กลับสู่หน้าหลัก

วิปลาสที่เคยเป็น

โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 16 มิถุนายน 2543 09:01:34

ในช่วงเวลาที่ยังอยู่ในวัยเรียนมหาวิทยาลัย
ผมไม่เคยที่จะสนใจในพระพุทธศาสนาเลย
อาจจะเป็นเพราะผมเพลิดเพลินอยู่กับการทำกิจกรรม
ยังสนุกอยู่กับเพื่อนฝูงมากมาย
และเห็นว่า ผู้ปฎิบัติธรรม ช่างมีชีวิตที่น่าแปลกใจ
คือไม่ทราบว่าเขาดำรงชีวิตอยู่อย่างนั้นได้อย่างไร
ทำไมเขาไม่เบื่อที่จะทำอะไรซ้ำๆกันทุกวัน
ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น
ไม่มีอะไรที่น่าท้าทายเลย
ในวัยนั้นผมยังเพลิดเพลิน
อยู่กับการคลุกคลีกับหมู่เพื่อนฝูง
แม้แต่การสนใจในการเรียน ก็เรียกได้ว่าน้อยมาก
มีความเชื่อมั่นในตัวเองค่อนข้างสูง
ว่าทำอะไรก็ต้องสำเร็จ
ใฝ่ฝันที่จะเป็นเจ้าของกิจการของตนเอง

จบออกมาจากมหาวิทยาลัย
ได้ออกมาพบกับชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง
แตกต่างไปจากชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เพราะอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย
ก็อยู่กันแบบพี่ๆน้องๆ
ไม่เหมือนกับชีวิตการทำงาน
ที่มีการแข่งขัน ดิ้นรน กันอีกมากมาย
แม้มีเพื่อนแต่ก็ไม่เหมือนเพื่อนในวัยเรียน
ที่ปราศจากการแสวงหาประโยชน์จากเพื่อนด้วยกัน
จริงอยู่ว่าในสมัยเรียนอาจจะมีบ้าง
แต่ก็น้อยจนผมไม่ใส่ใจ
และไม่จดจำเอาไว้

เมื่อได้มาทำงาน
ก็รู้สึกว่า ความอบอุ่นหายไป
ผมจึงแสวงหาความอบอุ่นใหม่
เพื่อชดเชยความอบอุ่นที่เคยมี
ด้วยความที่เป็นคนรักการอ่าน
ผมจึงเข้าร้านหนังสือบ่อยๆ
มีอยู่มาวันหนึ่ง
ผมก็ไปเห็นหนังสือธรรมะ
ของอาจารย์พุทธทาสภิกขุ
อยู่ในรูปเล่มที่น่าอ่าน
คือใช้กระดาษปอนด์ขาวพิพม์อย่างดี
ไม่เหมือนหนังสือสวดมนต์ทั่วไป
ที่ใช้กระดาษเหลืองพิมพ์
และพิมพ์ด้วยตัวอักษรที่ไม่น่าอ่าน
ผมจึงเลือกที่จะควักกระเป๋า
ซื้อหนังสือ คู่มือมนุษย์ มาอ่าน
ไม่ใช่หนังสือเล่มเล็กๆ
และไม่ใช่หนังสือที่อ่านสนุก
ดังเช่นหนังสือนวนิยาย
แต่เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาหนักแน่นมาก
แต่เป็นเนื้อหาที่ท้าทายความอยากรู้อยากเห็น
ที่มีอยู่มาแต่เดิมของผมเอง

เริ่มต้นอ่านหนังสือ คู่มือมนุษย์ เล่มนี้
ก็รู้สึกว่าตัวเองตัดสินใจได้ถูกแล้ว
เพราะหนังสือเล่มนี้
ได้ให้คำตอบอะไรหลายๆอย่าง
ที่ผมเคยสงสัย
และไม่คิดว่าผมจะหาคำตอบได้โดยง่าย
นอกจากต้องบวชเรียนเท่านั้น

ในวัยเด็ก
ผมมักจะไปวัดกับย่า กับอา เป็นประจำ
หากเป็นช่วงปิดเทอม
ไปทุกวันพระ
และก็แปลก ที่ชอบฟังธรรม
เวลาพระเทศน์ จะนั่งฟังตาแป๋ว
อันที่จริงคงจะต้องบอกว่า
ผมเป็นคนชอบฟังผู้ใหญ่คุยกัน
เพราะผู้ใหญ่ชอบคุยกันในเรื่องที่ผมยังไม่รู้

แต่การฟังเทศน์ฟังธรรม
มักจะมีศัพท์แสงอะไรที่ผมก็ไม่รู้
อะไรคือสังขาร
อะไรคือวิญญาณ
อะไรคือเวทนา
อะไรคือสัญญา
แม้จะไม่รู้ในศัพท์แสงเหล่านี้
ผมก็ชอบฟังเทศน์อยู่ดี

ในหนังสือ คู่มือมนุษย์ นี้
ได้ให้คำตอบอะไรกับผมหลายๆอย่าง
เช่นขันธ์ 5 คืออะไร
อุปาทาน 4 คืออะไร
ตัณหา 3 คืออะไร
และเรื่อยไปถึงเรื่องของสังโยชน์เป็นต้น

จำได้ว่า ในครั้งแรกที่อ่านพบเรื่องอุปาทาน
ผมก็เข้าใจได้ทันที
ว่านี่แหละคือตัวทำให้ต้องมีชาติหน้า
เพราะเนื้อหาคำอธิบาย
ของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ
อธิบายให้เห็นถึงความชัดเจน
ถึงเรื่องอุปาทาน

จากนั้นเมื่อผมศึกษาเรื่องผัสสะ
จากหนังสือของท่านพุทธทาส ภิกขุ
ทัศนคติของผมก็เริ่มเปลี่ยนไปอีก
เพราะในคำสอนนี้ของท่าน
ท่านได้เอ่ยถึงคำว่าวิญญาณค่อนข้างมาก
เพราะเป็นเนื้อหาหลักของผัสสะ
ท่านอธิบายว่า
พระพุทธเจ้าทรงแสดง วิญญาณในผัสสะนี้เท่านั้น
พระพุทธองค์ไม่เคยทรงแสดงแม้แต่สักครั้งเดียว
ว่ามี ปฏิสนธิวิญญาณ
ดังแสดงไว้ในคัมภีร์อภิธรรม
จุดนี้เริ่มทำให้ผมเกิดความไขว้เขว
ว่าจริงๆแล้ว
ชาติหน้าไม่มี ชาติก่อนไม่มี
แล้วก็เลยเถิดไปเชื่อว่า
เรื่องชาติภพแบบที่ต้องไปเกิดอีก
เป็นเรื่องที่คนโบราณท่านแต่งขึ้น
เพื่อหลอกให้คนกลัวบาปกลัวกรรมเท่านั้น
ทั้งๆที่ท่านพุทธทาส ภิกขุไม่ได้แสดงว่า
เกิดชาติหน้าไม่มีอย่างชัดเจน
ท่านเพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า
ควรจะมีสนใจในปัจจุบับนี้ดีกว่า
ที่จะไปคิดถึงเรื่องการเกิดใหม่ในชาติภพใหม่
อย่างที่คนไทยยุคเก่าเชื่อกันอยู่เท่านั้น
วิปลาสก็เริ่มเกิดขึ้นกับผมแล้ว

นอกจากเรื่องนี้แล้ว
เรื่องของ ความไม่ยึดมั่นถือมั่น
ก็กลายเป็นเชื้อไฟที่โหมให้
ความวิปลาสเกิดกับผมมากขึ้นไปอีก
ผสมกับการศึกษาเซน
ในเซนมีเรื่องของการฉีกตำราอีกด้วย
ทำให้ผมยิ่งคิดไปว่า
ความพยายามที่จะรักษาศีลเป็นสิ่งที่ผิด
การยึดมั่นในศีลเป็นเรื่องที่ผิด
เพราะเท่ากับเป็นการยึดถือ
หรือเป็นการ ยึดมั่นถือมั่น
เท่ากับต้องคอยตรวจสอบ
เป็นเรื่องพะรุงพะรัง
เป็นเพียงมาตรการของคนโบราณ
ที่วางไว้ไม่ให้เกิดความวุ่นวายในสังคม
เท่านั้นเอง
แท้จริงแล้ว
เราทำตัวเราเอง ไม่ให้เดือดร้อนคนอื่นก็พอ
ด้วยความคิดอย่างนี้
ผมก็ยังนิยมร่ำสุราไม่เลิกรา

แต่จากจุดวิปลาสในเรื่องของศีล
เป็นของเห็นง่าย
เพราะมันขัดแย้งกับสังคมที่เคยเป็นอยู่ เคยรับรู้ อย่างสิ้นเชิง
จึงเกิดความขัดแย้งในใจอย่างรุนแรง ไม่ลงตัว
ก็เพราะว่า
หากศีลไม่สำคัญ แล้วทำไมพระพุทธเจ้าไปบัญญัติศีลไว้ให้พระตั้งเยอะแยะ
ตั้ง 227 ข้อ?

มีเพื่อนคนหนึ่ง
ก็ชอบศึกษาเซนเหมือนกัน
และศึกษาหนังสือธรรมของท่านพุทธทาส ภิกขุเหมือนกัน
และเขาคิดว่า เขาไม่อยู่ในกฎทุกกฎ
เขาไม่ยึดถืออะไร
ดังนั้น หากมีกฎมากำหนดตัวเขา
เขาก็จะทำลายกฎนั้นทันที
จากจุดนี้ทำให้ผมเห็นว่า
ที่จริงเขาก็มีกฎอยู่กฎหนึ่ง
ประจำตัวเขา
คือ ต้องทำลายกฎทุกกฎ ที่จะมาใช้กับเขาโดยที่เขาไม่ได้ตั้งขึ้น
ผมเลยคิดว่า มันต้องมีอะไรในความไม่ยึดมั่นถือมั่น

ยังมีอีก
การตีความเรื่อง สีลัพตุปาทาน
ที่ผมตีความาจากอรรถธิบายของท่านพุทธทาส ภิกขุ
ยิ่งทำให้ผมเข้าใจไปว่า
การยึดถือในศีลนั่นแหละ
คือตัวปิดกั้น มรรค ผล นิพพาน

ทำให้ผมยิ่งเพี้ยนไปกันใหญ่

เหตุการณ์ 2 - 3 เหตุการณ์ ที่ผมเล่ามานั้น
ผสมผสานคลุกเคล้าในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน
จนวิปลาสเรื่องศีลเกือบจะสมบูรณ์
ดีแต่ว่าผมตั้งใจที่จะไม่ทำร้ายใคร
ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์
มาแต่เด็กเล็กๆแล้ว
จึงไม่วิปลาสในศีลทั้งหมด
จะมีก็คือข้อ 5 เท่านั้น
ที่มีข้ออ้างว่า เราไม่ได้ทำร้าย
จึงทำผิดเป็นประจำ

เวลาผ่านไปเกือบปี
ผมกลับมาอ่านหนังสือ คู่มือมนุษย์ ใหม่อีกครั้ง
เมื่ออ่านไปถึงคำว่า อริยกันตศีล
ศีลที่พระอริยะชมชอบใจ

ก็ตกใจเป็นกำลัง
ว่าเราเข้าใจอะไรผิดไปหมดแล้ว
แท้ที่จริงจำเป็นต้องรักษาศีลจริงๆจังๆต่างหาก
ทำให้เป็นปกติ ตามความหมายที่ท่านพุทธทาส ภิกขุ ได้แสดงความหมายของศีลเอาไว้
แต่ในตอนนั้นแรงดื้อยังมีมาก
ยังไพล่ไปตีความอีกว่า
หากดื่มสุราไม่ให้เมา ก็ไม่ผิดศีลหรอก

ในช่วงเดียวกันนั้น
ก็ได้อ่านหนังสืออีกเล่มหนึ่งของ ท่านพุทธทาส ภิกขุ
คือเรื่องกรรม
มีตอนหนึ่งท่านได้กล่าวถึง อาสันนกรรม
ท่านได้แสดงไว้ว่า
เป็นกรรมที่ทำก่อนตาย
และมีผลมาก
เป็นตัวส่งให้ไปเกิดในภพภูมิต่างๆ
ก็เริ่มคิดว่า
เอ... ท่านพุทธทาส ภิกขุ ก็ไม่ได้ปฎิเสธ ชาติ ภพ นี่นา
ความเชื่อก็เริ่มคลอนแคลนไปแล้ว
ว่าชาติภพต้องมีกระมัง
(ทั้งๆที่ตอนแรก ที่เริ่มศึกษา
ก็เห็นว่า ชาติ ภพ อย่างคนโบราณเชื่อกันนั้น
มีอยู่แน่ๆ
เพราะมีอุปาทาน
แต่ต่อมาก็เพี้ยนได้)

และยิ่งได้ไปอ่านเรื่อง
มิจฉาทิฎฐิ 62 ประการ
ที่ ท่าน พุทธทาส ภิกขุ ได้อธิบายไว้
ก็ยิ่งมั่นใจ
ว่าท่านก็รู้ ว่าการปฎิเสธชาติภพเช่นนั้น
เป็นมิจฉาทิฎฐิ เป็นอุจเฉทิกทิฎฐิ
แต่ตอนนั้นใจก็ยังไม่ลงให้อย่างสมบูรณ์นัก
ยังเหลือเป็นตะกอนนอนก้นอยู่ในใจ
นานๆก็โผล่มาให้เกิดเป็นข้อสงสัยกันทีหนึ่ง

ต่อมาได้ไปกราบ หลวงพ่อสีทน สีลธโน แห่งวัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลย
ก็พกตัวสงสัยไปเต็มกำลัง
สงสัยตัวแรกก็คือ
ใจเป็นผู้เก็บกรรมใช่หรือไม่?
เพราะมองหาไม่เห็น
ว่าที่ไหนจะบันทึกกรรมเอาไว้ได้
ท่านก็ตอบมาว่าใช่
ผมจึงถามคำถามต่อมาว่า
กินเหล้าแค่ไหนจึงผิดศีล?
คือตั้งใจจะถามว่า กินเหล้าแล้วมึนแค่ไหน จึงจะผิดศีล
แต่คำตอบที่ หลวงพ่อสีทน ตอบกลับมา
นอกจากไม่ตอบตามที่เราคิดสงสัยแล้ว
ยังกระทบใจมาก
และเคาะความเห็นผิดตรงนี้ออกไปได้ด้วย
ท่านตอบว่า
แค่ล่วงลำคอ
เป็นอันยุติการตีความศีลข้อที่ 5
เรียบร้อยลงได้ในเวลาไม่ถึง 10 วินาที
จำได้ว่าในขณะนั้น
จิตใจมิได้เศร้าโศกเสียใจ
ที่หลวงพ่อท่านตอบแบบนี้
แต่รู้สึกว่าช่างเบาสบายใจจริงๆ
ปลดปลงภาระลงไปได้อีกเรื่องหนึ่ง
แต่ยังไม่ถึงกับขั้นถอดถอนความยินดีในการดื่มเหล้าได้
เพียงแต่ทำให้เกิดความรำคาญตนเอง
ที่ต้องไปกินเหล้า
มากกว่าที่จะยินดีในการกินเหล้า

หลังจากนั้นมาอีกประมาณปีเศษ
ได้พบกับ ครู (คุณอาสันตินันท์)
หลังจากที่ได้โต้ตอบ e-mail กันมาพักหนึ่ง
ผมก็ไปกราบขอเรียนวิชาดูจิตกับครู
พอดีว่าไปพบครั้งแรก
มีคนไปรอพบครูอยู่มาก
และผมก็ไปสายด้วย
(ตอนนั้นก็ยังนิยมดื่มสุราในเย็นวันหยุดอยู่ด้วย)
และมีหลายท่านที่มาจากต่างจังหวัด
ผมก็เลยยังไม่ได้ศึกษาอะไร
จึงต้องขอนัดพบอีกครั้งหนึ่ง

ไปครั้งที่สอง
ผมมีความมุ่งมั่นมาก
ว่าจะต้องเรียนวิชาการดูจิตให้ได้
และคิดเลยเถิดไปด้วยว่า
จะต้องทำให้ได้ดีกว่าคนอื่นๆให้ได้
แต่เอาเข้าจริง
ผมกลับ เหลว ที่สุดเลย
เพราะก่อนไป
ก้ไปคิดเข้าเสียก่อนแล้วว่า
ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้
ก็เลยผิดเสียแต่แรก
ดังนั้นในวันนั้น
ผมกลับมามือเปล่า
แต่ก็ไม่เปล่าเสียทีเดียวหรอกครับ
เพราะผมได้ตระหนักรู้ว่า
สตินี้เป็นของสำคัญอย่างยิ่ง
และมิใช่ของที่จะได้มาง่ายๆ
ต้องฝึกฝนกันอย่างหนัก
แล้วเราจะมาทำลายสติที่เรามีอยู่น้อยนิดนี้
ดวยการดื่มสุราอยู่ได้อย่างไร
นับจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้
ก็เป็นเวลาถึงปีครึ่งแล้ว
ที่ผมไม่ได้ดื่มสุราและรวมถึงไวน์และเบียร์
และของเมาอื่นๆด้วย
เว้นแต่อาจจะมีมาในอาหาร หรือ ขนม
เช่นในอาหารจีนที่เขาอาจจะใส่เหล้าจีนมาเล็กน้อย
หรือในขนมเช่นเค้กผลไม้ ที่เขาใส่หมักผลไม้
หรือในคุ้กกี้
มีเท่านี้เองที่อาจจะเคยทานเข้าไป

ในช่วงเวลาปีกว่าๆที่ผ่านมา
ไม่มีความรู้สึกอยากจะดื่มเหล้าอีกเลย
เวลาที่ไปเดินใน LOTUS
เดินผ่านชั้นวางเบียร์
บางทีภรรยาก็แกล้งลองใจ
ถามว่าไม่เอาสักหน่อยเหรอ
แรกถามทุกครั้งที่เดินผ่าน
ผมก็ส่ายหน้าเสมอ
หลังๆนี้เลิกเล่นมุขนี้ไปแล้ว
เพราะอีกฝ่าย(คือผม)ไม่ตอบสนอง
เป็นอันว่า วิปลาสในศีลข้อที่ 5 นี้
ก็จบลงไปได้

ส่วนเรื่องของชาติภพที่หมายถึง ภพหน้า
ตามที่คนไทยโบราณเชื่อถือกันนั้น
มาหายไปเมื่อได้ฝึกฝนตามแนวทาง วิชาดูจิต
ได้รู้ได้เห็นว่า
จิตผู้รู้ แยกออกจาก อารมณ์ที่ถูกรู้
และยิ่งเห็น กายเป็นก้อนธาตุก้อนหนึ่ง ไม่ได้เป็นสุข เป็นทุกข์
และได้เห็นว่า ที่สุขที่ทุกข์ มันเกิดขึ้นที่ใจทั้งนั้น
ก็ทำให้มีความเห็นว่า ก็ใจนี่แหละ ที่ทำให้เกิดภพเกิดชาติ
จึงไม่มีความสงสัยในเรื่อง ภพ ชาติ อีกต่อไป
แม้ว่าตนเองยังไม่สามารถเห็นตัว อุปาทาน ได้ทัน
แต่จากการที่เห็นว่า กาย กับ ใจ แยกจากกัน
ก็ไม่สงสัย เรื่องภพหน้า ชาติหน้า อีกต่อไป

อันที่จริงก็มีอีกเรื่องหนึ่ง
ที่หากไม่เล่าเพิ่มเติม ก็อาจจะทำให้เรื่องนี้ไม่สมบูรณ์
คือความสงสัยในพระไตรปิฎก
เพราะเคยได้รับรู้มาว่า
พระไตรปิฎกนี้ มีทั้งส่วนจริง ส่วนเท็จ
จนสงสัยไปหมด
ทำให้ไม่แน่ใจ เชื่อใจไม่ลง
เวลาระลึกถึงพระไตรปิฎกแล้ว
จิตใจก็มีอาการโลเลทุกคราไป
จนกระทั่งมีวันหนึ่ง
ได้ไปกราบ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
ที่กระทรวงอุตสาหกรรม
โดยการย่องไปกราบเรียนถามท่านในข้อสงสัยบางประการ
มีตอนหนึ่ง จู่ๆท่านก็แสดงธรรม
โดยยกมาจากพระไตรปิฎก
โดยเป็นเรื่องเล่า
มิใช่ ธรรม จากพระโอษฐ์ ดังเช่นพระสูตร
แต่ในขณะที่ท่านเล่าให้ฟังนั้น
ท่านได้แสดงให้เห็นถึงความมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ไหวติง
ต่อพระไตรปิฎก
ปราศจากความสงสัยทั้งปวง
ท่านไม่ได้แสดงอาการอะไร
แต่จากการรับรู้
รู้ว่าท่านมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ไหวติง
เมื่อผมได้รับรู้แล้ว
ความสงสัยในพระไตรปิฎกก็มลายหายไป
ไม่เหลือเอาไว้ในใจเลย
และมีผลทำให้
อ่านพระไตรปิฎกด้วยความซาบซึ้ง
พระกรุณาในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกมากมาย
เกิดเป็นปีติบ่อยครั้ง มากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด

เรื่องวิปลาสหลักๆของผม ก็คงจะจบแต่เพียงเท่านี้ครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 16 มิถุนายน 2543 09:01:34

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 16 มิถุนายน 2543 10:35:02
เรื่องทิฏฐิวิปลาส(ความเห็นเพี้ยน) ที่คุณพัลวันเป็น ผมก็เคยเป็นอยู่หลายข้อ
เพราะศึกษางานเขียนของท่านอาจารย์พุทธทาสอย่างไม่รอบคอบเช่นกัน

ผมภาวนามาตั้งแต่เด็ก
แต่นอกจากส่งจิตออกนอกเที่ยวรู้เห็นอะไรไปตามกิเลสแล้ว
ไม่เข้าใจเลยว่า จะเจริญสติให้เกิดปัญญาได้อย่างไร
พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เป็นนักทำกิจกรรม
ประกอบกับยุคนั้น ชมรมพุทธ ศึกษากันแต่คำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส
ผมก็พลอยได้เปลือกคำสอนของท่านมานิดหน่อย

เพราะไม่ได้ศึกษาคำสอนของท่านให้ลึกซึ้งพอ
จึงเกิดวิปลาสว่า ชาติหน้า ไม่มี ตายแล้วสูญ
นรกสวรรค์ เป็นอุบายหลอกให้คนละชั่ว-ทำดี สังคมจะได้สงบสุข
(สิ่งที่รู้เห็นภพภูมิต่างๆ ในสมาธิมาตั้งแต่เด็ก ก็มั่นใจว่าเป็นสิ่งที่จิตหลอน)
พระไตรปิฎก เป็นเปลือก ไม่ใช่แก่น ฉีกทิ้งเสียก็ได้ด้วยความไม่ยึดมั่น
พระ คือคนธรรมดาที่เอาเปรียบสังคม
เว้นแต่พระที่ทำประโยชน์โดยสอนแก่นธรรมแห่งความไม่ยึดมั่น
วัด เป็นตัวทำลายทรัพยากรที่ไม่มีประโยชน์อะไร
พระพุทธรูป คือทองเหลือง อิฐปูน ยิ่งกราบ ยิ่งโง่
ยิ่งตอนไปบวชอยู่วัดชลประทาน
อาจารย์บางองค์สอนว่า การถือศีลต้องถืออย่างฉลาด
ก็เลยกลายเป็น ถือศีลอย่างฉลาดแกมโกง
นอกจากนี้ ก็ชำนาญมากในการมองเรื่อง "ภาษาคน-ภาษาธรรม"
บรรดาคำสอนทั้งหลาย สามารถตีความให้รับใช้กิเลสตนเองได้ทั้งสิ้น

ทิฏฐิวิปลาสเหล่านี้มีอยู่เรื่อยมาจนจบจากมหาวิทยาลัย
บุญเหลือเกินได้ไปทำงานร่วมกับท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
ท่านคงสมเพชเต็มทีก็เรียกตัวไปสอนให้รู้ถึงคำสอนในพระไตรปิฎก
(กราบ กราบ กราบ - ทุกคราวที่นึกถึงท่าน)

เรื่องแรกที่ท่านจัดการกับผมก็คือ เรื่องตายแล้วสูญ
ท่านเริ่มสอนตั้งแต่พรหมชาลสูตร(ทิฏฐิ 62)
สอนถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้วทรงอุทานทักตัณหา
ว่าตัณหาเป็นนายช่างผู้สร้างเรือน(ภพชาติ) มานับภพชาติไม่ถ้วน
แล้วก็สอนพระไตรปิฎกให้เรื่อยๆ ตามโอกาสจะอำนวย
จนผมแน่ใจแล้วว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนว่าตายแล้วสูญ

พอตายแล้วไม่สูญ คราวนี้ก็ง่ายที่จะเรียนเรื่องอื่นๆ
จนต่อมาผมได้ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ดูลย์
จึงรู้ชัดว่า ธรรมก็คือธรรม ท่านสอนคำไหนก็คือคำนั้นไม่ต้องตีความ
คำว่า ภาษาคน-ภาษาธรรม
เป็นเพียงการตีความเพื่อให้คนที่เชื่อวิทยาศาสตร์รับฟังได้

ทิฏฐิวิปลาส/ความเห็นเพี้ยน เป็นของน่ากลัวอย่างยิ่ง
ถึงขนาดจะทำลายพระไตรปิฎก ทำลายวัดวาอาราม
ไม่กราบไหว้พระพุทธรูป ฯลฯ เพื่อให้คนเข้าถึงแก่นพุทธศาสน์
นับเป็นจุดตั้งต้นพาไปสู่ความเสื่อมของศีล สมาธิ ปัญญา
ทำให้เราทำผิด โดยคิดว่าเราทำถูกแล้ว

การจะศึกษาพระพุทธศาสนา จึงต้องเริ่มที่เรื่องทิฏฐิ
ต้องให้ผู้ศึกษามีสัมมาทิฏฐิเสียก่อน
ถ้าปราศจากสัมมาทิฏฐิเสียแล้ว
โอกาสวิบัติ มีมากเหลือเกิน
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 16 มิถุนายน 2543 10:35:02

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 16 มิถุนายน 2543 10:44:18
ได้อ่านที่ครูเขียน ทำให้ผมนึกถึงเรื่องเก่าเรื่องหนึ่งได้ครับ คือมีความเห็นที่เพี้ยนไปมาก ถึงขนาดจะไม่กราบพระสงฆ์เช่นกัน ตรงนี้ยังนึกไม่ออกครับว่ามีที่ไปที่มาอย่างไรครับ คือจะกราบแต่พระพุทธรูปเท่านั้น เพราะเข้าใจในเจตนาในการสร้างพระพุทธรุป ว่าเป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธองค์ แต่กับพระสงฆ์จะไม่ยอมกราบครับ

เรื่องนี้ไม่ใช่เล่นๆเลยครับ เพราะทั้งๆที่รู้ว่ามีความเห็นอย่างนี้ผิดแน่ๆ ใจมันก็ไม่ยอมลงให้ครับ จะกราบพระแต่ละทีต้องหาอุบายกันน่าดู ยังดีที่ใจยังกลัวนรกอบายภูมิ มันจึงยอมกราบทั้งที่ไม่เต็มใจครับ

แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีความเพี้ยนตัวนี้แล้วครับ เพราะพอเห็นพระเดินผ่านมา ใจก็น้อมระลึกเอา พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ มาเป็นที่พึ่งอยู่ร่ำไปครับ

(แต่แหมกว่าจะแก้ตัวนี้ได้ เหนื่อยเหมือนกันครับ แต่ยังนึกไม่ออกครับ ว่าแก้ยังไง พอๆกับที่ยังนึกไม่ออกครับ เริ่มเพี้ยนไปเพราะอะไรครับ)

โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 16 มิถุนายน 2543 10:44:18

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 16 มิถุนายน 2543 12:00:14
คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนช่างคิดนะครับ
ที่จะไม่เชื่อว่าชาตินี้ ชาติหน้ามีจริง
ผมก็เป็นเหมือนกัน  :)

แต่ว่าผมยังดีหน่อยเป็นแค่โมหะ คือไม่รู้ ก็วนเวียนไปมาอยู่แถวนั้น
ไม่ถึงกับเป็นโทสะคือ ไม่รู้แล้วผลักออกไป
แกล้งลืมไปบ้าง อาศัยธรรมข้ออื่นเช่น เมตตา คอยขนาบบ้าง
ความเชื่ออื่นๆ เช่นสวรรค์ในอก นรกในใจ ก็ทำให้เราไม่อยากทำชั่วเหมือนกัน
เพราะทำแล้วเราก็รู้สึกร้อนใจ

ปัจจุบันที่เชื่อก็เพราะอาศัย วิธี Induction จากส่วนอื่นๆ ใน
พระไตรปิฎกที่เราปฏิบัติแล้ว เห็นตามนั้น ก็เลยคิดว่า
ในส่วนที่ข้ามภพข้ามชาติ ก็น่าจะเป็นความจริงด้วยครับ
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 16 มิถุนายน 2543 12:00:14

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 16 มิถุนายน 2543 14:52:08
เรื่องตีความท่านพุทธทาสผิดเนี่ยผมก็เป็นมาเหมือนกันครับ เพียงแต่ว่าผมไม่ได้เชื่อ
ไปตามที่ผมตีความคราวนั้น(ชาติก่อน+หน้าไม่มี) เลยต่อต้านและพาลโกรธท่านด้วยความโง่ที่เข้าใจ
ผิดว่าท่านบิดเบือนคำสอนของพระพุทธองค์แล้วไม่อ่าน+รับรู้ข้อธรรมใดๆของท่านพุทธทาสเลย
จนหลังๆได้พบหลายท่านชี้แนะและลองเปิดใจศึกษาธรรมที่ท่านสอนดูจึงรู้ว่าผมได้ทำผิดต่อพระ
ที่ดีไปแล้ว ทุกวันนี้ยังรู้สึกสำนึกผิดและคิดขอขมาท่านในใจทุกครั้งที่นึกถึงเรื่องนี้ได้
_/I\_ กรรมอันใดที่เจตนาหรือไม่เจตนาที่ผมได้เคยล่วงเกินท่านพุทธทาสไปผมขอ
ขอขมาท่านไว้ ณที่แห่งนี้ แล้วผมจะระวังสำรวมยิ่งขึ้นในการต่อไปครับ
โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 16 มิถุนายน 2543 14:52:08

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ tana วัน ศุกร์ ที่ 16 มิถุนายน 2543 23:15:46
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ อี๊ด วัน เสาร์ ที่ 17 มิถุนายน 2543 11:42:15
ความเห็นเพี้ยนผมเป็นเอาอย่างหนักเหมือนกันครับ
จำได้ว่าประมาณปลายปี41..เพิ่งสึกจากบวชตอนนั้นจิตสว่างเอามากๆ
จะน้อมมาเล่นแนวหลวงพ่อฤาษีลิงดำก็ได้ใช้แรงอธิฐานเอา..
หรือจะเล่นแบบแนวหลวงพ่อปากน้ำ..เพ่งลงในดวงสว่างจะเห็น
กายรูปเหมือนเราเกิดขึ้น..

เดือนมีนา..ไปกราบอาจารย์สมนึกที่จังหวัดนครปฐม..อาจารย์เทศน์
อนันตลักษณะสูตรให้ฟัง..เราว่าเข้าใจหมดทุกอย่างมองอะไรก็ว่างจากตัวตนไปหมด
บวกกับได้อ่านข้อเขียนพระอาจารย์มหาบัว
ว่าจิตดวงส่วาง..
ผมเข้าใจว่า..นี้ก็ดวงสว่างแล้ว
(คือเข้าใจว่าการทำจิตให้ผ่องใส...ตีความเอาเองว่าน่าจะหมายเอาดวงสว่างนี้กระมัง)
อยู่มาวันหนึ่ง..จิตลงสมาธิไปจ่อที่ดวงสว่าง..แล้วทิ้งดวงสว่าง..เข้ามารู้ที่ฐานไม่มีรูปร่าง
บวกกับเกิดนิมิตฝันมาบอกว่าสุดทางแล้ว

ทำเกิดประมาท...แล้วเกิดสำคัญตนว่า..น่าจะสุดทางแล้วจริงๆ
ทำให้เกิดความถือตัว(มานะ)ขึ้นมา..เราเก่งแล้ว..เกิดการยกย่อตัวเองต่างๆนาๆ

แต่ยังสัยสัย..เอ้..ทำไมธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นได้หลายอย่างนัก
ช่วงปลายปี42เป็นช่วงเวลาที่แย่จริงๆ..เหมือนมีกำแพงสูงมากั้นไว้
ไม่ให้ฝึกต่อมีข้ออ้างมาบอกว่า..สุดแล้วจะทำไปทำไม...พอแล้วเก่งแล้ว...

พอมาเจอคุณอาก็เขียนเมล์ไปถามอาการทั้งหลายให้อาฟัง..
แล้วก็ให้ฝึกรู้ตัวทั่วร่างกาย.....
มาตอนนี้ผมเข้าใจว่า...พอเราฝึกไปจุดหนึ่ง..จิตจะไปติดในสุข(ว่างจากอารมณ์หยาบ)
แล้วเกิดการยึดติด...กลายเป็นณานไปโดยไม่รู้ตัว
(ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นอย่างนี้..ต้องคุณอาวิเคราะห์ให้ฟัง)
ขอบพระคุณครับ
โดยคุณ อี๊ด วัน เสาร์ ที่ 17 มิถุนายน 2543 11:42:15

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 17 มิถุนายน 2543 16:11:09
กระทู้นี้เป็นกระทู้สารภาพความเห็นที่ผิดเพี้ยน
นับเป็นเครื่องเตือนใจตนเองด้วยบทเรียนราคาแพง(เสี่ยงนรก)
และเป็นประโยชน์แก่หมู่เพื่อนที่เดินมาทีหลังด้วย

ปัญหาอันหนึ่งของผู้ปฏิบัติก็คือ
การไปให้ความสำคัญกับสมาธิเหนือกว่าการเจริญสติ
ยิ่งเป็นสมาธิออกนอก เกิดนิมิตเป็นลูกแก้ว เป็นรูปกายกลางลูกแก้ว
หรือเป็นความสว่าง และรู้เห็นต่างๆ นานา
(ยกเว้น ไม่เห็นกิเลสตัณหามานะอัตตาของตนเอง)
แล้วเกิดความสำคัญมั่นหมายว่าบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้
ทั้งที่เป็นการติดสมถะ หรือติดฌานอย่างที่คุณอี๊ดกล่าวถึง
ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีมาก่อนพระพุทธศาสนาเสียอีก

ปัญหาการปฏิบัติและความเห็นที่ผิดเพี้ยนจะไม่เกิดขึ้น
หากมีสัมมาทิฏฐิเสียก่อนว่า เราจะศึกษาเรื่องทุกข์ กับความพ้นทุกข์
และความทุกข์เกิดจากความอยาก(ตัณหา)
เราจึงจะมีสติเฝ้ารู้กายใจตนเองตามความเป็นจริง
ไม่ให้กิเลสตัณหาครอบงำจิตใจได้โดยไม่รู้เท่าทัน
ถ้าตั้งหลักอย่างนี้ โอกาสพลาดก็มีน้อยลงครับ

สำหรับคุณอี๊ดเป็นผู้มีปัญญาและบุญบารมีมาพอตัว
จึงสามารถหลุดพ้นจากความเห็นเพี้ยนที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง
คือเบื้องแรกเป็นอาการติดสมถะ
กล่าวคือจิตว่างจากอารมณ์หยาบแล้วไปติดสุขละเอียด
ต่อมาไปหลงติดในความคิดเรื่องความว่างจากตัวตน
ยิ่งประกอบกับกำลังของสมถะที่มีอยู่เดิม
ยิ่งเชื่อมั่นมากเข้าไปอีกว่าใช่แล้ว จบแล้ว

ขอให้คุณอี๊ดเพียรเจริญสติ รู้ทันความปรุงแต่งในจิตเรื่อยไป
เหมือนอย่างที่มาเล่าในกระทู้ที่ผ่านมาเถอะครับ
นอกจากทางสายเอกคือการเจริญสติแล้ว
ไม่มีทางที่ 2 เพื่อก้าวไปถึงความบริสุทธิ์ได้หรอกครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 17 มิถุนายน 2543 16:11:09

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ naruntorn วัน เสาร์ ที่ 17 มิถุนายน 2543 22:20:57
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ นิดนึง วัน อาทิตย์ ที่ 18 มิถุนายน 2543 21:58:40
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 19 มิถุนายน 2543 09:40:35
สาธุ ขอบพระคุณ ผู้ตั้งกระทู้ และทุกท่าน ที่ช่วยชี้หลุม เพื่อให้ผู้ตามหลังต้องเพลี่ยงพล้ำ
โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 19 มิถุนายน 2543 09:40:35

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 19 มิถุนายน 2543 09:40:41
สาธุ ขอบพระคุณ ผู้ตั้งกระทู้ และทุกท่าน ที่ช่วยชี้หลุม เพื่อให้ผู้ตามหลังต้องเพลี่ยงพล้ำ
โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 19 มิถุนายน 2543 09:40:41

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 19 มิถุนายน 2543 09:41:11
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ Lee วัน จันทร์ ที่ 19 มิถุนายน 2543 21:45:14
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ กระต่าย วัน อังคาร ที่ 20 มิถุนายน 2543 09:15:37
สาธุ สาธุ
โดยคุณ กระต่าย วัน อังคาร ที่ 20 มิถุนายน 2543 09:15:37

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ กระต่าย วัน พฤหัสบดี ที่ 22 มิถุนายน 2543 09:44:25
อย่างที่จะเล่านี้ไม่ทราบเรียกว่าวิปลาสรึเปล่านะคะ
เอาเป็นว่า เมื่อ 9 เดือนก่อน ยังไม่เคยสนใจที่จะปฏิบัติธรรม
เพราะไม่เข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมเป็นยังไง เข้าใจเพียงว่า
เข้าวัด ทำบุญ ตักบาตร อ่านหนังสือธรรมะ กับนั่งสมาธินิดหน่อย
นี่เรียกว่าปฏิบัติธรรมแล้ว...
และอีกเรื่องก็คือว่า รู้สึกว่าคำว่า"นิพพาน"นี่ ไม่อยู่ในวิสัยของมนุษย์ที่พึงจะกระทำได้
โอ้ย มันช่างไกลตัว ไม่ใช่เรื่องของเราเลยซักนิดเดียว ไม่เกี่ยวกับเราเลย
จนกระทั่งมานั่งอ่านหนังสือของท่านพุทธทาส เรื่องนิพพาน
แล้วข้อความในนั้น เหมือนโดนไม้หน้าสามฟาดเปรี้ยงเข้าแสกหน้าเลยค่ะ
ท่านกล่าวว่า .....
"พระนิพพาน คือ จุดหมายปลายทางของชีวิตทุกชีวิต จะเป็นคนโง่ หรือคนฉลาดก็ตาม
ทุกคนจะจบการเดินทางของเขาลงในชาติที่บรรลุพระนิพพาน"
ได้ผลเลยค่ะ นั่งน้ำตาร่วงผล็อยๆเลยค่ะ ทำไมเราซื่อบื้อแบบนี้ ไม่เคยรู้มาก่อนเลย
แล้วก็ได้มาเริ่มปฏิบัติธรรมจริงๆจังๆ จนได้พบคุณอา กับพี่ดังตฤณนี่แหละค่ะ
แต่จะปฏิบัติจนจบในชาติไหนยังไงนั้น ก็ไม่ทราบเหมือนกัน ตอนนี้ขอลุยดุ่ยๆไปก่อน :-)
ยังไงต้องมีซักชาติสิน่า ที่ไม่ต้องเกิดตายเวียนว่ายอีก
โดยคุณ กระต่าย วัน พฤหัสบดี ที่ 22 มิถุนายน 2543 09:44:25

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ kittipan วัน เสาร์ ที่ 24 มิถุนายน 2543 14:48:24
ถึงจะไม่ค่อยรุ้เรื่อง แต่ก็สาธุครับ...
โดยคุณ kittipan วัน เสาร์ ที่ 24 มิถุนายน 2543 14:48:24

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com