กลับสู่หน้าหลัก

ธรรมเอกกับการเจริญสติปัฏฐาน 

โดยคุณ สันตินันท์ วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 09:54:03

ผมได้นำกายคตาสติสูตรมาให้พวกเราอ่านกันแล้ว 
ในกระทู้ ธรรมที่ยังพระอานนท์ให้บรรลุพระอรหันต์ 
ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า ไม่ได้ตรงกันกับตำรารุ่นหลัง
ที่จัดเอากายคตาสติ เป็นหนึ่งในวิธีเจริญสมถกรรมฐานเท่านั้น 
ในขณะที่พระศาสดาทรงแสดงกายคตาสติ 
แจกแจงไปในแนวเดียวกับกายานุปัสสนาและจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน 
และทรงแสดงอานิสงส์ว่า สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติ 
บรรลุเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ 

ความไขว้เขวว่า กายคตาสติ เป็นเรื่องของสมถกรรมฐาน 
อาจเกิดจากการที่ในกายคตาสติสูตร มีการกล่าวถึง ธรรมเอก 
ซึ่งธรรมเอกนี้ มีปรากฏทั่วไปในคำสอนเรื่องทุติยฌาน 
อันเป็นเรื่องของสัมมาสมาธิ 
นอกจากนี้ พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 2 (พระไตรปิฎกเล่มที่ 35) วิภังคปกรณ์ 
ได้อธิบายธรรมเอกไว้ว่า 
            [661] คำว่า เป็นธรรมเอกผุดขึ้นแก่ใจ 
ได้แก่ ความตั้งอยู่แห่งจิต ฯลฯ สัมมาสมาธิ
 

ดังนั้นเมื่อเห็นคำว่า ธรรมเอก ก็ง่ายที่จะเชื่อว่า 
กายคตาสติ เป็นเรื่องของการทำสมถกรรมฐาน 
โดยมองข้ามคำสอนส่วนอื่นๆ 
ที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ในกายคตาสติสูตร 

ผู้ศึกษาปริยัติธรรม อาจตีความว่า ธรรมเอก หรือสัมมาสมาธิ 
เป็นเรื่องของการทำสมาธิเท่านั้น 
ไม่มีประโยชน์ใดๆ กับการเจริญวิปัสสนาด้วยการจำแนกรูปนาม 
แต่จากประสบการณ์ของการปฏิบัติแล้ว ผมกลับเห็นว่า 
ถ้าปราศจากธรรมเอก จิตย่อมไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้ 
เพราะจิตจะปราศจากความตั้งมั่น รู้  เป็นกลาง อ่อนโยน ควรแก่การงาน
 

ด้วยเหตุนี้ พระศาสดาจึงทรงสอนถึงการเตรียมจิตให้พร้อม 
ก่อนการเจริญสัมมาสติอันเป็นตัวแท้ของวิปัสสนา 
คือทรงสอนเรื่องสัมมาสมาธิ ให้ทำจนจิตมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา 
ซึ่งก็คือการมีธรรมเอกนั่นเอง 
จากนั้นจึงน้อมจิตไปเจริญสติ(ปัญญา) 
ซึ่งคำสอนแนวนี้จะพบทั่วไปในพระสูตร 

อย่างไรก็ตาม ในมหาสติปัฏฐานสูตร 
ท่านไม่ได้ระบุตรงๆ ว่าต้องเจริญสติปัฏฐานด้วย ธรรมเอก 
แต่ทรงระบุถึงสภาพจิตที่พร้อมแก่การเจริญสติปัฏฐาน 
ว่าต้องเป็นจิตที่รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏอย่างเป็นวิหารธรรม 
คือเป็นเครื่องรู้เครื่องอยู่ของจิต 
ต้องมีความเพียรแผดเผากิเลส ต้องมีความรู้ตัว ต้องมีสติ 
ต้องขจัดความยินดียินร้ายในโลกเสีย 
เมื่อจิตมีคุณสมบัติเช่นนี้แล้ว จึงพร้อมจะเจริญสติปัฏฐานต่อไป 
ซึ่งจิตที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ 
ก็คือจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ หรือเป็นธรรมเอก 
ที่นักปฏิบัตินิยมเรียกว่า จิตผู้รู้นั่นเอง
 

แต่เมื่อมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านไม่ได้เอ่ยตรงๆ 
ว่าต้องมี ธรรมเอก ในระหว่างการเจริญสติปัฏฐาน 
จึงยิ่งทำให้ ธรรมเอก หรือจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ 
ไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายปริยัติ หนักเข้าไปอีก 

จากประสบการณ์ในหมู่นักปฏิบัติอีกนั่นแหละ พบว่า 
เมื่อเราเจริญกายคตาสติไปจนเต็มภูมิแล้ว 
จิตจะรวมลงเป็นสัมมาสมาธิอีกคราวหนึ่ง 
ซึ่งสัมมาสมาธินี้เอง เป็นเหมือนภาชนะที่รวมองค์มรรคทั้งปวงเข้าด้วยกัน 
ศีล สมาธิ ปัญญาจึงรวมเข้าเป็นหนึ่ง 
เป็นกำลังของอริยมรรคที่จะเกิดขึ้นต่อไป 

สัมมาสมาธิ จึงเป็นสิ่งที่ต้องสร้างให้มีขึ้นก่อนเจริญสติปัฏฐาน 
เพราะเป็นการเตรียมจิตให้มีสติสัมปชัญญะบริสุทธิ์นั่นเอง 
และเมื่อจิตมีสติสัมปชัญญะแล้ว จึงน้อมจิตไปเจริญปัญญาต่อไป 
ซึ่งก็ต้องใช้สัมมาสมาธิหรือ จิตรู้ ในระหว่างเจริญสติปัฏฐานด้วย 
และสุดท้าย สัมมาสมาธิยังเป็นที่ประชุมขององค์มรรค 
ภายหลังเจริญปัญญาไปจนเต็มภูมิแล้ว

ผมเคยเล่าให้พวกเราฟังมานานแล้วว่า 
การเจริญสติปัฏฐานจำเป็นต้องอาศัยธรรมเอก 
แต่สิ่งที่นำมากล่าวนั้น เป็นความรู้จากการปฏิบัติ 
ยังไม่พบหลักฐานยืนยันในพระไตรปิฎก
 
จนเมื่อไม่นานมานี้เอง คุณ morning_glory ได้กล่าวกับผมว่า 
เริ่มมีความเข้าใจเรื่องธรรมเอกมากขึ้นแล้ว 
แต่ถ้ามีหลักฐานในพระไตรปิฎก 
เกี่ยวกับการมีธรรมเอกในระหว่างการเจริญสติปัฏฐาน 
ก็จะเป็นประโยชน์และมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
 

ก่อนที่คุณ glory จะถามถึงหลักฐานในพระไตรปิฎก 
ผมได้พบสติปัฏฐานที่ระบุถึงธรรมเอกอยู่แล้ว 
จึงบอกกับ glory ว่ามีหลักฐานแน่นอนแล้ว 
ซึ่งรองรับกันหมดทั้งภาคปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ 
แต่เอาไว้ว่างๆ ก่อน จึงจะเขียนมาแบ่งกันอ่านต่อไป 

วันนี้พอมีเวลาว่าง จึงขอยกพระสูตรอันเป็นหลักฐานสำคัญว่า 
การเจริญสติปัฏฐานต้องอาศัยธรรมเอก มาแสดง ดังนี้ 
 
 พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โกสลสูตร 
                    ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔
 

      [๖๙๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ 
ณ พราหมณคามชื่อโกศล ในแคว้นโกศล 
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ 
แล้วได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย 
ภิกษุทั้งหลายที่เป็นผู้มาใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ 
อันเธอทั้งหลายพึงให้สมาทาน พึงให้ตั้งอยู่ 
พึงให้ดำรงมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ 
สติปัฏฐาน ๔  เป็นไฉน? 

     [๖๙๒] มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย 
จงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ 
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น 
มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว 
เพื่อรู้กายตามความเป็นจริง 

จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... เพื่อรู้เวทนาตามความเป็นจริง 
จงพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... เพื่อรู้จิตตามความเป็นจริง 
จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ 
มีความเพียร  มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น 
มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว 
เพื่อรู้ธรรมตามความเป็นจริง. 

      [๖๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัต 
ปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม 
ก็ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ 
 มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น 
มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อกำหนดรู้กาย 

ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... เพื่อกำหนดรู้เวทนา 
ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... เพื่อกำหนดรู้จิต 
 ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ 
มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส  มีจิตตั้งมั่น 
มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อกำหนดรู้ธรรม. 

      [๖๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุทั้งหลายที่เป็นอรหันตขีณาสพ 
อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว 
มีประโยชน์ตนถึงแล้วโดยลำดับ สิ้นสังโยชน์ที่จะนำไปสู่ภพแล้ว 
หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ 
ก็ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ 
มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น 
มีจิตมีอารมณ์เดียว พรากจากกายแล้ว 

 ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พรากจากเวทนาแล้ว 
ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ...  พรากจากจิตแล้ว 
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ 
มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น 
มีจิตมีอารมณ์เดียว พรากจากธรรมแล้ว. 

      [๖๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายที่เป็นผู้มาใหม่ 
บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ 
อันเธอทั้งหลายพึงให้สมาทาน พึงให้ตั้งอยู่ 
พึงให้ดำรงมั่น ในการเจริญสติปัฏฐาน ๔  เหล่านี้.
 
 
ผมมีข้อสังเกตหลายประการคือ 

พระสูตรนี้ท่านสอนสติปัฏฐานอย่างย่อแก่พระบวชใหม่ 
ท่านจึงไม่ได้แสดงบทอุเทสของมหาสติปัฏฐานสูตร 
อันเป็นการเตรียมจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญวิปัสสนา 
หากแต่ได้ย่นย่อเอา ธรรมเอก ซึ่งเป็นจิตที่พร้อมแล้ว 
มากล่าวถึงในขั้นการเจริญสติปัฏฐานเลยทีเดียว 

จุดสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ 
ท่านสอนพระบวชใหม่ให้เจริญสติปัฏฐานในลักษณะ 
เพื่อรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม ตามความเป็นจริง 

ท่านเล่าให้พระใหม่ฟังเพิ่มเติมว่า 
พระเสขบุคคล คือพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบัน จนถึงพระอนาคามี 
เจริญสติปัฏฐานเพื่อกำหนดรู้ กาย เวทนา จิต และธรรม 
ทั้งนี้เพราะพระอริยบุคคลเหล่านี้ 
ท่านเห็นความจริงของกาย เวทนา จิต ธรรมแล้ว ว่าไม่ใช่ตัวตน ของตน 
แต่จิตของท่านยังยึดถือ กาย เวทนา จิต ธรรม อยู่ 
จึงต้องกำหนดรู้เพื่อการพัฒนาจิตต่อไปอีก 
อันเป็นกิจตามหลักของอริยสัจจ์ 4 นั่นเอง คือทุกข์ให้กำหนดรู้ 

ท่านเล่าให้พระใหม่ฟังเพิ่มเติมว่า 
พระอรหันต์เจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เพื่อสิ่งใด 
เพียงแต่เจริญสติปัฏฐาน โดยมีธรรมเอก 
คือมี จิตตั้งมั่น พรากจาก กาย เวทนา จิต และธรรมแล้ว 

สภาวะที่จิตอันผ่องใส ตั้งมั่น มีอารมณ์อันเดียว พรากจากกาย เวทนา จิต ธรรม 
เป็นสภาวะที่อธิบายยากมาก คิดตามก็ยากจะทำได้ 
ตราบใดที่ยังไม่รู้ธรรม และสามารถปฏิบัติจนจิตหลุดพ้นชั่วขณะจากขันธ์ 
ก็จะไม่เข้าใจสภาวะที่จิตพรากจากขันธ์ 
แต่ผมก็จะลองพยายามอธิบายให้พวกเราส่วนมากในที่นี้ฟัง 
พอเป็นเครื่องบันเทิงใจ และเป็นกำลังใจในการปฏิบัติ 

ปกติจิตของผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ จะคลุกอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับขันธ์ 
ขันธ์ทั้งก้อน รวมเป็น เรา เรา เรา อย่างเหนียวแน่น 
(ที่จริงอยากใช้คำว่า เหนียวหนา  คือมันทั้งเหนียวทั้งหนาจริงๆ) 
แต่พอเราเริ่มมีตัวรู้ เราจะเห็นหรือรู้สึกว่า 
ระหว่างขันธ์กับจิต จะมีระยะทางหรือช่องว่างอันหนึ่ง 
หรือจะว่ามีช่องว่างระหว่างจิตกับรูป จิตกับนาม และรูปกับนาม ก็ว่าได้ 
พวกเราจำนวนมากในที่นี้ คงเคยเห็นสภาวะอย่างนี้กันแล้ว 

แต่สภาวะดังกล่าวนี้ จิตยังไม่พรากจากขันธ์ 
คือจิตกับขันธ์ ยังเหมือนนักมวยบนเวทีเดียวกัน 
ยังต่อสู้ ชิงไหวชิงพริบกัน 
ประเภทเผลอพริบตาเดียว เป็นถูกกิเลสตัณหาชกจนหัวซุกหัวซุน 
หรือถ้าช่วงใด สติ ปัญญากล้าแข็ง ก็ต้อนเอากิเลสตัณหาเข้ามุม 
แต่ก็ยังเอาชนะน็อกไม่ได้อย่างที่ปรารถนา 

ส่วนสภาวะที่จิตพรากจากขันธ์นั้น เป็นคนละโลกเลย 
ไม่ใช่สภาวะที่จิตชนะน็อกแล้วเดินลงจากเวที ไม่ใช่อย่างนั้นเลย 
แต่มันเหมือนจิตมันปัดทั้งเวที นักมวยทุกฝ่าย กระทั่งกรรมการและคนดู 
กระเด็นเข้าไปอยู่ในความฝันเลย 
ขันธ์ที่เหลืออยู่ เหมือนความฝัน เหมือนภาพมายา เหมือนพยับแดด 
จิตเหลือแต่อารมณ์อันเดียว คืออารมณ์ของความเป็นอิสรภาพ เบิกบาน ไร้ขอบเขต 


จิตพระอรหันต์ เป็นจิตที่พรากจากขันธ์ 
สิ่งที่ท่านปฏิบัติทางกาย วาจา และใจ มันเป็นกิริยาล้วนๆ 
เหมือนเดินอยู่ในความฝันลวงๆ ลมๆ แล้งๆ ไปอย่างนั้นเอง 

ผมเคยรู้จักสภาพอย่างนี้เป็นคราวๆ 
แล้วก็กลับมาขึ้นเวทีชกมวยต่อไปอีก 
ยังไม่ทราบเหมือนกันว่า เมื่อไรจะเลิกชกได้เสียที 
สำหรับพวกเราทุกคนก็ควรทำได้เช่นกัน
ขอเพียงตั้งใจชกให้ดีเท่านั้น อย่าถูกหามลงจากเวทีเสียก่อน
สักวันหนึ่ง ก็คงสามารถเหวี่ยงเวทีของขันธ์และโลก 
เข้าไปอยู่ในความฝันได้เช่นกัน

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 10:35:39

สาธุครับพี่สันตินันท์ มีธรรมดีๆ ให้พวกเราได้อ่านกันเสมอ

ผมขอสนับสนุนเรื่องธรรมเองในสติปัฏฐานครับ
จะขอเล่าประสบการณ์สักเล็กน้อยครับเพื่อช่วยอ้างอิง

ผมเองนั้น มักจะเริ่มนั่งสมาธิจากการวิปัสสนาเลย เพราะถูกจริต
ช่วงแรกๆ ของการนั่งสมาธิ (ขณิกสมาธิ) จิตจะส่าย คิดเรื่องนู้นเรื่องนี้
เราก็ตามดูไปเรื่อยๆ แต่จะสังเกตได้ว่ายังได้ยินเสียงจากภายนอกอยู่

นั่งมาสักระยะหนึ่ง จิตจะเลื่อนระดับมาที่ อุปจารสมาธิ ช่วงนี้เองที่
ผมคิดว่ามี ธรรมเอก พุดขึ้นคือจิตมีลักษณะตั้งมั่น ไม่ส่ายสามารถ
พิจารณาอารมณ์ได้อย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่าช่วงนี้เรายัง
พิจารณาได้อยู่ คือเป็นวิปัสสนาไม่ใช่สมถะ ข้อสังเกตที่เด่นชัดคือ
หูจะไม่ได้ยินเสียงภายนอก มีแต่ความเงียบสงบภายในครับ

ในระดับอัปปนา นั้นจิตไม่สามารถพิจารณาอะไรได้ แต่มีอยู่อย่างหนึ่ง
ที่ต่างจากปกติคือ จะรู้สึกถึงความโปร่งเบาสบายของจิตครับ

สมาธิทั้ง 3 ระดับมีอาการของจิตแบ่งแยกออกจากกันชัดเจนครับ
ในการเปลี่ยนระดับนั้น มีลักษณะเหมือน เปิดสวิทไฟ คือเปลี่ยน
แปลงอย่างทันทีทันใดให้สังเกตได้ และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เรา
ไม่อาจกำหนดได้ (มันเปลี่ยนของมันเอง) ครับ
แต่ช่วงออกจากสมาธินั้นไม่เป็นระดับให้เห็นนะครับ จะกลืนๆ กันไป

(ไม่ทราบว่าผมเข้าใจถูกต้องหรือเปล่านะครับ แต่เล่าตามประสบการณ์ครับ)


โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 10:35:39

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 12:05:11

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ada วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 12:50:31

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ กระต่าย วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 15:56:14

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ นิดนึง วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 16:19:20

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ ไพ วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 17:09:41

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ แมวแก่ วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 17:24:13

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ tana วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 18:20:38

ไม่ออกความเห็น ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ บิ๊ก วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 19:36:03

ขอบคุณครับ

โดยคุณ บิ๊ก วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 19:36:03

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ มะเหมี่ยว วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 20:52:10

ขอบคุณค่ะ

โดยคุณ มะเหมี่ยว วัน อังคาร ที่ 23 พฤศจิกายน 2542 20:52:10

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ โยคาวจร วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 10:13:23

(๏) สาธุ : )

โดยคุณ โยคาวจร วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 10:13:23

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ นุดี วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 13:49:43

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ทรายแก้ว วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 20:51:32

สาธุค่ะ _/|\_ ขอบพระคุณมากค่ะ

โดยคุณ ทรายแก้ว วัน พุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2542 20:51:32

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ สันตินันท์ วัน พฤหัสบดี ที่ 25 พฤศจิกายน 2542 08:30:05

เมื่อวานมัวแต่เขียนเรื่องท่านพระอนุรุทธ ไม่ได้เข้ามาดูกระทู้นี้
เพิ่งได้เห็นข้อความของคุณมะขามป้อมครับ
สิ่งที่เล่ามานั้น เป็นประโยชน์ และมีค่า
เพราะฟังดูก็ทราบว่าเป็นประสบการณ์ตรง

ผมขอเพิ่มเติมในเรื่องของสมาธิสักเล็กน้อยครับ
ตรงขณิกสมาธิที่จะใช้เจริญวิปัสสนานั้น
จิตต้องมีธรรมเอกเสียก่อน จึงจะเห็นว่า ผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้แยกออกจากกัน
ขันธ์ 5 แยกออกเป็นส่วนๆ
ทำลายฆนสัญญาคือความหมายรู้อย่างเป็นกลุ่มก้อนตัวตนลงได้
หากใครจะปฏิบัติตามแนวของคุณมะขามป้อม ก็ทำได้
คือเมื่อจิตมีอารมณ์ มีกิเลสตัณหาอะไรก็เฝ้ารู้เข้าไปเลย
แต่ช่วงแรกนี้ ยังไม่ใช่วิปัสสนาจริง
ต่อเมื่อตามรู้ ตามดูความเกิดดับของอารมณ์และปฏิกิริยาของจิตต่างๆ ไปช่วงหนึ่ง
ก็จะจับได้ว่า มีผู้รู้ ผู้ดูอยู่อันหนึ่ง
ตรงนี้แหละครับที่ ธรรมเอกเกิดขึ้นในระหว่างการเฝ้ารู้เอาตรงๆ
แล้วเห็นอารมณ์สักว่าเกิดดับไป จิตหรือธรรมเอกเป็นผู้สังเกตการณ์เฉยๆ
อันนี้จึงเป็นการเจริญวิปัสสนาด้วยขณิกสมาธิ
เพียงแต่ในช่วงแรกมันจะง่อนแง่นคลอนแคลนง่าย
ไม่เหมือนธรรมเอกที่พัฒนามาจากฌาน ซึ่งทรงกำลังมากกว่า
แต่เมื่อชำนาญมากเข้าในการจำแนกจิตกับอารมณ์
ต่อไปหากปรารถนาจะทำความสงบ ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะทำได้
การเจริญปัญญาได้ถึงจุด จึงสนับสนุนสมาธิได้
เช่นเดียวกับที่การทำสมาธิได้ถูกจุด ก็เป็นเครื่องหนุนเสริมการเจริญปัญญา

ตรงที่คุณมะขามป้อมกล่าวถึงการเจริญปัญญาในอุปจารสมาธินั้น
พวกเราคงเข้าใจได้ง่ายอยู่แล้ว
คราวนี้มาถึงประเด็นเกี่ยวกับอัปปนาสมาธิ
ตรงนี้จิตรวมเข้าไปภายใน ตัดความรับรู้ภายนอกทั้งหมดแล้ว
และคุณมะขามป้อมเห็นว่า จิตไปสบายๆ อยู่ แต่พิจารณาอะไรไม่ได้
อันนี้ก็จริงของคุณมะขามป้อมครับ
คือในจุดนั้น เราไม่สามารถจะคิดค้นคว้าพิจารณาธรรมใดๆ ได้อีกแล้ว

แต่ในจุดนั้น จิตยังเดินวิปัสสนาได้ด้วยตนเองครับ
สมดังที่พระสารีบุตรท่านกล่าวไว้ว่า
ในสัญญาสมาบัติ(ฌานสมาบัติที่ยังมีสัญญาอยู่) ยังสามารถเจริญวิปัสสนาได้
แต่ตรงนั้น เป็นสภาวะที่จิตรู้ แต่ไม่รู้ว่ารู้อะไร
รู้แต่ว่ามีสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เท่านั้น

แต่จิตจะเดินวิปัสสนาเองได้นั้น
ต้องเป็นจิตที่ผ่านการอบรมเจริญวิปัสสนามาอย่างโชกโชนแล้ว
ด้วยขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิ
จนกระทั่งจิตรู้วิธีเจริญวิปัสสนาได้โดยปราศจากความจงใจ


โดยคุณ สันตินันท์ วัน พฤหัสบดี ที่ 25 พฤศจิกายน 2542 08:30:05

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน พฤหัสบดี ที่ 25 พฤศจิกายน 2542 08:42:39

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 25 พฤศจิกายน 2542 09:49:02

ตรงส่วนท้ายนี้ ชัดเจนมากครับครู เพราะกำลังสงสัยอยู่พอดีครับ

สาธุครับครู
สาธุครับคุณมะขามป้อม


โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 25 พฤศจิกายน 2542 09:49:02

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ ดังตฤณ วัน พฤหัสบดี ที่ 25 พฤศจิกายน 2542 12:25:04

เมื่อวานไปฟังเทศน์หลวงปู่เหรียญ
มีธรรมอันหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับธรรมอันเอก
หลวงปู่ท่านเทศน์ไปผมก็ภาวนาตามไป
จึงระลึกได้ว่าอย่างนี้เคยฟังหลวงพ่อพุธมาก่อน
(ซึ่งปกติหลวงพ่อพุธไม่ค่อยเทศน์ให้ญาติโยมทั่วไปฟัง
ญาติโยมทั่วไปได้ยินแค่ขอให้มีสติอยู่กับ
การนั่งเดินยืนนอนดื่มทำพูดคิด)
กล่าวคือเมื่อจะดูขันธ์ 5 นั้น
จงทำสมาธิให้จิตสงบเสียก่อน
เมื่อสงบลงแล้วเกิดความสว่าง
ก็เพ่งที่ความสว่างนั้นจนสว่างมากขึ้น
เมื่อสว่างแล้วน้อมไปพิจารณาขันธ์ 5 ก็จะเห็นชัด
เห็นกายเป็นกาย เห็นเวทนาเป็นเวทนา
เห็นสัญญาเป็นสัญญา เห็นสังขารเป็นสังขาร
กระทั่งเห็นจิตเป็นจิต สืบสายกันมาเป็นลำดับ

คีย์เวิร์ดของพระป่าในการภาวนาเพื่อเห็นขันธ์ 5 นั้น
พอสรุปได้คล้ายกันกับที่หลวงปู่เหรียญกล่าวเปรียบไว้
นั่นคือเหมือนเราเปิดปิดสวิทช์ไฟในห้องมืด
ถ้าสามารถเปิดไฟได้ ก็ขับไล่ความมืดไปได้
เห็นข้าวของที่อยู่ในห้องได้อย่างแจ่มชัด
ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องคาดเดา ว่ามีอะไรไม่มีอยู่จริงหรือเปล่า
ถ้ามีจริง จะปรากฏเป็นรูปทรงอย่างไร

เช่นน้อมนึกไปดูกระดูกสันหลังก็เห็นกระดูกสันหลังตั้งอยู่นั่น
น้อมไปดูกระดูกซี่โครงก็เห็นกระดูกซี่โครงตั้งอยู่นั่น
น้อมไปดูหัวใจ กระเพาะ ลำไส้ ก็เห็นตั้งอยู่นั่น

ผมพิจารณาตามท่าน
ได้รับความสว่างกระจ่างธรรม
ติดจิตติดใจมาจนกระทั่งขณะเขียนในบัดนี้
จึงขอเผื่อแผ่ส่วนแห่งบุญญาธิการในวิปัสสนาแก่ทุกท่านด้วยครับ

คิดดูในเรื่องของแสงสว่างจากจิตนั้น
หลายคนยังทำไม่ถึงก็นึกท้อใจ
เห็นว่าเป็นธรรมอันยาก
แท้จริงแล้วอยากบอกว่าความเบาจากกิเลสนั่นเอง
เป็นตัวเริ่มต้นฉายแสงรู้อันเป็นธรรมชาติของจิตออกมา
ความตั้งมั่นแนบนิ่งโดยปราศจากอาการเพ่งเคร่งครัดนั่นเอง
เป็นตัวทวีธรรมชาติของแสงรู้ให้สว่างกระจ่างขึ้นเรื่อยๆ
จิตที่ฉลาดในแสง ย่อมจับอยู่กับแสงเพื่อไขแสงให้ขาวรอบถึงที่สุด

แสงจิตนั่นเองทำความมืดของขันธ์ 5 ให้หมดไป
เมื่อเห็นกาย เห็นอารมณ์ เห็นความนึกคิด
ก็เป็นการเห็นที่กระจ่างแจ้ง ปราศจากความเคลือบแคลงคลุมบัง
เป็นการรู้ที่เบาจากอวิชชา เบาจากความฝืนใจ
จิตเสมอกับธรรมชาติหยาบและธรรมชาติละเอียดทั้งปวง
คือรู้เข้าไปที่ไหน ก็สักแต่เห็นสิ่งถูกรู้อย่างเป็นกลาง
จำแนกได้ว่ามีเพียงกายถูกรู้ และใจเป็นผู้รู้อยู่
ไม่อาลัยไยดีในสุข ไม่ติดค้างกังวลในทุกข์
การกระทบกระทั่งระหว่างกายใจเพียงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปให้เห็นเป็นเช่นนั้นเอง
มีคีย์เวิร์ดจากพี่สันตินันท์ในกระทู้นี้
คือเมื่อจิตไม่ยึดจับขันธ์ 5 อย่างเหนียวแน่น
จะมีช่องว่างระหว่างผู้รู้กับสิ่งถูกรู้
ขอให้ทุกคนสังเกตตรงนี้ด้วยประสบการณ์ตนเองด้วย
(กำลังเกลาทางนฤพาน
ว่าจะหาธรรมเด็ดๆไปใส่คำพูดปู่ชนะในบทที่ 1 พอดี
อ่านกระทู้นี้ก็ตบเข่าฉาดอยู่ในใจแล้ว :-) )


โดยคุณ ดังตฤณ วัน พฤหัสบดี ที่ 25 พฤศจิกายน 2542 12:25:04

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 25 พฤศจิกายน 2542 16:24:35

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ นิดนึง วัน พฤหัสบดี ที่ 25 พฤศจิกายน 2542 21:03:03

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน ศุกร์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2542 07:43:12

^-^_/|\_

โดยคุณ นกเอี้ยง วัน ศุกร์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2542 07:43:12

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2542 08:47:54

คุณดังตฤณ พูดเรื่องแสงของจิต
อาจจะทำให้พวกเราจำนวนมากตกใจ เพราะไม่เข้าใจ หรือไม่เห็นแสง
อันที่จริงแล้ว จิตที่สงบ สะอาด มันย่อมสว่างในตัวเองอยู่แล้ว
ยิ่งพวกเราที่ทำความรู้ตัวนั้น ทันทีที่รู้ตัว จิตใจจะเกิดความสว่างไสว
แล้วความผ่องใสก็จะฉายปรากฏออกมาถึงผิวกายภายนอกทีเดียว

ดังนั้น จะเห็นแสงหรือไม่ ไม่สำคัญหรอกครับ อย่าตกใจเลย
รู้ทันกิเลสตัณหาไว้ สำคัญที่สุดครับ
ยิ่งรู้ทันมาก ก็ยิ่งมีแสงสว่างมาก
เราไม่เห็น แต่มนุษย์บางคนและเทพยดาเขาเห็นเองครับ


โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2542 08:47:54

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ แมวแก่ วัน ศุกร์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2542 13:07:46

ขอบคุณคุณอาสันตินันท์ คุณมะขามป้อม และพี่ดังตฤณมากครับ
ถึงจะอ่านแล้วงงบ้างนิดหน่อย แต่ไม่ท้อแน่ครับ :-)


โดยคุณ แมวแก่ วัน ศุกร์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2542 13:07:46

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2542 13:27:45

ที่ว่าในอัปปนาสมาธิเราไม่สามารถพิจารณาอะไรได้อาจทำให้งงครับ
ถ้าจะอธิบายอีกอย่างให้ชัดเจนขึ้นก็คือ ความรู้สึกว่าตัวเราผู้พิจารณาธรรม
มันไม่มีอยู่ เหลือแต่สภาพธรรมของจิตรู้ล้วนๆ ครับ ในขณะนั้นจึงไม่มีการ
พิจารณาธรรมใดๆ ครับ


โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2542 13:27:45

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2542 14:26:50

เป็นจริงอย่างที่คุณมะขามป้อมกล่าวไว้
ว่าในอัปปนาสมาธนั้น จิตเขาทำงานรู้ของเขาเอง
ไม่ใช่ เรา จงใจพิจารณา
แต่ในภาวะนั้น จิตที่อบรมไว้ชำนิชำนาญแล้ว
เขาจะสัมผัสสัมพันธ์กับธรรมเป็นอัตโนมัติครับ
ตรงนี้บางทีครูบาอาจารย์ท่านก็เรียกว่า จิตเขาพิจารณาธรรมเหมือนกัน
แต่ไม่ใช่เราจงใจพิจารณาอย่างในสมาธินอกๆ

พวกเราทั้งหลายฟังแล้ว อย่าท้อใจนะครับ
หัดเข้าไว้ ไม่นานก็ทำได้แบบคุณดังตฤณ คุณพุทธินันท์ คุณมะขามป้อม หรือผม
และอันที่จริง ขณะนี้คิดว่าพวกเราบางคนก็ทำได้แล้วครับ
เพียงแต่อาจจะนึกไม่ถึง เรียกไม่ถูก บรรยายไม่ออก เท่านั้นเอง


โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2542 14:26:50

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ ทองจันทร์ วัน ศุกร์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2542 17:45:40

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ มะเหมี่ยว วัน เสาร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2542 18:55:21

ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ _/\_

โดยคุณ มะเหมี่ยว วัน เสาร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2542 18:55:21

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ Lee วัน อาทิตย์ ที่ 28 พฤศจิกายน 2542 19:29:39

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 29 พฤศจิกายน 2542 07:38:10

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ kobe วัน พุธ ที่ 29 ธันวาคม 2542 22:48:46
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 30 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน พุธ ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 13:27:09
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com