กลับสู่หน้าหลัก

"เกลือ" กับ "ความเค็ม"

โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 24 มกราคม 2543 07:34:52

เมื่อวานนี้ (วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2542)ในตอนกลางคืน นั่งดูรายการ ตามหาแก่นธรรม ทางช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ได้ยินคำถามหนึ่งในทำนองที่ว่า "ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาแล้วไม่ขัดแย้งกับกฎของกรรมหรือ" (ข้อความจริงๆอาจจะไม่ใช่เช่นนี้ แต่ผมจับใจความสำคัญแบบสรุปโดยรวมครับ)

ในขณะนั้นใจก็ตอบออกมาว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ กิเลส - กรรม - วิบาก ล้วนแต่หาตัวต้นผู้กระทำแท้จริงไม่ได้หรอก เป็นแต่เพียงปฎิกริยาเท่านั้น เป็นแต่กริยา - ปฎิกริยา เท่านั้น ไม่ตัวผู้กระทำ แม้แต่การไปรู้ ก็มีแต่การรู้เท่านั้น ตัวผู้รู้แท้จริงหาได้มีอยู่ไม่

ในขณะที่ทบทวนตรงนี้อยู่นั้น ก็มี ปริศนาธรรม ผุดขึ้นมาแบบยิ้มๆเชิงลองภูมิว่า แล้วเกลือเม็ดนั้นจะเค็มตลอดไปหรือไม่? ใจก็รับเอาปริศนาธรรมนี้มาใคร่ครวญพิจารณาทันที

ภาพของเกลือเม็ดก็ปรากฎในห้วงของความคิด พิจารณาอยู่ว่า ตามธรรมชาติของเกลือนั้นย่อมเค็มเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติของเกลือที่จะเค็มอย่างนั้น แต่ความรู้สึกภายในบอกว่า ผิด ก็เลยงุนงงสงสัยไปอีก ว่าอ้าวเกลือก็ต้องเค็มสิ เกลือไม่เค็มได้ยังไง แต่ก็พิจารณาย้อนไปถึงคำว่า ปฏิกริยา อีกครั้ง แล้วก็พิจารณาย้อนจากตัวเองออกไปหาเกลือ ก็ได้ความว่า "เรารู้ว่าเกลือเค็ม เพราะเราใช้ลิ้นชิม" เมื่อเราเอาลิ้มชิมแล้วจึงรู้ว่าเค็ม และนอกจากนั้น กับเกลือแล้วเรามักใช้ลิ้นชิมเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยได้ตาดูเกลือสักเท่าไหร่ ยิ่งกับหูแล้ว แทบไม่ได้ยินเรื่องเกลือสักเท่าไหร่ กายสัมผัสแล้วยิ่งไปใหญ่ น้อยมากที่จะเอาไปใช้สัมผัสกับเกลือเพื่อให้รู้ว่าเกลือเป็นอย่างไร (ไม่นับเรื่องเหงื่อไคลที่มีเกลือผสมอยู่ เราก็มักไปใช้สัมผัสเพื่อให้รู้ว่ามีเหงื่อออกมา มีความสกปรก มีความเหนียวเหนอะหนะ  ถึงเวลาต้องอาบน้ำแล้ว เสียมากกว่า) เวลาเราได้ยินคำว่าเกลือแล้ว  เราจะหมายไปถึง"ความเค็ม"เสียแทบทุกครั้งไป

สรุปความของย่อหน้าก่อนได้ว่า "เกลือมีความเค็มได้ ก็เพราะใช้ลิ้นชิม" หากว่าเกลือมีความเค็มเป็นของเกลือแท้จริงแล้ว เวลาเราเอามือไปสัมผัสเกลือ ก็น่าจะรู้ว่าเค็ม เวลาเราเอาตาไปมองเกลือก็จะรับความเค็มของเกลือได้ด้วย แต่นี่ไม่ใช่ มีแค่ลิ้นเท่านั้นที่รู้ว่าเกลือเค็ม

ใจคิดเลยเตลิดไปอีก(เพื่อไม่ให้เกิดการเถียงในใจอีก)ว่า ก็ลองเอาเกลือโรยลงบนแผลสดดูสิ ว่ากายมันจะบอกว่าเค็มมั้ย มันไม่บอกอย่างนั้นหรอก แต่มันจะบอกว่าแสบมากกว่า

ถึงตรงนี้ใจก็ยอมรับว่า ความเค็มของเกลือ ไม่ใช่สิ่งที่อยู่คู่กับเกลือตลอดไป แต่ต้องอาศัยเกลือคู่กับลิ้น ความเค็มจึงจะปรากฎได้

พอดีภรรยาและแม่ยายเดินมาพอดี ก็เลยถามว่า "เกลือนั้นเค็มไปตลอดหรือไม่" แม่ยายบอกว่าเกลือก็ต้องเค็มสิ แต่ลูกสาว (ด้วยความคุ้นเคยกับนิสัยของผมเป็นอย่างดี ก็เลยตอบดักคอไปก่อนว่า) "บางทีก็เค็ม บางทีก็ไม่เค็ม" ผมก็รู้ว่าเขาตอบแบบดักคอผม ผมก็เลยถามต่อไปว่า "แล้วคราวไหนเค็ม คราวไหนไม่เค็ม" เขาก็ตอบว่า "ก็คราวที่เอาน้ำเติมน้อยก็เค็ม เอาน้ำเติมเยอะๆก็ไม่เค็ม" ผมได้ยินคำตอบแล้วก็ยอมรับว่าเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาธรรมได้ เพราะการละลายน้ำของเกลือ ก็แสดงตัวออกมาได้ทั้ง อนิจจัง(คือเปลี่ยนจากเกลือเม็ดไปเป็นนำเกลือ) ทุกขัง(ทนเป็นเกลือเม็ดอยู่ในน้ำเปล่าได้ไม่นานต้องละลายไป) และอนัตตา(พอเจอน้ำเปล่าต้องละลาย ตั้งตนเป็นเกลือเม็ดตลอดไปไม่ได้ หรือจำต้องละลายไปในน้ำเปล่า แม้ว่าเราจะปราถนาให้มันยังเป็นเกลือเม็ดอยู่ก็ตาม) แต่ว่าคำตอบนี้ไม่ตรงกับการพิจารณาก่อนหน้านี้ ผมจึงบอกภรรยาไปว่า "ไม่เอาๆ เอาเกลือเม็ดอย่างเดียว ไม่ต้องไปละลายน้ำ" เขาก็บอกว่า "ไม่รู้ แต่รู้ว่าบางทีก็เค็ม บางทีก็ไม่เค็ม เพราะเห็นถามมาแบบนี้ต้องมีอะไรแปลกๆ" ผมจึงเฉลยว่า "เกลือจะเค็มได้ต้องมีลิ้นของเรา หากไม่มีลิ้น เกลือไม่เค็ม หากไม่เชื่อ ก็ลองเอาเกลือโรยแผลดูสิ แผลมันจะบอกว่ามันเค็มหรือมันแสบล่ะ "

แต่ในขณะที่กำลังเฉลยนั้น ก็มีคำเฉลยเพิ่มเติมมาอีกว่า "ต้องมีจิตผู้รู้ด้วย" เพราะว่าเคยเห็นมาแล้วว่า แม้มีเวทนาแผดกล้าก็ตาม แต่หากจิตผู้รู้ไม่ได้ไปรับรู้ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้ (เรื่องนี้ผมเคยเล่าให้ฟังนานแล้ว เรื่องหลวมตัวไปทดลองนวดกดจุดที่ฝ่าเท้า เดิมทีนึกว่าจะนวดแบบกายภาพบำบัดแต่กลายเป็นการกดจุดเสียนี่ ซึ่งเขาเห็นผมเป็นคนอ้วนท่าทางเส้นจะลึก เลยส่งยอดฝีมือมา เวลากดลงจุดแต่ละทีน้ำตาแทบไหลพราก ทนอยู่ไม่ไหวต้องภาวนาพุทโธช่วย ทำให้ใจมารู้ที่พุทโธไม่ไปรู้ที่เวทนา เลยทำให้นั่งนิ่งอยู่ได้ ก็ไม่รู้ว่าเป็นเหตุให้เขาเข้าใจว่ากดไม่แรงพอหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เลยกดใหญ่เลย เพราะเห็นผมเฉยๆอยู่)

หลังจากนั้นก็ปิดทีวีขึ้นไปนอน ขณะที่จะนอนก็พิจารณาอยู่เรื่องความเค็มของเกลือ ว่าเออ... เราก็ไม่เคยเฉลียวใจ ว่าความเค็มของเกลือนั้นจะปรากฎได้ ต้องประกอบไปด้วย เกลือ ลิ้น และใจที่ไปรู้ ก็ในขณะที่พิจารณาทบทวนอยู่นี้ ก็รู้สึกว่ามันคุ้นๆอย่างไรไม่รู้ ใจก็พลิกกลับมารู้ในเรื่องนี้อีกที ก็อุทานว่า "อ้าว นี่ก็เรื่องผัสสะนี่นา" โธ่... หลงพิจารณาอยู่ตั้งนาน

(หมายเหตุ คือตอนนั้นใจจับได้ว่า เกลือคืออายตนะภายนอก ลิ้นคืออายตนะภายใน จิตผู้รู้ที่ออกไปรู้รสก็คือ ชิวหาวิญญาน ก็เลยถึงบางอ้อในเรื่องผัสสะได้ในคราวนี้เอง เมื่อก่อนนี้ก็แค่เข้าใจ แต่ไม่ประจักษ์แก่ใจชัดเจนเช่นคราวนี้)


โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 24 มกราคม 2543 07:34:52

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ สันตินันท์ วัน จันทร์ ที่ 24 มกราคม 2543 07:48:49
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ dolphin วัน จันทร์ ที่ 24 มกราคม 2543 08:17:03
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน จันทร์ ที่ 24 มกราคม 2543 08:26:43
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ กระต่าย วัน จันทร์ ที่ 24 มกราคม 2543 08:57:52
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ kobe วัน อังคาร ที่ 25 มกราคม 2543 20:41:35
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ ต๊าน วัน พุธ ที่ 26 มกราคม 2543 02:45:15
=DDDDDDDDDDD

_/|\_สาธุค่ะ
โดยคุณ ต๊าน วัน พุธ ที่ 26 มกราคม 2543 02:45:15

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 26 มกราคม 2543 07:56:54
เมื่อก่อนนี้ ขณะที่กำลังศึกษาเรื่องผัสสะเป็นการใหญ่ ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงต้องตั้งชื่อว่า ผัสสะ และหมายถึงว่า เป็นที่ประชุมรวมกันของอายตนะภายนอก อายตนะภายใจ และวิญญาณ แม้จะเข้าใจว่าปฎิกริยา แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมีคำว่า ผัสสะเข้าไปด้วย แต่บัดนี้รู้แล้วว่าทำไม ก็เพราะว่ามีความสำคัญมากๆตรงที่ ผัสสะนี้ สามารถจะทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆตามมาได้อีกมากมาย เมื่อพิจารณากับปฎิจจสมุปบาทแล้วจะพบว่า ผัสสะนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่สามารถเกื้อหนุนให้เวทนาเกิดขึ้นได้ และจะตามไปเป็นตัณหา อุปาทาน ได้อีก ที่รู้ที่ว่านี้ ไม่ใช่รู้ด้วยการประมาณการ อนุมาน หรือคิดเอา แต่รู้อย่างที่ว่า ประจักษ์แก่ใจ

และที่ไปมากกว่านั้นก็คือ ความไม่รู้เท่าทันผัสสะนี้ มีโทษหลายๆประการมากๆ ที่เห็นชัดที่สุดก็คือ มีสัญญาว่า เกลือ ก็ต้อง เค็ม เสมอไป เป็นต้น เป็นความสำคัญมั่นหมายอย่างหนึ่ง ที่ทำให้มีความรู้ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ ทำให้รู้สึกว่า เราต้องรู้เท่าทันในผัสสะมากกว่านี้ ส่วนจะรู้อย่างไร มีวิธีการอยู่แล้ว และเชื่อว่าหลายๆท่านก็ปฎิบัติกันอยู่ กุญแจสำคัญที่แท้จริงก็คือ สติสัมปชัญญะ นี้เอง


ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรมครับ :-)
โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 26 มกราคม 2543 07:56:54

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ มวยวัด วัน พุธ ที่ 26 มกราคม 2543 08:28:58
ขอบคุณครับ
ในรายการเดียวกันนี้ผมได้ฟังคำสอนสดๆจากพ่อผม ชอบใจมากเลยขอ
เล่าให้ฟังแล้วกันนะครับคือในรายการเดียวกับที่คุณพัลวัลดู
มีผู้ถามผู้หนึ่งถามว่า"ถือศีลอย่างเคร่งครัด จะนิพพานได้ไหม"
พ่อผมสวนกลับทันทีเลยว่า

"คิดอย่างนี้มันก็ไปใหนไม่ได้หรอก ก็มันเอาความอยากนิพพาน
เป็นตัวตั้งแล้วยังไงมันก็ติดอยู่แค่นั้นแหละ ต่อปฏิบัติเคร่งแค่ใหน
มันก็ไปใหนไม่รอดหรอก"


ฟังแล้วชอบใจก็เลยเอามาเล่าต่อครับ
โดยคุณ มวยวัด วัน พุธ ที่ 26 มกราคม 2543 08:28:58

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ ทองจันทร์ วัน เสาร์ ที่ 29 มกราคม 2543 13:55:33
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 08:12:50
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน จันทร์ ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2543 15:51:47
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com