เคล็ดวิชาดูจิต

ให้รู้สิ่งที่ปรากฎด้วยจิตที่เป็นกลาง

Link : dhammada.net | สันติธรรม | กระดานข่าววิมุตติ | ลานธรรมเสวนา |
วันวานที่สนทนาประสาเพื่อน | wimutti.net |

 

 

 
 

สุรวัฒน์

หลักการภาวนา

พอขุ่นข้องใจขึ้นก็เพียงแค่รู้เท่านั้น ไม่ต้องวิเคราะห์หาเหตุ จะอีกนานแค่ไหน ก็เพียรรู้มันไว้เท่านั้นเอง ก็แค่รู้ว่ามีความปรุงแต่ง หรือรู้ว่าจิตยินดียินร้ายก็ได้ รู้ไปอีกเดี๋ยวมันก็ดับ เป็นไปตามกฎอนิจจัง รู้ไปเรื่อยๆ จนฉลาดพอที่จะปล่อยวางมันลงไปได้ ความฉลาดที่เกิดจากการรู้ มันยิ่งกว่าที่เกิดจากความคิด-วิเคราะห์ มันสามารถปล่อยวางได้อย่างแท้จริง ดังนั้นกิจเดียวที่พึงทำคือ รู้
หลักการภาวนา....เราไม่ได้พากันมาภาวนาเพื่อทำจิตให้ดี จิตย่อมมีทั้งดีและไม่ดีไปตามเหตุปัจจัย ที่ต้องทำก็คือ จิตดีให้รู้ว่าจิตดี จิตไม่ดีก็ให้รู้ว่าจิตไม่ดี หยุดหานั้นดี แต่อย่าหยุดรู้
18 พ.ย. 2546

การดูจิต

ต้องฝึกทำให้จิตรู้อารมณ์อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่บังคับให้จิตรู้นั่นรู้นี่ มีสิ่งใดหรืออารมณ์ใดปรากฏเด่นชัดก็ให้รู้สิ่งนั้น รู้แล้วไม่แก้อารมณ์ รู้แล้วไม่เพ่งใส่อารมณ์ รู้แล้วไม่บังคับจิตไว้กับอารมณ์ รู้แล้วไม่บังคับจิตให้ออกจากอารมณ์หนึ่งไปรู้อีกอารมณ์หนึ่ง แล้วจิตก็จะรู้อารมณ์อย่างเป็นธรรมชาติหรือรู้อารมณ์อย่างมีความรู้ตัวครับ
2 ก.ย. 2545

ไม่เผลออะไร ไม่เพ่งยังไง

รู้ตัวทั่วพร้อม คือจิตที่พร้อมที่จะรู้อารมณ์ต่างๆด้วยความรู้ตัว ไม่มีการเผลอไปกับอารมณ์ ไม่มีการเพ่งใส่อารมณ์ ไม่มีการแก้อารมณ์ ไม่มีการบังคับจิตให้รู้อย่างนั้นรู้อย่างนี้ ไม่มีการบังคับจิตให้รู้สิ่งนั้นสิ่งนี้
ความรู้ตัว เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติของแต่ละคน ปรากฏขึ้นเมื่อมีการรู้อารมณ์แบบไม่เผลอ ไม่เพ่ง ไม่แก้ไข ไม่จงใจ จึงได้มาด้วยการหมั่นฝึกให้มีการรู้อารมณ์แบบไม่เผลอ ไม่เพ่ง ไม่แก้ไข ไม่จงใจครับ
การเพ่ง คือการหลงลืมตัวเองในขณะที่กำลังรู้อารมณ์ต่างๆ ผลคือรู้ว่าโลกทั้งโลกมีแต่อารมณ์นั้นๆเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีความรู้สึกว่าโลกนี้ก็ยังมีกายกับจิตตัวเองอยู่ด้วยครับ
การเผลอ คือการลืมกายลืมจิตใจตัวเอง จิตใจจึงล่องลอยไปเองตามอำนาจของอารมณ์ในขณะนั้นครับ
2 ก.ย. 2545

ติดรู้ ยึดรู้

เมื่อยังมีสักกายทิฏฐิ ก็ย่อมยังเห็นผิดไปว่า กูรู้ หรือเรารู้ ส่วนการจะทำให้สักกายทิฏฐิสูญสิ้นไปนั้นสามารถทำได้ด้วยการเจริญสติสัมปชัญญะ ทำความรู้จริงเห็นจริงให้ได้ว่า ความเป็นเรา (ความเป็นกู) นั้น เป็นเพียงความคิดปรุงแต่งอย่างหนึ่ง หาใช่ตัวตนแต่อย่างใด โดยในขณะที่เจริญสติสัมปชัญญะอยู่นั้น ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นถึงความเป็นเราได้เป็นช่วงๆ เมื่อมีความเป็นเราปรากฏขึ้น ก็ให้รู้ความเป็นเรานั้นด้วยจิตที่เป็นกลาง (ไม่ใช่ทำลายล้างความเป็นเรา) จนกว่าจิตจะเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า ความเป็นเรานั้นเป็นเพียงความคิดปรุงแต่งไม่ใช่ตัวตนแต่อย่างใด เมื่อจิตเห็นอย่างแจ่มแจ้งก็จะสามารถละความเห็นผิดต่อความเป็นเราไปได้เองครับ
5 ส.ค. 2545

ทำอย่างไรกับความเป็นตัวเราที่ปรากฏขึ้น

เมื่อเพียรที่จะรู้ความเป็นตัวเราที่ปรากฏขึ้นด้วยจิตที่เป็นกลางได้ไม่นานนัก ก็เห็นได้ว่า ความเป็นตัวเราก็เป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้อย่างหนึ่ง ที่มีความเกิด-ดับได้ (ไม่เที่ยงแท้ถาวรแต่อย่างใด) จึงได้เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วความเป็นตัวเราก็เป็นเพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวรแต่อย่างใด หลังจากเห็นเช่นนี้ได้เพียง 2-3 วัน จิตก็ละสักกายทิฏฐิลงได้
เมื่อเจริญสติสัมปชัญญะจนเห็นความเป็นตัวเราได้แล้ว ก็ไม่ควรละเลยที่จะรู้ความเป็นตัวเราด้วยจิตที่เป็นกลาง เพราะการรู้ความเป็นตัวเราที่กำลังปรากฏขึ้นด้วยจิตที่เป็นกลาง ไม่ต่อเติมสิ่งใดลงไปในการรับรู้นั้น จะทำให้ความนึกคิดปรุงแต่งขาดไป เมื่อความปรุงแต่งขาดไป ความเห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวตนหรือสักกายทิฏฐิ อันเป็นผลิตผลของความคิดปรุงแต่งก็จะขาดไปทันที และสามารถทำให้สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสถูกละออกไปได้อย่างฉับพลัน
29 ก.ย. 2544

ไม่เห็นอะไรว่าเป็นตัวเรา

"ตัวเรา" ที่จริงแล้วเป็นความรู้สึกที่ปรากฏอยู่ที่จิตใจ การจะมองให้เห็นหรือจับความรู้สึกว่าเป็น "ตัวเรา" ได้นั้น ไม่อาจใช้วิธีการนึกคิด หรือคาดคะเนได้เลย แต่จะต้องทำการเจริญสติปัฏฐาน ให้มีความรู้สึกตัวเพียงพอที่จะสังเกตได้ถึง อาการของจิต ตั้งแต่อาการหยาบๆ แล้วพัฒนาไปสู่อาการที่ละเอียดลงไปตามลำดับ เมื่อถึงตอนนั้นความรู้สึกว่า "ตัวเรา" ก็จะถูกสังเกตเห็นหรือถูกรู้ได้ดัวยตัวเอง โดยปราศจากการนึกคิดหรือคาดคะเนใดๆทั้งสิ้น
26 เม.ย. 2543

รู้ตัวแบบลืมตัว ลืมตัวแบบรู้ตัว

รู้ตัวแบบลืมตัว ลืมตัวแบบรู้ตัว...เป็นเพียงสำนวนทางธรรม ที่มีความหมายถึง การทำความรู้ตัวที่ปราศจากความจงใจ เมื่อมีความรู้ตัวอย่างไม่จงใจ ก็จะเกิดเป็นการรู้ที่แท้จริง เป็นการรู้ด้วยจิตที่สมบูรณ์ไปทั้งสติและสัมปชัญญะ เป็นการรู้ที่พอเหมาะในการเจริญสติปัฏฐาน 4 ต่อไปครับ
ผมไม่ได้ใช้วิธีกำหนดอารมณ์ใดเป็นการเฉพาะไม่ว่าจะเป็นกาย เวทนา จิต หรือธรรม แต่จะปล่อยให้จิตเขาทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่างไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น แล้วผมก็เพียงทำความรู้ตัวในขณะที่จิตรับรู้อารมณ์นั้นๆ ดังนั้นหากมีการเคลื่อนไหวทางกายที่เด่นชัดก็จะรู้การเคลื่อนไหวด้วยความรู้ตัว หากมีลมหายใจเกิดขึ้นเด่นชัด ก็รู้ลมหายใจด้วยความรู้ตัว หากมีเวทนาเกิดขึ้นเด่นชัด ก็จะรู้เวทนาด้วยความรู้ตัว หากเกิดไปรู้ว่าจิตเป็นอย่างไรอย่างเด่นชัด ก็จะรู้ว่าจิตเป็นอย่างนั้นด้วยความรู้ตัว หากเกิดไปรู้ว่าธรรมเป็นอย่างไรอย่างเด่นชัด ก็จะรู้ธรรมนั้นด้วยความรู้ตัวครับ
การที่เราพยายามจะรู้ลงเฉพาะอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนั้น จะทำให้กลายเป็นเพ่งได้ง่าย แต่การปล่อยการรับรู้ไปตามที่ควรจะเป็น ก็จะทำให้เป็นการเผลอได้ง่ายเช่นกัน ตรงจุดนี้ต้องหาจุดที่พอเหมาะเอาเองว่าควรทำอย่างไร จึงจะทำให้เกิดเป็นการรู้อารมณ์ได้อย่างไม่เพ่งไม่เผลอ แต่ที่สำคัญคือ ไม่ควรบังคับให้จิตรู้อารมณ์เพียงอย่างเดียว หรือไม่ควรบังคับจิตให้เป็นอย่างนี้อย่างนั้น เพราะการบังคับจิตจะเป็นการฝืนความเป็นอนัตตาของจิต ซึ่งเป็นเหตุให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้าไปสู่ความพ้นทุกข์ครับ
21 มิ.ย. 2545

ทำงานไปด้วย ปฏิบัติธรรมไปด้วย

เท่าที่ผมปฏิบัติอยู่ จะไม่ขีดวงหรือวางกรอบว่าต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ เวลาทำงานก็ทำไป จะเผลอลืมดูกายลืมดูจิตก็เผลอไป รู้สึกตัวเมื่อไรก็รู้ว่า เมื่อตะกี้เผลอไป แล้วก็ทำงานต่อไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เผลออีก เดี๋ยวก็รู้สึกตัวอีก อย่างมากก็เผลอไปจนงานเสร็จ
แต่ถ้าไปขีดวงวางกรอบไว้ว่า "ต้องทำงานไปด้วยดูกายดูจิตไปด้วย ต้องรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ฯลฯ" แล้วเราเองยังมีสติไม่มากพอที่จะทำได้อย่างนั้น ก็จะกลายเป็นการปฏิบัติด้วยความอยากให้เป็นอย่างนั้น จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้กิเลสตัณหาเขาตีหัวเอา ทีนี้ก็เลยล้มไม่เป็นท่า พอทำไม่ได้ก็ยิ่งอยากจะทำให้ได้ จึงเที่ยวไปเสาะแสวงหาวิธีหรืออุบายที่จะให้เป็นไปตามที่อยากเป็น ก็เลยยิ่งเข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่
จึงต้องยึดหลักที่ครูอาจารย์ให้ไว้ว่า "ให้รู้ตามความเป็นจริง แล้วจิตเขาจะพัฒนาไปเอง" อย่าอยากที่จะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ครับ
14 ก.พ. 2543

ตัวรู้ กับ สติ

โดยทั่วไปเมื่อมีอารมณ์ต่างๆเกิดขึ้น เราก็จะเกิดความยินดีต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้น แล้วคล้อยไปตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราของเรา จนถึงกับหวงแหนและอาลัยอาวรณ์ต่ออารมณ์นั้น แม้อารมณ์นั้นจะดับไปแล้วก็ตาม หรือไม่ก็จะเกิดความยินร้ายต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น จนมีการการปฏิเสธอารมณ์ ต้องการให้อารมณ์นั้นหายไป จนถึงกับใช้วิธีเพ่งใส่อารมณ์เพื่อให้มันหายไป หรือใช้วิธีสร้างอารมณ์อื่นขึ้นมากลบเกลื่อน หรือมีการแต่งเติมการรู้เห็นอารมณ์ด้วยกลอุบายต่างๆ โดยหลงลืมไปว่า การเพ่งให้อารมณ์หายไป การสร้างอารมณ์อื่นขึ้นมากลบเกลื่อน หรือการแต่งเติมการรู้เห็นด้วยกลอุบายต่างๆ ล้วนแต่เป็นผลมาจากความอยากพ้นจากอารมณ์ทั้งสิ้น
การที่เรากระทำการใดๆ ลงมากกว่า รู้ เมื่อมีอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ล้วนแต่เป็นการใช้ความอยากหรือใช้ตัณหาเพื่อดับทุกข์ ทั้งที่ความอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วความอยากจะดับทุกข์ได้อย่างไรกัน การจะดับทุกข์ได้จะต้องใช้วิธี เหตุเกิดทุกข์ให้ละ จึงจะดับทุกข์ได้ การละเหตุให้เกิดทุกข์ ทำได้ด้วยการฝึกให้มีการรับรู้อารมณ์ต่างๆด้วยสติ+สัมปชัญญะ หรือให้มีการรับรู้อารมณ์ต่างๆ โดยไม่ต้องใช้อุบายใดๆ หรือไม่ต้องแต่งเติมการรู้แต่อย่างใด เพียงเท่านี้เราก็จะเกิดปัญญารู้เห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง รู้ได้ว่าสิ่งต่างๆ มีความเกิด-ดับเป็นธรรมดา เป็นการรู้โดยปราศจากการชี้นำด้วยอุบายหรือความคิดใดๆ ในที่สุดก็จะพ้นจากความทะยานอยากไปตามอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด
การรู้อย่างที่ไม่ต้องใช้อุบายหรือแต่งเติมการรู้แต่อย่างใดนี่แหละครับ เป็นต้นทางของปัญญา ของมรรค ของผลอันทำให้พ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริงครับ
4 ธ.ค. 2544

ตัวรู้ ปลอม

หากจะเรียบเรียงลำดับขั้นของการดูจิตก็พอจะเรียบเรียงได้ 2 ขั้นดังนี้
1. ฝึกทำความรู้ตัวให้ได้บ่อยๆ
2. ฝึกรู้สิ่งต่างๆ (กาย เวทนา จิต ธรรม) ด้วยความรู้ตัว
การฝึกทำความรู้ตัวสามารถทำได้ 2 แนวทางคือ
1. ฝึกรู้ตัวด้วยการทำสมถะให้จิตสงบตั้งมั่นจนปรากฏเป็นจิตผู้รู้
2. ฝึกทำความรู้ตัวในขณะที่จิตรับรู้อารมณ์ต่างๆโดยตรง ก็จะปรากฏเป็นจิตผู้รู้ได้เช่นกัน
เมื่อสามารถรู้สิ่งต่างๆได้ด้วยความรู้ตัว จะปรากฏเกิดผลคือ
1. รู้เห็นสิ่งต่างๆมีความเกิด-ดับ
2. รู้เห็นความยินดี-ยินร้ายที่มีต่อสิ่งต่างๆ
3. รู้เห็นอาการของจิตที่ส่งออกไปตามความยินดียินร้าย
4. รู้เห็นว่าจิตที่ส่งออกไปตามความยินดียินร้าย เป็นทุกข์
5. รู้เห็นว่าสิ่งต่างๆไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
ขอยืนยันด้วยประสบการณ์ส่วนตัวว่า การปรากฏผลการรู้เห็นดังกล่าวนี้ ไม่จำเป็นต้องผ่านการฝึกสมถะเพื่อให้จิตตั้งมั่นก่อนก็ได้ เพราะจิตที่มีความรู้ตัว จะมีความสงบ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ต่างๆด้วยตัวของมันเองครับ
20 พ.ค. 2545

อุบายให้หวาดกลัวภัยในวัฏฏสงสาร

หากใช้อุบายเพื่อให้มีความเพียร นับว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ทีเดียวครับ ส่วนจะเอาเรื่องอะไรมาเป็นอุบายนั้น ก็ตามแต่จะชอบใจ โดยส่วนตัวแล้ว ผมว่าอย่ามัวเสียเวลาครุ่นคิดตามอุบายนั้นเลยครับ เพราะสู้ "เราหัดดูการดำเนินชีวิตของเราเอง" ไม่ได้ครับ
ดูตัวเองให้บ่อยๆ ก็จะเห็นว่า วันๆต้องเจอะเจอเรื่องราวต่างๆมากมาย ยิ่งวันไหนต้องเจอกับเรื่องบ้าๆ (ไม่ชอบใจ-เสียใจ) วันนั้นแทบจะอกแตกตายเลยทีเดียว เมื่อมองดูตัวเองบ่อยๆเข้า ก็จะเห็นความเป็นทุกข์ได้มากขึ้นๆ จนต้องพูดกับตัวเองว่า จะอยู่อย่างนี้ไปจนตายหรือ ไม่อยากจะพ้นไปจากสภาพอย่างนี้หรือ
จนเมื่อจิตใจยอมรับความไม่น่าเอาไม่น่าเป็นได้ระดับหนึ่งแล้ว เมื่อนั้น เราก็จะพากเพียรหาทางหลุดพ้นได้โดยไม่เกียจคร้านเองครับ
30 มิ.ย. 2543

วันวานที่ผ่านมา

ให้รู้อารมณ์ไม่ใช่ให้แก้อารมณ์ เพราะความอยากที่จะแก้อารมณ์เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จะเอาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์มาดับทุกข์ไม่ได้
เท่านั้นเองครับทำให้จิตผมตื่นทันที พร้อมกับเริ่มที่จะรู้อารมณ์ไม่แก้อารมณ์ ความหนักอึ้งอยู่ในหัวมานานก็เบาลง เพราะได้คำแนะนำถึงวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง
เมื่อทราบว่าปฏิบัติอย่างไรผิดปฏิบัติอย่างไรถูก ก็ปฏิบัติไปเรื่อยๆ (ปฏิบัติอย่างจริงจัง แต่ไม่เคร่งเครียด) หากทำผิดก็ให้รู้ว่าทำผิดไปแล้ว หากทำถูกก็ให้รู้ว่าทำถูกแล้ว
ในการปฏิบัติเจริญสติปัฏฐาน หรือเจริญสติสัมปชัญญะนั้น ผมใช้วิธีการปฏิบัติไปพร้อมกับการใช้ชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ว่าจะอาบน้ำ ทานอาหาร ทำงาน ยืน เดิน นั่ง พูด คิด ขับถ่าย ฯลฯ ซึ่งสาเหตุที่ผมเจริญสติปัฏฐานในลักษณะนี้ก็เพราะว่า ผมเป็นคนที่มีจิตไม่ยอมอ่อนลงให้กับการปฏิบัติที่เป็นรูปแบบตายตัว เช่นนั่งทำจังหวะแบบหลวงพ่อเทียนก็ไม่ได้ นั่งเคาะนิ้วก็ไม่ได้ เดินจงกรมก็ไม่ได้ ตามรู้ลมหายใจก็ไม่ได้ ทำทีไรจิตเป็นอันต้องหนักตึง มีโมหะครอบงำ ฟุ้งซ่านและง่วงนอนเสียทุกที และที่แย่ที่สุดก็คือการปฏิบัติแบบหลับตา เพราะจะโดนโมหะและความฟุ้งซ่านเล่นงานเอาอย่างรุนแรง (ฝืนทำมาร่วม 10 ปีก็ไม่ก้าวหน้าเลย) แต่พอฝึกรู้ตัวและเจริญสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน จิตกลับอ่อนลงได้โดยง่าย
นอกจากนี้ผมยังปฏิบัติด้วยความพยายามทำอย่างเต็มกำลังเท่าที่จะทำได้ หากทำเต็มกำลังแล้ว ทำได้เท่าไรก็เท่านั้น ผมจะไม่พยายามทำให้เหมือนครูบาอาจารย์ทุกอย่าง ผมจะให้จิตเขาเป็นไปตามที่ควรเป็น แล้วคอยรู้สิ่งที่ปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลางไปเรื่อยๆ
เมื่อผ่านการเจริญสติสัมปชัญญะ ด้วยการรู้สิ่งที่ปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลางได้ประมาณเกือบ 8 เดือน ความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่จึงได้ปรากฏชัดขึ้น ในตอนนั้นจิตก็ยังเห็นผิดไปว่าตัวเรามีอยู่ แต่ด้วยการยึดในหลักการปฏิบัติว่า ให้รู้สิ่งปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง จึงได้เฝ้ารู้อยู่ทุกครั้งที่มีตัวเราเกิดขึ้น ได้เห็นความเกิดขึ้นและดับไปของตัวเรานั้นเอง เมื่อเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของตัวเราหลายครั้งเข้า ก็ได้เห็นถึงสภาวะที่จิตคลายจากการยึดอยู่ในตัวเราแล้วไปยึดอารมณ์อื่นแทน จึงทำให้เห็นว่าความรู้สึกว่าตัวเราก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ และเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าแท้ที่จริงแล้ว ความรู้สึกว่าเป็นตัวเรานั้น เป็นเพียงสิ่งๆ หนึ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ แต่อย่างใด
16 ธ.ค. 2543

 

Copyright http://se-ed.net/yogavacara 2005 All rights reserved.
yogavacara@hotmail.com