Show Posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Topics - หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

Pages: 1 [2] 3 4
16
ตั้งกระทู้ โดย คุณไพ นำคำสอนหลวงปู่ดูลย์ จาก อตุโลไม่มีใดเทียม
เมื่อ วัน พฤหัสบดี ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2544 12:55:20

จากหนังสือ อตุโลไม่มีใดเทียม

  ในระหว่างการสนทนาระหว่างพระราชาคณะรูปหนึ่ง
กับหลวงปู่ดูลย์   ท่านเจ้าคุณรูปนั้นเอ่ยขึ้นตอนหนึ่งว่า
"เขาว่าคนที่สนใจเรียนคาถาอาคมอันศักดิ์สิทธิ์
สมัยก่อนเป็นยักษ์"
  หลวงปู่ลุกขึ้นนั่งทันที แล้วกล่าวว่า
" ผมไม่ได้สนใจในเรื่องเหล่านี้เลยท่านเจ้าคุณ
ท่านเจ้าคุณเองเคยศึกษาถึง ปัญจทวาราวัชชนจิตไหม"

  ปัญจทวาราวัชชนจิตนี้คือ  กิริยาจิตที่แฝงอยู่กับทวารทั้ง 5
ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นกิริยาจิตที่ทำหน้าที่
ประจำรูปกาย อาศัยอยู่ตามทวารทั้ง 5 เป็นทางที่
ติดต่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างจิตกับสิ่งภายนอก
หรืออารมณ์ภายนอก เป็นกิริยาจิตอยู่อย่างนั้น

  เป็นอยู่อย่างนั้น ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ให้เป็นไปไม่ได้
แต่อาจเป็นพาหะให้เกิดทุกข์ได้และที่น่าตื่นใจก็คือ
ให้กิริยาจิตเหล่านี้เป็นไปได้โดยประการที่ทุกข์จะ
เกิดขึ้นไม่ได้ก็ได้


  อันนี้แหละที่น่าสนใจ น่าสำเหนียกศึกษาที่สุด
ว่าทำอย่างไร เมื่อตาเห็นรูปแล้วรู้ว่าสวยงาม
หรือน่ารังเกียจอย่างไร แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้
เมื่อหูได้ยินเสียง รู้ว่าไพเราะ หรือน่ารำคาญอย่างไร
แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อลิ้นได้ลิ้มรส รู้ว่าอร่อย
หรือไม่อร่อย เปรี้ยวหวานมันเค็มอย่างไรแล้ว
ก็หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อจมูกได้กลิ่นหอมหรือเหม็น
อย่างไร แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อกายสัมผัส
โผฏฐัพพะ รู้ว่าอ่อนแข็งเป็นอย่างไร แล้วก็หยุด
เพียงเท่านี้


  ครั้นเมื่อศึกษาถึงขั้นนี้แล้ว ก็จะปรากฏเหตุอัน
น่าอัศจรรย์ที่เรียกว่า "หัสสิตุปปาทะ" คือ
กิริยาที่จิตยิ้มขึ้นมาเองโดยไม่มีต้นสายปลายเหตุ
หาสาเหตุที่มาไม่ไ
ด้
  อันหัสสิตุปปาทะ หรือ กิริยาที่จิตยิ้มเอง
ย่อมไม่ปรากฏมีในสามัญชนโดยทั่วไป
  ดังนั้น นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายควรกระทำไว้ในใจ
ในอันที่จะสำเหนียกศึกษา ทำความกระจ่างแจ้งใน
"อเหตุกจิต"อันนี้ เพื่อเป็นบรรทัดฐาน
ในการปฏิบัติ

  ต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า เมื่อปฏิบัติไปถึงลำดับนี้แล้ว
จิตจะเกิดยิ้มขึ้นมาเองไม่มีการกระทำ ไม่มีการบังคับ
ให้เกิดขึ้น ย่อมเป็นไปเองโดยไม่รู้ตัว


   อนึ่ง เมื่อปฏิบัติตามหลัก "จิตเห็นจิต"
อันมีการ "หยุดคิดหยุดนึก" เป็นลักษณะ
ถ้าใช้ปัญญาอันยิ่งสอดส่องสำรวจตรวจตราดู
ตามทวารทั้ง 5 เหล่านี้ เพื่อจะหาวิธีป้องกันจิต
จะแล่นไปหาเรื่องใส่ตัวในภายนอก ก็จะเห็นและ
เข้าใจได้ว่า เป็นธรรมดาอยู่เองที่คนเราใช้ทวาร
ทั้ง 5 เหล่านั้น กระทำการอันสัมพันธ์กับภายนอก

   เมื่อพิจารณาให้ถ้วนถี่ยิ่งขึ้น ก็จะได้อุบายอันแยบคาย
ว่าในขณะที่เกิดสัมพันธภาพกับภายนอก
จิตก็ควรจะกำหนดให้อยู่ในจิต
เมื่อเห็นก็กำหนดให้รู้เท่าทันการเห็น
แต่ไม่ถึงกับต้องรำพึงรำพันออกมาว่า เห็นแล้วนะ
เห็นแล้วหนออะไรหรอก เพราะขณะจิตหนึ่ง ๆ นั้น
ม้นไม่กินเวลาอะไร เมื่อรู้เท่าทันแล้ว ก็ไม่ต้อง
ไปรำพึงรำพันเป็นการปรุงแต่งเพิ่มเติมอีก


  ในการกำหนดให้รู้ให้เท่าทันนั้น อย่าได้ถูกลวง
ด้วยสัญญาแห่งภาษาคน ภาษาโลก ดังเช่นการรู้
เท่าทันคนที่จะมาหลอกลวงเรา เป็นต้น

  การรู้เท่าทันอารมณ์ในภาษาธรรมนั้น
หมายความว่า ความ "รู้" จะต้องทันกันกับการ
รับอารมณ์ของทวารทั้ง 5 เช่น ในขณะที่ตาเห็นรูป
จะต้องมีสติรู้อยู่อย่างเต็มที่สมบูรณ์ มีความรู้ตัวพร้อม
อยู่ตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องรู้อะไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกข์อันอาศัยปัจจัย คือ การเห็น
เป็นต้นนั้น ย่อมไม่เกิด และเราก็จะสามารถ
มองอะไรได้อย่างอิสระเสรี โดยที่รูปหรือสิ่งที่เรา
มองเห็นไม่อาจมีอิทธิพลอันไดเหนือเราได้เลย
แม้แต่น้อย


  ปัญจทวารวัชชนจิต หรือกิริยาจิตที่แล่นอยู่ตาม
ทวารทั้ง 5 ย่อมสัมพันธ์กับมโนทวาร ในมโนทวาร
นั้นมี มโนทวาราวัชชนจิต อันเป็นกิริยา
จิตที่แฝงอยู่ มีหน้าที่คิดนึกต่างๆสนองตอบอารมณ์
ที่มากระทบไปตามธรรมดา

  ดังนั้นในการปฏิบัติ จะให้หยุดคิดหยุดนึกทุกกรณี
ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ด้วยการอาศัยอุบายวิธีดังกล่าว
นี้แหละ เมื่อจิตตรึกความนึกคิดอันใดออกมา
ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ก็ทำความกำหนดรู้พร้อม
ให้เท่าทันกัน


  เช่นเดียวกัน เมื่อมีความรู้พร้อมทันๆกันกับ
การรับอารมณ์ ดังนี้แล้ว ปัญญาที่รู้เท่าเอาทัน
ย่อมตัดวัฏจักรให้ขาดออกจากกัน ไม่อาจสืบเนื่อง
หมุนเวียนต่อไปได้

  กล่าวคือ การก่อรูปก่อร่างต่อไปของจิตย่อมไม่
อาจเกิดขึ้นได้ และความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็มีอยู่เอง
โดยไม่ต้องมีการลวงๆว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรเลย
ความไม่ยึดมั่นนั้นก็เป็นแต่เพียงชื่อที่เรานำมาใข้
เรียกขานกันให้รู้เรื่อง เมื่อวัฏฏะมันขาดไปเท่านั้น


  โดยนัยอย่างนี้ จึงน่าจะศึกษาให้เข้าใจในอันที่
จะกำหนดรู้อย่างไรจึงจะถูกต้อง เมื่อจิตกระทบเข้ากับ
อารมณ์ภายนอกอย่างไร ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น
อย่าไปทะเลาะวิวาทโต้แย้ง  อย่าไปเอออวยเห็นดี
เห็นงามให้จิตได้โอกาสก่อรูปก่อร่างเป็นตุเป็นตะ
เป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวออกไป อย่าไปวิพากย์
วิจารณ์ต่อไป อย่าไปใส่ใจอีกต่อไป พอกันเพียง
รู้อารมณ์เท่านี้ หยุดกันเพียงเท่านี้"

17
เขียนไว้เมื่อ วัน พฤหัสบดี ที่ 3 สิงหาคม 2543 11:02:26

กระทู้นี้ มีแรงบันดาลใจเพราะอ่านกระทู้ของคุณธีรชัย
ที่คุณธีรชัยเล่าว่า ผมมักจะแนะนำผู้สงสัยและอยากจะถามปัญหา
ให้ย้อนกลับไปดูที่ความสงสัยของตนเอง
แทนที่จะขอฟังคำตอบจากผม
มิหนำซ้ำ ผมยังกล่าวบ่อยๆ ว่า ถึงถามไปจนถึงพรุ่งนี้
ก็ยังไม่หายสงสัยในแนวทางปฏิบัติ
เพราะพอได้คำตอบเรื่องหนึ่ง ก็จะคิด แล้วต้องการคำตอบเรื่องอื่นต่อไปเรื่อยๆ
เนื่องจากคำตอบที่ได้ทั้งหมดนั้น
ไม่ช่วยให้เกิดความเข้าใจในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงได้เลย

เราเข้าใจพระพุทธศาสนาไม่ได้ ด้วยการอ่านและการฟัง (สุตตมยปัญญา)
และเข้าใจไม่ได้ด้วยการคิดนึกตรึกตรอง (จินตามยปัญญา)
พระพุทธศาสนา เป็นความจริงที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์เดิมๆ ของเรา
จึงอยู่นอกขอบเขตที่จะคิดเข้าใจได้เอง
เพราะความคิดย่อมวนเวียนอยู่กับประสบการณ์เก่าๆ เท่านั้น
หรือฟังคนอื่น ก็ไม่ช่วยให้รู้จริงได้
เพราะเราจะตีความคำสอนทั้งปวงนั้น ไปตามประสบการณ์เก่าๆ เช่นกัน
ตรงนี้แหละที่ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวว่า
"ธรรมเมื่อเข้าไปประดิษฐานในใจของปุถุชน ก็กลายเป็นสัทธรรมปฏิรูป"
เพราะถูกเจือปนด้วยความคิดเห็นตามประสบการณ์ดั้งเดิมนั่นเอง

เราจะเข้าใจพระพุทธศาสนาได้ ก็ด้วยการภาวนา
คือการเจริญสติสัมปชัญญะให้ถูกต้องเท่านั้น

การเจริญสติสัมปชัญญะที่ถูกต้องนั้น
จะต้องรู้เท่าทันสภาวธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ด้วยจิตที่เป็นกลาง
ในทางอภิธรรมเขามีศัพท์เฉพาะว่า ให้รู้ปรมัตถ์ ไม่ใช่รู้บัญญัติ
ถ้าจะแปลเป็นภาษาคนธรรมดา ก็หมายความว่า
ให้ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ
ไม่ใช่ คิดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ

ผมเองในช่วงหลัง มีเวลาให้หมู่เพื่อนแต่ละท่านไม่มากนัก
เพราะเดือนหนึ่งผมไปศาลาลุงชินได้ครั้งเดียวเฉพาะวันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือน
จึงมีเวลาให้บางท่านเพียง 5 - 10 นาทีเท่านั้น
หากผมจะอนุโลมให้แต่ละท่าน ถามคำถามที่ต้องการเสียก่อนจนพอใจ
ก็จะกระทบไปถึงท่านผู้อื่นที่จะไม่มีโอกาสพูดคุยกันเลย

ผมจึงพยายามใช้เวลาที่มีน้อยนั้น ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในการแนะให้หมู่เพื่อนเจริญสติปัฏฐานให้ได้ในเวลาอันสั้นที่สุด
โดยแนะให้มีสติ รู้สภาวะที่กำลังปรากฏ
และมีสัมปชัญญะ รู้ตัวไม่เผลอ ไม่ว่าจะเผลอไปเลยหรือเผลอเพ่ง
โดยยกสภาวะที่กำลังปรากฏจริงๆ ในใจของแต่ละท่านมาเป็นอุปกรณ์ทางการศึกษา

สภาวธรรมที่เกิดกันมากของผู้แรกเข้าไปศึกษาก็คือ ความสงสัย
เพราะตอนที่พบผมนั้น มักจะพกความสงสัยมาอย่างเต็มเปี่ยม

พวกเราปัญญาชนพอสงสัยสิ่งใด ก็จะคิดหาคำตอบ (จินตามยปัญญา)
หรือถ้าคิดไม่ออก ก็อยากจะถาม เพื่อหาคำตอบ (สุตตมยปัญญา)
ซึ่งก็คือการวนเวียนอยู่กับวิธีการเรียนรู้แบบโบร่ำโบราณที่ฝึกมาตั้งแต่เด็กนั่นเอง
และถ้าคิดออก หรือผมตอบคำถามให้
สิ่งที่เพื่อนจะได้ก็คือ ความจำ ไม่ใช่ ความรู้จริง
แล้วก็ยังคงเจริญสติปัฏฐานไม่เป็นอยู่เหมือนเดิมนั่นเอง

ผมจึงแนะให้รู้เข้าไปที่ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
คือรู้เข้าไปตรงความรู้สึกสงสัยนั้นเลย
ตัวความรู้สึกสงสัย
นั้นแหละ คือสภาวะที่กำลังปรากฏ อันเป็นปรมัตถ์
ผมไม่ได้แนะนำให้สังเกต เรื่องที่สงสัย อันเป็นบัญญัติ

เมื่อรู้ปรมัตถ์ คือรู้เข้าไปที่ความรู้สึกสงสัยนั้น
จะพบว่า ระดับความสงสัยนั้นไม่คงที่ คือมันแสดงอนิจจังให้ดู
ดูไปสักพักมันก็ดับไป แสดงความทนอยู่ไม่ได้หรือทุกขังให้ดู
และความสงสัยนั้น มันเกิดจากเหตุ หมดเหตุมันก็ดับ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา
และมันเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้อยู่ต่อหน้าต่อตา ไม่ใช่ตัวเราสักหน่อยหนึ่ง
อันนี้มันแสดงถึงอนัตตา ให้ดู

การเห็นความเกิดดับของสภาวธรรม อย่างเป็นปัจจุบันนี้แหละ
คือการเจริญวิปัสสนา
แม้สภาวธรรมอย่างอื่นๆ ก็ให้รู้ไปอย่างเดียวกันนี้
การปฏิบัติ ไม่มีอะไรมากไปกว่า
การรู้ความเกิดดับของสภาวธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น
แล้วจิตจะก้าวไปสู่ความรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวของมันเอง

ถ้าเอาแต่สงสัย พอสงสัยแล้วก็อยากจะถาม
เมื่อผมแนะให้ดูความสงสัย หรือความอยากถาม ก็ไม่ยอมดู
จะขอถามเพื่อให้ได้ความรู้เสียก่อน
มิฉะนั้นจะเกิดความอึดอัดคับข้องใจ
(เมื่อเกิดความอึดอัดคับข้องใจ ผมก็แนะให้รู้ความอึดอัดคับข้องใจ
ที่ต้องสอนกันอย่างโหดเหี้ยมไม่ตามใจ ก็เพราะมีเวลาจำกัดครับ
เพราะผมแน่ใจอยู่แล้วว่า ถึงถามอย่างไรก็ไม่รู้จักแนวทางปฏิบัติจริงๆ
เนื่องจากไม่เห็นสภาวะจริงๆ ที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง)

ถึงตรงนี้ บางท่านจะงงๆ กลับไป
ส่วนมากจะไปซุ่มซ้อม เพื่อกลับมาถามใหม่
เว้นแต่ท่านที่พอสงสัยแล้ว รู้ เข้าไปที่ความสงสัยเลยทีเดียว
แบบนี้จะเข้าใจแนวทางเจริญสติในเวลาอันสั้น
เพราะรู้แล้วว่า สภาวธรรมที่ต้องรู้นั้นเป็นอย่างไร
จะรู้ได้อย่างไร และรู้แล้วเห็นไตรลักษณ์ได้อย่างไร

มาถึงข้อสรุปที่ว่า ดูความสงสัย แล้วจะหายสงสัยได้อย่างไร
ขอเรียนว่า ถ้ารู้สภาวะของความสงสัย อันเป็นความไหวลักษณะหนึ่งของจิต
ก็จะเห็นไตรลักษณ์
แต่อาจจะไม่รู้เห็น คำตอบ ในเรื่องที่อยากรู้

บรรดาคำตอบทั้งหลายนั้น ไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรกับการปฏิบัติหรอกครับ
มันมีประโยชน์แค่บรรเทาความอยากรู้ไปได้บ้าง เฉพาะเรื่องนั้น
แล้วก็เพิ่มความภูมิใจ ว่าเรานี้ช่างมีปัญญา มีความรอบรู้มากมาย
แต่ไม่ค่อยจะเห็นหรอกว่า เรากำลังขนขยะเข้าบ้าน กำลังเพิ่มงานของจิต

เราปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพื่อความฉลาดรอบรู้เหนือคนอื่น
แต่เพื่อปลดเปลื้องจิตใจออกจากภาระ อันเป็นกองทุกข์ทั้งปวงต่างหาก
ระหว่างคนที่ฉลาด รอบรู้มาก แต่คอยเพิ่มสิ่งปนเปื้อนให้จิต
กับคนที่รู้จักปลดเปลื้องจิตออกจากทุกข์ (แต่อาจไม่รู้อะไรมากไปกว่า เกิดกับดับ)
ใครจะฉลาดกว่าใคร ก็ไม่แน่เหมือนกันนะครับ

18
เขียนตอบไว้ในกระทู้  อย่าส่งจิตออกนอก คือ นอกอะไร เมื่อ วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 08:41:12

ถ้าจะให้เข้าใจคำสอนเรื่อง อย่าส่งจิตออกนอก อย่างง่ายๆ
ขั้นแรกควรเข้าใจเสียก่อนครับ ว่า ส่งจิตออกนอก เป็นอย่างไร

หากเฝ้าสังเกตอยู่ที่จิตใจตนเองให้สม่ำเสมอ
(ไม่ใช่เพ่ง / ควบคุม / บังคับ นะครับ)
จะเห็นว่า บ่อยครั้งมันเกิดความอยาก เป็นแรงขับ หรือผลักดันจิตใจ
ให้วิ่งออกไปจับ/ยึดอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
เช่นในขณะที่ตามองเห็นสาวสวย จิตจะเกิดราคะคือความรักใคร่ชอบใจรูปอันนั้น
แล้วจิตก็จะเกิดกระแสความอยากพุ่งขึ้นในอก
แล้วผลักดันจิตให้ "หลง" ทะยานออกไปทางตา
เพื่อดูสาวคนนั้นอย่างลืมตัวของตัวเอง
ตอนนั้นจิตตนเองมีราคะก็ไม่เห็น จิตมีความอยากดูอยากได้ก็ไม่เห็น
กระทั่งตัวเองนั่งอยู่ หรือยืนเดินอยู่ ก็ลืมหมด
เหมือนร่างกายตนเองหายไปจากโลก
อันนี้ก็เพราะส่งจิตออกนอก ทะยานไปหลงยึดอารมณ์ที่เห็นนั่นเอง

หรือบางทีไม่ได้รู้เห็นรูปหรือเสียงใดๆ
แต่นั่งอยู่เฉยๆ สัญญาคือความจำเรื่องสาวสวยที่เห็นเมื่อวานนี้ผุดขึ้น
ความคิดปรุงแต่งเรื่องสาวก็เกิดขึ้น
เช่นเธอเป็นใครที่ไหนหนอ ทำอย่างไรจะรู้จักและรักกันได้
ในขณะที่คิดนั้น จิตใจหลงเข้าไปอยู่ในโลกของความคิด
จิตถูกราคะครอบงำก็ไม่รู้
จิตทะยานอยากเข้าไปอยู่ในภพหรือโลกของความคิดก็ไม่รู้อีก
กระทั่งตนเองกำลังจะเดินไปตกท่อข้างทาง ก็ยังไม่รู้อีก
คือลืมกายลืมใจของตนเองในปัจจุบันเสียหมดสิ้น
มีแต่หลงอยู่กับความคิดและกิเลสตัณหาอย่างเดียว

นี่แหละครับคืออาการที่ส่งจิตออกนอกไปตามกระแสกิเลสตัณหา
ไม่มีสติสัมปชัญญะ หลง เผลอ ไม่รู้เท่าทันสภาพธรรมในกายในใจตนเอง

ที่ท่านสอนว่าอย่าส่งจิตออกนอก
ก็คือสอนไม่ให้หลงขาดสติสัมปชัญญะ
หลงไปตามอำนาจกิเลสตัณหา

เหมือนปลาตายที่ลอยตามน้ำไปเรื่อยๆ
ถ้าจะพูดด้วยภาษาปริยัติ
ก็กล่าวได้ว่า ให้รู้ทุกข์ ให้ละสมุทัยคือตัณหา
แต่คำว่าอย่าส่งจิตออกนอก
เป็นการสอนถึงสภาวะหรืออาการของจิตจริงๆ
ที่มันหลงไปตามสมุทัยคือตัณหา
และไม่รู้จักทุกข์ คืออุปาทานขันธ์ของตนเอง
สรุปแล้ว อย่าส่งจิตออกนอกก็คือ
อย่าขาดสติสัมปชัญญะ เพราะจะไม่รู้อารมณ์ตามความเป็นจริง
และจะหลงทะยานไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา

และเมื่อปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมมากเข้า
ผู้ปฏิบัติจะเข้าใจคำว่า อย่าส่งจิตออกนอก ได้ละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น
จนถึงขั้นจิตมีสติ สมาธิ และปัญญาเต็มที่
มันจะ หยุด
และ รู้อยู่กับรู้
ไม่มีการส่งออกหรือกระเพื่อมไหวใดๆ
หยุดความคิดนึกปรุงแต่งทั้งหมด
ถ้าปฏิบัติมาถึงอย่างนี้
ก็จะเข้าใจได้ว่า "อย่าส่งจิตออกนอก"
เป็นคำสอนเพื่อการปฏิบัติได้ตลอดสายทีเดียว


****************************************

อ้อ แถมหน่อยครับ
ที่ถามว่า อย่าส่งจิตออกนอก หมายถึงนอกจากอะไร?
ขอเรียนว่า นอกจาก รู้
หรือนัยหนึ่งก็คือ
นอกไปจากความมีสติสัมปชัญญะและรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง

ถ้าถามต่อว่า นอกไปทางไหน
ขอเรียนว่า นอกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

ถ้าถามว่า นอกแล้วส่งผลเป็นอย่างไร
ขอเรียนว่า ส่งผลเป็นอุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์

********************************

สำหรับคำถาม ขอยกพจนานุกรมของพระธรรมปิฎก มาดังนี้

วิญญาณ ความรู้แจ้งอารมณ์,จิต,
ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกัน
เช่นรู้อารมณ์ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตาเป็นต้น
ได้แก่ การเห็น การได้ยินเป็นอาทิ;

วิญญาณ๖ คือ ๑. จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา (เห็น)
๒. โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน)
๓. ฆานวิญญาณความรู้อารมณ์ทางจมูก (ได้กลิ่น)
๔. ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (รู้รส)
๕. กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย(รู้สิ่งต้องกาย)
๖. มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)

มโนวิญญาณ ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะธรรมารมณ์เกิดกับใจ,
ธรรมเกิดกับใจ เกิดความรู้ขึ้น, ความรู้อารมณ์ทางใจ
********************************************************
ส่วนในแง่ปฏิบัติ
มีเรื่องต้องคุยกันอีกมากพอสมควรครับ
เกี่ยวกับเรื่อง จิต ใจ(มโน) และวิญญาณ
แต่ตอนนี้ยังไม่ว่างพอที่จะคุยเรื่องนี้น่ะครับ
เลยต้องของดเว้นเอาไว้ก่อน

*********************************************************

ทำใจให้สบายๆ อย่าเผลอ และอย่าเพ่งจ้อง
แล้วปฏิบัติธรรมไปตอนที่มีผัสสะ
คือตอนที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ... ใจคิดนึก นั่นแหละครับ

อย่างเช่น เราเห็นเด็กสองคนเดินมาด้วยกัน
คนหนึ่งเป็นลูกเรา อีกคนหนึ่งเป็นหลานเรา
ลองสังเกตความรู้สึกที่แตกต่างกันในใจของเราดู
จะพบความแตกต่างของระดับราคะ และความลำเอียงได้ไม่ยากเลย

หรือถ้าเราได้ยินเสียงเพลง จะพบว่า บางเพลงจะชอบมากกว่าบางเพลง
กระทั่งอ่านทางนฤพาน หรือดูละคร
ก็จะพบว่าแต่ละบท แต่ละตอน มีความชอบไม่เท่ากัน
บางตอนก็มีราคะ บางตอนมีโทสะ บางตอนสนุก บางตอนเบื่อ ฯลฯ

การปฏิบัติธรรมที่ดี ต้องทำในชีวิตจริง ตอนที่มีผัสสะนี่แหละครับ
พอมีผัสสะแล้ว ก็คอยวัดจิตวัดใจตนเองเรื่อยๆ ไป
ไม่นานก็จะรู้เองว่า อะไรคือนาม อะไรคือรูป อะไรคืออารมณ์ อะไรคือจิต
กิเลสอกุศลเป็นอย่างไร บุญกุศลเป็นอย่างไร ตัณหาเป็นอย่างไร
และรู้ชัดว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงล้วนแต่แปรปรวนไม่แน่นอน เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น
แล้วในแต่ละวัน ควรหาเวลา
เดินจงกรมหรือนั่งสมาธิสักช่วงหนึ่งให้เป็นกิจวัตรไว้ด้วย
จะช่วยให้มีกำลังในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันมากขึ้น


หัดอยู่อย่างนี้ ไม่ยากอะไรหรอกครับ
อย่าเบื่อ อย่าชี้เกียจ และอย่าคิดสงสัยมากนักก็แล้วกัน
ถึงไม่ได้มรรคผลนิพพานอย่างใจนึก
แต่การจะประคองตัวอยู่กับโลก
ก็จะอยู่ได้อย่างทุกข์น้อยลง ให้เห็นได้ทันตาแล้วครับ

19
เขียนไว้เมื่อ วัน ศุกร์ ที่ 28 เมษายน 2543 21:45:31

พระครูนันทปัญญาภรณ์ ผู้เป็นหลานใกล้ชิด
และเป็นผู้ดูแลหลวงปู่มาอย่างยาวนาน
ได้เขียนประวัติของหลวงปู่ออกพิมพ์เผยแพร่
ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่
และเนื่องจากเป็นหนังสือที่ยาวพอประมาณ
ผมจึงขอตัดตอนมาเผยแพร่
เฉพาะตอนที่ท่านศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่มั่น
และตอนที่ท่านมรณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าฟังสำหรับนักปฏิบัติ

***********************************
ความย่อ ประวัติตอนต้น

หลวงปู่ถือกำเนิดในเดือนตุลาคม 2431
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ณ บ้านปราสาท อ.เมือง จ.สุรินทร์
ท่านได้รับอนุญาตจากมารดาบิดาให้อุปสมบทเมื่ออายุ 22 ปี
ณ วัดจุมพลสุทธาวาส ในเมืองสุรินทร์
จากนั้นท่านออกไปฝึกรรมฐานที่วัดคอโค ชานเมืองสุรินทร์
ด้วยการจุดเทียน 5 เล่มแล้วนั่งบริกรรมว่า
"ขออัญเชิญปีติทั้ง 5 จงมาหาเรา"
รวมทั้งการทรมานกายด้วยการลดอาหารลงเรื่อยๆ ตลอดพรรษา
แต่ก็ไม่ได้ผล จนเกิดความสลดสังเวชใจ
จนพรรษาที่ 6 ท่านจึงได้ข่าวว่ามีการสอนปริยัติธรรมที่จังหวัดอุบลราชธานี
จึงเดินทางไปศึกษา โดยพักเป็นพระอาคันตุกะอยู่ที่วัดสุทัศนาราม

ระหว่างนั้นท่านได้คุ้นเคยกับท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
และเมื่อศึกษาปริยัติธรรมจนช่ำชองแล้ว
ท่านก็ได้ทราบข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
กลับจากธุดงค์มาพักที่วัดบูรพา
พระเณรและประชาชนแตกตื่นไปฟังธรรมกันเป็นการใหญ่
ท่านกับท่านอาจารย์สิงห์ก็พากันไปฟังธรรมอย่างไม่เคยขาด
นอกจากจะได้ฟังธรรมอันลึกซึ้งรัดกุมและกว้างขวางแล้ว
ยังได้เห็นปฏิปทาอันงดงามของท่านพระอาจารย์มั่น
ทำให้ซาบซึ้งใจ และสนใจการธุดงคกัมมัฏฐานมากยิ่งขึ้นทุกที

***********************************

ธุดงค์ครั้งแรก

ครั้นออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์มั่นได้ออกธุดงค์อีก
ภิกษุ 2 สหายคือพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม กับหลวงปู่ดูลย์
จึงตัดสินใจสละละทิ้งการสอนและการเรียนออกธุดงค์
ติดตามพระปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ในทุกหนทุกแห่ง
ตลอดฤดูกาลนอกพรรษานั้น

ตามธรรมเนียมธุดงค์กัมมัฏฐานของท่านอาจารย์มั่นมีอยู่ว่า
เมื่อถึงกาลเข้าพรรษา ไม่ให้จำพรรษารวมกันมากเกินไป
ให้แยกกันไปจำพรรษาตามสถานที่อันวิเวก
ไม่ว่าจะเป็นวัด เป็นป่า เป็นถ้ำ เป็นเขา โคนไม้ ลอมฟาง เรือนว่าง
หรืออะไรตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคล แต่ละคณะ
เมื่อออกพรรษาแล้ว หากทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่น อยู่ ณ ที่ใด
ก็พากันไปจากทุกทิศทุกทางมุ่งไปยัง ณ ที่นั้น
เพื่อเรียนพระกัมมัฏฐาน และเล่าแจ้งถึงผลการประพฤติปฏิบัติที่ผ่านมา
เมื่อมีอันใดผิด ท่านปรมาจารย์จักได้ช่วยแนะนำแก้ไข
อันใดถูกต้องดีแล้ว ท่านจักได้ช่วยแนะนำข้อกัมมัฏฐานยิ่งๆ ขึ้นไป

ดังนั้นเมื่อจวนจะเข้าปุริมพรรษา คือพรรษาแรกแห่งการธุดงค์ของท่าน
คณะของหลวงปู่ดูลย์ จึงพากันแยกจากท่านพระอาจารย์มั่น
เดินธุดงค์ผ่านไปทางอำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
ครั้นถึงป่าท่าคันโท ก็สมมุติทำเป็นวัดป่า เข้าพรรษาด้วยกัน 5 รูป

ทุกท่านปฏิบัติตนปรารภความเพียรอย่างอุกฤษฎ์แรงกล้า
ปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอนของท่านปรมาจารย์อย่างสุดขีด
ครั้งนั้น บริเวณแห่งนั้นเป็นสถานที่ทุรกันดาร
เกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ป่าที่อำมหิตดุร้าย
ไข้ป่าเล่าก็ชุกชุมเหลือกำลัง ยากที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้
ดังนั้นเองยังไม่ทันถึงครึ่งพรรษาก็ปรากฏว่าเป็นไข้ป่ากันหมด
ยกเว้นท่านอาจารย์หนูองค์เดียว
ต่างก็ได้ช่วยรับใช้พยาบาลกันตามมีตามเกิด
หยูกยาที่จะนำมาเยียวยารักษากันก็ไม่มี
ความป่วยไข้เล่าก็ไม่ได้ลดละเห็นแก่หน้ากันบ้างเลย
จนกระทั่งองค์หนึ่งถึงแก่มรณภาพลงในกลางพรรษานั้น
ต่อน้าต่อตาเพื่อนสหธรรมิกอย่างน่าเวทนา

สำหรับหลวงปู่ดูลย์ ครั้นได้สำเหนียกรู้ว่ามฤตยูกำลังคุกคามอย่างแรง
ทั้งหยูกยาที่จะรักษาพยาบาลก็ไม่มี  จึงตักเตือนตนว่า
"ถึงอย่างไร ตัวเราจักไม่พ้นเงื้อมมือของความตายในพรรษานี้เป็นแน่แล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้นเราจักตาย ก็จงตายในสมาธิภาวนาเถิด

จึงปรารภความเพียรอย่างเอาเป็นเอาตาย
ตั้งสติให้สมบูรณ์ พยายามดำรงจิตให้อยู่ในสมาธิอย่างมั่นคงทุกอิริยาบถ
พร้อมทั้งพิจารณาความตาย คือมรณสติกัมมัฏฐานเป็นอารมณ์ไปด้วย

โดยไม่ย่อท้อพรั่นพรึงต่อมรณภัยที่กำลังคุกคาม จะมาถึงตัวในไม่ช้านี้เลย

เริ่มปรากฏผลจากการปฏิบัติ

ณ ป่าท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์นี้เอง
การปฏิบัติทางจิตที่หลวงปู่ดูลย์พากเพียรบำเพ็ญอย่างไม่ลดละ
ก็ได้บังเกิดผลอย่างเต็มภาคภูมิ
กล่าวคือขณะที่นั่งภาวนาอยู่ตั้งแต่หัวค่ำจนดึกมากนั้น
จิตก็ค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบ และให้บังเกิดนิมิตขึ้นมา
คือเห็นพระพุทธรูปปรากฏขึ้นที่ตัวของท่าน
ประหนึ่งว่า ตัวของท่านเป็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง
ท่านพยายามพิจารณาดูรูปนิมิตนั้นต่อไปอีก
แม้ขณะออกจากที่บำเพ็ญสมาธิภาวนาแล้ว
และขณะออกเดินไปสู่ละแวกบ้านชาวบ้านป่าเพื่อบิณฑบาต
ก็เห็นปรากฏอยู่เช่นนั้น
(หลายสิบปีต่อมาเมื่อมีผู้ถามท่าน
ถึงการปฏิบัติที่เพ่งจนพบพระพุทธรูปในกาย
ท่านจึงตอบได้อย่างมั่นใจว่า ยังเอาเป็นที่พึ่งพาอะไรไม่ได้ - สันตินันท์)
วันต่อมาอีก ก่อนที่รูปนิมิตนั้นจะหายไป
ขณะที่เดินกลับจากบิณฑบาต ก็เห็นปรากฏอยู่เช่นนั้น
ท่านได้พิจารณาดูตัวเอง
ก็ได้ปรากฏเห็นชัดเจนว่า เป็นโครงกระดูกทุกสัดส่วน
วันนั้นจึงเกิดความรู้สึกไม่อยากฉันอาหาร
จึงอาศัยความอิ่มเอิบใจของสมาธิจิตกระทำความเพียรต่อไป
เช่นเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ตลอดวันตลอดคืน
และแล้วในขณะนั้นเอง แสงแห่งพระธรรมก็เกิดขึ้น
ปรากฏแก่จิตของท่านแจ่มแจ้ง
จนกระทั่งท่านสามารถแยกจิตกับกิเลสออกจากกันได้
รู้ชัดว่าอะไรคือจิต อะไรคือกิเลส
จิตปรุงกิเลส หรือกิเลสปรุงจิต
และเข้าใจสภาพเดิมแท้ของจิตที่แท้จริงได้
จนรู้ว่ากิเลสส่วนไหนละได้แล้ว ส่วนไหนยังละไม่ได้ ดังนี้


การปฏิบัติได้ผลเป็นประการใดในครั้งนั้น
ท่านมิได้เล่าบอกใครในพรรษานั้น
เคยเล่าให้ท่านอาจารย์สิงห์ฟังเพียงแต่ว่า
จิตของท่านเป็นสมาธิเท่านั้น
ซึ่งท่านอาจารย์สิงห์ก็ชมว่าถูกทางแล้ว และแสดงความยินดีด้วย
ตัวท่านนึกอยากให้ออกพรรษาโดยเร็ว
จะได้ไปนมัสการพระอาจารย์มั่น และกราบเรียนถึงผลการปฏิบัติ
ทั้งรับคำแนะนำทางปฏิบัติที่ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

(มีต่อ)

20
เขียนไว้เมื่อ วัน พฤหัสบดี ที่ 16 มีนาคม 2543 10:34:55

เราเพิ่งคุยกันเมื่อไม่นานมานี้เองว่า
นักปฏิบัติคุยกันคนละภาษา ก็สามารถสื่อความเข้าใจกันได้
เพราะต่างก็นำเอาสภาวะภายในที่พบเห็นจริงๆ มาคุยกัน
 
ผมเองก็ชอบที่จะสนทนากับนักปฏิบัติด้วยกัน เพราะคุยกันรู้เรื่องดี
อย่างเช่น เราพูดกันถึงเรื่องความมีสติและสัมปชัญญะ
เราก็นึกออกถึงภาวะที่ "ไม่ฝัน ทั้งที่ลืมตาตื่น"
ในขณะที่ผู้ที่ไม่ใช่นักปฏิบัติที่แท้จริงจะเถียงคอเป็นเอ็นว่า
เขามีสติสัมปชัญญะ เขารู้ตัว เขาตื่น จะว่าเขาหลับฝันได้อย่างไร

หรือเมื่อเราพูดกันถึงเรื่องว่า "เรามีสติรู้กิเลสที่กำลังปรากฏ"
นักปฏิบัติจะไม่สงสัยเลยว่า มันเป็นไปได้อย่างไร
ในเมื่อตำราระบุไว้ว่า สติเกิดกับกุศลจิตเท่านั้น
แล้วจะไปรู้อกุศลที่กำลังปรากฏได้อย่างไร

ความจริงตำราเองก็ไม่ผิด เพราะเมื่อใดจิตมีสติสัมปชัญญะ จิตก็เป็นกุศลจิต
เพียงแต่นักปฏิบัติไปพบว่า จิตที่เป็นกุศลนั้น
สามารถไปรู้อารมณ์ที่เป็นอกุศลได้
ทำนองเดียวกับจิตในตติยฌาน ที่เป็นอุเบกขา
แต่มีสติไประลึกรู้อารมณ์ ที่เป็นสุขเวทนาได้
ทั้งที่อุเบกขา กับสุขเวทนา ไม่น่าจะเกิดพร้อมกันได้เลย

ที่เราไม่สงสัยก็เพราะเราพบว่า จิตกับอารมณ์เป็นคนละส่วนกัน
แต่บางครั้ง อารมณ์ก็เข้าครอบงำจิต
บางครั้ง จิตกับอารมณ์จะต่างคนต่างอยู่
เช่นเมื่อเกิดความโกรธขึ้น บางครั้งจิตถูกความโกรธครอบงำ
จิตก็ดิ้นเร่าๆ ไปด้วยอำนาจของความโกรธ เป็นอกุศลจิต
แต่บางครั้งจิตมีสติ สัมปชัญญะ
จิตต่างคนต่างอยู่กับความโกรธ เหมือนดอกบัวที่อยู่กับน้ำ แต่ไม่ติดน้ำ

เมื่อนักปฏิบัติอ่านมหาสติปัฏฐานสูตร
ที่ท่านสอนว่า "จิตมีราคะก็รู้ ไม่มีราคะก็รู้
มีโทสะก็รู้ ไม่มีโทสะก็รู้ มีโมหะก็รู้ ไม่มีโมหะก็รู้"

อ่านแล้วจะไม่สะดุดเลยว่า
ในขณะที่มีกิเลสนั้น ยังมีสติระลึกรู้เข้าไปได้อย่างไร

มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราพบเห็นจากการปฏิบัติ
และลงกันได้อย่างลงตัวกับคำสอนดั้งเดิมทางพระพุทธศาสนา
แต่สิ่งเหล่านี้ หากพูดแพร่หลายไปในวงกว้าง
ก็จะเกิดความขัดแย้งอย่างไม่จบสิ้นกับผู้ศึกษาตำราชั้นหลัง
ซึ่งเป็นเรื่องเสียเวลามากเหลือเกิน ที่จะต้องกางตำราเถียงกัน

ไม่เหมือนการคุยกันในหมู่นักปฏิบัติ ที่พูดกันด้วยหัวใจ
บางทีไม่ทันต้องอ้าปาก ก็เข้าใจกันทะลุปรุโปร่งไปแล้ว

*************************************

เรื่องการกำหนดจิตผิดก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ
ส่วนมากก็เรื่องเผลอ กับเรื่องเพ่ง โดยไม่รู้ทันนี่เอง
จิตจึงไม่สามารถจะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยความเป็นกลาง หรือสักแต่รู้ได้

นักปฏิบัติอย่าไปกังวลสนใจว่า เราจะเดินอย่างไรให้ถูกตรงทุกองศา
ถ้าคิดจะเดินให้ถูก ก็จะผิดทันที เพราะจะเกิดการเสแสร้งแกล้งปฏิบัติขึ้นมา
เช่นการกดข่มจิตใจ การเพ่งจ้อง ฯลฯ
ที่เหมาะที่ควร เอาแค่ว่า อย่าให้ผิด ด้วยการเผลอและการเพ่ง
เมื่อไม่ผิดแล้ว ก็ไม่ต้องไปคิดเรื่องถูก มันจึงจะถูกได้จริง
ถ้ายังคิด ยังทำเรื่องถูก ยังไงก็ไม่ถูกครับ

ดังนั้นเวลาปฏิบัติอย่าไปกังวลใจใดๆ
ให้รู้เท่าทันกายใจของตนไปตามธรรมชาติธรรมดา
ยิ่งเป็นธรรมชาติธรรมดามากเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น
เพราะความจริงแล้ว ธรรมะก็คือเรื่องธรรมดานี่เอง
กิเลสต่างหาก ที่ทำให้การปฏิบัติธรรมกลายเป็นสิ่งยุ่งยากไปหมด


เมื่อวันเสาร์ก่อนผมไปที่วัดป่าเชิงเลน เพื่อกราบเยี่ยมครูบาติ๊ก
ไปเจอผู้หญิงคนหนึ่ง อายุมากกว่าผม เธอเข้ามาถามธรรมะ
เมื่อผมอธิบายถึงสภาวะ "รู้" จนเธอเข้าใจและเห็นตามได้แล้ว
เธอก็อุทานออกมาว่า "ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ
แต่เธอเสียเวลาปฏิบัติ ทำโน่นทำนี่อยู่หลายสิบปี
เพราะไม่มีใครบอกให้เธอลืมตาตื่นต่อธรรมะที่เต็มบริบูรณ์อยู่ต่อหน้าแล้ว"


ดังนั้น จิตมีกิเลส ก็รู้ว่ามีกิเลส
จิตมีกุศล ก็รู้ว่ามีกุศล
จิตตั้งมั่น ก็รู้ว่าตั้งมั่น
จิตไม่ตั้งมั่นเพราะทะยานไปตามแรงผลักของตัณหา ก็รู้ทันมัน
ทำไปเถอะครับ ถ้ารู้ทันจริงๆ แล้ว ไม่ต้องไปคิดเรื่องผิดถูกอะไรหรอก
เพราะบรรดาความผิดทั้งหลายนั้น
มันมาจากความไม่รู้ทันมารยากิเลสที่มาหลอกจิตใจ
จึงไม่เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง
เท่านั้นเอง





21
เขียนไว้เมื่อ  24 ส.ค. 2542 / 15:58:14 น.

ผมได้ฟังผู้ปฏิบัติธรรมหลายท่าน
ปรารภกันถึงเรื่อง "ความคิดกับการปฏิบัติธรรม"
บ้างก็สนใจในจุดที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะดับความคิดเสียได้
เพราะความคิดเป็นสิ่งตรงข้ามกับ "รู้" เมื่อหมดความคิดจะได้เหลือแต่ "รู้"
บางท่านถึงกับตราหน้าความคิด ว่าเป็นตัววิปัสสนึก ไม่ใช่วิปัสสนา
เมื่ออยากจะทำวิปัสสนา จึงต้องดับความคิดเสียให้ได้
อย่างไรก็ตาม นักปฏิบัติอีกกลุ่มหนึ่งกลับกลัวว่า
ปฏิบัติแล้ว จะเหลือแต่ "รู้" ไม่มีความคิด
แล้วจะทำให้กลายเป็นคนโง่เขลา หรือสมองฝ่อในภายหลัง


ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า สิ่งที่ปรารภกันส่วนมากนั้น
เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับความคิด ที่สุดโต่งกันอยู่ 2 ด้าน
ระหว่าง "กลุ่มที่ปฏิเสธความคิด" คือไม่อยากให้มีความคิด
กับ "กลุ่มที่กลัวว่าจะหมดความคิด"

ผมขอไม่กล่าวถึงเรื่องที่ว่า  หมดความคิดไปชั่วขณะแล้วจะทำให้โง่
เพราะในความเป็นจริงแล้ว คนเราแทบไม่เคยหยุดคิดเลย  แม้กระทั่งในเวลาหลับ
ยิ่งคนที่พยายามจะไม่คิดนั้น ก็มักจะยิ่งคิดมากขึ้น คือคิดที่จะไม่คิด
ประเด็นที่จะขอกล่าวในที่นี้ จึงตีกรอบไว้เพียงประเด็นเดียว
คือจะกล่าวถึงการปฏิเสธความคิดของนักปฏิบัติ

ที่นักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก ปฏิเสธความคิด
ก็เพราะเคยได้ยินคำสอนที่หลากหลายเกี่ยวกับการไม่คิด
เช่น ในอรรถกถาพระธรรมบท
เล่าถึงพระรูปหนึ่งที่ท่านปรารภว่า
"สังขารทั้งหลายสงบเสียได้ เป็นสุข"
ก็เลยคิดว่าสังขาร รวมทั้งสังขารขันธ์หรือความคิดนึกปรุงแต่ง
เป็นตัวทุกข์ ดับมันเสียได้แล้ว จึงจะพ้นทุกข์

หลวงพ่อเทียน แห่งวัดสนามใน ท่านสอนว่า "คิดเป็นหนู รู้เป็นแมว"
ความคิด พอกระทบ "รู้" ก็ดับวับไป เหลือแต่ "รู้"


นายแพทย์ประเวศ วะสี ท่านกล่าวว่า คิดกับรู้เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน
เมื่อ "รู้" ต่อเนื่อง จิตจะดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
ในขณะที่การคิดนั้น มักจะเป็นเรื่องของอดีตและอนาคต ไม่เป็นปัจจุบัน

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม สุรินทร์ ท่านสอนว่า
"คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดจึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิด"

คำสอนในฝ่ายเซ็น มีเรื่องเกี่ยวกับมหาสุญญตา
อันเป็นเรื่องเหนือความคิดและคำพูด
เช่นเมื่อท่านวิมลเกียรติจะแสดงธรรมสูงสุด
ท่านแสดงด้วยการไม่กล่าวคำพูดใดๆ เลย
ทำให้พระโพธิสัตว์มัญชุศรี กล่าวสรรเสริญว่าท่านแสดงธรรมได้สุดยอดที่สุด
คือ ธรรมที่เหนือความคิดและคำพูด

อีกประการหนึ่ง เรามักได้ยินคำว่า
"วิปัสสนึก" อันหมายถึงการใช้ความคิด ไม่ใช่วิปัสสนา

ผู้ปฏิบัติบางท่านศึกษามากเกินไป จนเกิดสับสนขึ้นเอง
ในเรื่อง ความคิดกับการปฏิบัติธรรม

*****************************************************

ในเวลาที่มีท่านหนึ่งท่านใดถามผมว่า
"ทำอย่างไรจึงจะดับหรือหยุดความคิดได้"
ผมมักจะถามกลับว่า
"คิดจะหยุดความคิดแล้ว
คิดจะหยุดลมหายใจเข้าออกด้วยหรือเปล่า"
ที่ถามเช่นนี้ ไม่ได้ถามด้วยความยียวน
แต่ถามเพื่ออรรถเพื่อธรรมจริงๆ
เพราะตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็ต้องมีลมหายใจอยู่
และตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็ต้องมีความคิดนึกปรุงแต่งอยู่

ความคิดเป็นสังขารขันธ์
พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนว่า "ขันธ์" เป็นทุกข์
เพราะขันธ์ เป็นเพียงขันธ์ เป็นกลุ่ม เป็นกอง
เป็นธรรมชาติธรรมดาของสิ่งที่ประกอบกันเป็นชีวิต
ตัวมันเองไม่มีความทุกข์ความสุขใดๆ หรอก
แต่เมื่อใด จิตเข้าไปยึดมั่นในขันธ์
ขันธ์อันถูกยึดมั่น หรือ "อุปาทานขันธ์" ต่างหากที่คือทุกข์

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรา "รู้ทุกข์" ท่านไม่ได้สอนให้เรา  "ละทุกข์"
สิ่งที่ท่านสอนให้ละคือสมุทัย หรือตัณหา หรือความทะยานอยากของจิต
แต่ผู้ปฏิบัติจำนวนมากกลับ "อยากจะละขันธ์" เพราะเห็นว่ามันเป็นทุกข์


การที่เห็นขันธ์อันเป็นธรรมชาติธรรมดาเป็น ทุกข์
คือความเห็นผิดในเบื้องต้น  เนื่องจากไม่ทราบว่า
ทุกข์คืออะไร และเกิดจากอะไร
ส่วนการปฏิเสธทุกข์ หรืออยากละทุกข์  คือความผิดพลาดในขั้นต่อมา

ถ้าเราเชื่อพระพุทธเจ้า เข้าใจสิ่งที่พระองค์สอน
ก็จะรู้ว่า เราไม่ต้องคิดไปดับความคิด
เหมือนที่เราไม่ควรคิดจะเลิกหายใจ


*************************************************

คราวนี้มาถึงปัญหาที่ว่า  เราจะจัดการกับความคิดอย่างไร

ผู้ปฏิบัติจำนวนมากแยกไม่ออกระหว่างความคิด กับความฟุ้งซ่าน
ความคิดนั้น อาจจะคิดดีก็ได้ คิดชั่วก็ได้
แต่ความฟุ้งซ่านเป็นธรรมฝ่ายชั่ว มันเป็นความหย่อนสมรรถภาพของจิต
จิตถูกผลักดันให้โลดเร่าไปตามกระแสอารมณ์
หากเราจะปฏิบัติธรรม เราจะต้องจัดการขั้นเด็ดขาดกับความฟุ้งซ่าน
เพราะเป็นตัวขัดขวางไม่ให้จิตมีคุณภาพพอที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้
เครื่องมือที่จะใช้จัดการกับความฟุ้งซ่าน คือการทำสมถะ

สมถะ เป็นเครื่องมือจัดระเบียบจิตใจไม่ให้โลดเร่าเกินไป
คือแทนที่ผู้ปฏิบัติจะปล่อยให้จิตโลดเร่าไปเรื่อยๆ
ก็รวมจิตให้ลงมารู้อารมณ์อันเดียว
เมื่อจิตสามารถรู้อารมณ์อันเดียวโดยต่อเนื่องแล้ว
คราวนี้จิตก็พร้อมที่จะเจริญวิปัสสนา
คือรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละอย่าง
ด้วยจิตที่เป็นกลาง พ้นจากความยินดียินร้ายต่อสิ่งที่จิตไปรู้เข้า
ก็จะเห็นธรรมทั้งปวง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

ความคิดก็เป็นธรรมอันหนึ่ง
เป็นกระแสความปรุงแต่งของจิตที่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ไม่คงที่ มีแล้วก็ดับไป
ไม่มีใครเลยที่จะดับความคิดได้ เว้นแต่การตกภวังค์
การเข้านิโรธสมาบัติ และการเข้าอยู่ในภพของพรหมลูกฟัก
ตัวความคิดเอง ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม
แต่การจัดการอย่างไม่ถูกต้องกับความคิดต่างหาก
ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม

เมื่อจิตจะคิด ก็ควรปล่อยให้มันคิดไป
อย่าไปคิดที่จะดับความคิด เพราะจิตจะฟุ้งซ่านเสียเปล่าๆ
แม้แต่มันจะคิดชั่ว คิดจนเกิดกิเลส ก็ไม่ต้องไปห้ามมัน
ให้ทำสติรู้เท่าทันปฏิกิริยาของจิตที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะกระแสความคิดนั้น

จิตมีอกุศล เช่นมีราคะ หรือมีโทสะ  ก็รู้
จิตมีกุศล เช่นไม่มีราคะ หรือไม่มีโทสะ ก็รู้

ถ้าจะเจริญวิปัสสนา ก็อย่าห้ามความคิด
ความคิดจะผันแปรอย่างไรก็ช่างมัน
ขอให้มีจิตที่ตั้งมั่นไม่หลงตามความคิด หรือเสียความเป็นกลางไปก็พอแล้ว
เพราะถ้าจิตซัดส่ายเลื่อนไหลไปตามความคิดและอารมณ์ที่มากระทบ
อันนั้นคือความฟุ้งซ่าน
เป็นภาวะที่ไม่มีทั้งสมถะ และไม่มีทั้งวิปัสสนา


**************************************************

คราวนี้ก็มาถึงปัญหาที่ว่า สิ่งที่ผมกล่าวมานี้
ขัดกับคำกล่าวของพระเถระทั้งในตำราฝ่ายเถรวาท
ตำราฝ่ายมหายาน และผู้ปฏิบัติร่วมสมัยของเราเช่นหลวงพ่อเทียน หรือไม่

ขอเรียนว่า ไม่ได้ขัดแย้งกันเลย
ที่พระเถระครั้งพุทธกาลท่านปรารภถึงความดับสนิทแห่งสังขารนั้น
เป็นภาวะที่เป็น ผล ของการปฏิบัติ
ซึ่งจิตของท่านเข้าถึงความดับสนิทแห่งขันธ์
ส่วนพวกเรากำลังอยู่ระหว่างการปฏิบัติอันเป็นการทำ เหตุ
จะนำธรรมที่เป็นเหตุ กับเป็นผล มาอธิบายปนกันไม่ได้

ธรรมที่เหนือความคิดและคำพูด ที่เซ็น กล่าวโดยไม่มีการกล่าว นั้น
ก็เป็นการอธิบายถึงสิ่งที่เป็น ผล แล้วเช่นกัน

ส่วนสิ่งที่หลวงพ่อเทียน หลวงปู่ดูลย์ และคุณหมอประเวศกล่าวนั้น
ท่านกล่าวเพื่อเตือนสตินักปฏิบัติ ให้รู้จัก "รู้"
โดยสามารถแยก "รู้" กับ "คิด" ออกจากกันได้

"รู้" คือสภาวะจิตที่มีสัมมาสมาธิ มีสติสัมปชัญญะบริสุทธิ์ด้วยอุเบกขา
ซึ่งเป็นจิตที่สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้

หรือจะกล่าวว่า จิตสามารถทำตนเป็นผู้สังเกตการณ์
โดยปราศจากความยินดียินร้ายต่ออารมณ์ได้
ความรู้แท้ทางพระพุทธศาสนานั้น ต้องเกิดจากการที่จิตเป็นผู้สังเกตการณ์
จนเข้าใจความจริงของสังขารธรรมทั้งปวงว่าเป็นไตรลักษณ์
และเข้าใจอริยสัจจ์ซึ่งประจักษ์อยู่กับจิตนั่นเอง

ผู้ที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติ จะคิดเอาง่ายๆ ว่า
จิตของตนเป็นกลาง และมีขณิกสมาธิแล้ว
เพราะสามารถขับรถได้ อ่านหนังสือได้ ก็สามารถเจริญวิปัสสนาได้
ทั้งที่ความจริงในขณะนั้น จิตกำลังหลงอยู่กับอารมณ์ที่จิตไปรู้เข้า
เพียงแต่ไม่รู้ว่า จิตกำลังหลงอยู่


ท่านที่ปฏิบัติมาแล้วอย่างโชกโชน จึงย้ำนักหนา ให้รู้จัก "รู้"
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะสั่งให้พวกเราต้องหัดเข้าฌานก่อน
เพราะทั้งหลวงพ่อเทียน หรือหลวงปู่ดูลย์
ไม่เคยสอนเรื่องการเข้าฌานเลย
(ทั้งที่หลวงปู่ดูลย์ เป็นพระที่ชำนาญในสมาบัติต่างๆ สูงมาก)
มีแต่สอน ให้เจริญสติสัมปชัญญะในชีวิตจริงๆ ของเรานี่แหละ
แต่ภาวะที่จิตมีสติสัมปชัญญะจริงๆ หรือจิตรู้นั้น
ไม่เหมือนกันเลยกับจิตที่กำลังหลงไปตามความคิด


ตัวอย่างเช่น ผู้ปฏิบัติบางท่านเดินจงกรมอยู่
จิตเคลื่อนออกไปเกาะอยู่ที่เท้าบ้าง
ไหลไปในความคิดเรื่องการเคลื่อนไหวเท้าบ้าง

หรือบางท่านนั่งอยู่ พอเมื่อยอยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ
ก็คิดบรรยายอาการจิตตนเองว่า  "อยากเปลี่ยนอิริยาบถ"
แล้วตั้งคำถามตนเองว่า "ทำไมจึงอยากเปลี่ยนอิริยาบถ"
แล้วก็ตอบตนเองว่า "เพราะจำเป็นต้องเปลี่ยนอิริยาบถ"
พอคิดตามสูตรเสร็จแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ
เหล่านี้ เป็นการปฏิบัติที่ยังเจือด้วยความคิดทั้งสิ้น
เป็นการสร้างภาระให้จิตต้องคิด ต้องทำงาน
แทนที่จิตจะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์สภาพธรรมที่กำลังปรากฏขึ้น

เรื่อง "รู้" เป็นเรื่องที่อธิบายด้วยตัวหนังสือยากที่สุด
แต่ถ้าสามารถ "รู้" ได้แล้ว การปฏิบัติจะเป็นเรื่องง่ายไปหมด
เพราะสามารถกระทำต่อเนื่องได้ตลอดเวลาที่ยังตื่นอยู่

หลวงปู่ดูลย์ ท่านจึงสอนว่า "คิดเท่าไรก็ไม่รู้"
เพราะถ้าหลงอยู่ในโลกของความคิด
ก็ไม่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
ท่านสอนอีกว่า "ต้องหยุดจึงจะรู้"
ตรงนี้ท่านไม่ได้สอนให้เรา "คิดที่จะหยุดคิด"
แต่เมื่อเจริญสติสัมปชัญญะอย่างถูกต้องไปถึงจุดๆ หนึ่ง ขันธ์จะดับลงชั่วขณะ
ตรงนั้นแหละเมื่อผ่านแล้วจิตจึงย้อนทวนพิจารณา
ก็จะเข้าใจธรรมทั้งฝ่ายที่เกิดดับ และฝ่ายที่ไม่เกิดไม่ดับ

ที่สำคัญ หลวงปู่ดูลย์ ยังสอนประโยคสุดท้ายที่เราชอบลืมกันว่า
"แต่ก็ต้องอาศัยคิด"
คือเราต้องปล่อยให้จิตคิดไป จิตรู้ไป
จิตก็จะเห็นปฏิกิริยาของจิต เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นกลางบ้าง
เกิดความยินดียินร้ายขึ้นบ้าง
เห็นมากเข้า ก็จะเห็นความไม่มีสาระแก่นสารของธรรมที่เกิดดับเหล่านั้น
แล้วจิตก็จะปล่อยวางธรรมเหล่านั้น
เข้าถึงธรรมที่เหนือความคิดนึกปรุงแต่ง 

*************************************************************

สรุปแล้ว ผู้ปฏิบัติไม่ควรรังเกียจความคิด คิดไปเถอะครับ
(แต่ไม่ใช่คิดจนฟุ้งซ่าน คือจิตวิ่งหลงตามความคิดไป)
และที่สำคัญก็คือ ต้องรู้จัก "รู้" ให้ดี
เพราะถ้าไม่มี "รู้" จิตจะหลงไปตามความคิดทันที
และไม่สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยความเป็นกลางได้เลย


(มีต่อ)


22
เขียนไว้เมื่อ 8 มิ.ย. 2541


การปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น มีการเปลี่ยนแปลงทางจิตอย่างอัศจรรย์ที่สุดแต่เป็นเรื่องที่ผู้อื่นรับทราบ
ได้ยากเช่นเรื่องการบรรลุมรรคผลนิพพานเพราะเป็นความรับรู้เฉพาะตัว คนอื่นรู้ด้วยไม่ได้แต่ถ้าจะพิสูจน์แค่ว่า
ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาแล้วพ้นทุกข์ได้ถ้าแค่นี้ก็ท้าให้ผู้สงสัยลองปฏิบัติดูได้เสมอครับ

หรืออย่างเรื่องนรก สวรรค์ ชาติก่อน ชาติหน้า ผี เทวดาก็เป็นเรื่องที่เถียงกันไม่จบใครเคยมีประสบการณ์ที่ทำให้เชื่อ
ก็เชื่อใครเคยมีประสบการณ์ที่จะไม่เชื่อ ก็ไม่เชื่อและเวลานี้ พวกเราก็ตั้งกระทู้ทำนองนี้มากมายแล้วก็เถียงกัน
ไม่มีข้อยุติบางคนประกาศว่ามี บางคนพูดอ้อมๆ แบ่งรับแบ่งสู้ บางคนประกาศว่าไม่มี


ที่จริงมันไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าเรื่องทุกข์และการดับทุกข์หรอกครับแต่ผมเป็นห่วงว่า บางท่านสรุปเร็วไป
ถึงขนาดระบุว่ากฎแห่งกรรม หรือเรื่องชาตินี้ชาติหน้า เป็นเครื่องมือให้คนเชื่อแล้วสังคมจะได้เรียบร้อยหรือ
ปฏิเสธพระไตรปิฎกบางส่วน ว่าเป็นนิยายหลอกเด็กไปเลยซึ่งถ้าปฏิเสธเรื่องผีและเทวดา ชาติก่อน และ
ชาติหน้าพระวินัยบางข้อก็ต้องยกเลิก เช่นในข้อที่ห้ามฆ่าโอปปาติกะพระสูตรจำนวนมาก ต้องยกเลิกไป
ส่วนพระอภิธรรมก็เป็นเรื่องแสดงให้เทวดาฟัง ยิ่งไปกันใหญ่ผมเสียดายพระไตรปิฎกเหล่านี้ครับ


เมื่อเรื่องลึกลับทางจิตใจนั้น พิสูจน์ให้เห็นได้ยากผมจึงขอเสี่ยงเล่าถึงสิ่งที่เป็นของแปลก แต่เป็นรูปธรรม
สักเรื่องหนึ่งเพื่อให้พวกเราบางคนใช้ความไตร่ตรองมากขึ้นก่อนที่จะกล่าวว่า พระไตรปิฎกเป็นนิยาย นิ
ทาน อะไรนั่นเพราะในพระพุทธศาสนานั้น ยังมีสิ่งที่เราไม่เข้าใจอยู่อีกมาก


นั่นคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของนักปฏิบัติธรรมบางท่านที่กระดูกของท่านตกผลึกเป็นแก้ว
เรื่องนี้คนทั่วไปรู้เห็นได้ด้วยนะครับทั้งมีพยานวัตถุและบุคคลเป็นจำนวนมากในยุคนี้แต่ผมก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่า
 เกิดจากอะไร แต่ยืนยันว่ามีแน่และเกิดเฉพาะท่านที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเท่านั้น


ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของกระดูกเป็นผลึกแก้วมีดังนี้ครับ

1. กระดูกส่วนที่มีรูพรุนๆ จะเป็นเร็วกว่ากระดูกแข็ง
2. มีการเปลี่ยนแปลง 2 ด้านคือ

2.1 การเปลี่ยนแปลงจากภายในกระดูก จะมีคล้ายๆ น้ำใสๆ (แต่ไม่ใช่น้ำ และไม่ใช่ของเหลวด้วย)
ค่อยๆ ผุดขึ้นจากรูพรุน พร้อมกับไล่ฟองอากาศภายในกระดูกออกมาด้วย
2.2 การเปลี่ยนแปลงจากพื้นผิวภายนอก จะเกิดคล้ายๆสารเคลือบขาวๆ คล้ายกระเบื้องเคลือบ
เคลือบตามผิวภายนอก จากนั้นจึงค่อยๆ ใสขึ้นจนเป็นผลึก
2.3 กระดูกที่พรุนๆ และมีเหลี่ยมมีมุม จะค่อยๆ ยุบตัวลง จนมน และกลม


เส้นผมก็รวมตัวได้ครับ คือจะรวมตัวเป็นกระจุกก่อน แล้วค่อยอัดตัวเป็นเม็ดทีหลัง


การแปรสภาพนี้ เร็วบ้าง ช้าบ้าง ไม่เท่ากันในแต่ละท่านผู้ที่มาพบภายหลังการแปรสภาพแล้ว
มักจะไม่เชื่อว่านั่นคือกระดูกจริงๆผมเคยเห็นอัฐิของหลวงปู่มั่นชิ้นหนึ่งที่วัดป่าสุทธาวาสเมื่อ 15 ปี
ก่อนยังเป็นแก้วครึ่งท่อน เป็นกระดูกครึ่งท่อนขณะนี้เปลี่ยนเป็นแก้วทั้งท่อนแล้ว ใครเห็นก็อาจไม่
เชื่อว่าเป็นกระดูกจริงๆ


ผมจึงยอมเสี่ยงเล่าเรื่องนี้เพื่อบอกพวกเราว่า อย่าเพิ่งรับหรือปฏิเสธอะไรง่ายๆ เลยในพระพุทธศาสนาโดย
เฉพาะเรื่องของจิตนั้น มีสิ่งลึกซึ้งอยู่มากแค่กระทั่งเรื่องกระดูกตกผลึกในท่านผู้ปฏิบัติดี
เรายังไม่รู้กันเท่าไหร่เลยทั้งที่มีอยู่มากมายในหมู่พระป่า


ขณะนี้ผมไปได้อัฐิชิ้นหนึ่งของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้งมาจากท่านผู้อาวุโสสูงในวงปฏิบัติกรรมฐาน
องค์หนึ่งได้มาราวๆ 1 เดือนนี้เอง ตอนที่ได้มาท่านเก็บไว้ในขวดโหลยังเป็นชิ้นกระดูกธรรมดาดำๆ
แต่ขณะนี้กำลังแปรสภาพอย่างรวดเร็วครับใครอยากเห็นกระดูกในระหว่างการตกผลึกก็นัดมาขอดูได้ที่บ้านผม

ที่เล่ามานี้ก็ตามประสบการณ์ท่านจะว่าโง่งมงายก็สุดแล้วแต่ท่านครับและความจริงเรื่องของภพภูมิต่างๆ
 ก็พอจะพิสูจน์ได้แต่ลำบากตรงที่ว่า ไม่ใช่คนทำสมาธิทุกคนจะรู้เห็นได้

(มีต่อ)


23

เมื่อกษัตริย์โบดวง ทรงชักนำในหลวง เปลี่ยนศาสนา
จาก หนังสือพระราชอารมณ์ขัน โดย วิลาส มณีวัต


 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชอารมณ์ขัน (humor) และพระราชปฎิภาณเชิงขันที่ฝรั่งเรียกว่า wit ถ้าถามว่า wit เป็นอย่างไร คงจะต้องตอบว่า เครื่องปรุง wit นั้น ต้องมี
     
     อารมณ์ขัน ๑ ส่วน
     ปฏิภาณ ๒ ส่วน
     ความฉลาดหลักแหลม ๑ ส่วน

นำมาคลุกเคล้ากันเข้า เติมเปรี้ยวเค็มตามชอบ ก็จะได้เป็น wit ออกมา ใช้พริกขี้หนูโรยหน้าเสียหน่อยก็จะดียิ่ง

พูดถึงเรื่อง wit ของพระองค์ ก็ทำให้นึกถึงกษัตริย์โบดวงแห่งประเทศเบลเยี่ยม ได้ทรงเล่าถึงกษัตริย์ต่างแดนพระองค์นี้ให้ พ.อ. ปิ่น มุทุกันต์ ฟัง
เรื่องมีอยู่ว่ากษัตริย์โบดวงได้เสด็จฯ มาเยือนประเทศไทยเป็นทางการพร้อมด้วยพระบรมราชินี ระหว่างที่ประทับอยู่ในพระนครในฐานะเป็นราชอาคันตุกะนั้น ได้ทรงชักนำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นหลายครั้งให้เปลี่ยนศาสนาไปนับถือศาสนาคริสต์อย่างพระองค์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสถามถึงเหตุผลที่ทรงชักชวน กษัตริย์พระองค์นั้น กราบทูลว่า พระองค์ทรงมีความรักใคร่ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรามาก ไม่อยากจะพลัดพรากเหินห่างจากกันเลย แต่จะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงนับถือศาสนาคริสต์ด้วยกันเท่านั้น เพราะศาสนาคริสต์สอนว่าคริสต์ศาสนิกชนเมื่อสิ้นชีพแล้วจะได้ไปอยู่ใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าชั่วนิรันดร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ปฏิเสธคำทูลโดยตรง แต่ทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า

พระพุทธศาสนาก็เชิดชูสัจจะ คือ ความจริง สอนให้ผู้นับถือเข้าถึงความจริง และสัจจะคือความจริงนั้นย่อมมีสภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผู้ปฎิบัติถูกทางแล้วย่อมจะเข้าถึงได้
ดังนั้น ถ้าคำสอนแห่งศาสนาคริสต์เป็นสัจธรรม และพระผู้เป็นเจ้ามีจริง แม้พระองค์นับถือพระพุทธศาสนาก็คงจะเข้าถึงเป็นแน่ แม้ว่าจะมีผู้อื่นคั่นอยู่ระหว่างพระองค์กับ
พระผู้เป็นเจ้าก็คงจะมีคนเดียว คือองค์กษัตริย์ ผู้ทรงชักชวนพระองค์เท่านั้น


พระราชดำรัสนี้เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระราชอาคันตุกะมาก จนถึงสนพระราชหฤทัยที่จะทรงศึกษาคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดหนังสือพระพุทธศาสนาภาษาอังกฤษ ส่งไปถวายในโอกาสต่อมา

ท่านมหาปิ่น บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง "แปลก และน่าทึ่ง ในพระปรีชาสามารถเป็นมาก ....ผมเล่าความจากระแสพระราชดำรัสตรัสเล่าตามที่จำได้"

การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราได้ทรงโต้ตอบกษัตริย์โบดวงดังกล่าวข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นถึง wit ของพระองค์ได้อย่างแจ่มชัดที่สุดทั้งยังแสดงว่าทรงเข้าพระราชหฤทัยในศาสนาทั้งสอง คือ พุทธและคริสต์ อย่างลึกซึ้งถ่องแท้

24
เขียนไว้เมื่อ  19 ต.ค. 2542 / 11:11:03 น.

พระสูตรแรกสุดในพระไตรปิฎกคือ พรหมชาลสูตร
เป็นพระสูตรที่พระศาสดาทรงแสดงเรื่องทิฏฐิประเภทต่างๆ
และมีผู้นำมาตั้งกระทู้หลายคราวแล้ว
ผมจึงขออนุญาตไม่กล่าวถึงพรหมชาลสูตร
แต่จะเริ่มกล่าวถึงพระสูตรถัดไป คือ สามัญญผลสูตร
อันเป็นพระสูตรที่ 2 ปรากฏในทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 1 พระไตรปิฎกเล่มที่ 9

เพียงพระสูตรแรกที่ยกมานี้เราก็จะพบว่า
กระบวนการปฏิบัติธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงในพระสูตรนี้
แตกต่างออกไปบ้างจากตำราที่เราได้ยินได้ฟังกันจนคุ้นหู
คือในตำราที่เราได้ยินกันในปัจจุบันนี้
มักจะสอนกันว่า ให้ทำสมาธิเพื่อข่มนิวรณ์
จากนั้นจึงใช้จิตที่ปราศจากนิวรณ์ไปเจริญวิปัสสนา

คำสอนอย่างนี้มีปํญหากับผู้ปฏิบัติบางท่าน
ที่ไม่ว่าจะทำสมาธิอย่างไรก็ทำไม่สำเร็จ
เพราะจิตหาความสงบไม่ได้เลย
ไม่ว่าจะกำหนดลมหายใจ เพ่งกสิณ หรือเจริญอนุสติใดๆ
ดังนั้น จึงไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้เสียที

แต่สามัญญผลสูตรกลับสอนถึงขั้นตอนที่กลับข้างกับสิ่งที่เราเคยทราบ
คือท่านสอนให้ จัดการกับนิวรณ์เสียก่อน เพื่อทำสัมมาสมาธิ
อันเป็นเครื่องมือสร้างสติสัมปชัญญะและอุเบกขา
ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการทำวิปัสสนา

คำสอนของท่านดังกล่าวนี้ ง่ายสำหรับการปฏิบัติ
ดังจะขอชวนเชิญพวกเราติดตามศึกษากันต่อไป

***************************************

เรื่องราวของ สามัญญผลสูตร เริ่มขึ้นอย่างงดงามดังนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับ ณ สวนอัมพวัน
ของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ใกล้พระนครราชคฤห์
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑๒๕๐ รูป
วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ เป็นวันครบ ๔ เดือน
ฤดูดอกโกมุทบาน ในราตรีเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง
พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรูเวเทหีบุตร
แวดล้อมด้วยราชอำมาตย์ประทับนั่ง ณ พระมหาปราสาทชั้นบน.
ขณะนั้น ท้าวเธอทรงเปล่งพระอุทานว่า
ดูกรอำมาตย์ ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง น่ารื่นรมย์หนอ
ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง ช่างงามจริงหนอ
ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง น่าชมจริงหนอ
ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง น่าเบิกบานจริงหนอ
ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง เข้าลักษณะจริงหนอ
วันนี้เราควรจะเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดดีหนอ
ซึ่งจิตของเราผู้เข้าไปหาพึงเลื่อมใสได้.

*** พระเจ้าอชาตศัตรูผู้นี้ ปลงพระชนม์พระราชบิดา
แล้วปราบดาภิเษกเป็นเจ้าผู้ครองแคว้นมคธ
ในวันที่พระราชบิดาคือพระเจ้าพิมพิสารสวรรคตนั้น
เป็นวันที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้โอรสองค์โต
และเกิดความสำนึกในความรักของพ่อที่มีต่อลูก
จึงคิดจะปลดปล่อยพระเจ้าพิมพิสารจากที่คุมขัง
แต่พระราชบิดาได้เสด็จสวรรคตเสียแล้ว
พระองค์จึงสำนึกผิด เสียพระทัย
และเที่ยวใช้เวลากลางคืนศึกษาธรรมะ
โดยเที่ยวไปฟังธรรมจากปรมาจารย์ต่างๆ ในยุคนั้น
แต่ยังไม่พบธรรมที่ถูกพระทัย

เมื่อทรงปรารภดังข้อความข้างต้นแล้ว
ก็ทรงได้รับคำแนะนำจากหมอชีวก ซึ่งเป็นแพทย์หลวง
ให้ไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ณ วัดป่ามะม่วงของคุณหมอเอง
เมื่อพบพระศาสดาแล้ว พระองค์ได้ทูลถาม
ถึงสามัญญผลของการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา

พระศาสดาก็ทรงชี้แจงผลประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมไปเป็นลำดับ
ซึ่งทรงเรียงลำดับตั้งแต่การมีศีล
มีอินทรียสังวรเมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียง ฯลฯ
มีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกอิริยาบถ
มีความสันโดษพอใจในสิ่งที่ได้
หลังจากนั้นก็เริ่มการปฏิบัติธรรมในขั้นสมาธิ ดังนี้ ***

      [๑๒๕] ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร
สติสัมปชัญญะและสันโดษอันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว
ย่อมเสพเสนาสนะ อันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา
ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง
ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว
นั่งคู้บัลลังก์  ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้
ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท
มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาทได้
ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ
มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง
มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้
ละอุทธัจจะกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจะกุกกุจจะได้
ละวิจิกิจฉาแล้ว  เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา
ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้.


                           อุปมานิวรณ์
      [๑๒๖] ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน
การงานของเขาจะพึงสำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น
และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเขา จะพึงมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา
เขาพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้ไปประกอบการงาน
บัดนี้การงานของเราสำเร็จผลแล้ว
เราได้ใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้นแล้ว
และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเรายังมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา ดังนี้
เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส
มีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
      ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นผู้มีอาพาธ
ถึงความลำบาก เจ็บหนัก  บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย
สมัยต่อมา เขาพึงหายจากอาพาธนั้น บริโภคอาหารได้  และมีกำลังกาย
เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า
เมื่อก่อนเราเป็นผู้มีอาพาธถึงความลำบาก เจ็บหนัก
บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย
บัดนี้ เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้
และมีกำลังกายเป็นปกติ ดังนี้
เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส
มีความไม่มีโรคนั้น  เป็นเหตุ ฉันใด.
      ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงถูกจำอยู่ในเรือนจำ
สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดี
ไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย
เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ
บัดนี้ เราพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัยแล้ว
และเราไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย ดังนี้
เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส
มีการพ้นจากเรือนจำนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
      ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นทาส
ไม่ได้พึ่งตัวเอง พึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้
สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ
เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า
เมื่อก่อนเราเป็นทาส  พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น
ไปไหนตามความพอใจไม่ได้
บัดนี้ เราพ้นจากความเป็นทาสนั้นแล้ว
พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ ดังนี้
เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส
มีความเป็นไทยแก่ตัวนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
      ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษ มีทรัพย์ มีโภคสมบัติ
พึงเดินทางไกลกันดาร  หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า
สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้
บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดี
เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า
เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติ  เดินทางไกลกันดาร
หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า
บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้น
บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษม ปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้
เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส
มีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
      ดูกรมหาบพิตร ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้
ที่ยังละไม่ได้ในตนเหมือนหนี้  เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ
เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร
และเธอพิจารณา  เห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน
เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค
เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทยแก่ตน
เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล.

***เราจะเห็นได้ว่า พระองค์ไม่ได้สอนให้เข้าฌานเพื่อข่มนิวรณ์
แต่ในขั้นเริ่มต้นปฏิบัติธรรมกรรมฐานนั้น
ท่านแนะนำให้ภิกษุพิจารณานิวรณ์ในจิตของท่าน
ถ้าพูดด้วยภาษาที่พวกเราในลานธรรมคุ้นเคยก็คือ
ทรงสอนให้ผู้ปฏิบัติดูจิตหรือสังเกตจิตใจตนเอง
เมื่อพบนิวรณ์ รู้ว่านิวรณ์มีโทษ นำทุกข์มาให้
จิตก็จะสลัดนิวรณ์ทิ้งเสีย
แล้วเข้าถึงความปราโมทย์ คือมีความร่าเริงยินดีอยู่ในจิตใจ
เมื่อจิตมีความเบิกบานแล้ว เบาสบายแล้ว จึงค่อยทำสัมมาสมาธิต่อไป***


สัมมาสมาธิที่พระองค์ทรงสอนไว้ มีดังนี้

                           รูปฌาน ๔
      [๑๒๗] เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน
ย่อมเกิดปราโมทย์  เมื่อปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ
เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ
เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น.

เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน
มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว
ที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง

       ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน
หรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด
จะพึงใส่จุรณ์สีตัวลงในภาชนะสำริด แล้วพรมด้วยน้ำ หมักไว้
ตกเวลาเย็นก้อนจุรณ์สีตัวซึ่งยาง  ซึมไปจับติดกันทั่วทั้งหมด
ย่อมไม่กระจายออก ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล
ทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว
ที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า
ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.

      [๑๒๘] ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง
ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน
เป็นธรรมเอก(เอโกทิภาวะ) ผุดขึ้น
เพราะวิตก วิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร
มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
เธอทำกายนี้แหละ ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว
ที่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง.
ดูกร  มหาบพิตร เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกมีน้ำปั่นป่วน
ไม่มีทางที่น้ำจะไหลมาได้ ทั้งในด้านตะวันออก
ด้านใต้ ด้านตะวันตก ด้านเหนือ
ทั้งฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้ว
จะพึงทำห้วงน้ำนั้นแหละให้ชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็น
ไม่มีเอกเทศไหนๆ  แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมด ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้องฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละ
ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว
ที่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์
ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.

      [๑๒๙] ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง
ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่าผู้ได้ฌานนี้
เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร  เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง
หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง
หรือดอกบัวขาว บางเหล่าซึ่งเกิดในน้ำ
เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้
ดอกบัวเหล่านั้น ชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็นตลอดยอด ตลอดเง่า
ไม่มีเอกเทศไหนๆ  แห่งดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง
หรือดอกบัวขาว ทั่วทุกส่วน ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น
เอิบอิ่มซาบซ่านด้วยสุขปราศจากปีติ
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์
ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.

      [๑๓๐]  ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง
ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข
เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว
ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงนั่งคลุมตัวตลอดศีรษะด้วยผ้าขาว
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายทุกๆ ส่วนของเขา
ที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล
เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว
ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร  นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์
ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.


มีสิ่งที่พวกเราควรศึกษาพระสูตรส่วนนี้
ด้วยความเคารพและเบิกบานอยู่หลายจุด
นับตั้งแต่การที่ท่านสอนให้เรารู้นิวรณ์ จนนิวรณ์ดับไป
เมื่อนิวรณ์อันเป็นข้าศึกของสมาธิดับไปแล้ว
จิตก็จะเกิดสมาธิขึ้นโดยง่าย
นับตั้งแต่เกิดปีติสุข แล้วเกิดธรรมอันเอกหรือเอโกทิภาวะ
ถัดจากนั้นอารมณ์ก็ประณีตเข้าตามลำดับ
คือปีติดับไป สุขดับไป เช่นเดียวกับที่นิวรณ์ดับไปเมื่อถูกรู้นั่นเอง
จนเหลือจิตที่เป็นอุเบกขา มีสติรู้อารมณ์ที่เป็นอุเบกขา
สติสัมปชัญญะก็แนบแน่นมั่นคงเข้าตามลำดับ
อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการเจริญวิปัสสนาต่อไป


จากประสบการณ์ ผู้ปฏิบัติที่ไม่มีธรรมอันเอก
ไม่มีทางเจริญวิปัสสนาได้จริง
อย่างมากที่สุดก็ทำได้เพียงการเพ่งอารมณ์ที่กำลังปรากฏ
ไม่ใช่การสักว่ารู้ว่าเห็นอารมณ์ที่กำลังปรากฏ
เพียงแต่ไม่รู้ตัวเท่านั้นว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่วิปัสสนาจริงๆ


************************************

และเพื่อให้พวกเราเข้าใจสัมมาสมาธิชัดเจนขึ้น
ผมขอยกคำอธิบายในพระอภิธรรมปิฎกมาแสดงดังนี้

พระไตรปิฎกเล่มที่ 35 สุตตันตภาชนีย์  อภิธรรมภาชนีย์  อภิธรรมปิฎก

[๖๕๒] คำว่า ประกอบด้วยวิตก วิจาร มีอธิบายว่า
วิตก มีอยู่  วิจาร มีอยู่  ใน ๒ อย่างนั้น

วิตก เป็นไฉน   ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ความดำริ
ความที่จิตแนบอยู่ในอารมณ์
ความที่จิตแนบสนิทอยู่ในอารมณ์
ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ สัมมาสังกัปปะ อันใด นี้เรียกว่า วิตก

วิจาร เป็นไฉน
ความตรอง ความพิจารณา ความตามพิจารณา ความเข้าไปพิจารณา
ความที่จิตสืบต่ออารมณ์ ความที่จิตเพ่งดูอารมณ์อยู่เนืองๆ อันใด นี้เรียกว่า วิจาร

ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้ว ด้วยวิตกและวิจารนี้
ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ประกอบด้วยวิตก วิจาร ด้วยประการฉะนี้

[๖๖๑] คำว่า เป็นธรรมเอกผุดขึ้นแก่ใจ
ได้แก่ ความตั้งอยู่แห่งจิต ฯลฯ  สัมมาสมาธิ

[๖๗๐] บทว่า เป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา มีอธิบายว่า อุเบกขา เป็นไฉน
ความวางเฉย กิริยาที่วางเฉย ความเพ่งเฉพาะ
ความเป็นกลางแห่งจิต  อันใด นี้เรียกว่า อุเบกขา
ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้ว ด้วยอุเบกขานี้
ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา

[๖๗๒] คำว่า มีสติสัมปชัญญะ มีอธิบายว่า ใน ๒ อย่างนั้น

สติ  เป็นไฉน
สติ ความตามระลึก ฯลฯ สัมมาสติ อันใด นี้เรียกว่า สติ

สัมปชัญญะ เป็นไฉน
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม
สัมมาทิฏฐิ อันใด นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ

ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้ว
ด้วยสติและ  สัมปชัญญะนี้
ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มีสติสัมปชัญญะ ด้วยประการฉะนี้

[๖๘๓] บทว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา มีอธิบายว่า
อุเบกขา  เป็นไฉน
ความวางเฉย กิริยาที่วางเฉย ความเพ่งเฉพาะ
ความเป็นกลางแห่งจิตอันใด นี้เรียกว่า อุเบกขา

สติ เป็นไฉน
สติ ความตามระลึก ฯลฯ สัมมาสติ อันใด นี้เรียกว่า สติ
สตินี้ เปิดเผย บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว เพราะอุเบกขานี้
ด้วยเหตุนั้น  จึงเรียกว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา

************************************

ผมไม่ค่อยพบท่านผู้ใดอธิบายสัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าอย่างนี้
มีแต่กล่าวกันว่า สมาธิมีมาก่อนพระพุทธศาสนา
เป็นเรื่องของฤาษีชีพราหมณ์ ไม่มีความจำเป็นสำหรับการเจริญวิปัสสนา

ทั้งที่พระสูตรก็ดี พระอภิธรรมปิฎกก็ดี
ท่านเน้นย้ำสั่งสอนเรื่องนี้เอาไว้มากมาย
องค์ฌานแต่ละองค์ แม้จะชื่อเดียวกับฌานนอกพระพุทธศาสนา
แต่พระพุทธเจ้าท่านก็สอนพลิกเข้ามาในองค์มรรค
เช่นวิตก คือสัมมาสังกัปปะ
ธรรมเอก คือจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ (พวกเราชอบเรียกกันว่าจิตผู้รู้)
สติ คือสัมมาสติ
สัมปชัญญะ คือสัมมาทิฏฐิ

**********************************

สามัญญผลสูตร ยังไม่จบนะครับ
จะเขียนรวดเดียวก็จะยาวเกินไป ลำบากแก่ผู้อ่าน
ผมจึงขอยกส่วนที่เกี่ยวกับการพลิกจิตที่เป็นสัมมาสมาธิไปเจริญวิปัสสนา
ไปกล่าวถึงในตอนต่อไปครับ
แต่สรุปแล้วก็คือ ผมอยากชวนพวกเราอ่านพระไตรปิฎกกันดู
แล้วจะพบอะไรหลายอย่าง ที่น่าศึกษาอีกมากทีเดียว

25
เขียนไว้เมื่อ 11 ต.ค. 2542 / 11:03:36 น.

นักวิชาการทางศาสนาบางท่านเปรียบเทียบพระไตรปิฎกกับวิทยาการปัจจุบัน
โดยเปรียบเทียบว่า พระวินัย คือวิชานิติศาสตร์
พระสูตร คือวิชาประวัติศาสตร์
และพระอภิธรรม คือวิชาวิทยาศาสตร์

การมองว่าพระสูตรเหมือนวิชาประวัติศาสตร์ก็มีเหตุผลพอประมาณ
เนื่องจากพระสูตรเป็นเสมือนบันทึกเหตุการณ์ในครั้งพุทธกาล
เล่าถึงเรื่องราวก่อนการตรัสรู้
จนถึงเรื่องราวและกิจกรรมตลอดพระชนม์ชีพของพระศาสดา
อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดเห็นคุณค่าของพระสูตรเพียงในด้านประวัติศาสตร์
ก็ย่อมเป็นการลดค่าของพระสูตรลงอย่างมหาศาล
เนื่องจากโดยแท้จริงแล้ว พระศาสดาทรงระบุไว้
ใน มหานิพพานสูตร  ทีฆนิกาย มหาวรรค
พระสุตตันตปิฎก พระไตรปิฎกเล่มที่ 10 ดังนี้

[๑๔๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกรอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า
ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว   พระศาสดาของพวกเราไม่มี
ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น
ธรรมและวินัย  อันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ
ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น  ศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา

แม้จะยกพระวัจจนะมากล่าวเช่นนี้แล้ว
บางท่านอาจจะโต้แย้งอีกว่า
พระธรรมและวินัย ที่เป็นศาสดาของพวกเราในปัจจุบัน
ตัวพระธรรมน่าจะหมายถึงพระอภิธรรมเป็นหลัก
คำกล่าวเช่นนี้เป็นการปฏิเสธความจริงที่ว่า
พระอภิธรรมปิฎก ปรากฏขึ้นสมบูรณ์ภายหลังพุทธกาลแล้ว
และมีหลักฐานยืนยันความสำคัญของพระสูตรที่ชัดเจนที่สุด
อันแสดงเจตนารมณ์ของพระศาสดาที่เห็นว่า
พระวินัยและพระสูตร คือตัวแทนพระศาสดาภายหลังปรินิพพานกาล
ดังปรากฏในมหาปรินิพพานสูตรนั้นเอง ดังนี้

[๑๑๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค
ประทับอยู่ตามความพอพระทัยในบ้านภัณฑคามแล้ว
ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า มาไปกันเถิดอานนท์
เรา จักไปยังบ้านหัตถีคาม อัมพคาม ชัมพุคาม และโภคนคร
ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงโภคนครแล้ว
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อานันทเจดีย์ ในโภคนครนั้น
ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง มหาประเทศ ๔ เหล่านี้
พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังต่อไปนี้

[๑๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
อาวุโสข้อนี้ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า
นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้
พวกเธอไม่พึงชื่นชมไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น
ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี
แล้วสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย
ถ้าสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย
ลงในพระสูตรไม่ได้ เทียบเคียงในพระวินัยไม่ได้
พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำของพระผู้มีพระภาคแน่นอน
และภิกษุนี้จำมาผิดแล้ว
ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย
ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย
ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้
พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน
และภิกษุนี้จำมาถูกต้องแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลายพวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่หนึ่งนี้ไว้ ฯ

[๑๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
สงฆ์พร้อมทั้งพระเถระ พร้อมทั้งปาโมกข์ อยู่ในอาวาสโน้น
ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า
นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้
..........................................................
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สองนี้ไว้ ฯ

[๑๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ภิกษุผู้เป็นเถระมากรูปอยู่ในอาวาสโน้น
เป็นพหูสูต มีอาคมอันมาถึงแล้ว เป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา
ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า
นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้
..........................................................
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สามนี้ไว้ ฯ

[๑๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ภิกษุผู้เป็นเถระอยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูต มีอาคมอันมาถึงแล้ว
เป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา
ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระนั้นว่า
นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้
..........................................................
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สี่นี้ไว้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศทั้ง ๔ เหล่านี้ไว้ ฉะนี้แล ฯ

กล่าวโดยสรุป มหาปรินิพพานสูตร นี้เองแสดงให้เราเห็นว่า
พระศาสดาทรงกำหนดให้ พระธรรมวินัย เป็นศาสดาของพวกเราแทนพระองค์
และเมื่อมีผู้ใดกล่าวอ้างถึงพระธรรมวินัยใด ว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
ท่านก็ให้พวกเราตรวจสอบด้วยพระวินัยและพระสูตร
เพราะเราไม่อาจทูลถามขอคำชี้ขาดจากพระศาสดาได้แล้ว
ดังนั้น จึงน่าจะไม่ผิดพลาดไปได้ หากจะกล่าวว่า
พระวินัย และพระสูตรนั้นเอง คือตัวแทนพระศาสดาของพวกเราทั้งหลาย
นี้คือฐานะที่สูงยิ่ง ของพระสูตร
คือสูงกว่าสถานะของวิชาประวัติศาสตร์ในพระพุทธศาสนา
อย่างที่ผู้คงแก่เรียนบางท่านเปรียบเทียบไว้

พระสูตรเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ด้วยพระองค์เองบ้าง
พระมหาสาวกร่วมสมัยพุทธกาล แสดงไว้บ้าง
เนื้อหาสาระไม่เพียงเป็นบันทึกประวัติพระศาสนา
แต่พระสูตรยังประกอบไปด้วยสารัตถธรรมอันบริบูรณ์ที่สุด
บางส่วนเช่นพระไตรปิฎกเล่มที่ 31 อันเป็นพระสูตรว่าด้วยปฏิสัมภิทามัคค์
เนื้อหาก็คือพระอภิธรรมล้วนๆ และเป็นพระอภิธรรมที่พอเหมาะพอควร
สำหรับการเรียนรู้อันเกื้อกูลต่อการปฏิบัติอย่างแท้จริง
นอกจากในปฏิสัมภิทามัคค์แล้ว
ก็ยังปรากฏธรรมอันมีลักษณะเป็นพระอภิธรรม
กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในพระสูตรจำนวนมาก

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่งของพระสูตรก็คือ
คำสอนว่าด้วยวิธีการปฏิบัติธรรม ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมควรทราบ
มีอยู่อย่างพร้อมมูลแล้วในพระสูตร
คือมีทั้งหลักการปฏิบัติ ไปจนถึงอุบายวิธีพลิกแพลงต่างๆ ในการปฏิบัติ

ในฐานะผู้สนใจการปฏิบัติ
ผมจะยังไม่เชิญชวนพวกเราอ่านพระสูตรเพื่อศึกษาพระอภิธรรม
แต่จะหยิบยกอัญมณีสูงค่าสำหรับผู้ปฏิบัติ จากพระสูตร
ออกมาให้พวกเราได้ชื่นชมกันเป็นตอนๆ ไปตามแต่โอกาสจะอำนวย

เพราะผู้สนใจการปฏิบัติจำนวนมากในยุคนี้
มักศึกษาแนวทางปฏิบัติธรรม
เพียงแค่จากคำสอนของครูบาอาจารย์ที่เราเคารพนับถือ
หรือจากตำรารุ่นหลังพุทธกาลนับพันปี
ซึ่งคำสอนหลายสิ่งหลายอย่างไม่ปรากฏในคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก
เช่นเรื่องโสฬสญาณ กรรมฐานสี่สิบ และวิถีจิต เป็นต้น
ศึกษาแล้วก็มาตั้งป้อมเถียงกันว่า การปฏิบัติที่แท้จริงต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้
ซึ่งแทนที่จะทำเช่นนั้น เราน่าจะลองศึกษาแนวทางปฏิบัติธรรมจากพระสูตร
อันเป็นคำสอนตรงจากพระศาสดา และเป็นตัวแทนของพระศาสดา
ที่พระศาสดาทรงกำหนดไว้ด้วยพระองค์เอง กันดูบ้าง

**********************************

ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ผมศึกษาปฏิบัติธรรมมาก็เพื่อความพ้นทุกข์ครับ
เมื่อศึกษาพระไตรปิฎกแล้ว ก็รู้สึกซาบซึ้งประทับใจ
อยากนำความร่มเย็นนั้นมาเล่าสู่กันฟังในหมู่ญาติมิตร
จึงอยากให้พวกเราทำใจให้ร่มเย็น เพื่อฟังธรรมอันร่มเย็น
ที่พระพุทธเจ้าท่านแสดงไว้ดีแล้ว
ถ้าเริ่มศึกษาด้วยความร้อน ก็จะไม่ได้รับความซาบซึ้งในธรรมเท่าที่ควรหรอกครับ

26
เขียนไว้เมื่อ วัน พุธ ที่ 31 พฤษภาคม 2543 14:36:42

ในทางโลก มีคีตกวีประพันธ์ จังหวะดนตรี
ในทางธรรม มีปราชญ์ผู้คิดค้น จังหวะแห่งธรรม

***********************************************

ครูบาอาจารย์ที่พวกเรารู้จักและเคารพนับถือ
ส่วนมากจะเป็นพระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ
ซึ่งหลักคำสอนของท่านจะเริ่มโดยให้บริกรรมพุทโธ
พอจิตสงบแล้วจึงเจริญกายคตาสติ
แล้วในขั้นสุดท้ายจึงข้ามภพข้ามชาติกันด้วยการพิจารณาจิต พิจารณาธรรม
(มีบ้างส่วนน้อย ที่ครูบาอาจารย์สายนี้บางองค์
ปรับวิธีการปฏิบัติแตกต่างจากแนวทางหลักนี้ไปบ้าง
เช่นหลวงปู่ดูลย์ จะสอนศิษย์บางท่านให้ข้ามการเจริญกายคตาสติไปเลย
หรือหลวงพ่อทูล ไม่นิยมให้ศิษย์บริกรรมพุทโธ เป็นต้น)

ที่จริงท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงพระป่าสายหลวงปู่มั่น
ยังมีท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในสายอื่นๆ อยู่อีก
เท่าที่ผมทราบแนวทางปฏิบัติของท่านก็เช่น
ท่าน ก.เขาสวนหลวง และหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ แห่งวัดสนามใน เป็นต้น

ผมเคยนำคำสอนของท่าน ก.เขาสวนหลวง มาแนะนำไว้ที่ลานธรรมแล้ว
คราวนี้จะขอนำวิธีปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน มาเล่าสู่กันฟังบ้าง
พวกเราบางท่านเคยศึกษามาแล้ว
ก็ถือว่าเป็นการทบทวนความรู้ก็แล้วกัน
เพราะหลายท่าน ยังไม่เคยศึกษาสิ่งนี้

************************************

หลวงพ่อเทียนนั้น แรกเริ่มที่ปฏิบัติ ท่านก็บริกรรมพุทโธเหมือนกัน
แต่ไม่ประสบความสำเร็จใดๆ เลย เพราะไม่ถูกจริตของท่าน
ต่อมาท่านประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม
ด้วยการเคลื่อนไหวกายอย่างเป็นจังหวะ
เพื่อสร้าง ความรู้สึกตัว
คือ "ให้รู้สึกตัว...ตื่นตัว รู้สึกใจ...ตื่นใจ"
จนกระทั่งเกิดญาน ปัญญาเป็นลำดับไปจนถึงที่สุด

โอกาสนี้ ผมขอยกธรรมคำสอนของท่านมาให้พวกเราศึกษากัน
แล้วจะพบเองครับว่า ธรรมของท่าน กับธรรมของเซ็น
ธรรมของสำนักเขาสวนหลวง และธรรมที่พวกเราปฏิบัติกันอยู่ ฯลฯ
มีแก่นสารลงกันได้เป็นเนื้อเดียว ด้วยการเจริญสติ

*************************************

ธรรมของหลวงพ่อเทียน เรื่อง "การทำความรู้สึกตัว "

สติ หมายถึง ความระลึกได้ ไม่ใช่ระลึกชาติแล้วชาติก่อนนะ
ระลึกได้เพราะการเคลื่อน การไหว การนึก การคิดนี่เอง
จึงว่า สติ-ความระลึกได้ สัมปชัญญะ-ความรู้ตัว

บัดนี้เราไม่ต้องพูดอย่างนั้น เพราะคนไทยไม่ได้(พูด)ว่า สติ "ให้รู้สึกตัว"
นี่! หลวงพ่อพูดอย่างนี้ ให้รู้สึกตัว
การเคลื่อน การไหว กระพริบตาก็รู้ หายใจก็รู้
นี่ จิตใจมันนึกคิดก็รู้
อันนี้เรียกว่า ให้มีสติก็ได้ หรือว่า ให้รู้สึกตัวก็ได้

ความรู้สึกตัวนั้น จึงมีค่ามีคุณมาก เอาเงินซื้อไม่ได้
ให้คนอื่นรู้แทนเราไม่ได้

เช่น หลวงพ่อกำ(มือ)อยู่นี่
คนอื่นมองเห็นว่า ความรู้สึก(ของ)หลวงพ่อเป็นอย่างไร?
รู้ไหม? ไม่รู้เลย
แต่คนอื่นมองเห็นว่า หลวงพ่อกำมือ
แต่ความรู้สึก(ที่)มือหลวงพ่อสัมผัสกันเข้านี่ คนอื่นไม่รู้ด้วย
คนอื่นทำ หลวงพ่อก็เห็น แต่หลวงพ่อรู้นำ(ด้วย)ไม่ได้

นี้แหละใบไม้กำมือเดียว
คือ ให้รู้การเคลื่อนไหวของรูปกายภายนอก
และให้รู้การเคลื่อนไหวของจิตใจ มันนึกคิด


การสร้างจังหวะ

การเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญานั้น
ต้องมี "วิธีการ" ที่จะนำตัวเรา ไปสู่ตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญา ได้
การทำทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีวิธีการ จึงจะเข้าถึงจุดหมายปลายทางได้
ดังนั้นการมาที่นี่ต้องพยายาม
ไม่ต้องนั่งนิ่งๆ สอนกันแนะนำกัน ให้มีวิธีทำ
โดย เคลื่อนไหวอยู่เสมอ ทำเป็นจังหวะ


วิธีทำนั้น ก็ต้องนั่ง แต่ไม่ต้องหลับตา อันนี้มีวิธีทำ
นั่งพับเพียบก็ได้ นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งเก้าอี้ก็ได้
นอนก็ได้  ยืนก็ได้ ทำความรู้สึกตัว...

การเจริญสตินั้น ท่านว่าให้ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ก็ทำความรู้สึกนี่เอง
เมื่อพูดถึงความรู้สึกแล้ว ก็พูดวิธีปฏิบัติ พร้อมๆกันไป
ทุกคนทำตามอาตมาก็ได้

เอามือวางไว้ที่ขาทั้งสองข้าง...คว่ำไว้
พลิกมือขวาตะแคงขึ้น...ทำช้าๆ...ให้รู้สึก
ยกมือขวาขึ้นครึ่งตัว...ให้รู้สึก...มันหยุดก็ให้รู้สึก
เอามือขวามาที่สะดือ...ให้รู้สึก
พลิกมือซ้ายตะแคงขึ้น...ให้รู้สึก
ยกมือซ้ายขึ้นครึ่งตัว...ให้มีความรู้สึก
เอามือซ้ายมาที่สะดือ...ให้รู้สึก
เลื่อนมือขวาขึ้นที่หน้าอก....ให้รู้สึก
เอามือขวาออกตรงข้าง...ให้รู้สึก
ลดมือขวาลงที่ขาขวา ตะแคงไว้...ให้รู้สึก
คว่ำมือขวาลงที่ขาขวา ให้มีความรู้สึกตัว
เลื่อนมือซ้ายขึ้นที่หน้าอก...ให้มีความรู้สึก
เอามือซ้ายออกมาตรงข้าง...ให้มีความรู้สึก
ลดมือซ้ายออกที่ขาซ้าย ตะแคงไว้...ให้มีความรู้สึก
คว่ำมือซ้ายลงที่ขาซ้าย...ให้รู้สึก
ทำต่อไปเรื่อยๆ...ให้รู้สึก

อันนี้เป็นวิธีปฏิบัติ เป็นการเจริญสติ
เราไม่ต้องไปศึกษาเล่าเรียนในพระไตรปิฎกก็ได้
การไปศึกษาเล่าเรียนในพระไตรปิฎกนั้น มันเป็นพิธี คำพูดเท่านั้น
มันไม่ใช่เป็นการปฏิบัติเพื่อความเห็นแจ้ง
การปฏิบัติเพื่อความเห็นแจ้ง ทำอย่างนี้แหละ

การเดินจงกรม

เดินจงกรม ก็หมายถึง เปลี่ยนอิริยาบถนั่นเอง
ให้เข้าใจว่า เดินจงกรมเพื่ออะไร? (เพื่อ)เปลี่ยนอิริยาบถ
คือนั่งนานมันเจ็บแข้งเจ็บขา
บัดนี้ เดินหลาย (เดินมาก) มันก็เมื่อยหลังเมื่อยเอว นั่งด้านหนึ่ง
เขาเรียกว่า เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนให้เท่าๆกัน
นั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง อิริยาบถทั้ง 4 ให้เท่าๆกัน
แบ่งเท่ากัน หรือไม่แบ่งเท่ากันก็ได้
เพราะว่าเราไม่มีนาฬิกานี่ น้อยมากอะไร ก็พอดีพอควร
เดินเหนื่อยแล้ว ก็ไปนั่งก็ได้ นั่งเหนื่อยแล้ว ลุกเดินก็ได้

เวลาเดินจงกรม ไม่ให้แกว่งแขนเอามือกอดหน้าอกไว้
หรือเอามือไขว้ไว้ข้างหลังก็ได้
เดินไปเดินมา ก้าวเท้าไปก้าวเท้ามา
ทำความรู้สึก แต่ไม่ได้พูดว่า "ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ"
ไม่ต้องพูด เพียงเอาความรู้สึกเท่านั้น


เดินจงกรม ก็อย่าไปเดินไวเกินไป อย่าไปเดินช้าเกินไป เดินให้พอดี
เดินไปก็ให้รู้... นี่เป็นวิธีเดินจงกรม
ไม่ใช่ว่าเดินจงกรม เดินทั้งวันไม่รู้สึกตัวเลย
อันนั้นก็เต็มทีแล้ว เดินไปจน ตาย
มันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เดินอย่างนั้น

เดินก้าวไป ก้าวมา "รู้" นี่ (เรียก)ว่า เดินจงกรม

การเจริญสติในชีวิตประจำวัน

การเจริญสตินี้ ต้องทำมากๆ ทำบ่อยๆ
นั่งทำก็ได้ นอนทำก็ได้ ขึ้นรถลงเรือ ทำได้ทั้งนั้น
เวลาเรานั่งรถเมล์นั่งรถยนต์ก็ตาม
เราเอามือวางไว้บนขา พลิกขึ้น-คว่ำลงก็ได้
หรือเราไม่อยากพลิกขึ้น- คว่ำลง
เราเพียงเอามือสัมผัสนิ้วอย่างนี้ก็ได้
สัมผัสอย่างนี้ ให้มีความตื่นตัว ทำช้าๆ
หรือจะกำมือ-เหยียด มืออย่างนี้ก็ได้

ไปไหนมาไหน ทำเล่นๆไป ทำเพื่อความสนุก นี่อย่างนี้
ทำมือเดียว อย่าทำพร้อมกันสองมือสามมือ
ทำมือขวา มือซ้ายไม่ต้องทำ
ทำมือซ้ายมือขวาไม่ต้องทำ
"ไม่มีเวลาที่จะทำ" บางคนว่า
"ทำไม่ได้ มีกิเลส" เข้าใจอย่างนั้น
อันนี้ถ้าเราตั้งใจแล้ว ต้องมีเวลา
มีเวลาเพราะเราหายใจได้
เราทำการทำงานอะไร ให้มีความรู้สึกตัว
" เช่น เราเป็นครูสอนหนังสือ เวลาเราจับดินสอเอามาเขียนหนังสือ...
เรามีความรู้สึกตัว เขียนตัวหนังสือไปแล้ว... เราก็รู้
 
อันนี้เป็นการเจริญสติแบบธรรมดาๆ ศึกษาธรรมะกับธรรมชาติ
เวลาเราทานอาหาร
เราเอาช้อนเราไปตักเอาข้าวเข้ามาในปากเรา...เรามีความรู้สึกตัว
ในขณะที่เราเคี้ยวข้าว...เรามีความรู้สึกตัว
กลืนข้าวเข้าไปในท้องไปในลำคอ...เรามีความรู้สึกตัว
อันนี้เป็นการเจริญสติ


ทำให้ติดต่อกันเหมือนลูกโซ่

ที่อาตมาพูดนี้ อาตมารับรองคำสอนของพระพุทธเจ้า
และรับรองวิธีที่อาตมาพูดนี้ รับรองจริงๆ
ถ้าพวกท่านทำจริงๆแล้ว ทำให้มันติดต่อกันเหมือนลูกโซ่
หรือเหมือนนาฬิกาที่มันหมุนอยู่ตลอดเวลา
 แต่ไม่ใช่ว่าทำอย่างนี้ ให้มันเหมือนลูกโซ่ หมุนอยู่เหมือนกับนาฬิกานี่
ไม่ให้ไปทำการทำงานอื่นใดทั้งหมด
ให้ทำความรู้สึก ทำจังหวะ เดินจงกรม
อยู่อย่างนี้ตลอดเวลาหรือ - ไม่ใช่อย่างนั้น

คำว่า "ให้ทำอยู่ตลอดเวลา" นั้น
(คือ) เราทำความรู้สึก ซักผ้าซักเสื้อ ถูบ้านกวาดบ้าน ล้าง ถ้วยล้างจาน
เขียนหนังสือ หรือซื้อขายก็ได้
เพียงเรามีความรู้สึกเท่านั้น
แต่ความรู้สึกอันนี้แหละ มันจะสะสมเอาไว้ทีละเล็กทีละน้อย
เหมือนกับเราที่มีขันหรือมีโอ่งน้ำ
หรือมีอะไรก็ตามที่มันดี ที่รองรับมันดี
ฝนตกลงมา  ตกทีละนิดทีละนิด เม็ดฝนน้อยๆตกลงนานๆ
แต่มันเก็บได้ดี น้ำก็เลยเต็มโอ่งเต็มขันขึ้นมา

อันนี้ก็เหมือนกัน เราทำความรู้สึก
ยกเท้าไป ยกเท้ามา ยกมือไป ยกมือมา
เรานอนกำมือ เหยียดมือ ทำอยู่ อย่างนั้น
หลับแล้วก็แล้วไป เมื่อนอนตื่นขึ้นมา เราก็ทำไป หลับแล้วก็แล้วไป
ท่านสอนอย่างนี้ เรียกว่าทำบ่อยๆ อันนี้เรียกว่า  เป็นการเจริญสติ


สรุปวิธีปฏิบัติ

ถ้าทำจังหวะให้ติดต่อกันเหมือนลูกโซ่ มีความรู้สึกอยู่ทุกขณะ
ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อน ไหว อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนั้น
 แต่เรามาทำเป็นจังหวะ พลิกมือขึ้น คว่ำมือลง
ยกมือไป เอามือมา ก้ม เงย เอียงซ้าย เอียงขวา กระพริบตา อ้า ปาก
หายใจเข้า หายใจออก รู้สึกอยู่ทุกขณะ
จิตใจมันนึกมันคิด รู้สึกอยู่ทุกขณะ

อันนี้แหละวิธีปฏิบัติ
คือให้รู้ตัว ไม่ให้นั่งนิ่งๆ ไม่ให้นั่งสงบ คือให้มันรู้

รับรองว่าถ้าทำจริง ในระยะ 3 ปี อย่างนาน
ทำให้ติดต่อกันจริงๆนะ อย่างกลาง 1 ปี
อย่างเร็วที่ สุดนับแต่ 1 ถึง 90 วัน
อานิสงส์ไม่ต้องพูดถึงเลย
ความทุกข์จะลดน้อยไปจริงๆ ทุกข์จะไม่มารบกวนเรา

*******************************

ผมขอเสริมคำสอนของหลวงพ่อสักเล็กน้อยครับ

ประการแรก หัวใจของการปฏิบัติตามแนวทางของท่าน
คือการเจริญสติ ระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของกาย
จะเคลื่อนแบบทำจังหวะก็ได้
จะรู้อยู่ในชีวิตประจำวันก็ได้
รวมตลอดไปถึงการรู้ความรู้สึกนึกคิดด้วย

ประการที่ 2 ท่านให้รู้ความเคลื่อนไหว โดยไม่ต้องใช้ความคิดกำกับลงไป
เช่นจะเดินก็ไม่ต้องกำหนดคิดว่า ยกหนอ ย่างหนอ

ประการที่ 3 ท่านเน้นเรื่องความต่อเนื่อง
ถ้าทำต่อเนื่องก็ได้ผล ทำไม่ต่อเนื่องก็ไม่ได้ผล

ประการที่ 4 ท่านไม่เน้นเรื่องการทำความสงบ
ซึ่งจุดนี้มีข้อถกเถียงกันได้มากเหมือนกันครับ
เพราะผู้ทำความสงบก่อน แล้วเจริญสติได้ผล ก็มี
ที่เจริญสติไปเลย แล้วเกิดความสงบทีหลัง ก็มี
อันนี้คงต้องสังเกตตนเองเอาเอง
ว่าทำอย่างใดแล้วสติสัมปชัญญะดีขึ้น ก็เอาอย่างนั้นแหละ

ประเด็นสุดท้าย อันนี้ไม่ได้เสริมคำสอนของหลวงพ่อ
แต่เป็นข้อสังเกตว่า คำสอนเรื่องความรู้ตัว เป็นสิ่งที่เข้าใจยากมาก
ลูกศิษย์หลวงพ่อจำนวนมาก ก็เหมือนลูกศิษย์สำนักอื่นๆ กระทั่งสายวัดป่า
คือไปกำหนดรู้อารมณ์ในขณะที่จิตกำลังหลง กำลังเคลื่อน กำลังฝัน
แต่หลงคิดว่า กำลังรู้ตัวอยู่
แม้จะขยับมือตามจังหวะ ก็หลงอยู่กับความคิดเรื่องการเคลื่อนไหวมือบ้าง
หรือจิตเคลื่อนเข้าไปเพ่ง/แช่ อยู่กับมือบ้าง
ปัญหาเกี่ยวกับการทำความรู้จักกับ ความรู้ตัว
จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับนักปฏิบัติทั้งหลาย

หากผู้ปฏิบัติมีความรู้ตัวขึ้นเมื่อใด
รูป เวทนา สัญญา และสังขาร จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้
และไม่ใช่ตัวเราในทันทีนั้น
และในระหว่างที่รู้ตัวอยู่นั้น
ก็จะเห็นความเจริญและความเสื่อมของจิตอยู่เสมอ

เป็นการป้อนข้อมูลที่เป็นจริงให้จิตได้เรียนรู้
สวนทางกับความหลงผิดเก่าๆ ของจิต
ที่เห็นว่าขันธ์ 5 เป็นเรา เราเป็นขันธ์ 5

เมื่อจิตได้เห็นความจริงมากเข้าๆ จนยอมจำนนต่อข้อเท็จจริงแล้ว
จิตจึงจะยอมรับความจริงว่า
สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็ดับไป
และไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ที่จะเป็นตัวเรา ของเรา อย่างแท้จริง


ปราศจากความรู้ตัว ผู้ปฏิบัติจะเข้ามาถึงจุดที่ว่านี้ไม่ได้เลย

27
เขียนไว้เมื่อ วัน พุธ ที่ 12 เมษายน 2543 11:21:57

ผมสังเกตเห็นอย่างหนึ่งว่า
พวกเรามักกล่าวถึง กิเลส และนิวรณ์กันบ่อยครั้ง
แต่ไม่ค่อยได้กล่าวถึง อาสวกิเลส กันมากนัก
แทบไม่เคยเห็นกล่าวถึงกันทีเดียว

แท้ที่จริง อาสวกิเลส เป็นเรื่องสำคัญมาก
ถ้าสังเกตธรรมในพระไตรปิฎก จะเห็นได้ชัดเจนว่า
เมื่อท่านกล่าวถึงความหลุดพ้น ท่านมักจะกล่าวว่า หลุดพ้นจากอาสวกิเลส
ไม่กล่าวว่า หลุดพ้นจากกิเลส หรือนิวรณ์

อันที่จริง กิเลส นิวรณ์ และอาสวกิเลส ต่างก็เป็นกิเลสด้วยกัน
แต่มีความหยาบและความละเอียดแตกต่างกัน
กิเลส คือราคะ โทสะ และโมหะนั้น เป็นของหยาบๆ
มันพลุ่งๆ วูบวาบขึ้นมาครอบงำจิต
ในลักษณะเป็นสิ่งแปลกปลอมเข้ามาเป็นครั้งคราว
ส่วนนิวรณ์ มักจะแทรกเข้ามานิ่มๆ ตามหลังความคิดเข้ามา

นักปฏิบัติด้วยการดูจิต หรือเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
สามารถรู้เห็นกิเลสได้ไม่ยากเลย
แม้แต่ผู้หัดดูจิตวันแรก ก็มักมองเห็นได้แล้ว
โดยเฉพาะโทสะนั้น เป็นอารมณ์ที่รุนแรง สังเกตง่ายที่สุด
ราคะมีความประณีตกว่าโทสะ แต่ก็ยังเป็นสิ่งแปลกปลอมที่มองเห็นง่าย
ส่วนโมหะ เป็นความหมอง ความมัวของจิต
เหมือนม่านควันที่ซึมซ่านเข้ามาทำให้จิตเสื่อมคุณภาพในการ "รู้ตามความเป็นจริง"
ตัวนี้สังเกตยากขึ้นไปอีก หน่อย

สำหรับ "นิวรณ์" มีความละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไปอีก
เพราะมันซึมซ่านนิ่มๆ ตามหลังความคิดเข้าครอบงำจิตได้ง่ายๆ โดยไม่ทันระวังตัว
บางคราวถ้าไม่ชำนาญ จะดูไม่ออกเสียด้วยซ้ำไปว่ามันเป็นนิวรณ์

ส่วนอาสวกิเลสนั้น ดูยากกว่านิวรณ์มากนัก
ในชั้นแรกนี้ ลองมาดูความหมายในทางปริยัติกันก่อน
พจนานุกรมของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก
ท่านอธิบายความหมายของอาสวกิเลสไว้ดังนี้

อาสวะ กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน
ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ 
มี 3 อย่างคือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ

กามาสวะ อาสวะคือกาม
กิเลสดองอยู่ในสันดาน ที่ทำให้เกิดความใคร่

ภวาสวะ อาสวะคือภพ
กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน
ทำให้อยากเป็น อยากเกิด อยากมีอยู่คงอยู่ตลอดไป

อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา
กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ทำให้ไม่รู้ตามความเป็นจริง


***********************************

คราวนี้เราลองหันมาพิจารณา
ถึงสภาวะของอาสวกิเลสในมุมมองของนักปฏิบัติบ้าง

อาสวกิเลสไม่ได้พลุ่งขึ้นมาเหมือนกิเลสหยาบ
ไม่ได้ซึมซ่านเข้ามาเหมือนนิวรณ์อันเป็นกิเลสชั้นกลาง
แต่เป็นกิเลสละเอียด ที่จิตจมแช่อยู่มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
โดยจมแช่อยู่ อย่างไม่รู้ตัวว่ากำลังจมแช่อยู่
ถ้าเปรียบเทียบให้เป็นรูปธรรมหยาบๆ
ก็คล้ายกับร่างกายนี้ จมแช่อยู่ในอากาศ
เราแช่ในอากาศมาตั้งแต่เกิด จนลืม จนไม่เคยนึกถึง
ถ้าไม่ลงไปแช่ในของหยาบยิ่งกว่านั้น เช่นแช่น้ำ
เราจะรู้สึกเหมือนร่างกายนี้เป็นอิสระ ไม่ได้จมแช่อยู่ในอะไรเลย
ทั้งที่ความจริง กายนี้จมแช่อยู่ในอากาศมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

จิตเองก็จมแช่หมักดองอยู่ในอาสวกิเลสโดยไม่รู้ตัว
แต่อาสวกิเลสที่จิตจมแช่อยู่นั้น มีถึง 3 ระดับ หรือ 3 ชนิด
สิ่งแรกคือกาม ถัดไปคือภพและอวิชชา

จิตของสรรพสัตว์ที่ยังไม่บรรลุพระอนาคามี ล้วนยังจมแช่อยู่ในกามทั้งสิ้น
ถ้าทำใจให้สบาย มีสติปัญญาระลีกรู้ไปในกาย
จะเห็นว่าจิตจมแช่อยู่ในกาม ซึมซ่านไปทั่วกายตลอดทุกขุมขน
ยินดีพอใจในผัสสะทางกายที่เป็นสุข
ระแวดระวัง เกลียดกลัวผัสสะทางกายที่เป็นทุกข์
ไม่ผิดอะไรกับสาวงามที่อาบน้ำใหม่ๆ ทาแป้งและของหอมเรียบร้อย
มีความอิ่มเอิบพอใจอยู่ทุกขุมขน
และเกลียดกลัวสิ่งสกปรกแม้เพียงเล็กน้อยที่จะมากระทบกาย

เครื่องดองชั้นหยาบนี้จะถูกทำลายไปเมื่อจิตบรรลุพระอนาคามี
เพราะจิตมีปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในกาย
เห็นแต่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอสุภะของกาย
จึงหมดยางใยที่จะยึดถือในความสุขและความทุกข์ทางกายลงอย่างเด็ดขาด

สำหรับภวาสวกิเลสนั้น พวกเราบางคนก็อาจจะเคยเห็นร่องรอยบ้าง
คือเมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ มีธรรมเอกหรือจิตผู้รู้
เห็นอารมณ์เกิดดับหมุนเวียนไปเรื่อยๆ คือผ่านภพน้อยภพใหญ่นับไม่ถ้วน
ในที่สุดเมื่อจิตวางอารมณ์หยาบทั้งหมด มาหยุดรู้อยู่ที่จิตผู้รู้
ก็ยังเห็นอีกว่า จิตผู้รู้ที่กำลังรู้อยู่นั้น เอาเข้าจริงก็ยังเป็นภพอีกอันหนึ่ง
จิตจมแช่อยู่ในภพ โดยไม่เคยเห็นเลยว่า กระทั่งจิตที่ดูสะอาดหมดจดสุดขีดแล้วนั้น
เอาเข้าจริงก็ยังหลงอยู่ในภพอันหนึ่ง ที่ดูสะอาดหมดจดสุดขีดนั้น

ผมเองเมื่อเจริญสติสัมปชัญญะ และเห็นจิตผู้รู้
จะรู้ชัดว่าจิตยังข้องอยู่ในภพ ยังผูกพันอยู่ในภพ
เหมือนคนที่ถูกขังอยู่ในห้องขังที่ฝาและเพดานเป็นกระจกใส
หรือเป็นแสงที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
ดูผิวเผินเหมือนกับคนที่เป็นอิสระ ไม่ได้ถูกกักขัง
แต่เอาเข้าจริงแล้ว จิตไม่ได้เป็นอิสระจริง
ผู้ที่เคยเข้าถึงความหลุดพ้นชั่วขณะ จะเห็นจิตที่จมแช่ภวาสวกิเลสได้ชัดเจน
เพราะสามารถเทียบกับสภาวะที่จิตเป็นอิสระ หลุดพ้นจากภพ ได้อย่างชัดเจน

สำหรับอวิชชาสวกิเลสนั้น โยงใยอยู่กับภวาสวกิเลส
คือที่จิตยังติดข้องอยู่ในภพ หรือจมแช่อยู่ด้วยภวาสวกิเลสนั้น
ก็เพราะจิตยังถูกย้อมด้วยอวิชชา และปราศจากวิชชา
คือยังมองไม่เห็น ทุกข์
มองไม่ออกว่า จิตผู้รู้ ก็คือก้อนทุกข์อันหนึ่ง ยังข้องอยู่ในภพอันหนึ่ง
ยังเป็นทุกข์ ยังแปรปรวน ยังไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง
หรือแม้ว่าจะพอรู้สึกบ้างว่า จิตผู้รู้เป็นจิตในภพอันหนึ่ง เป็นทุกข์อันหนึ่ง
ก็ยังมองไม่เห็นว่า สมุทัย ที่ทำให้ภพของจิตผู้รู้เกิดขึ้นนั้น อยู่ตรงไหน
คือมองไม่เห็นว่า เจตนา ที่จะประคองรักษาจิต
ทำให้มโนวิญญาณหยั่งลง และสร้างภพของผู้รู้ขึ้นมา

ครั้นจะ เจตนาที่จะไม่มีเจตนา มันก็ยังเป็นเจตนาอยู่อีก
จึงจนปัญญา จมแช่อยู่กับความไม่รู้ว่าจะรอดจากความทุกข์ได้อย่างไร

***********************************

หนทางที่จะทำลายอาวสวกิเลสนั้น พระศาสดาทรงแสดงไว้ชัดเจน
วิธีที่มาตรฐานที่สุด ได้แก่การใช้จิตที่มีคุณภาพ คือมีสติสัมปชัญญะบริสุทธิ์แล้ว
น้อมไปเจริญปัญญาจนรู้แจ้งอริยสัจจ์ และรู้แจ้งอาสวกิเลส
ซึ่งพระองค์เองทรงใช้วิธีทำจิตจนถึงฌานที่ 4
แล้วน้อมจิตไปเจริญปัญญา ดังนี้

 เรา(พระศาสดา)ก็เหมือนอย่างนั้นแล พราหมณ์
เมื่อประชาชนผู้ตกอยู่ในอวิชชา เกิดในฟอง  อันกะเปาะฟองหุ้มห่อไว้
ผู้เดียวเท่านั้นในโลก ได้ทำลายกะเปาะฟอง คือ อวิชชา
แล้วได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม
เรานั้นเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุดของโลก
เพราะความเพียรของเราที่ปรารภแล้วแล ไม่ย่อหย่อน
สติดำรงมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายสงบ ไม่กระสับกระส่าย
จิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง.
                           
      เรานั้นแล สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรม
ได้บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่วิเวกอยู่.
      เราได้บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน
เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร
เพราะวิตก วิจาร สงบไป มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่สมาธิอยู่.
      เรามีอุเบกขาอยู่ มีสติ มีสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
ได้บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า
เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสุขอยู่ ดังนี้ อยู่.
      เราได้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข
เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัส ก่อนๆ
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.

เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว
ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ
เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์
ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์
ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์
ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ
ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ
ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ
ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ
เมื่อเรานั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้
จิตได้หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ
ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากภวาสวะ
ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากอวิชชาสวะ
 เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ได้มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
ได้รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งว่า ชาติสิ้นแล้ว  พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
พราหมณ์ วิชชาที่สามนี้แล เราได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี
อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว
ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว
เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลสส่งจิตไปแล้วอยู่ ฉะนั้น
ความชำแรกออก..ของเรานี้แล
ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกะเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น.

 
ธรรมตรงนี้ท่านแสดงไว้อย่างชัดเจนถึง กะเปาะฟองที่ห่อหุ้ม(จิต)
สิ่งนี้ก็คือห้องขังที่มองไม่เห็น ที่ขังให้จิตติดข้องอยู่ในอาสวกิเลส
และทรงกล่าวถึงการชำแรกออก หรือทำลายออกจากกะเปาะนั้น
เพราะมีปัญญาเห็นแจ้งอริยสัจจ์ และเห็นแจ้งอาวสกิเลส
ฟังผิวเผินเหมือนเป็นถ้อยคำเปรียบเทียบของพระองค์
แต่ผู้ปฏิบัติที่พบเห็นสภาวะ ภพของจิตผู้รู้
อ่านตรงนี้แล้วจะสะดุ้งใจ เพราะจะรู้สึกว่า
พระองค์รับสั่งถึงสภาวะอันหนึ่งอย่างตรงไปตรงมาที่สุด
เพราะเห็นชัดว่า จิตถูกขัง ถูกแช่จม อยู่ในขอบเขตอันหนึ่งจริงๆ

ผมมีเรื่องอยู่เรื่องหนึ่ง ที่จะเล่าให้พวกเราฟังกันเป็นการภายใน ดังนี้
เมื่อประมาณปี 2525 - 2526 ผมได้ไปกราบหลวงพ่อพุธ ที่วัดป่าสาลวัน
ท่านได้ถามถึงธรรมที่หลวงปู่ดูลย์สอนผม อันเป็นเรื่องการทำลายผู้รู้
แล้วท่านก็กล่าวว่า หลวงปู่ดูลย์ก็สอนท่านอย่างเดียวกันนี้
จากนั้นท่านก็เมตตา ให้โอกาสแก่ผมด้วยกุสโลบาย
คือตามธรรมเนียมของผู้ปฏิบัติแล้ว
จะไม่ก้าวก่ายเข้าไปสอนศิษย์ของท่านผู้อาวุโสกว่า
หลวงพ่อจึงไม่บอกว่า จะสอนธรรมให้แก่ผม
แต่กลับบอกว่า "คุณกับอาตมามาทำกติกาตกลงกันไว้
ใครทำลายผู้รู้ได้ก่อน ให้มาบอกวิธีแก่กัน"

เมื่อประมาณปี  2541 - 2542 ผมมีโอกาสพบท่านอีกครั้งหนึ่ง
เข้าไปกราบท่าน รายงานตัวฟื้นความหลังให้ว่าผมเป็นใคร
ท่านก็บอกว่า ท่านจำได้
ผมก็กราบเรียนท่านว่า จนป่านนี้ผมยังทำลายจิตผู้รู้ไม่ได้เลย
ขออุบายวิธีปฏิบัติจากหลวงพ่อ เพื่อทำลายผู้รู้ด้วยเถิด
หลวงพ่อตอบว่า จิตผู้รู้ก็เหมือนฟองใข่
เมื่อจิตมีปัญญาแก่รอบแล้ว จิตจะทำลายสิ่งห่อหุ้มนั้นออกมาเอง
เหมือนลูกไก่ที่โตได้ที่แล้ว เจาะทำลายเปลือกไข่ออกมาเอง

28
จากกระทู้ รู้อย่างไรจึงจะบั่นทอนทุกข์ลงได้ โดย อ.สุรวัฒน์ ตั้งถามคุณสันตินันท์
เมื่อ วัน พฤหัสบดี ที่ 29 มิถุนายน 2543 16:20:10


นับแต่ที่ผมได้ไปพบกับครูที่ศาลาลุงชิน ซึ่งก็เหมือนกับทุกท่านที่ครูต้องคอยบอกให้ รู้ตัวไว้Ž
อะไรเกิดก็รู้ให้ทันŽ ...และอีกมากมายหลายคำครู ที่ล้วนแต่ให้ รู้Ž ทั้งสิ้น
ครูยังบอกอีกว่า ถ้ารู้เป็นแล้ว มันไม่ทุกข์หรอกŽ ผมก็เลยต้องคอยทำตัวให้ รู้ เข้าไว้  อาบน้ำก็ฝึกรู้
ดูโทรทัศน์ก็ฝึกรู้ กินข้าวก็ฝึกรู้ ...นึกขึ้นได้ตอนไหนก็ฝึกรู้  วันๆก็ฝึกรู้ไปเรื่อยๆ
จนเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ได้มีโอกาสเจอครู ครูบอกว่า รู้ตัวเป็นแล้ว ให้เจริญสติปัฏฐานต่อไปŽ

อีกหนึ่งเดือนต่อมา นับว่าเป็นช่วงหนึ่งเดือนที่สับสนทีเดียว เพราะถูกความโง่เล่นงานเอา ที่ว่าโง่นั้นก็คือ
เกิดความสับสนระหว่าง รู้ตัวŽ กับ รู้Ž แถมยังเข้าใจผิดคิดไปว่าเป็นอย่างเดียวกัน ก็เลยล้มไม่เป็นท่า
ผลที่ปรากฏก็คือ ความทุกข์มากมายหลายหน้าตา พากันแวะเวียนมาปรากฏ วันแล้ววันเล่า แต่ก็ไม่เฉลียวใจ
แต่ยังดีที่พอจะมีความ รู้ตัวŽ อยู่บ้าง...(หมายถึง เป็นทุกข์อย่างรู้ตัวได้บ้างครับ แต่ไม่ทั้งหมด)

จนเมื่อสองวันมานี้ ได้เกิดเฉลียวใจขึ้นมาว่า เรายัง รู้ไม่เป็นŽ  หาก รู้เป็นŽ แล้วต้องเห็นว่า มี รู้Ž กับ สิ่งที่ถูกรู้Ž
ส่วนเรานั้นเพิ่งจะ รู้ตัวได้บ้างŽ แต่ยังรู้ไม่เป็นŽ เพราะรู้ตัวอยู่ว่าเป็นทุกข์ แต่ไม่รู้ว่าทุกข์เป็นสิ่งที่ถูกรู้ 
รู้ตัวอยู่ว่ามีความโลภ มีความโกรธ แต่ไม่รู้ว่า ความโลภ ความโกรธเป็นสิ่งที่ถูกรู้
พอเฉลียวใจได้ก็ถึงบางอ้อว่า จะฝึก รู้ตัวŽ เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องฝึก รู้ให้เป็นŽ ด้วย จึงได้เริ่มฝึึกต่อไป
เพียงเท่านั้นเองครับ ความทุกข์กายทุกข์ใจ ก็ถูกบั่นทอนให้อ่อนกำลังลงในทันทีที่รู้ว่า ความทุกข์เป็นสิ่งที่ถูกรู้

จึงขอส่งกระทู้นี้มา เพื่อให้ครูกรุณาให้ความเห็นด้วยครับ เพื่อจะได้นำคำแนะนำของครูมาปฏิบัติต่อไปครับ
กราบขอบพระคุณครูมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

โดยคุณ สุรวัฒน์

29
เขียนไว้เมื่อ วัน ศุกร์ ที่ 14 กรกฎาคม 2543 11:35:56

กามนั้นจำแนกเป็นสองส่วนคือ วัตถุกาม กับกิเลสกาม
วัตถุกามได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่
และแม้จะไม่เจอของจริง หรือวัตถุจริงๆ
แต่บางทีจิตก็เข้าไปตั้งยึดอยู่ในกามสัญญา
เช่นมโนภาพเกี่ยวกับสาวงาม เป็นต้น
ส่วนกิเลสกาม หรือกามราคะ เป็นความกำเริบของจิต
ที่เข้าไปรักใคร่ ผูกพันกับวัตถุกาม

นักปฏิบัติเมื่อผจญการคุกคามของกิเลสกาม
ก็มีอุบายหลายอย่างที่จะต่อสู้เอาตัวรอด
เช่นพิจารณาวัตถุกามให้เห็นเป็นของไม่สวยงาม
บางทีก็เพ่งที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เบี่ยงเบนความสนใจเสีย
เช่นเพ่งลมหายใจ เพ่งพุทโธ
บ้างก็พยายามดูจิต โดยหวังให้พ้นจากการคุกคามของกิเลสกาม

แต่หลายคราวคงพบว่า ไม่ว่าจะทำอย่างไร
จิตก็ยังถูกกิเลสกามครอบงำอยู่นั่นแหละ
วันนี้จึงมีอุบายง่ายๆ มาแนะนำกันอีกอย่างหนึ่ง
พอเป็นเครื่องเล่นของนักปฏิบัติ

คือเวลาที่จิตถูกกิเลสกามครอบงำ จนไม่มีกำลังจะดูจิตได้จริง
ยิ่งพยายามดิ้นรน อยากจะให้จิตพ้นการครอบงำของกิเลส ก็ยิ่งทุกข์มากยิ่งขึ้น
ก็ให้ลองเปลี่ยนอารมณ์ ไปรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเสียก่อน
เช่นหันไปมองสาวสวยหรือหนุ่มหล่อที่ชอบใจให้เต็มตาเสียเลย
แล้วจับความรู้สึก/ความรับรู้แรก ที่เห็นรูปในแว้บแรกให้ทัน
(ตรงนี้เป็นการเล่นเกมส์ที่ไม่เหมาะกับพระหนุ่มๆ เพราะถ้าพลาดก็แย่ไปเลย)

ความรู้สึกแรกนั้น มันเป็นกลาง เฉยๆ เบิกบาน อยู่ในตัวเองอยู่แล้ว
ถ้าจับความรู้สึกนี้ทัน ก่อนที่มันจะปรุงเป็นกิเลสกามขึ้นมา
จิตจะพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลสกามทันที
เพราะจิตดวงเก่าที่ถูกกิเลสกามครอบงำ
มันตายไปแล้วเมื่อเรามีจิตดวงใหม่ไปรู้อารมณ์ใหม่
ส่วนจิตดวงใหม่ก็ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะอันว่องไว
ยังไม่ถูกกิเลสกามครอบงำ

ถ้าจับจุดนี้ทัน ต่อให้นาวงามสามโลกมาเดินอยู่ต่อหน้า
จิตก็จะเพียงสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็นรูป
เพราะจิตใหม่มีสติสัมปชัญญะ
พ้นจากการครอบงำของกิเลสกามที่เคยกลุ้มรุมไปได้แล้ว
หลังจากนั้น ก็คอยดูจิตต่อไปอย่างที่เคยฝึกหัดกันมา

ผมเคยสังเกตจิตใจของผู้ปฏิบัติในสายอภิธรรมหลายสำนัก
พบว่าเขาพยายามใช้สติ ระลึกรู้ความรู้สึกแรกที่ตากระทบรูป
หรือเท้ากระทบพื้น อยู่เหมือนกัน
แต่ถ้าเขาไม่มีสัมปชัญญะจริง ไม่มีธรรมเอกหรือสัมมาสมาธิจริง
จิตของเขาจะเคลื่อนเข้าไปจ่ออยู่ในรูปที่รู้
อันเป็นการเสียสมรรถนะที่จะรู้อารมณ์ด้วยจิตที่เป็นกลางไปในทันที
ดังนั้น เมื่อจับความรู้สึกแรกได้แล้ว
ระวังอย่าให้จิตเคลื่อนหลงเข้าไปในความรู้สึกนั้นนะครับ
มันจะกลายเป็นการทำสมถะ ทั้งที่แขวนป้ายว่า กำลังทำวิปัสสนาอยู่

(ที่เล่ามานี้เป็นการยกตัวอย่างการดำเนินของจิต
แบบเล่าสู่กันฟังภายใน "บ้านของชาววิมุตติ" ที่เป็นญาติมิตร พี่น้องกัน
ไม่มีเจตนาไปล่วงเกิน หรือชวนทะเลาะกับท่านผู้หนึ่งผู้ใดนะครับ
เพราะวิมุตติ ไม่ใช่ที่สาธารณะ แต่เป็นที่เฉพาะสมาชิกเท่านั้น)


น้องๆ หลานๆ นักปฏิบัติ จะลองวิธีนี้เล่นบ้างก็ได้
ถือเป็นการเล่มเกมส์กับกิเลส ประเภทใครดี - คนนั้นอยู่ทีเดียว

30
เขียนตอบไว้ในกระทู้ สัมมาสมาธิ เมื่อ วัน พุธ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 09:46:55

ที่จริงผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับสัมมาสมาธิเอาไว้หลายคราวแล้ว
ครั้งนี้จึงขอเขียนเพียงย่อๆ ว่า
สมาธิที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ทำกันอยู่นั้น เป็นมิจฉาสมาธิ
คือเป็นความสงบ ตั้งมั่น ที่ยังประกอบด้วยราคะและโมหะ
ไม่ประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะ(ปัญญา)
ส่วนสัมมาสมาธิจะอยู่โดดๆ ไม่ได้
เพราะองค์มรรคทั้งหลาย ย่อมต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะขาดสัมมาทิฏฐิ(ปัญญา)และสัมมาสติไม่ได้เลย

การทำสัมมาสมาธิ จึงต้องทำไปเพื่อความรู้ตัว
ไม่ใช่เพื่อความสงบ หรือเพื่อคุณสมบัติพิเศษต่างๆ

แต่เมื่อรู้ตัวแล้ว จิตก็จะสงบระงับจากกิเลสตัณหา
และกิเลสตัวหนึ่งก็คือความฟุ้งซ่าน จะถูกรู้แล้วหมดกำลังไปเอง
แล้วจิตก็จะเข้าถึงความสงบในแบบของสมถะด้วยโดยอัตโนมัติ


สัมมาสมาธิจำแนกได้ 3 แบบคืออัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิ และขณิกสมาธิ
อัปปนาสมาธินั้น พระศาสดาทรงสอนไว้ดังนี้ครับ

[๒๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน
            นี้คือมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ คือ
            สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
            สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
             ...................................
            สัมมาสมาธิ เป็นไฉน
            ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
            บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
             
            เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
            เพราะ วิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร
            มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่
             
            เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย
            เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญว่า
            ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
             
            เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข
            เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้
            มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
            อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ

สำหรับอุปจารสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธินั้น
หมายถึงสมาธิที่เฉียดๆ ฌาน ไม่ใช่ว่าจิตเฉียดๆ จะเกิดสมาธิ
เพราะอุปจารสมาธินั้น จิตเป็นสมาธิแล้ว แต่ยังไม่รวมแน่วลง
ส่วนใหญ่ของคนเมืองที่ทำสมาธิกันนั้น จะได้เพียงเท่านี้ครับ

ส่วนขณิกสมาธินั้น เป็นสมาธิที่สำคัญมากอันหนึ่ง
หมายถึงความตั้งมั่นของจิตเป็นขณะๆ ไปในขณะที่รู้อารมณ์
ผู้ที่ทำอัปปนาสมาธิได้แล้ว
ท่านสอนให้มีสติรู้อารมณ์ที่มากระทบทางทวารทั้ง 6
โดยในขณะนั้น อำนาจของอัปปนาสมาธิที่ทำมาแล้วยังเหลือเชื้ออยู่
สติระลึกรู้อารมณ์แล้วก็จริง แต่จิตยังคงตั้งมั่นอยู่ ไม่เลื่อนไถลไปตามอารมณ์
อันนี้แหละครับคือขณิกสมาธิ
นักปฏิบัติจำนวนมากไม่เข้าใจตรงจุดนี้
พอสติรู้อารมณ์แล้ว จิตก็ถลำกระโจนเข้าไปจับอารมณ์นั้น
เหมือนคนตกน้ำเพราะชะโงกดูสิ่งที่ลอยน้ำมา
หรือเหมือนคนที่ดูละครแล้วกระโดดขึ้นเวทีไปแสดงเอง
ในที่สุดก็กลายเป็นการเพ่งอารมณ์
สิ่งที่นึกว่าเป็นวิปัสสนา ก็กลายเป็นสมถะไปทันที

ทีนี้คนที่ทำอัปปนาสมาธิไม่ได้
ก็สามารถมีขณิกสมาธิได้ด้วยการสนับสนุนของปัญญา
โดยฝึกรู้เท่าทันจิตตนเอง เมื่อเผลอ หรือเพ่ง
จนเข้าใจสภาวะจิตที่มีสติรู้อารมณ์ โดยไม่เผลอ และไม่เพ่งได้
ในขณะนั้นแหละจิตมีขณิกสมาธิแล้ว

ขณิกสมาธิที่เกิดด้วยปัญญาดังกล่าวนี้ ในช่วงแรกจะมีกำลังไม่มาก
จิตทรงตัวตั้งมั่นได้วับเดียว ขณะต่อไปก็ไม่ตั้งมั่นเสียแล้ว
ต่อเมื่อฝึกมากเข้าๆ นั่นแหละ
ความรู้ตัวที่ทรงตัวตั้งมั่นอยู่ตามธรรมชาตินั้นก็จะเกิดบ่อยเข้า
จนรู้และตั้งมั่นได้บ่อยๆ เช่นเดียวกับผู้ที่ทำอัปปนาสมาธิมาก่อนแล้ว

จิตที่มีขณิกสมาธิและเจริญสติรู้ปัจจุบันธรรม
ไปทีละขณะๆ อันเป็นการเจริญปัญญานั้น
เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็จะเกิดอัปปนาสมาธิขึ้นได้เอง
ดังนั้นการเจริญปัญญา จึงมีส่วนอบรมสมาธิขึ้นในตัวด้วย
แต่การทำสมาธิอย่างเดียว ถ้าไม่ออกเจริญปัญญา
ด้วยการรู้ความเกิดดับของปรมัตถธรรม ทางตา หู .. ใจ
ก็จะไม่เกิดปัญญาขึ้น

นึกไม่ออกแล้วครับ เอาเท่านี้ก่อนนะครับ

*********************************************

คุณหมอ____ถามว่า
"อารมณ์ รู้ ตื่น เบิกบาน มันก็มีตัวราคะปนอยู่
จะเป็นสัมมาสมาธิหรือเปล่าครับ"

จะเป็นสัมมาสมาธิหรือเปล่า พักไว้ก่อนเถอะครับ ยังไม่สำคัญหรอกครับ
มาสนใจตรงนี้ดีกว่าครับ
คือว่าจิตผู้รู้จริงๆ เป็นแค่ผู้รู้ครับ อารมณ์หรือกิเลส ก็เป็นคนละส่วนกับจิตผู้รู้
แต่ที่คุณหมอเห็นว่า จิตผู้รู้ของคุณหมอยังมีราคะปนอยู่นั้น ดีแล้วครับที่เห็น
เพราะราคะมันแฝงตัวในจิตคุณหมอมานานแล้ว
ผมก็รอเวลาอยู่ว่า เมื่อใดคุณหมอจะรู้ทันตรงนี้ครับ
เมื่อรู้ทันแล้วค่อยรู้ต่อไปอีกครับ ในที่สุดก็จะพบจิตที่รู้ ตื่น และเบิกบานจริงๆ
จิตใจก็จะก้าวหน้าต่อไปอีกครับ เพราะรู้ทันกิเลสตัณหาได้ละเอียดยิ่งขึ้น

"แล้ว ปิติ สุข ในสัมมาสมาธิ จัดว่าเป็น ราคะหรือเปล่า"
สุขเป็นเวทนาครับ ปีติก็เป็นสังขารอันหนึ่ง แยกต่างหากจากราคะ
แต่เพราะมีสุขนั่นแหละครับ ราคะจึงแฝงตัวอยู่ในจิต
เพราะราคะมันเกิดตามสุขเวทนามา
เมื่อรู้ทันแล้ว ราคะดับไป ก็มารู้ปีติและสุขต่อไปด้วยจิตที่เป็นกลาง
ปีติก็จะดับไปเหลือแต่สุข รู้ไปอีกสุขก็ดับอีก
กลายเป็นจิตที่มี สติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา
การรู้อย่างนี้ เป็นการเอาองค์ฌานมาเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาครับ
เป็นวิธีปฏิบัติที่สุขสบายจนน่าอิจฉาเชียวครับ

Pages: 1 [2] 3 4