กลับสู่หน้าหลัก

ดูธรรม: ดูอะไร

โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 16 มีนาคม 2543 16:44:50

(งานนี้เอามะพร้าวมาขายสวนอีกแล้ว :) )

การดูจิตหมายถึงการระลึกรู้ว่าจิตของตนขณะนั้นๆ เป็นอย่างไร
มีกิเลส ไม่มีกิเลส ตั้งมั่นหรือไม่ตั้งมั่น ซึ่งเรื่องนี้พี่สันตินั้นได้กล่าวมาแล้ว
ในเรื่อง ดูจิต: ดูอะไร แต่หากดูจิตอย่างเดียว โดยไม่ได้พิจารณาถึง
ไตรลักษณ์ ของธรรม (จิตและอารมณ์) ก็เป็นไปไม่ได้ที่จิตจะคลาย
ความยึดมั่นถือมั่น เพราะไม่มีปัญญาคือความรู้(วิชชา)ที่ถูกต้องมาประหารกิเลส
ในกระทู้นี้จะได้อธิบายเรื่องการดูธรรมตามแนวอานาปานสติสูตรต่อไป

หากดูในมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านแบ่งให้พิจารณาใน 3 เรื่องคือ
นิวรณ์ 5 (นิวรณบรรพ), ขันธ์ 5 (ขันธ์บรรพ), อายตนะ 6 (อายตนบรรพ)
โดยในส่วนท้ายของแต่ละบรรพ ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนให้พิจารณาใน
ธรรม คือ สิ่งที่มีอยู่อันได้แก่ จิตและอารมณ์ อันหมายรวมในทั้ง 3 เรื่องข้างต้น
ธรรม คือ ธรรมชาติของ สิ่งต่างๆ ที่ต้องมีการเกิดขึ้น ดับไปๆ

หากดูในอานาปานสติสูตร ท่านกล่าวชัดเจนกว่าถึงการพิจารณาในหมวดธรรม
เป็น 4 ประการ คือ พิจารณาอนิจจัง, พิจารณาความคลายกำหนัด, พิจารณา
ความดับแห่งกิเลส, พิจารณาความสละคืนกิเลส

ทั้ง 4 ประการของหมวดธรรมที่กล่าวมาอาจจะดู เป็นขั้นเป็นตอน เป็นหมวดเป็นหมู่
แต่ในทางปฏิบัติทั้งหมดนั้นเกิดขึ้น ในชั้วขณะจิตเดียว ที่จิตตั้งมั่น
เป็นกลาง ด้วยสติสัมปชัญญะ หมายความว่าพริบตาเดียวที่เราดูจิตและอารมณ์
ด้วยสมาธิที่สงบและตั้งมั่น ความรู้ และปัญญา ในการมองเห็นธรรม
ตามที่เป็นจริง ก็จะเกิดขึ้นเอง การพิจารณาในหมวดธรรมทั้ง 4 ประการ
ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กันทีเดียว การปฏิบัติในหมวดที่ 4 จึงไม่ใช่เรื่องยากเลย

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรามีความอยากเกิดขึ้น เราดูจิตรู้ว่าจิตมีคลุมด้วยความอยาก
ทันทีอยู่กับจิตผู้รู้ สังเกตดูจะเห็นความอยากค่อยๆ คลายลง และหายไปในที่สุด
นั่นคือเห็นความคลายกำหนัดและการดับไปของกิเลส

ต่อมาผู้ปฏิบัติอาจใช้วิธี โยนิโสมนสิการ (นึกนำ) ถึงอนิจจัง ก็ได้ แต่หากปฏิบัติ
บ่อยๆ เห็นจิต เห็นอารมณ์ตนเองบ่อยๆ จิตก็จะเรียนรู้ และตระหนักรู้ อยู่เอง
ถึงความเป็น อนิจจัง เมื่อเห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์เมื่อจิตต้องการจะให้
มันเที่ยง ความรู้ว่าสิ่งตางๆ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราก็จะเกิดขึ้น
ตามด้วยความรู้สึกสักแต่ว่า อันหมายความว่า จิตได้เรียนรู้แล้วว่าสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เรา
ไม่ใช่ของเรา จิตก็เรียนรู้ที่จะดูอยู่เฉยๆ ไม่เขาไปเกาะตามอารมณ์
ตรงนี้เรียกว่าการสละคืนกิเลสนั่นเอง (ไม่คล้อยตามกิเลส)
เมื่อสละคืนกิเลสไปหมดแล้ว เราคืนทุกอย่างที่เอามาเป็นตัวกูของกูหมดแล้ว
ที่เหลืออยู่จึงเป็นความจริงที่ไม่ปรุงแต่งนั่นเอง
โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 16 มีนาคม 2543 16:44:50

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 17 มีนาคม 2543 07:22:44
สาธุ....

นึกถึงเรื่องโยนิโสมนสิการแล้ว ให้รู้สึกว่า ธรรมข้อนี้มีคุณมากมายอยู่หลายประการจริงๆครับ แต่ว่าแม้จะเป็นธรรมที่มีคุณมากมายล้นพ้นก็ตาม แต่ก็ต้องเลือกใช้ให้ถูกต้อง เหมาะสม พอเหมาะ พอควรด้วย มิฉะนั้นแล้วอาจจะมัวแต่คอยจ้องจะ โยนิดสมนสิการ โดยไม่เปิดโอกาสให้ธรรมข้ออื่นได้ทำงานบ้าง

มนสิการนี้ หากใช้ได้ถูกต้อง ก็จะช่วยย่นย่อให้การปฎิบัติก้าวหน้าไปตามลำดับยิ่งขิ้น เท่าที่ผมพอจะเคียบเคียงได้ประการหนึ่งก็คือ อุบายที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกกรรมฐานมา ก็เป็นการชี้แนะแนวทางให้ มนสิการ นี้ ใช้ไปได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นศิษย์จึงไม่ควรห่างครู โดยเฉพาะในช่วงแรกเพื่อให้มนสิการได้ถูกต้อง และไม่ควรใกล้ชิดครูเกินไป จนตนเองไม่หัด โยนิโสมนสิการบ้างเลย

ครูเคยเล่าให้ฟังว่า ในสมัยพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านยังอยู่ หากลูกศิษย์องค์ใดของท่านมีการภาวนาที่กล้าแข็งแล้ว ท่านมักจะให้ไปภาวนาในป่า แต่หากองค์ใดภาวนายังไม่แน่น ท่านจะไม่ยอมให้ไปไหน และเคยได้ยินมาบ้างเหมือนกันว่า หากองค์ใดดื้อหรือฝืนไป ก็มักจะไปไม่รอด ต้องสึกเพราะไม่สามารถฝ่าด่านกิเลสมารไปได้

โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 17 มีนาคม 2543 07:22:44

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 17 มีนาคม 2543 08:30:25
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน ศุกร์ ที่ 17 มีนาคม 2543 08:40:07
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 17 มีนาคม 2543 08:49:30
สาธุค่ะคุณมะขามป้อม
นักปฏิบัตินั้นเดินไปแล้ว มองเห็นแผนที่ก็คงอมยิ้มว่า
นั่นไง แผนที่ละเอียดอย่างไร นั้นซึ่งแก่ใจ ดีใจที่เห็นแผนที่ ที่ละเอียด แต่การรู้ การเห็นของผู้เดินทางนั้น
บางทีก็ละเอียดเสียยิ่งกว่าแผนที่ เพราะบางทีเราก็เห็น
ว่าระหว่างทางมันมีอะไรเล็กๆ น้อยๆ ให้เห็นด้วย มัน
บรรยายกันไม่หมด เห็นได้ไม่เท่ากันอีกด้วย ตามความ
ละเอียดละออของคนๆ นั้นเป็นหลักใหญ่

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คนเดินทางอย่างน้อยก็ต้องรู้แผนที่ด้วย
ต้องรู้แน่นอนว่าเดินไปไหน และไปทางไหน เพื่อกันการ
หลงทางนั่นเอง

เห็นคุณพัลวันกล่าวถึงแล้ว ก็ทำให้นึกว่าบางทีที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนเรานั้น ท่านก็เล็งเห็นเราแล้วว่า จะสอนเราอย่างไร ให้เดินอย่างไรที่จะเหมาะสมกับคนคนนั้นโดยเฉพาะ ด้วยความรู้ประสบการณ์ของครูบาอาจารย์ ท่านได้เล็งเห็นเราแล้ว จึงสอนไปเช่นนั้น แต่ศิษย์มีหรือจะเหนืออาจารย์ ศิษย์โง่ จึงยังมีอยู่แน่นอน
ได้แต่ ทำการนอกคอกร่ำไป ก็เลยเดินไม่ตรงทางเสียที
อาศัยเมตตาที่ท่านมีอย่างมากมาย ไม่เหนื่อยหน่ายกับ
ความโง่ของศิษย์ ก็ชี้ก็แนะไปเรื่อย ฉะนั้น ตอนนี้ก็คง
ต้องโยนิโสมแล้วค่ะคุณพัลวัน เอาคำสอนมาใส่ใจให้มาก พิจารณาให้ดี ในกาย ในจิต เรานี้เอง อย่างไรก็ยัง
เป็นทาง ที่ลงไปในแผนที่ ในสติปัฏฐานสี่ได้อยู่ดี
โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 17 มีนาคม 2543 08:49:30

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 17 มีนาคม 2543 10:07:10
กระทู้นี้ของ คุณมะขามป้อม ถึงอกถึงใจดีจริงครับ
ไม่ได้อ่านธรรมดีๆ อย่างนี้มาหลายวันแล้ว
คุณมะขามป้อมกับผมยังไม่เคยเจอกันก็จริง
แต่สนิทสนมกันถึงใจเหมือนญาติ ก็เพราะธรรมที่ลงกันได้สนิท

อันที่จริงการปฏิบัติตลอดสาย ก็มีแต่เรื่องจิตกับอารมณ์นั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็นหมวดกาย ก็คือกายกับจิต
หมวดเวทนา ก็คือเวทนากับจิต
หมวดจิต ก็คือจิต(สังขาร)กับจิต
และหมวดธรรม ก็คือธรรมกับจิต
ถ้าปราศจากจิตเสียแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรม
และไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้ด้วย

จิตนั้นแหละเป็นผู้เข้าไปยึดไปถืออารมณ์
แล้วเกิดความเป็นตัวเราและของเราขึ้นมา
หนทางแห่งทุกข์ก็เกิดขึ้นด้วยเหตุนี้
การปฏิบัติที่จริงก็ไม่มีอะไรมาก
เป็นแค่การให้จิตได้เรียนรู้ความจริง
จนถอดถอนตนเองออกจากอารมณ์ที่จิตไปยึดเข้า
และเมื่อถอดถอนได้หมดจดจริงๆ
ความเป็นตัวตนของจิตก็หมดไปด้วย
จึงไม่มีผู้ทุกข์ ผู้เกิดแก่เจ็บตายอีกต่อไป
มีแต่ธาตุขันธ์ที่ทำหน้าที่ไปจนกว่าจะหมดแรงส่งของวิบากกรรม

การที่เราพูดกันเรื่องการ ดูจิตๆ นั้น
เอาเข้าจริงจะว่าครอบคลุมการเจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 ก็ว่าได้
เพราะจิตนั้นเองไปยึดกาย เวทนา จิต ธรรม
เราจึงต้องรู้จักจิต ทำจิตให้เป็นธรรมเอก
คือตั้งมั่น สงบ อ่อน ควรแก่การงาน สะอาด
แล้วเจริญสติสัมปชัญญะ เรียนรู้ความสัมผัสสัมพันธ์ระหว่างจิตกับอารมณ์
ก็จะรู้ธรรมชาติของอารมณ์ว่า ล้วนแต่เกิดแล้วดับทั้งสิ้น (รู้ไตรลักษณ์)
รวมทั้งจะรู้ธรรมชาติของจิตว่า
ถ้าอยากถ้ายึดอารมณ์เมื่อใด ก็ทุกข์เมื่อนั้น (รู้อริยสัจจ์)
ทั้งตัวจิตเองเมื่อปราศจากการปรุงแต่งของอารมณ์
จิตก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา ตกอยู่ใต้อนัตตาเช่นเดียวกับอารมณ์นั่นเอง

เมื่อจิตรู้จริงเห็นจริงอย่างนี้แล้ว
จิตก็คลายความยึดถือ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจชักนำของกิเลส
แล้วปล่อยวางกายและจิต สลัดคืนให้ธรรมชาติไป

ธรรมะเป็นเรื่องเปิดเผย และตรงไปตรงมาอย่างนี้แหละครับ
โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 17 มีนาคม 2543 10:07:10

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 17 มีนาคม 2543 10:45:55
สาธุครัับพี่สันตินันท์

มีอีกเหตุผลหนึ่งครับ ที่เขียนกระทู้นี้
เมื่อก่อนนี้ตอนอ่าน วิธีปฏิบัติอานาปานสติใหม่ๆ รู้สึกสับสน
และรู้สึกว่ามันยากมากที่จะปฏิบัติถึงหมวดธรรม
พออ่านถึงความดับแห่งกิเลส ความสลัดคือกิเลส
ทำให้นึกถึงว่าคงจะต้องเป็นอรหันต์เท่านั้นที่ทำได้
อ่านแล้วคิดว่ามันเป็นขั้นที่ถาวร ไม่ย้อนกลับ กิเลสดับแล้วดับไปเลย

พอตอนนี้กลับไปอ่านใหม่ เทียบกับการปฏิบัติของตน
ก็รู้ชัดว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น

ถ้าเรามีจิตสงบตั้งมั่น(มีสมาธิ) มีการกำหนดสติถูกต้อง
เราสามารถทำได้พรวดเดียวทะลุทั้ง 4 หมวดถึงธรรมเลย
เรียกว่า สามารถชิมรสนิพพานได้เลย

แต่ถ้าเราฟุ้งซ่าน ส่งจิตออกนอก ก็มีกิเลสเกิด มีอุปทาน
เกิดขึ้นมาใหม่

ในขณะที่เรายังไม่บรรลุอรหันต์ จิตเราก็จะวนเวียน
มีกิเลส เกิดดับอยู่อย่างนี้เอง
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 17 มีนาคม 2543 10:45:55

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน ศุกร์ ที่ 17 มีนาคม 2543 14:33:48
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 17 มีนาคม 2543 14:59:48
ขออภัยอย่างสูงข้อมูลผิดพลาดครับ
(เอามาจากมหาสติปัฏฐานสูตรในลานธรรมนั่นแหละครับ)

ที่จริงในหมวดธรรมของมหาสติปัฏฐานสูตรมีอีก 2 บรรพครับ
คือ โพชฌงคบรรพ และ สัจจบรรพ รวมเป็น 5 บรรพครับ

(ต้องรบกวน glory ช่วยเพิ่มเติมทั้ง 2 บรรพ ในพระสูตรที่ลานธรรมด้วยครับ
จะได้ครบถ้วนสมบูรณ์)
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 17 มีนาคม 2543 14:59:48

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ ป๋อง วัน เสาร์ ที่ 18 มีนาคม 2543 12:25:49
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ทองคำขาว วัน เสาร์ ที่ 18 มีนาคม 2543 06:47:29
ยังปลูกมะพร้าวเองไม่ค่อยเก่ง
เข้ามาทานมะพร้าวด้วยคนครับ

เห็นด้วยกับพี่มะขามฯเลยทีเดียว
ว่าแต่ก่อนอ่านอานาปานสติใหม่ๆเอง
รวมทั้งถ้าให้อ่านมหาสติปัฏฐานสูตรเอง
มีแต่ความรู้สึกว่ายากมาก ปฎิบัตินี่ยากมาก
ได้แต่เหมือนคนชิมเพียงมโนภาพ
แม้จะ get idea แต่ไม่นานก็ลืม
แต่เมื่อรู้จักหมั่นเพียรสังเกตุดูจิต ดูธรรม
(หากไม่ใช่ดูผิดเป็น ดูกิเลส ดูความรู้ที่กิเลสสอน)
จนพอเข้าใจสภาวธรรมต่างๆได้เป็นลำดับขึ้นมาบ้าง
ก็พบได้ว่าทั้ง กาย เวทนา จิต ธรรม นั้น
สอดคล้องเป็นอันดี เมื่อจิตที่สว่างเห็นชัดเจน
เห็นอย่างที่พี่มะขามฯว่าไว้
คือ เห็นแทงตลอดจนถึงหมวดธรรมเลยทีเดียว

_/|\_ สาธุกับผู้ที่จิตมีความร่มเย็นเพราะทำเหตุไว้ดีแล้ว
_/|\_ สาธุกับผู้ที่จิตแสดงธรรมได้อย่างเป็นธรรมดาในธรรม
_/|\_ และสาธุในความเพียรของทุกๆท่านด้วยครับ
โดยคุณ ทองคำขาว วัน เสาร์ ที่ 18 มีนาคม 2543 06:47:29

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ทองคำขาว วัน เสาร์ ที่ 18 มีนาคม 2543 07:04:39
พิมพ์แล้วไม่ได้เช็ค แก้ครับ
เห็นอย่างที่พี่มะขามฯว่าไว้ --->
เห็นด้วยอย่างที่พี่มะขามฯว่าไว้

และก็ขอบคุณ พี่มะขามฯด้วยครับ
พอดีไป backup มหาสติปัฏฐานสูตรชุดแรกที่จัดไว้ที่ตั้งแต่สมัยแรกๆ ข้อมูลไม่ครบจริงๆครับ

โดยคุณ ทองคำขาว วัน เสาร์ ที่ 18 มีนาคม 2543 07:04:39

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ พัลวัน วัน เสาร์ ที่ 18 มีนาคม 2543 12:26:08
กับความรู้สึกของตนเองในเรื่องการฝึกฝนสตินั้น เมื่อเริ่มสนใจในครั้งแรก ก็บอกกับตัวเองว่ามันยาก ยากกว่าการฝึกสมาธิเสียอีก ในตอนนั้นความเข้าใจของผมมีเพียงเท่านี้เองครับ แม้ใจวันที่ไปฝึกการดูจิตกับครู ก็รู้สึกว่ามันยากเย็นเสียเหลือเกินครับ แต่ในภายหลังกลับพบว่า เราน่ะไม่เข้าใจเลยว่าสติคืออะไร ความรู้ชัดคืออะไร นอกจากไม่เข้าใจแล้วยังมีจินตนาการของตนเองปนเปื้อนเข้าไปอีก ว่าเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้
โดยคุณ พัลวัน วัน เสาร์ ที่ 18 มีนาคม 2543 12:26:08

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 21 มีนาคม 2543 10:08:39
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 6 มิถุนายน 2543 20:10:19
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com