กลับสู่หน้าหลัก

แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป

โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 7 มกราคม 2543 15:41:32

เพื่อนร่วมทุกข์จำนวนมาก ไปศึกษาการปฏิบัติธรรมกับผม
และผมได้เห็นปัญหาที่ตามมาหลายอย่าง 

เช่นบางท่านกลัวว่า พอไม่ได้อยู่ใกล้ผมแล้ว จะทำไม่ได้ หรือทำไม่ถูก 
ถ้าเป็นคนกรุงเทพก็ยังอุ่นใจว่า จะพบผมได้อีกไม่ยากนัก 
แต่คนต่างประเทศ หรือต่างจังหวัด จะกังวลกันมากหน่อย 
จึงอยากได้คู่มือสำหรับการปฏิบัติ อย่างง่ายๆ แต่เป็นระบบ 
เพื่อความอุ่นใจว่า จะใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไปได้เมื่อไม่พบผม 

บางท่านฟังแล้วยังสับสน ไม่เข้าใจ 
หรือไปจำธรรมที่ผมตอบคนอื่น เอาไปปฏิบัติบ้าง 
ซึ่งเป็นคนละขั้นตอน หรือคนละจริต 
ผลก็ไม่ต่างจากการเอายารักษาโรคของคนอื่นไปรับประทาน 
จึงอยากเห็นภาพรวมของการปฏิบัติธรรมทั้งหมดที่ผมแนะนำ 
เพื่อจะคลี่คลายความสับสนตรงนี้ได้บ้าง 

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ผมทราบก็คือ 
เพื่อนบางท่านถกเถียงกันเรื่องการปฏิบัติธรรม 
โดยนำคำแนะนำของผมที่ได้ยินมาต่างกรรม ต่างวาระ 
ไปเป็นข้ออ้างอิงโต้แย้งกัน 

ผมจึงเห็นว่า สมควรสรุปใจความย่อของการปฏิบัติธรรม 
ตามที่ผมได้แนะนำหมู่เพื่อน
เพื่อให้เห็นภาพรวมของการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ  ตั้งแต่เบื้องต้นเป็นลำดับไป 
เพื่อแก้ปัญหาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น 

*********************************** 

1. การสร้างความเข้าใจขอบเขตของพระพุทธศาสนา 

เพื่อนที่มีพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาน้อย 
จะได้รับการปูพื้นความเข้าใจเสียก่อนว่า 
พระพุทธศาสนาไม่ใช่ยาแก้สารพัดโรคครอบจักรวาล 
ไม่ใช่เครื่องมืออย่างเดียว ในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม 
ดังนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นนักเรียน ก็เลิกเรียน เพื่อมาศึกษาพระพุทธศาสนา 
เพราะความรู้ทางโลก เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในทางโลก 
ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา จำเป็นต้องรอบรู้ในศาสตร์สาขาอื่นๆ ด้วย 

และอย่าเข้าใจว่า พระพุทธศาสนา เป็นเรื่องอื่น 
นอกเหนือจากการเรียนรู้เรื่องความทุกข์ 
และการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์(ทางใจ) เท่านั้น 
พระพุทธศาสนา ไม่ได้มีไว้เพื่อตอบปัญหา 
เกี่ยวกับไสยศาสตร์ โชคลาง เจ้ากรรมนายเวร 
ชาติโน้นชาติหน้า ผีสางเทวดา ฯลฯ 

2. เครื่องมือในการปฏิบัติธรรม 

ผู้ที่เข้าใจแล้วว่าพระพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ 
ก็จะได้รับการแนะนำให้รู้จักเครื่องมือสำหรับการปฏิบัติธรรม 
ได้แก่ สติ และ สัมปชัญะ 
ผมมักจะพยายามแนะนำให้พวกเรา รู้ทัน สิ่งที่กำลังปรากฏกับจิต 
เช่นความลังเลสงสัย ความอยาก ความกังวล ความสุข ความทุกข์ ฯลฯ 
เป็นการหัดให้มี สติ ซึ่งเป็นเครื่องมือรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ 

และเฝ้ากระตุ้นเตือนพวกเราให้ทำความรู้ตัว ไม่เผลอ 
ไม่ว่าจะเผลอส่งจิตไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ 
ส่วนมากก็จะเผลอกันทางตา กับ ทางใจคือหลงเข้าไปอยู่ในโลกของความคิด 
กับเผลอไปเพ่งจ้องอารมณ์ เอาสติจ่อแน่นเข้าไปที่อารมณ์ที่กำลังปรากฏ 
การกระตุ้นความไม่เผลอ และไม่เผลอเพ่ง 
ก็คือการพยายามให้พวกเรามี สัมปชัญญะคือความรู้ตัวไว้เสมอๆ 

3. การเจริญสติปัฏฐาน 

เมื่อพวกเรามีเครื่องมือ หรืออาวุธในการปฏิบัติธรรมแล้ว 
ขั้นตอนต่อไปผมจะแนะนำให้พวกเราเจริญสติปัฏฐาน 
คือมีสติสัมปชัญญะระลึกรู้ กาย  เวทนา จิต และ/หรือ ธรรม 
ตามความถนัดของแต่ละบุคคล 

เช่นให้รู้อิริยาบถ รู้ความเคลื่อนไหวระหว่างการเดินจงกรม รู้ลมหายใจเข้าออก 
เบื้องต้นถ้าจิตยังไม่มีกำลัง ก็ให้รู้ไปอย่างสมถะ 
คือเอาสติจดจ่อสบายๆ ลงในกายที่ถูกรู้นั้น 
เมื่อจิตมีกำลังขึ้นแล้ว ก็ให้เห็นว่า อิริยาบถ ความเคลื่อนไหวกาย หรือลมหายใจนั้น 
เป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ถูกเห็น ไม่ใช่จิต 
มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตานั้นเอง 

เมื่อทำได้อย่างนั้นแล้ว จิตจะมีกำลังสติสัมปชัญญะมากขึ้นอีก 
หากนามธรรมใดปรากฏกับจิต ก็สามารถจะรู้เท่าทันได้ 
เช่นเกิดความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ เกิดกุศล อกุศล ต่างๆ 
ก็ให้รู้ทันนามธรรมนั้น ในลักษณะสิ่งที่ถูกรู้ เช่นเดียวกับการรู้รูปนั่นเอง 

อนึ่ง คนไหนมีกำลังรู้นามธรรมได้เลย ผมมักแนะให้รู้นามธรรมไปเลย
หรือผู้ไม่ถนัดจะระลึกรู้นามธรรม
สมัครใจจะรู้รูปธรรมอย่างเดียว ก็ได้

เมื่อจิตรู้ รูปธรรม หรือนามธรรมอย่างต่อเนื่องแล้ว
พอมีกำลังสติปัญญามากขึ้น ก็จะเห็นว่า
เมื่อจิตไปรู้รูปธรรมหรือนามธรรมต่างๆ แล้ว
จิตจะมีความยินดี ยินร้าย หรือเป็นกลางขึ้นมา
ผมมักแนะนำหมู่เพื่อน ให้ระลึกรู้ความยินดี ยินร้าย หรือความเป็นกลางนั้น
เมื่อจิตรู้ความเป็นยินดี ยินร้ายแล้ว ก็จะเห็นความยินดี ยินร้ายนั้น
เกิดดับเช่นเดียวกับรูปธรรมและนามธรรมทั้งปวงนั้นเอง
แล้วจิตปล่อยวางความยินดียินร้าย เข้าไปสู่ความเป็นกลางของจิต

ตอนแรกความเป็นกลางๆ จะมีสั้นๆ แล้วก็มีความยินดี ยินร้ายเกิดขึ้นอีก
ต่อมาชำนิชำนาญขึ้น จิตจะเป็นกลางมากขึ้นตามลำดับ
ก็ให้ผู้ปฏิบัติรู้อยู่ที่ความเป็นกลางของจิต
เมื่อจิตมีกำลังขึ้น ก็จะสามารถจำแนกขันธ์ละเอียดต่อไปจนเข้าถึง ใจ ได้

ในขั้นที่จิตเฝ้าระลึกรู้ความเป็นกลางนั้น
ปัญญาชนจะเกิดโรคประจำตัว  2 ประการเป็นส่วนมาก
คือ (1) เกิดความเบื่อหน่าย แล้วเลิกปฏิบัติ
หรือ (2) เกิดความลังเลสงสัย ว่าจะต้องทำอะไรต่อไปอีกหรือไม่ 
แล้วเลิกปฏิบัติโดยการ รู้
หันมาคิดค้นคว้าหาคำตอบด้วยการคิดเอา

แท้จริงเมื่อจิตเข้าไปรู้อยู่ที่ความเป็นกลางแล้ว ก็ให้รู้อยู่อย่างนั้น
แล้วจิตเขาจะพัฒนาของเขาไปเองเมื่อกำลังของ สติ สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์เต็มที่

นี้เป็นข้อสรุปแนวทางการปฏิบัติธรรมโดยสังเขป
ที่ขอฝากไว้ให้กับหมู่เพื่อนเพื่อประกอบการพิจารณาปฏิบัติต่อไป
โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 7 มกราคม 2543 15:41:32

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ มรกต วัน ศุกร์ ที่ 7 มกราคม 2543 16:14:16
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ tana วัน ศุกร์ ที่ 7 มกราคม 2543 19:03:08
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ yuwadhat วัน ศุกร์ ที่ 7 มกราคม 2543 19:32:48
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน เสาร์ ที่ 8 มกราคม 2543 13:11:06
^-^ _/|\_
โดยคุณ นกเอี้ยง วัน เสาร์ ที่ 8 มกราคม 2543 13:11:06

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ kobe วัน เสาร์ ที่ 8 มกราคม 2543 13:39:31
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ ต๊าน วัน เสาร์ ที่ 8 มกราคม 2543 15:36:07
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ aek123 วัน เสาร์ ที่ 8 มกราคม 2543 16:38:42
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ กระต่าย วัน เสาร์ ที่ 8 มกราคม 2543 17:39:58
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน เสาร์ ที่ 8 มกราคม 2543 17:47:14
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ Lee วัน เสาร์ ที่ 8 มกราคม 2543 17:58:24
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ มวยวัด วัน เสาร์ ที่ 8 มกราคม 2543 20:14:41
ขอบพระคุณครับ
_/\_
โดยคุณ มวยวัด วัน เสาร์ ที่ 8 มกราคม 2543 20:14:41

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ แมวแก่ วัน เสาร์ ที่ 8 มกราคม 2543 20:31:20
ขอบพระคุณครับ _/|\_
เหมือนได้แผนที่เลยครับ
โดยคุณ แมวแก่ วัน เสาร์ ที่ 8 มกราคม 2543 20:31:20

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ Jasmine วัน อาทิตย์ ที่ 9 มกราคม 2543 07:04:03
ขอบคุณค่ะ  _/|\_
โดยคุณ Jasmine วัน อาทิตย์ ที่ 9 มกราคม 2543 07:04:03

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ นุดี วัน อาทิตย์ ที่ 9 มกราคม 2543 18:03:52
ขอบคุณมากค่ะ  _/|\_
โดยคุณ นุดี วัน อาทิตย์ ที่ 9 มกราคม 2543 18:03:52

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ กาลามะชน วัน อาทิตย์ ที่ 9 มกราคม 2543 19:57:11
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ สันตินันท์ วัน จันทร์ ที่ 10 มกราคม 2543 09:24:14
(ต่อ)

จากแนวทางอันเดียวกันข้างต้น
เมื่อแต่ละคนลงมือปฏิบัติธรรมจริงๆ
กลับปรากฏปัญหาปลีกย่อยแตกต่างกันเป็นจำนวนมาก
ปัญหาหลักก็มาจาก การเจริญสติสัมปชัญญะ ไม่ถูกต้อง

พวกเราจำนวนมากในขณะนี้ ยิ่งปฏิบัติ ย่ิงเกิดความคลาดเคลื่อน
ยิ่งขยัน ยิ่งพลาดไปไกล
จุดที่พากันพลาดมากในช่วงนี้ก็คือ
แทนที่จะ รู้ ตามความเป็นจริง
พวกเรากลับไป สร้าง อารมณ์อันหนึ่งขึ้นมา
แล้วพากันเข้าไปติดอยู่ในอารมณ์อันนั้น

ความผิดพลาดนั้นเกิดจากบางคนรู้สึกว่าตนฟุ้งซ่านมากไป
จึงเห็นว่าจำเป็นต้องฝึกสมถกรรมฐานเสียก่อน
แล้วการฝึกสมถกรรมฐานนั้น ก็กระทำอย่างผิดพลาด
คือแทนที่จะกระทำสัมมาสมาธิ
กลับไปทำมิจฉาสมาธิอันไม่ประกอบด้วยความรู้ตัว
โดยการเพ่งเข้าไปที่อารมณ์อันเดียว
กล่อมจิตให้เคลื่อน เคลิ้ม เข้าไปเกาะอารมณ์อันเดียว
แทนที่จะมีสติระลึกรู้อารมณ์อันเดียวไปอย่างสบายๆ
โดยมีความรู้ตัวไม่เผลอ ไม่เพ่ง
จิตแค่ระลึกรู้อารมณ์อันเดียวอย่างสบายๆ เป็นธรรมเอก

เมื่อทำมิจฉาสมาธิ จิตเคลื่อน ไปเกาะอารมณ์ที่สร้างขึ้นมา
พอหยุดการทำสมาธิ หันมาดูจิต หรือเจริญสติปัฏฐาน
ก็เอาจิตที่เกาะติดอารมณ์นั้นเอง มาใช้ดูจิต
ซึ่งจิตชนิดนี้ ใช้เจริญสติปัฏฐานไม่ได้จริง
เพราะกระทั่งจิตติดอารมณ์อยู่ก็มองไม่เห็นความจริงเสียแล้ว

สาเหตุของความผิดพลาดที่เป็นกันมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ
แทนที่จะรู้อารมณ์ไปตามธรรมดา ง่ายๆ สบายๆ
พวกเราจำนวนมากกลัวจะเผลอ กลัวจะหลงมากเกินไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่พบกับผม หรือใกล้จะพบกับผม
จิตจะเกิดการตื่นตัวขึ้น เกิดอาการเกร็ง ระวังตัวแจ
ไม่ผิดอะไรกับนักวิ่ง เวลาเข้าเส้นสตาร์ท

สาเหตุอีกประการหนึ่งก็คือ การปฏิบัติธรรมด้วยความอยาก
เช่นอยากรู้ธรรมเห็นธรรมเร็วๆ
อยากเป็นคนเก่ง เป็นดาวเด่น อยากได้รับการยอมรับและคำชมเชยจากหมู่เพื่อน
พออยากมาก ก็ต้อง "เร่งความเพียร"
แต่แทนที่จะเจริญสติสัมปชัญญะอย่างเป็นธรรมชาติให้ต่อเนื่องตลอดเวลา
อันเป็นความหมายที่ถูกต้องของการเร่งความเพียร
กลับกลายเป็นการปฏิบัติด้วยความหักหาญ เคร่งเครียด
ดูผิวนอกเหมือนจะดี แต่จิตภายในไม่มีความสงบสุขใดๆ เลย

สาเหตุที่นึกได้ในตอนนี้ทั้ง 3 ประการนี้แหละ
ทำให้พวกเราจำนวนมาก หลงไปยึดอารมณ์อันหนึ่งไว้
แล้วคิดว่า สามารถรู้จิตรู้ใจได้อย่างแจ่มชัด
ตอนนี้บางคนพอจะแก้ไขได้บ้างแล้ว
เมื่อเริ่มรู้ทัน การที่จิตไปสร้าง ภพของนักปฏิบัติขึ้นมา
แทนที่จะ รู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง

มีเรื่องขำๆ เรื่องหนึ่งคือน้องคนหนึ่งจิตติดอารมณ์ภายในอยู่
ผมก็แนะนำว่า ให้ดูให้รู้ว่ากำลังติดอยู่
ถ้ารู้แล้วจะได้กลับออกมาอยู่ข้างนอก
และแทนที่จะเพ่งเข้าไปข้างใน
ให้พยายามรู้ตัวออกไปยังภายนอก ออกไปสัมผัสสิ่งแวดล้อมให้ดี
จิตที่ติดอยู่ข้างในจะได้หลุดออกมา
น้องคนนั้นฟังแล้วกลุ้มใจมาก เพราะคิดว่าผมสอนให้ส่งจิตออกนอก
ยังดีว่าสงสัยแล้วถามผมเสียก่อน
ไม่นำไปเล่าถวายครูบาอาจารย์ ว่าผมสอนให้ส่งจิตออกนอก
มิฉะนั้น ถ้าท่านพบผม ท่านคงทุบผมตกกุฏิเลย

ความจริงการที่หลงสร้างอารมณ์ออกมาอันหนึ่ง
แล้วตนเองเข้าไปติดอยู่ภายในนั้น
ก็เป็นการส่งจิตออกนอกแล้ว คือออกไปนอกจาก รู้
ผมพยายามแก้การส่งจิตออกไปสร้างภพโดยไม่รู้ตัวให้
ไม่ได้ปรารถนาจะให้หัด ส่งจิตออกนอก แต่อย่างใด

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่พวกเราส่วนน้อยเป็นกัน
ได้แก่การหลงตามอาการของจิต
เช่นหลงในนิมิต แสง สี เสียง ต่างๆ
หรือหลงในการกระตุกของร่างกาย ฯลฯ
พอเกิดอาการขึ้น บางคนก็ยินดี บางคนก็ยินร้าย
ต้องคอยปลอบคอยแนะให้หันมาสังเกตรู้ความยินดียินร้ายของจิต
จนจิตเข้าถึงความเป็นกลางเอง
แทนการไปเพ่งใส่อาการต่างๆ เหล่านั้น
และมีราคะ โทสะ หรือโมหะ ครอบงำโดยไม่รู้ตัว

การปฏิบัตินั้น ถ้าจะป้องกันความผิดพลาด
ก็ควรจับหลักให้แม่นๆ ว่า
"เราปฏิบัติเพื่อรู้ทันกิเลสตัณหา ที่คอยแต่จะครอบงำจิตใจ
ปฏิบัติไปจนจิตฉลาด พ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหา"
ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อสิ่งอื่น

หากปฏิบัติโดยแฝงสิ่งอื่นเข้าไป
เช่นความอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากเด่น อยากดัง อยากหลุดพ้น
โอกาสพลาดก็มีสูง เพราะจิตมักจะสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา
แทนที่จะรู้ทุกอย่างตามความเป็นจริง

แล้วก็ควรสังเกตจิตใจตนเองไว้บ้าง
หากรู้สึกว่า จิตใจเกิดความหนักที่แตกต่างหรือแปลกแยกจากธรรมชาติแวดล้อม
ก็แสดงว่าจิตไปหลงยึดอะไรเข้าให้แล้ว

เพราะโดยธรรมชาติของสิ่งภายในภายนอกนั้น มันไม่มีน้ำหนักอะไรเลย
ที่มีน้ำหนักขึ้นมา ก็เพราะเราไปแบกไปถือไว้เท่านั้นเอง
ลองสังเกตดูตอนนี้ก็ได้ครับ
ลองทำใจให้สบายๆ สังเกตไปยังสิ่งแวดล้อมภายนอก
เช่นอาคารบ้านเรือน โต๊ะเก้าอี้ ต้นหมากรากไม้
จะเห็นว่า สิ่งภายนอกนั้นโปร่ง เบา ไม่มีน้ำหนัก
เพราะเราไม่ได้เข้าไปแบกหามเอาไว้
ส่วนจิตใจของเรานั้น มองย้อนเข้ามาจะเห็นว่ามันหนักมากบ้างน้อยบ้าง
ถ้ายึดมากก็หนักมาก ยึดน้อยก็หนักน้อย
มันยังแปลกแยกออกจากธรรมชาติ ธรรมดา
สิ่งที่แปลกแยกนั่นแหละครับ
คือส่วนเกินที่เราหลงสร้างขึ้นมาโดยรู้ไม่เท่าทันมายาของกิเลส

เมื่อรู้แล้ว ก็สังเกตจิตตนเองต่อไปว่า
มันยินดียินร้ายต่อสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามานั้นหรือไม่
แล้วก็รู้เรื่อยไป จนจิตเป็นกลางต่ออารมณ์ทั้งปวง
ธรรมชาติภายใน กับธรรมชาติภายนอกก็จะเสมอกัน
คือไม่มีน้ำหนักให้ต้องแบกหามต่อไป

พระศาสดาทรงสอนว่า ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนัก
บุคคลแบกของหนักพาไป เขาย่อมไม่พบความสุขเลย


คำสอนของพระองค์นั้น คำไหนก็เป็นคำนั้น
ขันธ์เป็นของหนักจริงๆ สำหรับคนที่มีตาที่จะดูออกได้
โดยคุณ สันตินันท์ วัน จันทร์ ที่ 10 มกราคม 2543 09:24:14

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 10 มกราคม 2543 09:48:54
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ดังตฤณ วัน จันทร์ ที่ 10 มกราคม 2543 09:59:58
_/|\_
โดยคุณ ดังตฤณ วัน จันทร์ ที่ 10 มกราคม 2543 09:59:58

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ กระต่าย วัน จันทร์ ที่ 10 มกราคม 2543 10:18:15
สาธุ สาธุ สาธุ  _/|\_
กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ
โดยคุณ กระต่าย วัน จันทร์ ที่ 10 มกราคม 2543 10:18:15

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ tana วัน จันทร์ ที่ 10 มกราคม 2543 19:04:35
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ filmman วัน จันทร์ ที่ 10 มกราคม 2543 20:42:24
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ นิดนึง วัน อังคาร ที่ 11 มกราคม 2543 09:26:58
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ เมล็ดโพธิ์ วัน อังคาร ที่ 11 มกราคม 2543 12:20:24
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ โจ้ วัน อังคาร ที่ 11 มกราคม 2543 19:52:26

ขอบพระคุณ คุณอา อย่างยิ่งค่ะ
โดยคุณ โจ้ วัน อังคาร ที่ 11 มกราคม 2543 19:52:26

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ ทองจันทร์ วัน อังคาร ที่ 11 มกราคม 2543 21:18:56
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ Mike วัน พุธ ที่ 12 มกราคม 2543 06:13:33
ขอบพระคุณมากครับ _/|\_
โดยคุณ Mike วัน พุธ ที่ 12 มกราคม 2543 06:13:33

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ Lee วัน พุธ ที่ 12 มกราคม 2543 15:56:34
ขอบคุณครับ

ตอน 2 นี่ตัวเองโดนเต็มๆ แต่ก็หลุดได้เพราะคำว่า มิจฉาสมาธิที่ บอกมานั่นละครับ  โดนว่าเป็นมิจฉาสมาธินี่ สะดุ้งเฮือกเลย

ต้องกลับไปตั้งรู้ใหม่ สบายๆ
โดยคุณ Lee วัน พุธ ที่ 12 มกราคม 2543 15:56:34

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ lek วัน พุธ ที่ 12 มกราคม 2543 18:48:25
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ วิทวัส วัน พุธ ที่ 12 มกราคม 2543 22:48:43
ขอบคุณครับ
โดยคุณ วิทวัส วัน พุธ ที่ 12 มกราคม 2543 22:48:43

ความเห็นที่ 30 โดยคุณ Acura วัน พฤหัสบดี ที่ 13 มกราคม 2543 12:02:04
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 31 โดยคุณ พุทธบุตร วัน พฤหัสบดี ที่ 13 มกราคม 2543 18:06:12
ขอบคุณมากครับ
โดยคุณ พุทธบุตร วัน พฤหัสบดี ที่ 13 มกราคม 2543 18:06:12

ความเห็นที่ 32 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน พฤหัสบดี ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 08:03:51
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 33 โดยคุณ นิพ วัน พฤหัสบดี ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 16:54:28
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com