กลับสู่หน้าหลัก

ความแปลกแยก และการคืนสู่ธรรมชาติ

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 09:09:41

เมื่อวันเสาร์ได้รับเมล์สั้นๆ จากคุณมะขามป้อมฉบับหนึ่ง
เล่าถึงสภาวะบางอย่างให้ผมฟัง 
และขอให้นำมาเขียนอธิบายเพิ่มเติมในกระทู้
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่จิตแปลกแยกออกจากธรรมชาติ
และจิตที่หลอมรวมเข้าเป็นอันเดียวกับธรรมชาติ

อันที่จริงสรรพสิ่งในจักรวาลก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่แล้ว
แต่จิตที่อุบัติขึ้นต่างหาก ประกอบด้วยอวิชชาหรือความไม่รู้จริง
จึงเริ่มแปลกแยกออกจากธรรมชาติอันเป็นกลางและศานติ
ด้วยการส่งออกรู้อารมณ์ภายนอก แล้วเกิดความรู้สึกแบ่งแยกขึ้นว่า
นี้(จิต)เรา นี้(อารมณ์)สิ่งภายนอก
ภาวะความเป็นคู่ก็เกิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา

นักปราชญ์ในลัทธิศาสนาอื่นๆ บางลัทธิศาสนา
ท่านก็เข้าใจถึงธรรมชาติเดิมของจักรวาลที่เป็นหนึ่ง
และพยายามจะกลับไปสู่ความเป็นหนึ่งนั้น
เช่นฮินดู ต้องการให้อาตมันกลับรวมเข้ากับปรมาตมัน
หรือเต๋า ก็ต้องการกลับคืนสู่ธรรมชาติเช่นกัน
แต่ความต่างระหว่างพระพุทธศาสนากับทัศนะของปราชญ์อื่นมีอยู่บางอย่าง
คือมรรคหรือวิถีที่จะกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างหนึ่ง
กับความเป็น "เรา" ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเห็นว่าไม่มีจริง อยู่ตั้งแต่แรกแล้ว
ไม่ใช่มี "เรา" แล้วเอา "เรา" กลับคืนสู่ธรรมชาติ


จิตที่ไปเข้าคู่รู้สิ่งภายนอกนั้น ได้มีปฏิกิริยาเกิดความคิดนึกขึ้น
เมื่อมีความคิดนึกแล้ว จิตไม่รู้ทัน
ความคิดนึกนั้นก็ปรุงแต่งครอบงำจิต
เกิดความรู้สึกว่า "เรา" ขึ้นมา แล้วก็ตามมาด้วย 
"ของเรา" "เขา" และ "ของเขา"
และเมื่อเกิดกิเลสเช่นราคะและโทสะขึ้น
ก็เกิดการรุกรานเบียดเบียนกันระหว่างเราและเขาขึ้นมา
สัตว์ก็ยิ่งแปลกแยกออกจากธรรมชาติที่สงบศานติมากขึ้นตามลำดับ

สรุปแล้ว เพราะความไม่รู้ ทำให้สังขารคือความคิดนึก เข้าไปปรุงแต่งจิต
จิตก็เกิดความเป็นตัวตนขึ้นมา แล้วแปลกแยกออกจากธรรมชาติมากขึ้นทุกที


ในทางกลับกัน หากเรามีสัมมาทิฏฐิ คือรู้กฏของธรรมชาติ
ว่าความทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร
มีสติสัมปชัญญะ มีธรรมเอกคือสัมมาสมาธิอันได้แก่ความตั้งมั่นของจิต
หรือพูดง่ายๆ ว่า ถ้าเรา "ตื่น" หรือ "รู้ตัว" เมื่อใด
เมื่อนั้นเอง สังขารคือความคิดนึก ก็ไม่สามารถปรุงแต่งจิตได้
จิตก็ไม่เกิดความเป็น "เรา" ขึ้นมา อันเป็นการแยกตัวออกจากธรรมชาติ
และก็ไม่ต้องคิดถึงการกลับรวมเข้ากับธรรมชาติอีก
เพราะจิตเองก็เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว
แต่ความไม่รู้ต่างหาก ทำให้มันแยกตัวออกจากธรรมชาติ


พวกเรานักปฏิบัติหลายท่าน คงเคยสัมผัสธรรมชาติชนิดหนึ่งมาแล้ว
คือเมื่อใดมีความรู้ตัวแจ่มชัด 
จะเห็นจิตที่ไม่มีรูปร่างลักษณะแสงสีใดๆ เลย
เป็นธรรมชาติรู้ล้วนๆ
ในภาวะนั้นจะไม่รู้สึกว่ามีความแปลกแยกออกจากธรรมชาติเลย
ขันธ์ 5 คือร่างกายจิตใจนี้
กลับเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่บริสุทธิ์สะอาด
เหมือนแผ่นดิน เหมือนแผ่นน้ำ เหมือนภูเขา เหมือนต้นไม้ 
เหมือนกระทั่งดวงดาวบนฟ้า
ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีของเรา หรือของเขา
เป็นสภาวะที่เป็นตัวของตัวเอง และเบิกบานอย่างยิ่ง

สภาวะอันนี้ หลวงปู่เหรียญท่านเรียกให้ผมฟังว่า "เงานิพพาน"
ในวันที่ไปทำบุญวันเกิดลานธรรม
เมื่อผมกับตุลย์ไปนั่งอยู่ข้างๆ ท่าน
และจิตสัมผัสกับท่านแล้ว ท่านก็หันมายิ้มๆ
กล่าวว่าปฏิบัติมาถึงตรงนี้ ก็เห็น "เงานิพพาน" อยู่ในใจตนเองแล้ว

ต่อเมื่อปล่อยวางจิตผู้รู้อย่างแท้จริงแล้วนั่นแหละ จึงจะพบนิพพาน
เพราะไม่เหลือสิ่งใด ที่ถูกหยิบยกให้แปลกแยกออกจากธรรมชาติอีก
ไม่มีกระทั่งจิต เพราะจิตก็ไม่ใช่จิต
เพียงแต่เป็นธรรมชาติธรรมดาอย่างหนึ่งเท่านั้น
ที่มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับไป
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 09:09:41

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 09:18:29
สาธุ!!!! สาธุ!!!! สาธุ!!!!

งดงามจริงๆครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 09:18:29

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ดังตฤณ วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 09:22:42
ฟังว่าธรรมชาติกลับคืนสู่ธรรมชาติแต่ไหนแต่ไรมา รู้สึกแช่มชื่นทุกครั้งครับ
พี่ปราโมทย์แยกแยะในเชิงเปรียบเทียบได้กระจ่างมาก
ตรงนี้หลายคนแม้แต่ผมเองก็ไขว้เขวอยู่เหมือนกัน
ว่าเหลาจื๊อหรือศาสดาอื่นๆเขาเห็นอะไรกัน เหมือนนิพพานแน่หรือเปล่า
เพราะแม้วิธีพูดต่างกัน แต่อาจเห็นสิ่งเดียวกันจริงๆก็ได้

แต่มรรควิธีนี่ รับรองไม่เหมือน มีแต่พระศาสดาของเราเท่านั้น
ที่ประทานทางที่ถูกและง่ายสำหรับคนมีความเพียรจริง
สาวกศาสนาอื่นไปได้แค่จิตถึงอัตตาละเอียดเท่านั้น
โดยคุณ ดังตฤณ วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 09:22:42

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 09:29:23
อ่านข้อความของคุณดังตฤณแล้วทำให้นึกถึงคำพูดอยู่ประโยคหนึ่ง (จำไม่ได้ว่าได้ยินมาจากไหน) ที่ว่า "มีแต่พระพุทธศาสนานี้เท่านั้นที่สอนหลักอนัตตา"
โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 09:29:23

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ มะขามป้อม วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 10:13:14
_/|\_ สาธุ....
สมกับที่อยากฟัง บางทีเขียนธรรมเอง
มันก็ไม่ได้แบบที่ต้องการหน่ะครับ แฮะ แฮะ

เรื่องของเรื่องคือผมสังเกตเห็นกฏของธรรมชาติข้อหนึ่งครับคือ
เมื่อจิตรวมไปกับอารมณ์ เรากลับรู้สึกแยกส่วนธรรมชาติ
เมื่อจิตแยกจากอารมณ์ เรากลับรู้สึกรวมเป็นหนึ่งกับธรรมชาติ

ก็เลยขอให้พี่ปราโมทย์ช่วยขยายความให้ฟังนะครับ
(แล้วก็ได้ฟังธรรมะที่ ถึงใจ อย่างที่ต้องการจริง :) )

ตรงนี้ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นว่าเป็นคำอธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง
สังขตะธรรมกับอสังขตะธรรมได้อย่างชัดเจนทีเดียวครับ

โดยคุณ มะขามป้อม วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 10:13:14

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 10:34:09
^-^ _/|\_
โดยคุณ นกเอี้ยง วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 10:34:09

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 11:23:45
สาธุครับ เป็นธรรมที่นำความเบิกบานแก่ผู้ได้อ่านจริงๆครับ คุณอาแสดงธรรมให้เข้าใจได้ง่าย
แม้ผู้ที่ด้อยปัญญาอย่างผมยังอดที่จะเบิกบานในธรรมอันงดงามนี้ไม่ได้
ขอ สาธุอีกครั้งครับ _/I\_
โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 11:23:45

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 12:11:36
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ ปิ่น วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 18:45:56
สาธุครับพี่ปราโมทย์ _/|\_
ขอบพระคุณที่มีธรรมดีๆมาฝากเสมอๆ
โดยคุณ ปิ่น วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 18:45:56

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ ทองจันทร์ วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 21:03:39
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ Lee วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 21:41:31
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ หนึ่ง วัน จันทร์ ที่ 3 เมษายน 2543 21:52:19
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 07:13:16
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 07:34:39

เมื่อจิตรวมไปกับอารมณ์ เรากลับรู้สึกแยกส่วนธรรมชาติ
เมื่อจิตแยกจากอารมณ์ เรากลับรู้สึกรวมเป็นหนึ่งกับธรรมชาติ


ถึงใจจริงๆครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 07:34:39

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 08:09:24
ประเด็นที่ คุณพัลวัน กล่าวไว้ มีปรากฏในพระสูตรครับ
คือพระศาสดา หรือพระสารีบุตร (จำไม่ได้แล้ว) ท่านกล่าวว่า
คำสอนของผู้อื่นอาจจะสอนว่ากายเป็นอนัตตา
แต่มีเฉพาะคำสอนของพระองค์เท่านั้น ที่สอนว่า จิตเป็นอนัตตา

กระทู้นี้ที่จริงก็มาจากบทมาติกา หรือหัวข้อของคุณมะขามป้อม 2 ประโยคนั้นเอง
แต่ผมพลาดพลั้งไปลบเมล์ของคุณมะขามป้อมเข้า
ก็เลยเขียนเอาจากความจำ เขียนแล้วยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำไปว่าจะตรงประเด็นหรือเปล่า

สำหรับความเห็นของคุณดังตฤณ เป็นเรื่องน่าสนใจมาก
คือปราชญ์แต่ละท่านก็มีจุดสูงสุดในธรรมของตน
แต่อันที่จริง จุดสูงสุดของแต่ละท่าน ก็ไม่แน่ว่าจะเหมือนกันเสมอไป
วิถีเพื่อไปถึงจุดสูงสุดก็ต่างกัน
และจุดที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งที่เด่นชัดมากก็คือเรื่อง "ความเป็นเรา"
นอกจากพระพุทธศาสนาแล้ว มีสิ่งบางสิ่งเป็นเราทั้งสิ้น

กระทั่งกลุ่มที่เชื่อว่าตายแล้วสูญ
ก็ยัง "มีเรา" ในปัจจุบัน และต่อไปก็ "ไม่มีเรา" เมื่อตายแล้ว
เวลามี ก็มีจริงๆ เวลาไม่มี ก็ไม่มีจริงๆ
ในขณะที่พระศาสดาทรงสอนถึงความมีที่สัมพัทธ์
คือมีเหตุ ก็มี หมดเหตุ ก็ไม่มี
และระหว่างที่มี ก็ไม่ได้มีแบบมีแก่นแท้ถาวรใดๆ
จัดเป็นคำสอนที่อยู่นอกเหนือจากความสุดโต่ง
ระหว่าง "ความมี กับความไม่มี" อย่างแท้จริง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 08:09:24

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 08:17:53
อ่านกระทู้นี้จบมันเหมือนกับโดนอาจารย์สอนเซ็น
เอาไม้ตีกลางกระหม่อมเลยทีเดียวครับ
เพราะเมื่อไม่กี่วันมานี้ ได้ซื้อหนังสือ"คำสอนของท่านฮวงโป"มาอ่าน
เป็นหนังสือที่ดีมากๆ คำสอนของเซ็น มาพ้องกับพระป่า
(หรือพระป่าไปพ้องกับเซ็น)จนอดแปลกใจไม่ได้เลยทีเดียว
ทีนี้พออ่านไปๆความผิดพลาดก็เริ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย
จนถึงคำสอนที่ว่า
"ไม่มีอะไรจะต้องลุถึง เพียงแต่ลืมตาตื่นเท่านั้นสิ่งๆนั้นก็จะปรากฏแก่เธอ"
ผมก็ตั้งหน้าตั้งตาตื่น(ด้วยสติ) จนเกือบเละไปเลยครับ
(อาจารย์บอกว่า ดัดจริตตื่น :-) ) จริงๆครับ ผมดัดจริตตื่น
เพราะสภาพมันไม่สดชื่นเลยแม้แยกกายกับจิตได้ก็เถอะ
มันไม่ได้สดชื่น เพราะจิตมันพกเอาอารมณ์ไปด้วย
เลยมัวๆไปหมด จนมาเอะใจว่ามันชักจะมีอะไรผิดพลาด
เข้าแล้วก็ตรงที่มันเริ่มติดอารมณ์ได้ง่าย
จิตไม่สดชื่นแจ่มใสเอาซะเลย บางครั้งพาลไปโทษว่าตัวเองขาดสมถะก็มี
(ความไม่สดชื่นแจ่มใสนี่แหละเป็นเครื่องหมาย
ที่ผมใช้ตรวจสอบความผิดพลาดอยู่บ่อยๆ)
แล้วก็เลยตัดสินใจเลิก"ตื่น" ได้ผลครับ กลับเข้าใจเซ็น
ได้เหมือนเดิม สดชื่นได้เหมือนเดิม
ในช่วงที่ดัดจริตตื่นนั้น มันตื่นจริงครับ แต่ไม่ไช่จิตตื่น
กิเลสมันตื่นขึ้นมาแทน

จนมาถึงตอนนี้ ก็เริ่มเข้าใจขึ้นมาบ้างแล้วว่าคำว่า"ตื่น"ในคำสอนนั้น
ไม่ได้ตื่นแบบตั้งใจตื่น เพียงแต่รู้ไปเถอะ
แล้ววันนึงกิเลสที่คอยปิดตาเรานั้นมันลอกออกหมด
มันก็จะตื่นเอง

ขอบพระคุณครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 08:17:53

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ ดังตฤณ วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 09:21:46
ธรรมของท่านฮวงโปนั้น
ไม่ควรปรามาสแม้น้อยครับเท็ด
เดี๋ยวมรรคผลจะเนิ่นช้าออกไป

บางทีของจริงนั้น เมื่อสื่อเป็นภาษาก็ดูเหมือนลวง
เพราะของจริงมาในรูปที่ลึก และต้องอาศัยผู้ถึงธรรมด้วยกันมาแปล
ถ้าถูกจับประเด็นโดยนักคิด ก็อาจพลาดพลั้งอย่างน่าเห็นใจ

ผมอ่าน "จิตคือพุทธะ" ของหลวงปู่ดูลย์แล้วก็เคยนึกๆห่วงเหมือนกัน
ว่าอย่างนี้ถ้าปุถุชนอ่าน มีหวังได้ปรามาสท่านแย่
แล้วก็ท่าทางจะเป็นอย่างที่คิดจริงๆ
(ธรรมของท่านก็แจงออกมาด้วยพื้นถ้อยคำคล้ายท่านฮวงโปนั่นแหละ)

ขอขมาเสียก็ดีครับ แม้ดูเล็กน้อย
แต่แค่สื่อให้คนอื่นเกิดความเข้าใจไขว้เขวนิดเดียวว่าท่าน "ไม่ใช่" นี่ก็เคราะห์ร้ายมากแล้ว
(ถึงใจจะเป็นกลางก็เถอะ)
โดยคุณ ดังตฤณ วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 09:21:46

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 10:30:14
คำสอนของท่านฮวงโปลึกซึ้งมากครับ เป็นการสื่อธรรมที่ตรงไปตรงมาทีเดียว
ที่เก๋ไปอ่านธรรมของท่านแล้วปฏิบัติไขว้เขว ก็เพราะไปตีความผิดเอง

การลืมตาตื่นเพื่อเห็นสิ่งที่เต็มบริบูรณ์อยู่แล้วตรงหน้านั้น
ไม่ได้หมายถึงการเริ่มลอกกิเลสเป็นชั้นๆ จนลอกหมดแล้วจึงตื่น
แต่จิตนั้นเอง คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ทันทีที่มีสติสัมปชัญญะ ไม่หลง ไม่เผลอ จิตปราศจากการครองคลุมของโมหะ
เมื่อนั้นคือการตื่น หรือการรู้ ที่เราพูดถึงกันบ่อยๆ นั่นเอง

จิตที่ปราศจากโมหะ มีความรู้ตัว จะเห็นประจักษ์ธรรมต่อหน้าต่อตา
เริ่มจากธรรมในฝ่ายที่เกิดดับ หรือสังขตธรรม
จนปัญญาแก่รอบ สามารถปล่อยวางธรรมในฝ่ายที่เกิดดับได้
ก็จะเข้าไปรู้จักธรรมในฝ่ายที่ไม่เกิดไม่ดับ

ดังนั้น ทันทีที่รู้ ก็คือทันทีที่ตื่น พ้นจากภาวะหลับฝันทั้งที่ลืมตา
และทันทีที่ตื่น จิตก็ถึงความเบิกบาน อันเป็นคุณสมบัติของจิตเอง
ไม่ใช่รู้แล้วลอกกิเลสเป็นชั้นๆ ไปจนหมด จึงตื่น

จิตรู้ หรือจิตตื่น มีความเบิกบานในตัวเอง
ปลอดภัยอยู่ท่ามกลางความแปรปรวนและไฟกิเลส
เหมือนลิ้นงู ในปากงู
เหมือนดอกบัว ที่ไม่เปื้อนด้วยโคลนตม
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 10:30:14

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ไพ วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 14:17:36
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ เจื้อย วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 17:12:15
ฮ๋อ คุณธีรชัย คือ คุณเท็ดมวยวัด นี่เอง ก็ยังนึกว่าใคร

อ่านที่คุณอาและพี่ดังตฤณเขียนแล้ว หนูก็งงนิดๆ ต้องกลับไปอ่านที่คุณเท็ดเขียนใหม่
คือตอนแรกที่หนูอ่านคุณเท็ดเขียน หนูก็เข้าใจไปว่า คุณเท็ดต้องการสื่อให้เห็นว่า
เค้าเข้าใจสิ่งที่ท่านฮวงโปวบอกไข้วเขวไปเอง คือไม่ใช่ท่านบอกผิด แต่เค้าทำผิดเอง

หนูคิดว่า คงจะเป็นประโยคอันนี้ของคุณเท็ดที่ชวนให้กำกวม ตรงที่บอกว่า

ทีนี้พออ่านไปๆความผิดพลาดก็เริ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย
จนถึงคำสอนที่ว่า "ไม่มีอะไรจะต้องลุถึง เพียงแต่ลืมตาตื่นเท่านั้นสิ่งๆนั้นก็จะปรากฏแก่เธอ"
ผมก็ตั้งหน้าตั้งตาตื่น(ด้วยสติ) จนเกือบเละไปเลยครับ

คือไอ้คำพูดที่ว่า "ทีนี้พออ่านไปๆความผิดพลาดก็เริ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย" มันอาจชวนให้เข้าใจได้ว่า
ความผิดพลาดนั้นคือ ความผิดพลาดของท่านฮวงโปว แต่จริงๆแล้วคุณเท็ดหมายถึงตัวเอง (หนูตีความถูกมั๊ยเนี่ย)

แต่พอตอนจบที่บอกว่า

จนมาถึงตอนนี้ ก็เริ่มเข้าใจขึ้นมาบ้างแล้วว่าคำว่า"ตื่น"ในคำสอนนั้น
ไม่ได้ตื่นแบบตั้งใจตื่น เพียงแต่รู้ไปเถอะ

หนูก็เข้าใจไปว่า คุณเท็ดต้องการสื่อว่า คุณเท็ดเข้าใจคำสอนท่านฮวงโปวผิดและปฏิบัติผิดไปนั่นเอง

การสื่อความด้วยภาษา มันมีข้อจำกัดจริงๆเลยเนอะ เขียนผิดพลาดนิดเดียว ทำไห้ตีความผิดไปได้เหมือนกัน
แต่ก็นั่นแหละ หนูก็ไม่รู้ว่าหนูตีความเจตนาคุณเท็ดถูกหรือเปล่า แต่ที่อ่านดู หนูรู้สึกอย่างนั้น

แต่หนูก็เห็นตามที่พี่ดังตฤณบอก จริงๆด้วยว่า การเขียนของคุณเท็ด อาจสื่อให้เข้าใจผิดได้เหมือนกัน
โดยคุณ เจื้อย วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 17:12:15

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ เจื้อย วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 17:19:16
ขอปรับคำพูดตรงประโยคสุดท้ายว่า การเขียนของคุณเท็ด อาจสื่อให้เข้าใจไขว้เขวได้เหมือนกันถ้าไม่พยายามอ่านให้เข้าใจดีๆ


โดยคุณ เจื้อย วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 17:19:16

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 19:46:54
ต้องขอขมาต่อท่านฮวงโป
และต้องขออภัยกับทุกท่านด้วยครับ
ที่ผมสื่ออกไปไม่ชัดเจน
ที่จริงผมต้องการสื่อว่า ผมปฏิบัติผิด
ไม่ไช่คำสอนของท่านฮวงโปผิด
คำสอนของท่านฮวงโปนั้น
จากที่เคยอ่านหนังสือมาหลายเล่ม
ผมว่าท่าสอนได้ตรงมากจริงๆ
และความที่ตรงมากนี่เอง จึงทำให้เซ็น มีเสน่ห์
ไม่อ้อมค้อม เพียงแต่ว่าระดับความเข้าใจ
ของบุคคลนั่นแหละที่จะก่อให้เกิดปัญหา
ดังที่ผมได้ประสบมา

อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณพี่ศรัณย์เป็นอย่างสูง
ที่ได้กรุณาชี้จุดบกพร่องในการสื่อของผม
ขอขอบพระคุณพี่ปราโมทย์ที่ได้กรุณาชี้แนะ
แนวทางและคอยแก้ไขข้อบกพร่องให้กับผมโดยตลอด
ขอโทษคุณเจื้อยและขอขอบคุณในส่วนที่
ได้พยายามชี้แจงให้ผม
และขออภัยกับทุกท่านด้วยครับที่
ผมไม่ได้บอกว่าผมคือมวยวัดในกระดานสนทนา
และเป็น ted ใน irc

เอาไว้ครั้งต่อไปผมจะพยายามตรวจสอบก่อนการโพสท์
ให้มากขึ้นเพื่อคนอื่นจะได้ไม่เข้าใจผิด และเพื่อเป็นการไถ่โทษ
ผมจะเอาคำสอนของท่านฮวงโปมาโพสท์กระทู้ต่อไปครับ
:-)
โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 19:46:54

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 21:57:00
สาธุครับ คุณเก๋ ขออนุโมทนาในความตั้งใจที่จะนำคำสอนของท่านฮวงโปมา post ครับ รออ่านด้วยความตั้งใจครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 4 เมษายน 2543 21:57:00

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ กระต่าย วัน พฤหัสบดี ที่ 6 เมษายน 2543 09:30:07
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ ป๋อง วัน เสาร์ ที่ 8 เมษายน 2543 00:27:48
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ นิดนึง วัน จันทร์ ที่ 10 เมษายน 2543 09:29:11
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ สายขิม วัน จันทร์ ที่ 24 เมษายน 2543 17:30:37
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ โจโจ้ วัน เสาร์ ที่ 27 พฤษภาคม 2543 13:42:35
มาทีหลัง มาสาธุครับ แต่อย่า! อย่าเข้าใจผิดว่าผมจะอยู่แผนกสาธุอย่างเดียวล่ะ ตอนนี้เขียนอะไรไว้บ้างแล้วเหมือนกัน ไว้จะเอามาตีแผ่กันครับ ^_^
โดยคุณ โจโจ้ วัน เสาร์ ที่ 27 พฤษภาคม 2543 13:42:35

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com