กลับสู่หน้าหลัก

ตามหาอวิชชา

โดยคุณ มะขามป้อม วัน จันทร์ ที่ 8 พฤษภาคม 2543 12:44:39

อวิชชาในความหมายตามพจนานุกรมพุทธศาสน์

อวิชชา ความไม่รู้จริง, ความหลงอันเป็นเหตุไม่รู้จริง มี ๔ คือความไม่รู้อริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง
(ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดแห่งทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ทางให้ถึงความดับทุกข์),
อวิชชา ๘ คือ อวิชชา ๔ นั้น และเพิ่ม ๕. ไม่รู้อดีต ๖. ไม่รู้อนาคต ๗. ไม่รู้ทั้งอดีตทั้งอนาคต
๘. ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท

อวิชชาในทางปฏิบัติ

โดยสรุปความหมายที่เราได้ยินได้ฟังคุ้นหูกันดี ก็คือความไม่รู้นั้นเอง
แต่ในทางปฏิบัติอวิชชาคือ อะไร รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร?

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า รูปร่างอย่างหยาบอวิชชา ก็คือโมหะ ความหลง
มีลักษณะมึนๆ ซึมๆ ง่วงหงาวหาวนอน แต่อวิชชาที่ละเอียดกว่านั้นละ
อวิชชาที่เป็นรากเง้าของกิเลสทั้งปวงหน้าตาเป็นอย่างไร?

ผมเองได้ยินได้ฟังจากพี่ปราโมทย์ มานานแล้ว ว่าในความว่างที่ว่าว่างนั้น
จริงๆ ยังมีอวิชชาอยู่เป็นด่านสุดท้าย ต้องเห็นแจ้งในความมีอยู่ของอวิชชา
และละวางเป็นอันดับสุดท้ายจึงจะเป็นความว่างที่แท้จริง

ได้อ่านธรรมของหลวงตามหาบัวในขั้นสุดท้ายที่ท่านกล่าวว่า โลกทั้งโลก
ว่างเปล่า เหลือเพียงจุดเดียวที่ท่านไม่ได้มองคือที่ที่ท่านยืนอยู่ พอมองเห็น
จุดนี้ก็เป็นอันว่าจบกัน

ได้ฟังเรื่องนี้แล้วก็งงเป็นกำลังว่า เจ้าหน้าตาของอวิชชามันเป็นอย่างไรหนอ?
ของจริงมันเป็นอย่างไรหนอ? เก็บความสงสัยมาตลอด เพราะคิดว่า
เราควรปฏิบัติให้กิเลสเบาบางกว่านี้ แล้วคงเห็นเอง

เมื่อไม่นานมานี้ ก็เลยเริ่มจับที่ตัวสังขาร หรือความคิด อันเป็นผลสืบ
เนื่องมาจากอวิชชา เอาตัวความคิดมาพิจารณา ศึกษาปฏิบัติ และก็เขียนเป็น
เรื่องราวให้ได้อ่านกัน เกี่ยวกับสังขารและเจตนา

วิชชาและอวิชชา

มาคราวนี้ขอขยับมากล่าวถึงตัวอวิชชาเลยทีเดียว ว่าจริงๆ แล้วอวิชชาไม่ได้
วิเศษวิโสอะไร อวิชชาก็คือกิเลสตัวหนึ่ง เหมือนความโลภและความโกรธ
เพียงแต่ว่ามันเป็นกิเลสอย่างละเอียด ที่เราสามารถสังเกตเห็นมันได้จาก
ปฏิกิริยาของมันก็คือความจงใจนั้นเอง เราใช้สังขารเป็นเครื่องชี้วัด (indicator)
ความมีอยู่ของอวิชชาและก็เหมือนกิเลสตัวอื่นๆ ที่มันจะ
ถูกละไปได้ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน หรือที่เราเรียกกันว่าการดูจิต

ความรู้ตัวทั่วพร้อมในสติปัฏฐาน นั่นแหละคือวิชชา
และไม่มีช่องว่างใดๆ ที่อยู่ระหว่างวิชชาและอวิชชา คือมีเพียงสองอย่างนี้
เท่านั้น คือรู้กับไม่รู้ ไม่มีอะไรอยู่ระหว่างมัน แค่รู้ก็จบ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

ดังนั้นปัญหาก็คือ สิ่งที่เราคิดว่ารู้ จริงๆ แล้วมันรู้จริงหรือเปล่า
หรือเป็นเพียงความคิดปรุงแต่ง เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เรากำหนดจิตเจริญสติ รู้ จริงๆ
อันนี้สังเกตุ ได้จากอาการที่เรียกว่าสักแต่ว่า อาการที่เรียกว่า เช่นนั้นเอง
อาการที่จิตเห็นจิต แล้วสักแต่ว่าเห็น อาการที่ความคิดดับไป ความจงใจหายไป
และเป็นความจงใจที่หายไปพร้อมๆ กับการที่จิตเห็นจิต

เมื่อเห็นความจริงของโลกสักครั้ง ก็ย่อมจะรู้ได้เองว่า อวิชชา
หรือความไม่รู้โลกตามที่เป็นจริงนั้นเป็นเป็นอย่างไร
โลกยังคงเป็นโลกเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลียนไปคือจิตที่มองโลก
ในลักษณะที่เปลียนไป
สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องหมายบงชี้ได้อย่างดีว่า เราเดินมาถูกทางแล้ว

จริงๆ แล้วมีหลายเรื่องที่มาร้องอ๋อ ทีหลังว่ามันเป็นอย่างนี้เอง
เช่นเรื่องของจิต เราอยู่กับมันมานาน คุ้นเคยกับมันมานาน แต่ก็ไม่รู้ว่า
ที่เขาเรียกว่า จิต เรียกว่า อวิชชาในตำรานั้น ของจริงมัน ปรากฏตัวให้
เห็นอยู่แล้วตลอดเวลา แต่เราไม่รู้ ไม่เคยมองเห็น เหมือนเส้นผมบังภูเขา
เหมือนหญ้าปากคอก อย่างไรอย่างนั้น

สุดท้ายขอออกตัวสักนิดครับ ว่าที่เขียนนี้ไม่ใช่ว่าจะหมดสิ้นกิเลส
แล้ว กิเลสยังมีอยู่เยอะครับ อาศัยที่ว่าบางครั้งเราปฏิบัติได้ดีๆ
ก็เก็บความทรงจำ มาใคร่ครวญ เปรียบเทียบดูว่า สิ่งที่เขียนไว้
ในปริยัติธรรมนั้น ในทางปฏิบัติมันเป็นอย่างไรกันแน่ครับ
โดยคุณ มะขามป้อม วัน จันทร์ ที่ 8 พฤษภาคม 2543 12:44:39

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน จันทร์ ที่ 8 พฤษภาคม 2543 14:03:56
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 8 พฤษภาคม 2543 14:43:45
คุณมะขามป้อม หายหน้าไปนาน
กลับมาก็นำธรรมที่น่าประทับใจมาเล่าสู่หมู่เพื่อน
เป็นวิธีสังเกตอวิชาที่น่าสนใจเชียวครับ
การปฏิบัตินั้น จุดรวบยอดก็อยู่ที่ตรงนี้แหละ
คือ รู้ หรือ หลง

ผมเองเวลานี้ ก็มีเครื่องชี้เหมือนกัน แต่ไม่ได้ชี้อวิชชาโดดๆ
คือรู้เอาว่าขณะนี้ จิตหลุดพ้น(ชั่วขณะ) หรือจิตไม่หลุดพ้น
อันนี้ที่จริงก็ปรากฏอยู่ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั่นเอง
สภาวะที่จิตหลุดพ้นชั่วขณะนั้น จิตปล่อยวางความยึดถือในขันธ์ 5
และเป็นอิสระ รู้ ตื่น และเบิกบาน ไม่เกาะเกี่ยวในภพใดๆ
แต่ในเวลาปกติที่จิตไม่หลุดพ้นนั้น เดิมมองว่าจิตว่างๆ ไม่มีอะไร
แต่เวลานี้ทราบแล้วว่าจิตอยู่ในภพอันหนึ่ง
ที่ยังมองอวิชชา ตัณหา อุปาทานอันเป็นต้นเหตุไม่ออก

ผมรู้ว่า การเฝ้าระลึกรู้สภาวธรรมของจิตที่ไม่หลุดพ้นอย่างนี้
ถึงจุดหนึ่งจิตที่รู้จริงก็จะวางอุปาทานขันธ์ได้
ทำนองเดียวกับที่จิตเคยปล่อยวางอารมณ์อื่นๆ นั่นเอง
อย่างที่พวกเราส่วนมากจะเห็นว่า
บางวันจิตก็ติดอารมณ์ บางวันจิตหลุดจากอารมณ์
ถ้าวันใดจิตหลุดจากอารมณ์ที่รวมเป็นกลุ่มก้อนอยู่นั้น
อันนั้นทราบได้เลยครับว่า จิตยังยึดอยู่ในอุปาทานขันธ์ที่มองไม่เห็น
เพราะถ้าไม่ยึด ก็จะต้องเข้าถึงภาวะแห่งความหลุดพ้น(ชั่วขณะหรือถาวร)ทันที

ทางตัน มันอยู่ตรงที่จิตวางอารมณ์มาถึงความว่างแล้วนี้เอง
หากรู้ความจริงต่อไปว่า ตรงนี้ก็เป็นภพอันหนึ่ง
วันหนึ่งที่จิตฉลาด ก็ย่อมสลัดตัวออกจากภพได้
เช่นเดียวกับที่สลัดตัวออกจากอารมณ์ อย่างที่พวกเราเคยเห็นกันมาแล้ว

สรุปอุบายที่ผมใช้ตอนนี้ก็คือ
อวิชชาเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนให้เห็นได้ ก็ไม่ไปพยายามหามัน
ตัณหาอุปาทานอันเกิดจากอวิชชา ที่สร้างภพว่างๆ หรือภพผู้รู้
ก็เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นอีก ก็ไม่ต้องไปพยายามหามัน
สิ่งที่พอจะสังเกตรู้ได้อยู่ที่ตัว ภพของจิตที่ไม่หลุดพ้น
และเท่าที่จิตเคยหลุดพ้นชั่วขณะนั้น
จะอยู่ตรงที่มีสติรู้จิตที่ไม่หลุดพ้น จนจิตเกิดปัญญาเห็นว่าจิตเป็นอนัตตา
แล้วพลิกตัวออกจากอุปาทานขันธ์ได้

อันนี้เป็นประสบการณ์ของคนๆ หนึ่งเท่านั้นครับ
หมู่เพื่อนอย่าถือเป็นข้อยุติก็แล้วกัน
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 8 พฤษภาคม 2543 14:43:45

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ มะขามป้อม วัน จันทร์ ที่ 8 พฤษภาคม 2543 15:20:58
ขอบคุณครับพี่ปราโมทย์
ที่จริงตั้งใจจะบอกแค่ว่าอวิชชา คือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับวิชชา
หรือ การ "รู้" ในสติปัฏฐานเท่านั้นเอง
พระพุทธองค์ตรัสไว้ ตรงที่สุดอย่างไม่ต้องตีความเลยครับ

เพราะเรา"ไม่รู้" หลงตามสมมุติที่ได้ยินมา ไปคิดว่าอวิชชาเป็นอาการอะไรบางอย่าง
เป็นหัวหน้ากิเลส ไปวาดภาพอวิชชาขึ้นมาเป็นอะไรสักอย่างที่ต้องละให้ได้
เหมือนที่เราวาดภาพนิพพานหรือธรรมตัวอื่นๆ นั่นเองครับ

โดยคุณ มะขามป้อม วัน จันทร์ ที่ 8 พฤษภาคม 2543 15:20:58

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 8 พฤษภาคม 2543 16:02:22
สาธุกับทั้งสองท่านครับ (คุณอากับคุณมะขามป้อม) _/I\_
เป็นธรรมที่โดนใจพวกอ่อนหัดอย่างผมจริงๆครับ โดยเฉพาะตรงที่กล่าวว่า
วิชชาคือการรู้นี่แหล่ะครับ เดิมทีสมัยก่อนนู้นที่ยังโง่เขลามากกว่านี้ก็คิดว่า
วิชชาเป็นอะไรซักอย่างที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราบำเพ็ญฌาณและวิปัสนาได้
ถึงขั้นสูงสุด คล้ายๆกับจะเกิดที่ขั้นสุดยอดของกำลังภายใน ^-^ ซึ่งพอเกิดขึ้นแล้วก็จะทำลาย
เจ้าอวิชชาไปเอง แต่ตอนนี้เริ่มจะพอเข้าใจมากขึ้นบ้างแล้ว ว่าจริงๆแล้ววิชชาก็คือการ"รู้"
ธรรมดาๆ ที่ไม่จำเป็นต้องรอปฎิบัติให้ได้ฌาณขั้นสูงสุดเสียก่อนครับ
ตอนนี้เข้าใจแล้วครับว่าธรรมะพระพุทธองค์นั้นแท้จริงแล้วง่ายๆสบายๆ แต่ลึกซึ้งยิ่งนัก
ที่ผมว่าสบายๆเพราะไม่ต้องปฎิบัติให้ได้ฌาณอะไรให้ยุ่งยากอะไรเลย เราก็สามารถ"รู้"ได้ครับ
โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 8 พฤษภาคม 2543 16:02:22

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 8 พฤษภาคม 2543 19:44:13
หลวงพ่อพุธท่านเคยอธิบายความหมายและความสัมพันธ์
ของ ญาณ(ความหยั่งรู้) ปัญญา และวิชชา เอาไว้อย่างน่าฟังมากครับ
ทั้ง 3 ตัวนี้เป็นเรื่องของปัญญาด้วยกัน แต่มีความแตกต่างกัน

ท่านอธิบายว่า ญาณเป็นความหยั่งรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
เมื่อหยั่งรู้อยู่นั้น ก็จะมีปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของธรรมกำลังที่ปรากฏ
เมื่อเจริญปัญญาคือเห็นอารมณ์เป็นไตรลักษณ์นั้น
จิตก็จะเริ่มเรียนรู้อริยสัจจ์ไปทีละน้อย
คือเห็นว่าเมื่อใดจิตอยากและยึดอารมณ์ จิตก็ทุกข์
เมื่อใดพ้นจากความอยากและความยึด ก็ไม่ทุกข์
ถึงจุดหนึ่ง จิตจะรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจจ์ อันนี้จึงเป็นวิชชา

ตามคำอธิบายของท่าน การ รู้ ตามหลักสติปัฏฐาน
จะทำให้เกิดทั้งญาณ ปัญญา และวิชชา
อันนี้เพิ่งนึกได้เพราะฟังมานานแล้ว เห็นว่าคำอธิบายของท่านน่าฟังดี
ก็เลยนำมาฝากหมู่เพื่อนฟังประดับความรู้ไว้ครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 8 พฤษภาคม 2543 19:44:13

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 07:20:45
ไม่อาจกล่าวคำใดได้ดีไปกว่า

สาธุ!!! สาธุ!!! สาธุ!!!

สำหรับหัวข้อสนทนานี้

(ไม่ได้เข้า internet 4 วัน กลับเข้ามาวันนี้ มีเรื่องให้ชื่นใจจริงครับ)
โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 07:20:45

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 07:31:41
ขอบพระคุณครับ
_/\_
วันก่อนยังคิดอยู่เลยว่าคุณมะขามป้อมหายไปใหนพักนี้ไม่ค่อยเห็นเขียนกระทู้
แล้วอีกท่านหนึ่งที่แทบหายไปจากบอร์ดนี้ไม่เห็นเขียนกระทู้สักทีคือพี่ศรัณย์ หายไปเลยครับ ถ้าพี่ศรัณย์เห็นข้อความนี้ ผมอยากบอกพี่ว่า พี่เขียนกระทู้สักทีสิครับ แฟนๆเรียกร้อง  : )
โดยคุณ ธีรชัย วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 07:31:41

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ dolphin วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 07:33:46
สาธุค่ะ ^_^
โดยคุณ dolphin วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 07:33:46

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 08:21:42
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 08:26:17
เมื่อผมอ่านดูอีกทีรู้สึกว่าแท้จริงแล้วอวิชชาในทางปริยัติ ที่มี 8 อย่างตามที่
คุณมะขามป้อมคัดมาจากพจนานุกรมฯ อธิบายได้ครอบคลุมไปถึงการปฎิบัติด้วยจริงๆ
คือ เมื่อเราสามารถมีสัมมาสติ "รู้" ได้เราจะรู้เห็นอริยสัจจ์และปฏิจจสมุปบาทเองโดย
อัตโนมัติ สำหรับการรู้อดีต อนาคตนั้นเดิมทีผมเคยคิดว่ารู้อดีตคือการระลึกชาติ
รู้อนาคตคือญาณหยั่งรู้เหตุการณ์ในอนาคต(แบบพวกนั่งทางใน) แต่ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่า
ถ้าเรามีสติกำหนดรู้โดยตลอดเวลา จิตเราจะเข้าใจเองโดยอัตโนมัติว่าอดีตที่ผ่านมา
(ในระหว่างที่มีสติรู้)นั้นมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดและดับไป และในปัจจุบันเองก็มีแต่ทุกข์เท่านั้น
ที่เกิดและดับไป แล้วจิตจะรู้เองโดยอัตโนมัติว่าในอนาคตก็จะมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่"จะ"เกิดมาและ
ดับไปเมื่อรู้ได้เช่นนี้จิตก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ทั้งหมดนี้เป็นการยืนยันแสดงว่า"รู้"
ในสติปัฎฐานนั้นคือวิชชา ที่สามารถทำรายอวิชชาทั้ง 8 ได้อย่างแท้จริง
ทั้งหมดนี้ไม่ทราบว่าผมเข้าใจได้ถูกหรือเปล่าครับ
โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 08:26:17

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 09:23:00
ขอบคุณครับพี่ปราโมทย์
ผมก็อธิบายตามปัญญาเท่าที่มีอยู่หน่ะครับ
อาจคลาดเคลื่อนไปจากสมมุติที่ใช้กันอยู่บ้าง
เพราะทำการบ้านทางปริยัติน้อยไปหน่อย
เพื่อนๆ ก็ฟังหูไว้หูนะครับ
เอาไว้เจอกับตัวเองก็คงไม่ต้องอธิบายกันแล้ว :-)

ตอบคุณนิพ
ถูกต้องแล้วครับ แต่ก็มีเงื่อนไขอยู่ประการเดียวครับว่ามันเป็น รู้
หรือว่า หลง (หลงว่ารู้) เท่านั้นเอง
ที่จริงวิชชาไม่ได้ทำลายอวิชชาหรอกครับ
แต่มันเหมือนเหรียญที่มีสองด้านต้องเป็นหัวหรือก้อยเท่านั้น
จิตคนเราก็เหมือนกัน ต้องเป็นวิชชาหรืออวิชชาเท่านั้น

ไม่ รู้ ก็คือ ไม่รู้(หลง) --> ไม่มีวิชชา ก็คือ อวิชชานั่นเองครับ

โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 09:23:00

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 10:00:55
ขอบคุณ คุณมะขามป้อมมากครับ _/I\_ ตอนนี้ผมเข้าใจได้มากขึ้นแล้วครับ
โดยเฉพาะ ตรงประโยคสุดท้ายนั้นประทับใจผมจริงๆครับ
โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 10:00:55

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 10:35:10
มันมีข้อที่เหลื่อมกันนิดหนึ่งในการใช้ภาษาครับ
คือคำว่ารู้ในสติปัฏฐานนั้น เป็นได้ทั้งคำกริยาและคำนาม
รู้ที่หมายถึงวิชชาในที่นี้ก็คือตัวที่เป็นคำนาม อันหมายถึงความรู้แจ้งครับ
โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 10:35:10

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 10:48:32
สาธุครับ
เป็นกระทู้ที่มีประโยชน์ในการส่งเสริมให้นักปฏิบัติมีกำลังใจ
แล้วพากันเจริญสติสัมปชัญญะ ทำความรู้ตัวทั่วพร้อม
เจริญสติปัฏฐาน โดยรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่เป็นกลาง พ้นจากความยินดียินร้าย

เมื่อทำมากเข้าก็จะรู้เอง เป็นเอง
อย่างที่คุณมะขามป้อมกล่าวไว้นั่นแหละครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 10:48:32

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 14:10:45
   ในทัศนะทางปริยัติ ผมมีความเห็นว่า
   อวิชชาคือส่วนประกอบหนึ่งที่เจือปนอยู่ในนามธรรมของทุกคน (เว้นแต่นามธรรมของพระอรหันต์) และเป็นส่วนประกอบที่ทำให้การทำงานของนามธรรม มีการให้ผลออกมาในลักษณะที่เกิดเป็นแรงดึงดูด เพื่อเอาจิตเดิมเข้าไปห่อหุ้มไว้ 
   เมื่อจิตเดิมถูกห่อหุ้มไว้ด้วยผลของนามธรรมที่มีอวิชชาเป็นส่วนประกอบหนึ่งแล้ว  ก็จะทำให้สภาพแท้ของจิตเดิมหายไป (จิตไม่หลุดพ้น)

   เมื่อใดที่ อวิชชาไม่เข้ามาเจือปนอยู่ในนามธรรมแล้วละก็  ผลที่เกิดจากการทำงานของนามธรรม ก็จะไม่มีแรงดึงดูดใดๆ ที่จะเอาจิตเดิมเข้าไปห่อหุ้มไว้ได้  สภาพแท้ของจิตเดิมก็จะปรากฏอย่างเด่นชัด (จิตหลุดพ้น)

   ส่วนทัศนะในทางปฏิบัติ คงต้องรอไปก่อนครับ
โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน อังคาร ที่ 9 พฤษภาคม 2543 14:10:45

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ นิดนึง วัน พุธ ที่ 10 พฤษภาคม 2543 10:46:33
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ จ้อม วัน พุธ ที่ 10 พฤษภาคม 2543 12:44:33
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 08:57:33
_/|\_ กรา...บๆๆๆๆๆๆๆ งามๆ ขอโทษญาติธรรมทุกท่านด้วยครับ

ผมนึกสะดุดใจตั้งแต่ที่พี่ปราโมทย์เขียนแล้วว่า
ธรรมที่ผมเขียนคราวนี้ ค่อนข้างคลุมเครือและมีบางอย่างที่ผิดไป
แต่ก็ยังมึนๆ ไม่สามารถเขียนออกมาให้กระจ่างได้
ขนาดพี่ปราโมทย์เขียนบอกใบ้ให้แล้วยังไม่รู้อีก น่าเขกกระบาลตัวเองซักโป๊ก :)
อย่าถือสาคนมีอวิชชาเลยครับ อิอิ

เข้าเรื่องเลยดีกว่า เรื่องของเรื่องมันเป็นอย่างงี้ครับ
รู้ในสติปัฏฐานนั้นไม่ใช้วิชชา แต่วิชชาเป็นผลจาก รู้ ในสติปัฏฐาน

รู้ในสติปัฏฐานนั้นเป็นกริยา อาการรู้ คำว่ากริยาโดยตัวมันเองสื่อ
ถึงปัจจุบันอยู่แล้ว เช่นเรากิน เรานอน ...
ดังนั้นรู้ในสติปัฏฐาน ก็เป็นการรู้ที่ประกอบด้วยอวิชชา
หรือวิชชาก็ได้

รู้ที่หมายถึงวิชชา เป็นคำวิเศษณ์แสดงถึงลักษณะของจิตแบบหนึ่ง
จิตที่มีอวิชชา ก็เป็นจิตอีกแบบหนึ่ง

ถ้าเราเปรียบเทียบจิตที่มีอวิชชาเป็นประตูที่ปิดอยู่
จิตที่มีวิชชาเป็นประตูที่เปิดออกแล้ว รู้ในสติปัฏฐานย่อมหมายถึง
กริยาที่ทำให้ประตูเปิดออกเช่น หมุนลูกบิดเป็นต้น
ดังนั้นจิตที่มีวิชชาย่อมเป็นผลมาจากอาการ รู้ ในสติปัฏฐานครับ

คนปุถุชนเปรียบเหมือนคนที่อยู่ในห้องๆ หนึ่งพอได้อ่านหนังสือ
ได้ฟังคำบอกเราว่ามีประตูทางออกอยู่ มีรูปร่างลักษณะอย่างนี้ๆ
ก็เริ่มคลำหาบานประตูตามที่ได้ยินมา การเริ่มคลำหา หมายความว่า
เรายังไม่รู้จักการเจริญสติปัฏฐาน เมื่อเราสัมผัสเจอบานประตู
และเริ่มหาวิธีเปิดออก เปรียบได้กับการเริ่มรู้จักกับสติปัฏฐาน

ตอนแรกเราอาจไม่รู้ว่า ประตูที่เปิดออกได้จะเปิดออกไปลักษณะ
ไหน เป็นบานเลื่อน เปิดออกไปทาง ซ้าย หรือทางขวาอย่างไร
เราอาจสงสัยว่าประตูที่ปิดอยู่นี้ มันกำลังเปิดอยู่ก็ได้ เพราะเรา
ไม่รู้ว่าประตูที่เปิดแล้วเป็นอย่างไร

แต่ด้วยจังหวะที่เหมาะสม แรงที่พอเหมาะ ในทิศทางที่ถูกต้อง
ในขณะที่เราบิดลูกบิดประตู หรือปลดล็อก ประตูก็สามารถเป็นออกได้

ที่นี้เมื่อเรารู้ว่าประตูที่เปิดออกมีลักษณะอย่างไร
เมื่อมาเปรียบเทียบกับประตูที่ปิดอยู่เราก็รู้ชัดถึงความแตกต่าง
หมดความสงสัยทั้งปวง

เล่านิทานเรื่องประตูมาตั้งนานคงทำให้ภาพในการปฏิบัติชัดเจน
ขึ้นนะครับ โดยสรุปก็คือ อวิชชากับวิชชานั้นเป็นเหมือนเหรียญ
ทั้งสองด้าน การตามหาอวิชชา ก็คือการตามหาวิชชา
แต่จะตามหาแบบเลื่อนลอยไม่ได้จำเป็นต้อง คลำต้องปฏิบัติ
เจริญสติปัฏฐานนั่นเองครับ

ขอกราบขอบพระคุณพี่ปราโมทย์ที่ชี้แนะ
และกราบขอโทษญาติธรรมที่กล่าวคลาดเคลื่อนไปจากพระสัทธรรม
(หวิดนรกแล้ว) ผมเห็นทีจะต้องเลิกเขียนจริงๆ ซะแล้ว
ย้ายไปอยู่แผนก สาธุดีกว่า อิอิ


สาธุ ในธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว
_/|\_ _/|\_ _/|\_
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 08:57:33

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 10:45:48
อิ อิ ผมก็เข้าใจผิดไปด้วยเหมือนกัน ต้องขอขอบคุณที่คุณมะขามป้อมที่ช่วย
กลับมาแก้ไขให้ ส่วนเรื่องการเขียนธรรมนั้นผมอยากให้คุณมะขามป้อมเขียนต่อไป
ครับ เพราะที่คุณมะขามป้อมเขียนมานั้นมีประโยชน์มากจริงๆ โดยเฉพาะกระทู้นี้
"มีผลเปลี่ยนแปลงกับการปฎิบัติธรรมของผมมาก" นั่นคือเป็นการสร้างกำลังใจอย่างมาก
ในการเจริญสติของผมครับ ส่วนเรื่องการเขียนคลาดเคลื่อนไปบ้างนั้น ผมว่า
เป็นโชคอัน์ดีที่วิมุตติยังพอมีครูอาจารย์เข้ามาอยู่ก็คงจะช่วยชี้แนะตักเตือนกันได้ครับ
โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 10:45:48

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 12:44:38
เขียนต่อไปเถอะครับ คุณมะขามป้อม
เราต่างก็เป็นคนที่ยังมีกิเลส และจำเป็นต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
สิ่งที่ คุณมะขามป้อม เขียนมานั้น ก็น่าอ่าน น่าฟัง
เป็นประโยชน์แม้แต่กับผมเองอยู่บ่อยครั้ง
แม้บางกรณี ซึ่งน้อยครั้งนัก อาจจะมีความคลุมเคลือบ้าง
ก็เป็นเพียงปัญหาในการบัญญัติ
ส่วนหลักพื้นฐานของการปฏิบัติแล้ว ไม่มีความคลาดเคลื่อนใดๆ

การเขียนออกมาแม้จะคลาดเคลื่อนก็ยังเป็นประโยชน์อยู่ดี
เพราะเป็นโอกาสให้หมู่เพื่อนช่วยกันตรวจสอบความเข้าใจของเรา
ซึ่งโดยธรรมชาติของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว
ที่จะให้การพิจารณาธรรมถูกต้องหมดจดนั้น เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วครับ
แม้แต่ผมเองก็ผิดพลาดได้เหมือนกัน
ที่เขียนออกมา จึงเป็นช่องทาง
ที่ช่วยให้เราได้รับฟังมุมมองที่กว้างขวางขึ้น

คุณมะขามป้อม มีความสามารถมาก
อย่างคราวนี้ เปรียบเทียบการปฏิบัติเหมือนการคลำประตูห้อง
เป็นการเปรียบเทียบที่เห็นภาพและน่าฟังมาก
เคยมีพระมหาเถระรูปหนึ่งเปรียบเทียบไว้ทำนองเดียวกันนี้
คือหลวงพ่อเทียน แห่งวัดสนามใน
ท่านเปรียบเหมือนคนอยู่ในห้องมืด
ก็คลำไปเรื่อยจนพบสลักแล้วเปิดประตูได้
ความสามารถในการพิจารณาธรรมที่ได้มาตรฐานอย่างคุณมะขามป้อม
ถ้าทอดทิ้งเสีย ไม่นำมาแสดงแก่หมู่เพื่อน
ก็เป็นที่น่าเสียดายครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 12:44:38

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ ดังตฤณ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 13:07:52
ไม่ออกความเห็น ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ ดังตฤณ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 13:11:03
เอ เขียนตั้งยาว ไหงกลายเป็นไม่ออกความเห็นไปได้
โดยคุณ ดังตฤณ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 13:11:03

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ ดังตฤณ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 13:11:36
คนเขียนธรรมปฏิบัตินั้นหายากครับ
หายไปคนหนึ่ง ก็เหมือนกับพุทธศาสนาขาดกำลังไปส่วนหนึ่ง
โดยเฉพาะถ้าเป็นส่วนที่เป็นของจริงทางจิต
ก็จะเป็นการสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้
นักศึกษาปริยัติเขียนผิดกันขนาดทำลายรากฐานการปฏิบัติ
เขาก็ยังเดินหน้าเขียนกันเป็นปกตินี่ครับ
บางทีรู้ว่าผิดแท้ๆ ยังรักหน้า ตะแบงต่อไปเรื่อยอย่างไม่กลัวนรก
เราผิดแค่บัญญัติกระจึ๋งเดียวจะไปวอรี่อะไร
ธรรมชาติของนักปฏิบัติจริงก็อย่างนี้แหละครับ
ผิดโดยไม่เจตนาแล้วรีบขอโทษขอโพย
แสดงให้เห็นว่ามีธรรมประกอบใจชัดเจน
แต่ผิดแล้วถึงขนาดจะเลิกเขียนนี่
ท่าทางพระธรรมในใจคุณมะขามป้อมคงไม่ยอมหรอกกระมัง :-)
โดยคุณ ดังตฤณ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 13:11:36

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ หนึ่ง วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 13:48:02
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 13:51:19
เรื่องรักธรรมมากกว่ารักหน้า
เป็นธรรมชาติปกติของนักปฏิบัติครับคุณดังตฤณ

ถ้าใครเคยอ่านประวัติหลวงพ่อชา จะพบว่าตอนที่ท่านยังหนุ่มนั้น
ท่านได้พบพระเขมรชรารูปหนึ่ง บอกพระวินัยให้ท่านข้อหนึ่ง
จากนั้นท่านก็ขึ้นไปภาวนาบนเขา
ตกดึก พระเขมรผู้เฒ่าอุตส่าห์ปีนเขาขึ้นไป เพื่อจะบอกหลวงพ่อชาว่า
ท่านผู้เฒ่าอธิบายพระวินัยผิดไปข้อหนึ่ง
หลวงพ่อชาสงสารที่เห็นท่านผู้เฒ่าเหนื่อยมาก
ก็บอกว่าท่านอาจารย์น่าจะรอใช้เช้าก่อน
ผมก็จะลงจากเขาไปบิณฑบาต แล้วท่านอาจารย์ค่อยบอกผมก็ได้

พระเขมรผู้เฒ่ากลับตอบว่า ผมบอกพระวินัยท่านผิดไป
จะรอถึงเช้า เกิดผมเป็นอะไรตายเสียก่อน
ท่าน(หลวงพ่อชา) จำพระวินัยผิดๆ ไปปฏิบัติ หรือนำไปสอนผู้อื่นต่อไปอีก
บาปก็จะตกแก่ผมด้วย

หลวงพ่อชาท่านเคารพเทิดทูนจิตใจของพระเขมรผู้เฒ่าตลอดมา
ก็เพราะจิตใจที่งดงามอย่างนี้แหละครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 13:51:19

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 13:51:59
พี่ศรันย์พูดเหมือนรู้ใจ :)
พูดว่าจะเลิกๆ แต่เอาเข้าจริงๆ ทุกทีที่เห็นแง่มุมธรรมบางอย่าง
มันอดไม่ได้จริงๆ ที่จะต้องนำมากบอกกล่าวเพื่อนฝูง
ยิ่งรู้ว่ามีคนเดินตามทางเดียวกันทั้งที่มาทีหลังและเดินไปก่อนแล้ว
ก็ยิ่งอดไม่ได้ อยากให้คนอื่นรู้เห็น ได้เดินง่าย สะดวกขึ้นกว่าที่เราเดิน

พี่ปราโมทย์กล่าวถูกครับ
การมีคนเพื่อนฝูงคอย ตรวจตักเตือน เป็นการขัดเกลาทิฏฐิมานะไปในตัว
ถ้าเลิกเขียนคงเสียโอกาสอันดีนี้ไปแน่ๆ :) ฝากเพื่อนๆ ช่วยกระหนาบด้วยครับ
อย่าเอาแต่สาธุ อิอิ

ส่วนเรื่องการเขียนธรรมปฏิบัติคราวหลังจะ
ใช้เวลาทบทวนให้มากกว่านี้ครับ
_/|\_
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 13:51:59

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 14:54:34
สาธุครับ

นับถือน้ำใจคุณมะขามป้อมอย่างยิ่งครับ และยิ่งเห็นว่ารักธรรมมากกว่ารักหน้าตนเอง ก็ยิ่งนับถือไปใหญ่ครับ

หากคุณมะขามป้อมหลบไปอยู่แผนกสาธุการ คุณมะขามป้อมก็จะไม่ได้ทำหน้าที่ในแผนกนั้นเท่าไหร่ครับ เพราะว่าจะหาผู้ที่ทำหน้าที่ post กระทู้ที่ได้จากการปฎิบัติธรรมได้อย่างคุณมะขามป้อมก็ยากครับ การสาธุก็จะไม่ค่อยได้ทำครับ อีกอย่างนะครับ แผนกสาธุการ กับแผนกอ่านเฉยๆ ก็เยอะอยู่แล้วครับ จะยิ่งคับแคบมากขึ้นไปอีกหากคุณมะขามป้อมจะไปอยู่แถวๆนั้น :)

โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 14:54:34

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 15:37:07
สาธุครับคุณมะขามป้อม

พอคุณมะขามป้อมทำท่าจะเลิกเขียน
คุณดังตฤณ ก็รีบออกมาห้ามปราม
แต่ถ้าสังเกตให้ดี ก็จะเห็นว่า
คุณดังตฤณเอง ก็เอาแต่อยู่แผนกสาธุการเหมือนกัน
กลับใจตอนนี้ยังทันนะครับ
ก่อนที่ชาวแผนกสาธุการจะออกมาขับไล่คุณดังตฤณ
เพราะเขาทราบว่า คุณดังตฤณทำประโยชน์ได้มากกว่านั้น
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 15:37:07

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ ไพ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 16:02:53
คุณมะขามป้อมสู้สู้
คุณมะขามป้อมสู้ตาย
คุณมะขามป้อมไว้ลาย ขี่ควายชนตู้ (อิอิ ประโยคหลัง หลานเขาร้องอย่างงี้น่ะ)
อย่่าพึ่งหนีหายไปไหนนะ อยู่เขียนธรรมะให้ฟังก่อนนะ
ปล. ถึงคุณพัลวันจ้ะ ทำยังไงให้รู้ว่ามีคนแสดงความเห็นเพิ่ม
เหมือนอย่างในลานธรรม ที่มีคำว่า ใหม่ ตามมาน่ะ
โดยคุณ ไพ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 16:02:53

ความเห็นที่ 30 โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 16:36:44
เห็นด้วยกับคุณอาครับ ที่พี่ดังตฤณควรจะย้ายออกจากแผนกสาธุ มาอยู่แผนก
แสดงธรรมบ้างครับ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของมหาชนผุ้ปฎิบัติธรรมครับ
ผมหนึ่งเสียงหล่ะที่สนับสนุน อิ อิ อิ :-)
โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 16:36:44

ความเห็นที่ 31 โดยคุณ Lee วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 22:24:42
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 32 โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 23:59:40
เรียน คุณหมอพี่ไพ

ใจหนึ่งก็อยากทำอยู่เหมือนกันครับ แต่ว่าผมใช้เทคนิคที่แตกต่างจากที่ลานธรรมใช้ครับ จึงไม่สามารถทำให้เหมือนได้ครับ ก็ได้คุยกับป๋องแล้วครับว่าพอจะทำเป็นอย่างไรได้บ้าง แต่ติดขัดที่ผมไม่ค่อยถนัดกับ Browser ที่เป็นของ NetScape ครับ (สมาชิกของวิมุตติ ใช้ netscape 4.x มากที่สุดครับ ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมครับ แต่จาก counter ที่ติดไว้ เขารายงานมาให้อย่างนี้ครับ) ทำให้ยังติดปัญหาเรื่องการใช้ DHTML กับ Java Script ที่จะใช้กับ NetScape ครับ หากลำพังว่าสมาชิกของวิมุตติใช้แต่ Internet Explorer ล่ะก็ ผมทำเสร็จไปนานแล้วล่ะครับ แต่ที่บอกกล่าวตรงนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อให้ทุกท่านเปลี่ยนมาใช้ Internet Explorer นะครับ แต่ว่าขอเวลาหน่อยครับ แต่อีกประการหนึ่งก็คือ ไม่ค่อยจะมีเวลาจริงๆเลยครับ พอเศรษฐกิจดี งานก็สุมๆเข้ามาครับ เพราะตอนนี้ธุรกิจในประเทศไทยก็คล้ายกับทะเลที่มีคลื่นส่งเข้ามาแล้ว ทำให้นักโต้คลื่นต่างก็พยายามที่จะพุ่งตรงไปยังยอดคลื่นเพื่อจะเริ่มโต้คลื่นน่ะครับ ผมเป็นลูกน้องเขาก็เลยต้องพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วยครับ

คิดว่าคงไม่นานหรอกครับ ที่สมาชิกวิมุตติจะได้ใช้คล้ายๆกับที่ลานธรรมได้ทำไว้นะครับ เพราะป๋อง(morning_glory)ได้กรุณาให้ source code ของลานธรรมมาให้ครับ แต่ว่าติดที่ concept ที่ใช้กับเว้ปบอร์ดมีความแตกต่างกันอยู่ ก็เลยต้องใช้เวลามากกว่าจะลอก code ของลานธรรมมาใช้เฉยๆได้ครับ

อดทนรอสักนิดนะครับ คุณพี่หมอไพครับ (ช่วยลุ้นให้ผมงานน้อยๆด้วยนะครับ ตอนนี้ GM เอาหนังสือมาให้อ่านอีกตั้ง บอกว่าจะให้ใช้งานในอีก 1-2 เดือน ข้างหน้านี้ครับ ก็ต้องขยันอ่านหน่อยครับ ก็ต้องกลับมาอ่านที่บ้านครับ ที่ทำงานไม่มีเวลามากพอครับ ก็เลยอีรุงตุงนังกันไปแบบนี้ล่ะครับ และข่าวร้ายอีกอย่างคือ ตอนนี้ผมลืมรายละเอียดเกี่ยวกับการเขียน perl script ไปเกือบหมดแล้วครับ เพราะทิ้งไปนานเกินไปครับ หากจะลงมือ คงต้องใช้เวลาเริ่มต้นกันใหม่ด้วยครับ วงเล็บยาวหน่อยนะครับคุณพี่หมอไพ ก็กำลังเรียกหาคะแนนสงสารน่ะครับ ^_^ )

โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 12 พฤษภาคม 2543 23:59:40

ความเห็นที่ 33 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน อังคาร ที่ 16 พฤษภาคม 2543 08:21:32
สาธุครับ
เห็นด้วยครับที่ว่าคุณมะขามป้อมควรเขียนต่อไป
เห็นด้วยอีกที่คุณดังตฤณไปนั่งอยู่แผนกสาธุนานแล้ว
ควรย้ายออกมาเสียที ^_^
โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน อังคาร ที่ 16 พฤษภาคม 2543 08:21:32

ความเห็นที่ 34 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 19 พฤษภาคม 2543 21:46:07
เห็นด้วย ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com