เคล็ดวิชาดูจิต

ให้รู้สิ่งที่ปรากฎด้วยจิตที่เป็นกลาง

Link : dhammada.net | สันติธรรม | กระดานข่าววิมุตติ | ลานธรรมเสวนา |
วันวานที่สนทนาประสาเพื่อน | wimutti.net |

 

 

 
 

หมอกำพล

รู้เพ่ง รู้เผลอ

จากประสบการณ์การเจริญสติโดยการกำหนดรู้ไปตามกายเคลื่อนไหว เมื่อทำจนชำนาญ ผูกกายติดกับใจได้แล้ว กายทำอะไร ใจทำด้วย มีความเป็นเองเกิดขึ้น ครั้งใดที่มีการเคลื่อนไหวของกายทั้งหยาบ (เดิน ยืน นั่ง นอน) ทั้งละเอียด (คู้แขนเข้า เอามือออก หยิบจับ กระพริบตา กลืนน้ำลาย หายใจเข้า หายใจออกเป็นต้น) จะมีความรู้สึกตัวเกิดได้อย่างง่ายดาย และสามารถออกจากความคิด ความคิดดับไปได้ เมื่อจิตมีความตั้งมั่นอยู่กับความรู้สึกตัว เราจะสามารถเห็นความคิดได้ที่ผุดเกิดขึ้นมาได้ทันท่วงที ก่อนที่จะมีการปรุงแต่งที่ยืดยาวกว่านั้น
ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า ต้องให้รู้เท่าทันความคิด ถ้าเราไม่รู้ ไม่เห็นความคิด หรือรู้ไม่ทันความคิดจะลำบากมาก เพราะในความคิดหนึ่งๆ เมื่อเห็นความคิด (มีความสัมผัสรู้อยู่ด้วย) เราจะพบความสกปรก ความปนเปื้อนใน ความคิดนั้นๆ ความคิดเป็นตัวทุกข์ครับ เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ให้ทัน ขณะเดียวกัน ความคิดเป็นเหตุนำมาหรือเป็นที่ปรากฏของการปรุงแต่งทางจิต นั่นคือตัวสมุทัย อันเป็นสิ่งที่ต้องละ การเห็นความคิดที่เป็นลักษณะที่เรียกว่ารู้แบบดู ไม่เข้าไปอยู่ รู้แบบเห็น ไม่เข้าไปเป็น นั้นเป็นทั้งการกำหนดรู้ และเป็นทั้งละ ความคิดดับ การปรุงก็ดับ ความเบาสบายก็อยู่ตรงนั้นแหล่ะครับ สิ่งสำคัญคือความรู้สึกตัวของเราจริงๆ (ซึ่งเป็นสิ่งสากล) เป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่เราต้องจูนคลื่นหาเอาเองครับ ด้วยเทคนิคที่เราถูกใจ ของใครก็ของใคร
12 ก.ค. 2545

ดู-เพ่ง-รู้

ขณะนี้ที่เป็นอยู่คือ รู้สึกตัวเฉยๆ อยู่ เมื่อมีอารมณ์ ความคิดใดๆ แล้วจิตเข้าไปรู้ความคิดหรืออารมณ์นั้น เราก็จะเห็น อาการที่จิตเข้าไปรู้ปรากฏการณ์นั้นๆ ได้ แต่ไม่ทุกครั้ง บางทีเห็นอาการขยับ หรือไหวตัวของจิต บางทีมีความคิดสำเร็จรูปแล้วจึงเข้าไปรู้ก็มี อาการที่รู้ บางทีรู้แบบเข้าไปจับดู แต่เมื่อเห็นอาการที่จิตเข้าไปรู้แบบจับ (ในภาษาที่ใช้คือรู้แบบเข้าไปอยู่ เข้าไปเป็น ซึ่งรู้แบบนี้เราจะรู้สึกได้ถึงความร้อนหรือความหนักของอารมณ์นั้นๆ โดยเฉพาะความไม่พอใจเป็นต้น ถ้ายิ่งจับ หรืออยู่นานเท่าไหร่ อารมณ์นั้นยิ่งดับช้าและเราก็จะร้อนอยู่นานตามไปด้วย อารมณ์นั้นๆ จะไม่สามารถแสดงธาตุแท้ของเขาคือไตรลักษณ์ให้เราเห็นได้ ยิ่งรู้แบบจับ-อยู่ถ้าเป็นอารมณ์ที่พอใจเราก็จะเพลิน(นันธิ) โอกาสในการปรุงแต่งเป็นอย่างอื่นต่อไปยิ่งมากครับ)
เราจะพบอาการที่จิตปล่อยอารมณ์นั้นๆ ออกมารู้อยู่เฉยๆ สิ่งปรากฏนั้นก็จะดับไปในขณะใกล้เคียงกันนั้น เราจึงสัมผัสรู้ได้ว่าความแตกต่างระหว่างการรู้แบบเข้าไปอยู่ กับการรู้แบบเห็นหรือดูเฉยๆ เป็นอย่างไร สิ่งสำคัญคือเราเห็นขบวนการทำงานของจิตได้ชัดเจนขนาดใหน ผมเข้าใจว่าขึ้นกับเรามีความรู้สึกตัวที่เป็นความรู้สึกตัวจริงๆ ที่เป็นกลางจริงๆ หรือไม่ เพราะถ้าเป็นความรู้สึกตัวจริงๆสิ่งปรากฏนั้นจะตั้งอยู่ไม่ได้เพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เขาเกิดหมดไป เหมือนขโมยที่แฝงมากับความมืด เมื่อเราเปิดไฟสว่างขโมยก็อยู่ไม่ได้ฉันนั้นเหมือนกัน การที่ขโมยมันจะไปช้า ไปเร็วเป็นเพราะเราเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสภาวะธรรมนั้นๆ เองต่างหาก ไตรลักษณ์จึงไม่ปรากฏ จิตก็เลยไม่ได้รู้ธรรมชาติที่แท้จริงของสภาวะธรรมนั้นๆ พอใจ ก็คลุกคลีอ้อยอิ่ง ไม่พอใจก็ผลักใส เป็นอยู่เช่นนี้แล้วๆ เล่าๆ
ผมเจริญสติโดยใช้เทคนิคของหลวงพ่อเทียน คือให้รู้สึกอยู่กับกายเคลื่อนไหวจนชำนาญดีพอแล้วจึงตั้งเป้ามาดูความคิด หรือดูจิตหรือดูอารมณ์ โดยใหม่ๆ แล้วพอเราเห็นความคิดหรืออารมณ์ จิตเราจะต้องเข้าไปจับ (เพื่อสิกขา) เพราะมันยังไม่รู้ในสิ่งปรากฏนั้น หรืออีกคำอธิบายหนึ่งก็คือสติเรายังไม่เข้มแข็งพอที่จะตั้งหลักดูเฉยๆ อยู่ได้ มันจึงถูกอารมณ์นั้นๆ ดูดเข้าไป ในการเข้าไปจับหรือรู้อารมณ์ใหม่ๆ จะเป็นผู้เป็นอยู่พักหนึ่ง ขณะนั้นตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา ก็จะอยู่ในนั้นด้วยจนกว่าเราจะถอน หรือวางอารมณ์นั้นออกมาเป็นผู้เห็นหรือผู้ดูได้ ตัวตนของเราก็จะหมดไป ทุกข์เราจะลดลงจริงๆ ก็ตรงนี้แหล่ะครับ
โดยปกติแล้วกิริยาใดๆที่เกิดทางวาจาหรือทางกาย ต้องมีความคิดเกิดขึ้นก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นกุศล-อกุศล หรือกลางๆ ตัวที่จะทำให้เกิดสุขหรือทุกข์ก็คือความคิดนี้แหล่ะครับ โดยเฉพาะทุกข์ใจ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่กระตุ้นให้คนเราหันมาสนใจศึกษาพุทธศาสนาและลงมือปฏิบัติธรรมกันในที่สุด (เป็นส่วนใหญ่)
ความคิดที่เกิดแต่ละครั้งต้องมีเหตุปัจจัยให้เกิด ผ่านการกระทบสัมผัสทางอายตนะ มาปรากฏทางมโนทวาร เป็นต้น แต่ละความคิดที่เกิดหากเราไม่ศึกษา (สิกขา) ให้ดี เราจะเห็นความคิดเป็นดุ้น เป็นก้อน มีตัวตน อยู่ในความคิด มีเราอยู่ในความคิด ความคิดเป็นเรา
เมื่อเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ จะพบว่า ความคิดนั้นไม่ได้เป็นดุ้นๆ อย่างที่เราเข้าใจ มันมีส่วนประกอบที่เกิดขึ้นอยู่ คือตัวรู้อันหนึ่ง อาการที่เข้าไปรู้อันนึง และความคิดเป็นอีกอันหนึ่ง รวมทั้งอารมณ์ก็เป็นอีกส่วนประกอบหนึ่งด้วย
30 ก.ย. 2545

ทางตรง

ใหม่ๆ ที่ผมฝึกก็เป็นอย่างนั้นบ้างเหมือนกัน เมื่อรู้ว่ามันเคลื่อนเอง เราควรจะหยุดเพื่อตั้งหลักใหม่ครับ เพราะการเคลื่อนที่เป็นอัตโนมัตินั่นไร้ซึ่งเจตนา คือหลงนั่นเองครับ ใหม่ๆ จึงต้องใส่เจตนา (เบาๆ) ที่จะเคลื่อนแต่ละครั้ง โดยเทคนิค ให้เคลื่อนแบบสบายๆ เคลื่อนหยุด เคลื่อนหยุด อย่าให้มันไหลเป็นรู้ต่อเนื่อง ใส่เจตนาเล็กๆ เข้าไปด้วย ให้รู้เบาๆ คราวใดที่รู้ว่าคิดให้กลับมาสนใจอยู่ที่การเคลื่อนไหว หลวงพ่อคำเขียน บอกให้อมยิ้มในใจ หรือยิ้มๆ ที่ใบหน้าไปด้วยก็ได้ เรากำลังทำความดีอยู่ครับ ไม่ใช่กำลังแข่งขัน หรือจะให้มันได้ หรือมันเป็นอะไร
4 ส.ค. 2545

 

Copyright http://se-ed.net/yogavacara 2005 All rights reserved.
yogavacara@hotmail.com