กลับสู่หน้าหลัก

ลักษณะจิตที่เป็นสมาธิ ๓ ประการ (สมาหิโต, ปริสุทโธ, กัมมนีโย)

โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 10 มีนาคม 2543 12:20:14

ตัดตอนมาจากคำบรรยายเรื่องอานาปานสติของท่านอาจารย์พุทธทาส
ในหมวดจิต ในขั้นที่ ๑๑ คือทำจิตให้ตั้งมั่นครับ
------------------------------------------------------------------------------
เรามีลักษณะเฉพาะที่จะสังเกตหรือกำหนดว่า จิตเป็นสมาธิโดยถูกต้อง อยู่ ๓ ประการ
คือจิตตั้งมั่นไม่ฟุ้งซ่านมีอารมณ์เดียวเรียกว่า สมาหิโต เป็นสมาธิ แล้วก็จิตนั้นบริสุทธิ์ ไม่มีกิเลส
ไม่มีอะไรมารบกวนจิต จิตว่างจากกิเลสเรียกว่า ปริสุทโธ บริสุทธิ์ แล้วก็จิตนั้นเหมาะสมอย่างยิ่ง
พร้อมอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติหน้าที่ของจิตเรียกว่า กัมมนีโย สามคำนี้ถ้าจำได้ก็ดี สมาหิโต stableness
ปริสุทโธ pureness กัมมนีโย activeness ต้องมี ๓ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าจิตนั้นมีสมาธิอย่างถูกต้อง

เราอาจจะมีลักษณะทั้ง ๓ นี้ ในขณะที่เดินอยู่ก็ได้ ยืนอยู่ก็ได้ นั่งอยู่ก็ได้ แล้วก็มีคำเรียกในบาลี
น่าสนใจเหมือนกัน ถ้าเรามีจิตที่เป็นอย่างนี้ มีลักษณะ ๓ อย่างนี้ ถ้ายืนอยู่ก็เรียกว่า การยืนที่เป็นทิพย์
divine standing นั่งอยู่ก็ divine sitting มีลักษณะ ๓ อย่างนี้ นอนอยู่ก็ divine lying ไม่ใช่แข็งทื่อ
เป็นก้อนหินหรือเป็นท่อนไม้ แต่ว่าจิตนั้นพร้อมที่สุดที่จะทำหน้าที่ของจิต คือรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป
นี่คือหน้าที่ของจิต หรือว่าอย่างน้อยที่สุดก็จะมีความสุขอยู่ในขณะนั้นด้วย  การมีความสุขนี่ก็
เป็นหน้าที่ของจิตด้วยเหมือนกัน และจิตจะพร้อมที่จะทำหน้าที่ของจิต เมื่อจิตมีลักษณะ ๓ อย่างนี้

ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นด้วยลักษณะ ๓ ประการนี้ เรียกว่าผู้มีจิตตั้งมั่น เรียกเป็นบาลีสั้นๆ ว่า สมาหิโต
ผู้มีจิตตั่งมั่น มีพระบาลี พระพุทธภาษิตว่า "เมื่อมีจิตตั้งมั่นย่อมรู้ธรรมชาติทั้งปวงตามที่เป็นจริง"
สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ
  ประโยชน์อย่างยิ่งของสมาหิโตคือจิตตั้งมั่นในการรู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง
ปัญหาอะไรที่เราเก็บไว้ในใจตอบไม่ได้ ก็จงทำจิตตั้งมั่น แล้วคำตอบจะออกมาโดยอัตโนมัติ
หรือว่าเรามีจิตตั้งมั่น ไปที่ไหนๆ แล้วจะเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงหมายความว่าเราจะ
เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้โดยง่าย ถ้าจิตประกอบอยู่ด้วยลักษณะ ๓ อย่างนี้ ที่เรียกว่า สมาหิโต

ท่านจะสังเกตเห็นได้เองว่าลักษณะหรือคุณสมบัติ ๓ อย่างนี้มันเนื่องกันอยู่ภายใน เป็น interdependent
ทั้ง ๓ อย่างนี้เนื่องกัน อยู่เป็นอันเดียวกัน ถ้ามันไม่ตั้งมั่น มันก็บริสุทธิ์ไม่ได้ ถ้ามันบริสุทธิ์ไม่ได้
มันก็ไม่ตั้งมั่น แล้วมันก็ต้องตั้งมั่นและบริสุทธิ์ มันจึงจะมีความว่องไวในหน้าที่ จึงจะมี activeness
๓ อย่างนี้มันทำงานรวมกันเป็นองค์ ๓ เป็น tree factors แล้วก็เป็นจิตที่เป็นสมาธิ ขอให้พยายาม
ศึกษาให้เข้าใจคำว่า ตั่งมั่นและบริสุทธ์ แล้วก็ว่องไวในหน้าที่ (stableness, purity, activeness)
๓ อย่างนี้ต้องเท่ากัน เป็นอันเดียวกัน จึงจะเรียกว่า สมาหิโต จึงมีประโยชน์มาก มีอานิสงส์มาก
มีอานุภาพมาก สามารถที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ทั้งที่เป็นลักษณะตามธรรมชาติธรรมดา
หรือที่เป็นลักษณะเหนือธรรมชาติธรรมดา

ในที่สุดขอให้จำ ขอให้เข้าใจ ใจความสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อมีจิตเป็นสมาธินี้เดินอยู่ก็ได้ ยืนอยู่ก็ได้
นั่งอยู่ก็ได้ นอนอยู่ก็ได้ ทำการงานอยู่ก็ได้ รับผลของการงาน เสวยผลของการงานก็ได้ ช่วยผู้อื่นก็ได้
ช่วยตัวเองก็ได้ ใช้ได้ทุกปัญหา แก้ปัญหาได้ทุกปัญหา ขอให้สนใจคำว่า ผู้มีสมาธิ สมาหิโต
สามารถจะทำหน้าที่ได้อย่างนี้ ได้ทุกอย่างอย่างนี้ เราฝึกจนสามารถมีจิตชนิดนี้ (จิตสมาหิโต)
ประกอบด้วยองค์ ๓ นี่ หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ สำเร็จเป็นขั้นที่ ๑๑
-------------------------------------------------------------------------------------

ที่จริงมีธรรมชาติของจิตอีกอย่างหนึ่งที่ท่านพุทธทาสลืมกล่าวถึง แต่มากล่าวถึงในตอนเริ่มต้น
ของการบรรยายในวันถัดมาในหมวดธรรม นั้นคือ คำว่า มุทุ แปลว่าอ่อนโยน คือจิตมีความ
อ่อนโยน นิ่มนวล ไม่แข็งกระด้าง มีความว่องไว(sensitivity)มาก รวมเป็นลักษณะ
๔ ประการครับ
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 10 มีนาคม 2543 12:20:14

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 10 มีนาคม 2543 14:25:10
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 10 มีนาคม 2543 14:30:02
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ทรายแก้ว วัน ศุกร์ ที่ 10 มีนาคม 2543 16:22:14
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ dolphin วัน เสาร์ ที่ 11 มีนาคม 2543 08:25:34
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน เสาร์ ที่ 11 มีนาคม 2543 11:05:15
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ ทองคำขาว วัน เสาร์ ที่ 11 มีนาคม 2543 14:34:38
ขอบคุณคุณมะขามป้อมครับ

อ่านถึงลักษณะของจิตที่มีคุณภาพ มีสมาธิข้างต้น
ที่ประกอบด้วย 4 อย่าง ด้วยคำในภาษาอังกฤษ
แล้วเลยระลึกไปถึงเรื่องการอ่านธรรมะข้ามภาษา

เวลาที่ผมไปเดินตามร้านหนังสือในญี่ปุ่น
บางครั้งได้ไปพลิกๆเปิดหนังสือ
ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เป็นต่างภาษาอ่านดูอยู่บ้าง
หลายครั้งก็พบว่า คำบางคำหากอ่านจากที่เป็นคำในบาลีเอง
อ่านแล้วบางครั้งจะงงบ้างเพราะไม่เข้าใจความหมายเลย
หรือ บางครั้งเราๆได้ยินจนคุ้นเคย เลยเหมือนจะรู้ความหมายกันดี
แต่จริงๆกลับไม่ได้รู้จักความหมายอย่างชัดๆเลย
การอ่านข้ามภาษานั้น สิ่งนี้ก็เลยช่วยให้ได้เข้าใจธรรมะที่ชัดดีขึ้นทีเดียว

อย่าง ตัวอย่างในคำว่า อุปาทาน
สมัยก่อนเวลาอ่านธรรมะเจอที่พระท่านกล่าวไว้ว่า
"คนเราเป็นทุกข์เพราะอุปาทาน"
อ่านอย่างนี้แล้วเหมือนจะเข้าใจอยู่บ้าง
ว่า ทุกข์กันก็เพราะอุปาทาน นั่นเอง
แต่ก็ยังไม่ค่อยเคลียร์ทีเดียวว่าอุปาทานนั้นคืออะไรกันแน่
อ่านเหมือน get เลยได้อ่านแบบข้ามๆไป
แต่เมื่อได้ไปอ่านจากที่เป็นภาษาอังกฤษ
เห็นคำศัพท์ attachment เพียงเปรี้ยงเดียว
ก็เข้าใจชัดว่า "ทุกข์เพราะความยึดติด" ดีๆนี่เอง
ซึ่งพอกลับมาดูในคำแปลที่เป็นของไทย
ก็พบว่าพระสมัยก่อนท่านก็แปลไว้ตรงไปตรงมาดีมากเหมือนกัน _/|\_

(สำหรับศัพท์พุทธญี่ปุ่นซึ่งเป็นตัวจีน
เวลาดูที่ตัวหนังสือจีนก็ get ได้โดยตรงเลยก็ดี
แต่หลายครั้งจะเป็นศัพท์เก่าๆที่ไม่ค่อยได้ใช้เลยเป็นงงก็มาก
หรือไม่ก็เป็นตัวจีนที่ศัพท์มาจากศัพท์ในภาษาสันสฤต
ตามรูทรากศัพท์ของพุทธศาสนาทางสายจีนมา
(ธรรมจาก บาลี --> สันสฤต --> จีน,ญี่ปุ่น)
อย่างเช่น โพธิสัตว์ จะใช้ตัวจีนทับเสียงว่า โบ-ดิ-สัด-ตะ
บารมี ก็เป็น บอ-รา-มิก เป็นต้น)

การอ่านจากหลายๆภาษา
เลยเป็นการช่วยให้เราคลายความยึดมุ่งไปที่คำของภาษาด้วยทางหนึ่ง
ให้เกิดการเข้าใจเข้าไปที่ความหมายเดิมของคำ
อันเป็นคำอธิบายถึง "ลักษณะของจิต" อันเดียวกันนั่นเอง
ยิ่งหากได้ผ่านประสบการณ์ในสภาวธรรมหรือ
ลักษณะจิต อาการจิตที่ละเอียดอ่อนอันเกิดจากการภาวนาส่วนตัวแล้ว
ตรงเรื่องการสนทนาธรรมในบางครั้งจะพบได้ว่า
นักปฎิบัติเหมือนพูดคนละภาษาแต่จะเข้าใจกันได้
หรือ บางครั้งธรรมเหมือนพูดขัดกันในตรรกะ
แต่เนื้อความหมายกลับไม่ขัดกันเลยก็ได้ เป็นต้น

ตรึกนึกระลึกเล่าไปเรื่อยๆเล่นๆเสียไกลจากกระทู้เดิม
ก็ขออภัย และคงต้องขอจบได้แค่นี้ก่อนครับ
( ม่ายงั้นเดี๋ยวเถรไถลในธรรมเกินไปด้วย :) )
โดยคุณ ทองคำขาว วัน เสาร์ ที่ 11 มีนาคม 2543 14:34:38

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ทองคำขาว วัน เสาร์ ที่ 11 มีนาคม 2543 14:36:25
แก้ครับ...
"เวลาดูที่ตัวหนังสือจีนก็ get ได้โดยตรงเลยก็ดี"
เป็น
"เวลาดูที่ตัวหนังสือจีนก็ get ได้โดยตรงเลยก็มี"
โดยคุณ ทองคำขาว วัน เสาร์ ที่ 11 มีนาคม 2543 14:36:25

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ สันตินันท์ วัน อาทิตย์ ที่ 12 มีนาคม 2543 15:00:59
อ่านข้อเขียนของ แมน แล้วได้ความรู้ดีครับ
เห็นด้วยทีเดียวว่า ความคุ้นชิน ทำให้มองข้ามอะไรได้ง่ายๆ
เช่นคุ้นภาษา ก็มองข้ามภาษา
คุ้นกับพุทธศาสนามาตั้งแต่เกิด ก็มองข้ามพุทธศาสนา
หรือคุ้นกับพ่อแม่ จนมองข้ามพ่อแม่ไปเลยก็มี

การเปิดใจกว้าง ศึกษาธรรม โดยมุ่งต่ออรรถต่อธรรม
ไม่หลงติดอยู่กับภาษา แต่เอาสภาวะในจิตใจมาตีแผ่คุยกัน
ทำให้นักปฏิบัติที่เข้าถึงสภาวะ ไม่มีเรื่องต้องเถียงกัน
อันนี้ก็จริงอย่างที่ แมน ตั้งข้อสังเกตไว้เหมือนกันครับ
โดยคุณ สันตินันท์ วัน อาทิตย์ ที่ 12 มีนาคม 2543 15:00:59

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน จันทร์ ที่ 13 มีนาคม 2543 14:02:21
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ Lee วัน พุธ ที่ 15 มีนาคม 2543 18:23:46
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ Lee วัน พุธ ที่ 15 มีนาคม 2543 18:24:09
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ป๋อง วัน เสาร์ ที่ 18 มีนาคม 2543 11:41:07
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 6 มิถุนายน 2543 19:24:20
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com