กลับสู่หน้าหลัก

ตัวกู - ของกู

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 26 มิถุนายน 2543 19:17:00

อ่านหลายกระทู้ในลานธรรม ที่แนะนำให้มองทุกอย่างให้ว่างจาก ตัวกู - ของกู 
และอ่านกระทู้ ความวิปลาส ของคุณพัลวันในวิมุตติแล้ว 
เห็นว่าเราน่าจะคุยกันเรื่อง ตัวกู - ของกู สักครั้งหนึ่ง 

ช่วงที่ผมคลั่งคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส 
ผมรู้สึกว่าตนเองเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างถึงแก่นแท้แล้ว 
คือถ้าพยายามมองอะไรแบบว่างจาก ตัวกู - ของกู เสียอย่างเดียว 
ทุกสิ่งก็เป็นความว่าง ทั้งว่างจาก ตัวกู - ของกู และว่างจากกิเลสตัณหา 
เมื่อถึงความว่างอย่างนี้แล้ว ก็คือพ้นจากความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง 
เป็นอันว่าจบหลักสูตรพระพุทธศาสนา จัดเป็นผู้รู้จริงคนหนึ่ง 
เพราะเข้าถึงแก่นธรรม หรือหัวใจของพระพุทธศาสนาที่ว่า 
"สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ - ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น"  

ความรู้ความเห็นที่ให้มองอะไรๆ ให้ว่างจาก ตัวกู - ของกู 
มีผลในทางทำให้กิเลสในใจเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัดเหมือนกัน 
อย่างจะโกรธใครสักคน ก็คิดว่าเขาไม่ได้ด่าเรา เพราะเราไม่มี 
ตัวเขาเองก็ไม่มีอะไร มีแต่แค่เสียงกระทบหู 
แล้วจิตที่โง่ก็ไปคิดว่า "เขา" ด่า "เรา" จึงเป็นทุกข์ขึ้นมา 
การคอยคิดเรื่อง ตัวกู - ของกู ช่วยให้จิตใจสบายขึ้นได้จริงๆ 

นอกจากนี้ก็อิ่มใจ ภูมิใจ ว่าเราเข้าถึงแก่นธรรมแล้ว 
ส่วนคนอื่นๆ ยังเป็นคนที่วิ่งเลาะอยู่ริมฝั่ง 
เช่นยังหลงอยู่กับพิธีกรรมต่างๆ อันเป็นเปลือก เป็นกระพี้ศาสนา 

จนเมื่อได้มาปฏิบัติอย่างจริงจังแล้วนั่นแหละ จึงพบว่า 
การจะให้เห็น ตัวกู แล้วขจัดได้จริงๆ 
หรือการมองทุกอย่างเป็นความว่าง ทั้งจิตก็ว่าง และไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง 
เป็นงานที่ยากแสนยาก และทำไม่ได้ด้วยการคิดๆ เอาเอง 

มีแต่การเจริญสติปัฏฐานอย่างจริงจังเท่านั้น 
จิตจึงจะพ้นจากตัณหาและทิฏฐิ และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ได้จริง 
จิตที่คิดแต่เรื่องความว่าง ความไม่มี ตัวกู - ของกู 
คือจิตที่มีทิฏฐิถูกต้องครอบงำ 
คือเห็นว่า "ความเห็นหรือทิฏฐินี้ สมควรแก่เรา..  เราเชื่ออย่างนี้"  
ซึ่งยังห่างไกลจากความว่าง หรือความไม่มี ตัวกู - ของกู แบบคนละเรื่องทีเดียว 

********************************************* 
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 26 มิถุนายน 2543 19:17:00

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 26 มิถุนายน 2543 19:18:24
ต่อไปนี้ ขอเปลี่ยนจากคำว่า กู เป็น เรา 
เพราะไม่เกี่ยวกับท่านอาจารย์พุทธทาสแล้ว 

สิ่งที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นตัวกูนั้น 
ก็เริ่มจากการรู้สึกว่า ร่างกายนี้แหละคือตัวเรา 
แต่พอเจริญสติสัมปชัญญะเข้า ก็เริ่มเห็นว่า 
อ้อ กายนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก แต่เป็นกายของเรา 
เพราะกายนี้ถูกเห็น ถูกรู้อยู่ต่อหน้าต่อตา 
จึงลดระดับจากกายที่เป็น ตัวเรา เหลือเพียงเป็น กายของเรา 
(เหมือนที่รู้สึกว่า นี่แขนของเรา นี่ขาของเรา นี่ศีรษะของเรา 
ชี้ลงที่อวัยวะใด ก็ล้วนแต่เป็นอวัยวะของเรา 
ไม่มีอวัยวะใดที่ชี้แล้วเรียกว่า ตัวเรา ได้เลย) 

แม้เวทนา สัญญา และสังขาร ก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้เช่นเดียวกับกาย 
มันจึงปรากฏชัดว่า เป็นเวทนา สัญญา และสังขารของเรา 
แล้วก็จะเหลืออยู่แต่จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้คิด ผู้นึก ผู้ยินดียินร้าย 
ตัวนี้แหละดูอย่างไรก็รู้สึกว่า เป็น ตัวเรา 

เรื่องความเป็นตัวเราของจิตนั้น มันซ้อนกันอยู่ 2 ระดับ 
คือ ความเห็นว่าจิตเป็นเรา อย่างหนึ่ง 
และ ความยึดว่าจิตเป็นเรา อีกอย่างหนึ่ง 

การทำลายความเห็นผิด ว่าจิตเป็นเราก็ดี 
การทำลายความยึดมั่น ว่าจิตเป็นเราก็ดี 
ทำไม่ได้ด้วยการคิดๆ เอา ว่าไม่มีตัวกู - ของกู 
เพราะคิดอย่างไรก็คือ กูคิด - กูรู้ อยู่นั่นเอง 
แต่ทำได้ด้วยการเจริญสติปัฏฐานให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้น
 

ผมเคยไปนั่งพับเพียบจับเข่าท่านอาจารย์พุทธทาสแล้วเรียนถามท่านว่า 
"ท่านอาจารย์เขียนหนังสือตั้งมากมาย 
ถ้าผมอ่านให้หมด แล้วคิดตาม ผมจะรู้ธรรมได้หรือไม่" 
ท่านตอบว่า "ไม่รู้หรอก" 
ผมจึงถามท่านว่า "แล้วทำอย่างไรจึงจะรู้ธรรม" 
ท่านตอบว่า "ต้องเจริญสติเอาเอง" 
กล่าวแล้ว ท่านอาจารย์ก็กำหนดสติรู้ลมหายใจของท่าน 

****************************************** 
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 26 มิถุนายน 2543 19:18:24

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 26 มิถุนายน 2543 19:19:57
ความเห็นว่าจิตเป็นเรา อันจัดเป็นสักกายทิฏฐินั้น 
ไม่สามารถล้างได้ด้วย การคิด ว่าจิตไม่ใช่เรา 
แต่จะขาดได้ด้วย ความรู้ชัด ว่าจิตไม่ใช่เรา 
และความรู้ชัดนั้น จิตเขาต้องรู้ชัดของเขาเอง 
ผู้ปฏิบัติทำได้เพียงการเจริญสติสัมปชัญญะ 
รู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงเท่านั้น 

ความแปลกประหลาดของธรรมอันหนึ่งอยู่ตรงนี้ครับ 
คือผู้ปฏิบัติเจริญสติด้วยการระลึกรู้ กาย เวทนา จิตสังขาร 
หรือธรรมอันเป็นกลไกการทำงานของจิต 
ไม่ได้เจริญสติสัมปชัญญะรู้ตรงเข้าไปที่จิต 
(เพราะการใช้จิตไปแสวงหาจิต เป็นสิ่งที่ไม่มีใครกระทำได้) 
ในขณะปฏิบัติ ไม่เคยคิดเลยเรื่องจิตจะเป็นเราหรือไม่ 
แต่ตอนที่ความรู้เกิดนั้น 
กลับไปเกิดความรู้รวบยอดเอาที่การเห็นชัดว่า จิตไม่ใช่เรา 
เหมือนมองดูเงาหน้าของตนเองในกระจก 
ไม่เคยมองหน้าจริงๆ ของตนเองสักครั้ง 
แต่พอถึงจุดหนึ่ง ก็รู้จักหน้าตาของตนเอง ว่าเป็นอย่างไร 
การรู้กาย เวทนา จิต ธรรม ก็เหมือนการดูเงาของจิต 
เมื่อดูถึงจุดหนึ่ง ก็รู้จักจิต
 

อนึ่ง ในขณะที่เจริญสติสัมปชัญญะอยู่นั้น จะรู้ชัด ในทันที ว่า 
กาย เวทนา จิต หรือธรรมที่ถูกรู้นั้น 
เป็นสิ่งที่ถูกรู้และแยกออกต่างหากจากจิต 
ไม่ใช่รู้กายวันนี้ แล้วมะรืนจึงเห็นกายแยกเป็นคนละส่วนกับจิต 
ถ้าระลึกลงในกายแล้ว ยังไม่เห็นว่ากายฯลฯ เป็นสิ่งถูกรู้และไม่ใช่จิต 
ก็แสดงว่ายังเจริญสติปัฏฐานไม่ถูกต้องเท่าที่ควรจะเป็น 

เมื่อเจริญสติปัฏฐานต่อเนื่องเข้าถึงจุดหนึ่ง 
จิตจะวางอารมณ์ภายนอกทั้งหมด 
ดับความจงใจที่จะปฏิบัติ  ดับความคิดนึกปรุงแต่ง 
เหลือเพียงธรรมชาติที่เกิดขึ้น และดับไป 
โดยไม่มีสัญญาหรือความสำคัญมั่นหมายว่า สิ่งนั้น คือสิ่งนั้น 
เป็นการเจริญวิปัสสนาโดยอัตโนมัติของจิตที่อบรมมาดีแล้ว 

เมื่อจิตรู้จริงถึงธรรมที่เป็น สังขารธรรมหรือธรรมฝ่ายปรุงแต่งแล้ว 
จิตก็จะประจักษ์ชัดถึง วิสังขารธรรมหรือธรรมที่พ้นความปรุงแต่ง 

เมื่อความปรุงแต่งขาดไป ความเห็นว่าจิตเป็นเราก็ขาดลงเพียงนั้น 
เพราะความเห็นว่าจิตเป็นเรา เกิดจากสังขารขันธ์เข้าไปปรุงแต่งจิต 
เมื่อจิตผ่านสภาวะอันนั้นมาแล้ว 
ความเห็นว่าจิตเป็นเราจะไม่ย้อนกลับมาอีก 
แม้ในฝันก็ไม่มีความเห็นว่าจิตเป็นเรา แม้แต่น้อยหนึ่ง 
แต่ความยึดว่าจิตเป็นเรา ยังมีอยู่อย่างเหนียวแน่น 
เนียน และเร้นลึก จนยากจะสังเกตเห็นได้ 

ผมเองก็ทำได้เพียงการรู้ถึงความยึดว่าจิตเป็นเราได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น 
คือจะรู้ได้ ต่อเมื่อยามใดเจริญสติสัมปชัญญะอยู่ 
แล้วรู้ชัดถึงความปรากฏขึ้นของสังโยชน์เบื้องสูง 4 ประการ 
อันได้แก่รูปราคะ อรูปราคะ มานะ และอุทธัจจะ อันใดอันหนึ่ง 
สิ่งเหล่านี้คือเงาของจิตที่ถูกยึดว่าเป็นตัวเรา 
เมื่อเห็นเงา แล้วเฉลียวนิดหนึ่ง ก็เห็นถึงจิตที่ถูกยึดว่าเป็นตัวเรา
 
เพราะถ้าไม่มีจิตที่เป็นตัวเรา ก็ย่อมไม่มีราคะในฌาน 
ไม่มีความถือตัว และไม่มีความฟุ้งไหวเล็กๆ เพราะความหิวธรรมอย่างเร้นลึก 
พอเห็นจิตที่เป็นตัวเรา ความเป็นตัวเราก็สลายออกจากจิตทันที 
จิตก็เข้าถึงสภาพธรรมที่รู้ ตื่น และเบิกบาน 
จากนั้นก็จะหมดความสามารถที่จะเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งได้ 
เพราะจิตยังประกอบด้วยอวิชชา มันจึงเคลื่อนออก ส่งออก ไปรู้สิ่งภายนอก 
โดยไม่สามารถจะทรงตัวรู้อยู่กับ จิตหนึ่ง หรือจิตเดิมแท้ ได้อย่างถาวร 

การปฏิบัติธรรมเป็นของละเอียดและลาดลึกไปตามลำดับ 
เป็นเรื่องที่ต้องประจักษ์ถึงสภาวะจริงๆ ที่กำลังปรากฏ 
ด้วยจิตที่พร้อมด้วยกำลังทั้งสติ ธรรมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา 
ไม่ใช่เรื่องที่จะพูด หรือคิดฟุ้งซ่านไปถึง ความว่าง ความไม่ยึดมั่นถือมั่น 
หรือ ความไม่มีตัวกู ของกู 

มิฉะนั้น ก็จะเข้าถึงเพียงสภาวะที่ว่า 
กู ไม่มีตัวกู ของกู 
ยึดมั่น ในความไม่ยึดมั่น
 

******************************************************
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 26 มิถุนายน 2543 19:19:57

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ tana วัน จันทร์ ที่ 26 มิถุนายน 2543 19:42:05
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ พีทีคุง วัน จันทร์ ที่ 26 มิถุนายน 2543 19:56:45
สาธุครับ

(พึ่งออกความเห็นได้หลังจากย้ายข้อมูลมา
ที่ school.net.th ทราบวิธีแก้ปัญหาจากคุณธนา
หากใครมีปัญหา login แล้ว post ไม่ได้ให้แก้ไขเช่นผม
ที่เวลาเข้า url มักจะกลายเป็น url ด้วยตัวเลข
ให้เปลี่ยนกลับเป็น url ด้วยชื่อเช่นhttp://dharma.school.net.th/wimutti/webboard/data/mainboard.html
แทนครับ)
โดยคุณ พีทีคุง วัน จันทร์ ที่ 26 มิถุนายน 2543 19:56:45

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ ฐิติมา วัน จันทร์ ที่ 26 มิถุนายน 2543 20:12:26
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ thesky วัน อังคาร ที่ 27 มิถุนายน 2543 11:37:41
ขอบพระมากค่ะ
สาธุ  _/|\_
โดยคุณ thesky วัน อังคาร ที่ 27 มิถุนายน 2543 11:37:41

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ นิพ วัน อังคาร ที่ 27 มิถุนายน 2543 11:59:21
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ listener วัน อังคาร ที่ 27 มิถุนายน 2543 11:59:55
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ กระต่าย วัน อังคาร ที่ 27 มิถุนายน 2543 14:34:50
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ปิ่น วัน อังคาร ที่ 27 มิถุนายน 2543 15:21:45
ขอบพระคุณครับ_/|\_ อ่านแล้วรู้สึกว่าหนทางยังยาวไกล
ทีเดียวต้องพยายามอีกมากเลย
โดยคุณ ปิ่น วัน อังคาร ที่ 27 มิถุนายน 2543 15:21:45

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ บุษกริน วัน อังคาร ที่ 27 มิถุนายน 2543 15:29:43
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ หนุ่ย วัน อังคาร ที่ 27 มิถุนายน 2543 17:50:19
สาธุค่ะ ขอบพระคุณค่ะ _/|\_
โดยคุณ หนุ่ย วัน อังคาร ที่ 27 มิถุนายน 2543 17:50:19

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน พุธ ที่ 28 มิถุนายน 2543 08:14:30
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 28 มิถุนายน 2543 09:14:36
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 28 มิถุนายน 2543 11:43:29
มีเพื่อนบางคนอยากจะลอกกระทู้นี้ไปไว้ที่ ลานธรรม
เพื่อเถียงกับคนที่ชอบคิดเรื่อง ความไม่ยึดมั่นในตัวกู - ของกู

ขอเรียนว่า วิมุตติ มีกติกาห้ามลอกข้อความไปโพสต์ที่เวปบอร์ดอื่นๆ นะครับ
และผมเองเขียนเรื่องนี้ (และเรื่องอื่นๆ) ขึ้น
ก็เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติของหมู่เพื่อนในที่นี้
รวมทั้งผู้ที่ผ่านทางมาด้วยความสนใจที่จะศึกษาจิตใจตนเองเท่านั้น
ไม่ใช่เขียนเพื่อการถกเถียงเอาชนะใคร
ไม่ว่าจะเรื่องอภิธรรม เรื่องความขัดแย้งในแนวทางปฏิบัติของสายต่างๆ ฯลฯ

ช่วยกันหน่อยนะครับ
อย่านำเรื่องในวิมุตติไปเผยแพร่ในเวปบอร์ดอื่น
และอย่าไปชวนนักเถียง เข้ามาวุ่นวายในวิมุตติ
เพื่อเหลือที่สงบๆ เอาไว้ใน net สักที่หนึ่ง
สำหรับผู้สนใจจะศึกษาจิตตนเอง นะครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 28 มิถุนายน 2543 11:43:29

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 28 มิถุนายน 2543 11:47:21
มีคำผิดครับ เวบบอร์ด ไม่ใช่เวปครับ
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 28 มิถุนายน 2543 11:47:21

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พุธ ที่ 28 มิถุนายน 2543 12:38:55
สาธุครับพี่

ผมเองก็เคยพยายามจะพูดเรื่องนี้ที่ลานธรรมครั้งหนึ่ง
ในทำนองว่าอย่าเพิ่งไปสนใจดูที่ตัวอวิชชา (ตัวกู-ของกู)
เพราะจะโดนความคิดหลอกเอา ให้สนใจที่จะดูจิตดูอารมณ์
เพื่อละกิเลสตัณหาหยาบๆ ไปก่อน
แต่ดูเหมือนจะกลายเป็นการถกเถียงเพื่อหาว่าใครผิดใครถูกไปเสีย
เพราะการยึดมั่นในทิฏฐิของกูนั่นแหละ

พักหลังก็เลยไม่ค่อยอยากพูดอะไรในลานธรรม
เพราะพูดอะไรออกมาทีหนึ่ง ก็ดูจะวุ่นวายเสียเหลือเกิน

โดยคุณ มะขามป้อม วัน พุธ ที่ 28 มิถุนายน 2543 12:38:55

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ หนึ่ง วัน พุธ ที่ 28 มิถุนายน 2543 12:45:23
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พุธ ที่ 28 มิถุนายน 2543 13:02:27
กลับมาเรื่องตัวกู-ของกู นิดนึงครับ
ผมเองเมื่อก่อนฟังท่านอาจารย์พุทธทาสแล้วก็เป็นอย่างเดียวกันเลย
ท่านพูดเกี่ยวกับความว่างจากตัณหา ทำนองว่านิพพานทำได้ขณะนี้เดี๋ยวนี้
(ประเภทฟังไม่ได้ศัพท์นะ จับเอามากระเดียดนะครับ)
ก็พยายามทำจิตให้ว่างๆ เฉยๆ แล้วก็คิดว่านี่คือนิพพาน
ยังสงสัยอยู่เลยว่า ทำไมนิพพานมันง่ายจริงหนอ

มองไม่เห็นว่าอวิชชา มองไม่เห็นเจตนา
มองไม่เห็นว่าที่ว่าว่าง นั้นมันไม่ว่างจริง
มันมีอุปทานว่าตัวกูเคลือบอยู่อย่างบางเบา
แต่เรามองไม่เห็นเพราะจิตเรายังหยาบ

ฟังเรื่องนี้ครั้งแรกจากพี่ปราโมทย์เมื่อสองปีที่แล้วในพันธ์ทิพย์
(ตอนนั้นใช้ชื่อ "ชื่อนั้นสำคัญไฉน") ก็ยังไม่เข้าใจ

เมื่อปฏิบัติมาเรื่อยๆ จนกิเลสหยาบๆ มันไม่ค่อยเกิดแล้ว
จึงพอจะได้เค้าของอวิชชาโผล่มาให้เห็นบ้าง
ส่วนใหญ่จะ เห็นผลพวงของมันคือ ตัวมานะ กับตัวเจตนา
เสียมากกว่าครับ
โดยคุณ มะขามป้อม วัน พุธ ที่ 28 มิถุนายน 2543 13:02:27

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 28 มิถุนายน 2543 18:48:04
สาธุของครูแล้ว ก็ต้องสาธุคุณมะขามป้อมอีกทีครับ
โดยคุณ listener วัน พุธ ที่ 28 มิถุนายน 2543 18:48:04

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ มรกต วัน พฤหัสบดี ที่ 29 มิถุนายน 2543 08:20:17
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 22 โดยคุณ บอยเอง วัน พฤหัสบดี ที่ 29 มิถุนายน 2543 17:20:44
การยึดว่าจิตเป็นเรา กับความเห็นว่าจิตเป็นเราต่างกัน
อย่างไรครับ ? อ่านแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจเลยครับ.
โดยคุณ บอยเอง วัน พฤหัสบดี ที่ 29 มิถุนายน 2543 17:20:44

ความเห็นที่ 23 โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 30 มิถุนายน 2543 07:46:13
เรียน คุณบอย

ว่าด้วยตัวอักษรแล้ว คงจะทำให้คิดไปได้ว่า "คงจะคล้ายๆกัน" แต่หากสักครั้งหนึ่งที่ได้เคยเห็น "ความเห็นว่าเป็นเรา" เข้าแล้วบ้าง จะเข้าใจครับ

ผมเองไม่ทันเห็น "ความยึดถือว่าเป็นเรา" หรอกครับ เพราะจิตมิได้ไวพอที่จะเห็น "อุปาทาน" แต่หากจะทำให้เห็น ความเห็นว่าเป็นเรา ผมมีเทคนิคอยู่ครับ แต่ไม่เคยแนะนำใคร ดังนั้นผมจึงไม่อาจรับรองได้ว่า ทำแบบนี้แล้วจะเห็นได้ นะครับ

เทคนิคที่ว่านี้มีสั้นๆครับ คือตามปกติแล้วจิตของคนเรานั้นจะออกไปรับรู้เร็วมาก และแปรเปลี่ยนการรับรู้ไปตามผัสสะที่มากระทบ เรื่องราวจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยความรวดเร็ว เว้นแต่กำลังทำสมถะเท่านั้นที่เรื่องทั้งหลายจะแปรเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ นานๆจะเผลอไปทีหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จมแช่อยู่กับองค์ภาวนา (เช่นพุทโธเป็นต้น)

ให้สังเกตการเคลื่อนไหวของจิตผู้รู้ ที่ออกรู้เรื่องราวต่างๆอย่างรวดเร็ว สังเกตให้เห็นอาการ "การเปลี่ยน" เรื่องที่รับรู้ให้มาก ตามติดเป็นเงาตามตัว ทำไปได้ช่วยระยะเวลาหนึ่ง ตัวผู้รู้จะปรากฎให้เห็นชัดเจนทีเดียว และเมื่อเห็นแล้วก็จะเห็นว่า เรารู้ ตามมาได้หลังจากนี้ไม่นาน ขอให้ตามสังเกตอาการ "การเข้าไปรู้" ให้มากๆ ซึ่งสังเกตแบบหยาบๆก็คือ "การเปลี่ยนเรื่องรับรู้" นั่นเองครับ

แต่วิธีนี้ผมไม่รับรองผลนะครับ เพราะไม่เคยแนะนำใครเลยแม้แต่ครั้งเดียวครับ

โดยคุณ พัลวัน วัน ศุกร์ ที่ 30 มิถุนายน 2543 07:46:13

ความเห็นที่ 24 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 30 มิถุนายน 2543 09:23:02
ในขั้นนี้ ความเห็นว่าจิตเป็นเรา
กับความยึดว่าจิตเป็นเรา ของ บอยเอง มันซ้อนกันอยู่ครับ
บอยเอง จึงรู้สึกเป็น "เราอันเดียว" เท่านั้น
เดี๋ยวก็เรายังงั้น เดี๋ยวก็เรายังงี้ อยู่ตลอดเวลา
ยังไม่ใช่เวลาที่จะเห็นความแตกต่าง หรือแยกได้
ระหว่างความเห็นกับความยึดว่าจิตเป็นเรา
ขั้นต้นนี้ สู้กับความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา ก่อนนะครับ
อีกหน่อยจึงค่อยไปแก้ปัญหาความยึดว่าจิตเป็นเราต่อไป

อุบายของคุณพัลวันก็ดีเหมือนกันครับ น่าทดลองเหมือนกัน
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 30 มิถุนายน 2543 09:23:02

ความเห็นที่ 25 โดยคุณ จ้อม วัน อังคาร ที่ 4 กรกฎาคม 2543 11:38:16
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 26 โดยคุณ thesky วัน อังคาร ที่ 4 กรกฎาคม 2543 14:27:17
รบกวนถามค่ะ
ถ้าในการฝึกสมาธิแรกๆ เรายังยึดติดว่าจิตมีตัวตนจะใช้ได้หรือเปล่าคะ
เพราะยังต้องใช้การเฝ้ารู้ เฝ้าดูสิ่งที่มากระทบจิตให้ทัน
โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าเมื่อฝึกวิปัสสนาไประดับหนึ่ง สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
ก็จะต้องย้อนกลับมาพิจารณาจิตของตนเองว่ามีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป
เป็นธรรมดาเช่นกัน  ไม่ทราบว่าวิธีนี้จะใช้ได้หรือเปล่าคะ
โดยคุณ thesky วัน อังคาร ที่ 4 กรกฎาคม 2543 14:27:17

ความเห็นที่ 27 โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 4 กรกฎาคม 2543 17:21:51
ประเด็นของการ เห็นว่าเป็นเรา หรือการ การยึดถือว่าเป็นเรา เป็นเรื่องของ กิเลส ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างหยาบเป็นสามัญชนคนธรรมดาทั่วไป ก็ยังจะมีความเห็นว่าเป็นเรา โดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม จะเห็นความเห็นนี้หรือไม่ก็ตาม หรือแม้หากเป็น อริยะบุคคลที่มิใช่พระอรหันต์ ก็ยังคงมีความยึดถือว่าเป็นเรา

ดังนั้นในการภาวนา จึงควรกระทำไปตามเทคนิคที่ได้ฝึกฝนมาให้สม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้พลิกแพลงไปประการใด เว้นแต่ว่าการปฎิบัติเช่นนั้นไม่ถูกจริต และไร้การพัฒนาโดยสิ้นเชิง แต่หากว่าการปฎิบัตินั้นได้ให้ผลอันควรค่าแก่ความเพียรแล้ว การปฎิบัติเช่นนั้นก็น่าเชื่อได้ว่า เหมาะสมกับผู้ปฎิบัติแล้ว

ต้องระมัดระวังในเรื่องของ เหตุ และ ผล ให้ดีๆครับ

การปฎิบัติธรรมนั้น แม้สิ่งที่เรามุ่งหวังคือนิพพาน แต่การถึงพระนิพพานนั้นคือ ผล มิใช่เหตุ เป็นผลที่มาจากการปฎิบัติธรรม การภาวนา (ก็หากการถึงพระนิพพานไม่ใช่ผลของการปฎิบัติธรรม ก็คงจะมีผู้ถึงพระนิพพานโดยไม่ต้องปฎิบัติธรรมเป็นแน่แท้) สิ่งที่เราพูดถึงกันตอนนี้คือการพูดถึง เหตุ แห่งการถึงพระนิพพาน ส่วนผลของการปฎิบัติธรรมที่ได้จากการละกิเลสได้ในแต่ละขั้น จนถึงพระนิพพาน มิใช่ประเด็นที่จะนำมาสงสัยว่า จะทำให้เราปฎิบัติธรรมได้อย่างไร เพราะถึงแล้วจะรู้เอง และแกล้งทำเป็นว่าละกิเลสแล้วก็ไม่ได้ด้วย

สรุปความว่า ฝึกไปตามวิธีการที่ได้รับคำแนะนำมาเถอะครับ อย่าสงสัยในผล แล้วเอาไปสับสนกับเหตุเลยครับ
โดยคุณ พัลวัน วัน อังคาร ที่ 4 กรกฎาคม 2543 17:21:51

ความเห็นที่ 28 โดยคุณ tuli วัน พุธ ที่ 5 กรกฎาคม 2543 21:41:47
ขอเล่าประสพการณ์บ้างสักนิดครับ
ผมเป็นคนหัวช้าครับ อ่านจิตใจตัวเองมาเป็นปีๆ  แต่กว่าจะได้ปัญญาเกิดมาทีละนิดๆก็เย็นแสนเข็ญที่สุด
2-3วันก่อนตาผมแดง  ผมก็หยอดยา  อีก 1 ชั่วโมงมันก็หายแดงสนิท  ผมจึงเห็นว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่ของผมเลย  บังคับให้มันไม่แดงก็ไม่ได้  ผมเอายาไปหยอด มันก็แปรรูปร่างไป ไม่ต่างอะไรกับการทดลองในห้องlab  อันนี้ผมเห็นว่ารูปไม่ใช่เรา
วันนี้ผมนั่งอยู่แล้วระลึกถึงความขัดข้องใจของตัวเองที่เพิ่งเกิดขึ้น  ผมก็เห็นถึงอารมณ์ขัดข้องที่ผมไม่สามารถบังคับไม่ให้มันเกิดไม่ได้ นามมันก็ไม่ใช่เราอีก
ไอ้เรื่องง่ายๆแค่นี้แหละครับที่ผมอ่านใจตัวเองมาตั้งนาน  แต่ความรู้สึกที่มันซึมลึกไปถึงใจมันไม่เคยเกิดแบบนี้มาก่อน แล้วก็รู้ว่าตัวเองเกิดปัญญาขึ้นมาอีกนิดนึง
การพูดว่าไม่มีตัวกูของกูก็ดูง่ายดี  แต่กว่าจะเข้าใจตรงนี้ได้สักเสี้ยวหนึ่ง   ต้องสู้กันตลอดชีวิตก็ได้ครับ**** 
โดยคุณ tuli วัน พุธ ที่ 5 กรกฎาคม 2543 21:41:47

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com