Show Posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Messages - หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

Pages: 1 2 [3] 4 5 ... 8
31
อ. สุรวัฒน์ ได้ให้ความเห็นในกระทู้นี้ เมื่อ วัน พฤหัสบดี ที่ 3 สิงหาคม 2543 13:04:19

ตราบใดที่ยังเฝ้าอ่าน ฟัง และคิดเอา เพื่อจะให้หายสงสัย
เราก็จะได้แต่ความรู้จอมปลอม เพราะแก้ทุกข์ไม่ได้
ความรู้แบบนี้ไม่มีอะไรที่น่ายึดน่าเอา
เพราะเป็นเพียงสิ่งสิ่งหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

หากแต่ว่าความรู้ที่ยังจำเป็นต้องมี  ควรเป็นความรู้ที่มีเพื่อ
ที่จะใช้เป็นเครื่องมือ สำหรับหาทางพ้นไปจากทุกข์เท่านั้น
แต่ไม่จำเป็นต้องมีอย่างชนิด เหลือใช้  เพราะเพียงมีความรู้ว่า
นี่ทุกข์
นี่เหตุให้เกิดทุกข์
นี่ความดับลงของทุกข์
นี่วิธีทำให้ทุกข์ดับลง
ทุกข์นี้ เราควรกำหนดรู้
เหตุให้เกิดทุกข์นี้ เราควรกำหนดละวางเสีย
ความดับลงของทุกข์นี้ เราควรทำให้แจ้ง
วิธีทำให้ทุกข์ดับลงนี้  เราควรเจริญยิ่งๆขึ้นไป
เท่านี้ก็เพียงพอสำหรับการปฏิบัติธรรมแล้วครับ

ที่กล่าวมานี้  ผมไม่ได้บอกให้หยุดให้เลิกอ่านหนังสือ
หรือเลิกฟังธรรมะ หรอกนะครับ  เพียงแค่จะบอกว่า
เมื่ออ่านเมื่อฟังธรรมะ  ก็ให้อ่าน ให้ฟัง ด้วยความรู้ตัว
ด้วยจิตที่เป็นกลาง  และที่สำคัญคือ
...อย่าอ่าน อย่าฟัง เพื่อให้หายสงสัย...
หากเกิดความสงสัย ก็ให้ดู ให้รู้ ความสงสัยนั้น
อย่างที่ครูเฝ้าตักเตือนอยู่เสมอๆ ครับ

32
เขียนไว้เมื่อ วัน พฤหัสบดี ที่ 3 สิงหาคม 2543 11:02:26

กระทู้นี้ มีแรงบันดาลใจเพราะอ่านกระทู้ของคุณธีรชัย
ที่คุณธีรชัยเล่าว่า ผมมักจะแนะนำผู้สงสัยและอยากจะถามปัญหา
ให้ย้อนกลับไปดูที่ความสงสัยของตนเอง
แทนที่จะขอฟังคำตอบจากผม
มิหนำซ้ำ ผมยังกล่าวบ่อยๆ ว่า ถึงถามไปจนถึงพรุ่งนี้
ก็ยังไม่หายสงสัยในแนวทางปฏิบัติ
เพราะพอได้คำตอบเรื่องหนึ่ง ก็จะคิด แล้วต้องการคำตอบเรื่องอื่นต่อไปเรื่อยๆ
เนื่องจากคำตอบที่ได้ทั้งหมดนั้น
ไม่ช่วยให้เกิดความเข้าใจในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงได้เลย

เราเข้าใจพระพุทธศาสนาไม่ได้ ด้วยการอ่านและการฟัง (สุตตมยปัญญา)
และเข้าใจไม่ได้ด้วยการคิดนึกตรึกตรอง (จินตามยปัญญา)
พระพุทธศาสนา เป็นความจริงที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์เดิมๆ ของเรา
จึงอยู่นอกขอบเขตที่จะคิดเข้าใจได้เอง
เพราะความคิดย่อมวนเวียนอยู่กับประสบการณ์เก่าๆ เท่านั้น
หรือฟังคนอื่น ก็ไม่ช่วยให้รู้จริงได้
เพราะเราจะตีความคำสอนทั้งปวงนั้น ไปตามประสบการณ์เก่าๆ เช่นกัน
ตรงนี้แหละที่ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวว่า
"ธรรมเมื่อเข้าไปประดิษฐานในใจของปุถุชน ก็กลายเป็นสัทธรรมปฏิรูป"
เพราะถูกเจือปนด้วยความคิดเห็นตามประสบการณ์ดั้งเดิมนั่นเอง

เราจะเข้าใจพระพุทธศาสนาได้ ก็ด้วยการภาวนา
คือการเจริญสติสัมปชัญญะให้ถูกต้องเท่านั้น

การเจริญสติสัมปชัญญะที่ถูกต้องนั้น
จะต้องรู้เท่าทันสภาวธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ด้วยจิตที่เป็นกลาง
ในทางอภิธรรมเขามีศัพท์เฉพาะว่า ให้รู้ปรมัตถ์ ไม่ใช่รู้บัญญัติ
ถ้าจะแปลเป็นภาษาคนธรรมดา ก็หมายความว่า
ให้ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ
ไม่ใช่ คิดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ

ผมเองในช่วงหลัง มีเวลาให้หมู่เพื่อนแต่ละท่านไม่มากนัก
เพราะเดือนหนึ่งผมไปศาลาลุงชินได้ครั้งเดียวเฉพาะวันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือน
จึงมีเวลาให้บางท่านเพียง 5 - 10 นาทีเท่านั้น
หากผมจะอนุโลมให้แต่ละท่าน ถามคำถามที่ต้องการเสียก่อนจนพอใจ
ก็จะกระทบไปถึงท่านผู้อื่นที่จะไม่มีโอกาสพูดคุยกันเลย

ผมจึงพยายามใช้เวลาที่มีน้อยนั้น ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในการแนะให้หมู่เพื่อนเจริญสติปัฏฐานให้ได้ในเวลาอันสั้นที่สุด
โดยแนะให้มีสติ รู้สภาวะที่กำลังปรากฏ
และมีสัมปชัญญะ รู้ตัวไม่เผลอ ไม่ว่าจะเผลอไปเลยหรือเผลอเพ่ง
โดยยกสภาวะที่กำลังปรากฏจริงๆ ในใจของแต่ละท่านมาเป็นอุปกรณ์ทางการศึกษา

สภาวธรรมที่เกิดกันมากของผู้แรกเข้าไปศึกษาก็คือ ความสงสัย
เพราะตอนที่พบผมนั้น มักจะพกความสงสัยมาอย่างเต็มเปี่ยม

พวกเราปัญญาชนพอสงสัยสิ่งใด ก็จะคิดหาคำตอบ (จินตามยปัญญา)
หรือถ้าคิดไม่ออก ก็อยากจะถาม เพื่อหาคำตอบ (สุตตมยปัญญา)
ซึ่งก็คือการวนเวียนอยู่กับวิธีการเรียนรู้แบบโบร่ำโบราณที่ฝึกมาตั้งแต่เด็กนั่นเอง
และถ้าคิดออก หรือผมตอบคำถามให้
สิ่งที่เพื่อนจะได้ก็คือ ความจำ ไม่ใช่ ความรู้จริง
แล้วก็ยังคงเจริญสติปัฏฐานไม่เป็นอยู่เหมือนเดิมนั่นเอง

ผมจึงแนะให้รู้เข้าไปที่ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
คือรู้เข้าไปตรงความรู้สึกสงสัยนั้นเลย
ตัวความรู้สึกสงสัย
นั้นแหละ คือสภาวะที่กำลังปรากฏ อันเป็นปรมัตถ์
ผมไม่ได้แนะนำให้สังเกต เรื่องที่สงสัย อันเป็นบัญญัติ

เมื่อรู้ปรมัตถ์ คือรู้เข้าไปที่ความรู้สึกสงสัยนั้น
จะพบว่า ระดับความสงสัยนั้นไม่คงที่ คือมันแสดงอนิจจังให้ดู
ดูไปสักพักมันก็ดับไป แสดงความทนอยู่ไม่ได้หรือทุกขังให้ดู
และความสงสัยนั้น มันเกิดจากเหตุ หมดเหตุมันก็ดับ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา
และมันเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้อยู่ต่อหน้าต่อตา ไม่ใช่ตัวเราสักหน่อยหนึ่ง
อันนี้มันแสดงถึงอนัตตา ให้ดู

การเห็นความเกิดดับของสภาวธรรม อย่างเป็นปัจจุบันนี้แหละ
คือการเจริญวิปัสสนา
แม้สภาวธรรมอย่างอื่นๆ ก็ให้รู้ไปอย่างเดียวกันนี้
การปฏิบัติ ไม่มีอะไรมากไปกว่า
การรู้ความเกิดดับของสภาวธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น
แล้วจิตจะก้าวไปสู่ความรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวของมันเอง

ถ้าเอาแต่สงสัย พอสงสัยแล้วก็อยากจะถาม
เมื่อผมแนะให้ดูความสงสัย หรือความอยากถาม ก็ไม่ยอมดู
จะขอถามเพื่อให้ได้ความรู้เสียก่อน
มิฉะนั้นจะเกิดความอึดอัดคับข้องใจ
(เมื่อเกิดความอึดอัดคับข้องใจ ผมก็แนะให้รู้ความอึดอัดคับข้องใจ
ที่ต้องสอนกันอย่างโหดเหี้ยมไม่ตามใจ ก็เพราะมีเวลาจำกัดครับ
เพราะผมแน่ใจอยู่แล้วว่า ถึงถามอย่างไรก็ไม่รู้จักแนวทางปฏิบัติจริงๆ
เนื่องจากไม่เห็นสภาวะจริงๆ ที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง)

ถึงตรงนี้ บางท่านจะงงๆ กลับไป
ส่วนมากจะไปซุ่มซ้อม เพื่อกลับมาถามใหม่
เว้นแต่ท่านที่พอสงสัยแล้ว รู้ เข้าไปที่ความสงสัยเลยทีเดียว
แบบนี้จะเข้าใจแนวทางเจริญสติในเวลาอันสั้น
เพราะรู้แล้วว่า สภาวธรรมที่ต้องรู้นั้นเป็นอย่างไร
จะรู้ได้อย่างไร และรู้แล้วเห็นไตรลักษณ์ได้อย่างไร

มาถึงข้อสรุปที่ว่า ดูความสงสัย แล้วจะหายสงสัยได้อย่างไร
ขอเรียนว่า ถ้ารู้สภาวะของความสงสัย อันเป็นความไหวลักษณะหนึ่งของจิต
ก็จะเห็นไตรลักษณ์
แต่อาจจะไม่รู้เห็น คำตอบ ในเรื่องที่อยากรู้

บรรดาคำตอบทั้งหลายนั้น ไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรกับการปฏิบัติหรอกครับ
มันมีประโยชน์แค่บรรเทาความอยากรู้ไปได้บ้าง เฉพาะเรื่องนั้น
แล้วก็เพิ่มความภูมิใจ ว่าเรานี้ช่างมีปัญญา มีความรอบรู้มากมาย
แต่ไม่ค่อยจะเห็นหรอกว่า เรากำลังขนขยะเข้าบ้าน กำลังเพิ่มงานของจิต

เราปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพื่อความฉลาดรอบรู้เหนือคนอื่น
แต่เพื่อปลดเปลื้องจิตใจออกจากภาระ อันเป็นกองทุกข์ทั้งปวงต่างหาก
ระหว่างคนที่ฉลาด รอบรู้มาก แต่คอยเพิ่มสิ่งปนเปื้อนให้จิต
กับคนที่รู้จักปลดเปลื้องจิตออกจากทุกข์ (แต่อาจไม่รู้อะไรมากไปกว่า เกิดกับดับ)
ใครจะฉลาดกว่าใคร ก็ไม่แน่เหมือนกันนะครับ

33
เขียนตอบไว้ในกระทู้  อย่าส่งจิตออกนอก คือ นอกอะไร เมื่อ วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 08:41:12

ถ้าจะให้เข้าใจคำสอนเรื่อง อย่าส่งจิตออกนอก อย่างง่ายๆ
ขั้นแรกควรเข้าใจเสียก่อนครับ ว่า ส่งจิตออกนอก เป็นอย่างไร

หากเฝ้าสังเกตอยู่ที่จิตใจตนเองให้สม่ำเสมอ
(ไม่ใช่เพ่ง / ควบคุม / บังคับ นะครับ)
จะเห็นว่า บ่อยครั้งมันเกิดความอยาก เป็นแรงขับ หรือผลักดันจิตใจ
ให้วิ่งออกไปจับ/ยึดอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
เช่นในขณะที่ตามองเห็นสาวสวย จิตจะเกิดราคะคือความรักใคร่ชอบใจรูปอันนั้น
แล้วจิตก็จะเกิดกระแสความอยากพุ่งขึ้นในอก
แล้วผลักดันจิตให้ "หลง" ทะยานออกไปทางตา
เพื่อดูสาวคนนั้นอย่างลืมตัวของตัวเอง
ตอนนั้นจิตตนเองมีราคะก็ไม่เห็น จิตมีความอยากดูอยากได้ก็ไม่เห็น
กระทั่งตัวเองนั่งอยู่ หรือยืนเดินอยู่ ก็ลืมหมด
เหมือนร่างกายตนเองหายไปจากโลก
อันนี้ก็เพราะส่งจิตออกนอก ทะยานไปหลงยึดอารมณ์ที่เห็นนั่นเอง

หรือบางทีไม่ได้รู้เห็นรูปหรือเสียงใดๆ
แต่นั่งอยู่เฉยๆ สัญญาคือความจำเรื่องสาวสวยที่เห็นเมื่อวานนี้ผุดขึ้น
ความคิดปรุงแต่งเรื่องสาวก็เกิดขึ้น
เช่นเธอเป็นใครที่ไหนหนอ ทำอย่างไรจะรู้จักและรักกันได้
ในขณะที่คิดนั้น จิตใจหลงเข้าไปอยู่ในโลกของความคิด
จิตถูกราคะครอบงำก็ไม่รู้
จิตทะยานอยากเข้าไปอยู่ในภพหรือโลกของความคิดก็ไม่รู้อีก
กระทั่งตนเองกำลังจะเดินไปตกท่อข้างทาง ก็ยังไม่รู้อีก
คือลืมกายลืมใจของตนเองในปัจจุบันเสียหมดสิ้น
มีแต่หลงอยู่กับความคิดและกิเลสตัณหาอย่างเดียว

นี่แหละครับคืออาการที่ส่งจิตออกนอกไปตามกระแสกิเลสตัณหา
ไม่มีสติสัมปชัญญะ หลง เผลอ ไม่รู้เท่าทันสภาพธรรมในกายในใจตนเอง

ที่ท่านสอนว่าอย่าส่งจิตออกนอก
ก็คือสอนไม่ให้หลงขาดสติสัมปชัญญะ
หลงไปตามอำนาจกิเลสตัณหา

เหมือนปลาตายที่ลอยตามน้ำไปเรื่อยๆ
ถ้าจะพูดด้วยภาษาปริยัติ
ก็กล่าวได้ว่า ให้รู้ทุกข์ ให้ละสมุทัยคือตัณหา
แต่คำว่าอย่าส่งจิตออกนอก
เป็นการสอนถึงสภาวะหรืออาการของจิตจริงๆ
ที่มันหลงไปตามสมุทัยคือตัณหา
และไม่รู้จักทุกข์ คืออุปาทานขันธ์ของตนเอง
สรุปแล้ว อย่าส่งจิตออกนอกก็คือ
อย่าขาดสติสัมปชัญญะ เพราะจะไม่รู้อารมณ์ตามความเป็นจริง
และจะหลงทะยานไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา

และเมื่อปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมมากเข้า
ผู้ปฏิบัติจะเข้าใจคำว่า อย่าส่งจิตออกนอก ได้ละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น
จนถึงขั้นจิตมีสติ สมาธิ และปัญญาเต็มที่
มันจะ หยุด
และ รู้อยู่กับรู้
ไม่มีการส่งออกหรือกระเพื่อมไหวใดๆ
หยุดความคิดนึกปรุงแต่งทั้งหมด
ถ้าปฏิบัติมาถึงอย่างนี้
ก็จะเข้าใจได้ว่า "อย่าส่งจิตออกนอก"
เป็นคำสอนเพื่อการปฏิบัติได้ตลอดสายทีเดียว


****************************************

อ้อ แถมหน่อยครับ
ที่ถามว่า อย่าส่งจิตออกนอก หมายถึงนอกจากอะไร?
ขอเรียนว่า นอกจาก รู้
หรือนัยหนึ่งก็คือ
นอกไปจากความมีสติสัมปชัญญะและรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง

ถ้าถามต่อว่า นอกไปทางไหน
ขอเรียนว่า นอกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

ถ้าถามว่า นอกแล้วส่งผลเป็นอย่างไร
ขอเรียนว่า ส่งผลเป็นอุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์

********************************

สำหรับคำถาม ขอยกพจนานุกรมของพระธรรมปิฎก มาดังนี้

วิญญาณ ความรู้แจ้งอารมณ์,จิต,
ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกัน
เช่นรู้อารมณ์ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตาเป็นต้น
ได้แก่ การเห็น การได้ยินเป็นอาทิ;

วิญญาณ๖ คือ ๑. จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา (เห็น)
๒. โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน)
๓. ฆานวิญญาณความรู้อารมณ์ทางจมูก (ได้กลิ่น)
๔. ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (รู้รส)
๕. กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย(รู้สิ่งต้องกาย)
๖. มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)

มโนวิญญาณ ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะธรรมารมณ์เกิดกับใจ,
ธรรมเกิดกับใจ เกิดความรู้ขึ้น, ความรู้อารมณ์ทางใจ
********************************************************
ส่วนในแง่ปฏิบัติ
มีเรื่องต้องคุยกันอีกมากพอสมควรครับ
เกี่ยวกับเรื่อง จิต ใจ(มโน) และวิญญาณ
แต่ตอนนี้ยังไม่ว่างพอที่จะคุยเรื่องนี้น่ะครับ
เลยต้องของดเว้นเอาไว้ก่อน

*********************************************************

ทำใจให้สบายๆ อย่าเผลอ และอย่าเพ่งจ้อง
แล้วปฏิบัติธรรมไปตอนที่มีผัสสะ
คือตอนที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ... ใจคิดนึก นั่นแหละครับ

อย่างเช่น เราเห็นเด็กสองคนเดินมาด้วยกัน
คนหนึ่งเป็นลูกเรา อีกคนหนึ่งเป็นหลานเรา
ลองสังเกตความรู้สึกที่แตกต่างกันในใจของเราดู
จะพบความแตกต่างของระดับราคะ และความลำเอียงได้ไม่ยากเลย

หรือถ้าเราได้ยินเสียงเพลง จะพบว่า บางเพลงจะชอบมากกว่าบางเพลง
กระทั่งอ่านทางนฤพาน หรือดูละคร
ก็จะพบว่าแต่ละบท แต่ละตอน มีความชอบไม่เท่ากัน
บางตอนก็มีราคะ บางตอนมีโทสะ บางตอนสนุก บางตอนเบื่อ ฯลฯ

การปฏิบัติธรรมที่ดี ต้องทำในชีวิตจริง ตอนที่มีผัสสะนี่แหละครับ
พอมีผัสสะแล้ว ก็คอยวัดจิตวัดใจตนเองเรื่อยๆ ไป
ไม่นานก็จะรู้เองว่า อะไรคือนาม อะไรคือรูป อะไรคืออารมณ์ อะไรคือจิต
กิเลสอกุศลเป็นอย่างไร บุญกุศลเป็นอย่างไร ตัณหาเป็นอย่างไร
และรู้ชัดว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงล้วนแต่แปรปรวนไม่แน่นอน เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น
แล้วในแต่ละวัน ควรหาเวลา
เดินจงกรมหรือนั่งสมาธิสักช่วงหนึ่งให้เป็นกิจวัตรไว้ด้วย
จะช่วยให้มีกำลังในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันมากขึ้น


หัดอยู่อย่างนี้ ไม่ยากอะไรหรอกครับ
อย่าเบื่อ อย่าชี้เกียจ และอย่าคิดสงสัยมากนักก็แล้วกัน
ถึงไม่ได้มรรคผลนิพพานอย่างใจนึก
แต่การจะประคองตัวอยู่กับโลก
ก็จะอยู่ได้อย่างทุกข์น้อยลง ให้เห็นได้ทันตาแล้วครับ

34
ถ้าจำไม่ผิดตอนนี้กุฎิที่สวนสันติธรรมเต็มแล้วครับ ส่วนวัดที่ใกล้ๆ ก็คือวัดหนองเลงครับ
เคยมีคนทำมาก่อนแล้วคือบวชที่วัดหนองเลง (อยู่ก่อนถึงบ้านโค้งดารา บริเวณตรงทางแยกไปสวนเสือ)
แล้วไปฟังธรรมที่สวนสันติธรรมได้ครับ แต่อาจจะต้องมีคนสนับสนุนเรื่องการเดินทางหน่อย
เพราะก็ยังไกลอยู่ดี ถ้าจะเดินไปเองครับ  ;D

ขออนุโมทนาในการตั้งใจที่จะบวชครับ  _/|\_  :)

35
(ต่อ)

วันนี้ได้รับเมล์จากคุณนพชัยฉบับหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลวงปู่ดูลย์
ช่วงหลังๆ นี้ คนเริ่มรู้จักและสนใจหลวงปู่มากขึ้น
ก็มีคนสนองความต้องการ ไปแสวงหาเรื่องของท่านมาเขียนจำหน่ายมากขึ้น
จริงบ้าง เท็จบ้าง เขียนเอามันส์บ้าง เพื่อให้หนังสือสนุก
ลองอ่านเมล์ฉบับนี้ดูเถอะครับ
***************************************

นพชัย wrote:

> สวัสดีครับพี่ปราโมทย์
> เช้านี้ผมได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับหลวงพ่อคืน
> มีอยู่ตอนหนึ่งในหนังสือเล่าว่าหลวงพ่อเถียงเอานิพพานกับหลวงปู่ดูลย์
> ในหนังสือเล่าไว้อย่างนี้ครับ

>   หลวงพ่อเล่าปรากฏการณ์ที่ท่านพบบนลำน้ำโขงอย่างละเอียดให้หลวงปู่ฟัง
> เมื่อฟังจบแล้ว หลวงปู่จึงเอ่ยอย่างราบเรียบว่า
> "ไม่ใช่นิพพานหรอก"
> "ไม่ใช่ยังไง ! หลวงพ่อ(เป็นคำที่หลวงพ่อคืนเรียกหลวงปู่ดูลย์)
> ก็หลวงพ่อสอนว่า จงทำจิตให้ตั้งอยู่บนไม่มีอะไรทั้งสิ้นแล้วนี่
> ผมก็ไปอยู่บนไม่มีอะไรแล้ว ผมว่านิพพานนะหลวงพ่อ
> หลวงพ่อคืนเถียงแย้งหลวงปู่
> โดยหลวงพ่อเล่าต่อว่าพอท่านเถียงแย้งหลวงปู่ไปแบบนั้น
> (ท่านว่าดูเหมือนเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่พูดเป็นเชิงเถียงกับหลวงปู่)
> หลวงปู่นี่ปากคอสั่นเลย จากนั้นหลวงปู่ก็พูดกระแทกลงมาเลยว่า
> "ไม่ใช่นิพพาน (ท่านลากเสียง พาน ยาว เหมือนผู้ใหญ่รำคาญเด็ก)
> นิพพานอะไรอย่างนี้ ตัวอยู่ป่าแก้ว แต่ไปนิพพานบนแม่น้ำโขง"

>    คือผมขอเรียนถามพี่แก้ความสงสัยหน่อยครับ
> มิได้มีเจตนาที่จะจาบจ้วงหลวงปู่ดูลย์แต่อย่างใด
> เพราะในใจผมแล้วมีความรู้สึกกับหลวงปู่ดูลย์เป็นพิเศษ(ก็ไม่รู้เป็นเพราะอะไร)
> คือผมสงสัยว่าที่ในหนังสือบรรยายว่า "หลวงปู่นี่ปากคอสั่นเลย"
> ในความคิดของผม
> ผมเข้าใจว่าจิตของหลวงปู่นั้นท่านจะนิ่งอยู่ทุกขณะจิตเป็นปกติ
> แต่อาการที่ทำให้หลวงปู่มีอาการปากคอสั่นนั้นเกิดจากอะไรครับ

>     ขอรบกวนพี่ครับ แล้วแต่พี่จะเห็นสมควรว่าจะตอบหรือไม่

ตอบ
เรื่องนี้พี่ฟังหลวงพ่อคืนเล่ามาด้วยตนเองไม่ต่ำกว่า 5 - 6 ครั้ง
ไม่เคยได้ยินว่าหลวงปู่โกรธหรือรำคาญจนปากคอสั่น
มีแต่บอกว่าหลวงปู่ถามท่านว่า
"เคยได้ยินไหมว่าขันธ์หนึ่ง ขันธ์ 4 ไม่มีประมาณ ... "
ท่านก็อุทานว่า อ้าว งั้นที่ท่านทำก็ไม่ใช่นิพพานน่ะสิ
หลวงปู่ก็ยิ้มๆ ตอบว่า ก็ไม่ใช่นิพพานน่ะสิ

คนที่ฟังเรื่องเล่าต่อๆ กันไป
ชอบใส่สีใส่ไข่แบบนี้แหละครับ เพื่อจะขายหนังสือของตัว

พี่ปราโมทย์
*****************************************
(อธิบายเพิ่มเติม)
เบื้องหลังของเรื่องนี้ก็คือ หลวงพ่อคืนท่านคิดๆๆๆ ถึงธรรมที่หลวงปู่สอน
เรื่องที่จิตหยุดอยู่บนความไม่มีอะไรเลย หรือความว่าง
แล้ววันหนึ่ง ท่านก็เข้าสมาธิ จิตถอดออกไปลอยอยู่เหนือแม่น้ำโขง
ท่านก็คิดว่า "นี่แหละ จิตหยุดบนความไม่มีอะไร คือลอยในอากาศ
นี่คงเป็นนิพพานแน่ๆ"

แต่หลวงปู่ก็สอนท่านให้เข้าใจว่า นี่ยังเป็นภพอีกอันหนึ่ง
ความว่างนั้น ว่างแบบซื่อบื้อไม่รับรู้อะไรอย่างพรหมลูกฟักก็มี
คือว่างจากนาม ไม่่ว่างจากรูป
ว่างแบบอรูปพรหมก็มี คือว่างจากรูป ยังไม่ว่างจากนาม
ส่วนนิพพานนั้น ว่างจากรูปและนาม

แต่ท่านกล่าวให้หลวงพ่อคืนฟังแค่ว่า
"ขันธ์หนึ่งขันธสี่ไม่มีประมาณ ท่องเที่ยวในภพสังสารร่ำไป"
เพียงเท่านี้ หลวงพ่อคืนก็เข้าใจ และหายสงสัยแล้ว

*************************************

ในหนังสือประวัติของหลวงปู่ดูลย์ ยังมีเรื่องใส่สีอีกบางจุดครับ
โดยเฉพาะตอนที่ท่านออกธุดงค์ แล้วเจอสัตว์ต่างๆ
มีการเขียนเพิ่มเติมเพื่อความสนุกตื่นเต้นเข้าไปจนเกินจริง

เช่นเขียนกันว่า ท่านเดินไปพบควายป่า แล้วควายชนท่านล้มลง
จากนั้นก็ขวิดท่านเป็นการใหญ่ แต่เขาควายป่าเฉี่ยวสีข้างท่านไปมาทั้งซ้ายขวา
จนผ้าจีวรของท่านขาด แต่องค์ท่านไม่ได้รับอันตรายใดๆ
สักพักควายก็วิ่งหนีไป
อีกเรื่องหนึ่งกล่าวว่าท่านธุดงค์เข้าไปในเขมรกับเด็กคนหนึ่ง
ไปเจอตะขาบยักษ์ ตัวเท่าฝากระดาน ซึ่งก็คงพอๆ กับซุงย่อมๆ น่ันเอง

เรื่องนี้ หลวงพ่อซอม ซึ่งเป็นศิษย์อายุเกือบเท่าหลวงปู่
ท่านเล่าให้ผมฟังว่าไม่จริงหรอก เป็นเรื่องแต่งเติมเอาสนุกทีหลัง
เรื่องก็แค่ว่า ควายบ้านมันขวิดหลวงปู่ล้มลง แต่ไม่เป็นอันตราย
แล้วเจ้าของก็มาไล่ควายไป
กับบอกว่าเป็นเรื่องเล่าในเขมร เกี่ยวกับตะขาบยักษ์
ไม่ใช่ว่าหลวงปู่ไปเจอตะขาบยักษ์แต่อย่างใด

นี่แค่ไม่กี่ปีนะครับ อภินิหารย์ยังเพิ่มขึ้นขนาดนี้
เพราะคนอ่าน คนฟัง ชอบเรื่องแบบนี้
พวกนักเขียนเขาก็เลยสนองความต้องการให้ครับ
อนึ่ง เรื่องตะขาบยักษ์นี้ ปรากฏอยู่ในประวัติพระเถระอื่นๆ ก็มีครับ
ท่านองค์อื่นอาจจะเคยเจอก็ได้ แต่หลวงปู่ดูลย์ท่านไม่เคยเจอ

*************************************

(จบ)

36
(ต่อ)

ครั้นมัชฌิมยามผ่านพ้นไปแล้ว
คือผ่านตีสองของวันใหม่ 30 ตุลาคมแล้ว
หลวงปู่ได้แสดงธรรมว่าด้วย ลักษณาการแห่งพุทธปรินิพพาน
ด้วยเสียงอันเป็นปกติธรรมดา
ตามปกติในระยะหลังๆ นี้ ท่านมักจะแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้เสมอ
ในอิริยาบถนอนหงาย ท่านกล่าวว่า
"เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสร้างพระพุทธศาสนา
ให้ก่อเกิดเป็นชีวิตอย่างบริบูรณ์ดังประสงค์แล้ว
จึงได้เสด็จเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน
ลำดับแรกก็เจริญฌานดิ่งสนิทเข้าไปจนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ
หมายความว่า เข้าไปลึกสุดอยู่เหนืออรูปฌาน
…………………………
แล้วจึงได้ออกจากจตุตถฌาน
พร้อมกับมาดับจิตขันธ์หรือนามขันธ์สุดท้ายจริงๆ ที่ตรงนี้
พระองค์ไม่ได้เข้าสู่พระนิพพานในฌานสมาบัติอะไรที่ไหน
เมื่อพระองค์ออกจากจตุตถฌานแล้ว
จิตขันธ์หรือนามขันธ์ก็ดับพร้อม ไม่มีอะไรเหลือ
นั่นคือพระองค์ดับเวทนาขันธ์ในภาวะจิตตื่น
หรือวิถีจิตอันเป็นปกติของมนุษย์ ครบพร้อมทั้งสติสัมปชัญญะ
ไม่ถูกภาวะอื่นใดมาครอบงำอำพรางให้หลงใหลใดๆ ทั้งสิ้น
เป็นภาวะแห่งตนเองอย่างบริบูรณ์
ภาวะอันนั้นจะเรียกว่า มหาสุญญตา หรือจักรวาลเดิม
หรือเรียกพระนิพพาน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้


เราปฏิบัติมา ก็เพื่อถึงภาวะอันนี้"

วจีสังขารหรือวาจาของหลวงปู่สิ้นสุดลงเพียงแค่นี้
หลังจากนั้นซึ่งเป็นเวลาตีสองกว่าแล้ว
ไม่มีวาจาใดๆ ออกมาอีกเลย
หลวงปู่นอนสงบเงียบหายใจเบาๆ และปกติธรรมดาที่สุด
ลมหายใจของหลวงปู่ก็ได้สิ้นสุดลงเมื่อเวลา 04.13 น.
หลวงปู่มิได้หายใจแรงให้เรารู้ว่า เป็นลมหายใจเฮือกสุดท้าย
เป็นลักษณาการมรณภาพที่ไม่ปรากฏร่องรอย
บริสุทธิ์ สงบเย็น อย่างสิ้นเชิง

===================================

ที่จริงประวัติของหลวงปู่ดูลย์ยาวมากครับ
แต่ผมตัดมาเฉพาะตอนที่หลวงปู่เกิดในทางธรรม
และตอนที่ท่านทิ้งทุกอย่างในลักษณาการที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง
แทบจะเป็นแบบฉบับในลักษณะเดียวกับพระบรมครูทีเดียว

คือท่านปล่อยวางทุกอย่างทิ้ง ในวันฉลองวันเกิดของท่าน
การมรณภาพ ก็กระทำโดยผ่านการเข้าสมาบัติแล้วออกเป็นระยะๆ
เป็นเหตุให้ผิวพรรณผ่องใส ร่างกายมีกำลังแทบเหมือนปกติ
ท่านมีสติสัมปชัญญะ และแสดงธรรมอยู่จนถึงคำพูดสุดท้าย
และสิ้นไป ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง
เป็นครู ถึงขนาดแสดงการตายให้ดู
ว่าการตายตามที่ปรากฏในตำรานั้น เขาตายกันอย่างไร

******************************************

เรื่องราวของหลวงปู่ดูลย์ที่ผมยกมาให้พวกเราอ่านกันนั้น
มีบางส่วนน่าจะอธิบายความเพิ่มเติม เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่

เรื่องแรกที่อยากจะเล่าสู่กันฟังก็คือ
เรื่องการฝึกกรรมฐานของหลวงปู่สมัยเริ่มแรกที่วัดคอโค
ที่อาจารย์ของท่านสอนให้จุดเทียน 5 เล่ม แล้วบริกรรมอัญเชิญปีติทั้ง 5
(ใครสนใจเรื่องปีติ 5 ลองค้นคว้าจากพจนานุกรมที่ป๋องทำไว้ในลานธรรมนะครับ)
กรรมฐานชนิดนี้ เดี๋ยวนี้ก็ได้ยินว่ายังมีอยู่
เป็นเรื่องของสมถกรรมฐานล้วนๆ เพราะมุ่งไปสู่สมาธิเท่านั้น

เรื่องการไปเรียนปริยัติธรรมที่เมืองอุบลของหลวงปู่นั้น
เป็นเพราะยุคนั้น เมืองอุบลเป็นแหล่งที่การศึกษาปริยัติธรรมแพร่หลายที่สุด
บุกเบิกการศึกษาโดยพระเถระฝ่ายธรรมยุติ
มีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เป็นกำลังสำคัญ
เมื่อแรกหลวงปู่ไปเมืองอุบลนั้น ท่านยังเป็นมหานิกาย
แต่ก็ได้รับการยอมรับให้เข้าศึกษาด้วย
และพระเถระฝ่ายธรรมยุติยุคนั้น ไม่ค่อยเห็นด้วยที่หลวงปู่จะบวชเป็นธรรมยุติ
ด้วยเหตุผลที่ว่า ท่านต้องการให้หลวงปู่กลับมาเผยแพร่ปริยัติธรรมที่สุรินทร์
ถ้ามาในฐานะพระธรรมยุติ จะลำบาก เพราะเมืองสุรินทร์ยุคนั้น มีแต่พระมหานิกาย
จุดนี้แสดงให้เห็นความใจกว้างของพระเถระยุคนั้น
ที่อยากให้การเรียนปริยัติธรรมกว้างขวาง โดยไม่สนใจเรื่องนิกาย

หลวงปู่ได้รู้จักกับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
ซึ่งสมัยนั้น ท่านอาจารย์สิงห์รับราชการเป็นครูสอนเด็กนักเรียนอยู่ที่อุบล
พวกเราบางคนอาจจะงงๆ ว่าท่านเป็นพระ แล้วรับราชการเป็นครูได้อย่างไร
เรื่องนี้ผมได้ถามคุณพ่อของผม ท่านก็บอกว่า สมัยนั้นผู้มีความรู้หายาก
ทางราชการเลยรับพระ ให้ไปเป็นครูสอนเด็กนักเรียน
และการเรียนนั้น เมื่อใดที่เด็กนักเรียนหญิงเติบโตเป็นสาว
จะต้องถูกสั่งให้ออกจากโรงเรียน เพราะสมัยนั้นเขายังถือเรื่องผู้หญิงผู้ชายเข้มงวด
หนุ่มสาวจะไปเรียนปนๆ กันไม่ได้


สำหรับเรื่องการออกปฏิบัติกรรมฐานของหลวงปู่ดูลย์คราวแรกนั้น
เป็นช่วงออกพรรษา และท่านไปกับท่านพระอาจารย์สิงห์
โดยท่านอาจาย์สิงห์ตัดสินใจลาออกจากการเป็นครู
เพราะภายหลังท่านอาจารย์สิงห์ฝึกกรรมฐานจากท่านอาจารย์มั่นแล้ว
เพียงไม่นานต่อมา ท่านเกิดมองเห็นเด็กนักเรียนทั้งชั้นของท่าน เหลือแต่โครงกระดูก
จึงเกิดสลดสังเวชใจ แล้วร่ำลานักเรียน
ออกเดินธุดงค์ร่วมกับหลวงปู่ดูลย์ไปทางท่าคันโท

การปฏิบัติในช่วงแรก หลวงปู่มีนิมิตเป็นพระพุทธรูปในกายของท่านเหมือนกัน
แต่ท่านพิจารณาแล้วปล่อยวางทิ้งเสีย แล้วย้อนมาพิจารณากายของท่านเอง
ตามแนวทางที่หลวงปู่มั่นสอนนั่นเอง คือพอจิตสงบก็ให้พิจารณากาย
จนท่านสามารถจำแนกได้ชัดว่า อันนี้จิต(ผู้รู้) อันนี้กิเลสและอารมณ์ที่ถูกรู้
และเข้าใจถึงจิตที่พ้นจากความปรุงแต่งเป็นครั้งแรก ทั้งที่เริ่มปฏิบัติเพียงไม่นานเลย

เมื่อท่านเข้าใจธรรมในเบื้องต้นแล้ว
ท่านพระอาจารย์มั่นพิจารณาเห็นว่า ท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยละเอียดลึกซึ้ง
จึงสอนกรรมฐานที่ละเอีดยให้ว่า
"สัพเพ สังขารา สัพพสัญญา อนัตตา"
ความว่า ความปรุงแต่ทั้งหลาย ความจำได้หมายรู้ทั้งหลาย ไม่ใช่ตัวตน
หลังจากนั้น หลวงปู่ก็ปลีกตัวไปบำเพ็ญทางจิต
ในที่สุดก็ได้รู้แจ้งในธรรมนั้น คือ
ปฏิจจสมุปบาทตลอดสายในแว้บเดียวเท่านั้น
ว่า ความทุกข์ทั้งหลายเกิดจากความคิดปรุง
เมื่อละสังขารได้ ความทุกข์ก็ดับหมดตลอดสาย
ปฏิจจสมุปบาทก็ขาดเพียงเท่านี้เอง


ตรงนี้อยากให้พวกเราสังเกตกันไว้หน่อยนะครับ
ว่าท่านเห็นปฏิจจสมุปบาทในแว้บเดียว
ถ้ายังเห็นปฏิจจสมุปบาททีละขั้น ทีละตอนละก็ ยังเชื่อถือไม่ได้เลย
และปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นเรื่องกลไกของจิตล้วนๆ
สังขารที่เกิดจากอวิชชา คือความปรุงแต่งของจิตล้วนๆ ไม่ใช่สังขารที่เป็นวัตถุภายนอก

หลวงปู่เดินทางไปปฏิบัติที่ถ้ำพระเวสฯ อำเภอนาแก นครพนม
ถ้ำพระเวสฯ นี้เดิมชื่อถ้ำพระเวสสันดร มีถ้ำใหญ่ แต่ปากถ้ำแคบๆ
ชาวบ้านชอบเข้าไปหาสมบัติในถ้ำ เดี๋ยวนี้ทางวัดเลยเอาปูนปิดปากถ้ำเสียแล้ว

หลวงปู่ท่านเคยเล่าให้พระลูกศิษย์ฟังว่า
วันหนึ่งเป็นเวลาเช้า ท่านฉันเสร็จแล้วกำลังนั่งทำกิจบริขารอยู่
ท่านเห็นแมวตัวหนึ่ง กำลังถูกสุนัขฝูงหนึ่ง 5 - 6 ตัวไล่กวดอยู่
แมวหนีขึ้นไปอยู่บนต้นมะละกอ สูงพอสมควร
สุนัขก็ได้แต่เห่า กระโจน ขู่ เป็นเวลานาน
ส่วนแมวเมื่อเห็นว่าตัวเองปลอดภัยแล้ว
ก็เหลียวมองสุนัขเหล่านั้นอย่างยิ้มเยาะ
ว่าสุนัขเอ๋ย เจ้าไม่สามารถทำอะไรข้าได้แล้ว ข้าอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว
ทันใดนั้น ท่านย้อนมาดูจิตของท่าน
ก็เห็นอาการที่จิตยิ้มเยาะกิเลสตัณหา
ที่ไม่อาจครอบงำจิตของท่านให้หลงใหลได้อีกต่อไป
เปรียบเหมือนแมวที่พ้นภัย ดังนี้


ธรรมที่ท่านเข้าใจในครั้งนั้นก็คือ
เมื่อสังขารขันธ์ดับได้แล้ว ความเป็นตัวตนจักมีไม่ได้
เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง
ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดไป ความทุกข์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร


ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง มันเกิดมาจากความไม่รู้อริยสัจจ์
จิตจึงปรุงแต่ง แล้วถูกความปรุงแต่งครอบงำ
เมื่อจิตตัดขาดความปรุงแต่งด้วยปัญญาอันชอบ
ความเป็นตัวตนที่จะทุกข์ก็ไม่มีอีกต่อไป
เพราะความเป็นตัวตน เกิดมาจาก
สังขารขันธ์หรือความคิดนึกปรุงแต่ง เข้าไปปรุงแต่งจิต เท่านั้นเอง

เห็นพวกเราตั้งกระทู้เรื่องความเป็น เรากันบ่อยๆ
ก็เลยนำการพิจารณาธรรมส่วนนี้ของหลวงปู่ มาเล่าสู่กันฟังน่ะครับ

*************************************

(มีต่อ)

37
(มีต่อ)

48 ชั่วโมงสุดท้ายของหลวงปู่ดูลย์

ความผิดปกติครั้งสุดท้าย


วันที่ 28 ตุลาคม 2526 เวลา 04.00 น.
หลวงปู่มีอาการผิดปกติคืออ่อนเพลีย ปวดเมื่อย มีกายกระสับกระส่าย
ตัวร้อนคล้ายจะเป็นไข้ แต่ไม่ปวดศีรษะ
อาการทุกอย่างนี้ คล้ายคลึงกับอาการที่เกิดเมื่อก่อนจะเข้าโรงพยาบาลไม่มีผิด
พระผู้พยาบาลได้ช่วยกันทาน้ำมันแล้วนวดไปตามที่ที่รู้สึกปวดเมื่อย
อาการก็ทุเลาลงบ้างเล็กน้อย

ครั้นถึงเวลา 07.00 น. ของวันที่ 28 นี้
ตามปกติหลวงปู่จะออกฉันภัตตาหารและต้อนรับแขก
แต่วันนี้ท่านไม่ยอมออกมาฉันข้างนอก
ต้องนำอาหารไปถวายท่านในห้องนอน
แต่ท่านก็สามารถลุกมานั่งฉันบนเก้าอี้ได้ และฉันได้เกือบเหมือนปกติ
หลังจากนั้นได้เชิญหมอมนูญมาตรวจถวายท่าน
หมอบอกว่า ความดันขึ้นสูงหน่อย แต่หลวงปู่บอกว่าไม่ปวดศีรษะเลย
แล้วท่านก็ฉันยาที่หมอให้ จากนั้นก็นอนหลับไปชั่วโมงกว่าๆ
ร่างกายรู้สึกว่าเป็นปกติแล้ว แต่ยังเพลียอยู่

พอถึงเวลาเพล ท่านก็ลุกมานั่งฉันข้าวต้มเพียง 4 ช้อน และของหวานเล็กน้อย
หลังจากนั้น ท่านก็พักผ่อนบ้าง นั่งบ้าง
แต่ผิวพรรณท่านก็ผุดผ่องดี เพียงแต่มีอาการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
ระหว่างกระปรี้กระเปร่ากับอ่อนเพลีย ทุก 40 หรือ 45 นาที
ตลอดทั้งวันมีสานุศิษย์ฝ่ายกัมมัฏฐานมาอยู่เฝ้าท่านหลายรูป
ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ในการอธิบายธรรมให้ฟัง
พวกเราเห็นสติสัมปชัญญะท่านสมบูรณ์ดี
และสามารถลำดับธรรมะเป็นกระแสธรรม
และตอบคำถามข้อปฏิบัติขั้นปรมัตถ์ด้วยเสียงอันชัดเจนสดใส

ทำให้เราอุ่นใจมากว่า ท่านคงไม่เป็นอะไรมาก

ครั้นเวลา 5 โมงเย็น ถวายน้ำสรงท่านแล้ว ท่านก็นั่งเก้าอี้ในห้อง
ดูกิริยาท่าทางของท่านในขณะนั้นเหมือนกับไม่มีอะไรเลย ท่านสดใสดีมาก
ต่อมาสักครู่ ท่านปรารภธรรมให้ฟังว่า
ในทางโลกเขามีสิ่งที่มี แต่ในทางธรรม มีสิ่งที่ไม่มี
เมื่อถูกถามถึงความหมาย ท่านก็พูดว่า
คนในโลกนี้ต้องมีสิ่งที่มี เพื่ออาศัยสิ่งนั้นเป็นอยู่
ส่วนผู้ปฏิบัติธรรม ต้องปฏิบัติจนถึงสิ่งที่ไม่มี และอยู่กับสิ่งที่ไม่มี


เมื่อเห็นว่าหลวงปู่เพลียพอสมควรแล้ว จึงขอให้ท่านนอนพักผ่อน
อาการเพลียก็เริ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย
แต่ท่านก็นอนพูดธรรมให้ฟังต่อไปอีก
ขณะนั้นเป็นเวลาที่ฝนตกหนักมาก
ผู้เขียนได้นั่งเฝ้าหลวงปู่อยู่จน 5 ทุ่มกว่า
สังเกตเห็นว่าหลวงปู่มักจะพูดธรรมะชั้นสูง
เกี่ยวกับการปฏิบัติเข้าออกฌาน (จนกระทั่งนิพพาน - สันตินันท์)
บางครั้งก็นั่งอยู่เฉยๆ แบบเข้าสมาธิหรือพิจารณากัมมัฏฐานบทใดบทหนึ่งอยู่
เมื่อท่านสดชื่นและว่าง ท่านจะปรารภธรรมบทใดบทหนึ่งทันที

ผู้เขียนถามท่านว่า "หลวงปู่เชื่อความศักดิ์สิทธิ์ไหม"
หลวงปู่ว่า ความศักดิ์สิทธิ์ไม่เคยมี มีแต่พลังและความสามารถของจิต
ผู้เขียนมีส่วนเสียอยู่อย่างหนึ่ง คือชอบพูดทีเล่นทีจริงกับหลวงปู่
ผู้เขียนพูดว่า "ตามตำราบอกว่า
พวกเทวดามาฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าครั้งละหลายโกฏินั้น
จะมีศาลาโรงธรรมที่ไหนให้นั่งได้หมด"
แต่เมื่อฟังหลวงปู่ตอบแล้วก็งง
เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังและไม่เคยพบในตำราที่ไหนมาก่อน
หลวงปู่ตอบว่า ในเนื้อที่หนึ่งปรมาณู เทวดาอยู่ได้ 8 องค์

ย่างเข้าวันที่ 29 ตุลาคม หลวงปู่มีอาการกระสับกระส่าย(ทางกาย)อยู่เล็กน้อย
และปวดเท้าซ้ายตั้งแต่บั้นเอวลงไปถึงปลายเท้า
พร้อมทั้งมีไข้กำเริบอีกเล็กน้อย ส่วนชีพจรเต้นผิดปกติตลอดมา
จนถึง 6 โมงเช้า อาการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแบบทรงๆ ทรุดๆ
เมื่อเห็นอาการหลวงปู่อยู่ในลักษณะนี้ ผู้เขียนจึงโทรศัพท์ทางไกล
กราบเรียนท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรให้ทราบ
ส่วนอาจารย์พวงทองได้โทรศัพท์ไปบอกคุณหมอฉัตร กำภู
ที่ทางราชสำนักมอบหมายให้นำหลวงปู่
กลับจากโรงพยาบาลมาส่งวัดเมื่อครั้งหายอาพาธ
คุณหมอทราบแล้วบอกให้รีบนำหลวงปู่เข้ากรุงเทพฯ โดยเร็ว
แต่ก็ยังไม่ได้ตกลงว่าจะทำอย่างไร

06.30 น. หลวงปู่ยังออกจากห้องได้ นั่งฉันข้าวเช้าข้างนอก
เสร็จแล้วนั่งพักประมาณ 10 นาที แล้วเข้าไปพักผ่อนในห้อง
07.20 น. หมอมาตรวจอาการอีก วัดความดันดูยังปกติ จึงฉีดยานอนหลับให้
การฉีดยาแต่ละครั้งนั้น หลวงปู่ท่านห้ามไม้ให้ฉีด
แต่ส่วนมากหมอมักจะฝืนฉีดให้
ครู่ต่อมาให้น้ำเกลือ ชั่วประเดี๋ยวเดียวหลวงปู่ไม่ยอมรับ สั่งให้ถอดออก
ท่านบอกว่า ขออยู่เฉยๆ ดีกว่า
ขณะนั้นเป็นจังหวะที่ดีที่สุด ผู้เขียนจึงเข้าไปกราบเรียนหลวงปู่ว่า
"จะนำหลวงปู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรงเทพฯ อีก"
ท่านรีบตอบว่า "ไม่ต้องไปดอก" และพูดต่อไปอีกว่า "ห้ามไม่ให้พาไป"
ถามท่านว่า "ทำไมหลวงปู่จึงไม่ไป"
หลวงปู่ว่า "ถึงไปก็ไม่หาย"
"ครั้งก่อนหลวงปู่ป่วยหนักกว่านี้ ยังหายนี่หลวงปู่
ไม่หนักเหมือนแต่ก่อน ต้องหายแน่ๆ"
หลวงปู่ว่า "นั่นมันครั้งก่อน นี่มันไม่ใช่ครั้งก่อน"
ผู้เขียนเองยังยอมรับว่าในครั้งนี้มีความลังเลใจอย่างยิ่ง
ตรงกันข้ามกับครั้งก่อนที่สามารถตัดสินใจเอาเองได้อย่างเด็ดขาด

ต่อมาท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีก 4 - 5 ท่าน
ได้มาเยี่ยมอาการอาพาธหลวงปู่
จึงได้ปรึกษากันว่า ควรจะนำหลวงปู่ไปรักษาที่กรุงเทพฯ หรือไม่
ทุกคนที่เห็นหลวงปู่ มักเข้าใจว่าท่านไม่ได้เป็นอะไรมาก
เมื่อเห็นว่าท่านไม่อยากไปแล้วก็พากันวางเฉยตามท่านไปด้วย
เพราะโดยปกติในชีวิตหลวงปู่ท่านไม่เคยเรียกหาหมอหายาเลย
เท่าที่เข้าโรงพยาบาล 2 ครั้ง ท่านมีอาการหนักแล้ว ผู้รักษาพยาบาลจึงพาท่านไป
ท่านไม่อาจขัดได้จึงต้องตามใจเขา
และอาการที่จะแสดงให้คนอื่นวิตกกังวลหนักใจในการรักษาพยาบาลนั้น ไม่เคยมี
เพราะท่านมีความอดทนเป็นเยี่ยม
ตั้งแต่สมัยอยู่ป่าอยู่ดง ท่านคงต่อสู้กับความเจ็บป่วยตามธรรมชาติมามาก
เท่าที่ผู้เขียนอยู่ใกล้ชิดกับท่านมาโดยตลอด
ไม่เคยได้ยินเสียงท่านครวญครางหรือถอนใจ
แม้ในเวลาจะลุกจะนั่งก็ไม่เคยได้ยิน
ท่านลุกพรวดพราดกระฉับกระเฉงเสมอ

*************************************************

วันนี้เป็นวันทำบุญครบ 8 รอบของท่าน

การจัดงานครั้งนี้ก็จัดกันเป็นพิเศษ
ศิษยานุศิษย์ฝ่ายสงฆ์ก็มากับพร้อมหน้า
พุทธศาสนิกชนทั่วไปทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดก็หลั่งไหลกันมามากมาย
มีสุภาพสตรีบวชเป็นแม่ชีในงานนี้มากกว่าหนึ่งพันคนอีกด้วย
ดังนั้นจึงคิดว่า ให้เสร็จงานเสียก่อน หากอาการยังไม่ดีขึ้น
ก็จะพาท่านไปรักษาที่กรุงเทพฯ ให้ได้

เมื่อได้เวลาตามกำหนดการ ประชาชนก็หลั่งไหลกันมาเป็นจำนวนมาก
เวลา 10.00 น. พระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์
เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล
เวลา 13.30 น. ท่านเจ้าคุณพุทธพจน์วราภรณ์ วัดราชบพิตร แสดงธรรม

ขณะที่ผู้เขียนกำลังซาบซึ้งในพระธรรมเทศนาอยู่นั้น
ก็แว่วเสียงพระองค์หนึ่งกระซิบว่า "หลวงปู่เรียกให้ไปพบ"
ผู้เขียนรู้สึกผวา รีบไปหาหลวงปู่
พอไปถึงเห็นท่านนอนหงายหนุนหมอนสูงอยู่
ดูอาการท่านก็ยังสดใสเหมือนเดิม
เมื่อเข้าไปใกล้ ท่านก็ถามถึงการจัดงาน
ฟังเสียงท่านคล้ายปากคอแห้งไม่มีน้ำลาย
จึงรายงานท่านว่า งานเดินไปด้วยความเรียบร้อยทุกอย่างตามที่กำหนดไว้
และมีผู้บวชเป็นแม่ชีพราหมณ์มากกว่าทุกครั้ง
ศาลาใหญ่เต็มหมดทั้งชั้นบนชั้นล่าง
หลวงปู่จึงถามถึงศิษย์ฝ่ายสงฆ์ว่ามาครบหมดทุกองค์แล้วหรือยัง
จึงเรียนมาท่านว่ามาแล้ว แต่กำลังอยู่ในพิธีแสดงธรรมเทศนาที่ศาลา
เมื่อจบพิธีแสดงธรรม ทุกองค์จะเข้ามานมัสการและถวายสักการะในที่นี้

หลวงปู่พูดว่า "เออ … เราก็รออย่างนี้อยู่แล้ว"
แล้วรู้สึกว่าท่านพูดอะไรเบามาก
เมื่อก้มลงไปชิดกับท่าน ท่านก็จับแขนไว้แล้วนิ่งเฉย
ผู้เขียนตกใจนึกว่าท่านจะหมดลม
ก็เห็นหลวงปู่หายใจเป็นปกติไม่มีอาการแปลก มีแต่อาการนิ่งเฉย
จึงแน่ใจว่าท่านไม่เป็นอะไร
แล้วผละถอยห่างจากท่านเล็กน้อย เห็นท่านนิ่งเฉยอยู่นาน
ต่อมาผ่านเวลาบ่ายไปแล้ว หลวงปู่ตื่นจากภวังค์มา มีอาการสดชื่นเป็นพิเศษ
ผู้เขียนจึงปรารภเรื่องงานการของวัดให้ท่านฟังเพื่อไม่ให้ท่านมีวิตกกังวลอะไร
ถามท่านว่า เมื่อกี๊หลวงปู่หลับหรือเข้าสมาธิ
ท่านบอกว่า พิจารณาลำดับฌานอยู่
ก็พอดีตอนนี้มีศิษย์อาวุโสเข้ามานมัสการหลวงปู่หลายองค์
บางองค์สงสัยในข้อปฏิบัติก็ถามท่าน
ท่านอธิบายลำดับข้อปฏิบัติธรรมตลอดสายอย่างชัดเจน
ข้อนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนอบอุ่นใจมาก
จึงผละจากหลวงปู่ออกไปที่งานบนศาลา ซึ่งมีญาติโยมมาบวชชีมากมาย

ครั้น 4 โมงเย็นล่วงแล้ว หลวงปู่สามารถออกมานั่งรับแขกข้างนอกได้
ญาติโยมจำนวนมากจึงถือโอกาสกันเป็นการใหญ่รีบมากราบหลวงปู่
สักครู่ใหญ่ต่อมา ท่านก็เข้าห้อง ถวายน้ำสรงแก่ท่านเช็ดตัวเรียบร้อย
ถวายน้ำผึ้งผสมมะนาวและสมอตำละเอียด
ท่านฉันน้ำผึ้งอย่างเดียว ไม่ฉันสมอ
แล้วนอนพักผ่อนท่ามกลางสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี ซึ่งนั่งห้อมล้อมเป็นจำนวนมาก
อยู่ในอิริยาบถนอนหงาย หนุนหมอนสูง หลับตาลง
ดูสีผิวของท่านสดใสเปล่งปลั่งผิดธรรมดา
ทำให้คิดสังหรณ์ใจไปหลายอย่าง แทนที่จะสบายใจเหมือนทุกท่าน
พระทุกรูปที่นั่งอยู่ในที่นั้น เห็นหลวงปู่ยังเฉยอยู่ก็พากันนั่งเงียบกริบ

หนึ่งทุ่มผ่านไปแล้ว หลวงปู่ลืมตาขึ้น
มองไปตรงช่องว่างที่กระจกซึ่งมีม่านปิดอยู่อย่างมิดชิด
ท่านยกแขนขวาขึ้นประมาณ 20 องศา บอกให้รูดม่านออก
สักครู่ต่อมา หลวงปู่สั่งให้พระที่อยู่ในห้องออกจากห้องให้หมด
หลังจากนั้นไม่นาน ก็สั่งให้พระเหล่านั้นสวดมนต์ให้ฟัง
สีหน้าของพระเหล่านั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว
ต่างพากันสวดเจ็ดตำนานย่อ ให้หลวงปู่ฟังจนจบ
หลวงปู่สั่งให้สวดเฉพาะโพชฌงค์สูตรอย่างเดียว 3 จบ
แล้วให้สวดปฏิจจสมุปบาทอีก 3 รอบ
พระที่สวดมี 8 - 9 รูป พอสวดจบหมอก็เข้าไปตรวจอาการอีก
เวลาเกือบ 4 ทุ่มแล้ว บรรยากาศของหมอและผู้รักษาพยาบาล
ขณะนั้นเปลี่ยนแปลงไปมาก
คือไม่มีใครถามหรือขอร้องอะไรใครเลย ทุกคนประจักษ์ชัดแล้ว
คุณหมอก็กลับไปแล้ว หมายถึงการจากกันอย่างสิ้นเชิง

ต่อมาหลวงปู่สั่งให้สวด มหาสติปัฏฐานสูตร ให้ฟัง
พระที่นั้นทั้งหมดไม่มีองค์ไหนสวดได้เลย
เพราะพระสูตรนี้ยาวกว่าพระสูตรอื่นๆ ทั้งหมด
ท่านบอกให้เปิดหนังสือสวด เผอิญหนังสือก็ไม่มีอีก
พอดีท่านอาจารย์พูนศักดิ์ ซึ่งอยู่เฝ้ารักษาพยาบาลหลวงปู่ตลอดมา
มีหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวงเล่มใหญ่ติดมาด้วย
จึงหยิบมาเปิดหาพระสูตรนั้น กำลังพลิกไปพลิกมาเปิดหาอยู่
หลวงปู่สั่งว่า เอามานี่
ท่านพูนศักดิ์รีบยื่นถวาย หนังสือเล่มนั้นใหญ่และหนักมาก
น้ำหนักเกือบ 1 กิโลกรัม
ท่านหยิบมาเปิดโดยไม่ต้องดู บอกว่า สวดตรงนี้
พระทุกองค์แปลกใจมาก เพราะเป็นหน้าที่ 172 มหาสติปัฏฐานสูตรพอดี
อาจารย์พูนศักดิ์รีบรับจากมือหลวงปู่มานั่งสวดองค์เดียว
หลวงปู่นอนฟังโดยตะแคงข้างขวา
พระสูตรนี้มีความยาวถึง 41 หน้า
ใช้เวลาสวดเกือบ 2 ชั่วโมง เพราะท่านให้สวดแบบช้าๆ
พระที่อยู่ในห้องจำนวนมากองค์ก็ทยอยกันออกไปบ้าง

หลังจากที่พระสูตรจบลง หลวงปู่ยังมีอาการปกติ
ท่านพูดธรรมะกับพระที่เฝ้าเป็นครั้งคราว ลุกขึ้นนั่งบนเก้าอี้บ้าง นอนบ้าง
มีตอนหนึ่งท่านให้พาออกนอกห้องและนอกกุฏิของท่านเพื่อสูดอากาศภายนอก
พร้อมทั้งมองออกไปที่ศาลาที่อยู่ตรงหน้ากุฏิท่าน
ซึ่งขณะนั้นทั้งพระทั้งฆราวาสจำนวนมากชุมนุมสวดมนต์ ฟังเทศน์ นั่งสมาธิ
เนื่องในงานทำบุญอายุครบรอบของท่าน
อากัปกิริยาที่หลวงปู่ออกมาจากกุฏิเพื่อสูดอากาศ
และมองดูรอบๆ บริเวณวัดในครั้งนี้
หามีใครทราบไม่ว่าเป็นการมองดูครั้งสุดท้าย
เป็นการลาสถานที่ของท่าน
แม้ผู้ที่อยู่รักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด
ก็ไม่มีใครเฉลียวใจเลยสักคนเดียวในขณะนั้น
เพราะเห็นท่านมีอาการธรรมดาๆ อยู่
มีสติสัมปชัญญะพูดถึงองค์นั้นองค์นี้ได้ถูกต้อง
และพูดธรรมปฏิบัติให้พระเณรฟังอีกมากมาย

(มีต่อ)

38
(ต่อ)

คำสรรเสริญครั้งแรกจากพระอาจารย์มั่น

ครั้นออกพรรษาแล้ว ทุกรูปต่างแยกย้ายกันออกจากที่นั้นเดินธุดงค์ต่อไป
หลวงปู่ดูลย์ไปด้วยกันกับท่านอาจารย์สิงห์
ต่อมาก็แยกทางกับท่านอาจารย์สิงห์ คือไปองค์ละทาง
มีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันคือท่านอาจารย์มั่น
เมื่อท่านเดินทางไปถึงหนองหาร จังหวัดสกลนคร ได้ไปพักอยู่ที่เกาะเกด
สถานที่นี้กล่าวกันว่าเป็นที่ขลัง และมีอาถรรพ์มาก
ไม่เคยมีชาวบ้านไหนกล้าเข้าไป แต่ท่านกลับเห็นว่าดี ท่านจะได้อยู่สบาย
เพราะเมื่อคนไม่กล้าเข้าไป ก็ยิ่งเป็นที่สงัดเงียบ

ครั้นอยู่พอสมควรแล้ว ก็ออกเดินทางต่อไปเป็นลำดับ จนกระทั่งบ้านตาลเนิ่ง
มีชาวบ้านบอกว่าเห็นพระธุดงค์อยู่ในป่าใกล้บ้านนี้เอง
ท่านดีใจเป็นอันมากคิดว่าอย่างไรเสียต้องเป็นพระอาจารย์มั่นอย่างแน่นอน
เมื่อไปถึงสถานที่นั้น ก็เห็นท่านอาจารย์สิงห์ ซึ่งเดินทางมาถึงก่อนนานแล้ว
และเห็นองค์อื่นๆ อีกหลายองค์
กำลังนั่งห้อมล้อมท่านพระอาจารย์มั่นอยู่อย่างสงบ
พากันหันหน้ามามองทาน และพูดบอกกันเบาๆ ว่า
"แน่ะ ท่านดูลย์มาแล้ว ท่านดูลย์มาแล้ว"
คาดว่าท่านอาจารย์สิงห์คงเล่าบอกแล้วว่า หลวงปู่ดูลย์ทำจิตเป็นสมาธิได้

เมื่อท่านเห็นท่านพระอาจารย์มั่น ก็เกิดความปลาบปลื้มปีติ
รำพึงในใจว่า "ประสงค์อย่างไรก็สำเร็จอย่างนั้น"
ครั้นได้โอกาสอันควรแล้ว จึงเข้าไปกราบท่านพระอาจารย์มั่น
พระปรมาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษได้ถามถึงการปฏิบัติ
ท่านจึงกราบเรียนถึงผลการปฏิบัติโดยตลอด
แล้วก็สรุปท้ายกราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่นให้ทราบว่า
เดี๋ยวนี้กระผมเข้าใจแล้ว กระผมทำความรู้จักกับกิเลสของกระผมได้ดีแล้ว
คือถ้ารวมกันทั้งหมดแล้วแบ่งเป็น 4 ส่วน
ส่วนที่ 1 นั้นกระผมละได้เด็ดขาดแล้ว
ส่วนที่ 2 กระผมละได้ครึ่งหนึ่ง ยังเหลือครึ่งหนึ่ง
ส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 กระผมยังละไม่ได้

ท่านพระอาจารย์มั่นก็กล่าวคำสรรเสริญว่า
เก่งมาก ฉลาดมาก ที่สามารถรู้จักกิเลสของตนเอง
และการปฏิบัติที่ผ่านมา ที่เล่าบอกนั้น ก็เป็นการถูกต้องดีแล้ว

และแล้ว ท่านพระปรมาจารย์ก็ได้แนะนำต่อไปว่า
ให้เอาข้อนี้ไปพิจารณาต่อไปอีก
โดยบอกเป็นภาษาบาลีว่า
"สัพเพ สังขารา สัพพสัญญา อนัตตา"

หลังจากได้รับคำแนะนำจากท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว
ท่านก็ได้ปลีกตัวไปบำเพ็ญทางจิต พร้อมทั้งพิจารณาคติธรรมที่ได้มา
ในที่สุดก็ได้รู้แจ้งในธรรมนั้น คือปฏิจจสมุปบาทตลอดสายในแว้บเดียวเท่านั้น
ว่า สังขารทั้งหลายเกิดจากความคิดปรุง
เมื่อละสังขารได้ ความทุกข์ก็ดับหมดตลอดสาย
ปฃกิจจสมุปบาทก็ขาดเพียงเท่านี้เอง


**************************************
(ความย่อ)
หลังจากนั้นท่านก็แยกย้ายจากท่านพระอาจารย์มั่นออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ
ท่านได้ศิษย์สำคัญอีกหลายองค์ ที่ต่อมากลายเป็นครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่
เช่นหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
โดยเฉพาะหลวงปู่ฝั้น และพระเณรบ้านม่วงไข่
ได้ทิ้งวัดติดตามท่านออกธุดงค์ไปด้วย

**************************************

อริยสัจจ์แห่งชีวิต

ย้อนกลับมาถึงการเดินธุดงค์ของหลวงปู่ดูลย์ต่อไป
การออกธุดงค์คราวนี้มีท่านอาจารย์ฝั้นและพระเณรวัดม่วงไข่ติดตามไปทั้งหมด
ท่านเดินทางไปตามลำดับ พักอยู่แห่งละ 5 วันบ้าง 7 วันบ้าง
แล้วก็ไปพักอยู่ที่ถ้ำพระเวสฯ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
ตลอดหน้าแล้งนั้น ต่างองค์ต่างก็ปรารภความเพียรอย่างจริงจัง
และได้รับผลการปฏิบัติทุกรู้
สำหรับหลวงปู่นั้น ท่านเล่าว่าได้ตริตรองพิจารณาตามหัวข้อกัมมัฏฐานว่า
"สัพเพ สังขารา สัพพสัญญา อนัตตา" ที่ท่านปรมาจารย์ให้มา
ในเวลาต่อมาก็เกิดความสว่างไสวในใจชัดว่า

เมื่อสังขารขันธ์ดับได้แล้ว ความเป็นตัวตนจักมีไม่ได้
เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง
ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดไป ความทุกข์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
และจับใจความอริยสัจจ์แห่งจิตได้ว่า
1. จิตที่ส่งออกนอก เพื่อรับสนองอารมณ์ทั้งสิ้นเป็นสมุทัย
2. ผลอันเกิดจากจิตส่งออกนอกแล้วหวั่นไหว เป็นทุกข์
3. จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
4. ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ


แล้วท่านเล่าว่า เมื่อทำความเข้าใจในอริยสัจจ์ทั้ง 4 ได้ดังนี้แล้ว
ก็ได้พิจารณาทำความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทได้ตลอดทั้งสาย
(ข้อธรรมของท่านตอนนี้ ผู้เขียน<พระครูนันท์>จนด้วยเกล้า
ไม่อาจเขียนตามท่านได้ถูกต้อง เพราะเป็นการเฉพาะตัวของท่าน)

คำสรรเสริญครั้งที่ 2 และรางวัลเกียรติยศจากพระอาจารย์มั่น

ครั้นอยู่ที่ถ้ำพระเวสฯ ได้พอสมควรแล้ว
ก็พากันยกขบวนจาริกไปเสาะหาพระอาจารย์มั่น
จนกระทั่งพบที่วัดป่าโนนสูง
หลวงปู่ดูลย์จึงกราบเรียนท่านปรมาจารย์
ถึงผลการปฏิบัติธรรมของท่านตามที่ปรากฏอย่างไร
ท่านพระอาจารย์มั่น ก็กล่าวรับรองและยกย่องสรรเสริญให้ปรากฏ
ณ ท่ามกลางชุนนุมสานุศิษย์ทั้งหลายว่า
"ถูกต้องดีแล้ว เอาตัวรอดได้แล้ว
นับว่าไม่ถอยหลังอีกแล้ว ขอให้ดำเนินตามปฏิปทานี้ต่อไป"


หลังจากนั้นหลวงปู่ดูลย์ได้นำอาจารย์ฝั้น
และคณะภิกษุสามเณรวัดม่วงไข่ ที่ติดตามมา
ถวายตัวต่อท่านอาจารย์มั่น
ท่านปรมาจารย์ก็ได้กล่าวยกย่องสรรเสริญ กระทำให้ปรากฏต่อศิษย์ทั้งหลายว่า
"ท่านดูลย์นี้ เป็นผู้ที่มีความสามารถเป็นอย่างยิ่ง
สามารถมีสานุศิษย์และผู้ติดตามประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก"


ในระหว่างที่พักอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเวลานานนั้น
ท่านพระอาจารย์มั่นผู้ทรงคุณธรรมยิ่งใหญ่
ได้กรุณาตัดเย็บไตรจีวรด้วยมือตน
แล้วช่วยกันเย็บช่วยกันย้อมด้วยมือมอบให้หลวงปู่ดูลย์ 1 ไตร
ท่านจึงถือว่านี่คือผล หรือรางวัลแห่งการปฏิบัติดี
ที่ครูบาอาจารย์มอบให้เป็นกรณีพิเศษด้วยเมตตาธรรม

*************************************

(ความย่อ)
ครั้นออกพรรษาท่านก็ออกธุดงค์ต่อไปที่ถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย

*************************************

สนทนาธรรมกับพระปรมาจารย์


ท่านพักอยู่ที่ถ้ำผาบิ้ง เสวยสุขเกิดแต่วิเวกได้ 1 เดือน
ก็เดินทางไปที่บ้านผือ เขตจังหวัดอุดรธานี และต่อไปที่อำเภอผาภูมิ
ได้พบกับพระอาจารย์มั่นที่อำเภอผาภูมินี้อีกครั้งหนึ่ง

การพบกับท่านปรมาจารย์คราวนี้
ไม่ปรากฏว่า มีการกราบเรียนผลการปฏิบัติ
หรือมีการแนะนำแนวทางปฏิบัติต่อไปอันใดอีก
หากมีแต่การสนทนาธรรม หรือกระทำธรรมสากัจฉาในเรื่องจิตล้วน
อันยังให้เกิดความอาจหาญร่าเริงในธรรมปฏิบัติแต่อย่างเดียวเป็นเวลานานๆ

จบประวัติการศึกษาปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์มั่น

*************************************
(มีต่อ)

39
เขียนไว้เมื่อ วัน ศุกร์ ที่ 28 เมษายน 2543 21:45:31

พระครูนันทปัญญาภรณ์ ผู้เป็นหลานใกล้ชิด
และเป็นผู้ดูแลหลวงปู่มาอย่างยาวนาน
ได้เขียนประวัติของหลวงปู่ออกพิมพ์เผยแพร่
ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่
และเนื่องจากเป็นหนังสือที่ยาวพอประมาณ
ผมจึงขอตัดตอนมาเผยแพร่
เฉพาะตอนที่ท่านศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่มั่น
และตอนที่ท่านมรณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าฟังสำหรับนักปฏิบัติ

***********************************
ความย่อ ประวัติตอนต้น

หลวงปู่ถือกำเนิดในเดือนตุลาคม 2431
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ณ บ้านปราสาท อ.เมือง จ.สุรินทร์
ท่านได้รับอนุญาตจากมารดาบิดาให้อุปสมบทเมื่ออายุ 22 ปี
ณ วัดจุมพลสุทธาวาส ในเมืองสุรินทร์
จากนั้นท่านออกไปฝึกรรมฐานที่วัดคอโค ชานเมืองสุรินทร์
ด้วยการจุดเทียน 5 เล่มแล้วนั่งบริกรรมว่า
"ขออัญเชิญปีติทั้ง 5 จงมาหาเรา"
รวมทั้งการทรมานกายด้วยการลดอาหารลงเรื่อยๆ ตลอดพรรษา
แต่ก็ไม่ได้ผล จนเกิดความสลดสังเวชใจ
จนพรรษาที่ 6 ท่านจึงได้ข่าวว่ามีการสอนปริยัติธรรมที่จังหวัดอุบลราชธานี
จึงเดินทางไปศึกษา โดยพักเป็นพระอาคันตุกะอยู่ที่วัดสุทัศนาราม

ระหว่างนั้นท่านได้คุ้นเคยกับท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
และเมื่อศึกษาปริยัติธรรมจนช่ำชองแล้ว
ท่านก็ได้ทราบข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
กลับจากธุดงค์มาพักที่วัดบูรพา
พระเณรและประชาชนแตกตื่นไปฟังธรรมกันเป็นการใหญ่
ท่านกับท่านอาจารย์สิงห์ก็พากันไปฟังธรรมอย่างไม่เคยขาด
นอกจากจะได้ฟังธรรมอันลึกซึ้งรัดกุมและกว้างขวางแล้ว
ยังได้เห็นปฏิปทาอันงดงามของท่านพระอาจารย์มั่น
ทำให้ซาบซึ้งใจ และสนใจการธุดงคกัมมัฏฐานมากยิ่งขึ้นทุกที

***********************************

ธุดงค์ครั้งแรก

ครั้นออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์มั่นได้ออกธุดงค์อีก
ภิกษุ 2 สหายคือพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม กับหลวงปู่ดูลย์
จึงตัดสินใจสละละทิ้งการสอนและการเรียนออกธุดงค์
ติดตามพระปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ในทุกหนทุกแห่ง
ตลอดฤดูกาลนอกพรรษานั้น

ตามธรรมเนียมธุดงค์กัมมัฏฐานของท่านอาจารย์มั่นมีอยู่ว่า
เมื่อถึงกาลเข้าพรรษา ไม่ให้จำพรรษารวมกันมากเกินไป
ให้แยกกันไปจำพรรษาตามสถานที่อันวิเวก
ไม่ว่าจะเป็นวัด เป็นป่า เป็นถ้ำ เป็นเขา โคนไม้ ลอมฟาง เรือนว่าง
หรืออะไรตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคล แต่ละคณะ
เมื่อออกพรรษาแล้ว หากทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่น อยู่ ณ ที่ใด
ก็พากันไปจากทุกทิศทุกทางมุ่งไปยัง ณ ที่นั้น
เพื่อเรียนพระกัมมัฏฐาน และเล่าแจ้งถึงผลการประพฤติปฏิบัติที่ผ่านมา
เมื่อมีอันใดผิด ท่านปรมาจารย์จักได้ช่วยแนะนำแก้ไข
อันใดถูกต้องดีแล้ว ท่านจักได้ช่วยแนะนำข้อกัมมัฏฐานยิ่งๆ ขึ้นไป

ดังนั้นเมื่อจวนจะเข้าปุริมพรรษา คือพรรษาแรกแห่งการธุดงค์ของท่าน
คณะของหลวงปู่ดูลย์ จึงพากันแยกจากท่านพระอาจารย์มั่น
เดินธุดงค์ผ่านไปทางอำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
ครั้นถึงป่าท่าคันโท ก็สมมุติทำเป็นวัดป่า เข้าพรรษาด้วยกัน 5 รูป

ทุกท่านปฏิบัติตนปรารภความเพียรอย่างอุกฤษฎ์แรงกล้า
ปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอนของท่านปรมาจารย์อย่างสุดขีด
ครั้งนั้น บริเวณแห่งนั้นเป็นสถานที่ทุรกันดาร
เกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ป่าที่อำมหิตดุร้าย
ไข้ป่าเล่าก็ชุกชุมเหลือกำลัง ยากที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้
ดังนั้นเองยังไม่ทันถึงครึ่งพรรษาก็ปรากฏว่าเป็นไข้ป่ากันหมด
ยกเว้นท่านอาจารย์หนูองค์เดียว
ต่างก็ได้ช่วยรับใช้พยาบาลกันตามมีตามเกิด
หยูกยาที่จะนำมาเยียวยารักษากันก็ไม่มี
ความป่วยไข้เล่าก็ไม่ได้ลดละเห็นแก่หน้ากันบ้างเลย
จนกระทั่งองค์หนึ่งถึงแก่มรณภาพลงในกลางพรรษานั้น
ต่อน้าต่อตาเพื่อนสหธรรมิกอย่างน่าเวทนา

สำหรับหลวงปู่ดูลย์ ครั้นได้สำเหนียกรู้ว่ามฤตยูกำลังคุกคามอย่างแรง
ทั้งหยูกยาที่จะรักษาพยาบาลก็ไม่มี  จึงตักเตือนตนว่า
"ถึงอย่างไร ตัวเราจักไม่พ้นเงื้อมมือของความตายในพรรษานี้เป็นแน่แล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้นเราจักตาย ก็จงตายในสมาธิภาวนาเถิด

จึงปรารภความเพียรอย่างเอาเป็นเอาตาย
ตั้งสติให้สมบูรณ์ พยายามดำรงจิตให้อยู่ในสมาธิอย่างมั่นคงทุกอิริยาบถ
พร้อมทั้งพิจารณาความตาย คือมรณสติกัมมัฏฐานเป็นอารมณ์ไปด้วย

โดยไม่ย่อท้อพรั่นพรึงต่อมรณภัยที่กำลังคุกคาม จะมาถึงตัวในไม่ช้านี้เลย

เริ่มปรากฏผลจากการปฏิบัติ

ณ ป่าท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์นี้เอง
การปฏิบัติทางจิตที่หลวงปู่ดูลย์พากเพียรบำเพ็ญอย่างไม่ลดละ
ก็ได้บังเกิดผลอย่างเต็มภาคภูมิ
กล่าวคือขณะที่นั่งภาวนาอยู่ตั้งแต่หัวค่ำจนดึกมากนั้น
จิตก็ค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบ และให้บังเกิดนิมิตขึ้นมา
คือเห็นพระพุทธรูปปรากฏขึ้นที่ตัวของท่าน
ประหนึ่งว่า ตัวของท่านเป็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง
ท่านพยายามพิจารณาดูรูปนิมิตนั้นต่อไปอีก
แม้ขณะออกจากที่บำเพ็ญสมาธิภาวนาแล้ว
และขณะออกเดินไปสู่ละแวกบ้านชาวบ้านป่าเพื่อบิณฑบาต
ก็เห็นปรากฏอยู่เช่นนั้น
(หลายสิบปีต่อมาเมื่อมีผู้ถามท่าน
ถึงการปฏิบัติที่เพ่งจนพบพระพุทธรูปในกาย
ท่านจึงตอบได้อย่างมั่นใจว่า ยังเอาเป็นที่พึ่งพาอะไรไม่ได้ - สันตินันท์)
วันต่อมาอีก ก่อนที่รูปนิมิตนั้นจะหายไป
ขณะที่เดินกลับจากบิณฑบาต ก็เห็นปรากฏอยู่เช่นนั้น
ท่านได้พิจารณาดูตัวเอง
ก็ได้ปรากฏเห็นชัดเจนว่า เป็นโครงกระดูกทุกสัดส่วน
วันนั้นจึงเกิดความรู้สึกไม่อยากฉันอาหาร
จึงอาศัยความอิ่มเอิบใจของสมาธิจิตกระทำความเพียรต่อไป
เช่นเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ตลอดวันตลอดคืน
และแล้วในขณะนั้นเอง แสงแห่งพระธรรมก็เกิดขึ้น
ปรากฏแก่จิตของท่านแจ่มแจ้ง
จนกระทั่งท่านสามารถแยกจิตกับกิเลสออกจากกันได้
รู้ชัดว่าอะไรคือจิต อะไรคือกิเลส
จิตปรุงกิเลส หรือกิเลสปรุงจิต
และเข้าใจสภาพเดิมแท้ของจิตที่แท้จริงได้
จนรู้ว่ากิเลสส่วนไหนละได้แล้ว ส่วนไหนยังละไม่ได้ ดังนี้


การปฏิบัติได้ผลเป็นประการใดในครั้งนั้น
ท่านมิได้เล่าบอกใครในพรรษานั้น
เคยเล่าให้ท่านอาจารย์สิงห์ฟังเพียงแต่ว่า
จิตของท่านเป็นสมาธิเท่านั้น
ซึ่งท่านอาจารย์สิงห์ก็ชมว่าถูกทางแล้ว และแสดงความยินดีด้วย
ตัวท่านนึกอยากให้ออกพรรษาโดยเร็ว
จะได้ไปนมัสการพระอาจารย์มั่น และกราบเรียนถึงผลการปฏิบัติ
ทั้งรับคำแนะนำทางปฏิบัติที่ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

(มีต่อ)

40
เขียนไว้เมื่อ วัน พฤหัสบดี ที่ 16 มีนาคม 2543 10:34:55

เราเพิ่งคุยกันเมื่อไม่นานมานี้เองว่า
นักปฏิบัติคุยกันคนละภาษา ก็สามารถสื่อความเข้าใจกันได้
เพราะต่างก็นำเอาสภาวะภายในที่พบเห็นจริงๆ มาคุยกัน
 
ผมเองก็ชอบที่จะสนทนากับนักปฏิบัติด้วยกัน เพราะคุยกันรู้เรื่องดี
อย่างเช่น เราพูดกันถึงเรื่องความมีสติและสัมปชัญญะ
เราก็นึกออกถึงภาวะที่ "ไม่ฝัน ทั้งที่ลืมตาตื่น"
ในขณะที่ผู้ที่ไม่ใช่นักปฏิบัติที่แท้จริงจะเถียงคอเป็นเอ็นว่า
เขามีสติสัมปชัญญะ เขารู้ตัว เขาตื่น จะว่าเขาหลับฝันได้อย่างไร

หรือเมื่อเราพูดกันถึงเรื่องว่า "เรามีสติรู้กิเลสที่กำลังปรากฏ"
นักปฏิบัติจะไม่สงสัยเลยว่า มันเป็นไปได้อย่างไร
ในเมื่อตำราระบุไว้ว่า สติเกิดกับกุศลจิตเท่านั้น
แล้วจะไปรู้อกุศลที่กำลังปรากฏได้อย่างไร

ความจริงตำราเองก็ไม่ผิด เพราะเมื่อใดจิตมีสติสัมปชัญญะ จิตก็เป็นกุศลจิต
เพียงแต่นักปฏิบัติไปพบว่า จิตที่เป็นกุศลนั้น
สามารถไปรู้อารมณ์ที่เป็นอกุศลได้
ทำนองเดียวกับจิตในตติยฌาน ที่เป็นอุเบกขา
แต่มีสติไประลึกรู้อารมณ์ ที่เป็นสุขเวทนาได้
ทั้งที่อุเบกขา กับสุขเวทนา ไม่น่าจะเกิดพร้อมกันได้เลย

ที่เราไม่สงสัยก็เพราะเราพบว่า จิตกับอารมณ์เป็นคนละส่วนกัน
แต่บางครั้ง อารมณ์ก็เข้าครอบงำจิต
บางครั้ง จิตกับอารมณ์จะต่างคนต่างอยู่
เช่นเมื่อเกิดความโกรธขึ้น บางครั้งจิตถูกความโกรธครอบงำ
จิตก็ดิ้นเร่าๆ ไปด้วยอำนาจของความโกรธ เป็นอกุศลจิต
แต่บางครั้งจิตมีสติ สัมปชัญญะ
จิตต่างคนต่างอยู่กับความโกรธ เหมือนดอกบัวที่อยู่กับน้ำ แต่ไม่ติดน้ำ

เมื่อนักปฏิบัติอ่านมหาสติปัฏฐานสูตร
ที่ท่านสอนว่า "จิตมีราคะก็รู้ ไม่มีราคะก็รู้
มีโทสะก็รู้ ไม่มีโทสะก็รู้ มีโมหะก็รู้ ไม่มีโมหะก็รู้"

อ่านแล้วจะไม่สะดุดเลยว่า
ในขณะที่มีกิเลสนั้น ยังมีสติระลึกรู้เข้าไปได้อย่างไร

มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราพบเห็นจากการปฏิบัติ
และลงกันได้อย่างลงตัวกับคำสอนดั้งเดิมทางพระพุทธศาสนา
แต่สิ่งเหล่านี้ หากพูดแพร่หลายไปในวงกว้าง
ก็จะเกิดความขัดแย้งอย่างไม่จบสิ้นกับผู้ศึกษาตำราชั้นหลัง
ซึ่งเป็นเรื่องเสียเวลามากเหลือเกิน ที่จะต้องกางตำราเถียงกัน

ไม่เหมือนการคุยกันในหมู่นักปฏิบัติ ที่พูดกันด้วยหัวใจ
บางทีไม่ทันต้องอ้าปาก ก็เข้าใจกันทะลุปรุโปร่งไปแล้ว

*************************************

เรื่องการกำหนดจิตผิดก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ
ส่วนมากก็เรื่องเผลอ กับเรื่องเพ่ง โดยไม่รู้ทันนี่เอง
จิตจึงไม่สามารถจะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยความเป็นกลาง หรือสักแต่รู้ได้

นักปฏิบัติอย่าไปกังวลสนใจว่า เราจะเดินอย่างไรให้ถูกตรงทุกองศา
ถ้าคิดจะเดินให้ถูก ก็จะผิดทันที เพราะจะเกิดการเสแสร้งแกล้งปฏิบัติขึ้นมา
เช่นการกดข่มจิตใจ การเพ่งจ้อง ฯลฯ
ที่เหมาะที่ควร เอาแค่ว่า อย่าให้ผิด ด้วยการเผลอและการเพ่ง
เมื่อไม่ผิดแล้ว ก็ไม่ต้องไปคิดเรื่องถูก มันจึงจะถูกได้จริง
ถ้ายังคิด ยังทำเรื่องถูก ยังไงก็ไม่ถูกครับ

ดังนั้นเวลาปฏิบัติอย่าไปกังวลใจใดๆ
ให้รู้เท่าทันกายใจของตนไปตามธรรมชาติธรรมดา
ยิ่งเป็นธรรมชาติธรรมดามากเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น
เพราะความจริงแล้ว ธรรมะก็คือเรื่องธรรมดานี่เอง
กิเลสต่างหาก ที่ทำให้การปฏิบัติธรรมกลายเป็นสิ่งยุ่งยากไปหมด


เมื่อวันเสาร์ก่อนผมไปที่วัดป่าเชิงเลน เพื่อกราบเยี่ยมครูบาติ๊ก
ไปเจอผู้หญิงคนหนึ่ง อายุมากกว่าผม เธอเข้ามาถามธรรมะ
เมื่อผมอธิบายถึงสภาวะ "รู้" จนเธอเข้าใจและเห็นตามได้แล้ว
เธอก็อุทานออกมาว่า "ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ
แต่เธอเสียเวลาปฏิบัติ ทำโน่นทำนี่อยู่หลายสิบปี
เพราะไม่มีใครบอกให้เธอลืมตาตื่นต่อธรรมะที่เต็มบริบูรณ์อยู่ต่อหน้าแล้ว"


ดังนั้น จิตมีกิเลส ก็รู้ว่ามีกิเลส
จิตมีกุศล ก็รู้ว่ามีกุศล
จิตตั้งมั่น ก็รู้ว่าตั้งมั่น
จิตไม่ตั้งมั่นเพราะทะยานไปตามแรงผลักของตัณหา ก็รู้ทันมัน
ทำไปเถอะครับ ถ้ารู้ทันจริงๆ แล้ว ไม่ต้องไปคิดเรื่องผิดถูกอะไรหรอก
เพราะบรรดาความผิดทั้งหลายนั้น
มันมาจากความไม่รู้ทันมารยากิเลสที่มาหลอกจิตใจ
จึงไม่เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง
เท่านั้นเอง





41
(ต่อ)
ปัญญาที่อบรมสมาธิ เป็นอุบายวิธีที่ช่วยย่นเวลาทำสมาธิได้อย่างดี
วิธีใช้ปัญญาอบรมสมาธินั้น
ถ้าใครสามารถแยกจิตกับอารมณ์ออกจากกันได้ชำนาญแล้ว
จะรู้สึกว่าทำสมาธิได้ง่ายมาก คือแทบไม่ต้องทำอะไรเลย
เพียงแต่ระลึกรู้นิวรณ์ธรรมที่กำลังปรากฏกับจิต
แล้วเห็นว่านิวรณ์ไม่ใช่จิต จิตเป็นกลาง นิวรณ์ก็จะดับจากจิต
จิตเข้าถึงรู้ ที่เป็นกลาง และสงบเพราะพ้นจากความรบกวนของนิวรณ์ต่างๆ
ถ้าย้อนออกมารู้ภายนอก ก็เป็นการใช้งานของขณิกสมาธิ
ถ้าจะรู้ธรรมละเอียดภายใน ก็ดำเนินไปในอุปจารสมาธิ
หากจะเข้าอัปปนาสมาธิต่อ ก็ทำสติระลึกรู้ลมหายใจต่อไปเลย
หรือถ้าจะเข้าอรูปฌาน ก็ทำสติระลึกรู้ความว่างของจิตต่อไปเลย
เมื่อจิตเคล้าเคลียกับลมหายใจ หรือความว่าง โดยไม่มีการควบคุมแล้ว
จิตก็จะเข้าถึงอัปปนาสมาธิเอง
เป็นภาวะที่เหลือแต่รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้เพียงอันเดียว
จิตจะสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
แต่ทำอะไรไม่ค่อยได้ครับ ดูจะเป็นที่พักเอากำลังเสียมากกว่า


มีอีกวิธีหนึ่งคือ การใช้ความคิดพิจารณาธรรมเอาตรงๆ นี่แหละครับ
เช่นพิจารณาร่างกาย ให้เห็นเป็นธาตุ เป็นอสุภะ หรือพิจารณาความตาย
เมื่อพิจารณาไปแล้ว ถ้าจิตเกิดสลด หรือจิตเห็นจริงในระดับหนึ่ง(ไม่ถึงขั้นเห็นแจ้ง)
จิตจะวางการพิจารณา แล้วรวมสงบเข้ามาเป็นสมาธิเป็นคราวๆ ไป
แต่สมาธิด้วยวิธีนี้มักจะไปได้เพียงอุปจารสมาธิ

และใช้เวลามากกว่าวิธีแรกที่แยกอารมณ์อันเป็นศัตรูของสมาธิออกไปเลย


42
(ต่อ)


ขอบคุณอาจารย์000000 นะครับ ที่ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม
และดีใจกับอาจารย์ด้วยครับ ที่ลูกสาวก็ปฏิบัติตามคุณพ่อ
นับเป็นครอบครัวตัวอย่างที่ดีทีเดียว

ผมเที่ยวศึกษาการปฏิบัติของสำนักต่างๆ หลายสำนักมากครับ
พบว่าแนวทางของแต่ละสำนักจะเหลื่อมกันอยู่เสมอ
แม้แต่สำนักที่มีรากฐานอภิธรรมจากท่านอาจารย์แนบด้วยกัน
พอลงมือปฏิบัติจริงก็ยังเหลื่อมกัน

ผู้ปฏิบัติในทุกๆ สำนัก กระทั่งในสายพระป่าที่ผมเติบโตมา
ส่วนมากจะทำแค่สมถะกันแทบทั้งนั้น
กระท่ังผู้ที่บอกว่ากำลังเจริญวิปัสสนาจำแนกรูปนามอยู่
เอาเข้าจริง ก็เป็นการทำสมถะ แต่นึกว่ากำลังเจริญวิปัสสนา

ทั้งนี้เพราะไม่ได้ เตรียมความพร้อมของจิต ให้ดีเสียก่อนที่จะทำวิปัสสนา
สิ่งที่ทำจึงพลิกจากวิปัสสนาไปเป็นสมถะอยู่เสมอ

จิตที่พร้อมจะดำเนินวิปัสสนาได้นั้น
ต้องมีคุณสมบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้
ปรากฏในบทอุทเทสของมหาสติปัฏฐาน
คือท่านให้มี กายในกาย หรือเวทนาในเวทนา
หรือจิตในจิต หรือธรรมในธรรม เป็น วิหารธรรม
คือเป็นเครื่องรู้ เครื่องอยู่ ไม่ใช่เครื่องจองจำผูกมัดให้จิตสงบนิ่ง

ท่านให้มี อาตาปี คือความเพียรแผดเผากิเลส
มีความอดทนอดกลั้นที่จะปฏิบัติให้ต่อเนื่อง
และไม่ใช่ปฏิบัติเพราะกิเลสตัณหาจูงให้ปฏิบัติ
ด้วยความอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้


ท่านให้มี สัมปชัญญะ หรือความรู้ตัว
ซึ่งตรงนี้ต้องเป็นความรู้ตัวที่ไม่ถูกโมหะหรือความหลงครอบงำจิต
ที่เรียกว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ
ความรู้ตัวนี้แหละครับ ที่มียากที่สุด
ส่วนมากจิตของผู้ปฏิบัติจะมีโมหะแทรกอยู่เสมอ
ไม่รู้ตัว ทั้งที่คิดว่ากำลังรู้ตัว
ฝัน ทั้งที่กำลังตื่น

[size=12pt]
ท่ามให้มี สติ คือความระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

ท่านให้ นำความยินดียินร้ายในโลกออกเสีย
คือรู้อารมณ์ทั้งปวงด้วยจิตที่เป็นกลางจริงๆ

สรุปแล้ว จิตที่พร้อมจะเจริญวิปัสสนานั้น
ต้องเป็นจิตที่รู้จัก รู้อารมณ์ อย่างเป็น "เครื่องอยู่ของจิต"
คือไม่เพ่งจ้องอารมณ์เพื่อ บังคับให้จิตนิ่ง หรือให้อารมณ์ดับไป หรือให้รู้ชัดกว่าปกติธรรมดา
ไม่เผลอหลุดไปในความฟุ้งซ่าน ไม่รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า
จิตต้อง "ไม่ถูกกิเลสครอบงำ"
มี "ความรู้ตัว" ไม่หลง ไม่เผลอ
มี "สติ" ว่องไวรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ด้วย "ความเป็นกลาง" ปราศจากความยินดียินร้าย


จิตที่จะมีคุณภาพเช่นนี้ได้นั้น คือจิตที่มี สัมมาสมาธิ เป็นกำลังสนับสนุน
ตรงจุดนี้อาจารย์กับผมมีความเห็นเหลื่อมกันบ้างนิดหน่อยครับ
ตรงที่อาจารย์ห่วงว่าพวกเราเน้นการฝึกสมาธิมากเกินไป
น่าจะใช้ขณิกสมาธิระลึกรู้รูปนามไปเลย
ในขณะที่ผมเห็นว่า จิตที่ไม่มีกำลังเพียงเท่านั้น
มักจะหลงตามอารมณ์ มากกว่าจะสักแต่ว่ารู้อารมณ์
ทั้งพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงแสดงสัมมาสมาธิด้วยฌาน 4
ในพระอภิธัมมัตถสังคหะ ก็ระบุชัดว่าจิตวิสุทธิ์คืออุปจาระและอัปปนาสมาธิ

แสดงว่าสมาธิที่แนบแน่นกว่าขณิกสมาธิเป็นสิ่งสำคัญ ท่านจึงแสดงไว้เช่นนั้น

เมื่อจิตมีกำลังตั้งมั่น สักว่ารู้อารมณ์ได้แล้ว
คราวนี้ไม่ว่าอารมณ์อันใดปรากฏกับจิต
จิตจึงสักว่ารู้ว่าเห็นได้จริงๆ และเห็นชัดว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ 5
โดยที่ไม่ต้องมีความคิดแทรกปนเข้าไปเลย
แต่เป็นการประจักษ์ชัดต่อหน้าต่อตานั่นเอง

สำหรับผมเองเดี๋ยวนี้ก็ไม่นิยมการเข้าฌานหรอกครับ อย่างมากก็เข้าพักเพียงสั้นๆ
เพราะสามารถใช้ปัญญาสนับสนุนสมาธิได้
คือสามารถแยกอารมณ์อันเป็นข้าศึกของสมาธิออกได้
จิตก็เป็นสมาธิคือตั้งมั่น รู้ อยู่เป็นอัตโนมัติ
เรียกว่าใช้ ปัญญาอบรมสมาธิ
ส่วนมากจึงเจริญสติสัมปชัญญะในชีวิตธรรมดาเหมือนกับที่อาจารย์กล่าวนั่นเอง

แต่ผมก็เห็นชัดเจนว่า ผู้ปฏิบัติส่วนมาก จิตไม่มีความรู้ตัวจริง
ยังหลงอยู่ทั้งที่คิดว่ารู้ตัว ยังฝันอยู่ทั้งที่ลืมตา

เวลาน้องๆ หลานๆ มาขอคำปรึกษา ก็จะแนะให้เขารู้จัก รู้ตัว เท่านั้นเอง
บางคนก็แนะให้ทำสมาธิก่อน แต่ส่วนมากจะแนะวิธีทำจิตให้เป็นสมาธิโดยใช้กำลังปัญญา
เพราะคนเมืองนั้นถ้าไม่มีอุปนิสัยมาก่อน ยากจะเริ่มด้วยแนวทางเจโตวิมุติได้
ทั้งนี้ เพื่อเขาจะสามารถไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันได้
ซึ่งก็จะสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของอาจารย์นั่นเองครับ

(มีต่อ)

[/size]

43
เขียนไว้เมื่อ  24 ส.ค. 2542 / 15:58:14 น.

ผมได้ฟังผู้ปฏิบัติธรรมหลายท่าน
ปรารภกันถึงเรื่อง "ความคิดกับการปฏิบัติธรรม"
บ้างก็สนใจในจุดที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะดับความคิดเสียได้
เพราะความคิดเป็นสิ่งตรงข้ามกับ "รู้" เมื่อหมดความคิดจะได้เหลือแต่ "รู้"
บางท่านถึงกับตราหน้าความคิด ว่าเป็นตัววิปัสสนึก ไม่ใช่วิปัสสนา
เมื่ออยากจะทำวิปัสสนา จึงต้องดับความคิดเสียให้ได้
อย่างไรก็ตาม นักปฏิบัติอีกกลุ่มหนึ่งกลับกลัวว่า
ปฏิบัติแล้ว จะเหลือแต่ "รู้" ไม่มีความคิด
แล้วจะทำให้กลายเป็นคนโง่เขลา หรือสมองฝ่อในภายหลัง


ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า สิ่งที่ปรารภกันส่วนมากนั้น
เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับความคิด ที่สุดโต่งกันอยู่ 2 ด้าน
ระหว่าง "กลุ่มที่ปฏิเสธความคิด" คือไม่อยากให้มีความคิด
กับ "กลุ่มที่กลัวว่าจะหมดความคิด"

ผมขอไม่กล่าวถึงเรื่องที่ว่า  หมดความคิดไปชั่วขณะแล้วจะทำให้โง่
เพราะในความเป็นจริงแล้ว คนเราแทบไม่เคยหยุดคิดเลย  แม้กระทั่งในเวลาหลับ
ยิ่งคนที่พยายามจะไม่คิดนั้น ก็มักจะยิ่งคิดมากขึ้น คือคิดที่จะไม่คิด
ประเด็นที่จะขอกล่าวในที่นี้ จึงตีกรอบไว้เพียงประเด็นเดียว
คือจะกล่าวถึงการปฏิเสธความคิดของนักปฏิบัติ

ที่นักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก ปฏิเสธความคิด
ก็เพราะเคยได้ยินคำสอนที่หลากหลายเกี่ยวกับการไม่คิด
เช่น ในอรรถกถาพระธรรมบท
เล่าถึงพระรูปหนึ่งที่ท่านปรารภว่า
"สังขารทั้งหลายสงบเสียได้ เป็นสุข"
ก็เลยคิดว่าสังขาร รวมทั้งสังขารขันธ์หรือความคิดนึกปรุงแต่ง
เป็นตัวทุกข์ ดับมันเสียได้แล้ว จึงจะพ้นทุกข์

หลวงพ่อเทียน แห่งวัดสนามใน ท่านสอนว่า "คิดเป็นหนู รู้เป็นแมว"
ความคิด พอกระทบ "รู้" ก็ดับวับไป เหลือแต่ "รู้"


นายแพทย์ประเวศ วะสี ท่านกล่าวว่า คิดกับรู้เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน
เมื่อ "รู้" ต่อเนื่อง จิตจะดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
ในขณะที่การคิดนั้น มักจะเป็นเรื่องของอดีตและอนาคต ไม่เป็นปัจจุบัน

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม สุรินทร์ ท่านสอนว่า
"คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดจึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิด"

คำสอนในฝ่ายเซ็น มีเรื่องเกี่ยวกับมหาสุญญตา
อันเป็นเรื่องเหนือความคิดและคำพูด
เช่นเมื่อท่านวิมลเกียรติจะแสดงธรรมสูงสุด
ท่านแสดงด้วยการไม่กล่าวคำพูดใดๆ เลย
ทำให้พระโพธิสัตว์มัญชุศรี กล่าวสรรเสริญว่าท่านแสดงธรรมได้สุดยอดที่สุด
คือ ธรรมที่เหนือความคิดและคำพูด

อีกประการหนึ่ง เรามักได้ยินคำว่า
"วิปัสสนึก" อันหมายถึงการใช้ความคิด ไม่ใช่วิปัสสนา

ผู้ปฏิบัติบางท่านศึกษามากเกินไป จนเกิดสับสนขึ้นเอง
ในเรื่อง ความคิดกับการปฏิบัติธรรม

*****************************************************

ในเวลาที่มีท่านหนึ่งท่านใดถามผมว่า
"ทำอย่างไรจึงจะดับหรือหยุดความคิดได้"
ผมมักจะถามกลับว่า
"คิดจะหยุดความคิดแล้ว
คิดจะหยุดลมหายใจเข้าออกด้วยหรือเปล่า"
ที่ถามเช่นนี้ ไม่ได้ถามด้วยความยียวน
แต่ถามเพื่ออรรถเพื่อธรรมจริงๆ
เพราะตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็ต้องมีลมหายใจอยู่
และตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็ต้องมีความคิดนึกปรุงแต่งอยู่

ความคิดเป็นสังขารขันธ์
พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนว่า "ขันธ์" เป็นทุกข์
เพราะขันธ์ เป็นเพียงขันธ์ เป็นกลุ่ม เป็นกอง
เป็นธรรมชาติธรรมดาของสิ่งที่ประกอบกันเป็นชีวิต
ตัวมันเองไม่มีความทุกข์ความสุขใดๆ หรอก
แต่เมื่อใด จิตเข้าไปยึดมั่นในขันธ์
ขันธ์อันถูกยึดมั่น หรือ "อุปาทานขันธ์" ต่างหากที่คือทุกข์

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรา "รู้ทุกข์" ท่านไม่ได้สอนให้เรา  "ละทุกข์"
สิ่งที่ท่านสอนให้ละคือสมุทัย หรือตัณหา หรือความทะยานอยากของจิต
แต่ผู้ปฏิบัติจำนวนมากกลับ "อยากจะละขันธ์" เพราะเห็นว่ามันเป็นทุกข์


การที่เห็นขันธ์อันเป็นธรรมชาติธรรมดาเป็น ทุกข์
คือความเห็นผิดในเบื้องต้น  เนื่องจากไม่ทราบว่า
ทุกข์คืออะไร และเกิดจากอะไร
ส่วนการปฏิเสธทุกข์ หรืออยากละทุกข์  คือความผิดพลาดในขั้นต่อมา

ถ้าเราเชื่อพระพุทธเจ้า เข้าใจสิ่งที่พระองค์สอน
ก็จะรู้ว่า เราไม่ต้องคิดไปดับความคิด
เหมือนที่เราไม่ควรคิดจะเลิกหายใจ


*************************************************

คราวนี้มาถึงปัญหาที่ว่า  เราจะจัดการกับความคิดอย่างไร

ผู้ปฏิบัติจำนวนมากแยกไม่ออกระหว่างความคิด กับความฟุ้งซ่าน
ความคิดนั้น อาจจะคิดดีก็ได้ คิดชั่วก็ได้
แต่ความฟุ้งซ่านเป็นธรรมฝ่ายชั่ว มันเป็นความหย่อนสมรรถภาพของจิต
จิตถูกผลักดันให้โลดเร่าไปตามกระแสอารมณ์
หากเราจะปฏิบัติธรรม เราจะต้องจัดการขั้นเด็ดขาดกับความฟุ้งซ่าน
เพราะเป็นตัวขัดขวางไม่ให้จิตมีคุณภาพพอที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้
เครื่องมือที่จะใช้จัดการกับความฟุ้งซ่าน คือการทำสมถะ

สมถะ เป็นเครื่องมือจัดระเบียบจิตใจไม่ให้โลดเร่าเกินไป
คือแทนที่ผู้ปฏิบัติจะปล่อยให้จิตโลดเร่าไปเรื่อยๆ
ก็รวมจิตให้ลงมารู้อารมณ์อันเดียว
เมื่อจิตสามารถรู้อารมณ์อันเดียวโดยต่อเนื่องแล้ว
คราวนี้จิตก็พร้อมที่จะเจริญวิปัสสนา
คือรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละอย่าง
ด้วยจิตที่เป็นกลาง พ้นจากความยินดียินร้ายต่อสิ่งที่จิตไปรู้เข้า
ก็จะเห็นธรรมทั้งปวง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

ความคิดก็เป็นธรรมอันหนึ่ง
เป็นกระแสความปรุงแต่งของจิตที่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ไม่คงที่ มีแล้วก็ดับไป
ไม่มีใครเลยที่จะดับความคิดได้ เว้นแต่การตกภวังค์
การเข้านิโรธสมาบัติ และการเข้าอยู่ในภพของพรหมลูกฟัก
ตัวความคิดเอง ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม
แต่การจัดการอย่างไม่ถูกต้องกับความคิดต่างหาก
ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม

เมื่อจิตจะคิด ก็ควรปล่อยให้มันคิดไป
อย่าไปคิดที่จะดับความคิด เพราะจิตจะฟุ้งซ่านเสียเปล่าๆ
แม้แต่มันจะคิดชั่ว คิดจนเกิดกิเลส ก็ไม่ต้องไปห้ามมัน
ให้ทำสติรู้เท่าทันปฏิกิริยาของจิตที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะกระแสความคิดนั้น

จิตมีอกุศล เช่นมีราคะ หรือมีโทสะ  ก็รู้
จิตมีกุศล เช่นไม่มีราคะ หรือไม่มีโทสะ ก็รู้

ถ้าจะเจริญวิปัสสนา ก็อย่าห้ามความคิด
ความคิดจะผันแปรอย่างไรก็ช่างมัน
ขอให้มีจิตที่ตั้งมั่นไม่หลงตามความคิด หรือเสียความเป็นกลางไปก็พอแล้ว
เพราะถ้าจิตซัดส่ายเลื่อนไหลไปตามความคิดและอารมณ์ที่มากระทบ
อันนั้นคือความฟุ้งซ่าน
เป็นภาวะที่ไม่มีทั้งสมถะ และไม่มีทั้งวิปัสสนา


**************************************************

คราวนี้ก็มาถึงปัญหาที่ว่า สิ่งที่ผมกล่าวมานี้
ขัดกับคำกล่าวของพระเถระทั้งในตำราฝ่ายเถรวาท
ตำราฝ่ายมหายาน และผู้ปฏิบัติร่วมสมัยของเราเช่นหลวงพ่อเทียน หรือไม่

ขอเรียนว่า ไม่ได้ขัดแย้งกันเลย
ที่พระเถระครั้งพุทธกาลท่านปรารภถึงความดับสนิทแห่งสังขารนั้น
เป็นภาวะที่เป็น ผล ของการปฏิบัติ
ซึ่งจิตของท่านเข้าถึงความดับสนิทแห่งขันธ์
ส่วนพวกเรากำลังอยู่ระหว่างการปฏิบัติอันเป็นการทำ เหตุ
จะนำธรรมที่เป็นเหตุ กับเป็นผล มาอธิบายปนกันไม่ได้

ธรรมที่เหนือความคิดและคำพูด ที่เซ็น กล่าวโดยไม่มีการกล่าว นั้น
ก็เป็นการอธิบายถึงสิ่งที่เป็น ผล แล้วเช่นกัน

ส่วนสิ่งที่หลวงพ่อเทียน หลวงปู่ดูลย์ และคุณหมอประเวศกล่าวนั้น
ท่านกล่าวเพื่อเตือนสตินักปฏิบัติ ให้รู้จัก "รู้"
โดยสามารถแยก "รู้" กับ "คิด" ออกจากกันได้

"รู้" คือสภาวะจิตที่มีสัมมาสมาธิ มีสติสัมปชัญญะบริสุทธิ์ด้วยอุเบกขา
ซึ่งเป็นจิตที่สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้

หรือจะกล่าวว่า จิตสามารถทำตนเป็นผู้สังเกตการณ์
โดยปราศจากความยินดียินร้ายต่ออารมณ์ได้
ความรู้แท้ทางพระพุทธศาสนานั้น ต้องเกิดจากการที่จิตเป็นผู้สังเกตการณ์
จนเข้าใจความจริงของสังขารธรรมทั้งปวงว่าเป็นไตรลักษณ์
และเข้าใจอริยสัจจ์ซึ่งประจักษ์อยู่กับจิตนั่นเอง

ผู้ที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติ จะคิดเอาง่ายๆ ว่า
จิตของตนเป็นกลาง และมีขณิกสมาธิแล้ว
เพราะสามารถขับรถได้ อ่านหนังสือได้ ก็สามารถเจริญวิปัสสนาได้
ทั้งที่ความจริงในขณะนั้น จิตกำลังหลงอยู่กับอารมณ์ที่จิตไปรู้เข้า
เพียงแต่ไม่รู้ว่า จิตกำลังหลงอยู่


ท่านที่ปฏิบัติมาแล้วอย่างโชกโชน จึงย้ำนักหนา ให้รู้จัก "รู้"
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะสั่งให้พวกเราต้องหัดเข้าฌานก่อน
เพราะทั้งหลวงพ่อเทียน หรือหลวงปู่ดูลย์
ไม่เคยสอนเรื่องการเข้าฌานเลย
(ทั้งที่หลวงปู่ดูลย์ เป็นพระที่ชำนาญในสมาบัติต่างๆ สูงมาก)
มีแต่สอน ให้เจริญสติสัมปชัญญะในชีวิตจริงๆ ของเรานี่แหละ
แต่ภาวะที่จิตมีสติสัมปชัญญะจริงๆ หรือจิตรู้นั้น
ไม่เหมือนกันเลยกับจิตที่กำลังหลงไปตามความคิด


ตัวอย่างเช่น ผู้ปฏิบัติบางท่านเดินจงกรมอยู่
จิตเคลื่อนออกไปเกาะอยู่ที่เท้าบ้าง
ไหลไปในความคิดเรื่องการเคลื่อนไหวเท้าบ้าง

หรือบางท่านนั่งอยู่ พอเมื่อยอยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ
ก็คิดบรรยายอาการจิตตนเองว่า  "อยากเปลี่ยนอิริยาบถ"
แล้วตั้งคำถามตนเองว่า "ทำไมจึงอยากเปลี่ยนอิริยาบถ"
แล้วก็ตอบตนเองว่า "เพราะจำเป็นต้องเปลี่ยนอิริยาบถ"
พอคิดตามสูตรเสร็จแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ
เหล่านี้ เป็นการปฏิบัติที่ยังเจือด้วยความคิดทั้งสิ้น
เป็นการสร้างภาระให้จิตต้องคิด ต้องทำงาน
แทนที่จิตจะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์สภาพธรรมที่กำลังปรากฏขึ้น

เรื่อง "รู้" เป็นเรื่องที่อธิบายด้วยตัวหนังสือยากที่สุด
แต่ถ้าสามารถ "รู้" ได้แล้ว การปฏิบัติจะเป็นเรื่องง่ายไปหมด
เพราะสามารถกระทำต่อเนื่องได้ตลอดเวลาที่ยังตื่นอยู่

หลวงปู่ดูลย์ ท่านจึงสอนว่า "คิดเท่าไรก็ไม่รู้"
เพราะถ้าหลงอยู่ในโลกของความคิด
ก็ไม่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
ท่านสอนอีกว่า "ต้องหยุดจึงจะรู้"
ตรงนี้ท่านไม่ได้สอนให้เรา "คิดที่จะหยุดคิด"
แต่เมื่อเจริญสติสัมปชัญญะอย่างถูกต้องไปถึงจุดๆ หนึ่ง ขันธ์จะดับลงชั่วขณะ
ตรงนั้นแหละเมื่อผ่านแล้วจิตจึงย้อนทวนพิจารณา
ก็จะเข้าใจธรรมทั้งฝ่ายที่เกิดดับ และฝ่ายที่ไม่เกิดไม่ดับ

ที่สำคัญ หลวงปู่ดูลย์ ยังสอนประโยคสุดท้ายที่เราชอบลืมกันว่า
"แต่ก็ต้องอาศัยคิด"
คือเราต้องปล่อยให้จิตคิดไป จิตรู้ไป
จิตก็จะเห็นปฏิกิริยาของจิต เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นกลางบ้าง
เกิดความยินดียินร้ายขึ้นบ้าง
เห็นมากเข้า ก็จะเห็นความไม่มีสาระแก่นสารของธรรมที่เกิดดับเหล่านั้น
แล้วจิตก็จะปล่อยวางธรรมเหล่านั้น
เข้าถึงธรรมที่เหนือความคิดนึกปรุงแต่ง 

*************************************************************

สรุปแล้ว ผู้ปฏิบัติไม่ควรรังเกียจความคิด คิดไปเถอะครับ
(แต่ไม่ใช่คิดจนฟุ้งซ่าน คือจิตวิ่งหลงตามความคิดไป)
และที่สำคัญก็คือ ต้องรู้จัก "รู้" ให้ดี
เพราะถ้าไม่มี "รู้" จิตจะหลงไปตามความคิดทันที
และไม่สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยความเป็นกลางได้เลย


(มีต่อ)


44
(ต่อ)


ขอบพระคุณทุกท่านครับ ที่มองผมด้วยความเมตตาเจตนาจริงๆ ต้องการบอกน้องๆ รุ่นใหม่ๆ เท่านั้นว่า
การปฏิเสธสิ่งที่ประสบการณ์ของเรายังเข้าไม่ถึงนั้น น่าจะไม่ถูกต้องทั้งหมดแต่น่าจะแขวนเรื่องนั้นไว้ก่อน
เรื่องพระธาตุจริงๆ ไม่เกี่ยวกับเรื่องมรรคผลนิพพาน  แต่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เราเห็นว่า
พลังงานบางอย่างมีอยู่แล้ว ผมก็ไม่ได้มุ่งหวังจะใช้เรื่องนี้พิสูจน์เรื่องชาตินี้ชาติหน้า
สิ่งสำคัญที่สุดคือการปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ในปัจจุบันแต่ก็ไม่อยากให้ดูถูกภูมิปัญญาของท่านที่สืบทอด
พระไตรปิฎกจนมาถึงมือรุ่นของเรา

ถ้าเราใช้วิธีอ้ำอึ้ง หลีกเลี่ยงการตอบเสียทุกคน นานไปคนก็จะยิ่งคลางแคลงมากขึ้นทุกทีราวกับว่าภูมิรู้เหล่านั้น ไม่มีจริงเอาเสียเลย
ความจริงอย่าว่าแต่เรื่องพระธาตุเลย แม้แต่เรื่องอภิญญาก็ยังมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี ที่ดาษดื่นมากก็เช่นเรื่องเจโตปริยญาณและอนาคตังสญาณ
ที่ถึงขั้นลอยตัวได้ก็มี องค์หนึ่งที่ผมรู้จักเวลาท่านเข้าสุญญตสมาบัตินั้น บางครั้งร่างกายหายไปเลย ที่เล่านี้ไม่ต้องการให้เชื่อ
เพราะถ้าเชื่อโดยไม่ได้พิสูจน์ก็คือไม่ฉลาด และไม่ใช่ทางของมรรคผลนิพพานด้วย แค่จะบอกว่า สิ่งที่ประสบการณ์เราเข้าไม่ถึงน่ะ
แขวนไว้ก่อนดีกว่า อย่าด่วนตำหนิว่าพระไตรปิฎกเป็นนิทานหลอกเด็กอย่างแน่นอน

****************************************************

เรื่องกายทิพย์จริงๆ ไม่มีหรอกครับ เพียงแต่จิตเมื่อต้องการสื่อสารกับผู้อื่น หรือแสดงตัวเองออกมา มันสามารถสร้างรูปขึ้นมาได้
ไม่ใช่ว่าพอตาย กายทิพย์ออกจากร่างไปเกิดใหม่นะครับ ส่วนเรื่องระลึกชาตินั้น จริงๆ แล้วจิตมีคุณสมบัติที่จะเก็บความจำ (สัญญา)
บางส่วนไว้ได้ เมื่อจิตสงบในระดับหนึ่งที่ไม่ลึกเกินไป จนถึงระดับฌานแล้ว ถ้าจิตนั้นมีความสนใจใคร่รู้ มันจะขุดคุ้ยเข้าไปที่ฐานข้อมูล
ผมไม่ทราบว่าตรงนั้นภาษาปริยัติจริงๆ เรียกว่าอะไรแต่พวกนักปฏิบัติมักเรียกว่า ภวังค์ พระอริยบุคคลบางรูป จะระลึกได้มาก
แต่คนทั่วไป บางคนพอจะระลึกได้บ้าง แต่จะจำได้เฉพาะเรื่องที่รุนแรงมากๆ เช่นเรื่องที่เคยเป็นใหญ่เป็นโต หรือเคยตกต่ำถูกไล่ฆ่า เป็นต้น

************************************************************************************
ผมว่าจะไม่พูดเรื่องนี้อีกแล้ว เพราะไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ แต่เมื่อท่านถามก็จำต้องเล่าให้ทราบครับ
ผมก็สวดมนต์ไหว้พระนั่งสมาธิธรรมดาแหละครับ ไม่มีพิเศษอะไรเลย ที่จริงแล้วพลังงานที่เปลี่ยนกระดูกนั้น
เป็นของท่านเจ้าของครับ ผมเคยสังเกตว่า กระดูกของพระที่มีศีลธรรมมักจะดูหมดจด
แม้จะไม่ถึงขั้นเป็นพระธาตุก็ตามซึ่งอาจจะเป็นได้ 2 ทางคือ ทางแรกพลังงานของจิตที่บริสุทธิ์ได้ฟอกธาตุให้ขาว
ขึ้นเพราะเวลาจิตสงบ หรือถ้าจิตรู้ตัวจริงๆ จะมีแสงสว่างออกมามากมันอาจฟอกร่างกายได้

อีกทางหนึ่งอาจเป็นเรื่องทางวัตถุ คือคนที่จิตเบิกบานปล่อยวางนั้น ร่างกายมีความสงบสบาย กระดูกเลยสะอาดส่วนคนอารมณ์ร้าย กิเลสหนา
ร่างกายอาจปล่อยสารพิษออกมาก็ได้กระดูกจึงไม่สะอาด (เช่นคนร้องไห้เพราะทุกข์โศก มักจะตาบวมแดง เพราะมีสารพิษแต่คนที่น้ำตาไหลเพราะผงเข้าตา
ถ้าไม่ขยี้ก็ไม่บวม เคยอ่านหนังสือของหมอเขาว่าพออารมณ์ร้าย ก็มีสารพิษขึ้นในกาย) ผมว่าพวกเราบุญทุกคนแหละครับที่ได้เจอพุทธศาสนา
แล้วสนใจศึกษากันจะเป็นปริยัติหรือปฏิบัติ ก็เป็นประโยชน์ต่อตัวเราและต่อศาสนาทั้งนั้นแล้วก็บุญที่ได้มาเจอญาติพี่น้องที่สนใจธรรมในกลุ่มห้องสมุดนี้ด้วย

*********************************************************************************

ผมดีใจที่น้องๆ จะสนใจพิสูจน์พุทธศาสนาให้กระจ่างไปเลยเพราะผมทราบว่า ธรรมชาติของปัญญาชนรุ่นใหม่นั้นต้องการ
ความชัดเจนอย่างถึงที่สุด  การที่สงสัยว่าพระไตรปิฎกเป็นนิทานหลอกเด็ก หรือสงสัยว่ากฏแห่งกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด
เป็นแค่เครื่องมือทางจริยธรรมหรือสงสัยว่าอภิญญาต่างๆ เป็นแค่การเพิ่มสีสันในพระไตรปิฎกแล้วอาจพาลไปสงสัยพระปัญญาตรัสรู้เข้า
ในที่สุดมันก็น่าสงสัยจริงๆ ครับ เมื่อก่อนผมก็สงสัยเหมือนน้องๆ นั่นแหละแล้วก็ลงมือปฏิบัติธรรมเอาเป็นเอาตายเพื่อพิสูจน์ความจริง
จนกล้าสรุปว่า พระธรรมคำสอนของท่านถูกต้องแท้จริง อริยสัจจ์นั้น เป็นธรรมที่ไม่มีสิ่งต่อต้าน แม้แต่สิ่งลึกลับ จริงๆ ไม่ได้ลึกลับเลย
แค่คนทั่งไปยังเข้าใจไม่ถึงเท่านั้นเหมือนที่เจ้าคุณประยุติ กล่าวไว้เปี๊ยบเลย

มีวิธีปฏิบัติอย่างหนึ่งที่ทำได้ไม่ยากนักเป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพานด้วยมีของแถมให้เข้าใจเรื่องภพภูมิ กฎแห่งกรรมและอภิญญาด้วย
ที่สำคัญไม่ต้องเข้าสมาธิลึกถึงขั้นฌานด้วยนั่นคือ "จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน"หากแต่ละคนพากเพียร "ดูจิต" ตนเองเรื่อยไป
จนอ่านจิตตนเองออกแล้ว ก็จะอ่านจิตคนอื่นออกด้วยเช่นรู้ว่าจิตของตนมีราคะ โทสะ โมหะ หรือไม่มีรู้ว่าจิตสงบ หรือฟุ้งซ่าน
และรู้อารมณ์ทั้งปวงที่กำลังปรากฏต่อมาเราแผ่ความรู้สึกให้กว้างขึ้น เราก็จะรู้อารมณ์จิตของคนอื่นได้ด้วยไม่ยากเลยครับ
และเมื่อรู้จิตคนอื่นที่เป็นๆ ได้แล้วการจะระลึกรู้จิตคนที่ตายไปแล้ว ก็ไม่ยากเพราะคนเป็นกับคนตายมีขันธ์ 5
เหมือนกันแม้รู้จะไม่มีธาตุ 4 ให้เราเห็นได้ด้วยตาและเราไม่มีทิพยจักษุที่จะดูรูปละเอียดแต่ในส่วนของนามธรรมนั้น เป็น
อันเดียวกันเลยเราสามารถรู้ได้ไม่ยากถ้าตายแล้วสูญ เขาย่อมไม่มีนามธรรมนั้นเหลืออยู่
แต่เมื่อดูจิตตนเองเป็นแล้ว อย่าเอาแต่รู้ภายนอกนะครับงานใหญ่คืองานปลดเปลี้องจิตตนเองออกจากทุกข์

*********************************************************************************

ผมเห็นว่าสิ่งที่ผมเขียนไว้ยังไม่สมบูรณ์อีกส่วนหนึ่งคือเมื่อเฝ้าเจริญสติรู้จิตตนเองเรื่อยๆ ไปนั้น
อันนั้นดีที่สุดเพราะตรงทางพุทธศาสนา แต่ถ้าจิตเกิดส่งออกรู้ภายนอก บางครั้งอาจเห็น
สิ่งที่น่ากลัวต้องมีหลักให้ดีครับ คือถ้าไม่อยากเห็นมันก็ย้อนกลับมาดูจิตตนเองหาก
มันเป็นภาพหลอนที่จิตสร้างขึ้น พอย้อนออกไปดูใหม่มันจะหายไปแล้วหากไม่หายไป
ถ้ากลัวก็กลับเข้ารู้ตัวไว้ ไม่มีอันตรายหรือถ้าจะใจดีแผ่เมตตาก็ได้ สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่
การเจริญสติสัมปชัญญะเฝ้ารู้จิตตนเองเรื่อยๆ ไปครับเพียงแต่มีผลพลอยได้ในการพิสูจน์ถึง
สิ่งอื่นด้วย(เฉพาะคนช่างสงสัย)คงจบกระทู้นี้ได้แล้วล่ะครับเพราะสิ่งที่อยากบอกก็บอกน้องๆ
ไปหมดแล้วนับตั้งแต่

(1) อย่าเชื่อหรือปฏิเสธสิ่งที่ยังพิสูจน์ด้วยตนเองไม่ได้
(2) การเจริญสติปัฏฐานเพื่อความพ้นทุกข์ ในส่วนที่ง่ายต่อการพลิกแพลงมาพิสูจน์สิ่งที่เราลังเลสงสัยอยู่

ขอบคุณครับ


45
เขียนไว้เมื่อ 8 มิ.ย. 2541


การปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น มีการเปลี่ยนแปลงทางจิตอย่างอัศจรรย์ที่สุดแต่เป็นเรื่องที่ผู้อื่นรับทราบ
ได้ยากเช่นเรื่องการบรรลุมรรคผลนิพพานเพราะเป็นความรับรู้เฉพาะตัว คนอื่นรู้ด้วยไม่ได้แต่ถ้าจะพิสูจน์แค่ว่า
ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาแล้วพ้นทุกข์ได้ถ้าแค่นี้ก็ท้าให้ผู้สงสัยลองปฏิบัติดูได้เสมอครับ

หรืออย่างเรื่องนรก สวรรค์ ชาติก่อน ชาติหน้า ผี เทวดาก็เป็นเรื่องที่เถียงกันไม่จบใครเคยมีประสบการณ์ที่ทำให้เชื่อ
ก็เชื่อใครเคยมีประสบการณ์ที่จะไม่เชื่อ ก็ไม่เชื่อและเวลานี้ พวกเราก็ตั้งกระทู้ทำนองนี้มากมายแล้วก็เถียงกัน
ไม่มีข้อยุติบางคนประกาศว่ามี บางคนพูดอ้อมๆ แบ่งรับแบ่งสู้ บางคนประกาศว่าไม่มี


ที่จริงมันไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าเรื่องทุกข์และการดับทุกข์หรอกครับแต่ผมเป็นห่วงว่า บางท่านสรุปเร็วไป
ถึงขนาดระบุว่ากฎแห่งกรรม หรือเรื่องชาตินี้ชาติหน้า เป็นเครื่องมือให้คนเชื่อแล้วสังคมจะได้เรียบร้อยหรือ
ปฏิเสธพระไตรปิฎกบางส่วน ว่าเป็นนิยายหลอกเด็กไปเลยซึ่งถ้าปฏิเสธเรื่องผีและเทวดา ชาติก่อน และ
ชาติหน้าพระวินัยบางข้อก็ต้องยกเลิก เช่นในข้อที่ห้ามฆ่าโอปปาติกะพระสูตรจำนวนมาก ต้องยกเลิกไป
ส่วนพระอภิธรรมก็เป็นเรื่องแสดงให้เทวดาฟัง ยิ่งไปกันใหญ่ผมเสียดายพระไตรปิฎกเหล่านี้ครับ


เมื่อเรื่องลึกลับทางจิตใจนั้น พิสูจน์ให้เห็นได้ยากผมจึงขอเสี่ยงเล่าถึงสิ่งที่เป็นของแปลก แต่เป็นรูปธรรม
สักเรื่องหนึ่งเพื่อให้พวกเราบางคนใช้ความไตร่ตรองมากขึ้นก่อนที่จะกล่าวว่า พระไตรปิฎกเป็นนิยาย นิ
ทาน อะไรนั่นเพราะในพระพุทธศาสนานั้น ยังมีสิ่งที่เราไม่เข้าใจอยู่อีกมาก


นั่นคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของนักปฏิบัติธรรมบางท่านที่กระดูกของท่านตกผลึกเป็นแก้ว
เรื่องนี้คนทั่วไปรู้เห็นได้ด้วยนะครับทั้งมีพยานวัตถุและบุคคลเป็นจำนวนมากในยุคนี้แต่ผมก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่า
 เกิดจากอะไร แต่ยืนยันว่ามีแน่และเกิดเฉพาะท่านที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเท่านั้น


ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของกระดูกเป็นผลึกแก้วมีดังนี้ครับ

1. กระดูกส่วนที่มีรูพรุนๆ จะเป็นเร็วกว่ากระดูกแข็ง
2. มีการเปลี่ยนแปลง 2 ด้านคือ

2.1 การเปลี่ยนแปลงจากภายในกระดูก จะมีคล้ายๆ น้ำใสๆ (แต่ไม่ใช่น้ำ และไม่ใช่ของเหลวด้วย)
ค่อยๆ ผุดขึ้นจากรูพรุน พร้อมกับไล่ฟองอากาศภายในกระดูกออกมาด้วย
2.2 การเปลี่ยนแปลงจากพื้นผิวภายนอก จะเกิดคล้ายๆสารเคลือบขาวๆ คล้ายกระเบื้องเคลือบ
เคลือบตามผิวภายนอก จากนั้นจึงค่อยๆ ใสขึ้นจนเป็นผลึก
2.3 กระดูกที่พรุนๆ และมีเหลี่ยมมีมุม จะค่อยๆ ยุบตัวลง จนมน และกลม


เส้นผมก็รวมตัวได้ครับ คือจะรวมตัวเป็นกระจุกก่อน แล้วค่อยอัดตัวเป็นเม็ดทีหลัง


การแปรสภาพนี้ เร็วบ้าง ช้าบ้าง ไม่เท่ากันในแต่ละท่านผู้ที่มาพบภายหลังการแปรสภาพแล้ว
มักจะไม่เชื่อว่านั่นคือกระดูกจริงๆผมเคยเห็นอัฐิของหลวงปู่มั่นชิ้นหนึ่งที่วัดป่าสุทธาวาสเมื่อ 15 ปี
ก่อนยังเป็นแก้วครึ่งท่อน เป็นกระดูกครึ่งท่อนขณะนี้เปลี่ยนเป็นแก้วทั้งท่อนแล้ว ใครเห็นก็อาจไม่
เชื่อว่าเป็นกระดูกจริงๆ


ผมจึงยอมเสี่ยงเล่าเรื่องนี้เพื่อบอกพวกเราว่า อย่าเพิ่งรับหรือปฏิเสธอะไรง่ายๆ เลยในพระพุทธศาสนาโดย
เฉพาะเรื่องของจิตนั้น มีสิ่งลึกซึ้งอยู่มากแค่กระทั่งเรื่องกระดูกตกผลึกในท่านผู้ปฏิบัติดี
เรายังไม่รู้กันเท่าไหร่เลยทั้งที่มีอยู่มากมายในหมู่พระป่า


ขณะนี้ผมไปได้อัฐิชิ้นหนึ่งของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้งมาจากท่านผู้อาวุโสสูงในวงปฏิบัติกรรมฐาน
องค์หนึ่งได้มาราวๆ 1 เดือนนี้เอง ตอนที่ได้มาท่านเก็บไว้ในขวดโหลยังเป็นชิ้นกระดูกธรรมดาดำๆ
แต่ขณะนี้กำลังแปรสภาพอย่างรวดเร็วครับใครอยากเห็นกระดูกในระหว่างการตกผลึกก็นัดมาขอดูได้ที่บ้านผม

ที่เล่ามานี้ก็ตามประสบการณ์ท่านจะว่าโง่งมงายก็สุดแล้วแต่ท่านครับและความจริงเรื่องของภพภูมิต่างๆ
 ก็พอจะพิสูจน์ได้แต่ลำบากตรงที่ว่า ไม่ใช่คนทำสมาธิทุกคนจะรู้เห็นได้

(มีต่อ)


Pages: 1 2 [3] 4 5 ... 8