กลับสู่หน้าหลัก

จิตเป็นกลาง จิตว่าง จิตเดิมแท้

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 12:58:05

กระทู้นี้ เกิดจากความช่างสังเกตของคุณ Kittipan 
ที่สามารถเห็นปฏิกิริยาของจิต 3 ลักษณะเมื่อมันรู้อารมณ์ 
คือความยินดี ยินร้าย และเป็นกลางต่ออารมณ์ (ตามกระทู้ที่ 104) 
จึงเห็นว่า น่าจะคุยกันเรื่อง จิตเป็นกลาง จิตว่าง และจิตเดิมแท้ สักครั้งหนึ่ง 
เพราะมีการพูดกันเสมอเรื่องจิตว่าง และจิตเดิมแท้ 
ตามหนังสือของท่านอาจารย์พุทธทาส 

************************************ 
จิตเป็นกลาง 

คำว่าจิตเป็นกลาง หมายถึงเป็นกลางต่ออารมณ์ 
เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ 

เช่น จิตเป็นกลางเพราะสิ่งที่มากระทบนั้น 
ไม่มีความหมายใดๆ ในทางที่จะทำให้เกิดความยินดียินร้าย 
หรือไม่มีแรงพอจะทำให้เกิดความยินดียินร้ายขึ้นมา
 
เช่นในขณะที่ที่เราพูดคุยกับเพื่อนฝูง 
บางช่วงก็คุยกันไปธรรมดาๆ ไม่ได้เครียด หรือสนุกสนานอะไร 
จิตใจมันก็ยังเฉยๆ เป็นกลางอยู่ 
จิตที่เป็นกลางในลักษณะนี้ มีกันอยู่ทั่วไป 
แม้ในหมู่สัตว์ทั้งหลาย เช่นแมวและไก่ ฯลฯ ก็มี 
และส่วนมากจะประกอบด้วยโมหะคือความหลง 
เป็นรอยต่อก่อนที่จะเกิดความยินดี อันแทรกด้วยราคะ 
หรือความยินร้าย อันแทรกด้วยโทสะ 

อีกชนิดหนึ่งจิตเป็นกลางด้วยกำลังของสมาธิ 
เมื่อเราทำความสงบจนผ่านปีติสุขไปแล้ว 
จิตจสงบระงับเข้ามา เงียบๆ นิ่ง เป็นกลางอยู่ 
จิตที่เป็นกลางแบบนี้ ถ้าไม่สังเกตให้ดี 
จะมีราคะละเอียดแฝงตัวอยู่ 

อีกชนิดหนึ่งจิตเป็นกลางด้วยกำลังของปัญญา 
คือจิตเห็นอารมณ์ทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา 
จึงหมดความยินดียินร้าย และรู้อารมณ์ต่างๆ นั้นด้วยความเป็นกลาง 

********************************** 
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 12:58:05

กลุ่มวิมุตติ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะ ห้าม ไม่ให้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้ใน webboard หรือ กระดานข่าวอื่นโดยมิได้รับ อนุญาตอย่างเป็นทางการ จากทางกลุ่มวิมุตติในทุกกรณี

ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 13:01:14
จิตว่าง 

คำว่าจิตว่างนั้น ไม่พบในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย 
แต่เราคุ้นกับคำนี้ จากคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส 
ที่ท่านมักสอนให้เรา "ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง" 
อันเป็นคำสอนที่แสลงใจคนที่เรียนตำราอภิธรรมมาก 
เพราะโดยธรรมชาติแล้ว จิตจะว่างจากอารมณ์ไม่ได้ 

หากพิจารณาความหมายของจิตว่างในทัศนะของท่านอาจารย์พุทธทาส 
ก็จะพบว่า ท่านไม่ได้หมายความว่า  จิตว่างจากอารมณ์ 
แต่หมายความว่า ว่างจากความเป็นตัวตนของตน 
หรือว่างจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน 
ซึ่งจิตว่างชนิดนี้ มีได้จริงๆ 
คือจิตของพระอรหันต์ ที่ท่านรู้อารมณ์ แต่ไม่เคลื่อนไหวเข้าไปยึดอารมณ์ใดๆ 
จิตท่านว่างจากกิเลส ตัณหา อัตตาตัวตน 
ในขณะที่รู้เห็นโลก อยู่ในชีวิตประจำวันนี่เอง 

จิตว่าง จึงไม่ใช่เรื่องของปุถุชนจะมีได้ 
กระทั่งพระอริยบุคคลที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็มียาก 
เพราะจิตย่อมถูกอวิชชา ตัณหา อุปาทานครอบงำเสมอๆ 
ไม่เคยขาดจากเยื่อใยความยึดถือว่า จิตเป็นเรา 
ดังนั้นจะให้คนอย่างพวกเรา ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง 
จึงเป็นไปไม่ได้จริง 
แต่คำสอนนี้ก็เป็นอุบายที่ดีเหมือนกัน 
ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนให้พยายามทำสิ่งต่างๆ 
ด้วยความไม่เห็นแก่ตัว 

************************************* 
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 13:01:14

ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 13:03:24
จิตเดิมแท้หรือจิตหนึ่ง 

คำนี้ปรากฏอยู่ในคำสอนของเซ็น ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสนำมาให้เรารู้จัก 
ด้วยการแปลหนังสือ สูตรของเว่ยหล่าง และคำสอนของฮวงโป 
ความหมายก็น่าจะใกล้เคียงกับ "จิตว่าง" ที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง 

เดิมผมก็เชื่อตามๆ กันมาว่า 
คำว่าจิตเดิมแท้ ไม่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก 
แต่เป็นสิ่งที่เซ็นบัญญัติขึ้นเอง 
จนเมื่อไม่นานมานี้ คุณดังตฤณ ไปพบ กามภูสูตรที่ 2 
พระสุตตันตปิฎกเล่ม 10สังยุตนิกาย สฬายตนะวรรค 
มีข้อความพาดพิงถึง จิตแท้(จิตดั้งเดิม) 
หรือที่พระไตรปิฎกบาลีเรียกว่า  จิตตํ ภาวิตํ 

คราวนี้ก็มาถึงปัญหาที่ว่า จิตหนึ่งหรือจิตเดิมแท้ ของเซ็น 
กับ จิตแท้หรือจิตดั้งเดิม ของเถรวาท คืออันเดียวกันหรือไม่
 
เรื่องนี้คงต้องพิจารณาถึงความหมาย 
หรือคำอธิบายของแต่ละฝ่าย แล้วนำมาเปรียบเทียบกันดู 

ท่านฮวงโปสอนเรื่องจิตเดิมแท้หรือจิตหนึ่งเอาไว้มาก 
เช่นสอนว่า "จิตหนึ่งซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้ 
เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น และไม่อาจจะถูกทำลายได้ 
ไม่มีทั้งปรากฏการณ์ อยู่เหนือการเปรียบเทียบทั้งหมด" 

"จิตหนึ่งนี้ เป็นสิ่งที่เราเห็นอยู่ตำตาแท้ๆ 
แต่ลองไปใช้เหตุผลว่ามันเป็นอะไร 
เราจะหล่นสู่ความผิดพลาดทันที 
สิ่งนี้เป็นเหมือนความว่างอันปราศจากขอบทุกๆ ด้าน 
ซึ่งไม่อาจหยั่ง หรือวัดได้" 

"จิตหนึ่งนี้เท่านั้นเป็นพุทธะ 
แต่สัตว์โลกไปยึดมั่นต่อรูปธรรม จึงแสวงหาพุทธภาวะจากภายนอก 
ซึ่งไม่สามารถแสวงหาได้เลย 
ถ้าเขาเพียงแต่หยุดความคิดนึกปรุงแต่ง 
และความกระวนการวายเพราะการแสวงหา 
พุทธะก็จะปรากฏตรงหน้าเขา" 

"เพียงแต่ลืมตาตื่น พุทธะก็ปรากฏตรงหน้า" 

สรุปแล้ว จิตเดิมแท้หรือจิตหนึ่งของเซ็น 
ก็คือธรรมชาติรู้ที่เหนือความปรุงแต่ง และไม่เกิด ไม่ตาย 
(หากศึกษาอย่างไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะหลงสรุปว่า 
จิตเดิมแท้คืออาตมัน หรืออัตตา หรือเต๋า 
เพราะนิยามของสิ่งสูงสุดนั้น 
เมื่อกล่าวเป็นคำพูดแล้ว คล้ายคลึงกันอย่างที่สุด) 

************************************ 
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 13:03:24

ความเห็นที่ 3 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 13:05:38
สำหรับจิตแท้หรือจิตดั้งเดิมในพระไตรปิฎกนั้น 
อยู่ในเรื่องเกี่ยวกับการเข้านิโรธสมาบัติ ดังนี้ 

    [๕๖๓] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ... ข้าแต่ท่านผู้เจริญ 
ก็สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติเกิดมีได้อย่างไร ฯ 
      พระกามภู : ดูกรคฤหบดี ภิกษุเมื่อจะเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ 
ไม่ได้คิดอย่างนี้ว่า เราจักเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง 
เรากำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง เราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธแล้วบ้าง 
โดยที่ถูกก่อนแต่จะเข้า 
ท่านได้อบรมจิตที่จะน้อมไปเพื่อความเป็นจิตแท้ (จิตดั้งเดิม) ฯ 
(พระไตรปิฎกบาลีใช้คำว่า จิตตํ ภาวิตํ - ปราโมทย์) 

ข้อความในพระไตรปิฎกที่ยกมานั้น 
ท่านพระกามภู มุ่งกล่าวถึงวิธีเข้านิโรธสมาบัติหรือสัญญาเวทยิตนิโรธ 
ว่าไม่ได้เข้าด้วยการคิดว่าจะเข้า กำลังเข้า หรือเข้าแล้ว 
เพราะถ้าคิด ก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ เนื่องจากนิโรธสมาบัติปราศจากความคิด 
หากแต่ก่อนจะเข้า ผู้เข้าได้อบรมจิตของตนให้น้อมไปเพื่อความเป็นจิตแท้ 
เมื่อจิตน้อมไปเองสู่ความเป็นจิตแท้ จึงเข้านิโรธสมาบัติได้ 

แต่จิตแท้ หรือจิตตํ ภาวิตํ นี้  ก็ไม่พบคำอธิบายในชั้นพระไตรปิฎก 
ผมลองค้นลงถึงชั้นอรรถกถา ก็ไม่พบเช่นกัน 
(ไม่พบ ไม่ใช่ไม่มีนะครับ อาจมี แต่ผมยังค้นไม่พบก็ได้) 
มิหนำซ้ำ เมื่อศึกษาลงถึงอภิธัมมัตถสังคหะ 
ก็ไม่ปรากฏคำอธิบายถึง จิตแท้ นี้เช่นกัน 
มิหนำซ้ำยังกล่าวว่า ในนิโรธสมาบัติไม่มีจิตเสียอีก ดังนี้ 

(อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๔ วิถีสังคหวิภาค สมาบัติวิถี) 
 สมาบัติ แปลว่า การเข้าถึงพร้อมหรือการเข้าอยู่พร้อม สมาบัตินี้มี ๓อย่างคือ 
 ๑. ฌานสมาบัติ การเข้าถึงฌานจิต หรือการเข้าอยู่ในฌานจิต เป็นโลกียะ 
 ๒. ผลสมาบัติ การเข้าถึงซึ่งอริยผลจิต หรือการเข้าอยู่ในอริยผลจิต  เป็น โลกุตตระ
 
 ๓. นิโรธสมาบัติ การเข้าถึงซึ่งความดับของจิตและเจตสิก 
ไม่จัดเป็นโลกียะ หรือ โลกุตตระ เพราะไม่มีจิตจะดับ
 

เมื่อออกจาก อากิญจัญญายตนฌานแล้ว ไม่ต้องเข้าปัจจเวกขณวิถี 
แต่ เข้าอธิฏฐานวิถี คือ ทำ บุพพกิจ ๔ อย่าง ได้แก่ 
 ก. นานาพทฺธ อวิโกปน อธิษฐานว่า บริขารต่าง ๆ 
       ตลอดจนร่างกายของข้าพเจ้า ขออย่าให้เป็นอันตราย 
 ข. สงฺฆปฏิมานน อธิษฐานว่า เมื่อสงฆ์ประชุมกัน ต้องการตัวข้าพเจ้า 
      ขอให้ออกได้ โดยมิต้องให้มาตาม 
 ค. สตฺถุปกฺโกสน อธิษฐานว่า  ถ้าพระพุทธองค์มีพระประสงค์ตัวข้าพเจ้า 
      ก็ขอให้ออกได้ โดยมิต้องให้มีผู้มาตาม 
 ง. อทฺธาน ปริจฺเฉท อธิษฐานกำหนดเวลาเข้า 
     ว่าจะเข้าอยู่นานสัก เท่าใด รวมทั้งการพิจารณา อายุ สังขารของตนด้วย 
     ว่าจะอยู่ถึง ๗ วัน หรือไม่ 
     ถ้าจะตายภายใน ๗ วัน ก็ไม่เข้า หรือเข้าให้น้อยกว่า ๗ วัน 

อธิษฐานแล้วก็เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน 
วิถีนี้ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เกิดขึ้น ๒ ขณะ  (๒ ขณะ ไม่ใช่ ๑ ขณะ) 

ลำดับนั้น จิต เจตสิก และจิตตชรูปก็ดับไป ไม่มีเกิดขึ้นอีกเลย 
ส่วน กัมมชรูป อุตุชรูป และอาหารชรูป ยังคงดำรงอยู่ 
และดำเนินไปตามปกติ หาได้ดับ ไปด้วยไม่ 
จิต เจตสิก และจิตตชรูป คงดับอยู่ 
จนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ได้อธิษฐานไว้
 

เหตุผลที่อภิธัมมัตถสังคหะเชื่อว่า ในนิโรธสมาบัติไม่มีจิต 
อาจเพราะทัศนะพื้นฐานของฝ่ายเถรวาทที่ว่า จิตกับเจตสิกต้องเกิดร่วมกัน 
เมื่อการเข้านิโรธสมาบัติจะต้องดับ สัญญาและเวทนา อันเป็นจิตสังขาร 
ก็ทำให้สังขารไม่เกิดขึ้น 
เวทนา สัญญา และสังขาร คือเจตสิก 
เมื่อไม่มีเจตสิก ก็ย่อมไม่มีจิต 
เป็นไปตามหลักของตรรกะที่ดิ้นไม่ได้เลย 

สรุปแล้ว ผมยังหาคำตอบหรือคำอธิบายเรื่อง จิตแท้หรือจิตดั้งเดิม 
ในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทไม่พบ 
จะว่าการเข้านิโรธสมาบัติทำให้พบจิตแท้ก็ไม่ใช่ 
เพราะตำราชั้นหลังบอกว่า นิโรธสมาบัติไม่มีจิต 
(แต่ตำราก็เคยกล่าวถึงการเกิดจิตขึ้น 
ก่อนกำหนดเวลาที่อธิษฐานไว้เหมือนกัน 
เช่นกรณีที่ท่านพระสารีบุตรถูกตีขณะเข้านิโรธสมาบัติ 
แล้วท่านรู้สึกคันที่ศีรษะหน่อยหนึ่ง) 
จะว่าเป็นจิตชนิดหนึ่ง ที่น้อมไปแล้วทำให้เข้านิโรธสมาบัติได้ง่าย 
ก็ไม่พบคำอธิบายถึงจิตชนิดนี้ 
ทั้งในพระไตรปิฎกและในจิตตสังคหวิภาค ของอภิธัมมัตถสังคหะเสียอีก 
เมื่อไม่พบคำอธิบายเรื่องจิตแท้หรือจิตดั้งเดิมในฝ่ายเถรวาท 
จึงไม่อาจเปรียบเทียบสภาวะกับจิตเดิมแท้หรือจิตหนึ่งของเซ็นได้ 

*********************************** 
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 13:05:38

ความเห็นที่ 4 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 13:14:12
จิตหนึ่งของพระป่า 

เมื่อหาคำตอบจากตำราไม่ได้ 
จึงต้องขอยกเรื่อง จิตแท้หรือจิตดั้งเดิมของเถรวาท 
และเรื่อง จิตเดิมแท้หรือจิตหนึ่งของเซ็น ไว้ก่อน 
แล้วหันมาคุยอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจจะเกี่ยว หรือไม่เกี่ยวกันเลยก็ได้ 
คืออยากจะเล่าว่า พระป่าบางองค์ ท่านก็พูดถึงจิตหนึ่ง เหมือนกัน 
แต่อาจจะมีความหมายไปอีกทางหนึ่ง 
ไม่เกี่ยวกับ จิตแท้หรือจิตดั้งเดิม ของเถรวาท 
และ จิตเดิมแท้หรือจิตหนึ่งของเซ็น ก็ได้ 

ผมได้พบสภาพจิตชนิดหนึ่งของพ่อแม่ครูอาจารย์บางองค์ 
ซึ่งบางท่านเรียกว่า จิตหนึ่ง 
บางท่านเรียกว่า ฐีติจิต ฐีติภูตํ 
บางท่านเรียกว่า จิตพุทธะ บางท่านเรียกว่า ธรรม 

ถ้าจะอธิบายถึงสภาวะของจิตชนิดนี้ 
คงต้องเริ่มอธิบายตั้งแต่จิตที่พวกเรารู้จักกันเสียก่อน 

พวกเราที่ทำความรู้ตัวเป็นแล้ว คงจำกันได้ว่า 
จิตของพวกเราตอนที่ยังไม่เริ่มปฏิบัตินั้น 
มันคลุกเป็นเนื้อเดียวกันกับอารมณ์เสมอ 
ดีบ้าง ชั่วบ้าง และอารมณ์ที่เป็นกลางๆ บ้าง 
เรียกว่าหลับฝันทั้งที่ลืมตาตื่นอยู่ตลอดเวลา 
ขณะใดเราสนใจในอารมณ์ใด สติจะพุ่งเข้าไปที่อารมณ์นั้น 
จิตก็เคลื่อนไปเกาะไปยึดที่อารมณ์นั้นอย่างเหนียวแน่น 

พอเริ่มปฏิบัติบ้างแล้ว เราจะพบความเปลี่ยนแปลง 
คือเวลาที่จิตสนใจสิ่งใด สติจะจดจ่อเข้าที่สิ่งนั้น 
แต่เราจะมีสัมปชัญญะคือความรู้ตัว 
เป็นเครื่องรักษาจิตเอาไว้ ไม่ให้หลงเคลื่อนเข้าไปยึดอารมณ์ 
ถึงเคลื่อนเข้าไปยึดอารมณ์ ก็สามารถรู้ชัดว่าเคลื่อนแล้ว 
กล่าวได้ว่า เรามีความสำรวมระวัง รักษาจิตใจตนเองอยู่ตลอดเวลา 
เพื่อพัฒนาศีล สมาธิ และปัญญาให้แก่จิตใจอย่างต่อเนื่อง 

แต่จิตของครูบาอาจารย์บางองค์ ไม่ได้เป็นเหมือน 2 อย่างแรก 
เวลาที่ท่านสนใจอารมณ์ใด สติจะจดจ่อลงที่อารมณ์นั้น 
แต่จิตไม่ได้เคลื่อนไปยึดอารมณ์ เหมือนคนที่ปฏิบัติไม่เป็น 
โดยที่ท่านก็ไม่ต้องสำรวมระวังรักษาจิต เหมือนพวกเราที่ปฏิบัติกันอยู่ 
แต่จิตของท่านคงความเป็นปกติ ไม่มีกิจอะไรที่จะต้องระวังรักษาอีก 

จิตของท่านคงความเป็นหนึ่ง สงบสันติ ไม่มีจุด ไม่มีดวง หรือกลุ่มก้อน 
บางครั้งประกอบด้วยความเบิกบาน 
บางครั้งสงบสงัดมีอุเบกขาอยู่ภายใน, 
บางครั้งประกอบด้วยปัญญา บางครั้งเฉยๆ ไม่พิจารณาอะไร, 
บางครั้งสนใจรู้สิ่งภายนอกเมื่อมีเหตุอันควร บางครั้งสงบอยู่ภายใน, 
เป็นสภาพจิตดั้งเดิม เป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระ 
ไม่ถูกกิเลสตัณหาครอบงำชักพาให้วิ่งไปหาอารมณ์ด้วยความหิวโหย 
การกระทำทั้งปวงทางกาย และวาจา ไม่ก่อให้เกิดกรรมขึ้นอีก 
เป็นแต่เพียงกิริยาล้วนๆ ทำไปตามเหตุผลความจำเป็น 
เป็นคราวๆ ไปเท่านั้นเอง 

จิตชนิดนี้ ถ้าย้อนสติน้อมเข้ามารู้ ตัดความสนใจอารมณ์ภายนอก 
แล้วเข้ารูปฌาน อรูปฌานไปตามลำดับ 
ก็น่าเชื่อว่าจะเป็นอุบายนำไปสู่นิโรธสมาบัติโดยง่าย 
ดังที่ ท่านพระกามภูเถระ ได้กล่าวไว้ 
เพราะเป็นจิตที่หมดความแส่ส่ายไปในรูปและนาม และอายตนะทั้งปวง 

************************************ 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการเล่าให้ฟังเพื่อความบันเทิงใจเท่านั้นนะครับ 
ขออย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า 
"จิตเดิมแท้หรือจิตหนึ่งของเซ็น" 
"จิตแท้หรือจิตดั้งเดิมของเถรวาท" 
กับ "จิตหนึ่งของพระป่า" เป็นสิ่งเดียวกัน 

หากจะหาความจริงให้มากกว่านี้ 
คงต้องให้ปราชญ์ทางปริยัติที่ท่านใจกว้าง เป็นผู้ศึกษาต่อไป 
ส่วนพวกเรานักปฏิบัติ ก็ปฏิบัติรู้รูปรู้นามที่กำลังปรากฏกันต่อไป 

ถึงจะไม่มีความรู้กว้างขวางก็ไม่เป็นไร 
ขอให้จิตพ้นจากทุกข์ก็แล้วกัน
 
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 13:14:12

ความเห็นที่ 5 โดยคุณ พีทีคุง วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 14:07:37
สาธุ สาธุธรรมอันกว้างขวางที่ชัดเจนครับอา
โดยคุณ พีทีคุง วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 14:07:37

ความเห็นที่ 6 โดยคุณ นิพ วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 15:03:17
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 7 โดยคุณ หนุ่ย วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 15:13:48
สาธุค่ะ ขอบพระคุณค่ะ _/|\_
โดยคุณ หนุ่ย วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 15:13:48

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 15:33:52
สาธุครับ

เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนิพพานไว้เหมือนกันครับว่า
จิตคนปกตินั้น
-อารมณ์ปรุงแต่งจิต
-จิตวิ่งไปตามอารมณ์
-สิ่งที่จิตรับรู้คืออารมณ์ อันได้แก่ รูป และ เจตสิก

จิตพระอรหันต์นั้น
-อารมณ์ไม่สามารถปรุงแต่งจิต
-จิตแยกขาดจากอารมณ์ อย่างไม่สามารถกลับมารวมกันได้อีก
-สิ่งที่จิตรับรู้คือธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งเรียกว่านิพพาน
(จิตเป็นเพียงสมมุติบัญญัตินะครับ ถึงจุดนั้นแม้ความรู้สึกว่า
มีจิต มีอารมณ์ก็ไม่เหลือไม่มีความแปลกแยกระหว่างจิตกับอารมณ์
แต่ธรรมชาติรู้อันนั้นยังอยู่ ทั้งตัวมันและสิ่งที่มันรับรู้
รวมเป็นหนึ่งเดียวเรียกว่านิพพาน)

จิตยังคงเป็นจิตอันเดิม
ต่างกันที่ว่าจะเป็นจิตที่ประกอบด้วยวิชชาหรืออวิชชาเท่านั้นเอง

ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ทราบว่าถูกผิดอย่างไรนะครับ
ผู้สนใจก็นำไปศึกษาค้นคว้ากันต่อก็แล้วกัน :o)

มีข้อสังเกตกับคำว่า จิตเดิมแท้ครับ
คำว่าจิตเดิมแท้ ชวนให้คิดว่าเมื่อก่อนเคยเรามีจิต
ที่ไม่มีอวิชชาอยู่ แล้วอยู่ๆ จิตก็เกิดมีอวิชชาขึ้นมา
เหมือนอาดัม กับอีฟ กินลูกแอปเปิลแล้ว เกิดเป็นความดีความชั่ว
เป็นความเชื่อแบบเดียวกัน ที่หาข้อสรุปไม่ได้ เป็นอจิณไตย
(ไม่รู้คนคิดคนแรกรู้ได้อย่างไร?)

แต่ในพระพุทธศาสนาเรานั้น รู้แต่ว่าจิตที่มีอวิชชานั้น
เกิดมานานมาก เป็นวัฏสงสารที่ไม่มีจุดเริ่มต้น

ก็เลยคิดว่าใช้คำว่า จิตเดิมแท้ อาจไม่ชัดเจน
ในทางพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ที่เราศึกษาปฏิบัติกันอยู่ครับ
ไม่ทราบคนอื่นคิดเห็นอย่างไรครับ

อย่างไรก็ตามไม่มีสมมุติใดใช้อธิบายวิมุติธรรมได้ถูกต้องหรอกครับ
ของจริงไม่มีคำพูดจะกล่าว พอกล่าวออกมา ก็ไม่ใช่แล้วครับ
เป็นแค่การเปรียบเทียบอธิบาย เท่านั้นเอง
ดังนั้นคุยกันเล่นๆ เป็นการบริหารสมอง อย่างที่พี่ปราโมทย์ว่านั้นถูกต้องแล้วครับ
;o)
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 15:33:52

ความเห็นที่ 9 โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 15:59:31
กลับไปอ่านในส่วนอภิธัมมัตถสังคหะ ที่ว่าไม่มีจิตไม่มีเจตสิก
แล้วก็มาอ่านที่ตัวเองเขียนข้างบน ก็เข้าเค้าเหมือนกันครับ
(ไม่ได้ชมตัวเองเลย แหะ แหะ)

ไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก เพราะมันรวม เป็นหนึ่งเดียวคือนิพพาน :o)
รู้เป็นศรีธนนไชยหรือเปล่า
แต่เป็นรอยต่อระหว่างวิมุติกับสมมุติพอดี
เลยอธิบายกันยากสักหน่อยครับ
โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 15:59:31

ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 16:05:04
เจตนาของกระทู้นี้ก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ
เพียงแค่ชวนวิจัยธรรมเพื่อการพักผ่อน หรือบริหารสมองเล่นๆ

และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องการบอกกับน้องๆ หลานๆ ว่า
ปัญญาชนเรา อย่าศึกษาพุทธศาสนาให้กว้างไกลเกินตัวไปนัก
แม้จะมีความรู้ความเห็นต่างๆ มากเท่าไร
จะนึกถึงความไม่มีตัวกู - ของกู มากเท่าไร
จะพูดถึงความว่าง จิตว่าง จิตเดิมแท้ เพียงใด
ก็ไม่ช่วยให้เราพ้นทุกข์ หรือเข้าใจพระพุทธศาสนาได้เลย
ขอให้พากันมีสติสัมปชัญญะ
น้อมลงศึกษาธรรมในกายในใจของเรานี้แหละ ดีที่สุด
แล้วจะพ้นทุกข์ได้หรือไม่เพียงใด
ก็จะทราบได้ชัดเจนด้วยตนเองทีเดียว
โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 16:05:04

ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ธีรชัย วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 19:40:32
ขอบพระคุณครับ
_/\_
โดยคุณ ธีรชัย วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 19:40:32

ความเห็นที่ 12 โดยคุณ tana วัน ศุกร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2543 22:40:32
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 13 โดยคุณ บัวใต้น้ำ วัน จันทร์ ที่ 10 กรกฎาคม 2543 08:38:01
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 14 โดยคุณ บุษกริน วัน จันทร์ ที่ 10 กรกฎาคม 2543 13:43:55
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 15 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 10 กรกฎาคม 2543 16:17:28
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 16 โดยคุณ listener วัน จันทร์ ที่ 10 กรกฎาคม 2543 17:30:20
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 17 โดยคุณ ธาตุธรรม วัน อังคาร ที่ 11 กรกฎาคม 2543 08:19:00
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 18 โดยคุณ บอย วัน พุธ ที่ 12 กรกฎาคม 2543 22:29:07
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 19 โดยคุณ tuli วัน เสาร์ ที่ 15 กรกฎาคม 2543 20:36:06
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 20 โดยคุณ จ้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 20 กรกฎาคม 2543 17:34:58
สาธุ ครับ / ค่ะ

ความเห็นที่ 21 โดยคุณ นิดนึง วัน ศุกร์ ที่ 28 กรกฎาคม 2543 22:10:37
สาธุ ครับ / ค่ะ

ติดต่อกลุ่มวิมุตติได้ที่ wimutti@hotmail.com