กลับสู่หน้าหลัก

พลังสมาธิ หรือ ปัญญา หรือ ไม่ใช่

โดยคุณ peng วัน เสาร์ ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2543 01:11:53

วันก่อนได้การบ้านมา 1 ข้อ ดังนี้
ตอนเย็นหลังเลิกงานขับรถกลับบ้าน มีเรื่องให้อารมณ์เสียเพราะมารยาทการขับรถของผู้อื่น เกิดความโกรธอย่างมาก เมื่อนึกถึงการปล่อยวางที่ตนเคยปฏิบัติ จึงเห็นความขุ่นมัวของจิต เห็นอารมณ์ที่ทับถมเก็บในจิต มันเกาะจิตไว้ จะคลายก็ไม่ได้ รู้ถึงการเสียพลังงานจิต แต่ก็วางอารมณ์โกรธนั้นลงไม่ได้ ขับรถไป ก็เฝ้ามองอารมณ์นั้นเรื่อยไป ทั้งๆที่เห็นแล้วว่าอารมณ์นั้นเป็นอกุศลจิต ปกคลุมจิตในมืดมัวอยู่ แต่มันมีกำลังมากมาก แต่รู้สึกเหมือนว่าจิตที่ส่างไสวอยู่ภายใต้ความขุ่นมัวนั้น จะละอารมณ์นี้ก็ไม่ได้ ตลอดถึงก่อนนอนก็ไม่สามารถคลายอามรมณ์นี้ออกไปได้

จนกระทั่งตอนเช้าของวันใหม่ หลังจากตื่นนอน ขับรถไปทำงาน ตั้งจิตกลางๆใหม่ นึกถึงความว่างเปล่า จิตจึงค่อยคลายตัวเองตามธรรมชาติ จนรู้สึกว่าอารมณ์โกรธหมดไป และก็พบว่าจิตปลอดโปร่งเบาสบายมาก เกิดความเข้าใจว่า อารมณ์ขุ่นมัวที่ปกคลุมจิตที่เป็นกิเลสนิวรณ์มันมีอานุภาพมาก ความขุ่นมัวที่ปกคลุมจิต เป็นเพราะจิตยึดอารมณ์ที่ยึดอยู่เท่านั้น ยิ่งจิตมีกำลังมากก็ยึดมาก เมื่อจิตวางอารมณ์นั้นได้ด้วยสติ และเห็นความเป็นธรรมดาแล้วก็จะละวางได้เอง ลองนึกแผ่ขยายจความรู้สึกอย่างไร้ขอบเขตก็สามารถขยายไปได้ ซึ่งผิดกับตอนที่จิตขุ่นมัว เพราะเพียงแต่จะกำหนดให้จิตเกิดปิติ ยังทำไม่ได้ แต่พอจิตละวางได้ เพียงแค่นึกถึงความว่างเปล่า ก็รู้สึกเหมือนเราเป็นแค่อนุภาคนึงในอวกาศ

จากอาการที่นึกถึงความว่างเปล่าที่เล่ามานี้ แล้วละวางความโกรธลงได้ เป็นผลของสมาธิที่เกิดจากการกำหนดความว่าง หรือ ปัญญา หรือ เป็นความหลงผิด ?


โดยคุณ peng วัน เสาร์ ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2543 01:11:53

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ สันตินันท์ วัน เสาร์ ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2543 08:32:17
เป็นตัวอย่างการปฏิบัติที่ชัดเจนแจ่มแจ้งน่าศึกษา
โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจที่เห็นกิเลสและนิวรณ์ไม่ใช่จิต
แต่เป็นเพียงสิ่งที่ผ่านมาปกคลุมจิตเป็นคราวๆ
นับเป็นความรู้ความเห็นที่ถูกต้องชัดเจนมากครับ

ถ้าเรานึกถึงความว่างเปล่า จนกระทั่งจิตเข้าถึงความว่างเปล่า
แล้ววางอารมณ์หยาบอย่างอื่นลงได้
อันนี้เป็นการแก้ปัญหาของจิตด้วยสมาธิ เพราะการกำหนดความว่างเปล่า
คนที่ทำได้อย่างนี้ ก็นับว่าเก่งทีเดียว

แต่ถ้าเป็นการละด้วยปัญญา จะกระทำอีกอย่างหนึ่ง
คือจะมีสติระลึกรู้ถึงความโกรธ
ในขณะเดียวกัน จิตก็ตั้งมั่น เป็นกลาง ไม่หลงยินดียินร้ายกับความโกรธ
แม้จะถูกความโกรธห่อหุ้มอยู่ ก็รู้ตามเป็นจริงว่าถูกห่อหุ้มอยู่
ไม่มีความดิ้นรนอยากพ้นจากการห่อหุ้ม
จากนั้น ก็เฝ้ารู้ความโกรธนั้นไป
จะเห็นระดับความแรงของความโกรธนัั้นไม่คงที่
มันแสดงอนิจจังอยู่ตลอดเวลา
จนกระทั่งมันดับหายไป การดับหายนั้นก็แสดงทุกขังอย่างชัดเจน
และไม่ว่ามันจะเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ หรือมันดับไป
มันก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในบังคับบัญชา
อันนี้แสดงอนัตตาอยู่ตลอดเวลา

เมื่อจิตมีพลังปัญญาเพียงพอแล้ว
จิตจะตัดกระแสเยื่อใยที่ยึดถือความโกรธนั้น
แล้วสลัดตัวเองออกพ้นจากความโกรธ ไปอยู่อีกระนาบหนึ่ง
ความโกรธจะตั้งอยู่หรือไม่ หรือดับไปหรือไม่
ก็เป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ไม่มีส่วนสัมพันธ์อันใดกับจิตเลย

ถ้าเดินทางปัญญา จะมีอาการอย่างที่เล่ามานี้ครับ
โดยคุณ สันตินันท์ วัน เสาร์ ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2543 08:32:17

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ พัลวัน วัน อาทิตย์ ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2543 12:08:19
สาธุครับ_/|\_
มีอาการจะเล่าให้ฟังครับ

โดยปกติแล้วเป็นคนที่นิยมการพิจารณากายครับ เพราะเมื่อพิจารณากายแล้วใจจะสงบ และมีสติระลึกรู้ภายในได้ชัดเจน เมื่อมีสติรู้ระลึกอยู่ ในบางครั้งจะเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่เรา บางครั้งก็เป็นเหมือนก้อนธาตุ บางครั้งก็เหมือนซากศพ (บางทีก็ทำให้นึกไปว่า ที่ฝรั่งเรียกร่างกายว่า body ในขณะที่ body ก็หมายถึงศพได้ด้วย ก็ถูกเหมือนกัน) จะสังเกตเห็นว่า เรา นั้นอยู่ที่ตัวรู้อย่างแนบแน่น และเห็นว่าบางครั้ง เรา นี้ ก็เป็นเพียงเยื่อบางๆเหมือนอย่างเยื่อบุข้างแก้มในปาก แต่บางคราว เรานี้ ก็แข็งและใสเหมือนแก้วไม่ผิดเพี้ยน ก็นานจะระลึกได้อย่างนี้เสียทีหนึ่งครับ จะถูกหรือผิดประการใด ต้องขอคำชี้แนะด้วยครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน อาทิตย์ ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2543 12:08:19

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ มะเหมี่ยว วัน อาทิตย์ ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2543 21:10:04
รู้สึกว่าได้แนวทางที่จะจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ความโกรธ ได้มากขึ้นค่ะ  คราวนี้มีคำถามต่อไปว่า การใช้สมาธิกำหนดความว่าง  กับการพิจารณาด้วยปัญญานั้น  จะมีผลระยะยาวเหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร หรือเปล่าคะ
ขอบคุณค่ะ _/|\_
โดยคุณ มะเหมี่ยว วัน อาทิตย์ ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2543 21:10:04

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ สันตินันท์ วัน จันทร์ ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2543 07:47:56
ตอบคุณพัลวัน
ที่ว่า "เรา" แนบเป็นเนื้อเดียวกับจิตนั้น ถูกแล้วครับ
ลำพังจิตเอง ไม่มีรูปร่างอะไร
แต่พอเติม "เรา" ลงไป ก็ปรากฏเหมือนสิ่งแปลกปลอมเพิ่มเข้ามาในความว่างเปล่า
ส่วนจะเห็น(ความจริงคือรู้สึก)ว่าสิ่งแปลกปลอมเป็นสภาวะอย่างใด
ก็แล้วแต่สภาวะอื่นๆ ที่มาประกอบด้วย
เช่นคราวใด จิตปรุงแต่งเบาบาง ก็รู้สึกว่าความเป็นเราเบาบางเหมือนเยื่อบางเฉียบ
บางคราวสติกล้าแข็ง สมาธิกล้าแข็ง ความเป็นเราก็รู้สึกว่าแข็งแกร่งแต่ใสราวกับแก้ว
และวันใดที่หมดสักกายทิฏฐิ ความเป็นเราจะหายสูญไปเลย และไม่กลับมาอีก

ตอบคุณมะเหมี่ยว
การใช้สมาธิกำหนดความว่าง เป็นสมถะ
แต่ถ้าพลิกนิดหนึ่ง เห็นว่าความว่างก็ไม่ใช่เรา ก็เป็นการเจริญวิปัสสนาต่อไปได้
ส่วนการพิจารณา(คิด) เป็นอุบายให้จิตสงบและสอนจิตให้รู้จักเดินปัญญาการพิจารณาธรรม
แต่การพิจารณา(รู้ - ไม่ใช่คิด) จนปัญญาตัดกระแสความโกรธขาดไปเอง เป็นวิปัสสนา

สมถะกับวิปัสสนา จะมีผลระยะยาวเหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร
คุณมะเหมี่ยวก็ทราบอยู่แล้วนี่ครับ
โดยคุณ สันตินันท์ วัน จันทร์ ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2543 07:47:56

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2543 08:17:07
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2543 08:41:00
ขอบพระคุณครับ

เป็นจริงทีเดียวที่เห็นว่าเราเป็นสิ่งแปลกปลอม ที่ปรากฎอยู่ในความว่าง (จะว่างจริงหรือไม่จริง อันนี้ผมไม่ได้วินิจฉัย เพราะเห็นแว่บเดียวครับ (เห็น ไม่ได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างหรอกครับ แต่เป็นความรู้สึกครับ แล้วนำความรู้สึกนั้นไปเปรียบเทียบกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เคยรู้จักมาแล้วด้วยสัญญา จึงเปรียบเทียบมาได้ว่าเป็นเหมือนอะไรครับ)) เหมือนกับการที่มีดวงดาวปรากฎอยู่ในอวกาศครับ ที่ลอยอยู่หรือตั้งอยู่ บนหรือใน ที่ๆไม่มีอะไรเลย

ปัญหาคือ ทิ้งเราก็ทิ้งไม่ได้ แม้ในขณะนั้นอยากจะสลัดเราทิ้ง แต่เราก็แนบแน่นอยู่เหลือเกินครับ ก็คงต้องใช้วิธีที่ทำมา คือตามรู้ระลึกด้วยสติและรู้ตัวอยู่ด้วยสัมปชัญญะต่อไปครับ

ขอบพระคุณครับครู _/|\_ _/|\_ _/|\_
โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2543 08:41:00

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 07:35:10
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ มะเหมี่ยว วัน พุธ ที่ 1 มีนาคม 2543 22:33:19
ขอบพระคุณสำหรับคำอธิบายค่ะ
โดยคุณ มะเหมี่ยว วัน พุธ ที่ 1 มีนาคม 2543 22:33:19

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com