กลับสู่หน้าหลัก

สติปัฏฐานในพระอภิธรรมปิฎก

โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 10:16:00

ผมไม่ค่อยได้เข้าไปอ่านในพระอภิธรรมปิฎกบ่อยนัก แต่เมื่อเข้าไปอ่านแล้ว  
ก็พบว่าในพระอภิธรรมนั้น พระพุทธองค์ทรงแจกแจงความหมาย ของศัพท์
ต่างๆ โดยละเอียดกว่า ในพระสูตรเสียอีก เช่น กิเลส คือ อะไร มรรคคืออะไร
เอกัคคตา เป็นอย่างไร ฯลฯ

เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ก็พบว่าทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับ สติปัฏฐานไว้ในพระอภิธรรมด้วย
และมีบางส่วนที่ไม่ได้แสดงไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ก็เลยนำมาให้อ่าน กันครับ
ถ้าใครยังไม่จุใจก็ลองไปหาอ่านแบบเต็มๆ ได้เลยครับ

                   พระอภิธรรมปิฎก
                            เล่ม ๒
                           วิภังคปกรณ์
     ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

                        ๗. สติปัฏฐานวิภังค์
                          สุตตันตภาชนีย์
   
      [๔๓๑] สติปัฏฐาน ๔ คือ
      ๑. ภิกษุในศาสนานี้ พิจารณาเห็นกายในกายภายในเนืองๆ อยู่
พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในและ
ภายนอกเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัส
เสียได้ในโลก
      ๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นเวทนา
ในเวทนาภายนอกเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในและภายนอก
เนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้
ในโลก
      ๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตภายในเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตภาย
นอกเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในและภายนอกเนืองๆ อยู่ มีความ-
เพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสเสียได้ในโลก
      ๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นธรรมใน
ธรรม
ภายนอกเนืองๆ อยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในและภายนอกเนืองๆ
อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก

.....

     [๔๓๕] ในบทเหล่านั้น บทว่า พิจารณาเห็นเนืองๆ มีนิเทสว่า
(นิเทส = คำอธิบาย) การพิจารณาเห็นเนืองๆ เป็นไฉน
      ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย
ความเข้าไปกำหนด  ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด
ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา อินทรีย์คือปัญญา
ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่าง คือ ปัญญา แสงสว่าง
คือ ปัญญา  ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม
สัมมาทิฏฐิ  อันใด นี้เรียกว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว เข้าไปถึง
แล้วด้วยดี เข้ามาถึงแล้ว เข้ามาถึงแล้วด้วยดี เข้าถึงแล้ว เข้าถึงแล้วด้วยดี
ประกอบแล้ว ด้วยการพิจารณาเห็นเนืองๆ นี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า พิจารณา
เห็นเนืองๆ

      [๔๓๖] บทว่า อยู่ มีนิเทสว่า สืบเนื่องกันอยู่ ประพฤติเป็นไปอยู่
รักษาอยู่ เป็นไปอยู่ ให้เป็นไปอยู่ เที่ยวไปอยู่ พักอยู่ ด้วยเหตุนั้นจึงเรียกว่า
อยู่

      [๔๓๗] บทว่า มีความเพียร มีนิเทสว่า ความเพียร เป็นไฉน
      การปรารภความเพียรทางใจ ความขะมักเขม้น ความบากบั่น ความ
ตั้งหน้า ความพยายาม ความอุตสาหะ ความทนทาน ความเข้มแข็ง  ความหมั่น
ความก้าวไปอย่างไม่ท้อถอย ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ ความ
ประคับประคองธุระ วิริยะ อินทรีย์คือวิริยะ วิริยพละ สัมมาวายามะ อันใด
นี้เรียกว่า วิริยินทรีย์

      [๔๓๘] บทว่า มีสัมปชัญญะ มีนิเทสว่า สัมปชัญญะ เป็นไฉน
      ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ (เหมือนพิจารณาเห็น - มะขามป้อม) ความไม่หลง
ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ อันใด นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว
เข้าไปถึงแล้วด้วยดี เข้ามาถึงแล้ว เข้ามาถึงแล้วด้วยดี เข้าถึงแล้ว เข้าถึงแล้วด้วยดี
ประกอบแล้ว ด้วยสัมปชัญญะนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มีสัมปชัญญะ

      [๔๓๙] บทว่า มีสติ มีนิเทสว่า สติ เป็นไฉน
            สติ ความตามระลึก ความหวนระลึก สติ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย
ความไม่ลืม  สติ สตินทรีย์ สติพละ ความระลึกชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมา
สติ ิ นี้เรียกว่า สติ ภิกษุ เป็นผู้ เข้าไปถึงแล้ว เข้าไปถึงแล้วด้วยดี เข้ามาถึงแล้ว
เข้ามาถึงแล้วด้วยดี เข้าถึงแล้ว เข้าถึงแล้วด้วยดี ประกอบแล้วด้วยสตินี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มีสติ

      [๔๔๐] บทว่า กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก มีนิเทสว่า
โลก เป็นไฉน
      กายนั้นเอง ชื่อว่าโลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่า โลก นี้เรียกว่า
โลก
     อภิชฌา เป็นไฉน
      ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ ความกำหนัดนักแห่งจิต อันใด
นี้เรียกว่า อภิชฌา
      โทมนัส เป็นไฉน
      ความไม่สบายทางใจ ความทุกข์ทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็น
ทุกข์อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สบาย เป็นทุกข์อันเกิดแต่
เจโตสัมผัส อันใด นี้เรียกว่า โทมนัส
      อภิชฌาและโทมนัสดังกล่าวมานี้ ถูกกำจัด ถูกกำจัดราบคาบ สงบ ระงับ
เข้าไประงับ ดับไป ดับไปอย่างราบคาบ ถูกทำให้พินาศไป ถูกทำให้พินาศไป
ด้วยดี ถูกทำให้เหือดแห้ง ถูกทำให้เหือดแห้งด้วยดี ถูกทำให้มีที่สุดปราศไปแล้ว
ในโลกนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก
.......

ข้อสังเกต (ฟังแล้วฟังอีกอย่าเพิ่งเบื่อนะครับ)

คำว่าพิจารณาเห็นเนืองๆ มีความหมายเดียวกับคำว่าสัมปชัญญะ อันหมายถึง
ปัญญา ภาวะที่รู้ธรรม ความไม่หลงไปตามอารมณ์ ในทางปฏิบัติก็คือภาวะที่จิตเฝ้า
รู้ ในอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆ นั่นเอง

โดยสรุบในการปฏิบัติ ก็คือต้องพิจารณาเห็นเนืองๆ ในจิต และ อารมณ์
อย่างต่อเนื่องด้วยความเพียร ตัวสติสัมปชัญญะนี่เองที่จะเป็นเครื่องมือกำจัดกิเลส

คำว่า กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก ซ่อนความหมายหนึ่งว่า
เวทนา เป็นเครื่องปรุงแต่งใจ (จิตตสังขาร) ถ้าไปดูความหมายของจิตตสังขาร
ก็จะพบว่านอกจากเวทนา แล้วก็ยังมีสัญญาอีกตัวหนึ่ง
เวทนาเป็นเครื่องปรุงแต่งใจ ก็เลยเป็นเครื่องปรุงแต่งโลก(ขันธ์) ด้วย
เพราะใจที่ถูกปรุงแต่งย่อมยึดมั่นถือมั่นในโลก ว่าตัวว่าตน ว่าของตัวของตน
โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 10:16:00

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 10:31:34
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 11:20:33
สาธุครับ คุณมะขามป้อม

พระอภิธรรมปิฎกนั้น เป็นเรื่องน่าอ่าน น่าศึกษาไม่น้อยทีเดียว
เสียดายแต่ไม่ค่อยมีผู้ศึกษากันเท่าที่ควร
ถึงจะมีการศึกษาพระอภิธรรม
ก็มักไม่ใช่การศึกษาพระอภิธรรมปิฎกโดยตรง


ตัวพระอภิธรรมปิฎกนั้น ถ้าสังเกตให้ดี ก็จะพบว่า
ส่วนหนึ่งคือคำอธิบายธรรม เป็นการขยายความว่า
สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้นั้น หมายความว่าอย่างไร
(ทำนองเดียวกับคัมภีร์อภิวินัย ที่เป็นคำอธิบายวินัย)
ดังที่คุณมะขามป้อมยกมานั้น ก็คือคำอธิบายธรรมนั่นเอง
อีกส่วนหนึ่ง เช่นคัมภีร์กถาวัตถุ
เป็นเรื่องการวิจารณ์ ตอบโต้ความเห็นผิดต่างๆ
ที่ชาวพุทธมีต่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ปราชญ์บางท่านเช่นท่านพุทธทาส และท่านเจ้าคุณระแบบ
เห็นว่าพระอภิธรรมปิฎกเป็นคำอธิบายธรรมที่เขียนขึ้นภายหลังพุทธกาล
และเป็นการขยายความคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์
อันเป็นต้นแบบพระอภิธรรมที่ปรากฏอยู่ในพระสูตร
ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่า พระอภิธรรมปิฎกเกิดขึ้นภายหลัง
แต่ไม่หลังจากสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ ผมยังไม่พบว่า พระอภิธรรมปิฎกส่วนใด
ขัดแย้งกับพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
หากแต่ช่วยขยายความให้เราเข้าใจพระธรรมวินัยชัดเจนขึ้น

ยกตัวอย่างคำว่า สัมปชัญญะ ดังที่คุณมะขามป้อมยกมา
ผู้คนจำนวนมากเหลือเกิน ที่เข้าใจว่า
สัมปชัญญะ หมายถึงการรู้ความเคลื่อนไหวของร่างกาย
เนื่องจากในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีธรรมอยู่หมวดหนึ่ง
คือ สัมปชัญญบัพพ ซึ่งกล่าวถึงการรู้ความเคลื่อนไหวของกาย
ทั้งที่ความจริงแล้ว สัมปชัญญะ ต้องมีอยู่ในการเจริญสติปัฏฐานทุกหมวด
เพราะหมายถึงสภาพจิตที่รู้ตัว ไม่หลง ไม่ถูกโมหะครอบงำ(อโมหะ)
นับเป็นตัวปัญญาสัมมาทิฏฐิอย่างแท้จริง เพราะเป็นสภาพรู้ที่ไม่หลง
ซึ่งพระอภิธรรมปิฎก ก็อธิบายไว้อย่างชัดเจน

ศึกษาพระสูตรแล้ว สงสัยตรงไหน ก็น่าจะลอง search
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 11:20:33

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 11:23:11
ขอโทษครับ กดผิดไป ขอต่ออีกนิดครับ

ศึกษาพระสูตรแล้ว สงสัยตรงไหน ก็น่าจะลอง search
หาคำอธิบายเพิ่มเติมจากพระอภิธรรมปิฎก
เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 11:23:11

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 11:53:53
แล้วที่เคยได้ยินว่าพระอภิธรรมเป็น ธรรมที่ทรงแสดงโปรดพุทธมารดา
ในสวรรค์ นั้นจริงหรือเปล่าครับ ถ้าจริงทำไมหลายคนจึงว่า
เขียนขึ้นในภายหลัง (หรือว่าธรรมที่ทรงแสดงโปรดพุทธมารดาไม่ได้
ถูกบันทึกไว้)

อภิธรรมที่ใช้เรียนๆ กันอยู่เป็นคนละอันกับพระอภิธรรมปิฎกใช่ไหมครับ

คัมภีรปฏิสัมภิทามัคค์ คืออะไรครับ

ถามเอาความรู้หน่อยหน่ะครับ :)
โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 11:53:53

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 13:18:11
เรียนคุณมะขามป้อม

เรื่องนี้พูดกันในที่นี้ก็อาจจะไม่เหมาะนักครับ
เพราะ วิมุตติ มีกติกาห้ามถกแถลงเรื่องพระอภิธรรม
เนื่องจากเป็นสาเหตุของความขัดแย้งรุนแรงในลานธรรมมานานแล้ว
จึงขอสรุปสั้นๆ เท่าที่คุณมะขามป้อมตั้งคำถามนะครับ

ธรรมที่ท่านแสดงโปรดพระพุทธมารดานั้น
เนื้อหาเป็นอย่างไรยังไม่พบครับ ทราบแต่ว่าทรงแสดงอภิธรรม
นอกจากนี้ ในพระสูตรก็มีหลายแห่ง
ระบุว่าพระเถระสนทนากันด้วยอภิธรรมกถา
ซึ่งก็ไม่ได้ระบุว่า ท่านสนทนากันเรื่องอะไรบ้าง
จะเหมือนพระอภิธรรมปิฎกหรือไม่ ไม่ทราบชัดครับ
แต่ตัวพระอภิธรรมปิฎกเองนั้น
บางส่วนมีหลักฐานว่าเขียนขึ้นภายหลัง พ.ศ.200
เช่นกถาวัตถุ มีหลักฐานว่าพระโมคลีปุตติสสเถระ
เขียนขึ้นในการสังคายนาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

พระอภิธรรมที่ใช้ศึกษาเป็นหลักอยู่ในปัจจุบันคือ อภิธัมมัตถสังคหะ
ประพันธ์โดยท่านพระอนุรุทธาจารย์ เมื่อ พ.ศ. 900 เศษ
จำแนกเป็น 9 ปริจเฉท(บท) คือ
1. จิตตสังคหวิภาค รวบรวมแสดงจิตปรมัตถ
2. เจตสิกสังคหวิภาค รวบรวมแสดงเจตสิกปรมัตถ
3. ปกิณณกสังคหวิภาค รวบรวมแสดงธรรมต่าง ๆ  6 หมวด
   คือ  เวทนา เหตุ ทวาร กิจ อารมณ์  และวัตถุ
4. วิถีสังคหวิภาค รวบรวมแสดงวิถีจิต
5 วิถีมุตตสังคหวิภาค รวบรวมแสดงจิตที่พ้นวิถี และธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับจิตที่พ้นวิถี
6. รูปสังคหวิภาค รวบรวมแสดงรูปปรมัตถ และนิพพาน
7. สมุจจยสังคหวิภาค รวบรวมแสดงธรรมที่สงเคราะห์เข้าเป็นหมวดเดียวกันได้
8. ปัจจยสังคหวิภาค รวบรวมแสดงธรรมที่อุปการะซึ่งกันและกัน
   และแสดงบัญญัติธรรมด้วย
9. กัมมัฏฐานสังคหวิภาค รวบรวมแสดงอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางใจ
   คือ สมถะและวิปัสสนา

ถ้าสนใจจะศึกษาลองติดต่อ คุณนิดนึง นะครับ
ครอบครัวคุณนิดนึง เปิดสำนักสอนพระอภิธรรม อยู่ที่วัดกษัตราธิราช อยุธยา
สอนโดยท่านอาจารย์อำนวย ซึ่งสอนพระอภิธรรมที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
มีลูกศิษย์เป็นพระสงฆ์องค์เจ้าจำนวนมาก
นิสัยใจคอท่านก็เยือกเย็นใจดีครับ

สำหรับคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ เป็นพระอภิธรรมที่ปรากฏอยู่ในพระสูตร
ลองอ่านในพระไตรปิฎกเล่มที่ 31 อันเป็นพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 23 นะครับ
ผมเองก็เคยค้นคว้าเรื่องพระอชิตะมาเล่าให้พวกเราฟังคราวหนึ่งแล้ว
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 13:18:11

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 13:38:40
_/|\_ ขอบคุณครับพี่ปราโมทย์

ด้วยความอยากรู้ข้อเท็จจริง เลยลืมข้อตกลงของวิมุติ ขอโทษทุกท่านด้วยครับ
เอาเป็นว่าเราถือพระวินัยและพระสูตรเป็นหลักไว้ก่อน
และใช้พระอภิธรรมในการอธิบายเพิ่มเติม อย่างที่พี่ปราโมทย์
แนะนำ น่าจะเป็นขอสรุปที่ดีที่สุดแล้วนะครับ

ส่วนตัวแล้วคิดว่าส่วนที่อธิบายเพิ่มเติมนี่สำคัญเหมือนกัน
เพราะช่วยให้เราเข้าใจในพระธรรมมากขึ้น
บ้างครั้งก็ทำให้เรา เห็นเกร็ดเล็ก เกร็ดน้อยที่
เราไม่ทันสังเกตในการอ่านพระสูตรครับ
โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 13:38:40

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ นิพ วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 15:24:24
_/I\_สาธุในการสนทนาธรรมของทั้ง 2 ท่านครับ ได้ความรู้ดีครับ
โดยคุณ นิพ วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 15:24:24

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 1 มิถุนายน 2543 19:24:05
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ นกเอี้ยง วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 08:07:00
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ Lee วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 17:38:55
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 5 มิถุนายน 2543 09:21:47
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน 2543 22:10:51
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com