กลับสู่หน้าหลัก

ชีวประวัติของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 28 เมษายน 2543 21:45:31

พระครูนันทปัญญาภรณ์ ผู้เป็นหลานใกล้ชิด
และเป็นผู้ดูแลหลวงปู่มาอย่างยาวนาน
ได้เขียนประวัติของหลวงปู่ออกพิมพ์เผยแพร่
ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่
และเนื่องจากเป็นหนังสือที่ยาวพอประมาณ
ผมจึงขอตัดตอนมาเผยแพร่
เฉพาะตอนที่ท่านศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่มั่น
และตอนที่ท่านมรณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าฟังสำหรับนักปฏิบัติ

***********************************
ความย่อ ประวัติตอนต้น

หลวงปู่ถือกำเนิดในเดือนตุลาคม 2431
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ณ บ้านปราสาท อ.เมือง จ.สุรินทร์
ท่านได้รับอนุญาตจากมารดาบิดาให้อุปสมบทเมื่ออายุ 22 ปี
ณ วัดจุมพลสุทธาวาส ในเมืองสุรินทร์
จากนั้นท่านออกไปฝึกรรมฐานที่วัดคอโค ชานเมืองสุรินทร์
ด้วยการจุดเทียน 5 เล่มแล้วนั่งบริกรรมว่า
"ขออัญเชิญปีติทั้ง 5 จงมาหาเรา"
รวมทั้งการทรมานกายด้วยการลดอาหารลงเรื่อยๆ ตลอดพรรษา
แต่ก็ไม่ได้ผล จนเกิดความสลดสังเวชใจ
จนพรรษาที่ 6 ท่านจึงได้ข่าวว่ามีการสอนปริยัติธรรมที่จังหวัดอุบลราชธานี
จึงเดินทางไปศึกษา โดยพักเป็นพระอาคันตุกะอยู่ที่วัดสุทัศนาราม

ระหว่างนั้นท่านได้คุ้นเคยกับท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
และเมื่อศึกษาปริยัติธรรมจนช่ำชองแล้ว
ท่านก็ได้ทราบข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
กลับจากธุดงค์มาพักที่วัดบูรพา
พระเณรและประชาชนแตกตื่นไปฟังธรรมกันเป็นการใหญ่
ท่านกับท่านอาจารย์สิงห์ก็พากันไปฟังธรรมอย่างไม่เคยขาด
นอกจากจะได้ฟังธรรมอันลึกซึ้งรัดกุมและกว้างขวางแล้ว
ยังได้เห็นปฏิปทาอันงดงามของท่านพระอาจารย์มั่น
ทำให้ซาบซึ้งใจ และสนใจการธุดงคกัมมัฏฐานมากยิ่งขึ้นทุกที

***********************************
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 28 เมษายน 2543 21:45:31

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 28 เมษายน 2543 21:47:58
ธุดงค์ครั้งแรก

ครั้นออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์มั่นได้ออกธุดงค์อีก
ภิกษุ 2 สหายคือพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม กับหลวงปู่ดูลย์
จึงตัดสินใจสละละทิ้งการสอนและการเรียนออกธุดงค์
ติดตามพระปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ในทุกหนทุกแห่ง
ตลอดฤดูกาลนอกพรรษานั้น

ตามธรรมเนียมธุดงค์กัมมัฏฐานของท่านอาจารย์มั่นมีอยู่ว่า
เมื่อถึงกาลเข้าพรรษา ไม่ให้จำพรรษารวมกันมากเกินไป
ให้แยกกันไปจำพรรษาตามสถานที่อันวิเวก
ไม่ว่าจะเป็นวัด เป็นป่า เป็นถ้ำ เป็นเขา โคนไม้ ลอมฟาง เรือนว่าง
หรืออะไรตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคล แต่ละคณะ
เมื่อออกพรรษาแล้ว หากทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่น อยู่ ณ ที่ใด
ก็พากันไปจากทุกทิศทุกทางมุ่งไปยัง ณ ที่นั้น
เพื่อเรียนพระกัมมัฏฐาน และเล่าแจ้งถึงผลการประพฤติปฏิบัติที่ผ่านมา
เมื่อมีอันใดผิด ท่านปรมาจารย์จักได้ช่วยแนะนำแก้ไข
อันใดถูกต้องดีแล้ว ท่านจักได้ช่วยแนะนำข้อกัมมัฏฐานยิ่งๆ ขึ้นไป

ดังนั้นเมื่อจวนจะเข้าปุริมพรรษา คือพรรษาแรกแห่งการธุดงค์ของท่าน
คณะของหลวงปู่ดูลย์ จึงพากันแยกจากท่านพระอาจารย์มั่น
เดินธุดงค์ผ่านไปทางอำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
ครั้นถึงป่าท่าคันโท ก็สมมุติทำเป็นวัดป่า เข้าพรรษาด้วยกัน 5 รูป

ทุกท่านปฏิบัติตนปรารภความเพียรอย่างอุกฤษฎ์แรงกล้า
ปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอนของท่านปรมาจารย์อย่างสุดขีด
ครั้งนั้น บริเวณแห่งนั้นเป็นสถานที่ทุรกันดาร
เกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ป่าที่อำมหิตดุร้าย
ไข้ป่าเล่าก็ชุกชุมเหลือกำลัง ยากที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้
ดังนั้นเองยังไม่ทันถึงครึ่งพรรษาก็ปรากฏว่าเป็นไข้ป่ากันหมด
ยกเว้นท่านอาจารย์หนูองค์เดียว
ต่างก็ได้ช่วยรับใช้พยาบาลกันตามมีตามเกิด
หยูกยาที่จะนำมาเยียวยารักษากันก็ไม่มี
ความป่วยไข้เล่าก็ไม่ได้ลดละเห็นแก่หน้ากันบ้างเลย
จนกระทั่งองค์หนึ่งถึงแก่มรณภาพลงในกลางพรรษานั้น
ต่อน้าต่อตาเพื่อนสหธรรมิกอย่างน่าเวทนา

สำหรับหลวงปู่ดูลย์ ครั้นได้สำเหนียกรู้ว่ามฤตยูกำลังคุกคามอย่างแรง
ทั้งหยูกยาที่จะรักษาพยาบาลก็ไม่มี  จึงตักเตือนตนว่า
"ถึงอย่างไร ตัวเราจักไม่พ้นเงื้อมมือของความตายในพรรษานี้เป็นแน่แล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้นเราจักตาย ก็จงตายในสมาธิภาวนาเถิด

จึงปรารภความเพียรอย่างเอาเป็นเอาตาย
ตั้งสติให้สมบูรณ์ พยายามดำรงจิตให้อยู่ในสมาธิอย่างมั่นคงทุกอิริยาบถ
พร้อมทั้งพิจารณาความตาย คือมรณสติกัมมัฏฐานเป็นอารมณ์ไปด้วย

โดยไม่ย่อท้อพรั่นพรึงต่อมรณภัยที่กำลังคุกคาม จะมาถึงตัวในไม่ช้านี้เลย

เริ่มปรากฏผลจากการปฏิบัติ

ณ ป่าท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์นี้เอง
การปฏิบัติทางจิตที่หลวงปู่ดูลย์พากเพียรบำเพ็ญอย่างไม่ลดละ
ก็ได้บังเกิดผลอย่างเต็มภาคภูมิ
กล่าวคือขณะที่นั่งภาวนาอยู่ตั้งแต่หัวค่ำจนดึกมากนั้น
จิตก็ค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบ และให้บังเกิดนิมิตขึ้นมา
คือเห็นพระพุทธรูปปรากฏขึ้นที่ตัวของท่าน
ประหนึ่งว่า ตัวของท่านเป็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง
ท่านพยายามพิจารณาดูรูปนิมิตนั้นต่อไปอีก
แม้ขณะออกจากที่บำเพ็ญสมาธิภาวนาแล้ว
และขณะออกเดินไปสู่ละแวกบ้านชาวบ้านป่าเพื่อบิณฑบาต
ก็เห็นปรากฏอยู่เช่นนั้น
(หลายสิบปีต่อมาเมื่อมีผู้ถามท่าน
ถึงการปฏิบัติที่เพ่งจนพบพระพุทธรูปในกาย
ท่านจึงตอบได้อย่างมั่นใจว่า ยังเอาเป็นที่พึ่งพาอะไรไม่ได้ - ปราโมทย์)
วันต่อมาอีก ก่อนที่รูปนิมิตนั้นจะหายไป
ขณะที่เดินกลับจากบิณฑบาต ก็เห็นปรากฏอยู่เช่นนั้น
ท่านได้พิจารณาดูตัวเอง
ก็ได้ปรากฏเห็นชัดเจนว่า เป็นโครงกระดูกทุกสัดส่วน
วันนั้นจึงเกิดความรู้สึกไม่อยากฉันอาหาร
จึงอาศัยความอิ่มเอิบใจของสมาธิจิตกระทำความเพียรต่อไป
เช่นเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ตลอดวันตลอดคืน
และแล้วในขณะนั้นเอง แสงแห่งพระธรรมก็เกิดขึ้น
ปรากฏแก่จิตของท่านแจ่มแจ้ง
จนกระทั่งท่านสามารถแยกจิตกับกิเลสออกจากกันได้
รู้ชัดว่าอะไรคือจิต อะไรคือกิเลส
จิตปรุงกิเลส หรือกิเลสปรุงจิต
และเข้าใจสภาพเดิมแท้ของจิตที่แท้จริงได้
จนรู้ว่ากิเลสส่วนไหนละได้แล้ว ส่วนไหนยังละไม่ได้ ดังนี้


การปฏิบัติได้ผลเป็นประการใดในครั้งนั้น
ท่านมิได้เล่าบอกใครในพรรษานั้น
เคยเล่าให้ท่านอาจารย์สิงห์ฟังเพียงแต่ว่า
จิตของท่านเป็นสมาธิเท่านั้น
ซึ่งท่านอาจารย์สิงห์ก็ชมว่าถูกทางแล้ว และแสดงความยินดีด้วย
ตัวท่านนึกอยากให้ออกพรรษาโดยเร็ว
จะได้ไปนมัสการพระอาจารย์มั่น และกราบเรียนถึงผลการปฏิบัติ
ทั้งรับคำแนะนำทางปฏิบัติที่ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 28 เมษายน 2543 21:47:58

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 28 เมษายน 2543 21:50:09
คำสรรเสริญครั้งแรกจากพระอาจารย์มั่น

ครั้นออกพรรษาแล้ว ทุกรูปต่างแยกย้ายกันออกจากที่นั้นเดินธุดงค์ต่อไป
หลวงปู่ดูลย์ไปด้วยกันกับท่านอาจารย์สิงห์
ต่อมาก็แยกทางกับท่านอาจารย์สิงห์ คือไปองค์ละทาง
มีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันคือท่านอาจารย์มั่น
เมื่อท่านเดินทางไปถึงหนองหาร จังหวัดสกลนคร ได้ไปพักอยู่ที่เกาะเกด
สถานที่นี้กล่าวกันว่าเป็นที่ขลัง และมีอาถรรพ์มาก
ไม่เคยมีชาวบ้านไหนกล้าเข้าไป แต่ท่านกลับเห็นว่าดี ท่านจะได้อยู่สบาย
เพราะเมื่อคนไม่กล้าเข้าไป ก็ยิ่งเป็นที่สงัดเงียบ

ครั้นอยู่พอสมควรแล้ว ก็ออกเดินทางต่อไปเป็นลำดับ จนกระทั่งบ้านตาลเนิ่ง
มีชาวบ้านบอกว่าเห็นพระธุดงค์อยู่ในป่าใกล้บ้านนี้เอง
ท่านดีใจเป็นอันมากคิดว่าอย่างไรเสียต้องเป็นพระอาจารย์มั่นอย่างแน่นอน
เมื่อไปถึงสถานที่นั้น ก็เห็นท่านอาจารย์สิงห์ ซึ่งเดินทางมาถึงก่อนนานแล้ว
และเห็นองค์อื่นๆ อีกหลายองค์
กำลังนั่งห้อมล้อมท่านพระอาจารย์มั่นอยู่อย่างสงบ
พากันหันหน้ามามองทาน และพูดบอกกันเบาๆ ว่า
"แน่ะ ท่านดูลย์มาแล้ว ท่านดูลย์มาแล้ว"
คาดว่าท่านอาจารย์สิงห์คงเล่าบอกแล้วว่า หลวงปู่ดูลย์ทำจิตเป็นสมาธิได้

เมื่อท่านเห็นท่านพระอาจารย์มั่น ก็เกิดความปลาบปลื้มปีติ
รำพึงในใจว่า "ประสงค์อย่างไรก็สำเร็จอย่างนั้น"
ครั้นได้โอกาสอันควรแล้ว จึงเข้าไปกราบท่านพระอาจารย์มั่น
พระปรมาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษได้ถามถึงการปฏิบัติ
ท่านจึงกราบเรียนถึงผลการปฏิบัติโดยตลอด
แล้วก็สรุปท้ายกราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่นให้ทราบว่า
เดี๋ยวนี้กระผมเข้าใจแล้ว กระผมทำความรู้จักกับกิเลสของกระผมได้ดีแล้ว
คือถ้ารวมกันทั้งหมดแล้วแบ่งเป็น 4 ส่วน
ส่วนที่ 1 นั้นกระผมละได้เด็ดขาดแล้ว
ส่วนที่ 2 กระผมละได้ครึ่งหนึ่ง ยังเหลือครึ่งหนึ่ง
ส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 กระผมยังละไม่ได้


ท่านพระอาจารย์มั่นก็กล่าวคำสรรเสริญว่า
เก่งมาก ฉลาดมาก ที่สามารถรู้จักกิเลสของตนเอง
และการปฏิบัติที่ผ่านมา ที่เล่าบอกนั้น ก็เป็นการถูกต้องดีแล้ว

และแล้ว ท่านพระปรมาจารย์ก็ได้แนะนำต่อไปว่า
ให้เอาข้อนี้ไปพิจารณาต่อไปอีก
โดยบอกเป็นภาษาบาลีว่า
"สัพเพ สังขารา สัพพสัญญา อนัตตา"

หลังจากได้รับคำแนะนำจากท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว
ท่านก็ได้ปลีกตัวไปบำเพ็ญทางจิต พร้อมทั้งพิจารณาคติธรรมที่ได้มา
ในที่สุดก็ได้รู้แจ้งในธรรมนั้น คือปฏิจจสมุปบาทตลอดสายในแว้บเดียวเท่านั้น
ว่า สังขารทั้งหลายเกิดจากความคิดปรุง
เมื่อละสังขารได้ ความทุกข์ก็ดับหมดตลอดสาย
ปฃกิจจสมุปบาทก็ขาดเพียงเท่านี้เอง


**************************************
(ความย่อ)
หลังจากนั้นท่านก็แยกย้ายจากท่านพระอาจารย์มั่นออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ
ท่านได้ศิษย์สำคัญอีกหลายองค์ ที่ต่อมากลายเป็นครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่
เช่นหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
โดยเฉพาะหลวงปู่ฝั้น และพระเณรบ้านม่วงไข่
ได้ทิ้งวัดติดตามท่านออกธุดงค์ไปด้วย

**************************************

อริยสัจจ์แห่งชีวิต

ย้อนกลับมาถึงการเดินธุดงค์ของหลวงปู่ดูลย์ต่อไป
การออกธุดงค์คราวนี้มีท่านอาจารย์ฝั้นและพระเณรวัดม่วงไข่ติดตามไปทั้งหมด
ท่านเดินทางไปตามลำดับ พักอยู่แห่งละ 5 วันบ้าง 7 วันบ้าง
แล้วก็ไปพักอยู่ที่ถ้ำพระเวสฯ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
ตลอดหน้าแล้งนั้น ต่างองค์ต่างก็ปรารภความเพียรอย่างจริงจัง
และได้รับผลการปฏิบัติทุกรู้
สำหรับหลวงปู่นั้น ท่านเล่าว่าได้ตริตรองพิจารณาตามหัวข้อกัมมัฏฐานว่า
"สัพเพ สังขารา สัพพสัญญา อนัตตา" ที่ท่านปรมาจารย์ให้มา
ในเวลาต่อมาก็เกิดความสว่างไสวในใจชัดว่า

เมื่อสังขารขันธ์ดับได้แล้ว ความเป็นตัวตนจักมีไม่ได้
เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง
ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดไป ความทุกข์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
และจับใจความอริยสัจจ์แห่งจิตได้ว่า
1. จิตที่ส่งออกนอก เพื่อรับสนองอารมณ์ทั้งสิ้นเป็นสมุทัย
2. ผลอันเกิดจากจิตส่งออกนอกแล้วหวั่นไหว เป็นทุกข์
3. จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
4. ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ


แล้วท่านเล่าว่า เมื่อทำความเข้าใจในอริยสัจจ์ทั้ง 4 ได้ดังนี้แล้ว
ก็ได้พิจารณาทำความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทได้ตลอดทั้งสาย
(ข้อธรรมของท่านตอนนี้ ผู้เขียน<พระครูนันท์>จนด้วยเกล้า
ไม่อาจเขียนตามท่านได้ถูกต้อง เพราะเป็นการเฉพาะตัวของท่าน)

คำสรรเสริญครั้งที่ 2 และรางวัลเกียรติยศจากพระอาจารย์มั่น

ครั้นอยู่ที่ถ้ำพระเวสฯ ได้พอสมควรแล้ว
ก็พากันยกขบวนจาริกไปเสาะหาพระอาจารย์มั่น
จนกระทั่งพบที่วัดป่าโนนสูง
หลวงปู่ดูลย์จึงกราบเรียนท่านปรมาจารย์
ถึงผลการปฏิบัติธรรมของท่านตามที่ปรากฏอย่างไร
ท่านพระอาจารย์มั่น ก็กล่าวรับรองและยกย่องสรรเสริญให้ปรากฏ
ณ ท่ามกลางชุนนุมสานุศิษย์ทั้งหลายว่า
"ถูกต้องดีแล้ว เอาตัวรอดได้แล้ว
นับว่าไม่ถอยหลังอีกแล้ว ขอให้ดำเนินตามปฏิปทานี้ต่อไป"


หลังจากนั้นหลวงปู่ดูลย์ได้นำอาจารย์ฝั้น
และคณะภิกษุสามเณรวัดม่วงไข่ ที่ติดตามมา
ถวายตัวต่อท่านอาจารย์มั่น
ท่านปรมาจารย์ก็ได้กล่าวยกย่องสรรเสริญ กระทำให้ปรากฏต่อศิษย์ทั้งหลายว่า
ท่านดูลย์นี้ เป็นผู้ที่มีความสามารถเป็นอย่างยิ่ง
สามารถมีสานุศิษย์และผู้ติดตามประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก"


ในระหว่างที่พักอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเวลานานนั้น
ท่านพระอาจารย์มั่นผู้ทรงคุณธรรมยิ่งใหญ่
ได้กรุณาตัดเย็บไตรจีวรด้วยมือตน
แล้วช่วยกันเย็บช่วยกันย้อมด้วยมือมอบให้หลวงปู่ดูลย์ 1 ไตร
ท่านจึงถือว่านี่คือผล หรือรางวัลแห่งการปฏิบัติดี
ที่ครูบาอาจารย์มอบให้เป็นกรณีพิเศษด้วยเมตตาธรรม

*************************************

(ความย่อ)
ครั้นออกพรรษาท่านก็ออกธุดงค์ต่อไปที่ถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย

*************************************

สนทนาธรรมกับพระปรมาจารย์
ท่านพักอยู่ที่ถ้ำผาบิ้ง เสวยสุขเกิดแต่วิเวกได้ 1 เดือน
ก็เดินทางไปที่บ้านผือ เขตจังหวัดอุดรธานี และต่อไปที่อำเภอผาภูมิ
ได้พบกับพระอาจารย์มั่นที่อำเภอผาภูมินี้อีกครั้งหนึ่ง

การพบกับท่านปรมาจารย์คราวนี้
ไม่ปรากฏว่า มีการกราบเรียนผลการปฏิบัติ
หรือมีการแนะนำแนวทางปฏิบัติต่อไปอันใดอีก
หากมีแต่การสนทนาธรรม หรือกระทำธรรมสากัจฉาในเรื่องจิตล้วน
อันยังให้เกิดความอาจหาญร่าเริงในธรรมปฏิบัติแต่อย่างเดียวเป็นเวลานานๆ

จบประวัติการศึกษาปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์มั่น

*************************************
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 28 เมษายน 2543 21:50:09

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 28 เมษายน 2543 21:52:08
48 ชั่วโมงสุดท้ายของหลวงปู่ดูลย์

ความผิดปกติครั้งสุดท้าย


วันที่ 28 ตุลาคม 2526 เวลา 04.00 น.
หลวงปู่มีอาการผิดปกติคืออ่อนเพลีย ปวดเมื่อย มีกายกระสับกระส่าย
ตัวร้อนคล้ายจะเป็นไข้ แต่ไม่ปวดศีรษะ
อาการทุกอย่างนี้ คล้ายคลึงกับอาการที่เกิดเมื่อก่อนจะเข้าโรงพยาบาลไม่มีผิด
พระผู้พยาบาลได้ช่วยกันทาน้ำมันแล้วนวดไปตามที่ที่รู้สึกปวดเมื่อย
อาการก็ทุเลาลงบ้างเล็กน้อย

ครั้นถึงเวลา 07.00 น. ของวันที่ 28 นี้
ตามปกติหลวงปู่จะออกฉันภัตตาหารและต้อนรับแขก
แต่วันนี้ท่านไม่ยอมออกมาฉันข้างนอก
ต้องนำอาหารไปถวายท่านในห้องนอน
แต่ท่านก็สามารถลุกมานั่งฉันบนเก้าอี้ได้ และฉันได้เกือบเหมือนปกติ
หลังจากนั้นได้เชิญหมอมนูญมาตรวจถวายท่าน
หมอบอกว่า ความดันขึ้นสูงหน่อย แต่หลวงปู่บอกว่าไม่ปวดศีรษะเลย
แล้วท่านก็ฉันยาที่หมอให้ จากนั้นก็นอนหลับไปชั่วโมงกว่าๆ
ร่างกายรู้สึกว่าเป็นปกติแล้ว แต่ยังเพลียอยู่

พอถึงเวลาเพล ท่านก็ลุกมานั่งฉันข้าวต้มเพียง 4 ช้อน และของหวานเล็กน้อย
หลังจากนั้น ท่านก็พักผ่อนบ้าง นั่งบ้าง
แต่ผิวพรรณท่านก็ผุดผ่องดี เพียงแต่มีอาการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
ระหว่างกระปรี้กระเปร่ากับอ่อนเพลีย ทุก 40 หรือ 45 นาที
ตลอดทั้งวันมีสานุศิษย์ฝ่ายกัมมัฏฐานมาอยู่เฝ้าท่านหลายรูป
ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ในการอธิบายธรรมให้ฟัง
พวกเราเห็นสติสัมปชัญญะท่านสมบูรณ์ดี
และสามารถลำดับธรรมะเป็นกระแสธรรม
และตอบคำถามข้อปฏิบัติขั้นปรมัตถ์ด้วยเสียงอันชัดเจนสดใส

ทำให้เราอุ่นใจมากว่า ท่านคงไม่เป็นอะไรมาก

ครั้นเวลา 5 โมงเย็น ถวายน้ำสรงท่านแล้ว ท่านก็นั่งเก้าอี้ในห้อง
ดูกิริยาท่าทางของท่านในขณะนั้นเหมือนกับไม่มีอะไรเลย ท่านสดใสดีมาก
ต่อมาสักครู่ ท่านปรารภธรรมให้ฟังว่า
ในทางโลกเขามีสิ่งที่มี แต่ในทางธรรม มีสิ่งที่ไม่มี
เมื่อถูกถามถึงความหมาย ท่านก็พูดว่า
คนในโลกนี้ต้องมีสิ่งที่มี เพื่ออาศัยสิ่งนั้นเป็นอยู่
ส่วนผู้ปฏิบัติธรรม ต้องปฏิบัติจนถึงสิ่งที่ไม่มี และอยู่กับสิ่งที่ไม่มี


เมื่อเห็นว่าหลวงปู่เพลียพอสมควรแล้ว จึงขอให้ท่านนอนพักผ่อน
อาการเพลียก็เริ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย
แต่ท่านก็นอนพูดธรรมให้ฟังต่อไปอีก
ขณะนั้นเป็นเวลาที่ฝนตกหนักมาก
ผู้เขียนได้นั่งเฝ้าหลวงปู่อยู่จน 5 ทุ่มกว่า
สังเกตเห็นว่าหลวงปู่มักจะพูดธรรมะชั้นสูง
เกี่ยวกับการปฏิบัติเข้าออกฌาน (จนกระทั่งนิพพาน - ปราโมทย์)
บางครั้งก็นั่งอยู่เฉยๆ แบบเข้าสมาธิหรือพิจารณากัมมัฏฐานบทใดบทหนึ่งอยู่
เมื่อท่านสดชื่นและว่าง ท่านจะปรารภธรรมบทใดบทหนึ่งทันที

ผู้เขียนถามท่านว่า "หลวงปู่เชื่อความศักดิ์สิทธิ์ไหม"
หลวงปู่ว่า ความศักดิ์สิทธิ์ไม่เคยมี มีแต่พลังและความสามารถของจิต
ผู้เขียนมีส่วนเสียอยู่อย่างหนึ่ง คือชอบพูดทีเล่นทีจริงกับหลวงปู่
ผู้เขียนพูดว่า "ตามตำราบอกว่า
พวกเทวดามาฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าครั้งละหลายโกฏินั้น
จะมีศาลาโรงธรรมที่ไหนให้นั่งได้หมด"
แต่เมื่อฟังหลวงปู่ตอบแล้วก็งง
เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังและไม่เคยพบในตำราที่ไหนมาก่อน
หลวงปู่ตอบว่า ในเนื้อที่หนึ่งปรมาณู เทวาดอยู่ได้ 8 องค์

ย่างเข้าวันที่ 29 ตุลาคม หลวงปู่มีอาการกระสับกระส่าย(ทางกาย)อยู่เล็กน้อย
และปวดเท้าซ้ายตั้งแต่บั้นเอวลงไปถึงปลายเท้า
พร้อมทั้งมีไข้กำเริบอีกเล็กน้อย ส่วนชีพจรเต้นผิดปกติตลอดมา
จนถึง 6 โมงเช้า อาการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแบบทรงๆ ทรุดๆ
เมื่อเห็นอาการหลวงปู่อยู่ในลักษณะนี้ ผู้เขียนจึงโทรศัพท์ทางไกล
กราบเรียนท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรให้ทราบ
ส่วนอาจารย์พวงทองได้โทรศัพท์ไปบอกคุณหมอฉัตร กำภู
ที่ทางราชสำนักมอบหมายให้นำหลวงปู่
กลับจากโรงพยาบาลมาส่งวัดเมื่อครั้งหายอาพาธ
คุณหมอทราบแล้วบอกให้รีบนำหลวงปู่เข้ากรุงเทพฯ โดยเร็ว
แต่ก็ยังไม่ได้ตกลงว่าจะทำอย่างไร

06.30 น. หลวงปู่ยังออกจากห้องได้ นั่งฉันข้าวเช้าข้างนอก
เสร็จแล้วนั่งพักประมาณ 10 นาที แล้วเข้าไปพักผ่อนในห้อง
07.20 น. หมอมาตรวจอาการอีก วัดความดันดูยังปกติ จึงฉีดยานอนหลับให้
การฉีดยาแต่ละครั้งนั้น หลวงปู่ท่านห้ามไม้ให้ฉีด
แต่ส่วนมากหมอมักจะฝืนฉีดให้
ครู่ต่อมาให้น้ำเกลือ ชั่วประเดี๋ยวเดียวหลวงปู่ไม่ยอมรับ สั่งให้ถอดออก
ท่านบอกว่า ขออยู่เฉยๆ ดีกว่า
ขณะนั้นเป็นจังหวะที่ดีที่สุด ผู้เขียนจึงเข้าไปกราบเรียนหลวงปู่ว่า
"จะนำหลวงปู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรงเทพฯ อีก"
ท่านรีบตอบว่า "ไม่ต้องไปดอก" และพูดต่อไปอีกว่า "ห้ามไม่ให้พาไป"
ถามท่านว่า "ทำไมหลวงปู่จึงไม่ไป"
หลวงปู่ว่า "ถึงไปก็ไม่หาย"
"ครั้งก่อนหลวงปู่ป่วยหนักกว่านี้ ยังหายนี่หลวงปู่
ไม่หนักเหมือนแต่ก่อน ต้องหายแน่ๆ"
หลวงปู่ว่า "นั่นมันครั้งก่อน นี่มันไม่ใช่ครั้งก่อน"
ผู้เขียนเองยังยอมรับว่าในครั้งนี้มีความลังเลใจอย่างยิ่ง
ตรงกันข้ามกับครั้งก่อนที่สามารถตัดสินใจเอาเองได้อย่างเด็ดขาด

ต่อมาท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีก 4 - 5 ท่าน
ได้มาเยี่ยมอาการอาพาธหลวงปู่
จึงได้ปรึกษากันว่า ควรจะนำหลวงปู่ไปรักษาที่กรุงเทพฯ หรือไม่
ทุกคนที่เห็นหลวงปู่ มักเข้าใจว่าท่านไม่ได้เป็นอะไรมาก
เมื่อเห็นว่าท่านไม่อยากไปแล้วก็พากันวางเฉยตามท่านไปด้วย
เพราะโดยปกติในชีวิตหลวงปู่ท่านไม่เคยเรียกหาหมอหายาเลย
เท่าที่เข้าโรงพยาบาล 2 ครั้ง ท่านมีอาการหนักแล้ว ผู้รักษาพยาบาลจึงพาท่านไป
ท่านไม่อาจขัดได้จึงต้องตามใจเขา
และอาการที่จะแสดงให้คนอื่นวิตกกังวลหนักใจในการรักษาพยาบาลนั้น ไม่เคยมี
เพราะท่านมีความอดทนเป็นเยี่ยม
ตั้งแต่สมัยอยู่ป่าอยู่ดง ท่านคงต่อสู้กับความเจ็บป่วยตามธรรมชาติมามาก
เท่าที่ผู้เขียนอยู่ใกล้ชิดกับท่านมาโดยตลอด
ไม่เคยได้ยินเสียงท่านครวญครางหรือถอนใจ
แม้ในเวลาจะลุกจะนั่งก็ไม่เคยได้ยิน
ท่านลุกพรวดพราดกระฉับกระเฉงเสมอ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 28 เมษายน 2543 21:52:08

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 28 เมษายน 2543 21:54:10
วันนี้เป็นวันทำบุญครบ(8)รอบของท่าน
การจัดงานครั้งนี้ก็จัดกันเป็นพิเศษ
ศิษยานุศิษย์ฝ่ายสงฆ์ก็มากับพร้อมหน้า
พุทธศาสนิกชนทั่วไปทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดก็หลั่งไหลกันมามากมาย
มีสุภาพสตรีบวชเป็นแม่ชีในงานนี้มากกว่าหนึ่งพันคนอีกด้วย
ดังนั้นจึงคิดว่า ให้เสร็จงานเสียก่อน หากอาการยังไม่ดีขึ้น
ก็จะพาท่านไปรักษาที่กรุงเทพฯ ให้ได้

เมื่อได้เวลาตามกำหนดการ ประชาชนก็หลั่งไหลกันมาเป็นจำนวนมาก
เวลา 10.00 น. พระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์
เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล
เวลา 13.30 น. ท่านเจ้าคุณพุทธพจน์วราภรณ์ วัดราชบพิตร แสดงธรรม

ขณะที่ผู้เขียนกำลังซาบซึ้งในพระธรรมเทศนาอยู่นั้น
ก็แว่วเสียงพระองค์หนึ่งกระซิบว่า "หลวงปู่เรียกให้ไปพบ"
ผู้เขียนรู้สึกผวา รีบไปหาหลวงปู่
พอไปถึงเห็นท่านนอนหงายหนุนหมอนสูงอยู่
ดูอาการท่านก็ยังสดใสเหมือนเดิม
เมื่อเข้าไปใกล้ ท่านก็ถามถึงการจัดงาน
ฟังเสียงท่านคล้ายปากคอแห้งไม่มีน้ำลาย
จึงรายงานท่านว่า งานเดินไปด้วยความเรียบร้อยทุกอย่างตามที่กำหนดไว้
และมีผู้บวชเป็นแม่ชีพราหมณ์มากกว่าทุกครั้ง
ศาลาใหญ่เต็มหมดทั้งชั้นบนชั้นล่าง
หลวงปู่จึงถามถึงศิษย์ฝ่ายสงฆ์ว่ามาครบหมดทุกองค์แล้วหรือยัง
จึงเรียนมาท่านว่ามาแล้ว แต่กำลังอยู่ในพิธีแสดงธรรมเทศนาที่ศาลา
เมื่อจบพิธีแสดงธรรม ทุกองค์จะเข้ามานมัสการและถวายสักการะในที่นี้

หลวงปู่พูดว่า "เออ … เราก็รออย่างนี้อยู่แล้ว"
แล้วรู้สึกว่าท่านพูดอะไรเบามาก
เมื่อก้มลงไปชิดกับท่าน ท่านก็จับแขนไว้แล้วนิ่งเฉย
ผู้เขียนตกใจนึกว่าท่านจะหมดลม
ก็เห็นหลวงปู่หายใจเป็นปกติไม่มีอาการแปลก มีแต่อาการนิ่งเฉย
จึงแน่ใจว่าท่านไม่เป็นอะไร
แล้วผละถอยห่างจากท่านเล็กน้อย เห็นท่านนิ่งเฉยอยู่นาน
ต่อมาผ่านเวลาบ่ายไปแล้ว หลวงปู่ตื่นจากภวังค์มา มีอาการสดชื่นเป็นพิเศษ
ผู้เขียนจึงปรารภเรื่องงานการของวัดให้ท่านฟังเพื่อไม่ให้ท่านมีวิตกกังวลอะไร
ถามท่านว่า เมื่อกี๊หลวงปู่หลับหรือเข้าสมาธิ
ท่านบอกว่า พิจารณาลำดับฌานอยู่
ก็พอดีตอนนี้มีศิษย์อาวุโสเข้ามานมัสการหลวงปู่หลายองค์
บางองค์สงสัยในข้อปฏิบัติก็ถามท่าน
ท่านอธิบายลำดับข้อปฏิบัติธรรมตลอดสายอย่างชัดเจน
ข้อนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนอบอุ่นใจมาก
จึงผละจากหลวงปู่ออกไปที่งานบนศาลา ซึ่งมีญาติโยมมาบวชชีมากมาย

ครั้น 4 โมงเย็นล่วงแล้ว หลวงปู่สามารถออกมานั่งรับแขกข้างนอกได้
ญาติโยมจำนวนมากจึงถือโอกาสกันเป็นการใหญ่รีบมากราบหลวงปู่
สักครู่ใหญ่ต่อมา ท่านก็เข้าห้อง ถวายน้ำสรงแก่ท่านเช็ดตัวเรียบร้อย
ถวายน้ำผึ้งผสมมะนาวและสมอตำละเอียด
ท่านฉันน้ำผึ้งอย่างเดียว ไม่ฉันสมอ
แล้วนอนพักผ่อนท่ามกลางสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี ซึ่งนั่งห้อมล้อมเป็นจำนวนมาก
อยู่ในอิริยาบถนอนหงาย หนุนหมอนสูง หลับตาลง
ดูสีผิวของท่านสดใสเปล่งปลั่งผิดธรรมดา
ทำให้คิดสังหรณ์ใจไปหลายอย่าง แทนที่จะสบายใจเหมือนทุกท่าน
พระทุกรูปที่นั่งอยู่ในที่นั้น เห็นหลวงปู่ยังเฉยอยู่ก็พากันนั่งเงียบกริบ

หนึ่งทุ่มผ่านไปแล้ว หลวงปู่ลืมตาขึ้น
มองไปตรงช่องว่างที่กระจกซึ่งมีม่านปิดอยู่อย่างมิดชิด
ท่านยกแขนขวาขึ้นประมาณ 20 องศา บอกให้รูดม่านออก
สักครู่ต่อมา หลวงปู่สั่งให้พระที่อยู่ในห้องออกจากห้องให้หมด
หลังจากนั้นไม่นาน ก็สั่งให้พระเหล่านั้นสวดมนต์ให้ฟัง
สีหน้าของพระเหล่านั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว
ต่างพากันสวดเจ็ดตำนานย่อ ให้หลวงปู่ฟังจนจบ
หลวงปู่สั่งให้สวดเฉพาะโพชฌงค์สูตรอย่างเดียว 3 จบ
แล้วให้สวดปฏิจจสมุปบาทอีก 3 รอบ
พระที่สวดมี 8 - 9 รูป พอสวดจบหมอก็เข้าไปตรวจอาการอีก
เวลาเกือบ 4 ทุ่มแล้ว บรรยากาศของหมอและผู้รักษาพยาบาล
ขณะนั้นเปลี่ยนแปลงไปมาก
คือไม่มีใครถามหรือขอร้องอะไรใครเลย ทุกคนประจักษ์ชัดแล้ว
คุณหมอก็กลับไปแล้ว หมายถึงการจากกันอย่างสิ้นเชิง

ต่อมาหลวงปู่สั่งให้สวด มหาสติปัฏฐานสูตร ให้ฟัง
พระที่นั้นทั้งหมดไม่มีองค์ไหนสวดได้เลย
เพราะพระสูตรนี้ยาวกว่าพระสูตรอื่นๆ ทั้งหมด
ท่านบอกให้เปิดหนังสือสวด เผอิญหนังสือก็ไม่มีอีก
พอดีท่านอาจารย์พูนศักดิ์ ซึ่งอยู่เฝ้ารักษาพยาบาลหลวงปู่ตลอดมา
มีหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวงเล่มใหญ่ติดมาด้วย
จึงหยิบมาเปิดหาพระสูตรนั้น กำลังพลิกไปพลิกมาเปิดหาอยู่
หลวงปู่สั่งว่า เอามานี่
ท่านพูนศักดิ์รีบยื่นถวาย หนังสือเล่มนั้นใหญ่และหนักมาก
น้ำหนักเกือบ 1 กิโลกรัม
ท่านหยิบมาเปิดโดยไม่ต้องดู บอกว่า สวดตรงนี้
พระทุกองค์แปลกใจมาก เพราะเป็นหน้าที่ 172 มหาสติปัฏฐานสูตรพอดี
อาจารย์พูนศักดิ์รีบรับจากมือหลวงปู่มานั่งสวดองค์เดียว
หลวงปู่นอนฟังโดยตะแคงข้างขวา
พระสูตรนี้มีความยาวถึง 41 หน้า
ใช้เวลาสวดเกือบ 2 ชั่วโมง เพราะท่านให้สวดแบบช้าๆ
พระที่อยู่ในห้องจำนวนมากองค์ก็ทยอยกันออกไปบ้าง

หลังจากที่พระสูตรจบลง หลวงปู่ยังมีอาการปกติ
ท่านพูดธรรมะกับพระที่เฝ้าเป็นครั้งคราว ลุกขึ้นนั่งบนเก้าอี้บ้าง นอนบ้าง
มีตอนหนึ่งท่านให้พาออกนอกห้องและนอกกุฏิของท่านเพื่อสูดอากาศภายนอก
พร้อมทั้งมองออกไปที่ศาลาที่อยู่ตรงหน้ากุฏิท่าน
ซึ่งขณะนั้นทั้งพระทั้งฆราวาสจำนวนมากชุมนุมสวดมนต์ ฟังเทศน์ นั่งสมาธิ
เนื่องในงานทำบุญอายุครบรอบของท่าน
อากัปกิริยาที่หลวงปู่ออกมาจากกุฏิเพื่อสูดอากาศ
และมองดูรอบๆ บริเวณวัดในครั้งนี้
หามีใครทราบไม่ว่าเป็นการมองดูครั้งสุดท้าย
เป็นการลาสถานที่ของท่าน
แม้ผู้ที่อยู่รักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด
ก็ไม่มีใครเฉลียวใจเลยสักคนเดียวในขณะนั้น
เพราะเห็นท่านมีอาการธรรมดาๆ อยู่
มีสติสัมปชัญญะพูดถึงองค์นั้นองค์นี้ได้ถูกต้อง
และพูดธรรมปฏิบัติให้พระเณรฟังอีกมากมาย
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 28 เมษายน 2543 21:54:10

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 28 เมษายน 2543 21:56:46
ครั้นมัชฌิมยามผ่านพ้นไปแล้ว
คือผ่านตีสองของวันใหม่ 30 ตุลาคมแล้ว
หลวงปู่ได้แสดงธรรมว่าด้วย ลักษณาการแห่งพุทธปรินิพพาน
ด้วยเสียงอันเป็นปกติธรรมดา
ตามปกติในระยะหลังๆ นี้ ท่านมักจะแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้เสมอ
ในอิริยาบถนอนหงาย ท่านกล่าวว่า
"เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสร้างพระพุทธศาสนา
ให้ก่อเกิดเป็นชีวิตอย่างบริบูรณ์ดังประสงค์แล้ว
จึงได้เสด็จเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน
ลำดับแรกก็เจริญฌานดิ่งสนิทเข้าไปจนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ
หมายความว่า เข้าไปลึกสุดอยู่เหนืออรูปฌาน
…………………………
แล้วจึงได้ออกจากจตุตถฌาน
พร้อมกับมาดับจิตขันธ์หรือนามขันธ์สุดท้ายจริงๆ ที่ตรงนี้
พระองค์ไม่ได้เข้าสู่พระนิพพานในฌานสมาบัติอะไรที่ไหน
เมื่อพระองค์ออกจากจตุตถฌานแล้ว
จิตขันธ์หรือนามขันธ์ก็ดับพร้อม ไม่มีอะไรเหลือ
นั่นคือพระองค์ดับเวทนาขันธ์ในภาวะจิตตื่น
หรือวิถีจิตอันเป็นปกติของมนุษย์ ครบพร้อมทั้งสติสัมปชัญญะ
ไม่ถูกภาวะอื่นใดมาครอบงำอำพรางให้หลงใหลใดๆ ทั้งสิ้น
เป็นภาวะแห่งตนเองอย่างบริบูรณ์
ภาวะอันนั้นจะเรียกว่า มหาสุญญตา หรือจักรวาลเดิม
หรือเรียกพระนิพพาน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

เราปฏิบัติมา ก็เพื่อถึงภาวะอันนี้"


วจีสังขารหรือวาจาของหลวงปู่สิ้นสุดลงเพียงแค่นี้
หลังจากนั้นซึ่งเป็นเวลาตีสองกว่าแล้ว
ไม่มีวาจาใดๆ ออกมาอีกเลย
หลวงปู่นอนสงบเงียบหายใจเบาๆ และปกติธรรมดาที่สุด
ลมหายใจของหลวงปู่ก็ได้สิ้นสุดลงเมื่อเวลา 04.13 น.
หลวงปู่มิได้หายใจแรงให้เรารู้ว่า เป็นลมหายใจเฮือกสุดท้าย
เป็นลักษณาการมรณภาพที่ไม่ปรากฏร่องรอย
บริสุทธิ์ สงบเย็น อย่างสิ้นเชิง
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 28 เมษายน 2543 21:56:46

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 28 เมษายน 2543 22:22:49
ที่จริงประวัติของหลวงปู่ดูลย์ยาวมากครับ
แต่ผมตัดมาเฉพาะตอนที่หลวงปู่เกิดในทางธรรม
และตอนที่ท่านทิ้งทุกอย่างในลักษณาการที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง
แทบจะเป็นแบบฉบับในลักษณะเดียวกับพระบรมครูทีเดียว

คือท่านปล่อยวางทุกอย่างทิ้ง ในวันฉลองวันเกิดของท่าน
การมรณภาพ ก็กระทำโดยผ่านการเข้าสมาบัติแล้วออกเป็นระยะๆ
เป็นเหตุให้ผิวพรรณผ่องใส ร่างกายมีกำลังแทบเหมือนปกติ
ท่านมีสติสัมปชัญญะ และแสดงธรรมอยู่จนถึงคำพูดสุดท้าย
และสิ้นไป ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง
เป็นครู ถึงขนาดแสดงการตายให้ดู
ว่าการตายตามที่ปรากฏในตำรานั้น เขาตายกันอย่างไร
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 28 เมษายน 2543 22:22:49

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ธีรชัย วัน เสาร์ ที่ 29 เมษายน 2543 08:10:44
ขอบพระคุณครับ
_/\_
โดยคุณ ธีรชัย วัน เสาร์ ที่ 29 เมษายน 2543 08:10:44

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ dolphin วัน เสาร์ ที่ 29 เมษายน 2543 08:16:49
ขอบพระคุณ ค่ะ^_^
โดยคุณ dolphin วัน เสาร์ ที่ 29 เมษายน 2543 08:16:49

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ นิดนึง วัน เสาร์ ที่ 29 เมษายน 2543 08:23:48
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ หนุ่ย วัน เสาร์ ที่ 29 เมษายน 2543 09:34:11
สาธุค่ะ กราบขอบพระคุณมากค่ะ _/|\_
โดยคุณ หนุ่ย วัน เสาร์ ที่ 29 เมษายน 2543 09:34:11

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ไพ วัน เสาร์ ที่ 29 เมษายน 2543 13:53:22
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ Lostboy วัน เสาร์ ที่ 29 เมษายน 2543 17:22:54
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ พัลวัน วัน อาทิตย์ ที่ 30 เมษายน 2543 08:19:56
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ พริกหยวก วัน อาทิตย์ ที่ 30 เมษายน 2543 10:59:33
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ Lee วัน อาทิตย์ ที่ 30 เมษายน 2543 22:23:36
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ chim วัน จันทร์ ที่ 1 พฤษภาคม 2543 06:26:34
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน จันทร์ ที่ 1 พฤษภาคม 2543 10:25:12
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 2 พฤษภาคม 2543 07:21:38
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน อังคาร ที่ 2 พฤษภาคม 2543 08:41:56
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 2 พฤษภาคม 2543 09:01:36
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ คิดเอาเอง วัน อังคาร ที่ 2 พฤษภาคม 2543 09:40:13
ประวัติของหลวงปู่ผมอ่านไม่เคยเบื่อเลยครับ
ยิ่งตอนสุดท้ายตรงที่พี่พูดว่าหลวงปู่ท่านเป็นครูถึงขนาดแสดงการตายให้ดู
(ถ้าจำไม่ผิดไม่มีในหนังสือที่เขียนประวัติของหลวงปู่)

คำพูดนี้ทำให้ผมเกิดความรู้สึกซาบซึ้งขึ้นมาในใจทีเดียว
ขอบพระคุณครับที่พี่กรุณาพิมพ์มาให้อ่าน
และกราบระลึกถึงพระคุณหลวงปู่ที่ท่านนำพระธรรมของพระศาสดา
มาเผยแผ่และสั่งสอนสัตว์โลกจนกระทั่งมาถึงตัวผม

ได้อ่านประวัติของท่านทำให้นึกถึงภาพของท่าน(ไม่เคยเห็นองค์จริง)จากหน้าปกหนังสือ
และมีความรู้สึกเป็นสุขใจทุกครั้ง
โดยคุณ คิดเอาเอง วัน อังคาร ที่ 2 พฤษภาคม 2543 09:40:13

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 2 พฤษภาคม 2543 10:28:48
เรื่องราวของหลวงปู่ดูลย์ที่ผมยกมาให้พวกเราอ่านกันนั้น
มีบางส่วนน่าจะอธิบายความเพิ่มเติม เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่

เรื่องแรกที่อยากจะเล่าสู่กันฟังก็คือ
เรื่องการฝึกกรรมฐานของหลวงปู่สมัยเริ่มแรกที่วัดคอโค
ที่อาจารย์ของท่านสอนให้จุดเทียน 5 เล่ม แล้วบริกรรมอัญเชิญปีติทั้ง 5
(ใครสนใจเรื่องปีติ 5 ลองค้นคว้าจากพจนานุกรมที่ป๋องทำไว้ในลานธรรมนะครับ)
กรรมฐานชนิดนี้ เดี๋ยวนี้ก็ได้ยินว่ายังมีอยู่
เป็นเรื่องของสมถกรรมฐานล้วนๆ เพราะมุ่งไปสู่สมาธิเท่านั้น

เรื่องการไปเรียนปริยัติธรรมที่เมืองอุบลของหลวงปู่นั้น
เป็นเพราะยุคนั้น เมืองอุบลเป็นแหล่งที่การศึกษาปริยัติธรรมแพร่หลายที่สุด
บุกเบิกการศึกษาโดยพระเถระฝ่ายธรรมยุติ
มีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เป็นกำลังสำคัญ
เมื่อแรกหลวงปู่ไปเมืองอุบลนั้น ท่านยังเป็นมหานิกาย
แต่ก็ได้รับการยอมรับให้เข้าศึกษาด้วย
และพระเถระฝ่ายธรรมยุติยุคนั้น ไม่ค่อยเห็นด้วยที่หลวงปู่จะบวชเป็นธรรมยุติ
ด้วยเหตุผลที่ว่า ท่านต้องการให้หลวงปู่กลับมาเผยแพร่ปริยัติธรรมที่สุรินทร์
ถ้ามาในฐานะพระธรรมยุติ จะลำบาก เพราะเมืองสุรินทร์ยุคนั้น มีแต่พระมหานิกาย
จุดนี้แสดงให้เห็นความใจกว้างของพระเถระยุคนั้น
ที่อยากให้การเรียนปริยัติธรรมกว้างขวาง โดยไม่สนใจเรื่องนิกาย

หลวงปู่ได้รู้จักกับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
ซึ่งสมัยนั้น ท่านอาจารย์สิงห์รับราชการเป็นครูสอนเด็กนักเรียนอยู่ที่อุบล
พวกเราบางคนอาจจะงงๆ ว่าท่านเป็นพระ แล้วรับราชการเป็นครูได้อย่างไร
เรื่องนี้ผมได้ถามคุณพ่อของผม ท่านก็บอกว่า สมัยนั้นผู้มีความรู้หายาก
ทางราชการเลยรับพระ ให้ไปเป็นครูสอนเด็กนักเรียน
และการเรียนนั้น เมื่อใดที่เด็กนักเรียนหญิงเติบโตเป็นสาว
จะต้องถูกสั่งให้ออกจากโรงเรียน เพราะสมัยนั้นเขายังถือเรื่องผู้หญิงผู้ชายเข้มงวด
หนุ่มสาวจะไปเรียนปนๆ กันไม่ได้


สำหรับเรื่องการออกปฏิบัติกรรมฐานของหลวงปู่ดูลย์คราวแรกนั้น
เป็นช่วงออกพรรษา และท่านไปกับท่านพระอาจารย์สิงห์
โดยท่านอาจาย์สิงห์ตัดสินใจลาออกจากการเป็นครู
เพราะภายหลังท่านอาจารย์สิงห์ฝึกกรรมฐานจากท่านอาจารย์มั่นแล้ว
เพียงไม่นานต่อมา ท่านเกิดมองเห็นเด็กนักเรียนทั้งชั้นของท่าน เหลือแต่โครงกระดูก
จึงเกิดสลดสังเวชใจ แล้วร่ำลานักเรียน
ออกเดินธุดงค์ร่วมกับหลวงปู่ดูลย์ไปทางท่าคันโท

การปฏิบัติในช่วงแรก หลวงปู่มีนิมิตเป็นพระพุทธรูปในกายของท่านเหมือนกัน
แต่ท่านพิจารณาแล้วปล่อยวางทิ้งเสีย แล้วย้อนมาพิจารณากายของท่านเอง
ตามแนวทางที่หลวงปู่มั่นสอนนั่นเอง คือพอจิตสงบก็ให้พิจารณากาย
จนท่านสามารถจำแนกได้ชัดว่า อันนี้จิต(ผู้รู้) อันนี้กิเลสและอารมณ์ที่ถูกรู้
และเข้าใจถึงจิตที่พ้นจากความปรุงแต่งเป็นครั้งแรก ทั้งที่เริ่มปฏิบัติเพียงไม่นานเลย

เมื่อท่านเข้าใจธรรมในเบื้องต้นแล้ว
ท่านพระอาจารย์มั่นพิจารณาเห็นว่า ท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยละเอียดลึกซึ้ง
จึงสอนกรรมฐานที่ละเอีดยให้ว่า
"สัพเพ สังขารา สัพพสัญญา อนัตตา"
ความว่า ความปรุงแต่ทั้งหลาย ความจำได้หมายรู้ทั้งหลาย ไม่ใช่ตัวตน
หลังจากนั้น หลวงปู่ก็ปลีกตัวไปบำเพ็ญทางจิต
ในที่สุดก็ได้รู้แจ้งในธรรมนั้น คือ
ปฏิจจสมุปบาทตลอดสายในแว้บเดียวเท่านั้น
ว่า สังขารทั้งหลายเกิดจากความคิดปรุง
เมื่อละสังขารได้ ความทุกข์ก็ดับหมดตลอดสาย
ปฏิจจสมุปบาทก็ขาดเพียงเท่านี้เอง


ตรงนี้อยากให้พวกเราสังเกตกันไว้หน่อยนะครับ
ว่าท่านเห็นปฏิจจสมุปบาทในแว้บเดียว
ถ้ายังเห็นปฏิจจสมุปบาททีละขั้น ทีละตอนละก็ ยังเชื่อถือไม่ได้เลย
และปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นเรื่องกลไกของจิตล้วนๆ
สังขารที่เกิดจากอวิชชา คือความปรุงแต่งของจิตล้วนๆ ไม่ใช่สังขารที่เป็นวัตถุภายนอก

หลวงปู่เดินทางไปปฏิบัติที่ถ้ำพระเวสฯ อำเภอนาแก นครพนม
ถ้ำพระเวสฯ นี้เดิมชื่อถ้ำพระเวสสันดร มีถ้ำใหญ่ แต่ปากถ้ำแคบๆ
ชาวบ้านชอบเข้าไปหาสมบัติในถ้ำ เดี๋ยวนี้ทางวัดเลยเอาปูนปิดปากถ้ำเสียแล้ว

หลวงปู่ท่านเคยเล่าให้พระลูกศิษย์ฟังว่า
วันหนึ่งเป็นเวลาเช้า ท่านฉันเสร็จแล้วกำลังนั่งทำกิจบริขารอยู่
ท่านเห็นแมวตัวหนึ่ง กำลังถูกสุนัขฝูงหนึ่ง 5 - 6 ตัวไล่กวดอยู่
แมวหนีขึ้นไปอยู่บนต้นมะละกอ สูงพอสมควร
สุนัขก็ได้แต่เห่า กระโจน ขู่ เป็นเวลานาน
ส่วนแมวเมื่อเห็นว่าตัวเองปลอดภัยแล้ว
ก็เหลียวมองสุนัขเหล่านั้นอย่างยิ้มเยาะ
ว่าสุนัขเอ๋ย เจ้าไม่สามารถทำอะไรข้าได้แล้ว ข้าอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว
ทันใดนั้น ท่านย้อนมาดูจิตของท่าน
ก็เห็นอาการที่จิตยิ้มเยาะกิเลสตัณหา
ที่ไม่อาจครอบงำจิตของท่านให้หลงใหลได้อีกต่อไป
เปรียบเหมือนแมวที่พ้นภัย ดังนี้


ธรรมที่ท่านเข้าใจในครั้งนั้นก็คือ
เมื่อสังขารขันธ์ดับได้แล้ว ความเป็นตัวตนจักมีไม่ได้
เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง
ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดไป ความทุกข์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร


ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง มันเกิดมาจากความไม่รู้อริยสัจจ์
จิตจึงปรุงแต่ง แล้วถูกความปรุงแต่งครอบงำ
เมื่อจิตตัดขาดความปรุงแต่งด้วยปัญญาอันชอบ
ความเป็นตัวตนที่จะทุกข์ก็ไม่มีอีกต่อไป
เพราะความเป็นตัวตน เกิดมาจาก
สังขารขันธ์หรือความคิดนึกปรุงแต่ง เข้าไปปรุงแต่งจิต เท่านั้นเอง

เห็นพวกเราตั้งกระทู้เรื่องความเป็น เรากันบ่อยๆ
ก็เลยนำการพิจารณาธรรมส่วนนี้ของหลวงปู่ มาเล่าสู่กันฟังน่ะครับ

*************************************
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 2 พฤษภาคม 2543 10:28:48

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 2 พฤษภาคม 2543 10:41:59
ขอแก้ข้อความที่ผิดหน่อยครับ
ตรงย่อหน้าที่เริ่มจาก "หลังจากนั้น หลวงปู่ก็ปลีกตัวไปบำเพ็ญทางจิต
ในที่สุดก็ได้รู้แจ้งในธรรมนั้น คือปฏิจจสมุปบาทตลอดสายในแว้บเดียวเท่านั้น
ว่า สังขารทั้งหลายเกิดจากความคิดปรุง
เมื่อละสังขารได้ ความทุกข์ก็ดับหมดตลอดสาย
ปฏิจจสมุปบาทก็ขาดเพียงเท่านี้เอง

ตัวแดงนั้นขอแก้เป็น ความทุกข์
ขอโทษนะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 2 พฤษภาคม 2543 10:41:59

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 2 พฤษภาคม 2543 13:18:48
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ จ้อม วัน พุธ ที่ 3 พฤษภาคม 2543 16:30:24
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ tuli วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 20:10:25
เรียนถามนิดครับ เห็นรูปหน้าปกหนังสือเป็นตอนถวายเพลิง  มีไฟกลมๆนั่นเป็นของจริงไม่ได้แต่งภาพใช่ไหมครับ
โดยคุณ tuli วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 20:10:25

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 10 พฤษภาคม 2543 09:56:39
เรียนคุณหมอธุลี
ภาพชนิดนี้ของจริงก็มี ของปลอมก็มีครับ
ใครเห็นแล้วก็เกิดความเคลือบแคลงสงสัย ว่าของจริงหรือปลอม
ไม่เหมือน ธรรม ซึ่งผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์ได้จริงอย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ
ดังนั้นอย่าไปสนใจเลยครับ

ผมเองตั้งแต่เห็นเอาไปทำปกหนังสือครั้งแรก
ก็ยังนึกอยู่ว่าไม่น่าจะให้ความสำคัญขนาดนี้
ถ้าหลวงปู่ท่านยังอยู่และเห็น ท่านจะต้องดุเอาแน่ๆ
เพราะท่านไม่สนับสนุนให้เราเชื่อถือ หรือสนใจสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้
เนื่องจากวิญญูชนมาเห็นเข้า ก็อดจะเคลือบแคลงอย่างที่คุณหมอรู้สึกไม่ได้

สำหรับภาพนี้ พระครูนันท์ หรือเจ้าคุณโพธิฯ
ท่านก็เคยบอกว่ามีคนถ่ายได้และเอามาถวาย
สรุปไม่ได้หรอกครับว่าจริงหรือปลอม
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 10 พฤษภาคม 2543 09:56:39

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 10 พฤษภาคม 2543 11:04:23
วันนี้ได้รับเมล์จากคุณนพชัยฉบับหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลวงปู่ดูลย์
ช่วงหลังๆ นี้ คนเริ่มรู้จักและสนใจหลวงปู่มากขึ้น
ก็มีคนสนองความต้องการ ไปแสวงหาเรื่องของท่านมาเขียนจำหน่ายมากขึ้น
จริงบ้าง เท็จบ้าง เขียนเอามันส์บ้าง เพื่อให้หนังสือสนุก
ลองอ่านเมล์ฉบับนี้ดูเถอะครับ
***************************************

นพชัย wrote:

> สวัสดีครับพี่ปราโมทย์
> เช้านี้ผมได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับหลวงพ่อคืน
> มีอยู่ตอนหนึ่งในหนังสือเล่าว่าหลวงพ่อเถียงเอานิพพานกับหลวงปู่ดูลย์
> ในหนังสือเล่าไว้อย่างนี้ครับ

>   หลวงพ่อเล่าปรากฏการณ์ที่ท่านพบบนลำน้ำโขงอย่างละเอียดให้หลวงปู่ฟัง
> เมื่อฟังจบแล้ว หลวงปู่จึงเอ่ยอย่างราบเรียบว่า
> "ไม่ใช่นิพพานหรอก"
> "ไม่ใช่ยังไง ! หลวงพ่อ(เป็นคำที่หลวงพ่อคืนเรียกหลวงปู่ดูลย์)
> ก็หลวงพ่อสอนว่า จงทำจิตให้ตั้งอยู่บนไม่มีอะไรทั้งสิ้นแล้วนี่
> ผมก็ไปอยู่บนไม่มีอะไรแล้ว ผมว่านิพพานนะหลวงพ่อ
> หลวงพ่อคืนเถียงแย้งหลวงปู่
> โดยหลวงพ่อเล่าต่อว่าพอท่านเถียงแย้งหลวงปู่ไปแบบนั้น
> (ท่านว่าดูเหมือนเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่พูดเป็นเชิงเถียงกับหลวงปู่)
> หลวงปู่นี่ปากคอสั่นเลย จากนั้นหลวงปู่ก็พูดกระแทกลงมาเลยว่า
> "ไม่ใช่นิพพาน (ท่านลากเสียง พาน ยาว เหมือนผู้ใหญ่รำคาญเด็ก)
> นิพพานอะไรอย่างนี้ ตัวอยู่ป่าแก้ว แต่ไปนิพพานบนแม่น้ำโขง"

>    คือผมขอเรียนถามพี่แก้ความสงสัยหน่อยครับ
> มิได้มีเจตนาที่จะจาบจ้วงหลวงปู่ดูลย์แต่อย่างใด
> เพราะในใจผมแล้วมีความรู้สึกกับหลวงปู่ดูลย์เป็นพิเศษ(ก็ไม่รู้เป็นเพราะอะไร)
> คือผมสงสัยว่าที่ในหนังสือบรรยายว่า "หลวงปู่นี่ปากคอสั่นเลย"
> ในความคิดของผม
> ผมเข้าใจว่าจิตของหลวงปู่นั้นท่านจะนิ่งอยู่ทุกขณะจิตเป็นปกติ
> แต่อาการที่ทำให้หลวงปู่มีอาการปากคอสั่นนั้นเกิดจากอะไรครับ

>     ขอรบกวนพี่ครับ แล้วแต่พี่จะเห็นสมควรว่าจะตอบหรือไม่

ตอบ
เรื่องนี้พี่ฟังหลวงพ่อคืนเล่ามาด้วยตนเองไม่ต่ำกว่า 5 - 6 ครั้ง
ไม่เคยได้ยินว่าหลวงปู่โกรธหรือรำคาญจนปากคอสั่น
มีแต่บอกว่าหลวงปู่ถามท่านว่า
"เคยได้ยินไหมว่าขันธ์หนึ่ง ขันธ์ 4 ไม่มีประมาณ ... "
ท่านก็อุทานว่า อ้าว งั้นที่ท่านทำก็ไม่ใช่นิพพานน่ะสิ
หลวงปู่ก็ยิ้มๆ ตอบว่า ก็ไม่ใช่นิพพานน่ะสิ

คนที่ฟังเรื่องเล่าต่อๆ กันไป
ชอบใส่สีใส่ไข่แบบนี้แหละครับ เพื่อจะขายหนังสือของตัว

พี่ปราโมทย์
*****************************************
(อธิบายเพิ่มเติม)
เบื้องหลังของเรื่องนี้ก็คือ หลวงพ่อคืนท่านคิดๆๆๆ ถึงธรรมที่หลวงปู่สอน
เรื่องที่จิตหยุดอยู่บนความไม่มีอะไรเลย หรือความว่าง
แล้ววันหนึ่ง ท่านก็เข้าสมาธิ จิตถอดออกไปลอยอยู่เหนือแม่น้ำโขง
ท่านก็คิดว่า "นี่แหละ จิตหยุดบนความไม่มีอะไร คือลอยในอากาศ
นี่คงเป็นนิพพานแน่ๆ"

แต่หลวงปู่ก็สอนท่านให้เข้าใจว่า นี่ยังเป็นภพอีกอันหนึ่ง
ความว่างนั้น ว่างแบบซื่อบื้อไม่รับรู้อะไรอย่างพรหมลูกฟักก็มี
คือว่างจากนาม ไม่่ว่างจากรูป
ว่างแบบอรูปพรหมก็มี คือว่างจากรูป ยังไม่ว่างจากนาม
ส่วนนิพพานนั้น ว่างจากรูปและนาม

แต่ท่านกล่าวให้หลวงพ่อคืนฟังแค่ว่า
"ขันธ์หนึ่งขันธสี่ไม่มีประมาณ ท่องเที่ยวในภพสังสารร่ำไป"
เพียงเท่านี้ หลวงพ่อคืนก็เข้าใจ และหายสงสัยแล้ว
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 10 พฤษภาคม 2543 11:04:23

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 10 พฤษภาคม 2543 11:19:41
ในหนังสือประวัติของหลวงปู่ดูลย์ ยังมีเรื่องใส่สีอีกบางจุดครับ
โดยเฉพาะตอนที่ท่านออกธุดงค์ แล้วเจอสัตว์ต่างๆ
มีการเขียนเพิ่มเติมเพื่อความสนุกตื่นเต้นเข้าไปจนเกินจริง

เช่นเขียนกันว่า ท่านเดินไปพบควายป่า แล้วควายชนท่านล้มลง
จากนั้นก็ขวิดท่านเป็นการใหญ่ แต่เขาควายป่าเฉี่ยวสีข้างท่านไปมาทั้งซ้ายขวา
จนผ้าจีวรของท่านขาด แต่องค์ท่านไม่ได้รับอันตรายใดๆ
สักพักควายก็วิ่งหนีไป
อีกเรื่องหนึ่งกล่าวว่าท่านธุดงค์เข้าไปในเขมรกับเด็กคนหนึ่ง
ไปเจอตะขาบยักษ์ ตัวเท่าฝากระดาน ซึ่งก็คงพอๆ กับซุงย่อมๆ น่ันเอง

เรื่องนี้ หลวงพ่อซอม ซึ่งเป็นศิษย์อายุเกือบเท่าหลวงปู่
ท่านเล่าให้ผมฟังว่าไม่จริงหรอก เป็นเรื่องแต่งเติมเอาสนุกทีหลัง
เรื่องก็แค่ว่า ควายบ้านมันขวิดหลวงปู่ล้มลง แต่ไม่เป็นอันตราย
แล้วเจ้าของก็มาไล่ควายไป
กับบอกว่าเป็นเรื่องเล่าในเขมร เกี่ยวกับตะขาบยักษ์
ไม่ใช่ว่าหลวงปู่ไปเจอตะขาบยักษ์แต่อย่างใด

นี่แค่ไม่กี่ปีนะครับ อภินิหารย์ยังเพิ่มขึ้นขนาดนี้
เพราะคนอ่าน คนฟัง ชอบเรื่องแบบนี้
พวกนักเขียนเขาก็เลยสนองความต้องการให้ครับ
อนึ่ง เรื่องตะขาบยักษ์นี้ ปรากฏอยู่ในประวัติพระเถระอื่นๆ ก็มีครับ
ท่านองค์อื่นอาจจะเคยเจอก็ได้ แต่หลวงปู่ดูลย์ท่านไม่เคยเจอ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 10 พฤษภาคม 2543 11:19:41

ความเห็นที่ 30 โดยคุณ โจโจ้ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 18:23:23
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 31 โดยคุณ กอบ วัน อาทิตย์ ที่ 14 พฤษภาคม 2543 22:42:20
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 32 โดยคุณ ต๊าน วัน อังคาร ที่ 16 พฤษภาคม 2543 04:45:47
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 33 โดยคุณ aek123 วัน พุธ ที่ 17 พฤษภาคม 2543 18:22:36
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 34 โดยคุณ นุดี วัน พฤหัสบดี ที่ 18 พฤษภาคม 2543 16:39:41
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 35 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 19 พฤษภาคม 2543 22:16:43
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com