หากท่านที่เคยฝึกกสิณจนเคยชิน แต่จิตไม่สามารถรวมและเกิดนิมิตดังเช่นที่ว่า จะทำอย่างไร อันนี้ลุงถนอมมีเคล็ดลับครับ ความจริงเป็นปัญหาของลุงถนอมเองแหละครับ เพราะก่อนหน้าที่ลุงถนอมจะได้พบกับครูสันตินันท์ นอกจากการฝึกอานาปานสติ กับบริกรรมพุทโธแล้ว กสิณก็เคยฝึกครับ

สมัยเด็กๆชอบมองเปลวเทียน มองแล้วมีความสุข ที่เขาสอนว่า ลืมตาก็เห็น หลับตาก็เห็น ก็ฝึกแป๊บเดียวก็ได้อย่างนั้น แต่ไม่ชอบ รู้สึกเหมือนทำอะไรผิดไปบางอย่าง สมัยที่บวชพระ ก็ไปเล่นอาโลกกสิณ (เพราะกุฏิเป็นไม้ เลยมีช่องว่างที่มีแสงลอดเข้า) เ่ล่นเอาความสุขนั่นแหละครับ ไม่ใช่อะไร ไม่ได้เจตนา แต่พอมองลงไปแล้วมีความสุข หลับตาก็เห็น ลืมตาแล้วนึกก็เห็น แต่ก็ไม่ถึงกับบังคับนิมิตได้คล่องนัก ต่อมาตอนหลังหันมาเปลี่ยนไปฝึกกสินสีดำ (นิลกสิณ) เพราะมันพกได้ง่าย

ก็เพ่งกสินดำจนกระทั่งเห็นแสงสว่างเป็นประกายพรึกแผ่ออกจากจุดตรงกลางกลมวงกลมสีดำ กลบมือที่ถือหายไปเลย แล้วบางทีเวลาไปไหนต่อไหน นึกอยากรู้อะไร ก็ระลึกนิมิตวงกลมสีขาวใสเหมือนพระจันทร์เต็มดวงที่สว่างกว่าพระอาทิตย์นั้นขึ้นมา หน่วงขึ้นมาแล้วเ่พ่งลงไปตรงกลาง ก็สามารถไปเห็นอะไรได้ เหมือนกับเราส่องกล้องทางไกล อย่างไรก็อย่างนั้น

แต่ตอนนี้เลิกหมดแล้วนะครับ เพราะความรู้สึกว่ายังไม่ใช่ มันทำให้ไม่มีความรู้สึกว่าอยากฝึกต่อ พอเลิกฝึก ก็ทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว คือรู้สึกว่าไม่ใช่ทาง

สิ่งที่ตามมาก็คือ เมื่อมาพบกับครูสันตินันท์ ลุงถนอมมีปัญหาเรื่องการเพ่งติดมาด้วย ตอนที่ฝึกครั้งแรกกับครูสันตินันท์ เพ่งจนเหนื่อย จนหมดแรง (เลยแค่รู้เฉยๆ) ครูสันตินันท์บอกว่า ให้กลับได้ แต่ลุงถนอมรู้ว่า ไปไม่รอดแน่ เพราะนี่คือเพ่งมาเป็นชั่วโมงๆจนหมดแรงแล้ว การรู้เฉยๆแบบนี้ ทำไม่ได้ (แต่จำสภาวะนั้นไว้ เอาไว้วัดตัวเอง ดีตรงที่ใช้วัดตัวเอง เสียตรงที่ไปติดการสร้างสภาวะอย่างนั้นขึ้นมา ซึ่งมันทำไม่ได้ แต่นิสัยการสร้างสภาวะขึ้นมานั้น ติดมาจากการใช้กสิณ - ไม่ใช่การฝึกกสิณนะครับ)

และด้วยความเป็นคนที่มีจิตดื้อมาก ช่วงนั้นครูสันตินันท์สอนอะไรไม่ได้ สอนอะไรจิตจะบื้อ ดื้อเงียบอยู่ภายใน (สั่งให้เลิกดื้อก็ไม่ได้อีก อะไรก็ไม่รู้) ได้แต่ทนทุกข์ทรมานกับการเพ่ง กับการพยายามสร้างสภาวะ (แม้แต่การพยายามสร้างสติ ก็ยังมีเลยครับ) จนมีวันหนึ่ง ไปสังเกตเห็นว่า เราสามารถสังเกตการไปรู้รูปได้ (ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลยครับ แค่สังเกตเห็น)

คือ สังเกตเห็นได้ว่า เวลากำลังมองดูอะไรอยู่ ก็สังเกตเห็นทัน ว่ากำลังมองสิ่งนั้นอยู่ เห็นได้ง่าย ไม่เหมือนกับการย้อนมาดูจิต (ตามที่เข้าใจเองแบบโง่ๆ) ที่ทำให้อึดอัด เคร่งเครียด เพราะเหมือนเอาค้อนมาทุบหน้าอก (พุ่งเขามาดูด้วยการเพ่งน่ะครับ) ตอนนั้นขับรถอยู่นะครับ บนทางด่วน

สิ่งที่สังเกตเห็นอีกก็คือ เมื่อคอยสังเกตเห็นตารู้รูปไปได้สักพัก เวลาที่จิตไปรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ก็สามารถรู้ได้ทันเหมือนกัน คือ ทันสังเกตเห็นว่าจิตไปรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยเฉพาะเวลาขับรถ ซึ่งจิตต้อง Alert อยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถเพ่งที่ไหนได้ จิตทำงานเคลื่อนไหวคล่องแคล่วว่องไว วิ่งไปรู้โน่นรู้นี่รอบตัวไปหมด ไม่เฉพาะรอบๆร่างกาย แต่รอบๆรถด้วย ทำให้จิตที่เคยถูกบังคับให้นิ่ง มีอิสระเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงให้สังเกตเห็นได้ง่าย

พอมาทำความเข้าใจกับตัวเอง ว่าทำไมกรรมฐานของเรา ไหงเป็น "ตารู้รูป" หรือ "สังเกตเห็นว่าไปมองอะไรอยู่" สังเกตไปนานๆเ้ข้า ก็ทำให้พอรู้ว่า เป็นเพราะในอดีตเราฝึกกสิณมานั่นเอง และคงไม่ใช่แค่ในชาตินี้หรอก เพราะตอนเด็กชอบมองเปลวเทียน มีความสุข สบาย ลืมโลก คงไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิด แต่น่าจะติดตัวมาแต่อดีตที่ไกลกว่านั้น

ก็สรุปได้ว่า ท่านที่เคยฝึกกสิณมา หากต้องการเจริญสติในชีวิตประจำวันโดยอาศัยการดูจิตแล้วล่ะก็ ลองสังเกตตัวเองในแง่ที่ว่า "กำลังมอง" นะครับ

ลุงถนอมไปถวายอาหารพระก่อนล่ะครับ...

2058
ลุงถนอมได้ไปฟัง mp3 track นี้นะครับ 530730A.mp3 (http://01.learndhamma.com/pramote/cd/035/mp3/530730A.mp3) หลวงพ่อท่านสรุปรวบได้ดีมาก ถึงหลักปฏิบัติครับ หรือหากใครต้องการที่จะฟังเสียงและดูภาพไปด้วย ก็ต้อง video ที่หลวงพ่อท่านไปแสดงธรรมที่ มสธ. ครับ สุดยอดมากเช่นกันครับ ลองฟังดูครับ http://www.dhammada.net/category/video/stou/

2059
เมื่อจะเริ่มหัดทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เราก็คงต้องเริ่มจากสิ่งที่ง่ายๆ หรือที่เรียกว่า Basic กันก่อนครับ การเริ่มหัดภาวนาก็เช่นกันครับ เราต้องเริ่มจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานเหมือนกัน

สิ่งที่เป็นพื้นฐาน ต้องเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก (หากทำยากคงไม่เรียกว่าเป็นพื้นฐาน หรือเป็นการเริ่มต้นหรอก จริงมั้ยครับ) พื้นฐานสำคัญในการภาวนาก็คือ  การมีสติที่ประกอบไปด้วยความรู้สึกตัว

การมีสติที่ประกอบไปด้วยความรู้สึกตัว หรือที่เรียกว่า "สติ - สัมปชัญญะ" เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้จิตได้รู้สิ่งต่างๆตามความเป็นจริง จิตไม่ไหลไปกับเรื่องในอดีต ไม่ไหลไปกับเรื่องอนาคต ไม่ไหลไปในเรื่องต่างๆ ทั้งความฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย ความเนือยๆซึมๆ ความขัดข้องคับแค้นใจ หรือความพอใจของสวยของงามต่างๆ จิตไม่อินไปกับเรื่องต่างๆจนไม่สามารถสังเกตความเป็นจริงได้ (และไปปรุงแต่งสภาวะต่างๆเสียเองอีกด้วย)

การที่จิตไม่ไหลไปกับเรื่องต่างๆ ไม่ได้หมายความว่า เรื่องราวเหล่านั้นไม่มี เรื่องราวเหล่านั้นมี หรือเกิดขึ้น แต่จิตไม่ไหลไป จิตไม่คลุกคลี แต่จิตจะทำหน้าทีตามพื้นฐานเดิมของจิต นั่นคือ "รู้" ซึ่งเป็นธรรมชาติแท้ๆของจิต

การให้จิตได้มีโอกาส "รู้" ตามธรรมชาติเดิมของจิต เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจเป็นอันดับแรก ก็เป็นเพราะว่า จิตจะเกิดปัญญาได้นั้น จิตต้องรู้ตามความเป็นจริงเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รู้ตามความเป็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นไปตามไตรลักษณ์ (หรือหากพูดให้ชัดเจน ก็ต้องพูดว่า เป็นไปตามธรรมนิยาม นั่นคือ สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง (มีการเปลี่ยนแปลง) สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ (ตั้งอยู่ไม่ได้ ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแตกดับทำลายในที่สุด) สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลาย - สิ่งทั้งหลาย ไม่ใช่ตัวตน (บังคับให้เป็นไปตามปราถนาไม่ได้) - รู้ ประการใดประการหนึ่งใน 3 ประการนี้ ก็ได้ชื่อว่ารู้ในไตรลักษณ์แล้ว

และเพราะจิตมีธรรมชาติที่ฝึกได้ เราจึงมีโอกาสที่จะฝึกฝนจิตใจ ให้มีความสามารถ รู้ ตามความเป็นจริงได้ครับ

วิธีการฝึกฝนในขั้นต้น เพื่อให้เกิดจิตที่มีสติและประกอบด้วยสัมปชัญญะนั้น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้แล้ว ก็คือ สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งได้รวบรวมเอาไว้หลากหลายวิธีในมหาสติปัฏฐานสูตร เราสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับตน

กับคนที่ชอบการคิด และการอ่าน และรวมการให้ความคิดเห็นต่างๆอยู่ตลอดเวลา คนที่ชอบอ่าน ชอบเล่นเว็บบอร์ด (คนที่อยู่ในสังคมเมือง ที่ผ่านระบบการศึกษาตามแบบตะวันตก ล้วนแต่เป็นคนที่ชอบคิด ชอบหาเหตุผล และรวมทั้งการให้ความเห็นต่างๆอยู่ตลอดเวลา หาได้น้อยครับที่จะไม่ใช่เป็นคนแบบนี้ เพราะหากไม่เป็นคนแบบนี้แล้ว โอกาสที่จะเรียนจบการศึกษาคงมีน้อยเหมือนกัน) วิธีการที่จะฝึกขั้นต้น ให้เกิดจิตที่มีสติประกอบด้วยสัมปชัญญะนั้น ก็ทำได้ง่ายๆโดยการสังเกตความรู้สึกต่างๆที่จิต

มีความโกรธ ก็รู้ ว่ากำลังโกรธ การรู้ที่ว่านั้น ไม่ใช่การพูดหรือพากย์เอา แต่เป็นการรู้สึกถึงความรู้สึกโกรธในขณะนั้นๆเลย

จิตคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ คิดโน่นคิดนี้ วุ่นวายมากมาย ก็รู้สึกถึงความฟุ้งซ่านของจิตได้เลย

เวลาเดินไปซื้อของ เจอกระเป๋าที่ชอบใจ ก็รู้สึกถึงความชอบใจที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเลย

เป็นเรื่องง่ายๆที่คนที่อยู่ในเมืองสามารถทำได้โดยไม่ต้องแบ่งเวลาในชีวิตแยกไปปฎิบัติธรรมต่างหากแต่ประการใด และในเบื้องต้นที่เริ่มฝึกหัดนั้น ไม่จำเป็นต้องไปสังเกตความรู้สึกอะไรมากมายเลย เอาเพียงอย่างเดียวก่อนก็ใช้ได้แล้วครับ แต่อย่างเดียวที่ว่านั้น เราควรเลือกจากหลักเกณฑ์ง่ายๆ 2 ข้อ นะครับ คือ

1 สิ่งนั้นเกิดขึ้นบ่อยๆ
2 สังเกตได้ง่าย

ลองสังเกตตัวเองเลยนะครับ ว่าอะไรเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็เลือกสิ่งนั้นมาเป็นเครื่องมือฝึกหัดเริ่มต้นเลยครับ บางคนเป็นคนหงุดหงิดใจง่าย หงุดหงิดใจแล้วรู้สึกได้ถึงความอึดอัดใจ ก็ใช้ความหงุดหงิดใจ ความอึดอัดใจเป็นเครื่องมือฝึกหัด

บางคนเป็นคนเหม่อลอย พอร่างกายขยับแล้ว รู้สึกได้ถึงความเหม่อลอย ก็อาศัยร่างกายขยับเป็นเครื่องมือเพื่อจะรู้ว่าเมื่อตะกี้นี้เหม่อลอยไปแล้ว เป็นเครื่องมือในการฝึก

บางคนชอบเดินไปซื้อของ เวลาเดินไปซื้อของแล้วมีความสุข พอร่างกายขยับแล้วรู้สึกว่ามีความสุข ก็อาศัยร่างกายขยับ แล้วรู้ว่ากำลังมีความสุข เป็นเครื่องมือในการฝึก

เริ่มต้นแค่ง่ายๆเท่านี้เอง ก็สามารถฝึกฝนตนเองให้มีพื้นฐานในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้แล้ว เพียงแต่ต้องทำบ่อยๆ ตามกำลัง ตามโอกาส ที่ตนมี ก็ได้เริ่มต้นการภาวนาแล้วครับ และที่สำคัญก็คือ อย่าไปเร่งตัวเอง หรือไปตั้งใจว่าต้องทำได้ตลอดเวลา ตั้งใจไว้แค่ ทำเท่าที่ทำได้ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น แต่จะทำบ่อยๆ เท่านั้นเอง  ;)




2060
ต้องบอกว่า "เป็นคำชม" ครับ เพราะหากใครเห็นเราว่าแก่ แปลว่าเรามี Maturity ที่ดี จริงมั้ยครับ ยิ่งแก่ยิ่งใกล้สุกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดี เพราะวันใดที่ผลไม้แก่ๆนี้สุก และปลิดขั้วตัวเองหลุดจากต้นได้ ก็แปลว่าเราจบกิจในพระพุทธศานาแล้ว ^____^

2061
ยินดีต้อนรับครับพี่มะเมี่ยว

บ้านหลังเล็กๆที่อบอุ่นแห่งนี้ ยินดีต้อนรับเสมอครับ (แต่บ้านหลังเล็กหลังใหม่ เรามีสวนหย่อมไว้พักผ่อนด้วยนะครับ ^__^)

2062
คุณเด็กน้อย เรื่อง "ความรู้" นั้น ไม่จำเป็นเลยนะครับ ว่าจะมีความรู้มากๆ ต้องใช้เวลานานๆ เพราะแต่คนแต่ละท่าน พื้นเพทำมาไม่เหมือนกัน บางคนนั้นสะสมมาเยอะ เพียงแต่ชาตินี้ยังขาดเพียงกุญแจที่จะไขตู้ที่เก็บความรู้เอาไว้เท่านั้นเอง

เพียรเจริญสติปัฏฐานไปนี่ล่ะครับ จะทำให้มีฤทธิ์ในทางต่างๆได้ (ทั้งนี้แล้วแต่สิ่งที่ทำมาในอดีตด้วย) แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น เมื่อเจริญสติปัฏฐานจนแก่รอบ ควรแก่ภูมิแล้ว สิ่งที่ทรงค่าที่สุด คือ อริยภูมิ ก็จะปรากฎแก่เรา แล้วจะเห็นว่า ความรู้ใดๆก็ไม่รู้การได้เข้าถึงธรรม ตามชั้นตามภูมิหรอกครับ

สิ่งที่ไม่น่าเชื่อประการหนึ่งก็คือ เมื่อจิตเจริญสติปัฏฐาน และเกิดปัญญาในพระพุทธศาสนาแล้ว ความรู้หลายๆอย่างก็จะผุดขึ้นมามากมายอย่างไม่น่าเชื่อ (สำหรับบางคน) ทั้งๆที่ดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกันเลยก็ตาม แต่มีมา เหมือนกับเราไปเดินดูพลุในงานฉลองน่ะครับ เราแค่เดินไปดู แต่เมื่อมีพลุลูกแรกถูกยิงขึ้นมาแล้ว พลุหลากสีต่างๆก็จะถูกยิงตามขึ้นมาเป็นพรวนด้วยครับ ^_^

2064
นึกไว้แล้วเชียวครับ ว่าจะต้องเป็นนั่งสมาธิเพชร

ท่านสอนให้เข้มแข้ง เด็ดเดี่ยว ทำได้ก็ขออนุโมทนาด้วยนะครับ

_/|\_

2065
อธิบายเพิ่มเติมนะครับ ตัวปีติ และอุเบกขา เป็นสภาวะตามธรรมชาติของผู้ที่มีสมาธิเฉยๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไรหรอกนะครับ แต่เมื่อใดที่หลงไปว่า เมื่อมีปีติแล้ว หรือมีอุเบกขาแล้ว นั่นคือผลของการเจริญวิปัสสนาจนถึงนิพพาน หรือความหลุดพ้น ตรงนี้ต่างหากล่ะครับที่เป็นวิปัสสนูปกิเลส ทำให้หยุดการภาวนาอยู่แค่นั้น พอใจที่จะเข้าไปถึงตรงนั้น (และรักษาสภาวะอย่างนั้นไว้) ไม่ถึงความพ้นทุกข์แท้จริง เพราะหากตายในปีติหรืออุเบกขา ก็ได้เป็นเทวดาหรือพรหม เมื่อหมดกำลัง ก็ต้องกลับมาเกิดในภพภูมิอื่นใดต่อไป

ครูสันตินันท์เคยเล่าให้ฟังว่า พวกพรหม เมื่อจุติคือเคลื่อนมาจากภพของพรหม มักมาเกิดในอบายภูมินะครับ ไม่ใช่ค่อยๆมาเกิดในชั้นต่างๆค่อยๆเลื่อนลงมา หรือมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วย้อนกลับไปเป็นพรหมอีก

ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าทำไม แต่พอเห็นพรหมที่เขาฝึกสมาธิแบบไม่มีความรู้สึกตัว ก็พอจะเข้าใจ เพราะเขาฝึกสมาธิที่มีแต่โมหะ ดังนั้นเมื่อละจากภพของพรหม แถมพกด้วยโมหะมาด้วย ก็น่าจะไปเป็นสัตว์เดรัจฉานได้ง่ายๆ ก็เป็นอบายภูมิ หรือทุคติ นั่นแหละครับ

2066
ที่หลวงปู่สิมท่านให้ "ขัดเพชร" ต้องเข้าใจให้ถ่องแท้นะครับ ว่าท่านสอนอะไร เพื่ออะไร และสอนใคร น่ะครับ แต่เนื่องจากลุงถนอมไม่ได้ฟังที่ท่านแสดงธรรมตรงนั้น จึงไม่อาจอธิบายได้ว่าทำไม

แต่ให้เดานะครับ หากไม่ใช่ว่าท่านสอนให้หมั่นเพียรเจริญสติแล้ว ก็คงเป็นการสอนตามวิธีของพระป่าให้กับใครสักคนหรือกลุ่มหนึ่ง ที่มีจริตที่จะเดินตามวิถีของพระป่า ที่มีโอกาสและเวลาที่จะทำความสงบได้ ซึ่งเมื่อทำความสงบจนจิตตั้งมั่นได้แล้ว (ตามปกติมักได้ยินครูบาอาจารย์กล่าวไว้ว่า ต้องได้ถึงฌานที่ ๒ เพราะไม่มีวิตกวิจารณ์ หรือองค์ภาวนาใดๆ ก็จะมีจิตผู้รู้เด่นดวงขึ้นมา) จึงค่อยมาพิจารณากาย

การพิจารณากายนั้นมี 2 แบบ แบบแรกสำหรับท่านที่คุ้นเคยในการเดินวิปัสสนามาก่อน จิตจะพิจารณากายในมุมมองของไตรลักษณ์ได้เอง ไม่ต้องโน้มน้าวหรือชักจูงใดๆ แต่ถ้าบางท่านจิตไม่คุ้นเคยการเดินวิปัสสนามาก่อน จิตเขาจะไม่พิจาณาอะไร ไม่มองอะไรในมุมมองของไตรลักษณะเลย จิตจะตั้งเด่นดวงอยู่เฉยๆ ไม่เห็นว่าอะไรเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ถ้าเป็นแบบนี้ต้องคิดนำ เพื่อนำร่อง หรือไกด์ ให้จิตเขาหัดเห็นในแ่ง่มุมของไตรลักษณ์ เมื่อเขาคุ้นเคยแล้ว ต่อๆไปเขาก็จะพิจารณารูปนามในความเป็นไตรลักษณ์ได้เองครับ

เรื่องยกคำสอนของครูบาอาจารย์มาต้องระวังไว้นิดนึงนะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า ปุถุชนคนแก่ๆอย่างลุงถนอม ไปบอกอะไรที่ขัดกับครูบาอาจารย์เข้า สติปัญญาเท่าแสงสว่างของหิ่งห้อย 1 ตัว ที่ติดมั่ง ดับมั่ง เทียบไม่ได้กับสติปัญญาของหลวงปู่สิมท่านที่เด่นสว่างดุจพระอาทิตย์ในยามเที่ยงวันได้หรอกครับ ^__^!

อือมมมม หรือว่า ท่านสอนให้นั่งสมาธิด้วยท่านั่งขัดสมาธิเพชร ^0^ เก่งนะครับนี่ นั่งได้ ลุงถนอมไม่สามารถนั่งได้ครับ (แต่ครูสันตินันท์นั่งได้ ท่านเคยเล่าให้ฟัง)

2067
อนุโมทนาด้วยนะครับ

ถ้าจำไม่ผิดนะครับ การรู้ชัดเกินไปนี่ก็จัดเข้าอยู่ในวิปัสสนูปกิเลสเหมือนกัน คือ สติกล้าแข็งเกินไปน่ะครับ บอกแล้วอย่าตกใจนะครับ เมื่อเราเจริญวิปัสสนากันเต็มที่แล้ว เราจะพบว่า แม้เพชรจะใส จนส่งประกายแวววาม สวยงามสุดบรรยาย แต่เราก็จะพบว่า การถือเพชรนั้นเป็นภาระ ตัวเพชรเองก็มีน้ำหนัก ขว้างทิ้งไปได้ เป็นสุขอย่างยิ่ง

ถ้าถึงที่สุดไป ต้องขว้างเพชรทิ้งไปแล้ว ถามจริงๆเถอะ มานั่งขัดเพชรอยู่ทำไม แค่ดูความเป็นจริงของเพชรกันดีกว่า... ถ้าเป็นเพชรที่ดีจริง ถามจริงๆเหอะ ทำไมต้องขัดด้วย ^___^

2068
ตอบคุณ "เด็กน้อย" นะครับ

ถ้าผมจำไม่ผิด เคยได้ยินในเทปเสียงของหลวงปู่ดูลย์ ท่านเคยตอบคำถามนี้ว่า จิตเกิดจากการกระทบของ "นามรูป" น่ะครับ

แต่หากถามในความเห็นของผมนะครับ ผมเห็นว่า คำถามว่า "จิตเริ่มแรก" เิกิดขึ้นจากทิฎฐิ (หรือความเห็น)ว่า "จิตเที่ยง" แม้ว่าจะยอมรับว่าจิตเกิดดับ แต่ไม่ใช่เป็นการยอมรับแท้จริง หากแต่ยังรู้สึกว่าจิตดวงเก่าดวงใหม่เป็นดวงเดียวกัน ซึ่งก็คือการมีทิฎฐิว่า "จิตเที่ยง" นั่นแหละครับ

แทนที่เราจะไหลไปตามความสงสัย เราก็สังเกตเห็นความสงสัย แล้วสังเกตเห็นแรงผลักดันที่ก่อให้เกิดความสงสัย เห็นเรื่อยๆบ่อยๆ เราจะเห็นได้เองว่า มันมีความรู้สึกซ่อนเร้นอยู่ภายในว่า "เราเที่ยง" "เรานี้มีอยู่อย่างต่อเนื่องมาจากอดีต" "เรานี้มีมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน" หรือแม้แต่ "เราก็เป็นอย่างนี้มาแต่อดีต" อะไรประมาณนี้่น่ะครับ

ถ้าสังเกตเห็นได้เองเรื่อยๆ จะได้ "ปัญญา" จากตรงนี้ในวันหนึ่งนะครับ แต่ถ้ายังไม่เห็นก็ไม่เป็นไรครับ ก็แค่ตามรู้ตามดูไปเรื่อยๆ แล้วแต่จิตเขาจะรู้อะไร ก็รู้ ว่าเขารู้อันนั้น หรือจิตเขากำลังรู้สึกอะไร ก็รู้ ว่ากำลังมีความรู้สึกอันนั้น ไปก่อนนะครับ

ขอให้เจริญในธรรมครับ _/|\_

2069
ครับ ขอบคุณที่ไว้วางใจให้ตอบคำถามนี้นะครับ

ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่แปลก ตรงที่ เป็นศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาแห่งศรัทธา ดังนั้น การเริ่มต้นการศึกษาในศาสนาพุทธก็เริ่มต้นด้วย "สัมมาทิฎฐิ" คือ ความเห็นถูกต้อง และที่สุดแล้ว ก็จบลง (จบกิจในศาสนาพุทธ) ด้วย "สัมมาทิฎฐิ" เช่นกัน

บางท่านอาจแย้งว่า อัฏฐังคิกมรรค (อัฏฐะ แปลว่า ๘ อัฏฐังคิกมรรค หากผมเข้าใจไม่ผิด ก็มาจากคำว่า อัฏฐะคำหนึ่ง องค์คำหนึ่ง และมรรคคำหนึ่ง ซึ่งจริงอาจไม่ใช่อย่างนี้ก็ได้นะครับ แต่เนื่องจากแปลว่า มรรคมีองค์ ๘ ก็ขอเชื่ออย่างนี้ไปก่อน เอาไว้ให้ผู้รู้ทางภาษามาให้ความรู้เพิ่มเติมในภายหลังก็แล้วกันนะครับ) มีตั้ง ๘ อย่าง แต่ผมก็ขอยกเอาไว้ว่า แม้ว่ามรรคจะมีองค์ประกอบ ๘ ประการ แต่องค์มรรคองค์แรกนั้นเป็น สัมมาทิฎฐิ หรือความเห็นตรง ซึ่งพระพุทธองค์ท่านยกไว้ให้เป็นมรรคองค์แรกที่กล่าวถึง

ดังนั้น เมื่อจะหัดภาวนา เมื่อจะเริ่มฝึก ก็ต้องเริ่มที่ "สัมมาทิฎฐิ" ก่อนนะครับ

สัมมาทิฎฐิ คือตัวปัญญา ซึ่งในสัมมาทิฎฐินั้นมีหลายๆอย่างนะครับ แต่เมื่อจะเริ่มต้นและต้องเริ่มต้นด้วยปัญญา ก็เริ่มกันที่ปัญญาตัวแรก หรือปัญญาเบื้องต้นก่อนเลย ปัญญาเบื้องต้นตัวแรกสุดก็คือ "สัมปชัญญะ" ซึ่งแปลเป็นไทยว่า "ความรู้สึกตัว"

ความรู้สึกตัว เป็นตัวเริ่มต้นของปัญญาเลยนะครับ ดังนั้น หากจะไปถามอาจารย์สุรวัฒน์ว่า จะเริ่มฝึก จะเริ่มภาวนา จะเริ่มด้วยอะไร (หรือแม้แต่จะถามว่า จะเริ่มดูจิต จะเริ่มด้วยอะไร) อาจารย์สุรวัฒน์ท่านจะตอบว่า "ต้องรู้สึกตัวขึ้นมาก่อน" ดังเช่นที่เว็บวิมุตติมีสโลแกนว่า "ดูจิต ด้วยความรู้สึกตัว" ครับ

ทีนี้ เมื่อจะฝึกให้มี "ความรู้สึกตัว" ขึ้นมา จะทำอย่างไร ครูสันตินันท์เคยบอกเอาไว้ว่า "สัมปชัญญะ" ไม่เคยเกิดขึ้นมาได้เองโดดๆ แต่จะต้องอาศัย "ความมีสติ" ขึ้นมาก่อน จึงจะมี "สัมปชัญญะ" หรือความรู้สึกตัวขึ้นมาได้ ซึ่งครั้งแรกที่ได้ยินครูสันตินันท์ท่านสอนอย่างนี้ สิ่งหนึ่งที่เคยเป็นข้อข้องใจมาก่อนในอดีต ว่าทำไมองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกให้ "สติและสัมปชัญญะ" เป็น "ธรรมที่มีอุปการะมาก" ไม่เคยเห็นท่านยกย่องธรรมอื่นใดให้ยิ่งเท่านี้หรือกว่านี้มาก่อนเลย พอได้ยินครูสันตินันท์กล่าวคำนี้แล้ว เข้าใจถึงความสำคัญของ "สติ และ สัมปชัญญะ" นับตั้งแต่นั้นมาครับ

นอกจากนี้ ครูสันติันันท์ยังเคยสอนเอาไว้อีกว่า สติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ จะเป็นสติที่ใช้เจริญวิปัสสนาได้ หากสติที่ไม่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ จะเป็นสติที่ใช้เจริญวิปัสสนาไม่ได้ (และมาทราบในภายหลังว่า สติที่ไม่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ ใช้เจริญสมถะได้)

ในพระพุทธศาสนา เมื่อกล่าวถึงคำว่า สติ เพียงคำเดียว จะมีความเฉพาะถึง "สติและสัมปชัญญะ" นี้ ก็คือ หากจะเรียกว่า "สัมมาสติ" ก็พูดได้โดยอนุโลม แต่สัมมาสติแท้ๆจะเกิดในอริยมรรคเท่านั้น จึงมักไม่เรียกสติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ ว่า สัมมาสติ แต่มักจะเรียกว่า สติเฉยๆเสียมากกว่าครับ คล้ายกับว่า คนในยุคนั้นเขาเข้าใจกันเป็นอย่างดีแล้ว แต่ยุคนี้ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ท่านใช้คำเรียกอีกคำหนึ่งว่า "สติตัวจริง" เพื่อแยกออกจากมิจฉาสติ ซึ่งเรียกว่า "สติตัวปลอม" คือ สติที่หลอกใ้ห้หลงเข้าใจว่ากำลังเจริญวิปัสสนาอยู่ (เช่น รู้อารมณ์ชัดเจนมากๆ คมกริบ จนนึกว่าเป็นวิปัสสนาญาณ แต่เอาเข้าจริงกลับเป็นวิปัสสนูปกิเลส หรือกิเลสละเอียดที่หลอกว่าเป็นวิปัสสนา)

ทีนี้ เราจะฝึกฝนอย่างไรให้เกิดสติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ คำตอบก็ง่ายๆ ก็คือ การฝึกเจริญสติปัฏฐาน ๔ นั่นแหละ เบื้องต้นก็เป็นการฝึกเพื่อให้เกิดสติและสัมปชัญญะ หรือเป็นการฝึกเพื่อให้เกิดสติและความรู้สึกตัว

คำว่าสติแปลว่า "ระลึกรู้" นะครับ ตรงนี้มีเขียนไว้ในตำรานักธรรมตรี หรือพระนวกะด้วยซ้ำไปครับ สติคือความระลึกได้ เป็นความหมายหนึ่ง และสติคือ "รู้" อีกคำหนึ่ง

ดังนั้นเมื่อใด ที่มีสติ คือ ระลึกได้ หรือ "รู้" ที่ประกอบด้วย สัมปชัญญะ หรือ ความรู้สึกตัว ก็จะมีเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการเจริญวิปัสสนาต่อไป ดังนั้น เราจึงต้องเริ่มต้นด้วยการฝึกเจริญสติ(ที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ) หรือ ฝึกการเจริญสติปัฏฐาน ๔

การฝึกเจริญสติปัฏฐาน ๔ นั้น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเขียนเอาไว้อย่างกว้างขวางใน "มหาสติปัฏฐานสูตร" ครับ ซึ่งก็แยกได้เป็น 4 หมวด คือ กาย เวทนา จิต ธรรม แล้วแต่ว่าใครจะมีจริตอย่างไร ก็ฝึกในสิ่งที่ตนถนัด

ทีนี้ถ้าถามว่า แล้วจะเลือกอะไร ก็ต้องลองสังเกตตัวเองครับว่า อะไรเกิดบ่อยและเห็นได้ง่าย ก็เอาอย่างนั้น หากเป็นคนชอบคิดทั้งวัน ชอบให้ความเห็น ชอบการวิเคราะห์ ทำได้ทั้งวัน (และบางทีก็แทบไมไ่ด้ขยับร่างกายเลยด้วยซ้ำ) อย่างนี้ก็ต้องฝึก จิตตานุปัสสนา อาศัยการสังเกตเห็นจิตทำงานไป เป็นเครื่องมือสำหรับการหัดเจริญสติปัฏฐานครับ โดยส่วนใหญ่แล้ว หากใครมีพฤติกรรมชอบเล่นอินเตอร์เน็ต ชอบเข้าเว็บบอร์ด ชอบให้ความเห็นแล้ว ก็ต้องหัดจิตตานุปัสสนานี่แหละครับเป็นพื้นฐาน

ทีนี้ถ้าถามว่า แล้วจะเจริญอย่างไร ก็แค่สังเกตง่ายๆครับว่า กำลังอ่านข้อความอยู่ (เนื้อหาในข้อความเป็นอย่างไร เราย่อมรู้อยู่แ้ล้ว แต่เรามักไม่รู้ว่ากำลังอ่านอยู่) หรือ อ่านแล้วคิดจินตนาการไปแล้ว ก็แค่สังเกตเห็นว่ามีการจินตนาการไปแล้ว เช่น เห็นภาพในความคิดอยู่ หรือจะแค่สังเกตเห็นว่า (ในขณะที่คิด)ก็ไม่ได้รู้ว่ามีกายมีใจอยู่ ก็ได้

เมื่อเริ่มต้นก็หัดสังเกตเท่านี้ไปก่อนครับ หรือบางท่านก็อาจสังเกตเห็นว่า จิตคิดโน่นคิดนี่ตลอดเวลา ก็ใช้ได้เหมือนกัน เพียงแต่จะบอกว่า เมื่อเริ่มต้น ก็อย่าไปเริ่มหลากหลายวิธี อะไรที่สังเกตเห็นได้ง่ายและเห็นบ่อย ก็เอาอันนั้น แล้วก็ใจเย็นๆ สังเกตเห็นเท่าที่เห็นได้ เห็นได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น แม้จะหลงจะลืมตัวไปนานๆเป็นชั่วโมงๆ ก็อย่าไปเสียใจ อย่าไปพยายามแก้ไขอดีต เพราะเรื่องในอดีตนั้นจบไปหมดแล้ว เราตามไปแก้ไขอะไรในอดีตไม่ได้อีกแล้ว เริ่มต้นใหม่ ตั้งใจไว้เพียงนิดเีดียว ว่าเราจะสังเกตตัวเอง แบบสังเกตตัวเอง ได้แค่ไหน ก็แค่นั้น แต่จะทำเรื่อยๆ เท่าที่มีโอกาสทำได้ และทำตามกำลังเท่าที่มี อย่ากลัวที่จะทำได้ไม่ดี เพราะตราบใดที่เรายังคงทำเรื่อยๆ สม่ำเสมอ เท่าที่ทำได้ ตามโอกาสเท่าที่มี จะเกิดการพัฒนาขึ้นมาเองครับ

ถามคำถามสั้นๆ เลยต้องตอบยาวๆ เพราะไม่ทราบว่าจะถามประเด็นไหนบ้าง หากว่าคำตอบที่ให้กว้างเกินไป ก็ลองถามเพิ่มเติมดูนะครับ

ขอให้เจริญในธรรมครับ _/|\_

2070
เวลาที่เราภาวนาแล้วเราอึดอัดนะครับ แสดงว่ามีอาการเพ่งแล้ว บางทีถ้าเพ่งแรงๆก็จะเป็นเหมือนมีก้อนอะไรบางอย่างจุกอยู่ หรือกระจุกอยู่บางส่วนของร่างกาย บางคนก็กลางอก บางคนก็แถวๆคอ แต่ถ้าเป็นบริเวณศีรษะ มักจะเป็นอาการศีรษะหนักๆ บางทีก็เข้าขั้นปวดหัวเลย

คนที่ฝึกการเพ่งมาบางคน จะมีโรคประจำตัวคือ ปวดศีรษะง่ายๆ บางคนพกยาพาราเซตามอลไว้ประจำตัวเลยก็มี (แต่ที่เป็นเพราะเห็นโรคอย่างอื่นก็มีนะครับ ไม่ใช่เพราะติดเพ่งเพียงอย่างเดียว)

ที่เคยเห็น บางคนเพ่งทั้งตัว ตามเนื้อตามตัวเลยเหมือนมนุษย์เหล็ก หรือไม่ก็เหมือนคนที่เขาฝึกมวยจีนเส้าหลินอย่างหนัก คือ เนื้อตัวจะแกร่งๆ แต่ประสาทตึงเครียดไปหมด เห็นแล้วกลัวระเบิดออกมาเป็นเสี่ยงๆ (แต่จริงๆก็ไม่ได้ระเบิดหรอกนะครับ แต่มีความตึงเครียดอยู่ภายในร่างกายไปหมดเลย)

การเพ่ง เป็นกุศล ทำให้เรารู้ว่าเพ่งแล้วไม่หาย อีกทั้งยังมีสิ่งหนึ่งที่ซ้อนกันอยู่ด้วย ก็คือ วิบากจากการเพ่ง อาการที่บรรยายมาทั้งหมดข้างบนนั้น เป็นผลของการเพ่ง ไม่ใช่การเพ่งเอง นะครับ วิบากหรือผลของการเพ่ง ทำให้เกิดสิ่งที่ว่านั้นขึ้น และเมื่อมันเกิดกับร่างกาย ซึ่งเป็นรูปหยาบ จึงต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง กว่าจะหายไป แต่หากเรามีความอยากให้อาการอึดอัด หรือเครียด หรือเป็นก้อนเหล่านั้นให้หาย สิ่งที่ตามมาก็คือ เราจะเกิดความพยายามทำให้หาย ก็เป็นการทำให้เกิดความเครียดครั้งใหม่ขึ้น

บางคนนั้น โดยปกติก็จ้องจนเครียดอยู่แล้ว พอร่างกายเกิดอาการอันเป็นผลจากการเพ่ง ก็ยิ่งตามรู้ตามดู (ตามความเข้าใจของตน ว่านี่คือตามรู้ตามดู) แต่ปรากฎว่า ไม่ได้ตามรู้ตามดูจริง หากแต่เป็นการจ้องเข้าไปอีก ก็เลยทำให้อาการต่างๆยังคงเป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง คล้ายๆกับคนที่อยากจะดับไฟ เลยไปคว้าน้ำมันไปราดเข้าไปในกองไฟอีก กองไฟก็ไม่ดับสักที

วิธีการที่ดีกว่าก็คือ พอรู้ตัวว่าเพ่งแล้ว ก็ให้ไปสนใจเรื่องอื่นๆเลยดีกว่า อะไรที่ทำแล้วเผลอง่าย ก็ให้ทำอันนั้น (แต่ต้องเป็นวิธีการที่เป็นกุศลนะครับ) เช่น อ่านหนังสือธรรมะ ฟังซีดี (แต่ฟังซีดีนั้น ไม่แน่ว่าจะได้ผลเสมอไป เพราะลุงถนอมน่ะครับ ตอนที่ติดปัญหาเรื่องเพ่ง ลุงถนอมก็ฟังซีดีไม่ได้เหมือนกัน อ่านหนังสือธรรมะก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน) ปลูกต้นไม้ ปลูกดอกไม้ ให้อาหารปลา ก็จะทำให้จิตผ่อนคลายไปได้

วิธีการเหล่านั้น ก็เหมือนกับว่า เราเห็นกองไฟลุกอยู่ เราก็ไม่เอาน้ำมันไปราดกองไฟ แต่เราไม่มีน้ำนี่ เราก็แค่ปล่อยให้กองไฟดับไป แล้วก็เอาเชื้อเพลิงอื่นๆที่อยู่ใกล้ๆกองไฟ เอาไปให้ห่างๆจากกองไฟ พอกองไฟไร้เืชื้อแล้ว มันก็ดับเอง

นั่นคือวิธีการรับมือ เมื่อเจออาการเครียด หรือมึนศีรษะ หรือจุกเป็นก้อนที่กลางอกหรือที่คอ แต่ไม่ได้ทำให้สาเหตุหายไปนะครับ ถ้าสาเหตุไม่หายไป ปัญหานี้จะกลับมาอีก

สาเหตุของปัญหานี้ก็คือ ต้องปรับความเข้าใจในเรื่องของการภาวนาเสียใหม่ครับ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 เรื่องก็คือ
1. ทิฎฐิ ความคิดความเห็น ที่วางไว้ยังไม่ตรงนัก
2. ความตั้งใจ ที่มากไป

ความคิดความเห็น ที่ว่า ยังวางไว้ไม่ตรงนักก็คือ มีความเห็นว่า ต้องรู้อารมณ์ให้ชัด รู้ให้เยอะๆ รู้อารมณ์แล้วจิตจะดี ความจริงแล้ว การรู้อารมณ์นั้น จะชัดก็ได้ จะไม่ชัดก็ได้ เพราะการรู้ชัดแล้วรู้ว่ารู้ชัดก็ดูจิตเหมือนกัน คือ รู้ว่าจิตมีโมหะน้อย(หรือไม่มี อะไรทำนองนี้สักอย่าง) หรือการรู้ไม่ชัดแล้วรู้ว่ารู้ไม่ชัด ก็คือ รู้ว่าจิตมีโมหะมาก

พอรู้แล้ว ก็เออ... ปล่อยไป ไม่ต้องไปพิจารณาอะไรให้วุ่นวาย ไม่ต้องคิดอะไรให้มาก แต่ถ้าจิตเขาไม่ปล่อยไป มีความพยามยามเข้าไปทำ ก็ไม่ห้าม ปล่อยเขา เราก็มองลงไปในแง่ที่ว่า เขาทำเขาเอง ทำเอง ทุกข์เอง ดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทุกๆครั้งที่เกิดวงรอบนี้ (ไม่เกิด ก็ไม่ต้องไปกระตุ้นให้เกิดด้วยการหวนคิดถึงเข้าก็แล้วกันนะครับ)

แต่ถ้าจิตเขาทำ รู้แล้ว แล้วยังคิดต่อ เพราะความเคยชินหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ให้รู้ ว่าเอ้อ... เขาทำของเขาเอง พอรู้ถึงตรงนี้แล้ว จิตเองมักจะละความสนใจไปสนใจสิ่งอื่นแล้วล่ะครับ ยังไม่เคยเห็นใครที่จะวนเวียนได้อย่างนี้ยาวนาน แต่เมื่อละไปแล้ว บางทีจิตก็จะหวนนึกขึ้นมาได้ใหม่ แล้วก็อยู่ในวงรอบนี้อีก

หากเป็นอย่างนี้ การเดินจงกรมอาจเหมาะนะครับ เพราะร่างกายเคลื่อนไหว และการต้องระวังการทรงตัว ทำให้จิตยากจะจดจ่ออยู่ที่ใดที่หนึ่งนานๆครับ และบางทีการเดินแล้วให้สายตาทอดยาวไปไกล สุดขอบฟ้า ก็อาจทำให้จิตคลายตัวออกมาได้นะครับ ตรงนี้ต้องค่อยๆลองดูครับ ดูว่า ทำอย่างไหนแล้วจิตใจผ่อนคลาย จิตใจมีความสบายใจ ก็ให้ทำอันนั้น พอใจมีความสบายใจแล้ว ก็รู้ทันว่าใจกำลังสบาย เกิดความชอบใจแล้วก็รู้ทันว่าชอบใจ

รู้่ทันตรงไหน ก็ตรงนั้น ส่วนที่พลาดไปในอดีต อย่าไปพยายามแก้ไข เพราะมันจบไปหมดแล้วครับ

เมื่อพบวิธีการที่เหมาะกับตนเองแล้ว ก็จะได้ใช้วิธีการนั้นต่อไป

ถ้าทำตามที่แนะนำไปได้แล้ว ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาข้อที่สอง ที่ว่า ตั้งใจมากไป ไปด้วยครับ

ขอให้เจริญในธรรมครับ
_/|\_

Pages: 1 ... 136 137 [138] 139