mp 3 (for download) :คนเก็บผัก ส่งการบ้าน
Media Player:
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
หลวงพ่อปราโมทย์ : ใครยกมือ เบอร์ ๖๑ ยกไวมาก เบอร์อื่นเอาลงก่อน ๖๑ ยกไว้ อย่าเพิ่งเอาลง อยู่ทางข้างหลังๆ ไมค์มาแล้ว ข้างๆ
โยม : นมัสการเจ้าค่ะหลวงพ่อ เพราะว่าตั้งแต่หลวงพ่อให้ไปดูจิตใจ
หลวงพ่อปราโมทย์ : เห็นมั้ย จิตใจไม่เหมือนเดิม
โยม : พอกลับไปแล้วมันเกิดปีติอยู่ตลอด (หลวงพ่อปราโมทย์ : อื้อ..) เลยค่ะหลวงพ่อ แล้วพอตกกลางคืน พอตี ๓ น่ะ ชั้นรู้สึกว่าจิตตั้งมั่น (หลวงพ่อปราโมทย์ : อื้อ) ทั้งๆที่ชั้นไม่เคยรู้มาก่อนเลย (หลวงพ่อปราโมทย์ : อื้อ) แล้วชั้นก็เห็นอะไรมันแปลกๆ ที่มันจะต้อง ทางที่มันต้องไปคนเดียว แล้วสงสัยอะไรก็ไม่ได้ (หลวงพ่อปราโมทย์ : อื้อ) มีเพื่อนก็ไม่ได้ (หลวงพ่อปราโมทย์ : อื้อ เอ้ย… ) แล้วก็เกิดความรู้สึกว่า อ้าว หลวงพ่อ ทางนี้มันไปได้เร็วอย่างนี้หรือคะหลวงพ่อ (หลวงพ่อปราโมทย์ : เร็ว) แล้วมันก็ร่วงเลยค่ะหลวงพ่อ แต่ชั้นก็ไม่ได้ท้อถอยนะคะ ยังตั้งมั่นและพร้อมที่จะนับหนึ่งใหม่เสมอค่ะหลวงพ่อ
หลวงพ่อปราโมทย์ : จิตของโยมนี่นะมันตั้งมั่นเป็นพื้นฐานอยู่แล้วในขณะนี้นะ น้อยคนนะจะทำได้
โยม : แล้วอีกคืนหนึ่ง ตอนตี ๓ มันก็ตั้งมั่นอีก (หลวงพ่อปราโมทย์ : อื้อ) พอมันตั้งมั่น ทีนี้จังหวะแฟนเขาหายใจแรง มันก็เลยล้มอีกค่ะหลวงพ่อ
หลวงพ่อปราโมทย์ : เราดูอย่างนี้นะ (โยม : ค่ะ) เห็นมั้ย เวลามันตั้งมันก็ตั้งเอง เวลามันล้ม (โยม : ค่ะ) มันก็ล้มของมันเอง
โยม : แต่ แต่ใจไม่เคยท้อถอยนะคะหลวงพ่อ (หลวงพ่อปราโมทย์ : อื้อ)
หลวงพ่อปราโมทย์ : เราไม่ได้ฝึกเอาจิตตั้งมั่นนะ ฟังให้ดี (โยม : แล้วก็..) เราไม่ได้ฝึกเอาตั้งมั่น มันตั้งขึ้นชั่วขณะแล้วมันก็ล้มไป เดี๋ยวมันก็ตั้ง เดี๋ยวมันก็ล้ม แล้วแต่ละวันเนี่ย เดี๋ยวมันก็สุข เดี๋ยวมันก็ทุกข์ เดี๋ยวมันก็เฉยๆ มีแต่ความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ที่เราภาวนานะ ก็เพื่อให้เห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
โยม : แล้วพอต่อจากนั้นค่ะ มันคงมีจิตอยากรู้มั้งค่ะหลวงพ่อ (หลวงพ่อปราโมทย์ : อือ) อยากรู้อยากเห็น มันเลยเครียดน่ะค่ะ แล้วทีนี้พอมันเครียดชั้นก็ไปหาอะไรทำ ทำงานบ้านถูบ้าน (หลวงพ่อปราโมทย์ : อือ) ล้างจาน เสร็จแล้วมีความรู้สึกว่า ธรรมะของหลวงพ่อนี่ มันต้องไม่พยายามอะไรเลยค่ะ (หลวงพ่อปราโมทย์ : อื้อ แต่ไม่ขี้เกียจนะ) พอ พอไม่พยายามเลยมันก็เห็นสภาวะ (หลวงพ่อปราโมทย์ : อื้อ) ที่ไม่เคยรู้เคยเห็นอีก (หลวงพ่อปราโมทย์ : อื้อ) มากมาย แล้วก็ขอขอบคุณหลวงพ่อ โห..ถ้าไม่ใช่หลวงพ่อชั้นคงตายเปล่าแล้วทั้งๆที่ปราถนา
แล้วทีนี้ชั้นอยากให้หลวงพ่อช่วยขยายความว่า การไม่พักแล้วไม่เพียรให้ชัดเจนซักหน่อยเจ้าค่ะหลวงพ่อ ขอความกรุณา
หลวงพ่อปราโมทย์ : พักเนี่ยนะ ก็คือ ขี้เกียจขี้คร้าน ปล่อยตัวปล่อยใจตามโลกไป ความเพียรเนี่ยมันเกิดจากความโลภก่อน อยากได้ อยากรู้อยากเห็นอยากเป็นอยากได้ อยากได้มรรคผลนิพพานอะไรอย่างนี้นะ เสร็จแล้วก็เกิดความดิ้นรนในใจเรา พยายามที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่เหนือกว่ามนุษย์ธรรมดา ดิ้นรน ส่วนมากก็จะดิ้นรนบังคับตัวเองเท่านั้นแหละ ดิ้นรนบังคับกายบังคับใจ จะให้มันเรียบร้อย เพราะฉะนั้นที่พักอยู่กับเพียรอยู่นี่แหละ คือความสุดโต่งสองด้าน อันนี้มาจากพระสูตรอันหนึ่งนะ มีเทวดาองค์หนึ่ง รู้สึกจะเป็นพระไตรปิฎกเล่ม ๑๖ มั้ง ไม่รู้นะ จำไม่ได้ขนาดนั้น นานแล้ว
มีเทวดาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วก็ไปถามพระพุทธเจ้า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร ข้ามห้วงกิเลสได้อย่างไร” พระพุทธเจ้าบอกว่า “ดูกร ท่านนิรทุกข์” อันนี้แกล้งชมเทวดานะ ให้กำลังใจ ความจริงเทวดามันก็ยังมีทุกข์นั่นแหละ แต่ว่าเทวดาองค์นี้ท่านสำคัญตนว่าเป็นพระอริยะ ก็เลยมาถามพระพุทธเจ้าว่า พระองค์ข้ามได้อย่างไร ในใจก็ “ชั้นข้ามมาแบบนี้” พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “ดูกร ท่านนิรทุกข์ เราข้ามโอฆะได้โดยไม่พักอยู่และไม่เพียรอยู่” เทวดาฟังแล้วงงเลย ไม่พักอยู่เนี่ยเทวดาเข้าใจ พักอยู่หมายถึงขี้เกียจขี้คร้านไม่ภาวนา แต่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านข้ามโอฆะได้โดยไม่เพียรด้วย เทวดางงนะเลยถามพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่พักไม่เพียรเป็นอย่างไร” ให้พระองค์ช่วยขยายความ พระพุทธเจ้าก็ขยายความ “ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ ถ้าเราพักอยู่เราจะจมลง ถ้าเราเพียรอยู่เราจะลอยขึ้น เราข้ามโอฆะได้โดยไม่พักและไม่เพียร” นี่เทวดาฟังเท่านี้ได้โสดาบัน มีใครได้หรือยัง ฟังเหมือนเทวดาแล้ว ได้บ้างมั้ย ยังไม่ได้ ต้องขยายอีกนะ เผื่อจะได้
คำว่า “พักอยู่” เนี่ย หมายถึงการที่ปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลส หมายถึงอะไร หมายถึงกามสุขัลลิกานุโยค เพลิดเพลินไปในอารมณ์ทางโลกๆ เพลินไปในการดู ในการฟัง ในการดมกลิ่น ลิ้มรส ในการสัมผัสต่างๆ เพลินอยู่กับโลก นี่เรียกว่าพักอยู่ แล้วจมลงใช่มั้ย ท่านบอกว่า ถ้าพักอยู่แล้วจะจมลง ก็คือ ถ้าเราหลงตามโลกตามกิเลสไป จิตใจของเราจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ลงถึงอบายจนได้
แล้วก็เพียรแปลว่าอะไร เพียรหมายถึงการบังคับตัวเอง ผู้ปฏิบัติเกือบร้อยละร้อย นี่พูดแบบสุภาพนะ ผู้ปฏิบัติเกือบร้อยละร้อย ทันทีที่พูดถึงการปฏิบัติเนี่ย ถ้าไม่บังคับกายก็บังคับใจ ยกตัวอย่าง สมมุติเราจะนั่งสมาธิ เราจะต้องเริ่มด้วยการบังคับกายก่อน ต้องนั่งให้มันเท่ๆ เสร็จจากนั้นบังคับใจ เนี่ยนั่งอย่างนี้ไปเรื่อยๆนะ ท่านบอกว่าทำแล้วจะลอยขึ้น ลอยไปไหน ลอยไปพรหมโลก เพราะฉะนั้นทำไปๆก็ไปสร้างภพสร้างชาติขึ้นอีก
ทางสายกลางนั้น ไม่พักอยู่ คือไม่หลงตามกิเลสไป ไม่เพียรคือไม่เอาแต่นั่งเพ่งตัวเอง ยกตัวอย่างบางคนดูท้องพองยุบก็ไปเพ่งท้อง เดินจงกรมก็ไปเพ่งเท้า ไปรู้ลมหายใจก็ไปเพ่งลมหายใจ อย่างนั้นเรียกว่า “เพียรอยู่”
เพียรอยู่แล้วสิ่งที่ได้ได้อะไรได้ความดี ถ้าพักอยู่ได้ความชั่ว ทั้งดีและชั่วก็นำไปสู่ภพภูมิใหม่ ภพความชั่วก็นำไปสู่อบายภูมิ ภูมิที่ตกต่ำ ความดีก็นำไปสู่สุคติภูมิ ไม่ได้นำไปสู่นิพพาน แต่เราทำชั่วไม่ได้นะ ถ้าเราทำชั่วเราจะไปอบายภูมิ
หน้าที่ของเราคือเดินทางสายกลาง ทางสายกลางก็คือ มีสติรู้กายตามที่มันเป็น มีสติรู้จิตใจตามที่จิตใจเขาเป็น ดูเข้าไปเรื่อยๆ ที่โยมทำอยู่ที่ผ่านมาใช้ได้ แต่ตอนนี้ใช้ไม่ได้ รู้สึกมั้ย
โยม : ตอนนี้ใจมันสั่น มันตื่นเต้นน่ะค่ะ
หลวงพ่อปราโมทย์ : ตื่นเต้นไม่เป็นไร โยมไปบังคับตัวเองอยู่ รู้สึกมั้ย
โยม : ออ.. ตอนนี้บังคับหรือคะ (หลวงพ่อปราโมทย์ : บังคับ บังคับใจ) แล้ว ชั้นเป็นคนนั่งสมาธิก็ไม่ได้ เดินจงกรมก็ไม่ได้ ภาวนาก็ไม่เป็นน่ะค่ะ
หลวงพ่อปราโมทย์ : สมาธิของโยมนะ ดีมากเลย โยมสังเกตมั้ย ใจของโยมไหลไปทางโน้นไหลไปทางนี้ เรารู้ทัน
โยม : แล้วเดี๋ยวนะ ชั้นเริ่มรู้สึกว่า ความทุกข์มีอยู่ แต่ไม่มีผู้ทุกข์น่ะค่ะ
หลวงพ่อปราโมทย์ : เออ นั่นแหละ เริ่มเห็นของจริงแล้ว
โยม : ค่ะ แล้วก็ เห็นกายที่นอนอยู่ กระสับกระส่าย ด้วยความทรมาน (หลวงพ่อปราโมทย์ : อื้อ) แต่ความรู้สึกว่า มันไม่ใช่เรา (หลวงพ่อปราโมทย์ : อื้อ) แล้วรู้สึกสมเพชเขาเหลือเกิน (หลวงพ่อปราโมทย์ : อื้อ ดี)
หลวงพ่อปราโมทย์ : ดูไปนะ ต้องได้ของดีแน่ๆเลย
โยม : แล้วถ้าเผื่อชั้นเป็นคนทำสมาธิก็ไม่ได้ เดินจงกรมก็ไม่ได้ ภาวนาก็ไม่เป็น แล้วใช้อย่างการทำงาน คล้ายๆกับทำงานในชีวิตประจำวันแล้วคอยสังเกตเอา ใช้ได้มั้ย (หลวงพ่อปราโมทย์ : ได้) คะหลวงพ่อ (หลวงพ่อปราโมทย์ : อย่างนี้แหละดีที่สุดเลย) แล้วก็หลวงพ่อคิดว่าชั้นปล่อยปละละเลยไปมั้ย
หลวงพ่อปราโมทย์ : ไม่ปล่อยปละนะ ทำได้พอดีเลย
โยม : เพราะว่า แต่ก่อนนี้มาก็ไม่เคยรู้สึกสภาวะอย่างนี้เลยล่ะค่ะ ก็ตั้งแต่มาฟังหลวงพ่อเนี่ย ประมาณเดือนหนึ่งวันนี้พอดีเลยล่ะค่ะ (หลวงพ่อปราโมทย์ : อื้อ) แล้วก็นึกขอบคุณหลวงพ่อเหลือเกิน (หลวงพ่อปราโมทย์ : อือ.. หลวงพ่อก็ดีใจด้วยนะ) แต่ว่าสิ่งที่ ยังไงล่ะ ภาวนาก็ไม่เป็น เดินจงกรมก็ไม่ได้ นั่งสมาธิก็ไม่ได้ ต้องหางานบ้านทำเอา (หลวงพ่อปราโมทย์ : อื้อ) บางทีก็เก็บผัก ล้างจาน แล้วก็ซักผ้า ถูบ้าน แล้วก็คอยสังเกตไปน่ะค่ะ (หลวงพ่อปราโมทย์ : โอ้ ดีที่สุดเลย) อ๋อ อย่างนี้ไม่ใช่คนเกียจคร้านใช่มั้ยคะหลวงพ่อ
หลวงพ่อปราโมทย์ : ไม่ใช่ คนเกียจคร้านก็คือ ขนาดนั่งสมาธินะ แต่ใจเคลิ้มๆ นี่ละที่เรียกว่าเกียจคร้าน เดินจงกรมแล้วก็ใจลอยไป นี่เรียกว่าเกียจคร้าน ของเรากระดุกกระดิก ยืนเดินนั่งนอนนะ กวาดบ้านถูบ้าน เก็บผัก ทำกับข้าว อะไรอย่างนี้ เรามีสติรู้กายรู้ใจ เรียกว่าขยันอยู่
โยม : แต่มันจะมีความรู้สึกแปลกๆเกิดขึ้นเรื่อยเลยนะคะ (หลวงพ่อปราโมทย์ : นั่นแหละ ดีแล้ว) แต่ถ้าเผื่อจงใจจะไม่รู้เลยแล้วก็มึนตึ๊บเลยล่ะค่ะ
หลวงพ่อปราโมทย์ : เออ..อย่าไปจงใจดูนะ ทำงานไป (โยม : ค่ะ) ทำงานไปเรื่อยๆ (โยม : อ๋อ ใช้วิธีนี้ก็ได้ใช่มั้ยคะหลวงพ่อ) วิธีนี้ดีที่สุด
โยม : กราบนมัสการคะหลวงพ่อ
หลวงพ่อปราโมทย์ : ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งนะ คือ หลวงปู่มั่น เคยสอนนะ บอกว่า “ทำสมาธิมาก เนิ่นช้า คิดพิจารณามาก ฟุ้งซ่าน หัวใจของการปฏิบัติคือการมีสติในชีวิตประจำวัน ยืนเดินนั่งนอน รู้สึกตัวไป” เพราะฉะนั้นที่โยมทำอยู่ โยมทำได้ดีมากนะ โอ้..เป็นนักปฏิบัติที่ดีเชียวล่ะ เอ้า..ใครอิจฉายกมือ.. นี่ ๑ เดือน ๑ เดือน ทำไมเขาเร็ว เพราะเขาทำไม่เป็น ทำไมเราช้า เพราะเราชอบทำ ใจเราคิดทุกวันนะ ทำอย่างไรจะดี ๆ ๆ คิดแต่อย่างนี้ หาทางทำเพื่อจะเอาดี ไม่ได้มุ่งเอาความจริง โยมนี้ไม่ได้มุ่งเอาดี เพราะทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง กระดุกกระดิกแล้วก็รู้สึกไป ๆ นะ แต่เริ่มกลับไปเพ่งแล้วล่ะ อย่าไปเพ่งมัน อย่างนี้เรียกว่าเพ่ง ไม่เอานะ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติเลย ปล่อยให้เป็นธรรมดา เราต้องภาวนาให้โลกอิจฉาเลย
โยม : ถ้าอย่างนี้ก็มีกำลังใจค่ะหลวงพ่อ ดิฉันคิดว่า..
หลวงพ่อปราโมทย์ : มีกำลังใจแต่อย่าไปขยันนะ (โยม : ค่ะ ) ไม่ใช่ว่ามีกำลังใจแล้วเอาใหญ่เลย หามรุ่งหามค่ำ
โยม : หลวงพ่อคะ แล้วที่ว่าชั้นรู้สึกว่าเห็นทางน่ะ มันจริงหรือเปล่าคะ
หลวงพ่อปราโมทย์ : จริง นะ โยมน่ะเดินอยู่ในทางเป๊ะๆเลย น้อยนะที่จะเดินอย่างนี้
โยม : ทั้งๆที่ชั้นไม่รู้เลยว่าสมาธิเป็นอย่างไร เพราะชั้นทำไม่เป็น (หลวงพ่อปราโมทย์ : ไม่ต้องรู้หรอก) ค่ะ ไม่เคยรู้เลยค่ะ
หลวงพ่อปราโมทย์ : ทำไม่เป็นนั่นแหละดี พวกทำเป็นนั่นแหละ ทำไม่ได้ หลวงพ่อชอบมากเลย คนทำไม่เป็นน่ะ มีแต่นักทำทั้งนั้นเลย นักปรุงนักแต่ง ใช้ไม่ได้ เอ้า.. ให้คนอื่นบ้าง ภาวนาดีแล้ว ปล่อยคนอื่นบ้าง โยมนั้นน่ะดี บ้านอยู่ไหน เบอร์ ๖๑ ตะกี้นี้ (โยม : อยู่พัทยาค่ะ) ออ..อยู่ใกล้นิดเดียว ถ้ามาฟังธรรมได้ก็มานะ (โยม : ชั้นเป็นคนสุขภาพไม่ค่อยดี โรคภัยไข้เจ็บก็เยอะเหลือเกินค่ะหลวงพ่อ) นั่นแหละ ภาวนาให้กระดูกเป็นแก้วเลย (โยม : จะพอมีหวังที่จะภาวนาได้ใช่มั้ยคะหลวงพ่อ) มี (โยม : ขอบคุณค่ะ)
จิตที่เดินอยู่อย่างนี้นะ ถ้าไม่นอกลู่นอกทางซะนะ ไม่ขี้เกียจ รู้เล่นๆไปเรื่อยๆอย่างนี้นะ เร็วที่สุด เอ้า.. เอาไมค์ให้แกหน่อย แกรำพันอะไรฟังไม่ออก
โยม : ความปราถนานี้จะไม่ท้อถอยเลยค่ะ เพราะถือว่าเป็นความปราถนาสุดท้ายของชีวิตเลยค่ะ (หลวงพ่อปราโมทย์ : ดีมากเลยนะ) เพราะตอนนี้ชีวิตมันเหลือน้อยแล้วค่ะ หลวงพ่อ (หลวงพ่อปราโมทย์ : ดี มีความไม่ประมาทด้วย) เพราะโรคภัยไข้เจ็บมาก
หลวงพ่อปราโมทย์ : ไหนใครคิดว่าชีวิตยังเหลือมากบ้าง ยกมือซิ ก็ทั้งนั้นแหละ เอ้า..ให้คนอื่นบ้าง
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่