Show Posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Topics - หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

Pages: 1 2 [3] 4
31
เผอิญผมไปได้ จดหมายที่หลวงพ่อได้เขียนถึงบางท่าน ในเวปบางแห่ง แม้จดหมายฉบับ
นี้จะถูกนำมาเป็นหลักฐานกล่าวอ้างมอบให้แก่ DSI กับ สำนักพุทธฯ แต่เมื่ออ่านให้ดีจะพบว่า
เนื้อความในจดหมายนี้ ทรงคุณค่าและเป็นประโยชน์แก่ผู้ได้รับ รวมไปถึงผู้ที่ได้มีโอกาสอ่าน
ผมจึงขออนุญาตนำมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน ส่วนท่านใดจะได้อะไรจากจดหมายนี้ ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย
ที่แต่ละท่านได้ทำมาด้วยเทอญ


เอกสาร : : ไฟล์แด่ลูกสาว

เขียนและพิมพ์โดย : : พระปราโมทย์ ปาโมชโช

มอบให้ : XXXXXXXXXXX

ทาง : พิมพ์บนคอมพิวเตอร์คุณ XXXX

วันที่ : วันปิดสวนโพธิ์มาตรวจงานก่อสร้างสวนสันติธรรม

พิมพ์ครั้งสุดท้ายวันที่ 6มีค 49

ซึ่งแจ้งว่าเป็นวันที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ครบ 1 ปี

สถานที่พิมพ์ : พักที่บ้าน XXXXXXXX

หลักฐานแก่ :ดีเอสไอ สำนักพุทธ

ผู้รับทราบ :XXXXXXXXXXXXXXXXXX


หมายเหตุ การให้การเท็จต่อเจ้าพนักงานรัฐมีโทษจำคุก 7ปี
รวมถึง การปฏิเสธหลักฐานบิดเบือนความจริงให้เป็นความเท็จ



แด่ลูกสาว


การปฏิบัติธรรมมี ๒ ขั้นตอนคือขั้นการทำลายความเห็นผิดว่ากายและจิตนี้เป็นตัวเรา
กับขั้นการทำลายความยึดถือกายและจิต

เมื่อไม่เห็นผิดว่ากายและจิตเป็นตัวเรา ก็ได้ต้นทางที่จะปล่อยวางความยึดถือกายและจิตในอนาคต
เมื่อปล่อยวางความยึดถือกายและจิตได้แล้ว ก็ไม่มีตัวตนที่จะรองรับความทุกข์อีกต่อไป

แม้การปฏิบัติจะมี ๒ ขั้นตอน แต่วิธีปฏิบัติมีเพียงอย่างเดียว
คือการมีความรู้สึกตัวแล้วรู้กายและจิตตามความเป็นจริง
เมื่อเห็นความจริงแล้วย่อมเบื่อหน่าย
เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายความกำหนัดยินดีในกายและจิต
เมื่อหมดความกำหนัดยินดีย่อมหลุดพ้นจากความยึดถือกายและจิต
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ต้องทำ ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความพ้นทุกข์อย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว
นี้เองเป็นที่สุดแห่งทุกข์


หลวงพ่อ
๑๗ มกราคม ๒๕๔๙

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายย่อมรวมลงในรอยเท้าช้างได้ฉันใด
ธรรมทั้งปวงย่อมรวมลงได้ในอริยสัจจ์ฉันนั้น

อริยสัจจ์จึงเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ลึกซึ้งอย่างถึงที่สุด
มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจ์ได้
เพราะความรู้แจ้งอริยสัจจ์คือวิชชา
ส่วนความไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์คืออวิชชา

อริยสัจจ์ข้อแรกคือทุกข์
ทุกข์คืออะไร - ทุกข์คือรูปนามขันธ์ ๕ หรือกายใจนี้เอง
กิจต่อทุกข์มีอย่างไร - กิจต่อทุกข์คือให้รู้ทุกข์
การรู้ทุกข์นั้นทำอย่างไร - เมื่อเราตื่นออกจากโลกของความคิดและเกิดความรู้สึกตัว
เราจะรู้กายตามความเป็นจริง และรู้ใจตามความเป็นจริงได้
เมื่อรู้มากเข้าเราจะเข้าใจความเป็นจริงของกายและใจ
ว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงคือมีแล้วไม่มี
เป็นทุกข์คือทนอยู่ไม่ได้
และเป็นอนัตตาคือเป็นของโลกไม่ใช่ของเรา
การรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงอย่างนี้แหละคือวิธีรู้ทุกข์

อริยสัจจ์ข้อที่ ๒ คือสมุทัย
สมุทัยคืออะไร – สมุทัยคือตัณหาหรือความทะยานอยากดิ้นรนของจิต
ที่จะแสวงหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ ด้วยวิธีการต่างๆ นานา
ได้แก่ (๑) ความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว ด้วยการเที่ยวแสวงหาอารมณ์มาตอบสนองกิเลส
(๒) ความปรุงแต่งฝ่ายดี ด้วยการควบคุมกายควบคุมใจให้ดี
และ (๓) ความปรุงแต่งสภาพธรรมที่พ้นจากการกระทบอารมณ์ชั่วคราว
กิจต่อสมุทัยมีอย่างไร – กิจต่อสมุทัยคือให้ละสมุทัย
การละสมุทัยนั้นทำอย่างไร – เมื่อเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้งจนละความเห็นผิดและความยึดถือว่ารูปนามกายใจเป็นตัวเราแล้ว
ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดิ้นรนแสวงหาความสุขมาให้ตัวเรา
หรือดิ้นรนพาตัวเราให้พ้นจากความทุกข์อีกต่อไป
การรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้งนั่นแหละเป็นทางละสมุทัยโดยอัตโนมัติ

อริยสัจจ์ข้อที่ ๓ คือนิโรธ
นิโรธคืออะไร – นิโรธคือนิพพานได้แก่ความสงบสันติอันเนื่องมาจากความสิ้นตัณหาหรือความดิ้นรนของจิต
กิจต่อนิโรธมีอย่างไร – กิจต่อนิโรธคือการทำให้แจ้ง ทำให้เข้าไปสัมผัสถึง
การทำนิโรธให้แจ้งนั้นทำอย่างไร – เมื่อรู้ทุกข์จนสิ้นสมุทัยแล้ว
นิโรธก็เป็นอันถูกทำให้แจ้งโดยอัตโนมัติ

อริยสัจจ์ข้อที่ ๔ คือมรรค
มรรคคืออะไร – มรรคคือวิธีการรู้ทุกข์จนละสมุทัยและทำนิโรธให้แจ้งได้
กิจต่อมรรคคืออะไร – กิจต่อมรรคคือการทำให้เจริญ ทำให้มาก
การเจริญมรรคนั้นทำอย่างไร – ทำ(สัมมา)สติให้เกิดเนืองๆ แล้วองค์มรรคที่เหลือจะเกิดตามมาเอง

สติเป็นอนัตตา ไม่มีใครสั่งสติให้เกิดได้ แต่ถ้ามีเหตุ ถึงไม่สั่ง สติก็เกิดขึ้นได้เอง
เหตุของสติคือการที่จิตจดจำสภาวธรรมคือรูปนามได้แม่นยำ
จิตจะจดจำสภาวธรรมได้แม่นยำ ถ้าจิตเคยเห็นสภาวธรรมบ่อยๆ
ดังนั้นพึงหัดทำความรู้จักสภาวธรรมให้มากเข้าไว้


เบื้องต้นทำกรรมฐานอันใดอันหนึ่งที่ถนัด
เช่นบริกรรมพุทโธ หรือระลึกรู้ลมหายใจ หรือระลึกรู้ท้องพองยุบ
หรือระลึกรู้เท้า หรือระลึกรู้มือ หรือระลึกรู้กายทั้งกาย
แล้วตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตไปเลย
เช่นเผลอไปจากอารมณ์กรรมฐานนั้นก็รู้
เพ่งอารมณ์กรรมฐานนั้นก็รู้
เป็นสุขก็รู้ เป็นทุกข์ก็รู้
เกิดกุศลก็รู้ เกิดอกุศลก็รู้
ไม่นานสติจะเกิดถี่ยิบขึ้นได้เพราะจิตรู้จักและจดจำสภาวธรรมได้อย่างแม่นยำ

นี้เป็นทางดำเนินของพระอริยเจ้า
เรียกว่าอริยสัจจ์ ๔ อันมีวนรอบ ๓ คือสัจจญาณได้แก่ความรู้จักตัวอริยสัจจ์
กิจญาณคือความรู้หน้าที่หรือกิจต่ออริยสัจจ์แต่ละข้อ
และกตญาณคือการได้ทำกิจต่ออริยสัจจ์แต่ละข้อนั้นเรียบร้อยแล้ว
รวมมีปริวัติ ๑๒ เพราะมีอริยสัจจ์ ๔ ข้อ แต่ละข้อมีญาณ ๓ อย่าง

พระพุทธเจ้าทรงประกาศว่า
ตราบใดที่พระองค์ท่านยังทรงไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔
อันมีวนรอบ ๓ และมีปริวัติ ๑๒ นี้
พระองค์จะไม่ปฏิญาณพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าเลย
ต่อเมื่อทรงรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจจ์ ๔ อันมีวนรอบ ๓ และมีปริวัติ ๑๒ นี้แล้ว
จึงทรงปฏิญาณพระองค์ว่าเป็นพระพุทธเจ้า

อริยสัจจ์ ๔ สำคัญถึงขนาดนี้
แม้พระอรหันตสาวกก็ต้องรู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔
เพราะตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔
ตราบนั้นยังไม่ใช่พระอรหันต์
จึงขอให้ลูกทั้งสองสนใจศึกษาธรรมนี้ให้ดีเถิด

หลวงพ่อ
๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

การทำความเข้าใจความทุกข์ให้แจ่มแจ้งเป็นทางพ้นทุกข์
แต่ยากนักที่คนเราจะเข้าใจความทุกข์ให้แจ่มแจ้งได้
เพราะคนเรารู้จักความทุกข์เพียงบางอย่าง
ได้แก่ทุกขเวทนาทางร่างกายเมื่อยามหิวกระหาย หนาวร้อน ต้องการขับถ่ายและเจ็บป่วย เป็นต้น
กับโทมนัสเวทนาทางใจเมื่อประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักที่พอใจ
ทุกข์ชนิดนี้เรียกว่าทุกขทุกข์
ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติ หรือจิตใจได้รับอารมณ์ที่ดี
ก็รู้สึกว่ามีความสุขทางกายหรือโสมนัสเวทนาทางใจ

ตราบใดที่ยังรู้สึกว่ากายนี้เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง
และใจนี้มีโสมนัสบ้างมีโทมนัสบ้าง
ตราบนั้นความดิ้นรนที่จะแสวงหาความสุขโสมนัส
และความดิ้นรนที่จะหลีกหนีทุกข์โทมนัสจะไม่หมดไป
ตราบใดที่ยังไม่หมดความดิ้นรน ตราบนั้นความทุกข์ก็จะยังมีอยู่ร่ำไป
เพราะความดิ้นรนของจิตใจหรือตัณหา
เป็นเหตุให้เกิดทุกข์อีกชนิดหนึ่งนอกเหนือจากความทุกข์ที่มีอยู่แล้ว
ทุกข์ชนิดนี้เรียกว่าทุกขสัจจ์

ยังมีความทุกข์อีกชนิดหนึ่งได้แก่สภาพที่ทนได้ยาก เรียกว่าทุกขลักษณะ
เป็นสภาวะที่เกิดกับสังขารทั้งปวงที่จะทนอยู่ในสภาพเดิมตลอดไปไม่ได้

ในเวลาที่เราเจริญสตินั้นหากทุกขทุกข์ปรากฏขึ้นก็ให้รับรู้ไป
หากทุกขทุกข์ดับไปและรู้สึกเป็นสุขก็ให้รับรู้ไว้
แต่เมื่อเจริญสติปัญญาแก่รอบมากเข้าจะพบว่ากายกับใจเป็นทุกข์ล้วนๆ
ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้างอีกต่อไป
มีแต่ทุกขทุกข์คือทุกข์มากกับทุกข์น้อยเท่านั้น

ผู้ปฏิบัติจะเห็นอีกว่าถ้าจิตเกิดความอยากและความยึดถือ
จิตจะเกิดทุกข์ที่เรียกว่าทุกขสัจจ์
เมื่อจิตปราศจากความอยากและความยึดถือ
จิตจะปราศจากความทุกข์มีแต่ความสุขโสมนัสหรืออุเบกขาเท่านั้น
แต่เมื่อเจริญสติปัญญาแก่รอบมากเข้าจะพบว่า
ไม่ว่าจิตจะอยากและยึดอารมณ์หรือไม่ จิตนั้นแหละเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ

การเห็นทุกขทุกข์ทำให้จิตเอือมระอาต่อขันธ์
ถึงจุดหนึ่งจิตจะแจ่มแจ้งในทุกขสัจจ์และปล่อยวางความยึดถือรูปนามกายใจและสิ่งทั้งปวงได้
ถึงจุดนั้นความทุกข์ของขันธ์หรือทุกขทุกข์ก็ยังมีอยู่
ทุกขลักษณะคือความทนอยู่ไม่ได้ของสังขารทั้งรูปนามก็ยังมีอยู่
แต่ความทุกข์ของจิตใจอันเกิดแต่ตัณหาจะไม่มีอยู่อีก
เพราะปราศจากตัวตนในความรู้สึก ที่จะรองรับความทุกข์ทางใจอันเกิดจากตัณหาเสียแล้ว
กล่าวได้ว่าทุกข์ก็มีอยู่ แต่ไม่มีผู้ทุกข์อีกต่อไป เพราะปล่อยวางขันธ์โดยเฉพาะจิตลงได้แล้ว


ความสุขโสมนัสของผู้ที่ปล่อยวางจิตได้แล้วนั้นเป็นสิ่งอัศจรรย์ยิ่งกว่าสิ่งอัศจรรย์ในโลก
พระนิพพานเป็นความสุขอันเต็มเปี่ยมครอบโลกอยู่ต่อหน้าต่อตา
สงบสันติ รุ่งเรืองและเปิดเผย แจ่มจ้าไร้ตำหนิปราศจากแม้แต่ธุลีของความปรุงแต่ง
ไม่มีสิ่งใดเข้าไปตั้งอยู่ได้ในพระนิพพานนี้
ปราศจากจุดตั้งต้นและจุดสิ้นสุด

ความว่างจากกิเลส จากตัวตน และจากทุกข์ที่ยิ่งกว่าพระนิพพานไม่มี
สุขอื่นเสมอด้วยความสงบของพระนิพพานไม่มี

ขอให้ลูกทั้งสองจงรู้ทั่วถึงธรรมที่พ่อรู้แล้วในปัจจุบันชาติเถิด

หลวงพ่อ
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

สำนักใหม่ที่พวกเราช่วยกันสร้างขึ้นมีชื่อว่า “สวนสันติธรรม”
คำว่า “สันติธรรม” หมายถึง “นิพพาน” นั่นเองเพราะนิพพานเป็นยอดแห่งสันติสุข
เมื่อเราภาวนาคือเจริญสติจนจิตปล่อยวางความถือมั่นในจิตได้แล้ว
จิตจะเข้าไปสัมผัสกับนิพพานอันสงบและเป็นสุขอย่างยิ่ง
ที่สงบเพราะปราศจากการกระทบกระทั่งทั้งปวง
ที่สุขเพราะปราศจากความเสียดแทงทั้งปวง

เมื่อแรกเข้าถึงนิพพานนั้น
จิตได้ประสบกับความสุขอันแปลกใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
เป็นความสุขที่ท่วมท้นจิตใจและธาตุขันธ์จนสะอื้นในอกและน้ำตาตก
ระลึกถึงคราวใดก็มีความสุขจนสะอื้นในอกอยู่หลายวัน
จิตจึงค่อยๆ คุ้นชินกับความสุขสงบนั้น
และเข้าสู่ภาวะแห่งความเป็นปกติธรรมดาที่มีความสุขอย่างยิ่ง

ความสงบของนิพพานก็เป็นสิ่งที่เกินพรรณนา
เพราะนิพพานนั้นเต็มบริบูรณ์อยู่ต่อหน้าต่อตา
ครอบคลุมโลกธาตุทั้งปวงที่กำลังเคลื่อนไหวไว้ทั้งหมด
แต่สงบสงัดและไม่มีสิ่งใดปนเปื้อนเข้าถึงนิพพานอันบริสุทธิ์นั้นได้เลย

การจะเข้าใจถึงนิพพานเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
แต่ถ้าเข้าใจสภาวะจิตของพระอรหันต์ได้แล้ว
ก็พอจะอนุมานถึงสภาวะของนิพพานได้บ้าง
จิตของพระอรหันต์ไม่เหมือนจิตของท่านผู้อื่น
เพราะแหวกสิ่งห่อหุ้มออกได้หมดแล้วจึงเป็นอิสระและกว้างขวางไร้ขอบเขต
มีสภาพคล้ายกับไฟที่ดับลงแล้ว ไม่มีการประทุขึ้นอีก
ความร้อนของไฟย่อมกระจายออกไปเต็มโลกธาตุ
กล่าวไม่ได้ว่าไฟมีอยู่ หรือไฟดับสูญไปแล้ว
เพราะความมีอยู่และความดับสูญยังเป็นธรรมคู่ เป็นเรื่องของโลก
ส่วนจิตของพระอรหันต์เข้าถึงธรรมล้วนๆ ไม่มีความเป็นโลกเจือปนอยู่เลย
จึงไม่มีปัญหาในเรื่องความมีอยู่ หรือความขาดสูญอีกต่อไป

พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายเมื่อรูปขันธ์และนามขันธ์แตกทำลายลงแล้ว
ไม่ได้คงอยู่และไม่ได้ดับสูญไปไหน
หากจิตของผู้ใดเข้าถึงสันติธรรมบริบูรณ์แล้ว
เพียงกราบลงตรงหน้าก็คือได้กราบพระบาททั้งคู่ของพระพุทธเจ้าแล้ว

วันนี้เป็นวันครบรอบปีที่พ่อมีความสุขมากที่สุด
ขอให้ลูกทั้งหลายจงมีความสุขเหมือนพ่อโดยพลันเถิด

หลวงพ่อ
๖ มีนาคม ๒๕๔๙

32
เขียนเมื่อ วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 12:58:05

กระทู้นี้ เกิดจากความช่างสังเกตของคุณ ___________
ที่สามารถเห็นปฏิกิริยาของจิต 3 ลักษณะเมื่อมันรู้อารมณ์
คือความยินดี ยินร้าย และเป็นกลางต่ออารมณ์ (ตามกระทู้ที่ 104)
จึงเห็นว่า น่าจะคุยกันเรื่อง จิตเป็นกลาง จิตว่าง และจิตเดิมแท้ สักครั้งหนึ่ง
เพราะมีการพูดกันเสมอเรื่องจิตว่าง และจิตเดิมแท้
ตามหนังสือของท่านอาจารย์พุทธทาส

************************************
จิตเป็นกลาง


คำว่าจิตเป็นกลาง หมายถึงเป็นกลางต่ออารมณ์
เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ

เช่น จิตเป็นกลางเพราะสิ่งที่มากระทบนั้น
ไม่มีความหมายใดๆ ในทางที่จะทำให้เกิดความยินดียินร้าย
หรือไม่มีแรงพอจะทำให้เกิดความยินดียินร้ายขึ้นมา

เช่นในขณะที่ที่เราพูดคุยกับเพื่อนฝูง
บางช่วงก็คุยกันไปธรรมดาๆ ไม่ได้เครียด หรือสนุกสนานอะไร
จิตใจมันก็ยังเฉยๆ เป็นกลางอยู่
จิตที่เป็นกลางในลักษณะนี้ มีกันอยู่ทั่วไป
แม้ในหมู่สัตว์ทั้งหลาย เช่นแมวและไก่ ฯลฯ ก็มี
และส่วนมากจะประกอบด้วยโมหะคือความหลง
เป็นรอยต่อก่อนที่จะเกิดความยินดี อันแทรกด้วยราคะ
หรือความยินร้าย อันแทรกด้วยโทสะ

อีกชนิดหนึ่งจิตเป็นกลางด้วยกำลังของสมาธิ
เมื่อเราทำความสงบจนผ่านปีติสุขไปแล้ว
จิตจสงบระงับเข้ามา เงียบๆ นิ่ง เป็นกลางอยู่
จิตที่เป็นกลางแบบนี้ ถ้าไม่สังเกตให้ดี
จะมีราคะละเอียดแฝงตัวอยู่

อีกชนิดหนึ่งจิตเป็นกลางด้วยกำลังของปัญญา
คือจิตเห็นอารมณ์ทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
จึงหมดความยินดียินร้าย และรู้อารมณ์ต่างๆ นั้นด้วยความเป็นกลาง

**********************************

จิตว่าง

คำว่าจิตว่างนั้น ไม่พบในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย
แต่เราคุ้นกับคำนี้ จากคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส
ที่ท่านมักสอนให้เรา "ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง"
อันเป็นคำสอนที่แสลงใจคนที่เรียนตำราอภิธรรมมาก
เพราะโดยธรรมชาติแล้ว จิตจะว่างจากอารมณ์ไม่ได้

หากพิจารณาความหมายของจิตว่างในทัศนะของท่านอาจารย์พุทธทาส
ก็จะพบว่า ท่านไม่ได้หมายความว่า  จิตว่างจากอารมณ์
แต่หมายความว่า ว่างจากความเป็นตัวตนของตน
หรือว่างจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน
ซึ่งจิตว่างชนิดนี้ มีได้จริงๆ
คือจิตของพระอรหันต์ ที่ท่านรู้อารมณ์ แต่ไม่เคลื่อนไหวเข้าไปยึดอารมณ์ใดๆ
จิตท่านว่างจากกิเลส ตัณหา อัตตาตัวตน
ในขณะที่รู้เห็นโลก อยู่ในชีวิตประจำวันนี่เอง

จิตว่าง จึงไม่ใช่เรื่องของปุถุชนจะมีได้
กระทั่งพระอริยบุคคลที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็มียาก
เพราะจิตย่อมถูกอวิชชา ตัณหา อุปาทานครอบงำเสมอๆ
ไม่เคยขาดจากเยื่อใยความยึดถือว่า จิตเป็นเรา
ดังนั้นจะให้คนอย่างพวกเรา ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง
จึงเป็นไปไม่ได้จริง
แต่คำสอนนี้ก็เป็นอุบายที่ดีเหมือนกัน
ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนให้พยายามทำสิ่งต่างๆ
ด้วยความไม่เห็นแก่ตัว

*************************************

จิตเดิมแท้หรือจิตหนึ่ง

คำนี้ปรากฏอยู่ในคำสอนของเซ็น ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสนำมาให้เรารู้จัก
ด้วยการแปลหนังสือ สูตรของเว่ยหล่าง และคำสอนของฮวงโป
ความหมายก็น่าจะใกล้เคียงกับ "จิตว่าง" ที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

เดิมผมก็เชื่อตามๆ กันมาว่า
คำว่าจิตเดิมแท้ ไม่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก
แต่เป็นสิ่งที่เซ็นบัญญัติขึ้นเอง
จนเมื่อไม่นานมานี้ คุณดังตฤณ ไปพบ กามภูสูตรที่ 2
พระสุตตันตปิฎกเล่ม 10สังยุตนิกาย สฬายตนะวรรค
มีข้อความพาดพิงถึง จิตแท้(จิตดั้งเดิม)
หรือที่พระไตรปิฎกบาลีเรียกว่า จิตตํ ภาวิตํ

คราวนี้ก็มาถึงปัญหาที่ว่า จิตหนึ่งหรือจิตเดิมแท้ ของเซ็น
กับ จิตแท้หรือจิตดั้งเดิม ของเถรวาท คืออันเดียวกันหรือไม่ 

เรื่องนี้คงต้องพิจารณาถึงความหมาย
หรือคำอธิบายของแต่ละฝ่าย แล้วนำมาเปรียบเทียบกันดู

ท่านฮวงโปสอนเรื่องจิตเดิมแท้หรือจิตหนึ่งเอาไว้มาก
เช่นสอนว่า "จิตหนึ่งซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้
เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น และไม่อาจจะถูกทำลายได้
ไม่มีทั้งปรากฏการณ์ อยู่เหนือการเปรียบเทียบทั้งหมด"

"จิตหนึ่งนี้ เป็นสิ่งที่เราเห็นอยู่ตำตาแท้ๆ
แต่ลองไปใช้เหตุผลว่ามันเป็นอะไร
เราจะหล่นสู่ความผิดพลาดทันที
สิ่งนี้เป็นเหมือนความว่างอันปราศจากขอบทุกๆ ด้าน
ซึ่งไม่อาจหยั่ง หรือวัดได้"

"จิตหนึ่งนี้เท่านั้นเป็นพุทธะ
แต่สัตว์โลกไปยึดมั่นต่อรูปธรรม จึงแสวงหาพุทธภาวะจากภายนอก
ซึ่งไม่สามารถแสวงหาได้เลย
ถ้าเขาเพียงแต่หยุดความคิดนึกปรุงแต่ง
และความกระวนการวายเพราะการแสวงหา
พุทธะก็จะปรากฏตรงหน้าเขา"

"เพียงแต่ลืมตาตื่น พุทธะก็ปรากฏตรงหน้า"

สรุปแล้ว จิตเดิมแท้หรือจิตหนึ่งของเซ็น
ก็คือธรรมชาติรู้ที่เหนือความปรุงแต่ง และไม่เกิด ไม่ตาย
(หากศึกษาอย่างไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะหลงสรุปว่า
จิตเดิมแท้คืออาตมัน หรืออัตตา หรือเต๋า
เพราะนิยามของสิ่งสูงสุดนั้น
เมื่อกล่าวเป็นคำพูดแล้ว คล้ายคลึงกันอย่างที่สุด)


************************************

(มีต่อ)

33
จากการตอบกระทู้ เลียบๆเคียงๆเมียงมอง เขียนเมื่อ
วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 09:35:46

1.เลียบเคียงเมียงมองและการเพ่ง

เรื่องเลียบเคียงเมียงมองนี้ เป็นศิลปะที่สำคัญทีเดียว
เพราะความเคยชินของเราทุกคน คือการ เพ่งอารมณ์
เวลาอารมณ์ใดปรากฏขึ้น ก็เพ่งใส่อารมณ์นั้น เพื่อจะให้รู้ชัดว่า
มันคืออะไร มันมาจากไหน มันทำอะไร มันดับไปอย่างไร
หรือหนักกว่านั้นก็คือ เพ่งเพื่อรักษามันไว้ หรือเพ่งเพื่อดับมันลง

นอกจากการเพ่งอารมณ์แล้ว นักดูจิตยังมักจะ เพ่งจิต อีกด้วย
คือ (1) พอสังเกตเห็นว่า อารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกรู้
ก็จะหันกลับมาจับเอาตัวจิตผู้รู้อย่างจงใจ
ซึ่งทันทีนั้น ผู้รู้ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ซ้อนเข้าไปอีก
หรือ (2) ถ้ามีความชำนาญมากๆ
จะสามารถตรึงความรับรู้อยู่กับผู้รู้ได้ เป็นการเจริญสติให้หยุดอยู่กับจิต
จิตมีอาการเหมือนล็อคตัว มีรู้อยู่ในรู้ ไม่มีปัญญา
แล้วหยุดอยู่แค่นั้นเองเป็นวัน เป็นเดือน หรือติดไปนานๆ


แต่ถ้าปฏิบัติอย่างใจเย็นๆ ปฏิบัติไปตามลำดับ
ขยัน พากเพียร แต่ไม่รีบร้อนทุรนทุราย
ก็ (1) รู้ตัว (2) รู้สิ่งที่มากระทบ
(3)(ชำเลือง)รู้ปฏิกิริยาของจิตต่อสิ่งที่มากระทบ เช่นความยินดียินร้ายต่างๆ
เมื่อจิตมีกำลังขึ้น ก็จะ
(4)ชำเลืองแต่ไม่จงใจ(เหมือนจิตเขาชำเลืองของเขาเอง)
เห็นจิตได้ละเอียดประณีต พ้นความปรุงแต่งไปตามลำดับ
แต่ตอนที่ชำเลืองเห็นนั้น อย่างหลงดีใจ
แล้วตะครุบเอาจิตไว้นะครับ จะผิดพลาดทันที
แต่จะมีสภาพเหมือนแตะๆ เหมือนประคองแต่ก็ไม่ใช่ประคอง
เป็นสภาพรู้ ที่ไม่ได้จงใจจะรู้ เท่านั้นเอง


ที่เล่ามานี้ สักวันหนึ่งพวกเราก็จะเห็นเองครับ
และจะเห็นกลไกการทำงานของจิต
ตามหลักปฏิจสมุปบาทไม่คลาดเคลื่อนเลย
แล้วพวกเราค่อยดูเอาตอนนั้น ว่าจะเหมือนที่ผมเล่าให้ฟังนี้หรือเปล่า

**********************************************

2. เรื่องของความว่างแบบต่างๆ

เรื่องคำนิยาม คำศัพท์ต่างๆ มันเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับนักปฏิบัติ
เพราะต่างคนต่างบัญญัติเอาตามที่ตนรู้เห็นและเข้าใจ
ดังนั้น ถ้าตอบไม่เหมือนใจก็อย่าว่ากันนะครับ
ของอย่างนี้ สู้รู้เองเห็นเองไม่ได้
แม้เห็นแล้วอธิบายไม่ถูก ก็ไม่เป็นไร

ความว่างในจิต คำนี้มีอยู่หลายนัยที่อาจเรียกว่าความว่างในจิต
อันหนึ่ง จิตมันเป็นของว่างโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
ไม่มีรูปร่างแสงสีใดๆ ให้กำหนดหมายได้ เพราะเป็นแต่ธรรมชาติรู้
ที่บางคนปฏิบัติแล้วเห็นจิตเป็นสีนั้นสีนี้
เป็นเรื่องอาการของจิตที่แสดงออกมา หรือเป็นนิมิตของผู้เห็นเท่านั้น
เพราะจิตเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูป
เรารู้ได้ แต่เห็นไม่ได้จริงหรอกครับ
เมื่อปฏิบัติแล้ว เราจึงอาจพบความไม่มีอะไร หรือความว่างๆ ของจิต

อีกอันหนึ่งก็คือ เมื่อดูจิตเข้าไป อาจจะพบ ช่องว่าง(อากาส)ปรากฏอยู่
แล้วเราสำคัญว่า ช่องว่าง หรือความว่างๆ นั้น คือจิตว่าง

อีกอันหนึ่ง คือความเป็นอุเบกขาของจิต
คือเมื่อจิตรู้อารมณ์แล้ว จิตเป็นกลาง
ปราศจากความยินดียินร้ายที่จะกระเพื่อมไหวขึ้นมา
ความว่างในจิตชนิดนี้ เข้าทีกว่าความว่างแบบแรกๆ ครับ
ที่คุณอี๊ดประสงค์จะกล่าวถึง น่าจะเป็นตัวนี้แหละครับ

ว่างจากอารมณ์ ธรรมดาจิตไม่ว่างจากอารมณ์ครับ
เพียงแต่อารมณ์อาจจะเป็นความว่างๆ
ถ้าเราไม่เห็นว่า ว่างๆ เป็นอารมณ์อันหนึ่ง
ก็สำคัญว่าจิตว่างจากอารมณ์

ว่างจากตัวตน อันนี้สำคัญกว่า 2 อย่างแรก
มันมีอยู่ 2 ระดับครับ คือ (1) ว่างจากความเห็นว่าเป็นตัวตนของตน
เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ เราเห็นสิ่งอื่นไม่ใช่เราในทันที
แต่ลองย้อนสังเกตจิตตนเอง มันยังเป็น เรา เรา เรา อยู่หรือเปล่า
ธรรมดาของปุถุชน จะเห็นว่ามี เรา อยู่ในตัวเรา
จะรูู้ จะทำ จะคิด ก็ล้วนแต่เรารู้ เราทำ เราคิด
อีกระดับหนึ่งคือ (2) ว่างจากความยึดว่าจิตเป็นตัวตน
อันนี้ผมก็ทำไม่ได้เหมือนกันครับ
ขืนอธิบายไป ก็จะเท่ากับเอาความคิดมาอธิบาย ซึ่งใช้อะไรไม่ได้เลย

*********************************************

3. เรื่องของเผลอ, เพ่ง, และรู้สึกตัว

เรื่องเผลอหรือไม่เผลอนั้น เป็นเรื่องเข้าใจยากพอสมควรครับ
หลายคนทีเดียว ที่เมื่อผมบอกว่าเผลอ จะรู้สึกสับสนว่า
เอ เราก็กำลังรู้อยู่แท้ๆ ทำไมคุณอาบอกว่าเผลอ
ทีนี้บางคนเถียงเลยก็มี บางคนแอบเถียงในใจ
ซึ่งผมไม่เคยว่ากล่าวถือสาเลยครับ
เพราะผู้ฝึกหัดเห็นและเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ

ความรู้ตัว หรือความไม่เผลอนั้น จำเป็นจะต้องรู้ตัวขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
คือขั้นแรก ให้รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏเสียก่อน
แล้วจึงค่อยๆ สังเกตอาการของจิตใจตนเอง ที่มีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่จิตไปรู้เข้า
แต่ผู้ปฏิบัติมักจะ สร้างความรู้ตัว โดยไม่รู้ตัวว่าจงใจสร้างขึ้นมา
ความรู้ตัวที่จงใจปั้นขึ้นมานั้น จะเหมือนรู้ แต่ความจริงจะมีโมหะแทรกอยู่
โดยผู้ปฏิบัติไม่เห็นว่า จิตกำลังมีโมหะ
บางคนปั้นมากไปหน่อย จนจุกหน้าอกก็มี แน่นขึ้นมาถึงคอหอยก็มี

ตรงที่จิตมีโมหะ แล้วไม่เห็นว่ามีโมหะ นี่แหละครับคือความหลง
หรือความเผลอ หรือความไม่รู้ทันสภาวธรรมที่กำลังปรากฏกับจิต
แม้ในขณะนั้น จิตจะรู้อารมณ์อื่นชัดเจนเพียงใด
แต่ในขณะนั้น จิตมองตัวเองไม่ออก
คือรู้ชัดเฉพาะอารมณ์ ไม่รู้เท่าทันกิเลสตัณหาที่แทรกเข้ามาในจิต

จิตที่เผลอนั้น อย่างหยาบคือหลงตามอารมณ์ไปทางตา ทางหู...
อย่างกลางๆ คือหลงไปในโลกของความคิด
แต่อย่างละเอียดนั้น หลงไปกับการสร้างความรู้ตัว
คือไม่รู้เท่าทันจิต ที่กำลังสร้างความรู้ตัวขึ้นมานั่นเอง
บางคนใช้เวลาเกือบปีครับ กว่าจะเข้าใจตรงนี้ได้
แต่บางคนใช้เวลาไม่มาก เช่นคุณสุรวัฒน์ เป็นต้น

คราวนี้มาเรื่องการเพ่ง
ที่ผมมักจะกล่าวถึงคำว่า เผลอกับเพ่ง คู่กันบ่อยๆ นั้น
ก็เพราะผู้ปฏิบัติมักจะหลงดำเนินจิตผิดพลาดอยู่ในสองตัวนี้
คือถ้าไม่เผลอไปในโลกของความคิด ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ก็ต้องเพ่งอารมณ์อันใดอันหนึ่งไว้ให้หยุดกับที่ เพื่อจะดูให้ชัดๆ
ทั้งสองด้านนี้อันที่จริงก็คือเผลอทั้งคู่
คือเผลอไปเลย กับเผลอไปเพ่ง โดยไม่รู้ว่ากำลังเพ่งอยู่

แต่ถ้าเพ่ง แล้วรู้ว่ากำลังเพ่งอยู่ อันนี้ใช้ได้นะครับ ไม่จัดว่าเผลอ
เช่นจะทำสมถะ ก็เพ่งอารมณ์อันหนึ่งไปเรื่อยๆ สบายๆ ด้วยความรู้ตัว
อย่างนี้ถือว่าใช้ได้
เพ่งที่ใช้ไม่ได้ ได้แก่การเพ่ง ที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังเพ่งอยู่

สำหรับคำว่า รู้ตัวทั่วพร้อม นั้น เป็นสิ่งที่ดีครับ
มันเป็นสภาพความรู้ตัวที่เป็นธรรมชาติที่สุด ไม่ใช่รู้ตัวแบบเพ่งๆ เอา
พวกเราที่บรรยายเก่งๆ ช่วยมาบรรยายให้หน่อยเถอะครับ
ผมเองก็นึกไม่ออกว่า จะใช้คำบรรยายอย่างไรให้เห็นภาพด้วยคำพูด
ส่วน การประคองรู้ นั้น เป็นความจงใจประคองสติสัมปชัญญะให้ต่อเนื่อง
ยังไม่ใช่ รู้ ที่เป็นธรรมชาติ ธรรมดา
แต่มันมีการปฏิบัติอยู่ขั้นหนึ่ง ที่เหมือนประคอง แต่ไม่ใช่ประคอง
เป็นสภาพรู้ที่ต่อเนื่อง โดยไม่ได้จงใจจะให้รู้

เรื่องการนิยามศัพท์เกี่ยวกับการดำเนินของจิตนั้น
เป็นเรื่องยุ่งยากมากครับ ไม่เหมือนการคุยกันแบบเจอตัว
ที่สามารถชี้ให้เจ้าของเข้าใจสภาวะที่กำลังปรากฏในจิตของตน
ซึ่งเจ้าของเองยังไม่เห็น หรือไม่เข้าใจ
ส่วนการอธิบายกันด้วยตัวหนังสือนั้น
บางทีอ่านแล้วก็มีการตีความไม่ตรงกันอีก
ด้วยเหตุนี้แหละครับ ตำราทั้งหลายจึงสอนแต่หลักการ
ส่วนวิธีการในรายละเอียดนั้น ท่านถ่ายทอดกันเฉพาะตัว
ไม่ได้เขียนเป็นตำราเอาไว้หรอกครับ

*****************************************

4.เสริมเรื่อง "รู้"

หัด รู้ ใหม่ๆ จะเหนื่อยมาก เพราะฝืนกับความเคยชิน หรือธรรมชาติเดิม
ซึ่งทุกคนจะชินกับการ หลง
สภาพรู้ที่มีขึ้นจะแข็งๆ ไม่เป็นธรรมชาติธรรมดา
เพราะถ้าไม่จงใจตั้งให้มั่น ก็จะเผลอในพริบตาเดียว
พอจงใจตั้งมั่น ก็กลายเป็นรู้แบบปลอมๆ พออาศัยไปก่อน
จนเมื่อจิต เข้าใจ จึงจะเข้าถึง รู้ ที่เป็นธรรมชาติ
แล้วการปฏิบัติจะเรียบง่าย ราบรื่น อย่างที่สุด
ธรรมดาสามัญอย่างที่สุด

เมื่อเช้า พวกเราคนหนึ่ง ที่ผมกล่าวเป็นตัวอย่างอันดีว่า
รู้ตัวเป็นแล้ว หลังจากฝึกมาเกือบปี
มาเล่าให้ผมฟังว่า ยังเห็นความจงใจที่จะรู้ตัวเป็นครั้งคราว
แสดงว่ายังรู้ตัวไม่เป็นกระมัง
ผมก็เลยชี้แจงให้ทราบว่า
เพราะว่า จงใจก็รู้ว่าจงใจ นั่นแหละ ผมจึงเห็นว่าดูเป็นแล้ว
การดูจิต หรือรู้จิตนั้น ไม่ใช่ว่าจิตจะต้องดีเสมอไป
แม้จิตมีกิเลส หากรู้ว่ากำลังมีกิเลส อย่างนี้เรียกว่า รู้ แล้ว
แต่ถ้าจิตกำลังดี อิ่มบุญอิ่มกุศล แต่ไม่รู้ว่าจิตกำลังเพลินบุญ
แบบนี้ก็เรียกว่ายังหลงอยู่

การรู้ จึงสำคัญที่รู้ให้ทันจิตใจตนเอง
ไม่สำคัญหรอกว่า จิตจะต้องดีเลิศปราศจากอกุศลใดๆ



34
เขียนเมื่อ วัน เสาร์ ที่ 17 มิถุนายน 2543 16:33:17

ช่วงที่ผมหัดใหม่ๆ นั้น ต้องทำงานในหน่วยงานที่เครียดมาก
ผมใช้วิธีฉกฉวยโอกาสปฏิบัติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

พอตื่นนอนตอนเช้าก็รีบดูจิต
อาบน้ำ ทานข้าว ก็ดูจิต
ขึ้นรถเมล์ไปทำงาน หรือขึ้นรถบริการไปทำงานก็ดูจิต
ลงจากรถ เดินเข้าที่ทำงานก็ดูจิต
ส่วนเวลาทำงาน ต้องคิดอย่างจดจ่อกับงาน ช่วงนี้ไม่มีปัญญาดูจิต
แต่พอเหนื่อย พอเครียด พอขี้เกียจ หรืออยากให้งานเสร็จเร็วๆ ก็ดูจิต

พักทานข้าวกลางวันก็ดูจิต
ทานเสร็จแล้วหลบไปเข้าวัดใกล้ที่ทำงานนั่งภาวนา
ตอนเดินไปวัดและเดินกลับมาทำงานช่วงบ่าย ก็เดินจงกรมเอา
ตอนพักเหนื่อย เดินไปเข้าห้องน้ำ ก็ดูจิต
แวะคุยเล่นกับคนอื่น ก็พยายามคุยเล่นไป ดูจิตไป
เห็นความรื่นเริงซุกซนของตนเอง
ตอนกลับบ้าน รอรถเมล์ ขึ้นรถเมล์ ก็ดูจิต
กลับบ้านอาบน้ำ ทานข้าว ดูข่าว ภาวนา ก็ดูจิต
หลับ ก็หลับไปกับการดูจิต
กลางคืนเกิดตื่นมาเข้าห้องน้ำ ก็ดูจิต
ถ้าโมหะยังคลุมจิตอยู่ จะไม่ยอมนอนอีก ต้องต่อสู้เอาชนะให้ได้ก่อน

ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า
เวลาทำงานวันหนึ่งๆ กับเวลาที่ไม่ได้ทำงานนั้น
เวลาทำงานน้อยกว่า(สำหรับคนทั่วๆ ไป)
อย่างเวลาทำงานวันละ 8 ชั่วโมงนั้น
ลองนับเวลาทำงานจริงๆ ไม่กี่ชั่วโมงหรอกครับ
(แค่เวลานั่งโต๊ะ เปิดลิ้นชัก หยิบเอกสาร เปิดคอมพิวเตอร์ ก็หมดไป 5 นาทีแล้ว)

ดังนั้น ถ้าเราทอดทิ้งการปฏิบัตินอกเวลาทำงาน
แล้วไปสนใจว่าตอนทำงานจะปฏิบัติได้อย่างไร
อาจจะเป็นความพลาดของเราแล้วครับ
คือเราหลอกตนเองว่า เราไม่มีเวลาปฏิบัติเพราะต้องทำงาน


ถ้าเวลาทำงานก็ตั้งใจทำไป แต่มีโอกาสเมื่อไรรีบเจริญสติเมื่อนั้น
ดูทีหรือว่าจะเอาดีในการปฏิบัติไม่ได้เลย

******************************************************************

เหตุผลที่เหนื่อยมากเมื่อหัดเจริญสติใหม่ๆ
ก็เนื่องจากหลายปัจจัยประกอบกัน


ข้อแรกก็คือ พวกเราส่วนมากไม่ได้ฝึกสมาธิ หรือทำสมถะกันมาก่อน
จิตจึงไม่มีความตั้งมั่น

เมื่อจะให้ตั้งมั่น ก็ต้องเร่งกำลังของสติขึ้นมาชดเชยความด้อยของสมาธิ
คือต้องพยายามเพ่ง จ้อง ควบคุม ตั้งใจมากๆ
แต่ถ้าใครมีกำลังของ(สัมมา)สมาธิมาก่อน
การจะให้มีสติสัมปชัญญะก็เป็นเรื่องง่าย
เพราะสัมมาสมาธิ เป็นเครื่องทำสติให้บริสุทธิ์เพราะอุเบกขา

ถ้าใครรู้ตัวว่าขาดกำลังหนุนของสมถะ
ขอให้ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งรีบร้อนไปหัดรู้ตัว หรือหัดดูจิต
เพราะอาจจะเหนื่อยมากไป จนท้อใจ
ให้ลองเดินจงกรมเล่นๆ เรื่อยๆ ไป
เท้ากระทบพื้น ก็รู้ความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้นไปเรื่อยๆ
แต่อย่าเพ่งที่เท้า หรืออย่าให้จิตเผลอไปอยู่ที่เท้า หรือไปคิดเรื่องเท้า
ให้เดินสบายๆ รู้ความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้นไปอย่างสบายๆ
เมื่อจิตมีกำลังแล้ว จะเกิดกำลังรู้ตัว
พอที่จะดูจิตหรือเจริญสติปัฏฐานใดๆ ต่อไปได้


เหตุที่เหนื่อยอีกประการหนึ่งก็คือ ความไม่ชำนาญในการ รู้
การจะให้รู้โดยไม่เผลอ หรือไม่เพ่ง เป็นจุดพอดีที่ทำยากมาก
ยิ่งพยายามทำ ก็ยิ่งผิด

แต่ถ้าไม่ระมัดระวัง ไม่พยายาม ก็ต้องเผลอ เพราะเผลอมาหลายกัปป์แล้ว
หรือถ้าจะไม่ให้เผลอ ก็ต้องเพ่งเอา ซึ่งส่วนมากก็เพ่งแบบเผลอๆ อีก
คือเพ่ง แต่ไม่รู้ตัวว่ากำลังเพ่งอยู่
ความรู้ตัวจึงเหมือนการที่เราต้องประคองตัวอยู่บนปลายเสาเล็กๆ
จะให้สบายเหมือนยืนอยู่บนพื้นกว้างๆ ไม่ได้แน่

อันที่จริงเราอย่าไปพยายามสร้างความรู้ตัวขึ้นมา
เอาแค่ว่าเผลอก็รู้ว่าเผลอ เพ่งก็รู้ว่าเพ่ง
พอไม่เผลอและไม่เพ่งแล้ว ก็รู้ตัวขึ้นมาเอง
พอฝึกมากเข้า ชำนาญเข้า เราจะพบว่า
ในขณะที่รู้ตัวนั้น จิตใจเบิกบาน สบายโดยอัตโนมัติ
แต่ในขณะที่หลงที่เผลอ ซึ่งเคยคิดว่าเป็นความสบายมาแต่ก่อนนั้น
มีสภาพไม่ผิดกับการนั่งกอดขยะกองใหญ่เอาไว้ทีเดียว


***************************************************



35
เขียนเมื่อ วัน อังคาร ที่ 4 กรกฎาคม 2543 10:50:28

นักปฏิบัติผู้หวังมรรคผลนิพพานนั้น มีโรคประจำตัวอยู่อย่างหนึ่ง
คือเมื่อปฏิบัติอย่างเต็มที่ สามารถทำความรู้ตัว รู้กายรู้ใจชัดเจนดีแล้ว
ก็อยากจะให้ภาวะจิตที่ทรงธรรมอันดีนี้คงอยู่นานๆ
ครั้นต่อมาไม่นาน จิตที่เคยรู้ชัดก็เริ่มเสื่อมโทรมลง
สติไม่ไว ความสงสัย หรือความเบื่อหน่ายเข้ามาแทรก
เช่นรู้สึกว่า เอ มันยังไงกันนะ เคยปฏิบัติดีคิดว่าเข้าใจแล้ว
แต่อยู่มาเดี๋ยวนี้ ทำไมเหมือนคนปฏิบัติไม่เป็นเสียแล้ว
ไม่ทราบว่าจะดูอะไร จะกำหนดอะไร จะวางจิตใจอย่างไร
ดูมันมืดตื้อสบสนไปหมด (เพราะลืมดูความลังเลสงสัย)

บางคนสับสนแล้วก็ยังทนทำต่อไปแบบมวยวัด
คือหลับหูหลับตาชกกับกิเลสต่อไป
แต่บางคนท้อใจ เลิกปฏิบัติไปชั่วคราวก็มี
น้อยคนที่จะเฉลียวใจว่า อ้อ.. จิตแสดงไตรลักษณ์
ซึ่งพอรู้ทันเท่านี้ จิตที่เสื่อมอยู่ก็จะกลับเจริญในทันที

ความจริงพระธรรมท่านแสดงตัวให้เราเห็น แต่เราไม่เห็นเอง
คือท่านเทศน์เรื่องพระไตรลักษณ์ของจิตให้เราดู
แสดงอย่างโจ่งแจ้งอยู่ว่า จิตนี้ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้
เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ
เพราะเห็นความจริงอยู่อย่างนี้แหละ
ถึงจุดหนึ่งจิตจึงได้ข้อยุติที่แน่นอนใจว่า
จิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาหรือจิตไม่ใช่เรา


หากผู้ใดปฏิบัติแล้วดีตลอด ไม่เห็นความเสื่อมเลย
ผู้นั้นอาการสาหัสทีเดียว เพราะมองไม่เห็นความจริง
หากใครปฏิบัติแล้วเห็นแต่ความเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญของจิต
แต่ก็ปฏิบัติต่อไปอย่างไม่ท้อถอยด้วยความมีสติปัญญา
ผู้นั้น นับว่าเป็นผู้ใกล้ต่อมรรคผลนิพพาน


แต่ความเสื่อมนั้น ต้องเสื่อมทั้งที่พยายามปฏิบัติอย่างเต็มที่แล้ว
ไม่ใช่เสื่อมเพราะเกียจคร้าน
แล้วหลอกตนเองว่า จิตกำลังแสดงไตรลักษณ์
เพราะอย่างหลังนี้
กิเลสได้หลอกล่อผู้ปฏิบัติให้ล่มจมเรียบร้อยไปแล้ว

*************************************************

ความจริงถ้ารู้สึกว่าจิตเสื่อมลง ทั้งที่พยายามปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอแล้ว
ก็ให้ทราบ(ว่ามันเสื่อมลง) ด้วยจิตที่เป็นกลาง
ถ้ากลุ้มใจเพราะจิตเสื่อม ก็ให้รู้ว่ากลุ้มใจ
ถ้าสับสน ก็ให้รู้ว่าสับสน
ถ้าอยากให้จิตเจริญ ก็ให้รู้ว่าอยาก

หลักของการ รู้ (รู้สิ่งที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง) นั้น เป็นอาวุธสำคัญ
กิเลสตัณหาจะกลัวมาก จึงพยายามชักนำให้ เลิก "รู้" แล้วหันไป "คิด" แทน
ผมเองสมัยที่ปฏิบัติใหม่ๆ ทั้งที่เข้าถึงจิตถึงใจตนเองแล้ว
แต่บางครั้งก็เกิดความอึดอัดกลัดกลุ้ม อยากให้จิตพ้นทุกข์เร็วๆ
เพราะกิเลสตัณหาหลอกเอาเหมือนกัน
ผมถึงกับเขียนป้ายเอาไว้โตๆ ด้วยคาถาสำคัญว่า
อย่ายึดจิต

เวลาปฏิบัติแล้วชุลมุนวุ่นวาย หันมาเห็นเข้า
จิตก็รู้เท่าทันกิเลสตัณหาที่กำลังหลอกอยู่
คือเรายึดจิตเป็นเรานั่นเอง จึงอยากให้จิตดีๆ ให้จิตหลุดพ้น
พอรู้ทัน ความฟุ้งซ่านรำคาญใจเพราะจิตเสื่อมก็หมดไป
หันมารู้ทันว่า จิตกำลังฟุ้งซ่านสับสน
เพียงเท่านี้ ความฟุ้งซ่านก็อยู่ส่วนความฟุ้งซ่าน จิตก็ส่วนจิต
พ้นความสับสนวุ่นวายไปได้เกือบทุกที

*************************************************

ตั้งใจปฏิบัติให้ต่อเนื่อง เป็นเรื่องดีและจำเป็นครับ
แต่ระหว่างปฏิบัติ อย่าจงใจ รู้ให้มากเกินไป
เพราะปฏิบัติด้วยความอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากละ อยากพ้น
เมื่อรู้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่จงใจ ไม่อยาก
สติสัมปชัญญะก็ดี รู้ตัวชัดเจน
แต่ถ้าอยากมาก จงใจมาก ก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร
นอกจากจะเกิดทุกข์มากขึ้น

แต่ทั้งที่ปฏิบัติถูกต้องดี คือมีความเพียร เฝ้ารู้ โดยไม่จงใจ ไม่อยาก นั่นแหละ
บางครั้งบางคราว จิตมันก็ยังหมองลงนิดหน่อย

ถ้าไม่เพียรแล้วจิตหมอง อันนี้เรายอมรับได้
แต่ทั้งที่เพียร ก็ยังหมอง อันนี้แหละครับที่ยอมรับกันไม่ค่อยได้
แล้วเกิดความสับสน หรือท้อแท้กันมามากต่อมากแล้ว
นี่คือที่มาของกระทู้นี้ครับ

*************************************************

อันที่จริงการดูจิตก็คล้ายๆ การเลี้ยงเด็กเหมือนกัน
พ่อแม่ที่ฉลาดจะไม่เข้าไปควบคุมเด็กอย่างเข้มงวดจนกระดิกตัวไม่ได้
เพราะเด็กจะเตรียด และขาดพัฒนาการ
(เหมือนการเพ่งจ้อง กดข่ม ควบคุมจิตจนกระดิกไม่ได้
จิตจะเครียดและเจริญปัญญาไม่ได้)

พ่อแม่ต้องไม่ปล่อยปละละเลยให้เด็กห่างหูห่างตา
เพราะเด็กอาจจะได้รับอันตรายต่างๆ เพราะความไร้เดียงสา
(เหมือนการหลง ปล่อยจิตร่อนเร่ไปตามยถากรรม
ซึ่งจิตมักจะวิ่งไปทำบาปอกุศล แล้วเดือดร้อนในภายหลัง)

พ่อแม่ควรทำกิจปกติในชีวิตประจำวันของตนไป
แล้วคอยชำเลืองดูลูกอยู่ไม่ใกล้ ไม่ไกลเกินไปนัก
เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งที่เขาไปพบเห็นด้วยตัวของเขาเอง
(ให้จิตรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ)
และคอยตักเตือนหากจะทำอะไรที่ผิดพลาด
(เช่นไม่ให้ทำผิดศีล)
คอยแนะนำปลุกปลอบใจให้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์
(เช่นให้รู้จักทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา)

คำว่าพ่อแม่นี้ ก็คือสติปัญญา หรือสติสัมปชัญญะ(สัมปชัญญะคือตัวปัญญา) นั่นเอง
เราเพียงมีสติสัมปชัญญะ รู้จิตรู้ใจไปตามธรรมชาติธรรมดา
รู้ไปในชีวิตประจำวัน โดยประสานการปฏิบัติเข้ากับการดำรงชีวิตปกติ
จะอาบน้ำ ทานข้าว นั่งรถ ลงเรือ เคลื่อนไหว ฯลฯ ก็คอยรู้จิตใจไปอย่างสบายๆ
ไม่นานจิตใจก็พัฒนาไปเองแหละครับ

36
เขียนเมื่อ วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 11:26:20

ในหลักการแล้ว การเดินจงกรมที่ถูกต้องคือการเดินอย่างมีสติสัมปชัญญะ
เช่นเดียวกับการนั่งที่ถูกต้อง คือการนั่งอย่างมีสติสัมปชัญญะ


ถ้ามีสติสัมปชัญญะ จะปฏิบัติธรรมในอิริยาบถใดก็ถูกต้องทั้งสิ้น
ถ้าขาดสติสัมปชัญญะ ต่อให้เดินจงกรมจนเท้าแตก
ก็ยังไม่ใช่การปฏิบัติธรรมแท้จริงในทางพระพุทธศาสนา

******************************

การเดินจงกรมนั้น จะเดินให้เป็นสมถกรรมฐานก็ได้
จะให้เป็นวิปัสสนากรรมฐานก็ได้
ทั้งที่เดินอยู่ในที่เดียวกัน และในท่าเดียวกันนั่นเอง

ท่าทางและสิ่งแวดล้อมภายนอก ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าเป็นสมถะหรือวิปัสสนา
หากแต่ลักษณาการของจิตต่างหาก เป็นตัวตัดสิน
คือถ้ามีสติจดจ่อลงในสิ่งหนึ่งสิ่งใด
เช่นจดจ่อลงที่เท้าซึ่งเคลื่อนไหว
จดจ่อลงในคำบริกรรมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเท้า เช่นยก ย่าง เหยียบ
หรือบริกรรมขวาพุท ซ้ายโธ อะไรก็แล้วแต่
ถ้าสติจดจ่อลงในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ล้วนเป็นสมถะทั้งหมด
แต่ถ้าในขณะนั้น จิตผู้รู้ทรงตัวอยู่ต่างหากเป็นธรรมเอก
มีสัมปชัญญะความไม่หลง และมีสติระลึกรู้การเดิน
อันนั้นคือการเจริญวิปัสสนา

ถ้ากล่าวเช่นนี้ หมู่เพื่อนที่เคยฝึก "รู้"
จะสามารถแยกสภาวะ 2 อย่างนี้ออกจากกันได้อย่างชัดเจน
เพราะอย่างหนึ่งนั้น จิตเคลื่อนเข้าไปจดจ่อรวมกับสิ่งที่ถูกรู้
ในขณะที่อีกอย่างหนึ่ง จิตเป็นธรรมเอก ทรงตัวอย่างเบิกบานแยกออกจากสิ่งที่ถูกรู้
จิตก็อยู่ส่วนจิต อารมณ์ก็อยู่ส่วนอารมณ์
แล้วก็มีปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตและอารมณ์ไปตามสภาพ

***********************************
 
 เมื่อกล่าวถึงการเดินจงกรมอย่างเป็นวิปัสสนา
จะเดินเพื่อเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้
จะเจริญเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา
หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้เช่นกัน
ไม่ต่างกับการนั่งสมาธิ ที่จะเจริญสติปัฏฐานหมวดใดก็ได้

เช่นถ้าเดินจงกรมโดยเห็นกายอยู่ในอิริยาบถเดิน
โดยจิตเป็นผู้รู้การเดินของกาย
ก็เป็นการเจริญกายานุปัสสนา ในหมวดอิริยาบถบรรพ
ถ้าจิตเป็นผู้รู้การเคลื่อนไหวของกาย
ก็เป็นการเจริญกายานุปัสสนา ในหมวดสัมปชัญญบรรพ
ถ้าเดินแล้วเหงื่อไหลไคลย้อย และรู้ด้วยจิตผู้รู้
ก็เป็นการเจริญกายานุปัสสนา ในหมวดปฏิกูลมนสิการบรรพ เป็นต้น

ถ้าเดินแล้วจิตผู้รู้ รู้ถึงความสุขสบายในการเดิน
รู้เรื่อยไป จนเกิดปวดเมื่อย ก็รู้ความปวดเมื่อยเป็นทุกขเวทนา
เดินต่อไปอีกจนหายเมื่อย หรือไปนั่งพักจนหายเมื่อย
หรือเดินจงกรมไป ระลึกรู้ความทุกข์ในจิตใจไป
ในที่สุดความทุกข์ใจก็ดับ เกิดความสุขสงบในใจ
ก็รู้เรื่อยไป จนความสุขสงบก็ดับ
เหลือแต่จิตที่เป็นกลางเบิกบาน สงบ ผ่องใส ก็รู้ไปอีก
อันนี้ก็คือการเจริญเวทนานุปัสสนาในอิริยาบถเดิน(จงกรม)

ถ้าเดินแล้วจิตผู้รู้ รู้ถึงความรู้สึกเมื่อเท้ากระทบพื้น
ก็เฝ้ารู้ความรู้สึกนั้นเรื่อยไป จะเห็นความเกิดดับของมันชัดเจน
ทำมากเข้าก็จะเห็นความกระเทือน ความไหว ขึ้นมาถึงอก
แล้วก็เดินรู้ความรู้สึกในอกเรื่อยไป
ก็จะเห็นชัดถึงจิตสังขารนานาชนิดที่หมุนเวียนกันเกิดดับ
เช่นเห็นความเกียจคร้านเบื่อหน่ายที่จะเดินบ้าง
เห็นความซึมเซา และความฟุ้งซ่านของจิตบ้าง
เห็นความสงบสุขผ่องใสของจิตบ้าง
อันนี้ก็คือการดูจิตในอิริยาบถเดิน
เป็นการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เมื่อเดินมากเข้า ดูจิตละเอียดเข้า ก็จะเห็นความอยากเกิดขึ้นบ้าง
จิตหลงตามความอยากไปยึดอารมณ์บ้าง
แล้วความทุกข์ก็เกิดขึ้น
ในที่สุดจะรู้ถึงกลไกการเกิดทุกข์ และกลไกของความดับทุกข์
การเฝ้ารู้อยู่นี้ คือการเจริญธัมมานุปัสสนาในระหว่างเดินจงกรม

***************************

สรุปแล้ว จงกรม ก็คือ "การก้าวไป" อันเป็นอิริยาบถหนึ่งของมนุษย์
ไม่ใช่เรื่องที่ประหลาดพิสดารอะไรเลย
ความอัศจรรย์ของการเดินจงกรม
อยู่ที่การนำวิธีการปฏิบัติธรรมทั้งสมถะ และวิปัสสนามาสวมลงในอริยาบถเดิน
แล้วทำให้มนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง
สามารถเดินไปถึงสวรรค์ และพรหมโลก
หรือดับขันธ์เข้าถึงนิพพานที่ไม่มีการไปและไม่มีการมา


ที่เล่ามานี้เป็นเพียงหลักการนะครับ
ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยและกลวิธีเฉพาะตัว
ของการปฏิบัติธรรมในอิริยาบถเดิน
เป็นเรื่องที่แต่ละท่านมีประสบการณ์แตกต่างกันไป

เพิ่มเติมอีก โดยคุณสันตินันท์

เทคนิคการเดินมีหลากหลายครับ
ถ้าจิตฟุ้งซ่านมากนักก็เดินแบบสมถะเสียก่อน
เช่นเอาสติจดจ่อรู้การเคลื่อนไหวของเท้า
อาจจะบริกรรมกำกับเข้าไปด้วยก็ได้ตามถนัด
เมื่อจิตมีกำลังแล้ว จิตจะเขยิบขึ้นมารู้ตัวทั่วพร้อม
แล้วขยับมาดูจิตทำงาน ต่อไป

หรืออย่างการเดินรู้ความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้นนั้น
ถ้าสติจ่อเข้าไปที่ความรู้สึก ก็เป็นสมถะได้เหมือนกัน
แต่เมื่อทำมากเข้า ความรู้ตัวค่อยแจ่มชัดขึ้น
ก็จะรู้การกระทบนั้นไปอย่างสบายๆ โดยจิตไม่ไหลเข้าไปในความรู้สึกนั้น
ต่อมาเมื่อเกิดกิเลสตัณหาใดๆ ขึ้น ก็จะรู้ชัดเจนต่อไป
สำหรับประเด็นที่รู้ขึ้นมาที่อกนั้น ไม่อยากให้พวกเรากังวลถึงมากนัก
เอาเป็นว่า กิเลสตัณหาเกิดดับที่ไหน ก็รู้อยู่ตรงนั้นดีกว่าครับ
แล้วมันจะเข้ามารู้ที่หทยวัตถุที่อกหรือไม่ ก็ช่างมันเถอะครับ
ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาดีกว่า

37
เขียนเมื่อ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 10:26:53

เพื่อนบางท่านสงสัยว่า ที่ผมแนะนำให้ รู้ รู้ รู้ เพียงเท่านี้
จะทำให้เกิดปัญญาพ้นทุกข์ได้อย่างไร
และสงสัยว่า ถ้าไม่ รู้ รู้ รู้ จะไม่เกิดปัญญาพ้นทุกข์ทีเดียวหรือ

บางท่านแม้จะสงสัย ก็ยังพากเพียรปฏิบัติ พยายามหัด รู้
แม้จะผิดแล้วผิดอีก ท้อแล้วท้ออีก ก็ไม่เลิกละความพยายาม
จนเดี๋ยวนี้ก็เข้าร่องเข้ารอยอยู่หลายท่าน
คือเข้าใจแล้วว่า รู้ เป็นอย่างไร
และ รู้ มีประโยชน์อย่างไร
เพื่อนกลุ่มนี้ มีรากฐานมั่นคงในการปฏิบัติ
เห็นประโยชน์ของธรรมตั้งแต่ปัจจุบัน
และเกิดความเข้าใจในธรรมแตกฉานลึกซึ้งกว้างขวางออกไปเป็นลำดับ
ธรรมที่เคยคิดว่าเข้าใจแล้ว ก็กลับเข้าใจใหม่ในอีกแง่มุมหนึ่ง
ซึ่งน่าดื่มด่ำในรสธรรม อันประจักษ์แก่จิตใจตนเองยิ่งนัก

บางท่านมาฟังๆ ดูแล้ว เห็นว่า รู้ เป็นสิ่งเหลือวิสัย หรือไม่น่าเชื่อถือ
จึงถอนตัวไปแสวงหาทางที่ดีกว่านี้อีก ก็มีเหมือนกัน

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ยังสงสัย แต่มีศรัทธา แล้วทำ
กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่ไม่เชื่อ ไม่มีศรัทธา แล้วไม่ทำ
สองกลุ่มนี้ไม่น่าอัศจรรย์อะไรนัก เพราะเป็นเหตุผลธรรมดาๆ นี่เอง
ยังมีที่น่าอัศจรรย์กว่านั้นอีก คือเป็นประเภทมีศรัทธา(ในตัวบุคคล)
แต่ยังมีข้อสงสัย จึงไม่ทำ จนกว่าจะหายสงสัยเสียก่อน
แล้วถูกความสงสัยปิดกั้นเอาไว้เป็นปีๆ
จุดที่สงสัยก็คือ
รู้ รู้ รู้ เพียงเท่านี้ จะทำให้เกิดปัญญาพ้นทุกข์ได้อย่างไร

เพื่อนที่เป็นนักสงสัยนี้ จะเพียรถามผมอยู่เสมอ ว่า รู้ เป็นอย่างไร
ที่เขาทำอยู่นั้น เป็น รู้ ที่ถูกต้องหรือยัง
พอจุดใดที่ดำเนินจิตถูกต้องและผมบอกว่าถูกแล้ว
เพื่อนท่านนั้นก็จะหยุด รู้
แล้วใช้ความคิดและความจำ พยายามจะจดจำสภาพ รู้ ให้ได้
ซึ่งทำอย่างไรก็สังเกตไม่ได้ เพราะ รู้ ดับไปแล้ว
เหลือแต่ คิดและจำ

ครั้นผมแนะนำให้เฝ้ารู้ความเกิดดับของอารมณ์
เพื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง จะสามารถสังเกตได้ว่า
อันใดเป็นจิตผู้รู้ อันใดเป็นอารมณ์
และจะรู้ว่า รู้ เป็นอย่างไร กับ หลง เป็นอย่างไร
แต่เพื่อนประเภทหลังนี้จะไม่ยอมเฝ้ารู้ความเกิดดับของอารมณ์
เพราะยังคิดไม่ตกว่า รู้ เป็นอย่างไร
พยายามจะคิดให้ตกเสียก่อน จะให้เข้าใจ รู้ เสียก่อน
จึงจะเริ่มลงมือปฏิบัติ
ทั้งที่ รู้ นั้น คิดเท่าไรก็ไม่รู้
เพราะมันเป็นธรรมชาติที่นอกเหนือประสบการณ์เดิมๆ นั่นเอง

***************************************

วันนี้มีบทสนทนาทาง ICQ มาให้อ่านกัน เพื่อประกอบเรื่องนี้
ขออนุญาตเจ้าตัวด้วยนะครับ
ที่ยกบทสนทนานี้มา เพราะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากของนักแสวงหา
ที่แสวงหาอย่างไรก็ไม่เข้าใจ พอหยุดแสวงหา แล้วมา รู้ เอา จึงเข้าใจ

คุณไพ
พี่รู้มั้ย ไพยังไม่เชื่อเลย
ว่าการแค่ตามรู้ มีสติสัมปชัญญะอย่างนี้ จะทำให้เกิดปัญญาได้

แต่ก่อน พอไม่เชื่อก็เที่ยวค้นตามหาวิธีไปเรื่อยๆ
แต่ตอนนี้มันรู้สึกว่า
เฮ้อ..หยุดซักที ปัญญาเกิดไม่เกิด ก็ช่างมัน
เอาให้มีสติสัมปชัญญะไปก่อน
อย่างอื่นว่ากันทีหลัง (เริ่มเหนื่อยกับการค้นหาแล้ว)

คุณสันตินันท์
ถ้าเมื่อใดเห็นว่าการแสวงหา เป็นการสร้างภาระให้จิต
และการมีภาระของจิต เป็นทุกข์
ก็ควรหยุดแสวงหา ความรู้(ที่จริงคือความทุกข์) ใส่ตัวเสียที
เพียงแค่ รู้ เริ่มต้นนิดหน่อย จิตยังสงบ สบาย นุ่มนวลเลย
เพราะจิตแต่เดิมมันดีอยู่แล้ว
แต่มันต้องทุกข์ต้องแบกภาระ ก็เพราะเที่ยวหางานมาใส่จิตเอง
หัวใจของมันอยู่ตรงนี้แหละ คือทุกข์เพราะอยาก ไม่อยากก็ไม่ทุกข์

คุณไพ
ไพมีโรคบ้าอยู่อย่าง (เพิ่งรู้ตัว) 
ชอบคิดว่าจิตพระอริยะเจ้าควรจะเป็นยังไง
แล้วก็คอยกำหนดให้จิตตัวเองเป็นเหมือนที่คิด
แล้วทั้งหมดก็กลายเป็นหาเรื่องให้จิตทำทั้งนั้น
ไม่อยู่กับความจริง ที่เป็นอยู่   ใช่มั้ยจ๊ะพี่

คุณสันตินันท์
เออแน่ะ เริ่มฉลาดแล้ว เรื่องอะไรอยู่ดีๆ ไปหาทุกข์ใส่ตัว

อริยสัจจ์ เป็นธรรมที่ครอบคลุมธรรมทั้งหมดทางพระพุทธศาสนา
การที่เรามีสติสัมปชัญญะ รู้จิตใจตนเองไปนั้น
จะทำให้รู้ว่า อยากก็ทุกข์ ไม่อยาก รู้เฉยๆ ไม่ทุกข์
นี่คือทางที่จะเข้าใจอริยสัจจ์อย่างถึงจิตถึงใจ

คุณไพ
:-) จริงนะพี่ อยากก็ทุกข์ ไม่อยากก็ไม่ทุกข์
ทำไมง่ายๆแค่เนียะ มัน(คือตัวไพ)มองข้ามไปข้ามมาอยู่นั่นแหละ
แต่บางที มันเห็นตัวอยาก แต่มันไม่ยอมละ น่ะสิพี่

คุณสันตินันท์
เห็นอยากแล้ว แต่ถ้ายังไม่เห็นทุกข์พอ
จิตก็ยังไม่ยอมรับความจริง จึงยังพยายามดิ้นต่อไปน่ะ
มันคิดว่าดิ้นไปแล้วจะดี ไม่รู้ว่ายิ่งดิ้นยิ่งยุ่ง
แค่ปล่อยวางก็สบายแล้ว

คุณไพ
อ๋อ..ไพรู้ละ เวลาที่เรารู้ตัวบ่อยๆ มีสติสัมปชัญญะมากขึ้นเรื่อยๆ
มันก็จะเป็นกำลัง ทำให้เราละพวกความอยากทั้งหลายได้

ใช่มั้ยล่ะพี่

คุณสันตินันท์
อันนั้นก็ส่วนหนึ่งล่ะ แต่ทำสำคัญคือ
มันทำให้เราถอดแว่นตาดำของกิเลสออกจากใจเสียก่อน
เพื่อจะมองทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นได้ตรงตามความจริง
ไม่ใช่มองในแง่มุมที่กิเลสพอใจจะให้เรามอง

อีกอย่างหนึ่ง จิตจะเริ่มรู้จักสภาพที่พ้นทุกข์
อันเนื่องจากการรู้ตัว ปราศจากตัณหา
เดิมเรารู้เฉพาะความสุขที่เกิดจากกิเลสตัณหาเท่านั้น
ไม่เคยรู้จักสุขที่ประณีต พ้นจากความปรุงแต่ง


เมื่อไม่มีความรู้ตัว ไพจะไม่รู้จักจิตที่พ้นจากอารมณ์
ก็จะไม่รู้จักสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง
คือธรรมที่เหนือความปรุงแต่ง อันเป็นธรรมพ้นทุกข์
เราก็คุ้นกับอารมณ์เก่าๆ อยู่นั่นเอง
ไม่สามารถหนีจากประสบการณ์เก่าแก่ ที่บงการด้วยกิเลสตัณหาได้
ต่อเมื่อ รู้
มันจะทำให้เราเข้าถึงประสบการณ์ใหม่ ที่พ้นจากความปรุงแต่ง

จิตที่ไม่รู้ตัว มันก็เหมือนปลาที่เคยอยู่แต่ในน้ำ
เวลานึกถึงบก(นิพพาน) ก็คิดแต่ว่า
บนบกมีคลื่นแยะไหม มีสาหร่ายแยะไหม มีตมแยะไหม
อันนี้เพราะเรารู้จักธรรมด้านเดียว คือธรรมด้านปรุงแต่ง
แต่ถ้า รู้ ก็จะรู้จักอีกด้านหนึ่ง


คุณไพ
โหพี่  นี่แหละๆ เผงเลย  มองในแง่มุมที่กิเลสอยากให้มอง
ฮู้ย..ทำไมพี่ถอดแว่นตาดำออกให้ไพช้าจัง:-) 
(แต่ก็ยังดีที่ยังถอดได้ ใช่มั้ยล่ะพี่)
ใช่เลยๆ..คุ้นเคยกับอารมณ์เก่าๆ
โหพี่..คราวนี้อธิบายแล้วไพเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง
ไม่สงสัยแล้วล่ะพี่ ว่าทำไมแค่รู้ตัวจะเกิดปัญญาได้:-)

อ๋อยพี่ อยากร้องไห้จัง ทำไมมันโง่มานานอย่างงี้ก็ไม่รู้

คุณสันตินันท์
ก่อนหน้านี้ไพไม่ยอมลืมตาตื่นขึ้นน่ะ
ไพรู้แต่ของเก่า พี่บอกของใหม่ยังไงก็ไม่เข้าใจ
แต่ตอนนี้ จิตใจเบื่อหน่ายที่จะแสวงหา หันมาทำสติสัมปชัญญะ
จึงพอจะเริ่มรู้แล้วว่า
จิตรู้ ที่ถูกปรุงแต่งน้อยๆ หรือไม่ถูกปรุงแต่งนั้น มันเป็นอย่างไร
มันเป็นการเปิดโลกทัศน์อีกด้านหนึ่งของธรรม
จำเป็นที่ไพจะต้องเปิดด้วยตนเอง
ที่ผ่านมาไพไม่ยอมดู จะเอาแต่คิดน่ะ
ยังไงก็ไม่เข้าใจสิ่งที่พี่พูดหรอก

**************************************

เรื่องนี้คงไม่ต้องสรุปนะครับ
แต่ถ้าจะสรุป ก็คงสรุปได้แบบท่านเว่ยหล่าง หรือท่านฮวงโปว่า
ลืมตาตื่นขึ้น พุทธะ(จิต) ก็ปรากฏอยู่ตรงหน้าแล้ว

38
ประวัติิหลวงปู่ทา จารุธัมโม

หลวงปู่ทา ท่านเกิดในสกุล “อารีวงศ์” นามเดิมคือ ทา อารีวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน  พ.ศ. 2452 ตรงกับขึ้น 11 ค่ำ เดือน 4 ปีระกา ที่ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ  จังหวัดอุบลราชธานี  ท่านเป็นบุตรของนายลี อารีวงศ์ มีอาชีพทำนา ทำไร่ มีพี่น้อง 9 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 7 น้อง 2 คนเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก  ตอนเป็นเด็กท่านไม่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือ มีชิวิตที่ค่อนข้างลำเค็ญ ต้งช่วยบิดามารดาทำงาน ทำไร่ทำนา และเลี้ยงควาย มารดาของท่านได้เสียชีวิตตั้งแต่ท่านอายุได้ 5 ขวบ หลังจากนั้นไม่นานบิดาก็เสียชีวิตอีกคน ปล่อยให้ท่านและพี่น้อง 7 คนอยู่กันตามลำพัง ภายหลังพี่น้องก็แยกย้ายไปอาศัยอยู่กับญาติผู้ใหญ่ในที่ต่าง ๆ ส่วนท่านไปอาศัยอยู่กับน้าหญิง น้าชายที่อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อท่านอายุได้ 15 ปี เกิดความเลื่อมใสในร่มกาสาวพัตร์  จึงขอน้าบวชเป็นสามเณร พออายุครบ 20  ปี ได้ญัตติจากสามเณรเป็นฝ่ายมหานิกายที่วัดใหญ่ชีทวน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดนี้เป็นเวลา 5 พรรษา น่าเสียดายที่ไม่ท่านไม่มีอาจารย์สอนอุบายธรรม  ทำให้ จิตใจว้าเหว่ไร้ที่พึ่ง เมื่อไม่ได้ดื่มด่ำในรสพระธรรมอย่างที่ใจหวัง ท่านจึงตัดสินใจลาสิกขาบทช่วยงานบ้านอีกครั้งหนึ่ง

มีอยู่วันหนึ่งในสมัยเเป็นหนุ่มฉกรรจ์ ท่านและเพื่อนอีก 5 คน ได้ไปตัดต้นพันชาติเพื่อนำมาทำเครื่องหีบอ้อย เพื่อนของท่านแต่ละคนแสดงอาการคึกคะนองลบหลู่ดูหมิ่นเทพารักษ์ พูดจาไม่สุภาพกล่าวคำหยาบ ส่วนท่านสำรวมระวังตัวอยู่ตลอดเวลา หลังจากนั้น 1 เดือน  เพื่อนของท่านแต่ละคนได้ล้มป่วยด้วยโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ มีอาการแปลกแตกต่างไปในแต่ละคน และเสียชีวิตทีละคน ส่วนท่านล้มป่วยเป็นคนสุดท้ายมีอาการป่วยหนักปางตาย น้าชาย – หญิงของท่านได้สวดอ้อนวอนขออำนาจ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ช่วยให้ท่านหายป่วย และสัญญาว่าหากหายป่วยจะให้ท่านบวช  และให้ท่านภาวนาพุทโธ ทำให้จิตสงบ ทุกขเวทนาอันเผ็ดร้อนปางตายได้หายไป จิตใจสงบเยือกเย็น ครั้งนั้นทำให้ท่านเชื่อมั่นในคุณค่าแห่งพระพุทธศาสนา

ต่อมาเมื่อหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่มี ญาณมุนีและคณะได้เดินทางมาธุดงค์ปักกรดที่ป่าบ้านชีทวน หลวงปู่ทาได้ฟังธรรมอันมีรสชาติเข้มข้น ทำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงตั้งสัจจะว่า “จะต้องบวชเป็นครั้งที่ 2 และจะไม่มีครอบครัว” ท่านจึงได้เดินทางไปขอเป็นศิษย์หลวงปู่มี ที่เสนาสนะบ้านสูงเนิน(ปัจจุบันคือวัดป่าญาณโสภิตวราราม) อำเภอสูงเนิน  จังหวัดนครราชสีมาครั้งหนึ่งหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่มี ญาณมุนีและคณะได้เดินทางมาธุดงค์ปักกรดที่ป่าบ้านชีทวน หลวงปู่ทาได้ฟังธรรมอันมีรสชาติเข้มข้น ทำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงตั้งสัจจะว่า “จะต้องบวชเป็นครั้งที่ 2 และจะไม่มีครอบครัว” ท่านจึงได้เดินทางไปขอเป็นศิษย์หลวงปู่มี ที่เสนาสนะบ้านสูงเนิน(ปัจจุบันคือวัดป่าญาณโสภิตวราราม)   อำเภอสูงเนิน  จังหวัดนครราชสีมา

หลวงปู่ทาได้ติดตามรับใช้หลวงปู่มีโดยตลอดระยะเวลา 3 ปี ท่านได้เป็นตาปะขาวรักษาศีลอย่างเคร่งครัด มีกิริยามารยาทเรียบร้อย ความประพฤติดี  หลวงปู่มีจึงอนุญาตให้ท่านอุปสมบทเมื่ออายุได้ 34 ปี  วันที่ 26 กรกฎาคม 2485 ณ อุโบสถวัดใหญ่สูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา โดยมีหลวงปู่มี ญาณมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้รับฉายา “จารุธมฺโม” แปลว่า “ผู้มีธรรมอันงามพร้อม”
ปี พ.ศ. 2500 หลวงปู่สีลา อิสฺสโร ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ท่องธุดงค์กรรมฐานได้พบป่าเขาและถ้ำที่วิเวกสงัด น้ำอุดมสมบูรณ์ สามารถดำรงชีพแบบสมณะ จึงนำเรื่องไปกราบเรียนหลวงปู่มี หลวงปู่มีจึงนำลูกศิษย์ปฏิบัติธรรมในป่าลึกทางซับม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พระทั้งหมดได้เข้าพักบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ถ้ำสวยงามที่ชื่อว่า “ถ้ำมืด” ต่อมาเรียกว่า “ถ้ำซับมืด” การธุดงค์ครั้งนี้ทำให้พระทั้ง 5 รูปต่างได้รับเชื้อมาลาเรียแม้แต่หลวงปู่มีก็ป่วยปางตาย ท่านจึงถอนธุดงค์กลับ มีพระภิกษุที่ออกธุดงค์ในครั้งนี้ได้มรณภาพ 1 รูป

หลังจากที่ ปี พ.ศ. 2506 หลวงปู่ทาได้เดินทางมาจำพรรษาที่วัดถ้ำซับมืด ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง ในปี พ.ศ. 2507-2511  หลวงปู่มี หลวงปู่ทาและหลวงพ่อสุพีร์ สุสญฺญโม  ได้ไปจำพรรษาที่วัดดอยพระเกิด อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

ปี พ.ศ. 2512 หลวงปู่ทา จารุธมฺโม ได้มาจำพรรษา ณ วัดถ้ำซับมืดกับหลวงปู่มีและหลวงพ่อสุพีร์ สุสญฺญโมอีกครั้งหนึ่ง   แม้หลวงปู่มีจะมรณภาพไปแล้ว แต่หลวงปู่ทาท่านครองสมณะเพศอยู่อย่างเรียบง่าย สมถะ ถือสันโดษ เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม ให้ความเมตตาต่อสาธุชน ศิษยานุศิษย์ เสมอกัน โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เป็นผู้สืบทอดข้อวัตรปฏิบัติปฏิปทาจากหลวงปู่มีอย่างเคร่งครัด สหธรรมิกที่เดินทางมาเยี่ยมเยือนสนทนาธรรมกับท่านเสมอที่วัดถ้ำซับมืด นอกจากนั้นพระกรรมฐานทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุตก็มาอยู่ร่วมสำนักปฏิบัติธรรมกับท่านเสมอ
หลวงปู่ทา จารุธมฺโมได้ละสังขารเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 สิริอายุ 98 ปี
พรรษา 65

39
เขียนเมื่อวันที่ วัน ศุกร์ ที่ 7 มกราคม 2543 15:41:32

เพื่อนร่วมทุกข์จำนวนมาก ไปศึกษาการปฏิบัติธรรมกับผม
และผมได้เห็นปัญหาที่ตามมาหลายอย่าง

เช่นบางท่านกลัวว่า พอไม่ได้อยู่ใกล้ผมแล้ว จะทำไม่ได้ หรือทำไม่ถูก
ถ้าเป็นคนกรุงเทพก็ยังอุ่นใจว่า จะพบผมได้อีกไม่ยากนัก
แต่คนต่างประเทศ หรือต่างจังหวัด จะกังวลกันมากหน่อย
จึงอยากได้คู่มือสำหรับการปฏิบัติ อย่างง่ายๆ แต่เป็นระบบ
เพื่อความอุ่นใจว่า จะใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไปได้เมื่อไม่พบผม

บางท่านฟังแล้วยังสับสน ไม่เข้าใจ
หรือไปจำธรรมที่ผมตอบคนอื่น เอาไปปฏิบัติบ้าง
ซึ่งเป็นคนละขั้นตอน หรือคนละจริต
ผลก็ไม่ต่างจากการเอายารักษาโรคของคนอื่นไปรับประทาน
จึงอยากเห็นภาพรวมของการปฏิบัติธรรมทั้งหมดที่ผมแนะนำ
เพื่อจะคลี่คลายความสับสนตรงนี้ได้บ้าง

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ผมทราบก็คือ
เพื่อนบางท่านถกเถียงกันเรื่องการปฏิบัติธรรม
โดยนำคำแนะนำของผมที่ได้ยินมาต่างกรรม ต่างวาระ
ไปเป็นข้ออ้างอิงโต้แย้งกัน

ผมจึงเห็นว่า สมควรสรุปใจความย่อของการปฏิบัติธรรม
ตามที่ผมได้แนะนำหมู่เพื่อน
เพื่อให้เห็นภาพรวมของการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ  ตั้งแต่เบื้องต้นเป็นลำดับไป
เพื่อแก้ปัญหาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น

***********************************

1. การสร้างความเข้าใจขอบเขตของพระพุทธศาสนา

เพื่อนที่มีพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาน้อย
จะได้รับการปูพื้นความเข้าใจเสียก่อนว่า
พระพุทธศาสนาไม่ใช่ยาแก้สารพัดโรคครอบจักรวาล
ไม่ใช่เครื่องมืออย่างเดียว ในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม
ดังนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นนักเรียน ก็เลิกเรียน เพื่อมาศึกษาพระพุทธศาสนา
เพราะความรู้ทางโลก เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในทางโลก
ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา จำเป็นต้องรอบรู้ในศาสตร์สาขาอื่นๆ ด้วย

และอย่าเข้าใจว่า พระพุทธศาสนา เป็นเรื่องอื่น
นอกเหนือจากการเรียนรู้เรื่องความทุกข์
และการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์(ทางใจ) เท่านั้น
พระพุทธศาสนา ไม่ได้มีไว้เพื่อตอบปัญหา
เกี่ยวกับไสยศาสตร์ โชคลาง เจ้ากรรมนายเวร
ชาติโน้นชาติหน้า ผีสางเทวดา ฯลฯ

2. เครื่องมือในการปฏิบัติธรรม

ผู้ที่เข้าใจแล้วว่าพระพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์
ก็จะได้รับการแนะนำให้รู้จักเครื่องมือสำหรับการปฏิบัติธรรม
ได้แก่ สติ และ สัมปชัญะ
ผมมักจะพยายามแนะนำให้พวกเรา รู้ทัน สิ่งที่กำลังปรากฏกับจิต
เช่นความลังเลสงสัย ความอยาก ความกังวล ความสุข ความทุกข์ ฯลฯ
เป็นการหัดให้มี สติ ซึ่งเป็นเครื่องมือรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ

และเฝ้ากระตุ้นเตือนพวกเราให้ทำความรู้ตัว ไม่เผลอ
ไม่ว่าจะเผลอส่งจิตไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ
ส่วนมากก็จะเผลอกันทางตา กับ ทางใจคือหลงเข้าไปอยู่ในโลกของความคิด
กับเผลอไปเพ่งจ้องอารมณ์ เอาสติจ่อแน่นเข้าไปที่อารมณ์ที่กำลังปรากฏ
การกระตุ้นความไม่เผลอ และไม่เผลอเพ่ง
ก็คือการพยายามให้พวกเรามี สัมปชัญญะคือความรู้ตัวไว้เสมอๆ

3. การเจริญสติปัฏฐาน

เมื่อพวกเรามีเครื่องมือ หรืออาวุธในการปฏิบัติธรรมแล้ว
ขั้นตอนต่อไปผมจะแนะนำให้พวกเราเจริญสติปัฏฐาน
คือมีสติสัมปชัญญะระลึกรู้ กาย  เวทนา จิต และ/หรือ ธรรม
ตามความถนัดของแต่ละบุคคล

เช่นให้รู้อิริยาบถ รู้ความเคลื่อนไหวระหว่างการเดินจงกรม รู้ลมหายใจเข้าออก
เบื้องต้นถ้าจิตยังไม่มีกำลัง ก็ให้รู้ไปอย่างสมถะ
คือเอาสติจดจ่อสบายๆ ลงในกายที่ถูกรู้นั้น
เมื่อจิตมีกำลังขึ้นแล้ว ก็ให้เห็นว่า อิริยาบถ ความเคลื่อนไหวกาย หรือลมหายใจนั้น
เป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ถูกเห็น ไม่ใช่จิต
มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตานั้นเอง

เมื่อทำได้อย่างนั้นแล้ว จิตจะมีกำลังสติสัมปชัญญะมากขึ้นอีก
หากนามธรรมใดปรากฏกับจิต ก็สามารถจะรู้เท่าทันได้
เช่นเกิดความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ เกิดกุศล อกุศล ต่างๆ
ก็ให้รู้ทันนามธรรมนั้น ในลักษณะสิ่งที่ถูกรู้ เช่นเดียวกับการรู้รูปนั่นเอง

อนึ่ง คนไหนมีกำลังรู้นามธรรมได้เลย ผมมักแนะให้รู้นามธรรมไปเลย
หรือผู้ไม่ถนัดจะระลึกรู้นามธรรม
สมัครใจจะรู้รูปธรรมอย่างเดียว ก็ได้

เมื่อจิตรู้ รูปธรรม หรือนามธรรมอย่างต่อเนื่องแล้ว
พอมีกำลังสติปัญญามากขึ้น ก็จะเห็นว่า
เมื่อจิตไปรู้รูปธรรมหรือนามธรรมต่างๆ แล้ว
จิตจะมีความยินดี ยินร้าย หรือเป็นกลางขึ้นมา
ผมมักแนะนำหมู่เพื่อน ให้ระลึกรู้ความยินดี ยินร้าย หรือความเป็นกลางนั้น
เมื่อจิตรู้ความเป็นยินดี ยินร้ายแล้ว ก็จะเห็นความยินดี ยินร้ายนั้น
เกิดดับเช่นเดียวกับรูปธรรมและนามธรรมทั้งปวงนั้นเอง
แล้วจิตปล่อยวางความยินดียินร้าย เข้าไปสู่ความเป็นกลางของจิต

ตอนแรกความเป็นกลางๆ จะมีสั้นๆ แล้วก็มีความยินดี ยินร้ายเกิดขึ้นอีก
ต่อมาชำนิชำนาญขึ้น จิตจะเป็นกลางมากขึ้นตามลำดับ
ก็ให้ผู้ปฏิบัติรู้อยู่ที่ความเป็นกลางของจิต
เมื่อจิตมีกำลังขึ้น ก็จะสามารถจำแนกขันธ์ละเอียดต่อไปจนเข้าถึง ใจ ได้

ในขั้นที่จิตเฝ้าระลึกรู้ความเป็นกลางนั้น
ปัญญาชนจะเกิดโรคประจำตัว  2 ประการเป็นส่วนมาก
คือ (1) เกิดความเบื่อหน่าย แล้วเลิกปฏิบัติ
หรือ (2) เกิดความลังเลสงสัย ว่าจะต้องทำอะไรต่อไปอีกหรือไม่
แล้วเลิกปฏิบัติโดยการ รู้
หันมาคิดค้นคว้าหาคำตอบด้วยการคิดเอา

แท้จริงเมื่อจิตเข้าไปรู้อยู่ที่ความเป็นกลางแล้ว ก็ให้รู้อยู่อย่างนั้น
แล้วจิตเขาจะพัฒนาของเขาไปเองเมื่อกำลังของ สติ สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์เต็มที่

นี้เป็นข้อสรุปแนวทางการปฏิบัติธรรมโดยสังเขป
ที่ขอฝากไว้ให้กับหมู่เพื่อนเพื่อประกอบการพิจารณาปฏิบัติต่อไป

(มีต่อ)

40
เขียนเมื่อ วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 08:16:23

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ  สอนธรรมไว้ประการหนึ่งไว้ว่า
พระสัทธรรมเมื่อเข้าไปตั้งอยู่ในจิตของปุถุชน ก็ย่อมกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูป
ปัญหาก็คือ เหตุใดจิตของปุถุชนจึงทรงพระสัทธรรมของแท้ไว้ไม่ได้ ?

จิตปุถุชนไม่เหมาะกับการรองรับพระสัทธรรม ก็เพราะยังมีมิจฉาทิฏฐิ
คือมีความเห็นสุดโต่งระหว่าง สัสสตทิฏฐิหรือความมีอยู่ถาวร กับอุทเฉททิฏฐิหรือความขาดสูญ
ทั้งยังประกอบด้วยสักกายทิฏฐิ คือความเห็นว่าขันธ์ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จิต ว่าเป็นเรา
การกำหนดจดจำธรรมใดๆ ไว้ในจิต จึงอดไม่ได้ที่จะเจือความเห็นผิด
หรือการตีความธรรมอย่างผิดๆ เอาไว้ด้วย

เรื่องของมิจฉาทิฏฐินั้น หากเกิดขึ้นกับจิตดวงใด
จิตดวงนั้นย่อมเป็นอกุสลจิตเสมอ

ในความเป็นจริงแล้ว จิตของปุถุชน มักจะเป็นเพียงอกุสลจิต และวิบากจิตเท่านั้น
น้อยนักจะเป็นกุสลจิตได้อย่างแท้จริง เว้นแต่จะเป็นกุสลจิตแบบอนุโลมเอา
เช่นผู้ที่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วพิจารณาใคร่ครวญตาม
ก็พอจะน้อมใจเชื่อตามสัมมาทิฏฐิได้บ้างในขณะสั้นๆ
แต่เมื่อใดไม่ใคร่ครวญ ไม่สำรวมระวังความคิด
มิจฉาทิฏฐิก็กลับมาครอบงำจิตอีกโดยง่าย
คือจะเกิดความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา กายนี้เป็นเรา คนก็เป็นคน สัตว์ก็เป็นสัตว์จริงๆ

และหากพิจารณาในด้านของกิเลสที่เกิดขึ้นกับจิต ก็จะพบว่าจิตของปุถุชนนั้น
โอกาสที่จะเกิดกุสลจิตจริงๆ คือไม่มีอกุสลในจิต เป็นไปได้น้อยยิ่ง
เพราะเว้นแต่วิบากจิตเสียแล้ว จิตส่วนมากก็จะถูกครอบงำด้วยโมหะเกือบตลอดเวลา
แม้ในขณะที่ทำบุญทำทาน ศึกษาปฏิบัติธรรม
จิตก็มักจะถูกโมหะครอบงำเอาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวเสมอๆ

ตัวมิจฉาทิฏฐิก็เป็นโมหะ ตัวกิเลสครอบงำประจำจิตก็เป็นโมหะ
รวมความแล้วโมหะนี้เองเป็นข้าศึกอย่างร้ายกาจทีเดียว
จิตของปุถุชน แทบไม่มีเวลาพ้นจากอำนาจของโมหะ
จึงไม่เหลือที่ว่างพอที่จะให้พระสัทธรรมประดิษฐานลงได้จริง


โอกาสที่จิตจะรอดจากโมหะมีไม่มากนัก
เพราะจิตใจของเราเหมือนถูกขังอยู่ในเขาวงกฏที่สลับซับซ้อนมาก
ช่องทางที่จะหนีรอด มีเพียงช่องทางเล็กๆ อยู่ช่องเดียว
ถ้าปราศจากพระพุทธเจ้าชี้ช่องทางนี้แล้ว ยากนักที่เราจะพบทางออกได้เอง
และช่องทางที่จะรอดจากโมหะหรือความหลง
ก็คือการเจริญสติสัมปชัญญะหรือความไม่หลงนั่นเอง

เมื่อใดจิตเกิดสติสัมปชัญญะ เมื่อนั้นจึงเกิดกุสลจิตที่แท้จริง
แต่พวกเราที่เคยฝึกเจริญสติสัมปชัญญะ
ต่างก็ซาบซึ้งแก่ใจดีแล้วว่า เข้าใจยากและทำยากเหลือเกิน
ขนาดคนที่มีศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว และอยากจะทำ ก็ยังทำยาก
นับประสาอะไรกับคนที่ไม่มีศรัทธามาก่อน และไม่อยากทำ
ด้วยเหตุนี้แหละ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว จึงทรงท้อพระทัยที่จะสอน

การที่จะน้อมนำพระสัทธรรมเข้ามาประดิษฐานให้ถาวรในจิตก็ดี
การที่จะเผยแผ่พระสัทธรรมไปสู่จิตของผู้อื่นก็ดี
จึงเป็นงานที่ยากมาก เพราะต้องต่อสู้กับความไม่รู้ทั้งหลายของตนเองและผู้อื่น
แต่ถ้าพวกเราผู้มีโอกาสมากในสังคม ไม่ตั้งใจทำงานนี้
แล้วจะผลักภาระการรักษาพระสัทธรรมไปให้ใครได้ล่ะครับ
ดังนั้นอย่าประมาท นิ่งนอนใจ หรือเบื่อหน่ายท้อแท้ให้เสียเวลาเปล่า
ให้ตั้งใจปฏิบัติเพื่อน้อมนำพระสัทธรรม
เข้าสู่จิตใจให้ได้โดยทั่วกันทุกๆ คนนะครับ

41
เขียนเมื่อ วัน พุธ ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 09:46:56

วันนี้เป็นวันครบรอบ 18 ปี ที่ผมได้ไปศึกษาธรรมกับ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ตลอด 18 ปีมานี้ ไม่มีวันใดเลย ที่ผมไม่ได้ทำตามคำสอนของท่าน
และไม่มีวันใดเลย ที่จะไม่ระลึกถึงท่านด้วยความเคารพนอบน้อม

โอวาทธรรมที่ท่านสอนให้คราวนั้นก็คือ อริยสัจจ์แห่งจิต
ความว่า
จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ


ทุกวันนี้ มีผู้ปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่ท่านสอนกว้างขวางมากขึ้นตามลำดับ
หลายคนที่เพียงเริ่มปฏิบัติไม่นานก็ได้พบว่า
ชีวิตจิตใจของตนได้พบความสงบสุข อันเนื่องมาจากความรู้เท่าทันกิเลสตัณหา
ผู้ไม่เคยมีศีล ก็มีศีลโดยอัตโนมัติ
ผู้ไม่เคยมีสมาธิ ก็มีสมาธิโดยอัตโนมัติ
ผู้ไม่มีปัญญา ก็มีปัญญาประจักษ์ถึงความเกิดดับของอารมณ์ทั้งปวง ต่อหน้าต่อตา
ล้วนเป็นพยานยืนยันในคำสอนของท่าน ที่หนักแน่นมั่นคงยิ่งกว่าคำโฆษณาใดๆ

************************************

เมื่อกล่าวถึงการดูจิตแล้ว นักดูจิตน้องใหม่มักจะสงสัยและถามกันมากว่า
การดูจิตนั้น แท้ที่จริงคือการดูอะไร
เพราะจิตนั่นแหละเป็นผู้รูู้ จะใช้ผู้รู้ ูไปดูผู้รูู้ได้อย่างไรกัน

กระทั่งผู้ฝึกหัดปฏิบัติไปบ้างแล้ว หากยังไม่ "เข้าใจ"
(คือรู้ด้วยจิตด้วยใจตนเอง ไม่ใช่รู้ด้วยสมองหรือสัญญาความจำ)
บางครั้งก็ยังอาจสับสนขึ้นเป็นคราวๆ ได้ว่า
ที่ตนดูอยู่นั้น ถูกต้องแล้วหรือยัง

ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา เพื่อช่วยทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดูจิตให้ชัดเจนขึ้น
โดยมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่บรรดาน้องใหม่ทั้งหลาย
ส่วนรุ่นพี่ที่แก่วัด(หมายถึงชำนาญการวัดจิตใจตนเอง) แล้ว
ถือว่าเป็นของอ่านเล่นก็แล้วกันครับ

***********************************

สรุปย่อเกี่ยวกับขั้นตอนของการดูจิต

สิ่งที่เราต้องรู้ ต้องดู ในระหว่างการปฏิบัติธรรม
ประกอบด้วย 1. อารมณ์(ของจิต) 2. อาการ(ของจิต) และ 3. จิต

เริ่มต้นด้วยการรู้ อารมณ์ ที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
อารมณ์นั้น ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย และธัมมารมณ์หรืออารมณ์ทางใจ
เมื่อรู้อารมณ์แล้ว จะเห็นชัดเจนว่า อารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
และเมื่ออารมณ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นั้น
จิตจะมี อาการ หรือมีปฏิกิริยาต่อการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของอารมณ์อยู่เสมอ
เป็นความยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง เป็น "กลาง" บ้าง
เมื่อยินดี จิตก็ทะยานออกไปยึดถือเป็นเจ้าของอารมณ์นั้นๆ
เมื่อยินร้าย จิตก็ทะยานออกไปปฏิเสธอารมณ์นั้นๆ
เมื่อเป็น "กลาง" จิตก็ยังหลงอยู่ในความเป็นเราของจิต

ผู้ปฏิบัติต้องรู้ทันอาการของจิตตามความเป็นจริง
ซึ่งอาการเหล่านี้ ล้วนแต่เป็น อารมณ์ทางใจ
ที่เกิดต่อเนื่องจากการรู้อารมณ์ในเบื้องต้นนั่นเอง

เมื่อรู้ความยินดียินร้ายด้วยจิตที่เป็นกลางแล้ว
ความยินดียินร้ายจะดับไป เหมือนกับอารมณ์อื่นๆ นั่นเอง
กระทั่งความเป็น "กลาง" จอมปลอม ก็จะถูกทำลายไป
จิตก็จะเข้าถึงธรรมชาติรู้ที่เป็นกลาง
ก็ให้ผู้ปฏิบัติ รู้อยู่ที่ จิต หรือธรรมชาติรู้ที่เป็นกลางนั่นเอง

ถัดจากนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรให้วุ่นวายอีก
ให้จิตรู้อารมณ์ด้วยความเป็นกลางไปตามธรรมชาติธรรมดา
โดยไม่หลงใหล หรือหลง "ไหล" ไปตามมายาของกิเลส คือไม่ส่งออกนอก
แล้วจิตก็จะเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งไปตามลำดับ
อย่างอื่น ก็จะรู้เองเป็นเองโดยไม่ต้องถามใคร

น้องใหม่ทั้งหลาย อ่านเท่านี้ก็พอครับ
ข้อเขียนต่อจากนี้ จะเป็นการขยายความ ซึ่งไม่จำเป็นอะไรนัก
ถ้าอ่านแล้วคิดมาก อาจจะยุ่งยากใจก็ได้
แต่ถ้าจะอ่านเล่นๆ ก็ไม่ห้ามกันครับ

***********************************

บทขยายความ

1. อารมณ์ของจิต

คำว่าอารมณ์ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ได้
เช่นเมื่อตามองไปเห็นแมว รูปแมวก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางตา
เมื่อได้ยินเสียงเพลง เสียงเพลงก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางหู
เมื่อเราคิดนึกปรุงแต่งทั้งดี ชั่ว และเป็นกลาง
ความคิดนึกปรุงแต่งเหล่านั้นก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางใจ เป็นต้น

นักปฏิบัติในขั้นเบื้องต้นนั้น ให้รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏเสียก่อน
ถ้าเป็นผู้ที่จิตใจยังไม่เคยสงบเลย
ก็ให้เอาสติกำหนดรู้อารมณ์อันใดอันหนึ่ง
หรือทางทวารอันใดอันหนึ่ง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ
รู้อย่างสบายๆ ให้ต่อเนื่องไว้

เช่นเดินจงกรม ก็จับความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้นเรื่อยไป
นั่งกำหนดลมหายใจ ก็จับความรู้สึกที่ลมกระทบจมูก
หรือจุดใดจุดหนึ่งตั้งแต่ปลายจมูก จนถึงท้อง
ขอให้สนใจที่จะจับความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้น หรือลมกระทบกายไว้
ไม่ใช่เอาสติจับเข้าไปที่เท้า หรือที่ตัวลมหายใจ
เพราะการจับความรู้สึกนั้น ง่ายที่จะพัฒนาไปสู่การดูจิตที่ละเอียดยิ่งขึ้นต่อไป
เนื่องจากจิต เป็นเรื่องของความรู้สึก ไม่ใช่รูปธรรม
ส่วนการใช้สติจับเข้าไปในวัตถุเช่นเท้าและลม
ง่ายที่จิตจะน้อมไปสู่ความสงบในแบบสมถกรรมฐาน
โดยเพ่งแช่จมอยู่กับเท้า หรือลมหายใจนั้น

บางคนถามว่า ถ้าไม่กำหนดให้รู้การกระทบทางทวารหนึ่งทวารใด
แต่ปล่อยให้สติตามรู้การกระทบในทุกๆ ทวาร
แล้วแต่ว่าขณะใด ความรู้สึกทางทวารใดจะเด่นชัดที่สุด จะได้หรือไม่
ขอเรียนว่า ถ้าทำไหวก็ได้ แต่ถ้าเป็นมือใหม่ที่ยังไม่ชำนาญ ก็เห็นจะทำยากสักหน่อย
เปรียบเหมือนนักมวย เวลาเขาฝึกซ้อม เขาก็ฝึกซ้อมไปทีละอย่างก่อน
เช่นวิ่งออกกำลังกาย กระโดดเชือก แล้วซ้อมเต้น ซ้อมเตะ ซ้อมต่อยไปทีละท่า
พอชำนิชำนาญแล้วจึงซ้อมชกจริงๆ แล้วขึ้นเวทีต่อไป

การวิ่งออกกำลังกาย เปรียบเหมือนการทำสมถกรรมฐาน
อันเป็นกำลังพื้นฐานเพื่อใช้งานต่อไป
นักปฏิบัติจึงไม่ควรละเลยเสียทีเดียว ควรจะมีเวลาเข้าหาความสงบจิตใจบ้าง
โดยทำกรรมฐานใดๆ ก็ได้ ที่ทำแล้วสงบง่าย

การซ้อมเต้น ซ้อมต่อย ซ้อมเตะ ซ้อมศอก ซ้อมเข่า เหล่านี้
เปรียบเหมือนการฝึกซ้อม รู้ความรู้สึกทางทวารใดทวารหนึ่ง
ที่ง่ายที่สุดก็คือทวารกาย เช่นเท้ากระทบพื้น ลมกระทบจมูก เป็นต้น

เมื่อมีความพร้อมพอแล้ว เวลาลงสนามจริง
จะได้ไม่ถูกกิเลสไล่ถลุงเอาเป็นไก่ตาแตก
ไม่ว่าอารมณ์จะเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ก็สามารถจับความรู้สึกที่ส่งเข้ามากระทบจิตได้ทันท่วงที

การฝึกหัดปฏิบัติเข้มเป็นบางเวลา กับการลงสนามปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
จึงมีส่วนเกื้อกูลกันดังที่กล่าวมานี้
แต่ถ้าใครเห็นว่าจิตของตนแข็งแรงพอแล้ว ไม่ต้องการทำสมถะ
และสติสัมปชัญญะว่องไวดีแล้ว ไม่คิดจะเข้าค่ายซ้อม
จู่ๆ จะลองโดดลงสนาม ไปปฏิบัติเอาในชีวิตประจำวันเลย ก็ได้
ถ้าชกชนะกิเลส ก็จะมีกำลังเข้มแข็งขึ้น โดยเริ่มชนะกิเลสระดับปลายแถวก่อน
แล้วค่อยเขยิบขึ้นไปต่อกรกับกิเลสที่ละเอียดแนบเนียนต่อไปตามลำดับ
แต่ส่วนมาก ผู้ที่ละเลยการทำความสงบ และการฟิตซ้อมที่ดี
มีโอกาสจะถูกกิเลสชกเอาเสียมากกว่า
เพราะกิเลสนั้น เป็นมวยระดับแช้มป์โลก
จะเข้าต่อกรด้วยมวยวัด ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก

เมื่อเราหัดจับความรู้สึก เช่นความรู้สึกตอนที่เท้ากระทบพื้น
หรือลมหายใจกระทบปลายจมูก ไปมากพอแล้ว
ความรู้สึกจะรวมเข้ามาที่กลางอกเองโดยอัตโนมัติ
พอเท้ากระทบพื้น ก็จะเห็นความไหวของอารมณ์ขึ้นที่กลางอก
กระพริบตาวิบเดียว ก็จะเห็นความไหวเข้ามาที่กลางอก
ทำนองเดียวกับเวลาเราตกใจ จะมีความรู้สึกวูบเข้ามาที่กลางอกนั่นเอง
คนไทยโบราณ ท่านเข้าใจธรรมชาติของจิตไม่ใช่น้อยทีเดียว
ท่านจึงมีศัพท์บัญญัติเกี่ยวกับความรู้สึกในอกอยู่มาก
เช่นอิ่มอกอิ่มใจ ร้อนอกร้อนใจ เสียอกเสียใจ คับอกคับใจ
เสียวแปลบในหัวอก วูบในหัวอก เสียใจจนอกจะแตกตาย
สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ ฯลฯ

ความรู้สึกที่ผุดขึ้นที่กลางอกนี้ ขอให้มันเกิดขึ้นเอง เพราะการรู้อารมณ์
แล้วจับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรู้อารมณ์นั้นได้
จนกระทั่งยกระดับขึ้นมารวมลงในอก
เราไม่ควรใจร้อน เพ่งใส่อก เพราะจะกลายเป็นการเพ่งวัตถุธาตุที่ประกอบขึ้นเป็นอก
ไม่ใช่จับความรู้สึกที่ปรากฏขึ้นในอก

อย่างไรก็ตาม ถ้ารู้สึกว่ามีความไหวอยู่ที่อื่น นอกจากอก ก็ไม่ต้องตกใจ
มันจะไหวอยู่ที่ใด เช่นเวลาโกรธ แล้วไปรู้สึกวูบที่สมอง ก็ไม่เป็นไร
อย่าไปกังวลกับที่ตั้งมากนัก
ปล่อยให้มันเป็นไปเองตามธรรมดา จะดีที่สุดครับ
แล้วเวลาเกิดกิเลส เช่นความสงสัย หรือความโกรธ
คอยเฝ้ารู้มันไว้ มันดับลงตรงไหน ก็รู้อยู่ที่ตรงนั้นเอง
ไม่ต้องเที่ยวไปหาจุดที่ตั้งอื่นใดให้วุ่นวายใจ

อนึ่ง บางคนอาจจะสงสัยว่า ความรู้สึกต่างๆ ที่แสดงออกมาในอกนี้
อาจจะเป็นเพียงอาการทางกายเท่านั้น
เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นปัญหาหลัก ที่จะต้องอภิปรายถกเถียงกันในที่นี้
เพราะเราเพียงต้องการอาศัยรู้ความรู้สึกที่กำลังปรากฏเท่านั้น
เพื่อที่จะก้าวต่อไปให้ถึงจิต
ทำนองเดียวกับการตกปลา จะใช้เหยื่อจริง หรือเหยื่อปลอมก็ไม่มีปัญหา
ขอให้จับปลา คือจิต ได้ก็แล้วกัน

ความรู้สึกต่างๆ ในอกนี้ ก็กลายเป็นอารมณ์ คือเป็นสิ่งที่ถูกรู้เช่นกัน

**********************************

สิ่งที่ผมกล่าวมาแล้วนั้น เป็นการจับความรู้สึก เมื่อจิตไปรู้อารมณ์เข้า
ยังมีวิธีปฏิบัติที่รวบลัด และจะขอยกตัวอย่างอีกแบบหนึ่ง
คือเมื่อเราทำความสงบพอสมควรแล้ว
ให้น้อมจิตเข้าไประลึกรู้อารมณ์ทางใจโดยตรง
ไม่ต้องผ่านการรู้อารมณ์ทางกาย เช่นเท้ากระทบพื้น หรือลมกระทบจมูก
วิธีนี้จะง่าย หากเรารู้ถึงกิเลสที่กำลังปรากฏชัดๆ สักตัวหนึ่ง
เช่นหากกำลังสงสัย ให้รู้เข้าไปที่ความรู้สึกสงสัยโดยตรงทีเดียว
เอาความสงสัยนั่นแหละ มาเป็นอารมณ์ให้จิตรู้
เมื่อรู้ชำนิชำนาญเข้า ความรู้สึกก็จะรวมลงในอกอีกเช่นกัน

สรุปแล้ว การปฏิบัติในขั้นต้นของการดูจิต
ขอให้เรารู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏเสียก่อน
เช่นความรู้สึกที่เท้าสัมผัสพื้น ลมหายใจสัมผัสจมูก
หรือเวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ทั้งหลาย
หรือสัญญาคือความจำได้หมายรู้ที่ผุดขึ้นมา
หรือจิตสังขาร คือความคิดนึกปรุงแต่งทั้งฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว และเป็นกลางๆ
แรกๆ อาจจะรู้การกระทบทางกายก่อนก็ได้
แต่เมื่อทำไปแล้ว จะพบว่าการกระทบทางกายนั้น
จะส่งผลสะเทือนเข้าไปถึงใจ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงกายแต่อย่างใด

*************************************************

2. อาการของจิต
ทุกคราวที่มีอารมณ์มากระทบตา หู จมูก ลิ้น และกาย
แล้วส่งทอดความรู้สึกเข้าถึงใจ
หรือบางคราว แม้ไม่มีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย
หากสัญญาผุดขึ้นทางใจ ความคิดนึกปรุงแต่งทางใจก็เกิดขึ้น
ซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถรู้ได้ชัดเหมือนตาเห็นรูปทีเดียว
เมื่ออารมณ์เข้าสัมผัสใจแล้ว
จิตจะมีปฏิกิริยาอาการขึ้นมาเป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบ
นักดูจิตที่ชำนาญ จะรู้ทันปฏิกิริยา หรืออาการของจิตที่เกิดขึ้นนั้น

ปฏิกิริยามีอยู่ 3 รูปแบบเท่านั้น คือเกิดความยินดีต่ออารมณ์นั้น
เกิดความยินร้ายต่ออารมณ์นั้น
หรือเกิดความรู้สึกเป็นกลางวางเฉยต่ออารมณ์นั้น

ขอให้ผู้ปฏิบัติ รู้อารมณ์และปฏิกิริยาของจิต ถ้ารู้ได้
แต่ถ้ายังรู้ไม่ได้ ก็ขอให้รู้อารมณ์อย่างเดียวไปก่อน

บรรดาความยินดี ยินร้ายนั้น เมื่อจิตไปรู้เข้าแล้ว
จะเห็นมันมีสภาพเป็นไตรลักษณ์เช่นเดียวกับอารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 นั่นเอง
ถ้ารู้ด้วยความเป็นกลางจริงๆ ไม่ช้ามันก็จะดับไป
จิตจะเข้าถึงความเป็นกลาง
คราวนี้ ก็ให้ผู้ปฏิบัติรู้ความรู้สึกที่เป็นกลางนั้นต่อไป

*****************************************************

3. จิต
เมื่อปฏิบัติชำนิชำนาญเข้าจะพบว่า ความเป็นกลางก็ยังมีหลายแบบ
ความรู้สึกเป็นกลางแบบเฉยๆ ก็มี
ความเป็นกลางของจิตในขณะที่จิตเบิกบานและเป็นตัวของตัวเองก็มี
แบบแรกนั้นจิตถูกอารมณ์ละเอียดห่อหุ้มไว้ แต่ยังมองไม่ออก
ส่วนแบบหลัง จิตพ้นการห่อหุ้มแล้ว
จิตชนิดหลังนี้ บางทีครูบาอาจารย์เรียกว่า จิตหนึ่ง บ้าง จิตเดิมแท้ บ้าง ใจ บ้าง
อันนั้นก็เป็นเพียงคำสมมุติเรียกขาน

ถ้าปฏิบัติจนเข้าถึงความเป็นกลางอย่างหลังนี้ ความทุกข์จะก่อตัวขึ้นไม่ได้
เพราะจิตพ้นความปรุงแต่งของสังขารแล้ว
ซึ่งอาจเป็นการพ้นชั่วขณะ หรือพ้นถาวรก็ได้
แล้วแต่คุณธรรมที่เข้าถึง

(มีต่อ)

42
เขียนเมื่อ วัน จันทร์ ที่ 26 มิถุนายน 2543 19:17:00

อ่านหลายกระทู้ในลานธรรม ที่แนะนำให้มองทุกอย่างให้ว่างจาก ตัวกู - ของกู
และอ่านกระทู้ ความวิปลาส ของคุณพัลวันในวิมุตติแล้ว
เห็นว่าเราน่าจะคุยกันเรื่อง ตัวกู - ของกู สักครั้งหนึ่ง

ช่วงที่ผมคลั่งคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส
ผมรู้สึกว่าตนเองเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างถึงแก่นแท้แล้ว
คือถ้าพยายามมองอะไรแบบว่างจาก ตัวกู - ของกู เสียอย่างเดียว
ทุกสิ่งก็เป็นความว่าง ทั้งว่างจาก ตัวกู - ของกู และว่างจากกิเลสตัณหา
เมื่อถึงความว่างอย่างนี้แล้ว ก็คือพ้นจากความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง
เป็นอันว่าจบหลักสูตรพระพุทธศาสนา จัดเป็นผู้รู้จริงคนหนึ่ง
เพราะเข้าถึงแก่นธรรม หรือหัวใจของพระพุทธศาสนาที่ว่า
"สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ - ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น"

ความรู้ความเห็นที่ให้มองอะไรๆ ให้ว่างจาก ตัวกู - ของกู
มีผลในทางทำให้กิเลสในใจเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัดเหมือนกัน
อย่างจะโกรธใครสักคน ก็คิดว่าเขาไม่ได้ด่าเรา เพราะเราไม่มี
ตัวเขาเองก็ไม่มีอะไร มีแต่แค่เสียงกระทบหู
แล้วจิตที่โง่ก็ไปคิดว่า "เขา" ด่า "เรา" จึงเป็นทุกข์ขึ้นมา
การคอยคิดเรื่อง ตัวกู - ของกู ช่วยให้จิตใจสบายขึ้นได้จริงๆ

นอกจากนี้ก็อิ่มใจ ภูมิใจ ว่าเราเข้าถึงแก่นธรรมแล้ว
ส่วนคนอื่นๆ ยังเป็นคนที่วิ่งเลาะอยู่ริมฝั่ง
เช่นยังหลงอยู่กับพิธีกรรมต่างๆ อันเป็นเปลือก เป็นกระพี้ศาสนา

จนเมื่อได้มาปฏิบัติอย่างจริงจังแล้วนั่นแหละ จึงพบว่า
การจะให้เห็น ตัวกู แล้วขจัดได้จริงๆ
หรือการมองทุกอย่างเป็นความว่าง ทั้งจิตก็ว่าง และไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง
เป็นงานที่ยากแสนยาก และทำไม่ได้ด้วยการคิดๆ เอาเอง

มีแต่การเจริญสติปัฏฐานอย่างจริงจังเท่านั้น
จิตจึงจะพ้นจากตัณหาและทิฏฐิ และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ได้จริง
จิตที่คิดแต่เรื่องความว่าง ความไม่มี ตัวกู - ของกู
คือจิตที่มีทิฏฐิถูกต้องครอบงำ
คือเห็นว่า "ความเห็นหรือทิฏฐินี้ สมควรแก่เรา..  เราเชื่ออย่างนี้"
ซึ่งยังห่างไกลจากความว่าง หรือความไม่มี ตัวกู - ของกู แบบคนละเรื่องทีเดียว

*********************************************

ต่อไปนี้ ขอเปลี่ยนจากคำว่า กู เป็น เรา
เพราะไม่เกี่ยวกับท่านอาจารย์พุทธทาสแล้ว

สิ่งที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นตัวกูนั้น
ก็เริ่มจากการรู้สึกว่า ร่างกายนี้แหละคือตัวเรา
แต่พอเจริญสติสัมปชัญญะเข้า ก็เริ่มเห็นว่า
อ้อ กายนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก แต่เป็นกายของเรา
เพราะกายนี้ถูกเห็น ถูกรู้อยู่ต่อหน้าต่อตา
จึงลดระดับจากกายที่เป็น ตัวเรา เหลือเพียงเป็น กายของเรา
(เหมือนที่รู้สึกว่า นี่แขนของเรา นี่ขาของเรา นี่ศีรษะของเรา
ชี้ลงที่อวัยวะใด ก็ล้วนแต่เป็นอวัยวะของเรา
ไม่มีอวัยวะใดที่ชี้แล้วเรียกว่า ตัวเรา ได้เลย)

แม้เวทนา สัญญา และสังขาร ก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้เช่นเดียวกับกาย
มันจึงปรากฏชัดว่า เป็นเวทนา สัญญา และสังขารของเรา
แล้วก็จะเหลืออยู่แต่จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้คิด ผู้นึก ผู้ยินดียินร้าย
ตัวนี้แหละดูอย่างไรก็รู้สึกว่า เป็น ตัวเรา

เรื่องความเป็นตัวเราของจิตนั้น มันซ้อนกันอยู่ 2 ระดับ
คือ ความเห็นว่าจิตเป็นเรา อย่างหนึ่ง
และ ความยึดว่าจิตเป็นเรา อีกอย่างหนึ่ง

การทำลายความเห็นผิด ว่าจิตเป็นเราก็ดี
การทำลายความยึดมั่น ว่าจิตเป็นเราก็ดี
ทำไม่ได้ด้วยการคิดๆ เอา ว่าไม่มีตัวกู - ของกู
เพราะคิดอย่างไรก็คือ กูคิด - กูรู้ อยู่นั่นเอง
แต่ทำได้ด้วยการเจริญสติปัฏฐานให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้น

ผมเคยไปนั่งพับเพียบจับเข่าท่านอาจารย์พุทธทาสแล้วเรียนถามท่านว่า
"ท่านอาจารย์เขียนหนังสือตั้งมากมาย
ถ้าผมอ่านให้หมด แล้วคิดตาม ผมจะรู้ธรรมได้หรือไม่"
ท่านตอบว่า "ไม่รู้หรอก"
ผมจึงถามท่านว่า "แล้วทำอย่างไรจึงจะรู้ธรรม"
ท่านตอบว่า "ต้องเจริญสติเอาเอง"
กล่าวแล้ว ท่านอาจารย์ก็กำหนดสติรู้ลมหายใจของท่าน

******************************************

(มีต่อ)

44
เขียนเมื่อ วัน จันทร์ ที่ 19 มิถุนายน 2543 12:30:59

การมองโลกแง่ดีเป็นศิลปะสำคัญของการดำรงชีวิตให้มีความสุข
เป็นอุบายกล่อมใจ ให้ยอมรับสภาพปัญหาที่กำลังปรากฏ
เพื่อให้มีกำลังใจ และความเข้มแข็งในการต่อสู้กับชีวิตต่อไป

ผมเคยอ่านพระคัมภีร์ไบเบิ้ล พบคำสอนของพระเยซูที่ประทับใจบทหนึ่ง
ท่านสอนว่า "ร่างกายสำคัญกว่าเสื้อผ้า ชีวิตสำคัญกว่าอาหาร"
เป็นการสอนคนที่ขาดเสื้อผ้าให้ทราบว่า
เขามีสิ่งที่สำคัญกว่าเสื้อผ้า คือร่างกายของตนเอง
และสอนคนที่ขาดอาหาร ให้พอใจแล้วที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้

ได้อ่านขำขัน ที่เด็กคนหนึ่งถูกเพื่อนขโมยขนมไปครึ่งหนึ่ง
เด็กนั้นรำพึงรำพันว่า แกต้องเสียขนมไปตั้งครึ่งหนึ่ง
แล้วเพื่อนก็ปลอบว่า ให้มองโลกในแง่ดีสิ แกยังเหลือขนมอีกตั้งครึ่งหนึ่ง
การเปลี่ยนมุมมองสักนิด บางทีก็ทำให้อะไรๆ ดีขึ้นได้หลายอย่าง

ในช่วงวิกฤต IMF นั้น หลายคนเดือดร้อนมาก
บางคนล้มละลาย บางคนท้อแท้ใจในชีวิต
แต่บางคนมองโลกในแง่ดีว่า
ในวันที่เขาเกิดมานั้น เขาไม่มีอะไรมาเลย
ไม่มีทรัพย์สิน กำลังกาย กำลังความรู้
ตอนนี้ถึงจะไม่มีทรัพย์สิน แต่ก็ยังมีกำลังกาย ความรู้ และประสบการณ์
นับว่ายังดีกว่าจุดเริ่มต้นอีกมากนัก

การมองโลกในแง่ดีเพื่อสร้างความพอใจในสิ่งที่ตนมี ยอมรับในสิ่งที่ตนได้
เป็นคำสอนของปราชญ์ทั่วไป รวมทั้งพระศาสดาของเราชาวพุทธด้วย
เช่นทรงสอนให้เรามองโลกด้วยความเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลกและสรรพสัตว์
แต่คำสอนทางพระพุทธศาสนา ยังก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง

เหนือการมองโลกในแง่ดี คือการมองโลกตามความเป็นจริง

การมองโลกตามความเป็นจริงของพระพุทธศาสนานั้น
มีความลึกซึ้งและละเอียดอ่อนมาก
คือท่านสอนตั้งแต่วิธีการมองโลกตามความเป็นจริง
ให้รู้ปรากฏการณ์ทั้งปวงที่สัมผัสได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ตามที่มันเป็น
โดยไม่นำประสบการณ์ หรือความคิด เข้าไปเบี่ยงเบนการเรียนรู้นั้น

ท่านชี้บอกกระทั่งว่า เมื่อมองโลกตามความเป็นจริงแล้ว เราจะเห็นอะไร
คือเราจะเห็นว่า สิ่งที่ถูกเห็นทั้งปวงนั้น
มีความเกิดขึ้นด้วยเหตุ และดับไปเมื่อเหตุดับ

ยังมีคำสอนที่ลึกซึ้งและอัศจรรย์ยิ่งกว่านี้อีก
คือท่านสอนให้มองย้อนเข้ามาที่ตนเองด้วย
ไม่ใช่เพียงรู้โลกตามความเป็นจริงเท่านั้น
หากแต่ยังให้รู้จักมอง ตนเอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของประสบการณ์ทั้งปวงด้วย

ความรู้ทางพระพุทธศาสนาจึงเป็นความรู้ที่แจ่มแจ้ง
คือรู้ตามความเป็นจริงถึงสิ่งภายนอก อันได้แก่ปรากฏการณ์ทั้งปวง
และรู้ชัดถึงสิ่งภายใน อันได้แก่สิ่งที่เรียกว่า เรา เรา เรา ด้วย

เมื่อมองทุกอย่างตามความเป็นจริงจนถึงขั้นปราศจากตัวเราแล้ว
สิ่งภายนอกทั้งปวงจะมีความหมายอะไร
ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ต้องคอยนั่งปลอบใจตนเอง
หรือพยายามมองโลกในแง่ดีเป็นคราวๆ ไป
การแก้ปัญหาความทุกข์ด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาจึงมีจุดสิ้นสุด

หากจะสรุปรวบย่อ ก็อาจกล่าวได้ว่า
มองโลกแง่ดี มีความสุข
มองโลกตามความเป็นจริง พ้นทุกข์

45
เขียนเมื่อ วัน อังคาร ที่ 23 พฤษภาคม 2543 11:17:21

การปฏิบัตินั้น เท่าที่ผมสังเกตมา
พบว่ามีจุดที่ยากลำบากอยู่ 2 จุดด้วยกัน
ใครผ่าน 2 จุดนี้ได้ การปฏิบัติก็จะค่อนข้างง่าย
เพราะจิตจะพัฒนาไปได้เอง
แต่ถ้าผ่านไม่ได้
ถึงปฏิบัตินานเพียงใด ก็ยากที่จะได้ผลอันน่าเย็นใจ

จุดแรกที่ยากลำบากมากก็คือ
จุดที่จะเปลี่ยนจากผู้ไม่มีสติสัมปชัญญะ
ให้เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ หรือรู้จักสติสัมปชัญญะ
จุดนี้ยากมาก เข้าขั้นยากแสนเข็ญทีเดียว
เพราะเท่ากับการปลุก จิตที่หลับไม่รู้ตื่นมาชั่วกัปป์กัลป์
ให้ลืมตาตื่นขึ้นมา


นักปฏิบัติเกือบทั้งหมด
จะปฏิบัติไปด้วยจิตที่หลับฝัน
นั่งก็นั่งฝัน ยืนก็ยืนฝัน เดินก็เดินฝัน
เพราะอำนาจของโมหะครอบงำจิต
ซึ่งไม่ให้อะไรมากไปกว่าความสงบ
หรือปรากฏการณ์ทางจิต ที่เกิดจากความสงบ

พระป่า ท่านจะปลุกจิตให้ตื่นด้วยการบริกรรมพุทโธ
หรือกำหนดลมหายใจ หรือการทำสมถกรรมฐานอื่นๆ
จนจิตรวมเป็นหนึ่ง
แล้วจับเอาจิตผู้รู้ ที่พ้นจากการครอบงำของโมหะออกมาได้
ซึ่งการจะสังเกตเอาจิตผู้รู้ออกมาได้นั้น
ไม่ใช่ทุกคนที่ทำสมถะจะทำได้
แต่จะต้องเป็นสมถะที่มีปัญญาสัมมาทิฏฐิเป็นเครื่องชี้นำเท่านั้น
สมาธิที่มีสัมมาทิฏฐิชี้นำ จึงจะเป็นสัมมาสมาธิ
หรือเป็นสมาธิที่เป็นไปเพื่อความมีสติสัมปชัญญะนั่นเอง
คือจิตจะมีสติรู้อารมณ์
และมีสัมปชัญญะรู้ตัวไม่เผลอตามอารมณ์ไป
ผลก็คือจะสามารถจำแนกอารมณ์หรือสิ่งที่ถูกรู้
ออกจากจิตผู้รู้ได้ในที่สุด
อันจะเป็นฐานของการจำแนกรูปนามเพื่อการเจริญวิปัสสนาต่อไป

พวกเราชาวเมืองทำสมาธิยาก
ก็ยังมีวิธีที่จะปลุกจิตให้ตื่นด้วยปัญญา
คือใช้ความสังเกตกายใจของตนไปเลย
จนพบว่า กายก็ถูกรู้ เวทนา สัญญา สังขาร ก็ถูกรู้
หรืออย่างที่ผมพยายามไล่จี้พวกเรานั้น
วัตถุประสงค์ก็เพื่อกระตุ้นให้จิตตื่น
และรู้จักสติสัมปชัญญะนั่นเอง

เมื่อมีจิตที่ตื่น รู้ตัว มีสติและสัมปชัญญะแล้ว
ก็จะมาถึงจุดที่ยากลำบากที่สุดอีกจุดหนึ่ง
คือ ทำอย่างไร จิตที่ตื่นเป็นแล้ว
จะตื่นได้ต่อเนื่อง ไม่หลงหลับฝันอีก


เครื่องมือเดียวที่จะช่วยให้ จิตตื่น อย่างต่อเนื่อง
คือการเจริญสติปัฏฐาน


ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือสิ่งบางสิ่ง
เป็น เครื่องรู้ เครื่องอยู่ของจิต หรือเป็นวิหารธรรม
เพื่อกระตุ้นความรู้ตัวของจิตให้ต่อเนื่อง
จะใช้อะไรก็ได้ ตามความถนัดของแต่ละบุคคล
เพื่อให้รู้เท่าทันกายใจของตน อย่างเป็นธรรมชาติธรรมดาที่สุด

วิหารธรรมของจิต จะเป็นอะไรก็ได้ ในกาย เวทนา จิต ธรรม
เพราะจุดสำคัญของการเจริญสติปัฏฐาน
ไม่ได้อยู่ที่ว่า รู้สิ่งใด
หากแต่อยู่ที่ว่า รู้อย่างไร
หากรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ด้วยจิตที่เป็นกลาง ปราศจากความยินดียินร้าย ก็ใช้ได้ทั้งนั้น
เพราะทำให้มีสติสัมปชัญญะต่อเนื่อง พร้อมทั้งเจริญปัญญาไปด้วย


ฝากให้พวกเราสังเกตจิตใจของตนให้ดี
ว่าการทำความรู้ตัวอยู่นั้น มี 2 ลักษณะด้วยกัน
อย่างหนึ่งรู้ตัวแล้ว จิตนิ่งๆ รวมเข้ามา อัดเข้ามา หยุดอยู่ที่รู้
ลักษณะเช่นนี้จะเหมือนมีความรู้ตัวชัดเจน
โดยไม่เห็นความจงใจ หรือความตั้งใจ ที่จะรู้ตัวให้ชัดๆ
เหมือนมี รู้ อยู่ในรู้ อีกชั้นหนึ่ง
ความรู้ตัวชนิดนี้ยังใช้ไม่ได้
เพราะจิตล็อคตัวเองให้หยุดนิ่ง หรือเป็นการเพ่งจิตนั่นเอง
ไม่สามารถเจริญปัญญาได้จริง

ไม่เหมือนความรู้ตัวที่เป็นธรรมชาติ ธรรมดา ไม่ได้จงใจจะรู้ตัว
หากแต่เจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ ไม่คาดหวังผล
เป็นลักษณะ รู้ อยู่ที่รู้ ไม่ใช่การเพ่งจ้องจิตผู้รู้
คือรู้ไปอย่างสบายๆ ถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ
แล้วหากจิตเกิดปฏิกิริยายินดียินร้ายขึ้นมา ก็รู้เท่าทันจิตตนเองไปเรื่อยๆ
ความรู้ตัวชนิดหลังนี้แหละครับ ที่จะเป็นทางแห่งปัญญาได้จริง
 
ใครที่รู้ตัวเป็นแล้ว ขอให้เจริญสติปัฏฐานกันเข้านะครับ
จะรู้การกระทบทางกาย เช่นเท้ากระทบพื้น หลังกระทบพนักเก้าอี้
มือกระทบเม้าส์ นิ้วกระทบคีย์บอร์ด นิ้วกระทบนิ้ว นิ้วกระทบก้อนกรวด
การกระพริบตา เอี้ยวตัว กลืนน้ำลาย
ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ขับถ่าย
การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้รส การได้สัมผัส
การไหวกายทั้งกาย การไหวกายบางส่วน
การเฝ้ารู้เวทนาทางกาย การเฝ้ารู้เวทนาทางใจ
การเฝ้ารู้ความเกิดดับของกุศลและอกุศลในจิต
การเฝ้ารู้ทันกลไกการทำงานของจิต ฯลฯ

เพียรรู้ให้เป็นปัจจุบัน ด้วยจิตที่สบายๆ เป็นธรรมชาติธรรมดาที่สุด
ลองดูให้ต่อเนื่องสัก 7 วัน ถ้าไม่ได้ผลก็ลองสัก 7 เดือน
ถ้ายังไม่ได้ผลอีก ก็ลองสัก 7 ปี
แล้วค่อยมาดูว่า
จะไม่ได้ผลอะไรดีงาม ขึ้นมาบ้างทีเดียวหรือ

7 ปีนั้นสั้นนิดเดียว สั้นกว่าฟ้าแลบเสียอีก
เมื่อเทียบกับเวลาที่เราเป็นเด็กจรจัด หลงทางในสังสารวัฏนี้ 

Pages: 1 2 [3] 4