กลับสู่หน้าหลัก

คำสอนของท่านกี : ฝึกอินทรียสังวรตามรอยพระ 

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 15:59:03

ท่านกี หรือท่าน ก.เขาสวนหลวง เป็นนักดูจิตขนานแท้
วิธีดูจิตของท่าน ไม่ต่างจากที่พวกเราฝึกกันอยู่
เพียงแต่ท่านเอาจริงเอาจังในการปฏิบัติ
มากกว่าพวกเราซึ่งอินทรีย์ยังอ่อน
วันนี้ภรรยาของผมพิมพ์ธรรมของท่าน
ซึ่งแสดงเมื่อเช้าวันที่ 10 สิงหาคม 2519
มาให้พวกเราได้อ่านกันเพื่อความรอบรู้ยิ่งขึ้น

****************************************

วันนี้เป็นวันที่ครบกำหนดหนึ่งเดือนของการเข้าพรรษามา
การประพฤติปฏิบัติที่ได้ทำมาตลอดเดือนหนึ่งนี้  ก็นับว่าเป็นประโยชน์  
คือว่า ทุกคนก็มีสติเป็นเครื่องควบคุมจิตใจเป็นส่วนมาก  
แต่ว่า ก็ต้องทำให้ยิ่งขึ้นต่อไปอีก  
แล้วการปฏิบัตินี้จะได้เป็นการปฏิบัติที่ดับทุกข์ดับกิเลสให้ได้ผลดียิ่งขึ้น 
ต้องตั้งอกตั้งใจในการที่จะประพฤติให้มีศีล
ทางกาย  ทางวาจา  และทางจิตใจให้บริสุทธิ์ให้ครบถ้วนให้ได้ 
แล้วก็ต้องเจริญกรรมฐานหรือวิปัสสนาภาวนา  
ประกอบให้ครบว่าการเข้าอยู่ในอุโบสถนี้จะต้องทำให้บริสุทธิ์ให้ดี 
เพราะว่าเรื่องศีลนอกเรากำหนดละตามในองค์ศีล 8 นั่นแล้ว  
ทีนี้เรื่องอินทรียสังวร ศีลนี้เป็นศีลใน  หรือว่าเป็นศีลใจก็ได้  
ต้องสำรวมใจให้มากเป็นพิเศษ  
สำรวมตา  สำรวมหู  สำรวมลิ้น สำรวมกาย 

ในองค์ศีล 8  ตั้งแต่  วิกาลโภชนา นัจจคีตะ  
นี่ก็เป็นเรื่องของอินทรียสังวรศีลตามธรรมดา  
เป็นการสำรวมในขั้นนอก  
แม้การสำรวมข้างนอกจะครบถ้วนตามในศีล 8 แล้วก็ตาม
แต่ว่ายังไม่เพียงพอ เพราะว่าต้องมีสำรวมใจ ให้มีสติอยู่ทุกอิริยาบถ  
แล้วก็ตาเห็นรูป  หูฟังเสียง  นี่ต้องสำรวมเป็นพิเศษ  
ก็คือว่า  ตาเห็นรูป  ไม่ได้ไปดูระบำเต้นรำอะไรหรอก 
แต่เมื่อตาเห็นรูปธรรมดานี้ต้องสำรวมว่า 
เห็นรูปที่ดีก็อย่าไปยินดี  เห็นรูปที่ชั่วก็อย่าไปยินร้าย  
คือว่า  ต้องละความชอบไม่ชอบ  
ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น  รส  สัมผัสกาย  และธรรมารมณ์  
จิตต้องสงบเป็นกลางวางเฉย  ในขณะที่กระทบผัสสะ 
แล้วการสังวรนี้ก็ต้องมีสติสังวรที่จิต  
พอว่ามีสติเข้าสังวรที่จิตเท่านั้น  
ทางทวาร  ทางตา  ทางหูนี่ต้องสังวรหมด 

คือว่า  สังวรตัวประธานตัวเดียว  แล้วพวกทวารทั้งหมดก็ถูกสังวรไปด้วยกัน  
มีสติในการมอง  การฟัง  การได้กลิ่น  การรู้รส  การสัมผัสผิวกาย  
และการรับธรรมารมณ์  คือ อารมณ์ที่ไปคิด ไปปรุงขึ้นมาทางจิตใจนั่น  
ต้องสังวรระวังด้วย  ต้องพิจารณาปล่อยวางด้วย 

อินทรียสังวรศีลนี้เป็นศีลใน
 แล้วศีลแปด  สามองค์ข้างท้ายเป็นศีลนอก 
ศีลนอกนี้ก็บริสุทธิ์ตามส่วน  
แต่ว่าศีลในใจ  คือว่า  ไม่ไปยินดียินร้ายต่อทวารทั้งห้า  
แล้วก็มารวมเป็นศีลกลาง 
ตาเห็นรูปใจก็เป็นกลาง  หูฟังเสียงใจก็เป็นกลาง  
จมูกได้กลิ่นใจก็เป็นกลาง  ลิ้นรู้รสใจก็เป็นกลาง  
สัมผัสผิวกายใจก็เป็นกลาง 
แล้วก็รับอารมณ์ใจก็เป็นกลางวางเฉยให้ครบถ้วนได้ 
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 15:59:03

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 16:00:53
อินทรียสังวรศีลนี่เป็นศีลละเอียด 
ต้องมีสติควบคุมจิตอยู่ทุกขณะไป

ทีนี้จะทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ก็ต้องควบคุมอยู่ทุกอิริยาบถ  
การเปลี่ยนอิริยาบถก็ต้องทำให้เชื่องช้า  
อย่างว่าจะลุกขึ้นเดินไปจะเอาเร็วๆ  จ้ำไปอย่างนี้ไม่ได้ 
ต้องค่อยๆ เดิน หัดทำให้ดี
เพราะว่าเป็นอิริยาบถของพระอริยเจ้าที่ท่านสมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ  
ในการเปลี่ยนอิริยาบถนี้ต้องหัด  

ฉะนั้นในวันอุโบสถนี้ขอให้ทดลองฝึกหัดตัวเองกันเป็นพิเศษ  
อยู่ในที่ที่ไม่คลุกคลี อยู่คนเดียว  ซึ่งจะหัดได้หลายๆ อย่าง  
หัดนั่งหัดนอนด้วยการมีสติ  หัดเดิน ยืน ในอิริยาบถที่เชื่องช้า 
ค่อยๆ ลุก  ค่อยๆ ยืน  ค่อยๆ เดิน  ค่อยๆ เอนกาย  
ต้องหัดให้เป็นอิริยาบถของพระจริงๆ  
ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็ทำไปตามความเคยชินซึ่งมีอยู่ด้วยกันทุกคน 

 และอีกประการหนึ่งคือการหัดอย่างนี้  
เราต้องเอาสติคุมจิต  รู้จิต  จิตรู้จิต แล้วยืนขึ้น  
ขณะที่นั่งก็ควบคุมจิตพิจารณาจิต  
หลักนี้ใช้ได้รอบข้างทั้งเดิน  ทั้งนั่ง  และยืนขึ้น
  
ทีนี้อิริยาบถยืนนี้  ถ้ามันง่วงนอนมากๆ  เราก็ยืนทำความสงบก็ได้  
ทดลองดูประมาณสักครึ่งชั่วโมงก่อนก็ได้  
นั่งสักชั่วโมงหนึ่ง แล้วตอนนี้เปลี่ยนอิริยาบถมาเป็นยืน  
ยืนครึ่งชั่วโมงนี้จะต้องทำสมาธิได้แนบแน่น
เพราะว่าการนั่ง บางทีจะเผลอจะวิบวับอะไรไป  
แต่การยืนนี้ต้องคุมสติเต็มที่อยู่ตลอดครึ่งชั่วโมงนะ  
เสร็จแล้วก็ค่อยๆ ก้าวไป  

ก้าวหนึ่ง  จิตก็กำหนดรู้จิตเป็นปรกติเป็นกลางก็ได้  
หรือว่ารู้จิตพิจารณาจิต  ก้าวหนึ่ง  

ก้าวที่ สองก็ต้องทำให้ละเอียด  
การก้าวไปโดยที่จิตยังไม่กำหนดรู้จิตนี้ยังใช้ไม่ได้  
ต้องกำหนดรู้จิต  ก้าวไปทีละก้าว 

แต่ถ้าหลับตาได้ก็จะดี  เพราะว่าการฝึกสมาธิหรืออินทรียสังวร
ในขณะที่ยืน  นั่ง  เดิน  จะทำในสามอิริยาบถนี้ให้ได้ก่อน  
คือว่ามีสติควบคุมจิต  รู้จิตอยู่เป็นประจำ  
แล้วก็ฝึกการยืนตลอดครึ่งชั่วโมง  
หรือว่าจะเดินครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงหนึ่งก็สุดแท้แต่จะสะดวก 

ต้องเดินให้ได้อย่างนี้  
ทำจังหวะว่าก้าวไปก้าวหนึ่งต้องหยุด  กำหนดรู้จิตในจิต  พิจารณาจิต  
ค่อยๆ ก้าวไปอีกก้าวหนึ่ง  แล้วก็กำหนดรู้จิตในจิต  
แล้วก็ก้าวไปอีก  ควบกับลมหายใจบ้างก็ได้ 

ต้องหัดในอิริยาบถที่ช้า กำหนดจิตทุกลมหายใจเข้าออกให้ได้  
ถ้าว่าหัดไปนานๆ เข้าแล้ว อิริยาบถทั้งสี่นี้จะมีสติสัมปชัญญะได้  
แต่ว่าต้องหัดอยู่คนเดียว  
แล้วก็ตาหูนี้ต้องฝึกสำรวมหมด 
เพราะว่าอินทรียสังวรต้องทำอย่างนี้ไปก่อน  
การทำขั้นละเอียดจะไปหยิบไปฉวยอะไรต้องกำหนดรู้จิต  แล้วจึงไปหยิบ  
นี่จะได้ความพิจารณาจิตอยู่ตลอดเวลา  

ทีนี้ถ้าว่าเป็นการฝึกได้ในสามอิริยาบถทดลองดู  
แล้วทีนี้เวลานอน  การที่จะเอนกายลงไปก็ต้องกำหนดรู้จิต  พิจารณาจิต  
กำหนดรอบรู้จิต ค่อยๆ เอนกายลงไป  
แล้วป้องกันไม่ให้เอาความสบายในการนอนเกิดขึ้น  
เพราะการนอนเป็นการพักเฉยๆ  
คือว่า  ตามธรรมดาปรกติแล้วมันชอบนอนลงไปแล้วมันสบายอะไรเหล่านี้  
นอนแบบนี้ไม่ได้ ต้องกำหนดรู้จิตประกอบกับการที่จะเอนกายลงไปนอน
โดยที่ไม่ให้เผลอในขณะที่เอนกายลงไป 
ถ้าเผลอก็ลุกขึ้นมาแล้วกำหนดใหม่ว่าจะเอนกายอย่างไร  
จึงจะนอนด้วยการมีสติพร้อมกับการเอนกายลง  

ข้อนี้ต้องทดลองหัดกันดูให้ดีๆ  
ถ้าว่าเอนกายแล้ววางมือวางเท้าให้พอดี
ว่ามือเท้านี้เอาไว้ให้ได้ระเบียบ  ไม่กางมือ กางเท้า  
การนอนอย่างนั้นไม่ใช่การนอนด้วยการมีสติ  
เพราะการนอนมีสติ  มือ  เท้า  จะถูกสำรวมหมด  อยู่ในระดับที่วางเอาไว้ให้พอดีๆ 
ท่านถึงได้เปรียบเหมือนกับการนอนของพระยาราชสีห์  
เรียกว่า สีหไสยาสน์ตามแบบพระ  
การนอนอย่างพระยาราชสีห์  คือ  ถ้านอนวางมือวางเท้าและวางหางเอาไว้อย่างไร 
พอตื่นขึ้นมาก็ตรวจอวัยวะของตัว  
ถ้ามือวางพลาดไปจากที่เดิม  หางไม่อยู่ที่เดิมแล้ว  
พระยาราชสีห์จะต้องนอนใหม่ยังไม่ลุกไปหาอาหาร  
นอนใหม่ ทำท่าให้ดีใหม่  แล้วจึงจะลุกไปทำกิจการงานได้ 

นี่ถ้าจะถืออินทรียสังวรให้ประณีต  
เป็นการอบรมตามแบบของพระอริยเจ้าแล้วจะมีอานิสงฆ์ใหญ่  
ควรฝึกเสียในวันอุโบสถนี้  
สำหรับผู้ที่มาจากบ้านเรือนก็ควรฝึกทีเดียว 
แล้วสำหรับคนอยู่วัด ก็ฝึกได้เพราะอยู่ประจำ  นอกจากจะขี้เกียจเท่านั้นเอง 
ถ้าว่าขยันฝึกอบรมภาวนามีสติสัมปชัญญะให้ทั่วถึง 
ฝึกเป็นพิเศษแล้วจึงจะรู้ว่าอิริยาบถของพระนั้นเรียบร้อยไปเสียทั้งนั้นเลย  
ตาก็เรียบร้อย หูก็ไม่เอาเรื่องอะไรมาฟัง  
แล้วทุกอย่างหมดทั้งเนื้อทั้งตัวนี้ตามที่ในทำวัตรเย็นบอกว่า  
มีกายและจิตเป็นที่อาศัยอยู่แห่งธรรมมีศีลเป็นต้น  อันบวร  

ต้องรู้เสียว่าการทำอิริยาบถทั้งหลายของพระ  
ยืน เดิน นั่ง  นอน  ที่ประกอบไปด้วยการมีสตินี้  
จิตใจไม่วอกแวกไม่วุ่นวายอะไรเลย 
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 16:00:53

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 16:02:08
ทีนี้การฝึกของเราคงจะยากสักหน่อยเพราะว่ามันเป็นความชิน  
เคยนึกจะลุกก็ลุกไป  นึกจะเดิน ก็เดินไป  ไม่ได้ระเบียบ  
ถึงจะมีสติอยู่บ้าง  ก็ไม่ละเอียดเหมือนพระ  
เราต้องฝึกในขั้นละเอียด  ไปหยิบไปฉวยอะไรต้องมีการกำหนดรู้จิตอยู่  
ใช้ได้หมดในการหยิบอะไร  วางอะไร  
หรือว่าอาบน้ำ บริโภคอาหารนุ่งห่มอะไรเหล่านี้  
ในอิริยาบถของพระท่าน  ต้องรู้ทุกอิริยาบถ  
แม้กระทั่งว่าจะนุ่งห่มจีวรก็ต้องพิจารณาก่อน  ในปฏิสังขาโยก็บอกไว้แล้ว  
ทีนี้เราจะต้องเดินตามรอยของพระ  เราก็ต้องหัด  
การหัดเป็นกุศลอย่างสูงทีเดียว  ไม่หัดทำแล้วไม่รู้เรื่องหรอก  

แล้วก็การหัดนี้  ต้องปลูกฉันทะ
คือความพอใจในการที่จะทดลองปฏิบัติตามรอยของพระอริยเจ้า  
แล้วก็ต้องเพียรรู้จิต ประคับประคองจิตด้วยสติปัญญา
ก็คอยระมัดระวังเอาไว้  ไม่ให้มีการเผลอเพลินไป  
ควบคุมกาย วาจา  จิตใจ  
ควบคุมสัมผัส  ทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกาย  ทางใจ  หมดทุกประตู 
ปิดช่องรั่วที่กิเลสจะเข้ามา  มันจะได้เข้ามายาก  
เพราะมีนายประตูปิดไว้  คือ สติกับปัญญาที่เป็นนายประตูเป็นยามเฝ้าประตู  
ข้างนอกก็งดเว้น  เวรมณี  
แล้วมีศีลทั้งข้างนอกและข้างใน  แล้วก็มีศีลกลางอีก  
การฝึกอย่างนี้เป็นการฝึกได้  ทดลองดู  
ถ้าใครฝึกได้ละเอียดก็ขอร้องว่า
ให้มีการบันทึกเอามาอ่านในวันบอกบริสุทธิ์เป็นการกุศล  
สำหรับตัวเองก็จะได้เกิดสติปัญญา 
เมื่อทำได้เป็นตัวอย่างที่ดีแล้วก็จะให้ผู้อื่นทดลองทำบ้าง 

การทำอย่างนี้มันจะต้องรู้ของตัวเองได้คือว่า 
จิตจะต้องอยู่กับสติปัญญาตลอดทีเดียว  
ไม่ไปปรุงไปคิดเอาอะไร  เพราะว่ามันสำรวมหมดแล้ว  
ที่จะงดเว้นอะไรตามที่สมาทานไปนี้  
ก็ตั้งจิตงดเว้นหมดครบถ้วนทั้งแปดองค์แล้ว  
ทีนี้ก็มาหัดสำรวมให้เรียบร้อยให้ได้  เพราะว่ามันน่าทำจริงๆ  
ถ้าว่าทำได้แล้วก็จะรู้ว่ามีอานิสงฆ์ใหญ่อย่างไร  
ในการที่จะพ้นจากทุกข์โทษของกิเลส  

เราทำได้ไม่เหลือวิสัย  
แต่ว่าต้องเพียรเท่านั้น  อย่าไปขี้เกียจก็แล้วกัน  
ขยันหมั่นเพียรเถอะ  ทำได้ทุกคน  คนเฒ่า คนสาวก็ทำได้  
แต่ว่าต้องทำให้ดี  ทำให้ติดต่อ  อย่าไปเอาแต่ความเร็วๆ ตามที่ตัณหาเร่ง  
ต้องเอาสติกับปัญญามาคุมเอาไว้  คอยละตัณหาไว้  
มันจะอยากให้ทำอะไรตามความต้องการก็หยุด 
จะต้องทำตามอย่างพระอริยเจ้า  
การทำตามประสาคนนี้มันลุกลี้ลุกลน  แล้วก็เที่ยววิ่งไป 
เอาอะไร ต่ออะไรเพลิดเพลินไป  ต้องหยุด  
แล้วฝึกไปทุกวันๆ ทุกเวลา  
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 16:02:08

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 16:03:52
หลับแล้วก็แล้วไป  ตื่นขึ้นมาก็รู้ทีเดียว
เป็นกิจที่ต้องทำ  ไม่ทำไม่ได้เพราะยังไม่จบกิจเป็นพระอรหันต์
กิจที่จะทำนี้เป็นกิจที่จะต้องละกิเลส  รู้ทุกข์โทษของกิเลส  
แล้วก็ต้องปฏิบัติด้วยความไม่ประมาท  
ถึงจะดับทุกข์ดับกิเลสของตัวเองให้ก้าวหน้าทุกวันทุกเวลาได้ 

ทีนี้การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ที่ได้บอกให้ทุกคนทราบแล้วนะ  
ก็ขอให้พยายามทำจริง  ทำให้เห็นผลให้ได้  
จะเป็นการฝึกให้มีสติสัมปชัญญะที่ละเอียดยิ่งขึ้นก็ได้  
แล้วจิตนี่จะได้สงบ  ไม่เดือดเนื้อร้อนใจเพราะผัสสะที่กระทบข้างใน  
จะเป็นความจำ  ความคิดอะไร  แส่ส่ายไปไหนต้องหยุด 
เพราะว่าพอจับรู้จิตในจิต  พิจารณาจิตในจิตเท่านั้น  
ทั้งข้างนอกข้างในเรื่องผัสสะต้องหยุดหมด 
เว้นแต่ว่าจะมีการเผลอออกไปบ้างในระยะสั้นๆ  
อย่าให้เผลอเพลินไปในระยะยาวก็แล้วกัน  
ให้เป็นแต่เพียงสั้นๆ  แวบออกไปแล้วกลับมารู้จิตใหม่  
แวบออกไปทางหูหรือทางอะไรก็กลับมารู้จิตใหม่ ซ้ำๆ เอาไว้  

แล้วก็ฝึกดูว่าวันหนึ่งคืนหนึ่ง  เราจะพักผ่อนนอนหลับสักกี่ชั่วโมง  
แล้วการตื่นอยู่ด้วยการมีสติควบคุมจิตอยู่ทุกอิริยาบถที่  ยืน  เดิน  นั่ง  นอน 
มันจะได้เป็นการปิดประตูทั้งข้างนอกข้างใน  
เพราะกิเลสมันเกิดที่ประตู  ตา  หูที่ไม่ได้มีสติเป็นเครื่องรู้อยู่  
ทีนี้มันถูกปิดหมดเลย  
พอสำรวมใจแล้ว  ตาก็ถูกปิด  ไม่ไปเที่ยวมองหาเรื่องเพ่งเล็งดีชั่วอะไร  
ทดลองทำให้ได้ผลประโยชน์แล้วจะรู้ว่า
วันหนึ่งคืนหนึ่งสำหรับคนอยู่วัดก็จะทำได้ติดต่อวันนี้  พรุ่งนี้  มะรืนนี้  
วันหนึ่ง  สองสามอะไรเรื่อยไปทีเดียว 

ถ้าทำได้ในเรื่องนี้  คือเรื่องการเข้าพรรษาหรือเข้าอยู่สงบสามเดือน  
เดือนแรกก็เป็นเดือนทดลอง นิดๆ หน่อยๆ  
ต่อมาเดือนที่สองนี้เอาให้เต็มที่  
แล้วเดือนที่ 3 บางทีอาจจะบรรลุมรรค ผล ขั้นใดขั้นหนึ่งก็ได้ 


เหมือนกับสมัยหนึ่ง  
พระพุทธเจ้าได้ประกาศให้พระเถระอบรมภิกษุนวกะที่บวชใหม่
แล้วก็แยกกันไปหมู่ละสิบองค์บ้าง  ยี่สิบองค์บ้าง  สามสิบองค์บ้าง  
แล้วพระพุทธองค์ก็ให้สัญญาว่าออกพรรษาแล้ว
จะไปคอยอยู่ที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง  
ทีนี้พระภิกษุบวชใหม่เมื่อถูกพระเถระเจ้าทั้งหลายเอาใจใส่ 
อบรมตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืนตลอดพรรษาแล้ว  
พอออกพรรษาพระภิกษุบวชใหม่ก็บรรลุธรรมในขั้นต้น  
เป็นพระสุปฏิปันโน  พระโสดาบัน  ขั้นสูงก็เป็นพระอรหันต์ 
ทีนี้พอออกพรรษาแล้วก็ไปประชุมตามที่พระพุทธเจ้านัดเอาไว้ให้ไปพบ
เมื่อไปพบพร้อมกันพระภิกษุนวกะบรรลุมรรคผลหมดเลย
ก็ไปนั่งแวดล้อมพระพุทธองค์  
ทีนี้พระพุทธองค์พระภิกษุที่บวชใหม่  ถ้าจะเปรียบก็คล้ายๆ กับว่าดอกบัว
ได้บานสะพรั่งไปหมดไม่ว่าจำนวนเท่าไรๆ  
เป็นอันว่าจิตใจบานสะพรั่งพ้นจากอำนาจของกิเลสไปตามสมควรแล้ว 
แล้วพระพุทธองค์ก็ได้ทรงเปล่งพระวาจาว่า  
ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ไม่เหลวไหลเลย 

ทีนี้เราก็ต้องพยายามตามรอยพระอริยเจ้าให้ได้  
พยายามอบรมกันให้ดีในพรรษานี้  
และเดือนที่สองนี้ต้องทำให้ประณีตยิ่งขึ้นทีเดียว  
แล้วข้อปฏิบัติจึงจะเจริญก้าวหน้าไป  
ถ้าว่าเราทำโลเลๆ อย่างนี้ มันยังเป็นการไม่บริสุทธิ์  
เพราะฉะนั้นต้องทำให้จริงให้รู้ให้เห็นจิตใจจริงๆ 
แล้วจะรู้สึกตัวเองว่า
ได้เปลี่ยนเอาความเหลวไหลโลเลอะไรตามกิเลสตัณหาออกไป  
อดทนต่อสู้ปิดประตูดูข้างใน  

เหมือนกับพระภิกษุ สามรูป จำพรรษาอยู่  
พอออกพรรษาแล้วท่านก็มาถามกันว่า  
เธอทำอย่างไรตลอดสามเดือน  

องค์ที่หนึ่งก็บอกว่า 
กระผมควบคุมจิตใจไม่ให้ออกไปนอกเขตวัดเลยตลอดสามเดือน

องค์ที่สองบอกว่า 
ผมก็ควบคุมจิตไม่ให้ออกนอกกุฏิเลยตลอดสามเดือน

แล้วองค์ที่สามก็บอกว่า 
ผมก็ ควบคุมจิตไม่ให้ออกนอกขันธ์ห้าเลย 

เสียงพระคุณเจ้าสององค์แรกสาธุองค์ที่สาม  
ที่ว่าไม่ให้จิตออกนอกขันธ์ห้าเลย 
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 16:03:52

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 16:05:23
ข้อนี้เราจะต้องทำกันให้ได้  
เพราะว่าการพิจารณาจิตในจิตอยู่เป็นประจำนี้  
มันอยู่ข้างในแล้ว  ไม่ออกนอกขันธ์ห้า  
แล้วพร้อมกันนั้นก็ได้พิจารณาขันธ์ห้า
โดยความไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตาด้วย 
มีผัสสะอะไรก็พิจารณาให้เห็นเป็นความว่างจากตัวตน  
ว่างจากตัวตนไม่ไปยึดถือไปหมายดี  ชั่วอะไร 
พยายามพิจารณาปล่อยวางไป  
ถ้าผัสสะมันว่าง  ไม่เข้าไปหมายดีหมายชั่วแล้ว  
จิตก็ว่าง  ไม่มีอะไรเข้ามาให้ยึดถือ


 เราต้องให้ได้รับผลประโยชน์ในทางจิตทั้งนั้น  
เพราะว่ามันเป็นทางทางเดียวที่จะออกไปจากทุกข์โทษสารพัดอย่าง  
ต้องควบคุมอย่างนี้  ปฏิบัติอย่างนี้  แล้วจึงจะละได้  
และจะรู้ได้ด้วยตนเองว่าการปฏิบัติที่ถูกต้อง
ตามธรรมวินัยของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านี้มีคุณประโยชน์อย่างยิ่ง  
ขณะนี้ยังทำได้ให้รีบทำ  
สิ่งที่ยังไม่ถึง  ก็จะได้ถึง  สิ่งที่ยังไม่รู้แจ้ง  ก็จะได้รู้แจ้ง  
ทำให้สม่ำเสมอให้ตลอดไป 

การเกิดมามันไม่ได้ประสงค์อะไรแล้ว  
จะประพฤติให้บริสุทธิ์ครบถ้วน  
แล้วมรรค ผล นิพพานจะมีขึ้นเอง 
ถ้าไม่ทำแล้วไม่พบนิพพาน  
เหมือนอย่างกับเรานอนเสียขี้เกียจก็ไม่รู้อะไร  
ทีนี้การตื่นจะต้องอดทนต่อสู้กับนิวรณ์  
ความง่วงฟุ้งซ่าน  ความไม่พอใจ  พอใจอะไร
ก็ยังดีกว่านอนมากเกินไป  

การนอนเป็นการพักผ่อน  
แต่ว่าการตื่นอยู่เช่นการถือเนสัชชิกคืองดการนอนตลอดคืนยังรุ่ง  
ไม่ได้ทำมานานแล้วเพราะว่าบางคนร่างกายไม่สู้สมประกอบ  
ก็เพียงแต่ทดลองอะไรในระยะที่พอจะทำได้  
มีการพักผ่อนบ้างตามสมควร  แต่ถ้ามีกำลังแล้วก็ควรจะทำ  
เพราะเนสัชชิกนี้เป็นการเฝ้าคนไข้ 
คือว่า อวิชชา  กิเลส ตัณหา  ที่มีอยู่ด้วยกันทุกคน  
แต่ถ้าไม่ได้ทดลอง  ไม่ได้ฝึกหัดทำแล้ว  
ก็นอนเป็นตายไป  จะเอาสบายในการนอน  
นอนเท่าไรไม่พอ  จะกิน  จะนอนมากๆ 
แล้วอย่างนี้ก็เป็นหมูไม่รู้อะไรหรอก 

พระท่านไม่ได้เอาแต่การกินการนอนมาบำรุงบำเรอตัว 
เพราะว่ามันอยู่ในความไม่เที่ยง  อยู่ในความเป็นทุกข์  
จะต้องพิจารณาให้เห็นว่า  รูปนามขันธ์ห้านี้  
ไม่ใช่เป็นตัวเรา  ไม่ใช่ของของเรา  ไม่มีแก่นสาร  
ต้องย้ำแล้วย้ำอีกให้มากๆ  
ว่าทุกข์โทษของกิเลสตัณหาอุปาทานทุกชนิดจะต้องค้นคว้าให้รอบรู้  
เราจะต้องทำให้เป็นพิเศษในพรรษานี้  
ถ้าทำได้พร้อมเพรียงกันจะเป็นการดีที่สุด  

ทีนี้สำหรับการจะปรารภความเพียรในวันธรรมดาก็เอาครึ่งคืนก็ได้  ผ่อนลงมา  
เพราะว่าจะได้มีการพักกายสำหรับคนที่ร่างกายไม่ปรกติ  
แต่ถ้าจะทำรวมหมู่กัน  จะต้องพยายามให้เต็มความสามารถ 
เพราะก็ว่าอยู่แล้วว่า  "ยะถาสติ  ยะถาพลัง  มนสิกโรมะ"  
บอกอยู่กับตัวเองทุกวันๆ แล้ว  ก็ต้องทำให้เต็มสติกำลัง  
คำพูดของตัวเอง  จะได้เกิดประโยชน์จริงๆ  
ไม่ใช่พูดว่าไปตามตัวหนังสือ  ตามบทพยัญชนะ 
แต่ต้องเอามาประพฤติปฏิบัติในการกำหนดให้รู้อุปาทานขันธ์ทั้งห้า 

นี่ก็บอกอยู่แล้วว่าเพื่อให้สาวกกำหนดรอบรู้อุปาทานขันธ์เหล่านี้เอง 
แต่ว่าในฐานะที่เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า  กำหนดกันหรือเปล่า 
ว่าอุปาทานขันธ์ห้าเป็นอย่างไร  
ถ้ารู้แล้ว  ก็ต้องรู้เรื่องของความเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา 
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 16:05:23

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 16:08:14
ทีนี้ก็ต้องกำหนดอยู่ในเรื่องความเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  
อย่างนี้ก็เรียกว่าได้ทำการกำหนดพิจารณา  
โดยความไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  
นี้เป็นพหุลานุสาสนี  คือ  พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมากในเรื่องไตรลักษณ์ 
เพราะว่ามันเป็นการที่จะอ่านเอาภายในตัวเองได้ 

โดยไม่เกี่ยวกับข้อความอะไรมากมาย  นี่มันง่าย  
การฝึกให้ดูจิตพิจารณาจิตให้ปล่อยวางอะไร  
หรือเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์  ไม่ใช่ตัวตนนี้ก็ทำอยู่แล้ว  

ทีนี้ทำให้มันละเอียดเข้า  ให้มันรู้จริงๆ ขึ้นมา  
แล้วข้อปฏิบัติจะได้มีการเจริญก้าวหน้าไป  
พวกกิเลสตัณหา  อุปาทาน  จะได้หมดกำลังไปทุกที  
ขอให้ผู้ปฏิบัติจงพยายามอบรมข้อปฏิบัติให้เกิดความรู้ของตัวเองจริงๆ  
ในการที่จะฝึกจิตภาวนา  
และในการที่จะต้องใช้ความรอบรู้อะไรเป็นพิเศษ  

ความรู้พิเศษที่เราอบรมมานี้จะต้องมีแน่นอน  
เพราะว่าในระยะเจ็ดวันเอาตั้งแต่วันนี้ไป  ฝึกๆ ไปอย่างนี้  
พอครบเจ็ดวันก็มาสอบกันเสียทีหนึ่ง  
ทีนี้จะต้องสอบให้ถี่หน่อย  
ข้อปฏิบัติที่จะรวบรัดเอามาประพฤติปฏิบัติประจำวัน
จะต้องให้เข้มงวดในศีล  สมาธิ  และปัญญา  
แล้วก็ต้องชักชวนกันทำ  อย่าเถลไถลไป  อย่าขี้เกียจ  
เพราะมันเป็นความพ้นทุกข์ของเราจริงๆ 

สิ่งไหนที่ยากต้องเพียรทำให้ได้  
ถ้าเห็นว่ายากแล้วจะไม่ทำมันก็เลยแย่  โง่ดักดานอยู่อย่างนั้น  
ต้องเพียร เพียร เพียร เพียร  

ถ้าเราพยายามกันจริงๆ พร้อมเพรียง  ประพฤติปฏิบัติกันจริงๆ แล้ว 
ก็มีกำลังใจ คือว่ากำลังใจของการมีสามัคคีธรรมมันดีเยี่ยม  
เพราะว่าบางทีจะไปทำคนเดียวก็ง่วงๆ เหงาๆ มันไม่สนุก  
ก็ลองมาทำกันหลายๆ คนดูบ้าง  ลองมารวมกันดู  
เพราะว่าการร่วมจิตร่วมใจกันกระทำความเพียรนี้  
มันเป็นเครื่องส่งเสริมกันอยู่ในตัว  
เช่นการนั่งทำความสงบ  ถ้าไปนั่งคนเดียว ประเดี๋ยวก็จะนอนเสียแล้ว  
ถ้านั่งอยู่ในหมู่แล้วไม่ได้  ต้องให้ครบชั่วโมง  
ถ้าไม่ครบชั่วโมงจะไปเลิกก่อนไม่ได้  
การกระทำกรรมฐานหมู่มันบังคับดีอย่างนี้ 

 แต่อีกขั้นหนึ่ง  พอเราจะนั่งไปอีก
สักครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงหนึ่งมันต้องมาเลิกเสียแล้ว  
บางคนอาจจะชอบไปทำคนเดียวเพราะว่ามันจะอยู่ไปได้นานๆ  
การทำกรรมฐานหมู่ดีอยู่ขั้นหนึ่ง
แต่ถ้าไปทำคนเดียวอีกขั้นหนึ่งมันได้ระยะของการฝึกจิตที่ละเอียดกว่า 
เราก็เลือกทำให้เหมาะสม มันควรจะหมู่ก็หมู่  ถ้าควรจะเดี่ยวก็เดี่ยว  

ต้องพยายามอยู่ทุกอิริยาบถให้ได้ ถึงจะรู้ว่าอิริยาบถทั้งหมด
ตามแบบของพระอริยเจ้า เป็นที่สบายกายสบายใจเสียหมด  
คือว่าใจนี่เองไม่ถูกกิเลสมารบกวน  
ถ้าไปเปิดช่องให้มันเข้ามาแล้ว  มันก็วุ่นวายเร่าร้อนไม่สงบ  
เราต้องเพียรพยายามละกิเลสตัณหาอะไรที่มีอยู่ในสันดานด้วยกันทั้งนั้น  

แต่ว่าถ้าไม่รู้แล้วก็ไม่ได้ละมัน  
ที่จะละมันนี้ต้องทดลองตามคำของพระพุทธเจ้า
ที่ให้  เพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน ที่ตรงนี้ต้องอดทน  
เพราะตัณหามันอยากจะได้แต่ความสุข  
เพราะฉะนั้นจะต้องหยุดในขณะที่มันมีอยาก 
อยากอะไรก็ตามที่จะทำให้เสียประโยชน์ในด้านจิตใจ  
อย่าไปทำตามมัน  ต้องหยุด! 
เมื่อจะทำแล้ว ก็พิจารณาดูใหม่  
ว่าที่ควรทำก็ทำ  ไม่ควรทำก็เลิกไปเลย 

เราต้องทรมานตัวเอง  ในเรื่องทำตามกิเลสตัณหามาแต่ก่อนนั้น  
เดี๋ยวนี้ต้องงดแล้ว  ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าแล้ว  
เพราะว่าเชื่อกิเลส ตัณหาที่มันมายุแหย่แส่ส่าย
อะไรต่ออะไรสารพัดสารเพมันทุกข์ทั้งนั้น  
ทีนี้ต้องเลิกเชื่อกิเลส ตัณหาเสียทีเถอะ  
มาเชื่อพระพุทธเจ้า  พระธรรมเจ้า  พระสังฆเจ้า  
ที่ตนจะต้องฝึกด้วยความเอาใจใส่ให้เป็นพิเศษให้ได้
ทุกๆ ขณะทีเดียว


*********************************************
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 16:08:14

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ กระต่าย วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 16:46:04
สาธุ สาธุ สาธุ  _/I\_
โดยคุณ กระต่าย วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 16:46:04

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ หนุ่ย วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 18:22:01
สาธุค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ _/|\_
โดยคุณ หนุ่ย วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 18:22:01

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 14 มิถุนายน 2543 18:27:53
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 07:35:27
ขอบพระคุณครับ
โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 07:35:27

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 08:49:49
เรื่องอินทรีย์สังวรนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าหนักใจอย่างยิ่งสำหรับผมทีเดียวครับ ไม่ว่าจะเวลานี้หรือก่อนหน้านี้ เพราะทำให้รู้สึกว่าเป็นภาระอันหนักทีเดียว ที่จะสำรวมอินทรีย์ให้ดีได้ ทำให้ดูเหมือนว่า หนทางแห่งความหลุดพ้นไปจากห้วงสังสารวัฏฏ์นี้ช่างไกลตัวจริง แต่เมื่อพิจารณาให้หนักแน่นย้อนกลับมาที่วิธีการดูจิตนี้ ก็ให้มีความเห็นว่า แท้จริงแล้วการดูจิตนี้ก็เป็น อินทรีย์สังวรอยู่ในตัว ทำให้รู้สึกไปว่า มรรคผลก็ไม่ไกลเกินเอื้อม ไม่เกินความสามารถของมนุษย์ไปได้ แต่ก็มิใช่ว่าใครนึกอยากจะไปให้ถึงแล้วจะถึงได้ เพราะอินทรีย์สังวรนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าถึงอย่างไรเราก็ต้องใช้ความเพียร และต้องเป็นความเพียรใจอย่างที่หลวงปู่ชาท่านว่าไว้

สาธุ!!! สาธุ!!! สาธุ!!!

ส่วนผู้ที่ประมาทในธรรม ปรามาสการปฎิบัติธรรม จนเอ่ยคำพูดขึ้นว่า "นิพพานน่ะ อาตมาหลับตาประเดี๋ยวเดียวก็ได้แล้ว" ก็ได้รับผลแห่งการปรามาสการปฎิบัติธรรมแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้สึกตัว กำลังพยายามหาหนทางที่จะกอบกู้ชื่อเสียงขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ต้องไปพัวพันกับคดีเช็คเด้ง และคอนโดธรรมะ ก็ขอให้เราเก็บเอาไว้เป็นอุทาหรณ์สอนใจ

โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 08:49:49

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ นิพ วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 08:50:15
สาธุ ครับ _/I\_ เยี่ยม+ยอดจริงๆครับ
โดยคุณ นิพ วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 08:50:15

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 09:43:05
ถ้าสังเกตคำสอนของหลวงพ่อเทียน ท่าน กี และสิ่งที่พวกเราทำกันอยู่
จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันในหลักการขั้นพื้นฐาน
แต่ท่านกี จะมีความเข้มงวดกวดขัน และไม่ผ่อนปรนใดๆ ต่อกิเลส
ในขณะที่พวกเราซึ่งเป็นผู้ครองเรือน
จะปฏิบัติอ่อนแอกว่าท่านกี ซึ่งเป็นนักบวช
ดังนั้น จะให้ได้ผลเท่าท่านกี ก็เห็นจะยากครับ
เพราะธรรมะไม่มีลูกฟลุ้ค มีแต่ต้องทำเอาเอง

มีที่น่าสังเกตอยู่บางจุดคือ
การปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน และที่พวกเราทำกันอยู่
มักจะเคลื่อนไหวตามธรรมชาติธรรมดา
แต่ท่านกี จะให้เคลื่อนไหวช้าๆ
ให้ดูจิตเสียก่อนจึงเคลื่อนไหว ระหว่างเคลื่อนไหวก็ดูจิต เคลื่อนไหวแล้วก็ดูจิต

เรื่องการเคลื่อนไหวช้า เคลื่อนไหวปกติ หรือเคลื่อนไหวแรงกว่าปกติ
เป็นความแตกต่างในด้านวิธีการเท่านั้น
ใครถนัดอย่างไหน ทำแล้วดูจิตได้ชัด ก็ทำไปอย่างนั้นเถอะครับ
เพราะบางคนเคลื่อนไหวเร็ว จิตใจก็เตลิดไปเลยก็มี
บางแห่งเคลื่อนไหวช้า เช่นเดินก้าวหนึ่งกำหนด 7 จังหวะ
แต่จิตหลงอยู่กับการนับจังหวะก็มี
ดังนั้น อย่าไปยึดวิธีการ
มากกว่าความชัดเจนในการเจริญสติสัมปชัญญะ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 09:43:05

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 09:56:21
คุณพัลวัน ตีความแตกแล้วครับ

ดูจิตนี้แหละ ที่ทำให้เกิดอินทรีย์สังวร
ทำให้มีศีลครบถ้วนโดยไม่ต้องรักษา
ทำให้สามารถจำแนกรูปนามขันธ์ 5 ได้
และทำให้ประจักษ์ชัดถึงความไม่ใช่ตัวตนของตน ของขันธ์ 5

หากไม่สามารถมีสติสัมปชัญญะ ไม่มีธรรมเอก คือไม่สามารถดูจิตได้
จะพยายามให้มีอินทรีย์สังวรก็เป็นเรื่องยาก
การรักษาศีลก็เป็นเรื่องยุ่ง
จะจำแนกรูปนามขันธ์ 5 ก็ทำได้แค่ความคิด แต่ไม่เห็นจริง
และไม่เห็นความไม่ใช่ตัวตนของขันธ์ 5
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 09:56:21

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ พัลวัน วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 12:49:00
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ ไพ วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 13:30:12
     บังเอิญกำลังอ่าน "รวบรัดข้อปฏิบัติธรรม" ของท่าน ก.
     อยู่พอดี จึงขออนุญาตพี่ปราโมทย์มาพิมพ์ลงต่อท้าย
     กระทู้นี้เลยนะคะ  (คัดเลือกมาบางส่วน)
     ......................................................................
         สังเกตดูให้ดี ขณะไหนที่จิตมีความหยุดดู หยุดรู้ตัวเอง
     ตั้งมั่นอยู่ได้นานๆ นั่นแหละมันจะมีการรู้จริง เห็นแจ้งขึ้น
     จะเห็นพวกเกิดๆดับๆ คิดนึกปรุงแต่งทั้งหลายเป็นของหลอก
     ทั้งนั้น แต่ถ้าเราไม่มีสติปัญญารู้เท่าทันมัน ก็เห็นเป็นจริง
     เป็นจังไป แล้วก็เพลิดเพลิน ปรุงแต่ง วุ่นวายไป
         เบื้องต้นเราต้องพิจารณาแยกธาตุให้รู้เห็น
ความจริงของรูปที่ประกอบไปด้วยธาตุ 4 ซึ่งล้วนแต่
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวตนทั้งหมด ให้รู้เห็นอย่าง
ถูกต้องอยู่ในตัวเอง ต้องพิจารณาให้เห็นความว่างเรื่อย
ทีเดียว คือ เห็นมันเกิดขึ้น รู้สึกแล้วก็ดับไป รู้สึกแล้ว
ก็ดับไป เป็นการรู้ตรง ต้นขั้ว โค่นกิเลสได้มากทีเดียว
เพราะมันเกิดมาเรื่อยก็ต้องดับมันเรื่อยไป
จิตใจที่ว่างมันจะรวมกำลังของความรู้ มารู้ความว่างของ
กายและจิต เกิดขึ้นก็ดับไป เกิดขึ้นก็ดับไป เกิดขึ้นดับ
ทันทีอยู่อย่างนี้
      เพราะฉะนั้น การปฏิบัติต้องรวบรวมเอา
สติปัญญามารอบรู้ลักษณะของการเกิดดับล้วนๆ
เป็นข้อปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด ไม่ต้องไปจำ ไปคิด
อะไรมาก เพราะตรงเข้าไปอ่านตัวจริง และต้องรู้จริงๆ
รู้เข้ามาในจิตในขณะนี้ทีเดียว จึงจะเรียกว่ารู้จริง
     ..................................................................................

            ผู้ที่จำเป็นต้องออกไปสู่ที่คลุกคลี
แม้ว่าจะมีผัสสะอะไรมากมาย ก็พิจารณาให้เห็น
ความว่างของผัสสะทั้งหลายเสีย แล้วใจมันก็เข้าอย
ู่กับความสงบข้างในได้จะขึ้นรถลงเรือก็ให้จิตเข้าอยู่ใน
ความสงบ แล้วก็มองดูของภายนอกด้วยความว่าง
คนที่มีโอกาสอยู่ในสถานที่สงบ ก็ทำข้อปฏิบัติได้
ละเอียดหน่อย สำหรับคนที่ปฏิบัติอยู่กับบ้าน ก็ต้องสู้
กับอะไรหลายๆอย่าง แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ข้อสำคัญต้อง
ทำจิตให้สงบเป็นพื้นฐาน เพื่อที่จะต่อสู้เอาชนะกิเลส
ตัณหา พญามารในขั้นต่อไป ซึ่งต้องเรียนรู้และต่อสู้
อยู่ในรูปนามนี้
    เมื่อมีความปรกติเป็นกลาง ก็อาจจะเพ่งมองเข้าไป
ในส่วนลึกได้แล้ว ถ้าไม่ได้เพ่งมองเข้าไป
มันก็มาเพลินอยู่กับปรกติธรรมดา
ถึงจะไม่มีโทษทางผัสสะรบกวน
แต่มันก็ไม่รู้แจ้งแทงตลอด
ถ้าเราเพ่งดูอยู่บ่อยๆ ซ้ำเอาไว้ มันจะเปิดหนทาง
ให้เห็นแจ้งขึ้นมาได้ เช่น รู้ในลักษณะเกิดดับ
หรือรู้ในเรื่องกาย เวทนา จิต เหล่านี้ จะต้องรู้แยบคาย
เรื่อยทีเดียว
      ..........................................................................

      ปรกติวางเฉยเป็นพื้น แล้วก็มองเข้าไปในปรกตินี่
แล้วก็จะพบพระข้างใน ได้กวาดกิเลสทิ้ง ปล่อยวาง
ถ้าเฉยๆเมยๆ อยู่จะรู้อะไร มันก็จะเฉยไปเป็นโมหะ
นี่เฉยต้องรู้ด้วย รู้เฉยอยู่ อย่าให้ไปจับเรื่อง
จำ เรื่องคิด อดีต ปัจจุบัน อนาคต ไม่เอาแล้ว
หยุดดู หยุดรู้จิต ให้เห็นจิตข้างในให้ได้
ถ้ายังเข้าข้างในไม่ได้ ก็ให้ปรกติอย่างนี้
อย่าให้มันออกไปพอใจ ไม่พอใจอะไร
คอยสังเกตดูลักษณะของโมหะ มันเผลอเพลินไป
อย่างไร  ต้องสอดส่อง ค้นคว้า ไม่ใช่ทำเฉย
เริ่มแรกตั้งให้มันรู้ที่รู้ รู้อยู่ที่รู้ทีเดียว ตอนแรกขณะ
มีสุขมันก็เพลิน พอมีทุกข์มันก็ผลักไส
นี่เพราะการตั้งสติ เริ่มต้นมันยังไม่มั่นคง
ทีนี้ขณะสุขก็อย่าเพลิน ขณะทุกข์
ก็อย่าผลัก การตั้งหลักสติให้รู้ถี่ยิบ
ไม่ให้ไปมีความหมายในเวทนา ตัณหาก็เข้า
ปรุงจิตไม่ได้ รู้จิตอยู่ สุขเวทนา
ก็สักแต่ว่าสุข ทุกขเวทนาก็สักแต่ว่าทุกข์
อุเบกขาเวทนาก็สักแต่ว่าอุเบกขา จิตก็ยืนรู้
อยู่ที่จิตอย่างนี้ จะปล่อยเวทนา ได้  ทุกข์ก็รู้
สุขก็รู้ แต่ไม่ยึดถือ ดูเวทนาให้รู้เห็นชัดใน
ความเปลี่ยนแปลงของมัน
รู้ชัดก็รู้ ไม่รู้ก็รู้ เผลอก็รู้  ต้องรู้จักแก้ปัญหาของ
ตัวเอง มันไม่ง่าย แต่ก็ต้องเพียรดู เพียรรู้
เพียรพิจารณาให้รู้แยบคาย
ขณะเผลอเพลินไปกับลมหายใจนิดเดียว
ความรู้จะพร่าไปจากการรู้จิตแล้ว ที่จะรู้จิต
ให้ติดต่อต้อง สังเกตอย่างใกล้ชิด
มันเป็นของปัจจัตตังรู้ได้เฉพาะตัว
ต้องหาอุบายแก้ไขของตัวเองให้ได้
คำว่ารู้สึกตัวทั่วถึง หมายถึง การตามรู้ลมหายใจ
ทั้งเข้า ออก ยาว สั้น ต้องพยายามไม่ให้จิต
ไปคิดนึกอะไรอื่น ให้รู้ที่ลม เล่นกับลมไปก่อนก็ได้
อย่าหวังจะนั่ง ให้สงบอย่างเดียว
ต้องตรวจดูลมหายใจ เข้าออกมันปรกติไหม
แล้วการนั่ง ให้ตัวตรงดำรงสติมั่น
ลมหายใจเข้าออกปรกติ ถ้าหายใจไม่ปรกติ
จิตก็ไม่ปรกติด้วย
สังเกตดู ถ้าหายใจแรง หยาบ ก็แสดงว่าจิต
ยังไม่ปรกติ ถ้าหายใจปรกติ เบา จิตก็เริ่มสงบ
ข้อสำคัญต้องกำหนดรู้ลมให้ได้ติดต่อ
คำว่ารู้สึกตัวทั่วถึง คือ หายใจด้วยการมีสติ
ต้องพิจารณาของตัวเองว่า หายใจด้วยการ
มีสติเป็นอย่างไร
การกำหนดไม่ใช่การท่องเอา ต้องรู้ลมเข้าออก
พร้อมกับที่มันเข้าออกจริงๆ จะทำให้จิตสงบง่าย
พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ก็ใช้อานาปานสติ
เป็นวิหารธรรม เป็นที่อยู่ของจิต ไม่ให้จิต
ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ ต้องฝึกด้วยความสนใจ
ถ้าลมละเอียดจิตก็เริ่มสงบ
     .......................................................................................
     
       ที่สวดกันอยู่ในขันธวิจารณ์นั่นแหละ
เป็นเครื่องรู้อยู่ว่า พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร
สอนให้รู้อยู่ เห็นอยู่ ในความเกิดดับของขันธ์
มันจึงจะละอาสวะได้  ต้องนำพุทธภาษิต
มาสอบ จึงจะรู้ว่าที่เราว่ารู้รู้ นี่น่ะ รู้ไปตาม
สัญญา จำข้อความได้ ไม่ได้รู้จริง ไม่ได้เห็น
แจ้งในความเกิดดับ เปลี่ยนแปลงของขันธ์ 5
อยู่ทุกขณะ ที่เรียกว่าปัจจุบันธรรม              
ถ้ารู้ขันธ์ 5 เกิดดับอยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้จริงๆ
นั่นแหละจึงจะละอาสวะ คืออวิชชา
ความไม่รู้จักรูป หลงรูป ทีนี้มารู้อยู่เดี๋ยวนี้ว่า
รูปมีความทรุดโทรมอยู่อย่างนี้ตลอดจน
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปรากฏให้เห็น
อยู่อย่างนี้
รวมความรอบรู้อยู่ภายในตัวเอง  เห็นขันธ์ 5 แสดง
ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตาม
กฏธรรมชาติซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ถึงจะละ
อวิชชาที่เป็นอาสวะตัวสำคัญได้
    ................................................
   อย่าไปเข้ากับตัวเองว่าเราอยู่อย่างนั้นอย่างนี้
ไปจารไนหลายรู้นั่นแหละ มันยิ่งหลงรู้  ทีนี้รู้หนึ่ง
ให้ซึ้งเข้าไป มันต้องรู้อย่างเดียวให้แทง
ตลอดเข้าไป เกิดดับ เกิดดับ ตามธรรม
ชาติทั้งหมด ให้รู้เกิดดับตามธรรมชาติ
ของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ที่มันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องตาม
ราวของมัน  แต่ว่าดูให้มันซึ้งเท่านั้น              
พระพุทธเจ้าท่านทรงเน้นหนักในเรื่องนี้แหละว่า
"ตถาคตรู้พร้อมเฉพาะอยู่ ถึงพร้อมเฉพาะอยู่ซึ่งธาตุนั้น"
นี่เรารู้หรือเปล่า รู้พร้อมเฉพาะอยู่หรือเปล่า
ถึงพร้อมเฉพาะ อยู่หรือเปล่า เรื่องธาตุนั้น
ถ้ามันเป็นเพียงสัญญา จำได้ มันก็เลยไม่รู้จริง
ถึงจะรู้ขึ้นมาบ้างบางครั้งคราวแล้วมันก็เลือนลางไป
เพลิดเพลินไป
      ..................................................................................
            
      ถ้าพิจารณาแล้วจะรู้ได้ว่า  การอบรมจะไป
ทำเฉยๆเมยๆไม่ได้  จะต้องรู้อยู่ทีเดียว อย่าให้ขาด
ระยะแม้แต่กระพริบตา
      การเพ่งดูเฉยๆนี่เป็นการพิจารณา
ละเอียดกว่าที่คิดเอา ที่มีเจตนาเข้าไปคิด
นั่นก็เพื่อปลุกจิตให้ตื่นในขั้นต้น  แต่จิตที่สงบ
รู้อยู่แจ่มแจ้ง แจ่มใส จะไปเจตนาคิดไม่ได้
มันจะฟุ้งซ่าน ที่มันแจ่มใส  รู้อะไรแล้วก็ไม่ยึดถือ
อย่างนี้เราควรดูอยู่ที่ดูนั่นเป็นการพิจารณา
เป็นการเพ่งให้รู้ชัดยิ่งขึ้น ไม่ใช่ใช้ความคิด
      ………………………………………………………………………………………… ต้องแยกให้รู้ว่าอย่างไหนเรียกว่า
  พิจารณา อย่างไหนเรียกว่าใช้ความคิด
พอบอกให้พิจารณาก็นึกว่า ต้องใช้ความคิดเรื่อย
ไม่ใช่เพ่งดูเฉยๆ
เช่นการพิจารณาเกิดดับ เราจะไปว่ามันเกิดแล้ว
มันก็จะดับไป มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป  ถ้าไปว่า
อย่างนี้แสดงว่ายังไม่รู้
    ………………………………………………………………….การจะดูเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปนี่ ต้องมีสติแนบแน่น
อยู่กับจิต ดูเฉยๆ ไม่ใช่คิด แนบดูอยู่กับจิตที่รุ้สึก
แล้วก็ดูความรู้สึกนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ถ้าดูตัวจริง
  ต้องดูแบบนี้
………………………………………………………………………………… ยืนหลักความรู้ให้ติดต่อให้ได้ แล้วจึงจะทำให้นิวรณ์
ดับสลาย ยืนรู้ไว้นะ รู้ไว้อย่างเดียว รู้ในรู้ ให้ติดต่อให้ได้
จะรู้ลมหายใจไปก่อนก็ได้ แล้วก็มารู้จิต
ทุกลมหายใจเข้าออกก็ได้ แล้วรู้ในรู้
  รู้เข้าไปข้างใน อย่าให้ออกข้างนอก
  คอยกำหนดรู้ให้ดีนะ
  รู้จิตในจิตให้ติดต่อเข้าไปข้างในให้รู้ให้ได้
แล้วก็อย่าไปอยากจะรู้อะไรมากๆ
เพราะมันจะไปตันอยู่ ที่ว่า รู้จิตแล้วจะรู้อะไรอีกล่ะ
อย่าไปสงสัยแบบนั้น ถ้าไปสงสัยแบบนั้นมันยังไม่ฉลาด
คือรู้จิตในจิต ให้ทั่วถึงสิ มันถึงจะพิเศษ
พญามารมันก็มาหลอกว่ารู้จิตเท่านี้ ก็ไม่เห็นจะ
มีอะไรเลย มันมาหลอกเสียก่อน ที่แท้รู้อย่างนี้ มันก็รู้
ไม่ลึกซึ้งเลย พญามารก็เลยมาหลอกเข้าอีก แล้วก็อยาก
จะรู้อะไรให้วิเศษขึ้นมาหลายๆอย่าง นั่นแหละมันถูกหลอก
โดยกิเลสตัณหานั่นเอง
    รู้ให้ทะลุเข้าไปข้างในทีเดียว ไปดูกันจริงๆว่า
มันมีอะไรบ้างจำ คิด ยึดถืออะไรต่ออะไร นี่มันได้อะไร
มันได้ทุกข์ใช่ไหม ถามดูข้างในนั่นแหละ รู้เข้าไปเถอะ
มันจะมีอะไรเกิดขึ้น ก็ดูนั่นแหละ มันดับ  ความจำ
เกิดแล้วมันดับไหม ความคิดเกิดปรุงจิต
แล้วมันดับไหม ดูความดับของมันไปตาม
ธรรมชาติเท่านั้น ตาจะสว่าง จะตื่น ไม่ง่วง
  หรอก
    ………………………………………………………… ทีนี้ก็เพ่งดูจะใช้ความคิดบ้างก็ได้ เพราะจิตมัวซัว
  นี่มันไม่เอาอะไร ไม่อยากรู้อะไร ต้องมีการ
คิดให้รู้ เป็นการปลุกมัน แต่ไม่ใช่คิดฟุ้งซ่านสัพเพเหระ
ต้องคิดให้รู้  เมื่อรู้ย้ำไว้มันก็อยู่ภายใน ถ้าไม่
ย้ำมันก็หนีไปทางอื่น
  ถ้าเราสำรวม ปิดกั้นทวารทั้ง 5 ทั้ง 6 นี่แล้ว จิตจะไม่
ไปไหน มันรู้อยู่ภายใน เกิดดับไปอย่างไรก็รู้ รู้อยู่เป็นประจำ
  ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ไป
          ……………………………………………………………………………………………………….
โดยคุณ ไพ วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 13:30:12

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 14:59:25
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ Lee วัน พฤหัสบดี ที่ 15 มิถุนายน 2543 21:03:50
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ tuli วัน เสาร์ ที่ 17 มิถุนายน 2543 20:04:19
ขอบคุณครับ ช่วยเป็นกำลังใจและกระตุ้นความเพียรได้อย่างดี
โดยคุณ tuli วัน เสาร์ ที่ 17 มิถุนายน 2543 20:04:19

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ นิดนึง วัน อาทิตย์ ที่ 18 มิถุนายน 2543 21:44:26
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ ปิ่น วัน พุธ ที่ 21 มิถุนายน 2543 13:49:42
_/|\_สาธุและขอบพระคุณมากครับ
โดยคุณ ปิ่น วัน พุธ ที่ 21 มิถุนายน 2543 13:49:42

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com