Show Posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Messages - หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

Pages: 1 [2] 3 4 ... 8
16
(ต่อ)

ผมเคยพบเห็นปัญหาในลานธรรมหลายคราวมาแล้ว
คือเมื่อมีผู้กล่าวว่านิยมพระสูตร ก็คล้ายกับว่าต่อต้านพระอภิธรรม
เรื่องนี้ไม่อยากให้คิดอย่างนั้นกันนะครับ
เพราะพระอภิธรรมก็เป็นหนึ่งในพระไตรปิฎกเหมือนกัน
ผมเองที่จริงก็ชอบศึกษาเหมือนกัน
ชอบฟังวิทยุรายการของอาจารย์แนบ อาจารย์สุจินต์มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว
เพิ่งมาขยาดอภิธรรมเอาตอนหลังที่ลูกศิษย์อาจารย์แนบ
หันไปเป็นพวกเข้าทรงเสียหลายท่านนี่เอง

ผมเพิ่งไปได้หนังสือดีมาเล่มหนึ่ง ชื่อ ความเข้าใจเรื่องอภิธรรม
เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
ซึ่งพระองค์ท่านเป็นนักปริยัติที่ปราดเปรื่องสุดขีดองค์หนึ่ง
ทั้งยังเป็นนักปฏิบัติระดับครูบาอาจารย์ในสายพระป่าองค์หนึ่ง
ลองหามาศึกษาดูนะครับ แล้วจะเข้าใจพระอภิธรรมในขั้นพื้นฐานได้ไม่ยาก

จุดเด่นก็คือ ท่านจำแนกข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็นออกจากกัน
อันเป็นวิธีการศึกษาที่ปัญญาชนยุคนี้คุ้นเคยกัน
เช่นท่านระบุชัดเลยว่า พระอภิธรรมปิฎกไม่ปรากฏที่มาในตำราชั้นบาลี
บางคัมภีร์มีหลักฐานว่าแต่งขึ้นภายหลัง
ส่วนคัมภีร์ที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครแต่ง
ก็มีอรรถกถา(ซึ่งแต่งขึ้นภายหลัง)ระบุว่า
เป็นธรรมเทศนาบนดาวดึงส์ให้พระพุทธมารดาฟัง
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่อธิบายขึ้นภายหลัง และมีข้อโต้แย้งได้อีกมาก

ท่านระบุว่าในอรรถกถายกย่องพระอภิธรรมมาก
ถึงกับประณามผู้คัดค้านว่าเป็นคนนอกศาสนาทีเดียว
(อันนี้หมายถึงพระอภิธรรมปิฎกนะครับ)
จากจุดนี้ ท่านได้วิเคราะห์ว่าความรุนแรงของฝ่ายนิยมอภิธรรม
ได้สะท้อนว่าคงมีผู้คัดค้านพระอภิธรรมมาตั้งแต่ยุคแรกแต่งแล้ว

ถัดจากนั้นท่านจึงกล่าวถึงคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ
ซึ่งแต่งขึ้นราวเกือบพันปีหลังพุทธกาล
บางเรื่องท่านก็เห็นด้วย บางเรื่องท่านก็วิจารณ์
เช่นเรื่องอายุรูปว่าเท่ากับ 17 ขณะจิตนั้น
อันที่จริงคงเป็นช่วงเวลาที่จิตไปรู้รูปคราวหนึ่งๆ
ไม่ใช่อายุจริงๆ ของรูป เป็นต้น

ท่านสรุปไว้ชัดเจนครับว่า
"สารัตถะในพระอภิธรรมนั้นมีมาก
ถึงท่านจะไม่แสดงประวัติให้พิสดารไว้อย่างไร
สารัตถะในอภิธรรมนั้นเองก็เป็นสิ่งที่ควรจะศึกษา
เมื่อศึกษาแล้ว ก็จะทำให้ได้ความรู้ในพระพุทธศาสนา
พิสดาร(กว้างขวาง)ขึ้นอีกเป็นอย่างมาก"


ผมเองก็เห็นด้วยว่าพระอภิธรรมเป็นสิ่งที่น่าศึกษา
แต่ควรศึกษาอย่างนักการศึกษาที่ดีนะครับ
ถ้าเดินตามรอยบาทของสมเด็จพระญาณสังวรฯ แล้วละก็
โอกาสเมาตำราก็จะไม่เกิดขึ้นครับ

******************************************

ให้รู้ตามความเป็นจริงเท่าที่รู้ได้
ไม่ใช่ เจตนา และอยาก จะรู้ให้เกินกว่าที่สติปัญญาจะรู้ได้จริง
ให้ฝึกฝนพัฒนาสติสัมปชัญญะให้มาก
แล้วก็จะรู้ได้ว่องไว รู้ได้ละเอียด
และรู้ความจริงของจริงได้มากขึ้น โดยไม่ต้องฝืน


ขณะที่รู้อารมณ์ จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือธัมมารมณ์จริงๆ
ตรงนั้นจิตเพียงแต่รู้เท่านั้น ยังไม่เสพย์อารมณ์
จิตตรงนี้ยังเป็นอุเบกขาหรือเป็นกลางอยู่ตามธรรมชาติ

อย่าพยายามไปกำหนดจิตให้หยุดนิ่งลงตรงนี้เพื่อจะรู้แต่ปรมัตถ์นะครับ
เพราะกำหนดไม่ได้จริงหรอก
ตอนที่คิดจะกำหนดนั้น
จิตมันขึ้นวิถีใหม่ หรือขึ้นกระบวนการของจิตรอบใหม่แล้ว
ตรงนี้แหละที่ผู้เรียนตำราชั้นหลังปฏิบัติผิดกันมาก
กลายเป็นหลงคิดตามสัญญาเท่านั้น

จึงควรปล่อยให้จิตเขาทำงานไปตามธรรมชาติธรรมดา
คือเมื่อถัดจากรู้รูป เสียง .. ธัมมารมณ์ นั้น
จิตจะอาศัยความจำรูปได้ ความจำเสียง .. ธัมมารมณ์ได้
เอามาเป็นปัจจัยสนับสนุนความคิดนึกปรุงแต่ง
แล้วเกิดกิเลสตัณหาอุปาทานขึ้นตรงช่วงหลังนี้
ตามตำรารุ่นหลังเขาเรียกว่า "ชวนะ"
จิตก็จะเกิดกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นกลางๆ บ้าง

แต่ตัวความคิดนึกปรุงแต่ง เช่นกิเลสตัณหา
และกลไกที่จิตแล่นไปก่อทุกข์ (ไม่ใช่เรื่องหรือเนื้อหาที่คิดนะครับ)
มันก็เป็นความจริงหรือปรมัตถ์ในฝ่ายนามธรรมของมันเหมือนกัน
ให้มีสติสัมปชัญญะ รู้มันไปด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางไปเลย
อันนี้ก็เป็นวิปัสสนาเหมือนกัน ในหมวดของ เวทนา จิต และธรรม

(มีต่อ)

17
(ต่อ)

คราวนี้ก็มาถึงประเด็นสุดท้ายที่ว่า เราจะสร้างสัมปชัญญะได้อย่างไร

ผมมีข้อสังเกตว่า จิตที่จะมีสติสัมปชัญญะบริสุทธิ์ได้จริงๆ นั้น
ต้องเป็นจิตที่มี ธรรมเอก หรือเอโกทิภาวะ
หรือมีจิตผู้รู้แยกจากอารมณ์ที่ถูกรู้ หรือสัมมาสมาธิ แล้วแต่จะเรียก

คือต้องเป็นหนึ่ง ตั้งมั่น นุ่มนวล ว่องไว
และควรแก่การงานคือไม่เซื่องซึมมัวเมา หรือเพลินสุขเหมือนคนติดยาเสพติด
(ผมเคยเขียนไว้หลายคราวแล้ว ถึงเรื่องการเข้าถึงธรรมเอก
ทั้งด้วยสมาธิ และด้วยปัญญา
ในที่นี้จึงขอไม่กล่าวถึงเพราะจะแตกประเด็นมากเกินควร)

เมื่อมีธรรมเอก หรือจิตผู้รู้แล้ว
จะต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ หรือความเฉลียวใจ
เป็นเครื่องมือทำความรู้จักกับสัมปชัญญะและกระตุ้นให้สัมปชัญญะทำงาน
โดยสังเกต(อย่างสบายไม่เคร่งเครียด) ถึงจิตตนเองให้ถ่องแท้
ก็จะพบว่า สติ(สัมมาสติ) สมาธิ(สัมมาสมาธิ)
และปัญญา(สัมมาทิฏฐิหรือสัมปชัญญะ) นั้น ทำงานควบคู่กันอยู่

จิตจะมีปกติทรงตัว ตั้งมั่น นิ่มนวล เบิกบาน เป็นสัมมาสมาธิอยู่
หากไม่มีสิ่งเร้าภายนอกมารบกวน จิตก็จะมีสติระลึกรู้อยู่ที่จิต
และมีความรู้ชัด มีความรู้ตัว ไม่หลง ไม่ถูกโมหะครอบงำ คือมีสัมปชัญญะอยู่

หากมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามากระทบ ทางตา หู … ใจ
จิตก็ยังตั้งมั่นเป็นปกติ มีสัมมาสมาธิอยู่
ไม่ซึม เป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกโมหะครอบงำ ไม่ฟุ้งซ่านกระจัดกระจายออก
ส่วนสติจะตามระลึกรู้อารมณ์หรือสิ่งแปลกปลอมนั้นอย่างเป็นอัตโนมัติ
แต่ไม่ใช่เพ่งจ้องไปตามความหลง เพราะจิตจะต้องไม่หลง
แล้วสัมปชัญญะก็จะพิจารณา คือรู้อารมณ์นั้นตามความเป็นจริง
ตรงนี้เป็นการทำงานของจิตในด้านการเจริญปัญญา

แต่ส่วนมากนักปฏิบัติจะขาดธรรมเอก
พอมีสิ่งมากระทบ สติก็จะพุ่งใส่สิ่งนั้นและลืมตัวทันที
จิตก็จะถลำเข้าไปยึดอารมณ์ จมอยู่กับอารมณ์
หมดความสามารถที่จะให้สัมปชัญญะทำหน้าที่ รู้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หมั่นฝึกจิตให้มี จิตผู้รู้ คือเป็นธรรมเอก
แล้วใช้โยนิโสมนสิการ สังเกตจิตใจตนเองอยู่เสมอ
เพื่อไม่ให้สติปิดกั้นสัมปชัญญะ
คือไม่เพ่งเสียจนปัญญาทำงานไม่ได้อย่างอิสระ
แต่ให้ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ทำงานกลมกลืนไปด้วยกัน

เฝ้ารู้สภาวะที่ปรากฏเรื่อยไป จนกำลังปัญญาอ่อนลง คือเริ่มสับสนงุนงง
กำลังสติอ่อนลง คือไม่ว่องไวปราดเปรียวในการระลึกรู้เท่าทันอารมณ์
และกำลังของสมาธิอ่อนลง คือเริ่มฟุ้งซ่าน กระจัดกระจาย
ก็กลับเข้าหาความสงบเพื่อกระตุ้นธรรมเอกใหม่
พอจิตมีกำลังแล้ว ก็กลับเข้าทำงานเจริญปัญญาต่อไปอีก

สติ สมาธิ และปัญญาทั้ง 3 ด้าน ก็จะพัฒนาไปด้วยกันอย่างไม่เนิ่นช้า


************************************
ขอเรียนเพิ่มเติมว่า งานเขียนชิ้นนี้เขียนจากประสบการณ์
ของคนที่ยังมีกิเลสตัณหาหนาแน่น มีสติปัญญาอ่อนด้อย
อาจจะไม่ตรงตามตำราชั้นหลังบ้าง
ผู้อ่านสมควรระมัดระวังและใช้ปัญญาพิจารณา
หากผมเข้าใจผิด ก็จะได้ไม่เข้าใจผิดเหมือนผมไปด้วย

(มีต่อ)

18
(ต่อ)

คราวนี้เรามาทำความรู้จักกับสัมปชัญญะกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้นดีกว่า
สัมปชัญญะนั้น ท่านจำแนกเอาไว้ 4 ชนิดด้วยกันคือ

สาตถกสัมปชัญญะ คือความรู้ชัดว่ามีประโยชน์
หรือตระหนักในจุดหมายปลายทางของการกระทำต่างๆ
เป็นความรู้ ความฉลาดที่จะเลือกกระทำ หรือไม่กระทำใดๆ
โดยเพ่งเล็งถึงการบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่เป็นประโยชน์เป็นสำคัญ
เช่นรู้จักทำสมถะ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน เพื่อผลคือความสงบของจิต
รู้จักทำวิปัสสนา ไม่ปล่อยใจให้ซึมเซา เพื่อผลคือความมีปัญญาของจิต เป็นต้น

สัปปายสัมปชัญญะ คือความรู้ชัดว่า
สิ่งนั้นหรือการกระทำนั้น สมควรแก่ตน
อย่างเช่นรู้ชัดว่า จะทำอย่างใดให้อกุศลลดลงและกุศลเจริญขึ้น
หรืออย่างพระธรรมทูตไปเผยแผ่ศาสนาในประเทศหนาว
ก็รู้จักสวมเสื้อผ้าที่อบอุ่นพอเหมาะกับภูมิประเทศ
หรือกรณีที่เห็นสุนัขบ้าเดินมา ก็รู้จักหลบหลีกเสีย เป็นต้น

โคจรสัมปชัญญะ คือความรู้ตระหนักในหน้าที่การงานของตน
เช่นมีหน้าที่ปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาตนเอง
ก็ไม่ลุ่มหลงมัวเมาเที่ยวดูหนัง ละคร คอนเสิรต จนลืมกรรมฐาน

อสัมโมหสัมปชัญญะ
ธรรมอันนี้แหละคือเครื่องมือสำคัญของการเจริญวิปัสสนา
ลองฟังความหมายในเชิงปริยัติธรรมก่อนนะครับ
ผมยกมาจากพจนานุกรมของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก
อ่านแล้วจะทราบชัดเลยว่า ปราชญ์ที่แท้จริงนั้น
ท่านอธิบายธรรมไม่ต่างจากที่พวกเราปฏิบัติกันอยู่เลย

"อสัมโมหสัมปชัญญะ"  คือรู้ชัดว่าไม่หลง
หรือตระหนักในตัวเนื้อหาสภาวะ
ไม่หลงฟั่นเฟือน คือเมื่อไปไหน ทำอะไร
ก็รู้ตัวตระหนักชัดในการเคลื่อนไหว
หรือในการกระทำนั้น และในสิ่งที่กระทำนั้น
ไม่หลง ไม่สับสนเงอะงะฟั่นเฟือน
เข้าใจล่วงตลอดไปถึงตัวสภาวะในการกระทำที่เป็นไปอยู่นั้น
ว่าเป็นเพียงการประชุมกันขององค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ
ประสานหนุนเนื่องกันขึ้นมาให้ปรากฏเป็นอย่างนั้น หรือสำเร็จกิจนั้นๆ
รู้ทันสมมุติ ไม่หลงสภาวะเช่นยึดเห็นเป็นตัวตน

โดยสาระคือ ความรู้ตระหนักในเรื่องราว เนื้อหา สาระ
และสภาวะของสิ่งที่ตนเกี่ยวข้องหรือกระทำอยู่นั้น
ตามความเป็นจริงโดยสมมุติสัจจะ
หรือตลอดถึงโดยปรมัตถสัจจะ

มิใช่พรวดพราดทำไป หรือสักว่าทำ
มิใช่ทำอย่างงมงายไม่รู้เรื่อง
และไม่ถูกหลอกให้ลุ่มหลงหรือเข้าใจผิดไปเสียด้วยความพร่ามัว
หรือด้วยลักษณะอาการภายนอกที่ยั่วยุ หรือเย้ายวน เป็นต้น"

ไม่มีตรงไหนเลยครับ ที่ท่านระบุว่า ให้รู้แต่ปรมัตถ์อย่างเดียว
เพราะเหตุใด
ก็เพราะการเจริญวิปัสสนานั้น ต้องรู้ตามความเป็นจริง
ต้องแจ่มแจ้งตามที่รู้เห็นทั้งสมมุติและปรมัตถ์ที่จิตไปรู้เข้า
จะไปแยกส่วนรู้เฉพาะปรมัตถ์นั้น ไม่มีใครทำได้จริงหรอกครับ
เพราะกระทั่งพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์
ท่านก็ยังรู้สมมุติ แล้วอนุโลมตามสมมุติ ไม่ปฏิเสธสมมุติ
จะสุดโต่งทิ้งสมมุติไม่ได้ จะกลายเป็นทิฏฐิวิปลาสไป
และหากใช้สติบังคับจิตใจให้หมายรู้เฉพาะปรมัตถ์
ดีไม่ดีก็อาจจะเกิดสัญญาวิปลาสได้ด้วย

สิ่งที่พวกเราพยายามฝึกฝนกันนั้น คือการทำความรู้ตัว
ไม่เผลอ ไม่หลง ไม่ฟั่นเฟือนไปตามอารมณ์ที่มากระทบ
เมื่อฝึกแล้วก็จะรู้ชัดถึงสมมุติ โดยความเป็นสมมุติ
และรู้ชัดถึงปรมัตถ์ โดยความเป็นธรรมชาติธรรมดาอันหนึ่ง

หากยังหลงอยู่ จิตยังเคลื่อนไปตามสิ่งเร้าโดยไม่รู้ทัน
ก็จะไม่สามารถรู้เห็นสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริงได้
แต่จะรู้เห็นแล้วยินดียินร้ายไปตามแรงขับของกิเลสตัณหาเท่านั้น


ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงกล่าวกับหมู่เพื่อนเสมอๆ ว่า
ให้รู้ตัวเข้าไว้ อย่าหลง อย่าเผลอ
อย่าส่งส่ายไปทางอายตนะต่างๆ โดยไม่รู้เท่าทัน
เพราะถ้าทำต้นทางของการเจริญอริยมรรคอย่างนี้ได้  ก็จะเจริญในธรรมได้
แต่นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อย มักฝึกสติโดยไม่มีความรู้ตัวจริงๆ
จิตถูกโมหะครอบงำไว้
ซึ่งโมหะนี้แหละ เป็นต้นทางของการก่อภพก่อชาติต่างๆ นั่นเอง


**************************************
(ยังมีต่อ)

19
เขียนไว้เมื่อ วัน จันทร์ ที่ 11 กันยายน 2543 10:46:40

สัมปชัญญะคือตัวปัญญาสัมมาทิฏฐิ
เป็นธรรมมีอุปการะมากควบคู่กับสติ
วิปัสสนาจะเกิดไม่ได้ถ้าขาดสัมปชัญญะ
แต่นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อย ไม่มีสัมปชัญญะบริบูรณ์จริงๆ
หมู่เพื่อนควรมาทำความรู้จักกับสัมปชัญญะกันเถิด


************************************************

ในการปฏิบัติวิปัสสนานั้น
สัมปชัญญะเป็นธรรมสำคัญ ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องเจริญควบคู่ไปกับสติ
บางคราว เมื่อกล่าวถึงการเจริญสติ
ก็มีความหมายรวมถึงการเจริญสติและสัมปชัญญะ
เพราะหากเจริญสัมปชัญญะไม่ถูกต้อง
การเจริญสติจะกลายเป็นการทำสมถกรรมฐานไปทันที

นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อย ไม่มีสัมปชัญญะ !!!
มีแต่เอาสติเพ่งจ้องใส่อารมณ์ที่กำลังปรากฏ
และเมื่อขาดสัมปชัญญะ ก็ไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้จริง
จิตในขณะนั้นจะแข็ง ซึม ทื่อ เหมือนคนสะกดจิตตนเอง
แม้จะรู้อารมณ์ ก็รู้ไปอย่างทื่อๆ ไม่นานจิตก็ซึมด้วยโมหะ
ซึมแล้วเพลินสุขเหมือนคนติดยาบ้าง
ตกภวังค์บ้าง หรือส่ายออกรู้ออกเห็นสิ่งภายนอกบ้าง
หาสาระอันใดในทางการเจริญปัญญาไม่ได้เลย

การที่สติจดจ่อเข้ากับอารมณ์อันเดียว แล้วจิต"หลง"อยู่กับอารมณ์นั้น
จะไม่สามารถจำแนกแยกแยะสมมุติบัญญัติ
กับสภาวะหรือปรมัตถ์ออกจากกันได้
เช่นเมื่อเอาสติกำหนดรู้ลมหายใจ ก็เพ่งทื่อๆ เข้าไปที่ลมหายใจ
กำหนดบริกรรมพุทโธ จิตก็หลงทื่อๆ อยู่กับพุทโธ
หรือรู้การกระเพื่อมของท้อง ก็รู้ไปอย่างทื่อๆ
ที่มันทื่อๆ ก็เพราะขณะนั้นมีแต่สติ
ไม่มีปัญญา เพราะตัวปัญญาถูกกดให้นิ่งๆ อยู่ ไม่สามารถทำงานได้
แม้บางท่านจะพยายามนึกว่า สิ่งที่ถูกรู้เป็นรูป รู้เป็นนาม
ก็ยังเป็นเพียงการน้อมนึก ไม่ใช่การเห็นแจ้งเป็นปัจจุบันด้วยใจ
เพราะจิตยังไม่มีสัมปชัญญะจริงๆ
คือจิตยังเคลื่อนหลงไปตามอารมณ์ แต่ไม่รู้ทันจิตตนเอง
ซึ่งจิตในขณะนั้น กำลังถูกโมหะครอบงำอยู่นั่นเอง


ในตำรารุ่นหลังมักกล่าวว่า การทำสมถะจะต้องรู้อารมณ์ที่เป็นบัญญัติ
แต่ถ้าเป็นคนที่ชำนาญในการทำสมถะ และชำนาญในการสังเกตจิตจริงๆ
จะพบว่า ในเบื้องต้นจิตจะรู้อารมณ์อะไรก็ได้
แต่ถ้าขาดสัมปชัญญะเมื่อใด จิตก็จะพลิกไปเป็นสมถะเสมอ
หมดสมรรถภาพไม่สามารถรู้ปรมัตถ์ได้
และเมื่อทำสมถะจนจิตสงบลงถึงขั้นจริงๆ แล้ว
จิตไม่มีปัญญาจะไปจำแนกบัญญัติและปรมัตถ์ได้
จิตไปรู้อะไร ก็รู้ไปอย่างทื่อๆ และไร้เดียงสาเท่านั้นเอง
มันไม่สนใจหรอกว่า ขณะนั้นมันรู้อะไร
มีแต่จมแช่ลงในอารมณ์อันเดียวเท่านั้น

นอกจากนี้ การที่รู้ปรมัตถ์ โดยจงใจรู้ปรมัตถ์ แล้วไม่รู้ทันจิต
จิตก็จะพลิกกลับไปสู่ความหลงทันที เพราะขาดสัมปชัญญะ
อย่างมากที่สุดก็ได้สมถะ ทั้งที่เริ่มต้นด้วยการรู้ปรมัตถ์ ก็ตาม

แต่เมื่อใดมีสติสัมปชัญญะ จิตก็จะสามารถเจริญวิปัสสนาได้
จิตในขณะนั้น สามารถจำแนกได้ชัด
คือมีสมมุติบัญญัติก็รู้ว่ามีสมมุติบัญญัติ และไม่หลงสมมุติบัญญัติ
ส่วนปรมัตถ์ ก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอันหนึ่งที่ปรากฏขึ้น และไม่หลงปรมัตถ์
ไม่ใช่ว่าในขณะที่เจริญวิปัสสนาอยู่นั้น จะไม่รู้สมมุติบัญญัติ
เพราะสมมุติบัญญัติ มันก็มีความจริงของตัวมันเองอยู่
ไม่ใช่ไม่มีจริง  แต่มันมีจริงโดยสมมุติ


ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงมีความเห็นต่างจากตำราอยู่บ้าง
คือตำราเห็นว่า ถ้ารู้บัญญัติก็เป็นสมถะ แต่ถ้ารู้ปรมัตถ์ก็เป็นวิปัสสนา
แต่ผมมีความเห็นว่า ถ้ามีสติอย่างเดียวไม่มีสัมปชัญญะ อันเป็นการทำสมถะ
จิตย่อมจะหลงกับอารมณ์อันเป็นสมมุติบัญญัติ
แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะ อันเป็นการเจริญวิปัสสนา
จิตย่อมจะรู้ทันทั้งปรมัตถ์และบัญญัติตามความเป็นจริง

พระศาสดาท่านจึงทรงสอนต้นทาง อยู่ที่การเจริญสติสัมปชัญญะ
ไม่ได้ทรงเน้นย้ำเรื่องอารมณ์กรรมฐานในเรื่องบัญญัติและปรมัตถ์แต่อย่างใด

เพราะถ้าเจริญสติสัมปชัญญะถูกต้อง ก็จะรู้จักปรมัตถ์เอง
และแม้ถึงจะคิดถึงปรมัตถ์ แต่เจริญสติสัมปชัญญะไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็เป็นเพียงการทำสมถะเท่านั้น
เพราะจิตหลงอยู่แค่บัญญัติเรื่องปรมัตถ์เป็นอารมณ์อันเดียวโดยต่อเนื่อง


ผมมีความเห็นอีกว่า การเจริญวิปัสสนา จะต้องรู้สิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง
คำว่าสิ่งทั้งปวง หมายถึงทั้งปรมัตถ์และบัญญัติด้วย
ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะการเจริญวิปัสสนานั้น
ต้องทำในทุกๆ ขณะของการดำรงชีวิตที่มีความตื่นอยู่

ไม่ใช่เก็บตัวเงียบอยู่ในห้อง หรือในสำนักที่ไม่มีผัสสะแปลกใหม่มากระทบ
แล้วทุกวันก็เจตนากำหนดรู้ปรมัตถ์ไปเรื่อยๆ
โดยเจตนาไม่สนใจบัญญัติ

วิปัสสนาจริงๆ นั้น ต้องพากเพียรทำอยู่
ทุกคราวเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง .. ใจคิดนึก
และธรรมชาติของจิตนั้น เมื่อรู้อารมณ์อันเป็นปรมัตถ์ด้วยอายตนะทั้ง 6 แล้ว
ก็มักจะรู้บัญญัติต่อเนื่องด้วยอายตนะคือใจด้วย
(เว้นแต่อารมณ์ที่มากระทบถ้าอ่อนมาก เพียงจิตไหวนิดหนึ่งก็ดับตกภวังค์บ้าง
หรือจิตทำงานไปเพียงเล็กน้อย ยังไม่ทันจะเสพย์อารมณ์ ก็ดับตกภวังค์บ้าง
กรณีเช่นว่านี้ น่าจะทำวิปัสสนาไม่ได้ เพราะจิตเดินปัญญาไม่ได้)
จะเลือกรู้อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเจตนาไม่ได้
สิ่งสำคัญ อยู่ที่การรู้ให้ทันและรู้ให้ตรงตามความจริง
ทั้งปรมัตถ์และบัญญัติ ต่างหาก


เช่นเมื่อเดินไปตามถนน เห็นสุนัขเดินสวนมา
สติปัญญาจะทำงานทันที คือจำแนกได้ชัดเจนโดยไม่ตั้งใจจะจำแนกว่า
รูปที่มากระทบตา ก็คือสภาพธรรมอันหนึ่ง
ตรงนี้ต้องรู้ด้วยใจจริงๆ จึงจะรู้ปรมัตถ์
ไม่ใช่รู้ด้วยการพยายามคิดว่าสุนัขไม่มี มีแต่รูป

ถ้ารู้ด้วยใจจริงๆ แล้ว จะทราบเลยว่า
การที่ตากระทบรูปนั้น ไม่ก่อน้ำหนักใดๆ ขึ้นในจิตใจเลย

ถัดจากนั้นก็มีบัญญัติและรู้บัญญัติว่า "สุนัข"
รู้ความคิดที่ว่า "นี่มันสุนัขบ้าให้ระวังไว้"
จิตเกิดมีอาการไหววูบขึ้นมาในใจ ก็รู้อาการนั้น
อาการไหววูบนี้ ก็เป็นเจตสิกปรมัตถ์อันเป็นฝ่ายนามธรรมอันหนึ่ง
รู้แล้ว จิตอาจจะมีบัญญัติว่า นี่คือความตกใจ/กลัว
หรือจะไม่สรุปว่านี่คือความตกใจ/กลัวก็ได้ ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร
เพียงเห็นอาการวูบ แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง ก็พอแล้ว

จากนั้นก็หาทางหลบหลีกเสียด้วยความมีเหตุผล
ไม่ใช่เห็นสุนัขบ้าเดินมา ก็ไปกำหนดว่ารูปๆ
ไม่ใช้สติปัญญา แต่ทำใจทื่อๆ ไม่รู้ร้อนรู้หนาว
แล้วเดินเข้าไปให้สุนัขกัดแบบปล่อยตามบุญตามกรรม
อย่างนี้เรียกว่าไม่มีปัญญา หรือไม่มีสัมปชัญญะอีกชนิดหนึ่ง
(จะกล่าวถึงชนิดของสัมปชัญญะต่อไปทีหลัง)
แม้แต่สัตว์ต่างๆ เขาก็ไม่นิยมทำกัน เพราะเมื่อมีภัยเขาก็ยังรู้จักหลบหลีกเสีย

สรุปแล้ว ตามความเข้าใจส่วนตัวของผม
ถ้ามีสัมปชัญญะอยู่ก็คือมีปัญญาอยู่
เพราะสัมปชัญญะนั่นแหละคือตัวปัญญา หรือสัมมาทิฏฐิ

จิตใจในขณะนั้นจะสามารถจำแนกแยกแยะผิดชอบชั่วดี ควร-ไม่ควรได้
จิตจะรู้ปรมัตถ์โดยความเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง และรู้สมมุติโดยความเป็นสมมุติ
ไม่หลง ไม่ซึมทื่อ ไม่มีเจตนาจะยอมรับ
หรือปฏิเสธความจริงใดๆ ทั้งสมมุติและปรมัตถ์
จิตที่เจริญวิปัสสนาจะมีสภาพเช่นนี้
ไม่ใช่รู้แต่ปรมัตถ์ โดยไม่รู้บัญญัติ
อันเป็นเรื่องการปฏิบัติที่เจตนาทำให้ผิดธรรมชาติอย่างยิ่ง

***************************************
(ยังมีต่อ)

20
(ต่อ)

การตั้งฐานของสติ หรือการทำสติปัฏฐานนั่นเอง
ผมเองใช้เครื่องกระตุ้นสติสัมปชัญญะหลายอย่างเหมือนกัน
เช่นการรู้ความไหวของกาย ซึ่งฝึกเอาจากการเดินจงกรมแล้วรู้การกระทบ
เวลาเผลอตัวขาดสติ ถ้าขยับกายนิดหนึ่ง ก็จะมีความรู้ตัวขึ้นมาทันที
เวลานั่งอยู่คนเดียว ก็เคาะนิ้วมือไปเรื่อยๆ
แต่เคาะแล้วรู้ตัวนะครับ ไม่ใช่นิ้วเคาะ แต่จิตหนีไปเที่ยว

การที่เรามีฐานที่ตั้งของสติยืนพื้นไว้มีประโยชน์มาก
เพราะถ้าจิตคลาดไปจากฐานนิดเดียวก็จะรู้ทันเร็ว
สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่าให้ฐานนั้นกลายเป็นเครื่องจองจำจิตนะครับ
คือไม่ได้ทำเพื่อให้จิตหลงจ่อลงที่จุดนั้น จะกลายเป็นสมถะไปทันที
แต่ทำเพื่อให้สิ่งนั้นเป็นวิหารธรรม คือเป็นเครื่องรู้ เครื่องอยู่ที่สบายของจิต
แล้วเวลากิเลสตัณหาผ่านมา จิตจะรู้ทันได้ไวมากขึ้น

****************************************

การที่เดินรู้เท้าที่กระทบพื้นนั้น
ถ้าเห็นว่าจิตมันเบาลง ทุกข์มันน้อยลงไป แล้วรู้เท่าทัน
ก็คือการเจริญสติสัมปชัญญะอยู่แล้ว
เพราะมีปัญญาเห็นความไม่เที่ยงของจิต


แต่ถ้าจิตจดจ่อจมลงในเท้า อันนั้นเป็นสมถะเฉยๆ นะครับ
ให้พยายามรู้เท่าทันจิตใจตนเองไปด้วยจะดีกว่า
เพราะการเจริญสติสัมปชัญญะนั้น ทำได้ในชีวิตประจำวันครับ
ไม่ใช่ว่าในชีวิตประจำวันจะเจริญสติได้อย่างเดียวหรอกครับ

**************************************

เรื่องศีลเป็นข้อๆ นี่น่าปวดหัวครับ
เพราะจะต้องมีการตีความกันอยู่เสมอว่า
ทำอย่างนี้ แค่นี้ จะผิดหรือไม่ผิด
สู้มีศีลอีกแบบหนึ่งไม่ได้ครับ
คือจะทำอะไรก็ทำไปเถิด
แต่ทำแล้วเป็นเหตุให้กุศลเจริญขึ้น อกุศลเสื่อมไป
ทั้งจะต้องไม่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วย

ศีลข้อเดียวชนิดนี้ เป็นศีลสบายสำหรับนักปฏิบัติครับ
และศีลข้ออื่นๆ ก็งอกออกไปจากหลักอันนี้เอง

***********************************
ครูบาอาจารย์ระดับหลวงปู่เทสก์ เวลาญาติโยมเข้าไปกราบท่านคราวละเป็นร้อยเป็นพัน
ท่านยังเคยขยับนิ้วไปเรื่อยๆ เป็นเครื่องอยู่เลยครับ ทั้งที่สติสัมปชัญญะของท่านบริบูรณ์แล้ว
เราจึงควรมีเครื่องอยู่ เครื่องกระตุ้นสติสัมปชัญญะประจำตัวไว้บ้าง
จะช่วยให้จิตใจไม่ห่างไกลธรรม คลุกคลีอยู่กับธรรม และเจริญในธรรมโดยง่าย

************************************

ขอเพิ่มเติมเรื่องการถือศีลสักหน่อยครับ
คือความรู้สึก หรือทัศนะต่อศีลของชาวบ้านกับผู้ปฏิบัติจะต่างกัน

ชาวบ้านเขาถือว่าศีลคือข้อห้าม ถ้าฝ่าฝืนจะบาป
นักปฏิบัติเห็นว่าศีลเป็นเครื่องสบายกายสบายใจ ทำแล้วจิตสงบสบาย

ชาวบ้านจะถือศีล ก็ต้องสมาทานเป็นข้อๆ
นักปฏิบัติตั้งใจละอกุศล เจริญกุศลในจิต แล้วเกิดศีลขึ้นมาเอง

ชาวบ้านเห็นว่าศีลทำให้กายและวาจาเรียบร้อย
นักปฏิบัติเห็นว่า ใจที่เป็นปกติเรียบร้อย ไม่หลงตามกิเลสคือศีล
เมื่อใจเรียบร้อยแล้ว กายวาจาก็เรียบร้อยไปด้วยโดยไม่ต้องควบคุม

ศีลของชาวบ้านจะขาดหรือไม่ ต้องอาศัยการตีความ
เช่นจะปาราชิกเพราะเสพเมถุนนั้น อวัยวะต้องล่วงเข้าไปชั่วเมล็ดงาขึ้นไป ฯลฯ
ศีลที่ต้องตีความเป็นศีลโลกๆ เหมือนรัฐธรรมนูญที่ต้องตีความกันเรื่อยๆ
ส่วนศีลเหนือโลกไม่ต้องตีความ
เพราะผู้ปฏิบัติที่มีสติสัมปชัญญะ ย่อมไม่นำตนเข้าสู่ภาวะล่อแหลมต่อการเสียศีล

ความแตกต่างกันนี้เอง ทำให้ชาวบ้านเขาถือศีลได้อย่างกระพร่องกระแพร่ง
ส่วนผู้ปฏิบัติที่แท้จริงจะมีศีลโดยไม่ต้องสมาทานและรักษา
เพราะสติสัมปชัญญะที่รักษาจิตตนเองนั้นแหละ
คือเครื่องทำศีลให้สะอาดบริสุทธิ์ไปในตัว


(จบ)


21
เป็นคนละกระทู้กับ กระทู้อุบายสลายกาม

เขียนไว้เมื่อ วัน อาทิตย์ ที่ 1 ตุลาคม 2543 07:02:57

เมื่อสัปดาห์ก่อน มีเมล์ถามปัญหาเกี่ยวกับกามราคะ
โดยผู้ถามอยากจะถามในกระทู้ เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาแต่ไม่กล้าถาม ได้อ่านด้วย
ผมจึงรับอาสามาตั้งกระทู้ตอบให้เสียเอง เพราะผู้ถามเป็นผู้หญิง
แต่ที่การเขียนกระทู้ล่าช้าออกมาเพราะผมไปต่างจังหวัดเสียหลายวัน

ประเด็นของเธอก็คือ เธอสังเกตเห็นว่า
เมื่อมีโทสะแล้ว มักจะพบกามราคะตามมาเสมอ
โทสะนั้นเธอคิดว่าพอสู้ได้ แต่กามราคะ ยังเป็นสิ่งที่เธอพ่ายแพ้
จึงอยากทราบวิธีการในการต่อสู้กับกามราคะ

ความจริงแล้ว กามราคะและโทสะนั้น
เหมือนคนละด้านของเหรียญอันเดียวกัน
เช่นในเวลาที่เกิดความต้องการทางเพศ แต่ไม่รู้ว่ามีกามราคะแล้ว
และกดข่มไว้ โดยไม่รู้ทันว่าได้กดข่มไว้
จิตก็จะพลิกไปเป็นโทสจิต เหมือนเด็กโยเยเพราะไม่ได้ของเล่นที่ชอบใจ
ครั้นโทสจิตผ่านไปแล้ว กามราคะก็แสดงตัวชัดขึ้นมาอีกสลับกันไป

หรือแม้ว่า กามราคะได้รับการตอบสนองแล้วก็ตาม
จะพบว่าจิตมีโทสะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ หลังจากที่เสพย์กามไปแล้ว
เพราะการเสพย์กามนั้น ทำให้จิตกระเพื่อมหวั่นไหวได้มาก
ยิ่งไปยุ่งกับคนที่ไม่ใช่คู่สมรสของตน ยิ่งหวั่นไหวมาก
ท่านจึงสอนให้สันโดษในคู่ของตน
เพราะแม้จิตจะเศร้าหมองบ้างก็ไม่มากนัก ไม่เหมือนกับไปยุ่งกับคนอื่นๆ
ดังนั้น ถ้าประพฤติพรหมจรรย์ไม่ได้ ก็อย่าประพฤติผิดในกาม
เพราะกิเลสทั้งราคะและโทสะจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ปฏิบัติที่มองกามราคะซึ่งเกิดขึ้นแต่แรกไม่ออก แล้วกดข่มไว้
จึงคิดว่า ตนเองเกิดโทสะขึ้นมาก่อน แต่สู้โทสะได้
แล้วจึงเกิดราคะตามมาทีหลัง
ความจริงแล้ว โทสะก็อาศัยกามราคะที่ไม่ได้รับการตอบสนองเกิดขึ้นนั่นเอง
ถ้าปราศจากกามราคะ โทสะก็พลอยไม่เกิดไปด้วย

***********************************

ก่อนจะต่อสู้กับกามราคะ ควรทราบเสียก่อนว่า
กามราคะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ที่จิตพึงพอใจในกาม
ได้แก่ความพึงพอใจ ติดตรึงใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย
เป็นคำที่กว้างกว่าความต้องการทางเพศ

แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่า
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของสตรีเป็นที่พึงใจของบุรุษ
และรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของบุรุษเป็นที่พึงใจของสตรี
ดังนั้น เรื่องของเพศตรงข้ามจึงจัดเป็นกามราคะที่ร้ายแรงมาก
มากกว่ารูปวาดสวยๆ เสียงเพลงเพราะๆ ดอกไม้หอมๆ อาหารรสอร่อยฯลฯ

กามราคะ เกิดขึ้นเพราะจิตไม่รู้เท่าทันความไม่มีสาระของกาย
จิตจึงเพลิดเพลินพึงใจที่จะหาความสุขทางกาย
ด้วยการมองหารูปสวย/หล่อ เสียงเพราะ กลิ่นหอม สัมผัสที่พอใจ ฯลฯ
หากเมื่อใดจิตเห็นจริงว่า กายเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือเป็นอสุภะ
กิเลสกามก็จะอ่อนกำลังลงทันที


อุบายภาวนาในการสู้กับกาม ก็มีเป็นขั้นๆ ไป
อย่างอ่อนๆ ก็เช่นการหลีกเลี่ยงผัสสะ
เช่นครูบาอาจารย์บางองค์ ท่านแบกกลดหนีสาวที่ท่านไปหลงรักเข้า
เพราะถ้าสู้ไม่ไหว ก็ต้องหนีเอาไว้ก่อน

อุบายที่เข้มข้นขึ้นไปอีก ได้แก่การพิจารณาเพศตรงข้าม
เช่นการพิจารณาคนที่เราพอใจลงเป็นอสุภะ หรือไตรลักษณ์
ถ้าจิตเห็นจริงแล้ว จะลดความผูกพันกันทางกามลงได้

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เคยเล่าให้ผมฟังว่า
มีพระรูปหนึ่งบริกรรมพุทโธได้ไม่นาน จิตกลับไปบริกรรมชื่อแฟน
หลวงพ่อจึงให้บริกรรมชื่อแฟนต่อไป จนเกิดนิมิตรูปแฟนขึ้นมา
พระท่านก็ดูรูปแล้วบริกรรมต่อไป รูปก็เริ่มเหี่ยวโทรมลง หมดสวยหมดงาม
จิตของท่านก็ถอดถอนจากความผูกพันในกามกับแฟน

ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ สมัยเป็นฆราวาส
ท่านแก้ความรักสาวโดยการไปพิจารณาอุจจาระของสาว
สมัยนั้นพิจารณาได้ เพราะชาวบ้านถ่ายกันตามทุ่งนา
เดี๋ยวนี้จะเอาแบบวิธีนี้คงไม่ได้แล้ว เพราะสาวเขาปกปิดร่องรอยมิดชิด

อุบายถัดมา เป็นการทรมานตนเอง
เช่นพระบางรูปไปหลงรักผู้หญิง ท่านยอมอดข้าวจนกว่าจะตัดรักได้
วันแรกยังตัดไม่ได้ พอหลายวันเข้าก็ตัดได้
เพราะจิตกลัวว่ากายจะตายจึงเลิกรักสาว
เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เรารักที่สุดก็คือตัวเราเอง

อุบายถัดมา เป็นการใช้ปัญญาพิจารณาตนเอง
ซึ่งพระส่วนมากท่านพิจารณาร่างกายของท่านลงเป็นอสุภะบ้าง
พิจารณาความตายบ้าง พิจารณาความเป็นทุกข์ของกายบ้าง
วิธีนี้เป็นวิธีที่ประณีตยิ่งขึ้น เพราะเป็นการพิจารณาตนเอง
ไม่ใช่วิธีพิจารณาเพศตรงข้าม หรือหนีเพศตรงข้าม

อุบายทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงการเอาตัวรอดเป็นครั้งคราวเท่านั้น
ต่อเมื่อเจริญสติสัมปชัญญะมากเข้า
จนจิตเกิดปัญญาวิปัสสนาอย่างแท้จริงแล้ว
นั่นแหละจึงจะเอาชนะกามได้อย่างเด็ดขาดพร้อมทั้งปฏิฆะด้วย


ที่ผมเคยใช้แล้วได้ผล ในการเอาต่อสู้กับกามโดยไม่ได้เจตนาก็คือ
การเดินจงกรมแล้วเอาสติระลึกรู้ลงในกาย
เห็นกายเดินไปตามสภาพของกาย จิตเป็นคนดูอยู่
ถึงจุดหนึ่งจิตเกิดปัญญาขึ้นว่า กายนี้มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย
แต่ถึงกระนั้นมันก็ไม่เป็นทุกข์อะไร
ความทุกข์มันเกิดจากจิตเข้าไปยึดกาย แล้วอยากอย่างนั้นอย่างนี้
ไม่ยอมรับความจริงว่า กายมันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย
จิตจึงเป็นทุกข์เพราะความอยากของจิตเอง
เมื่อจิตเดินปัญญามาถึงจุดนี้
จิตก็เห็นกายเป็นของธรรมชาติธรรมดาอันหนึ่ง
พอจิตไม่ยึดกายแล้ว กามก็หาที่ตั้งไม่ได้เอง
ไม่จำเป็นต้องไปต่อสู้เพื่อละกามโดยตรงแต่อย่างใด


***********************************

ปกติกามราคะและปฏิฆะจะขาดไปพร้อมๆ กัน
เพราะเหตุที่ว่า กามและปฏิฆะมันเกิดจากรากเหง้าอันเดียวกัน
คือเกิดจากความโง่ของจิตที่เข้าไปยึดกาย และมันรักความสุขทางกาย
มัน(จิต)อยากให้ตาเห็นแต่รูปที่ดี ไม่อยากให้ตาเห็นรูปที่ไม่ดี
มันอยากให้หูได้ยินเสียงที่ดี ไม่ได้ยินเสียงที่ไม่ดี
มันอยากให้จมูกได้กลิ่นหอม ไม่อยากได้กลิ่นเหม็น
มันอยากให้ลิ้นรู้รสอร่อย ไม่อยากรู้รสที่ไม่อร่อย
มันอยากให้กายสัมผัสความเห็นร้อนอ่อนแข็งที่พอเหมาะ
ไม่อยากสัมผัสสิ่งที่รุนแรงเกินไป
เมื่อมันได้สิ่งที่ชอบใจ มันก็เกิดกามราคะ คือรักใคร่ผูกพันในอารมณ์ที่ดี
เมื่อมันได้สิ่งที่ไม่ชอบใจ มันก็เกิดปฏิฆะ คือความขัดใจ

ความยึดในกายนี้แหละ เป็นที่ตั้งของกามราคะและปฏิฆะ
เหมือนที่ความยึดในจิต เป็นที่ตั้งของสังโยชน์เบื้องสูง
คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา


***********************************

อันที่จริง เมื่อเรายังละกามไม่ได้
ก็ควรควบคุมให้มันอยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะ คืออย่าทำผิดศีล 5
แล้วเจริญสติสัมปชัญญะเรียนรู้คุณและโทษของมันไป
ความทุกข์ทรมานเพราะกามก็จะค่อยลดน้อยลงเป็นลำดับ


กามนั้นไม่ใช่จะเป็นโทษอย่างเดียว คุณของมันก็มีเรียกว่ากามคุณ
ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์จากมันเสียบ้าง ก็จะดีไม่น้อย
แม้พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้คนทำทานและถือศีล เพื่อไปเสวยกามสุขในสวรรค์
ถัดจากนั้นจึงสอนให้เห็นโทษของกามเป็นลำดับต่อไป
ท่านไม่หักหาญ ห้ามเรื่องกามกับคนที่ยังไม่พร้อม
แต่ใช้กามเป็นเหยื่อล่อจิตที่อินทรีย์ยังอ่อนให้ยอมรับธรรม
แล้วค่อยแนะนำทางเจริญปัญญาในภายหลัง

เหมือนกับครูบาอาจารย์ที่ท่านฉลาด เอากิเลสมาแก้กิเลส เอาหนามบ่งหนาม
คือผมรู้จักพระชาวออสเตรเลียรูปหนึ่ง ท่านเครียดและหงุดหงิดใจอยู่เสมอ
เนื่องจากต้องมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยมากมาย
ครูบาอาจารย์จึงออกอุบายอนุญาตให้ท่านเลี้ยงไก่สวยงามนานาชนิด
(เลี้ยงแบบไก่ป่า คือทำที่อยู่ให้ตามต้นไม้ ไม่ได้กักขัง
ไก่มีความสุขกันมากทีเดียว)
เนื่องจากท่านชอบไก่มาก (คลับคล้ายว่าจะเป็นดอกเตอร์เกี่ยวกับไก่ด้วย)
พอเห็นไก่แล้ว ท่านจะอารมณ์ดี หายหงุดหงิดได้

ครูบาอาจารย์ท่านฉลาดมาก คือท่านแก้ปฏิฆะ ด้วยกามราคะ
เนื่องจากปฏิฆะที่ต่อเนื่องรุนแรงนั้น แทบจะทำให้พระรูปนี้ทิ้งวัดไป
จึงต้องล่อด้วยของที่ชอบใจคือไก่ที่สวยงาม
เมื่อพระท่านดูแลไก่นานเข้า ไม่ไปสนใจกับผู้อื่น
จิตใจของท่านก็ผ่อนคลาย เกิดความนุ่มนวล อ่อนโยน
แล้วจิตใจก็เปลี่ยนจากกาม ไปเป็นความเมตตาต่อไก่อันเป็นกุศลจิต
และทำให้ง่ายที่จะปฏิบัติธรรมต่อไป

ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์จากกามราคะเสียบ้าง ก็เข้าทีเหมือนกัน
แต่วิธีนี้ ไม่แนะนำให้พระหนุ่มเณรน้อยนำไปใช้โดยพลการนะครับ

***************************************

การทำงานศิลปะ การปลูกต้นไม้ การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง
การเล่นพระเครื่อง การเล่นแสตมป์ การยิงธนู ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ยังเป็นราคะ หรือโลภมูลจิตอยู่ครับ เพราะทำไปด้วยความชอบใจ
แต่โทษของมันเบาบางกว่าโทสะ
เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า โทสะมีโทษมาก แต่แก้ง่าย
ราคะมีโทษน้อย แต่แก้ยาก
ส่วนโมหะมีโทษมาก และแก้ยาก

บางคราว การใช้กิเลสก็เป็นอุบายสู้กิเลส
โดยเปลี่ยนจากกิเลสที่มีโทษมาก ให้เป็นกิเลสที่มีโทษน้อยลง
(แต่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของครูบาอาจารย์)
เช่นแทนที่จะหมกมุ่นกับความน้อยเนื้อต่ำใจ เสียใจ คับแค้นใจ กลุ้มใจ
อันเป็นโทสะซึ่งมีโทษมาก ก็หันมาทำงานอดิเรกที่ชอบใจ
จิตใจก็จะสงบลง หายเร่าร้อนแล้ว กลับมาปฏิบัติธรรมก็ทำได้ง่ายขึ้น

หรือบางคราวโมหะครอบจิตจนมืดตื้อแกะไม่ออก
ยิ่งนั่งดู ก็ยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ซ้ำโทสะก็จะเริ่มเข้าผสมโรง คือหงุดหงิดใจขึ้นมา
โมหะมีโทษมาก โทสะก็มีโทษมาก
ผมจึงเคยแนะพวกเราบางคนว่า ให้หยุดการปฏิบัติไว้ก่อนชั่วคราว
ไปเปลี่ยนอารมณ์เดินดูสิ่งที่สวยๆ งามๆ ให้สบายใจ
แล้วถ้าจิตเกิดราคะ ก็ให้รู้ราคะไป
อันนี้ก็เป็นอุบายเอาตัวรอดจากกิเลสที่มีโทษมาก ไปเป็นกิเลสที่โทษน้อย
แล้วค่อยพลิกกลับมาเป็นกุศลจิตทีหลัง

อันตรายมันอยู่ตรงที่ พลิกกลับไปเป็นกุศลจิตไม่ได้ นี่แหละครับ
เรื่องอย่างนี้ จึงควรอยู่ในสายตาของครูบาอาจารย์ไว้

สำหรับเอี้ยง ปลูกต้นไม้ไปเถอะครับ
จิตใจที่สบายๆ ร่วมกับการที่เราทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาเป็นนิจ
เกิดพลาดพลั้งเป็นอะไรไป
ถึงชาตินี้อาจจะไม่รู้ธรรม แต่สุคติก็เป็นที่หวังได้ครับ

(มีต่อ)

22
เขียนไว้เมื่อ วัน พฤหัสบดี ที่ 7 กันยายน 2543 14:59:22

กระทู้ "คุยกันเบาๆ เรื่องทิฏฐิ" ซึ่งในตอนท้ายพาดพิงไปถึงอุปาทาน 4 นั้น
เป็นที่สนใจของหมู่เพื่อนบางท่าน และมีคำถามเพิ่มเติมเข้ามาหลายเรื่อง
เช่นสงสัยว่า ทิฏฐุปาทาน เป็นเรื่องของความเห็น
อัตวาทุปาทานก็เป็นเรื่องความเห็นเช่นกัน แล้วทำไมจึงต้องแยกกัน
บางท่านก็สงสัยว่า แล้วความยึดถือในลูกเมีย ทรัพย์สิน ชื่อเสียงเกียรติยศ
ความยึดถือกาย ความยึดถือจิต ฯลฯ ควรจะจัดเป็นอุปาทานประเภทใด

ถ้าตามตอบเป็นรายคำถามคงเสียเวลามาก
วันนี้เรามาคุยกันถึงเรื่อง อุปาทาน 4 เสียเลยดีกว่า

************************************

ก่อนจะกล่าวถึงเนื้อหาของ อุปาทาน 4
เราน่าจะเข้าใจสถานะของคำสอนเรื่องนี้เสียก่อน

คำสอนเรื่องอุปาทาน 4 ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของปฏิจจสมุปบาท
จัดเป็นคำสอนเชิงอภิธรรม หรือเชิงปรมัตถ์ คือพูดถึงสภาพธรรมล้วนๆ
ไม่ใช่ธรรมะที่สอนเกี่ยวกับปุคคลบัญญัติ หรือเรื่องบุคคล ตัวตน สัตว์ เรา เขา
ท่านจึงไม่กล่าวถึงความยึดถือในครอบครัว ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงเกียรติยศ ฯลฯ

คำสอนเรื่องอุปาทาน 4 เป็นคำสอนสำหรับนักบวช หรือผู้แสวงหาความหลุดพ้น
ไม่ใช่คำสอนสำหรับชาวบ้านทั่วไป
พระศาสดาจึงทรงเพ่งเล็งอธิบาย หรือจำแนกชนิดของอุปาทาน
ตามกลุ่มของสภาวธรรมที่ผู้แสวงหาความหลุดพ้นพากันติดอยู่
เพื่อจะได้พากันถอดถอนอุปาทานนั้น
ไม่ใช่เพื่อให้ฟังกันเล่นเพลินๆ หรือประเทืองปัญญา

สำหรับวิธีการศึกษาเนื้อหาของเรื่องอุปาทาน 4 นั้น
ถ้าจะให้เข้าใจง่าย สมควรปรับมุมมองเสียหน่อย
ในเมื่อธรรมอันนี้ ออกมาจากพระทัยของพระศาสดา และทรงประทานให้แก่ผู้ปฏิบัติ
เราก็ควรลงมือปฏิบัติ เพื่อรองรับพระธรรมนั้นด้วยจิตใจของเราเอง
จึงจะเข้าใจได้ลึกซึ้งและผสานเข้ากับการปฏิบัติในชีวิตจริงได้
เพราะเราเอาตัวผู้ศึกษาเป็นศูนย์กลางของการศึกษา
วิธีนี้จะต่างจากการเรียนธรรมะแบบเดิม ที่เอาตำราเป็นตัวตั้ง
โดยศึกษาว่าตำราแยกแยะธรรมนี้อย่างไรบ้าง
ซึ่งเมื่อทราบแล้ว ก็มักไม่ถึงใจ และนำไปปฏิบัติได้ยาก

เราจึงควรพากันเจริญสติสัมปชัญญะ
โดยการนั่งสมาธิและเดินจงกรมแบบที่เป็นวิปัสสนา
แล้วคอยเฝ้ารู้ว่า จริงๆ แล้ว จิตไปยึดมั่นอะไรได้บ้าง
ด้วยวิธีนี้ เราอาจจะพบมุมมองที่แปลกใหม่สำหรับอุปาทาน 4 ก็ได้

******************************************

สิ่งที่จิตพร้อมจะทะยานไปยึดได้เสมอก็คือ
รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย
เช่นเดินจงกรมอยู่ดีๆ เกิดเห็นเงาอะไรวอบแว่บผ่านมา
จิตก็มักจะทะยานออกไปยึดสิ่งที่ตาเห็นนั้น
ถ้าสิ่งนั้นสวยงาม จิตก็ยินดี ถ้าสิ่งนั้นน่าเกลียดน่ากลัว จิตก็ยินร้าย
หรือนั่งสมาธิอยู่ในป่า ได้กลิ่นหอมรวยรินของดอกไม้ป่า
จิตก็หลงเข้าไปยึดกลิ่นนั้น ด้วยความยินดี

สรุปแล้ว สิ่งที่จิตเข้าไปยึดก็คือ "สิ่งแวดล้อมภายนอก" ที่ไปรู้เข้า
หรือจะกล่าวว่า จิตไปยึดมั่นใน "สิ่งที่รับรู้ได้ทางอายตนะทางกายทั้ง 5" ก็ได้
สิ่งนี้น่าจะสอดคล้องใกล้เคียงกับ กามุปาทาน นั่นเอง

สิ่งต่อมาที่จิตยึดมั่นก็คือ"ความคิดเห็นต่างๆ"
ทั้งความคิดเห็นที่ดีและที่ชั่ว ทั้งความเห็นถูกและความเห็นผิด
จิตยึดได้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าจิตจะยึดได้เฉพาะมิจฉาทิฏฐิอย่างเดียว
เหมือนที่ตำราชั้นหลังเพ่งเล็งไปที่มิจฉาทิฏฐิเป็นหลัก
และเมื่อยึดความเห็นแล้ว จะเห็นถูกหรือเห็นผิด ก็เกิดทุกข์ทั้งนั้น
สิ่งนี้ก็น่าจะสอดคล้องใกล้เคียงกับ ทิฏฐุปาทาน

สิ่งต่อมาที่จิตมักยึดถือ นอกเหนือจากสิ่งแวดล้อมภายนอก และความคิดเห็นของตนเอง
ก็คือ "ความเชื่อที่สืบทอดกันมา"
สำหรับนักปฏิบัติแล้ว ความเชื่อที่สำคัญก็คือ
การถือศีลอย่างนี้ การบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติอย่างนี้ จะเป็นทางพาให้พ้นทุกข์ได้
เช่นก่อนจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ ควรจะจุดธูปเทียนเท่านี้ๆ ดอก
ต้องไหว้พระสวดมนต์ หรืออัญเชิญปีติทั้ง 5 เสียก่อน
และต้องแผ่ส่วนบุญให้เจ้ากรรมนายเวร ภูติผีปีศาจ
ต้องนั่งหันหน้าทิศนั้นทิศนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคล
บรรดา "ความเชื่อ" ทั้งหลายนี้แหละ
เราไม่ได้คิดเอง แต่เชื่องมงายตามกันมา
ก็เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องคอยสำรวจใจตนเองเหมือนกัน ว่าหลงไปยึดถือหรือเปล่า
สิ่งนี้ก็น่าจะสอดคล้องใกล้เคียงกับ สีลัพพตุปาทาน

นอกจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ความคิดนึกปรุงแต่งของจิต และความเชื่อทั้งหลายแล้ว
นักปฏิบัติที่เชี่ยวชาญ จะสังเกตเห็นความยึดถือที่ลึกลับที่สุด
ในจิตใจเรานั้น มีอะไรอยู่ตัวหนึ่ง ที่มันเรียกตัวเองว่า เรา เรา เรา
มันมีวาทะ หรือมันพูดอยู่ตลอดเวลา ว่าเรา เรา เรา
แล้วจิตก็หลงยึดเอาจริงๆ ว่า เรา เรา เรา
มันเป็นเสมือนแกนกลางของการรับรู้ทั้งปวง
ไม่ว่าสิ่งที่ถูกรู้จะเป็นสิ่งแวดล้อมภายนอก ความคิดเห็น หรือความเชื่อต่างๆ
สิ่งนี้ก็น่าจะสอดคล้องใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า อัตวาทุปาทาน
และเพราะความยึดมั่นนี้แหละ
เมื่อจิตไปประสบกับอารมณ์อันละเอียด คือรูปฌานและอรูปฌานเข้า
จิตก็จะกระหยิ่มยินดีมีความสุข เพราะความยึดมั่นจิตนั่นเอง

ถ้าพิจารณาจากสิ่งที่จิตไปติดยึดจริงๆ ที่รู้ได้ในระหว่างการปฏิบัติ
นอกเหนือจากความยึดมั่น 4 อย่างนี้แล้ว ผมก็ไม่เห็นความยึดมั่นอย่างอื่นอีก
เพราะครอบคลุมตั้งแต่สิ่งแวดล้อมภายนอก ความคิดเห็นภายในของตนเอง
รูปแบบและความเชื่อถือที่สืบทอดกันมา
จนถึงความยึดถือในศูนย์กลางของทุกสิ่ง คือ เรา เรา เรา

ขอเรียนว่า เรื่องที่เล่ามานี้ จะไม่ตรงกับตำราชั้นหลังบ้าง
(เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ ซึ่งผู้ศึกษาควรจะมีความคิดเห็นได้)
แต่ที่นำมาเล่าก็เพราะเห็นว่า
พอจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้เพื่อนนักปฏิบัติใช้สำรวจตนเองได้ว่า
จิตใจยังหลงไปยึดมั่นถือมั่นอะไรอยู่บ้าง

**********************************************

ความจริงนั้นมีอยู่ 2 ระดับคือสมมุติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ
ความคิดที่ว่า "สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา พระพุทธเจ้าก็ไม่มี
พ่อแม่ครูอาจารย์ก็ไม่มี ตัวเราก็ไม่มี"
ยังจัดเป็นความคิดสุดโต่งครับ เพราะปฏิเสธสมมุติสัจจะ
ขอย้ำว่า แม้จะเป็นสมมุติ มันก็เป็นสัจจะคือความจริงอันหนึ่ง
ไม่ใช่ไม่มี หรือไม่จริงนะครับ แต่มันจริงโดยสมมุติ

คราวนี้เราต้องรู้จักจำแนกว่า
อะไรเป็นความจริงโดยสมมุติ อะไรเป็นความจริงโดยเนื้อแท้
อย่างพระพุทธเจ้านั้น โดยสมมุติของโลก
พระองค์ก็ทราบว่า "พระองค์" เป็นพระพุทธเจ้า
แต่โดยความจริงอันแท้
พระองค์ท่านก็ไม่ได้สำคัญมั่นหมายว่ามีหรือไม่มีพระพุทธเจ้า
ท่านเห็นแต่ว่า ขันธ์ 5 เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

**************************************


23
เขียนไว้เมื่อ วัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543 10:51:34

เพื่อนนักปฏิบัติเมล์มาถามผมบ่อยๆ ว่า ทำอย่างไรจะข่มหรือละกามได้
แต่ไม่มีใครเคยถามผมว่า ทำอย่างไรจะละทิฏฐิได้
ยกเว้นสักกายทิฏฐิ ที่มีผู้ถามถึงวิธีละอยู่เป็นครั้งคราว
ซึ่งผมก็ตอบว่า ให้เจริญสติปัฏฐานเรื่อยๆ ไป

พระศาสดาทรงสอนว่า "กษัตริย์ต่อกษัตริย์ มักขัดแย้งกันเพราะกามและทิฏฐิ"
ซึ่งหมายความว่า นักการเมืองหรือนักปกครอง
มักจะขัดแย้งกันเพราะผลประโยชน์ทางวัตถุอย่างหนึ่ง
เพราะผลประโยชน์ทางความคิดหรืออุดมการณ์ อีกอย่างหนึ่ง

ทรงสอนว่า "นักบวชกับนักบวช มักจะขัดแย้งกันเพราะทิฏฐิ"
เพราะเรื่องกามนั้น ต่างคนต่างเห็นโทษภัย และพยายามละอยู่แล้ว
แต่เรื่องทิฏฐินั้น ไม่ค่อยมีใครเห็นว่ามีโทษภัย
จึงไม่ค่อยระมัดระวังอันตรายจากทิฏฐิกันเท่าที่ควร
พากันปล่อยให้ทิฏฐิอิงอาศัย เดินเข้าเดินออกในจิตใจตนเองได้ทั้งวัน

เมื่อเช้านี้ ก่อนจะออกจากบ้านไปทำงาน
ผมเห็นแม่บ้าน (แม่บ้านเป็นคำไทยแท้ แปลว่าผู้เป็นใหญ่ในบ้าน) จิตใจกำลังผ่องใสมีกำลัง
จึงแนะว่า อย่าทำความรู้ตัวอยู่เฉยๆ ให้เดินปัญญาด้วย
โดยรู้ลงไปเวลาจิตมีความเห็นต่างๆ มันจะเกิดความเป็นเราขึ้นมา

แม่บ้านของผมก็คอยเฝ้ารู้อยู่ที่จิตใจตนเอง
แล้วก็พบว่า ทุกคราวที่เกิดความเห็น
(ความเห็นไม่ใช่ความคิดนะครับ
ความเห็นจะมีการให้ค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่า อันนี้เป็นอย่างนี้
อันนี้ดี - ไม่ดี  ผิด - ถูก  ควร - ไม่ควร ฯลฯ
ตามการประเมินค่าและมาตรฐานของตนเอง)
จิตจะเคลื่อนเข้าไปยึดความเห็นนั้นเสมอ
แม้แต่เรื่องเล็กน้อยที่สุด จิตก็ยังยึดถือความเห็นที่เกิดขึ้น
เช่นตอนขับรถออกจากบ้าน มีรถอีกคันหนึ่งปาดหน้า
ก็เห็นความเห็นว่า ทำอย่างนี้ไม่ดี ไม่คิดถึงอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น
เห็นถึงการให้ค่าว่า ดี - ไม่ดี ถูก - ผิด
แล้วเห็นว่าจิตเข้าไปยึดถือความเห็นนั้น

พบอีกว่า ทุกคราวที่เกิดความยึดในความเห็น
จะเกิดความขัดข้อง เป็นกลุ่มก้อนขึ้นที่กลางอก
ถ้ายึดถือแรง ก้อนนี้จะโตและแน่น ถ้ายึดเบาๆ ก้อนก็เล็กและเบาบาง
ยึดขึ้นทีไร ก็ทุกข์ทีนั้น
และเธอก็สรุปว่า คนเราทะเลาะกันก็เพราะยึดในทิฏฐินี้แหละ

ผมขับรถไป ก็เล่าเพิ่มเติมให้ผู้โดยสาร/แม่บ้าน ฟังต่อไปว่า
ความยึดมั่นในความเห็นนั้น ตำราเรียกว่า ทิฏฐุปาทาน
เมื่อเกิดความเห็นแล้วยึดความเห็น
ก็จะเกิดตัวเราขึ้นมา เป็นเจ้าของความเห็นนั้น
และเมื่อเกิดตัวเรา หรือตัวกู หรือที่สมัยนี้ชอบเรียกว่าเกิดอัตตาตัวตนขึ้น
ก็จะมีปฏิกิริยาเป็นก้อนแน่นหน้าอกขึ้น
ใครที่อัตตาแรง ก็เหมือนแบกครกตำข้าวไว้กลางอก
ไม่รู้เลยว่ากำลังเป็นทุกข์อยู่เพราะภาระการแบกหาม
เพราะตอนนั้นกำลังหลง มีแต่เราเก่ง เราถูก ฯลฯ

แม่บ้านผมก็บอกว่า ลำพังความเห็นเกิดขึ้นนั้นยังไม่ทุกข์หรอก
จิตต้องเคลื่อนเข้าไปยึดความเห็นก่อน จึงจะเกิดทุกข์

และเจ้าความทุกข์นั้น ก็เป็นสิ่งที่เกิดๆ ดับๆ ต่อเนื่องกันไป
ใหญ่บ้างเล็กบ้างไปตามกำลังความยึดมั่น
ถ้าเฝ้ารู้อยู่ตรงนี้ ก็มีงานกรรมฐานให้ทำได้ทั้งวันทีเดียว

ผมก็เล่าต่อว่า สักกายทิฏฐิ ก็คือความเห็นเหมือนกัน
เมื่อปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง สักกายทิฏฐิจะไม่เกิดขึ้นอีก
แต่ทิฏฐิอื่นๆ ก็ยังเกิดขึ้นตลอดไป
แม้พระอริยบุคคลชั้นสูง ท่านก็ยังมีทิฏฐิคือความเห็นเกิดขึ้นเสมอ
เพียงแต่ท่านไม่ยึดถือในความเห็นนั้นเท่านั้น
เมื่อไม่ยึดทิฏฐิ ก็ไม่ทุกข์เพราะทิฏฐิ
เหมือนที่ขันธ์ก็มีอยู่ แต่เมื่อไม่ยึดขันธ์ ก็ไม่ทุกข์เพราะขันธ์

เมื่อเช้าคุยกันเท่านี้ เพราะขับรถถึงที่ทำงานเสียก่อน
แล้วต่างคนต่างก็แยกย้ายกันไปทำงาน

*************************************

ปกติเมื่อพูดถึงคำว่า ทิฏฐิ
ในตำรามักจะหมายถึง มิจฉาทิฏฐิ หรือความเห็นผิด เท่านั้น

ไม่ได้แปลว่า ความเห็น ที่ครอบคลุมถึงความเห็นในทุกๆ เรื่อง
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คนเราฆ่ากันได้เพราะขัดแย้งในเรื่องทิฏฐิทุกๆ เรื่อง
เช่นสามีอยากจะไปตีเทนนิส ภรรยาอยากจะไปตีแบดมินตัน
แต่ลงท้ายทั้งสองคนก็ตีกันเอง เพราะมีความเห็นขัดแย้งกัน
แล้วต่างคนต่างก็ยืดหยัดยึดมั่นในความเห็นของตน

เพื่อนบางท่านอาจจะงงๆ ว่าถ้าเราไม่มีความเห็นเสียเลย จะดีหรือ
ขอเรียนว่า จิตเขาย่อมมีความคิดและความเห็นเกิดขึ้นได้เสมอ
ไม่ใช่จะห้ามไม่ให้ผู้ปฏิบัติมีความคิดและความเห็น
เพียงแต่อย่าไปยึดมั่นในความเห็นของตนมากนัก เพราะตนเองจะเป็นทุกข์เอง

บางท่านอาจจะคิดต่อไปว่า ถ้าไม่ให้ยึดมั่นในความเห็น
ก็แสดงว่าชาวพุทธต้องไม่มีอุดมการณ์
เพราะอุดมการณ์คือความเห็นว่าสิ่งนี้ดี สมควรทำ หรือสมควรไปให้ถึง
ในจุดนี้ขอเรียนว่า ชาวพุทธมีอุดมการณ์ได้
หากพิจารณาโดยถ่องแท้ด้วยเหตุผลแล้ว
เห็นว่าสิ่งนี้ควรทำเพราะเป็นประโยชน์ต่อตน และ/หรือ ผู้อื่น

แต่ในการทำนั้น ก็ไม่ได้ยึดมั่นในอุดมการณ์จนลืมศีล 5
หรือถึงขั้นเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
และหากทำไปเต็มที่แล้ว ได้ผลเพียงใดก็ยอมรับเพียงนั้น
ไม่ทุกข์ร้อนเพราะแรงยึดมั่นในอุดมการณ์

เมื่อพูดถึงความยึดมั่นในความเห็นแล้ว
ก็ขอแจกแจงถึงความยึดมั่นทั้ง 4 ประการเสียเลย
ตัวอุปาทานนั้น พระศาสดาทรงแจกแจงไว้ 4 ประการคือ
กามุปาทาน คือความยึดมั่นในกาม
ทิฏฐุปาทาน คือความยึดมั่นในความเห็น
สีลัพพตุปาทาน คือความยึดมั่นในศีลพรต
อัตตวาทุปาทาน คือความยึดมั่นในวาทะว่าเป็นตัวตน
เราจะเห็นว่า ทั้ง 4 ประการนี้ครอบคลุมสิ่งที่คนเรายึดมั่นไว้หมดแล้ว

ทีนี้ตำรารุ่นหลังท่านก็มาอธิบายต่อว่า
พระโสดาบัน ละ ทิฏฐุปาทานได้  เพราะไม่มีความเห็นผิดอีกแล้ว
ละ สีลัพพตุปาทาน คือความยึดมั่นในการถือศีลบำเพ็ญพรตอย่างผิดๆ
และละ อัตตวาทุปาทาน คือการมีวาทะ(ทัศนะ)ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวตน
ส่วนกามนั้น ใครๆ ก็ทราบว่า พระอนาคามีท่านละกามได้
แต่ถ้าระบุว่า พระอนาคามีท่านละ กามุปาทาน ได้
แล้วจะเหลืออุปาทานอะไรให้ผู้เจริญอรหัตตมรรค ละกัน

ตำราก็เลยตีความใหม่ว่า กามุปาทาน ไม่ได้หมายถึงกามราคะเท่านั้น
แต่รวมถึงรูปราคะ และอรูปราคะเข้าไปด้วย
ดังนั้น พระอนาคามี ก็ยังมี กามุปาทาน ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์จึงละได้

ตำรารุ่นหลังเกิดจากการตีความของนักปราชญ์นั่นแหละครับ
เราควรรับฟังไว้ประกอบความรู้
แต่ในส่วนของผมเองแล้ว กลับเห็น(ความเห็นส่วนตัวนะครับ)ว่า
ท่านผู้เจริญอรหัตมรรค ท่านยังมีอุปาทานหลายอย่าง
จะเรียกว่าอุปาทานชนิดไหนก็แล้วแต่เถิด
แต่ไม่ใช่มีอุปาทานเฉพาะ กามุปาทาน แน่ๆ
เว้นแต่จะขยายการตีความคำว่า กามุปาทาน ออกไปให้กว้างสุดขีด

เช่นท่านยังยึดในความสุขสงบ ด้วยอำนาจกระตุ้นของรูปราคะและอรูปราคะ
ท่านยังยึดในความเห็นในทางดี ด้วยอำนาจกระตุ้นของอุทธัจจะ
เช่นเห็นว่า การทำทาน รักษาศีลเจริญภาวนา เป็นสิ่งที่ดี
หรือนิพพานเป็นของดีที่จะต้องพยายามไปให้ถึง
ที่สำคัญคือ ท่านยังยึดถือจิต ด้วยอำนาจกระตุ้นของมานะและอวิชชา
และจะต้องพยายามทำจิตให้หลุดพ้นให้ได้

ถ้าเอาของจริงๆ มาพูดกันก็มีปัญหาน้อยครับ
แต่ถ้ากางตำราเถียงกัน ก็อดมีความยึดในทิฏฐิ ไม่ได้หรอกครับ
พอยึดแล้วก็จะร้อน และเกิดก้อนแน่นๆ ที่หน้าอก
หาความสบายใดๆ ไม่ได้เลย

************************************************

24
(ต่อ)

ถาม  : การนั่งเคาะนิ้วเป็นการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติหรือเปล่าครับ   ผมมองเห็นเจตนาที่จะเคาะนิ้ว

ตอบ : เมื่อคุณหมอเคาะนิ้ว แล้วเห็นเจตนาที่จะเคาะนิ้ว
ก็นับว่าการเคาะนิ้วของคุณหมอประสบความสำเร็จแล้ว
เพราะเราเคาะ ไม่ใช่เพื่อเคาะ แต่เพื่อจะกระตุ้นตนเองให้ไม่เผลอ และรู้ทันจิต
เคาะไปเรื่อยๆ หากกุศลหรืออกุศลใดเกิดขึ้นกับจิต ก็รู้ต่อไปครับ
แต่ถ้าเคาะแล้วเผลอ อันนั้นแสดงว่าผิดวัตถุประสงค์แล้วครับ

การเคาะนิ้ว ไม่ใช่การเคลื่อนไหวตามธรรมชาติเหมือนการหายใจเข้าออกตามธรรมดา
แต่เป็นการจงใจสร้างขึ้น เหมือนการ"กำหนด"ลมหายใจ เหมือนการเดินจงกรม
เหมือนการบริกรรมพุทโธ และการทำสมถะอื่นๆ นั่นเอง
เราทำไปเพื่อเพิ่มพลังของสติ
จะได้มีสติว่องไวละเอียดอ่อนเพื่อใช้งานวิปัสสนาต่อไปครับ
การที่คุณหมอเห็นนามธรรมคือเจตนาเกิดแล้วดับไปนั่นแหละครับ คือการเจริญปัญญา

25
(ต่อ)

4 การพิจารณากายอย่างเป็นวิปัสสนา

ว่าจะพูดเรื่องการพิจารณากายอย่างเป็นวิปัสสนา แต่กลับนอกเรื่องไปไกล
ขอกลับเข้าเรื่องเลยก็แล้วกันครับ
คือเมื่อเรามีความรู้ตัว มีสติสัมปัญญะอยู่นั้น
เพียงแค่ขยับกาย สติก็จะรู้การไหวของกาย
(ไม่ต้องแขวนป้ายว่าไหวด้วยธาตุลมนะครับ
แล้วไม่ต้องพากย์แบบพากย์มวยด้วย ว่าไหวๆ หรือไหวหนอ
แต่ถ้าจิตจะพากย์เอง ก็เป็นเรื่องของจิตเขา)

พอก้าวเท้าเดิน ก็จะรู้ชัด รู้อย่างสบายๆ ถึงการเดิน
พอเท้ากระทบพื้น จะรู้ถึงความเย็นร้อนอ่อนแข็งของพื้น
หรือรู้ที่ความหยุ่นของเท้าเมื่อแรกกระทบพื้น
พอลงน้ำหนักต่อไป ส่วนแข็งในเท้าก็จะกระทบพื้น
แล้วหยุดอยู่เพียงนั้น ไม่ยุบตัวต่อไป
จิตก็เพียงแต่สักว่ารู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้  (ไม่ต้องแขวนป้ายว่า กายเป็นสักแต่ว่าธาตุดิน)
และประจักษ์ชัดขึ้นมาเองถึงการที่กายเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ เป็นของภายนอก
เป็นเพียงคูหาให้จิตอาศัย
กายนี้เองมีความเปลี่ยนแปรตลอดเวลา มันตายไปทีละขณะๆ
จิตใจก็ค่อยๆ ถอดถอนความยึดถือว่ากายเป็นของเราออกทีละน้อยๆ

ขอย้ำว่าทั้งหมดนี้ เราปฏิบัติด้วยการทำความรู้ตัวไว้เท่านั้น
รู้ตัวไม่เผลอ ไม่เพ่ง แล้วเคลื่อนไหวกายไปตามธรรมชาติธรรมดา
สติปัญญา หรือสติสัมปชัญญะ ก็จะทำงานเองเป็นอัตโนมัติ
ค่อยๆ ถอดถอนความเห็นผิดออกจากจิตใจเองทีละน้อ


หรืออย่างเราทำกายคตาสติ ด้วยการรู้ลมหายใจ
ก็จะเห็นร่างกายไหวไป ยุบพองไปเรื่อยๆ จิตเป็นคนรู้ เป็นคนดูเท่านั้น
ถ้ารู้โดยไม่เผลอ และไม่เพ่ง
ไม่ต้องกลัวจะไม่มีปัญญาหรอกครับ
เพราะปัญญามันเกิดได้ด้วยการที่เฝ้ารู้สิ่งที่กำลังปรากฏเท่านี้เอง

การพิจารณากายยังมีอีกหลายรูปแบบ ตามกายคตาสติสูตร
จะทำแบบไหนก็ได้ทั้งสิ้น ขอเพียงให้ รู้ ไม่เผลอ ไม่เพ่ง เท่านั้นแหละครับ
แม้กรรมฐานอื่นๆ เช่นการรู้เวทนา การรู้จิต การรู้ธรรม
ก็อยู่ในหลักอันเดียวกัน คือให้รู้ปัจจุบันอารมณ์ โดยไม่เผลอ ไม่เพ่ง


***********************************

5. ของฝากจากครูบาอาจารย์

กระทู้นี้ขออัญเชิญคำสอนของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย มาให้อ่านกัน
ท่านเคยสอนไว้ชัดเจนว่า
สมถะ เกิดเมื่อหมดความตั้งใจ
วิปัสสนา เกิดเมื่อหมดความคิด
คือให้จิตรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เท่านี้เองครับ

***********************************

ข้อสังเกต

1 บางท่านไม่สนใจสัมมาสมาธิ เพราะเห็นว่าองค์ธรรมของสมาธิคือ เอกัคคตา
ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วกับจิตทุกดวง (เป็นหนึ่งใน 7 ของสัพพจิตสาธารณเจตสิก)
ความจริงเอกัคคตาตามธรรมชาติ ยังมีคุณภาพต่ำ มีกระทั่งในสัตว์ในอบายภูมิ
เป็นคนละเรื่อง คนละคุณภาพกับเอกัคคตาในองค์ฌานของสัมมาสมาธิ
หากเป็นสิ่งเดียวกันหรือมีคุณภาพเสมอกัน
พระศาสดาย่อมไม่ต้องทรงสอนถึงสัมมาสมาธิแต่อย่างใด

2 ตำราชั้นหลังถือว่าสติเป็นเจตสิกฝ่ายกุศลเท่านั้น
คือเป็นความระลึกที่ดี เช่นระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย
และไม่ยอมรับว่าพระศาสนาทรงสอนถึงมิจฉาสติเอาไว้ด้วย
ผู้ศึกษาบางคนเชื่อตำราชั้นหลัง
ถึงขนาดกล่าวว่า ในพระไตรปิฎกไม่มีคำว่ามิจฉาสติ
*****************************************

(มีต่อ)


26
เขียนไว้เมื่อ วัน จันทร์ ที่ 9 ตุลาคม 2543 08:23:42

1 พุทโธ เพื่อสิ่งใด

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ และศิษย์ส่วนมากของท่าน
ปฏิบัติธรรมด้วยการพิจารณากาย
(มีเพียงส่วนน้อย เช่นหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่ปฏิบัติตัดตรงเข้าสู่จิต)
แต่ก่อนจะพิจารณากาย ท่านให้ทำจิตให้สงบเสียก่อน
ด้วยการบริกรรมพุทโธเป็นหลัก
แต่ศิษย์ของท่านบางองค์ กำหนดลมหายใจควบเข้าไปด้วย
มีบางองค์เท่านั้น ที่ใช้กรรมฐานพิเศษออกไปตามจริตนิสัย
เช่นหลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านเจริญเมตตาเพราะมีปกติเจ้าโทสะ

การบริกรรมพุทโธ ไม่ได้บริกรรมปาวๆ เหมือนนกแก้วนกขุนทอง
แต่ท่านให้บริกรรมเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
พระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ที่อื่นไกล แต่อยู่ในจิตใจของเรานี่เอง
การบริกรรมพุทโธ จึงเป็นเครื่องน้อมจิตให้สงบ
แล้วเข้ามาทำความรู้จักกับ จิตผู้รู้พุทโธ


ครูบาอาจารย์บางองค์เช่นหลวงปู่บุญจันทร์ ถาวโร
เคยแนะนำให้บริกรรมว่า "พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ"
คือให้บริกรรมจนพบผู้บริกรรมว่าพุทโธ
ซึ่งจะพบไม่ยากเลย หากตระหนักชัดว่า
คำว่าพุทโธ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ จิตนั้นแหละ เป็นผู้คิดคำว่า พุทโธ
และเมื่อมีจิตผู้รู้แล้ว คราวนี้จึงพร้อมที่จะพิจารณากาย

***********************************

2 กายคตาสติ เป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา

เมื่อพูดถึงการพิจารณากาย หรือกายคตาสติ
ตำราชั้นหลังจะถือว่าเป็นเพียงการทำสมถะเท่านั้น
ทั้งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงชัดว่า
กายคตาสตินำผู้ปฏิบัติให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้
ทั้งยังมีพยานบุคคล ที่บรรลุพระอรหันต์ด้วยการเจริญกายคตาสติ
ได้แก่ท่านพระมหากัสสปเถระ และท่านพระอานนทเถระ เป็นต้น

อันที่จริงการพิจารณากายจะทำให้เป็นสมถะก็ได้ ทำให้เป็นวิปัสสนาก็ได้
หากพิจารณาด้วยการคิดเอา ว่ากายแต่ละส่วนนี้มีรูปพรรณสัณฐานอย่างนี้ๆ
มีสี มีกลิ่น มีความสกปรก ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้ๆ
หรือบางท่านเมื่อพิจารณาแล้ว ก็เกิดนิมิต เห็นตนเองเป็นศพเน่าสลายไป
การคิดพิจารณาอย่างนี้ยังเป็นสมถกรรมฐาน เพราะยังอาศัยความคิด อาศัยนิมิต
ไม่มีตัวจริงของจริงเป็นหลักฐานรองรับการพิจารณา

แต่การคิดก็เป็นประโยชน์อยู่เหมือนกัน
สำหรับแก้ความเกียจคร้านในการเจริญปัญญา
เนื่องจากบางท่านบริกรรมพุทโธแล้ว เข้าไปติดความสงบอยู่
ยังไม่สามารถแยกเอาจิตผู้รู้พุทโธออกมาได้
ครูบาอาจารย์ก็จะออกอุบายไม่ให้จิตสงบอยู่เฉยๆ แต่ให้หัดพิจารณาไว้
ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการคิดพิจารณากายก็คือ
เป็นเครื่องข่มราคะโดยตรง เหมาะกับพระหนุ่มๆ จะได้ไม่สึกตามสาวไปเสียก่อน

บางท่านเห็นว่าการพิจารณากายจะเป็นสมถะ
ถ้าคิดว่ากายส่วนนี้คือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
แต่ถ้าคิดว่า นี้เป็นเพียงรูป ไม่ใช่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
มีความแค่นแข็งเป็นธาตุดิน มีความไหวเป็นธาตุลม
มีความเกาะเกี่ยวคงรูปร่างอยู่ด้วยธาตุน้ำ และมีความอบอุ่นด้วยธาตุไฟ
การคิดพิจารณาอย่างนี้ก็ยังไม่ใช่วิปัสสนาอยู่นั่นเองถ้าจิตไม่พร้อมจริง
เพราะเป็นแค่การเปลี่ยนชื่อเรียกหา จาก ผม เป็น รูป เท่านั้น
แล้วก็ยังเป็นการคิด ไม่ใช่การรู้

ส่วนการพิจารณากายที่เป็นวิปัสสนานั้น จะทำได้เมื่อรู้จักจิตผู้รู้แล้ว
เพราะเมื่อผู้ปฏิบัติมีจิตผู้รู้ ก็จะมีองค์ธรรมสำคัญ 3 ประการสำหรับเจริญวิปัสสนา
คือสัมมาสมาธิ สัมมาสติ และสัมมาทิฏฐิ
หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า สมาธิ สติ และสัมปชัญญะ นั่นเอง

***********************************

3 หลักของวิปัสสนา

การที่จิตตั้งมั่นทรงตัวเป็นหนึ่ง หรือเป็นธรรมเอก
โดยไม่ต้องบังคับ (ไม่เพ่ง)
และไม่กวัดแกว่งส่งส่ายออกไปตามสิ่งเร้า(ไม่เผลอ)
ไม่ถูกนิวรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโมหะครอบงำ
สภาพความตั้งมั่นเช่นนี้แหละคือสัมมาสมาธิ
ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเจริญวิปัสสนา

เพราะในสภาพนั้น หากสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏขึ้นให้จิตรู้
จิตจะรู้ได้อย่างว่องไว และชัดเจนที่สุด
เพราะมันเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเพิ่มขึ้นจากภาวะของจิตปกติ
ที่ทรงตัวตั้งมั่น และรู้อยู่
เมื่อสติรู้สิ่งที่กำลังปรากฏแล้ว จิตที่ตั้งมั่นไม่หลงไม่เผลอนั้น
ก็จะทำงานวิจัยสภาวธรรมที่กำลังปรากฏนั้น
(เรียกว่าธรรมวิจัย หรือปัญญา หรือสัมปชัญญะ หรือสัมมาทิฏฐิ)
คือรู้ว่า สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น แล้วสิ่งนั้นมีบทบาทอย่างใด แล้วสิ่งนั้นก็ดับไป

ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอมซ้ำๆ หน้ากันบ่อยๆ
จิตจะเริ่มสาวถึงเหตุที่ทำให้สิ่งนั้นเกิด
และเหตุที่ทำให้สิ่งนั้นดับไปได้เอง

ตัวอย่างเช่น ในขณะที่ทำความรู้ตัวอยู่นั้น
จู่ๆ ก็พบว่ามีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นมา
(ซึ่งพอดูอาการมันแล้วสามารถเรียกชื่อในภายหลังได้ว่าราคะ)
ก็จะเห็นสภาวะของราคะที่เกิดขึ้นนั้น เห็นอาการที่มันล่อลวงให้จิตหลง
เห็นอาการที่จิตหลงบ้าง ไม่หลงบ้าง แล้วแต่ความฉลาดของจิต
และเห็นว่า ในที่สุดมันก็ดับไป

พอเห็นมันเกิดดับหลายคราวเข้า ต่อมาก็จะเกิดความเข้าใจราคะมากขึ้น
รู้ว่าถ้าตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง .. ใจคิดนึกไปในสิ่งที่พอใจ
จะทำให้ราคะเกิดขึ้นได้ง่าย เป็นต้น

สัมมาสมาธิ หรือการมีจิตผู้รู้ หรือการมีธรรมเอก หรือเอโกทิภาวะ
เหมือนกับการเก็บกวาดโต๊ะทำงานจนเกลี้ยงเกลา
มันเกื้อกูลให้สติสัมปชัญญะทำงานได้อย่างเต็มที่
คือพอมีอะไรตกแว้บลงบนโต๊ะ
แม้แต่ชิ้นเล็กๆ ก็รู้ทันทีด้วยอำนาจของสัมมาสติ
แล้วสัมปชัญญะหรือปัญญา หรือสัมมาทิฏฐิ
ก็จะวิจัยเองว่า สิ่งนี้คืออะไร มาได้อย่างไร
มาแล้วมีผลอย่างไรกับโต๊ะ(จิต)
แต่ทั้งหมดนี้ เป็นกระบวนการที่จิตดำเนินไปเองนะครับ
เราเพียงแต่ทำความรู้ตัวไว้ ไม่เผลอ ไม่เพ่ง

อนึ่ง คำว่า รู้ ก็คือรู้จริงๆ ไม่ใช่คิดๆ เอา
โดยไม่มีพยานของจริงมารองรับการคิดนั้น

เช่นจะรู้กาย ก็ต้องรู้ที่กายจริงๆ เช่นเท้ากระทบพื้นจริงๆ
ไม่ใช่ไปสร้างภาพนิมิตว่าเราเดินจงกรมเอา


หรือจะรู้เวทนา ก็ต้องรู้เวทนาจริงๆ ที่กำลังปรากฏกับกายหรือจิตในขณะนั้น
เช่นถ้าจิตกำลังเป็นทุกข์ ก็รู้ความทุกข์นั้นไป
ไม่ต้องไปนั่งคิดว่า ความสุขเป็นอย่างไรหนอ

หรือจะดูจิต ก็ต้องรู้สภาวธรรมที่ปรากฏในจิตจริงๆ
เช่นรู้ความโกรธที่กำลังพุ่งขึ้นมา
ไม่ใช่หายโกรธไป 8 ปีแล้ว กลับมานั่งนึกว่า ความโกรธเป็นอย่างไร

หรือจะพิจารณาธรรม ก็ให้เห็นการเกิดขึ้นของนิวรณ์ หรือตัณหา หรือโพชฌงค์ ฯลฯ
คือรู้ถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ
ไม่ใช่ไปนั่งนึกเอาว่า ตัณหาเป็นแรงผลักดันอย่างไรหนอ

เหมือนที่ผมแนะนำหมู่เพื่อนที่มาถามธรรมกับผมว่า
ให้รู้ ความสงสัย ที่กำลังมีอยู่ในจิตในตอนนี้
หรือให้รู้ ความอยากถาม ที่กำลังปรากฏในจิตขณะนี้
เราจะทำวิปัสสนา ต้องทำตอนที่มีของจริงปรากฏให้เห็นครับ
มิฉะนั้น จิตจะไม่เห็นของจริง แล้วไม่ยอมรับความจริง
จะไปคิดหลอกจิตเอาตามใจชอบไม่ได้
เพราะผู้ปฏิบัติเองนั่นแหละ จะถูกกิเลสหลอกเอา


และเมื่อจิตรู้สภาวธรรมอย่างเป็นปัจจุบันไปเรื่อยๆ
จิตก็จะเกิดปัญญาปล่อยวางอารมณ์ภายนอกเข้ามาเป็นลำดับ
จนเข้ามาหยุดอยู่ที่จิตเอง
ตรงจุดนี้ จิตมีความตั้งมั่นอย่างสมบูรณ์
เพราะสิ่งเร้าภายนอกไม่อาจหลอกล่อให้จิตกวัดแกว่งออกไปได้
สติ ก็กำหนดรู้อยู่ที่จิต ซึ่งสงบ ว่าง
สัมปชัญญะ ก็พิจารณา(ด้วยการรู้) อยู่ที่จิต
กล่าวง่ายๆ ก็คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ประชุมลงที่จิต
หากมีกำลังพอ จิตก็อาจจะปฏิวัติตนเองไปสู่มรรคผลต่อไป


***********************************

(มีต่อ)

27
เขียนไว้เมื่อ วัน พุธ ที่ 21 มิถุนายน 2543 11:25:23

ถ้าเราศึกษาประวัติของพระมหาเถระในอดีต หรือครูบาอาจารย์ในยุคปัจจุบัน
จะพบว่าบางท่านจะมีสหธรรมิกที่สนิทสนมคุ้นเคยเป็นพิเศษ
เช่นท่านพระสารีบุตร จะเป็นเพื่อนสนิทกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ
และเมื่อทั้งสองท่านต่างมีภารกิจมากขึ้น มีโอกาสสนทนากันเองน้อยลง
ท่านพระสารีบุตรก็มีท่านพระมหาโกฏฐิตะ เป็นคู่สนทนาอยู่บ่อยครั้ง

ในยุคสมัยของเรานี้  ท่านพระอาจารย์มั่นกับท่านพระอาจารย์เสาร์
ท่านก็มีความใกล้ชิดต่อกันตราบจนมรณภาพ
หลวงปู่แหวนกับหลวงปู่ตื้อ หลวงปู่หลุยกับหลวงปู่ชอบ ฯลฯ
ก็เป็นตัวอย่างของเพื่อนสหธรรมิกที่เห็นได้ชัดเจน
ถึงผมเองก็มีพุทธินันท์ เป็นเพื่อนร่วมศึกษาธรรมมาด้วยกัน

นักปฏิบัติที่มีเพื่อนคู่ใจหรือเพื่อนสหธรรมิกก็มี ที่ปฏิบัติเดี่ยวๆ ก็มี
และที่ปฏิบัติพร้อมๆ กันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ก็มี
ซึ่งการปฏิบัติเป็นกลุ่มใหญ่
เหมาะสำหรับการศึกษาวิธีปฏิบัติในเบื้องต้นเท่านั้น
เมื่อทราบวิธีแล้ว ก็ต้องแยกย้ายกันไปปฏิบัติตามลำพัง
หรือแยกย้ายไปปฏิบัติเป็นกลุ่มย่อยๆ
จะเอาแต่นั่งรวมกลุ่มคุยธรรมะกันทั้งวัน แบบนั้นเห็นจะไปไม่รอด

ถึงพระมหาเถระในอดีต และในปัจจุบัน
ท่านก็ศึกษาธรรมจากพระศาสดาหรือครูบาอาจารย์ แล้วแยกย้ายกันปฏิบัติ
หากถูกอัธยาศัยกับใครเป็นพิเศษ ก็อาจจะไปหาที่ปฏิบัติร่วมกัน
หรือแยกย้ายกันปฏิบัติ แต่มาพบกันเป็นครั้งคราว
เพื่อตรวจสอบหรือปรึกษาหารือการปฏิบัติกัน
และเมื่อถึงเวลาอันสมควร ต่างองค์ก็กลับไปหาครูบาอาจารย์
แล้วจึงไปพบกันเป็นกลุ่มใหญ่ในสำนักของครูบาอาจารย์
ไม่ใช่ว่าไปปฏิบัติที่ไหนก็หอบหิ้วกันไปเป็นจำนวนมากๆ เป็นร้อยเป็นพันองค์
ทั้งนี้เพราะพระศาสดาไม่ประสงค์จะให้สาวกคลุกคลีกันอย่างนั้น

****************************************

การมีเพื่อนสหธรรมิก นับแต่ครูบาอาจารย์ลงมา
จนถึงเพื่อนที่ถูกใจกันในด้านการศึกษาและปฏิบัติธรรม
หรือเพื่อนที่ถูกอัธยาศัยกันเป็นส่วนตัว
ก็ยังจัดเป็นเพื่อนภายนอก
ไม่อาจจัดเป็นเพื่อนคู่ใจอย่างแท้จริงของนักปฏิบัติได้
เพราะถึงจะอยู่ใกล้ชิดกัน ก็อยู่ได้เพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น
แล้วต่างคนต่างก็ต้องแยกย้ายกันไป
เพื่อทำสงครามกับกิเลสตัณหาภายในจิตใจของตนเอง

การทำศึกกับกิเลสตัณหาเป็นกิจเฉพาะบุคคล
ประเภทตัวใครตัวคนนั้น ช่วยกันไม่ได้
ข้าศึกคือกิเลสตัณหา ก็กล้าหาญชาญชัยเสียเหลือเกิน
มีอุบายพลิกแพลงเข้าโจมตีผู้ปฏิบัติอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งกลางวันกลางคืน
ด้วยสงครามร้อนบ้าง สงครามเย็นบ้าง
เข้ามาทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ... ทางใจบ้าง
ในยามที่ต่อสู้ในสงครามชนิดนี้ ผู้ปฏิบัติจะเหลือเพียงตัวคนเดียว
ทำนองเดียวกับที่พระศาสดาของเรา ทรงผจญมารตามลำพังพระองค์เอง
เพราะทวยเทพทั้งหลาย พากันหลบลี้หนีหน้าไปหมด
ถึงพวกเราเหล่าสาวกทั้งหลาย
ในยามที่จะปฏิบัติธรรม ก็ต้องต่อสู้ตามลำพังเช่นกัน
ครูบาอาจารย์ หรือเพื่อนสหธรรมิก ก็เข้าไปช่วยต่อสู้ด้วยไม่ได้

ในยามนี้แหละ เราจะรู้ว่า เพื่อนคู่ใจที่แท้จริงของเราคืออะไร

วันนี้เขียนเท่านี้ก่อนนะครับ
พวกเราใครมีเพื่อนคู่ใจแบบไหน
จะลองนำมาเล่าสู่กันฟังบ้างก็ดี
แต่ขอแบบประสบการณ์จริงๆ
ส่วนเพื่อนคู่ใจของผมก็มีเหมือนกัน
แต่จะเป็นเพื่อนคนเดียวกันหรือเปล่า ก็ยังไม่แน่ใจครับ

***********************************

เรามาคุยกันต่อเรื่องเพื่อนคู่ใจของนักปฏิบัติ

หลายท่านมาเล่าถึงเพื่อนคู่ใจอย่างน่าฟัง
เรื่องนี้ไ่ม่มีใครผิด เพราะเป็นคำตอบที่ถูกเฉพาะตัวทั้งสิ้น
และเพื่อนคู่ใจที่เล่ากันนั้น ก็มีทั้งเพื่อนดี
เช่นกาย ความว่าง สติสัมปชัญญะ
และเพื่อนชั่ว เช่นอวิชชา และกิเลสนานาชนิด
ช่างเหมือนชีวิตจริงภายนอกนี่ ที่เราก็มีทั้งเพื่อนดีและเพื่อนชั่ว

คนมีปัญญา ก็ย่อมได้ประโยชน์ทั้งจากเพื่อนดีและเพื่อนชั่ว
อย่างน้อยที่สุด การเห็นเพื่อนชั่วในจิตใจของเรา
ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตนเอง

สำหรับผมเอง โยนิโสมนสิการ คือเพื่อนคู่ใจในการปฏิบัติอย่างแท้จริง
ถ้าปราศจากโยนิโสมนสิการเสียอย่างเดียว
ผมจะไม่มีทางปฏิบัติมาถึงปัจจุบันนี้ได้เลย

แต่ก่อนจะเล่าถึงประสบการณ์จริง
ขออธิบายคำว่า โยนิโสมนสิการ ตามตำราเสียก่อน

โยนิโสมนสิการ
- การทำในใจโดยแยบคาย,
- กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย,
- การพิจารณาโดยแยบคาย คือพิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริง
โดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ
แยกแยะองค์ประกอบจนมองเห็นตัวสภาวะ
และความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
หรือตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีที่ชั่ว
ยังกุศลธรรมให้บังเกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ
ซึ่งจะมิให้เกิดอวิชชาและตัณหา,
- ความรู้จักคิด, คิดถูกวิธี
(จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระธรรมปิฎก)

********************************

คราวนี้ขอนำประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟัง
เกี่ยวกับการใช้โยนิโสมนสิการ
ทั้งที่ตอนนั้น ไม่ทราบหรอกว่า นั่นคือการใช้โยนิโสมนสิการ
 
ผมไปฟังธรรมครั้งแรกจากหลวงปู่ดูลย์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2525
ครั้งนั้นหลวงปู่สอนให้ดูจิตตนเอง
ตอนฟังก็คิดว่าเข้าใจ แต่พอลาท่านกลับกรุงเทพแล้ว
จึงรู้ว่าผมเองดูจิตไม่ได้หรอก เพราะยังไม่ทราบว่า
จิตเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน จะเอาอะไรไปดู

เมื่อไม่สามารถเรียนถามจากครูบาอาจารย์ อันเป็นยอดกัลยาณมิตรได้
ผมก็จำเป็นต้องพึ่งตนเอง โดยการพิจารณาอย่างแยบคาย
เพื่อทำความรู้จักจิต รู้จักที่อยู่ของจิต และพัฒนาเครื่องมือดูจิต
เริ่มแรกก็พิจารณาว่า จิตจะต้องอยู่ในขันธ์ 5 นี้เอง
จึงทำใจให้สบายๆ กำหนดสติตรวจสอบลงในร่างกายทีละส่วน
เมื่อไม่พบจิต ก็พิจารณาแยกแยะหาจิตในเวทนา สัญญา และสังขาร
ในที่สุดก็เข้าใจชัดว่า จิตเป็นธรรมชาติรู้  อะไรถูกรู้ อันนั้นไม่ใช่จิต
ตรงกับตำราที่ท่านกล่าวว่า
โยนิโสมนสิการ คือการพิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริง
โดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ
แยกแยะองค์ประกอบจนมองเห็นตัวสภาวะ
สิ่งที่ผมทำ คือการแยกแยะจนรู้สภาวะของขันธ์และจิต
แล้วทำให้รู้ถึงเหตุผล หรือความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับอารมณ์ทั้งปวง

ในช่วงแรกเริ่มปฏิบัตินั้น พบเห็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมากมาย
เช่นรู้ความไหวยิบยับขึ้นมาจากความว่างบ้าง
รู้ความไหวกลางอกเมื่อเวลาอายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอก
บางวันก็เกิดก้อนอัดแน่นขึ้นกลางอก
บางวันจิตก็ว่าง สว่าง เบา สบาย
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้น ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ
ในการพิจารณาว่า สิ่งนี้คืออะไร เกิดด้วยเหตุใด มีบทบาทอย่างไร
และเราควรกระทำต่อสิ่งนั้นอย่างไร

เพราะอยู่ไกลครูบาอาจารย์ และไม่มีเพื่อนภายนอกจะปรึกษาด้วยได้
ผมมีสิ่งเดียวเป็นเพื่อน คือโยนิโสมนสิการ
บางอย่างต้องพิจารณาโดยการเฝ้ารู้ ซ้ำแล้วซ้ำอีกนานนับเดือน
จนเข้าใจชัดและได้ข้อสรุปเกี่ยวกับสภาวะที่ปรากฏนั้น
การที่ต้องลูบคลำค้นคว้าแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยตนเองนั้นเอง
จึงพอจะได้ความรู้ความเข้าใจมาบอกกับหมู่เพื่อนในวันนี้
เพราะสิ่งใดที่ผู้อื่นผิด เกือบทั้งหมดนั้นผมเคยผิดมาก่อนแล้ว

โยนิโสมนสิการ เหมือนกับเสนาธิการใหญ่ของจิต
เป็นผู้เปิดเผยกลศึกของศัตรูร้ายคือกิเลสตัณหาอุปาทานทั้งปวง
เป็นผู้กำหนดกลศึกในการรับมือกับข้าศึกนั้นๆ
และเป็นผู้เลือกเฟ้น มอบหมายให้ขุนศึกฝ่ายธรรมะทั้งหลาย ทำงานในแต่ละช่วงจังหวะ
เช่นบางขณะก็เจริญศรัทธา บางขณะเร่งความเพียร
บางขณะเจริญสติ บางขณะเจริญสมาธิ และบางขณะเจริญปัญญา

กิเลสเป็นของเร็วและว่องไวยิ่งนัก
เวลาที่ผู้ปฏิบัติเผชิญหน้ากับมันนั้น
จะมัวเที่ยวถามครูบาอาจารย์ก็ไม่ทันแล้ว
อาศัยโยนิโสมนสิการนี้แหละ เป็นเพื่อนคู่ใจ
เพราะเป็นของทันกันกับกิเลสตัณหา

เพราะประจักษ์ชัดถึงคุณค่าของโยนิโสมนสิการนี้แหละ
ทำให้ผมซาบซึ้งใจอย่างยิ่งเมื่ออ่านคำสอนของพระศาสดา
ที่ท่านทรงสอนไว้อย่างชัดเจนว่า
กัลยาณมิตรหนึ่ง โยนิโสมนสิการหนึ่ง
คือบุพนิมิตหรือเครื่องหมายแรกแห่งการปรากฏของอริยมรรค

28
คุณสันตินันท์ อธิบายเสริมเมื่อ วัน จันทร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 09:12:14

ตั้งแต่หมอไพตั้งกระทู้มา มีกระทู้นี้แหละครับ ที่น่าสาธุการให้เป็นอย่างยิ่ง
เพราะสะท้อนให้เห็นความเข้าใจถึง รู้ ได้อย่างปราณีต
การที่ผู้มีความฟุ้งซ่านรุนแรงเป็นนิจ จะเข้าใจ รู้ ได้นั้น ไม่ใช่ง่ายเลย
เมื่อพากเพียรจนเข้าใจได้ในเบื้องต้นแล้ว ก็ควรสำรวมระวัง
เพื่อให้จิตพัฒนาเข้าถึง รู้ ได้อย่างแท้จริงต่อไป

คำสอนเรื่อง อเหตุกกิริยาจิต 3 ประการของหลวงปู่ดูลย์
คือปัญจทวาราวัชชนจิต มโนทวาราวัชชนจิต
และหสิตุปบาทจิต
เป็นคำสอนภาคปฏิบัติของการดูจิตที่ละเอียดลึกซึ้งที่สุด
โดยท่านได้ขอยืมศัพท์เหล่านี้มาจากตำราอภิธรรม
แต่การอธิบายความหมายของท่าน เป็นการอธิบายเชิงปฏิบัติ
ซึ่งไม่ตรงกับความหมายดั้งเดิมในตำราอภิธรรม

ผู้ที่จะศึกษาตามจึงควรจำแนกให้ออก
ถ้าจะฟังเอาเนื้อความของวิธีการปฏิบัติ ก็ให้เข้าใจอย่างหนึ่ง
ถ้าจะฟังในเชิงปริยัติ ก็ขอให้เข้าใจความหมายอีกอย่างหนึ่ง
หากนำมาปะปนกัน อาจจะเกิดความยุ่งยากและสับสนขึ้นได้
เช่นจะไปเปิดคำแปลของจิตแต่ละชนิดจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์
เพื่อจะทำความเข้าใจคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้จริง
หรือจะนำคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ไปพูดกับนักอภิธรรม
เขาก็จะไม่รู้เรื่อง เป็นต้น

ผมเคยฟังคำสอนเรื่องอเหตุกจิตจากหลวงปู่ดูลย์
ในการเข้าไปศึกษากับท่านครั้งที่สอง เมื่อราวช่วงพฤษภาคม 2525
ครั้งนั้นฟังแล้วยังจับต้นชนปลายไม่ถูก
เพราะท่านกล่าวถึงสิ่งที่ไม่เคยรู้เห็นสักอย่างเดียว
กลับมากรุงเทพแล้วก็ไปเปิดตำราอภิธรรมดู
ก็ยังไม่เห็นว่า เกี่ยวข้องอะไรกับการปฏิบัติ

ในตำราอภิธรรมอธิบายถึงอเหตุกกิริยาจิต ไว้ 3 ชนิด
ได้แก่ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจิตที่พิจารณาอารมณ์ทางทวารทางกายทั้ง 5
คือตา หู จมูก ลิ้น และกาย ทั้งอารมณ์ที่ดีและไม่ดี
เกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉยๆ
จิตดวงนี้ทำหน้าที่แค่เป็นการส่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่า
มีอารมณ์มากระทบทวารทางกายทวารใด
เพื่อที่จะได้เกิดวิญญาณจิตรับรู้อารมณ์ทางทวารนั้นๆ
คล้ายๆ กับเดิมเรานอนหลับอยู่ในบ้าน (ภวังค์)
พอมีเสียงกุกกักมาทำให้เราตื่นนอน
ตอนแรกยังจับไม่ได้ว่าเสียงนั้นดังขึ้นทางใดของบ้าน
ปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นแหละ จะเป็นผู้จำแนกว่า
เสียงมาทางประตูหรือหน้าต่าง หน้าบ้านหรือหลังบ้าน ชั้นบนหรือชั้นล่าง
เพื่อวิญญาณคือความรับรู้จะได้หยั่งรู้ได้ถูกทิศทางของเสียงนั้นต่อไป

ส่วน มโนทวาราวัชชนจิต มีความหมายคล้ายกัน แต่เกิดขึ้นทางใจ
เพื่อจะจำแนกอารมณ์ทางใจที่มากระทบนั้น ว่าดีหรือไม่ดี
แล้วส่งสัญญาณให้จิตเกิดกุศลหรืออกุศล หรือกิริยาจิต ต่อไป

สำหรับ หสิตุปบาทจิต อันเป็นอเหตุกกิริยาจิตดวงสุดท้ายนั้น
ตำราอภิธรรมระบุว่าเป็นจิตที่ทำให้เกิดการยิ้ม(ทางกาย)ของพระอรหันต์
เกิดขึ้นพร้อมกับความโสมนัส (สุขเวทนาทางใจ)
ผู้ที่อ่านมาถึงตรงนี้จะสรุปว่า พระอรหันต์ยิ้มได้เท่านั้น จะหัวเราะไม่ได้
ถ้าพระรูปใดหัวเราะ แสดงว่าไม่ใช่พระอรหันต์
ทั้งที่ความจริง จิตที่ทำให้พระอรหันต์หัวเราะยังมีอีก 4 ดวง
คือมหากิริยาจิตที่พร้อมด้วยความโสมนัส

สำหรับความหมายของ อเหตุกกิริยาจิต ของหลวงปู่ดูลย์นั้น
ท่านอธิบายความหมายต่างออกไปจากตำราเดิม
เป็นการยืมคำตามตำราเดิมมาใช้โดยอนุโลมเพื่ออธิบายแก่นักปฏิบัติเท่านั้น
คือท่านสอนถึงจิตที่ตื่นตัวขึ้นมารับรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง 5 + 1
และสอนว่า เมื่อรับรู้อารมณ์ทางทวารใดแล้ว
ให้มีสติรู้เท่าทันจิตของตนทันที
อย่าส่งจิตออกนอก คือปล่อยให้จิตเคลื่อนออกทางทวารทั้ง 6 โดยไม่รู้เท่าทัน

คำว่าดูจิตก็ดี คำว่าอย่าส่งจิตออกนอกก็ดี
เป็นเรื่องละเอียดอย่างถึงที่สุดทีเดียว
ไม่ใช่เรื่องหยาบๆ อย่างที่พวกเราเข้าใจกัน
ทั้งนี้เพราะผู้ปฏิบัตินั้น พอคิดที่จะปฏิบัติ
จิตก็เคลื่อนออกนอกแล้ว ด้วยความพอใจ/จงใจจะปฏิบัติ
และไม่รู้ทันว่ากำลังพอใจ/จงใจอยู่
เช่นพอคิดจะเดินจงกรม ก็ตั้งท่ากำหนดจิตให้สงบสำรวม
เพื่อจะรู้การเคลื่อนไหวของกาย
ถัดจากนั้นก็เพ่งกายไปเรื่อยๆ อันเป็นการทำสมถะ แต่คิดว่าทำวิปัสสนาอยู่

หรือพอเกิดความดำริที่จะดูจิต ก็เริ่มเพ่งเข้าไปที่จอภาพในใจของตน
ดูว่ามีสิ่งใดปรากฏอยู่บ้าง โดยคิดว่านั่นคือการดูจิต
ทั้งที่ความจริงแล้ว นั่นคือการส่งจิตออกนอกอย่างหนึ่งเหมือนกัน
คือไม่ได้ดูจิต แต่เที่ยวดูสิ่งอื่นๆ ถ้าจอภาพว่างๆ ก็สงสัยว่าควรจะดูอะไรดี
แล้วส่งจิตเที่ยวตรวจตราดูว่า จะมีอะไรให้ดูได้บ้าง

หลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนไว้อย่างชัดเจนในเรื่องอเหตุกจิตว่า
เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง .. ใจคิดนึกปรุงแต่ง
ให้รู้อารมณ์ที่มากระทบนั้นตามความเป็นจริงที่จิตจะรู้ได้
การกระทำใดๆ ที่เกินจากแว่บแรกที่รู้นั้น เป็นส่วนเกินทั้งสิ้น
อย่าหลงปล่อยให้จิตก่อเกิดพฤติกรรมใดๆ ไปตามความไม่รู้ได้
(หากจิตก่อพฤติกรรมใดๆ เช่นเพ่งเพื่อจะรู้ให้ชัดขึ้น
หรือพยายามประคองรักษาความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง ฯลฯ
ก็ให้รู้เท่าทันพฤติกรรมนั้นของจิต จิตก็จะกลับเข้าสู่ความเป็นกลางเอง)
จิตจะทรงสภาพเป็นผู้รู้ ที่สักว่ารู้อารมณ์ ด้วยความเป็นกลางจริงๆ

ในภาวะที่จิตรู้สักว่ารู้ คือไม่ส่งออกนอกไปวุ่นวายกับอารมณ์ต่างๆ นั้น
ในขณะนั้นเอง ปรมัตถธรรมของสิ่งที่มากระทบก็จะปรากฏอย่างชัดเจน
และปรมัตถธรรมเหล่านั้น ล้วนแต่ว่างเปล่าจากตัวตนและกิเลสตัณหาทั้งสิ้น
เช่นเมื่อตาเห็นรูป รูปจะมีสภาพของสีที่ตัดกันเท่านั้น
มีสภาพเป็นความว่างเปล่า ปราศจากตัวตนตามอำนาจของสมมุติบัญญัติ
และไม่ก่อน้ำหนักใดๆ ขึ้นมาแม้แต่น้อยนิด
ถึงจิตที่รู้รูปก็เป็นความว่างเปล่าเช่นกัน
ไม่มีตัวตนรูปร่าง น้ำหนัก หรือความเคลื่อนไหวภายในใดๆ ทั้งสิ้น
มีแต่ธรรมชาติที่รู้ ตื่น และเบิกบานอยู่ในตัวเองเท่านั้น


บางคนจิตเห็นปรมัตถธรรมคราวแรก
ก็ตัดกระแสเข้ามารู้จิตที่ปราศจากความปรุงแต่งได้แล้ว
บางคนเมื่อเห็นปรมัตถธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว
จิตยังสนใจปรมัตถธรรมนั้นอยู่ ก็ไม่อาจทวนกระแสเข้ามาถึงจิตได้
ต่อเมื่อฝึกมากเข้าจึงทวนกระแสเข้ามาถึงจิต เป็นจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งได้

จิตที่พ้นจากความปรุงแต่ง เป็นธรรมชาติธรรมดา เป็นตัวของตัวเองนี้แหละ
มันมีธรรมชาติที่เบิกบานอยู่ในตัวเอง
ที่หลวงปู่ดูลย์เรียกว่า หสิตุปบาทจิต หรือจิตยิ้ม (ไม่ใช่การยิ้มทางกาย)
ถ้าผู้ใดปฏิบัติจนถึงจุดนี้ก็จะเห็นนิพพาน
และเข้าใจชัดทีเดียวถึงพระพุทธวัจจนะที่ว่า
นิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง นิพพานเป็นบรมสุขอย่างยิ่ง


หากเป็นการเข้าถึงจิตที่รู้อารมณ์นิพพานคราวแรก
โลกก็สมมุติเรียกว่าพระโสดาบัน
พอรู้นิพพานอยู่ 2 - 3 ขณะแล้ว ความปรุงแต่งก็จะกลับเข้ามาปรุงแต่งจิตอีก
แต่ธรรมชาติของจิตที่เคยรู้นิพพานแล้ว จะต่างไปจากเดิม
เพราะจิตจะพ้นจาก สภาพคนหนา (ปุถุชน) อย่างเด็ดขาดแล้ว
กลายเป็นคนบาง คือไม่ถูกความเห็นผิดเข้าแทรกจิต
โลภะหยาบๆ ที่ประกอบด้วยความเห็นผิดก็จะหมดไป
เช่นความเห็นว่ามีตัวมีตนจะหมดไป

เมื่อรู้อารมณ์ที่มากระทบทางทวารทั้ง 6 ในแบบไม่สร้างภาระเพิ่มเติมมากเข้า
สติปัญญาก็จะกล้าแข็ง และรู้เท่าทันพฤติกรรมของจิตมากเข้า
การรู้ปรมัตถธรรม อย่างสักว่ารู้ ก็ยิ่งเป็นธรรมชาติมากขึ้นทุกที
ในที่สุดจิตก็หลุดพ้นจากการย้อม หรือปรุงแต่งของอารมณ์ทั้ง 6 ได้เด็ดขาด
คือเมื่อรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ก็เห็นความว่างจากตัวตน บุคคล สัตว์ เรา เขา
แม้จิตเองก็ว่างจากกิเลสตัณหา และความเป็นตัวตนแม้แต่น้อยหนึ่ง
เป็นสภาพจิตที่รู้ความว่างทางทวารทั้ง 6
กับความว่างของจักรวาล เป็นหนึ่งเดียวกัน
แล้วดำรงชีวิตอยู่ด้วยสันติสุขอันรุ่งเรืองจนสิ้นอายุขัย
พ้นความลำบากในเรื่องการครองขันธ์แต่เพียงเท่านี้


ธรรมที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนแต่ละประโยคนั้น
กว่าจะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง บางทีต้องใช้เวลาปฏิบัติถึง 10 - 20 ปีก็มี
นับว่าท่านเป็นครูที่ไม่เหมือนใคร
คือไม่แจกแจงรายละเอียด ไม่ช่วยลูกศิษย์ทำการบ้านหรือแบบฝึกหัด
เพียงแต่ชี้ทางเดินไว้ให้เห็นร่องรอยเพื่อเดินตามท่านไปเองเท่านั้น
ส่วนใครไม่เดิน ท่านก็ไม่ว่าอะไร
พอบอกทางแล้ว ท่านก็หยุด เงียบ
อยู่กับความว่างอันเป็นเครื่องอยู่ของท่านต่อไป

29
ตั้งกระทู้ โดย คุณไพ นำคำสอนหลวงปู่ดูลย์ จาก อตุโลไม่มีใดเทียม
เมื่อ วัน พฤหัสบดี ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2544 12:55:20

จากหนังสือ อตุโลไม่มีใดเทียม

  ในระหว่างการสนทนาระหว่างพระราชาคณะรูปหนึ่ง
กับหลวงปู่ดูลย์   ท่านเจ้าคุณรูปนั้นเอ่ยขึ้นตอนหนึ่งว่า
"เขาว่าคนที่สนใจเรียนคาถาอาคมอันศักดิ์สิทธิ์
สมัยก่อนเป็นยักษ์"
  หลวงปู่ลุกขึ้นนั่งทันที แล้วกล่าวว่า
" ผมไม่ได้สนใจในเรื่องเหล่านี้เลยท่านเจ้าคุณ
ท่านเจ้าคุณเองเคยศึกษาถึง ปัญจทวาราวัชชนจิตไหม"

  ปัญจทวาราวัชชนจิตนี้คือ  กิริยาจิตที่แฝงอยู่กับทวารทั้ง 5
ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นกิริยาจิตที่ทำหน้าที่
ประจำรูปกาย อาศัยอยู่ตามทวารทั้ง 5 เป็นทางที่
ติดต่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างจิตกับสิ่งภายนอก
หรืออารมณ์ภายนอก เป็นกิริยาจิตอยู่อย่างนั้น

  เป็นอยู่อย่างนั้น ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ให้เป็นไปไม่ได้
แต่อาจเป็นพาหะให้เกิดทุกข์ได้และที่น่าตื่นใจก็คือ
ให้กิริยาจิตเหล่านี้เป็นไปได้โดยประการที่ทุกข์จะ
เกิดขึ้นไม่ได้ก็ได้


  อันนี้แหละที่น่าสนใจ น่าสำเหนียกศึกษาที่สุด
ว่าทำอย่างไร เมื่อตาเห็นรูปแล้วรู้ว่าสวยงาม
หรือน่ารังเกียจอย่างไร แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้
เมื่อหูได้ยินเสียง รู้ว่าไพเราะ หรือน่ารำคาญอย่างไร
แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อลิ้นได้ลิ้มรส รู้ว่าอร่อย
หรือไม่อร่อย เปรี้ยวหวานมันเค็มอย่างไรแล้ว
ก็หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อจมูกได้กลิ่นหอมหรือเหม็น
อย่างไร แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อกายสัมผัส
โผฏฐัพพะ รู้ว่าอ่อนแข็งเป็นอย่างไร แล้วก็หยุด
เพียงเท่านี้


  ครั้นเมื่อศึกษาถึงขั้นนี้แล้ว ก็จะปรากฏเหตุอัน
น่าอัศจรรย์ที่เรียกว่า "หัสสิตุปปาทะ" คือ
กิริยาที่จิตยิ้มขึ้นมาเองโดยไม่มีต้นสายปลายเหตุ
หาสาเหตุที่มาไม่ไ
ด้
  อันหัสสิตุปปาทะ หรือ กิริยาที่จิตยิ้มเอง
ย่อมไม่ปรากฏมีในสามัญชนโดยทั่วไป
  ดังนั้น นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายควรกระทำไว้ในใจ
ในอันที่จะสำเหนียกศึกษา ทำความกระจ่างแจ้งใน
"อเหตุกจิต"อันนี้ เพื่อเป็นบรรทัดฐาน
ในการปฏิบัติ

  ต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า เมื่อปฏิบัติไปถึงลำดับนี้แล้ว
จิตจะเกิดยิ้มขึ้นมาเองไม่มีการกระทำ ไม่มีการบังคับ
ให้เกิดขึ้น ย่อมเป็นไปเองโดยไม่รู้ตัว


   อนึ่ง เมื่อปฏิบัติตามหลัก "จิตเห็นจิต"
อันมีการ "หยุดคิดหยุดนึก" เป็นลักษณะ
ถ้าใช้ปัญญาอันยิ่งสอดส่องสำรวจตรวจตราดู
ตามทวารทั้ง 5 เหล่านี้ เพื่อจะหาวิธีป้องกันจิต
จะแล่นไปหาเรื่องใส่ตัวในภายนอก ก็จะเห็นและ
เข้าใจได้ว่า เป็นธรรมดาอยู่เองที่คนเราใช้ทวาร
ทั้ง 5 เหล่านั้น กระทำการอันสัมพันธ์กับภายนอก

   เมื่อพิจารณาให้ถ้วนถี่ยิ่งขึ้น ก็จะได้อุบายอันแยบคาย
ว่าในขณะที่เกิดสัมพันธภาพกับภายนอก
จิตก็ควรจะกำหนดให้อยู่ในจิต
เมื่อเห็นก็กำหนดให้รู้เท่าทันการเห็น
แต่ไม่ถึงกับต้องรำพึงรำพันออกมาว่า เห็นแล้วนะ
เห็นแล้วหนออะไรหรอก เพราะขณะจิตหนึ่ง ๆ นั้น
ม้นไม่กินเวลาอะไร เมื่อรู้เท่าทันแล้ว ก็ไม่ต้อง
ไปรำพึงรำพันเป็นการปรุงแต่งเพิ่มเติมอีก


  ในการกำหนดให้รู้ให้เท่าทันนั้น อย่าได้ถูกลวง
ด้วยสัญญาแห่งภาษาคน ภาษาโลก ดังเช่นการรู้
เท่าทันคนที่จะมาหลอกลวงเรา เป็นต้น

  การรู้เท่าทันอารมณ์ในภาษาธรรมนั้น
หมายความว่า ความ "รู้" จะต้องทันกันกับการ
รับอารมณ์ของทวารทั้ง 5 เช่น ในขณะที่ตาเห็นรูป
จะต้องมีสติรู้อยู่อย่างเต็มที่สมบูรณ์ มีความรู้ตัวพร้อม
อยู่ตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องรู้อะไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกข์อันอาศัยปัจจัย คือ การเห็น
เป็นต้นนั้น ย่อมไม่เกิด และเราก็จะสามารถ
มองอะไรได้อย่างอิสระเสรี โดยที่รูปหรือสิ่งที่เรา
มองเห็นไม่อาจมีอิทธิพลอันไดเหนือเราได้เลย
แม้แต่น้อย


  ปัญจทวารวัชชนจิต หรือกิริยาจิตที่แล่นอยู่ตาม
ทวารทั้ง 5 ย่อมสัมพันธ์กับมโนทวาร ในมโนทวาร
นั้นมี มโนทวาราวัชชนจิต อันเป็นกิริยา
จิตที่แฝงอยู่ มีหน้าที่คิดนึกต่างๆสนองตอบอารมณ์
ที่มากระทบไปตามธรรมดา

  ดังนั้นในการปฏิบัติ จะให้หยุดคิดหยุดนึกทุกกรณี
ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ด้วยการอาศัยอุบายวิธีดังกล่าว
นี้แหละ เมื่อจิตตรึกความนึกคิดอันใดออกมา
ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ก็ทำความกำหนดรู้พร้อม
ให้เท่าทันกัน


  เช่นเดียวกัน เมื่อมีความรู้พร้อมทันๆกันกับ
การรับอารมณ์ ดังนี้แล้ว ปัญญาที่รู้เท่าเอาทัน
ย่อมตัดวัฏจักรให้ขาดออกจากกัน ไม่อาจสืบเนื่อง
หมุนเวียนต่อไปได้

  กล่าวคือ การก่อรูปก่อร่างต่อไปของจิตย่อมไม่
อาจเกิดขึ้นได้ และความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็มีอยู่เอง
โดยไม่ต้องมีการลวงๆว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรเลย
ความไม่ยึดมั่นนั้นก็เป็นแต่เพียงชื่อที่เรานำมาใข้
เรียกขานกันให้รู้เรื่อง เมื่อวัฏฏะมันขาดไปเท่านั้น


  โดยนัยอย่างนี้ จึงน่าจะศึกษาให้เข้าใจในอันที่
จะกำหนดรู้อย่างไรจึงจะถูกต้อง เมื่อจิตกระทบเข้ากับ
อารมณ์ภายนอกอย่างไร ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น
อย่าไปทะเลาะวิวาทโต้แย้ง  อย่าไปเอออวยเห็นดี
เห็นงามให้จิตได้โอกาสก่อรูปก่อร่างเป็นตุเป็นตะ
เป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวออกไป อย่าไปวิพากย์
วิจารณ์ต่อไป อย่าไปใส่ใจอีกต่อไป พอกันเพียง
รู้อารมณ์เท่านี้ หยุดกันเพียงเท่านี้"

30
คุณสันตินันท์ ได้ตอบความเห็นของ อ.สุรวัฒน์
เมื่อวัน พฤหัสบดี ที่ 3 สิงหาคม 2543 15:54:44

สาธุครับ คุณสุรวัฒน์ กล่าวธรรมได้ดีมากจริงๆ
การศึกษาพุทธธรรมเพื่อการปฏิบัตินั้น
จำเป็นต้องรู้อริยสัจจ์และกิจของอริยสัจจ์
เพราะสิ่งนี้แหละคือ สัมมาทิฏฐิ
ซึ่งต้องมีเป็นพื้นฐานเอาไว้ทีเดียว
เมื่อมีความรู้พื้นฐานแล้ว ก็ต้องหัดเจริญสติให้ถูกต้องต่อไป
จะเอาแต่อ่านและคิดไปเรื่อยๆ นั้น
ไม่สู้เป็นประโยชน์ต่อการพ้นทุกข์หรอกครับ

Pages: 1 [2] 3 4 ... 8