กลับสู่หน้าหลัก

เลียบๆ เคียงๆ เมียงมอง

โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 08:02:54

ในห้วงเวลาของการปฎิบัติธรรมที่ผ่านมาของผมนั้น ในการฝึกการดูจิตนั้นมีจุดที่ยากจริงๆอยู่ 2 จุด
จุดแรกก็คือ การฝึกสติหรืออาจจะเรียกได้ว่าการรู้ระลึก หรือรู้อารมณ์
กับจุดที่สองคือ การรู้ในตัวกิเลส

ความยากของจุดแรกก็คือ ผมไปจินตนาการหรือไปคิดไว้ก่อนแล้วว่า
การดูจิตคืออย่างนั้น การดูจิตคืออย่างนี้
แต่ความเป็นจริงแล้ว การดูจิตเองจริงๆมิใช่อย่างที่คิดเอาไว้
ปัญหาที่ยากกว่านั้นก็คือ แม้รู้ว่าสิ่งที่เราทำมานั้นไม่ใช่
แต่ก็ไม่รู้ว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง

ความยากของจุดที่สองก็คือ การไม่รู้ในอาการของกิเลส
โลภะ กับโทสะ นั้นมองเห็นได้ง่าย
แต่สิ่งที่ปรากฎขึ้นกับผมบ่อยกว่า
ก็คือตัว โมหะ
เพราะอาการของโมหะ ก็คือการหลง หรืออาการไม่รู้
เมื่อมีโมหะเข้าครอบงำ ก็จะมีอาการ "อะไรก็ไม่รู้" เกิดขึ้น
มีอาการงงๆ
เหมือนดั่งว่าเรากำลังจะทำอะไรอย่างหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร
อาการงงๆนี้ จะก่อตัวขึ้นเป็นความสงสัย
เมื่อสงสัยแล้วก็ยิ่งวุ่นวายไปใหญ่
เพราะต้องขวนขวายหาคำตอบ
ดีว่ามาสงสัยว่า การปฎิบัติธรรมไยต้องวุ่นวายเช่นนี้
จึงเกิดฉุกใจขึ้นมาว่า เอ๊ะ... หรือว่าเรากำลังโดนกิเลสหลอกหรือเปล่า?

เมื่อสอบถามกับครูได้ความเรียบร้อยแล้ว
ว่าอาการนี้ เป็นอาการของโมหะทั้งนั้น
และตอกย้ำให้ปฏิบัติธรรมไปตามขั้นตอนอย่างนั้น
ก็ยิ่งทำให้รู้ไปว่า ในฐานะผู้เริ่มฝึกหัดนั้น
การปฎิบัติไปตามขั้นตอนนั้นสำคัญยิ่ง
ยิ่งกว่าการไปสนใจในธรรมที่ปรากฎ
แล้วไปนิยามชื่อของธรรม
ว่าธรรมนี้ชื่อนี้ ธรรมนั้นชื่อนั้น

ด้วยความที่เป็นคนศึกษาเซนมาก่อน
ก็รู้อยู่ว่าเซนมุ่งหมายที่จะทำลายตัวสมมุติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวภาษา
เพราะภาษาเป็นบัญญัติ
คนหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง คนฟังก็อาจจะเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง
เป็นเรื่องปกติของการสื่อสารกันด้วยภาษา
และยิ่งเห็นในการพยายามนิยามธรรม ว่าชื่อนั้น ชื่อนี้ ของตัวเอง
ก็ยิ่งเห็นความวุ่นวายอันเปล่าประโยชน์ที่ตนกำลังทำ

เหตุที่ว่าวุ่นวาย ก็เพราะต้องคอยสังเกต เปรียบเทียบ
เพื่อให้รู้ว่า ธรรมที่กำลังปรากฎนี้ เป็นธรรมไหน
ที่เราเคยได้ยิน ได้ฟัง ผู้รู้ท่านอธิบายมาก่อน

เหตุที่ว่าเปล่าประโยชน์ ก็เพราะว่า
ธรรมเหล่านี้ก็หน้าซ้ำๆกันทั้งนั้น
เพียงแต่ผลัดเวียนเปลี่ยนกันเข้ามา

หลังจากนั้นแล้วความพยายามที่จะนิยามชื่อธรรมก็ลดลง
มีอยู่บ้างตามปกติวิสัยของมนุษย์ปุถุชน ซึ่งยังเต็มพร้อมด้วยกิเลส

แต่นั่นเป็นเพียงด่านแรกของกิเลส ที่มาทดสอบเรา
หลังจากที่รู้ทันในเรื่องนี้แล้ว เรื่องต่อไปก็ตามมา
ผมยังมิใช่ผู้สิ้นกิเลสแม้เพียงเศษเสี้ยวเดียว
ทำได้แต่เพียงควบคุมตัวเองไม่ให้ไหลไปตามกระแสของกิเลส

ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

บางครั้งก็มีการเผลอหลงไปตามกิเลส
บ้างก็กามราคะ บ้างก็โทสะ
ส่วนโมหะนั้นครอบงำจิตใจเป็นปกติอยู่แล้ว (และน้อยครั้งจะรู้ตัว)

มีข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ
หลังจากที่ใจเราเสพกิเลสจนเต็มที่
ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อของกามราคะ หรือว่าโทสะก็ตาม
หลังจากนั้นแล้ว จิตใจของเราจะเสื่อมถอย หมดกำลัง
คำว่าเสื่อมถอย หมดกำลัง ผมหมายถึงลักษณะของจิตใจ
ที่ฟุ้งซ่านเต็มที่ หาความสงบไม่ได้
หรือบางทีก็ท้อแท้ หมดหวัง
มีบ้างเหมือนกัน ที่เป็นความอยากสงบ

หากสังเกตกันให้ดีจะเห็นว่า ณ.ขณะนั้นเราเผลอเต็มที่
เป็นการเผลอจริงๆ
แม้ว่าในขณะนั้น จะมีการตามรู้ระลึกในอารมณ์ได้บ้าง
แต่ก็เป้นการตามรู้ที่ขาดความรู้ตัวอย่างยิ่ง
เหมือนดั่งคนขับรถ ที่มองเห็นเส้นทางของถนน
แต่ไม่รู้ว่าตนเองกำลังขับรถไปไหน
อย่างไรก็อย่างนั้น

หากใครเคยสังเกตในคำสอนของครูในการดูจิต
ครูมักจะสอนไว้อยู่ 2 ขั้นตอน เป็นเบื้องต้นก่อน

ขั้นแรกให้รู้อารมณ์ (อารมณ์ก็คืออะไรก็ตามที่เราไปรู้ไปเห็น)
ขั้นที่สองคือให้รู้ ความยินดียินร้าย

ขั้นแรกนั้นจะฝึกง่ายหน่อย และเมื่อทำบ่อยๆครั้งเข้า
ก็จะทำไปเป็นอัตโนมัติได้บ่อยๆ

ขั้นที่สองนั้นมีประโยชน์กว่าขั้นแรก แต่ก็ต้องอาศัยขั้นแรกเป็นพื้นฐาน

หากขั้นแรกทำได้บ่อย ขั้นที่สองก็เกิดขึ้นได้บ่อย

ในเมื่อเราฝึกฝนที่จะรู้ระลึก หรือรู้อารมณ์กันได้บ่อยๆแล้ว
แม้ในยามเผลอ เราก็ยังรู้ในอารมณ์ได้เหมือนกัน
จากที่ผมสังเกตของผมเอง ผมพบว่า
ในขณะที่เผลออยู่ บางทีเราก็สามารถที่จะรู้ระลึกอารมณ์ได้
รู้ว่ากำลังทำอะไร รู้ว่าเรากำลังคิดอะไร
รู้ว่าเรามีอารมณ์ความรู้สึกอะไร
จากนั้นก็จะเผลอต่อไป
แต่หากว่าเราสังเกตตัวเราเองต่อไป
ด้วยอาการที่เรียกว่า "เลียบๆ เคียงๆ เมียงมอง"
หรือแอบชำเลืองมอง
ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร

ชอบหรือไม่ชอบ
เกลียดหรือไม่เกลียด
รักหรือไม่รัก
พอใจหรือไม่พอใจ
เฉยๆหรือซึมๆ

หรือแม้แต่เห็นอาการของจิตที่กำลังจะพยายามทำอะไรบางอย่าง
พยายามสงบ
พยายามสบาย
พยายามสุข
พยายามใหญ่
พยายามสร้างความสำคัญ
พยายามมุ่งมั่นอย่างโน้น อย่างนี้
อะไรเหล่านี้ทั้งปวง

เราจะเห็นความ "ยินดี ยินร้าย"
ที่เรามีต่ออารมณ์(สิ่งที่ถูกรู้) ได้ง่าย

ประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าไปรู้ในความ "ยินดี ยินร้าย"
ก็คือเราจะ "รู้ตัว" มากขึ้น
พัฒนาเป็น "สัมปชัญญะ" ได้เป็นอย่างดี
สัมปชัญญะ นี้ ท่านว่า เป็นตัว "วิปัสสนา"

บางท่านที่เคยคุยกับผม อาจจะเคยได้ยินเรื่อง "เว้นวรรค"
ซึ่งผมได้ใช้วิธีนี้อยู่ เพื่อ"เจริญสติ"ในชีวิตประจำวัน
ซึ่งครูได้แนะนำให้ผมใช้วิธีนี้เอง

การเว้นวรรค เพื่อหยุดการทำงาน หรือการพูด หรือการคิด
เพื่อที่จะรู้ระลึกว่ากำลัง คิด กำลังทำ กำลังรู้สึกอย่างไร
ทำให้สามารถเจริญสติได้
ยิ่งบ่อยก็ยิ่งดี
แต่การเจริญสติบ่อยๆ ด้วยวิธีการเว้นวรรคนี้
มักจะทำได้แค่ช่วงสั้นๆ เพียงนิดเดียวเท่านั้น
ดังนั้นจึงควรจะมีการ "เลียบๆ เคียงๆ เมียงมอง" เพิ่มเติมเข้ามา
หลังจากที่ได้ทำการ "เว้นวรรค" ไปแล้ว
เพื่อเจริญสัมปชัญญะ
ความรู้ตัวจะได้เกิดขึ้นได้บ่อยๆ เหมือนกับการระลึกรู้อารมณ์
และจะได้พัฒนาเป็น"ความรู้ชัด"
อันเป็นจิตที่ควรค่าแก่การงาน (กมฺมนิโย)
เพราะสัมปชัญญะเป้นตัววิปัสสนา
เป็นการงานของพวกเราชาวพุทธทุกคน

โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 08:02:54

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 08:32:09
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 09:35:46
สาธุครับ คุณพัลวัน

เรื่องเลียบเคียงเมียงมองนี้ เป็นศิลปะที่สำคัญทีเดียว
เพราะความเคยชินของเราทุกคน คือการ เพ่งอารมณ์
เวลาอารมณ์ใดปรากฏขึ้น ก็เพ่งใส่อารมณ์นั้น เพื่อจะให้รู้ชัดว่า
มันคืออะไร มันมาจากไหน มันทำอะไร มันดับไปอย่างไร
หรือหนักกว่านั้นก็คือ เพ่งเพื่อรักษามันไว้ หรือเพ่งเพื่อดับมันลง

นอกจากการเพ่งอารมณ์แล้ว นักดูจิตยังมักจะ เพ่งจิต อีกด้วย
คือ (1) พอสังเกตเห็นว่า อารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกรู้
ก็จะหันกลับมาจับเอาตัวจิตผู้รู้อย่างจงใจ
ซึ่งทันทีนั้น ผู้รู้ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ซ้อนเข้าไปอีก
หรือ (2) ถ้ามีความชำนาญมากๆ
จะสามารถตรึงความรับรู้อยู่กับผู้รู้ได้ เป็นการเจริญสติให้หยุดอยู่กับจิต
จิตมีอาการเหมือนล็อคตัว มีรู้อยู่ในรู้ ไม่มีปัญญา
แล้วหยุดอยู่แค่นั้นเองเป็นวัน เป็นเดือน หรือติดไปนานๆ

แต่ถ้าปฏิบัติอย่างใจเย็นๆ ปฏิบัติไปตามลำดับ
ขยัน พากเพียร แต่ไม่รีบร้อนทุรนทุราย
ก็ (1) รู้ตัว (2) รู้สิ่งที่มากระทบ
(3)(ชำเลือง)รู้ปฏิกิริยาของจิตต่อสิ่งที่มากระทบ เช่นความยินดียินร้ายต่างๆ
เมื่อจิตมีกำลังขึ้น ก็จะ
(4)ชำเลืองแต่ไม่จงใจ(เหมือนจิตเขาชำเลืองของเขาเอง)
เห็นจิตได้ละเอียดประณีต พ้นความปรุงแต่งไปตามลำดับ
แต่ตอนที่ชำเลืองเห็นนั้น อย่างหลงดีใจ
แล้วตะครุบเอาจิตไว้นะครับ จะผิดพลาดทันที
แต่จะมีสภาพเหมือนแตะๆ เหมือนประคองแต่ก็ไม่ใช่ประคอง
เป็นสภาพรู้ ที่ไม่ได้จงใจจะรู้ เท่านั้นเอง

ที่เล่ามานี้ สักวันหนึ่งพวกเราก็จะเห็นเองครับ
และจะเห็นกลไกการทำงานของจิต
ตามหลักปฏิจสมุปบาทไม่คลาดเคลื่อนเลย
แล้วพวกเราค่อยดูเอาตอนนั้น ว่าจะเหมือนที่ผมเล่าให้ฟังนี้หรือเปล่า
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 09:35:46

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 09:55:42
อ่านข้อเขียน ของคุณพัลวันทีไรก็เห็นได้ชัดถึงจิตที่ละเอียดขึ้นทุกครั้ง
อนุโมทนาด้วยครับ สำหรับความเพียรที่ทุ่มเท และธรรมที่นำมาบอกเล่าสู่กันฟัง

ที่ว่าสองขั้นในการปฏิบัติธรรมคือ
ขั้นแรกให้รู้อารมณ์ (อารมณ์ก็คืออะไรก็ตามที่เราไปรู้ไปเห็น)
ขั้นที่สองคือให้รู้ ความยินดียินร้าย
นั้นถูกต้องแล้ว ขั้นแรกก็คือการดูอารมณ์ ขั้นที่สองก็คือการดูย้อนกลับมาที่จิต
ในสติปัฏฐาน ท่านใช้คำว่าภายนอก กับภายใน

ถ้าจะพูดให้สมบูรณ์ ก็ต้องพูดถึงขั้นที่สาม คือรู้ธรรม
ปฏิบัติขั้นที่หนึ่ง กับขั้นที่สองให้มาก แล้วขั้นที่สามก็จะเกิดเอง
เหมือนผลมะม่วง เมื่อสุกงอมก็จะหล่นจากต้นเอง
แต่มันจะหล่นมาในท่าไหนนั้น ก็เป็นปัจจัตตัง
รู้ได้ด้วยตนเองครับ

เหตุที่การรู้ธรรม ในขั้นที่สามเกิดขึ้นเองนั้นเป็นเพราะ
เมื่อปฏิบัติไปๆ เราจะเห็นอารมณ์ และจิตชัดเจนขึ้น
เรียกว่า กิเลสกับปัญญามันละเอียดตามๆ กันไป
เมื่อเห็นจิต เห็นอารมณ์ บ่อยๆ ปัญญาเห็นแจ้งในไตรลักษณ์
มันก็เกิดขึ้นเอง เป็นปัญญาที่ "เห็น" ไม่ใช่ปัญญาที่ "คิด"

หากเรารีบร้อนปฏิบัติขั้นที่สาม สิ่งที่ปฏิบัติก็เป็นเพียงการเห็น
ไตรลักษณ์แบบปลอมๆ เป็นเพียงความนึกคิด ความทรงจำ
ที่สำคัญคือ จิตจะหลุดจากสภาวะรู้ ที่ตั้งมั่น เป็นกลาง ในปัจจุบัน
ไปเสียอีก นี่เรียกว่าเรารีบสอยมะม่วงเกินไป เลยได้มะม่วงดิบมากิน

ผมพูดผิดพลาดอย่างไรก็ทักท้วงได้นะครับ น้อมรับฟังทุกประการ
เพราะผมพูดอย่างนี้ในลานธรรมก็โดนสวนมาแล้ว
(สงสัยจะพูดผิดที่ผิดทางไปหน่อย เจ้าที่เขาแรง)
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 09:55:42

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ อี๊ด วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 10:02:12
ปรับความเข้าใจเพื่อความก้าวหน้าที่ถูกต้อง(คือไม่ต้องการหลงทางอีกแล้วครับ)
เนื่องด้วยผมอ่านกระทู้ทึ่79(จุดที่ยากลำบากของการปฏิบัติธรรม)

>ฝากให้พวกเราสังเกตจิตใจของตนให้ดี
ว่าการทำความรู้ตัวอยู่นั้น มี 2 ลักษณะด้วยกัน
อย่างหนึ่งรู้ตัวแล้ว จิตนิ่งๆ รวมเข้ามา อัดเข้ามา หยุดอยู่ที่รู้
ลักษณะเช่นนี้จะเหมือนมีความรู้ตัวชัดเจน
โดยไม่เห็นความจงใจ หรือความตั้งใจ ที่จะรู้ตัวให้ชัดๆ
เหมือนมี รู้ อยู่ในรู้ อีกชั้นหนึ่ง
ความรู้ตัวชนิดนี้ยังใช้ไม่ได้
เพราะจิตล็อคตัวเองให้หยุดนิ่ง หรือเป็นการเพ่งจิตนั่นเอง
ไม่สามารถเจริญปัญญาได้จริง

ไม่เหมือนความรู้ตัวที่เป็นธรรมชาติ ธรรมดา ไม่ได้จงใจจะรู้ตัว
หากแต่เจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ ไม่คาดหวังผล
เป็นลักษณะ รู้ อยู่ที่รู้ ไม่ใช่การเพ่งจ้องจิตผู้รู้
คือรู้ไปอย่างสบายๆ ถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ
แล้วหากจิตเกิดปฏิกิริยายินดียินร้ายขึ้นมา ก็รู้เท่าทันจิตตนเองไปเรื่อยๆ
ความรู้ตัวชนิดหลังนี้แหละครับ ที่จะเป็นทางแห่งปัญญาได้จริง <
คัดมาจากกระทู้79
บทความทำให้อยากปรับความเข้าใจอยากเรียนถาม

วันแรกที่ผมไปศาลาลุงชินพบพี่ดังกฤณทักว่า..จิตอี๊ดเคว้งคว้างไม่มีหลัก
เรานึกว่า..เราเอาความรู้สึกจับลงในความว่างของจิตเรา..กะจะอวดพี่เขา
แต่พี่กลับว่าเราเคว้งคว้างไม่มีหลัก..แล้วบอกว่าให้เอาความรู้สึกมาจับความรู้สึกที่หลังสัมผัสกับเก้าอี๊
เรานึกว่า..ทำไมพี่ให้ผมถอยความรู้สึกออกมา(เกิดจิตอกุศลขึ้นว่านี้มันก็รู้ตัวอยู่นี้..อยากได้คำชมนะ..แต่กลับให้เราถอยความรู้สึกออกมา..ไม่ยอมรับ..ว่าพี่เขาไม่รู้จริง)
เรานึกว่า..ทำไมพี่ว่าอย่างนั้น..เกิดแรงไม่ยอมรับอย่างแรง..)
ดังกฤณทักว่า..อี๊ดไม่ฟังพี่เลย
เราอึ้ง
ดังกฤณทักว่า..มีอัตตาสูงมากในตัวเรา
ดังกฤณทักว่า..เป็นคนที่ต้องบำบากต่อสู้มาแต่เด็ก
เรานึกว่า..พี่เขารู้ได้อย่างไร เกิดความสับสนอย่างมากทั้งที่พี่ดังกฤณเมตตาช่วยชี้แนะให้
พอผมกลับที่พักต้องเมล์ไปขออภัยในอกุศลจิตที่เกิดขึ้น....

อยากเรียนถาม
1)อยากจะให้คุณอาขยายบทความในกระทู้ให้ฟังเพิ่มเติมอีกครับ
2)เรียนถามความหมายของคำว่า
  ความว่างในจิต
  ว่างจากอารมณ์
ว่างจากตัวตนในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
โดยคุณ อี๊ด วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 10:02:12

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 10:41:51
_/I\_ สาธุกับทุกท่านครับ ผมได้ประโยชน์ต่อการปฎิบัติมากเลยครับจากกระทู้นี้
โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 10:41:51

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 10:59:57
คุณมะขามป้อม อธิบายได้ชัดเจนดีแล้วครับ
ด้วยเหตุนี้แหละ เวลาคุณมะขามป้อมคิดจะเลิกเขียนกระทู้
ผมจึงต้องพยายามทักท้วงทุกคราวไป
เพราะเห็นแก่หมู่เพื่อนทั้งหลาย
ยังไงก็ทนลำบากต่อไปก่อนนะครับอย่าเพิ่งทิ้งกัน

สำหรับคุณอี๊ดนั้น เป็นคนที่เอาจริงเอาจังในการปฏิบัติมาก
ที่จริงคำถามทั้งหมดนั้น
หากปฏิบัติไปตามลำดับก็เข้าใจคำตอบได้ด้วยตนเอง
และผมก็คิดว่าคุณอี๊ดคงไปพบเห็นเข้าบ้างแล้ว
เพียงแต่ต้องการหาพยานยืนยันเพิ่มเติมเท่านั้นเอง

เรื่องคำนิยาม คำศัพท์ต่างๆ มันเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับนักปฏิบัติ
เพราะต่างคนต่างบัญญัติเอาตามที่ตนรู้เห็นและเข้าใจ
ดังนั้น ถ้าตอบไม่เหมือนใจก็อย่าว่ากันนะครับ
ของอย่างนี้ สู้รู้เองเห็นเองไม่ได้
แม้เห็นแล้วอธิบายไม่ถูก ก็ไม่เป็นไร

ความว่างในจิต คำนี้มีอยู่หลายนัยที่อาจเรียกว่าความว่างในจิต
อันหนึ่ง จิตมันเป็นของว่างโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
ไม่มีรูปร่างแสงสีใดๆ ให้กำหนดหมายได้ เพราะเป็นแต่ธรรมชาติรู้
ที่บางคนปฏิบัติแล้วเห็นจิตเป็นสีนั้นสีนี้
เป็นเรื่องอาการของจิตที่แสดงออกมา หรือเป็นนิมิตของผู้เห็นเท่านั้น
เพราะจิตเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูป
เรารู้ได้ แต่เห็นไม่ได้จริงหรอกครับ
เมื่อปฏิบัติแล้ว เราจึงอาจพบความไม่มีอะไร หรือความว่างๆ ของจิต

อีกอันหนึ่งก็คือ เมื่อดูจิตเข้าไป อาจจะพบ ช่องว่าง(อากาส)ปรากฏอยู่
แล้วเราสำคัญว่า ช่องว่าง หรือความว่างๆ นั้น คือจิตว่าง

อีกอันหนึ่ง คือความเป็นอุเบกขาของจิต
คือเมื่อจิตรู้อารมณ์แล้ว จิตเป็นกลาง
ปราศจากความยินดียินร้ายที่จะกระเพื่อมไหวขึ้นมา
ความว่างในจิตชนิดนี้ เข้าทีกว่าความว่างแบบแรกๆ ครับ
ที่คุณอี๊ดประสงค์จะกล่าวถึง น่าจะเป็นตัวนี้แหละครับ

ว่างจากอารมณ์ ธรรมดาจิตไม่ว่างจากอารมณ์ครับ
เพียงแต่อารมณ์อาจจะเป็นความว่างๆ
ถ้าเราไม่เห็นว่า ว่างๆ เป็นอารมณ์อันหนึ่ง
ก็สำคัญว่าจิตว่างจากอารมณ์

ว่างจากตัวตน อันนี้สำคัญกว่า 2 อย่างแรก
มันมีอยู่ 2 ระดับครับ คือ (1) ว่างจากความเห็นว่าเป็นตัวตนของตน
เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ เราเห็นสิ่งอื่นไม่ใช่เราในทันที
แต่ลองย้อนสังเกตจิตตนเอง มันยังเป็น เรา เรา เรา อยู่หรือเปล่า
ธรรมดาของปุถุชน จะเห็นว่ามี เรา อยู่ในตัวเรา
จะรูู้ จะทำ จะคิด ก็ล้วนแต่เรารู้ เราทำ เราคิด
อีกระดับหนึ่งคือ (2) ว่างจากความยึดว่าจิตเป็นตัวตน
อันนี้ผมก็ทำไม่ได้เหมือนกันครับ
ขืนอธิบายไป ก็จะเท่ากับเอาความคิดมาอธิบาย ซึ่งใช้อะไรไม่ได้เลย
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 10:59:57

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 11:04:42
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ Lee วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 17:38:35
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ ฐิติมา วัน ศุกร์ ที่ 2 มิถุนายน 2543 19:46:23
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ อี๊ด วัน เสาร์ ที่ 3 มิถุนายน 2543 22:56:10
ขอบพระคุณครับคุณอา

เรื่องการปฏบัตินั้น..ยังอ่อนหัดไม่ไปไหนเลยครับ
แล้วยังมีนิสัย..ชอบเถียงครูบาอาจารย์อีกต่างหาก...(คนหัวดื้อก็ว่าได้)
ไม่อยากจะเข้าใก้ลครูอาจารย์...(กลัวอาจารย์จะเห็นสันดานเรา)..

เล่าต่อ..ในวันเดียวกัน..พอโดนพี่ดังกฤณทักเอาหลังแทบหัก..
เพราะความอยากอวดดีของเรา..

..........ย้ายมานั้งกับคุณอาสันตินันท์............

เรานึกว่า..กะว่าจะตามรู้อารมณ์อย่างเต็มที่..(ไม่กล้าเอาความรู้สึกจับลงความวางในจิต)...
คุณอาทักว่า..อี๊ดเผลอแล้ว...
เรานึกว่า..เอ้..นี้มันก็รู้อยู่นี้..ไม่ได้เผลอเลย..เผลอได้อย่างไร..

กลับมานั้งคิดนอนคิด..เพลอได้อย่างไร..ทำไมไม่รู้(ถ้ารู้คงไม่เพลอ..)

อยากเรียนถามเพื่อปรับควาเข้าใจครับ
(คุณอาอย่าพึ่งรำคราญผมนะครับ)
อยากให้คุณอาเสริมคำตรงนี้ด้วยครับ..กันความผิดพลาด
(เพราะส่วนมากกิเลสผมชอบตีความเข้าข้างตัวเองแล้วบอกว่า..รู้แล้วๆ..)

1)สองคำนี้คือ...เผลอกับเพ่ง...(เขียนง่ายแต่เข้าใจอย่างเหลือเกิน)
คำพวกนี้คงจะรู้ไม่ได้ด้วยการคิดเอาแน่ๆ

2)ประคองรู้..กับ..รู้ตัวทั่วพร้อม..อันเดียวกันหรือ?ครับ
   

ขอบพระคุณครับ

โดยคุณ อี๊ด วัน เสาร์ ที่ 3 มิถุนายน 2543 22:56:10

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อาทิตย์ ที่ 4 มิถุนายน 2543 19:11:30
เรื่องเผลอหรือไม่เผลอนั้น เป็นเรื่องเข้าใจยากพอสมควรครับ
หลายคนทีเดียว ที่เมื่อผมบอกว่าเผลอ จะรู้สึกสับสนว่า
เอ เราก็กำลังรู้อยู่แท้ๆ ทำไมคุณอาบอกว่าเผลอ
ทีนี้บางคนเถียงเลยก็มี บางคนแอบเถียงในใจ
ซึ่งผมไม่เคยว่ากล่าวถือสาเลยครับ
เพราะผู้ฝึกหัดเห็นและเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ

ความรู้ตัว หรือความไม่เผลอนั้น จำเป็นจะต้องรู้ตัวขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
คือขั้นแรก ให้รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏเสียก่อน
แล้วจึงค่อยๆ สังเกตอาการของจิตใจตนเอง ที่มีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่จิตไปรู้เข้า
แต่ผู้ปฏิบัติมักจะ สร้างความรู้ตัว โดยไม่รู้ตัวว่าจงใจสร้างขึ้นมา
ความรู้ตัวที่จงใจปั้นขึ้นมานั้น จะเหมือนรู้ แต่ความจริงจะมีโมหะแทรกอยู่
โดยผู้ปฏิบัติไม่เห็นว่า จิตกำลังมีโมหะ
บางคนปั้นมากไปหน่อย จนจุกหน้าอกก็มี แน่นขึ้นมาถึงคอหอยก็มี

ตรงที่จิตมีโมหะ แล้วไม่เห็นว่ามีโมหะ นี่แหละครับคือความหลง
หรือความเผลอ หรือความไม่รู้ทันสภาวธรรมที่กำลังปรากฏกับจิต
แม้ในขณะนั้น จิตจะรู้อารมณ์อื่นชัดเจนเพียงใด
แต่ในขณะนั้น จิตมองตัวเองไม่ออก
คือรู้ชัดเฉพาะอารมณ์ ไม่รู้เท่าทันกิเลสตัณหาที่แทรกเข้ามาในจิต

จิตที่เผลอนั้น อย่างหยาบคือหลงตามอารมณ์ไปทางตา ทางหู...
อย่างกลางๆ คือหลงไปในโลกของความคิด
แต่อย่างละเอียดนั้น หลงไปกับการสร้างความรู้ตัว
คือไม่รู้เท่าทันจิต ที่กำลังสร้างความรู้ตัวขึ้นมานั่นเอง
บางคนใช้เวลาเกือบปีครับ กว่าจะเข้าใจตรงนี้ได้
เช่นหมอยุทธ หมอลี หมอไพ คุณแมว หนุ่ย ฯลฯ
แต่บางคนใช้เวลาไม่มาก เช่นคุณสุรวัฒน์ และชิ้ง เป็นต้น

คราวนี้มาเรื่องการเพ่ง
ที่ผมมักจะกล่าวถึงคำว่า เผลอกับเพ่ง คู่กันบ่อยๆ นั้น
ก็เพราะผู้ปฏิบัติมักจะหลงดำเนินจิตผิดพลาดอยู่ในสองตัวนี้
คือถ้าไม่เผลอไปในโลกของความคิด ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ก็ต้องเพ่งอารมณ์อันใดอันหนึ่งไว้ให้หยุดกับที่ เพื่อจะดูให้ชัดๆ
ทั้งสองด้านนี้อันที่จริงก็คือเผลอทั้งคู่
คือเผลอไปเลย กับเผลอไปเพ่ง โดยไม่รู้ว่ากำลังเพ่งอยู่

แต่ถ้าเพ่ง แล้วรู้ว่ากำลังเพ่งอยู่ อันนี้ใช้ได้นะครับ ไม่จัดว่าเผลอ
เช่นจะทำสมถะ ก็เพ่งอารมณ์อันหนึ่งไปเรื่อยๆ สบายๆ ด้วยความรู้ตัว
อย่างนี้ถือว่าใช้ได้
เพ่งที่ใช้ไม่ได้ ได้แก่การเพ่ง ที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังเพ่งอยู่

สำหรับคำว่า รู้ตัวทั่วพร้อม นั้น เป็นสิ่งที่ดีครับ
มันเป็นสภาพความรู้ตัวที่เป็นธรรมชาติที่สุด ไม่ใช่รู้ตัวแบบเพ่งๆ เอา
พวกเราที่บรรยายเก่งๆ ช่วยมาบรรยายให้หน่อยเถอะครับ
ผมเองก็นึกไม่ออกว่า จะใช้คำบรรยายอย่างไรให้เห็นภาพด้วยคำพูด
ส่วน การประคองรู้ นั้น เป็นความจงใจประคองสติสัมปชัญญะให้ต่อเนื่อง
ยังไม่ใช่ รู้ ที่เป็นธรรมชาติ ธรรมดา
แต่มันมีการปฏิบัติอยู่ขั้นหนึ่ง ที่เหมือนประคอง แต่ไม่ใช่ประคอง
เป็นสภาพรู้ที่ต่อเนื่อง โดยไม่ได้จงใจจะให้รู้

เรื่องการนิยามศัพท์เกี่ยวกับการดำเนินของจิตนั้น
เป็นเรื่องยุ่งยากมากครับ ไม่เหมือนการคุยกันแบบเจอตัว
ที่สามารถชี้ให้เจ้าของเข้าใจสภาวะที่กำลังปรากฏในจิตของตน
ซึ่งเจ้าของเองยังไม่เห็น หรือไม่เข้าใจ
ส่วนการอธิบายกันด้วยตัวหนังสือนั้น
บางทีอ่านแล้วก็มีการตีความไม่ตรงกันอีก
ด้วยเหตุนี้แหละครับ ตำราทั้งหลายจึงสอนแต่หลักการ
ส่วนวิธีการในรายละเอียดนั้น ท่านถ่ายทอดกันเฉพาะตัว
ไม่ได้เขียนเป็นตำราเอาไว้หรอกครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อาทิตย์ ที่ 4 มิถุนายน 2543 19:11:30

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ มะขามป้อม วัน จันทร์ ที่ 5 มิถุนายน 2543 09:51:06
ขนาดพี่ปราโมทย์ชี้แนะตัวต่อตัวยังใช้เวลานาน
ถ้าให้เขียนอธิบาย นี่คงยากกว่าหลายเท่าครับ

เรื่องเพ่ง, เผลอ หรือรู้ตัวพร้อม ต้องใจเย็นค่อยๆ สังเกตดูครับ
สังเกต สภาพของจิตนั่นแหละครับ ว่าเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร
ความสนใจอยู่ตรงไหน หนักเบาอย่างไร มันจะไม่เหมือนกัน

รู้ตัวพร้อมแบบสบายๆ กับรู้ตัวแบบเพ่งที่จิตผู้รู้ก็ต่างกัน
ลักษณะที่มันรับรู้ สิ่งที่มันให้ความสนใจนั่นแหละครับมันต่างกัน

หมั่นสังเกตไปเรื่อยๆ สักวันจิตก็จะฉลาดขึ้นเองครับ
จิตจะดำเนินไปคล้ายๆ กับ "สูงสุดคืนสู่สามัญ (ต้องสูงสุดก่อนนะครับ:-) )"
"กระบวนท่าที่ไร้กระบวนท่า"
"ต้องแพ้จึงจะชนะ"
"การปล่อยวางและสลัดคืนสู่ธรรมชาติ"
ฯลฯ
อะไรทำนองนี้หน่ะครับ
อธิบายแล้วยากจะเข้าใจ แต่เมื่อมันเกิดขึ้น
ก็ไม่มีคำอธิบายใดๆ ที่ตรงไปกว่านี่อีกแล้วครับ

โดยคุณ มะขามป้อม วัน จันทร์ ที่ 5 มิถุนายน 2543 09:51:06

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 5 มิถุนายน 2543 11:51:17
คุณมะขามป้อม ช่างเสาะหาคำมาอธิบายสภาวะได้ดีจริงๆ ครับ

หัด รู้ ใหม่ๆ จะเหนื่อยมาก เพราะฝืนกับความเคยชิน หรือธรรมชาติเดิม
ซึ่งทุกคนจะชินกับการ หลง
สภาพรู้ที่มีขึ้นจะแข็งๆ ไม่เป็นธรรมชาติธรรมดา
เพราะถ้าไม่จงใจตั้งให้มั่น ก็จะเผลอในพริบตาเดียว
พอจงใจตั้งมั่น ก็กลายเป็นรู้แบบปลอมๆ พออาศัยไปก่อน
จนเมื่อจิต เข้าใจ จึงจะเข้าถึง รู้ ที่เป็นธรรมชาติ
แล้วการปฏิบัติจะเรียบง่าย ราบรื่น อย่างที่สุด
ธรรมดาสามัญอย่างที่สุด

เมื่อเช้า พวกเราคนหนึ่ง ที่ผมกล่าวเป็นตัวอย่างอันดีว่า
รู้ตัวเป็นแล้ว หลังจากฝึกมาเกือบปี
มาเล่าให้ผมฟังว่า ยังเห็นความจงใจที่จะรู้ตัวเป็นครั้งคราว
แสดงว่ายังรู้ตัวไม่เป็นกระมัง
ผมก็เลยชี้แจงให้ทราบว่า
เพราะว่า จงใจก็รู้ว่าจงใจ นั่นแหละ ผมจึงเห็นว่าดูเป็นแล้ว
การดูจิต หรือรู้จิตนั้น ไม่ใช่ว่าจิตจะต้องดีเสมอไป
แม้จิตมีกิเลส หากรู้ว่ากำลังมีกิเลส อย่างนี้เรียกว่า รู้ แล้ว
แต่ถ้าจิตกำลังดี อิ่มบุญอิ่มกุศล แต่ไม่รู้ว่าจิตกำลังเพลินบุญ
แบบนี้ก็เรียกว่ายังหลงอยู่

การรู้ จึงสำคัญที่รู้ให้ทันจิตใจตนเอง
ไม่สำคัญหรอกว่า จิตจะต้องดีเลิศปราศจากอกุศลใดๆ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 5 มิถุนายน 2543 11:51:17

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 5 มิถุนายน 2543 19:38:32
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน อังคาร ที่ 6 มิถุนายน 2543 15:55:02
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ หนุ่ย วัน อังคาร ที่ 6 มิถุนายน 2543 16:28:06
สาธุค่ะ ขอบพระคุณค่ะ _/|\_
โดยคุณ หนุ่ย วัน อังคาร ที่ 6 มิถุนายน 2543 16:28:06

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ โจ้ วัน อังคาร ที่ 6 มิถุนายน 2543 19:55:12
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ อี๊ด วัน พุธ ที่ 7 มิถุนายน 2543 07:59:21
สาธุครับ..ขอบพระคุณครับ

ยังมีเรื่องอยากเรียนถาม..แต่เขียนไม่ค่อยจะถูก

คือเวนทานั้นมีสองส่วน(สองชั้น)
1)ส่วนของกาย(สุขเวทนา..ทุกข์เวทนา..อุเบกขาเวทนา)
2)ส่วนของใจ(อภิชฌา..โทมมนัส)แรงทะยานอยากที่พุ่งเข้าไปยึด
---------------------------------------------------------------------
เมื่อทำจิตให้ตั้งมั่นในอารมณ์เดียว....
คือจิตที่มีสมาธิหนุนจะระงับนิวรณ์ธรรม(ความฟุ้ง-ความง่วง-ฯลฯ)
ออกไปชั่วคราว..จะทำให้อารมณ์ฌานเกิดขึ้น(ไล่จากฌาน1-2-3-4..ตามความชำนาญ)
และเมื่อไม่ดีใจเสียใจ..ในอารมณ์ทั้งหลายทำให้เกิด
จิตตั้งมั่น(เอกคตา)..อยู่ในอารม์เดียว(อุเบกขาธรรม)....

จะเห็นการทำงานของเวทนาสองส่วนนี้ชัดเจน
1)..เวลาตาสัมผัสรูป..สุขเวทนาเกิดขึ้น...ถ้าย้อนมาสังเกตที่ใจ
ก็จะมีแรงพุ่งเข้าไปยึด..หรือมีเวทนาตัวอื่นเกิด..ถ้าย้อนมาสังเกต
ใจจะเห็นแรงพุ่งเข้าไปยึด(จะเป็นความลักษณะ..ขุ่นๆ,หงุดหงิด,ฯลฯ..
คล้ายกับพลังงานในส่วนลึกที่คอยตอบสนองออกมาตลอดเวลา..

2)..ถ้าอยู่เฉยๆ..จะสังเกตมีแรงที่พุ่งขึ้นมา..จากความรู้สึกส่วนลึก
แล้วสร้างความขุ่นๆ,หงุดหงิด..ขึ้นมาให้รับรู้รับทราบ......
ถ้าเพียรให้มากจิตยิ่งมีกำลังมากจะเห็นแรงพวกนี้ชัดมาก..วับ..วับ..วับ....
    ถ้าสติปัญารู้ทันในปัจจุบันธรรมที่ปรากฏต่อการพลิกตัวของจิต
(ตรงนี้เขียนอยากอธิบายอาการไม่ถูก)

อยากปรับความเข้าใจ
1)เวทนาส่วนแรกเจอกันทุกคนที่มีขันธ์..แม้จะทำอารมณ์ให้ละเอียด
(ทะลุรูปฌาน,อรูปฌาน)..ก็ยังเป็นธรรมอารมณ์ เป็นสัจจธรรมมีอยู่ประจำโลก
เป็นของตกในพระไตรลักษณ์(ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมฤาษีแม้ทำอารมณ์ให้ละเอียด
เท่าไรก็ตามแต่ไม่ย้อนมาอ่านใจตัวเองก็ละความอยากไม่ได้)
2)เวทนาส่วนสองเป็นเรื่องกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่พุ่งเข้าไปยึดโดยไม่รู้ตัว
3)เวทนาส่วนแรกให้กำหนดรู้
   เวทนาส่วนสองให้กำหนดละ

เป็นความเห็นส่วนตัวครับ..ไม่ทราบแผนที่นี้ถูก?ครับ  (ไม่ทราบมีพระสูตรเรื่องนี้?ครับ)

ขอบพระคุณครับ  
โดยคุณ อี๊ด วัน พุธ ที่ 7 มิถุนายน 2543 07:59:21

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ ธีรชัย วัน พุธ ที่ 7 มิถุนายน 2543 08:15:52
_/\_ ขอบพระคุณครับ
ธรรมะที่ลุ่มลึกอยู่แค่ผิวเผิน แต่กลับมองไม่เห็น การปฏิบัติที่ถูกอยู่แค่ปลายจมูก แต่ปฏิบัติกลับยากเสียจริงๆครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน พุธ ที่ 7 มิถุนายน 2543 08:15:52

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 7 มิถุนายน 2543 08:25:21
เรียน คุณอี๊ด

ในอดีต ผมก็เป็นนักค้นภายนอกตัวยงคนหนึ่งเหมือนกัน ไม่ว่าเรื่องขันธ์ 5 ผัสสะ 6 ผมนิยมชมชอบอย่างยิ่งที่จะค้นคว้า พยายามที่จะข้อสรุปให้ได้ว่า อันนั้น อันนี้ มีชื่อว่าอย่างไร แบ่งเป็นประเภทไหน มีเมคคานิสม์ในการกำเนิดเกิดดับกันอย่างไร เป็นเหตุเป็นปัจจัยอย่างไร

บางส่วนก็รู้ บางส่วนก็เข้าใจ แต่ก็มีหลายส่วนที่ไม่เข้าใจ

วิธีการศึกษาธรรมเช่นนี้ ดำเนินไป 6 ปี อย่างไร้ความหมาย เต็มไปด้วยความยากลำบาก มีแต่ความลังเล สงสัย อยู่เต็มไปหมด

หลังจากที่ผมได้ฟังพระธรรมเทศนาของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย หลวงพ่อแสดงธรรมเรื่องการทำสมาธิ ก็เห็นท่านเน้นอยู่อย่างเดียวคือเรื่องของสติเป็นเครื่องระลึก ท่านให้ตามรู้ กำลังรู้ออะไรก็ให้ระลึกรู้ ผมก็เริ่มเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองต่อการศึกษาธรรม คิดว่าที่ผ่านๆมาคงจะมีข้อบกพร่อง และเริ่มเอะใจด้วยว่า เหตุไฉนพระป่าทั้งหลาย เวลาท่านปฎิบัติอยู่สันโดษธุดงค์ในป่า ท่านก็ไม่ได้พกตำราไปด้วย แล้วท่านจะจำได้หมดได้อย่างไร ว่าธรรมโน้นธรรมนี้กำลังปรากฎกับท่าน ท่านจะเรียกชื่อธรรมเหล่านั้นได้อย่างไร

ความสงสัยอันนี้ ไม่มีที่แก้ข้อสงสัย เพราะในขณะนั้น ชีวิตอยู่ห่างไกลจากพระป่ามาก (แม้ว่าบ้านพักจะอยู่ใกล้วัดสันติธรรมที่เชียงใหม่ก็ตาม)

ต่อมา หลังจากที่ได้ย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ และได้มีโอกาสได้เล่นอินเตอร์เน็ต ก็ได้มีโอกาสได้พบกับครู ผู้ซึ่งกรุณาสอนการดูจิตให้ แม้ว่าในระยะแรกผมจะไม่เอาเรื่องเลยก็ตาม นั่นก็เป็นเพราะคิดไปก่อนแต่แรกว่าจะต้องตั้งท่าอย่างนั้นอย่างนี้ จึงจะเป็นการดูจิต ครั้งแรกจึงเป็นความล้มเหลวที่ทรงคุณค่ายิ่ง หลังๆจากนั้นก็เริ่มดีขึ้นมาบ้าง

ในขณะที่เรากำลังฝึกสติ ด้วยวิธีการดูจิตนั้น หากเราสังเกต เราจะพบว่านอกจากจะมีผู้รู้แล้ว ยังมีผู้รู้ดีอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ที่คอยจะพากษ์ธรรม โดยอาศัยตัวสัญญาเข้าไปหมายรู้แล้วก็จำ แล้วก็ทำการเทียบเคียง แล้วก็สรุปความออกมา ตัวนี้มาเป็นประจำและเป็นตัวชวนเผลอด้วยครับ

ประเด็นสำคัญก็อยู่ที่ หากมันจำปริยัติไม่ได้ หรือไปเจอสิ่งที่ไม่เคยเจอ มันจะเป็นเหตุและปัจจัยให้กับความสงสัย เป็นเหตุให้ความสงสัยเกิดขึ้น และเป็นปัจจัยให้ความสงสัยตั้งอยู่ แต่ที่น่าเจ็บใจกว่านั้นคือ ตัวนี้แหละที่ทำให้เราเผลอได้ทันที หลงไปยึดเอาความสงสัยว่าเป็นของเรา (หากใช้สำนวนของท่านพุทธทาส ก็ต้องว่า "ของกู")

การเผลอเข้าไปสงสัย ไม่มีประโยชน์ใดๆมากนัก และมันจะปรุงแต่งจิตให้อยู่ในความเผลอเป็นระยะเวลาหนึ่งที่นานสักหน่อย แล้วก็ปรุงต่อให้เป็นความคิด ครุ่นคิด แล้วก็กลับมาเป็นสงสัย กลับไปกลับมา อย่างนั้น

คำแนะนำของผม(ซึ่งอาจจะผิดก็ได้)ก็คือ ให้รู้ไปที่สงสัยอันนั้น อย่าให้เผลอสงสัยตามไปเด็ดขาด แล้วสิ่งที่ไม่เคยรู้ก็จะได้รู้ อยู่ที่ตรงนั้น

โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 7 มิถุนายน 2543 08:25:21

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 7 มิถุนายน 2543 09:34:25
ขอสาธุดังๆครับ _/I\_ สำหรับกระทู้นี้ โดยเฉพาะความเห็นล่าสุดของคุณอานั้น
ทำสิ่งที่ผมสงสัยในจุดนั้นหายไปแทบหมดเลยครับ
โดยคุณ นิพ วัน พุธ ที่ 7 มิถุนายน 2543 09:34:25

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 7 มิถุนายน 2543 11:16:13
ปัญหาใหญ่ของคุณอี๊ด ไม่ใช่การปฏิบัติไม่เป็น
เพราะคุณอี๊ดเป็นผู้ปฏิบัติที่จริงจังมาก
มีความตั้งใจ และพากเพียรสังเกตจิตใจตนเองอย่างละเอียด
หากแต่เป็นปัญหาเรื่องอธิบายไม่ถูกตามศัพท์บัญญัติ
จึงเกิดปัญหาการสื่อความเข้าใจกับผู้อื่นได้ง่ายๆ
(อย่างสิ่งที่เรียกว่าเวทนาส่วนที่ 2 อันนั้นความจริงไม่ใช่เวทนา เป็นต้น)
อันนี้แหละครับ คือจุดอ่อนของนักปฏิบัติที่ไม่รู้ปริยัติ
กลายเป็นเรื่องรู้เฉพาะตัว แต่อธิบายให้คนอื่นเข้าใจตามได้ยาก

หากตัดปัญหาเรื่องการอธิบายตามศัพท์บัญญัติทิ้งไป
แล้วนำสภาวะมาคุยกันอย่างที่คุณอี๊ดอธิบายมาคราวหลังนี้
ก็ต้องกล่าวว่า สิ่งที่คุณอี๊ดทำอยู่นั้น ดีทีเดียว
คือเห็นว่า เมื่อตาเห็นรูปก็เกิดเวทนา และรู้แรงพุ่งขึ้นภายใน มีความขุ่นมัว
แล้วจิตก็ทะยานไปอยากไปยึดสิ่งต่างๆ
รวมทั้งเห็นว่า มีความปรุงแต่งพุ่งขึ้นวับ วับ วับ
ยิ่งสติสัมปชัญญะดี ยิ่งเห็นชัดและมาก

ปฏิบัติต่อไปเถอะครับ เห็นอย่างที่เห็นนั่นแหละ
ขอเพียงไม่เผลอ ไม่เพ่ง ปล่อยให้มันปรุงวับๆๆๆๆๆๆๆ
แล้วคุณอี๊ดก็รู้เรื่อยๆ ไปด้วยจิตผู้รู้ที่เป็นกลาง
ถ้าไม่สามารถพ้นทุกข์ได้ในวันหนึ่งข้างหน้า ก็ให้มันรู้ไปสิ
อย่าไปคิดสงสัยอะไรให้เสัียเวลาอีกเลยครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 7 มิถุนายน 2543 11:16:13

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 7 มิถุนายน 2543 11:20:56
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ คิดเอาเอง วัน พุธ ที่ 7 มิถุนายน 2543 11:51:00
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ อี๊ด วัน พุธ ที่ 7 มิถุนายน 2543 16:43:29
สาธุ..สาธุครับ...ขอบพระคุณมากครับ
โดยคุณ อี๊ด วัน พุธ ที่ 7 มิถุนายน 2543 16:43:29

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 8 มิถุนายน 2543 11:44:11
มีพรรคพวกถามมาว่า "สิ่งที่คุณอี๊ดเล่ามานั้น
ถ้าจะเล่าให้ฟังง่าย เข้าใจทั่วกัน จะเล่าอย่างไรดี"
ผมก็เห็นว่า น่าจะแปลสิ่งที่คุณอี๊ดเขียนให้พวกเราเข้าใจ
จะได้ทราบว่า ที่จริงคุณอี๊ดปฏิบัติอย่างไร
และคุณอี๊ด ก็จะได้ทราบด้วยว่า สภาวะแต่ละอย่างที่รู้เห็นนั้น คืออะไร

คุณอี๊ดเขียนว่า
1)..เวลาตาสัมผัสรูป..สุขเวทนาเกิดขึ้น...ถ้าย้อนมาสังเกตที่ใจ
ก็จะมีแรงพุ่งเข้าไปยึด..หรือมีเวทนาตัวอื่นเกิด..ถ้าย้อนมาสังเกต
ใจจะเห็นแรงพุ่งเข้าไปยึด(จะเป็นความลักษณะ..ขุ่นๆ,หงุดหงิด,ฯลฯ..
คล้ายกับพลังงานในส่วนลึกที่คอยตอบสนองออกมาตลอดเวลา..


แปลว่า เมื่อตาเห็นรูปแล้วเกิดความรู้สึกสุข/ทุกข์/เป็นกลาง ทางตา
จากนั้นจึงสังเกตเห็นว่า มีความปรุงแต่งเกิดขึ้นในจิต
ก่อเป็นความขุ่นมัวเศร้าหมอง (กิเลส)
และกระตุ้นให้จิตเกิดความทะยานอยาก (ตัณหา) ส่งออกไปยึดอารมณ์
ทั้งนี้ กลไกที่เกิดต่อเนื่องตั้งแต่การกระทบอารมณ์ทางอายตนะทั้ง 5
(คือตา หู จมูก ลิ้น กาย)
กับกลไกการทำงานของจิต เกี่ยวโยงเป็นอย่างนี้ตลอดเวลา

2)..ถ้าอยู่เฉยๆ..จะสังเกตมีแรงที่พุ่งขึ้นมา..จากความรู้สึกส่วนลึก
แล้วสร้างความขุ่นๆ,หงุดหงิด..ขึ้นมาให้รับรู้รับทราบ......
ถ้าเพียรให้มากจิตยิ่งมีกำลังมากจะเห็นแรงพวกนี้ชัดมาก..วับ..วับ..วับ....
ถ้าสติปัญญารู้ทันในปัจจุบันธรรมที่ปรากฏต่อการพลิกตัวของจิต


แปลว่า แม้จะไม่เริ่มต้นด้วยการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย
ลำพังกลไกการทำงานของจิตอย่างเดียว ก็มีอยู่
คือจะเกิดความปรุงแต่งขึ้นมาจากภวังคจิตส่วนลึก
ตัวความปรุงแต่ง(สังขาร)นั้น เป็นความไหว
เป็นสิ่งแปลกปลอมขึ้นในความว่างของจิต
แล้วทำจิตให้เศร้าหมองขุ่นมัวลง
ความปรุงแต่งนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา
และเมื่อกระทบกับจิตผู้รู้ ซึ่งมีสติ สัมปชัญญะพร้อมอยู่
ปัญญาก็จะตัดความปรุงแต่งนั้นดับวับๆๆๆๆๆ ไปเรื่อยๆ
ไม่ปรุงแต่งก่อเป็นเรื่องราวหยาบๆ อย่างใดต่อไปอีก
เพราะจิตไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่า สิ่งนั้นคือความคิดนึกปรุงแต่งเรื่องอะไร
จึงเห็นแต่ว่า สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น แล้วสิ่งนั้นก็ดับไป
ถึงจุดหนึ่งจิตก็พลิกตัวออกจากสภาวะนี้

1)เวทนาส่วนแรกเจอกันทุกคนที่มีขันธ์..แม้จะทำอารมณ์ให้ละเอียด
(ทะลุรูปฌาน,อรูปฌาน)..ก็ยังเป็นธรรมอารมณ์ เป็นสัจจธรรมมีอยู่ประจำโลก
เป็นของตกในพระไตรลักษณ์(ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมฤาษีแม้ทำอารมณ์ให้ละเอียด
เท่าไรก็ตามแต่ไม่ย้อนมาอ่านใจตัวเองก็ละความอยากไม่ได้)


แปลว่า ความสุขความทุกข์อันเกิดจากผัสสะนั้น เป็นของประจำโลก
ตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ ไม่มีใครหนีพ้น

2)เวทนาส่วนสองเป็นเรื่องกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่พุ่งเข้าไปยึดโดยไม่รู้ตัว

แปลว่า แม้จะหนีไม่พ้นการกระทบกับอารมณ์ทางอายตนะต่างๆ
แต่ถ้าย้อนมาสังเกตจิตตนเองก็จะพบว่า
โลกก็เป็นโลกของมันอยู่เท่านั้นเอง
แต่จิตนี้แหละมีตัณหาคือความทะยานอยาก เข้าไปยึดถือสิ่งต่างๆ
แล้วก่อทุกข์ให้กับตนเองโดยไม่รู้ตัว

3)เวทนาส่วนแรกให้กำหนดรู้
เวทนาส่วนสองให้กำหนดละ


แปลว่า ทุกข์ให้รู้ สมุทัย(ตัณหา)ให้ละ

*****************************************

อ่านคำแปลแล้วคงเข้าใจคุณอี๊ดมากขึ้นนะครับ
นักปฏิบัติที่เอาจริงอย่างนี้หายากครับ
ไม่รู้ปริยัติสักหน่อย แต่สิ่งที่รู้เห็นมาจากการปฏิบัตินั้น
น่าอ่าน น่าฟังมากทีเดียว
แต่จะอ่านแล้วเข้าใจได้ตลอด
ก็ต่อเมื่อเคยรู้เคยเห็นสิ่งเหล่านี้มาแล้วเท่านั้น
ลำพังเรียนปริยัติมาอย่างเดียว
จะต้องปวดศีรษะ 8 ตลบ กับสิ่งที่คุณอี๊ดเขียนไว้เป็นแน่
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 8 มิถุนายน 2543 11:44:11

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ listener วัน พฤหัสบดี ที่ 8 มิถุนายน 2543 12:11:46
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 8 มิถุนายน 2543 12:52:41
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 29 โดยคุณ อี๊ด วัน พฤหัสบดี ที่ 8 มิถุนายน 2543 20:52:02
สาธุ...สาธุ...สาธุ...

กราบขอบพระคุณครับ

คุณอาอธิบายธรรมแจ่มแจ้งอัศจรรย์จริงๆครับ..
(เหมือนถอดหัวใจผมออกมาพูดเลย...ตรงภาษานี้แหละครับที่ผมอยากถามอยากใช้คำให้เป็น)
การเล่าอาการของจิตที่เกิดขึ้นให้ได้ดังใจนั้นเป็นเรื่องยากมาก..ยากจริงๆ...

คุณอาเขียนธรรมเปี่ยมด้วยความเมตตามีพรหมวิหาร...อ่านง่าย...เห็นภาพเลย..
(ผมว่ายากกว่าการปฎิบัติหลายเท่าตัวเลยทีเดียว)
เป็นความโชคดีของผมจริงๆ...ที่มาเจอคุณอา..เจอพี่ๆ..

ขอบพระคุณครับ
โดยคุณ อี๊ด วัน พฤหัสบดี ที่ 8 มิถุนายน 2543 20:52:02

ความเห็นที่ 30 โดยคุณ กระต่าย วัน ศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน 2543 00:17:44
สาธุ สาธุ สาธุ
โดยคุณ กระต่าย วัน ศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน 2543 00:17:44

ความเห็นที่ 31 โดยคุณ ศุภสิทธิ์ วัน อาทิตย์ ที่ 11 มิถุนายน 2543 20:09:35
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com