กลับสู่หน้าหลัก

ยมกสูตร: ว่าด้วยพระขีณาสพตายแล้วสูญหรือไม่

โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม 2542 12:28:04

ผมได้ทำการค้นคว้าในพระไตรปิฎกเพื่อหาข้อมูลทางปริยัติเกี่ยวกับเจตนา มาเปรียบเทียบ
กับปฏิบัติ บังเอิญไปพบพระสูตร ที่น่าอ่านนี้เสียก่อน จึงหยิบมา Post ให้พวกเราได้อ่านกัน
พระสูตรได้แสดงถึงความเป็นผู้ทรงปัญญาของพระสารีบุตร

                          ๓. ยมกสูตร
                  ว่าด้วยพระขีณาสพตายแล้วสูญหรือไม่

     [๑๙๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร อยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ก็โดยสมัยนั้นแล ยมกภิกษุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า
เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว
ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก
. ภิกษุหลายรูป ได้ฟังแล้วว่า ได้ยินว่า ยมกภิกษุเกิด
ทิฏฐิอันชั่วช้าเป็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพ
เมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก. ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น จึงพากัน
เข้าไปหาท่านยมกภิกษุถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับท่านยมกภิกษุ ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัย
ชวนให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว จึงถามท่านยมกภิกษุว่า
ดูกรท่านยมกะ ทราบว่า ท่านเกิดทิฏฐิอันชั่วช้า เห็นปานนี้ว่า เรารู้ว่าทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มี-
พระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก
จริงหรือ? ท่านยมกะกล่าวว่า อย่างนั้น อาวุโส.
      ภิ. ดูกรอาวุโสยมกะ ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค เพราะ
การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสอย่างนี้ว่า พระขีณาสพเมื่อ
ตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.
      ท่านยมกะ เมื่อถูกภิกษุเหล่านั้นกล่าวแม้อย่างนี้ ยังขืนกล่าวถือทิฏฐิอันชั่วช้านั้น อย่าง
หนักแน่นอย่างนั้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อ
ตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.
      ภิกษุเหล่านั้น ย่อมไม่อาจเพื่อจะยังท่านยมกะ ให้ถอนทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้ จึงลุกจาก
อาสนะ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ข้าแต่
ท่านสารีบุตร ยมกภิกษุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ขอ
โอกาสนิมนต์ท่านพระสารีบุตรไปหายมกภิกษุถึงที่อยู่ เพื่ออนุเคราะห์เถิด. ท่านพระสารีบุตรรับ
นิมนต์โดยดุษณีภาพ.
      [๑๙๙] ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนแล้วเข้าไปหาท่านยมกะ
ถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับท่านยมกะ ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ถามท่านยมกะว่า ดูกรอาวุโสยมกะ ทราบว่า ท่านเกิด
ทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพ
เมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ดังนี้ จริงหรือ? ท่านยมกะตอบว่า
อย่างนั้นแล ท่านสารีบุตร.
      สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
      ย. ไม่เที่ยง ท่าน ฯลฯ
      สา. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
      ย. ไม่เที่ยง ท่าน ฯลฯ
      สา. เพราะเหตุนี้นั้นแล ยมกะ พระอริยสาวกผู้ใดสดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก.
      [๒๐๐] สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นรูปว่าเป็น
สัตว์เป็นบุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นเวทนาว่าสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นสัญญาว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นสังขารว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นวิญญาณว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      [๒๐๑] สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคล
มีในรูปหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลอื่นจากรูปหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในเวทนาหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลอื่นจากเวทนาหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในสัญญาหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในสังขารหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลอื่นจากสังขารหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในวิญญาณหรือ?
     ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลอื่นจากวิญญาณหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      [๒๐๒] สา. ดูกรยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นรูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นสัตว์บุคคลหรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      [๒๐๓] สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นว่า สัตว์
บุคคลนี้นั้นไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ หรือ?
      ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.
      สา. ดูกรท่านยมกะ ก็โดยที่จริง โดยที่แท้ ท่านจะค้นหาสัตว์บุคคลในขันธ์ ๕ เหล่านี้
ในปัจจุบันไม่ได้เลย ควรแลหรือที่ท่านจะยืนยันว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.
      ย. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร เมื่อก่อนผมไม่รู้อย่างนี้ จึงได้เกิดทิฏฐิอันชั่วช้าอย่างนั้น แต่
เดี๋ยวนี้ ผมละทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้แล้ว และผมก็ได้บรรลุธรรมแล้วเพราะฟังธรรมเทศนานี้ ของ
ท่านพระสารีบุตร.

      [๒๐๔] สา. ดูกรท่านยมกะ ถ้าชนทั้งหลาย พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ท่านยมกะ ภิกษุ
ผู้ที่เป็นพระอรหันตขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเป็นอะไร ท่านถูกถามอย่างนั้น จะพึงกล่าวแก้
ว่าอย่างไร?
      ย. ข้าแต่ท่านสารีบุตร ถ้าเขาถามอย่างนั้น ผมพึงกล่าวแก้อย่างนี้ว่ารูปแลไม่เที่ยง สิ่ง
ใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้ เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไป
แล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้ ข้าแต่ท่านสารีบุตร ผมถูกเขาถามอย่างนั้น พึงกล่าวแก้อย่างนี้.


งงหรือเปล่าครับ ว่าทำไม ถ้ายังงงอยู่ลองฟัง พระสารีบุตรเปรียบเทียบ ให้ฟังก่อนครับ

      [๒๐๕] สา. ดีละๆ ยมกะ ถ้าอย่างนั้น เราจักอุปมาให้ท่านฟัง เพื่อหยั่งรู้ความข้อ
นั้นให้ยิ่งๆ ขึ้น. ดูกรท่านยมกะ เปรียบเหมือนคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์
มาก มีโภคะมาก และเขารักษาตัวกวดขัน เกิดมีบุรุษคนหนึ่งประสงค์ความพินาศ ประสงค์ความ
ไม่เป็นประโยชน์ ประสงค์ความไม่ปลอดภัย อยากจะปลงชีวิตเขาเสีย เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า
คฤหบดีและบุตรคฤหบดีนี้ เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขามีการรักษาอย่าง
กวดขัน การที่จะอุกอาจปลงชีวิตนี้ ไม่ใช่เป็นการทำได้ง่ายเลย อย่ากระนั้นเลย เราพึงใช้อุบาย
ปลงชีวิต. บุรุษนั้น พึงเข้าไปหาคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ผมขอเป็น
คนรับใช้ท่าน. คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น พึงรับบุรุษนั้นไว้ใช้ เขาพึงรับใช้เรียบร้อยดีทุกประการ
คือ มีปรกติตื่นก่อน นอนภายหลัง คอยฟังคำสั่ง ประพฤติให้เป็นที่พอใจ กล่าวแต่วาจาเป็นที่รัก
ใคร่ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น เชื่อเขาโดยความเป็นมิตร โดยความเป็นสหาย และถึงความ
ไว้วางใจในเขา. เมื่อใด บุรุษนั้นพึงคิดว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีไว้ใจเราดีแล้ว เมื่อนั้น บุรุษ
นั้นรู้ว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีอยู่ในที่ลับ พึงปลงชีวิตเสียด้วยศาตราอันคม. ท่านยมกะ ท่าน
จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในกาลใด บุรุษนั้นเข้าไปหาคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีโน้นแล้ว
กล่าวอย่างนี้ว่า ผมขอรับใช้ท่านแม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าอยู่แล้ว ก็แต่คฤหบดีหรือบุตร
คฤหบดีนั้น หารู้จักบุรุษผู้ฆ่าว่า เป็นผู้ฆ่าเราไม่. ในกาลใด บุรุษนั้นตื่นก่อน นอนภายหลัง
คอยฟังคำสั่ง ประพฤติให้เป็นที่พอใจ กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักใคร่ แม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็น
ผู้ฆ่าอยู่แล้ว ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น หารู้จักบุรุษผู้ฆ่านั้นว่า เป็นผู้ฆ่าเราไม่. และใน
กาลใด บุรุษนั้นรู้ว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นอยู่ในที่ลับ จึงปลงชีวิตเสียด้วยศาตราอันคม
แม้ในกาลนั้น เขาเป็นผู้ฆ่านั่นเอง ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น หารู้จักบุรุษนั้นว่าเป็นผู้ฆ่า
เราไม่.
      ย. อย่างนั้น ท่าน.
      [๒๐๖] สา. ดูกรท่านยมกะ ข้ออุปมานี้ฉันใด ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ
ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม ไม่ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่
ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเห็นรูป โดย
ความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีรูป ย่อมเห็นรูปในตน หรือย่อมเห็นตนในรูป ย่อมเห็นเวทนา
โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมเห็นสังขาร โดยความเป็นตน
ฯลฯ ย่อมเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ย่อมเห็นวิญญาณในตน หรือ
ย่อมเห็นตนในวิญญาณ. เขาย่อมไม่รู้ชัด ตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
อันไม่เที่ยงว่า ไม่เที่ยง ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
อันเป็นทุกข์ว่า เป็นทุกข์ ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
อันเป็นอนัตตาว่า เป็นอนัตตา ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่งว่า อันปัจจัยแต่ง ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ อันเป็นผู้ฆ่า ว่าเป็นผู้ฆ่า. เขาย่อมเข้าไปถือมั่น ยึดมั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณว่า เป็นตัวตนของเรา. อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันปุถุชนนั้นเข้าไปถือมั่น ยึด
มั่นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน.
      [๒๐๗] ดูกรท่านยมกะ ส่วนพระอริยสาวกผู้สดับแล้ว ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาด
ในอริยธรรม ได้รับแนะนำในอริยธรรมดีแล้ว ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ฉลาดในสัปปุริสธรรม
ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรมดีแล้ว  ย่อมไม่เห็นรูป โดยความเป็นตน ย่อมไม่เห็นตนมีรูป ย่อม
ไม่เห็นรูปในตน หรือย่อมไม่เห็นตนในรูป ย่อมไม่เห็นเวทนา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่
เห็นสัญญา โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่เห็นสังขาร โดยความเป็นตน ฯลฯ ย่อมไม่เห็นวิญญาณ
โดยความเป็นตน ย่อมไม่เห็นตนมีวิญญาณ ย่อมไม่เห็นวิญญาณในตน หรือย่อมไม่เห็นตนใน
วิญญาณ. เขาย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยงว่า
ไม่เที่ยง. ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ว่า
เป็นทุกข์. ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตา
ว่า เป็นอนัตตา. ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัย
ปรุงแต่ง ว่าปัจจัยปรุงแต่ง. ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
อันเป็นผู้ฆ่า ว่าเป็นผู้ฆ่า. เขาย่อมไม่เข้าไปถือมั่น ยึดมั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณว่า เป็นตัวตนของเรา. อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันอริยสาวกนั้น ไม่เข้าไปถือมั่น ยึด
มั่นแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน.
      ย. ข้าแต่ท่านสารีบุตร ข้อที่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้เช่น
นั้น เป็นผู้อนุเคราะห์ ใคร่ประโยชน์ เป็นผู้ว่ากล่าวพร่ำสอน ย่อมเป็นอย่างนั้นแท้ ก็แล
จิตของผมหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่น เพราะได้ฟังธรรมเทศนานี้ของท่านสารีบุตร.

----------------------------------------------------------------------------------------------

พระสูตรนี้ พระสารีบุตรได้กล่าว ตอบคำถามที่ว่า พระอรหันต์ ตายแล้วสูญ

ผู้ยังมีกิเลส ไม่เห็นความจริงข้อนี้ มีความยึดมั่นถือในตน ย่อมสำคัญมั่นหมายใน
ตัวตนของพระอรหันต์ด้วย จึงมีคำถามว่าพระอรหันต์ตายแล้วสูญหรือไม่
แท้ที่จริง พระอรหันต์นั้นไม่มี มีแต่อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ที่ประกอบทำหน้าที่
เกี่ยวเนื่องกันอยู่  แล้วจะมีใครตายได้อย่างไร

ความนี้แสดงให้เห็นชัดว่าพระยมกนั้นสำคัญตนว่าเป็นรู้ธรรม
โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม 2542 12:28:04

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม 2542 12:31:59
ขอโทษด้วยครับ ตาลายลืมใส่ / หน้า tag ปิดท้ายไปสองตัว
คุณพัลวัลแก้ได้ช่วยแก้ด้วยนะครับ
โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม 2542 12:31:59

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม 2542 13:45:41
เรียน คุณมะขามป้อม

        เดี๋ยวผมแก้ให้ครับ คุณมะขามป้อมลองไปอ่านเพิ่มเติมเรื่องการใช้ <!> (TAG !) ที่วิธีการใช้ด้วยนะครับ ผมเพิ่มเติมมาสำหรับใช้เป็นตัวปิด TAG สี กับ TAG ขนาดตัวอักษรครับ

        ขอความกรุณาท่านอื่นๆอย่าเพิ่ง post จนกว่าผมจะใส่ข้อความว่าแก้ไขเสร็จแล้วให้ด้วยครับ มิฉะนั้นข้อความอาจจะหายไปได้ครับ แก้ไขเสร็จแล้ว ผมจะแจ้งให้ทราบครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม 2542 13:45:41

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม 2542 13:51:31
บ่ายๆอย่างนี้ ผมเข้าไปแก้ไม่ได้ครับ ไม่ทราบว่า ftp server เป็นอะไรไป คงต้องขอไว้พรุ่งนี้เช้าครับ แก้พร้อมๆกับแก้ script ก็แล้วกันครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม 2542 13:51:31

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม 2542 13:59:25
เรียน คุณมะขามป้อม
ผมแก้ tag ให้แล้วครับ ไม่ทราบว่าจะถูกต้องหรือไม่ครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม 2542 13:59:25

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม 2542 14:05:08
ถูกแล้วครับ
ขอบคุณมากครับ
โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม 2542 14:05:08

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ Lee วัน พฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม 2542 21:39:34
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 24 ธันวาคม 2542 06:55:37
พยายามเข้ามาอ่านตั้งแต่บ่ายวานนี้ แต่เข้าไม่ได้ครับ

ขอบคุณ คุณมะขามป้อมผู้ชี้วิมุตติ และคุณพัลวันผู้สร้างวิมุตติขึ้นมา
โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 24 ธันวาคม 2542 06:55:37

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ ทองจันทร์ วัน เสาร์ ที่ 25 ธันวาคม 2542 15:29:46
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ yuwadhat วัน อาทิตย์ ที่ 2 มกราคม 2543 15:33:41
ไม่ออกความเห็น ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ tuli วัน ศุกร์ ที่ 7 มกราคม 2543 21:12:07
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ เมล็ดโพธิ์ วัน อังคาร ที่ 11 มกราคม 2543 13:03:37
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com