กลับสู่หน้าหลัก

บันเทิงธรรม ฉบับคั่นรายการ (ปรับปรุงใหม่)

โดยคุณ ไพ วัน เสาร์ ที่ 10 มิถุนายน 2543 22:05:07

      อุบาสิกาวัย 40 ปี ผู้สนทนาธรรมกับท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี
ตามธรรมสนทนาต่อไปนี้นั้น จบการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัย อยู่ในวิชาชีพ
ของการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ผู้ป่วยกาย แต่ยังได้พิจารณาเห็นว่า
การฝึกอบรม "ใจ" ให้สะอาดผ่องใสบริสุทธิ์มีค่าต่อชีวิต เป็นทางหลุดพ้น
จากทุกข์ได้อย่างเที่ยงแท้
      เธอจึงใช้ความรู้ในวิชาขีพบำบัดทุกข์ทางกายให้แก่ผู้อื่น และอบรม
ปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์เพื่อรักษาใจของตนเอง
.................................................................................................
(ตัดตอนมา และพยายามพิมพ์อย่างใจเย็น เรื่อยๆมาเรียงๆ ตามวัยที่ชราขึ้น)

พระอาจารย์    ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าพอมีความสงบแล้ว
                     ค่อยเกิดความรู้อย่างนั้นใช่ไหม

อุบาสิกา         ใช่เจ้าค่ะ ดิฉันกำจัดความฟุ้งของดิฉันด้วย
                     การผูกใจอยู่กับสิ่งหนึ่งโดยมากก็เป็นธรรมบทสั้นๆ
                     ที่ถูกใจที่ชอบ หรือบางครั้งเมื่อหัดใหม่ๆ
                    เบื้องต้นดิฉันท่องอาการ 32 โมโหว่าตัวเองง่วงนอน
                    นั่งแล้วมันซึมง่วงก็เลยลุกขึ้นเดิน ไม่เคยเดินจงกรม
                    ไม่ทราบว่าเขาเดินอย่างไรกัน เห็นพระเณรท่านเดินธรรมดา
                    วันนั้นบอกตัวเองว่าถ้าไม่หายง่วงจะไม่หยุดเดิน
                    เดินท่องอาการ 32 อยู่ตลอดเวลา จำไม่ได้ว่าท่องอยู่
                    เช่นนั้นนานเท่าไร ครั้งแรกทีเดียวชัดขึ้นมาเห็นกาย
                    เป็นธาตุ 4 ธาตุ 4จริงๆเลยทีเดียว เป็นสักแต่กายไม่ใช่
                    ของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันเป็นธาตุ 4 เหมือนกันหมด
                   ไม่มีอะไรผิดกันเลย อย่างจะผิดกันก็คือวิญญาณในสัตว์ทั้งหลาย
                    แต่สัตว์ทั้งหลายก็ไม่ผิดกัน เรา สุนัขนก ลิง ที่เห็นๆอยู่นี่
                   ไม่ผิดกันเลย มันเห็นเสมอกันหมด แล้วจากนั้นก็เห็น
                    ว่าผีมันไม่น่ากลัว มันก็เหมือนกับคน ต่างแต่ว่าสังขาร
                     เราหยาบสังขารเขาละเอียด เราก็เป็นเพื่อนกัน จากนั้น
                    ก็มีความรู้สึกว่าความกลัวผีลดน้อยลงมาก

พระอาจารย์    มันไม่น่าจะมีความรู้เลย ถ้าสงบอยู่เฉยๆ ก็แปลกเหมือน
                      กันนะ สงบแล้วมันก็รู้ขึ้นมาได้ ไม่น่าจะเชื่อเลย

อุบาสิกา         อันนี้ละค่ะท่านอาจารย์ ที่ดิฉันกราบเรียนว่ามหัศจรรย์
                     ก็ไม่สามารถจะบอกได้เหมือนกัน ดิฉันไม่เคยตั้งใจเลยว่า
                     จะถือศีล 8 แต่จากวันนั้นเป็นต้นมา ดิฉันก็นึกว่ากลับไป
                     กรุงเทพฯคราวนี้จะไม่กินข้าวเย็นอีก เพราะมาวัดก็จะมา
                    ถือศึล 8 กลับไปกลับมามันไม่ได้เรื่อง ต้องเอาข้างใด
                    ข้างหนึ่ง ถามตัวเองว่าแล้วจะเอาข้างไหน จะกิน 2 มื้อ
                    หรือจะกิน 3 มื้อ ถ้ากิน 3 มื้อก็มัวเมาอย่างเดิม
                    ถ้ากิน 2 มื้อมันก็ดีขึ้น เราเลือกข้างดีก็แล้วกัน
                    ดังนั้นก็บอกตัวเองว่าต่อไปนี้เจ้าไม่มีข้าวเย็นอีก
                    ร่างกายเป็นก้อนธาตุ ไม่ทราบจะบำรุงบำเรอไปทำไมไม่ได้ประ
                    โยชน์ รับประทานพอดีๆเพื่อใช้ไปวันหนึ่งๆเท่านั้น
                    ทั้งที่ก่อนจะออกจากบ้านไม่เคยคิดว่าตัวเองจะงดข้าวเย็นได้ค่ะ

พระอาจารย์    ดีแล้วที่พูดเรื่องปฏิบัติให้เข้าถึงจนจิตใจเห็นชัดเป็นสักแต่
                     ว่าธาตุ ดีแล้วละถ้าตกลงถึงธาตุมันก็ไม่มีอะไร สัตว์ บุคคล
                      ตัวตน เราเขามันเป็นธาตุทั้งหมด ละอัสมิมานะไปได้ นั้น
                     เป็นพื้นฐานที่จะก้าวไปสู่ปัญญาอันยิ่งไปกว่านั้นอีก
                    ถ้าหากลบเขา-เราหมดเสียได้แล้ว เหลือแต่สมมติบัญญัติคือ
                    ธาตุมันสักแต่ว่าธาตุ มันก็สบายปลอดโปร่งไม่มีเครื่องข้องขัด
                    ทีนี้อยากจะทราบว่าถ้าเราดำเนินอย่างนี้ตลอดเวลาแล้วมันจะมี
                    ความรู้อะไรเกิดขึ้นมาอีกบ้าง เป็นของแปลกอัศจรรย์กว่า
                    นั้นหรือเพียงแต่เห็นสักแต่ว่าธาตุเท่านั้น อยากจะทราบตรงนั้น

อุบาสิกา         มีค่ะ คือครั้งหลังๆต่อมา ขณะเดินจงกรมอยู่มันก็สว่างแจ้งขึ้นมา
                     ทั้งรู้ทั้งเห็นในเวลาเดียวกัน เห็นรูป นาม สัญญา สังขาร
                    เกิดดับๆติดต่อกันจนเรียกว่าทุกวินาทีเจ้าค่ะ แล้วก็เห็นจิตของเรา
                     ไป เกิด-ดับ เกิด-ดับ พร้อมๆกับเขา ติดไปกับเขาด้วย
                    ตลอดเวลา คลุกเคล้าอยู่กับเขาเป็นเนื้อเดียวกันตลอดเลย โอ!
                    อย่างนี้เองที่พระ พุทธเจ้าท่านว่าทุกข์มันไม่เหมือนทุกข์ประจำวัน
                    ที่เราเห็น มันเป็นอีกทุกข์หนึ่งต่างกัน ทุกข์นี้น่ากลัวมากทีเดียว
                     มันเป็นทุกข์เย็น น่ากลัวเพราะมันทำให้เราเหน็ดเหนื่อยมาก
                    แบกอยู่ตลอดเวลา เกิด-ดับ ตลอดเวลา จะไม่เหนื่อยอย่างไร
                    ไหว แต่เราไม่รู้สึกกัน ทุกข์อันนี้ซิน่ากลัว ยิ่งกว่าทุกข์ประจำวัน
                     ที่เราว่าทุกข์มันคนละรูป อันนี้มันน่ากลัวที่สุดไม่มีอะไรเทียบเท่า
                           เห็นแล้วเลยถามตัวเองในเวลานั้นว่าแล้วจะทำอย่างไรกัน
                     ก็รู้ขึ้นมาตอบขึ้น มาว่าก็ดึงแยกตัวเราออกซิ "แต่นี้ต่อไป
                    ฉันไม่ไปกับเจ้าอีกแล้วนะ ฉันไปกับเจ้า มาไม่รู้เท่าไรๆแล้ว
                    อย่างน้อยๆก็เท่ากับอายุที่เกิดมานี่แหละ 40 ปีนี่ละพอแล้ว
                    เรามาแยกทางกันเดินแล้วนะ ฉันไม่ไปกับเจ้าแล้ว ไม่ไหว
                    เกิด-ดับๆ กันอยู่อย่างนี้ เกาะกันอยู่ กระโดดกันอยู่ตลอด 5 อันนี้
                    ฉันไม่เอาแล้ว เลิกกันที ฉันอยากอยู่ของฉันสบายๆ
                     เธอก็เกิด-ดับของเธอไปเถิด"
                           ระหว่างนั้นก็ไปมองเห็นจิตเคลื่อนไปหาเขาอีกทั้งๆที่รู้อยู่
                    แล้ว กลัวอยู่แล้วจิตยังวิ่งออกจะไปจับเขาอีก นี่มันเรื่องอะไรกัน
                    ไม่ไหว ถามตัวเองขึ้นมาว่าแล้วจะทำอย่างไรกันนี่ มันก็ตอบขึ้นมา
                    ในนั้นว่า สติอย่างเดียวเท่านั้นที่จะแยกออกจากการเกิดดับของ
                     ขันธ์ทั้งห้า ต่อไปนี้งานสิ่งเดียวเท่านั้นที่สำคัญในชีวิตนี้คือ
                    การหัดสติให้มันติดต่อกัน เรื่องอื่นในชีวิตทั้งหลายเป็นเรื่องเล็ก
                    เป็นเรื่องที่ไร้สาระทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แต่ที่ต้องทำมีเรื่องเดียว
                    คือรักษาสติให้ติดต่อกัน เวลานั้นก็มี ความรู้เห็นชัดขึ้นมาว่า
                    โอ้โฮ! โลกทั้งโลกนี้ เบญจขันธ์อันนี้อันเดียว มันเป็นทั้ง
                    โลกจริงๆ เคยอ่านหนังสือแต่ก่อนมาไม่เข้าใจว่าโลกคือกาย
                    ที่ยาววาหนาคืบอันนี้ อ้อ! โลกุตตระเป็นอย่างนี้เอง คือมันต้องแยกกัน
                     แยกกันแล้วเขาไปของเขา เราไปของเรา มันก็อันนี้เอง โลกุตตระ

พระอาจารย์    อันนี้ก็เนื่องจากเบื้องต้นเราเห็นกายนี้เป็นธาตุว่าไม่ใช่เรา
                     ไม่ใช่ตัวตนเราเขา เป็นสักแต่ว่าธาตุ แยกจิตออกจากขันธ์คือ
                    ไม่เข้าไปยึดเป็นขันธ์ เมื่อไม่เข้าไปยึดเป็นขันธ์มันก็เห็นสภาพสิ่ง
                     ที่เรายึดกับไม่ยึด ครั้นเข้าไปยึดทีไรก็เป็นเรื่องยุ่งตุงนัง
                    ไปหมด เรื่องยุ่งตุงนังเป็นกองทุกข์ เราก็เข้าใจ
                    อันนั้นเป็นกองทุกข์ เราก็เห็นโทษเห็นภัยในเรื่องนั้น
                    เมื่อเราแยกออกเข่นนั้น สติที่เราควบคุมดูแลอยู่ตลอดเวลาคุม
                    จิตไม่ให้เผลอ เผลอมันแพล็บเข้าไปคอยแต่ไปยึดเพราะขันธ์
                    เป็นอุปาทาน ที่เรียกว่าขันธโลก เป็นอุปาทานยึดมานานแสนนาน
                    ทุกข์ทั้งหลายเกิดจากอุปาทานพอเราแยกไปมันก็สบายแจ่มจ้า
                    อย่างที่เป็นอยู่นั้น
                                เมื่อเราเข้าใจหน้าที่อย่างยิ่งของเรา คือว่าเรื่องสติควบคุม
                    สิ่งที่กระทบมันมีอยู่ตลอดเวลา เพราะกายกับจิตมันอยู่ด้วยกัน
                    เมื่อเรายังต้องอาศัยขันธ์อันนี้อยู่จำเป็นจะต้องมีเรื่องกระทบ
                    กระเทือนอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่มองเห็นขันธ์เป็นโทษ เรา
                    ก็ต้องมองอยู่อย่างนี้ เมื่อเราหนีจากขันธ์คือปล่อยวางได้
                    ก็เรียกว่าเราอยู่เหนือขันธ์ ถ้าจะพูดสมมติว่าเหนือโลกก็เหนือโลก
                    คำว่าโลกุตตระแปลว่าเหนือขันธ์นั่นเอง มันไม่ใช่อยู่ในขันธ์
                    เลยเรียกว่าโลกุตตรธรรม ธรรมอันนั้นไม่ใช่ของเราอีก ถ้า
                    หากใครไปยึดโลกุตตรธรรมเป็นของเราก็อีกละก็เท่ากับจะกลับ
                   ไปยึดอีกละ ถ้าหากคนไหนสำคัญว่าเราได้โลกุตตรธรรม
                    เราถึงโลกุตตรธรรม อันนั้นก็แปลว่ามันเสื่อมแล้วถ้ามันไม่เสื่อม
                    มันกำลังพิจารณามันก็ไม่ได้นึกคิดอะไร มันแยกกัน
                    อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราถือตัวว่าเราสูงแล้ว เราได้โลกุตตรธรรมแล้ว
                    เราถึงโลกุตตรธรรมแล้ว อันนี้พึงรู้ตัวและเข้าใจว่าตนเสื่อมจาก
                    โลกุตตรธรรมแล้ว

อุบาสิกา         ตอนนั้นไม่ได้นึกว่าเราถึงโลกุตตระ เพียงนึกว่าอ้อ !
                     อย่างนี้เองคำว่าโลกุตตระ อ้อ! อย่างนี้เอง วันต่อมาดิฉันมองหน้าคน
                     มองรูปร่างคน ไม่เห็นเป็นคน แต่เห็น ลักษณะเกิด-ดับของขันธ์ 5
                     และมองเห็นจิตของคนนั้นเป็นลักษณะเกิด-ดับๆ
                    ตามขันธ์ 5 อยู่ 2 วัน เขามาพูดอะไรด้วยดิฉันก็ตอบไป ในระหว่าง
                     ตอบก็ไม่เห็นหน้าเขา มันเห็นแต่ลักษณะอย่างนี้ จนกระทั่งเขาไปแล้ว
                      มาคิดว่า เอ! เมื่อกี้นี้เราพูดอะไรไปเขารู้เรื่องหรือเปล่านี่
                     แล้วเราก็ไม่รู้เรื่องว่าเราพูดอะไร ดิฉันต้องถามคนที่ไปด้วยกันที่นั่ง
                    อยู่ข้างๆว่า " เมื่อกี้นี้ฉันพูดอะไรนะ" เขาก็ตอบว่าเขามา
                    ถามเรื่องนั้น ที่ตอบไปก็ดีไม่เห็นมีอะไร ดิฉันไม่ทราบว่า
                    ดิฉันตอบอะไรออกไปแล้วเรื่องเขาถามมันก็หายไปเลย
                    ใจเห็นแต่ภาพเกิดดับๆ ของขันธ์ 5 มีความกลัว
                    ทุกข์และเบื่อหน่ายอยู่หลายวันตอนนั้น

พระอาจารย์    นั่นละ จึงว่ากำลังใจ เมื่อมันมีกำลังเพียงพออยู่ตราบใด
                     สติกับปัญญามันก็สมบูรณ์พร้อมเพรียงอยู่ตลอดเวลา
                      มันไม่ต้องการเพื่อจะชำระ มันไม่ต้องการเพื่อจะ
                    กำจัดแต่มันชำระมันกำจัดอยู่ในตัว เรื่องนั้นหายาก
                    เรื่องนั้นไม่ใช่ของหาได้ง่ายๆถ้าหากว่าเราตกลงว่าจะควบคุม
                   ไว้ให้อยู่อย่างนี้ร่ำไปแล้ว ตอนนี้เรียกว่ามันเสื่อม
                    แล้ว มันเสื่อมจากฐานะอันนั้นแล้ว ขอให้ระวัง

อุบาสิกา         จากนั้นมา เมื่อมีเวลาได้ปฏิบัติมักจะมีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้น
                     ดิฉันก็ได้ความรู้จาก อันนี้ แล้วก็นำมาเป็นเครื่องอยู่ต่อๆ
                     ไปเป็นพื้นประจำอยู่เรื่อยค่ะ ครั้นหลังจากวันนั้นมา ดิฉันทำ
                     ความเพียรง่ายขึ้น ไม่ต้องอะไร สวดมนต์จบแล้ว เราจะทำความ
                    เพียร เดินจงกรม พอเราเดินสัก 2 เที่ยว จิตมันก็นิ่งของมันเอง
                     แล้วมันก็เห็นภาพที่เราเคยเห็นนั้นตื่นอยู่ตลอดเวลา
                    มีอันเดียวคือต้องรักษาสติให้ติดต่อกันไปโดย ใช้พุทโธ ธัมโม สังโฆ
                    เป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวเดียวมันก็แวบออกไป เมื่อแวบ
                    ไปก็มีความรู้สึกว่าสติอ่อนลงมันมัวลง ถ้าจะเปรียบเทียบก็
                    เหมือนหมอกบางๆมาคลุม แล้วเวลานั้นพยายามฝืนให้ใจแจ่มแจ้ง
                    ให้มันใสขึ้น ขณะฝืนก็รู้ขึ้นมาชัดว่านี่ล่ะลักษณะโมหะคลุมจิตมัน
                    เป็นอย่างนี้ มันอ่อนกำลังลง มันมัวลง ลักษณะเหมือนคนเดินอยู่
                    ในหมอกลืมตาก็เหมือนไม่มีตา เห็นชัดว่ามีตาเสียเปล่าไม่มีตา
                    หรอก เวลาโมหะคลุมมันบอดไปหมด ไม่ทราบจะเรียนท่าน
                    อาจารย์อย่างไรดี

พระอาจารย์    เวลามันมีสติมันก็ลืม เนื่องจากที่ว่าแต่ต้นนั้นเอง
                     สติสมบูรณ์อยู่ตราบใด ยืนนอนนั่งเดินในอิริยาบถใดๆ
                     ไม่ต้องนึกพุทโธ ไม่ต้องปรารภอะไร แต่ว่าเห็นชัดอยู่
                    ตลอดเวลา อนึ่ง ถ้าหากว่าเราพิจารณาเห็นอย่างนั้นแล้ว
                    เราไม่ต้องนึกพุทโธอีกเราไม่ต้องบริกรรมอีก ตอนนี้ไม่ใช่
                    หน้าที่จะต้องบริกรรม ตอนนี้มันเป็นเรื่องปัญญา
                    ตอนบริกรรมนั้นคือตอนคุมจิตให้มีสมถะ เมื่อสมถะมันมี
                    พลังเต็มที่แล้ว มันจึงค่อยมีปัญญาวิปัสสนาคือเห็นความเกิดดับ
                    แต่คนไม่เข้าใจ วกไปเอาพุทโธอีก แทนที่จะเดินวิปัสสนาไปเลย
                    กลับวกไปเดินสมถะอีก อย่างนั้นไม่ถูก ถ้ามัน
                    เดินสมถะเต็มที่แล้ว มันจะเดินปัญญาอย่างนี้ ถ้าหากเมื่อ
                    เราพิจารณาไม่ชัดเจนดังว่ามาแล้วนั้นจึงย้อนมาภาวนาพุทโธ
                     ฝึกอบรมสมถะให้มันเกิดพลังเต็มที่ใหม่
                    อย่าได้หลงไปตามสัญญา สังขาร มันจะเตลิดเปิดเปิงออก
                    นอกลู่นอกทาง จะเสียคนเสียธรรมไม่รู้ตัว ในเมื่อเราพิจารณาเช่นนั้น
                    อยู่น่ะ จิตมันจะสว่างขึ้นมาเองดอก ที่มันเป็นคลุมๆเครือๆนั้น
                    หมายความว่าเราชักจะลืมหลักอยู่แล้วโมหะมันจะ
                    เข้ามา ลืมหลักคือพิจารณาไปหน้าเดียว เราไม่ย้อนกลับมาหา
                    หลักเดิมคือความสงบ คือพิจารณาไปมันเลือนๆสติมันอ่อนลง
                    คือเราลืมหลักข้อสำคัญตรงนี้แหละ
                    คนที่ภาวนาดีๆ แล้วเสื่อมคือลืมหลักตรงนี้เอง จับหลักอันนี้ไม่ได้
                    พิจารณาไม่ชัดเจน เลยพิจารณาเตลิดเปิดเปิงไป
                    นานๆหนักเข้ามันก็เลอะเลือนไป

อุบาสิกา        แต่มีบางครั้งค่ะ ท่านอาจารย์ ที่ดิฉันพยายามฝืน หรือเรียกว่า
                    ต่อสู้กันอย่างดันกันหรือชักคะเย่อกันทีเดียวท่านอาจารย์
                   พยายามจ้องเพ่งดูเฉพาะแต่ในเรื่องนั้น
                   ในที่สุดมองเห็นความมัวนั้นมันค่อยจางลงๆแล้วก็แจ่มใสขึ้นอย่างเดิม
                   แล้วเบาเย็นสบาย เกิดความรู้ขึ้นมาว่า นี่แหละ พุทโธ คือผู้ตื่น
                   ชาคริยานุโยค ผู้ตื่นเป็นอย่างนี้
                   อ้อ! แต่ก่อนเราอ่านหนังสือ คำนี้เราเข้าใจว่าตื่น ไม่ง่วง
                   ที่แท้ไม่ใช่ มันอีกอย่างหนึ่ง ความหมายเฉพาะตัวของเขาเองต่างหาก

พระอาจารย์   คือว่าในเวลาเราตั้งใจพิจารณา บทที่มันมัวๆอยู่นั้น
                     เรากำหนดอันนั้นเป็นหลัก เรียกว่ากลับฟื้นเข้ามาหาหลักเดิม
                    คือความสงบอีก คือเราจับจุดเดียวเข้ามาหาความ
                   สงบ โดยที่เราไม่ตั้งใจให้มันเข้ามาหาความสงบ
                   อันนี้เป็นหลักสำคัญ หลักอันนี้เป็นเส้นตายของนักปฏิบัติ
                   จึงควรฝึกหัดให้ชำนาญ ถ้าไม่ชำนาญแล้วเสร็จทุกราย
                   เลย นี่เป็นเองโดยไม่ได้ตั้งใจ นับว่าโชคดีแล้ว

อุบาสิกา        ดิฉันว่าทิ้งเลยจะง่ายกว่าค่ะ แหม! สู้กับความมัวหรือ
                    ความง่วงนี่เหมือนกับสู้จนหมดชีวิตเลย ถ้าหากว่าต่อสู้กัน
                    อย่างดันกันหรือชักคะเย่อกันก็เรียกว่าหมดแรง
                   มันเป็นแรงอันสุดท้ายที่มีอยู่จริงๆกว่าเขาจะค่อยๆถอนออกไปให้

พระอาจารย์   อะไรๆมันก็ทำหมดแล้ว มันเบื่อมันงางเองเรื่องชักคะเย่อนี้
                    ชักคะเย่อกันเสียหมด แรงสุดขีดแล้ว มันก็เหนื่อยแล้ววางเอง
                     อย่างไม่รู้ตัว อันนี้ถ้าหากเข้าใจอย่างที่ได้
                   อธิบายในเบื้องต้นว่า พอมันมัวๆแล้วทิ้งเสีย
                  ให้ย้อนกลับเข้ามาหาตัวทำความสงบ
                   ใหม่ ถ้าได้อย่างนี้แล้วก็ชำนาญ

อุบาสิกา        เจ้าค่ะ ในขณะปฏิบัติคิดแต่ว่าไอ้มัวๆนี้ต้องต่อสู้
                    มันมีกำลังใจที่อยากเอาชนะ เมื่อชนะแล้วภูมิใจ รู้สึกว่าเออ!
                    ทีนี้มันมาอีกก็ไม่กลัวแล้วนะ รู้สึกว่าตัวเองสู้ได้
                   แต่ว่าไม่จริงเลยค่ะ มาคราวหลังๆก็แพ้เขาอีก
                   นานๆจะสู้ได้สักทีหนึ่ง ส่วนมากแพ้เขา บางครั้งเดินพิจารณา
                   ดูตัวเรา ดูอาการ 32 เพราะดิฉันชอบอาการ 32
                   อยู่ๆก็เห็นว่าตัวเรานี่อีกไม่เท่าไรมันก็ไร้ค่า
                   มันเหมือนเศษอาหารที่เขาจะต้องเอาไปทิ้งในกองขยะ
                   หนอนขึ้นหนอนไชกิน มันไม่มีค่าเลย ทำไมเราต้องมาหลง
                   ประคบประหงมมันหนอ ป้อนอาหารอย่างดี เนื้อตัวก็ต้องใส่
                   เสื้อผ้าอย่างดี อย่างนั้นอย่างนี้แม้กระทั่งไอ้เท้าที่มันเดินสีอยู่กับดิน
                   เราก็ต้องไปหาหนังชนิดอย่างดีมาหุ้มแบบนั้นแบบนี้
                  พอเขาตัดให้ไม่ถูกใจหน่อยก็โกรธเป็นวรรคเป็นเวรแล้วไม่สบาย
                   ใจอยู่ตั้งหลายวันด้วยซ้ำ โอย! เรานี้มันบ้า เลยหัวเราะตัวเองอยู่
                   ตลอดเวลา แล้วยังอดละอายครูบาอาจารย์ทั้งหลายไม่ได้
                   คิดว่าท่านคงหัวเราะเราแย่ ท่านคงสงสาร
                   ความหลงของเรานะ ท่านคงเวทนาเราเหลือเกิน

พระอาจารย์   มันก็เป็นจริงอย่างนั้น ตัวของเราเหมือนเศษขยะของทิ้งจริงๆจังๆ
                    ถ้าเราพูดถึง เรื่องว่าธาตุของบิดามารดาเป็นธาตุที่สกปรก
                    อาตมาเคยอธิบายอยู่เสมอว่า ถึงเราเป็นตัวเป็นตนนี้ก็ของสกปรกทั้งหมด
                    อยู่ด้วยของสกปรก บริโภคก็ของสกปรกทั้ง
                   นั้น ทุกสิ่งทุกส่วนไม่ใช่ของดิบของดี นอกจากนั้นอีก
                   พูดถึงเรื่องไม่ดี พูดถึงเรื่อง กองทุกข์ ทุกชิ้นทุกส่วนในอัตภาพร่างกาย
                   ของตน มีทุกข์อยู่ประจำ มันไม่น่ายินดี
                   และพอใจเสียเลย เรามาหลงกอดเอาเรื่องของความสกปรก
                   และกองทุกข์นี้มาเป็นของดิบของดี เราหาเสื้อผ้าของดีๆมานุ่งห่ม
                   นั้นก็คือของเราสกปรกแล้วจึงหาของดี
                   มาหุ้มห่อปกปิดไว้ อาหารที่เราหาบริโภคนั้นก็เพื่อเอามา
                   บำบัดทุกข์ เพื่อประทังยังชีวิตให้อยู่รอดเท่านั้น แต่ผู้หลงมัวเมา
                   ทั้งหลายเลยสำคัญตัวว่าเราเป็นคนสวย
                   งาม ได้หน้า ได้เกียรติ มีความสุข คนอื่นสู้ไม่ได้

                             ( มีต่อ )
โดยคุณ ไพ วัน เสาร์ ที่ 10 มิถุนายน 2543 22:05:07

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ไพ วัน เสาร์ ที่ 10 มิถุนายน 2543 22:07:01
อุบาสิกา         ดิฉันนึกถึงบทสวดมนต์แปลที่ว่ามีหนังหุ้มอยู่
                    เป็นที่สุดรอบเป็นเช่นนั้นจริงๆ มันเหมือนกระดาษ
                    ที่ห่อหุ้มของขวัญให้ดูสวย หุ้มเอาไว้ไม่ให้เห็นของ
                    ที่น่าเกลียด

พระอาจารย์    การพิจารณาอย่างนี้มันเป็นเรื่องปล่อยวางคือ
                    มันไม่เข้าไปยึดไปถือถึงเรื่องอุปาทานขันธ์
                    จิตใจปลอดโปร่ง จิตใจก็เบา มันไม่หนัก
                    อันนี้เป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่ของผู้รู้ทั้งหลาย
                    ถ้าผู้ใดมาพิจารณาอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้แล้ว
                    ก็ได้ชื่อว่าทำทุกข์ให้บรรเทาเบาบางลง
                    โดยลำดับ ถึงหากจะยังไม่พ้นจากทุกข์ก็ตาม
                                 อยากทราบว่าเท่าที่ดำเนินมาเป็นลำดับ
                    จนเกิดความมั่นใจและเชื่อแน่วแน่ในปฏิปทานี้ว่า
                    เป็นไปเพื่อความเจริญก้าวหน้าหรือเป็นไปเพื่อความ
                    พ้นทุกข์ได้จริงนั้น เมื่อปฏิบัติมาถึงตอนนี้แล้ว
                    หลักใหญ่ๆที่ดำเนินอยู่โดยมากยึดเอาอะไรเป็น
                    เครื่องดำเนิน

อุบาสิกา         เท่าที่ดิฉันตรึกตรองอยู่ ดิฉันเข้าใจว่าในการปฏิบัติ
                    อาศัยหลักพิจารณาเริ่มต้น บางครั้งก็พิจารณากายเจ้าค่ะ
                    บางครั้งก็พิจารณาจิต บางครั้งก็อาศัยธรรม แต่บางคราว
                    ที่เกิดไม่สบายใจมีความร้อนใจ ดิฉันก็พิจารณา
                    อารมณ์คือเวทนาเป็นครั้งคราว แต่สรุปแล้วก็ไม่พ้น
                   ไปจากสติปัฏฐาน 4นี้ค่ะ ท่านอาจารย์

พระอาจารย์    ถูกแล้ว ชอบแล้ว ขอให้ยึดเอาแนวนั้นดำเนินอยู่
                    ให้ชำนาญเถิด

อุบาสิกา         เจ้าค่ะ บางครั้งจากการที่มันรู้แจ้งขึ้นมาเอง
                    ถามตัวเองต่อไปว่าจะทำอย่างไรล่ะ จึงจะสงบมั่นคง
                    ติดต่อ บางครั้งก็แจ้งขึ้นมาว่า ต้องให้อยู่ในกาย เวทนา
                    จิต ธรรมมันแจ้งขึ้นมาเองค่ะ ก่อนหน้านี้ดิฉันก็อาศัย
                    หลักนี้โดยที่ไม่รู้ตัวเจ้าค่ะ

พระอาจารย์    คือเรื่องสติปัฏฐาน 4 นั้น ที่ตั้งไว้ตามบัญญัติขึ้นต้น
                    ก็คือว่า กาย เวทนาจิต ธรรม แท้ที่จริงมันไม่จำเป็น
                    ต้องไปขึ้นกายก่อนหรอก บัญญัติทั้งหมดที่ท่านแสดง
                   ไว้นั่นเป็นลำดับ 1-2-3-4 ถ้าหากว่าปฏิบัติจะต้องดำเนิน
                    อย่างนั้นทุกคนจึงจะสำเร็จ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว
                    การปฏิบัติให้ถึงมรรคผลนิพพานเป็นของง่ายนิดเดียว
                    แต่นี่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ท่านบัญญัติ 4 อย่างคือ
                    ยกอะไรขึ้นก่อนก็ได้ 1-2-3 ครบ 4 ก็ใช้ได้ทั้งนั้น
                    ฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติจะเห็นชัดในสติปัฏฐานทั้งสี่
                   ไม่จำเป็นต้องเห็นกายก่อน คือปรารภอะไรขึ้นก่อนก็ได้
                   เวทนา หรือจิต หรือธรรม ก็แล้วแต่ ถ้ามันชัดมันก็เนื่อง
                    ถึงกั่นทั้งหมด มันอยู่อันเดียวกันนั้น

อุบาสิกา         ขอกราบเรียนท่านอาจารย์ว่า ดิฉันระลึกได้ว่าก่อนที่จะ
                    ชัดแจ้งขึ้นมานี้ มีอยู่คราวหนึ่งเกิดความไม่พอใจโมโห
                    เจ้าค่ะ ก็เลยปลีกตัวไปจากคนที่เราโมโห ไปเดินจงกรม
                    อยู่คนเดียวดับโมโห ทำอย่างไรมันก็ไม่ดับ ก็นึกขึ้นได้
                    ว่าทุกสิ่งที่มันเกิดขึ้นแล้วมันตั้งอยู่ แล้วมันดับไป ตั้งอยู่
                    ตลอดไปไม่ได้ ไอ้โมโหของเรานี้มันก็ต้องตั้งอยู่ไม่ได้
                    ตลอดไป ดูซิว่าเมื่อไรมันจะหาย ดิฉันก็เดินกลับไปกลับ
                    มา ท่องอยู่แต่ว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆ ประเดี๋ยวเดียวก็
                    รู้สึกมันดับไป เย็นสบาย เบา ทุกอย่างมันผิดไป มีความ
                    อิ่ม ปิติ เบิกบาน แจ่มใส อันนี้เป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้รู้จัก
                    ว่า อ้อ! อนิจจัง ไม่เที่ยง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันคงอยู่
                    ไม่ได้จริงๆ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ ตอนนั้นดิฉันยังไม่รู้จัก
                    พิจารณากายค่ะ

พระอาจารย์    ทราบไหม ขณะนั้นฐานที่ตั้งของใจในเวลาพิจารณานั้น
                    ได้ตั้งอย่างไรบ้าง มันจึงชัดเจน หรือว่าพิจารณาไปเรื่อย
                    เปื่อยอย่างนั้น

อุบาสิกา         ก่อนที่จะพิจารณา โดยมากดิฉันตั้งใจไว้ก่อนแน่วแน่ว่า
                    วันนี้จะพิจารณาเรื่องกาย โดยมากเมื่อพิจารณาเรื่องกาย
                    ดิฉันมักจะตั้งต้นด้วยอาการ 32 เจ้าค่ะ ก็ว่าไป พอจบแล้ว
                    ก็ขึ้นใหม่ โดยที่ไม่นับว่ามันจะกี่ครั้งหรือกี่รอบ สาเหตุโดย
                    มากมักจะโมโหตัวเองว่า ทำไมมันง่วง ทำไมมันเรื่อยเฉื่อย
                    ฟุ้งซ่านอย่างนี้ โมโหเลยบอกว่า เอาละ จะเดินอยู่อย่างนี้
                    จะท่องอยู่อย่างนี้ ถ้าแกไม่สงบ ฉันไม่ยอมให้นั่ง ตายเป็น
                    ตาย แบบนี้เจ้าค่ะ แล้วก็เดินไป ไม่ได้ตั้งใจอะไรเลย
                    มันอยากลงโทษตัวเอง แล้วก็ท่องอยู่อย่างนั้นเจ้าค่ะ แล้วก็
                    อยู่ๆมันก็แจ้งชัดขึ้นมา ดิฉันก็ไม่ทราบเพราะเหตุใด

พระอาจารย์    อันนี้ก็หมายความว่าเมื่อเราตั้งใจอธิษฐานในใจของเรา
                    ถ้าไม่สงบฉันก็จะไม่ท้อถอยละ ฉันจะยอมตายในที่นี้
                    เรียกว่าอธิษฐานจิต มันก็หมายความถึงเอกัคคตารมย์
                    นั่นเอง ใจมันแน่งลงอันเดียวปักมั่นลง เพราะว่าเรายอม
                    ละทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าหากไม่สงบเรายอมตายจริง อุบายใน
                    การยอมตายนี่ละมันดีจัง มันสละเสียทุกอย่างถ้าหากลงถึง
                   ตายแล้ว คนไหนถ้าภาวนาไม่เป็นก็แย่ที่สุด ความตายเป็น
                    ของสำคัญที่สุด อานาปานสติก็อยู่ในความตาย เราพิจารณา
                    ลมหายใจเข้าออก ถ้ามันไม่ออกไม่เข้ามันก็ต้องตาย
                    มันก็อยู่ในมรณานุสติเหมือนกัน ต่อนั้นล่ะ เมื่อพิจารณา
                    อย่างนั้นอยู่ มันมีความรู้อะไรแปลกประหลาดขึ้นมาอีกไหม
                    ตอนนั้น

อุบาสิกา         มีบางครั้งบางคราวมันไม่ได้ชัดขึ้นมาในเรื่องที่เราท่องอยู่
                    หรอกค่ะ ท่านอาจารย์ มันชัดขึ้นมาในเรื่องอื่น มันชัดมันแจ้ง
                    ขึ้นมาทั้งรู้ทั้งเห็น ดิฉันไม่สามารถจะอธิบายเรียนให้ท่าน
                    อาจารย์ทราบได้ในความรู้ความเห็นอันนั้นได้ แต่มันทั้งรู้
                    ทั้งเห็น ทั้งเชื่อแน่นอนหมดสงสัยเจ้าค่ะ

พระอาจารย์    คำว่าความร้ความเห็นในขณะนั้นมันยากที่เราจะอธิบาย
                    ให้คนอื่นฟังนอกจากผู้รู้ด้วย่กัน ผู้รู้ด้วยกันเมื่อพูดตรงนั้น
                    รู้กันได้ทันที เพราะรู้เห็นอย่างไรในลักษณะอาการอย่างนั้น
                    รู้เห็นอย่างไร มีรสชาติอย่างไร รู้เฉพาะในพวกนักปฏิบัติด้วย
                    กันในที่นั้น ที่ว่ารู้ได้ชัดแจ่มแจ้งใสสะอาด จิตใจเบิกบาน
                    มันมีปิติ ปัสสัทธิพร้อมหมด สมบูรณ์บริบูรณ์ในที่นี้ ทุกอย่าง
                    มันเป็นอันเดียวกันหมด เช่นมองเห็นเป็นธาตุอย่างนี้ มันก็
                    เป็นธาตุทั้งนั้น ถ้าเห็นเป็นไตรลักษณ์ก็เป็นไตรลักษณ์ไปหมด
                    มันเลยไม่มีเรื่องสงสัยลังเลในขณะนั้น แต่ว่านี้เป็นคำพูดที่เรา
                    พูด แต่เวลาเราไปเห็นเฉพาะตนเองในตรงนั้น เรียกว่าปัจจัตตัง
                    เห็นเฉพาะตนเอง แต่มันไม่ทราบจะพรรณนาอย่างไรจึงจะให้
                    คนอื่นทราบด้วยได้

อุบาสิกา         ใช่เจ้าค่ะ คือมันรอบโลกเจ้าค่ะ มันเป็นอย่างนี้ทุกอย่าง
                    ในโลกนี้แล้วโดยมากดิฉันมาพิจารณาดูแทบทุกครั้ง
                    ที่ได้ความรู้แจ้งขึ้นมานี้ มันไม่พ้นหลักไตรลักษณ์ไปเลย

พระอาจารย์    เรียกว่าปัญญาวิปัสสนาที่เราพิจารณา ไม่ว่าพิจารณาอะไร
                    ก็ตามเถิด ไม่หนีจากไตรลักษณ์ นอกจากนั้นอีก ท่านยัง
                    แสดงเรื่องมรรคเรื่องผลของภูมิของปริยัติ ตั้งแต่เสขบุคคล
                    จนถึงอเสขบุคคลเดินไตรลักษณ์ทั้งนั้น ไม่หนีจากไตรลักษณ์
                    ทำไมถึงเดินทางเดียวกัน ทำไมถึงต่ำสูงต่างกัน มันเข้ากับ
                    หลักโบราณท่านว่า คน 3 หมู่กินน้ำบ่อเดียว เดินทางเดียว
                    กัน แต่ไม่เหยียบรอยกัน นี่คนโบราณท่านว่าไว้คือ ว่าเดิน
                    ไตรลักษณ์ก็เหมือนกัน จะหยาบละเอียดชัดเจนแจ่มแจ้ง
                    ผิดกัน เพราะภูมิปัญญาถึงจะเดินทางเดียวกัน แต่ไม่เหยียบ
                    รอยกัน มันน่าคิดเหมือนกันนะ

อุบาสิกา         เจ้าค่ะ เพราะว่าบางทีจากระยะเวลาต่างๆกัน ต่างคราวต่าง
                    วาระกัน ดิฉันก็ตั้งต้นจากคนละเรื่อง ดิฉันนี้เป็นคนอย่างไร
                    ก็ไม่ทราบค่ะ เวลาพิจารณาอะไรไปครั้งหนึ่ง ในระยะเวลานั้น
                    แล้วก็หยุดเว้นไป ไม่ได้ทำความเพียรต่อ พอมาถึงคราวหน้า
                    โอกาสมาทำความเพียรต่อใหม่ในเรื่องนั้นมันไม่เอาเสียอีกแล้ว
                    มันจืดไปเสียแล้ว

พระอาจารย์    เรื่องนั้นเป็นกันโดยมาก ที่ว่ามันจืดนั้นคือความชัดมัน
                    ผิดจากเดิม คราวนี้เราชัดเจนอย่างนี้แล้ว ทีหลังจะให้มัน
                    เดินรอยนี้มันเดินไม่ได้ มันชัดไม่ได้ เนื่องจากว่า
                    1. คือสมถะความสงบของเราไม่ได้ระดับเดิม มันอาจจะ
                    ดีกว่าละเอียดกว่าหรือหยาบกว่าก็ได้  ข้อที่ 2. เกิดจาก
                    เราปรารภเหตุนั้นๆ มันไม่เหมือนกัน บางครั้งบางคราว
                    เราก็ปรารภเหตุนั้นอย่างอุกฉกรรจ์ อย่างหนักแน่น
                    อย่างกล้าหาญ บางทีเราปรารภเหตุที่เราพิจารณานั้นเพียง
                    แต่ยกขึ้นเป็นเพียงธรรมดานี่มันผิดกันตรงนั้น เพราะฉนั้น
                    จึงว่ารสชาติผิดกันถ้าหากเราใช้สติปัญญาอย่างขนาดหนัก
                    หรือปรารภเหตุอย่างขนาดหนัก ใจมันต้องใช้พลังงานมาก
                    ความรู้มันก็ชัดเจนและกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ถ้าธรรมดาๆมันก็
                    ไม่เท่าไรนัก เหตุนั้นจะให้มันเหมือนกัน มันไม่เสมอเหมือน
                    กันหรอก แต่แล้วทั้งหมดนั้นล่ะ ถ้าหากเราไม่พิจารณาก็ช่าง
                    เถิด มันเป็นไปตามเรื่องของมัน ถ้าหากเราพิจารณาจะได้
                    ความรู้ชัดอย่างว่ามานี่แหละ มันมีผิดแปลกตรงนี้เอง หลักที่
                    จะให้เกิดผิดแปลกกันตรงนี้ ตรงนี้มันเป็นแยบคายอุบายของ
                    แต่ละบุคคล ความฉลาดของผู้ปฏิบัติ ถ้าไม่ฉลาดก็ปล่อยไว้
                    ตามเรื่องเพราะเกี่ยวด้วยความชำนาญนะเรื่องพรรค์นี้

อุบาสิกา        ดิฉันสังเกตุดูมีอีกหนึ่งค่ะท่านอาจารย์ ที่มันขัดขวางแล้ว
                   ดิฉันรู้สึกยังแก้ไม่ได้ คือถ้าลองพยายามพิจารณาเรื่องซ้ำจาก
                   คราวก่อน คือหมายความถึงต่างวาระกัน สัญญาเก่ามันมักจะ
                   ขึ้นมา อันนี้คิดว่าจิตไปจับอยู่กับสัญญาเก่าอันนั้น ก็เลยรู้สึก
                   ไม่ลึกซึ้งไม่เอาเรื่อง จะคอยคิดถึงเรื่องสัญญาอันนั้น

พระอาจารย์    ใช่ละซิ คือว่าของเก่ากับของที่เกิดใหม่ๆมันผิดกัน เกิดขึ้น
                    ทีแรกครั้งแรกเราไม่ตั้งใจให้มันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นโดยบังเอิญ
                    คือว่ามันพร้อมด้วยสติ สมาธิ พร้อมมูลบริบูรณ์ เรียกว่าถึง
                    กาลเวลา มันคล้ายๆกับลูกไม้ผลไม้ถึงฤดูกาลของมันต้นมัน
                    ก็แก่ ใบมันก็ผลัดหมดเสียแล้ว ถึงฤดูกาลมันค่อยผลิดอกออก
                    ผลใหม่โดยไม่ตั้งใจให้มันเกิดออกมาหรือไม่มีใครบังคับ
                    มันเกิดมาเอง ออกมาเองอย่างนั้นล่ะ จึงว่าเป็นของแปลกของ
                    อัศจรรย์ ทีหลังมามันไม่ใช่อย่างนั้น เราจะให้มันเป็นอย่างนั้น
                    คือสัญญาเก่าเราเคยได้รับรสชาติ เคยได้รับความสุขสงบ
                    เห็นอานิสงส์อันนั้น พอมาทีหลังมันไม่ได้ปล่อย มันมุ่งหน้าไป
                    สัญญามันจดจ่อคือมันอยากให้เป็นอย่างนี้ เมื่อเรามีสัญญาแล้ว
                    ใจมันไม่บริสุทธิ์ มันก็ไม่แจ่มใสเต็มที เพราะเหตุนี้จึงเข้าไม่
                    ถึงของเดิมหรอก เหตุนั้นเรื่องเก่าเราจะพิจารณาให้มีรสชาติ
                    อย่างเดิมไม่ได้ทั้งนั้น

อุบาสิกา         เจ้าค่ะ  พอมาพูดถึงตรงนี้แล้ว ดิฉันมีปัญหาจะเรียนถาม
                    ท่านอาจารย์คือ ทุกวันนี้ละค่ะ หากหลบไปอยู่ในที่ที่ได้เงียบๆ
                    คนเดียวแล้ว ดิฉันมักจะมีหนังสือธรรมที่ติดใจติดไปด้วย
                    ชอบใจก็เอาขึ้นมาอ่านตอนที่ถูกใจ พออ่านไปแล้วมันชัดไป
                    เรื่อยๆตลอดเวลา บางอันมันชัดเป็นพิเศษเจ้าค่ะ ตัวอย่างเช่น
                    เวลาดิฉันอ่านถึงว่าชีวิตประจำวัน-คอยระวังไม่ให้จิตมันแส่ส่าย
                    เพลิดเพลินไปตามกิเลสตัณหา อุปาทาน พออ่านถึงตอนนี้
                    มันเกิดภาพขึ้นมา มันเป็นภาพข้างใน ถ้าเป็นภาษาชาวบ้าน
                    เขาคงว่าบ้าจินตนาการ แต่ว่ามันเห็นชัดค่ะท่านอาจารย์
                    เห็นสัญญาเกิด สัญญาดับ แล้วจิตของเราไปเกิดไปดับ ไปปรุง
                    แต่งไปกันใหญ่ เที่ยวกันใหญ่ทีเดียว สนุกสนานเพลิดเพลิน
                    เป็นตั้งนานมันถึงจะกลับมาอีก แล้วตอนนั้นมันมีความรู้สึก
                    มันมีสัมผัสอย่างที่เคยเรียนท่านอาจารย์มาก่อน มันสัมผัสลึกๆ
                    เจ้าค่ะ มันรู้รสถึงโอชะที่จิตได้เสพ เสพแล้วเกิดความเพลินหรือ
                    ความพอใจเจ้าค่ะ อันนี้มันเป็นสัญญาหรือเปล่าคะ

พระอาจารย์    เมื่อเราหาที่สงัดได้แล้วจะอ่านหนังสือ จะท่องบทธรรมบทใด
                    บทหนึ่งอยู่ก็ดี นั่นเป็นบริกรรมภาวนาอยู่แล้ว ตอนอ่านถึง
                    ชีวิตประจำวันไม่ให้จิตแส่ส่ายนั้น มันเป็นช่วงพอเหมาะกับ
                    แยบคายของเราที่จะทำใจของเราให้หยุดรวมเป็นสมาธิ เลย
                    เกิดภาพนิมิตขึ้น ภาพนิมิตหากจะเรียกว่าสัญญาก็ใช่ เพราะ
                    มันยังอยู่ในขั้นสัญญา แต่ขณะที่มันเกิดไม่ได้เกิดเพราะสัญญา
                    จิตรวมละสัญญาแล้วจึงเกิด เหตุนั้นมันจึงชัดด้วยตนเอง
                           ตอนที่เห็นสัญญาเกิดดับและจิตของเราก็ไปปรุงแต่ง
                    เกิดดับเช่นเดียวกัน ตอนนี้มันมิใช่สัญญา-สังขารธรรมดา
                    เสียแล้ว นี่แหละที่อาตมาเคยพูดเสมอว่า สัญญา สังขาร ขันธ์ใน
                    ที่นำให้สัตว์ไปเกิดต่อภพต่อชาติ ความซาบซึ้งในรสชาติของ
                    สัมผัสนั้นจึงเป็นของเลิศ เรื่องขันธ์ในเป็นของพูดยากถ้าผู้นั้น
                    ยังไม่เข้าถึงและรู้ด้วยตนเองแล้วจะพูดอย่างไรๆก็ไม่เข้าใจ

อุบาสิกา        นานมาแล้วค่ะ เวลาดิฉันภาวนามีภาพปรากฎชัดเจนในใจ
                   ในเรื่องของสมุทัยโดยเฉพาะ เจ้าตัวสัญญา-สังขารเกิดดับๆ
                   อยู่อย่างนั้นตลอดเวลา มาเห็นโทษทุกข์ของการที่จิตเข้าไป
                   ยึดเอาสัญญา-สังขารนั้นๆมาเป็นตนเป็นตัวแล้วเกิดความ
                   กลัวในเรื่องนั้นมาก หลังจากนั้นมานาน เวลาไปอ่านหนังสือ
                   เข้า ภาพเช่นนั้นก็มาปรากฏขึ้นอีก แต่ปรากฏไม่นานเหมือน
                   เมื่อเกิดจากเวลาภาวนา ดิฉันไม่แน่ใจว่านั่นมันจะเป็นสัญญา
                   เก่าที่เคยได้เห็นแต่ก่อนหรือเปล่า

พระอาจารย์    ความรู้เบื้องต้นซึ้งเกิดจากสมาธิภาวนาโดยที่เราไม่คาดฝัน
                    ไว้แต่ก่อน กับความรู้ที่เกิดภายหลัง ไม่ว่าจะเกิดในขณะอ่าน
                    หนังสือหรือจากการภาวนาก็ตาม ซึ่งในเรื่องทำนองเดียวกัน
                    นั้นจะมีรสชาติและความซาบซึ้งผิดกันทีเดียว จะอะไรก็ตาม
                    ทีเถิด หากเมื่อเกิดความรู้และแจ้งชัดจนเป็นเหตุให้เห็นโทษ
                    ทุกข์ในอุปาทานนั้นๆ ได้แล้วก็ใช้ได้ ข้อสำคัญขอให้ทำใน
                    เรืองนั้นๆให้ชำนาญก็ใช้ได้

อุบาสิกา        เรื่องที่จะรักษาความรู้และสภาพเช่นนั้นไว้ให้อยู่ได้เสมอไป
                   ดิฉันว่ายากกว่าการที่จะทำให้เกิดสมาธิเสียอีก นอกจากเรื่อง
                   การบากบั่นฝึกสติแล้ว ท่านอาจารย์มีอุบายอย่างอื่นไหมคะ
                   ที่จะช่วยให้รักษาไว้ได้

พระอาจารย็    ความรู้ภาพดังว่านั้นก็เกิดจากสมาธิเหมือนกัน สมาธิเป็นเหตุ
                    ความรู้และภาพที่ว่านั้นเป็นผล เมื่อสมาธิมั่นคงดีแล้ว ความรู้
                    และภาพดังว่ามันค่อยเกิดเองดอก ชาวสวนเขาบำรุงต้นไม้
                    ของเขาไว้ดีแล้ว ถึงฤดูกาลแล้วมันหากจะผลิดอกออกผลเอง
                    ไม่มีใครบังคับมัน ถ้าไม่ถึงฤดูกาลของเขาแล้ว ใครจะบังคับ
                    อย่างไรๆมันก็ไม่ออกดอกผลมาให้ เราควรอบรมสติเท่านั้นให้
                    มั่นคง ไม่ควรไปสนใจในเรื่องความรู้และภาพที่เคยปรากฏมา
                    แล้วนั้น หากเราไปยึดเหนี่ยวเอาความรู้และภาพที่เคยปรากฏ
                    มาแล้วนั้นเป็นอารมณ์ เดี๋ยวมันจะเกิดความอยากขึ้นมา
                    สมาธิของเราจะเสียไป แล้วผลก็จะไม่เกิด เรายังกำลังฝึกฝน
                    เราจึงยังตกอยู่ในฐานะความเป็นผู้ประมาทอยู่  ท่านที่ได้สำเร็จ
                    แล้ว ท่านเป็นผู้ไม่ประมาท สติของท่านเป็นสติสมบูรณ์โดย
                    อัตโนมัติ

อุบาสิกา         ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องคำว่าประมาท ดิฉันก็นึกขึ้นได้
                    มีอยู่คราวหนึ่งดิฉันได้จากสมาธิเจ้าค่ะ มันแจ้งขึ้นมาเรื่อง
                    อื่นก่อนแล้วจึงมาถึงเรื่องประมาท อ้อ! อย่างนี้เองที่พระพุทธเจ้า
                    สอนไว้ว่าอย่าประมาทแม้แต่น้อย และมันก็ชัดขึ้นมาให้รู้
                    จักคำว่าประมาท ดิฉันไม่เคยนึกเลยว่า "ประมาท" จะมี
                    ความหมายลึกซึ้งอย่างนั้น ที่เราพูดทุกวันนี้ คำว่า "ประมาท"
                    มันคล้ายคนละความหมายกับคำว่าประมาทของท่านในที่นั้น
                    และคำว่า "แม้แต่น้อย" ของท่านในที่นั้น แหม! มันน้อย
                    ที่สุดที่จะประมาณค่าได้จริงๆ ไม่ทราบว่าจะบรรยายได้
                    อย่างไร

พระอาจารย์    มันหลายชั้น ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าใช้ตั้งแต่
                    หยาบถึงละเอียด ประมาท เลินเล่อ ไม่เอาเรื่อง ไม่เอา
                    การงานอะไรต่างๆ ท่านที่มาฝึกอบรมสมาธิหรือสมถะ
                    เผลอสติก็เรียกว่าประมาทเหมือนกัน ถ้าเข้าไปถึงความ
                    ละเอียดในตรงนั้นแล้ว ความรู้ความชัดเกิดขึ้นมาเช่น
                    นั้นแล้ว จิตใจแน่วแน่ใสแจ๋วอยู่ ถ้าหากแวบออกไปก็
                    เรียกว่าประมาทเหมือนกัน

......................................จบ.....................................

หมายเหตุ  จากหนังสือปุจฉาวิสัชนาในประเทศ
                โดย หลวงปู่เทศน์ เทสรังสี
โดยคุณ ไพ วัน เสาร์ ที่ 10 มิถุนายน 2543 22:07:01

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ศุภสิทธิ์ วัน อาทิตย์ ที่ 11 มิถุนายน 2543 20:25:34
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 12 มิถุนายน 2543 09:16:50
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 12 มิถุนายน 2543 10:49:54
ขอบคุณครับ ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากเลยครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 12 มิถุนายน 2543 10:49:54

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ปิ่น วัน จันทร์ ที่ 12 มิถุนายน 2543 16:13:38
ขอบพระคุณมากครับ_/|\_
โดยคุณ ปิ่น วัน จันทร์ ที่ 12 มิถุนายน 2543 16:13:38

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ หนุ่ย วัน จันทร์ ที่ 12 มิถุนายน 2543 18:04:13
ขอบคุณค่ะพี่ไพ
โดยคุณ หนุ่ย วัน จันทร์ ที่ 12 มิถุนายน 2543 18:04:13

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ หนึ่ง วัน จันทร์ ที่ 12 มิถุนายน 2543 21:41:14
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ กระต่าย วัน จันทร์ ที่ 12 มิถุนายน 2543 21:42:39
ขอบพระคุณค่ะ
โดยคุณ กระต่าย วัน จันทร์ ที่ 12 มิถุนายน 2543 21:42:39

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 13 มิถุนายน 2543 08:40:37
ขอบพระคุณครับคุณพีไพครับ
(และผมจัดการลบกระทู้ก่อนหน้านี้ที่พี่ให้ลบไปแล้วนะครับ กระทู้ที่ 87)
โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 13 มิถุนายน 2543 08:40:37

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 13 มิถุนายน 2543 08:43:07
คุณพี่ไพครับ

มา post แบบนี้บ่อยๆนะครับ ผมจะได้นำเอาไปขึ้นที่ ธรรมะ จากพระป่า ด้วยครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 13 มิถุนายน 2543 08:43:07

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 13 มิถุนายน 2543 08:54:08
ขอทดสอบ script อีกหน่อยครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 13 มิถุนายน 2543 08:54:08

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 13 มิถุนายน 2543 12:37:06
สาธุครับ

กลับมาอ่านให้ละเอียดอีกที ได้รู้ถึงข้อบกพร่องของตนเองมากมาย ที่ต้องนำกลับไปปรับปรุงตนเองอีกมาก (และข้อบกพร่องบางข้อ ก็ช่างเป็นข้อบกพร่องซ้ำซากของเราเอง ที่ยังต้องกลับไปแก้ไขทั้งๆที่เคยแก้ไขไปแล้วก็ตาม)
โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 13 มิถุนายน 2543 12:37:06

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ไพ วัน อังคาร ที่ 13 มิถุนายน 2543 15:14:31
:-) ถ้าเจออะไรดีๆจะพิมพ์มาให้น้องตึกอ่านอีกนะ
ความจริงในหนังสือหลวงปู่เทศก์เล่มนี้ยังมีอีกหลาย
เรื่องที่อยากพิมพ์มาให้อ่าน แต่เรื่องมันยาวมาก
เห็นแล้วก็ถอนใจ (ตามความชรา)
เอาไว้วันไหนรู้สึกเป็นวัยรุ่น จะพิมพ์มาให้อ่านนะ:-)
(พอดีว่าพิมพ์ดีดไม่ค่อยคล่องน่ะ)
โดยคุณ ไพ วัน อังคาร ที่ 13 มิถุนายน 2543 15:14:31

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ อี๊ด วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 08:30:12
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 07:35:06
ขอบคุณครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 07:35:06

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ soonthorn วัน อาทิตย์ ที่ 25 มิถุนายน 2543 12:19:27
ไม่ออกความเห็น ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com