กลับสู่หน้าหลัก

คำสอนฮวงโป ภาคหนึ่ง บันทึกชึนเชา บทที่3-4

โดยคุณ ธีรชัย วัน พุธ ที่ 19 เมษายน 2543 08:39:19

ขออภัยครับเว้นไปหลายวัน(เพราะหนีไปเที่ยว)  ไม่พูดพล่ามทำเพลง ต่อเลยละกันครับ


คำสอนฮวงโป แปลโดยพุทธทาสภิกขุ
ภาคหนึ่ง บันทึกชึนเชา

จิต เป็นเหมือนความว่าง ซึ่งภายในนั้น ย่อมไม่มีความสับสนและความไม่ดีต่าง ๆ ดังจะเห็นได้ในเมื่อดวงอาทิตย์ผ่านไปในที่ว่างนั้นย่อมส่องแสงไปได้ทั้งสี่มุมโลก. เพราะว่าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น และให้ความสว่างทั่วทั้งพื้นโลก ความว่างที่แท้จริงนั้น ก็ไม่ได้สว่างขึ้น; และเมื่อพระอาทิตย์ตก ความว่างก็ไม่ได้มืดลง. ปรากฏการณ์ของความสว่างละความมืด ย่อมสับเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แต่ธรรมชาติของความว่างยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่นั่นเอง.
จิต ของ พุทธะ และของสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นเช่นนั้น. ถ้าเธอมองดู พุทธะ ว่าเป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่บริสุทธิ์ผ่องใสและรู้แจ้ง ก็ดี, หรือมองดูโลกทั้งหลาย ว่าเป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่โง่เง่า มืดมน และมีอาการสลบไสลก็ดี,  ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น อันเป็นผลเกิดมาจากความยึดมั่นต่อรูปธรรมนั้น จะกันเธอไว้เสีย จากความรู้อันสูงสุด ถึงแม้ว่าเธอจะได้ปฏิบัติมาตลอดกี่กัปป์นับไม่ถ้วน ประดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาแล้วก็ตาม.
มีแต่ จิตหนึ่ง นี้เท่านั้น และไม่มีสิ่งอื่นใด แม้แต่อนุภาคเดียวที่จะอิงอาศัยได้ เพราะว่า จิต นั่นเอง คือ พุทธะ. ถ้าพวกเธอซึ่งเป็นนักศึกษาเรื่องทาง ทาง ทางโน้น ยังไม่ลืมตาต่อสิ่งซึ่งเป็นสาระ กล่าวคือ จิต นี้, พวกเธอจะต้องปิดบัง จิต นั้นเสีย ด้วยความคิดปรุงแต่งของเธอเอง. พวกเธอจะเที่ยวแสวงหาพุทธะนอกตัวเธอเอง และพวกเธอจะยังคงยึดมั่นต่อรูปธรรมทั้งหลาย, ต่อการปฏิบัติเมาบุญต่าง ๆ และสิ่งอื่น ๆ ทำนองนั้น. ทั้งหมดนี้เป็นอันตราย และไม่ใช่หนทางอันนำไปสู่ความรู้อันสูงสุดที่กล่าวนั้น แต่อย่างใดเลย.


การถวายทานใด ๆ ต่อพระพุทธเจ้าทั้งปวงในสากลโลกไม่เท่ากับการถวายทานต่อผู้ที่ดำเนินตาม ทาง ทางโน้น แม้เพียงคนเดียว ซึ่งเป็นผู้กำจัดความคิดปรุงแต่งเสียแล้ว. เพราะเหตุใดเล่า? เพราะบุคคลประเภทนั้น ย่อมไม่ก่อความคิดในรูปใด ๆ ทั้งสิ้น.
เนื้อแท้แห่ง สิ่งสูงสุด สิ่งนั้น โดยภายในแล้ว ย่อมเหมือนกับไม้หรือหิน คือภายในนั้นปราศจากความเคลื่อนไหว และโดยภายนอกแล้วย่อมเหมือนความว่าง กล่าวคือปราศจากขอบเขตหรือสิ่งกีดขวางใด ๆ สิ่ง นี้มิใช่เป็นฝ่ายนามธรรม (หรือกรรตุการก) หรือฝ่ายรูปธรรม (หรือฝ่ายกรรมการก), มันไม่มีที่ตั้งเฉพาะ ไม่มีรูปร่าง และไม่อาจจะหายไปได้.
ผู้ที่รีบไปให้ถึง ก็ไม่กล้าเข้าไป เพราะกลัวว่าจะพุ่งลงไปสู่ที่ว่าง โดยไม่มีสิ่งใดจะให้เกาะ หรือให้อาศัยไม่ให้ตก. เมื่อเป็นอย่างนั้น เขาจึงดูอยู่แต่ที่ขอบ และถอยออกมา. ข้อนี้ เล็งถึงพวกแสวงหาความหลุดพ้นโดยการเรียนรู้. เพราะฉะนั้น พวกที่แสวงหาความหลุดพ้นโดยการเรียนรู้ จึงมีมากเหมือนขนสัตว์, และพวกที่ได้ประสบความรู้ แห่งทาง ทางโน้นด้วยใจตนเอง มีน้อยเหมือนเขาสัตว์.
โดยคุณ ธีรชัย วัน พุธ ที่ 19 เมษายน 2543 08:39:19

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 19 เมษายน 2543 09:09:22
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน พฤหัสบดี ที่ 20 เมษายน 2543 08:20:43
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com