กลับสู่หน้าหลัก

พระราชปุจฉาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 3 พฤษภาคม 2543 10:32:25

พระเจ้าแผ่นดินไทย ทรงเป็นพุทธมามกะสืบทอดกันมาช้านาน
หลายพระองค์ทรงศึกษาธรรมจนแตกฉานมาก 
เช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

ญาติธรรมท่านหนึ่งแนะนำโฮมเพจแห่งหนึ่งให้รู้จัก
คือที่ http://www.mod.go.th/heritage/king/question/index.htm
เป็นเรื่องราวที่พระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ สนทนาธรรมกับพระมหาเถระ
วันนี้ผมขอยกตัวอย่างบางคำถามของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
มาให้พวกเราอ่านกันเพื่อความสุขใจ
ปัญหาที่ท่านถามนั้น บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่พวกเราเคยถามกันเหมือนกัน

*********************************************

พระราชปุจฉาที่ 1 ว่าด้วยการลาสิกขาบท

เมื่อปี พ.ศ. 2224 มีพระราชโองการถามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ว่า 
ภิกษุปลงสิกขาบทว่า     "พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ  แปลว่าไฉน"
ถวายพระพรว่า แปลว่า อาตมภาพจะปลงสรณคมน์ 
อันสมาทานเอาด้วยอุปสมบทว่า พุทฺธํ สรณํ เสียในกาลบัดนี้ 

จึงมีพระราชโองการตรัส ครั้นว่าดังนั้น สรณาคมน์มิได้ติดตัวไปฤา
ถวายพระพรว่า ปลงสรณาคมน์สำหรับภิกษุนั้น
ให้ขาดเสียก่อนเมื่อเป็นคฤหัษฐ์แล้วนั้น 
จึงสมานเอาสรณาคมน์ สำหรับคฤหัสนั้นเล่า 

จึงมีพระราชโองการถามว่า เมื่อบวชเป็นภิกษุ 
สวดญัติ สวดกรรมวาจาเปนอันมากจึงเป็นภิกษุ 
เมื่อสึกออกนั้น ว่าแต่สองคำสามคำคือ    "พุทฺธํ" คำหนึ่ง    "ปจฺจกฺขามิ" คำหนึ่ง
แต่เท่านี้ก็ขาดจากเปนภิกษุนั้นเปนไฉน

ถวายพระพรว่า เมื่อจะก่อสร้างนั้นก็ย่อมช้า เมื่อจะล้างเสียนั้นย่อมพลัน
แลลักษณะปลงสิกขาบท กอบไปด้วยองค์ 6 ประการ 
จึงจะขาด จึงเปนอันปลงสิกขาบท
มิพร้อมด้วยองค์ 6 ประการมิขาด มิเปนอันปลงสิกขาบท 
จึงถวายพระคาถาอันจะรู้จักองค์ 6 ประการดังนี้ 
(ไปอ่านรายละเอียดเอาเองก็แล้วกันครับ ถ้าสนใจ)

*********************************************

พระราชปุจฉาที่ 2 ว่าด้วยเรื่องพระภิกษุนินทาพระเจ้าแผ่นดิน

เมื่อปี พ.ศ. 2224 ว่าด้วย มีพระราชโองการให้อำมาตย์คนหนึ่ง
มาถามพระพรหมมุนี ณ วัดปากน้ำประสบว่า
พระสงฆ์วัดวังไชย นินทาพระเจ้า(แผ่นดิน)
ว่าพระเจ้ารักแขกเมืองยิ่งกว่าข้าแผ่นดิน 
แลพระเจ้าให้ขับเสียนั้น ชอบฤามิชอบ


พระพรหมว่า ซึ่งพระสงฆ์นินทาพระเจ้านั้นมิชอบนักหนา
แล้วพระพรหมถามอำมาตย์เล่า ว่าพระเจ้าได้ยินเองฤา ๆ ผู้ใดได้ยิน

อำมาตย์บอกว่าข้าหลวงได้ยินจึงเอามากราบทูล 
พระพรหมจึงว่า ถ้าข้าหลวงได้ยินนั้นกูว่าด้วยมิได้ 
เกลือกมันจะใคร่ได้ยศฐานันดรศักดิ์เจียดเงินพานทอง 
แลมันเอาเท็จมาทูล มันจะทำให้พระเจ้าได้บาป ทั้งดูผู้หลงนี้ก็จะได้บาป 
พระเจ้าก็มิได้ยิน กูก็มิได้ยิน แลกูจะว่าด้วยมิได้ 
แลกฎหมาย(จด)เอาคำกู ไปกราบทูลแก่พระเจ้า ว่ากูว่ากระนี้เถิด 

อำมาตย์กฎหมายเอาถ้อยคำพระพรหมมากราบทูล 
พระเจ้าก็ทรงพระสรวล
แลตรัสว่ามหาพรหมองค์นี้เธอตรงจริง ๆ 

หมายเหตุ
เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความฉลาดของพระพรหมมุนี
ที่ท่านคล้อยตามพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงถามว่า 
พระนินทาพระเจ้าแผ่นดินนั้นถูกต้องไหม
ท่านก็ตอบว่าไม่ถูก เพราะที่จริงการนินทาก็ไม่ถูกอยู่ในตัวมันแล้ว
แต่ท่านก็พลิกกลับว่า พระเจ้าแผ่นดินได้ยินเอง หรือคนอื่นได้ยินแล้วมาทูลฟ้อง
อันเป็นการเตือนพระเจ้าแผ่นดิน ให้มีความหนักแน่นต่อถ้อยคำของคนใกล้ชิด

*********************************************

พระราชปุจฉาที่ 3 ว่าด้วยชาวอุดรกุรูมิได้เป็นทุกข์ 

เมื่อปี พ.ศ. 2225  มีพระราชโองการตรัสถามว่า 
ในสารสงเคราะห์ว่าชาวอุดรกุรู  มิได้เป็นทุกข์ถึงกัน 
แลว่านี้ผิดปรมัตถ์ เพราะว่าโลกีย์จะว่ามิเปนทุกข์กระไรได้


สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  ถวายวิสัชนาว่า 
เพียงแต่บุคคลจำเริญมรณานุสสติไว้ แต่เมื่อยังดีอยู่ 
เมื่อมรณะมาถึง ก็บมิได้สะดุ้งตกใจกลัว 
ก็ชาวอุดรกุรูนั้นตามธรรมดามิได้หวงแหนพัสดุ  ทั้งปวง 
แลศีล 5 ประการก็ตั้งอยู่ในสันดานมั่นคง  จึงมิได้เป็นทุกข์ 

หมายเหตุ
เรื่องนี้แสดงความฉลาดในทางธรรมของสมเด็จพระนารายณ์
ที่ทรงแย้งไตรภูมิพระร่วง ซึ่งกล่าวถึงชาวอุตรกุรุทวีป ว่ามีแต่ความสุข
(อุตรกุรุทวีป เป็น 1 ใน 4 ทวีปของมนุษย์
ทวีปที่พวกเราอยู่กันนี้ เรียกว่าชมพูทวีป)
โดยทรงแย้งว่า การมีสุขโดยส่วนเดียว ปราศจากทุกข์นั้น ผิดด้วยหลักธรรม
แต่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านก็อธิบายว่า
ชาวอุตรกุรุนั้น ไม่ทุกข์ตามสภาพของมนุษย์ที่มีปัญญา
คือไม่กลัวตายเพราะพากันเจริญมรณสติ
ไม่ตระหนี่ และมีศีล 5 มั่นคง
ส่วนความทุกข์ตามสภาพของกาย ก็ย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา

*********************************************

พระราชปุจฉาที่ 4 ว่าด้วยเรื่องคนเชื่อกรรม

มีพระราชโองการสั่งให้พระศรีศักดิ์ ถามพระสงฆ์ทั้งปวงว่า
มีคนผู้หนึ่งเข้าไปป่า แลพบช้างก็ดี เสือก็ดี 
แลผู้นั้นก็ถือว่าแล้วแต่กรรม ถ้ากรรมมีช้างแลเสือก็จะทำร้าย
ถ้าหากกรรมมิได้ ช้างแลเสือก็จะมิได้ทำร้าย 
แลผู้นั้นก็เข้าไปหาช้างแลเสือ ช้างแลเสือก็เบียดเบียฬผู้นั้นถึงสิ้นชีวิต 
เมื่อกระนั้นจะว่ากรรมมี ฤาหากรรมมิได้


สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  ขอถวายพระพร ฯ ว่า
บุคคลใดแลถือว่าแล้วแต่กรรมกระทำแต่ก่อนสิ่งเดียวนั้น 
แลหาวิจารณปัญญาอันพิจารณาเห็นคุณแลโทษในชาตินี้มิได้ 
แลผู้นั้นชื่อว่าบุพเพกตทิฏฐิอันวิปลาศ
ดุจพระธรรมเทศนาอันสงฆ์ได้ถวายแล้วนั้น ประการหนึ่ง
อาตมภาพได้ถวายพระพรตามพระคาถาว่า 
            "นาติสูโร นาติทุมฺ เมโธ อปฺมตฺโต กุทาจนํ "
ว่าบุคคลอันเกิดในโลกนี้จะแกล้วหาญอย่าแกล้วหาญนัก 
จะขลาดอย่าขลาดนัก แลอย่าได้ประมาท 
แลมีสติอันระวังฐานะอันควรแกล้วหาญจึงแกล้วหาญ
ฐานะอันจะควรขลาดจึงขลาด แกล้วหาญในฐานะที่ควรจะแกล้วหาญนั้น
อาตมภาพถวายพระพรนี้
อาศรัยคำพระมหาชนกเจรจาด้วยนางมณีเมขลาในท้องมหาสมุทร
ว่าบุคคลผู้ใดเห็นพาลมฤคราชมีอาทิคือช้าง แลเสืออันร้ายแรงแลมิได้หนี
แลอยู่ให้พาลมฤคนั้นเบียดเบียนนั้น
แลผู้นั้นชื่อว่าหาความเพียรอันจะให้อาตมานั้นพ้นจากไภยนั้นมิได้
ชื่อว่าได้รักษาชีวิตแห่งอาตมา
แลบุคคลผู้นั้นจะประกอบด้วยความเดือดร้อนในกาลภายหลัง 
อาตมภาพขอถวายพระพรฯ 

พระบรมไตรโลก ถวายพระพรว่า บุคคลอันถือเอาซึ่งกรรมนั้นแล
มิได้พิจารณาซึ่งเหตุอันผิดแลชอบนั้นได้ชื่อว่าบุพพเหตุกทิฏฐิ 
เปนคนถือผิดคำพระพุทธเจ้า เปนประโยชน์วิบัติ 
ประกอบกรรมอันผิด หาปัญญามิได้ 
เหตุโมหะมีกรรมหลัง
ซึ่งกรรมแต่ก่อนหามิได้นั้นก็จะให้มีไปใหม่ 
ซึ่งกรรมอันใหม่ยังไปมิได้นั้นก็จะให้มีไปเล่าแล 
บุคคลผู้นี้ประพฤติผิด 
พระพุทธเจ้าตรัสธรรมเทศนาไว้แก่ภิกษุทั้งหลาย มิให้ขึ้นต้นไม้เล่น 
อยู่มามีอันตรายเป็นอาทิ คือว่าเสือช้างไล่ 
พระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตให้ภิกษุขึ้นต้นไม้หนีไภยนั้น ให้เอาชีวิตรอดประการหนึ่ง
พระพุทธเจ้าตรัสห้ามด้วยฐานะใด แลมีสัตว์อันร้ายก็ดี ปีศาจอันร้ายก็ดี
มิให้ภิกษุอยู่ในฐานะเช่นนั้น อาตมภาพถวายพระพร ฯ 

หมายเหตุ
คำถามชนิดนี้ผมก็เคยได้ยินบางคนถามเหมือนกัน
คือเป็นพวกที่เชื่อกรรมเก่าแบบขาดปัญญา
เช่นเชื่อว่า ถ้ากรรมไม่ตัดรอน ถึงจะขับรถประมาท ก็ไม่มีอันตราย
ถ้าจะได้เข้ามหาวิทยาลัย แม้ไม่ดูหนังสือสอบ ก็สอบได้ เป็นต้น

สมเด็จพระนารายณ์ ท่านก็คงไม่ชื่นชมคนที่ยอมให้เสือช้างทำร้ายเพราะเชื่อกรรม
ท่านจึงถามถึงเหตุผล และพระเถระ 2 รูปก็แสดงเหตุผลไว้แล้ว

*********************************************

พระราชปุจฉาที่ 5 ว่าด้วยเรื่องแขกเมือง

เมื่อปี พ.ศ. 2228 พระเจ้าตรัสใช้ให้นายสิทธิมาถามพระพรหมอีกเล่า
ว่าบัดนี้แขกเมืองเข้ามาเป็นอันมาก พระพรหมจะเห็นเปนประการใด

พระพรหมว่าบุญสมภารพระเจ้ามากนัก  แขกเมืองจึงเข้ามาดังนี้ 
แต่อายุกูนี้ได้สามพระยาแล้ว(3 แผ่นดิน) 
กูบ่ห่อนได้ยินว่า  แขกเมืองเข้ามาเปนอันมากดังนี้
แลซึ่งแขกเมืองเข้ามาดังนี้ ด้วยเดชะโพธิสมภารพระเจ้าแล 

นายสิทธิ์จึงบอกเล่าว่า บัดนี้แขกเมืองให้กราบทูลว่า
แขกเมืองจะเข้ามาอีกมากกว่านี้เล่า
แลพระเจ้าให้มาถามว่า 
ซึ่งแขกเมืองจะเข้ามาอิกมากกว่านี้นั้น ยังจะเปนประการใด
พระพรหมว่า แขกเมืองจะเข้ามาอีกนั้น 
ย่อมทราบอยู่ในพระไทยพระเจ้าทุกประการ แลกูมิว่าเลย 
แลกฎหมายเอาคำกูนี้ไปทูลให้พระเจ้าทราบเถิด 

นายสิทธิ์กฎหมายเอาคำพระพรหมมากราบทูล 
พระเจ้าทรงพระสรวล แล้วตรัสว่า 
มหาพรหมนี้เจรจาหลักแหลมแลรู้หลักด้วย เสียดายเธอแก่นักแล้ว
แม้นยังหนุ่มเราได้ไต่ถามกิจการทั้งปวง ไปภายน่า ฯ 

หมายเหตุ
พระพรหมองค์นี้ ก็น่าจะเป็นพระพรหมมุนี วัดปากน้ำประสบ
คราวนี้พระนารายณ์ทรงให้คนไปถามว่า 
มีชาวต่างประเทศเข้ามามาก ท่านจะว่าอย่างไร
คำถามนี้คงเป็นการตรวจสอบความคิดเห็น คล้ายกับการสำรวจโพลในยุคนี้
โดยอาศัยพระเถระที่คนรู้จักนับถือมากเป็นตัวอย่างในการสำรวจ
ทั้งนี้เพราะครั้งนั้น คนไทยที่ไม่พอใจชาวต่างประเทศก็มีอยู่มาก
จนถึงกับเป็นเหตุผลที่พระเพทราชากระทำรัฐประหารสมเด็จพระนารายณ์ในเวลาต่อมา

พระพรหมมุนีท่านก็ฉลาดที่จะตอบแบบอยู่เหนือการเมือง
คือท่านบอกว่า ท่านไม่ว่าอะไรหรอกในเรื่องที่ชาวต่างประเทศเข้ามามาก
และคำถามนี้ พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงมีคำตอบอยู่ในพระทัยแล้ว
ไม่จำเป็นที่ท่านจะต้องตอบอีก

**********************************************
ผมคัดลอกมาให้อ่านกันเล่น
เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศเรื่องหนักๆ ทางธรรมเสียบ้างครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 3 พฤษภาคม 2543 10:32:25

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 3 พฤษภาคม 2543 10:53:22
ครูมีอะไรแปลกๆมาเปลี่ยนบรรยากาศบ้างก็ดีครับ แต่ถึงอย่างไรก็มีสาระธรรมที่น่าศึกษาอยู่ดีครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 3 พฤษภาคม 2543 10:53:22

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 3 พฤษภาคม 2543 11:19:50
แถมอีกสักคำถามหนึ่งก็แล้วกันครับ
คำถามนี้คิดว่าจะถูกใจบรรดาพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย

********************************************

พระราชปุจฉาที่ 6 ว่าด้วยความรู้ของพระโพธิสัตว์ในชาติก่อน

ศักราช 1037 เถาะศก  พระศรีศักดิ์ ฯ
รับพระราชโองการสั่งให้เผดียงสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ว่า 
พระสมณโคดมก็ดี พระเมตไตรยโพธิสัตวก็ดี 
ทั้ง 2 พระองค์นี้ เมื่อชาติเป็นพระมหาเวสสันดรนั้นก็ดี
ยังรู้ว่าพระองค์จะได้ตรัสเปนพระฤามิรู้ 

อนึ่งพระเมตไตรยโพธิสัตว์เมื่ออยู่ในดุสิตนั้น 
ยังรู้ว่าพระองค์จะได้ตรัสเป็นพระฤามิรู้ 
อนึ่งพระเมตไตรยโพธิสัตว์ได้ตรัสเปนพระนั้นยังช้านานไป 
เมื่อจุติมาเกิดในมนุษย์นี้เล่า ยังจะรู้ว่าพระองค์จะได้ตรัสเป็นพระฤามิรู้


 แก้พระราชปุจฉาที่ 6
สมเด็จพระโฆษาจารย์ถวายพระพรว่า 
ในโสทตฺตกีมหานิทานว่า พระสมณะโคดมเจ้า เมื่อเป็นพระบรมโพธิสัตว์นี้
มีจิตรยินดีในที่จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในประนิธานทั้ง 3 ประการ 
เมื่อมโนประนิธานทั้ง 7 อสงขัยนั้น 
ก็รู้ว่าอาตมาจะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าให้ได้ 
จึงเปล่งวาจาในประนิธานทั้ง 2 นี้
รู้แต่ว่าจะเปนพระพุทธเจ้าให้ได้สิ่งเดียวนั้น 
แลรู้ว่ายังช้านานสิ้นกาลเท่าใด
จึงจะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้านั้นมิได้รู้


อีกประการหนึ่ง จะรู้ว่าได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าในกัลปนั้น ๆ ก็ดี ก็มิได้รู้
ต่อเมื่อกายวจีประนิธาน 
แลได้ทำนายในสำนักพระพุทธเจ้าทั้งหลาย 24 พระองค์นั้น
จึงรู้ว่าอาตมภาพได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้า 
เมื่อสิ้นกัลปเท่านั้น ๆ ในภัทธกัลปนี้
ด้วยได้ฟังพุทธฎีกาตรัสทำนายนั้น 

จำเดิมแต่ได้ทำนายแล้วนั้นมิได้ลืมที่จะตรัสเปนพระพุทธเจ้า
แม้นในชาดกทั้งปวงนั้นก็ดี ก็ยอมบำเพ็ญพระบารมีต่าง ๆ
เพื่อจะตรัสเปนพระพุทธเจ้า 
แม้นบังเกิดในกำเนิดเปนเดียรฉาน ปานดุจเปนช้างฉัททันต์
แลให้งาเปนทานแก่โสณุดรนั้น ก็ปราถนาแก่สรรเพ็ชญดาญาณ
แลพระโพธิสัตวเกิดในกำเนิดใด ๆ ก็ดี 
ย่อมรู้ว่าอาตมภาพจะเปนพระพุทธเจ้าทุก ๆ กำเนิด 
แม้นเกิดในตระกูลมิจฉาทิฐินั้นก็ดี  
แม้นได้คบหาด้วยปาปมิตรนั้นก็ดี
แลได้เปนมิจฉาทิฐิแล้วก็ดี 
ก็ได้กระทำกรรมอันผิดตามตระกูลแห่งปาปมิตรนั้นแล้วก็ดี
ครั้นเห็นโทษนั้นว่ามิชอบ 
ก็ย่อมกลับมาบำเพ็ญบารมีที่จะตรัสเปนพระพุทธเจ้านั้นดุจเดียว
อันนี้เปนธรรมดาพระโพธิสัตวแล  

เมื่อเกิดเปนพระเวสันดรนั้น สมภารบริบูรณ์ถ้วนกำหนดแล้ว 
พระปัญญาแก่แล้วก็ยินดีในโพธิปาริจริยธรรม 
เหตุดังนั้นจึงรู้ว่าพระองค์จะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าเที่ยงแท้ 

ประการหนึ่ง พระเมตไตรยโพธิสัตว์ 
เมื่อจะลงมาสร้างสมภารในมนุษย์โลกนี้
ก็รู้ว่าพระองค์จะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้า ดุจพระสมณะโคดมนี้ดุจเดียว 
เหตุสมภารบริบูรณ์ 16 อสงไขยยิ่งแสนกัลป แล้วแลจะได้ตรัสในภัทธกกัลปนี้
แลชื่อว่าจิตรแห่งพระโพธิสัตวทั้งปวง 
ก็ย่อมผูกอยู่ในที่จะเอาสรรเพ็ชญดาญาณให้ได้ มิได้คิดถอยหลัง 
แม้นจะไหม้อยู่ในนรกสิ้น 4 อสงไขยยิ่งแสนกัลปก็ดี
ก็จะเสวยทุกข์นั้นและจะเอาสรรเพ็ชญดาญาณให้ได้ 

ประการหนึ่ง แม้มีผู้บอกว่า ผู้ใดจะเปนพระพุทธเจ้า
ผู้นั้นเหยียบเท่ารึง(กองเถ้าที่ไม่มีถ่านไฟ แต่ยังร้อนระอุอยู่)ก็ดี
เหยียบถ่านเพลิงก็ดี  เหยียบภูเขาอันสุกเปนเปลวก็ดี
ลุยน้ำทองแดงดุจโลหกุมภีนรกนั้นก็ดี 
เหยียบกรวดอันลุกเปนเปลวก็ดี หนามก็ดี คมกรดก็ดี 
เต็มทั้งแสนโกฏิจักรวาฬนั้นไปได้ไซ้ 
ผู้นั้นจึงจะได้เปนพระพุทธเจ้า
แลพระโพธิสัตว ก็มิได้กลัวทุกข์นั้น 
ก็จะเหยียบทั้งปวงนั้นไปให้ได้
จิตรพระโพธิสัตวทั้งปวง ก็ย่อมเปนอันมั่นคงดุจนี้ เหตุดังนี้
จึงมิได้ลืมในที่จะเปนพระพุทธเจ้านั้น แล ฯ 

********************************************

พระโพธิสัตว์นั้นเป็นง่ายครับ แต่สำเร็จยาก
ท่านที่สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า จึงนับว่าเป็นสุดยอดจริงๆ
น่าเคารพเลื่อมใสอย่างยิ่ง

คำถามนี้ ขอมอบให้คุณพัลวันเป็นพิเศษทีเดียว
สำหรับคำถามคำตอบอื่นๆ เชิญไปอ่านกันเอาเองนะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 3 พฤษภาคม 2543 11:19:50

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 3 พฤษภาคม 2543 12:58:37
สาธุครับ _/I\_
เปลี่ยนบรรยากาศบ้างก็ดีเหมือนกันครับ ได้ฟังธรรมในอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้ประโยชน์
ไม่น้อยเลยครับ ^-^
โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 3 พฤษภาคม 2543 12:58:37

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 3 พฤษภาคม 2543 14:11:06
ได้ไปอ่านมา เห็นมีปริศนาธรรมที่น่าศึกษาอยู่ครับ จึงขอคัดลอกมาครับ

**********************************************************

ว่าด้วยอัฏฐธรรมปัญหา

                เมื่อปี พ.ศ. 2233  พระราชสมภารเจ้านิมนต์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ให้เฉลยปัญหาปฤษณาธรรม 8 ประการ ว่า
                (1)  ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร
                (2)  ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด
                (3)   หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร
                (4)  ไม้โกงอย่าทำกงวาน
                (5)  ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง
                (6)  ถ้าจะให้เปนลูกให้เอาไฟสุมต้น
                (7)  ถ้าจะให้ล่มบรรทุกแต่เบา
                (8)  ถ้าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง 4 เสีย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถวายวิสัชนา (ความย่อ)

                (1)  ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร  หมายถึงทาง 1 ทาง คือ กามสุขัลลิกานุโยค ประกอบด้วยกามสุขในเบญจกามคุณทั้งหลาย 1    อัตตกิลลมกานุโยค ประกอบด้วยวัตรปฎิบัติ อันให้เกิดทุกข์ลำบากแก่ตน 1 ทั้งสองนี้นับเป็นทางใหญ่อย่าเที่ยวจรไป
                (2)  ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด  หมายความว่า  ลูกอ่อนนั้นได้แก่วงศาคณาญาติ และอุ้มนั้นมี 2 อย่าง อุ้มแล้วรัดอย่างหนึ่ง อุ้มแต่มิให้รัดอย่างหนึ่ง อุ้มหมายความว่าอุปการอุดหนุน  แต่อย่าอุ้มรัด คืออุปการบำรุงด้วยตัณหาอุปาทาน ให้เปนแต่อุปการรักษาญาติวงศ์ทั้งหลาย แต่ตามประเพณีอันมีเมตตาจิต อย่าขัดให้ติดตัวด้วย สามารถละตัณหา อุปาทาน ดุจดังบุคคลอุ้มลูกอ่อน และมิได้รัดเข้าให้ติดตัวฉะนั้น
                (3)  หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร  หมายความว่า  หลวงเจ้าวัดได้แก่จิต อันเป็นประธานเป็นใหญ่แก่เจตสิกทั้งปวง  เช่นเดียวกับหลวงเจ้าวัด อันเป็นประธานแก่ภิกษุลูกวัด ที่ว่าอย่าให้อาหารนั้นคือ  อย่าให้จิตยินดีต่ออาหารทั้ง 4 คือ กวรึการาหาร  ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหาร เพราะว่าอาหารทั้ง 4 นี้ กอร์ปด้วยภัย 4 ประการ คือ นิกันติภัย อุปคมนภัย อุปบัตติภัย และปฎิสนธิภัย
                (4)  ไม้โกงอย่าทำกงวาน  หมายความว่า  กงวานทั้งปวงเป็นอุปการแก่สำเภาให้แข็งแรงมั่นคง สำเภาที่ไม่มีกงวาน มิอาจทนทานกำลังระลอกในท้องทะเลได้ ก็จะอับปางลง มิอาจข้ามทะเลได้ กงวานนั้นให้เอาไม้ตรงทำอย่าเอาไม้โกงมาทำฉันใด พระโยคาวจร ผู้ปราถนาจะข้ามทะเลคือ สังสารวัฏ ให้ถึง นฤพาน ก็ฉันนั้น อย่าส้องเสพด้วยคนลับคดอันโกง อันเป็นอสัตบุรุษ ให้ส้องเสพด้วยคนอันซื่อตรง   เป็นสัตบุรุษจึงจะข้ามสงสารถึงนฤพานได้ตามปราถนา   อันว่ากัลยาณมิตร  อำมาตย์  ทาสกรรมกรนั้น   เปรียบด้วยกงวานสำเภาจิตแห่งโยคาวจรนั้น   ดุจพานิชนายสำเภาแล
                (5)  ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง   หมายความว่า  ช้างทั้งหลายมิได้ยินดีจะอยู่ในเมือง   ย่อมยินดีจะอยู่แต่ในป่าอย่างเดียวฉันใด   พระโยคาวจรผู้เจิรญวิปัสสนากรรมฐานก็ฉันนั้น   มิได้ยินดีในสังขารธรรมทั้งปวง   แต่ยินดีอยู่ในนฤพานอันระงับกิเลสธรรมนี้ ให้เดือดร้อนกระวนกระวาย   ช้างสารคือพระโยคาวจรอย่าผูกนั้นคือ   นิพพิทานุปัสสนา   กลางเมืองนั้นคือสังขารธรรม
                (6)  ถ้าจะให้เป็นลูกให้เอาไฟสุมต้น   หมายความว่า   ลูกนั้นได้แก่ผลทั้ง  4  คือ  โสดาปัตติผล   สกทาคามิผล   อนาคามิผล   และอรหัตตผล   ไฟนั้นได้แก่มรรคญาณทั้ง  4  คือ  โสดาปัตติมรรค   สกทาคามิมรรค  อนาคามิมรรค   และอรหัตตมรรค   ต้นนั้นคือกิเสสธรรมอันมีอวิชชาตัณหาเป็นมูล   พระโยคาวจรผู้ปราถนาผลทั้ง  4  นั้น  ให้ฟังเจริญวิปัสสนากรรมฐาน   เผาเสียซึ่งกิเลสธรรมอันเป็นสัญโยชน์อันเป็นมูลเสีย   ดุจเอาไฟสุมต้น  ฉะนั้น
                (7)  ถ้าจะให้ล่มให้บรรทุกแต่เบา   หมายความว่าสำเภาอันบรรทุกสินค้าเบา   มีฝ้ายและผ้าแพรไหม  เป็นต้น  หาศิลากดท้องอันเป็นอับเฉามิได้นั้น   พอชักใบกระโดงขึ้นให้เต็มกำลัง   ครั้นลมแรงพัดต้องใบนั้น   สำเภาก็จะหกคว่ำลงฉันพลัน   ถ้ามีศิลาหรือของหนักเป็นอับเฉาแล้ว   สำเภานั้นก็มิได้ล่ม   และจะท่องเที่ยวไปมาอยู่ในท้องทะเลสิ้นกาลช้านาน อันพระโยคาวจรผู้ปราถนาจะให้ถึง อนุปาพิเสสนิพพานธาตุ   มิให้บังเกิดในวัฏสงสารสืบไปนั้น   พึงบรรทุกแต่ของเบา   คือกุศลธรรมทั้งหลายจึงจะพลันถึงนฤพาน   มิได้ท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร   ดุจสำเภาอันบรรทุกแต่เบาและพลันล่มลงฉะนั้น
                (8)  ถ้าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง  4  เสีย   หมายความว่รา  คัมภีร์ในโหรานั้น   ได้แก่วิชชา  3  คือ  ทิพพจักษุญาณ  บุพเพนิวาสญาณ  และอาสวักขยญาณ   อาจารย์ทั้ง  4  นั้นได้แก่  อุกศลธรรมทั้ง  4  คือ  โลภะ  โทสะ  โมหะ  และมานะ   พระโยคาวรผู้ปราถนาวิชชา  3  ประการนั้น   ก็พึงฆ่าอาจารย์คือ  อกุศลธรรมทั้ง  4  นั้นเสีย

**********************************************************
โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 3 พฤษภาคม 2543 14:11:06

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 3 พฤษภาคม 2543 15:56:15
ผมใส่คำสั่งผิดแน่ๆ เลยครับ ตัวหนังสือเลยเป็นสีแดงไปอย่างนั้น
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 3 พฤษภาคม 2543 15:56:15

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 3 พฤษภาคม 2543 16:33:39
แก้สีให้แล้วครับครู _/|\_
โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 3 พฤษภาคม 2543 16:33:39

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ Lee วัน พุธ ที่ 3 พฤษภาคม 2543 22:57:57
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 4 พฤษภาคม 2543 08:09:26
ขอบพระคุณครับ
_/\_
โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 4 พฤษภาคม 2543 08:09:26

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน พฤหัสบดี ที่ 4 พฤษภาคม 2543 08:18:36
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ Lostboy วัน ศุกร์ ที่ 5 พฤษภาคม 2543 00:15:16
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ นิดนึง วัน จันทร์ ที่ 8 พฤษภาคม 2543 09:04:11
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ Acura วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 09:27:17
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ กอบ วัน อาทิตย์ ที่ 14 พฤษภาคม 2543 21:54:22
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com