Show Posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Topics - หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

Pages: 1 2 3 [4]
46
เขียนเมื่อ วัน จันทร์ ที่ 27 มีนาคม 2543 18:49:08


ผู้ปฏิบัติที่ยังเข้าไม่ถึงพระรัตนตรัยด้วยจิตใจอย่างแท้จริง
บางครั้งจะเกิดความเฉื่อย เนือย ในการปฏิบัติธรรม
ทั้งนี้เพราะงานของกรรมฐานนั้น เป็นงานหนัก
และต่อเนื่องไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์หรือวันหยุดราชการ
ไม่เหมือนการทำงานทางโลก
ที่มีเวลาทำงานและเวลาหยุดที่ค่อนข้างแน่นอน

งานทางโลกมีรางวัลที่เป็นรูปธรรม เช่นเงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส กำไร
ตำแหน่ง อำนาจ และชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นต้น
ส่วนงานทางธรรมเช่นการทำทาน รักษาศีล
มีแต่จะต้องเสียสละทรัพย์สินเงินทอง และความสะดวกสบายหลายอย่าง
ยิ่งการภาวนานั้น ไม่เห็นเลยว่า จะได้รับรางวัลในการปฏิบัติเมื่อใด
มีแต่ต้องลำบากเหนื่อยยากอย่างต่อเนื่องทุกวันเวลา
ยากกว่าการทำทานและการรักษาศีลมากนัก
คนส่วนหนึ่งจึงยินดีจะทำทานให้มาก
เพื่อแลกกับมรรคผลนิพพานโดยไม่ต้องปฏิบัติธรรมให้เหนื่อยยาก
จนตกเป็นเหยื่อของนักขาย "นิพพาน" มานักต่อนักแล้ว

ด้วยเหตุเหล่านี้ คนที่เอาดีได้ในทางโลก
จึงมีมากกว่าคนที่เอาดีได้ในทางธรรม
ตราบใดที่คนเรายังนิยมเหยื่อล่อที่เป็นรูปธรรม
และไม่เข้าใจคุณค่าที่แท้จริงของพระศาสนา

***************************************

ผมเองในครั้งที่การปฏิบัติยังล้มลุกคลุกคลาน
ก็เคยเหน็ดเหนื่อยท้อแท้เหมือนกัน
ไม่ใช่ว่าจะเป็นซุปเปอร์แมนมาจากไหน
แต่ก็พยายามปลุกใจตนเองให้ต่อสู้อยู่เสมอ
จนพอจะลืมตาอ้าปากได้บ้างในวันนี้
ประสบการณ์ในการต่อสู้ปลุกใจตนเองก็มีหลายอย่าง
วันนี้เป็นโอกาสดี ที่นึกเรื่องนี้ได้
จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังในหมู่เพื่อนทั้งหลาย

***************************************

บางครั้งที่จิตใจเฉื่อยชาในการปฏิบัติ
ผมจะหยิบหนังสือธรรมะมาสักเล่มหนึ่ง
เช่นพระไตรปิฎกในส่วนของพระวินัยและพระสูตร
ซึ่งอ่านแล้วจะได้รับความเบิกบานชื่นฉ่ำใจอย่างมาก
เพราะจิตใจจะระลึกถึงพระศาสดาและพระมหาสาวกในยุคนั้น
หรืออ่านหนังสือธรรมคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ที่ถูกจริต
เช่นหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อชา หลวงพ่อเทียน รวมทั้งอาจารย์เซ็นบางท่าน
ซึ่งอ่านแล้วจะกระตุ้นความตื่นตัวในการ "รู้"
ถ้าไม่มีจริงๆ กระทั่งประวัติและปฏิปทาของพ่อแม่ครูอาจารย์ ก็น่าอ่าน
เพราะได้เห็นร่องรอยการต่อสู้ของท่าน
สมัยที่ท่านยังลำบากเหมือนเราเองในวันนี้
เมื่ออ่านแล้วก็เกิดกำลังใจที่จะเจริญรอยตามท่านไป

***************************************

ทุก 3 - 4 เดือน ผมจะไปกราบพ่อแม่ครูอาจารย์สักครั้งหนึ่ง
และไปสิงสถิตอยู่ตามวัดป่า ไปอยู่โคนไม้ อยู่ถ้ำ
ไปพบปะกับพระหนุ่มเณรน้อยลูกศิษย์ครูเดียวกัน
เหมือนการไปสอบประจำภาค

หากเป็นการไปกราบพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เคยไปศึกษากับท่านแล้ว
ก็จะไปกราบเรียนท่านว่า เคยมาพบท่านครั้งสุดท้ายเมื่อใด
ท่านสอนอะไร และนำไปปฏิบัติแล้วมีผลอย่างไร
หากปฏิบัติผิดก็ขอให้ท่านช่วยชี้แนะแก้ไข
หากถูกแล้ว ก็ขอแนวทางปฏิบัติที่ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

ผมไม่เคยไปกราบพ่อแม่ครูอาจารย์ แล้วไปหัวเราะแหะๆ เรียนท่านว่า
"ช่วงนี้ผมขี้เกียจครับ ผมไม่ค่อยได้ปฏิบัติเพราะมัวเล่นเกมส์กด หรือเอาแต่เที่ยว
จึงมาขอฟังธรรมเพิ่มเติมอีกสักหน่อย
เผื่อท่านจะมีคำสอนเด็ดๆ ที่สามารถเคาะกิเลสของผมให้กระจุยกระจายไป"

ที่ไม่ทำอย่างนี้ก็เพราะอายพ่อแม่ครูอาจารย์
ท่านเป็นผู้ใหญ่แล้ว เป็นนักรบชราผู้คร่ำศึก
ท่านคงไม่ชื่นใจเลยที่พบว่า ลูกหลานวิ่งหนีข้าศึกตั้งแต่ยังไม่เห็นเงา
เสียแรงที่ท่านลำบากขันธ์ ทรมานกายอยู่สั่งสอนเรา
อีกอย่างหนึ่ง ผมคิดว่ากิเลสของใคร คนนั้นก็ต้องต่อสู้เอง
ไม่ใช่ฝันลมๆ แล้งๆ ว่าจะได้ฟังธรรมเด็ดๆ แล้วชนะกิเลสโดยไม่ต้องต่อสู้
หรือเพียงแค่พึ่งธรรมของพ่อแม่ครูอาจารย์ ไม่ต้องพึ่งตนเอง
เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น
ไม่มีธรรมะฟลุ้กๆ มีแต่ธรรมที่ต้อง "ทำ" เอาทั้งสิ้น

ฟังธรรมแล้วก็ออกไปอยู่ตามโคนไม้ ผ่านกลางคืนโดยอยู่กลางแจ้ง
ปฏิบัติธรรมใต้แสงเดือนแสงดาว ฟังเพลงใบไม้ไหวเมื่อลมพัด
สัมผัสกับธรรมชาติด้วยจิตที่ตื่นตัว
ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นชินสำหรับคนเมือง

ในเวลากลางวัน บางคราวก็เที่ยวพบปะสนทนากับศิษย์ร่วมสำนัก
แลกเปลี่ยนประสบการณ์ปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นเรื่องสนุกสนานน่าฟังมาก
เช่นท่านองค์นั้น ไปเกิดราคะ และต่อสู้ผ่านมาได้อย่างไร
ท่านองค์นี้ ดำเนินจิตอย่างนี้ เกิดผลอย่างนี้
ท่านองค์โน้นกลัวผี ถูกผีที่นั้นๆ หลอก แต่ท่านเอาตัวรอดมาได้อย่างนี้ๆ ฯลฯ
หรือบางทีก็หาของเล่นสนุกในทางจิตใจบ้าง
ซึ่งเรื่องอย่างนี้ต้องเล่นลับหลังพ่อแม่ครูอาจารย์
เพราะมันเป็นเพียงกีฬา ไม่เกี่ยวกับมรรคผลนิพพานแต่อย่างใด

การพบปะครูบาอาจารย์และหมู่เพื่อนเป็นครั้งคราว
จะทำให้เราตื่นตัว ต้องรีบทำการบ้าน
เพื่อว่าเวลาพบท่านเหล่านั้น และถูกถาม
จะได้ไม่เก้อเขินหัวเราะแหะๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว
ส่วนการไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย
ก็ทำให้จิตใจตื่นตัว แก้ความเฉื่อยชาได้ดีมาก

นักปฏิบัติบางคนนิยมกล่าวว่า อยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้
ซึ่งก็จริงเหมือนกัน ถ้าปฏิบัติไปถึงระดับหนึ่งแล้ว
แต่บรรดามือใหม่หัดภาวนา หรือมือเก่าล้าหลังอย่างผม
การไปหาบรรยากาศแปลกใหม่ เป็นประโยชน์แน่นอน

***************************************

บางคราวจิตใจเหี่ยวแห้งท้อแท้ อ่านหนังสือแล้วก็ไม่ชุ่มชื่นใจ
จะไปกราบพ่อแม่ครูบาอาจารย์ก็ยังไม่มีโอกาส เช่นไม่มีเวลา หรือไม่มีค่ารถ
ภาวะอย่างนี้ทรมานใจมาก
ยิ่งปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่งแล้ว
สติสัมปชัญญะจะทำงานต่อเนื่องทั้งวันไม่มีเวลาเว้นวรรค
จะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยทุกข์ทรมานจริงๆ
ไม่เหมือนตอนที่หัดใหม่ๆ
ที่เหนื่อยนักยังเที่ยวดูหนังฟังเพลงให้ลืมๆ การปฏิบัติได้บ้าง

ในภาวะเช่นนี้ ไม่มีอะไรจะทำให้จิตใจชุ่มชื่นได้เท่ากับการทำความสงบ
ผู้ที่เตินวิปัสสนาล้วนๆ จึงเป็นนักปฏิบัติแบบแห้งผาก
ส่วนผู้ที่รู้จักทำความสงบในจิตใจ จะเข้าพักสงบชั่วครั้งชั่วคราว
การปฏิบัติธรรมก็จะเต็มไปด้วยความกระปรี้กระเปร่าเบิกบาน

หลวงปู่เทสก์เคยสอนผมว่า การปฏิบัตินั้นจิตต้องมีสถานีลง
เหมือนเครื่องบินที่ต้องมีสถานี(ท่านคงนึกคำว่าสนามบินไม่ออก)ลงเป็นครั้งคราว

ผมเองคราวหนึ่งจิตใจแห้งผากมาก
เพราะเอาแต่เจริญสติจนลืมความสงบ
ถึงขนาดวิ่งแจ้นไปกราบหลวงพ่อพุธที่วัดป่าสาลวัน
ฟังธรรมแล้ว ก็ไม่ชุ่มชื่นเบิกบานเหมือนที่เคย
ทำอย่างไรก็แก้ไม่หาย
จนต่อมาเหนื่อยหนักเข้าจึงตั้งใจทำสมถะ
กำหนดลมหายใจเข้าออกไป 28 ครั้ง จิตก็รวมพรึ่บ
พอจิตถอนออกจิตก็มารู้ความเกิดดับของอารมณ์ เจริญปัญญาต่อไป
เพียงกระทบอารมณ์วับเดียว ปัญญาก็ตัดอารมณ์ขาดสะบั้นลงในพริบตา

ปัญญาที่มีกำลังของสมาธิหนุน เหมือนอาวุธที่คมกล้า
พออารมณ์ใดเข้ามากระทบจิต อารมณ์นั้นก็ขาดสะบั้นหมด
จิตมีความชุ่มชื่นเบิกบานอีกชั้นหนึ่ง
อันเป็นความเบิกบานด้วยปัญญา ไม่ใช่เบิกบานด้วยสมาธิเหมือนชั้นแรก

***************************************
 
ผู้ปฏิบัติต้องรู้จักให้กำลังใจตนเอง
โดยอาศัยศรัทธาเป็นแรงใจบ้าง
อาศัยสมาธิเป็นแรงใจบ้าง
และอาศัยปัญญาเป็นแรงใจบ้าง
การปฏิบัติจึงจะให้ประโยชน์ครบบริบูรณ์
คือ (1) ให้ความมีสติสัมปชัญญะ
(2) ให้ความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
(3) ให้ของเล่นทางจิตและญาณทัศนะต่างๆ
และท้ายที่สุด คือ (4) ให้มรรคผลนิพพาน

การปฏิบัติ ไม่ได้ให้แต่ความทุกข์ยากเดือดร้อนในปัจจุบัน
โดยมองไม่เห็นจุดหมายปลายทางในอนาคต
แต่ให้ความสุขและความแช่มชื่นอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ไป
ด้วยวิธีเหล่านี้แหละ
นักปฏิบัติจึงจะมีกำลังใจ ไม่เฉื่อยชา และสามารถว่ายน้ำให้ถึงฝั่งได้

***************************************

วันนี้นึกได้เท่านี้เองครับ
และถ้าใครมีอุบายปลุกใจตนเองอย่างไร
ก็เชิญนำมาเล่าให้หมู่เพื่อนฟังกันบ้างนะครับ

47
ช่วงนี้มีข่าวมากมายเกี่ยวกับหลวงพ่อครับ จึงเป็นเหตุอันดีที่ผมอยากจะให้ทุกท่านได้เข้าใจถึงความคิดและนิสัยที่แท้จริง
ของท่านว่าแท้จริงแล้ว ท่านเป็นเช่นไร โดยขออนุญาตยก บทความในกระทู้นึงของกระดานข่าวกลุ่มวิมุตติ ที่เป็นการพูดคุย
กันระหว่าง คุณสันตินันท์ กับ คุณดังตฤณ โดยมีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรทำบุญ อนึ่งเจตนาของผมก็เพื่อ
ให้พี่ๆน้องๆ ได้อ่านและเข้าใจถึงความคิดและสิ่งที่อยู่ในใจของหลวงพ่อเสมอมา หากมีการกระทบกระเทือนท่านผู้ใด
ผมต้องกราบขออภัยด้วยความเคารพด้วยครับ _/I\_

สันตินันทภิกขุ

โดยคุณ ดังตฤณ เขียนเมื่อ วัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2543 18:10:48

เมื่อบวชแล้วฉายาของพี่เขาจะเป็นอะไรก็ไม่ทราบ
แต่ขออิงเรียกไปพลางๆว่า สันตินันทภิกขุ อย่างนี้ก่อน
ตามความเคยชินที่พวกเรารู้จักพี่เขามาตั้งแต่สมัยห้องสมุดพันธุ์ทิพย์

พี่เขาให้ผมตั้งกระทู้นี้ขึ้นมาเพื่อบอกกล่าวบางอย่างกับพวกเรา
เพราะตัวพี่เองค่อนข้างเกรงใจหมู่พวก จึงไม่อยากเอ่ยด้วยตนเองซ้ำๆ
คือเรื่องเกี่ยวกับความสำรวมเพื่อเตรียมครองกาสาวพัสตร์ด้วยนิสัยพระ
ในช่วงหลังนี้หลายคน โดยเฉพาะท่านที่เป็นมาตุคาม
อาจเห็นว่าพี่เขายังยินดีให้ถามธรรมะเต็มที่
แต่ออกจะเฉยไปบ้างหากนอกเหนือขอบเขตไปจากนี้
บางคนอาจไม่เข้าใจและเห็นเป็นการสร้างกำแพง
จนเกิดความรู้สึกผิดแปลกไปจากเดิมที่เคยคุ้น
อันนี้ความจริงแล้วคงต้องเข้าใจว่าพี่เขาไม่ได้ตั้งใจสร้างกำแพงขวางสัมพันธภาพเดิม
แต่เป็นการสร้างกำแพงกั้นตัวพี่เขาเองจากนิสัยฆราวาส
เพื่อพร้อมจะดำรงตนอยู่ในขอบเขตของบรรพชิตอย่างสง่างาม

พี่เขาไม่เคยเอ่ยปาก แต่ผมก็ทราบความปรารถนาที่มีเสมอมา
คือต้องการสร้างพระแท้ที่เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นเราได้อย่างสนิทใจ

ไม่ว่าจะสืบย้อนไปในอดีต หรือสำรวจดูให้เห็นปัจจุบัน
ชาวพุทธจะภาคภูมิได้ว่าการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยังมี
ภิกษุผู้พร้อมด้วยสมณสารูปไร้ที่ติทั้งกาย วาจา ใจอันเห็นง่ายด้วยตาเปล่ายังมี
แนวการปฏิบัติที่แท้ตามพุทธพจน์ที่สอบทานได้กับชั้นบาลีทุกกระเบียดยังมี
ผลการปฏิบัติชนิดที่เป็นแก่นสารของพุทธศาสนาคือกิเลสดับไม่กลับกำเริบยังมี
ดังนี้ถ้าสำเร็จจริงตามความปรารถนาของพี่เขา
ก็จะเป็นภาพที่บันดาลกำลังใจอย่างใหญ่หลวงให้กับพวกเราและคนรุ่นหลังๆ
ชดเชยกับความบอบช้ำทางศรัทธาของชาวพุทธเราที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องมานานเกินไป

ฉะนั้นอยากเชิญชวนพวกเราให้ปฏิบัติต่อพี่เขาเสมือนพระสักรูปหนึ่ง
อันจะเป็นผลดีกับเราเองด้วย ในแง่ที่เมื่อถึงเวลาจริง
ก็ได้ปฏิบัติอันควรด้วยมโนอันอ่อนน้อม ไม่เป็นภัยแก่ตนเองในทางใด

หมายเหตุไว้นิดหนึ่ง เฉพาะพวกเราที่คุ้นหน้ากันจริงๆนะครับ
ความจริงก็แจ้งๆไว้ตอนเจอหน้าแล้ว แต่คงยังมีอีกมากที่ไม่ได้ไปศาลา
ก็บอกกล่าวกันตามอัธยาศัย
คิดว่าเรื่องกุฎิของพี่เขาคงพวกเรากันเองสร้างถวาย
แต่แรกนึกว่าคุณจู้จะออกแบบ สอบถามกับพี่เขาแล้วปรากฏว่ามีคนตัดหน้าไปเสียก่อน
แต่สำหรับวัสดุอุปกรณ์ ก็คงเป็นอิม ซึ่งชำนาญทางนี้อยู่โดยตรง
และรู้ดีว่าของไหนยี่ห้ออะไรดี ราคาไม่แพง และทนนาน
หากคิดบริจาคตามกำลังก็คุยกันเป็นการภายในได้
เพราะวันก่อนมีคนเสนอขึ้นมาที่บ้านป๋อง แล้วก็เห็นดีตามกัน
(ย้ำว่าส่วนนี้ผมเสนอจากที่เราคุยกันเองสำหรับคนที่ตั้งใจไว้อยู่แล้วนะครับ
ผมคงไม่ใช่คนจัดการในเรื่องนี้ แต่บอกให้รู้ว่าพวกเราคนไหนที่ทำโดยตรงอยู่)



48
เขียนเมื่อ วัน พฤหัสบดี ที่ 9 พฤศจิกายน 2543 08:38:46

หมู่เพื่อนมักได้ยินผมเคี่ยวเข็นอยู่เสมอว่า
(1) ให้พยายามมีสติสัมปชัญญะ รู้ อยู่ในชีวิตประจำวันให้ได้
จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ฯลฯ ก็ให้มีสติรู้กายรู้ใจอยู่เสมอ
(2) ให้ปฏิบัติธรรมไปอย่างซื่อๆ ตรงๆ
อย่าเอาแต่วุ่นวายกับการคิด การหาอุบายทางลัด และนิมิตต่างๆ
เพราะนั่นล้วนเป็นทางแห่งความเนิ่นช้า
(3) อย่าเอาแต่รวมกลุ่มสัญจรไปตามสำนักโน้นสำนักนี้
เที่ยวสนุกกับการไปฟังธรรมที่โน้นที่นี้ ละเลยการฟังธรรมในจิตใจตนเอง
(4) มีผลการปฏิบัติใดๆ เกิดขึ้นในระหว่างทาง
ก็อย่าเอาแต่ไปเขียนเล่าในกระทู้ให้กิเลสกระเพื่อม จนปฏิบัติต่อไปไม่ได้อีก
และ (5) ขอให้ตั้งใจจริงจังเพื่อเอาตัวให้รอด ลองเอาจริงสัก ปี สองปีก็ยังดี
โดยยอมเสียสละเรื่องรกรุงรังในจิตใจเสียสักช่วงหนึ่ง
แล้วตั้งใจปฏิบัติให้สม่ำเสมอ
อย่าประมาทว่ายังหนุ่มยังสาว เพราะความตายจะมาถึงเมื่อใดก็ไม่รู้
ถ้าพบพระพุทธศาสนาแล้วยังเอาดีไม่ได้ เพราะไม่ตั้งใจจะเอาดี
ในอนาคตเมื่อไม่มีพระพุทธศาสนา จะเจริญได้อย่างไรกัน

ผมพร่ำเคี่ยวเข็นพวกเราซ้ำซากเช่นนี้อยู่เสมอจนบางคนหัวเราะ
เพราะรู้ว่า ถ้าพูดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ จะถูกบ่นว่าอย่างไรบ้าง
บางคนเอาไปพูดล้อเลียนกันเล่นก็มี เพราะไม่ได้นึกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องตลกขบขัน
แต่เป็นคำเตือนที่มาจากประสบการณ์
ที่ได้พบเห็นรู้จักผู้ที่มีความเจริญในธรรมเป็นจำนวนมาก

ผมไม่เคยเห็นใครเจริญในธรรมด้วยความฟลุ้ค
ด้วยความเฉลียวฉลาดคิดหาทางลัดได้ นอกเหนือจากการเจริญสติ
ด้วยการรวมกลุ่ม พูดคุย สรวลเสเฮฮา
หรือวุ่นวายอยู่กับบอร์ดแบบผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน วานกันชม
เคยเห็นแต่คนที่เจริญได้ด้วยความตั้งใจปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจริงจัง

ผมอ่านคำสอนของพระศาสดาคราวใด จะซาบซึ้งกินใจทุกครั้ง
เมื่อได้ยินท่านสรรเสริญคุณของความมักน้อย สันโดษ อยู่วิเวกทั้งกาย วาจา ใจ
ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ ทำความสงบในจิต เจริญสติสัมปชัญญะอยู่อย่างสม่ำเสมอ
หนทางของปราชญ์ผู้ถึงมรรคผลนิพพาน
จะหนีไม่พ้นไปจากแบบฉบับที่พระศาสดาทรงวางไว้เลย
ถ้าเราเชื่อพระศาสดา เราก็ต้องเลือกเดินทางที่ท่านสอนไว้

คนเมือง มีครอบครัว มีหน้าที่การงานมากมายในแต่ละวัน
ก็สามารถปฏิบัติธรรมเอาดีได้ โดยมีตัวอย่างให้เห็นอยู่เสมอๆ
พวกเราเมื่อเห็นตัวอย่างแล้ว
ลองพิจารณาดูเถิดครับว่าคนที่เขาเจริญในธรรมนั้น
เขามีปัจจัยแห่งความเจริญงอกงาม ดังที่ผมกล่าวไว้หรือเปล่า

หมู่นี้ผมเขียนกระทู้เร่งเร้าการปฏิบัติมากสักหน่อย
เพราะวิธีปฏิบัติก็บอกกล่าวกับพวกเราไปหมดแล้ว
เหลือแต่ว่า พวกเราจะต้องปฏิบัติเอาจริงกันเองเท่านั้น
แล้วหลังจากนี้ เราต่างต้องแยกย้ายกันไปตามกรรมแล้วครับ

ผู้ปฏิบัตินั้นต้องกล้าหาญและตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติธรรมอันเป็นกิจเฉพาะตัว
มีกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นบ้าน หรือที่อยู่อาศัย หรือวิหารธรรมของจิต
มีตปะ คือความเพียรแผดเผากิเลส เป็นกำลังความมุ่งมั่นของจิต
มีสติ เป็นเพื่อนคู่ชีวิตประจำจิตของตน ไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนปฏิบัติภายนอกก็ได้
มีสัมปชัญญะ เป็นครู ไม่ต้องมีครูภายนอกก็ได้
ขจัดศัตรู คือความยินดียินร้ายในโลกออกเสีย
เมื่อพากเพียรมากเข้า จิตก็จะถอดถอนตนเองออกจากกองทุกข์คือขันธ์ได้

49
เขียนไว้เมื่อ วัน พฤหัสบดี ที่ 23 มีนาคม 2543 14:40:36

ผมไม่เคยคิดที่จะเป็นครูบาอาจารย์ของใคร
เพราะยังมีกิเลสต้องสะสางอีกมาก
แต่ก็มีหมู่เพื่อนแวะเวียนไปถามธรรมบ่อยครั้ง ในทุกสถานที่ที่พบกัน
(กระทั่งในห้องน้ำก็ไม่ละเว้น)
การที่ต้องอธิบายแจกแจงธรรมให้หมู่เพื่อนฟังอยู่เสมอๆ
ทำให้ผมได้พบว่า เพื่อนบางคนฟังแล้วเข้าใจง่าย ปฏิบัติได้ทันที
เพื่อนบางคนเข้าใจยาก ต้องฟังแล้วฟังอีกอยู่ช่วงหนึ่งจึงปฏิบัติได้
แต่เพื่อนบางคนฟังหลายคราวแล้ว ก็ยังไม่ลงมือปฏิบัติเสียที

ถ้าจะพูดด้วยโวหารของชาววัด ก็ต้องกล่าวว่า
แต่ละคนมีอินทรีย์แก่อ่อนไม่เท่ากัน
ซึ่งก็ถูกต้องครับ แต่ยังไม่ถูกใจคนรุ่นใหม่ที่จะได้รับคำตอบเพียงแค่นี้
เพราะฟังแล้วยังไม่รู้เรื่องว่า อินทรีย์คืออะไร มันแก่อ่อนได้อย่างไร

วันนี้คิดว่าจะคุยกันอย่างสบายๆ ดังนั้นผมจะยังไม่พูดเรื่องอินทรีย์ตามตำรา
แต่จะนำประสบการณ์จริงๆ มาเล่าสู่กันฟัง
ว่าเพื่อนแต่ละประเภทที่เรียนรู้ได้ช้าเร็วผิดกันนั้น เกิดเพราะปัจจัยใดบ้าง

จากที่สังเกตมานั้น เพื่อนบางคนที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจง่าย ปฏิบัติได้ทันที
เพราะจิตใจในขณะนั้นมีความพร้อมหลายอย่าง
คือเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิอยู่ก่อนแล้ว
เพียงสะกิดนิดเดียวก็เข้าใจปลอดโปร่งไปหมด

นอกจากนี้ คนที่มีกำลังของสมถะสนับสนุนอยู่แล้ว
จะเข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่าย
ส่วนคนที่ไม่มีกำลังความสงบของจิตใจเป็นทุนเดิมอยู่เลย
แม้จะฟังเข้าใจด้วยเหตุผล
แต่ในขั้นลงมือปฏิบัติจริง มักจะไม่เป็นธรรมชาติ
มีการกดข่มบังคับใจอย่างรุนแรง เกิดอาการแน่น อึดอัด เป็นก้อนขึ้นมาเต็มอก

เพื่อนๆ ประเภทที่ฟังปุ๊บเข้าใจปั๊บ ปฏิบัติตามได้ทันที ก็พอมีอยู่หลายคน
แต่ส่วนมากจะเป็นประเภทที่ 2 คือต้องฟังหลายๆ ครั้ง
ลองผิดลองถูกไปสักพัก จึงจะเข้าใจได้
เพื่อนกลุ่มนี้ในช่วงแรกๆ เวลาอยู่ต่อหน้าผมจะปฏิบัติได้
หลังจากนั้นจะเริ่มหลงตามความคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งสับสน
แล้วก็ต้องมาฟังซ้ำๆ เมื่อลองปฏิบัติไปนานๆ เข้า
จึงจะทราบว่า "พอดี" อยู่ตรงไหน

มีบ้างครับที่ฟังอย่างตั้งใจ แต่ไม่ยอมลงมือปฏิบัติเสียที
เพื่อนกลุ่มนี้ส่วนมากจะเป็นนักคิด เป็นปัญญาชนเจ้าความคิด
มีความพยายามมากเหลือเกินที่จะฟัง เพื่อจะคิดตามให้เข้าใจเสียก่อนว่า
การปฏิบัติธรรมจะต้องทำอย่างไร ทำแล้วจะมีผลอย่างไร

ปมปัญหาอยู่ที่ตรงนี้แหละครับ
คือถ้าลงมือปฏิบัติทันที ตามที่แนะนำให้ ก็จะเข้าใจทันที
เหมือนกับที่เซ็นกล่าวว่า "พอลืมตาก็เห็นแล้ว"
แต่เพื่อนเหล่านี้ทนไม่ได้ที่จะปฏิบัติ
จึงไม่มีวันจะหมดสงสัยได้
และเมื่อไม่หมดสงสัยก็ไม่ยอมปฏิบัติ
กลายเป็นปัญหาแบบวงกลม หาจุดต้นจุดปลายไม่พบ

เมื่อคุยกันแบบไม่มีตำราแล้ว คราวนี้วกเข้าหาตำราสักหน่อยก็แล้วกันครับ
อินทรีย์/พละ 5 นั้นประกอบด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา

ผู้ที่จะปฏิบัติจำเป็นต้องอาศัยศรัทธา
คือมีความมั่นใจ และเชื่อฟังที่จะลองปฏิบัติตาม
เมื่ออยากจะลองปฏิบัติตามแล้ว ก็จะเกิดความเพียร(วิริยะ)ที่จะปฏิบัติ
การปฏิบัติก็ไม่มีอะไรมาก
ขั้นต้นก็คือการเจริญสติระลึกรู้อารมณ์อันใดอันหนึ่งอย่างต่อเนื่องไป
อาศัยการมีสติระลึกรู้อารมณ์อันเดียว ก็เกิดสมาธิ คือมีจิตตั้งมั่นเป็นธรรมเอก
แล้วเจริญสติด้วยจิตที่เป็นธรรมเอก
ความไม่หลง ความไม่ถูกโมหะครอบงำ ความรู้ตัวก็แจ่มชัด
และรู้เท่าทันความผันแปรของกายและจิตเรื่อยไป เป็นปัญญา

เมื่อมีปัญญาขั้นต้น คือเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของอารมณ์และจิต
เห็นชัดว่า ถ้าจิตอยากจิตยึด จิตก็ทุกข์
ก็ยิ่งเกิดความศรัทธามั่นคงในพระศาสนาหนักแน่นเข้าไปอีก
ความเพียรก็สม่ำเสมอหนักแน่น สติ สมาธิ ปัญญา
ก็หมุนเป็นเกลียวกระชับสนับสนุนกันมั่นคงหนักเข้าตามลำดับ

แต่ถ้าปฏิบัติไม่ถูก อินทรีย์/พละ 5 ก็ไม่สม่ำเสมอหนุนเสริมกัน
เช่นศรัทธามากไป ก็กลายเป็นงมงาย
วิริยะมากไปก็กลายเป็นเคร่งเครียด
สติมากไปจิตก็แข็งกระด้าง
สมาธิมากไปจิตก็เคลิบเคลิ้มลืมตัว
ปัญญามากไปก็ฟุ้งซ่าน
ถ้ามีอะไรมากไปน้อยไป  ล้วนไม่ดีทั้งนั้น
อันนี้เป็นหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกับครูบาอาจารย์เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

เรื่องมากไปๆ นี้ ถ้าไปคุยกับผู้เรียนตำรา
เขาจะแย้งทันทีว่า สติมากไปไม่มี
เพราะสติยิ่งมาก ย่ิงดี
อันนี้ก็เป็นเรื่องของโวหารครับ
ในความเป็นจริงไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกันเลย
เพราะสติที่เป็นสัมมาสติจริงๆ นั้น ถ้ามาก(ต่อเนื่อง) จะดีที่สุด
แต่ถ้ามากแบบแข็งกระด้าง เป็นมิจฉาสติ ก็ไม่ดีแน่
อีกอย่างหนึ่ง ผู้เรียนตำราบางคนเขาว่ามิจฉาสติไม่มี
ซึ่งก็ไม่จริงครับ ในพระไตรปิฎกท่านกล่าวถึงมิจฉาสติไว้เยอะแยะ
สติที่แข็งกระด้างที่นักปฏิบัติเราพบเห็นนั่นเอง คือตัวมิจฉาสติ

วันนี้คุยกันเท่านี้ก็แล้วกันนะครับ

50
เขียนไว้เมื่อ วัน เสาร์ ที่ 18 มีนาคม 2543 18:36:12

เห็นข้อเขียนของ คุณพัลวัน อยู่แว้บๆ ว่า
"ฝึกสติสัมปชัญญะ ยากกว่าฝึกสมาธิ"
นับว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจครับ จึงนำมาตั้งเป็นกระทู้ใหม่

อันที่จริงการฝึกสติสัมปชัญญะนั้น ยากกว่าการฝึกสมาธิบางประเภท
และเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับการฝึกสมาธิบางประเภท

ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ ประเภทสงบแบบมีราคะและโมหะชุ่มแช่เอิบอาบนั้น
ยอมรับครับว่า ทำได้ง่ายกว่าการฝึกสติสัมปชัญญะมาก
เพราะการจมแช่กิเลส เป็นเรื่องที่จิตคุ้นเคยมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
แม้ไม่มีพระพุทธเจ้า สภาวะอย่างนี้ก็มีเป็นสาธารณะ
ส่วนการเจริญสติสัมปชัญญะ เป็นสิ่งที่หากได้ยากในสังสารวัฏนี้
มีแต่ในยุคสมัยที่มีพระศาสนาเท่านั้น จึงจะมีคำสอนชนิดนี้
ดังนั้น ผู้ร่อนเร่ในสังสารวัฏ จึงมีโอกาสคุ้นกับมิจฉาสมาธิ
ได้มากกว่าจะคุ้นกับสติสัมปชัญญะ
ด้วยเหตุนี้ พอนั่งทำความเพียรไม่นาน
ส่วนมากจิตก็จมแช่ลงในความซึมเซาหรือสุขสบาย
แล้วก็ติดอยู่เพียงนั้นเอง

ส่วนสัมมาสมาธินั้น เป็นเครื่องอบรมขัดเกลาส่งเสริมสติสัมปชัญญะ
เพราะการเจริญสัมมาสมาธินั่นแหละ
คือเครื่องทำสติสัมปชัญญะให้บริสุทธิ์หมดจด
ซึ่งเรื่องนี้พระศาสดาทรงสอนไว้ในเรื่องสัมมาสมาธิ
และผมเคยนำมาเขียนไว้หลายคราวแล้ว
สมาธิที่เกื้อกูลต่อสติสัมปชัญญะนี้เอง
คือสภาพที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า สมาธิอบรมปัญญา
เพราะสัมปชัญญะนั้นเอง คือตัวปัญญาสัมมาทิฏฐิ
ดังนั้นจะกล่าวว่า ที่ใดมีสัมมาสมาธิ ที่นั้นมีสติสัมปชัญญะ ก็กล่าวได้

ทีนี้เมื่อมีสติสัมปชัญญะแล้ว
สติสัมปชัญญะนั้นเอง ก็กลับมาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงสัมมาสมาธิ
ดังคำที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า ปัญญาอบรมสมาธิ
เพราะสัมปชัญญะคือตัวปัญญานั่นเอง
จิตที่มีปัญญาเห็นอารมณ์ตามความเป็นจริง ก็ย่อมง่ายที่จะตั้งมั่น
เพราะจิตไม่หลงใหลแส่ส่ายไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา
ดังนั้นจะกล่าวว่า ที่ใดมีสติสัมปชัญญะ ที่นั้นมีสัมมาสมาธิ ก็ได้เหมือนกัน

กระทู้นี้เขียนเพียงย่อๆ นะครับ
เพราะเดี๋ยวนี้พวกเรารู้เรื่องธรรมะกันมากอยู่แล้ว

51
เขียนไว้เมื่อ วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 09:54:03

ผมได้นำกายคตาสติสูตรมาให้พวกเราอ่านกันแล้ว
ในกระทู้ ธรรมที่ยังพระอานนท์ให้บรรลุพระอรหันต์
ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า ไม่ได้ตรงกันกับตำรารุ่นหลัง
ที่จัดเอากายคตาสติ เป็นหนึ่งในวิธีเจริญสมถกรรมฐานเท่านั้น
ในขณะที่พระศาสดาทรงแสดงกายคตาสติ
แจกแจงไปในแนวเดียวกับกายานุปัสสนาและจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
และทรงแสดงอานิสงส์ว่า สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติ
บรรลุเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้

ความไขว้เขวว่า กายคตาสติ เป็นเรื่องของสมถกรรมฐาน
อาจเกิดจากการที่ในกายคตาสติสูตร มีการกล่าวถึง ธรรมเอก
ซึ่งธรรมเอกนี้ มีปรากฏทั่วไปในคำสอนเรื่องทุติยฌาน
อันเป็นเรื่องของสัมมาสมาธิ
นอกจากนี้ พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 2 (พระไตรปิฎกเล่มที่ 35) วิภังคปกรณ์
ได้อธิบายธรรมเอกไว้ว่า
            [661] คำว่า เป็นธรรมเอกผุดขึ้นแก่ใจ
ได้แก่ ความตั้งอยู่แห่งจิต ฯลฯ สัมมาสมาธิ


ดังนั้นเมื่อเห็นคำว่า ธรรมเอก ก็ง่ายที่จะเชื่อว่า
กายคตาสติ เป็นเรื่องของการทำสมถกรรมฐาน
โดยมองข้ามคำสอนส่วนอื่นๆ
ที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ในกายคตาสติสูตร

ผู้ศึกษาปริยัติธรรม อาจตีความว่า ธรรมเอก หรือสัมมาสมาธิ
เป็นเรื่องของการทำสมาธิเท่านั้น
ไม่มีประโยชน์ใดๆ กับการเจริญวิปัสสนาด้วยการจำแนกรูปนาม
แต่จากประสบการณ์ของการปฏิบัติแล้ว ผมกลับเห็นว่า
ถ้าปราศจากธรรมเอก จิตย่อมไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้
เพราะจิตจะปราศจากความตั้งมั่น รู้  เป็นกลาง อ่อนโยน ควรแก่การงาน


ด้วยเหตุนี้ พระศาสดาจึงทรงสอนถึงการเตรียมจิตให้พร้อม
ก่อนการเจริญสัมมาสติอันเป็นตัวแท้ของวิปัสสนา
คือทรงสอนเรื่องสัมมาสมาธิ ให้ทำจนจิตมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา
ซึ่งก็คือการมีธรรมเอกนั่นเอง
จากนั้นจึงน้อมจิตไปเจริญสติ(ปัญญา)
ซึ่งคำสอนแนวนี้จะพบทั่วไปในพระสูตร

อย่างไรก็ตาม ในมหาสติปัฏฐานสูตร
ท่านไม่ได้ระบุตรงๆ ว่าต้องเจริญสติปัฏฐานด้วย ธรรมเอก
แต่ทรงระบุถึงสภาพจิตที่พร้อมแก่การเจริญสติปัฏฐาน
ว่าต้องเป็นจิตที่รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏอย่างเป็นวิหารธรรม
คือเป็นเครื่องรู้เครื่องอยู่ของจิต
ต้องมีความเพียรแผดเผากิเลส ต้องมีความรู้ตัว ต้องมีสติ
ต้องขจัดความยินดียินร้ายในโลกเสีย
เมื่อจิตมีคุณสมบัติเช่นนี้แล้ว จึงพร้อมจะเจริญสติปัฏฐานต่อไป
ซึ่งจิตที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้
ก็คือจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ หรือเป็นธรรมเอก
ที่นักปฏิบัตินิยมเรียกว่า จิตผู้รู้นั่นเอง


แต่เมื่อมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านไม่ได้เอ่ยตรงๆ
ว่าต้องมี ธรรมเอก ในระหว่างการเจริญสติปัฏฐาน
จึงยิ่งทำให้ ธรรมเอก หรือจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ
ไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายปริยัติ หนักเข้าไปอีก

จากประสบการณ์ในหมู่นักปฏิบัติอีกนั่นแหละ พบว่า
เมื่อเราเจริญกายคตาสติไปจนเต็มภูมิแล้ว
จิตจะรวมลงเป็นสัมมาสมาธิอีกคราวหนึ่ง
ซึ่งสัมมาสมาธินี้เอง เป็นเหมือนภาชนะที่รวมองค์มรรคทั้งปวงเข้าด้วยกัน
ศีล สมาธิ ปัญญาจึงรวมเข้าเป็นหนึ่ง
เป็นกำลังของอริยมรรคที่จะเกิดขึ้นต่อไป

สัมมาสมาธิ จึงเป็นสิ่งที่ต้องสร้างให้มีขึ้นก่อนเจริญสติปัฏฐาน
เพราะเป็นการเตรียมจิตให้มีสติสัมปชัญญะบริสุทธิ์นั่นเอง
และเมื่อจิตมีสติสัมปชัญญะแล้ว จึงน้อมจิตไปเจริญปัญญาต่อไป
ซึ่งก็ต้องใช้สัมมาสมาธิหรือ จิตรู้ ในระหว่างเจริญสติปัฏฐานด้วย
และสุดท้าย สัมมาสมาธิยังเป็นที่ประชุมขององค์มรรค
ภายหลังเจริญปัญญาไปจนเต็มภูมิแล้ว

ผมเคยเล่าให้พวกเราฟังมานานแล้วว่า
การเจริญสติปัฏฐานจำเป็นต้องอาศัยธรรมเอก
แต่สิ่งที่นำมากล่าวนั้น เป็นความรู้จากการปฏิบัติ
ยังไม่พบหลักฐานยืนยันในพระไตรปิฎก

จนเมื่อไม่นานมานี้เอง คุณ morning_glory (ปัจจุบันคือครูบาป๋อง)
ได้กล่าวกับผมว่า เริ่มมีความเข้าใจเรื่องธรรมเอกมากขึ้นแล้ว
แต่ถ้ามีหลักฐานในพระไตรปิฎก
เกี่ยวกับการมีธรรมเอกในระหว่างการเจริญสติปัฏฐาน
ก็จะเป็นประโยชน์และมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

ก่อนที่คุณ glory จะถามถึงหลักฐานในพระไตรปิฎก
ผมได้พบสติปัฏฐานที่ระบุถึงธรรมเอกอยู่แล้ว
จึงบอกกับ glory ว่ามีหลักฐานแน่นอนแล้ว
ซึ่งรองรับกันหมดทั้งภาคปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ
แต่เอาไว้ว่างๆ ก่อน จึงจะเขียนมาแบ่งกันอ่านต่อไป

วันนี้พอมีเวลาว่าง จึงขอยกพระสูตรอันเป็นหลักฐานสำคัญว่า
การเจริญสติปัฏฐานต้องอาศัยธรรมเอก มาแสดง ดังนี้
 
 พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โกสลสูตร
                    ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔

      [๖๙๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ณ พราหมณคามชื่อโกศล ในแคว้นโกศล
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ
แล้วได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายที่เป็นผู้มาใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้
อันเธอทั้งหลายพึงให้สมาทาน พึงให้ตั้งอยู่
พึงให้ดำรงมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน ๔
สติปัฏฐาน ๔  เป็นไฉน?

     [๖๙๒] มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น
มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว
เพื่อรู้กายตามความเป็นจริง

จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... เพื่อรู้เวทนาตามความเป็นจริง
จงพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... เพื่อรู้จิตตามความเป็นจริง
จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่
มีความเพียร  มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น
มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว
เพื่อรู้ธรรมตามความเป็นจริง.

      [๖๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัต
ปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
ก็ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
 มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น
มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อกำหนดรู้กาย

ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... เพื่อกำหนดรู้เวทนา
ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... เพื่อกำหนดรู้จิต
 ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส  มีจิตตั้งมั่น
มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อกำหนดรู้ธรรม.

      [๖๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุทั้งหลายที่เป็นอรหันตขีณาสพ
อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว
มีประโยชน์ตนถึงแล้วโดยลำดับ สิ้นสังโยชน์ที่จะนำไปสู่ภพแล้ว
หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ
ก็ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น
มีจิตมีอารมณ์เดียว พรากจากกายแล้ว

 ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พรากจากเวทนาแล้ว
ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ...  พรากจากจิตแล้ว
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น
มีจิตมีอารมณ์เดียว พรากจากธรรมแล้ว.

      [๖๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายที่เป็นผู้มาใหม่
บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้
อันเธอทั้งหลายพึงให้สมาทาน พึงให้ตั้งอยู่
พึงให้ดำรงมั่น ในการเจริญสติปัฏฐาน ๔  เหล่านี้.
 

ผมมีข้อสังเกตหลายประการคือ

พระสูตรนี้ท่านสอนสติปัฏฐานอย่างย่อแก่พระบวชใหม่
ท่านจึงไม่ได้แสดงบทอุเทสของมหาสติปัฏฐานสูตร
อันเป็นการเตรียมจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญวิปัสสนา
หากแต่ได้ย่นย่อเอา ธรรมเอก ซึ่งเป็นจิตที่พร้อมแล้ว
มากล่าวถึงในขั้นการเจริญสติปัฏฐานเลยทีเดียว

จุดสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ
ท่านสอนพระบวชใหม่ให้เจริญสติปัฏฐานในลักษณะ
เพื่อรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม ตามความเป็นจริง

ท่านเล่าให้พระใหม่ฟังเพิ่มเติมว่า
พระเสขบุคคล คือพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบัน จนถึงพระอนาคามี
เจริญสติปัฏฐานเพื่อกำหนดรู้ กาย เวทนา จิต และธรรม
ทั้งนี้เพราะพระอริยบุคคลเหล่านี้
ท่านเห็นความจริงของกาย เวทนา จิต ธรรมแล้ว ว่าไม่ใช่ตัวตน ของตน
แต่จิตของท่านยังยึดถือ กาย เวทนา จิต ธรรม อยู่
จึงต้องกำหนดรู้เพื่อการพัฒนาจิตต่อไปอีก
อันเป็นกิจตามหลักของอริยสัจจ์ 4 นั่นเอง คือทุกข์ให้กำหนดรู้

ท่านเล่าให้พระใหม่ฟังเพิ่มเติมว่า
พระอรหันต์เจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เพื่อสิ่งใด
เพียงแต่เจริญสติปัฏฐาน โดยมีธรรมเอก
คือมี จิตตั้งมั่น พรากจาก กาย เวทนา จิต และธรรมแล้ว

สภาวะที่จิตอันผ่องใส ตั้งมั่น มีอารมณ์อันเดียว พรากจากกาย เวทนา จิต ธรรม
เป็นสภาวะที่อธิบายยากมาก คิดตามก็ยากจะทำได้
ตราบใดที่ยังไม่รู้ธรรม และสามารถปฏิบัติจนจิตหลุดพ้นชั่วขณะจากขันธ์
ก็จะไม่เข้าใจสภาวะที่จิตพรากจากขันธ์
แต่ผมก็จะลองพยายามอธิบายให้พวกเราส่วนมากในที่นี้ฟัง
พอเป็นเครื่องบันเทิงใจ และเป็นกำลังใจในการปฏิบัติ

ปกติจิตของผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ จะคลุกอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับขันธ์
ขันธ์ทั้งก้อน รวมเป็น เรา เรา เรา อย่างเหนียวแน่น
(ที่จริงอยากใช้คำว่า เหนียวหนา  คือมันทั้งเหนียวทั้งหนาจริงๆ)
แต่พอเราเริ่มมีตัวรู้ เราจะเห็นหรือรู้สึกว่า
ระหว่างขันธ์กับจิต จะมีระยะทางหรือช่องว่างอันหนึ่ง
หรือจะว่ามีช่องว่างระหว่างจิตกับรูป จิตกับนาม และรูปกับนาม ก็ว่าได้
พวกเราจำนวนมากในที่นี้ คงเคยเห็นสภาวะอย่างนี้กันแล้ว

แต่สภาวะดังกล่าวนี้ จิตยังไม่พรากจากขันธ์
คือจิตกับขันธ์ ยังเหมือนนักมวยบนเวทีเดียวกัน
ยังต่อสู้ ชิงไหวชิงพริบกัน
ประเภทเผลอพริบตาเดียว เป็นถูกกิเลสตัณหาชกจนหัวซุกหัวซุน
หรือถ้าช่วงใด สติ ปัญญากล้าแข็ง ก็ต้อนเอากิเลสตัณหาเข้ามุม
แต่ก็ยังเอาชนะน็อกไม่ได้อย่างที่ปรารถนา

ส่วนสภาวะที่จิตพรากจากขันธ์นั้น เป็นคนละโลกเลย
ไม่ใช่สภาวะที่จิตชนะน็อกแล้วเดินลงจากเวที ไม่ใช่อย่างนั้นเลย
แต่มันเหมือนจิตมันปัดทั้งเวที นักมวยทุกฝ่าย กระทั่งกรรมการและคนดู
กระเด็นเข้าไปอยู่ในความฝันเลย
ขันธ์ที่เหลืออยู่ เหมือนความฝัน เหมือนภาพมายา เหมือนพยับแดด
จิตเหลือแต่อารมณ์อันเดียว คืออารมณ์ของความเป็นอิสรภาพ เบิกบาน ไร้ขอบเขต


จิตพระอรหันต์ เป็นจิตที่พรากจากขันธ์
สิ่งที่ท่านปฏิบัติทางกาย วาจา และใจ มันเป็นกิริยาล้วนๆ
เหมือนเดินอยู่ในความฝันลวงๆ ลมๆ แล้งๆ ไปอย่างนั้นเอง

ผมเคยรู้จักสภาพอย่างนี้เป็นคราวๆ
แล้วก็กลับมาขึ้นเวทีชกมวยต่อไปอีก
ยังไม่ทราบเหมือนกันว่า เมื่อไรจะเลิกชกได้เสียที
สำหรับพวกเราทุกคนก็ควรทำได้เช่นกัน
ขอเพียงตั้งใจชกให้ดีเท่านั้น อย่าถูกหามลงจากเวทีเสียก่อน
สักวันหนึ่ง ก็คงสามารถเหวี่ยงเวทีของขันธ์และโลก
เข้าไปอยู่ในความฝันได้เช่นกัน


52
เขียนเมื่อ วัน อังคาร ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 10:24:33

"พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้น
ไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากเป็นเพียงจิตหนึ่ง
นอกจากจิตหนึ่งแล้ว มิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย
จิตหนึ่งซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้
เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น และไม่อาจจะถูกทำลายได้เลย
มันไม่ใช่เป็นของมีสีเขียวหรือสีเหลือง
และไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งการปรากฏ
ไม่ถูกนับรวมอยู่ในบรรดาสิ่งที่มีการตั้งอยู่ และไม่มีการตั้งอยู่
ไม่อาจจะลงความเห็นว่าเป็นของใหม่ หรือของเก่า
ไม่ใช่ของยาวหรือของสั้น ของใหญ่หรือของเล็ก
ทั้งนี้เพราะ มันอยู่เหนือขอบเขต เหนือการวัด เหนือการตั้งชื่อ
เหนือการทิ้งร่องรอยไว้ และเหนือการเปรียบเทียบทั้งหมดทั้งสิ้น

จิตหนึ่งนี้ เป็นสิ่งที่เราเห็นตำตาเราอยู่แท้ๆ
แต่จงลองไปใช้เหตุผล(ว่ามันเป็นอะไร เป็นต้น) กับมันเข้าดูซิ
เราจะหล่นลงไปสู่ความผิดพลาดทันที
สิ่งนี้เป็นเหมือนกับความว่างอันปราศจากขอบทุกๆ ด้าน
ซึ่งไม่อาจจะหยั่งหรือวัดได้"

*****************************

เมื่อกลางปี 2525 ผมได้ไปกราบถวายรายงานการดูจิตต่อหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
โดยเรียนท่านว่า ผมเห็นจิตแล้ว จิตมีปกติไหวตัวเวลากระทบอารมณ์
หลวงปู่กลับสั่งว่า ให้กลับไปดูใหม่
สิ่งที่ไหวเป็นเพียงอาการของจิต ไม่ใช่จิต
หลังจากนั้น ท่านผู้เฒ่าก็นิ่งเงียบไปพักใหญ่
แล้วจึงแสดงธรรมด้วยกระแสเสียงที่ใหญ่ กังวาล แต่แผ่วเบา
ท่านกล่าวธรรมอย่างรวดเร็วติดต่อกันไปไม่หยุด
และกล่าวซ้ำในจุดที่ผมยังฟังไม่เข้าใจ เป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง

ผมไม่เคยคาดฝันมาก่อนเลยว่า
ผมจะได้ฟังวาทะของท่านฮวงโป ปรมาจารย์เซ็น
จากปากของพระป่าผู้เฒ่า ผู้ผ่านอายุกาลมาเกือบร้อยปี
แวบหนึ่งระหว่างนั่งฟังธรรมอยู่แทบเท้าท่าน
ผมตระหนักชัดทีเดียวว่า ธรรมะเป็นของกลาง
ผู้เข้าถึงความจริง ต่างก็เข้าใจซึ่งกันและกัน โดยไม่มีข้อจำกัดในด้านนิกาย

หลวงปู่ดูลย์ กล่าวต่อไปว่า

"จิตหนึ่งนี้เท่านั้นเป็นพุทธะ
ไม่มีความแตกต่างระหว่างพุทธะ กับสัตว์โลกทั้งหลาย
เพียงแต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลายไปยึดมั่นต่อรูปธรรมต่างๆ เสีย
และเพราะเหตุนั้น เขาจึงแสวงหาพุทธภาวะจากภายนอก
การแสวงหาของสัตว์เหล่านั้นนั่นเอง ทำให้เขาพลาดจากพุทธภาวะ
การทำเช่นนั้นเท่ากับการใช้สิ่งที่เป็นพุทธะ ให้เที่ยวแสวงหาพุทธะ
และการใช้จิตให้เที่ยวจับฉวยจิต
แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะได้พยายามจนสุดความสามารถของเขา อยู่ตั้งกัปป์หนึ่งเต็มๆ
เขาก็จะไม่สามารถลุถึงพุทธภาวะได้เลย
เขาไม่รู้ว่า ถ้าเขาเองเพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง
และหมดความกระวนกระวายเพราะการแสวงหาเสียเท่านั้น
พุทธะก็จะปรากฏตรงหน้าเขา
เพราะว่า จิตนี้คือ พุทธะ นั่นเอง"

"จิตหนึ่งนั่นแหละคือพุทธะ
ไม่มีพุทธะอื่นใดที่ไหนอีก ไม่มีจิตอื่นใดที่ไหนอีก
มันแจ่มจ้าและไร้ตำหนิเช่นเดียวกับความว่าง
คือมันไม่มีรูปร่างหรือปรากฏการณ์ใดๆ เลย
ถ้าเราใช้จิตของเราให้ปรุงแต่งคิดฝันไปต่างๆ นั้น
เท่ากับเราทิ้งเนื้อหาอันเป็นสาระเสีย
แล้วไปผูกพันตัวเองอยู่กับรูปธรรม ซึ่งเป็นเหมือนกับเปลือกพุทธะ"

"การบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ด้วยเจตนาที่จะเป็นพุทธะสักองค์หนึ่งนั้น
เป็นการปฏิบัติชนิดคืบหน้าทีละขั้นๆ
แต่พุทธะ ซึ่งมีตลอดกาลดังที่กล่าวแล้วนั้น
หาใช่พุทธะที่ลุถึงได้ด้วยการปฏิบัติเป็นขั้นๆ เช่นนั้นไม่
เรื่องมันเป็นเพียงแต่ ตื่น และลืมตา ต่อจิตหนึ่งนั้นเท่านั้น
และไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร
นั่นแหละคือ พุทธะ ที่แท้จริง"

"จิตเป็นเหมือนกับความว่าง ซึ่งภายในย่อมไม่มีความสับสนและความไม่ดีต่างๆ
ดังจะเห็นได้ในเมื่องดวงอาทิตย์ผ่านไปในที่ว่างนั้น
ย่อมส่องแสงไปได้ทั้งสี่มุมโลก
ความว่างที่แท้จริงนั้น มันก็ไม่ได้สว่างขึ้น
และเมื่อดวงอาทิตย์ตก ความว่างก็ไม่ได้มืดลง
ปรากฏการณ์ของความสว่างและความมืดย่อมสับเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
แต่ธรรมชาติของความว่างนั้น ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่นั่นเอง"

"เมื่อพวกเราที่เป็นนักศึกษาเรื่อง ทาง ทางโน้น
ถ้าไม่ลืมตาต่อสิ่งซึ่งเป็นสาระ กล่าวคือ จิต นี้
พวกเราจะปิดบังจิตนั้นเสียด้วยความคิดปรุงแต่งของพวกเราเอง
พวกเราจะเที่ยวแสวงหา พุทธะ นอกตัวเราเอง"

******************************

ที่ยกมานั้น เป็นตัวอย่างเท่านั้นครับ
หากพวกเราสนใจที่จะอ่านมากกว่านี้ ก็หาอ่านได้จากคำสอนของท่านฮวงโป
ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสได้แปลเป็นภาษาไทยไว้แล้ว

******************************

ขอแถมเกี่ยวกับเรื่องเซ็นสักประเด็นหนึ่งครับ
คือเรามักได้ยินเสมอว่า ชาวเถรวาทบางคนชี้ว่า
เซ็นเน้นแต่ปัญญา ละเลยเรื่องศีลและสมาธิ

ความจริงเซ็นสอนให้เราเข้าถึง จิต หรือพุทธะภายในตัวเราเอง
ซึ่งผู้ที่ลืมตา ตื่น ต่อจิตของตนได้จริงๆ
จิตย่อมถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ และปัญญา
เรียกว่ามีศีล โดยไม่ต้องรักษา
มีสมาธิ โดยไม่ต้องเข้าฌาน
และมีปัญญา โดยไม่ต้องคิด/อ่าน

ส่วนคนที่ยังเข้าไม่ถึง จิตอันเป็นพุทธะ
ยังจำเป็นต้องมีศีล เจริญสมาธิและปัญญา
ซึ่งถ้าเราศึกษาเรื่องในวัดเซ็น เราจะพบว่า
พระเซ็นมีการปฏิบัติไตรสิกขาเช่นกัน
แต่บางคราวภาพลักษณ์ของเซ็น ค่อนข้างเสียหาย
เพราะผู้ศึกษาเซ็นบางคน ศึกษาเซ็นเพื่อเอาไว้เป็นเครื่องมือของกิเลส
เช่นเมื่อจะทำกรรมชั่ว หลอกเด็กหลอกเล็ก หรือผิดลูกผิดเมียเขา
ก็อ้างว่า ตนทำด้วย "จิตว่าง"
คล้ายกับว่า ถ้าจิตว่างเสียอย่างเดียว ทำกรรมชั่วอย่างไรก็ได้
เพราะสักแต่ว่าเป็นกิริยา ไม่เป็นกรรม

ถ้าผู้ศึกษาเซ็นคนใด ทำผิดศีล ด้วย "จิตว่าง"
ก็แสดงว่า เขาไม่รู้จักจิตว่าง ไม่มีกระทั่งสติและสัมปชัญญะ
เพราะคนที่มีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองจิตอยู่นั้น
จะทำกรรมชั่วในขั้นละเมิดศีล 5 ไม่ได้เลย
คนประเภทนี้ แม้จะอ้างว่าตนศึกษาหรือนิยมเซ็น เขายังไม่ใช่เซ็นที่แท้จริง
เพราะจิต ยังไม่ ตื่น จากอำนาจของกิเลสตัณหา

ถ้ามีสติสัมปชัญญะเป็นเครื่องปลุกจิตให้ ตื่นได้แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นเถรวาท หรือเซ็น ก็ย่อมมีศีล สมาธิและปัญญา
และทำชั่วไม่ได้ เหมือนๆ กันนั่นเอง

53
มีแต่เอากระทู้เก่ามาเล่าใหม่หลายวันแล้วยังไม่มีใครตั้งกระทู้อื่นๆบ้างเลย ผมเลยขอตั้งแล้วกัน เอ...กลัวจะเป็น
ตั้งเอง ชงเอง ตบเองจัง  :P

จากกระทู้เก่ามาเล่าใหม่ เรื่อง วันวาน ของ อ.สรุวัฒน์ ทำให้นึกถึงเรื่องนึง ว่าที่จริงแล้วนักภาวนาส่วนใหญ่ ที่มาถูกจริต
ในแนวทางเจริญสติปัฎฐานโดยส่วนใหญ่น่าจะมีของเก่า หรือคุ้นเคยกับการเจริญสติมาก่อนบ้างไม่มากก็น้อย ดังที่
อดีตคุณสันตินันท์และ อ.สุรวัฒน์ต่างก็เคยมีประสบการณ์

ผมเองก็มีครับ ตอนเด็กๆมีเกมส์ประเภทหนึ่งที่ผมชอบเล่นกับตัวของผมเองคนเดียว คือการแอบดูความรู้สึกในใจ
ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกครับว่าการเจริญสติคืออะไร แต่รู้สึกสนุก ที่เห็นความรู้สึกในใจเปลี่ยนแปลงตามสถานที่ๆเราได้ไป
เช่นไปสถานที่นี้ก็จะมีความรู้สึกแบบนี้เกิด พอไปกับอีกสถานที่นึงก็มีความรู้สึกอีกอย่างเกิด หรือบางทีก็อาจจะเหมือนๆกันได้

ต่อมาได้ไปเจอคุณสันตินันท์ (ในสมัยนั้น) ตอนแรกก็ยังไม่เข้าใจการเจริญสติมาก ยังภาวนาไม่เป็นเลย มีอยู่ครั้งนึง
ไปสั่งอาหารข้างๆตึกออฟฟิส ที่นี้แจ็คพ๊อตครับ ร้านที่ผมไปยืน ถังแก๊สมันล้มต่อหน้าผมเลย เพราะผมอยู่หัวแถว
คนก็แตกตื่นวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น ทั้งหมดเป็นร้อยๆคนในละแวกนั้นเลยครับ (ก็บรรดามนุษย์เงินเดือนแหล่ะครับ)

พอถังแก๊สล้มต่อหน้าผม ผมก็เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา เห็นความตั้งมั่นของใจ ประหนึ่งตูเตรียมตัวตาย โดยไม่ได้ตั้งใจ
แต่อย่างที่บอกว่าตอนนั้นยังไม่เข้าใจการภาวนาดี เลยไม่รู้ว่าจะทำไงต่อจากนั้น ทั้งที่จริงแล้วครูบาอาจารย์ท่านสอนเสมอ
ทำนองที่ว่า "ให้รู้ไป ได้แค่ไหนก็แค่นั้นครับ ไม่ต้องดิ้นรนทำอะไรต่อ" สรุปวันนั้นจะด้วยเหตุอะไรก็ตามถังแก็สที่ล้มต่อหน้าผม
ก็ไม่ระเบิด แต่คนอื่นเผ่นออกจากบริเวณเต็นท์ขายอาหารหมดแล้ว เหลือแต่ข้าพเจ้า หงส์น้อยแห่งบ้านโค้งดารา กับถังแก๊สที่ด้าน
เท่านั้น  ;)

แล้วท่านอื่นๆล่ะครับ มีอะไรมาเล่า มาแชร์กันไหมครับ ที่จริงประสบการณ์หลังภาวนาพอเป็นแล้วก็มีครับ แถมทำให้ผมรอดตายมาแล้วซะด้วย
แต่ประเด็นที่เราคุยเล่นกันวันนี้คือ ประสบการณ์เจริญสติ ก่อนที่จะได้รู้จักการเจริญสติจากครูบาอาจารย์ครับ  ;D

54
เขียนเมื่อ วัน จันทร์ ที่ 20 ธันวาคม 2542 11:21:37


เมื่อเอ่ยถึงคำว่า มหาสุญญตา พวกเรามักจะนึกถึงหลายสิ่งหลายอย่าง
เช่นนึกถึง เซ็น ในฐานะที่สอนเรื่องมหาสุญญตา
นึกถึง ท่านพุทธทาส ในฐานะที่นำคำว่ามหาสุญญตามาสู่ความรับรู้ของคนไทย
นึกถึง ความว่างบ้าง นิพพานบ้าง อันน่าจะเป็นสภาวะของมหาสุญญตา
บางทีก็เลยไปคิดถึงทัศนะของชาวพุทธเถรวาทบางท่า
ที่ว่า มหาสุญญตาไม่ใช่คำสอนในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
และสำหรับผมนั้น มักจะนึกเพิ่มเติมไปอีกจุดหนึ่ง
คือนึกไปถึง หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ในฐานะครูพระป่าที่กล่าวถึงมหาสุญญตาบ่อยครั้ง

ผมเคยคิดที่จะเขียนถึงมหาสุญญตาสักครั้งหนึ่ง แต่ยังไม่ได้ลงมือสักที
พอดีหลานทองคำขาวไปพบ มหาสุญญตสูตร
แล้วขอให้ผมนำมาเขียนชวนพวกเราอ่านพระสูตรนี้กันบ้าง
จึงเห็นว่า น่าจะลงมือเขียนเรื่องนี้เสียที

มหาสุญญตสูตร ปรากฏใน สุญญตวรรค มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก
พระสุตตันตปิฎก เล่ม 6 พระไตรปิฎกเล่ม 14
แรงบันดาลพระทัยให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้
ก็สืบเนื่องจากพระองค์เสด็จไปพบว่า ที่วัดซึ่งเจ้ากาลเขมกะ ศากยะ สร้างนั้น
จัดที่อยู่อาศัยให้กับพระภิกษุจำนวนมาก
พระองค์จึงมาทรงปรารภธรรมกับท่านพระอานนท์
ว่าพระภิกษุไม่น่าจะไปคลุกคลีอยู่เป็นหมู่คณะใหญ่ขนาดนั้น เพราะ

ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน
ประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่
ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่ ย่อมไม่งามเลย
ดูกรอานนท์ ข้อที่ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน
ประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่
ยินดีในหมู่บันเทิงร่วมหมู่นั้นหนอ
จักเป็นผู้ได้สุขเกิดแต่เนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด
สุขเกิดแต่ความเข้าไปสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้
ตามความปรารถนาโดยไม่ยากไม่ลำบาก นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

ดูกรอานนท์ ข้อที่ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน
ประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่
ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่นั้นหนอ
จักบรรลุเจโตวิมุติอันปรารถนาเพียงชั่วสมัย
หรือเจโตวิมุติอันไม่กำเริบมิใช่เป็นไปชั่วสมัยอยู่ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้


อ่านถึงตรงนี้ พวกเราก็น่าจะคิดเหมือนกันว่า
เราควรรวมหมู่คลุกคลีกันขนาดไหนจึงจะเหมาะ
บางคนที่ช่างสังเกตหน่อยก็จะแย้งว่า
พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าผู้คลุกคลีกับหมู่คณะไม่อยู่ในฐานะที่จะได้เจโตวิมุตติ
ดังนั้น พวกเราที่คลุกคลีกัน ก็พึงได้ปัญญาวิมุตติก็แล้วกัน
อันนี้ขอเรียนว่า การบรรลุมรรคผลนั้น
ต้องอาศัยทั้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติประกอบกัน
ดังนั้นจึงไม่ปรากฏเลยว่าพระศาสดาทรงสรรเสริญความคลุกคลี

จากนั้นพระองค์ก็ทรงเล่าให้ท่านพระอานนท์ฟังต่อไปว่า

ดูกรอานนท์ ก็วิหารธรรมอันตถาคตตรัสรู้ในที่นั้นๆ นี้แล
คือ  ตถาคตบรรลุสุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวงอยู่
ดูกรอานนท ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา  เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์
เข้าไปหาตถาคตผู้มีโชค อยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ในที่นั้นๆ
ตถาคตย่อมมีจิตน้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก
หลีกออกแล้ว ยินดียิ่งแล้วในเนกขัมมะ
มีภายในปราศจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง
จะเป็นผู้ทำการเจรจาแต่ที่ชักชวนให้ออกเท่านั้น ในบริษัทนั้นๆ โดยแท้


ใจความที่ทรงเล่าให้ท่านพระอานนท์สดับก็คือ
พระองค์เองมีวิหารธรรม คือ สุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวง
อาศัยเครื่องอยู่คือวิหารธรรมอันนี้
พระองค์ทรงพบปะผู้คนจำนวนมาก ด้วยจิตที่สงบวิเวก
และชักชวนผู้อื่นให้วิเวกและหลีกออกจากเครื่องร้อยรัดด้วย

ขอเรียนว่า มหาสุญญตสูตร ไม่ได้กล่าวถึงมหาสุญญตาตามแบบเซ็น
แต่กล่าวถึงสุญญตสมาบัติ ซึ่งมีทั้งแบบภายใน ภายนอก ภายในและภายนอก
ซึ่งสุญญตสมาบัตินั้น พระไตรปิฎกเล่มที่ 31  ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามัคค์
อันเป็นยอดอภิธรรมที่ปรากฏในพระสูตร ได้อธิบายว่า

พิจารณาเห็นความถือมั่นว่าตนโดยความเป็นภัย
มีจิตน้อมไปในนิพพานอันว่างจากตน เพิกเฉยความเป็นไปแล้ว
คำนึงถึงนิพพานอันเป็นที่ดับ ว่างจากตนแล้วย่อมเข้าสมาบัติ
นี้ชื่อว่า สุญญตสมาบัติ ฯ

พิจารณาเห็นความถือมั่นว่ารูปโดยความเป็นภัย
มีจิตน้อมไปในนิพพานอันว่างเปล่า เพิกเฉยความเป็นไปแล้ว
คำนึงถึงนิพพานอันเป็นที่ดับ ว่างเปล่าแล้วย่อมเข้าสมาบัติ
นี้ชื่อว่า สุญญตสมาบัติ ฯ

พิจารณาความถือมั่นและมรณะโดยความเป็นภัย
มีจิตน้อมไปในนิพพานอันว่างเปล่า เพิกเฉยความเป็นไปแล้ว
คำนึงถึงนิพพานอันเป็นที่ดับ ว่างเปล่าแล้วย่อมเข้าสมาบัติ
นี้ชื่อว่า สุญญตสมาบัติ ฯ

สิ่งที่ผมยกมากล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า
สิ่งที่เรียกว่าสุญญตสมาบัตินั้น ไม่ใช่สมาบัติอื่นที่นอกเหนือจากสมาบัติ 8
อันประกอบด้วยรูปสมาบัติ(รูปฌาน) 4 และอรูปสมาบัติ(อรูปฌาน) 4
รวมกับนิโรธสมาบัติหรือสัญญาเวทยิตนิโรธอีก 1
แต่ที่เรียกว่าสุญญตสมาบัติ
ก็เพราะท่านพิจารณาละความถือมั่น
แล้วจิตน้อมไปถึงนิพพานอันว่างเปล่า
เพิกเฉยความเป็นไปทั้งหลาย ก็คือหยุดการพิจารณาทั้งสิ้น
คำนึงถึงแต่นิพพานอันเป็นที่ดับ
หรือนัยหนึ่งก็คือ คำนึงถึงมหาสุญญตา
แล้วน้อมจิตเข้าสู่สมาบัติ
สมาบัติที่ผ่านกระบวนการอย่างนี้ เรียกว่า สุญญตสมาบัติ

ทำนองเดียวกับผู้ที่เพ่งกสิณ แล้วเข้าสมาบัติด้วยการเพ่งกสิณ
ท่านก็เรียกสมาบัตินั้นว่า กสิณสมาบัติ

กระบวนการทางจิตตรงที่คำนึงถึงมหาสุญญตาหรือนิพพานนี้
ผมจะเล่าให้พวกเราฟังในภายหลัง
ตอนนี้ขอชวนอ่านพระสูตรต่อไปก่อน
คือพระองค์ได้ทรงสอนท่านพระอานนท์ถึงวิธีการเข้าสุญญตสมาบัติว่า
ก่อนอื่นทั้งหมดจะต้องมี ธรรมเอก เสียก่อน ดังนี้

ภิกษุถ้าแม้หวังว่า จะบรรลุสุญญตสมาบัติภายในอยู่
เธอพึงดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ
ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในให้มั่นเถิด ฯ
      [๓๔๗] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุจะดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ
ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในมั่นได้อย่างไร
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
      (๑) สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌานมีวิตก มีวิจาร
มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ฯ
      (๒) เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ฯ
      (๓) เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย
เข้าตติยฌาน ที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุข อยู่ ฯ
      (๔) เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ฯ
     ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมดำรงจิตภายใน
ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในมั่น ฯ


เรื่องธรรมเอกนี้ พวกเราคงเริ่มคุ้นเคยกันมากแล้ว
เพราะผมเคยนำมากล่าวทั้งธรรมเอกในสัมมาสมาธิ
และธรรมเอกในการเจริญสติปัฏฐาน
คราวนี้ก็มากล่าวถึงเรื่องธรรมเอก อันเป็นขั้นตอนแรกของการทำสุญญตสมาบัติ

มีข้อน่าสังเกตว่า ธรรมเอกนี้เป็นธรรมที่อาภัพ ไม่มีใครพูดถึงหรือนำมาศึกษา
เพราะกลุ่มนักการศึกษานั้น ตกอยู่ใต้อิทธิพลของคัมภีร์ชั้นหลัง
ซึ่งพากันเน้นขณิกสมาธิ แล้วตัดธรรมเอกทิ้งกันทั้งนั้น
เนื่องจากธรรมเอกนี้ หากไม่ใช่ผู้ปฏิบัติแล้ว ไม่มีทางเข้าใจได้เลย

เมื่อมีธรรมเอกแล้วก็มีถึงขั้นตอนที่ 2 คือการรู้ความว่าง(สุญญตา)
ดังที่พระองค์ทรงสอนว่า

ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายใน
เมื่อเธอกำลังใส่ใจความว่างภายใน
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในความว่างภายใน
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เมื่อเรากำลังใส่ใจความว่างภายใน
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในความว่างภายใน
ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องความว่างภายในนั้นได้ ฯ
      ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายนอก ...
      ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก ...


หมายความว่าท่านทรงสอนให้ระลึกรู้ความว่างภายในจิตของตน
แม้ในขณะนั้น จิตกับความว่างยังไม่เข้าสู่ภาวะความเป็นอันเดียวกัน
ท่านก็ถือว่าใช้ได้แล้ว
เพราะอำนาจของธรรมเอกนั้น ทำให้ผู้ปฏิบัติรู้ความว่างด้วยความรู้ตัว

เมื่อรู้ความว่างด้วยความรู้ตัวแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนที่ 3 คือ
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
เมื่อเธอกำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เมื่อเรากำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอาเนญชสมาบัตินั้นได้ ฯ


คำว่า "อาเนญชาสมาบัติ" นี้ ผมค้นหาความหมายที่ชัดเจนไม่พบ
พบแต่ท่านกล่าวถึงอเนญชสมาบัติเอาไว้
ก่อนอากิญจัญญายตนสมาบัติและเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
(คือก่อนอรูปสมาบัติที่ 3 และ 4 หรืออีกนัยหนึ่งคือฌานที่ 7 และ 8)
และเมื่อค้นคำๆ นี้จากพจนานุกรมของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก
พบแต่คำว่า อาเนญชาภิสังขาร ซึ่งหมายถึง
"สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคงไม่หวั่นไหว
ได้แก่กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร 4
หมายเอาภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน"
อ่านแล้วก็ได้เพียงอนุมานเอาไว้ชั่วคราวว่า
เมื่อมีธรรมเอกแล้ว ท่านให้ระลึกรู้ความว่าง
แล้วน้อมจิตไปสู่ฌานขั้นละเอียดไม่ต่ำกว่ารูปฌานที่ 4
แต่ก็น่าจะหมายถึงอรูปฌานขั้นต้นๆ
ไม่ถึงอากิญจัญญายตนะและเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
เพราะถ้ารวมสมาบัติ 2 ประการหลังเข้าไปด้วยแล้ว
ท่านจะเรียกว่า อรูปสมาบัติ 4 ไม่น่าจะเรียกว่าอเนญชสมาบัติ

ที่กล่าวถึงอาเนญชสมาบัติมานี้ เป็นการวิเคราะห์ในเชิงปริยัติ
เท่าที่หาตำราได้ในขณะนี้
จึงไม่สามารถรับรองความถูกต้องได้นะครับ
 
คราวนี้ย้อนกลับไปเริ่มขั้นตอนที่ 2 และ 3 อีก version หนึ่ง
คือเมื่อมีธรรมเอกแล้ว ท่านสอนดังนี้
     ดูกรอานนท์ ภิกษุนั้นพึงดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ
ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในให้มั่น ในสมาธินิมิตข้างต้นนั้นแล
เธอย่อมใส่ใจความว่างภายใน
เมื่อเธอกำลังใส่ใจความว่างภายใน จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น
นึกน้อมไปในความว่างภายใน
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เมื่อเรากำลังใส่ใจความว่างภายใน จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น
นึกน้อมไปในความว่างภายใน
ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องความว่างภายในนั้นได้ ฯ
      ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายนอก ...
      ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก ...
 
ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจอาเนญชสมาบัติ เมื่อเธอกำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เมื่อเรากำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น
นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอาเนญชสมาบัตินั้นได้ ฯ


version นี้ต่างจากแบบแรกก็ตรงที่
ครั้งนี้จิตรวมเข้ากับความว่าง และรวมเข้าในอเนญชสมาบัติ
แต่ทั้งนี้ ขอย้ำให้เห็นว่า สมาธิของพระพุทธศาสนานั้น
ไม่ใช่สมาธิเคลิบเคลิ้มลืมตัว
แต่เป็นสมาธิที่มีธรรมเอก จิตมีความตั้งมั่นรู้ตัวอยู่

เมื่อจิตมีสุญญตสมาบัติเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้แล้ว
ย่อมเป็นกำลังในการปฏิบัติธรรมเพื่อถอดถอนกิเลสต่อไป
ซึ่งพระศาสดาทรงสอนท่านพระอานนท์ต่อไปดังนี้

      [๓๔๘] ดูกรอานนท์ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้
จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะจงกรม เธอย่อมจงกรมด้วยใส่ใจว่า
อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌา  และโทมนัส
จักไม่ครอบงำเราผู้จงกรมอยู่อย่างนี้ได้
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการจงกรม ฯ
      หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้
จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะยืน เธอย่อมยืนด้วยใส่ใจว่า
อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌาและโทมนัส
จักไม่ครอบงำเราผู้ยืนอยู่แล้วอย่างนี้ได้
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการยืน ฯ
      หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะนั่ง ...
      หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะนอน ...
      หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะพูด
เธอใส่ใจว่า เราจักพูดเรื่องราวเห็นปานฉะนี้
ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ
เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
คือ เรื่องมักน้อย เรื่องยินดีของของตน เรื่องความสงัด เรื่องไม่คลุกคลี
เรื่องปรารภความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการพูด ฯ
      หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะตรึก
เธอย่อมใส่ใจว่า เราจักไม่ตรึกในวิตกเห็นปานฉะนี้
ซึ่งเป็นวิตกที่เลวทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส
เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการตรึก 
และเธอใส่ใจว่า เราจักตรึกในวิตกเห็นปานฉะนี้
ซึ่งเป็นวิตกของพระอริยะ เป็นเครื่องนำออก
ที่นำออกเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่บุคคลผู้ทำตาม
คือ เนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในการตรึก ฯ
      [๓๔๙] ดูกรอานนท์ กามคุณนี้มี ๕ อย่างแล ...
ซึ่งเป็นที่ที่ภิกษุพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า มีอยู่หรือหนอแล
ที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เราเพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง
ดูกรอานนท์ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้ชัดอย่างนี้ว่า
มีอยู่แลที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เราเพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้แล เรายังละไม่ได้แล้ว
แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า
ไม่มีเลยที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เราเพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้แล เราละได้แล้ว
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องกามคุณ ๕ ฯ
      [๓๕๐] ดูกรอานนท์ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้แล
ซึ่งเป็นที่ที่ภิกษุพึงเป็นผู้พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอยู่ว่า
อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป
อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา
อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา
อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร
อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ
เธอผู้พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้อยู่
ย่อมละอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราละอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ของเราได้แล้ว
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอุปาทานขันธ์ ๕ ฯ

      ดูกรอานนท์ ธรรมนั้นๆ เหล่านี้แล เนื่องมาแต่กุศลส่วนเดียว ไกลจาก
ข้าศึก เป็นโลกุตระ อันมารผู้มีบาปหยั่งลงไม่ได้ ดูกรอานนท์ เธอจะสำคัญความ
ข้อนั้นเป็นไฉน สาวกมองเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงควรใกล้ชิดติดตาม
ศาสดา ฯ


จะเห็นได้ว่าท่านผู้มีสุญญตสมาบัติเป็นวิหารธรรมนั้น
ท่านยังมีกิจที่ต้องทำต่อคือการเจริญสติปัฏฐาน
ด้วยการระลึกรู้การเดิน ยืน นั่ง นอน พูด คิด
รู้กามคุณในจิตของตน จนถึงการรู้อุปาทานขันธ์
และสามารถถอดถอนอุปาทานขันธ์เสียได้

ยังมีคำสอนเรื่องสุญญตสมาบัติในอีกพระสูตรหนึ่ง
ซึ่งผมอ่านแล้ว เกิดความเร้าใจ ตื่นตัว  และเบิกบานเป็นอย่างมาก
ชื่อว่า จูฬสุญญตสูตร ที่ ๑ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

ถ้าย้อนไปอ่านตอนต้นของบทความนี้ จะพบว่า
วิหารธรรมของพระศาสดาคือ สุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวง
พระสูตรหลังนี้แหละที่อธิบายถึงสมาบัติชนิดนี้อย่างชัดเจน

ดังที่กล่าวแล้วว่า ที่เรียกว่า สุญญตสมาบัติ
เป็นเพราะการพิจารณาความว่างก่อนเข้าสมาบัติ
ทีนี้สมาบัติก็ยังมี 2 ชนิด คือสมาบัติที่มีนิมิตหรือเครื่องหมายรู้
กับสมาบัติที่ไม่มีนิมิตหรือเครื่องหมายรู้
บรรดาสมาบัติ 8 นับตั้งแต่ปฐมฌาน จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
ล้วนเป็นสมาบัติที่ยังมีนิมิต คือมีเครื่องหมายรู้ทั้งสิ้น
เช่นรูปสมาบัติ มีลมหายใจเป็นเครื่องหมายรู้ เป็นต้น
ส่วนอรูปสมาบัติ ก็มีอรูปธรรมเป็นเครื่องหมายรู้
เช่นช่องว่างภายในจิต วิญญาณ ความไม่มีอะไรเลย ฯลฯ

สำหรับสมาบัติที่ไม่มีเครื่องหมายรู้ มีอยู่
สมาบัติชนิดนี้แหละที่พระศาสดาตรัสว่าเป็นวิหารธรรมของพระองค์
เป็นสมาบัติที่อ่านเอาตามตำราแล้ว เข้าใจยากเสียเหลือเกิน
แต่เป็นบุญของผม ที่ครูของผมคือหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ท่านมีสมาบัติชนิดนี้เป็นวิหารธรรม
และนักดูจิตที่ช่ำชอง พอจะเข้าใจตามที่ท่านสอนได้ ไม่ยากเกินไปนัก

ก่อนอื่น ขอเชิญอ่านพระสูตรอันน่าอัศจรรย์นี้ก่อนครับ

      [๓๔๑] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก
ภิกษุไม่ใส่ใจอากิญจัญญาตนสัญญา
ไม่ใส่ใจเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา
ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิต
จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น
และนึกน้อมอยู่ในเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต
เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิตนี้แล
ยังมีปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้
ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้นั้น
ไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา
เมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น
แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว
รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่าในญาณนี้ไม่มีความกระวนกระวาย
ชนิดที่อาศัยกามาสวะ ชนิดที่อาศัยภวาสวะและชนิดที่อาศัยอวิชชาสวะ
มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวาย
คือ ความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเพราะชีวิตเป็นปัจจัย
เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากกามาสวะ
สัญญานี้ว่างจากภวาสวะ สัญญานี้ว่างจากอวิชชาสวะ
และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเพราะชีวิตเป็นปัจจัย
ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้น
ด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในเจโตสมาธินั้นเลย
และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในเจโตสมาธินั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี
ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง
ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ
      [๓๔๒] ดูกรอานนท์ สมณะหรือพราหมณ์ในอดีตกาล
ไม่ว่าพวกใดๆ ที่บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น
ก็ได้บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดนี้เองอยู่
สมณะหรือพราหมณ์ในอนาคตกาลไม่ว่าพวกใดๆ
ที่จะบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น
ก็จักบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดนี้เองอยู่
สมณะหรือพราหมณ์ในบัดนี้ ไม่ว่าพวกใดๆ
ที่บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น
ย่อมบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดนี้เองอยู่

ดูกรอานนท์ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอพึงศึกษาไว้อย่างนี้เถิดว่า
เราจักบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ฯ


(มีต่อ)


55
เขียนเมื่อ วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 09:09:41

เมื่อวันเสาร์ได้รับเมล์สั้นๆ จากคุณมะขามป้อมฉบับหนึ่ง
เล่าถึงสภาวะบางอย่างให้ผมฟัง
และขอให้นำมาเขียนอธิบายเพิ่มเติมในกระทู้
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่จิตแปลกแยกออกจากธรรมชาติ
และจิตที่หลอมรวมเข้าเป็นอันเดียวกับธรรมชาติ

อันที่จริงสรรพสิ่งในจักรวาลก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่แล้ว
แต่จิตที่อุบัติขึ้นต่างหาก ประกอบด้วยอวิชชาหรือความไม่รู้จริง
จึงเริ่มแปลกแยกออกจากธรรมชาติอันเป็นกลางและศานติ
ด้วยการส่งออกรู้อารมณ์ภายนอก แล้วเกิดความรู้สึกแบ่งแยกขึ้นว่า
นี้(จิต)เรา นี้(อารมณ์)สิ่งภายนอก
ภาวะความเป็นคู่ก็เกิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา

นักปราชญ์ในลัทธิศาสนาอื่นๆ บางลัทธิศาสนา
ท่านก็เข้าใจถึงธรรมชาติเดิมของจักรวาลที่เป็นหนึ่ง
และพยายามจะกลับไปสู่ความเป็นหนึ่งนั้น
เช่นฮินดู ต้องการให้อาตมันกลับรวมเข้ากับปรมาตมัน
หรือเต๋า ก็ต้องการกลับคืนสู่ธรรมชาติเช่นกัน
แต่ความต่างระหว่างพระพุทธศาสนากับทัศนะของปราชญ์อื่นมีอยู่บางอย่าง
คือมรรคหรือวิถีที่จะกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างหนึ่ง
กับความเป็น "เรา" ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเห็นว่าไม่มีจริง อยู่ตั้งแต่แรกแล้ว
ไม่ใช่มี "เรา" แล้วเอา "เรา" กลับคืนสู่ธรรมชาติ

จิตที่ไปเข้าคู่รู้สิ่งภายนอกนั้น ได้มีปฏิกิริยาเกิดความคิดนึกขึ้น
เมื่อมีความคิดนึกแล้ว จิตไม่รู้ทัน
ความคิดนึกนั้นก็ปรุงแต่งครอบงำจิต
เกิดความรู้สึกว่า "เรา" ขึ้นมา แล้วก็ตามมาด้วย
"ของเรา" "เขา" และ "ของเขา"
และเมื่อเกิดกิเลสเช่นราคะและโทสะขึ้น
ก็เกิดการรุกรานเบียดเบียนกันระหว่างเราและเขาขึ้นมา
สัตว์ก็ยิ่งแปลกแยกออกจากธรรมชาติที่สงบศานติมากขึ้นตามลำดับ

สรุปแล้ว เพราะความไม่รู้ ทำให้สังขารคือความคิดนึก เข้าไปปรุงแต่งจิต
จิตก็เกิดความเป็นตัวตนขึ้นมา แล้วแปลกแยกออกจากธรรมชาติมากขึ้นทุกที


ในทางกลับกัน หากเรามีสัมมาทิฏฐิ คือรู้กฏของธรรมชาติ
ว่าความทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร
มีสติสัมปชัญญะ มีธรรมเอกคือสัมมาสมาธิอันได้แก่ความตั้งมั่นของจิต
หรือพูดง่ายๆ ว่า ถ้าเรา "ตื่น" หรือ "รู้ตัว" เมื่อใด
เมื่อนั้นเอง สังขารคือความคิดนึก ก็ไม่สามารถปรุงแต่งจิตได้
จิตก็ไม่เกิดความเป็น "เรา" ขึ้นมา อันเป็นการแยกตัวออกจากธรรมชาติ
และก็ไม่ต้องคิดถึงการกลับรวมเข้ากับธรรมชาติอีก
เพราะจิตเองก็เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว
แต่ความไม่รู้ต่างหาก ทำให้มันแยกตัวออกจากธรรมชาติ


พวกเรานักปฏิบัติหลายท่าน คงเคยสัมผัสธรรมชาติชนิดหนึ่งมาแล้ว
คือเมื่อใดมีความรู้ตัวแจ่มชัด
จะเห็นจิตที่ไม่มีรูปร่างลักษณะแสงสีใดๆ เลย
เป็นธรรมชาติรู้ล้วนๆ
ในภาวะนั้นจะไม่รู้สึกว่ามีความแปลกแยกออกจากธรรมชาติเลย
ขันธ์ 5 คือร่างกายจิตใจนี้
กลับเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่บริสุทธิ์สะอาด
เหมือนแผ่นดิน เหมือนแผ่นน้ำ เหมือนภูเขา เหมือนต้นไม้
เหมือนกระทั่งดวงดาวบนฟ้า
ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีของเรา หรือของเขา
เป็นสภาวะที่เป็นตัวของตัวเอง และเบิกบานอย่างยิ่ง

สภาวะอันนี้ หลวงปู่เหรียญท่านเรียกให้ผมฟังว่า "เงานิพพาน"
ในวันที่ไปทำบุญวันเกิดลานธรรม
เมื่อผมกับตุลย์ไปนั่งอยู่ข้างๆ ท่าน
และจิตสัมผัสกับท่านแล้ว ท่านก็หันมายิ้มๆ
กล่าวว่าปฏิบัติมาถึงตรงนี้ ก็เห็น "เงานิพพาน" อยู่ในใจตนเองแล้ว

ต่อเมื่อปล่อยวางจิตผู้รู้อย่างแท้จริงแล้วนั่นแหละ จึงจะพบนิพพาน
เพราะไม่เหลือสิ่งใด ที่ถูกหยิบยกให้แปลกแยกออกจากธรรมชาติอีก
ไม่มีกระทั่งจิต เพราะจิตก็ไม่ใช่จิต
เพียงแต่เป็นธรรมชาติธรรมดาอย่างหนึ่งเท่านั้น
ที่มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับไป

56
เขียนเมื่อ : 20 ก.ค. 2542 / 14:58:04 น.

              ผมได้ยินคำปรารภบ่อยครั้งว่า
              การปฏิบัติเป็นเป็นเรื่องยากเสียเหลือเกิน
              ไม่ว่าการทำทาน ถือศีล บำเพ็ญภาวนา
              ล้วนยาก และน่าเหนื่อยหน่ายท้อแท้เสียเหลือเกิน

              คำพูดเหล่านี้ ทำให้ผมต้องหวนคิดพิจารณาว่า
              แท้ที่จริงแล้ว การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องยาก จริงหรือไม่

              พิจารณาจากพระพุทธวัจจนะ ก็ไม่พบว่าท่านระบุตายตัวว่า
              การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องง่ายหรือยาก
              ท่านเพียงแต่กล่าวว่า
              "คนดีทำดีง่าย แต่ทำชั่วยาก
              ส่วนคนชั่วทำชั่วง่าย แต่ทำดียาก"

              รวมความแล้วคงต้องสรุปว่า
              การปฏิบัติจะยากหรือง่าย ลำบากหรือสบาย
              มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล

              แต่ในแง่ของผมที่พิจารณาดูแล้ว
              กลับเห็นว่า การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องยากเกินไป
              แถมมีผลเป็นความสบายเสียอีก

              เราลองมาพิจารณาถึงการปฏิบัติธรรมกันเป็นขั้นๆ ไปเลยดีกว่า

              เริ่มจากการทำทาน  เช่นการให้วัตถุทาน
              ผมเห็นว่าเป็นเรื่องง่ายที่เราจะทำทานในขอบเขตที่ตนจะไม่เดือดร้อน
              คือการ "ให้"  ถ้าพอใจก็ให้ได้แล้ว
              แต่การจะเป็นฝ่าย "เอา" นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
              แม้ได้มาแล้ว การจะดูแลรักษาทรัพย์สมบัติ ก็เป็นงานที่น่าปวดหัวอีก
              เช่นตอนนี้จะนำเงินไปฝากธนาคาร ก็กลัวธนาคารล้ม แถมดอกเบี้ยต่ำ
              จะเปลี่ยนไปเล่นหุ้น ก็กลัวจะต้องแปลงสัญญาติไปเกิดในภพแมลงเม่า

              การให้อภัยทาน ก็ง่ายกว่าการตามจองล้างจองผลาญใคร
              เพราะไม่ต้องวางแผนอะไร ไม่ต้องลงมือทำอะไร
              ให้อภัยได้เมื่อไร ก็นอนหลับสบายได้เมื่อนั้น
              ในขณะที่ถ้าจะตามจองล้างจองผลาญใคร จะต้องคิดวางแผน
              แถมถ้าดำเนินการไม่ดี อาจจะเป็นฝ่ายถูกเล่นงานเสียอีก
              การให้อภัยจึงง่ายกว่า เป็นไหนๆ

              การถือศีลก็เป็นเรื่องง่ายกว่าการทำผิดศีล
              เช่นถ้าจะฆ่า จะตีคนอื่น ก็ต้องวางแผน เตรียมอาวุธ
              ตอนไปตีเขาก็อาจถูกเขาตีตายเสียเองก็ได้
              ทำร้ายเขาแล้วก็ต้องหลบซ่อนจากเงื้อมมือของกฏหมาย
              หรืออย่างจะไปตกปลาล่าสัตว์ ก็ลำบากกว่าการไม่ทำเป็นไหนๆ
              บางคนต้องไปซื้อหาเบ็ดราคาแพงๆ
              ไปนั่งตากแดดตากลมอยู่ริมน้ำเพื่อจะตกปลา

              การไม่ลักทรัพย์ก็ง่ายกว่าการลักทรัพย์
              การไม่ผิดลูกผิดเมียเขา ก็ง่ายกว่าการทำผิด
              เพราะเสี่ยงต่อการเจ็บตัว เสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียงเกียรติยศ
              การพูดความจริง ก็ง่ายกว่าการโกหกพกลม
              อย่างน้อยที่สุด  ก็ไม่ต้องใช้ความจำเท่ากับคนพูดโกหก
              คนไม่ดื่มเหล้าเมายาบ้า  ก็สบายกว่าคนดื่มเหล้า
              ไม่เสียเงิน ไม่เสียเวลา ไม่เสียสุขภาพ ง่ายกว่ากันเป็นไหนๆ

              พอมาถึงการภาวนา หรือการปฏิบัติในขั้นสมถะและวิปัสสนา
              อันนี้ผมก็เห็นว่ามันสบายกว่าการไม่ปฏิบัติเช่นกัน
              เช่นการทำสมถะ
              ถ้ารู้หลักแล้วเอาจิตประคองรู้เข้ากับอารมณ์อันเดียวโดยต่อเนื่อง
              ไม่เห็นจะต้องทำอะไรมากมายเลย
              แค่รู้อารมณ์อันเดียวเรื่อยๆ ไปอย่างสบายเท่านั้นเอง
              หรือจะทำวิปัสสนา ก็ทำจิตทำใจของตนเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์
              อะไรจะเกิดขึ้นกับกายกับจิตก็รู้เรื่อยๆ ไป
              โดยไม่ต้องเข้าไปข้องแวะยินดียินร้ายอะไรเลย
              แทบจะเรียกว่า เป็นการไม่ทำอะไรเลย นอกจากรู้ทันอย่างเดียวเท่านั้น
              แบบนี้มันจะยากได้อย่างไร ก็นึกไม่ออกเหมือนกันครับ

              บางคนปฏิบัติธรรมแล้วรู้สึกลำบากมาก
              ต้องคอยกดข่มบังคับจิตใจตนเองจนเครียดไปหมด
              อันนั้นไม่ใช่ว่า การปฏิบัติธรรมทำให้ยากลำบากหรอกครับ
              แต่การปฏิบัติผิดๆ ต่างหาก ที่ทำความลำบากให้เรา


              คนที่มีลูกอ่อนจะบ่นว่ายากลำบากเหลือเกิน
              เดี๋ยวลูกก็ร้องกวน อดหลับอดนอน
              เวลาเด็กเจ็บไข้ พ่อแม่ก็เป็นทุกข์เป็นร้อนมากมาย
              เวลาเด็กจะเรียนหนังสือ ก็ต้องวิ่งเต้นหาที่เรียนให้
              บางคราว โรงเรียนเขาจับพ่อแม่ไปนั่งสอบเข้าเรียนด้วย
              จนเด็กเลิกนับถือพ่อแม่ เพราะเด็กสอบได้ แต่พ่อแม่สอบตก
              ทำให้เด็กไม่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าโรงเรียนนั้น

              ตอนลูกยังเล็กก็ห่วงสารพัด กะว่ามันโตกว่านี้หน่อยคงจะสบาย
              แต่แล้วก็ไม่สบาย เพราะพอเด็กโตพ่อแม่ก็มีรายจ่ายมากขึ้น
              แถมต้องห่วงใยสารพัด เพราะสังคมของเรามันทารุณโหดร้ายเหลือเกิน
              พอลูกเรียบจบ พ่อแม่ก็ปวดหัวเรื่องอาชีพการงานของลูกอีก
              ถัดจากนั้นก็ปวดหัวเรื่องการหาคู่ของลูก
              หลังจากนั้น ก็เตรียมตัวรับภาระเรื่องหลานต่อไปอีก

              เลี้ยงลูกแต่ละคนลำบากแทบตาย
              ก็ยังเห็นตั้งหน้าจะมีลูกกันเป็นส่วนมาก
              บางคนต้องเสียเงินทองมากมาย เพราะมีลูกยาก แต่อยากจะมี
              พอบอกว่าให้ทำใจสบายๆ หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้
              แค่นี้บอกว่าทุกข์ยากเหลือเกิน ทำไม่ไหวแล้ว

              เรื่องของเรื่องก็ไม่มีอะไรมากหรอก กิเลสมันหลอกเอาน่ะครับ
              เราจึงเห็นผิดเป็นชอบ
              เห็นการปฏิบัติธรรมที่เป็นของสบาย ว่าลำบากเหลือประมาณ
              ส่วนการไม่ทำทาน ไม่รักษาศีล ไม่ภาวนา
              และการคลุกคลีอยู่กับโลกที่แสนจะลำบาก
              กลับรู้สึกว่าพอทนได้ ไม่ลำบากเท่าไรเลย


              นึกเรื่องนี้แล้วก็อดขำๆ ไม่ได้ครับ จึงนำมาเล่าสู่กันฟังเล่นๆ
             จากคุณ : สันตินันท์ [ 20 ก.ค. 2542 / 14:58:04 น. ]
                 [ IP Address : 203.151.110.189 ]

              เท่าที่อ่านจากที่พวกเราคุยกันนี้ ก็พอเห็นว่า
              การปฏิบัติธรรมมันดูยาก เพราะเราต้องสู้กับความเคยชินบ้าง
              เพราะไม่มีวิธีที่เหมาะบ้าง เพราะไม่มีฐานเก่าบ้าง ฯลฯ

              ผมเห็นว่าปัญหาใหญ่อยู่ที่
              เรามองว่าการปฏิบัติธรรมคือกิจกรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง
              ที่จะต้องใช้เวลา หรือมีกิจกรรมแยกออกต่างหากจากชีวิตประจำวันของเรา
              (เหมือนคนที่ไม่ชอบออกกำลังกาย
              จะรู้สึกลำบากที่จะจัดเวลาไปออกกำลังกาย)

              ถ้าหากเราเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมคือการทำในสิ่งที่เคยทำ
              หรือจำเป็นต้องทำ
              แต่บวก "ความรู้ตัว" ในขณะที่ทำเข้าไปด้วยเท่านั้น
              การปฏิบัติธรรมก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่กินเวลา
              ไม่เสียกิจกรรมที่จำเป็นต้องทำ

              เมื่อฝึกหัดมากขึ้น กระทั่งศีลก็ไม่ต้องรักษา
              เพราะกิเลสแหยมหน้ามาให้เห็นนิดเดียวก็ถูกเปิดโปงแล้ว
              กิเลสจึงครอบงำจิตไม่ได้ การทำผิดศีลจึงเกิดขึ้นไม่ได้

              การนั่งสมาธิ ถ้าไม่มีเวลาจริงๆ จะไม่นั่งก็ได้
              เพราะในขณะที่ทำความรู้ตัวอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น
              จิตจะมีสมาธิในขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว
              ถ้าเจริญสติอยู่ในชีวิตประจำวันให้มาก
              เราอาจจะใช้เวลาก่อนนอน เข้าห้องน้ำ นั่งรถเมล์
              ทำความสงบเป็นช่วงๆ ไปก็ได้ คราวละ 5 - 10 นาทีก็ยังดี

               รวมความแล้ว จำเป็นต้องทำอะไรก็ทำไป
              แต่บวกความรู้ตัวเข้าไปอีกอย่างเดียวก็พอแล้วครับ
              สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระรูปหนึ่งว่า
              ท่านไม่ต้องรักษาวินัยหรือปฏิบัติข้อวัตรใดๆ ก็ได้
              มีสติรักษาอยู่ที่จิตอย่างเดียวก็พอแล้ว

             จากคุณ : สันตินันท์ [ 21 ก.ค. 2542 / 08:21:46 น. ]

57
เขียนเมื่อ วัน พุธ ที่ 19 มกราคม 2543 10:16:52

เวลานี้พวกเราเริ่มออกไปปฏิบัติตามสำนักวัดป่ากันมากขึ้น
สมควรทราบระเบียบปฏิบัติของวัดป่ากันไว้
เพื่อจะปฏิบัติตน ได้ถูกกาละเทศะ ไม่เป็นที่เดือดร้อนรำคาญของผู้อื่น

กฏระเบียบของวัดป่าแต่ละแห่งอาจจะเหลื่อมๆ กันบ้าง
แต่โดยภาพรวมมักจะหนีไม่พ้นเรื่องเหล่านี้

1. ควรขออนุญาต ก่อนการเข้าพักที่วัดป่า และต้องรายงานตัวเมื่อไปถึงวัด
2. พักในกุฎิหรือสถานที่ ที่ทางวัดจัดให้
3. แต่งกายสุภาพ ไม่ยั่วกิเลสของตนหรือผู้อื่น
       (ก่อนไปวัดป่าควรตรวจสอบเสียก่อนว่า วัดนั้น ฆราวาสแต่งกายอย่างไร
       บางวัดผู้หญิงต้องนุ่งผ้าถุงดำ สวมเสื้อขาว
       ผู้ชายก็ต้องสวมกางเกงขาว/ดำ สวมเสื้อขาว
       แต่บางวัดไม่มีกำหนดตายตัว
       ขอเพียงสุภาพเรียบร้อยและไม่ฉูดฉาดเกินไปก็พอ)
4. เบิกอุปกรณ์จำเป็นที่วัดจัดให้ไปใช้ได้ เช่นเสื่อ หมอน ผ้าห่ม
        (บางแห่งมีกระติกน้ำร้อนด้วย) จาน ช้อน แก้วน้ำ ฯลฯ
       แต่ต้องดูแลไม่ให้เสียหาย รักษาความสะอาด
       และส่งคืนผู้รับผิดชอบเมื่อเลิกใช้
5. ปฏิบัติตามกำหนดเวลาของวัด ในเรื่องการทำวัตรเช้า การรับประทานอาหาร
        การทำกิจกรรมส่วนรวมเช่นการกวาดลาน และการทำวัตรเย็น
         (ควรสอบถามกำหนดการจากบุคคลในวัด ตั้งแต่เมื่อแรกเข้าพักที่วัด)
6. สำรวมระวังไม่สร้างความรบกวนแก่ผู้อื่น ด้วยการพูดคุยเสียงดังรื่นเริงเฮฮา
         ร้องเพลง ผิวปาก ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ เดินย่ำใบไม้เสียงดัง
         แม้กระทั่งการกวาดวัดนอกเวลาที่กำหนด
 7. ไม่เข้าไปในพื้นที่หวงห้าม เช่นผู้ชายเข้าไปอยู่ในกุฏิผู้หญิง
          (บางวัดห้ามเฉพาะเวลาวิกาล และห้ามอยู่ด้วยกันตามลำพัง
         แต่บางวัดหรือบางกุฏิ จะห้ามตลอดเวลา)
        หรือผู้หญิงเข้าไปหาผู้ชายในที่ลับหูลับตาตามลำพัง
        หรือทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เข้าไปยุ่งในเขตพระโดยไม่ได้รับอนุญาต
        หรือเข้าไปใช้สอยเสนาสนะ ห้องน้ำ ห้องส้วม  ห้องนอน
        และลานจงกรมของครูบาอาจารย์ โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น
8. รักษาสมบัติของวัดไม่ให้เสียหาย รวมทั้งรักษาความสะอาดด้วย
        ไม่เด็ดดอกไม้ ตัดต้นไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และระมัดระวังอย่าให้ไฟไหม้ป่า
9.  มีสติ สัมปชัญญะอยู่เสมอ มีความเพียรอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง
          (ข้อนี้สำคัญที่สุดครับ)
10. เมื่อจะกลับ ต้องส่งคืนสิ่งของที่เบิกมาใช้ ยังที่ที่เบิกไป
          ปัดกวาดเช็ดถูกุฏิ ล้างห้องน้ำ ปิดประตูหน้าต่าง และคืนกุญแจกุฏิ 
  เก็บสิ่งของที่นำไปใช้คืนที่เดิม กราบลาครูบาอาจารย์
           และลาบุคคลในวัดซึ่งเราได้เข้าไปพึ่งพาอาศัยเขา
           (กระทั่งการจะออกไปทำกิจนอกวัดเป็นการชั่วคราว
            ก็ควรขออนุญาตครูบาอาจารย์ หรืออย่างน้อยต้องบอกกล่าวบุคคลภายในวัด
             โดยไม่เห็นวัดเป็นเหมือนโรงแรมที่อาศัยนอน แล้วตระเวนเที่ยวไปนอกวัด)

ถ้าเข้าใจกฏเกณฑ์เหล่านี้แล้ว เราจะกลมกลืนเข้ากับชาววัดได้ง่าย
และไม่เดือดร้อนรำคาญใจในเวลาอยู่วัด
เมื่อกลับไปแล้ว ชาววัดจะคิดถึง
แล้วอยากให้เรากลับไปปฏิบัติอีก ในครั้งต่อไป

กฏเกณฑ์เหล่านี้ดูเหมือนจะมาก
แต่ความจริงก็อยู่ในกรอบของคำเพียง 2 - 3 คำเท่านั้น
คือ 1. ความมีมารยาท รู้กาละเทศะ 2. ความรู้จักเกรงใจผู้อื่น
และ 3. ความมีสติสัมปชัญญะ
ถ้าเรามีคุณธรรมเหล่านี้อยู่ในใจแล้ว
เราจะอยู่ในวัดป่า หรืออยู่ที่ใด ก็อยู่ได้อย่างกลมกลืนทั้งสิ้น

58
คุณสันตินันท์ เขียนไว้เมื่อ วัน ศุกร์ ที่ 24 ธันวาคม 2542 10:54:33

ผมเขียนเรื่องราวของพระมหาเถระในอดีตไปแล้วหลายองค์
นับแต่ท่านพระอานันทะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระอชิตะ
คราวนี้จะขอเล่าเรื่องพระมหาเถระผู้เป็นครูบาอาจารย์พระป่ายุคนี้
คือท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ

ท่านพระอาจารย์มั่น ถือกำเนิดในสกุล แก่นแก้ว เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2413
ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
ท่านเคยบวชเณรตั้งแต่อายุ 15 ปี แต่สึกเมื่ออายุ 17 ตามคำขอร้องของพ่อ
แล้วกลับมาบวชอีกเมื่ออายุ 22 ปี ณ วัดศรีทอง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลฯ
ท่านได้ศึกษาการปฏิบัติธรรมเบื้องต้นจากท่านพระอาจารย์เสาร์  ณ วัดเลียบ
จากนั้นก็ออกปฏิบัติธรรมจนได้รับการนับถือเป็นปรมาจารย์ของพระป่ายุคนี้
ท่านละสังขารที่วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492

ธรรมคำสอนของท่านที่พวกเรารู้จักกันมากที่สุดคือ มุตโตทัย
แต่มุตโตทัย เป็นเพียงบันทึกย่อคำสอนในช่วงปลายชีวิตของท่าน
ซึ่งท่านอาจารย์วิริยังค์ บันทึกไว้เท่านั้น
นอกจากนี้ก็มีคำบอกเล่าของศิษย์บางองค์ ว่าท่านสอนอะไรมาบ้าง
แต่ที่จะหาคำสอนของท่านแท้ๆ นั้น หายากมากครับ
กระทั่งคำถามคำตอบธรรมะ ที่เล่ากันว่า
ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์(จูม) ถาม ท่านพระอาจารย์มั่น ตอบ นั้น
เอาเข้าจริงอาจจะไม่ใช่คำสอนจริงของท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้

ผมไปพบธรรมคำสอนที่ ท่านพระอาจารย์มั่น ประพันธ์ด้วยองค์ท่านเองเรื่องหนึ่ง
เห็นสมควรนำมาบอกกล่าวให้พวกเราเข้าใจกันด้วยภาษาปัจจุบัน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับขันธ์ 5 ดังนี้

นมตฺถุ สุคตสฺส ปญฺจ ธมฺมขนฺธานิ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมซึ่งพระสุคตบรมศาสดาศากยมุนี สัมมาสัมพุทธเจ้า
และพระนวโลกุตรธรรม 9 ประการ
และพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั้น

บัดนี้  ข้าพเจ้าจักกล่าวซึ่งธรรมขันธ์ โดยสังเขปตามสติปัญญาฯ

ยังมีท่านคนหนึ่งรักตัวคิดกลัวทุกข์
อยากได้สุขพ้นภัยเที่ยวผายผัน
เขาว่าสุขมีที่ไหนก็อยากไป
แต่เที่ยวหมั่นไปมาอยู่ช้านาน

นิสัยท่านนั้นรักตัวกลัวตายมาก
อยากจะพ้นแท้ๆ เรื่องแก่ตาย

วันหนึ่งท่านรู้จริงซึ่งสมุทัยพวกสังขาร
ท่านก็ปะถ้ำสนุกสุขไม่หาย
เปรียบเหมือนดังกายนี้เอง
ชะโงกดูถ้ำสนุกทุกข์คลาย

แสนสบายรู้ตัวเรื่องกลัวนั้นเบา
ดำเนินไปเมินมาอยู่หน้าเขา
จะกลับไปป่าวร้องพวกพ้องเล่า
ก็กลัวเขาเหมาว่าเป็นบ้า

สู้อยู่ผู้เดียวหาเรื่องเครื่องสงบ
เป็นอันจบเรื่องคิดไม่ติดต่อ
ดีกว่าเที่ยงรุ่มร่ามทำสอพลอ
เดี๋ยวถูกยอถูกติเป็นเรื่องเครื่องรำคาญ


ก่อนจะแสดงธรรม ท่านพระอาจารย์มั่นก็ไหว้ครูเสียก่อน
ด้วยความเคารพในพระรัตนตรัย
และไม่ได้ถือว่า ธรรมที่จะบรรยายนี้เป็นธรรมของท่าน
จากนั้นจึงเล่าถึงบุคคลท่านหนึ่งซึ่งเป็นภัยในสังสารวัฏ
เที่ยวแสวงหาทางออกไปตามที่ต่างๆ
ใครเขาว่าดีที่ไหน ก็ไปกับเขา แต่ไม่พบทางออกจากทุกข์
จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านเข้าใจเรื่องสังขารอันเป็นตัวทุกข์
และเข้าใจเหตุให้เกิดทุกข์
ด้วยการพิจารณากายของท่าน อันเป็นโพลง เป็นถ้ำที่อาศัยของจิต
จิตของท่านก็เลย "แสนสบาย รู้ตัว"
แต่ท่านก็ยังคงซ่อนตัวอยู่ เพราะไม่กล้าประกาศธรรมที่เข้าใจมา
จนกระทั่งวันหนึ่ง ......

ยังมีบุรุษคนหนึ่ง คิดกลัวตายน้ำใจฝ่อ
มาหาแล้วพูดตรงๆ น่าสงสาร
ถามว่าท่านพากเพียรมาก็ช้านาน
เห็นธรรมที่จริงแล้วหรือยังที่ใจหวัง


เมื่อพญามังกรผู้ซ่อนกายถูกถามเช่นนั้นก็เกิดความเอะใจว่า
คนๆ นี้ สนใจในสิ่งที่คนอื่นไม่สนใจ
ท่านจึงเกิดความเมตตา ให้คำแนะนำถึงการปฏิบัติ ดังนี้

เอ๊ะ! ทำไมจึงรู้ใจฉัน
บุรุษนั้นก็อยากอยู่อาศัย
ท่านว่าดีดี ฉันอนุโมทนา
จะพาดูเขาใหญ่ถ้ำสนุกทุกข์ไม่มี

คือ กายคตาสติภาวนา
ชมเล่นให้เย็นใจหายเดือดร้อน
หนทางจรอริยวงศ์
จะไปหรือไม่ไปฉันไม่เกณฑ์
ไม่หลอกเล่นบอกความให้ตามจริง


เรื่องกายคตาสตินี้ ผมได้ยกทั้งกายคตาสติสูตร
และเรื่องราวการบรรลุพระอรหันต์ของท่านพระอานนท์มายืนยันแล้ว
ว่าเป็นทางแห่งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้
หากใครยังเชื่อตำรารุ่นหลังที่ว่า กายคตาสติเป็นเพียงวิธีการทำสมถะ
ผมก็ไม่เกณฑ์ให้เชื่อเหมือนกันครับ
เพราะ "ทาง" นั้นบอกกันได้ ส่วนจะเดินหรือไม่เดิน เป็นเรื่องของท่านผู้นั้นโดยตรง

เชิญฟังธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นต่อไปครับ

แล้วกล่าวปริศนา ท้าให้ตอบ

ปริศนานั้นว่าระวิ่งคืออะไร?
ตอบว่าวิ่งเร็วคือวิญญาณอาการใจ
เดินเป็นแถวตามแนวกัน
สัญญาตรงไม่สงสัย
ใจอยู่ในวิ่งไปมา
สัญญาเหนี่ยวภายนอกหลอกลวงจิต
ทำให้จิตวุ่นวายเที่ยวส่ายหา
หลอกเป็นธรรมต่างๆ อย่างมายา


เห็นพวกเรากำลังชอบทายปริศนาธรรม
ปราชญ์ในอดีตท่านก็ชอบทายปริศนาเหมือนกัน
อย่างเรื่องนี้ ท่านอาจารย์มั่นก็ตั้งปัญหาว่า อะไรที่วิ่งเร็ว
แล้วท่านก็ตอบว่า วิญญาณซึ่งเป็นอาการของใจ เป็นตัวที่วิ่งเร็ว

การจะทำความเข้าใจธรรมของพระป่านั้น
ขั้นแรกสุดคือต้องเชิญตำราขึ้นหิ้งก่อน
ถ้าเอาตำรามากล่าวก็จะเกิดปัญหา
แต่ถ้าเอาของจริงในใจของแต่ละคนมาตีแผ่กัน
ธรรมชนิดนี้ เป็นธรรมที่ถึงจิตถึงใจจริงๆ

เวลาที่พวกเราดูจิตกันนั้น เคยสังเกตเห็นสภาวะอันหนึ่งไหมครับ
มันเป็นสภาวะที่ยื่นออกไปจับอารมณ์ทางตา ทางหู เป็นต้น
คล้ายๆ กับใจมันยื่นงวงออกไปจับอารมณ์ ทางนั้นที ทางนี้ที
พอจับลงที่อารมณ์ปั๊บ จิตก็เกิดขึ้นทางตา ทางหู และเสวยอารมณ์นั้น

ความหยั่งรู้อารมณ์ หรือเครื่องมือพาจิตเกิดทางอายตนะ 6 นี้แหละครับ
คือสภาวะของวิญญาณที่ท่านอาจารย์มั่นกล่าวในที่นี้
หลวงปู่ดูลย์ท่านพูดน่าฟังออกไปอีกว่า
"วิญญาณเป็นพาหนะพาจิตไปเกิด หรือจะพาจิตไปไหนๆ ก็ได้"
เช่นเราต้องการรู้ว่า บนดวงจันทร์มีเทวดาหรือผีอยู่บ้างไหม
ก็หยั่งความรับรู้ หรือวิญญาณออกจากใจ เข้าไปที่ดวงจันทร์
จิตก็จะรู้ได้ว่า ที่นั้นมีเทวดาหรือไม่ เป็นต้น

จิต มโน(ใจ) วิญญาณ ในทางตำรานั้นหมายถึงสิ่งเดียวกัน
แต่นักปฏิบัติเราแยกแยะสิ่งเหล่านี้ออกไปได้อีก
ที่ตำราท่านไม่แยกไว้มาก ผมเข้าใจว่า
ท่านไม่อยากให้คนอ่านต้องฟุ้งซ่านมากด้วยความคิดนั่นเอง

วิญญาณหรือความหยั่งรู้อารมณ์นี้ มันผุดขึ้นและส่งออกไปจากใจ
ท่านจึงเรียกว่ามันเป็นอาการของใจ ไม่ใช่ใจหรือจิต
เช่นเดียวกับเวทนา สัญญา และสังขารนั่นเอง ที่เป็นอาการของใจ

ลำพังวิญญาณคือความหยั่งรู้อารมณ์ทางตา ทางหู นั้น ยังไม่มีผลให้จิตเป็นทุกข์
แต่เพราะ สัญญา คือความจำได้หมายรู้ต่างหาก ที่เข้ามาล่อลวงให้จิตหลง
 ผมขอยกตัวอย่างการพิจารณาธรรมเกี่ยวกับสัญญามาเล่าให้พวกเราฟังสักหน่อย
เพื่อจะได้เห็นภาพว่า สัญญา หลอกลวงจิตได้อย่างไร
 
เมื่อตอนที่ผมออกไปปฏิบัติธรรมที่หนองคายเมื่อต้นเดือนนี้
วันหนึ่งเดินจงกรม เหมือนเช่นที่เดินทุกวันนั่นเอง
เริ่มเดินก็รู้การกระทบของเท้า ขวาพุท ซ้ายโธ ไปเรื่อยๆ
พอจิตขยับตัวนิดหนึ่ง จิตก็มารู้ตัวทั่วพร้อม
ก็เดินทำความรู้ตัวไปเรื่อยๆ ไม่ได้เจตนาจะพิจารณาธรรมใดๆ ทั้งสิ้น

เดินๆ อยู่สัญญาก็ผุดขึ้น นึกถึงญาติโยมที่มาบวชชีพราหมณ์
พอความจำได้ผุดปั๊บ สติปัญญาซึ่งเป็นสังขารฝ่ายกุศลก็ตามทันทันที
คือจิตมันรู้ว่า ถ้ารู้ไม่ทันความปรุงแต่ง ก็จะนำทุกข์มาให้
ปัญญาก็ตัดสัญญานั้นดับลง ไม่ปรุงแต่งให้มากเรื่องต่อไป
เดินไปอีกก้าวหนึ่ง ภาพคนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ผุดขึ้นอีก
สติปัญญารู้ทันแล้วสัญญาก็ดับลงตรงนั้นอีก
พอหูได้ยินเสียงลมพัด สัญญาก็จำได้ว่าเสียงลม
แล้วสัญญาก็ดับลงตรงนั้น

สัญญาที่ผุดเปลี่ยนเรื่องไปทุกก้าวย่างนั้น เกิดดับอยู่เพียงนั้น
จิตไม่มีน้ำหนักอะไร เพราะไม่ได้ปรุงแต่งสังขารขึ้นมา
ความทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้
ได้แต่มีสติ ระสึกรู้ทันสัญญา แล้วก็วางลงเพียงนั้น
ถึงจุดหนึ่งจิตก็ตัดกระแสความปรุงแต่ง เข้าไปอยู่กับธรรมชาติรู้ที่เบิกบาน
ไม่มีอะไรจะให้ปฏิบัติมากกว่านั้น
เพียงจิตรู้อริยสัจจ์ 4 แล้วตัดความปรุงแต่งขาดไป จิตก็พ้นจากทุกข์แล้ว

แต่ละวันที่ปฏิบัติธรรมนั้น จิตพิจารณาธรรมบ้าง ไม่พิจารณาบ้าง
ถ้าไม่พิจารณาก็รู้ตัวทั่วพร้อมไป ถ้าพิจารณาจิตก็ดำเนินไปเอง
อย่างเมื่อสองสามวันนี้ นอนหลับไปตอน 4 ทุ่ม แล้วไปตื่นตอนตี 1
ก็ลุกขึ้นเดินจงกรมตามกิจวัตร
ทีแรกจิตมีความง่วงแทรก ก็เดินแบบสมถะ ขวาพุท ซ้ายโธ
พอจิตมีกำลังก็ขยับมารู้ตัวทั่วพร้อม กายเบาจิตเบา
แล้วก็ระลึกถึง glory ซึ่งตอนกลางวันสนใจมาถามเรื่องสุตตสมาบัติ
ก็เลยวางจิตลงตรงมโนวิญญาณ ระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้
ก็เห็นมโนวิญญาณที่ห่อหุ้มธรรมชาติแท้จริงอยู่
แล้วจิตก็พิจารณาว่า มโนวิญญาณนี้เกิดจากอะไร
เอาสติหยั่งแตะอยู่ที่มโนวิญญาณนั้นสบายๆ
สติปัญญาก็สาวย้อนจนพบว่า มโนวิญญาณนั้นเกิดมาจากอภิสังขาร 3 นั่นเอง
พอเอาสติหยั่งลงที่อภิสังขาร ก็รู้ว่า เพราะความไม่รู้อริยสัจจ์ 4
เมื่อสัญญาผุดขึ้น หรือเมื่อมีเวทนาแล้วสัญญาในเวทนาผุดขึ้น
สังขารก็ปรุงแต่งทันที แล้วมโนวิญญาณก็เกิดขึ้นแผ่ออกครอบคลุมธรรมชาติแท้ในจิตไว้

ตัวมายาจอมหลอกลวง ไม่มีอะไรจะเสมอด้วยสัญญา
เมื่อมันมาเจอเข้ากับจิตอวิชชาคราวใด มันจะพาให้เกิดความปรุงแต่งคราวนั้น
แล้วมโนวิญญาณก็เกิดขึ้น หยั่งลง ก่อรูปนาม ก่ออายตนะภพชาติไปตามลำดับ
กระทั่งเจตนาที่จะรู้จิตรู้อารมณ์
ก็ยังเป็นอภิสังขารฝ่ายดีบ้าง ฝ่ายตั้งมั่นบ้าง
แล้วเป็นปัจจัยให้มโนวิญญาณเกิดขึ้น
เช่นเจตนาที่จะรู้ตัว มันก็ทำให้ความรู้ตัวชัดเจนขึ้นมานิดหนึ่ง
แปลกแยกจากธรรมชาติหน่อยหนึ่ง
ไม่ใช่ความรู้ตัวที่เป็นธรรมชาติธรรมดาอย่างแท้จริง

จะข้ามภพข้ามชาติให้ได้ ก็ต้องทำลายวิญญาณให้ได้
จะดับวิญญาณได้ ก็ต้องละอภิสังขารซึ่งรวมถึงเจตนาให้ได้
จะละอภิสังขาร ก็ต้องมีสติปัญญารู้ทันตอนที่สัญญาผุดขึ้นให้ได้

ลงท้ายแล้วก็สรุปได้ว่า ความไม่รู้มีอยู่ตราบใด
ความปรุงแต่งไปตามการหลอกลวงของสัญญาก็มีอยู่ตราบนั้น

พูดเรื่องวิญญาณอาการใจ และสัญญาจอมหลอกลวงเสียนาน
ขอเชิญอ่านธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นต่อไปครับ

ถามว่าห้าขันธ์ใครพ้นจนทั้งปวง
แก้ว่าใจสิพ้นอยู่คนเดียว
ไม่เกาะเกี่ยวพัวพันติดสิ้นพิศวง
หมดที่หลงอยู่เดียวดวง
สัญญาทะลวงไม่ได้หมายหลงตามไป


ความว่า ใจที่สัญญาหลอกลวงไม่ได้นั้น
ย่อมพ้นความหลง หมดอุปาทานขันธ์

ถามว่าที่ตายใครเขาตายที่ไหนกัน
แก้ว่าสังขารเขาตายทำลายผล


ตรงนี้ท่านสอนว่า ที่ว่าตายนั้น ไม่มีคนตาย
มีแต่สังขารที่เกิดแล้วก็ดับไป

ถามว่าสิ่งใดก่อให้ต่อวน
แก้ว่ากลสัญญาพาให้เวียน
เชื่อสัญญาจึงผิดคิดยินดี
ออกจากภพนี้ไปภพนั้นเที่ยวหันเหียน
เลยลืมจิตจำปิดสนิทเนียน
ถึงจะเพียรหาธรรมก็ไม่เห็น


เมื่อกล่าวถึงสัญญาคราวใด ผมจะนึกถึงบรรพชนไทย
ที่ท่านแปลคำว่าสัญญาว่า ความจำได้หมายรู้
สัญญาในแง่ความจำที่ผุดขึ้นนั้น ผมได้กล่าวไปแล้ว
ว่าเป็นการจำรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธัมมารมณ์
และการจำอดีตต่างๆ ได้ เรียกว่าอดีตสัญญา

ส่วนสัญญาในความหมายของความ หมายรู้นั้น
หมายถึงมุมมองของจิต เมื่อจิตไปรับรู้อารมณ์เข้า
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับธรรมของพระอริยเจ้า
จะมีสัญญาวิปลาส คือมองสิ่งต่างๆ
ในมุมของความเที่ยง ความทนอยู่ได้ และความเป็นตัวตน
ส่วนผู้ได้สดับ ก็จะพลิกมุมมองไปใช้ อนิจสัญญา ทุกขสัญญา อนัตตสัญญา

สัญญาความจำได้ กับสัญญาความหมายรู้ผิดๆ
ล้วนเป็นตัวพาก่อเกิดความปรุงแต่ง ก่อภพก่อชาติไม่สิ้นสุด
เพราะไปหลงนิยมยินดีกับสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง
กับสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข กับสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าเป็นตัวตนของตน

หลวงปู่มั่นท่านตบท้ายว่า
จิตที่หลงสัญญานั้น มีแต่เที่ยวร่อนเร่ไป
ไม่มีทางเห็นจิตซึ่งถูกปิดบังด้วยความเขลา
และเมื่อไม่เห็นจิต ก็ไม่มีทางเห็นธรรม
เพราะธรรมเกิดที่จิต ทั้งอกุศล กุศล และธรรมที่เป็นกลาง
เมื่อจิตถูกปิดบังไปแล้ว ธรรมก็ถูกปิดบังไปด้วย


ธรรมที่ท่านพระอาจารย์มั่นประพันธ์ไว้เรื่องนี้ ยังมีอีกยาวครับ
ถ้าจะเขียนรวดเดียวให้พวกเราอ่าน ก็จะหนักเกินไป
คิดว่าทะยอยเขียน ทะยอยอ่านจะสบายกว่า
ดังนั้น จึงขอโพสต์แต่เพียงเท่านี้ก่อนครับ แล้วจะค่อยเขียนเพิ่มภายหลัง

59

บทความนี้เขียน โดยคุณสันตินันท์ในสมัยนั้น (ปัจจุบันคือหลวงพ่อปราโมทย์)
เพื่อเป็นของขวัญในวันเปิดกระดานวิมุตติ วันนี้ก็เป็นวันแรกที่กระดานธรรมดา
ได้เปิดจึงขอนำ บทความอันเป็นมงคลมาลงไว้เพื่อความเป็นมงคลยิ่งของ
ชาวธรรมดาทุกท่านครับ ^_^

นโม วิมุตฺตานํ   นโม วิมุตฺติยา
ขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว
ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

ผมอัญเชิญพระปริตต์คาถา 2 วรรคนี้ขึ้นมาตั้งเป็นกระทู้ของขวัญ
เพื่อเป็นเครื่องอนุโมทนาแด่คุณพัลวันที่สร้าง วิมุตติ ขึ้นมา
สำหรับเพื่อนวงในจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิบัติกันอย่างตรงไปตรงมา
อันเป็นประโยชน์โดยตรงของพวกเรากันเอง

พระปริตต์คาถาทั้งสองวรรคข้างต้นนี้
พระป่าท่านรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี
และส่วนมากท่านจะบริกรรมกันเสมอ
เนื่องจากมีผลให้จิตใจอ่อนน้อม สงบ เยือกเย็น และกล้าหาญ
และเป็นพระปริตต์คาถาที่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ นิยมบริกรรม
เพียงแต่คนวงนอกไม่ค่อยทราบกัน
จะทราบก็แต่ว่า พระป่าท่านนิยมบริกรรม พุทโธ เท่านั้น

พระปริตต์คาถานี้ไม่เกี่ยวกับไสยศาสตร์เวทย์มนต์คาถา
แต่เป็นการน้อมระลึกถึงท่านที่หลุดพ้นแล้ว
คือพระพุทธเจ้าตลอดถึงพระอรหันตสาวก รวมทั้งพระธรรม
ทำนองเดียวกับได้ระลึก พุทธานุสติ ธัมมานุสติ และสังฆานุสติ รวมกัน

ที่มาของพระปริตต์คาถาสองวรรคนี้มาจาก
โมรชาดก ทุกนิบาตชาดก พระสุตตันตปิฎก เล่ม 19
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 มีเนื้อความดังนี้

                     ว่าด้วยนกยูงเจริญพระปริตต์
       [167] พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก
             เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก
             กำลังอุทัยขึ้นมาทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี
             เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น
           ซึ่งทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี
           ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มกันแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน
           พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง
           ขอพราหมณ์เหล่านั้น   จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า
           และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย
           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ
           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว
           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว
           นกยูงนั้น เจริญพระปริตต์นี้แล้วจึงเที่ยวไปแสวงหาอาหาร.
       [168] พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก
             เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก
             ส่องแสงสว่างไปทั่วปฐพีแล้วอัสดงคตไป
             เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น
             ซึ่งส่องสว่างไปทั่วปฐพี
             ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน
             พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง
             ขอพราหมณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า
             และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย
           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ
           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว
           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว
           นกยูงนั้นเจริญพระปริตต์นี้แล้วจึงสำเร็จการอยู่.
                       จบ โมรชาดกที่ 9.

คาถานกยูงนี้ สะท้อนสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างคือ
นกยูงเห็นพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตกแล้ว
ระลึกถึงคุณของพระอาทิตย์ที่ให้แสงสว่าง
ขึ้นชื่อว่าพระอาทิตย์แล้ว มีชื่อว่า สุริยะ แปลว่ากล้าหาญ
เพราะแสงอาทิตย์นั้น ทำให้มนุษย์(และสัตว์กลางวัน) กล้าหาญ
ส่วน จันทะ หรือพระจันทร์ ทำให้เบิกบานใจ

ไม่เพียงระลึกถึงคุณของพระอาทิตย์
นกยูงยังนอบน้อมพราหมณ์ คือผู้ลอยบาปทั้งปวง
นอบน้อมพระพุทธเจ้าและพระโพธิญาณ
นอบน้อมผู้ถึงความหลุดพ้นแล้ว
และนอบน้อมต่อธรรมแห่งความหลุดพ้นด้วย

นกยูงแม้จะเป็นพระโพธิสัตว์ แต่ก็ยังไม่รู้ธรรมและไม่มีโอกาสฟังธรรม
จึงไม่สามารถไตร่ตรองในธรรมเพื่อความหลุดพ้นได้
แต่นกยูงก็เจริญในธรรมอันหนึ่ง คือความนอบน้อมในสิ่งที่ควรนอบน้อม
ได้แก่นอบน้อมต่อธรรมชาติที่ทรงคุณ
นอบน้อมต่อบุคคลที่ทรงคุณ
และนอบน้อมต่อธรรม ทั้งที่ตนยังไม่มีส่วนแห่งธรรมนั้น

หลวงปู่มั่น ท่านเห็นความสำคัญของความนอบน้อมมาก
ท่านสอนว่า สมัยก่อนคนเราจะทำอะไร ก็ต้องตั้ง นโม เสียก่อน
นโม คือความนอบน้อม
โบราณถือว่าอักระ น + ม นี้ เป็นสัญลักษณ์ธาตุดินและน้ำ
อันเป็นธาตุของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดร่างกายของเรานี้ ให้มา
เมื่อมีกายแล้ว ก็ต้องมีใจ
คือเมื่อแผลง นโม ออกไป ก็จะเป็น มโน คือใจ
ซึ่งก็เป็นใหญ่ เป็นประธานในธรรมทั้งปวง
เหมือนเป็นพ่อแม่ของธรรมทั้งปวงนั่นเอง

พึงทำใจของพวกเราให้มีความนอบน้อมในธรรม
แล้วน้อมสติสัมปชัญญะลงมาที่จิตใจของเราแต่ละคน
ระลึกถึงธรรมในจิตใจของตนอยู่เสมอ
จนใจกับธรรม เป็นสิ่งเดียวกัน
เพราะแม้แต่พระศาสดาของเรา
ท่านก็ยังมีธรรมในพระทัยของท่าน เป็นสรณะ เช่นกัน

นโม วิมุตฺตานํ   นโม วิมุตฺติยา
นโม วิมุตฺตานํ   นโม วิมุตฺติยา
นโม วิมุตฺตานํ   นโม วิมุตฺติยา

60
ห้องคุยกันในสวน มีไว้สำหรับกัลยาณมิตรทุกท่าน ได้เข้ามาคุยกันสบายๆแบบผ่อนคลายอย่างเป็นมิตรสหาย ไม่ว่าจะเป็นการ
แบ่งปันเรื่องดีๆ หรือปรึกษาปัญหาต่างๆ หรือบอกบุญในงานบุญงานกุศลต่างๆ(กรณีการเรี่ยไรยังของดไว้ก่อนครบ) หรือ
นำบทความธรรมะและคำสอนครูบาอาจารย์มาลง อนึ่งห้องคุยกันในสวน ขอให้ทุกท่านที่แวะเข้ามาพักผ่อน มีความเป็น
สุภาพชนและเคารพสถานที่ซึ่งเป็นเวปธรรมะด้วยครับ ซึ่งทีมงานของดเว้นการจาบจ้วงหรือเสียดสีกัน โดยเฉพาะกรณี
ของพระภิกษุทุกรูปครับ

ยินดีต้อนรับสู่ศาลาพักผ่อนในสวนแห่งนี้ครับ  ;D

Pages: 1 2 3 [4]