กลับสู่หน้าหลัก

ธรรมที่ยังท่านพระอนุรุทธให้บรรลุพระอรหันต์ 

โดยคุณ สันตินันท์ วัน อาทิตย์ ที่ 21 พฤศจิกายน 2542 19:30:03

ผมคิดจะเขียนธรรมะที่อ่านสบายๆ ที่ให้ทั้งธรรมะและความเบิกบานใจ 
และอ่านกันเฉพาะวงใน เพราะการเขียนเรื่องในวงกว้าง 
บ่อยครั้งที่เกิดวิวาทะ แทนความบันเทิงในธรรม 
เมื่อเกิดวิมุตติขึ้นสำหรับคนวงในโดยเฉพาะแล้ว 
ผมก็พอจะเขียนธรรมๆ แบบเบาๆ สบายๆ ต่อไปได้ 
เพราะเหมือนการคุยกันในครอบครัวเดียวกัน 

ดังนั้นเรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้ จึงเป็นเรื่องเบาๆ อ่านสบายๆ คลายเครียด 
เพราะชีวิตของเราในแต่ละวันมันก็เครียดพอแล้ว 
หากอ่านกระทู้ธรรมะแล้วเกิดวิวาทะให้เครียดอีก 
ชีวิตนี้ก็ดูจะโหดร้ายเกินไปสักหน่อย 

************************************* 

เมื่อตอนก่อน ผมได้เล่าถึงเรื่องการปฏิบัติธรรมของท่านพระอานนท์ไปแล้ว 
ในขณะที่เขียนเรื่องพระอานนท์นั้น ยังมีจุดที่ผมนึกไม่ออกอยู่จุดหนึ่ง 
คือท่านพระอานนท์บรรลุพระอรหันต์ในขณะที่เอนนอน 
โดยเท้าพ้นจากพื้น ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน 
ผมพยายามลองนอนดูว่า ท่านเอนกายลงท่าไหน ทำไมเท้าจึงพ้นจากพื้น 
เพราะปกติคนเราที่จะนอนนั้น จะต้องผ่านอิริยาบถนั่งก่อน 
คงไม่มีใครนอนโดยผ่านอิริยาบถยืน หรือเดิน 
ผมลงทุนนั่งในท่าต่างๆ แล้วเอนนอนในท่าสีหไสยาสน์ 
ก็ไม่ปรากฏว่ามีท่าใดที่เท้าจะต้องยกพ้นพื้น 

มีทางเดียวเท่านั้น ที่เอนนอนแล้วเท้าจะต้องยกพ้นพื้น 
นั่นคือท่านจะต้องนอนบนเตียง ก่อนนอนก็นั่งห้อยเท้าลงกับพื้น 
พอจะเอนนอน ก็ต้องยกเท้าขึ้นจากพื้น 
และเตียงของท่านก็จะต้องแคบๆ 
ประเภทพอเท้าพ้นพื้น ศีรษะก็เกือบจะถึงหมอนแล้ว 
ไม่ใช่เตียงขนาดใหญ่ ที่พอขึ้นเตียงแล้วต้องคลานเข้าไปตรงกลางเพื่อจะนอน 
ซึ่งการนอนเตียงนั้น พระศาสดาทรงอนุญาตไว้ 
แต่เตียงจะต้องไม่สูงจนมีคนเข้าไปแอบอยู่ใต้เตียงได้ 

พิจารณาต่อไปว่า ถ้าก่อนนอน ท่านพระอานนท์นั่งห้อยเท้าอยู่บนเตียง 
แล้วอิริยาบถก่อนหน้านั้น ควรเป็นอิริยาบถใด 
ตรงนี้คงพิจารณาไม่ยาก คือท่านอาจจะใช้เวลาของคืนนั้นด้วยการเดินจงกรม 
สลับกับการยืนและนั่งเป็นคราวๆ 
และเมื่อคิดจะนอนพักก็เดินมานั่งลงบนเตียง 
และตามธรรมชาติของผู้เฒ่าวัย 80 ปี 
ท่านคงไม่เดินๆ อยู่ ก็มานั่งแปะแล้วลงนอนเลย แบบเด็กหรือคนหนุ่มสาว 
เพราะผู้เฒ่าขนาดนั้น จะเปลี่ยนอริยาบถรวดเร็วนักคงไม่ได้ 
จึงน่าจะนั่งพักบนเตียงสักช่วงหนึ่งก่อน จึงค่อยๆ เอนกายลงนอน 

เรื่องที่เล่ามานี้ไม่สำคัญอะไรนักหรอกครับ 
เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า 
จริงๆ แล้วพระสูตรเก็บเรื่องราวที่มีชีวิตจิตใจเอาไว้มาก 
บุคคลในพระสูตร ก็คือมนุษย์ธรรมดา 
ที่เคยมีชีวิตจิตใจเช่นเดียวกับพวกเราขณะนี้มาก่อน 
เมื่อท่านทำตัวอย่างไว้ เราเดินตามรอยเท้าของท่าน 
เราก็น่าจะตามท่านไปได้เหมือนกัน 
และพระสูตรเองก็เก็บรายละเอียดไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว

******************************* 

วันนี้ผมจะเล่าถึงการปฏิบัติของพระมหาเถระลูกพี่ลูกน้องกับท่านพระอานนท์ 
คือท่านพระอนุรุทธ ผู้เป็นเลิศในด้านการมีทิพยจักษุ 
เว้นจากพระศาสดาแล้ว ไม่มีใครเลยที่จะมีทิพยจักษุเสมอด้วยท่านองค์นี้ 

ท่านพระอนุรุทธ เป็นโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ 
ซึ่งเป็นน้องชายของพระเจ้าสุทโธทนะ 
ท่านมีพี่ชายร่วมสายโลหิตคือเจ้ามหานามะ 
และมีศักดิ์เป็นลูกผู้น้อง(ลูกอา) ของพระศาสดา 
เป็นองค์เดียวที่ได้เสวยขนม "ไม่มี" 
ซึ่งเป็นขนมที่เทวดาบันดาลขึ้นให้ท่าน เมื่อท่านอยากเสวยขนม 
แต่พระมารดาของท่านแกล้งส่งชามเปล่าไปให้ 
เพื่อสอนให้ท่านรู้จักความไม่มีเสียบ้าง 
(พระมารดาของท่านเข้าขั้นแม่ตัวอย่างทีเดียว 
ท่านเคยถามแม่ของท่านว่ารักท่านหรือไม่ 
แม่ของท่านบอกว่ารักมากดังแก้วตาดวงใจ 
แต่แม่ ก็พยายามสอนความจริงในชีวิตให้ท่าน 
ซึ่งคงดีกว่าคุณแม่ในบ้านเศรษฐียุคนี้หลายๆ บ้าน 
ที่พยายามปรนเปรอวัตถุให้ลูกแบบไม่ลืมหูลืมตา) 

ท่านพระอนุรุทธออกบวชพร้อมๆ กับพระญาติ 
เมื่อครั้งพระศาสดาเสร็จกรุงกบิลพัสดุ์คราวแรก 
ท่านคิดจะบวชเพราะเจ้ามหานามะพี่ชายของท่านได้มาปรึกษากับท่านว่า 
ระหว่างเจ้าชายมหานามะ กับท่านพระอนุรุทธ 
ควรมีคนหนึ่งออกบวชตามเสด็จพระศาสดา 
ท่านพระอนุรุทธจึงถามพี่ชายว่า บวชแล้วต้องทำอะไรบ้าง 
พี่ชายตอบว่า การออกบวชเป็นอย่างไร 
เจ้าพี่ก็บอกว่า บวชแล้วต้องสละบ้านเรือน อยู่คนเดียว 
กินอาหารมื้อเดียวตามที่ขอเขามาได้ นอนคนเดียว 
โกนผมและหนวด (ไม่ได้โกนคิ้ว) นุ่งผ้าย้อมน้ำฝาด 
อธิบายเพียงเท่านี้ ท่านน้องชายก็รีบบอกว่า ถ้าเช่นนั้นพี่ไปบวชก็แล้วกัน 

เจ้ามหานามะท่านก็แสนดี เมื่อน้องไม่อยากบวชท่านก็จะบวชเสียเอง 
โดยให้น้องชายมีหน้าที่สืบตระกูลต่อไป 
แล้วท่านก็อธิบายถึงการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของเจ้าศากยะ 
ท่านพระอนุรุทธพอได้ฟังว่าผู้ครองเรือนมีกิจมากขนาดนั้น 
ท่านจึงสมัครใจบวช เพราะเห็นด้วยปัญญาว่า 
ชีวิตฆราวาสนั้น ซ้ำซากและจำเจเสียน่าเบื่อเต็มประดา 

เมื่อท่านบวชแล้ว ผมได้พบร่องรอยการปฏิบัติธรรมของท่านสองเรื่อง 
เรื่องแรก เป็นเรื่องที่ท่านตรึกธรรมของมหาบุรุษ 7 ประการ 
แล้วพระศาสดาเสด็จไปแสดงการตรึกธรรมของมหาบุรุษประการที่ 8 ให้ฟัง 
หนังสือบางเล่ม (เช่น อสีติมหาสาวก ซึ่งธรรมสภาจัดพิมพ์) 
สรุปเอาว่า ท่านบรรลุพระอรหันต์เพราะธรรมบทนี้ 
ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่ท่านเข้าไปปรึกษาการปฏิบัติกับท่านพระสารีบุตร 
พระสูตรทั้งสองสูตรนี้ลงท้ายว่า ท่านปฏิบัติตามธรรมนั้นแล้วบรรลุพระอรหันต์ 
แต่ธรรมสภาไม่ได้กล่าวถึงพระสูตรอันหลังนี้ 

นักการศึกษาเขาก็ย่อมมีแง่มุมในการศึกษาของเขา 
ส่วนพวกเรานักปฏิบัติ ลองเอาความรู้จากการปฏิบัติมาช่วยกันพิจารณาดูบ้าง 
ว่าที่จริงแล้ว ท่านบรรลุธรรม เพราะพระสูตรใดกันแน่ 
ทั้งสองสูตรนี้ สูตรใดควรเกิดก่อน สูตรใดเกิดในภายหลัง 
เพราะนักการศึกษาคงตอบลำบากสักหน่อย 
แต่สำหรับผู้ปฏิบัติแล้ว พอจะวินิจฉัยได้ไม่ลำบากเลย 

ก่อนอื่น เราลองมาอ่านทั้งสองพระสูตรกันดูก่อน 

๑๐. อนุรุทธสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕ อังคุตตรนิกาย 

[๑๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าเภสกลามิคทายวัน 
แขวงเมืองสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคชนบท 
ก็โดยสมัยนั้น ท่านพระอนุรุทธะอยู่ที่วิหารปาจีนวังสทายวัน แคว้นเจดีย์ 
ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ 
เกิดความปริวิตกทางใจอย่างนี้ว่า 
1. ธรรมนี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มีความปรารถนาน้อย 
มิใช่ของบุคคลผู้มีความปรารถนามาก 
2. ของบุคคลผู้สันโดษ มิใช่ของบุคคลผู้ไม่สันโดษ 
3. ของบุคคลผู้สงัด มิใช่ของบุคคลผู้ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ 
4. ของบุคคลผู้ปรารภความเพียร มิใช่ของบุคคลผู้เกียจคร้าน 
5. ของบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น มิใช่ของบุคคลผู้มีสติหลงลืม 
6. ของบุคคลผู้มีจิตมั่นคง มิใช่ของบุคคลผู้มีจิตไม่มั่นคง 
7. ของบุคคลผู้มีปัญญา มิใช่ของบุคคลผู้มีปัญญาทราม ฯ 

      ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกทางใจของท่านพระอนุรุทธะแล้ว 
เสด็จจากเภสกลามิคทายวัน แขวงสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคชนบท 
ไปปรากฏเฉพาะหน้าท่านอนุรุทธะที่วิหารปาจีนวังสทายวัน 
เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น 
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ถวายแล้ว 
แม้ท่านพระอนุรุทธะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอนุรุทธะว่า 
ดีแล้วๆ อนุรุทธะ  ถูกละ ที่เธอตรึกมหาปุริสวิตก 
ว่าธรรมนี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มีความปรารถนาน้อย  มิใช่ของบุคคลผู้มีความปรารถนามาก ... 
ของบุคคลผู้มีปัญญา มิใช่ของบุคคลผู้มีปัญญาทราม 
ดูกรอนุรุทธะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงตรึกมหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ นี้ว่า
ธรรมนี้เป็นธรรมของบุคคลผู้ชอบใจในธรรมที่ไม่ทำให้เนิ่นช้า 
ผู้ยินดีในธรรมที่ไม่ทำให้เนิ่นช้า 
มิใช่ของบุคคลผู้ชอบใจในธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า 

ดูกรอนุรุทธะ ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้ 
ในกาลนั้น เธอจักหวังได้ทีเดียวว่า จักสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม 
บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ 
ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้ 
ในกาลนั้น เธอจักหวังได้ทีเดียวว่า จักบรรลุทุติยฌาน 
มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร 
เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ 
ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก  ๘ ประการนี้ 
ในการนั้น เธอจักหวังได้ทีเดียวว่า จักมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ 
 เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป 
บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า 
ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข 
ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้ 
ในกาลนั้น เธอจักหวังได้ทีเดียวว่า จักบรรลุ จตุตถฌาน 
ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ 
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ 
ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก  ๘ ประการนี้ 
และจักเป็นผู้มีปรกติได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก 
ซึ่งฌาน ๔ นี้อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน 
ในกาลนั้น ผ้าบังสุกุลจีวรจักปรากฏแก่เธอ 
ผู้สันโดษ อยู่ด้วยความยินดี ด้วยความไม่หวาดเสียว 
ด้วยความอยู่เป็นสุข ด้วยการก้าวลงสู่นิพพาน 
เปรียบเหมือนหีบใส่ผ้าของคฤหบดี หรือบุตรแห่งคฤหบดี 
อันเต็มไปด้วยผ้าสีต่างๆ ฉะนั้น 

ดูกรอนุรุทธะ ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้ 
และจักเป็นผู้ได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก 
ซึ่งฌาน ๔ นี้อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน 
ในกาลนั้น โภชนะ คือ คำข้าวที่ได้มาด้วยปลีแข้ง จักปรากฏแก่เธอผู้สันโดษ ... ด้วยการก้าวลงสู่นิพพาน
เปรียบเหมือนข้าวสุก (หุงจาก) ข้าวสาลี  คัดเอาดำออกแล้ว 
มีแกงและกับหลายอย่าง ของคฤหบดีและบุตรแห่งคฤหบดี  ฉะนั้น 

ดูกรอนุรุทธะ ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้ ... 
ในกาลนั้น เสนาสนะ คือ โคนไม้ จักปรากฏแก่เธอผู้สันโดษ ... ด้วยการก้าวลงสู่นิพพาน 
เปรียบเหมือนเรือนยอดของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี ฉาบทาไว้ดีแล้ว 
ปราศจากลม ลงลิ่มสลักมิดชิด ปิดหน้าต่างสนิท ฉะนั้น 

ดูกรอนุรุทธะ ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้ 
ในกาลนั้น ที่นอนที่นั่งอันลาดด้วยหญ้า จักปรากฏแก่เธอผู้สันโดษ ... ด้วยการก้าวลงสู่นิพพาน 
เปรียบเหมือนบัลลังก์ของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี 
อันลาดด้วยผ้าโกเชาว์ขนยาว ลาดด้วยขนแกะสีขาว 
ลาดด้วยผ้าสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดี 
ทำด้วยหนังชะมด มีเครื่องลาดเพดานแดง มีหมอนข้างแดงสองข้าง ฉะนั้น 

ดูกร  อนุรุทธะ ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้ 
ในกาลนั้น ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า จักปรากฏแก่เธอผู้สันโดษ ... ด้วยการก้าวลงสู่นิพพาน 
เปรียบเหมือนเภสัชต่างๆ คือ  เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย 
ของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี  ฉะนั้น ฯ
 

ดูกรอนุรุทธะ ถ้าอย่างนั้น 
เธอพึงอยู่จำพรรษาที่วิหารปาจีนวังสทายวัน 
แคว้นเจดีย์นี้แหละ ต่อไปอีกเถิด 
ท่านพระอนุรุทธะทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
 
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสอนท่านพระอนุรุทธะด้วยพระโอวาทนี้แล้ว 
เสด็จจากวิหารปาจีนวังสทายวัน แคว้นเจดีย์นคร 
ไปปรากฏที่ป่าเภสกลามิคทายวัน  แขวงเมืองสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ 
เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้  หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น 

ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะอยู่จำพรรษา 
ที่วิหารปาจีนวังสทายวัน แคว้นเจดีย์นครนั้นนั่นแล ต่อไปอีก 
ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว 
ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนัก 
ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม 
ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น 
ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ 
รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว 
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี 
ก็ท่านพระอนุรุทธะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย 
ลำดับนั้น ท่านพระอนุรุทธะบรรลุอรหัตแล้ว 
ได้กล่าวคาถานี้ไว้ในเวลานั้นว่า 
          พระศาสดาผู้เป็นเยี่ยมในโลก ทรงทราบความดำริของเราแล้ว 
          ได้เข้ามาหาเราด้วยฤทธิ์ทางพระกายอันสำเร็จแต่พระหฤทัย 
          พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมอันยิ่งกว่าความดำริของเราเท่าที่ดำริไว้ 
          พระพุทธเจ้าผู้ยินดีแล้วในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า 
          ได้ทรงแสดงซึ่งธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า 
          เราได้รู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์แล้ว ยินดีในศาสนาอยู่ 
          เราได้บรรลุวิชชา ๓ แล้วโดยลำดับ 
          คำสอนของพระพุทธเจ้าเรากระทำแล้ว ฯ
 
 
ลองดูพระสูตรอีกสูตรหนึ่งประกอบกันนะครับ 

พระสุตตันตปิฎก  เล่ม ๑๒ อังคุตตรนิกาย อนุรุทธสูตรที่ ๒ 
 
      [๕๗๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ 
ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว 
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า 
ขอโอกาสเถิดท่านสารีบุตร 
ผมตรวจดูตลอดพันโลกด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ 
ก็ผมปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไม่หลงลืม 
กายสงบระงับไม่ระส่ำระสาย จิตตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา 
เออก็ไฉนเล่า จิตของผมจึงยังไม่พ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น 
 
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
 
ดูกรท่านอนุรุทธะ การที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า 
เราตรวจดูตลอดพันโลก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ดังนี้ 
เป็นเพราะมานะของท่าน
 
การที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า ก็เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน 
ตั้งสติมั่นไม่หลงลืม กายสงบระงับไม่ระส่ำระสาย จิตตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา ดังนี้ 
เป็นเพราะอุทธัจจะของท่าน
 
ถึงการที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า เออก็ไฉนเล่า จิตของเรายังไม่พ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้
ก็เป็นเพราะกุกกุจจะของท่าน
 
เป็นความดีหนอ ท่านพระอนุรุทธะจงละธรรม ๓ อย่างนี้ 
ไม่ใส่ใจธรรม ๓  อย่างนี้ แล้วน้อมจิตไปในอมตธาตุ
 

ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะต่อมาได้ละธรรม ๓ อย่างนี้ 
ไม่ใส่ใจถึงธรรม ๓ อย่างนี้ น้อมจิตไปในอมตธาตุ
 
ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะ หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว 
เป็นผู้ไม่ประมาท มีตนอันส่งไปอยู่ 
ไม่นานนัก ได้ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม 
ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องกันนั้น 
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ 
รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว 
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี 
ก็แหละ ท่านพระอนุรุทธะ 
ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
 

************************************ 

ในมุมมองของนักปฏิบัติ 
ผมเห็นชัดว่า พระสูตรทั้งสองนี้ถูกต้องไม่มีที่ผิดทั้งคู่ 
คือต่างก็เป็นธรรมที่ส่งให้ท่านพระอนุรุทธบรรลุพระอรหันต์ทั้งคู่ 
แต่เนื้อธรรมของทั้งสองพระสูตรนี้ ไม่เสมอกัน 
พระสูตรแรกที่ยกมานั้น เป็นธรรมเบื้องต้น 
ส่วนพระสูตรหลัง เป็นธรรมเบื้องปลาย 
ถ้าปราศจากพระสูตรแรก ท่านพระอนุรุทธก็จะไม่บรรลุพระอรหันต์ 
และถ้าปราศจากพระสูตรหลัง ท่านก็ยังไม่บรรลุพระอรหันต์เช่นกัน 

หากอ่านด้วยความไตร่ตรองจะพบว่า 
พระศาสดาเสด็จไปโปรดพระอนุรุทธด้วยพระกาย แต่ไม่ได้เดินไปหรือเหาะไป 
แต่เป็นการย้ายวัตถุ(พระกาย)จากที่หนึ่ง ไปยังอีกที่หนึ่ง 
(บางกรณีพระองค์ไปโดยพระจิต) 
วัตถุประสงค์ที่เสด็จไปก็เพื่อปลอบท่านพระอนุรุทธ 
ให้อยู่ปฏิบัติธรรมที่วิหารปาจีนวังสทายวัน แคว้นเจดีย์ ต่อไป 
เพราะที่นั่น เหมาะจะเป็นชัยภูมิทำสงครามล้างชาติของท่านพระอนุรุทธ
 

เราต้องไม่ลืมว่าท่านพระอนุรุทธเป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง 
ท่านไม่เคยอด ไม่เคยลำบากด้วยประการทั้งปวง 
เมื่อต้องไปอยู่ในวัดป่าที่ลำบากขาดแคลน 
ท่านก็คงท้อพระทัยตามวิสัยของคนที่ยังมีกิเลส จนจิตของท่านไม่สงบระงับ 
พระศาสดาจึงเสด็จไปชี้ชวนให้ท่านตรึกถึงธรรมของมหาบุรุษ 8 ประการ 
แทนที่จะคิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องความลำบากยากแค้น 
เป็นการปลอบเตือนตนเองให้เข้าใจและยอมรับความจริงว่า 
ธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นธรรมของคนมักน้อย สันโดษ 
ไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร 
มีสติตั้งมั่น มีจิตมั่นคง มีปัญญา และชอบใจในธรรมที่ไม่ทำให้เนิ่นช้า 

การที่ท่านหมั่นตรึกนึกทบทวน 
จนยอมรับสถานะที่ควรจะเป็นของนักบวชในพุทธศาสนาแล้ว 
จิตใจของท่านก็เข้าถึงความสงบ ดังที่พระศาสดาทรงรับรองว่า 
ในกาลใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก  ๘ ประการนี้ 
และจักเป็นผู้มีปรกติได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก 
ซึ่งฌาน ๔ นี้อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน 

เมื่อได้ฌาน 4 อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันแล้ว 
ปัญหาความขาดแคลนเรื่องปัจจัย 4 
อันเป็นเหตุให้ท่านพระอนุรุทธไม่อยากอยู่ปฏิบัติธรรม 
ที่วิหารปาจีนวังสทายวัน ก็จะหมดไป 
เพราะผ้าบังสุกุลจีวร คำข้าวที่ได้มาด้วยปลีแข้ง(บิณฑบาต) 
เสนาสนะคือโคนไม้  ที่นอนที่นั่งอันลาดด้วยหญ้า 
และยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า(น้ำปัสสาวะ) 
จะเป็นของน่ายินดีสำหรับท่านผู้มุ่งต่อพระนิพพาน 
 
สรุปแล้ว พระศาสดาทรงสอนให้ท่านพระอนุรุทธตรึกธรรม 8 ประการนั้น 
เพื่อให้จิตสงบระงับ จนเข้าถึงฌานที่ 4 คือจิตสงบ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา 
เมื่อถึงจุดนั้น ความรู้สึกลำบากขาดแคลนปัจจัย 4 ก็จะหมดไป 
แล้วท่านก็จะอยู่ปฏิบัติ ณ วิหารปาจีนวังสทายวัน ด้วยความผาสุกต่อไป 

ท่านพระอนุรุทธทำอย่างที่พระศาสดาทรงสอน 
เป็นเหตุให้ท่านได้บรรลุพระอรหันต์ในเวลาต่อมา 
สำหรับพระสูตรที่ 2 ที่ผมยกมานั้น 
สะท้อนให้เห็นชัดแล้วว่า ขณะที่ท่านพระอนุรุทธ 
ไปปรึกษาการปฏิบัติกับท่านพระสารีบุตรนั้น 
ท่านพระอนุรุทธชำนาญในฌาน 4 แล้ว 
ท่านจึงสามารถตรวจดูตลอดพันโลก 
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ 

เมื่อท่านพระอนุรุทธได้ฌาน 4 จนชำนาญ และได้ทิพยจักษุแล้ว 
ท่านปฏิบัติธรรมด้วยการตรวจดูโลกตั้งพัน 
เห็นความจุติ - อุบัติ ของสัตว์ทั้งปวงอยู่ตลอดเวลา 
แต่ท่านก็ไม่บรรลุพระอรหันต์ จึงไปขอคำแนะนำจากท่านพระสารีบุตร 

ท่านพระสารีบุตร แนะนำให้ท่านดูจิตตนเอง 
คือดูให้รู้ทันกิเลสที่แฝงอยู่กับจิตใจของท่าน 
ได้แก่ ความถือตัว ว่ามีทิพยจักษุเหนือคนอื่น 
ความฟุ้งซ่าน ไปกับความคิดว่า เรามีความเพียร มีสติ มีกายสงบ มีจิตตั้งมั่น 
และความรำคาญใจ ว่า ทำไมหนอจิตของเราไม่หลุดพ้นเสียที 
เมื่อรู้ทันและจิตพ้นการครอบงำของกิเลสแล้ว 
ท่านพระสารีบุตรก็แนะนำธรรมเพื่อการปฏิบัติที่สำคัญประการหนึ่งคือ 
จงละธรรม ๓ อย่างนี้ ไม่ใส่ใจธรรม ๓  อย่างนี้ 
แล้วน้อมจิตไปในอมตธาตุ
 

ท่านพระอนุรุทธปฏิบัติตามที่ท่านพระสารีบุตรแนะนำ 
จึงบรรลุพระอรหันต์ 
ก็จะไม่บรรลุได้อย่างไร เมื่อท่านสามารถรู้ทันกิเลสอย่างละเอียด 
แล้วเข้าไปรู้ถึงธรรมชาติที่เหนือเกิดเหนือตายได้
 

วันนี้อ่านกันมาคงเหนื่อยมากแล้ว ขอจบเท่านี้ก่อนนะครับ 
ไว้มีโอกาสแล้ว เราค่อยมาคุยกันถึงการปฏิบัติในส่วนหลังนี้เพิ่มเติม 
รวมทั้งเรื่องราวที่น่าสนใจของท่านพระอนุรุทธ ต่อไปด้วย 

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ tana วัน อาทิตย์ ที่ 21 พฤศจิกายน 2542 20:53:12

ไม่ออกความเห็น ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ tana วัน อาทิตย์ ที่ 21 พฤศจิกายน 2542 20:53:45

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ บิ๊ก วัน อาทิตย์ ที่ 21 พฤศจิกายน 2542 21:16:49

สาธุ สาธุ สาธุ

เห็นด้วยกับพี่สันตินันท์เป็นอย่างยิ่งครับ

ในโอกาสนี้ผมขออนุญาตแทรกเกร็ดเล็กๆน้อยๆที่เกี่ยวกับท่านพระอนุรุทธไว้ด้วยครับ เกี่ยวกับเรื่องขนมไม่มีของพระอนุรุทธะเถระ แม้เรื่องนี้จะไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ แต่ก็คงพอจะมีประโยชน์บ้างในการศึกษาประวัติของพระอนุรุทธครับ

จำได้คร่าวๆว่าสมัยหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว เจ้าชายอนุรุทธเกิดมาเป็นยาจกผู้หนึ่งจนและลำบากมาก ประสบแต่ความขาดตกบกพร่องมาตลอด จนกระทั่งในวันหนึ่งยาจกผู้นี้ได้มีโอกาสทำบุญด้วยจิตมหากุศล แล้วอธิษฐานขอให้กุศลนั้นจงเป็นปัจจัย ไม่ว่าจะเกิดในชาติใดสมัยใด ก็อย่าได้ประสบกับความไม่มีเลย

นับจากตายจากชาตินั้นเป็นต้นมา ยาจกนั้นก็เกิดในสุคติภูมิมาตลอด และไม่เคยพบกับความไม่มีเลย จนกระทั่งในชาติสุดท้าย ได้เกิดในตระกูลศากยะ เรื่องก็เป็นอย่างที่พี่สันตินันท์เล่าคือพระมารดาของเจ้าชายอนุรุทธต้องการที่จะสอนลูกให้ได้พบกับความไม่มีซะบ้าง แต่เนื่องจากเจ้าชายอนุรุทธเป็นผู้มีบุญมาก จึงร้อนถึงเทวดาต้องลงมาเนรมิตขนมอันเป็นทิพย์ให้เจ้าชายอนุรุทธนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้เองเจ้าชายอนุรุทธจึงเป็นผู้เดียวที่ได้เสวยขนมไม่มีที่เทวดาเนรมิตให้

หากผมจำอะไรพลาดไป และท่านใดสามารถช่วยเสริมได้ในส่วนที่ขาด ขอให้ช่วยเสริมด้วยนะครับ ถือว่าเป็นการช่วยกันศึกษาประวัติพระอนุรุทธ เพื่อเป็นการแสดงความนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้วด้วยกัน ไปพร้อมๆกับการฟังธรรมจากพี่สันตินันท์


โดยคุณ บิ๊ก วัน อาทิตย์ ที่ 21 พฤศจิกายน 2542 21:16:49

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2542 07:46:24

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ มวยวัด วัน จันทร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2542 07:54:10

ขอบพระคุณครับ

โดยคุณ มวยวัด วัน จันทร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2542 07:54:10

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน จันทร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2542 08:41:44

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ นิดนึง วัน จันทร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2542 09:14:20

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ ทรายแก้ว วัน จันทร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2542 09:24:42

สาธุค่ะ _/|\_ ขอบพระคุณมากค่ะ

โดยคุณ ทรายแก้ว วัน จันทร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2542 09:24:42

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ ไพ วัน จันทร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2542 11:15:35

ขอบคุณมากค่ะพี่

โดยคุณ ไพ วัน จันทร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2542 11:15:35

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ปลาทอง วัน จันทร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2542 19:10:12

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ rapin วัน จันทร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2542 23:01:34

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ดังตฤณ วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 08:49:19

เป็นการพิเคราะห์ธรรมของมืออาชีพจริงๆครับ
แบบนี้แหละถึงจะสมเป็นอรรถกถาจารย์
มือหนึ่งของโลกเลย


โดยคุณ ดังตฤณ วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 08:49:19

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ สันตินันท์ วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 09:26:04

ขอไม่เป็นอรรถกถาจารย์ล่ะครับ
เพราะธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
สมบูรณ์พร้อมด้วยอรรถและพยัญชนะแล้ว

พวกเราเมื่อฟังธรรมของท่าน ก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองเอาเอง
และแต่ละคนก็จะเข้าใจไปตามเหลี่ยมตามมุมที่ตนดำเนินมา
จึงจะแก้กิเลส และแก้ทุกข์ของตนเองได้
แล้วก็อาจจะนำมาเล่าสู่กันฟังเท่านั้นเอง

สาวกจะไปชี้ขาดว่า ธรรมของพระพุทธเจ้าบทนี้ๆ ทุกคนต้องเข้าใจอย่างนี้ๆ
ผมเห็นว่าไม่ถูกต้องหรอก
เพราะทำให้ธรรมซึ่งเป็นของมีชีวิตชีวา
กลายเป็นของแห้งกระด้างเสียหมด
แล้วจะไปสู้กับกิเลสที่เป็นของเคลื่อนไหวได้ ได้อย่างไร

อนึ่ง เป็นธรรมชาติในธรรมของพระพุทธเจ้ามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
ที่ผู้ฟังซึ่งมีหลายระดับ จะเข้าใจว่า
ธรรมที่พระองค์กำลังแสดงนั้น เจาะจงเพื่อประโยชน์ของตนโดยเฉพาะ
เพราะตนเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง และได้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาของตน
ซึ่งแน่ละว่า ผู้ฟังที่มีหลายระดับ ย่อมเข้าใจไม่เท่ากัน
แต่ก็ได้ประโยชน์ที่ตนสมควรได้

การพยายามทำให้ทุกคนเข้าใจธรรมที่พระองค์แสดง
อย่างเดียวกัน หรือเท่าๆ กัน
ก็คงทำให้ได้ปริญญาอย่างเดียวกัน
แต่อาจไม่เกิดประโยชน์ในการแก้ทุกข์
ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตน เท่าที่ควรหรอกครับ


โดยคุณ สันตินันท์ วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 09:26:04

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ แมวแก่ วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 12:06:57

ขอบพระคุณครับ _/|\_

โดยคุณ แมวแก่ วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 12:06:57

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ นิดนึง วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 14:16:59

ธรรมอันเดียวกันยังประโยชน์ให้แก่ผู้ฟังหลายระดับจริงๆ เลยค่ะ
ได้อ่านธรรมะที่พี่สันตินันท์แจกแจงให้นั้นรู้สึกเหมือนเป็น
ธรรมที่สอนเราเฉพาะ

เก็บไปเล่าให้ลูกๆ ฟัง โดยเฉพาะส่วนที่บิ๊กเสริม เด็กๆ ก็ตื่นตัว
ชอบขนมไม่มีมาก และขอให้เล่าส่วนอื่นๆ ให้ฟังอีก
แม้แต่ธรรมที่ทำให้พระอนุรุทธบรรลุพระอรหันต์ ซึ่งเด็ก 7 ขวบ
คงยังไม่เข้าใจ แต่เขาก็อยากจะรับฟัง และทำให้อยากทราบ
ธรรมะข้ออื่นๆ อีก

นับได้ค่ะว่าธรรมะของพระพุทธองค์นั้น สามารถสอนคนได้ทุกๆ
ระดับในเวลาเดียวกันจริงๆ เลยค่ะ

สาธุ สาธุ สาธุ


โดยคุณ นิดนึง วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 14:16:59

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 14:49:11


ดูกรท่านอนุรุทธะ การที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า 
เราตรวจดูตลอดพันโลก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ดังนี้ 
เป็นเพราะมานะของท่าน 
การที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า ก็เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน 
ตั้งสติมั่นไม่หลงลืม กายสงบระงับไม่ระส่ำระสาย จิตตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา ดังนี้ 
เป็นเพราะอุทธัจจะของท่าน 
ถึงการที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า เออก็ไฉนเล่า จิตของเรายังไม่พ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้
ก็เป็นเพราะกุกกุจจะของท่าน 

กลับมาอ่านพระสูตรที่พระสารีบุตรกล่าวกับพระอนุรุทธะ
แล้วทำให้รู้สึกว่าเป็นเหมือนผงเข้าตา ต้องมีคนเขี่ยให้

keyword ตรงนี้คือ พระอนุรุทธะ นั้น คิด ไม่ได้ รู้
คือไม่รู้ว่าตนเองกำลังคิดอยู่นั้นเอง พอมีคนสะกิดก็เลยสอบผ่านเลย
ผมมีความรู้สึกว่าจุดหลักก่อนบรรลุพระอรหันต์ อยู่แถวๆ นี้แต่
ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนนัก
(เอาไว้สอบผ่านแล้วจะมาบอกนะ แต่คงรอนานหน่อย อิ อิ )


โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 14:49:11

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ สันตินันท์ วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 15:35:28

คุณมะขามป้อม ตีประเด็นแตกแล้ว สาธุให้ 3 ครั้งครับ

ผมขยักจะเอาเรื่องนี้ไว้เขียนต่อทีเดียวครับ
อีกสักวันสองวันคงเขียนจบ


โดยคุณ สันตินันท์ วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 15:35:28

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ นิดนึง วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 16:25:31

อดมาสาธุ อีกครั้งไม่ได้ คุณมะขามป้อมมาชีชดๆ อีกรอบ

โดยคุณ นิดนึง วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 16:25:31

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 17:08:36

เมื่อคิด   ไม่ได้รู้

ยิ่งหลงคิด   ก็หมดสิทธิ์รู้

หากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อุบัติในโลก หากพระพุทธศาสนาไม่ตั้งอยู่ หากไม่มีพระสาวกผู้ปฎิบัติปฎิบัติชอบสืบต่อพระศาสนา ผมจะได้รู้(โดยสัญญา)ได้อย่างไรกัน

สาธุ สาธุ สาธุ
_/|\_ _/|\_ _/|\_



โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 17:08:36

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ นุดี วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 19:00:27

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ ada วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 08:49:14

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ ada วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 08:50:07

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 10:08:07

ธรรมที่ยังท่านพระอนุรุทธให้บรรลุพระอรหันต์(2)

คราวก่อนคุยกันมาถึงเรื่องธรรมที่ท่านพระสารีบุตร 
สอนให้ท่านพระอนุรุทธละ และไม่ใส่ใจ 3 ประการ 
และให้น้อมจิตไปในอมตธาตุ 

ธรรม 3 ประการนั้นคือ มานะ อุทธัจจะ และกุกกุจจะ 
อมตธาตุคือนิพพาน 


ธรรม 3 ประการนี้ดูเป็นของตื้น เพราะพวกเราย่อมรู้กันดีว่า 
มานะและอุทธัจจะนั้น เป็นสังโยชน์เบื้องสูง 
ส่วนอุทธัจจะกุกกุจจะนั้น เป็นนิวรณ์ตัวหนึ่ง 
และในแต่ละวัน เราก็มักจะพบกิเลสเหล่านี้เกิดดับอยู่ในจิตใจของเราเสมอ 
แต่ที่จริงแล้ว กิเลสของท่าน กับกิเลสที่เรารู้จักนั้น 
มันเหมือนกันเฉพาะชื่อเท่านั้น ส่วนความหยาบละเอียดต่างกันมากทีเดียว 

มานะหรือความถือตัวของท่าน เป็นความอิ่มใจ ภูมิใจเล็กๆ 
ในทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ 
ทั้งที่ท่านเอง หมดความเห็นผิดแล้วว่า ท่านและมนุษย์ทั้งหลายเป็นคน 
แต่ความยึดมั่นว่า จิตเป็นเรา ของท่านยังอยู่ 
ขณะที่หลงเพลิดเพลินไปนั้น 
ความอิ่มใจ ภูมิใจในคุณวิเศษเหนือคนปกติ ก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา 

ส่วนอุทธัจจะหรือความฟุ้งซ่านของท่านนั้น 
ไม่ใช่ความฟุ้งซ่านแบบนิวรณ์อย่างของพวกเรา 
เพราะจิตท่านทรงฌานอยู่สม่ำเสมอแล้ว 
ที่นิวรณ์จะครอบงำได้จึงเป็นเรื่องเหลือวิสัย 

ความฟุ้งซ่านอันเป็นสังโยชน์นั้น เป็นความฟุ้งเล็กๆ ไปในธรรม 
คือกระแสความคิดยังทำงานอยู่ จิตยังไม่หยุดอยู่กับรู้อย่างแท้จริง
 
จุดตรงนี้อธิบายยากมาก แต่จะลองพยายาม เท่าที่ทำได้นะครับ 

ตามธรรมดาพวกเราเคยชินกับกระบวนการเรียนรู้ ดังนี้คือ 
เมื่อมีผัสสะ เช่นตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ... ใจรู้ความคิดนึก 
เราจะต้องเอาสติจดจ่อลงไปในสิ่งที่ถูกรู้ 
จากนั้นจึงคิดใคร่ครวญใช้เหตุผล 
โดยอาศัยความจำหรือประสบการณ์เป็นเครื่องมือสนับสนุน 
ในที่สุดก็จะสรุปความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ แล้วบรรจุเก็บเป็นความจำไว้ในสมอง 

เราทุกคนเคยชินกับกระบวนการเรียนรู้อย่างนี้ 
ดังนั้น พอจิตไปรู้สิ่งใดเข้า เราก็อดไม่ได้ที่จะคิดพิจารณาทบทวนใช้เหตุผล 
เพื่อจะหาข้อสรุปเก็บเป็นความรู้(ที่จริงคือความจำ) เอาไว้ 
เราทนไม่ได้ ที่จะรู้เฉยๆ เห็นความเกิดดับเฉยๆ โดยไม่คิดใคร่ครวญสำทับลงไป 
ทั้งในสิ่งที่กำลังรู้นั้น ทั้งในวิธีการที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้น 
ทั้งนี้ เพราะเรากลัวจะไม่มีความรู้ 

ท่านพระอนุรุทธ ท่านปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน 
 ตั้งสติมั่นไม่หลงลืม กายสงบระงับไม่ระส่ำระสาย จิตตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา 
การปฏิบัติอย่างนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องในขั้นต้น 
แต่ในขั้นที่จะข้ามภพข้ามชาตินั้น 
การกำหนดจิตอย่างนี้ ยังเป็นการหางานให้จิตทำ 
ทำให้จิตกระเพื่อม ฟุ้งซ่านไปในธรรมไม่ยอมหยุด 
ครั้นท่านจะไม่กำหนด ไม่จงใจ ท่านก็เกรงว่าการปฏิบัติจะขาดสาย 
เกรงจะไม่รู้ ไม่เห็นธรรม ไม่เกิดองค์ความรู้ในอริยสัจจ์ 

ที่อธิบายตรงนี้อย่าถือเป็นจริงจังนะครับ 
เพราะยังไม่พบตำราขั้นพระไตรปิฎกมารองรับ 
เพียงแต่ผมปฏิบัติอยู่ตรงนี้ ก็เลยเอาประสบการณ์เฉพาะตัวมาเล่า 
คือผมรู้ดีว่า จิตยังมีเชื้อเกิดเหลืออยู่ เพราะจิตไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจจ์ 
จิตจึงยังพอใจที่จะส่งทะยานออกไปยึดโน่นยึดนี่อยู่เรื่อยๆ 

คราวนี้พอสังเกตเห็นว่า จิตมันยังเคลื่อนไหวอยู่ จิตก็เริ่มหยุดอยู่กับรู้ 
ในขณะที่จิตทรงตัวอยู่กับรู้นั้นเอง จิตเกิดปริวิตกขึ้นว่า 
ที่ปฏิบัติอยู่นี้กำลังปฏิบัติอะไร ปฏิบัติแล้วถูกหรือผิด 
และจะมีผลให้จิตเกิดความรู้หรือไม่
 

แล้วจิตก็เกิดความอยากพิจารณาธรรมที่ปฏิบัติอยู่ขึ้นมาทันที 
คือมันน้อมจะไปเกิดในภพของผู้ปฏิบัติธรรม ผู้กำหนด ผู้เจริญสติ 
สติก็แรงขึ้นนิดหนึ่ง จิตก็ตั้งมั่นทรงตัวเด่นขึ้นนิดหนึ่ง รู้กายรู้จิตชัดขึ้นนิดหนึ่ง 
อาการที่จิตไหวเล็กๆ นี้แหละครับ เคยฟังครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าเป็นอุทธัจจะสังโยชน์ 
มันเข้ามาผูกมัดจิตไว้ในภพของนักปฏิบัติธรรม 

เมื่อรู้เท่าทันกิเลสอย่างนี้แล้ว จิตก็คลายตัวออก หยุดอยู่กับรู้ 
ในสภาวะนั้น จิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้กลายเป็นธรรมอันเดียวกัน 
ไม่มีภายนอกภายใน ไม่มีช่องว่างระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ 
จึงไม่มีการเคลื่อนไป ไหลไป มีแต่หยุดอยู่กับรู้ โดยไม่มีการกำหนดหมายใดๆ 

ที่ผมฝึกอยู่ตอนนี้เป็นอย่างนี้ครับ  แต่จิตยังไม่อิ่ม ยังไม่พอ 
พอเผลอเข้ามันก็ไหวแยกตัวออกเป็นผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ 
เจริญปัญญาต่อไปอีกเพราะมันกลัวไม่มีความรู้ 

และในระหว่างนั้น นานๆ จะเกิดกุกกุจจะแทรกขึ้นมาเป็นระยะๆ แผ่วๆ 
เป็นความกระหายและกระวนกระวายของจิตที่ปรารถนาจะถึงความหลุดพ้น 
ตัวนี้ก็เป็นแรงขับให้จิตฟุ้งไปในธรรมอีกด้วย
 

ท่านพระสารีบุตรท่านแนะนำให้ละธรรม 3 ประการนี้ อย่าใส่ใจกับมัน 
อย่าหลงตาม และอย่าต่อสู้กับมัน 
จิตก็จะหยุด รู้อยู่ที่จิต พ้นจากความปรุงแต่งทั้งปวง พ้นจากตัณหา 
จิตน้อมไปในอมตธาตุ คือธรรมชาติที่หมดรูปหมดนามทั้งปวง 

วันที่ไปทำบุญเปิดลานธรรมนั้น ผมปฏิบัติอยู่ต่อหน้าหลวงปู่เหรียญ 
ท่านพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็หันมายิ้มๆ บอกว่า 
ปฏิบัติอย่างนี้ก็เห็นเงาของพระนิพพานอันเป็นอมตธรรมแล้ว 
ซึ่งก็จริงของท่าน คือยังเห็นแค่เงาๆ เท่านั้น 

อันที่จริงการปฏิบัติในขั้นละเอียดก็ไม่มีอะไรมาก 
อย่าไปพยายามสร้างภาระให้จิตก็แล้วกัน
 

****************************** 

เรื่องของท่านพระอนุรุทธยังมีอีกนิดหน่อย แล้วค่อยนำมาเล่าต่อนะครับ 
สุดท้ายนี้ก็ต้องขอบคุณ คุณพัลวัน ที่สร้าง วิมุตติ ขึ้นมา 
มิฉะนั้น ผมไม่กล้าจะนำเรื่องการปฏิบัติเหล่านี้ มาเล่าหรอกครับ 


โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 10:08:07

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ นิดนึง วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 10:58:17

ไม่ออกความเห็น ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 11:00:46

สาธุในธรรมครับพี่สันตินันท์
ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติขึ้นครับ

พูดไปพูดมาก็วกกลับมาเรื่องของเจตนา
ที่พี่ว่า
"ท่านพระอนุรุทธ ท่านปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน 
 ตั้งสติมั่นไม่หลงลืม กายสงบระงับไม่ระส่ำระสาย จิตตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา 
การปฏิบัติอย่างนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องในขั้นต้น 
แต่ในขั้นที่จะข้ามภพข้ามชาตินั้น 
การกำหนดจิตอย่างนี้ ยังเป็นการหางานให้จิตทำ 
ทำให้จิตกระเพื่อม ฟุ้งซ่านไปในธรรมไม่ยอมหยุด 
ครั้นท่านจะไม่กำหนด ไม่จงใจ ท่านก็เกรงว่าการปฏิบัติจะขาดสาย 
เกรงจะไม่รู้ ไม่เห็นธรรม ไม่เกิดองค์ความรู้ในอริยสัจจ์ "

คำว่า กำหนด และ จงใจ ในที่นี้ก็คือ เจตนานั่นเอง
ซึ่งผมก็เคยนำ เจตนาสูตรมาแสดงให้พวกเราได้ดูกันแล้วในกระทู้
สังขารขันธ์ ที่ลานธรรม ก็เป็นอันว่ามีพระไตรปิฎกรองรับ
แล้วนะครับ :)

อย่างนี้ที่แนวทางปฏิบัติที่เราควรทำก็คือ เจริญสติสัมปชัญญะ
ไม่เรื่อยๆ จนจิตเขาอิ่ม และละวางไปเอง จะไปกำหนดกฎเกณฑ์
อะไรไม่ได้ ใช่ไหมครับ



โดยคุณ มะขามป้อม วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 11:00:46

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ นิดนึง วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 11:00:56

สาธุค่ะ พี่สันตินันท์
พวกเราพากันอิ่มเอมในรสธรรมในกระทู้นี้กันมากค่ะ
แล้วก็ดีใจจริงๆ ที่มีวิมุตติเป็นสถานที่ให้ได้ฟังธรรม
จากพี่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรง ซึ่งหาฟังที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว
กราบขอบพระคุณพี่อีกครั้งค่ะ


โดยคุณ นิดนึง วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 11:00:56

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ นิดนึง วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 11:08:05

ส่งข้อความเกือบจะพร้อมๆ กับคุณมะขามป้อมเลย
เลยต้องมาขอบคุณ คุณมะขามป้อมอีกครั้งค่ะที่มา
เตือนให้ระลึกถึง เจตนาสูตร ที่คุณมะขามป้อมเคยโพสต์
ไว้ให้พวกเราอ่านค่ะ

อันที่บอกว่าไม่ออกความเห็น อันนั้นรู้สึกจะกดผิดค่ะ
ต้องขอโทษด้วยค่ะ


โดยคุณ นิดนึง วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 11:08:05

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 11:09:13

                                             จาก พระไตรปิฎกเล่ม 16
                                                                           ๘. เจตนาสูตรที่ ๑
                  [๑๔๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุย่อมจงใจ ย่อมดำริ และครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารัมณปัจจัย
เพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมีอารัมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี
เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อ
มีความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไป ชาติ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัส
และอุปายาส จึงมีต่อไป ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการ
อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ แต่ยังครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้น
เป็นอารัมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมีอารัมณปัจจัย ความตั้งมั่น
แห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ความบังเกิดคือ
ภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อมีความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไป ชาติชราและมรณะ โสก-
ปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงมีต่อไป ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อม
มีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
                [๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ และไม่ครุ่นคิด
ถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นอารัมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อไม่มี
อารัมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงไม่มี เมื่อวิญญาณนั้นไม่ตั้งมั่นแล้ว ไม่
เจริญขึ้นแล้ว ความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไปจึงไม่มี เมื่อความบังเกิดคือภพใหม่
ต่อไปไม่มี ชาติชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสต่อไปจึงดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
                                                                                   จบ สูตรที่ ๘


โดยคุณ มะขามป้อม วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 11:09:13

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 11:17:29

คำว่า อารัมณปัจจัย นั้นผมเปิดดูไม่พบในพจนานุกรม Online
เจอแต่คำว่า อารัมภกถา หรือ อารัมภบท แปลว่า คำปรารภ คำเริ่มต้น คำนำ
เลยคิดว่า อารัมณปัจจัย น่าจะแปลว่า สาเหตุเริ่มต้น

ใครมีพจนานุกรมที่ละเอียดกว่านี้รบกวนช่วยหาคำแปลด้วยครับ
ขอบคุณครับ


โดยคุณ มะขามป้อม วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 11:17:29

ความเห็นที่ 30 โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 11:43:03

ผมไม่ค่อยได้เข้าลานธรรม เลยไม่ได้อ่านเจตนาสูตร ที่คุณมะขามป้อมยกมา
แต่เมื่อทราบแล้ว ประเดี๋ยวจะไปหาอ่านในพระไตรปิฎกครับ

ข้อความที่คุณมะขามป้อมกล่าวที่ว่า
"อย่างนี้ที่แนวทางปฏิบัติที่เราควรทำก็คือ เจริญสติสัมปชัญญะ
ไปเรื่อยๆ จนจิตเขาอิ่ม และละวางไปเอง จะไปกำหนดกฎเกณฑ์
อะไรไม่ได้ ใช่ไหมครับ"

ขอเรียนว่าใช่อย่างยิ่ง
ครั้งหนึ่งผมเคยไปกราบเรียนการปฏิบัติต่อหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
และในตอนท้ายได้ปรารภกับท่านว่า
"ผมเจริญสติสัมปชัญญะอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังไม่ถึงความหลุดพ้นเสียที
ขอความอนุเคราะห์พ่อแม่ครูอาจารย์ โปรดให้อุบายที่ยิ่งขึ้นไปกับกระผมด้วย"
ท่านตอบเหมือนที่คุณมะขามป้อมสรุปนั่นเอง
คือตอบว่า "เมื่อเจริญสติสัมปชัญญะอยู่จนเป็นปกติแล้ว ก็หมดทางที่จะปฏิบัติต่อไป
มีแต่ต้องรอให้จิตเขาอิ่มเขาพอ แล้วเขาจึงจะหลุดพ้นของเขาเอง"

สิ่งที่พวกเราจะกระทำได้ก็คือเจริญสติ สัมปชัญญะ เจริญปัญญา ต่อไป

สำหรับเรื่องการเจริญปัญญานั้น ผมเพิ่งตอบเมล์น้องสาวคนหนึ่งเมื่อเช้านี้
ขอยกมาเล่าในที่นี้เลยนะครับ เพราะขี้เกียจพิมพ์ข้อความใหม่ในเนื้อหาเดิมๆ

ถาม
> ที่ไพถามว่าอย่าง..... ท่านเดินจงกรมไปด้วย
> แล้วพิจารณาธรรมไปด้วย เป็นหลงคิดรึเปล่า
> พี่บอกว่าไม่ใช่
> งงน่ะพี่
> แปลว่า..จะคิด พิจารณาธรรมอะไรก็ทำไป
> แต่ถ้าเกิดความรู้อะไรขึ้นมาก็ให้ทิ้งไปอย่าแบกไว้
> แต่ว่า เวลาคิดหรือพิจารณาธรรม
> มันก็ไม่อยู่ในปัจจุบันนี่คะ
>
> อ๋อ..ไพรู้ละ ถ้าพิจารณาธรรมแบบรู้ตัวไปด้วย
> ก็เป็นความรู้
> แต่ถ้าไม่รู้ตัวก็กลายเป็นหลงคิด  ใช่ป่าวพี่
>
> แต่ว่า..ฮื่อ พี่ช่วยเรียบเรียงความคิดไพหน่อยสิ
> รู้สึกว่ามันยังปีนๆกัน ขัดๆ ยังไงก็ไม่รู้
> หรือพี่ช่วยขยายความเรื่องรู้แล้วทิ้ง ให้อีกหน่อยนะคะ
> (อย่าให้ทำการบ้านเองเลย นะพี่นะ)

ตอบ
การอธิบายเรื่องนี้ ก็คือการอธิบายการดำเนินจิตระหว่างปฏิบัติแทบทั้งหมด
ไม่เหมาะจะคุยด้วยตัวหนังสือหรอก เพราะมันยาว

ก่อนอื่นควรเข้าใจคำว่า "พิจารณาธรรมเสียก่อน"
พิจารณาธรรมมีตั้งแต่ขั้นหยาบเป็นสมถะ จนถึงขั้นกลางเป็นวิปัสสนาหยาบ
ขั้นละเอียดก็เป็นวิปัสสนาละเอียด

เช่นถ้านั่ง หรือเดินจงกรมอยู่ จิตใจฟุ้งซ่าน ไม่สงบเลย
ดูอะไรก็ไม่รู้เรื่องเลย
อาจจะแก้ปัญหาเพื่อให้จิตตั้งมั่นเป็นธรรมเอกด้วยการทำสมถะ
เช่นการเดินเอาสติจ่อลงไปที่เท้า และถ้าฟุ้งมากก็บริกรรมควบไปด้วยเช่น
ขวา ซ้าย ขวา ซ้าย เป็นต้น
หรือจะแก้ด้วยการพิจารณาธรรมก็ได้ เช่นเดินอยู่ก็คิดพิจารณาว่า
นี่เราเดินใกล้ความตายไปทีละก้าวแล้ว อายุของเราสั้นลงทุกย่างก้าว
ทุกลมหายใจเข้าออก ตอนนี้เรามีทุกสิ่งทุกอย่าง มีพ่อแม่พี่น้องญาติมิตร
ทรัพย์สินเงินทองหน้าที่การงาน มีของรักของเจริญใจหลายอย่าง
แต่เมื่อเราตายไป สิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นสมบัติของคนอื่น
กระทั่งร่างกายนี้ก็เอาไปไหนไม่ได้ ต้องทิ้งคืนเป็นธาตุไว้กับโลก ...
เป็นต้น

คิดพิจารณาอย่างนี้ จะทำให้จิตสงบลง ธรรมเอกหรือตัวรู้ก็จะเด่นชัดขึ้นมา

คราวนี้ก็มาถึงการพิจารณาขั้นกลาง(ขั้นเหล่านี้พี่บัญญัติเองเพื่อให้ไพรู้เรื่อง)
อันนี้ไม่ใช่การใช้ความจงใจคิดอย่างแบบแรก
คือเมื่อจิตสงบ รู้ตัว และเดินอยู่นั้น ให้ทำความรู้ตัวสบายๆ
กับการเดินนั้น ไม่ต้องสนใจว่า จะพิจารณาธรรมอะไร แต่เมื่อเดินๆ ไป
จิตมันจะคิดนึกขึ้นมาเอง ว่ามันจะพิจารณาธรรมอะไร เช่นเดินๆ อยู่
จิตอาจจะสนใจเข้าไปจับรูป จิตเห็นรูปเป็นหุ่นยนต์เดินไปเดินมา
เห็นมันเป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ .. หรือเดินๆ อยู่เกิดเมื่อย
จิตจับเข้าพิจารณาเวทนา เห็นความเมื่อยไม่ใช่เรา
เป็นของแปลกปลอมเข้ามาในกายเท่านั้น ..
หรือเดินไปแล้วเห็นกิเลสตัณหาผุดขึ้น ก็รู้ความเกิดดับของมันไป ฯลฯ

การปฏิบัติในขั้นวิปัสสนานั้น คำว่าพิจารณาก็คือคำว่า รู้ๆๆ ไม่ใช่คิด
หลวงพ่อพุธท่านพูดเรื่องนี้บ่อยๆ ว่า "รู้เฉยๆ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
นั่นแหละพิจารณาแล้ว" จิตจะเห็นขันธ์ 5 ทำหน้าที่ของมันเรื่อยๆ ไป

ยังมีการรู้หรือการพิจารณาหรือการเดินวิปัสสนาในขั้นละเอียดอีกอย่างหนึ่ง
อันนี้จิตต้องเป็นไปเองโดยปราศจากความจงใจ เช่นเมื่อเดินๆ อยู่
จิตรวมลงไปโดยไม่จงใจ ไม่มีคน ไม่มีโลก ร่างกายจะหยุดยืนนิ่งๆ อยู่
จิตหมดความคิดเป็นคำพูด
แต่จะมีสังขารละเอียดผุดขึ้นมาสู่ภูมิรู้ของจิตเป็นระยะๆ เกิดแล้วดับ
เกิดดับๆๆ ไปเรื่อยๆ เป็นระยะๆ
อันนี้ขนาดหมดความคิดแล้วก็ยังเรียกว่าการพิจารณาเหมือนกัน
คือจิตมันวิจารธรรม มันเคล้าเคลียอยู่กับธรรม มีแต่เกิดดับให้รู้ล้วนๆ
ไม่มีความคิดเป็นคำพูด

เรื่องมันยาวอย่างนี้แหละ เมื่อวานถามพี่ทางตัวหนังสือ จึงไม่ได้ตอบให้
และความจริง ถ้ารู้ว่า ความสงสัยเกิดขึ้นแล้วดับไป มันก็หมดเรื่องแล้ว

พี่ไม่ค่อยอยากแจกแจงธรรมอะไรมากนักให้กับผู้ปฏิบัติ
เพราะสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นความจำ แล้วมันจะปิดกั้นปัญญาในภายหลัง
คือจิตมันจะคิดว่า เรื่องนี้ฉันรู้แล้ว
และหมดความสนใจที่จะพิจารณาในธรรมเรื่องนี้ ยิ่งรู้ตำรามากๆ
จิตก็ยิ่งปิดกั้นตนเอง เพราะอะไรๆ ก็รู้หมด จิตไม่สามารถเดินปัญญาได้

ด้วยเหตุนี้ พี่จึงย้ำบ่อยๆ ว่า ไม่อยากช่วยทำการบ้านให้น้องๆ หลานๆ
เพราะสิ่งที่ได้ ไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียหรอกครับ
และที่พูดเรื่อง "รู้แล้วทิ้ง" นั้น ก็เพราะไม่ต้องการให้พยายามจดจำความรู้ต่างๆ
ที่เกิดขึ้นไว้ แม้จะเป็นความรู้ถูก รู้ตรง ก็ไม่ต้องจำไว้
เราปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ได้ปฏิบัติเอาความรู้
จะไปหวงความรู้ความเห็นต่างๆ ไว้ทำไม พี่จึงบอกไพบ่อยๆ ว่า รู้แล้วทิ้ง ๆ ๆ
จิตใจจะได้ปลอดโปร่ง ปฏิบัติเจริญสติต่อไปได้อย่างเบากายเบาใจ


โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 11:43:03

ความเห็นที่ 31 โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 12:00:00

อ้าว ขอบคุณครับคุณมะขามป้อม ยกมาให้อ่านกันตรงนี้เลย
ชัดเชียวครับพระสูตรนี้

นโมวิมุตตานํ นโมวิมุตติยา


โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 12:00:00

ความเห็นที่ 32 โดยคุณ jittidej วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 12:01:42

พออ่านถึงประโยคนี้

"เมื่อเจริญสติสัมปชัญญะอยู่จนเป็นปกติแล้ว ก็หมดทางที่จะปฏิบัติต่อไป
มีแต่ต้องรอให้จิตเขาอิ่มเขาพอ แล้วเขาจึงจะหลุดพ้นของเขาเอง"

ปีติมันเอ่อล้นใจ น้ำตาปริ่มขอบตาขึ้นมาโดยบัดดล (โดยไม่ทราบสาเหตุว่าทำไม จึงเกิดปีติขึ้นที่ข้อความนี้ก็ไม่ทราบ)

สาธุครับครู
_/|\_ _/|\_ _/|\_
(เพียงเท่านี้ก็หายเหนื่อยแล้วครับ)



โดยคุณ jittidej วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 12:01:42

ความเห็นที่ 33 โดยคุณ ไพ วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 12:22:01

ขอบพระคุณพี่มากค่ะ
ขอบคุณคุณมะขามป้อมด้วย
และคุณพัลวันที่ทำเว็บนี้ขึ้นมาค่ะ


โดยคุณ ไพ วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 12:22:01

ความเห็นที่ 34 โดยคุณ ทองคำขาว วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 12:46:03

หากธรรมชี้ทางสำหรับพระอนาคามีสู่การทิ้งจิต
อย่างล้างภพล้างชาติ คือ
"พบตัวรู้ให้ทำลายตัวรู้" แล้วไซร้
ธรรมชี้ทางนี้เป็นดั่งแก้วมณีมีค่ายิ่งสำหรับ
การปฏิบัติในขั้นแตกหัก ของจิตที่รู้รวมอันยิ่งยวด
เพื่อการทิ้งซึ่งการถือจิตว่าเป็นเรา
_/|\_ สาธุ สาธุ สาธุ
_/|\_ นโม วิมุตฺตานํ  นโม วิมุตฺติยา
_/|\_ ขอน้อมกราบในธรรมทานอันยิ่งครับ


โดยคุณ ทองคำขาว วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 12:46:03

ความเห็นที่ 35 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 13:10:21

สาธุครับ

ที่อธิบายคุณไพ ก็มีคุณค่ามากๆครับ เป็นหลักให้กับการพยายามจะปฎิบัติธรรมของผมได้มากครับ

ดีสำหรับคนที่ก้าวหน้าถอยหลังอยู่เสมอๆเช่นผมครับ


โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 13:10:21

ความเห็นที่ 36 โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 15:25:00

ปฏิปทาและการนิพพานของท่านพระอนุรุทธ

ท่านพระอนุรุทธเป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งในการเผยแผ่พระศาสนา
มีความสามารถในการอบรมสั่งสอนศิษย์ 
เช่นท่านพระสุมนเถระ ซึ่งบรรลุพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ
ท่านเป็นผู้เลิศในทิพยจักษุ  จึงรอบรู้ในการจุติและอุบัติของสัตว์ต่างๆ เป็นอันมาก
และมีเรื่องราวที่ท่านพบปะสนทนากับเทพ อยู่มากมายหลายเรื่อง

สำหรับปฏิปทาของท่านก็น่าสนใจ ดังปรากฏใน 
อนุรุทธเถรคาถา พระสุตตันตปิฎก  เล่ม ๑๘
ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถระ-เถรีคาถา
ความว่า
(พระสูตรนี้มีร่องรอยชัดเจนว่า เกิดขึ้นภายหลังการสังคายนาครั้งที่ 1)

[๓๙๓] พระพุทธเจ้าผู้ทรงยินดีในธรรมเครื่องไม่เนิ่นช้า 
ได้ทรงแสดงธรรมเครื่องไม่เนิ่นช้าแก่เรา 
เรารู้ทั่วถึงพระธรรมเทศนาของพระองค์แล้ว 
เป็นผู้ยินดีในพระศาสนา ปฏิบัติตามคำพร่ำสอนอยู่ 
เราบรรลุวิชชา ๓ โดยลำดับ ได้ทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว
เราถือการไม่นอนเป็นวัตรมาเป็นเวลา ๕๕ ปี 
เรากำจัดความง่วงเหงาหาวนอนมาแล้วเป็นเวลา ๒๕ ปี


 ดูกรเทวดา บัดนี้ การอยู่อีกต่อไปด้วยอำนาจการอุบัติในเทพนิกาย ย่อมไม่มี
ชาติสงสารสิ้นไปแล้ว บัดนี้ การเกิดในภพใหม่มิได้มี 
ภิกษุใดรู้แจ้งมนุษยโลก เทวโลก พร้อมทั้งพรหมโลกอันมีประเภทตั้งพัน ได้ในเวลาครู่เดียว 
ทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในคุณ คือ อิทธิฤทธิ์ และในจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย 
ภิกษุรูปนั้นย่อมเห็นเทพเจ้าทั้งหลายได้ตามความประสงค์ 

เมื่อก่อนเรามีนามว่าอันนภาระเป็นคนยากจน เที่ยวหารับจ้างเลี้ยงชีพ
ได้ถวายอาหารแด่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นสมณะเรืองยศ 
เพราะบุญกรรมที่ได้ทำมาแล้ว เราจึงได้มาเกิดในศากยตระกูล
พระประยูรญาติขนานนามให้เราว่า อนุรุทธะ 
เป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วยการฟ้อนรำและขับร้อง 
มีเครื่องดนตรีบรรเลงปลุกให้รื่นเริงใจอยู่ทุกค่ำเช้า 
ต่อมา เราได้เห็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีภัย แต่ที่ไหนๆ 
ได้ยังจิตให้เลื่อมใสในพระองค์ท่านแล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต 

เราระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้ 
เราได้เคยเป็นท้าวสักกรินทร์เทวราชอยู่ในดาวดึงส์เทพพิภพมาแล้ว 
เราได้ปราบปรามไพรีพ่ายแพ้แล้ว ขึ้นผ่านสมบัติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมมนุษย์นิกร 
ในชมพูทวีปมีสมุทรสาครทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ๗ ครั้ง 
ได้ปกครองปวงประชานิกรโดยธรรม ด้วยไม่ต้องใช้อาชญาหรือศาตราใดๆ 
เราระลึกชาติหนหลังในคราวที่อยู่ในมนุษยโลกได้ดังนี้ คือ 
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ เป็นพระอินทร์   ๗ ชาติ 
รวมการท่องเที่ยวอยู่เป็น ๑๔ ชาติด้วยกัน 

ในเมื่อสมาธิอันประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นธรรมอันเอกปรากฏขึ้น 
ที่เราได้เพราะความสงบระงับกิเลส 
ทิพยจักษุของเราจึงบริสุทธิ์เราดำรงอยู่ในฌานอันประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ 
รู้จุติและอุบัติ การมา การไป ความเป็นอย่างนี้
และความเป็นอย่างอื่น ของสัตว์ทั้งหลาย
เรามีความคุ้นเคยกับพระบรมศาสดามาแล้วเป็นอย่างดี 
เราได้ทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว
ปลงภาระอันหนักลงได้แล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นได้แล้ว
เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ 
ภายใต้พุ่มกอไม้ไผ่ใกล้บ้านเวฬุวคามแห่งแคว้นวัชชี.


พระมหาเถระผู้ทรงคุณอันประเสริฐองค์นี้
ได้ดำเนินล่วงหน้าพวกเราไปก่อนแล้ว
_/|\_  _/|\_  _/|\_

******************************

เรียนคุณมะขามป้อม

อารัมณปัจจัย มาจากคำว่า อารมณ์ + ปัจจัย

ปัจจัย แปลว่า สิ่งที่อุปการะ เกื้อกูล อุดหนุน 
จุนเจือ ช่วยเหลือ ให้ปัจจยุบบันนธรรมเกิดขึ้น
(พูดง่ายๆ ปัจจัยคือเหตุให้เกิดผล)
ส่วนอารมณ์ คงไม่ต้องแปลนะครับ

รวมความแล้ว อารัมณปัจจัย แปลว่า
อารมณ์เป็นปัจจัยให้เกิดจิตและเจตสิกนั้นๆ ขึ้น

มีคำๆ นี้ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก 3 เล่ม
และมีอธิบายเพิ่มเติมในอภิธัมมัตถสังคหะครับ


โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 15:25:00

ความเห็นที่ 37 โดยคุณ นิดนึง วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 16:17:23

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 38 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 25 พฤศจิกายน 2542 08:00:23

หัวข้อสนทนานี้มีผลที่ไม่ธรรมดา

หลังจากที่ได้อ่านห้วข้อสนทนานี้ไปเมื่อวาน ก็มนสิการไว้ในใจว่า จักรู้ๆ เพียงแค่นั้น ด้วยการภาวนาเพียงเมื่อค่ำคืนและในเช้าวันนี้ เห็นผลของธรรมดา(คือเป็นไปตามธรรม)ที่ไม่ธรรมดา(คือไม่เป็นไปอย่างที่คุ้นเคย)

ใจน้อมไปในทาง อยากรู้น้อยลง ใจน้อมไปในทางสักแต่ว่ารู้มากขึ้น

ผลก็คือ ใจปลอดโปร่งโล่งสบาย ในลักษณะ พอดีตัว จึงทำให้ได้รู้ว่า แท้จริงเมื่อก่อนนี้เราแบกภาระไว้ ภาระที่แบกคือแบกความรู้(ด้วยสัญญา)ในธรรม ผลก็คือ ใจย่อมกระสับกระส่าย ฟุ้งซ่านไปในความรู้นั้น ไปในการตรวจสอบ ใคร่ครวญพิจารณาในความรู้นั้น อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

นั่นคือการสร้างภาระให้กับจิต จิตจึงไม่ปลอดโปร่ง แจ่มใส เบิกบานในธรรมเลย

สาธุในธรรมอันองค์พระบรมศาสดาทรงแสดง
สาธุในธรรมอันพระสาวกบรรลุ
สาธุในธรรมที่ครูแสดง
สาธุในธรรมที่คุณมะขามป้อมแสดง

สาธุ สาธุ สาธุ



โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 25 พฤศจิกายน 2542 08:00:23

ความเห็นที่ 39 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน ศุกร์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2542 08:13:24

ู^-^ _/|\_

โดยคุณ นกเอี้ยง วัน ศุกร์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2542 08:13:24

ความเห็นที่ 40 โดยคุณ กระต่าย วัน เสาร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2542 10:26:36

ไม่ทราบว่าจะกล่าวอย่างไรดี

สาธุในธรรมของพระพุทธองค์
สาธุค่ะคุณอาสันตินันท์
สาธุคุณค่ะมะขามป้อม
ขอบคุณพี่พัลวันที่ทำให้มีวิมุตติ


โดยคุณ กระต่าย วัน เสาร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2542 10:26:36

ความเห็นที่ 41 โดยคุณ โจโจ้ วัน เสาร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2542 23:09:31

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 42 โดยคุณ Lee วัน อาทิตย์ ที่ 28 พฤศจิกายน 2542 17:54:35

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 43 โดยคุณ sakorn วัน อาทิตย์ ที่ 5 ธันวาคม 2542 22:54:22

เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 44 โดยคุณ kobe วัน พุธ ที่ 29 ธันวาคม 2542 23:10:48
สาธุครับ
โดยคุณ kobe วัน พุธ ที่ 29 ธันวาคม 2542 23:10:48

ความเห็นที่ 45 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน พฤหัสบดี ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 08:03:16
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 46 โดยคุณ นิพ วัน พฤหัสบดี ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 14:53:11
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com