กลับสู่หน้าหลัก

การเดินจงกรม

โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 09:14:47

องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการเดินจงกรม ว่ามีคุณประโยชน์มาก ผมจึงใคร่ขอใช้โอกาสนี้เพื่อ

1. ขอคำแนะนำการเดินจงกรมที่ถูกต้องจากครู (ทั้งขั้นตอนเริ่มแรก และขั้นต่อๆไป)
2. ขอให้สมาชิกแต่ละท่านเล่าประสบการณ์การเดินจงกรมของแต่ละท่านให้ทราบ
3. สอบถามข้อติดขัดในการเดินจงกรมของแต่ละท่านเอง
4. เว้นการชมกันเอง

ทั้งนี้โดยมีเจตนาเพื่อให้เป็นธรรมทาน ผู้ที่ตามหลังมาจะได้เริ่มต้นอย่างถูกต้อง และไม่ผิดพลาดซ้ำๆไปกับประสบการณ์ของผู้อื่น

โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 09:14:47

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ aek123 วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 10:47:41
การเดินจงกลม
ผมมีโอกาส ได้เรียนรู้ และปฎิบัติ การเดินจงกลม เมื่อประมาณ 2 ปีกว่าที่แล้ว โดยได้เข้า
อบรมวิปัสนากรรมฐาน ครั้งละ   7  วัน 2 ครั้ง  ซึ่งในการอบรม นั้น พระอาจารย์ที่ท่านมี
เมตตา มาสอน  แต่ละท่านจะมีวิธีการเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดบ้าง
ซึ่งผมคิดว่าก็  แล้วแต่จริต  ของแต่ละบุคคล  ในส่วนตัวผมเองจึงขอเล่า ความรู้สึกในการ
ปฎิบัติ เพื่ออาจเป็นประโยชน์ ในการพิจารณา และการปฎิบัติ 
ในการเดินจงกลมมีทั้งหมด 6 ระยะ  ซึ่งในการอบรมวันแรกๆ พระอาจารย์จะในเดินใน
ระยะที่ 1  วันที่ 2 จะเดินระยะที่2  และวันต่อๆๆ ไป ก็จะเดินจนครบ  6 ระยะ ซึ่งทุกระยะ
ก็มีหลักการปฎิบัติ คือ ให้กำหนดรู้ทุกขณะ  ระยะเวลาในการเดินก็จะค่อยๆ เพิ่ม จากแรกๆ
10 นาที  จนถึง 1 ชม  ในระยะแรกที่เดินค่อยข้างยากพอควร เพราะต้องคอยกำหนดรู้ตลอด
ปกติผมจะเป็นคนเดินเร็ว  แต่ต้องมาเดินช้าจึงค่อนข้างลำบาก ต้องฝืนความรู้สึกมาก แต่เมื่อ
ปฎิบัติไปได้ระยะหนึ่ง  ก็ปฎิบัติได้ดีขึ้น จนรู้สึกถึงประโยชน์และมีความตั้งใจมากขึ้น  สิ่ง
หนึ่งที่ผมปฎิบัติแล้ว คิดว่าตรงกับ  จริต ตัวเอง คือการเดินที่ช้าๆๆ และกำหนดทุกระยะ
พระอาจารย์ ได้แนะให้กำหนด ไปเรื่อยๆ  และช้าๆๆ  จะดี  จะได้เห็นรูป  นาม
ซึ่งผมก็ปฎิบัติ  แต่หลังอบรมผมก็ปฎิบัติ ได้น้อยลงเพราะมีภาระหน้าที่มาก  แต่ระหว่างเดิน
ก็จะให้มีสติรู้ที่ย่าง ซ้าย  หรือขวา   ปัจจุบัน ผมก็ยังไม่เห็น รูป นาม  แต่ไม่ใช่ต้องการเห็นนะครับ
เพียงแต่ก็ปฎิบัติ  เพื่อทำความเพียร  สิ่งหนึ่งที่ได้รับที่รู้สึกได้คือ  หลังจากเดินจงกลมแล้ว
มีวิริยะมาก   ทำให้การนั่งสมาธิดียิ่งขึ้น
โดยคุณ aek123 วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 10:47:41

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 10:57:07
ขอแสดงความเห็นก่อนเลยนะคะ เพื่อว่าผิดพลาดอย่างไร ครูจะได้แนะนำเพิ่มเติมด้วยค่ะ

เริ่มประสบการณ์ของตัวเองก็เดินไปเรื่อยแบบที่อ่านมา
จากหนังสือท่านพุทธทาสสอน ให้ใช้สติระลึกรู้ไปที่
การยก ย่าง เหยียบ โดยเน้นว่าให้เห็นแต่เพียงว่า
ทั้งหมดเป็นเพียงแค่อาการ แต่สำคัญตรงที่ต้องมีสติ
และสัมปชัญญะเป็นหลัก ได้หลักการมาแค่นี้ ก็เดิน เดิน

เดินไปเรื่อยๆ โดยยังจับไม่ได้ว่าสติสัมปัชญะจริงๆ เป็น
อย่างไร ตั้งหน้าตั้งตาเดินแบบเอาเป็นเอาตายอยู่พักนึง
ก็เริ่มรู้สึกตัวขึ้นมา เห็นว่าการรู้สึกตัวเป็นอย่างไร ซึ่ง
อธิบายได้ยาก แต่เห็นว่ารู้สึกว่าการเดิน การหายใจ
มันสอดคล้องกันไปหมด ทุกอย่างเป็นจังหวะที่เดินไป
อย่างสักแต่ว่าจริงๆ และเห็นว่ามีจิตอยู่ต่างหากจาก
กายที่เดินๆ มีความสงบเข้ามาในจิต จากที่ตอนแรกๆ
ก็เดินไปคิดไปสารพัด ห้ามกันไม่ค่อยอยู่ แต่อยู่ๆ ก็เริ่ม
เงียบกันไปเอง จิตสงบเงียบ กายก็มีอิริยาบทไป
เห็นชัดทั้งกายและจิต ที่ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวไป

เมื่อพอจะจับจุดได้ว่า อ้อ...การเดินจงกรมมันเป็นอย่าง
นี้นี่เอง มันก็เหมือนการนั่งทำสมาธิเหมือนกัน การหัดทำ
ไปเรื่อยๆ และเห็นเข้ามาที่จิตทุกครั้ง ในขณะที่กายก็
ดำรงอิริยาบทของกายไป สังเกตุว่ามันเหมือนเป็น
เหมือนกลไกอันหนึ่ง ทำหน้าที่ที่สอดคล้องกันไป แต่จิต
นั้นก็เป็นส่วนที่อยู่ต่างหาก แม้บางครั้งกายก็เห็นชัด
แต่จิตก็ไม่สงบ เห็นจิตนั้นชัดเจนขึ้น เห็นอาการต่างๆ
ของจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่อิริยาบทได้ดำเนินไปเรื่อยๆ
สังเกตเห็นการที่จิตวิ่งไปจับอารมณ์ต่างๆ ขณะที่เดินไป
อย่างนั้น แล้วจิตก็กลับมาอยู่ที่รู้เหมือนเดิมสลับไปมา
มองดูความยินดียินร้ายในขณะต่างๆ นั้น แม้เดินอยู่
อย่างนั้น ระยะทางไม่ไกล้ไม่ไกลเท่าไหร่ ความยินดี
ยินร้ายยังสามารถเปลี่ยนแปลงไปมาได้ ก็สังเกตไป
เรื่อยๆ

หลังจากที่คิดว่าตัวเองก็รู้เรื่องการเดินจงกรม เข้าใจแล้ว
ว่าเดินจงกรมแล้ว แต่เมื่อไปที่วัดเขาน้อย ครูให้เดิน
จงกรมให้ดู ปรากฏว่า ไม่ได้เรื่องเลย ตัวเองก็รู้ว่าตัวเอง
เดินเหมือนจงใจเสแสร้ง อย่างไรบอกไม่ถูก จนในที่สุด
ครูเลยไล่ให้ไปเดินเล่น และถ้าไม่หายก็ไปวิ่งออกกำลัง
ไปซะเลยแล้วกัน
โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 10:57:07

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 11:26:20
ในหลักการแล้ว การเดินจงกรมที่ถูกต้องคือการเดินอย่างมีสติสัมปชัญญะ 
เช่นเดียวกับการนั่งที่ถูกต้อง คือการนั่งอย่างมีสติสัมปชัญญะ 


ถ้ามีสติสัมปชัญญะ จะปฏิบัติธรรมในอิริยาบถใดก็ถูกต้องทั้งสิ้น 
ถ้าขาดสติสัมปชัญญะ ต่อให้เดินจงกรมจนเท้าแตก 
ก็ยังไม่ใช่การปฏิบัติธรรมแท้จริงในทางพระพุทธศาสนา 

****************************** 

การเดินจงกรมนั้น จะเดินให้เป็นสมถกรรมฐานก็ได้ 
จะให้เป็นวิปัสสนากรรมฐานก็ได้ 
ทั้งที่เดินอยู่ในที่เดียวกัน และในท่าเดียวกันนั่นเอง 

ท่าทางและสิ่งแวดล้อมภายนอก ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าเป็นสมถะหรือวิปัสสนา 
หากแต่ลักษณาการของจิตต่างหาก เป็นตัวตัดสิน 
คือถ้ามีสติจดจ่อลงในสิ่งหนึ่งสิ่งใด 
เช่นจดจ่อลงที่เท้าซึ่งเคลื่อนไหว 
จดจ่อลงในคำบริกรรมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเท้า เช่นยก ย่าง เหยียบ 
หรือบริกรรมขวาพุท ซ้ายโธ อะไรก็แล้วแต่ 
ถ้าสติจดจ่อลงในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ล้วนเป็นสมถะทั้งหมด 
แต่ถ้าในขณะนั้น จิตผู้รู้ทรงตัวอยู่ต่างหากเป็นธรรมเอก 
มีสัมปชัญญะความไม่หลง และมีสติระลึกรู้การเดิน 
อันนั้นคือการเจริญวิปัสสนา 

ถ้ากล่าวเช่นนี้ หมู่เพื่อนที่เคยฝึก "รู้" 
จะสามารถแยกสภาวะ 2 อย่างนี้ออกจากกันได้อย่างชัดเจน
เพราะอย่างหนึ่งนั้น จิตเคลื่อนเข้าไปจดจ่อรวมกับสิ่งที่ถูกรู้ 
ในขณะที่อีกอย่างหนึ่ง จิตเป็นธรรมเอก ทรงตัวอย่างเบิกบานแยกออกจากสิ่งที่ถูกรู้ 
จิตก็อยู่ส่วนจิต อารมณ์ก็อยู่ส่วนอารมณ์ 
แล้วก็มีปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตและอารมณ์ไปตามสภาพ 

*********************************** 
 
 เมื่อกล่าวถึงการเดินจงกรมอย่างเป็นวิปัสสนา
จะเดินเพื่อเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้
จะเจริญเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา 
หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้เช่นกัน
ไม่ต่างกับการนั่งสมาธิ ที่จะเจริญสติปัฏฐานหมวดใดก็ได้

เช่นถ้าเดินจงกรมโดยเห็นกายอยู่ในอิริยาบถเดิน
โดยจิตเป็นผู้รู้การเดินของกาย
ก็เป็นการเจริญกายานุปัสสนา ในหมวดอิริยาบถบรรพ
ถ้าจิตเป็นผู้รู้การเคลื่อนไหวของกาย
ก็เป็นการเจริญกายานุปัสสนา ในหมวดสัมปชัญญบรรพ
ถ้าเดินแล้วเหงื่อไหลไคลย้อย และรู้ด้วยจิตผู้รู้
ก็เป็นการเจริญกายานุปัสสนา ในหมวดปฏิกูลมนสิการบรรพ เป็นต้น

ถ้าเดินแล้วจิตผู้รู้ รู้ถึงความสุขสบายในการเดิน
รู้เรื่อยไป จนเกิดปวดเมื่อย ก็รู้ความปวดเมื่อยเป็นทุกขเวทนา
เดินต่อไปอีกจนหายเมื่อย หรือไปนั่งพักจนหายเมื่อย
หรือเดินจงกรมไป ระลึกรู้ความทุกข์ในจิตใจไป
ในที่สุดความทุกข์ใจก็ดับ เกิดความสุขสงบในใจ
ก็รู้เรื่อยไป จนความสุขสงบก็ดับ
เหลือแต่จิตที่เป็นกลางเบิกบาน สงบ ผ่องใส ก็รู้ไปอีก
อันนี้ก็คือการเจริญเวทนานุปัสสนาในอิริยาบถเดิน(จงกรม)

ถ้าเดินแล้วจิตผู้รู้ รู้ถึงความรู้สึกเมื่อเท้ากระทบพื้น
ก็เฝ้ารู้ความรู้สึกนั้นเรื่อยไป จะเห็นความเกิดดับของมันชัดเจน
ทำมากเข้าก็จะเห็นความกระเทือน ความไหว ขึ้นมาถึงอก
แล้วก็เดินรู้ความรู้สึกในอกเรื่อยไป
ก็จะเห็นชัดถึงจิตสังขารนานาชนิดที่หมุนเวียนกันเกิดดับ
เช่นเห็นความเกียจคร้านเบื่อหน่ายที่จะเดินบ้าง
เห็นความซึมเซา และความฟุ้งซ่านของจิตบ้าง
เห็นความสงบสุขผ่องใสของจิตบ้าง
อันนี้ก็คือการดูจิตในอิริยาบถเดิน
เป็นการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เมื่อเดินมากเข้า ดูจิตละเอียดเข้า ก็จะเห็นความอยากเกิดขึ้นบ้าง
จิตหลงตามความอยากไปยึดอารมณ์บ้าง
แล้วความทุกข์ก็เกิดขึ้น
ในที่สุดจะรู้ถึงกลไกการเกิดทุกข์ และกลไกของความดับทุกข์
การเฝ้ารู้อยู่นี้ คือการเจริญธัมมานุปัสสนาในระหว่างเดินจงกรม

***************************

สรุปแล้ว จงกรม ก็คือ "การก้าวไป" อันเป็นอิริยาบถหนึ่งของมนุษย์
ไม่ใช่เรื่องที่ประหลาดพิสดารอะไรเลย
ความอัศจรรย์ของการเดินจงกรม 
อยู่ที่การนำวิธีการปฏิบัติธรรมทั้งสมถะ และวิปัสสนามาสวมลงในอริยาบถเดิน
แล้วทำให้มนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง
สามารถเดินไปถึงสวรรค์ และพรหมโลก
หรือดับขันธ์เข้าถึงนิพพานที่ไม่มีการไปและไม่มีการมา

ที่เล่ามานี้เป็นเพียงหลักการนะครับ
ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยและกลวิธีเฉพาะตัว
ของการปฏิบัติธรรมในอิริยาบถเดิน
เป็นเรื่องที่แต่ละท่านมีประสบการณ์แตกต่างกันไป
และคุณพัลวันเชิญชวนให้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันแล้ว


โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 11:26:20

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 13:15:51
ผมเองมีประสบการณ์ในการเดินจงกรมค่อนข้างน้อยครับ ก็พอจะมีเรื่องเล่าได้บ้างนิดหน่อยเท่านั้นครับ

การเดินจงกรมของผมนั้นแทบจะเรียกได้ว่า ไร้กระบวนท่า โดยสิ้นเชิง เพราะเหตุว่า ในการเดินจงกรมนั้น ผมอาศัยการเข้าไปรู้การกระทบของเท้ากับพื้น เป็นแค่เครื่องสังเกตเท่านั้นเองครับ คือเป็นเครื่องสังเกตว่า ในขณะนั้น รู้แจ่มชัดดี หรือรู้ไม่แจ่มชัด หรือว่าเผลอไปในเรื่องอื่นๆเลย มีเพียงเท่านี้เองครับ ไม่ได้ทำอะไรที่มากไปกว่านี้เลย

แต่เพียงเท่าตรงนี้ ผมกลับสังเกตพบว่า การเดินจงกรมจะช่วยให้เรารู้ถึงการเผลอได้ง่าย และชัดเจนกว่าอิริยาบถอื่นๆครับ

ในฐานะที่รู้น้อย และเดินจงกรมมาน้อย ก็อยากจะทราบการเดินจงกรมของเพื่อนๆ ที่เป็นสมาชิกของวิมุตตินี้ครับ เพราะทราบมาว่า มีหลายท่านที่เดินจงกรมกันเป็นงานหลักเลยครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 13:15:51

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ปิ่น วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 14:06:48
ขอบพระคุณครับ
โดยคุณ ปิ่น วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 14:06:48

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 14:17:25
คุณปิ่นจะไม่เล่าการเดินจงกรมของคุณปิ่นให้ฟังหน่อยหรือครับ?
โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 14:17:25

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 16:13:05
ทำเหมือนๆ กับนั่งสมาธิเลยครับ
กำหนดรู้พร้อมให้ทั่วทั้งกาย พร้อมระลึกรู้ ดูจิตไปด้วย
ว่าจิตเป็นอย่างไร กำลังนึกคิดเรื่องอะไร
หากรู้ตัวว่ากำลังเปลี่ยนจากรู้ เป็น คิด
ก็สลัดความคิดทิ้งเสีย เริ่มกำหนดรู้ใหม่ แค่นี้เองครับ
<<< รู้ไม่ใช่คิด หลักง่ายๆ หลักเดียวใช้ได้ทุกงานเลย >>>

เพราะถ้าสังเกตดูดีๆ ก็จะเห็นว่าความอยากเริ่มที่
ความคิดปรุงแต่ง ถ้าเรารู้เฉยๆ ไม่ไปปรุงแต่ง เป็นนั่นเป็นนี่
กิเลสตัญหาก็ไม่มีโอกาสเกิด เพราะโดนคุมกำเนิดซะแล้ว
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 16:13:05

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 16:42:07
ผมก็คล้ายๆกับคุณ พัลวันแหล่ะครับ เดิมทีผมก็เดินแบบย่องๆคล้ายจับโจร
จนกระทั้งมาอ่านกระทู้ที่คุณอาสอนเรื่องดูจิต
ที่ให้รู้ความรู้สึกของเท้าเวลากระทบพื้นและเดินไปตามสบาย ผมก็เลิกย่องแล้วเดินตามสบาย
เหมือนเดินเล่น บางทีก็เร็วบางทีเดินธรรมดาๆ ในขณะที่เดินเพื่อรู้ความรู้สึกนั้น
ถ้าเพ่งผมก็พยายามคลาย ถ้าเหมอก็พยายามดึงกลับมามีสติ มีอารมณ์อะไรมาก็รู้มันเฉยๆ
แต่ท่ีเข้ามามากที่สุดคือความง่วงครับ เข้ามาทีมึนหัวเลยครับ พอเดินไปได้ซักรู้สึกว่ามีปีติอ่อนๆ
อั้นอยู่กลางอกซึ่งจะเกิดขึ้นตอนที่ไม่มีความฟุ่งซ่านของความคิดแล้ว หรือมีแต่เราไม่ได้จมไปใน
ความคิดนั้นครับ
พอดีมาอ่านที่คุณอาเขียนไว้ว่า "ทำมากเข้าก็จะเห็นความกระเทือน ความไหว ขึ้นมาถึงอก"
ผมไม่แน่ใจว่าผมจะถึงขั้นนั้นหรือเปล่านะครับ คือบางครั้งพอเดินไปเรื่อยๆเวลาที่ฝ่าเท้ากระทบ
ก้รุ้สึกเหมือนกันว่าความรู้สึกนั้นขึ้นมาถึงกลางตัวแต่ไม่แน่ใจว่าถึงอกหรือไม่ครับ
แต่จะเกิดขึ้นเมื่อเดินอย่างมีสติดีๆครับ
ก็มีเท่านี้แหล่ะครับ เท่าที่ผมประสพมาแต่เรียนตรงว่าเวลาเดินจงกลมทีไรส่วนมาก
จะเผลอคิดทุกทีครับ เพราะยิ่งเดินความคิดยิ่งเยอะครับ
โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 24 มีนาคม 2543 16:42:07

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 25 มีนาคม 2543 15:49:55
เทคนิคการเดินมีหลากหลายครับ
ถ้าจิตฟุ้งซ่านมากนักก็เดินแบบสมถะเสียก่อน
เช่นเอาสติจดจ่อรู้การเคลื่อนไหวของเท้า
อาจจะบริกรรมกำกับเข้าไปด้วยก็ได้ตามถนัด
เมื่อจิตมีกำลังแล้ว จิตจะเขยิบขึ้นมารู้ตัวทั่วพร้อม
แล้วขยับมาดูจิตทำงาน ต่อไป

หรืออย่างการเดินรู้ความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้นนั้น
ถ้าสติจ่อเข้าไปที่ความรู้สึก ก็เป็นสมถะได้เหมือนกัน
แต่เมื่อทำมากเข้า ความรู้ตัวค่อยแจ่มชัดขึ้น
ก็จะรู้การกระทบนั้นไปอย่างสบายๆ โดยจิตไม่ไหลเข้าไปในความรู้สึกนั้น
ต่อมาเมื่อเกิดกิเลสตัณหาใดๆ ขึ้น ก็จะรู้ชัดเจนต่อไป
สำหรับประเด็นที่รู้ขึ้นมาที่อกนั้น ไม่อยากให้พวกเรากังวลถึงมากนัก
เอาเป็นว่า กิเลสตัณหาเกิดดับที่ไหน ก็รู้อยู่ตรงนั้นดีกว่าครับ
แล้วมันจะเข้ามารู้ที่หทยวัตถุที่อกหรือไม่ ก็ช่างมันเถอะครับ
ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาดีกว่า
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 25 มีนาคม 2543 15:49:55

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ น้ำ วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 22:49:39
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 7 มิถุนายน 2543 20:10:57
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com