กลับสู่หน้าหลัก

ผลจากการเดินจงกรมของผู้ด้อยปฎิบัติ

โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2543 11:47:02

ที่จริงผมไม่อยากจะอาจเอื้อมตั้งกระทู้รายงานผลการปฎิบัติของผมครับ
เพราะเมื่อเทียบกับทุกท่านแล้ว ก็เหมือนมานั่งท่องสูตรคูณแม่ 2 ให้นักศึกษา
มหาลัยฟัง แต่ที่เขียนก็เพราะผมได้เห็นประโยชน์ของการเดินจงกรมที่ครูอาจารย์ทั้งสอง
ท่าน(คุณอา+คุณพี่) ได้สอนสั่งแล้วครับ ผมได้ปฎิบัติเดินจงกรมแบบจับความรู้สึกที่
เท้ากระทบพื้นมาได้ระยะหนึ่ง ก็ได้พบสิ่งที่ไม่เคยได้พบมาก่อน สิ่งแรกก็คือผมพบว่า
บางครั้งที่เท้าผมสัมผัสพื้นนั้น มีจิตก็มี ปฎิกริยากับความรู้สึกที่รับได้ คือบางครั้งถ้าการ
สัมผัสของเท้านั้นหนักแน่นก็จะเกิดความพอใจ แต่บางครั้งสัมผัสแบบไม่เต็มก็จะรู้สึกไม่ชอบใจ
บางครั้งการก้าวลงจากขั้นบันไดแบบแรงๆก็มีโทสะเกิดขึ้น ยิ่งเจอพื้นสัมผัสแปลกๆ
ความรู้สึกก็จะต่างกันไป เช่นเมื่อเจอพื้นเหนียวก็จะรู้สึกรำคาญและไม่ชอบ หรือบางครั้ง
เท้าแห้งเกินไปทำให้เกิดสัมผัสแบบแห้งๆก็เกิดความไม่พอใจ มันทำให้ผมรู้สึกว่าจิตของเรานี่มัน
ทั้งไวและไร้สาระแค่การสัมผัสพื้นก็ทำให้เกิดอารมณ์ปรุงแต่งได้มากมาย ฉนั้นคงไม่ต้องนึกถึง
สิ่งต่างๆภายนอก พวกรูป รส กลิ่น เสียง จะพาเราเตลิดไปไหนถึงไหนต่อไหนได้ไกล
สิ่งที่สองคือสติในชีวิตประจำวัน หลังๆไม่ว่าเวลาผมเดิน ยืน นั่ง ก็จะเกิดการจับความรู้สึก
ที่เท้าสัมผัสพื้นโดยอัตโนมัติ เป็นการสร้างสติให้อยู่กับตัว และตรงนี้นี่เองทำให้ผมค้นพบ
จุดแตกต่างระหว่างเจตนากับไม่เจตนา คือว่าเมื่อผมได้พบครูอาจารย์ที่ศาลาฯเมื่อไม่นาน
นี้ท่านก็ทักผมว่า"นี่มันตั้งใจแล้วนะ" ซึ่งผมก็งงเหมือนกัน เพราะผมว่าผมไม่ตั้งใจแล้วนี่หนา
ก็งงซักพักจนเจริญสติไปได้หลายวันก็พบว่ามันคือเส้นผมบังภูเขาจริงๆครับ (โง่ตั้งนาน ^-^)
ต่อมามีอยู่ครั้งหนึ่งขณะผมเดินจงกรมอยู่แล้วเกิดอยากเข้าห้องน้ำ ก็ไปเข้าระหว่างนั้นก็เผลอ
คิดเรื่อยเปื่อยไป พอกลับมาเดิน รู้สึกว่าขณะเข้าห้องน้ำนั้นผมเหมือนหลับไปทั้งที่ยังตื่น
แต่ในขณะเจริญสติผมเหมือนกับตื่นอยู่อย่างแท้จริง ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้แม้มันจะดูเบสิคสำหรับ
หลายๆท่านในที่แห่งนี้แต่สำหรับผมแล้วมันเป็นอะไรที่แปลกใหม่จริงๆครับ ทุกวันนี้ผมก็จะพยายาม
รักษาสติโดยการจับความรู้สึกของเท้าเวลากระทบพื้นในขณะเดินและยืน และจับความรู้สึก
ของก้น+หลังเวลาที่นั่ง พยายามทำให้ได้ตลอดเวลาซึ่งใครจะนำไปใช้ก็ได้นะครับ
ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการเดินจงกรมจริงๆครับ ซึ่งทำให้ผมชิน+ชอบกับการจับความรู้สึก
ที่กระทบพื้นของเท้าครับ

** ถ้าที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ผมมีการเข้าใจผิดประการใดขอให้ครูอาจารย์และท่านอื่นๆช่วยชี้แนะด้วยครับ
หรือถ้ามีการชี้แนะเพิ่มเติมก็จะเป็นความกรุณาอย่างสูงสำหรับ คนเขลาเช่นผมครับ
โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2543 11:47:02

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2543 11:55:52
เพิ่มเติมเรื่องของปฎิกริยาเมื่อเท้าสัมผัส ปกติถ้าเราไม่มีสติเวลาเดินเราจะไม่เคยรู้มาก่อน
ว่าแค่เท้าสัมผัสพื้นจิตก็ปรุงแต่งแล้ว จนกระทั่งเมื่อมาเดินจงกรมได้ซักพักถึงได้รู้
ถึงความไร้สาระของจิตตามที่ผมได้เขียนไว้ครับ
โดยคุณ นิพ วัน จันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2543 11:55:52

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2543 13:35:51
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ โจโจ้ วัน จันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2543 13:55:32
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2543 17:11:45
เรื่องที่ นิพ เล่ามานี้มีประโยชน์มากครับ
ถ้าเรื่องแบบนี้ ยังเป็นการ อาจเอื้อม ตั้งกระทู้
ก็เห็นว่า วิมุตติ ไม่น่าจะมีกระทู้อะไรแล้ว

การปฏิบัตินั้น ในช่วงแรกจำเป็นต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก
เพราะเรายังไม่เคยรู้เห็นว่า ปฏิบัติแล้วจะมีประโยชน์อย่างไร
ต่อเมื่อเริ่มเห็นผลบ้างแล้ว เช่นสติในชีวิตประจำวันดีขึ้น
เห็นกิเลสตัณหาได้ไว และละเอียดยิ่งขึ้น
ปล่อยวางความอยากและความยึดได้เร็วขึ้น ทำให้ทุกข์น้อยและสั้นลง
สิ่งเหล่านี้ จะเสริมกำลังใจในการปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเป็นลำดับ

การที่เราคอยรู้ ความรู้สึก ที่เท้ากระทบ(ผัสสะ)พื้น
หรือหลังกระทบพนักเก้าอี้
ตัวความรู้สึก หรือความรับรู้การกระทบ นั่นแหละ คือ วิญญาณทางกาย
มันเป็นวิญญาณที่เกิดจากสิ่งที่หยาบที่สุด
คือการกระทบ(ผัสสะ)ของกายกับวัตถุภายนอก สังเกตได้ง่ายที่สุด
และเอื้อที่จะให้เรารู้ทันจิตใจตนเองต่อไปได้ง่ายๆ
เพราะจิตกับวิญญาณ นั้น ทางปริยัติท่านก็จัดว่าเป็นสิ่งเดียวกันอยู่แล้ว
แต่ในทางปฏิบัติ เราจัดว่า วิญญาณ เป็นตัวรู้การกระทบ
ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ส่วนจิต เป็นตัวที่รู้แล้วเสพย์อารมณ์
เกิดกิเลสตัณหา เกิดความยินดียินร้าย ต่อจากการกระทบ
เมื่อจับต้นทาง คือความรู้สึกที่กระทบได้แล้ว
ก็ไม่ยากที่จะสังเกตเห็นการทำงานของจิตในลำดับต่อไปได้
จนรู้ชัดว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดกับจิต ล้วนแต่เป็นไตรลักษณ์
จิตเองก็เป็นไตรลักษณ์
และรู้ชัดว่า จิตอยากก็ทุกข์ ไม่อยากก็ไม่ทุกข์
จิตที่อบรมจนฉลาดแล้วนั้นเอง จะถอดถอนตนเองออกจากกองทุกข์ได้

ในทางปฏิบัตินั้น เบื้องต้นเราอาศัยการกระทบ(ผัสสะ)
เป็นเครื่องกระตุ้นสติสัมปชัญญะของตนให้เข้มแข็งขึ้น
เพราะการที่จิตรู้การกระทบอย่างเดียวโดยต่อเนื่อง
ก็คือการเจริญสัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง
เมื่อเรามีสติรู้การกระทบ มีสัมปชัญญะรู้ตัวไม่เผลอ ดีแล้ว
การกระทบต่อไปนั้น ก็คือการเจริญสติปัฏฐาน
คือการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง
จะเห็นชัดว่ากายไม่ใช่เรา อารมณ์ต่างๆ ไม่ใช่เรา
ถึงจุดหนึ่งก็จะเห็นชัดว่า จิตเองก็ไม่ใช่เรา

การปฏิบัติไม่ใช่เรื่องยาก และไม่ใช่เรื่องลึกลับ
ในเบื้องต้นที่ศึกษา อาจจะยากลำบากบ้าง เพราะเป็นเรื่องไม่เคยชิน
ต้องอดทนต่อการเคี่ยวเข็น และความผิดหวังบ้าง
แต่ความผิดพลาด แล้วพยายามใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำอีกนั้นเอง
จะเปิดใจของผู้ปฏิบัติที่อดทนได้ ให้ปฏิบัติถูกและมองเห็น ธรรม
ธรรม ซึ่งมีอยู่แต่ไหนแต่ไรแล้ว
เพียงแต่เราไม่เคยเห็นเท่านั้นเอง

พยายามต่อไปครับ นิพ แต่อย่าอยาก
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2543 17:11:45

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ดังตฤณ วัน จันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2543 19:31:28
ถ้าขณะรู้การกระทบเท้า
ยังไม่รู้โดยความเห็นกาย และ/หรือ จิต อารมณ์นึกคิด
เป็นอนัตตา เป็นสิ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นแล้วดับไป
ก็ยังไม่เรียกตื่นหรอกครับ แค่ครึ่งตื่นเท่านั้น

และแม้รู้ความเป็นอนัตตา ก็ยังมีระดับหยาบละเอียด
มีความตั้งมั่น หรือล้มลุกคลุกคลาน แยกย่อยไปอีกมาก
มีพระอรหันต์เท่านั้นที่ตื่นจริง ตื่นชัด
พวกเรานี่อย่าเพิ่งเรียกตื่นเลยครับ
ตาปรือๆ เผยอๆ แบบไม่สร่างเมาฝันกันทั้งนั้น
แม้ว่ากำลังสมถะ กำลังปัญญาจะเข้มข้นพอลืมตาอ้าปากได้บ้างแล้ว
โดยคุณ ดังตฤณ วัน จันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2543 19:31:28

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ ดังตฤณ วัน จันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2543 19:32:47
ถ้ารู้อนัตตาออกมาจิตเต็มๆดวง
ไม่มีอาการเพ่งเข้าจับเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง
ก็เริ่มพ้นจากเบสิกแล้วครับ
โดยคุณ ดังตฤณ วัน จันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2543 19:32:47

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ธีรชัย วัน จันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2543 19:52:44
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 16 พฤษภาคม 2543 08:02:18
_/I\_ ผมต้องขอขอบคุณ คุณอากับพี่ศรัณย์ที่ตักเตือนและชี้แนะครับ
ยิ่งทำให้ผมมีกำลังใจในการปฎิบัติมากขึ้นครับ
โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 16 พฤษภาคม 2543 08:02:18

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ dolphin วัน อังคาร ที่ 16 พฤษภาคม 2543 08:07:20
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ศุภสิทธิ์ วัน อังคาร ที่ 16 พฤษภาคม 2543 09:30:01
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 16 พฤษภาคม 2543 10:01:26
ดูจิตไปเรื่อยๆ ครับ ดูให้รู้ว่า นี่จิตนี่อารมณ์แยกจากกัน
พอเห็นชัดเจนดีแล้ว ก็ดูให้เห็นธรรม
ดูให้เห็นไตรลักษณ์ ของการที่จิตเกาะอารมณ์
เราเห็นการเกาะเกี่ยวกันของจิตกับอารมณ์
อยู่อย่างนี้ ไม่มีจุดเริ่มและไม่มีที่สิ้นสุด ปัญญาจะเกิดได้ต้อง
เห็นความจริงข้อนี้ครับ

ดูไปเรื่อยๆ จิตมันจะหน่าย แล้วก็ร้องออกมาเองว่า "เบื่อแล้วโว้ย"
หรือ "กูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย(อันนี้ท่านพุทธทาสท่านว่าไว้ครับ)"
มันรู้สึกอย่างนี้จริงๆ ครับ ท่านพุทธทาสไม่ได้พูดเล่นๆเลย

โดยคุณ มะขามป้อม วัน อังคาร ที่ 16 พฤษภาคม 2543 10:01:26

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 16 พฤษภาคม 2543 13:06:32
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ต๊าน วัน พุธ ที่ 17 พฤษภาคม 2543 16:47:19
ขอบคุณพี่นิพมากที่ช่วยตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา
อ๋อเป็นอย่างนี้นี่เอง ตอนที่ต๊านเดินรู้รูปเท้าไปเรื่อยๆ
ก็มีความคิดผุบๆโผล่ๆ ขึ้นมาตลอด เข้าใจว่าต้องสังเกต
แต่เท้าอย่างเดียว เลยเกิดความไม่ชอบใจที่มีความคิดผุบๆโผล่ๆขึ้นมา
แล้วดันปัดมันทั้งไปซะอีก ไม่ได้รู้ทันมัน แล้วกลับไปดูที่เท้าต่อ
แต่หลังจากที่อ่านดูข้างบนแล้ว ก็เหมือนกับว่าการที่ดูรูปเท้าไปเรื่อยๆ
เหมือนหาที่ให้จิตเกาะ แล้วเมื่อมีอารมณ์ต่างๆเกิดขึ้นมาก็จะเห็นชัด
และง่ายขึ้น เป็นการรู้ตัวทั่วพร้อมปกติเหมือนดูจิตในชีวิตประจำวัน
ต๊านเข้าใจถูกรึเปล่าคะ ช่วยชี้แนะค่าน้อยด้วยค่ะ
โดยคุณ ต๊าน วัน พุธ ที่ 17 พฤษภาคม 2543 16:47:19

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 18 พฤษภาคม 2543 08:25:53
ต๊านตั้งคำถามได้ตรงประเด็นมากเลย
การเดินจงกรม หรือทำกรรมฐานอื่น เช่นกำหนดลมหายใจ
กำหนดยุบพอง กำหนดยกย่าง กำหนดพุทโธ กำหนดสัมมาอรหัง ฯลฯ
ถ้าจิตจดจ่อกับสิ่งที่กำหนด ปัดสิ่งอื่นทิ้งหมด ก็เป็นการทำสมถะ
ถ้าจิตเอาอารมณ์นั้น เช่นเท้า หรือการกระทบเป็นเครื่องรู้ หรือวิหารธรรม
มีสติสัมปชัญญะไม่เผลอ เห็นกิเลสตัณหา และปฏิกิริยาต่างๆ ของจิตชัดเจน
อันนี้ก็เป็นการเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยกายเป็นวิหารธรรม
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 18 พฤษภาคม 2543 08:25:53

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 18 พฤษภาคม 2543 10:09:33
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน พฤหัสบดี ที่ 18 พฤษภาคม 2543 16:28:18
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 19 พฤษภาคม 2543 09:17:57
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ ไมค์ วัน ศุกร์ ที่ 19 พฤษภาคม 2543 13:07:08
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ กระต่าย วัน เสาร์ ที่ 20 พฤษภาคม 2543 09:14:26
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ ต๊าน วัน อาทิตย์ ที่ 21 พฤษภาคม 2543 11:33:43
กราบขอบพระคุณอามากค่ะ_/|\_
โดยคุณ ต๊าน วัน อาทิตย์ ที่ 21 พฤษภาคม 2543 11:33:43

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ naruntorn วัน อาทิตย์ ที่ 21 พฤษภาคม 2543 13:30:36
ไม่ออกความเห็น ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ naruntorn วัน อาทิตย์ ที่ 21 พฤษภาคม 2543 18:52:41
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ จ้อม วัน จันทร์ ที่ 22 พฤษภาคม 2543 12:29:10
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 22 พฤษภาคม 2543 13:58:05
กระทู้นี้มีคุณค่าจริงๆครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 22 พฤษภาคม 2543 13:58:05

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ น้ำ วัน พุธ ที่ 31 พฤษภาคม 2543 22:57:54
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 6 มิถุนายน 2543 12:58:41
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com