กลับสู่หน้าหลัก

คุยกันแบบสบายๆ เรื่องอินทรีย์ 5

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 23 มีนาคม 2543 14:40:36

ผมไม่เคยคิดที่จะเป็นครูบาอาจารย์ของใคร 
เพราะยังมีกิเลสต้องสะสางอีกมาก 
แต่ก็มีหมู่เพื่อนแวะเวียนไปถามธรรมบ่อยครั้ง ในทุกสถานที่ที่พบกัน 
(กระทั่งในห้องน้ำก็ไม่ละเว้น) 
การที่ต้องอธิบายแจกแจงธรรมให้หมู่เพื่อนฟังอยู่เสมอๆ 
ทำให้ผมได้พบว่า เพื่อนบางคนฟังแล้วเข้าใจง่าย ปฏิบัติได้ทันที 
เพื่อนบางคนเข้าใจยาก ต้องฟังแล้วฟังอีกอยู่ช่วงหนึ่งจึงปฏิบัติได้ 
แต่เพื่อนบางคนฟังหลายคราวแล้ว ก็ยังไม่ลงมือปฏิบัติเสียที

ถ้าจะพูดด้วยโวหารของชาววัด ก็ต้องกล่าวว่า 
แต่ละคนมีอินทรีย์แก่อ่อนไม่เท่ากัน 
ซึ่งก็ถูกต้องครับ แต่ยังไม่ถูกใจคนรุ่นใหม่ที่จะได้รับคำตอบเพียงแค่นี้ 
เพราะฟังแล้วยังไม่รู้เรื่องว่า อินทรีย์คืออะไร มันแก่อ่อนได้อย่างไร 

วันนี้คิดว่าจะคุยกันอย่างสบายๆ ดังนั้นผมจะยังไม่พูดเรื่องอินทรีย์ตามตำรา 
แต่จะนำประสบการณ์จริงๆ มาเล่าสู่กันฟัง 
ว่าเพื่อนแต่ละประเภทที่เรียนรู้ได้ช้าเร็วผิดกันนั้น เกิดเพราะปัจจัยใดบ้าง 

จากที่สังเกตมานั้น เพื่อนบางคนที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจง่าย ปฏิบัติได้ทันที 
เพราะจิตใจในขณะนั้นมีความพร้อมหลายอย่าง
คือเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิอยู่ก่อนแล้ว
เพียงสะกิดนิดเดียวก็เข้าใจปลอดโปร่งไปหมด

นอกจากนี้ คนที่มีกำลังของสมถะสนับสนุนอยู่แล้ว 
จะเข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่าย
ส่วนคนที่ไม่มีกำลังความสงบของจิตใจเป็นทุนเดิมอยู่เลย
แม้จะฟังเข้าใจด้วยเหตุผล
แต่ในขั้นลงมือปฏิบัติจริง มักจะไม่เป็นธรรมชาติ
มีการกดข่มบังคับใจอย่างรุนแรง เกิดอาการแน่น อึดอัด เป็นก้อนขึ้นมาเต็มอก

เพื่อนๆ ประเภทที่ฟังปุ๊บเข้าใจปั๊บ ปฏิบัติตามได้ทันที ก็พอมีอยู่หลายคน
แต่ส่วนมากจะเป็นประเภทที่ 2 คือต้องฟังหลายๆ ครั้ง
ลองผิดลองถูกไปสักพัก จึงจะเข้าใจได้
เพื่อนกลุ่มนี้ในช่วงแรกๆ เวลาอยู่ต่อหน้าผมจะปฏิบัติได้
หลังจากนั้นจะเริ่มหลงตามความคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งสับสน
แล้วก็ต้องมาฟังซ้ำๆ เมื่อลองปฏิบัติไปนานๆ เข้า 
จึงจะทราบว่า "พอดี" อยู่ตรงไหน

มีบ้างครับที่ฟังอย่างตั้งใจ แต่ไม่ยอมลงมือปฏิบัติเสียที
เพื่อนกลุ่มนี้ส่วนมากจะเป็นนักคิด เป็นปัญญาชนเจ้าความคิด
มีความพยายามมากเหลือเกินที่จะฟัง เพื่อจะคิดตามให้เข้าใจเสียก่อนว่า
การปฏิบัติธรรมจะต้องทำอย่างไร ทำแล้วจะมีผลอย่างไร

ปมปัญหาอยู่ที่ตรงนี้แหละครับ
คือถ้าลงมือปฏิบัติทันที ตามที่แนะนำให้ ก็จะเข้าใจทันที
เหมือนกับที่เซ็นกล่าวว่า "พอลืมตาก็เห็นแล้ว"
แต่เพื่อนเหล่านี้ทนไม่ได้ที่จะปฏิบัติ
จึงไม่มีวันจะหมดสงสัยได้
และเมื่อไม่หมดสงสัยก็ไม่ยอมปฏิบัติ
กลายเป็นปัญหาแบบวงกลม หาจุดต้นจุดปลายไม่พบ

เมื่อคุยกันแบบไม่มีตำราแล้ว คราวนี้วกเข้าหาตำราสักหน่อยก็แล้วกันครับ
อินทรีย์/พละ 5 นั้นประกอบด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา

ผู้ที่จะปฏิบัติจำเป็นต้องอาศัยศรัทธา
คือมีความมั่นใจ และเชื่อฟังที่จะลองปฏิบัติตาม
เมื่ออยากจะลองปฏิบัติตามแล้ว ก็จะเกิดความเพียร(วิริยะ)ที่จะปฏิบัติ
การปฏิบัติก็ไม่มีอะไรมาก 
ขั้นต้นก็คือการเจริญสติระลึกรู้อารมณ์อันใดอันหนึ่งอย่างต่อเนื่องไป
อาศัยการมีสติระลึกรู้อารมณ์อันเดียว ก็เกิดสมาธิ คือมีจิตตั้งมั่นเป็นธรรมเอก
แล้วเจริญสติด้วยจิตที่เป็นธรรมเอก
ความไม่หลง ความไม่ถูกโมหะครอบงำ ความรู้ตัวก็แจ่มชัด
และรู้เท่าทันความผันแปรของกายและจิตเรื่อยไป เป็นปัญญา

เมื่อมีปัญญาขั้นต้น คือเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของอารมณ์และจิต
เห็นชัดว่า ถ้าจิตอยากจิตยึด จิตก็ทุกข์
ก็ยิ่งเกิดความศรัทธามั่นคงในพระศาสนาหนักแน่นเข้าไปอีก
ความเพียรก็สม่ำเสมอหนักแน่น สติ สมาธิ ปัญญา
ก็หมุนเป็นเกลียวกระชับสนับสนุนกันมั่นคงหนักเข้าตามลำดับ

แต่ถ้าปฏิบัติไม่ถูก อินทรีย์/พละ 5 ก็ไม่สม่ำเสมอหนุนเสริมกัน
เช่นศรัทธามากไป ก็กลายเป็นงมงาย
วิริยะมากไปก็กลายเป็นเคร่งเครียด
สติมากไปจิตก็แข็งกระด้าง
สมาธิมากไปจิตก็เคลิบเคลิ้มลืมตัว
ปัญญามากไปก็ฟุ้งซ่าน
ถ้ามีอะไรมากไปน้อยไป  ล้วนไม่ดีทั้งนั้น
อันนี้เป็นหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกับครูบาอาจารย์เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

เรื่องมากไปๆ นี้ ถ้าไปคุยกับผู้เรียนตำรา
เขาจะแย้งทันทีว่า สติมากไปไม่มี
เพราะสติยิ่งมาก ย่ิงดี
อันนี้ก็เป็นเรื่องของโวหารครับ
ในความเป็นจริงไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกันเลย
เพราะสติที่เป็นสัมมาสติจริงๆ นั้น ถ้ามาก(ต่อเนื่อง) จะดีที่สุด
แต่ถ้ามากแบบแข็งกระด้าง เป็นมิจฉาสติ ก็ไม่ดีแน่
อีกอย่างหนึ่ง ผู้เรียนตำราบางคนเขาว่ามิจฉาสติไม่มี
ซึ่งก็ไม่จริงครับ ในพระไตรปิฎกท่านกล่าวถึงมิจฉาสติไว้เยอะแยะ
สติที่แข็งกระด้างที่นักปฏิบัติเราพบเห็นนั่นเอง คือตัวมิจฉาสติ

วันนี้คุยกันเท่านี้ก็แล้วกันนะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 23 มีนาคม 2543 14:40:36

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ นิพ วัน พฤหัสบดี ที่ 23 มีนาคม 2543 15:26:55
สาธุครับผม _/i\_
คุณอากล่าวถ่อมตนแล้วครับ สิ่งที่คุณอาให้กับผมและหลายๆท่านนั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐครับ
ถ้าผมไม่ได้คุณอาชี้แนะผมก็ยังเป็นคนโง่ที่หลงตัวเองอยู่ และอาจจะต้องจมไปในกองกิเลส
อีกหลายล้านชาติ สิ่งที่คุณอาสอนทำให้พวกเรา(ขอตอบแทนหลายๆท่านครับ)เข้าใจธรรม
ที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ และเข้าใจถึงคุณค่าของใบไม้หนึ่งกำมือที่พระศาสดาประทานให้มาครับ
ดังนั้นคุณอา คำว่าครูบาอาจารย์นั้นสมควรแก่คุณอาแล้วครับ

นายสงบ
โดยคุณ นิพ วัน พฤหัสบดี ที่ 23 มีนาคม 2543 15:26:55

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ นิพ วัน พฤหัสบดี ที่ 23 มีนาคม 2543 15:43:45
เรียนถามคุณอาเพิ่มเติมครับ
ในกรณีที่อินทรีย์ทั้ง 5 ไม่สม่ำเสมอกันเราควรแก้อย่างไรครับ
อย่างวิริยะผมคิดว่า ก็เพลาๆลงบ้าง และกรณีศรัทธามากไปก็ต้องไตร่ตรองให้มากขึ้น
แต่กรณีของ สติ สมาธิ และปัญญา มันต้องแก้อย่างไรครับ ยังนึกภาพไม่ค่อยออกครับ
โดยเฉพาะปัญญาครับ 
โดยคุณ นิพ วัน พฤหัสบดี ที่ 23 มีนาคม 2543 15:43:45

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ โยคาวจร วัน พฤหัสบดี ที่ 23 มีนาคม 2543 16:10:37
(๏) สาธุครับ รู้สึกว่าจะอ่อนทุกอย่างเลย : )
โดยคุณ โยคาวจร วัน พฤหัสบดี ที่ 23 มีนาคม 2543 16:10:37

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ โจ้ วัน พฤหัสบดี ที่ 23 มีนาคม 2543 16:24:39
_/|\_
รู้สึกว่าทั้ง 5 ข้อ เป็นทั้งสิ่งที่สนับสนุนกัน
และเป็นสิ่งที่ช่วยถ่วงดุลกัน ให้เกิดความ "พอดี"  ด้วย

ได้อ่านธรรมะแบบนี้ แล้วเย็นและเบา
ไม่ต้องแบกตำรา หรือจำอะไรให้วุ่นวาย
ขอบพระคุณค่ะ
โดยคุณ โจ้ วัน พฤหัสบดี ที่ 23 มีนาคม 2543 16:24:39

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 23 มีนาคม 2543 16:27:12
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ Acura วัน พฤหัสบดี ที่ 23 มีนาคม 2543 22:14:14
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ธีรชัย วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 07:54:17
_/\_ สาธุ
เมื่อเช้า เพิ่งจะอ่านเรื่องอินทรีย์ 5 มาหยกๆเลยครับ(หลวงปู่เทสก์) ใจผมมันนึกสนุกเลยเทียบเอาง่ายๆว่า ศรัทธา,วิริยะเป็นทัพหน้า
สติ,สมาธิ,ปัญญา เป็นทัพหลวง เวลาใดที่ทัพหลวงพร้อมเพรียงกัน การเอาชนะข้าศึกก็ไม่ไช่เรื่องใหญ่ แต่ส่วนใหญ่ ทัพหลวงไม่ค่อยจะพร้อมเพรียงกันเท่าไรน่ะครับ เลยบาดเจ็บทุกที แต่บาดเจ็บในการรบแบบนี้ สบายจริงไม่ทรมาณเลยผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ จนจะกลายเป็นเพื่อนกับข้าศึกอยู่แล้วน่ะครับ(หลังจากครั้งแรก มองเป็นศัตรูคู่อาฆาตถัดมากลายเป็นครูสอนการรบ จนตอนนี้จะกลายเป็นเพื่อนกันซะแล้ว)
(มวยวัด เดิม)
โดยคุณ ธีรชัย วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 07:54:17

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 08:13:13
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ หนุ่ย วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 08:14:00
สาธุค่ะ ขอบพระคุณค่ะ _/|\_
โดยคุณ หนุ่ย วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 08:14:00

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 08:31:47
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ แมน วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 10:33:53
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 10:37:58
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ หนึ่ง วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 12:04:32
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ปิ่น วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 13:27:35
ขอบพระคุณพี่ปราโมทย์ครับ _/|\_
ผมเองยังต้องพยายามให้มากขึ้นกว่านี้อีก
ดีใจที่มีอาจารย์ดีคอยชี้แนะครับ
โดยคุณ ปิ่น วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 13:27:35

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 13:44:39
ตอบคุณนิพ
เรื่องที่จะทำให้อินทรีย์/พละ 5 สม่ำเสมอกันนั้น
ไม่ใช่ว่ามีความเพียรมากแล้วลดความเพียรลง
เคยเดินจงกรมวันละ 2 ชั่วโมง ปรับให้เหลือ 1 ชั่วโมง
เพื่อจะให้สมดุลกับที่ยังมีสติน้อยๆ มีสมาธิน้อยๆ
ไม่ใช่แบบนี้นะครับ เพราะมีแต่จะพากันน้อยลงทุกอย่าง
เป็นการเสียท่ากิเลสอย่างร้ายแรงทีเดียว

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผมใช้มาแล้วก็คือ การพิจารณาอย่างแยบคาย
คือในเรื่องศรัทธานั้น ผมไม่เคยมีศรัทธาในครูบาอาจารย์จนถึงขั้นงมงาย
อันนี้เป็นนิสัยมาแต่ดั้งเดิม
คือครูบาอาจารย์สอนอะไร จะลองนำมาปฏิบัติดูอย่างจริงจัง
แล้วไปทดสอบรายงานผลกับท่าน
แต่ไม่เคยรู้สึกว่า ครูบาอาจารย์เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้
ไม่เคยคิดว่า จะต้องพึ่งพาอยู่ใกล้ท่าน จึงจะปฏิบัติได้

เรื่องความเพียรมากเกินไปนั้น ก็ต้องสังเกตจิตใจตนเอง
ว่าที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้น ทำไปเพราะความอยากหรือเปล่า
คาดหวังอะไรแฝงเร้นอยู่หรือเปล่า
เจริญสติสัมปชัญญะถูกต้องหรือเปล่า
เมื่อสามารถเจริญสติได้ถูกต้องแล้ว
การปฏิบัติอยู่ตลอดวัน ในทุกอิริยาบถเมื่อมีโอกาสทำได้
ก็จัดว่าเป็นการทำความเพียรที่พอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป
ไม่เกี่ยวอะไรกับว่าต้องเดินเท่านั้น ต้องนั่งเท่านี้

เรื่องสติก็ต้องสังเกตจิตใจตนเองเหมือนกัน
ว่าสตินั้นกล้าแข็งเกินไปหรือไม่

สติที่พอดี คือสติที่ตามระลึกรู้อารมณ์ไปอย่างสบายๆ ไม่เคร่งเครียด
คล้ายๆ กับงูเห่า คือเวลาอยู่ปกติมันก็สงบๆ อยู่เฉยๆ
แต่พอมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาใกล้ งูจึงจะชูคอขึ้นมาคอยดูสิ่งแปลกปลอม
เวลาอยู่ปกติ งูไม่จำเป็นต้องชูคอให้เมื่อย
สติก็เหมือนกัน ในเวลาปกติก็รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏไปเรื่อยๆ
ต่อเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมที่อาจเป็นภัย คือกิเลสตัณหาต่างๆ ผ่านมา
สติจะตื่นตัวปั๊บขึ้นมาเป็นอัตโนมัติ เพื่อรู้สิ่งแปลกปลอมนั้น
ก็จะเห็นสิ่งนั้นผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

ถ้าไปตั้งสติเคร่งเครียดเกินไป คอยระวังตัวแจอยู่ทุกขณะจิต
อันนั้นเหนื่อยเกินไปครับ แล้วกิเลสตัณหามันจะพาลซ่อนเงียบหมด
เพราะไม่อยากเดินผ่านหน้าสติที่เป็นนักเลงโตถือมีดไม้คอยจ้องอยู่ตลอดเวลา
สติมันหลบไปนอนสบาย คนที่ลำบากก็คือเจ้าตัวที่ตั้งสติแรงเกินไปนั่นเอง

ถ้าพิจารณาอย่างแยบคายรู้ว่าตั้งสติแข็งไป
ก็เพลาๆ การระวังบังคับจิตใจลงบ้าง

เรื่องสมาธิก็เหมือนกัน ถ้าทำสมาธิแบบเคลิ้มๆ อยู่เสมอ
ก็หัดมาทำความตื่นตัวของจิตให้มากขึ้น
แต่ถ้ามันตื่นตัวเกินไป แบบไม่เคยสงบสบายพักผ่อนเลย
ก็หันมาทำความสบายให้แก่จิตบ้าง
จะใช้จิตทำงานแบบใช้แรงงานทาสไม่ได้
ต้องให้เขาได้พักผ่อนบ้าง

ตัวปัญญาก็เหมือนกัน
ปัญญาจริงๆ ไม่มีอะไรมาก
เพียงเห็นจิตและอารมณ์เป็นไตรลักษณ์แบบประจักษ์ต่อหน้าต่อตาก็พอแล้ว
ส่วนความรู้ความเห็น ความแตกฉานต่างๆ นั้น
ไม่มีประโยชน์อะไรนักหรอกครับ
ดังนั้นแทนที่จะคิดๆ เอา ก็หันมารู้ๆ เอา
ปัญญาจะได้พอดีๆ ครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 13:44:39

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 14:39:38
ขอบคุณ คุณอาที่ชี้แนะครับ  _/I\_
โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 14:39:38

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ พัลวัน วัน เสาร์ ที่ 25 มีนาคม 2543 06:06:15
ได้อ่านหัวข้อสนทนาของครูจนถึงบรรทัดนี้ ก็ทั้งดีใจและหดหู่ใจ (แล้วแต่ว่าจิตไปจดจ่อกับเรื่องไหน จ่อเรื่องด้านดีก็รู้สึกดี จ่อเรื่องด้านไม่ดีก็รู้สึกไม่ดี)

ว่าที่เรื่องด้านดีก่อนนะครับ คือผมมีความรู้สึกว่า ในวันนี้ได้เข้าใกล้ชิดกับวิถีทางของผู้ปฎิบัติธรรมมากกว่าแต่ก่อน ดูเหมือนว่าอยู่ในบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมหรือจะเรียกว่ามีกลิ่นอายของการปฎิบัติธรรมอยู่มากทีเดียว เหตุที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้นก็เพราะว่า การปฎิบัติธรรมที่เรามุ่งมั่นทำกันอยู่นี้ เราปฎิบัติลงในความเป็นจริงที่เรียกกันว่า ชีวิตประจำวัน การปฎิบัติแบบนี้จำต้องมีลูกเล่นหรือเทคนิคเพื่อใช้ประกอบการปฎิบัติธรรมไปด้วย ซึ่งลูกเล่นหรือเทคนิคเหล่านี้ เราหาไม่ได้จากการอ่านตำราใดๆ (เว้นแต่ตำราที่เขียนในลักษณะการเล่าประสบการณ์ แต่ถึงกระนั้นก็หาได้ละเอียดจริงๆไม่ คงเพียงแต่เจาะเอาเฉพาะที่เห็นว่าน่าสนใจเท่านั้นเอง) ลูกเล่นหรือเทคนิคในการปฎิบัติธรรมนี้ หาไม่ได้ในพระไตรปิฎกครับ (มิได้ดูหมิ่นดูแคลนพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกยังคงเป็นหลักหรือแกนให้กับการค้นคว้าเหมือนเดิม เพียงแต่บางอย่างพระไตรปิฎกไม่ได้บันทึกไว้ ยกตัวอย่างเช่น คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่แสดงธรรมแก่พระปัญจวัคคีย์ หลังจากที่แสดงธรรมจักกัปวัตนสูตรไปแล้ว และก่อนแสดงเรื่องอนัตตลักขณสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงอะไร? เพราะทราบว่าทรงแสดงเรื่องเล็กๆน้อยๆ ซึ่งทำให้ผมเดาไปว่า เรื่องเล็กๆน้อยๆนี่แหละ น่าจะทรงแสดงเรื่องเทคนิคหรือวิธีหรือลูกเล่นหรือกลเม็ดหรืออะไรสักอย่างที่จะทำให้การปฎิบัติได้บรรลุเร็วขึ้น ซึ่งผมเห็นว่า เล็กๆน้อยๆอย่างนี้แหละที่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆน้อยๆจนไม่ต้องใส่ใจก็ได้ แต่ผมก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าเรื่องเล็กๆน้อยๆนั้นมีเรื่องอะไรบ้าง ได้แต่คาดเดาเอา แต่ในวันนี้ผมกลับได้พบกับ เรื่องเล็กๆน้อยๆที่มีคุณค่าอย่างยิ่งยวด  เพราะเรื่องที่เหล่านี้ในสายตาของคนทั่วไปที่ไม่ได้ปฎิบัติธรรมย่อมเห็นเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆจริงๆ แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆเหล่านี้กลับเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตเรื่องสำคัญให้กับผู้ปฎิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง นับว่าเป็นวาสนาของคนที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่ยังได้กลิ่นอายหรือบรรยากาศของพระป่า

ว่าถึงเรื่องด้านไม่ดี ผมมีความเห็นว่าระบบการศึกษาของไทย ได้ทำให้คนไทยหลงตัวเองว่ารู้และเก่งแล้ว ทั้งนี้เพราะระบบการศึกษาของไทยเน้นการท่องจำมากกว่าที่จะเน้นการทำหรือปฎิบัติจริงๆ ดังนั้นคนที่เติบโตมากับการศึกษาแบบนี้ ก็จะคิดว่าสิ่งที่ตนจำได้สิ่งที่ตนคิดได้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ตนทำได้แล้ว เพราะตนก็สอบไล่ได้ทุกปี ประสบความสำเร็จมาตลอดไม่มีเรียนซ้ำชั้นเลย แต่เอาเข้าจริงๆทำอะไรได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ตอนเด็กๆผมเคยนั่งนึกอยู่ในเรื่องทำนองนี้ครับ เช่น เรารู้สมการ E=MC2 แต่ทำไมเราทำระเบิดปรมาณูไม่ได้ หรือ เรารู้ว่าทรานซิสเตอร์ 1 ตัว ประกอบด้วยอะไรแต่ทำไมเราทำไม่ได้ หรือแม้แต่วงจรไฟฟ้าอีเลคทรอนิคส์ที่ขายกันเป็นชุดคิท เราก็ซื้อมาต่อแต่ต่อแล้วมันไม่ทำงาน ทุกอย่างก็ต่อถูกต้องแล้วนี่? ทำไม และทำไมพอเอาไปให้อีกคนหนึ่งที่เขาชอบเล่นพวกนี้อยู่ก่อนแล้ว เขาก็แค่เอาหัวแร้งจี้ลงไปที่ทุกจุดที่เป็นจุดของตะกั่วที่บัดกรีแล้ว เมื่อเขาทำมันครบมันก็ทำงาน ทำไม? ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำถามเหล่านี้กับประสบการณ์ที่ได้พบ ทำให้ผมคิดว่ามีอะไรมากกว่าที่เห็นในหนังสือแน่ๆ และจะหาได้จากประสบการณ์จริงๆของตนเท่านั้น เอาอย่างง่ายๆในเรื่องของเทคนิคการบัดกรี จนปัจจุบันนี้ผมก็ไม่ได้รับการสอนอย่างเป็นทางการเลย แม้จะจบมหาวิทยาลัยมาตั้งกว่า 10 ปี แล้วก็ตาม และรับรองเลยครับว่าหากผมไม่ได้ประสบการณ์ตรงจากสมัยวัยเด็ก ปัจจุบันนี้ผมเองยังอาจจะนึกประมาทการบัดกรีก็ได้ ว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ไม่น่าสนใจ ตราบใดที่ผมยังไม่ลงมือทำเองล่ะก็ ผมไม่รู้หรอกว่าผมจำเป็นต้องรู้เรื่องเล็กๆน้อยๆเช่นนี้ และที่สำคัญผมก็คงจะคิดอยู่เสมอๆว่า ผมสามารถจะต่อวงจรอีเลคโทรนิคส์ได้อย่างง่ายๆสบายๆไม่มีอะไร ต่อปุ๊บก็ทำงานได้ปั๊บทันที ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ถูกฝังรากลึกอยู่ในระบบการศึกษามากพอดู และฝังอยู่ในทัศนคติของคนไทยในหลายๆวัย ดังนั้นจึงไม่แปลกหรอกครับที่จะเห็นคนไทยนิยมใช้ของที่ชาติอื่นๆเขาทำมาขาย นิยมวิ่งตามแฟชั่น แต่ไม่ค่อยจะมีสิ่งประดิษฐ์ของคนไทยเองออกมาใช้ชื่นชมมากนัก และยังคงพบเห็นคนที่สำคัญตนว่ารู้ธรรม เป็นผู้ทรงปัญญา หรือแม้แต่สำคัญว่าตนได้อริยผลในบางระดับไปแล้ว เพียงเพราะเห็นว่าตนจำได้ ตนคิดได้ ก็เข้าใจว่าตนมีปัญญาแล้ว เช่นนี้ (วันนี้บ่นดังไปหน่อยกระมังครับ เพราะหลังจากที่ไปทำตัวเป็นยามในห้องสนทนาลานธรรมเสวนาแล้ว ได้พบเจอกับคนกลุ่มนี้มากขึ้นไปตามลำดับครับ ขอบ่นแค่นี้ก็แล้วกันครับ)

โดยคุณ พัลวัน วัน เสาร์ ที่ 25 มีนาคม 2543 06:06:15

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ naruntorn วัน จันทร์ ที่ 27 มีนาคม 2543 01:14:36
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ น้องน้อย วัน จันทร์ ที่ 27 มีนาคม 2543 14:21:27
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ น้องน้อย วัน จันทร์ ที่ 27 มีนาคม 2543 14:21:31
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 28 มีนาคม 2543 15:09:00
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ ทองจันทร์ วัน อาทิตย์ ที่ 2 เมษายน 2543 10:01:52
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ Lee วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 06:03:48
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 10:15:45
^-^ _/|\_
โดยคุณ นกเอี้ยง วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 10:15:45

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 7 มิถุนายน 2543 20:09:21
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com