กลับสู่หน้าหลัก

อุบายภาวนา

โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 08:51:34


ผมได้เขียนถึงเรื่อง แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป ไปแล้ว 
โดยกล่าวถึงหลักการหรือแนวทางการปฏิบัติ คือ 
การเจริญสติสัมปชัญญะ รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏด้วยความเป็นกลาง 
(คือเป็นผู้รู้ผู้ดูเฉยๆ ไม่ใช่ผู้โดดเข้าไปแสดงเอง) 
เมื่อปฏิบัติไปตามนั้นแล้ว จิตจะวางสิ่งที่ถูกรู้ เข้ามารู้จักจิตใจของตนเอง 
แล้วปลดเปลื้องกิเลสตัณหาออกจากจิตใจโดยอัตโนมัติด้วยปัญญาของจิต ต่อไป 

หลักการหรือแนวทางแม้จะมีอยู่นิดเดียวก็จริง 
แต่ในเวลาที่เราลงมือปฏิบัติ 
ผู้ปฏิบัติแต่ละคนจะต้องมีอุบายวิธีในการปฏิบัติ หรืออุบายภาวนา 
ที่เหมาะสมกับตนเองในขณะนั้นๆ 

อุบายวิธีที่เป็นหลักจริงๆ มีไม่มาก 
แต่อุบายพลิกแพลงส่วนปลีกย่อยมีมากมายนับไม่ถ้วน 
ขึ้นกับความจำเป็นของแต่ละคน ในแต่ละห้วงเวลาและสถานการณ์ 
เหมือนดังที่หลวงตามหาบัว ท่านกล่าวบ่อยๆ ว่า 
จิตต้องผลิตอาวุธ หรืออุบายปัญญาสดๆ ร้อนๆ 
จึงจะต่อสู้กับกิเลสที่ปรับตัวอยู่ตลอดเวลาได้ 

อุบายวิธีในการปฏิบัติ เกิดได้ด้วยเหตุ 2 ประการคือ 
ด้วยกัลยาณมิตร คือการปรึกษาครูบาอาจารย์ 
หรือเพื่อนผู้ปฏิบัติที่เคยผ่านประสบการณ์ทำนองนั้นมาแล้ว อย่างหนึ่ง 
และด้วยโยนิโสมนสิการ คือความใส่ใจโดยแยบคายของเจ้าตัวเอง อีกอย่างหนึ่ง 

นักปฏิบัติจำนวนมาก อยากรู้อุบายวิธีให้มากที่สุด 
เพื่อว่าจะได้พลิกตำราสู้กับกิเลสตัณหาที่เข้ามาครอบงำจิตได้อย่างทันการ 
ความคิดเช่นนี้ ไม่ถูกต้องเลย 
เพราะอุบายวิธีของคนหนึ่ง ในสถานการณ์หนึ่ง 
จะนำไปใช้กับอีกคนหนึ่ง ในอีกสถานการณ์หนึ่งไม่ได้ 
แม้กระทั่งอุบายวิธีที่เราเคยใช้มาแล้ว 
จะหยิบมาใช้ซ้ำซากก็ไม่ได้ 
เพราะกิเลสตัณหามีการพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง 
เหมือนเชื้อโรคที่ดื้อยาได้ในเวลาอันสั้นที่สุด 

ดังนั้น การรู้อุบายวิธีปฏิบัติไว้บ้าง เป็นเรื่องประเทืองปัญญาและร่าเริงใจ 
แต่การรู้มากเกินไป แล้วใช้ไม่เป็น 
ไม่เพียงแต่จะไม่เกิดประโยชน์ 
หากแต่จะก่อโทษต่อผู้ปฏิบัติอย่างมากด้วย 

*********************************** 

อุบายวิธีปฏิบัติ ที่เป็นหลักจริงๆ ก็คือ 

1. การปรับสภาพจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญปัญญา 

ผู้ที่จะเจริญปัญญา หรือวิปัสสนานั้น จำเป็นต้องมีจิตที่พร้อมเสียก่อน 
คือมีสติสัมปชัญญะ มีความเพียรแผดเผากิเลส 
มีอารมณ์เครื่องรู้ของจิตอย่างเป็นวิหารธรรม 
สามารถขจัดความยินดียินร้ายในจิตออกได้ 

อุบายพลิกแพลงที่จะใช้ปรับสภาพจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญปัญญานั้น 
มีตั้งแต่การปรับสภาพจิตในเบื้องต้นก่อนจะเจริญปัญญา 
และการปรับแต่งสภาพจิตที่กวัดแกว่งเสียคุณภาพไป 
ภายหลังที่ได้เจริญปัญญาไปช่วงหนึ่งแล้ว 

อุบายวิธีปฏิบัติใดๆ ก็ได้ จัดเป็นอุบายวิธีที่ดีทั้งนั้น 
หากทำให้ผู้ปฏิบัติที่ไม่มีสติ เกิดมีสติ 
ไม่มีสัมปชัญญะ เกิดมีสัมปชัญญะ 
ไม่มีความเพียรแผดเผากิเลส เกิดมีความเพียรแผดเผากิเลส(เจริญปัญญา) 
ไม่มีวิหารธรรม เกิดมีวิหารธรรม 
ไม่เป็นกลาง เกิดมีความเป็นกลาง 

วิธีมาตรฐานที่สุดในการเตรียมจิตให้พร้อม 
ได้แก่การเจริญสัมมาสมาธิจนจิตเป็นธรรมเอก 
แต่บางคน หรือบางคราว ไม่สามารถใช้วิธีมาตรฐานได้สำเร็จ 
เพราะจิตฟุ้งซ่านดิ้นรนแส่ส่ายมาก 
ก็จำเป็นต้องผลิตอุบายวิธีขึ้นมา 
เพื่อต่อสู้เอาตัวรอดในระยะเฉพาะหน้าไปก่อน 

เช่นบางครั้งไม่สามารถเจริญสติได้ เพราะจิตถูกกามราคะคุกคามหนัก 
ผู้ปฏิบัติก็อาจจะเจริญอสุภกรรมฐานบ้าง พิจารณาความตายบ้าง 
พิจารณาโทษของกาม และความทุกข์อันเกิดจากจิตถูกกามราคะครอบงำบ้าง 

บางคราวเจริญสติไม่ได้เพราะจิตมีความพยาบาทรุนแรงในบุคคลหรือสัตว์ 
ผู้ปฏิบัติก็อาจจะพิจารณาความตายทั้งของตน 
และของผู้ที่เป็นเป้าหมายของความพยาบาท 
กระทำเมตตาจิตให้เกิดขึ้น 
(อ่านพบในลานธรรมมีผู้แนะนำว่า 
เมื่อโกรธก็ให้เตือนตนเองว่า "เมตตาไม่พอ เมตตาไม่พอ" 
อย่างนี้ก็เป็นอุบายอันหนึ่งเช่นกัน) 
พิจารณาว่า คนและสัตว์ทั้งปวง อาจจะเคยเป็นญาติมิตรของเราบ้่าง
พิจารณาโทษของความพยาบาท 
และความทุกข์อันเกิดจากจิตถูกความพยาบาทครอบงำบ้าง 

เมื่อจิตถูกความง่วงเหงาหาวนอนครอบงำ 
ก็อาจดำเนินตามอุบาย 8 ประการ 
ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนท่านพระโมคคัลลานเถระ 
หรือครูบาอาจารย์บางท่าน ต่อสู้โดยไปนั่งภาวนาริมเหว เป็นต้น 

เมื่อจิตถูกความกลัวครอบงำ เช่นกลัวงูและกลัวผี 
ก็อาจพิจารณาความตายให้เห็นเป็นของธรรมดา 
พิจารณาขันธ์ ว่าเขาเป็นของตายอยู่ในตัวอยู่แล้ว ไม่ตายวันนี้วันหน้าก็ตาย 
พิจารณากรรมและผลของกรรม 
คือพิจารณาว่าถ้ามีเวรต่อกัน ก็ขอยอมตายเพื่อชดใช้กันเสียให้หมดสิ้นไป 
พิจารณาว่าสัตว์ต่างๆ ไม่เห็นมันจะกลัวผีเลย 
แล้วผีก็ไม่หลอกสัตว์ เพราะสัตว์ไม่หลอกตัวเอง เป็นต้น 

เมื่อจิตถูกความเกียจคร้านครอบงำ 
ก็พิจารณาว่า ชีวิตเป็นของสั้น เป็นต้น 

เมื่อจิตเกิดความลังเลสงสัย 
ก็พิจารณาว่า ครูบาอาจารย์ก็เดินมาทางนี้ก่อนแล้ว 
หรือพิจารณาการปฏิบัติของเราที่ผ่านมา 
สามารถลดละกิเลสตัณหามาตามลำดับ 
ถ้าปฏิบัติมาผิดๆ ก็คงไม่สามารถลดละกิเลสตัณหามาจนป่านนี้ได้ เป็นต้น 

เมื่อจิตเผลอ ลืมตัว บ่อยๆ ก็กำหนดคำบริกรรมให้ถี่ขึ้น 

เมื่อจิตเกิดอาการหนัก เพ่งจ้องอย่างรุนแรง 
ก็พยายามทำใจให้สบายๆ ลดความตั้งใจในการปฏิบัติลง 
หรือแผ่ความรู้สึกตัวให้กว้างขวางไม่มีประมาณ เป็นต้น 

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงไว้ก็คือ อย่าใช้อุบายการปฏิบัติอย่างพร่ำเพรื่อ 
จนลืมหลักการปฏิบัติที่แท้จริง อันได้แก่การรู้ตามความเป็นจริง ไปเสีย
 
นักปฏิบัติบางคนตามแก้อาการของจิตอยู่ทุกวัน ทั้งวัน 
โดยไม่เคยเจริญสติปัฏฐานจริงๆ เลยก็มี 
เช่นพอเริ่มปฏิบัติจิตฟุ้งซ่าน ก็เพ่งให้นิ่ง 
พอนิ่งแล้วก็ ก็กลายเป็นการนิ่งเพราะเพ่งอย่างรุนแรงจนอึดอัด 
แล้วก็หาอุบายมาแก้ความอึดอัดต่อไปอีก 
จนจิตเบาแล้วไปติดอยู่ในความสงบสบาย 
ถัดจากนั้นก็หาอุบาย เพื่อจะหลุดออกจากความสงบสบายนั้น เป็นต้น 
ที่ยกตัวอย่างมากล่าวนี้ จะเห็นได้ว่า
ไม่มีตรงไหนเลย ที่จะรู้อารมณ์ตามความเป็นจริง ด้วยความเป็นกลาง 

การใช้อุบายตลอดเวลาอย่างนี้เอง 
ที่จะทำให้คนเจ้าอุบาย ตายด้วยอุบายของตนเอง 
เพราะจะได้แต่แก้อาการของจิต โดยไม่ได้เรียนรู้จิตเสียที 

2.การแก้ไขอาการของจิตที่ผิดเพี้ยน 

อาการของจิตที่ผิดเพี้ยนนี้ หมายถึง นิมิต วิปัสสนูปกิเลส
นิมิต เกิดในระหว่างการทำสมถะ
ส่วนวิปัสสนูปกิเลส เกิดในระหว่างเจริญวิปัสสนา
อุบายที่จะแก้ไขแม้จะมีหลากหลาย
แต่ก็รวมลงในหลักการอันเดียวกัน
คือการทำให้จิตเคลื่อนจากอารมณ์ที่กำลังยึดถือนั้น

เช่นเมื่อเกิดนิมิต ก็ย้อนมาดูจิตใจตนเอง
เมื่อติดวิปัสสนูปกิเลส ผู้ที่มีความสังเกตก็อาจจะแก้ตนเองได้
แต่ถ้าแก้ไม่ได้ จะให้ผู้อื่นแก้ให้
ก็อาจจะต้องยั่วให้เกิดกิเลสที่แรงๆ เช่นความโกรธ
จะทำให้จิตคลายจากความยึดถือในสิ่งที่ติดอยู่ได้ เป็นต้น

******************************************** 

ตัวอย่างการใช้อุบายภาวนา 

เมื่อไม่นานมานี้ ผมตื่นนอนขึ้นมาเดินจงกรมตอนตีสอง 
(พวกเราอย่าตกใจว่าต้องเร่งความเพียรด้วยการตื่นตีสองนะครับ 
ขอให้เข้าใจธรรมชาติของคนสูงอายุไว้ว่า 
มีปกตินอนเป็นงีบๆ เท่านั้นครับ) 
ปรากฏว่าวันนั้นงัวเงีย เพราะก่อนนอนทานยาแก้ไข้หวัดไปหลายขนาน
จิตฟุ้งเลอะเทอะไปเลย เพราะมีโมหะแทรกมากกว่าปกติ 
ขณะนั้น ไม่สามารถจะรู้ขันธ์ 5 ตามความเป็นจริงได้ 
แม้จะเดินจงกรมแบบสมถะ คือเดินบริกรรมพุทโธไปด้วย ก็แก้ไม่ได้ 
มีอาการง่วงงุนงง แล้วฟุ้งซ่านไปด้วย

ถึงตรงนี้ผมจึงนึกถึงอุบายภาวนาขึ้นมา 
โดยการพิจารณาว่า ขันธ์ 5 ที่กำลังย่ำแย่วุ่นวายนี้ เกิดแต่ผลของกรรม(วิบาก) 
รูปมีความเจ็บไข้ได้ป่วย แก่ชราคร่ำคร่าลง แล้วแตกตายไปก็เพราะผลของกรรม 
นามธรรมทั้งปวง ที่เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือที่กำลังฟุ้งซ่านนี้ ก็เป็นผลของกรรม 
 สิ่งที่มากระทบ ทางตา หู .. ใจ นี้ก็เป็นผลของกรรม

จิตที่ปฏิเสธวิบาก คือไม่ยอมรับผลของกรรมนั้นอย่างหนึ่ง
หรือจิตที่หลงใหลพอใจในวิบากที่ได้รับนั้นอีกอย่างหนึ่ง
เป็นจิตที่เจือด้วยกิเลส มีโทสะและราคะ เป็นต้น

เมื่อจิตมีกิเลสแล้ว จิตก็ส่งส่ายไปตามอำนาจกิเลส
ออกไปทำกรรมตามอำนาจของกิเลสอีก แล้วก็ก่อวิบากสะสมเอาไว้ต่อไป

สังสารวัฏ เป็นวงจรของ กิเลส กรรม วิบาก อยู่อย่างนี้เอง

เมื่อจิตพิจารณาเดินปัญญาอย่างนี้แล้ว
สติ สมาธิ ปัญญาก็รวมกำลังกันได้
จิตหลุดพ้นจากโมหะที่ห่อหุ้มจิตอยู่
จิตยกระดับไปอีกระนาบหนึ่ง 
เห็นขันธ์ทั้ง 5 เป็นของเกิดดับไปตามเหตุปัจจัยของ กิเลส กรรม วิบาก
ไม่ใช่ตัวเรา ของเรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาให้เป็นไปตามอยาก

นี่เป็นตัวอย่าง การใช้อุบายอย่างหนึ่งครับ

จะใช้อุบายอย่างไรก็ได้
แต่หากอุบายนั้น มาลงที่ไตรลักษณ์ได้ จะยิ่งดีที่สุด
เพราะสามารถเจริญวิปัสสนาต่อไปได้เลยทีเดียว
ดีกว่าอุบายประเภทแก้ปัญหาอันหนึ่ง
เพื่อจะเกิดปัญหาอีกอันหนึ่งให้ต้องแก้อีก
อุบายแบบนั้น ไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรใช้เลยครับ

 
โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 08:51:34

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 09:46:16
_/|\_ สาธุครับ
(มาสาธุคนแรกเลย :) )
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 09:46:16

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 09:57:06
กราบขอบพระคุณค่ะ
สำหรับอุบายและข้อตักเตือนค่ะ
โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 09:57:06

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ กระต่าย วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 09:57:16
อ่านหลายๆจุดแล้วตรงใจจริงๆ
กราบขอบพระคุณคุณอาอย่างสูงค่ะ _/|\_
โดยคุณ กระต่าย วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 09:57:16

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ทองจันทร์ วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 10:40:24
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 10:50:03
นึกตัวอย่างอุบายที่ครูบาอาจารย์เคยใช้เมื่อจวนตัวได้ จึงขอเล่าต่อไว้เลยครับ

ครูบาอาจารย์สมัยยังหนุ่มๆ และเพิ่งเริ่มปฏิบัตินั้น
ท่านก็ไม่ได้ต่างจากหนุ่มๆ ยุคนี้แต่อย่างใด คือจิตถูกกามราคะรบกวนหนัก
ท่านต้องหาอุบายวิธีต่อสู้ จนเอาตัวรอดมาเป็นครูบาอาจารย์ได้

บางองค์พิจารณาอสุภกรรมฐาน หยิบยกสาวงามที่ตนผูกพันมาพิจารณา

ศิษย์หลวงพ่อพุธ องค์หนึ่งบริกรรมพุทโธคราวไร
จิตจะเปลี่ยนไปบริกรรมชื่อสาวคนรักแทนพุทโธทุกที
หลวงพ่อจึงแนะนำให้บริกรรมชื่อสาวต่อไป
จนจิตรวมลง แล้วเกิดนิมิตเห็นสาวนั้นแก่ชรา จนกระทั่งตายลง
จิตของท่านก็สงบจากความรักใคร่คราวนั้นได้

ครูบาอาจารย์บางองค์อดอาหาร เพราะสู้อย่างอื่นไม่ไหวแล้ว
โดยกำหนดในใจว่า ตราบใดยังไม่เลิกรักใคร่ผูกพัน
ท่านจะไม่ฉันอาหารเพื่อให้เป็นกำลังของกิเลส
พออดเข้าหลายวัน ใกล้ความตายเข้าไป
ความรักสาวก็หมดไป เพราะจิตย่อมรักตนเองเป็นอันดับแรก

ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ท่านก็มีอุบายต่อสู้ที่ไม่เหมือนใคร
คราวหนึ่งท่านไปหลงรักสาวเข้า ท่านก็มาพิจารณาว่า
ถ้ารักเขาจริง ต้องรักเขาได้ทุกอย่าง เห็นเขาสวย ก็ต้องสวยทุกอย่าง
สมัยนั้น ชาวบ้านไปถ่ายทุกข์กันตามทุ่งตามนา
ท่านจึงแอบตามสาวคนรักออกไปที่ท้องนา
พอเขาถ่ายทุกข์เสร็จ กลับไปแล้ว ท่านก็ไปพิจารณาอุจจาระนั้น
จิตก็คลายความกำหนัดรักใคร่สาวลงได้

ท่านพระอาจารย์ชา สุภัทโท ท่านมีวิธีสู้ที่ไม่เหมือนใคร
ตอนนั้นท่านบวชแล้ว จิตมีกามราคะมาก
ท่านหลบเข้าไปเดินจงกรมตามลำพังในป่า
เนื่องท่านต้องดึงสบงขึ้นมาไว้ที่เอว หากเดินตามธรรมดาท่านจะทนไม่ไหว
อาศัยการต่อสู้คราวนี้ จิตของท่านระเบิดติดต่อกัน 3 ครั้ง
แล้วกามราคะก็ไม่กลับมารบกวนท่านอีกเลยจนตลอดชีวิต
อันนี้แสดงว่า ท่านสู้ด้วยวิปัสสนาจริงๆ
ไม่ได้ใช้อุบายผ่อนหนักเป็นเบา
หรือประวิงเวลาต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดเฉพาะหน้าเท่านั้น

เวลาที่ครูบาอาจารย์เกิดไปหลงรักสาวเข้า
แล้วใช้อุบายต่อสู้อย่างใดก็ไม่หาย
ท่านจะใช้ไม่ตายขั้นเด็ดขาด
คือรีบเก็บบาตร เก็บกลด หนีไปจากท้องที่นั้นเลย

การหนี บางทีก็เป็นอุบายการต่อสู้ที่จำเป็นเหมือนกัน
โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 10:50:03

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ สายขิม วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 12:44:56
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ แมวแก่ วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 14:29:09
ขอบพระคุณมากครับคุณอา _/|\_
อ่านแล้วทำให้หายปัญญาทึบไปได้มากจริงๆครับ
โดยเฉพาะที่คุณอาเตือนเรื่องอย่าใช้อุบายให้พร่ำเพรื่อ
โดยคุณ แมวแก่ วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 14:29:09

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ wandee วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 16:09:38
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 16:55:17
สาธุ สาธุ สาธุ
โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 16:55:17

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ หลังเขา วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 19:22:13
สาธุครับ ขอบคุณครับคุณอา
ปัญหาที่มีอยู่และที่จะเห็นจากนี้ไป
จะพยายามพึ่งตนเองให้มากขึ้นครับ
โดยคุณ หลังเขา วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 19:22:13

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ พัลวัน วัน เสาร์ ที่ 15 มกราคม 2543 11:02:42
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ aek123 วัน เสาร์ ที่ 15 มกราคม 2543 13:53:11
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน เสาร์ ที่ 15 มกราคม 2543 17:16:54
^-^ _/|\_
โดยคุณ นกเอี้ยง วัน เสาร์ ที่ 15 มกราคม 2543 17:16:54

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ filmman วัน เสาร์ ที่ 15 มกราคม 2543 22:23:43
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ ต๊าน วัน อาทิตย์ ที่ 16 มกราคม 2543 02:14:08
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ วีระวงศ์ วัน อาทิตย์ ที่ 16 มกราคม 2543 18:48:44
โดน....ครับผม
โดยคุณ วีระวงศ์ วัน อาทิตย์ ที่ 16 มกราคม 2543 18:48:44

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ วีระวงศ์ วัน อาทิตย์ ที่ 16 มกราคม 2543 18:54:02
ขอบคุณคุณอาครับ
โดยคุณ วีระวงศ์ วัน อาทิตย์ ที่ 16 มกราคม 2543 18:54:02

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ filmman วัน จันทร์ ที่ 17 มกราคม 2543 01:12:19
หลายๆอย่างที่อาพูดมา ผมเป็นมาแล้วทั้งนั้นครับ
นั่งคิดดูก็ขำดีว่าสุดท้ายพอลงสนามจริงแล้วเนี่ยดูเหมือนกับว่า ปริยัติที่ศึกษามาไม่รูว่าหายไปไหนหมด ที่มีอยู่ก็มีแต่แบบแผน ใช้ยังไงมันก็ไม่สำเร็จ เอาแค่ คำว่า ศรัทธา
วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เนี่ยก็หาไม่เจอแล้ว แหมแต่เวลาจำมาพูดเนี่ยทำไมมันถึงได้แม่นและฉะฉานอย่างนี้ ทั้งๆที่รู้ว่า 5 อย่างนี้เป็นกำลังสำคัญ  หรืออย่างคำว่าอยู่กับปัจจุบัน พูดมันง่ายนิดเดียว แต่ทำไปเท่าไรมันก็ยังไม่ถูกเพราะมันไม่เข้าใจว่าคำว่าอารมณืปัจจุบันมันหน้าตาเป็นไง ระลึกไม่เป็นสร้างไม่ได้ ทั้งๆที่เป็นพื้นฐานแท้ๆ
โดยคุณ filmman วัน จันทร์ ที่ 17 มกราคม 2543 01:12:19

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ kobe วัน จันทร์ ที่ 17 มกราคม 2543 20:57:51
สาธุครับ คุณอาสันตินันท์
ทั้งที่เคยแนะนำ ผมใน irc เมื่อวันก่อน และ ในกระทู้นี้
ทำให้ผมรู้สึกตัวว่าโง่อยู่มากเชียวครับ หลงอยู่ตั้งนาน มัวใช้อุบายต่าง ๆ นานา เพื่อดับกิเลส เช่นดังที่คุณอาได้กล่าวแล้วในข้อที่ 1 นั้น ผมยอมรับครับ ก่อนที่อาจะแนะนำ และได้อ่านกระทู้นี้ เป็นเช่นนั้นจริง ๆ
แต่พอได้รับการแนะนำแล้ว รู้สึกว่าใจ มันสงบมากขึ้นครับปฏิบัติได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมากครับ

จะพยายามปฏิบัติต่อไปครับ
โดยคุณ kobe วัน จันทร์ ที่ 17 มกราคม 2543 20:57:51

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ มวยวัด วัน อังคาร ที่ 18 มกราคม 2543 08:05:38
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมน่าจะเป็นคนหนึ่งที่ถูกจัดว่าเป็นมนุษย์เจ้าอุบาย : )
และก็จริงอย่างที่พี่กล่าวไว้ในกระทู้คือทำไปทำมา ก็เลยกลายเป็นต้องคอย
จัดการกับอุบายนั้นอีกเพราะอุบายนั้นเมื่อใช้ไปแล้ว แม้ครั้งหนึ่ง
มันก็เข้ามาติดในสัญญาพลิกเป็นกิเลสได้ทันที ทีนี้พอได้อุบายอะไรมา
มันก็ต้องมาคอยหาอุบายมากำจัดอุบายกันอีกทีนี้เลยการเป็นคนที่รุงรัง
ด้วยอุบายเต็มตัว มันหนักครับ จนมาในระยะหลังมานี่ ผมชักจะ
ทนไม่ไหว เบื่อกับการหาอุบายเต็มที ประจวบเหมาะกับคราวก่อน
ในวงสนทนา irc มีพวกเราคนหนึ่งถามพี่สันตินันท์(ขออภัยจำชื่อผู้ถามไม่ได้จริงๆ)
ในเรื่องการกำกับลมหายใจด้วยพุทธ-โธ พอดีประจวบเหมาะกับมันทนไม่ค่อยไหวแล้ว
กับการเป็นกุลีแบกอุบาย  วันนั้นเลยได้ทางที่สะดวกและสบายมากที่สุดในการปฏิบัติ
นั่นก็คือ การใช้คำบริกรรมพุทธ-โธ คอยกำกับลมหายใจเอาไว้ตลอดเวลาที่ดูจิตไม่ได้
(เว้นไว้เฉพาะช่วงใช้ความคิด) ว่างก็พุทธ-โธ,ลืมหรือเผลอพอนึกขึ้นได้ก็พุทธ- โธ
เนื่องจากตลอดเวลาที่ปฏิบัติมานั้น ในช่วงระยะเวลากลางวันนี่แหละผมเห็นว่าสำคัญที่สุด
เพราะการงานที่ทำอยู่ ทำให้สติไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก และในช่วงนี้เอง จิตก็หาบ้านอยู่ไม่ได้
ทีนี้จิตก็เลยมาอยู่กับงาน พอเลิกงานก็เลยขาดสติไปด้วย พอจิตขาดสติ แน่นอนทุกข์
ก็เข้ามาคลอบงำเข้ามาโดยง่าย
และตั้งแต่นั้นมาก็พยายามใช้หลักนี้มาโดยตลอดไม่สนใจแล้วว่า กิเลสจะมาไม้ใหน
พอเห็นกิเลสปุ๊บ ก็มารู้พุทธ-โธต่อ อาการที่จะต้องการตอบสนองกิเลสโดยมากมันก็มันก็หายไป
และบังเอิญว่าเป็นคนสติค่อนข้างไวเลยค่อนข้างจะง่ายอยู่พอสมควรคือ พอรู้พุทธโธสักพักนึง
ให้มันเป็นกลางได้ทีนี้ก็จะมีความรู้สึกเห็นตัวเราทั้งตัว ไม่เฉพาะเจาะจงว่ามีความรู้สึกอยู่ที่มือหรือ
ที่ใดที่หนึ่งในร่างกาย  แม้รู้ลมหายใจก็ยังเห็นร่างกายนี้ เหมือนหุ่นยนต์เดินไปเดินมาเท่านั้น

มาจนถึงตอนนี้ สำหรับการหาอุบายไม่ไช่ว่าจะเลิกกันเด็ดขาดไป  ในตอนนี้ความเข้าใจของผมเอง
เข้าใจว่า การหาอุบายควรการหาอุบายเพื่อจัดการกับอารมณ์ที่จะก่อให้เกิดผลเสียและเราไม่สามารถ
ดูแลอารมณ์ได้จึงค่อยหาอุบายมาจัดการกับอารมณ์นั้นๆ
นอกเหนือจากที่กล่าวมา ขณะนี้ผมเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องไปหาอุบายอะไรอีก เพราะเพียง
คำสั้นๆที่พี่ได้บอกกับผมและพวกเราอยู่เสมอนั่นก็คือ "ดูมันไป" เพียงเท่านี้ผมเห็นว่าน่าจะ
พอสำหรับการปฏิบัติน่ะครับ
หากมีส่วนใดที่ผมเข้าใจผิด ขอความกรุณาพี่ได้ช่วยแก้ไขด้วยเถิดครับ
ขอบพระคุณครับ  _/\_
โดยคุณ มวยวัด วัน อังคาร ที่ 18 มกราคม 2543 08:05:38

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ สันตินันท์ วัน อังคาร ที่ 18 มกราคม 2543 08:31:03
เรื่องการศึกษาตำราแล้วนำมาปฏิบัตินั้น มีปัญหาค่อนข้างมากครับ
เพราะผู้ปฏิบัติ แม้จะอ่านตำราเล่มเดียวกัน ก็ยังตีความการปฏิบัติต่างกันออกไป
แม้แต่ในสำนักปฏิบัติของฝ่ายผู้ศึกษาพระอภิธรรม
ที่สืบสายไปจากท่านอาจารย์แนบด้วยกัน
ในขั้นลงมือปฏิบัติจริง ก็ยังมีวิธีการดำเนินจิตแตกต่างกันออกไป
และต่างไม่ค่อยยอมรับซึ่งกันและกันเท่าไรนัก
บางสำนักก็หมิ่นอีกสำนักหนึ่งว่าออกนอกลู่นอกทาง ถึงขั้นเรียกว่าสำนักเข้าทรงก็มี

ในสมัยพุทธกาล ท่านไม่ได้กางตำราสอนกรรมฐานกัน
หากแต่ผู้ศึกษาจะไปขอเรียนกรรมฐานตรงจากพระศาสดา
หรือพระอริยสาวกที่พระศาสดาทรงรับรอง
เมื่อขอกรรมฐานแล้ว ก็ออกไปหาที่ปฏิบัติเอาเอง
พอออกพรรษา หรือเมื่อผ่านเวลาไปพอสมควรแล้ว
ท่านจึงค่อยกลับไปเฝ้าพระศาสดา หรือครูบาอาจารย์ของท่าน
เพื่อรายงานผลการปฏิบัติ ตรวจสอบผลการปฏิบัติ หรือขอกรรมฐานที่ยิ่งๆ ขึ้นไป

ในยุคสมัยของพวกเรานี้ เราไม่มีพระอริยบุคคลที่ได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า
ครั้นจะศึกษาจากตำรา ก็มีการตีความตำราเพื่อการปฏิบัติแตกต่างกันอีก
การจะปฏิบัติธรรมในยุคของเรานี้
จึงต้องใช้การพิจารณาอย่างแยบคายให้มากเข้าไว้
และประเมินผลการปฏิบัติด้วยตนเองเป็นระยะๆ ไป
คือถ้าปฏิบัติแล้ว อกุศลที่มีอยู่ลดลง อกุศลใหม่ไม่เกิดขึ้น
กุศลที่มีอยู่เจริญขึ้น และกุศลที่ยังไม่มีก็มีขึ้น
หากมีแนวโน้มไปอย่างนี้ ก็นับว่าพออุ่นใจได้บ้าง

แต่หลักเกณฑ์ตัดสินดังกล่าวนี้ ก็ยังมีจุดอ่อนหรือยากจะปฏิบัติอยู่เหมือนกัน
เพราะคำว่ากุศลนั้น หมายถึง อราคะ อโทสะ อโมหะ
ซึ่งยากนัก ที่เราจะรู้ตัวได้ว่า เราจมแช่กิเลส โดยเฉพาะโมหะอยู่หรือไม่
เพราะคนที่จมแช่โมหะอยู่นั้น ยากที่จะรู้ได้ว่าตนจมแช่โมหะอยู่
เขา หลง ทั้งที่คิดว่า รู้ .. หลับ ทั้งที่คิดว่า ตื่น
และหากไม่รู้จักกิเลสแล้ว จะประเมินว่าตนละอกุศล
หรือเจริญกุศลได้เพียงใด ก็เป็นเรื่องที่ยากนัก

สำหรับผมเอง วัดตนเองด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าว
ท่านอื่น ก็อาจวัดตัวท่านเอง ด้วยหลักเกณฑ์ที่พิจารณาว่าเหมาะกับท่าน
ซึ่งอาจเป็นหลักเกณฑ์ที่ดีกว่าที่ผมคิดได้ตามประสาคนที่ไม่ฉลาดนัก

**************************************

สำหรับเรื่องอุบายแก้อาการต่างๆ ของจิตนั้น
ขอย้ำว่า ไม่ใช่ของจำเป็นเลย
หากท่านสามารถ รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ ด้วยจิตที่เป็นกลาง
แม้จะมีกิเลสหนักหน่วงเพียงใด
หากจิตยังคงสภาพความเป็นกลาง
คือรู้อารมณ์นั้น โดยไม่กระโดดตามเข้าไปยินดียินร้าย
ปฏิบัติอยู่เพียงเท่านี้ ก็พอแล้วครับ
ไม่ถือว่ามีปัญหาจะต้องแก้ไขอะไรเลย

เพราะจิตนั้น สงบ เบิกบานอยู่ได้
แม้กระทั่งในขณะที่ไฟกิเลสกำลังห้อมล้อมอยู่
สมดังที่ ท่านพุทธทาส เปรียบเทียบว่า
เหมือนลิ้นงู ที่อยู่ในปากงู
โดยคุณ สันตินันท์ วัน อังคาร ที่ 18 มกราคม 2543 08:31:03

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ สันตินันท์ วัน อังคาร ที่ 18 มกราคม 2543 08:55:22
เพิ่งเห็นข้อความของ คุณมวยวัด ซึ่งเป็นคนที่ใช้อุบายเปลืองที่สุด ในหมู่เพื่อนทั้งหลาย

การใช้อุบายนั้น ถ้าเกิดจากปัญญาเพื่อช่วยให้การปฏิบัติราบรื่น ก็เป็นเรื่องดี
หากเกิดเพราะกิเลสตัณหา เช่นความอยากหลุดพ้นเร็วๆ อยากหนีทุกข์เพราะปฏิเสธทุกข์
อุบายชนิดนี้แหละครับ ที่จะกลายเป็นเครื่องทิ่มแทงผู้ปฏิบัติ
เข้าข่ายที่ว่า ยิ่งดิ้น ก็ยิ่งถลำลึกวุ่นวายกว่าเดิม
โดยคุณ สันตินันท์ วัน อังคาร ที่ 18 มกราคม 2543 08:55:22

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 18 มกราคม 2543 09:39:36
ถูกแล้วครับใช้อุบายมาก ก็ตกหลุมของอุบายเอง
สุดท้ายแล้ว ก็ต้องมาหักกับกิเลสตรงๆ
(มัวแต่เต้นฟุตเวิร์ค โดยไม่ชกแล้วจะชนะได้ไง :) )

บางทีอาจเรียกว่า สูงสุดคืนสู่สามัญ, ใช้อุบายแบบไร้อุบาย
ใช้กระบวนท่าที่ไร้กระบวนท่า หรือ กระบี่อยู่ที่ใจ
อะไรทำนองนี้แหละครับ :)
โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 18 มกราคม 2543 09:39:36

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 19 มกราคม 2543 08:27:06
ความเห็นของวิญญูชนอย่าง คุณมะขามป้อม มีประโยชน์มากครับ
เป็นความจริงทีเดียวว่า ไม่ว่าจะพลิกแพลงอุบายไปอย่างใด
ในที่สุดก็ต้องกลับมาเผชิญหน้ากับกิเลสตัณหา ตรงๆ อีกจนได้
เพราะไม่มีทางใดที่จิตจะก้าวล่วงกิเลสตัณหาได้จริง
นอกจากการเจริญสติปัฏฐาน

สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ ผมเป็นมือกระบี่ของคณะ
ยิ่งฝึกฝนก็ยิ่งพลิกแพลงเพลงกระบี่ ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
และจิตใจก็ยิ่งฮึกเหิมที่หลอกตีคนอื่นได้ (กิเลสล้วนๆ)
แต่ผมกลับแพ้เพื่อนคนหนึ่งตลอดเวลา ทั้งที่เพื่อนคนนั้นแทบไม่เคยชนะใครเลย
เพื่อนคนนี้มีกระบี่อยู่ท่าเดียวเท่านั้น คือยื่นกระบี่เข้ามาตีหัวเราตรงๆ
ตอนนั้นผมไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมจึงแพ้เพื่อนที่มีกระบี่พื้นฐานเพียงท่าเดียว
จนได้อ่านนิยายของโกวเล้งจึงเข้าใจเหตุผลได้
เพราะเป็นเรื่อง สงบ สยบเคลื่อนไหว
ความว่างเปล่า ชนะความสมบูรณ์
หรือเข้าตำรา สูงสุด คืนสู่สามัญ ที่คุณมะขามป้อมกล่าวนั่นเอง

ความจริงแนวความคิดเหล่่านี้ ปรากฏในคัมภีร์เต๋าเต๊กเก็ง
ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก
แต่ เซ็น ก็อาจจะได้อิทธิพลแนวความคิดของ เต๋า ไว้บ้าง
ดังปรากฏคำสอน เช่นในเรื่อง เสียงของความเงียบ ซึ่งดังกว่าเสียงชนิดอื่นๆ
แล้วพวกเรา ก็อาจรับอิทธิพลความคิดของเซ็น มาอีกทอดหนึ่ง

การรับฟังแนวความคิดของปราชญ์ต่างๆ เป็นเรื่องที่ดีครับ
ผมเองว่างๆ ก็ชอบศึกษาเซ็นเหมือนกัน
เพียงแต่ศึกษาแล้ว เราช่วยกันจำแนกที่มาให้ชัดเสียหน่อยก็ดีครับ
ว่าเรื่องใด เป็นแนวความคิดของปราชญ์สายไหน
จะได้ไม่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของปราชญ์อื่นๆ เข้า
โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 19 มกราคม 2543 08:27:06

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ ทรายแก้ว วัน พุธ ที่ 19 มกราคม 2543 08:52:31
สาธุค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ _/|\_
โดยคุณ ทรายแก้ว วัน พุธ ที่ 19 มกราคม 2543 08:52:31

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ นิดนึง วัน พุธ ที่ 19 มกราคม 2543 11:37:54
วันนี้ขอมายิ้มหวานหน่อยค่ะ
คุณมะขามป้อมสรุปได้ถูกใจอีกแล้ว
ช่วงหลังปีใหม่มานี่ วุ่นวายมากมายกับกิเลสทั้งหลาย
โดนรุมเสียจนมึน หาอุบายจะแก้ไปต่างๆ นาๆ จน
จะอ่อนใจ ผลที่สุดท้ายก็ช่างมันเถอะ ดูไปสบายๆ
เมื่อเห็นกิเลสก็ไม่พยายามหาอุบายจะไปแก้มัน
เมื่อรู้เข้าไปได้จริง ความเบิกบานก็ปรากฏออกมา
มัวไปตั้งกระบวนท่ามากมาย ยิ่งโดนกิเลสหลอกซ้ำ
เมื่อดูมันตรงๆ สู้มันตรงๆ เห็นมันตรงๆ ก็พอแล้วเลยค่ะ
                                       ^_^
โดยคุณ นิดนึง วัน พุธ ที่ 19 มกราคม 2543 11:37:54

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ วิทวัส วัน พฤหัสบดี ที่ 20 มกราคม 2543 04:54:32
ผมเป็นคนซื่อๆ คิดหาอุบายปฏิบัติไม่ค่อยเก่งครับ(แต่ไม่รู้ยังไง คิดหาข้ออ้างไม่ปฏิบัติเก่งชะมัด)
คงต้องใช้วิธีสุดท้ายครับคือลุยไปตรงๆเลย แต่ไม่ใช่สูงสุดคืนสู่จุดสามัญแบบผู้เยี่ยมยุทธที่ไร้กระบวน
ท่าเหนือกว่ามีกระบวนท่าหรอกครับ เป็นไร้กระบวนท่าเพราะไม่รู้ว่าจะใช้กระบวนท่าไหนดีแบบ
ชาวบ้านไร้วรยุทธทั่วไปมากกว่า

อาศัยหลักการที่ว่าหลงตามกิเลสมาเยอะแล้ว แค่รู้ให้ทันก็พอใจแล้วแค่นี้ล่ะครับ (เผลอมามากแล้ว
ตอนนี้ขอแค่ไม่เผลอก็พอ) เคล็ดวิชาที่ใช้มีอยู่ไม่กี่ประโยคเองครับ "ขยันก็ปฏิบัติ ขี้เกียจก็ปฏิบัติ
ฮึกเหิมก็ปฏิบัติ ท้อถอยก็ปฏิบัติ" ครั้นพอปฏิบัติแล้ว"ปฏิบัติได้ผลดีก็เอา ปฏิบัติได้ผลไม่ดีก็เอา"
ระหว่างปฏิบัติ"หมั่นสังเกตใส่ใจด้วยความรอบคอบ"

พี่สันตินันท์เคยบอกว่า"ชีวิตเป็นของหาง่าย" คงหมายความถึงให้ตั้งใจ(ตั้งใจไม่ใช่ตั้งท่า)ปฏิบัติ อย่า
ไปเสียดายชีวิตซึ่งเป็นของหาง่าย ตราบใดที่ยังมีกิเลสก็ต้องเกิดอีก แต่ไม่รู้ยังไงครับ ช่วงนี้กลัวตาย
เหลือเกิน เพราะกลัวลืมเคล็ดวิชาที่อุตส่าห์ท่องจำได้ในชีวิตนี้น่ะสิครับ

พอจะมีทางไหน ทำให้เราไม่ลืมเคล็ดวิชาได้บ้างหรือเปล่าครับ
โดยคุณ วิทวัส วัน พฤหัสบดี ที่ 20 มกราคม 2543 04:54:32

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 20 มกราคม 2543 09:18:43
อ่านของคุณวิทวัสแล้วก็ย้อนนึกถึงตัวเองเช่นกันครับ

ผมเป็นคนที่กลัว มิจฉาทิฎฐิ มากเหลือเกิน ไม่ทราบว่าเพราะอะไร (บางทีอาจจะเคยลงนรกมาเพราะมิจฉาทิฎฐินี้แล้วก็ได้ ความเข็ดขยาดจึงยังคงมีอยู่) ดังนั้นทุกครั้งเมื่อได้ทำบุญก็จะตั้งจิตอธิษฐานกำกับไว้ทุกครั้งครับ ว่า "ขอให้มีสัมมาทิฎฐิในทุกชาติ"

แต่ต่อมาก็กลัวอีก เพราะว่ารู้ว่า ลำพังกำลังของการให้ทานธรรมดา มีช่วงเวลาสั้นมาก อาจจะไม่เพียงพอที่จะส่งให้ไปพบกับพระพุทธศาสนาในคราวหน้าได้อีก จึงหันมาทำสังฆทานโดยอธิษฐานเช่นนี้ตามไปด้วยเช่นเคยครับ ก็คิดว่าน่าจะเพียงพอที่จะเป็นเครื่องประทังให้ไปถึงพระพุทธศาสนาในคราวหน้าได้อีกครับ

นอกจากนี้ ก็พยายามภาวนาให้มาก เพื่อให้ติดเป็น นิสัย ตามไปในภพหน้าด้วยครับ เพราะอย่างน้อยในชาตินี้ก็ได้พบกับผลของการที่มีนิสัยเช่นนี้มาแล้วครับ เพราะเมื่อครั้งที่มีเพื่อนชวนไปทำสมาธิที่วัดๆหนึ่งเมื่อยังเป็นนักศึกษา จิตมันก็ร้องเตือนออกมาว่า "ดูให้ดีๆ จะทำสมาธิทำไมต้องถ่อสังขารไปถึงกรุงเทพฯ ทำไมต้องไปรวมหมู่กันเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน ทางนั้นไม่ใช่ทางสงบแล้วกระมัง?" คราวนั้นผมจึงไม่ได้ไปครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 20 มกราคม 2543 09:18:43

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ มวยวัด วัน ศุกร์ ที่ 21 มกราคม 2543 07:46:52
ก่อนอื่นต้องขออภัยที่ผมเข้ามาตอบกระทู้ช้าเหลือเกิน
เนื่องจากงานไม่รู้พร้อมใจกันมาจากใหน เข้ามาอย่างกับสายน้ำ
และต้องขอขอบคุณพี่สันตินันท์,คุณมะขามป้อมและท่านอื่นๆเป็นอย่างสูงที่ได้
กรุณาให้คำแนะนำในการปฏิบัติธรรมอันมีค่า  _/\_
ทีนี้ผมขออนุญาติสรุปการปฏิบัติที่ผ่านมาของผมไว้คร่าวๆเพื่อพิจารณาดังนี้
1. เริ่มปฏิบัติแบบ"ลองของ" คือเพราะได้มีเหตุการณ์พิลึกพิลั่นสำหรับผม
อันเป็นเหตุจูงใจให้ปฏิบัติ ดังนั้นในช่วงแรกจึงเป็นการเริ่มแบบไม่มีครู
และการปฏิบัติช่วงนี้ก็มีแต่การทำสมาธิ แบบพิลึกอีกแหละครับ คือ นอนทำ เพียงอย่างเดียว
2. เริ่มหาตำราหลังจากได้"ลองของ"แล้ว ก็รู้สึกว่าการปฏิบัตินี่มันสงบดี
หลับลึก,หลับสบาย,งานไม่เครียด,ปล่อยวางได้ง่าย ก็เลยชักจะติดใจการปฏิบัติ
ก็เลยหาหนังสือมาอ่าน แต่โดยพื้นฐานเป็นคนเรื่องมาก ดังนั้นหนังสือที่หาอ่าน
จึงเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการปฏิบัติเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจาก ผมไม่รู้พื้นเพ
ของผู้เขียน ดังนั้นการเลือกหาหนังสือมาอ่านจึงจำกัดอยู่ภายใต้สำนักพิมพ์/ผู้เขียน
อยู่เพียงไม่กี่สำนัก เช่น สำนักพิมพ์มติชน,ธรรมสภาและเพิ่งมีของสำนักพิมพ์อื่นๆ
ตามมาภายหลัง อันเกิดมาจากความเห็นว่า ตำรานี้เป็นการจินตนาการของผู้อ่านเอง
ดังนั้น การอ่านและศึกษาเองโดยไม่มีครูบาอาจารย์คอยแนะนำจึงมีโอกาสผิดพลาดสูง
ดังนั้นจึงมีหนังสือหลายเล่มที่ซื้อมาอ่านได้หน้าสองหน้าแล้วก็จำเป็นต้องวางทิ้งไว้เฉยๆ
เช่น หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด(เล่มนี้หลวมตัวไปซื้อมาได้ยังไงไม่รู้ มีแต่เข้าทรง,
อิทธิฤทธิที่ผู้เขียนจินตนาการเอา เลยต้องทิ้งไป ไม่งั้นเดี๋ยวจำอะไรผิดๆไปมันจะยุ่ง),
หนังสือของ ดร.ไชย ณ พล หรือ ดร.สุวินัย ภรณวลัย ผู้โด่งดัง ก็อยู่ในข่ายที่ผม
ต้องทิ้งทั้งหมดเพราะมีความเห็นว่าเพี้ยนแหลกราญ(เป็นความเห็นส่วนตัว หากกระทบใจผู้ใด
แล้วทำให้เกิดทุกข์ต้องขออภัยเป็นอย่างสูง)
และตามรายชื่อสำนักพิมพ์/ผู้เขียนที่อยู่ในข่ายที่ผมเลือกผมก็จะเลือกเฉพาะ ประวัติ
ครูบาอาจารย์ ที่มีชื่อเสียงด้านการปฏิบัติเช่น ประวัติหลวงปู่ชา,หลวงปู่มั่น,หลวงปู่บุดดา,
หลวงปู่ฝั้น,หลวงปู่ดูลย์,ฯลฯ และในเล่มของหลวงปู่ดูลย์นี่เอง ผมจึงได้อ่านพบชื่อ
ฆราวาสนักปฏิบัติชื่อ"สันตินันท์" จึงได้ตั้งอธิษฐานในใจว่าอย่างไรก็ขอให้ได้พบและพูดคุยสักครั้ง
(ตอนนี้คุยจนพี่สันตินันท์ต้องคอยเบรก : ) )
3. เริ่มฟุ้งซ่านทีนี้หลังจากอ่านๆๆ แล้วก็ทำสมาธิโดยวิธีพิลึกนั่นแหละ
ก็เลยได้มีความสงบ,ความสุขอันเป็นผลซึ่งแปรไปเป็นความติดสุขโดยไม่รู้ตัว
และมีความคิดว่าอยากจะให้คนอื่นเข้ามาปฏิบัติธรรม มากๆ ประกอบกับช่วงนั้น
เล่น irc ค่อนข้างมาก เลยเปิดห้องคุยธรรมะซะเลยโดยใช้ชื่อห้องว่า"สายธารแห่งสัจจธรรม"
ผลปรากฏว่า กิเลสฟู : )  และเพิ่มคนปฏิบัติได้นิดหน่อย
4. ได้พบพี่สันตินันท์ หลังจากโขกโชนในวงการฟุ้งซ่านแล้ว วันนึงก็เข้าไปอ่านกระทู้
ในห้องสมุด(พันทิพย์)ก็ได้เห็นชื่อ"สันตินันท์" เป็นครั้งแรก แต่เพราะว่าเวลาผ่านไปนานแล้ว
จึงได้แต่รู้สึกว่าชื่อนี้ คุ้นๆเท่านั้น จนกระทั่งหยิบหนังสือเล่มเดิมขึ้นมาอ่านอีกที ทีนี้เลยมีความดีใจ
ก็เลยตั้งกระทู้ถามพี่สันตินันท์ว่าเป็นคนๆเดียวกันหรือไม่เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่มี"เสือสวมรอย"
ผมก็เลยไม่บอกว่าผมอ่านมาจากเล่มใหน(เจ้าเล่ห์มั๊ยล่ะ)ให้พี่เขาบอกเองแล้วผมก็เทียบ
ว่าตรงกับที่เคยอ่านมามั๊ย
5. ได้ครูสอนธรรมเป็นครั้งแรก หลังจากพูดคุยผ่านกระทู้สักระยะหนึ่งผมจึงได้นัด
พบพี่สันตินันท์ที่ พุทธมณฑล วันนั้นจำได้ว่ามีหลายคนที่ไปด้วยกันรวมทั้งพี่ดังตฤณ และในวันนี้เอง
ด้วยความตั้งใจจะเอาวิชาให้มากที่สุด(เพราะแว่วๆว่าพี่สันตินันท์มีวิธีที่แปลกกว่าคนอื่น คือรู้วาระจิตผู้อื่นได้)
ดังนั้น ในชั่วโมงนั้น ผมจึง ลองอาจารย์ เยอะแยะเลยคือมีความคิดว่า การปฏิบัตินี่
มันต้องลืมตาทำได้ ทำงานก็ต้องปฏิบัติได้ด้วย ดังนั้นผมจึงกำหนดจิตหลายๆรูปแบบ
ลองกำหนดแบบนี้สิไช่มั๊ย - ไช่ ก็จำไว้ว่ากำหนดยังไง ไม่ไช่ก็เปลี่ยน แล้วก็ลองกำหนดแบบอื่นดู
จนได้รับคำชมเลยคือ "จิตซนอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน" แต่เพราะผมตั้งใจไว้อย่างนั้น ก็เลยได้แต่ยิ้มๆ
ในใจคิดว่าซนก็ซน(วะ)จะมาเอาวิชานี่ โดนดุแค่นี้ยังดีกว่าทำแล้วผิดโดยไม่รู้ตัว
6.เริ่มเข้าร่องเข้ารอย หลังจากนอกลู่นอกทางมานาน พอได้อาจารย์ ทีนี้ก็เลยได้ใจ
ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติไปเรื่อยและเว้นๆก็คอยไปตรวจสอบ ว่าเราเดินผิดทางหรือไม่ และช่วงนี้เอง
ความเพี้ยนก็เริ่มถามหาอีกครั้งคือ มรรคผล ไม่รู้มาจากใหน ว่อนไปทั่วทั้งความคิด จนรู้สึกว่า
ถ้าเราปฏิบัติโดยไม่รู้อะไรมาเลยนี่ การปฏิบัติมันคงจะไม่วุ่นวายปานนี้หรอก
7.เริ่มเป็นมนุษย์เจ้าอุบาย ด้วยความปรารถนา มรรคผล ก็เลยเริ่มผิด เพราะการปฏิบัติ
นั้นไม่ไช่ปฏิบัติเพื่อมรรคผล แต่เป็นการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ พออยากได้มรรคผล ก็เลยเป็นการ
เพิ่มทุกข์ให้ตัวเองโดยไม่รู้ตัวทีนี้อุบายอะไรที่คิดว่าทำให้การปฏิบัติได้ผลเร็ว จึงไหลมาเทมา ตัวอย่างเช่น
การปรับสภาพจิตใจให้สงบแล้วกำหนดนึกเอาว่า ลมนี้กำลังพัดผ่านตัวเราและตัวเราก็ค่อยๆ
โดนลมพัดพาไปจนหมดสิ้น อันนี้เรียกว่าอุบายลมอนิจจัง : ) ,กำหนดว่าตัวเองเป็นเครื่องยนต์กลไก ,
กำหนดภายนอกให้เป็นธาตุ4แล้วค่อยๆย้อนเข้ามาที่ตัวเอง,ฯลฯ
8. น่วมด้วยอุบายหลังจากเป็นมนุษย์เจ้าอุบายจนหนักไปทั้งตัวแล้ว ก็เริ่มเบื่อกับการเป็น
มนุษย์เจ้าอุบาย เพราะไม่ว่าจะกำหนดแบบใด มันก็ยังไม่พ้นกิเลสอยู่นั่นแหละ เพราะมันเริ่มด้วยกิเลส
มันก็เลยลงด้วยกิเลสอยู่ดีจนกระทั่งได้ฟังเทศนาเรื่องการหาที่อยู่ให้จิตด้วยพุทธ-โธ มาจนถึงตอนนี้
อุบายจึงแทบจะไม่ได้หาเพิ่มเติมอีกเลย จะมีแต่ก็ตอนที่อารมณ์มันพุ่งแรงๆ จนไกล้ๆจะควบคุมไม่ได้
นั่นแหละจึงจะค่อยพลิกแพลงอีกที

และท้ายสุดปัจจุบันนี้ได้สำรวจตัวเองยังปรากฏว่ามีความอยากในมรรคผลอีกนิดหน่อย
ยังจัดการได้ไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าไรและตรงความที่คุณมะขามป้อม ได้บอกกล่าวเอาไว้ นับว่าใกล้เคียง
กับการปฏิบัติในทุกวันนี้พอควร นั่นก็คือ" ใช้อุบายแบบไร้อุบายใช้กระบวนท่าที่ไร้กระบวนท่า"
ฟังดูแล้วรู้สึกจะบู้ลิ้มไปหน่อยแต่มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะทุกวันนี้สิ่งที่ใช้อยู่ดูแล้วธรรมดาๆ แต่
ไม่ธรรมดาก็คือ ใช้เพียง "สติ กับ พุทธ-โธ"เท่านั้นเอง
เหลียวกลับมาดูข้อความอีกที อ้าว ยาวเหลือเกิน ชักจะพูดมากไปแล้ว ก็เลยขอจบเพียงเท่านี้แล้วกันครับ
และต้องขอขอบคุณพี่สันตินันท์ เป็นอย่างสูงมากๆอีกครั้ง ที่คอยดุผม
พี่ดุผมไม่กลัว กลัวพี่ไม่ดุ : )   _/\_

(ปล.คำดุน่ะสำหรับเราคนเดียว แต่คำชมไม่ไช่สำหรับเราคนเดียวนะจะบอกให้
น้องๆเพื่อนๆทั้งหลายที่กลัวการโดนอาจารย์ดุ : ) )
โดยคุณ มวยวัด วัน ศุกร์ ที่ 21 มกราคม 2543 07:46:52

ความเห็นที่ 30 โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 21 มกราคม 2543 08:35:10
อ่านที่คุณเก๋เขียนแล้ว ก็ต้องชมว่าพากเพียรเดินทางมายาวไกลทีเดียว
แม้จะโดนผมดุมากขนาดไหน โดนตบ"ซ้าย" ตบ"ขวา" เพื่อให้อยู่ในร่องในรอย(กลาง)
ก็ยังมีความอดทน อดกลั้นเป็นเลิศ
นานๆ ถึงจะแอบน้อยใจเสียทีหนึ่ง
พอหายแล้วก็ไปหาอุบายปฏิบัติกลับมารายงานให้ทุบใหม่
อย่างกระต่ายที่ว่าโดนดุมากนั้น ยังไม่ได้ครึ่งของที่เก๋โดนมาแล้ว

ชอบตรงที่รู้ทันว่า "ปฏิบัติธรรมด้วยกิเลส ไม่ใช่เพื่อพ้นทุกข์" น่ะครับ
ถ้าเข้าใจตนเองได้อย่างนี้ ก็นับว่าฉลาดแล้ว
มิฉะนั้น ก็จะถูกกิเลสลากพาให้ปฏิบัติเรื่อยๆ ไป

อนุโมทนาด้วยครับ
โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 21 มกราคม 2543 08:35:10

ความเห็นที่ 31 โดยคุณ พุทธบุตร วัน ศุกร์ ที่ 21 มกราคม 2543 15:01:06
สาธุครับคุณอา ทำให้เห็นทางเดินสู่ทางธรรมชัดขึ้นมาก
โดยคุณ พุทธบุตร วัน ศุกร์ ที่ 21 มกราคม 2543 15:01:06

ความเห็นที่ 32 โดยคุณ มวยวัด วัน จันทร์ ที่ 24 มกราคม 2543 07:49:42
ขอบพระคุณครับพี่ที่กล่าวชม _/\_
(ร้อยวันพันปีได้รับคำชมหน่อยนึง แหม ใจมันชุ่มเชียวครับ)
ที่จริงผมไม่ได้อดทงอดทนอะไรหรอกครับแต่เป็นเพราะผมไม่ได้คิดว่าพี่ดุ
มันก็เท่านั้นเอง ตอนเล็กๆ ชอบครูดุๆ เด็ดขาดดีครับ เลยติดนิสัยมา
จนถึงตอนนี้ (ครูดุ ใจมันเข้าระเบียบวินัยเร็วดี ไม่ต้องคอยโอ้โลมปฏิโลม)
ส่วนเรื่องการปฏิบัติ ตอนนี้หมดคำถาม(ชั่วคราว)ครับ
โดยคุณ มวยวัด วัน จันทร์ ที่ 24 มกราคม 2543 07:49:42

ความเห็นที่ 33 โดยคุณ กระต่าย วัน อังคาร ที่ 25 มกราคม 2543 17:42:41
สาธุ สาธุ สาธุ ได้ประโยชน์มากมายเหลือเกิน
กราบขอบพระคุณทุกๆท่านค่ะ
โดยคุณ กระต่าย วัน อังคาร ที่ 25 มกราคม 2543 17:42:41

ความเห็นที่ 34 โดยคุณ flower22 วัน อังคาร ที่ 25 มกราคม 2543 19:21:59
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 35 โดยคุณ Acura วัน พฤหัสบดี ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2543 08:54:53
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทนามิ อ่านแล้วมีประโยชน์ จริงๆ ครับ
โดยคุณ Acura วัน พฤหัสบดี ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2543 08:54:53

ความเห็นที่ 36 โดยคุณ นิพ วัน พฤหัสบดี ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 16:59:44
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 37 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 10:01:27
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com