กลับสู่หน้าหลัก

ลูก = ราหูล ? : ชีวิตคฤหัสถ์กับการปฏิบัติธรรม

โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 11:21:56

เมื่อไม่นานมานี้ มีน้องคนหนึ่งถามผม(ใน pirch)เกี่ยวกับชีวิตคู่ เพศสัมพันธ์และการปฏิบัติธรรม
ต่อมาคุณ Lee ตั้งกระทู้ถามในเรื่องเดียวกัน เมื่อวานนี้เองผมได้มีโอกาสพบคุณพัลวัล(ใน pirch)
ได้ถามถึงความรู้สึกของคนที่กำลังจะเป็นพ่อ บังเอิญมีผู้สนใจท่านหนึ่ง กล่าวว่า การมีลูก คือ
ราหุล หมายถึงบ่วง อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม จังหวะนั้นผมยังหาคำอธิบายที่เหมาะสม
ไม่ได้ เมื่อได้มาใคร่ครวญภายหลังก็คิดว่า คงยังมีชาวพุทธอีกเป็นจำนวนมาก ที่มีทัศนคติที่ไม่ดี
ต่อการครองเรือน อันมาจากคำว่า ราหุล ก็เลยมีความคิดที่จะเขียนถึงเจ้าบ่วงตัวเล็กๆ
ในแง่มุมธรรมะ ที่ต่างออกไป อ่านจบแล้ว จะรู้ว่าชีวิตของเราอาจพลาด บางสิ่งที่สำคัญไป
ถ้าไม่มีครอบครัว แล้วถ้าจะรีบไปแต่งงานมีลูก ก็ไม่ว่ากันนะครับ :)
**************************************************************************

ไม่มีใครพร้อมสำหรับการเป็นคุณพ่อคุณแม่คนใหม่
ผมเชื่อว่าความรู้สึกแรกคงคนที่กำลังเป็นพ่อแม่คือ ความกังวลใจ ไม่มั่นใจว่าเรา จะสามารถเลี้ยง
ลูกให้เติบโตเป็นคนดี ได้หรือเปล่า แต่เมื่อลูกเกิดมาแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ หน้าที่ และความรับผิดชอบ
ต่อชีวิตหนึ่ง ที่เกิดมานับเป็นสิ่งสูงสุด ด้วยความรักที่มีต่อลูก และหน้าที่ความรับผิดชอบที่ต้องปฏิบัติ
นี้เองที่เปลี่ยนแปลงจิตใจที่หยาบกระด้างของคนๆ หนึ่ง ไปสู่จิตใจที่ละเอียดและอ่อนโยนได้

ชีวิตเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์
นั่นความรู้สึกแรก เมื่อเจ้าตัวน้อยจอมยุ่งเกิดมา เคยไปเยี่ยมเพื่อนฝูง ที่คลอดลูกมามาก ก็รู้สึกเฉยๆ
แต่พอมีลูกเป็นของตนเองกลับรู้สึกถึง อัศจรรย์ธรรมชาติ ที่ยิ่งใจ....อัศจรรย์จริงหนอธรรมชาติ
(อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร ลองมีลูกดูนะครับ)  และพบว่าลูกคือส่วนที่ขาดหายไปของชีวิตนี่เอง

ความรักเป็นไฉนหนอ?
และแล้วการเปลี่ยนแปลงทางจิตครั้งใหญ่ก็มาถึง จากคนที่ไม่เคยสนใจความรู้สึกของคนอื่นก็เริ่มใส่ใจ
บ้านที่เคยรก นานๆ จะถูสักที ก็ต้องถู เป็นประจำ จัดบ้านให้เรียบร้อยน่าอยู่

เมื่อลูกยังเล็ก ก็ดูแลชนิดที่ยุงก็ไม่ให้ไตไรก็ไม่ให้ตอม เพราะรู้ว่า ร่างกายของเขายัง
บอบบางต่อโลกภายนอกมาก ครั้งแรกที่ลูกเป็นไข้ มีความรู้สึกกระวนกระวาย ทำอะไรไม่ถูก
พอมีประสบการณ์มากขึ้นก็รู้ว่า การเป็นไข้หวัดเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด ของเด็ก เราแค่ดูแลให้ยา
เขาเท่านั้นก็เอง

เมื่อก่อนพอเห็นของตก ก็มีความคิดว่า ใครทำตกคนนั้นก็เก็บสิ พอมีลูกทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว
เพราะลูกอาจจะมาเหยียบลื่นล้ม ลูกคนอื่นถ่ายอุจาระ เรารู้สึกรังเกียจ แต่พอเป็นลูกเราไม่รู้
ทำไมความรู้สึกอย่างนั้นไม่มีเลย "ขี้ลูกไม่เคยเหม็น"

อย่างนี้เองหนอที่เราเรียกว่า ความรักคือการให้ ความรักของหนุ่มสาวยังแอบแฝงด้วย
ความต้องการอยากให้เขามาอยู่ใกล้ชิด แต่ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก กลับบริสุทธิ์
สะอาด ไม่ได้แอบแฝงด้วยตัญหาใดๆ เต็มไปด้วยพรหมวิหาร 4 สมดังคำว่า
พ่อแม่คือพรหมของลูก

ราหุล : ต่างวาระต่างความหมาย
วกกลับมาถึงคำที่สร้างความสับสนให้เรา ว่าจริงๆ แล้วลูกคือบ่วง เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมหรือ
ในสมัยก่อนพุทธกาล ยังไม่มีใครตรัสรู้ ไม่มีใครรู้จักอริยสัจ 4 ไม่มีใครรู้จัก สติปัฏฐาน
ผู้คนจำนวนมากแสวงหาทางออกของชีวิต ในจำนวนนี้ย่อมรวมเจ้าชายสิทธัตถะ
ดังนั้นการที่ พระองค์ทรงตั้งชื่อพระโอรสว่า ราหุล คือบ่วงนั้นเหมาะสมแล้ว
เพราะการแสวงหาความรู้ อันยิ่งที่ไม่มีใครเคยพบมาก่อน นั้นไม่ง่ายดายนัก
ต้องทุมเทอย่างหมดตัว

แต่ในปัจจุบันที่เรารู้หนทางอันประเสริฐนี้แล้ว หากใครพูดว่าคนอื่นเป็นบ่วงเป็นภาระ
เป็นตัวถ่วงของตนย่อมแสดงถึงจิตใจที่คับแคบเห็นแก่ตัว และเต็มไปด้วยทิฏฐิมานะ
ใจที่เต็มไปด้วยกิเลสตัญหานั้น ต่อให้ไม่มีลูก เพื่อนๆ รอบตัวเขาก็เป็นราหุล
ไปบวชอยู่กลางป่า เพื่อนนักบวชก็เป็นราหุล เพราะเขาไม่รู้ว่าอารมณ์ปรุงแต่งนั้น
ต่างหากที่เป็นราหุล ไม่ใช่สิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา

เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว จะบำเพ็ญภาวนาที่ไหนก็ไม่แต่ต่าง เพราะร่างกายและใจหนึ่ง
ดวงนี้ต่างหาก ที่เราสนใจศึกษาปฏิบัติเพื่อคลายอัตตาตัวตน ไม่ใช่ที่อื่น โลกนั้นเปลี่ยน
แปลงเคลื่อนไหวอยู่เอง อย่างสงบนิ่ง (งงไหมครับ เคลื่อนไหวอย่างสงบนิ่ง
บางทีภาษาก็เป็นอุปสรรคต่อการอธิบายวิมุติธรรม :) ) อวิชชาคือความไม่รู้ในใจต่างหาก
ที่ทำให้โลก ยุ่งเหยิงสับสน

ชิวิตคฤหัสถ์ นั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคขัแย้งใดๆ ต่อการปฏิธรรมเลย ถ้าเราแยกออกระหว่าง
อารมณ์ ที่ปรุงแต่งภายนอกกับจิตใจภายใน
ผมคงไม่แปลกใจถ้าจะมีใครเป็นพระอริยบุคคล หรือแม้แต่พระอรหัตน์ โดยไม่ได้บวช
เป็นสมมุติสงฆ์

********************************************************************
โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 11:21:56

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 11:53:47
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 12:16:45
ตกไปหน่อยครับ -->

ลูกคนอื่นถ่ายอุจาระ เรารู้สึกรังเกียจ ที่จะล้างให้
แต่พอเป็นลูกเรา ไม่รู้ทำไมความรู้สึกอย่างนั้นไม่มีเลย "ขี้ลูกไม่เคยเหม็น"
โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 12:16:45

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พฤหัสบดี ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 15:43:04
   ถึงแม้จะเข้าใจว่าอารมณ์ที่ปรุงแต่งนั้นเป็นราหุล ไม่ใช่สิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างที่คุณมะขามป้อมกล่าวไว้  แต่คนที่ยังชอบเผลอไปทางอายตนะทั้ง 6 อยู่เป็นประจำอย่างผม ขอตั้งใจไม่มีลูกครับ (ถ้าไม่ตั้งใจก็ต้องยอมมีครับ)  เพราะเกรงว่าจะทำให้เผลอได้ง่ายและหายเผลอได้ยาก ตอนนี้แม้จะมีเพียงภรรยา ก็เผลอได้ง่ายเหลือเกินแล้วครับ แถมยังทำท่าว่าจะหายเผลอได้ยากเสียด้วยซิ  ยังไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไรจึงจะ "มี เหมือนไม่มี ... ไม่มี เหมือนมี" ได้ครับ
   ขอฝากข้อคิดในธรรมไว้ให้พิจารณาครับว่า "ถ้ามี ก็มีให้เป็น จะได้ไม่เป็นทุกข์" (จำไม่ได้ว่าเคยได้ยินได้ฟังมาจากไหนครับ)
  
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พฤหัสบดี ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 15:43:04

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน ศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 07:34:32
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ dolphin วัน ศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 07:50:35
"ชิวิตคฤหัสถ์ นั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคขัแย้งใดๆ ต่อการปฏิธรรมเลย ถ้าเราแยกออกระหว่าง
อารมณ์ ที่ปรุงแต่งภายนอกกับจิตใจภายใน
ผมคงไม่แปลกใจถ้าจะมีใครเป็นพระอริยบุคคล หรือแม้แต่พระอรหัตน์ โดยไม่ได้บวช
เป็นสมมุติสงฆ์"
บทความตอนท้ายของคุณมะขามป้อม ทำให้นึกถึงความเห็นของชาวพุทธที่เป็นฆราวาสทั่วไป(รวมถึงข้าพเจ้าก่อนหน้านี้ด้วย) ว่า การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของพระสงฆ์หรือนักบวชเท่านั้น  ฆราวาสเป็นเพียงผู้สนับสนุนปัจจัยในการดำเรงชีพ ให้แก่พระสงฆ์เท่านั้น
ซึ่งตรงจุดนี้เองเป็นอุปสรรคในการคิดปฏิบัติธรรมของฆราวาสในปัจจุบันเป็นอย่างมากค่ะ
ขอบพระคุณ คุณมะขามป้อมค่ะ
สาธุ^_^
โดยคุณ dolphin วัน ศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 07:50:35

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 08:04:44
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 09:40:36
ผมเห็นด้วยกับคุณมะขามป้อม ที่กล่าวว่า
"ชีิวิตคฤหัสถ์ นั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดแย้งใดๆ ต่อการปฏิธรรมเลย
ถ้าเราแยกออกระหว่างอารมณ์ ที่ปรุงแต่งภายนอกกับจิตใจภายใน"
เพราะถ้าแยกอารมณ์กับจิตออก ก็ไม่มีนักบวช ไม่มีคฤหัสถ์
แต่ถ้าแยกไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสต์หรือนักบวช ก็มีอุปสรรคทั้งนั้น

ปัญหามันอยู่ตรงที่ในเพศคฤหัสถ์นั้น
จะประพฤติธรรมให้หมดจดเหมือนสังข์ขัด ได้ยากอยู่สักหน่อย
ยิ่งเรื่องลูกแล้ว ผมเห็นว่าเป็นห่วงผูกใจอันใหญ่ทีเดียว
อาจจะเป็นเพราะผมไม่เคยมีลูก แล้วกลัวเกินเหตุก็ได้ครับ
โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 09:40:36

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 09:58:46
พูดยากเหมือนกันนะครับ เหมือนปัญหาไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน
ผมหมายถึง ถ้าเรามีความห่วงลูกก่อน ห่วงนั้นก็เป็นไปได้ที่จะเป็นอุปสรรค
ต่อการปฏิัติธรรม แต่ถ้าใจเรามีธรรมะพร้อมอยู่ เราก็จะห่วงลูกในอีกแบบ
หนึ่ง คืออยู่บนพื้นฐานของพรหมวิหารธรรมครับ

_/|\_ พระสูตรที่เกี่ยวกับการเจริญพรหมวิหาร ไพเราะหมดจด น่าฟังมากครับ
--------------------------------------------------------------------------

                        พระสุตตันตปิฎก
                            เล่ม ๑๗
                          ขุททกนิกาย

                  กรณียเมตตสูตรในขุททกปาฐะ
    [๑๐] กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ ปรารถนาจะตรัสรู้บทอันสงบ
         แล้วอยู่ พึงบำเพ็ญไตรสิกขา กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ
         เป็นผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง สันโดษ
         เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์อันสงบ
        ระงับ มีปัญญาเครื่องรักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุล
         ทั้งหลาย ไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่งเป็นเหตุ
         ให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้ พึงแผ่ไมตรีจิตในสัตว์ทั้งหลาย
         ว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตน
         ถึงความสุขเถิด สัตว์มีชีวิตเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ เป็นผู้
         สะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง ผอมหรือพี และสัตว์เหล่าใดมีกาย
         ยาวหรือใหญ่ ปานกลางหรือสั้น ที่เราเห็นแล้วหรือมิได้เห็น
         อยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ ที่เกิดแล้วหรือแสวงหาที่เกิด ขอ
         สัตว์ทั้งหมดนั้นจงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์อื่นไม่พึง
         ข่มขู่สัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่นอะไรเขาในที่ไหนๆ ไม่พึง
         ปรารถนาทุกข์แก่กันและกันเพราะความกริ้วโกรธ เพราะความ
         เคียดแค้น มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วย
         การยอมสละชีวิตได้ ฉันใด กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์
         พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น
         ก็กุลบุตรนั้น พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณไปในโลก
         ทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่คับแคบ
         ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู กุลบุตรผู้เจริญเมตตานั้นยืนอยู่ก็ดี เดิน
         อยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วง
         เหงาเพียงใด ก็พึงตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าว
         วิหารธรรมนี้ว่า เป็นพรหมวิหาร ในธรรมวินัยของพระอริย
         เจ้านี้ กุลบุตรผู้เจริญเมตตา ไม่เข้าไปอาศัยทิฐิ เป็นผู้มีศีล
         ถึงพร้อมด้วยทัศนะ กำจัดความยินดีในกามทั้งหลายออก
         ได้แล้ว ย่อมไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยแท้แล ฯ
                          จบเมตตสูตร
---------------------------------------------------------------------------
"ย่อมไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยแท้"
หมายถึงไม่กลับมาเกิดอีก, พ้นจากวัฏสงสารครับ
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 09:58:46

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 10:18:07
ที่มันขัดแย้งกันคือ
ผมมีความรู้สึกว่าเพราะมีลูกจึงรู้จักพรหมวิหารธรรม
ใจมีพรหมวิหารธรรมมากกว่าเมื่อก่อน
ในขณะที่บางคนกล่าวว่าเพราะมีลูก จึงเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม
ก็ถือว่าเป็นอีกมุมมองหนึ่ง ให้กับเพื่อนๆ ก็แล้วกันครับ :)
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 10:18:07

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 14:58:36
ดีใจที่ได้เห็นกระทู้นี้ค่ะ
คนที่มีลูกคงซึ้งกับพรหมวิหารอย่างที่คุณมะขามป้อม
อธิบายมาได้อย่างดีเลยค่ะ ชัดเจนเลยค่ะ

ขอเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวในเรื่องลูก
ลูก...สำหรับตัวเองแล้ว กลายเป็นผู้ชักนำมาสู่ธรรม
เพราะได้เห็นทุกข์ ของชีวิต อย่างแท้จริง และเกิดความ
เกรงกลัวต่อการเกิดจริงจังขึ้นมา เมื่อก่อนนี้ได้แต่ใฝ่ฝัน
ตามประสาผู้หญิง อยากเป็นแม่ อยากดูแลลูก ฯลฯ
โดยไม่รู้ว่า การเกิดนั้น เป็นทุกข์อย่างยิ่ง นับแต่วินาที
ที่เขาลืมตาออกมาดูโลก เขาก็ร้อง ดิ้นรน ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่แม้แต่จะรู้ว่าตัวเอง มาอยู่ที่ไหน มาทำอะไรที่นี่
มีแต่ความไม่สบายกาย ด้วยผิวที่แสนจะบอบบาง
ไม่สบายใจ เพราะไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร มีแต่การตกใจ
หวาดกลัวกับเสียงต่างๆ สัมผัสต่างๆ แล้วก็นอนหลับ
อย่างเดียว ตื่นขึ้นมาพร้อมอาการหิว และปวดถ่าย
อยู่อย่างนั้นเป็นปี กว่าจะพยายามลุกขึ้น นั่ง ยืน เดิน
หรือสื่อสารกับคนอื่น ได้ด้วยตัว ของตัวเอง เมื่อทำได้
แล้วเหมือนมนุษย์คนอื่นๆ ก็เริ่มแต่จะเรียนรู้ที่จะเห็นแก่
ตัวเองเป็นที่ตั้ง นับตั้งแต่ นี่ของหนู นี่แม่ของหนู นี่พ่อของหนู ล้วนแต่มีสิ่งของที่มีเจ้าของ มีตัวมีตน กว่าจะมาได้
เรียนรู้ว่า ทุกอย่างไม่มีตัว ไม่มีตนแท้จริง ก็อาจจะได้รู้
หรือไม่ได้รู้ ไปตลอดชีวิตก็เป็นได้

นี่ไม่ใช่การเห็นโลกในแง่ร้ายหรอกนะคะ เป็นอีกมุมหนึ่ง
ที่ตัวเองก็เพิ่งเคยเห็น ใช้เวลาในชีวิตมามากมาย จำได้
แต่ความสุขและคอยรับแต่สุขอีก โดยไม่ค่อยยอมรับ
ความทุกข์ เห็นเป็นเรื่องไกลตัว หรือเคยเห็นแม้แต่ว่าเรื่อง
นี้ไม่เกิดขึ้นกับฉันหรอก คิดแต่เข้าข้างตัวเองรอดปลอดภัยจากความทุกข์ทั้งปวง  พอมาเห็นว่าลูกคนเล็ก
อาจจะเป็นเด็กปัญญาอ่อนได้ ทำให้เห็นเด็กปัญญาอ่อนทั้งโลกขึ้นมา แล้วก็เห็นว่าเขาก็น่าสงสารเหมือนลูก
เรานี่แหละ เด็กที่เกิดมาพิการ เพราะวิบากทั้งหลายล้วน
น่าสงสารเหมือนลูกเรานี่แหละ มันเกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านั้นหนอ ทำให้เราหาคำตอบ ทำให้เห็นกรรมที่ติดตามคนมา โดยที่เขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มันย่อมเที่ยงแท้เสมอที่จะมาแสดงผลนั้นๆ

แต่เมื่อมีลูกแล้ว โดยที่เราไม่เห็นสัจจะแท้จริงมาก่อน
ถามว่าลูกเป็นห่วงพันธะในการปฏิบัติธรรมหรือไม่
ก็ขอตอบว่าไม่ค่ะ ยิ่งต้องเร่งปฏิบัติเพื่อให้พ้นไปจาก
วัฏฏะนี้โดยเร็ว และจะได้ชี้ทางให้แก่ลูกด้วยว่ายังมี
ทางปลอดภัยในโลกนี้สำหรับลูกนะ ลูกจะต้องเรียนรู้
อย่างที่แม่เคยได้เรียนรู้มาแล้ว

และก็ขอสนับสนุนความเห็นของคุณมะขามป้อมค่ะที่ว่า
ถ้าจะว่าไปว่าอะไรเป็นห่วงสำหรับเรานั้น มันขึ้นอยู่ที่เรา
จะให้อะไรมาเป็นห่วงผูกพัน ไม่ให้เราปฏิบัติธรรมได้
แม้แต่ความขี้เกียจ ก็เป็นห่วงตัวสำคัญ ตัวของตัวเอง
ก็เป็นห่วงดึงตัวเองไว้ได้เหมือนกันค่ะ กิเลสมันหลอกเอา
ทั้งนั้นเลย วันนี้ฉันไม่ค่อยสบาย ขอนอนก่อนดีกว่า ฯลฯ
ลองมองดูตัวเอง มองดูรอบๆ ซิคะว่าอะไรเป็นห่วงกันแน่
โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 14:58:36

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ Lee วัน ศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 22:18:27
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ Lee วัน ศุกร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 22:18:55
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ aek123 วัน เสาร์ ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2543 13:36:46
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ สันตินันท์ วัน อังคาร ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 07:39:57
เรื่อง พ่อแม่เป็นพรหมของลูกนั้น เป็นเรื่องที่ผมเคยสงสัยบางอย่างมานาน
คือพ่อแม่โดยทั่วไป จะมีเมตตา กรุณา และมุทิตาต่อลูก
แต่ที่จะให้มีอุเบกขาต่อลูกนั้น รู้สึกจะยากมาก
เช่นเมื่อลูกเจ็บป่วยหนัก ช่วยไม่ได้แล้ว
จะมีพ่อแม่สักกี่รายที่จะวางใจเป็นกลาง ยอมรับกฏแห่งกรรมได้

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ผมอ่านหนังสือของหลวงพ่อปัญญานันทะ
พบว่าท่านอธิบายอุเบกขาของพ่อแม่ได้ตรงความจริงมาก
คือท่านอธิบายว่า เมื่อเวลาอยู่ปกติ พ่อแม่จะมีเมตตา
คือปรารถนาจะให้ลูกเป็นสุข
ในยามที่ลูกเจ็บป่วย ผิดหวัง เป็นทุกข์ พ่อแม่จะมีกรุณา
คือปรารถนาจะให้ลูกพ้นทุกข์
ยามที่ลูกได้ดีมีสุข พ่อแม่จะยินดีด้วย คือมีมุทิตา
แต่ยามใดที่ลูกดำเนินชีวิตราบรื่นเป็นปกติสุขแล้ว
พ่อแม่ก็จะเฝ้าดูอยู่ห่างๆ ด้วยใจที่เป็นกลาง คือมีอุเบกขา
แต่พร้อมเสมอที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยด้วยกรุณา
และพร้อมจะดีใจด้วย หากมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในชีวิตของลูก

อุเบกขาของพ่อแม่ทั่วไป
จึงไม่ใช่อุเบกขาธรรมแบบที่ยอมรับกฏแห่งกรรมของลูก
เช่นลูกไปรถคว่ำตาย แล้วพ่อแม่เห็นว่า
เป็นเรื่องธรรมดาไม่น่าเสียใจอะไรเลย
โดยคุณ สันตินันท์ วัน อังคาร ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 07:39:57

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 10:58:01
สาธุครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 10:58:01

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ มวยวัด วัน พุธ ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 08:00:55
ขอบพระคุณครับ _/\_

ว่าจะมาตอบกระทู้นี้หลายวันแล้ว เพราะผมเองมีลูก 3 คน และไม่เคยคิดว่าลูกเป็นภาระในการปฏิบัติเลย ด้วยสาเหตุนิดเดียวเอง คือ ลูกไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง(จะบอกว่าบังเอิญเกิดมามันก็ไม่ไหวละมั๊ง :-) ) เพราะฉะนั้น เมื่อเราตั้งใจให้เขาเกิดแล้วจะมาคิดว่าเขาเป็นภาระให้เรานั่นตามความเห็นผม ผมว่ามันค่อนข้างจะเห็นแก่ตัวไปหน่อย แต่ถ้าเรามีความมั่นคงเราก็สามารถที่จะปฏิบัติได้โดยสะดวก และลูก ยังเป็นวัตถุดิบชั้นยอดในการภาวนาด้วยซ้ำไปน่ะครับ
โดยคุณ มวยวัด วัน พุธ ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 08:00:55

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ เจื้อย วัน พฤหัสบดี ที่ 2 มีนาคม 2543 11:37:21
หนูเองค่ะ ปรกติจะเป็นผู้อ่านและอนุโมทนาในใจตลอด
แต่เห็นกระทู้นี้แล้ว ทำให้เกิดความอยากส่งเสียงขึ้นมา

ไม่อยากมีลูกค่ะ เพราะกลัวว่าจะทำให้ตัวเอง
ให้เวลาและเงินทองเพื่อดูแลพ่อแม่ได้น้อยลง
เห็นมามากค่ะ คนที่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว
มักจะเอาเวลาและเงินทองไปทุ่มเทให้ครอบครัว
ส่วนพ่อแม่ตัวเองก็จะถูกลดความสำคัญลงไป
ดูง่ายๆจากตระกูลของตัวเอง
คุณแม่ไม่ค่อยมีเวลาเอาใจใส่ตายาย
เพราะต้องทำมาหากิน ดูแลลูกและสามี
คนที่รับภาระเลี้ยงดูเอาใจใส่ตายาย
ก็คือคุณป้าซึ่งอยู่เป็นโสด ไม่แต่งงานมีครอบครัว

เคยอ่านนิยายอิงธรรมะเรื่องบ่วงบาศก์
เจอข้อความอันนึง รู้สึกเห็นด้วยและติดใจอยู่จนบัดนี้

----------------------------------------

เขารู้ดีว่า เพราะความผูกพันอันรัดรึงนั้น
จะเป็นการยากที่จะทำให้หล่อนเข้าใจความจริงที่ว่า
ทั้งเขาและหล่อน ต่างกำลังมุ่งหน้าไปสู่ความแก่ชราและความตาย
สิ่งที่เรียกว่าความรักระหว่างเขากับหล่อนนั้น
เป็นแรงดึงดูดตามธรรมชาติ มีกามารมณ์เป็นพื้นฐาน
และมีการสืบพันธ์เป็นจุดหมายปลายทาง

เขาจะอธิบายให้หล่อนเข้าใจได้อย่างไรว่า
เขาไม่ต้องการที่จะเป็นทาสของแรงดึงดูดนั้นต่อไปอีกแล้ว
เขาไม่ต้องการที่จะมีครอบครัว มีลูกมีหลาน
เพราะได้ตระหนักเสียแล้วว่า การมีครอบครัว
ลูกหลาน วงศ์วานว่านเครือนั้น คือการแผ่ขยายกิเลสตัณหาของตน
จากพ่อจากแม่ไปสู่ลูก จากลูกไปสู่หลาน จากหลานไปสู่เหลน
เขาไม่ประสงค์ที่จะให้ทุกข์ที่เกิดแก่ตัวเขาเอง
กลายเป็นมรดกตกทอดไม่มีวันหมดไปยังผู้อื่น
เขาต้องการที่จะตัดวงจรอุบาทว์แห่งชีวิตนั้น โดยเริ่มที่ตัวเอง

ขณะที่คำนึงอยู่เช่นนั้น จิตของเขาอยู่ในสภาพสงบไปอีกรูปหนึ่ง
แทนที่จะรู้แต่เพียงลมหายใจที่กำลังเข้าออกอย่างเดียว
เขากำลังพิจารณาสภาพธรรมแห่งชีวิต
เขาดูและเห็นว่าชีวิตนั้น แท้จริงมีแต่ความทุกข์
เขามิได้เบื่อชีวิตอย่างคนผิดหวังซึ่งตะเกียดตะกายหาความสมหวัง
เขาเบื่อชีวิต เพราะเชื่อแล้วด้วยเหตุผลว่า
ถ้ายังมีชีวิตอยู่ ก็ยังไม่หมดหรือพ้นทุกข์

เขาเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า
หากจะพ้นทุกข์อย่างแน่นอน ก็จะต้องไม่กลับมาอีกในชีวิต
ไม่ว่าในรูปแบบใด และจะทำได้ก็ด้วยการหยุดความอยาก
หรือความต้องการของตนลงอย่างเด็ดขาด

ลักษณะจิตของเขาในขณะนั้น เป็นสมาธิอย่างแท้จริง
แต่เป็นสมาธิที่เรียกว่า "วิปัสสนา"
โดยคุณ เจื้อย วัน พฤหัสบดี ที่ 2 มีนาคม 2543 11:37:21

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com