กลับสู่หน้าหลัก

ถามผู้รู้จากเด็กเตรียมอนุบาล

โดยคุณ tana วัน จันทร์ ที่ 6 ธันวาคม 2542 14:29:25



การรู้ตัว (ยืน เดิน นั่ง นอน)ใช่ทำให้มีสติตลอดเวลาหรือไม่
แล้วการรู้จิต (ด้านอารมณ์ เช่น ดีใจ เสียใจ สงสัย เป็นทุกข์) ล่ะครับ  ทำตอนไหน
การหยิบยดอะไรขึ้นมาพิจารณาให้เป็นวิปัสนา ใช่หลังจากที่จิตนิ่งก่อนแล้วหรือไม่
คยรหรือไม่ที่จะทำการภาวนาต่อไปเรื่อยๆหากตัวเองคิดว่าจิตกำลังสงบอยู่
การปฏิบัตินั้นควรทำทุกวัน ถามว่า แล้วหากวันไหนสมาธิไม่มี(ฟุ้งไปเรื่อยเปื่อย)  ควรทำอย่างไร


กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ทองคำขาว วัน อังคาร ที่ 7 ธันวาคม 2542 01:49:45

มาร่วมตอบครับ
และหากท่านใดเห็นว่ามีจุดแนะก็แนะเพิ่มเติมเลยนะครับ

> การรู้ตัว (ยืน เดิน นั่ง นอน)ใช่ทำให้มีสติตลอดเวลาหรือไม่
การรู้ตัว หรือสัมปชัญญะ (ไม่ว่าจะอยู่อิริยาบถไหนก็ตาม )
จะต้องมีฐาน คือ การระลึกรู้(สติ)อยู่ก่อนจึงจะมีได้
ส่วนการมีสตินั้น จะประกอบด้วยสัมปชัญญะอยู่หรือไม่ก็ได้
อย่างเช่น บางคราวเมื่อภาวนาจนจิตมีสติ มีกำลังตั้งมั่น
ได้แนบแน่นไปในสายลมหายใจ แต่อาจไม่รู้ตัวชัดอยู่ก็ได้
เมื่อไม่รู้ตัวชัด ก็จะกลายเป็นการสร้างความสงบ
อันเป็นการเจริญสมถะไป

แต่เพราะรู้ตัว หรือ คือมีสัมปชัญญะ ประกอบอยู่ไปด้วย
เห็นถึงสิ่งที่หมายรู้ระลึกอยู่ปรากฎเข้ามาแล้วดับไปต่อหน้าต่อตา
ละซึ่งความยินดี ยินร้ายในสิ่งนั้นๆลง
จิตจึงปรากฎความเป็นอุเบกขาต่อสิ่งนั้นขึ้น
เมื่อถึงจุดหนึ่ง จิตเขาก็จะเกิดความรู้ของเขาเองว่า
ถ้าทะยานอยากและปรากฎความยึด ก็จะมีความหนักเกิดขึ้น
เมื่อจิตเห็นอย่างนี้มากเข้า
จิตเขาก็จะรู้จักวางความยึดของเขาเองเป็นลำดับไปครับ
ณ ตรงนี้ ก็คือ การสร้างปัญญาที่ช่วยรู้จักวางทุกข์ให้จิต
หรือ การเจริญ วิปัสสนา นั่นเอง

สรุป คือ สัมปชัญญะเมื่อเกิดขึ้น จะเกิดไปพร้อมๆกับ สติ
แต่ สติ เมื่อเกิดขึ้น จะไม่จำเป็นต้องมีสัมปชัญญะอยู่ก็ได้ครับ

>แล้วการรู้จิต (ด้านอารมณ์ เช่น ดีใจ เสียใจ สงสัย เป็นทุกข์) ล่ะครับ  ทำตอนไหน
ทำตอนที่รู้ และก็ทำตอนที่เผลอครับ (รู้ว่าเผลอ)

> การหยิบยกอะไรขึ้นมาพิจารณาให้เป็นวิปัสสนา ใช่หลังจากที่จิตนิ่งก่อนแล้วหรือไม่
จะใช้อะไรหยิบยกขึ้นมาพิจารณาก็ได้ครับ
แต่ขอให้รู้ตัวว่าเราเป็นอย่างไร
ยินดี ยินร้าย หรือ เป็นกลางอยู่หรือไม่ เท่านั้นเป็นใช้ได้ครับ

และเมื่อชำนาญกันหน่อย ก็อาจตัดไปสังเกตที่จิตเลยก็ได้
อย่างบางคราว เมื่อจิตนิ่งแล้ว เห็นว่ามันนอนแอ้งแม้ง
ก็ดูความโง่ความแอ้งแม้งตรงนั้น ดูว่ามันไปสุดสายที่ไหน
อย่างบางคราว มันต้องการอยากรู้ธรรมกันนัก
และได้เห็นธรรมชนิดเป็นขบวนรถไฟแห่งความคิด
ก็รู้เข้าไปตรงนั้น ว่าขบวนรถไฟสายนี้จะไปสุดที่ไหน
เป็นต้นครับ

> ควรหรือไม่ที่จะทำการภาวนาต่อไปเรื่อยๆหากตัวเองคิดว่าจิตกำลังสงบอยู่
ต้องหมั่นสังเกตดูเอาเอง ก็จะเห็นความเหมาะสมที่ดีสำหรับตนได้ครับ

> การปฏิบัตินั้นควรทำทุกวัน ถามว่า แล้วหากวันไหนสมาธิไม่มี(ฟุ้งไปเรื่อยเปื่อย)  ควรทำอย่างไร
สมาธิกับความฟุ้งซ่านเป็นคู่ตรงข้ามกัน
หากเจริญสมาธิจนเกิดความสงบเป็นก็ดึงเข้าสู่อย่างนี้ก่อนก็ได้
แต่บางครั้งการเจริญสมาธิ กับกลายเป็นการตั้งใจจะทำสมาธิให้เกิดขึ้นไป
สมาธิก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้
ก็อาจจับไปที่ทุกข์ที่ท่านให้กำหนดรู้ อันคือ ความฟุ้ง นั้นเลย
เพียงดูมันเฉยๆเบาๆ เท่านั้น แต่เห็นอยู่
แต่หากยังเผลอร่วมวงไพบูลย์ ไปเสริมหลงกลไปกับความฟุ้งอยู่อีก
จนหนักมากเข้าและรับไม่ไหว
ก็ให้ไป reboot พักสมอง พักกาย พักจิตไปก็ดีครับ


โดยคุณ ทองคำขาว วัน อังคาร ที่ 7 ธันวาคม 2542 01:49:45

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 7 ธันวาคม 2542 07:58:37

สนับสนุนคุณทองคำขาวครับ

สติ คือการรู้ระลึก
สัมปชัญญะ คือการรู้ตัว

กล่าวด้วยคำพูด แจกแจงลำบาก
หากใครได้พบกับธรรมทั้งสองประการนี้
ไม่ต้องแจกแจงกันเลยครับ
เข้าใจทันที

อย่างเช่น ปกติจิตนั้นออกรู้อารมณ์
ไม่ว่าอะไรที่ถูกจิตรู้ ก็เรียกว่า อารมณ์ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน
ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรืออยู่ไกล
ไม่ว่าจะข้างบนหรือข้างล่าง
ไม่ว่าซ้ายหรือขวา
ไม่ว่าด้านหน้าหรือด้านหลัง
สิ่งเหล่านี้หากเป็นสิ่งที่ถูกรู้
ก็เรียกว่าอารมณ์ทั้งสิ้น

แต่คนส่วนใหญ่
เมื่อจิตรู้อารมณ์
ก็มักจะไม่ได้มีสติคือเครื่องระลึกรู้ตามไปด้วย
ก็คงปล่อยให้รู้ไปพร้อมกับปรุงแต่งจิตไปด้วย
เช่นเห็นรูปหญิงสาวสวย
แทนที่จะรู้ระลึกไปว่ากำลังรู้รูปหญิงสาวสวย
แต่กลับไปปรุงแต่งต่อว่า
รูปนี้น่ายินดีนักเกิดเป็นสุขเวทนา
เมื่อเป็นสุขแล้วก็เกิดความรู้สึกว่า
หากเราได้เป็นแฟนคงจะมีความสุขดี
เกิดเป็นกามตัณหา
เมื่อเป็นกามตัณหาแล้ว
จิตก็หลงเข้ายึดเป็นอุปาทาน
(ด้วยอำนาจของโมหะ เพราะไม่มีสติแต่แรก)
ว่าความสุขนี้ ความสวยงามนี้ เป็นของจริงจัง
หลงสร้างภาพในฝันขึ้น ว่าเราได้ควงคู่กับเขา
(ทั้งๆที่มันไม่เป็นจริง)
ก็เตลิดเปิดเปิงเป็นภพ เป็นชาติไป

แต่หากว่า เมื่อมีสติ รู้ระลึกในอารมณ์ที่รู้อยู่
ผัสสะหรือการกระทบอารมณ์นั้น
ก็ไม่ปรุงแต่งให้เกิดเวทนา
(แต่ตรงนี้คนฝึกใหม่ทำได้ยากมาก
หากแต่อาศัยทำบ่อยๆ จะได้รู้)
แต่กลับเกิดความรู้ว่า สิ่งนั้นถูกรู้อยู่
มีความแจ่มชัดในสิ่งนั้นว่ารู้อยู่
ตระหนักรู้ว่า อารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกรู้อยู่
มีความแจ่มชัดว่า อารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกรู้อยู่
ไม่ได้ยึดถือเอาว่าอารมณ์นั้นเป็นของๆเรา เป็นตัวเรา
ความแจ่มชัดนั้นคือความรู้ตัว เรียกว่าสัมปชัญญะ
เมื่อมีสัปชัญญะ สติก็แกร่งกล้าขึ้น
โมหะก็ครอบงำไม่ได้
จิตผู้รู้จะเคล้าคลอเคลียอยู่กับ รู้ในอารมณ์ที่ถูกรู้
และความแจ่มชัดในการรู้อันนั้น

ในภาวะนี้ หากสังเกตต่อไป
จะทำให้รู้ว่า เพราะมีผู้รู้จึงมีอารมณ์ที่ถูกรู้
การรู้ระลึกน้อมเข้ามา ว่า เรากำลังยินดีหรือยินร้าย
จักรู้ระลึกไปถึงตัวผู้รู้ได้
จักเห็นลักษณะอาการของตัวผู้รู้ได้

บางคนอาจจะสงสัยว่า แล้วอย่างนี้ ตัวผู้รู้ จะไม่กลายเป็นผู้ถูกรู้หรือ
คำตอบก็คือ ไม่
แต่หากคิดด้วยตรรกะ ย่อมคิดได้เช่นนั้น
แต่ในเวลาที่ธรรมปรากฎ ไม่เป็นเช่นนั้น

หากแต่บางคน เมื่อกระทำอย่างไม่ถูกวิธี
ย่อมไปสร้างตัวผู้รู้ - ผู้ถูกรู้ ซ้อนเข้ามา
เหตุเป็นเพราะ สติ - สัปชัญญะ ยังไม่เพียงพอ
พูดง่ายๆคือ ใจร้อน
ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่ง ที่จะทำตามขั้นตอน
หากขั้นตอนใดยังทำไม่ได้ ให้กลับไปเริ่มใหม่หมด
เหมือนดั่งการสร้างบ้าน
จักต้องทำรากฐานให้แน่นหนาเสียก่อน
การรีบร้อนไปมุงหลังคาบ้าน
โดยไม่ทำรากฐานเสาเข็มให้แน่นหนาก่อน
ไม่มีประโยชน์อะไร
ซ้ำยังเป็นโทษเสียอีก
เพราะอาจจะต้องรื้อทิ้ง
หรืออาจจะสร้างบ้านไม่ได้เลย
หากใครหลงคิดไปว่า
การมุงหลังคาบ้านได้
คือการสร้างบ้านเสร็จสิ้นแล้ว
แม้จะสำคัญไปเช่นนั้น ก็อาศัยบ้านนั้นได้ยากเต็มที

ขั้นตอนที่ว่าคือ

1. ตามรู้ระลึกว่าจิตกำลังรู้อารมณ์อะไร ทำให้ได้บ่อยๆ

2. เมื่อทำได้บ่อยๆแล้ว ให้สังเกตต่อมาว่า
สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกรู้ใช่หรือไม่
เมื่อตระหนักเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกรู้
ก็ให้ทำได้บ่อยๆ

3. เมื่อความตระหนักรู้ ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกรู้แล้ว
ให้สังเกตต่อมาว่า มีผู้รู้ใช่หรือไม่
ตรงนี้มีเทคนิคที่ครูแนะนำไว้คือ
ให้สังเกตว่า เรายินดีหรือยินร้าย ต่อสิ่งที่ถูกรู้นั้น
คำว่ายินดี/ยินร้าย นั้น มีจำแนกได้มากมาย เช่น
พอใจ/ไม่พอใจ
ชอบ/ไม่ชอบ
ชื่นชม/รังเกียจ
รัก/เกลียด
ฯลฯ.
ธรรมไหนก็ได้ ในทำนองนี้
เมื่อทำได้ตรงนี้ ตัวผู้รู้จะปรากฎออกมา
แต่ยังก่อน ตรงนี้มิใช่ตัวผู้รู้ที่แท้จริง
เพราะตัวผู้รู้ที่แท้จริง จะแสดงตน/แสดงธรรม
ก็เมื่อจะปหานกิเลสเท่านั้น
แต่ในขั้นนี้ก็เท่ากับว่า มาตรงทางของการดูจิตดูใจแล้ว
ให้ทำตรงนี้ได้บ่อยๆ ให้ชำนาญ

ในแง่ของการปฎิบัติ มีแค่ 3 ขั้นนี้
ที่เหลือ เป็นเรื่องของการทำให้ชำนาญครับ
ทำให้ได้มากๆ ทำให้ได้บ่อย
เมื่อชำนาญแล้ว จะทำได้ในทุกที่ ทุกอริยาบถครับ
ไม่ว่าจะลืมตา หลับตา ก็ทำได้
(เพราะแม้หลับตา ใช่ว่าอายตนะทั้ง 6 จะดับไปด้วย)
หากทำขั้นใด แล้วหลงหรือรู้สึกผิดพลาด
ก็ให้ย้อนกลับมาทำในขั้นที่ 1 ใหม่ครับ
เช่นหากทำขั้นที่ 3 ไม่ได้ แล้วหลง หรือเคว้งคว้าง
ก็ให้กลับมาทำขั้นที่ 1 ใหม่ครับ
ไม่ต้องไปต่อที่ขั้นที่ 2 เพราะจะต่อไม่ได้ครับ

ในระหว่างที่ฝึกฝนอยู่นั้น
แม้ว่าสิ่งที่ถูกรู้ก็ตาม
ตัวผู้รู้ก็ตาม
จะแสดงไตรลักษณ์ให้ดู
บ้างก็แสดงอนิจจัง
บ้างก็แสดงทุกขัง
บ้างก็แสดงอนัตตา
ก็ให้รู้เพียงแต่ สักแต่ว่ารู้
ไม่ต้องพยายามจำ
เพราะเพียงแต่รุ้
จิตเขาก็รู้อยู่แล้ว
เพราะจิตเป็นธาตุรู้
การพยายามจำ จะเป็นการสร้างภาระให้จิตเปล่า
เพราะเป็นการไปฝืนธรรมชาติของจิต
ธรรมชาติของจิตคือการรู้อารมณ์เท่านั้น
ไม่ต้องกลัวลืม
ไม่ต้องกลัวไม่รู้
เพราะจิตเขารู้อยู่แล้ว
รู้แล้วให้วาง ให้ทิ้งเสีย
เพราะว่าความจำ เป็นภาระแก่จิตทั้งสิ้น
เราปฎิบัติธรรมก็เพื่อความหลุดพ้น
หาใช่การปฎิบัติเพื่อความรู้ เพื่อความจำไม่
หากทำได้ตามนี้ ทางก็อยู่ข้างหน้านี้แล้ว



โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 7 ธันวาคม 2542 07:58:37

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ tana วัน อังคาร ที่ 7 ธันวาคม 2542 18:29:26

กราบคารวะศิษย์พี่ทุกท่าน
ขอขอบคุณสำหรับคำสอนอันมีประโยชน์สำหรับผู้เริ่มต้น
ยังรอฟังความเห็นท่านผู้อื่นอยู่ครับ


โดยคุณ tana วัน อังคาร ที่ 7 ธันวาคม 2542 18:29:26

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ Big วัน พฤหัสบดี ที่ 9 ธันวาคม 2542 11:56:35

ผมเห็นทองคำขาวและพี่พัลวันตอบแล้ว อ่านแล้วก็ไม่ทราบว่าจะตอบไงให้ดีกว่าทั้งสองท่านครับ

โดยคุณ Big วัน พฤหัสบดี ที่ 9 ธันวาคม 2542 11:56:35

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 9 ธันวาคม 2542 13:17:33

มีสิ่งหนึ่งที่ดกุจิตทั้งหลายพึงระวังก็คือ
เมื่อมีความสามารถที่จะคอยตามรู้อารมณ์แล้ว ก็มักจะหยุดอยู่แค่นั้น
มักจะไม่พึงรู้ว่ามีตัวผู้รู้ดูอยู่
มักจะไม่ย้อนกลับมาระลึกรู้ว่าจิตผู้รู้

หากรู้เพียงเท่านี้ จะเรียกว่าเป็นนักดูจิตไม่ได้
เพราะเหตุว่า มัวแต่เฝ้าดูอารมณ์ ซึ่งพอจะเรียกได้ว่าอาการของจิตเท่านั้น

จริงอยู่ที่ว่า การจะดูจิตใจของตนเองได้นั้น
จักต้องรู้อาการของจิตของใจของตนเองก่อน
แต่การหยุดอยู่ที่การเฝ้าดูอาการของจิตแต่เพียงอย่างเดียว
ก็ไม่ทำให้เกิดความก้าวหน้าได้เช่นกัน
หรือหากใครคิดเรียนลัด โดยจะกระโดดข้ามไปดูจิตเลย
โดยไม่ดูอาการของจิตก่อน
ก็ใช่ว่าจะหาจิตผู้รู้ได้เจออย่างที่หวัง
แต่บางท่านอาจจะถนัดในการดูกายมาก่อนอย่างชำนาญ
ก็อาศัยการดูกายนั้นแหละ ที่จะชักนำให้จิตผู้รู้ปรากฎออกมาได้
หากชำนาญแล้ว ก็แทบจะเรียกได้ว่าไม่ต้องดูกายเลยก็ได้
แต่แท้จริงก็ต้องเริ่มที่การดูกายนั้นแหละ เพียงแต่ใช้เวลาสั้นๆเท่านั้น
และเมื่อชำนาญแท้จริง ก็ไม่ต้องอาศัยการรู้อารมณ์เลยก็ได้


โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 9 ธันวาคม 2542 13:17:33

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ สันตินันท์ วัน อาทิตย์ ที่ 12 ธันวาคม 2542 16:19:44

สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ นุดี วัน พฤหัสบดี ที่ 16 ธันวาคม 2542 20:02:54
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ นิดนึง วัน จันทร์ ที่ 20 ธันวาคม 2542 10:52:35
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ kobe วัน พุธ ที่ 29 ธันวาคม 2542 22:39:04
ขอบคุณครับ
โดยคุณ kobe วัน พุธ ที่ 29 ธันวาคม 2542 22:39:04

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com